มีนาคม 2004

“โกรธ” โรคเรื้อรังของสังคมไทย

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มีนาคม 2547

หนังสือเล่มหนึ่งของพระติช นัท ฮันห์ ชื่อว่า ความโกรธ (Anger) กำลังขายดีทั่วโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง ๙ ภาษา หากหนังสือเล่มนี้จะช่วยลดอาการโกรธให้ชาวโลกได้ก็คงดี เพราะทุกวันนี้โรคโกรธนับวันจะเรื้อรังไปทุกหนทุกแห่ง กระทั่งสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมแห่งศีลธรรม คนในสังคมกลับเลือกใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับปัญหาหลายปัญหา ดังจะเห็นได้จากข่าวการทะเลาะวิวาท หรือข่าวฆ่ากันตายที่มีอยู่ทุกวัน ล้วนแล้วแต่เกิดจากความโกรธทั้งสิ้น ดังนั้น “โรคโกรธ” กับ “โรคไข้หวัดนก” ก็น่าจะร้ายแรงพอๆ กัน หากหาวัคซีนป้องกันไม่เจอ สังคมก็จะเจ็บป่วยไม่หยุดหย่อน

ท่านติช นัท ฮันห์ เขียนเอาไว้ในหนังสือ ความโกรธ ว่าคนทุกคนไม่ว่าชาติใดภาษาใด ล้วนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธอยู่ในใจทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าใครจะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นั้นมากกว่ากัน คนบางคนอาจจะไม่เคยโกรธใครง่ายๆ ก็เพราะไม่เคยรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธนั้น ในขณะที่คนบางคนโกรธง่ายเหลือเกิน เพราะเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธนั้นถูกรดน้ำอยู่เป็นประจำ จึงเติบโตบดบังเมล็ดพันธุ์แห่งความรักความเมตตาเอาไว้สิ้น

นอกจากเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธแล้ว ยังมีเมล็ดพันธุ์แห่งความโลภ ความหลง ความกลัว และความเกลียด ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอยู่ ความหลงนั้นร้ายกาจ หลงตัวเอง หลงคนอื่น หลงอำนาจ หลงความมั่งคั่ง รวมทั้งหลงศาสนา ความหลงนี้จะเป็นบ่อเกิดแห่งความกลัว กลัวที่จะสูญเสียสิ่งที่ตนรักและหวงแหน และจะนำมาซึ่งความอ่อนแอ ทำให้คนตกเป็นเหยื่อต่อพลังชั่วร้ายได้ง่าย ในระดับสังคม หากมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว จะยิ่งง่ายต่อการสร้างกระแสความเกลียดชังและความโกรธ ซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้คนลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา โดยการทำร้ายกันไปมาไม่จบสิ้น

อ่านต่อ »

จิตวิวัฒน์
อนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่การมีจิตใหญ่

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 มีนาคม 2547

ร่างกายของมนุษย์จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอีกมากนัก เมื่อแสนปีที่แล้วเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น และอีกแสนปีข้างหน้าก็คงจะเป็นคล้ายๆ อย่างปัจจุบัน แต่จิตของมนุษย์ยังจะวิวัฒน์หรือเติบใหญ่ได้อีกมาก อนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่การมีจิตใหญ่ จิตของมนุษย์มีขนาดแตกต่างกันได้มาก เช่น ระหว่างจิตของโจรกับจิตของพระพุทธเจ้า

จิตเล็ก คือความรู้สึกนึกคิดแคบๆ ไม่รู้เห็นทั้งหมด ติดอยู่ในความคับแคบในตัวเอง ขัดแย้งกับธรรมชาติ เพราะธรรมชาตินั้นใหญ่ เมื่อจิตเล็กจึงขัดแย้งกับธรรมชาติ เกิดความบีบคั้น เกิดความติดขัด เกิดความทุกข์ และก่อทุกข์ โลกวิกฤตเพราะมนุษย์มีจิตเล็ก

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า “ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง” (“We shall require a substantially new manner of thinking if mankind is to survive.”)

ท่านทะไลลามะ ตรัสว่า อนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่ การปฏิวัติจิต (Spiritual Revolution)

โกรพ, ลาซโล และ รัสเซล (Grof, Laszlo, and Russell) กล่าวว่า ทางรอดจากวิกฤตปัจจุบันคือ “การปฏิวัติจิตสำนึก” (Consciousness Revolution)

จิตใหญ่ หรือ จิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดที่มีปริมณฑลกว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด หรือความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ หลุดพ้นจากความบีบคั้นจากความคับแคบ เป็นอิสระ มีความสุข เกิดมิตรภาพอันไพศาล รักเพื่อนมนุษย์ และรักธรรมชาติทั้งหมด
นักบินอวกาศอเมริกัน ชื่อ เอ็ดการ์ มิตเชล ยืนอยู่บนดวงจันทร์มองมาเห็นโลกทั้งใบ การเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของโลกทั้งหมด ทำให้จิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เอ็ดการ์ มิตเชล กล่าวว่า “ผมกลับมายังโลก กลายเป็นคนที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง” (“I came back to Earth a totally changed man.”) เกิดความรักต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด นี้เป็นตัวอย่างของการเกิดจิตสำนึกใหม่ หรือการปฏิวัติจิตสำนึก จากจิตเล็กเป็นจิตใหญ่ที่เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง เอ็ดการ์ มิตเชล ได้ตั้งสถาบันชื่อ Institute of Noetic Science (IONS) ที่แคลิฟอร์เนีย อันเป็นสถาบันที่ศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่เกี่ยวกับจิตสำนึกใหม่ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้คนในโลกต่างตระหนักกันมากขึ้นทุกทีว่า จิตสำนึกที่คับแคบก่อให้เกิดความทุกข์ ความขัดแย้ง และวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน จิตสำนึกใหม่อันเป็นจิตใหญ่ก่อให้เกิดความเป็นอิสระ ความสุข และมิตรภาพอันไพศาล ทำให้ได้ประสบความงาม จนรู้ว่าถ้าเข้าถึงความจริงจะเจอความงาม ถ้ายังไม่เจอความงาม แปลว่ายังเข้าไม่ถึงความจริง

การมีจิตใหญ่ จึงเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

มนุษย์ได้ค้นพบวิธีการอันหลากหลายในการเกิดจิตสำนึกใหม่ เช่นการเข้าถึงธรรมชาติ จากการศึกษาจักรวาล จากการทำงาน จากศิลปะ จากกระบวนการชุมชน จากการเจริญสติ จากการเจริญความเมตตา ฯลฯ มีหนังสือและสื่อในรูปอื่นมากมายทั่วโลกที่ว่าด้วยการเกิดจิตสำนึกใหม่

มีคนไทยกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันศึกษาเรื่องจิตวิวัฒน์ หรือการเกิดจิตสำนึกใหม่ หรือจิตใหญ่ โดยศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งจากการปฏิบัติของตัวเองด้วย เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปส่งต่อให้เพื่อนคนไทย บุคคลคณะนี้มีรายนามดังต่อไปนี้
๑. พระไพศาล วิสาโล
๒. ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
๓. ศ.นพ.ประเวศ วะสี
๔. ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง
๕. ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
๖. ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม
๗. คุณ David J. Spillane
๘. ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
๙. ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
๑๐. ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
๑๑. คุณวิศิษฏ์ วังวิญญู
๑๒. นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
๑๓. ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
๑๔. คุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร
๑๕. ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ

มี ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นประธาน และ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ เป็นผู้ประสานงาน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) บัดนี้มีข้อตกลงระหว่างหนังสือพิมพ์ มติชน และกลุ่มจิตวิวัฒน์ ว่าจะมีการตีพิมพ์บทความจากสมาชิกของกลุ่มสัปดาห์ละครั้งติดต่อกันไป นอกจากนั้น ถ้าหากสาธารณะมีความสนใจ ทางกลุ่มก็ยินดีไปร่วมในการปาฐกถาหรืออภิปรายเป็นครั้งคราว

จะเป็นการดีอย่างยิ่ง ถ้าในแต่ละจังหวัดมีการรวมตัวของผู้ที่สนใจในเรื่องจิตสำนึกใหม่ จะเรียกว่า กลุ่มจิตวิวัฒน์จังหวัด หรือชื่อใดอื่นก็ตาม เพื่อศึกษาค้นคว้าเผยแพร่การพัฒนาจิตให้สูงยิ่งๆ ขึ้น เพื่อการเกิดขึ้นแห่งสันติวัฒนธรรม ดังที่มีเกิดขึ้นแล้วในบางจังหวัด เช่น เชียงราย และแพร่ เป็นต้น กลุ่มจิตวิวัฒน์มีความยินดีที่จะส่งเสริมและร่วมมือกับกลุ่มจิตวิวัฒน์ที่จะเกิดขึ้น ณ ที่ต่างๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายตัวไปทั่วประเทศ

จิตวิวัฒน์ทำให้เกิดสุข
เป็นความสุขที่ราคาถูก – Happiness at low cost
เมื่อราคาถูกจึงเป็นไปได้สำหรับทุกคน

Back to Top