กรกฎาคม 2004

คนใจงาม

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2547

ในกระบวนการชีวิตและสังคมตามธรรมชาติ มีคนใจงามอยู่ทั่วไป เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ที่ผ่านมานี้ เราไปประชุมเรื่องการศึกษาในจังหวัดชุมพร ทุกครั้งที่ลงพื้นที่จะได้พบหรือได้ยินเรื่องราวดีๆ ที่น่าชื่นใจ อาจารย์สมพงษ์ อินทรสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา นอกจากเป็นครูแล้ว ท่านมีความรู้ทางกฎหมายด้วย เมื่อมีความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่มาก อาจารย์สมพงษ์จะไปอธิบายให้คู่กรณีฟังถึงเหตุแห่งความขัดแย้งและข้อประเด็นทางกฎหมาย ทำให้ความขัดแย้งคลายตัวออก ไม่ปะทุไปสู่ความรุนแรงหรือต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล ที่เรียกว่า “การแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี” ที่ทำเพราะมีใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่านั้น อาจารย์สุชิน บุญเพ็ญ ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งตะโกวิทยา ท่านเห็นเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ที่มีผลการเรียนต่ำแล้วถูกให้ออกจากโรงเรียน ทำให้หมดอนาคตไปเลย ท่านพบว่าเด็กเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ถูกบีบคั้น ที่พ่อแม่ฆ่าตัวตายก็มี ที่ถูกข่มขืนก็มี ที่ยากจนเกินไปก็มี ที่ติดยาเสพติดก็มี ในสภาพบีบคั้นอย่างนี้ก็แน่นอนที่จะเรียนไม่เก่ง และเมื่อไม่เก่งแล้วยังถูกให้ออกจากโรงเรียนไปเผชิญชะตากรรมในสังคมเอาเอง อาจารย์สุชินได้ไปตั้งโรงเรียน “สร้างฝัน” เพื่อเป็นที่พักพิงของเด็กเหล่านี้ และมีโอกาสเรียนตามสภาพความพร้อมแต่ละคน โดยกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๔๑ ค่ายอาภากรเกียรติวงศ์ นอกจากให้อาศัยใช้อาคารแล้ว พี่ตำรวจเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นเพื่อนและเป็นครูของเพื่อนมนุษย์ที่โชคร้ายเหล่านี้ อาจารย์สุชินจะสอนหนังสือที่โรงเรียนและกินเงินเดือนไปวันๆ หนึ่งก็ได้ แต่ที่ทำนี้ก็ด้วยใจ เพื่อเพื่อนมนุษย์ ทั้งๆ ที่ต้องใช้เงินส่วนตัวจนเข้าเนื้อไปเป็นแสนๆ บาท

คุณพงศา ชูแนม อยู่ที่ต้นน้ำ อำเภอพะโต๊ะ ทำงานเชื่อมต่อระหว่างนักเรียน นักศึกษากับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่า เมื่อนักเรียนนักศึกษาไปอยู่กับชาวบ้าน ชาวบ้านให้การดูแลเหมือนลูกเหมือนหลาน เกิดความรักชาวบ้านทุกคน เรียกเขาเป็นพ่อเป็นแม่ และเห็นความสำคัญของธรรมชาติ ต้นน้ำลำธาร คุณพงศาใช้คำว่า เมื่อนักเรียนได้สัมผัสความจริงตามธรรมชาติจะถึงกับ “ตรัสรู้” ทีเดียว เมื่อหัวใจของความเป็นมนุษย์มาสัมผัสกัน จิตวิวัฒน์จะเกิดขึ้นเสมอ

วันนั้นตอนบ่าย อาจารย์สุชินพาไปวัดทุ่งไผ่ ที่ พระดุษฎี เมธงฺกุโร ได้ไปสร้างไว้เพื่อสอนการปฏิบัติธรรม พบท่านอาจารย์โพธิ์ เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) ซึ่งเดินทางมาที่นั่นพอดี ท่านเป็นคนเกาะสมุย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไปสู่วัตถุนิยมบริโภคนิยมของเกาะสมุย มีผู้หญิงคนหนึ่ง มีที่อยู่ ๒๐ ไร่ อยากอุทิศให้เป็นที่สอนการปฏิบัติธรรมแก่นักท่องเที่ยว ท่านอาจารย์โพธิ์จึงพาโยมท่านนี้ตระเวนดูสถานที่สอนปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่ ๒๐ ไร่ บนเกาะสมุยก็คงจะสามารถขายได้หลายสิบล้าน แต่ก็มีคนมีแก่ใจอุทิศให้เป็นที่สอนวิปัสสนากรรมฐาน

ในขณะที่ความเป็น “ทางการ” เรื่องทางจิตใจเหือดหายไป ในกระบวนการชีวิตและสังคมตามธรรมชาติ ยังมีคนที่มีจิตใจเพื่อเพื่อนมนุษย์อยู่มาก คนที่มีใจนี้เป็นของจริง ไม่มีเงิน ไม่มีใครสนับสนุนเขาก็ทำ การทำอะไรดีๆ ถ้าเริ่มขึ้นด้วยการไม่มีเงิน คนที่มาทำนั้นเป็นของจริง แต่ถ้าเริ่มด้วยเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน มักจะดึงดูดของปลอมเข้ามา คนที่ทำด้วยใจจะได้ผลจริงและยั่งยืน คนที่ทำด้วยเงิน พอเงินหมดก็เลิก ไม่ยั่งยืน การทำอะไรๆ ควรจะคำนึงถึงกระบวนการชีวิตและสังคมตามธรรมชาติเสมอ เพราะในธรรมชาติมีความจริง ความดี และความงาม การศึกษาที่ไปเอาวิชาในตำราเป็นตัวตั้ง จนผิดเพี้ยนและพิการเพราะคับแคบ ควรจะหันกลับมาคิดว่าการศึกษาคือกระบวนการชีวิตและสังคมอันกว้างใหญ่ไพศาล จิตต้องเชื่อมกับธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาล จิตจึงจะใหญ่ เพราะอนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่การมีจิตใหญ่ ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น

ความขัดแย้งและสงคราม กับ ความรักและสันติภาพ

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2547

ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ หรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ...

สงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามความคิด สงครามความเชื่อ สงครามความรัก สงคราม (ที่อ้าง) สันติภาพ ...

ทั้งหมด ถ้าพิจารณาให้ดีจะมีตัวร่วมที่สำคัญอย่างน้อยอยู่หนึ่งอย่างคือ ความไม่รู้หรือการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นองค์รวมของธรรมชาติของสรรพสิ่ง

การขาดสติและปัญญาที่จะมองเห็นและเข้าใจความเป็นของกันและกัน และความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง ทำให้มนุษย์บางคนบางกลุ่ม มองโลก มองพืช มองสัตว์ มองคนอื่น ในลักษณะที่แบ่งแยก แปลกแยก ไม่เกี่ยวกัน นำไปสู่การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบ เกิดความขัดแย้ง การทำลายล้าง เกิดสงคราม … และมีการสร้างค่านิยมใหม่ๆ เพื่อทำให้การกระทำที่ไม่ถูกไม่ดีของตนเองเป็นที่ยอมรับได้ เช่นการทำลายล้างหรือขจัดศัตรูประชาธิปไตยด้วยการเข้าไปรุกล้ำอธิปไตยของประเทศอื่นเป็นสิ่งถูกต้อง แถมยังสร้างแรงกดดันว่าใครไม่อยู่ข้างตนเองก็เป็นฝ่ายตรงข้าม ทุกคน ทุกประเทศต้องเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

เราได้เห็นพฤติการณ์และปรากฏการณ์ทำนองนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น

ในทางเศรษฐกิจ ประเทศที่ได้เปรียบ รู้ว่าได้เปรียบและต้องการได้เปรียบ พยายามโน้มน้าวประเทศที่เสียเปรียบผ่านกระบวนการศึกษา สื่อสารมวลชน รวมทั้งบีบบังคับและสร้างแรงกดดันผ่านองค์กรระหว่างประเทศ ผ่านเงื่อนไขความช่วยเหลือระหว่างประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ การทหารและการศึกษา
ตัวอย่างเช่นการสร้างแรงกดดันให้มีการทำความตกลงเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) แต่ในขณะเดียวกันก็มีมาตรการในประเทศที่จะสกัดกั้นสินค้าและบริการจากประเทศที่เสียเปรียบด้วยข้ออ้าง “คุณภาพ” “มาตรฐาน” “สิทธิมนุษยชน” และอื่นๆ โดยไม่มีคุณธรรมและความยุติธรรมในหัวใจ

ถ้าเชื่อเรื่องการค้าเสรี ถ้าเชื่อเรื่องกลไกตลาด ถ้าเชื่อเรื่องการแข่งขันเสรี ทำไมต้องบังคับให้มีข้อตกลง ทำไมต้องมีเงื่อนไข ถ้ามีข้อบังคับ มีเงื่อนไขก็ไม่มีเสรีจริง โดยเฉพาะเงื่อนไขที่สรรหามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ถ้าเสรีจริง ทำไมต้องมีลิขสิทธิ์โดยเฉพาะความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับมนุษยชาติโดยส่วนรวม เช่น ยารักษาโรค หรือ “เสรี” “คุณภาพ” “มาตรฐาน” เป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าผลประโยชน์และความเห็นแก่ตัวที่อยู่เบื้องหลัง

ในทางการเมืองการปกครอง ก็มีความพยายามที่จะทำให้ประเทศอื่นที่มีระบบการปกครองและการเมืองที่แตกต่างหรือตรงกันข้ามให้เปลี่ยนมาปกครองและมีระบบการเมืองแบบเดียวกันที่เรียกว่า
“ประชาธิปไตย” แบบตะวันตก โดยไม่คำนึงถึงและไม่ยอมรับความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศอื่น วัฒนธรรมอื่นที่แตกต่างและหลากหลาย เมื่อเขาไม่ยอมคล้อยตาม ก็เข้าไป “จัดการ” ให้เปลี่ยนแปลงทั้ง
ทางตรงและทางอ้อมด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ และ/หรือทางการทหาร

ในประเทศเราเองก็มีการแบ่งแยก แบ่งพรรค แบ่งพวก เป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน มีมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ มีการซื้อเสียง ขายตัว ซื้อ ส.ส. ผนวกพรรคการเมือง เพื่อต่อรองผลประโยชน์ เพื่อชัยชนะทางการเมือง เพื่อแยกฝ่ายเขาออกไปจากฝ่ายเรา ฝ่ายก้าวหน้าออกจากฝ่ายไดโนเสาร์ คนรุ่นใหม่ออกจากคนรุ่นเก่า NGOและนักวิชาการที่มีความเห็นแตกต่างออกจากความเป็นพวกเดียวกัน

ในทางเกษตรกรรมและในทางการแพทย์ ก็พยายามจะให้มีการยอมรับพืชและสัตว์ตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) พยายามจะคัดเลือกและตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ ไปจนถึงการโคลนนิ่ง (Cloning)
โดยอาศัยความรู้ เทคโนโลยีที่พัฒนามาจากพื้นฐานความรู้และทัศนคติของวิทยาศาสตร์แบบเก่าที่เน้นการแบ่งแยก ลดทอน (Reductionist) มากกว่าองค์รวม ...

ความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาจากการมองโลกแบบแยกส่วน แบ่งพวก แบ่งเผ่า แบ่งพันธุ์ แบ่งสี แบ่งสถาบัน แบ่งดิน แบ่งน้ำ แบ่งลม แบ่งฟ้า ... เพื่อแข่งขัน เพื่อแย่งพวก แย่งเผ่า แย่งพันธุ์ (พืชและสัตว์ แล้วเอาไปจดลิขสิทธิ์) แย่งสถาบัน แย่งองค์กร (ที่จะเข้าไปครอบครอง) แย่งดิน (บุกรุกทำลายป่า โกงที่ดินสาธารณะ) แย่งน้ำ (กักตุนน้ำ ทำลายน้ำ ...) แย่งลม แย่งฟ้า ...

เพื่อให้การแย่งเป็นระบบ ดูดี มีคุณภาพและเข้มข้นขึ้น มนุษย์ก็พัฒนาระบบจอมปลอมที่ไม่เป็นธรรมชาติขึ้นมาใช้และยึดเป็นสรณะ เช่น ISO, GMO, FTA, … และที่สำคัญคือระบบเงินตราที่ทำให้มนุษย์ติดกับ หลงใหลและฟุ้งเฟ้อไปในสังคมเงินตราอย่างขาดสติ ใช้แต่ความรู้ที่ขาดปัญญาเพียงเพื่อจะเปลี่ยนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การศึกษาและวัฒนธรรม ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้กลายเป็นเงินตรา เป็นดอลล่าร์ เป็นบาท เป็นเยน เป็นปอนด์ …

ตลาดหุ้น ตลาดซื้อขายล่วงหน้า การประกันความเสี่ยงก็ล้วนเป็นตัวอย่างของสังคมเงินตรา ผนวกกับข้ออ้างมาตรฐานโลก การค้าเสรี และระบบอื่นๆ ที่คิดขึ้นเพื่อความได้เปรียบ ความเป็นหนึ่งเหนือผู้อื่น
เหนือประเทศอื่น โดยลืมคิดไปว่า การคิดและการปฏิบัติดังกล่าวเป็นการทำลายความเป็นเอกลักษณ์ ความเป็นหนึ่ง ความเป็นเฉพาะของสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคน ชุมชน ประเทศ มด ผีเสื้อ ข้าว ดวงจันทร์ โลก ...

ถ้าความขัดแย้งและสงคราม มาจากและนำไปสู่การแบ่งแยก แก่งแย่ง และล้มล้างระหว่างกัน
ความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ก็มาจากและนำไปสู่สันติภาพทั้งภายในตนเองและกับสรรพสิ่ง

การจะมีความรักความเมตตา แล้วให้ความรักความเมตตาแก่ตนเองและสรรพสิ่งได้ เราต้องมีปัญญา เข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปหมด ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดแยกออกมาโดดๆ ทุกสิ่งประกอบไปด้วยสิ่งอื่น ไหลเลื่อนเคลื่อนไป คลี่คลาย ขยายออก ผนวกรวมของเดิมผสมกับสิ่งใหม่กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ใหญ่กว่า แต่ก็เป็นส่วนย่อยของส่วนที่ใหญ่กว่าไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ความคิดที่ถูก ความคิดที่ดี จะนำไปสู่การกระทำที่ถูก การกระทำที่ดี มีการยอมรับและเคารพความแตกต่าง ความหลากหลาย

นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่จำนวนมากยืนยันว่า ความหลากหลาย (ไม่ใช่ความเป็นมาตรฐานหนึ่งเดียว) จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ความหลากหลายไม่ใช่การแบ่งแยก ความแตกต่างไม่ใช่ความแตกแยก ผู้บริหารมืออาชีพต้องสามารถสร้างความเป็นหนึ่งจากความหลากหลาย (Unity Through Diversity) มองสรรพสิ่งแบบองค์รวม ไม่ใช่แค่บูรณาการ (Integrated) หรือกองรวม (Heap) เพราะการมองแบบองค์รวมเป็นการมองสรรพสิ่งประดุจดังสิ่งมีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลง มีความสัมพันธ์ มีการพัฒนา ไม่ใช่วัตถุหรือมาตรฐานที่คงที่

อยากให้ผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร นักการเมือง นักธุรกิจ NGO ทุกคน ทุกอาชีพ มีสันติภาพเป็นวิสัยทัศน์ (Vision) มีความรักความเมตตาเป็นยุทธศาสตร์ (Strategy) มีจิตสาธารณะและจิตอาสาเป็นกลยุทธ (Tactic) แล้วมาช่วยกันทำแผนปฏิบัติการ (Action Plans) ที่หลากหลาย เพื่อสร้างอนาคตที่มีศานติสุข ทั้งของตนเอง สังคม ประเทศ และสรรพสิ่ง

ว่าด้วยเรื่องการแข่งขัน

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 17 กรกฎาคม 2547

หน้าที่อย่างหนึ่งที่ผมชอบทำในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และถือว่าเป็นงานหลักงานหนึ่งของโครงการจิตวิวัฒน์ด้วย ก็คือการมานั่งไล่เรียงดูว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่คิดค้นกันขึ้นมานั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง เรื่องหนึ่งที่เป็น “วิทยาศาสตร์” อย่างยิ่งและได้ฝังตัวลึกอยู่ในกระแสของสังคมมาเป็นเวลายาวนาน อย่างน้อยก็ร่วมหนึ่งร้อยห้าสิบปี และคนส่วนใหญ่ทั้งที่เรียนหรือไม่ได้เรียนสายวิทยาศาสตร์ต่างก็มีความเข้าใจที่ผมคิดว่า “อาจจะคลาดเคลื่อน” ไปบ้าง ก็คือความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “การคัดพันธุ์ทางธรรมชาติ - Natural Selection” ในทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ที่เข้าใจกันไปว่า “สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงกว่าจะสามารถอยู่รอดเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป - Survival of the Fittest”

ความจริงผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว เป็นบทความที่ลงรายละเอียดค่อนข้างยาว แต่ยังเขียนไม่จบ ไม่ลงตัวดีนัก และยังไม่ได้เผยแพร่ อย่างเหลือเชื่อที่ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ นั้น ผมได้ยินท่าน อ.เอกวิทย์ ณ ถลาง ได้พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ทำให้ผมแปลกใจและดีใจสองประการคือ ทำไม อ.เอกวิทย์ ถึงสนใจเรื่องที่ตรงกับผม ความจริงผมจะพบปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยๆ ในวงจิตวิวัฒน์ และทำไม อ.เอกวิทย์ ที่ตามความเข้าใจของผมในเบื้องต้น ไม่น่าจะสนใจภาษาที่เป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ แต่กลับเข้าใจทฤษฎีทางชีววิทยาได้อย่างลึกซึ้ง สามารถหลอมรวมเข้ากับความเป็นตัวของ อ.เอกวิทย์ เองได้อย่างน่าทึ่ง

ผมคงจะไม่ลงลึกไปในรายละเอียดว่า ชาร์ล ดาร์วิน พูดอย่างนั้นจริงๆ หรือว่าจะเป็นเพียง “ความเข้าใจผิด” ของบรรดาสาวกที่นำมาแปลความหมายเป็นแบบนี้ ผมเห็นด้วยกับท่าน อ.หมอประสาน ต่างใจ ที่เคยบอกไว้ว่า ถึงอย่างไร ชาร์ล ดาร์วิน ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะอย่างน้อยเขาก็ไม่ได้ทัดทานหรือโต้แย้งเมื่อมีคนนำความคิดนี้ไปเผยแพร่ และเกิดการตีความที่ “อาจจะ” ไม่ถูกต้องนักก็ตาม คำว่า “ดาร์วินต้องรับผิดชอบ” นี้ ต้องขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านว่า ผมไม่ได้หมายความที่จะไป “ตำหนิหรือกล่าวโทษ” ดาร์วินนะครับ เหมือนกับที่ผมเขียนถึงนิวตันเสมอๆ ว่า ทั้งนิวตันและดาร์วินต่างก็มีคุณอนันต์ต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เพราะเป็น “ฐาน” ให้เกิด “ความก้าวหน้า” อย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีนิวตัน ทั้งไอน์สไตน์, นีลบอร์, ไฮเซนเบิร์ก และคนอื่นๆ ก็อาจจะไม่สามารถ “คิดต่อ” เป็นฟิสิกส์แบบใหม่ได้ ถ้าไม่มีดาร์วิน เราก็อาจจะไม่สามารถคิดต่อเป็นทฤษฎีทางชีววิทยาแบบใหม่ที่ “น่าจะนำมาใช้ได้แล้ว” ในปัจจุบันเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคสังคมจากแนวคิด “ที่อาจจะเข้าใจผิด” เกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ก็คือ ทำให้ “สังคมปัจจุบันยอมรับการแข่งขันว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง” มีการสร้างกติกาเพื่อการแข่งขันต่างๆ มากมาย ทั้งยังสนับสนุนให้ผู้คนแข่งขันกัน ซึ่งปัญหานี้ผมคิดว่ามีสองประการคือ
หนึ่ง เราต้องเข้าใจก่อนว่า ในช่วงที่ ชาร์ล ดาร์วิน คิดทฤษฎีวิวัฒนาการและตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. ๑๘๕๙ นั้น ยังเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดแบบฟิสิกส์เก่าของนิวตัน ซึ่งมีฐานคิดที่แยกส่วนเป็นกลไก มองไม่เห็นความเชื่อมโยง ยังเรืองอำนาจอยู่อย่างเต็มที่ ดังนั้นฐานคิดเรื่องการแข่งขันที่เกิดขึ้นมาจึงเป็นการแข่งขันที่แยกส่วน เป็นกลไกด้วยเช่นกัน หมายความว่า ความคิดเกี่ยวกับการแข่งขันแบบนั้นนำไปสู่ “ความเป็นฝักฝ่าย” และ “ความเป็นสองฝ่ายที่ต้องต่อสู้กัน” ต้องมีฝ่ายชนะกับฝ่ายแพ้ ต้องมีฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว ถ้าไม่ใช่พวกฉันก็เป็นศัตรูของฉัน แบบนี้เป็นต้น มองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่าง “ฉัน” กับ “สิ่งที่ไม่ใช่ฉัน” ด้วยแนวคิดหลักที่เป็นแบบนี้ จึงทำให้การแข่งขันเป็นเรื่องชอบธรรมที่จะต้องเกิดขึ้น เหล่านี้เป็นแนวคิดที่มาจากฐานคิดของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าเมื่อหลายร้อยปีก่อนแล้ว

สอง ในตัวคำว่า “การคัดพันธุ์ตามธรรมชาติ - Natural Selection” ของ ชาร์ล ดาร์วิน เอง ก็ไม่ได้เขียนชัดนะครับว่าหมายถึงแต่เฉพาะ “การอยู่รอดของผู้แข็งแรง” แต่เป็นเพียงการตีความเท่านั้น และเมื่อเราลองมามองอย่างจริงๆ ในเรื่องของการคัดพันธุ์ตามธรรมชาติ ดาร์วินบอกว่า ในระบบนิเวศที่ดำรงอยู่นั้น ธรรมชาติจะสร้างความหลากหลาย (natural variation) เพื่อให้เกิดการคัดพันธุ์ทางธรรมชาติ และสามารถถ่ายทอดส่งผ่านไปได้ กลายเป็นวิวัฒนาการ ในตอนนั้น ดาร์วินยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถ่ายทอดผ่านอะไร คำว่า ยีนส์หรือสารพันธุกรรม มีการคิดขึ้นมาในภายหลัง โดยผู้ที่พูดถึง “ยีนส์” เป็นคนแรกๆ ก็คือ เกรเกอร์ เมนเดล บาทหลวงชาวออสเตรีย ที่ทำการทดลองเกี่ยวกับลักษณะเด่นลักษณะด้อยของถั่วในบริเวณวัด ตามที่เราได้เรียนมาในหนังสือชีววิทยานั่นเอง

สองจุดหนึ่ง ในระบบนิเวศที่ดาร์วินมองนั้น เราจะเห็นได้ว่าจะต้องมีสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย ถ้าเราจะ “ให้ความหมาย” ก็คือจะมีผู้แข็งแรง มีผู้อ่อนแอ มีผู้ล่า ผู้ถูกล่า ซึ่งตรงนี้ก็คงเป็นความจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้อ่อนแอจะไม่มีความสำคัญ ถ้าเราลองใช้วิธีคิดแบบเชื่อมโยง ไม่แยกส่วนตามที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี พูดถึงเสมอๆ มาจับ เราจะเห็นได้เลยว่า เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกล่าจะไม่มีความสำคัญ ผู้อ่อนแอหรือผู้ถูกล่านั้นล้วนแต่เป็น “สมาชิก” ที่มีความสำคัญในระบบ จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้

สองจุดสอง อลิซาเบท ซาตอริส (Elisabet Sahtoris) นักชีววิทยาคนสำคัญ เขียนไว้ในหนังสือ Earth Dance ของเธออย่างชัดเจนเลยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนั้นมีหลายความสัมพันธ์ เช่นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน - Symbiosis การเจรจาระหว่างกัน การทำความเข้าใจกัน การแข่งขันเป็นเพียงส่วนหนึ่งส่วนเดียวของระบบเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดอย่างที่พวกเราอาจจะเข้าใจกันในปัจจุบันนี้

ปัญหาเรื่องความเครียดและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมี “ความเข้าใจผิด” เกี่ยวกับเรื่อง “การแข่งขัน” นี้เอง ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใหม่ในทางชีววิทยาบอกชัดเจนว่า สิ่งมีชีวิตไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันเท่านั้น แต่ต่างต้องมีการพึ่งพิงพึ่งอาศัยกันและกันอย่างเชื่อมโยง และแบ่งแยกไม่ได้ การทำลายหรือการสูญไปของสิ่งมีชีวิตหนึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เหลืออยู่เหมือนกับคลื่นที่เกิดในอ่างน้ำย่อมกระทบถึงกันหมด กล่าวคือในระบบใหญ่ทั้งระบบนั้น ธรรมชาติจะต้องมี “การเกิดสิ่งใหม่ๆ” ขึ้นเสมอ เพื่อการก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งในกรณีนี้เราเรียกว่า “วิวัฒนาการ” การปรากฏขึ้นของสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนแอกว่าเป็นเรื่องปกติของระบบทั้งหมดในภาพรวม เพราะเป็นการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งธรรมชาติก็ได้ลองผิดลองถูกเช่นกัน ธรรมชาติไม่รู้หรอกว่าการเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมแล้วเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นใหม่นี้จะถูกมนุษย์ไปตราเอาเองว่า “เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ” และจริงๆ แล้ว สิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอกว่าที่เกิดขึ้นนี้ ก็มีความสำคัญด้วยตัวของมันเอง และแม้กระทั่งมีสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงกว่าด้วย

ผมคิดว่าถ้าพวกเราในสังคมให้ความสำคัญกับ “วิทยาศาสตร์” กันจริงๆ แบบ “ไม่หน้ามืดตามัว” การให้ความสำคัญกับเรื่อง “การแข่งขัน” แบบที่เป็นอยู่ นอกจากจะเป็น “ความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง” ต่อวิทยาศาสตร์แล้ว ผมยังรู้สึกว่าเป็น “การดูถูกดูหมิ่นดูแคลนและเหยียบย่ำ” วิทยาศาสตร์อย่างเลวร้ายอีกด้วย

นามบัตรสองใบ ทำธุรกิจอย่างไรให้เป็นจิตวิวัฒน์

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2547

"ทุกวันนี้ผมมีนามบัตรสองใบ ใบหนึ่งแสดงถึงธุรกิจของผม อีกใบหนึ่งแสดงถึงตัวตนของผม" คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ กล่าวในงานอบรมเรื่อง "จิตสำนึกใหม่ของผู้นำ" โครงการวิทยาลัยเอสวีเอ็น (SVN College) ที่เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network: SVN) จัดขึ้น และผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเมื่อต้นสัปดาห์นี้

คุณปรีดาเล่าให้กลุ่มกัลยาณมิตรฟังว่า ตนเองจะมีนามบัตรใบหนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการบริหารของบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด เพื่อใช้สำหรับติดต่องานกับนักธุรกิจโดยทั่วไป ส่วนอีกใบหนึ่งคือ คุณปรีดา ในฐานะประธานกรรมการเครือข่าย SVN ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มุ่งส่งเสริมจิตสำนึกทางธุรกิจที่นำไปสู่การเคารพสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงสิทธิของชุมชนและสังคม ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย

เวลาจะแนะนำตัว ก็ต้องนึกก่อนว่า "เอ! คนนี้เราจะให้ใบไหนดี?"

ปรากฏว่า คุณปรีดาไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีนามบัตรสองใบ ยังมีเพื่อนๆ นักธุรกิจที่มาเรียนรู้ด้วยกันอีกหลายคน ที่ถือนามบัตรสองใบด้วยเช่นกัน

เมื่อก่อนโลกของนักธุรกิจเหล่านี้แยกออกเป็นสอง โลกหนึ่งเป็นโลกธุรกิจ การประกอบอาชีพ การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว อีกโลกหนึ่งเป็นโลกนอกภาคธุรกิจที่คนเหล่านี้ก็อยากมีครอบครัวที่อบอุ่นอยากเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม อยากมีสุขภาวะที่ดีและมีส่วนสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนอื่นๆ ด้วย

แต่ทุกวันนี้ คุณปรีดา และเพื่อนๆ มีคุณประสาร มฤคพิทักษ์ คุณสมลักษณ์ หุตานุวัตร และคุณวัลลภา คุณติรานนท์ เป็นอาทิ มีเป้าหมายที่จะทำให้โลกทั้งสองผสานเป็นหนึ่ง ทำนามบัตรให้เป็นใบเดียว

ในการดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ ทักษะ การฝึกฝนตนเอง และการปรับเปลี่ยนในหลายระดับ จึงเป็นที่มาของโครงการวิทยาลัยเอสวีเอ็น ที่กลุ่มจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงร่วมกันจนเห็นผล อย่างน้อยในสามเรื่องหลัก คือ มณฑลแห่งพลัง สุนทรียสนทนา (Dialogue) และการบริหารจัดการองค์กรในวิทยาศาสตร์ใหม่ (หลักการทั้งสามนี้ สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้นำเสนอจากมุมมองต่างๆ ผ่านสื่อ ทั้งในคอลัมน์นี้และอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง)

ความรู้ที่ใช้ในกระบวนการอบรมเป็นความรู้ใหม่ที่สุดในโลก อยู่ที่พรมแดนของความรู้ (frontier of knowledge) โดยการนำเอาทั้งความรู้ด้านศาสนธรรมและด้านวิทยาศาสตร์ใหม่มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับการทำงานของสมอง ทฤษฎีระบบ (System Theory) ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) หรือแม้แต่ควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum Physics)

เพราะวิทยาศาสตร์เก่าและกระบวนทัศน์เก่าที่แยกส่วนและเน้นสสารวัตถุ อธิบายความจริงได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น การประยุกต์ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส ดาร์วิน ที่กล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ และการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด มาใช้ในการอธิบายสังคมมนุษย์ หรือที่เรียกว่า โซเชียลดาร์วินนิสซึ่ม (Social Darwinism) การอธิบายโลกเช่นนี้เป็นการอธิบายที่คับแคบ มองโลกเป็นเรื่องของการแข่งขันเท่านั้น

สังคมที่ภาคธุรกิจมีความคิดเช่นนี้ ก็จะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเดือดร้อน เพราะมุ่งเน้นที่การหากำไรสูงสุด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลย สิ่งแวดล้อมก็จะแย่เพราะมีกระบวนการผลิตที่ไม่เหมาะสม พนักงานไม่มีความสุขเพราะถูกกดขี่แรงงาน ตัวเจ้าของกิจการเองก็เครียดเพราะต้องคิดเรื่องเงินๆ ทองๆ ตลอดเวลา สุขภาพก็แย่ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และจิตวิญญาณ

ในขณะที่วิทยาศาสตร์เก่าเชื่อว่า โลกคือการต่อสู้แข่งขัน แต่วิทยาศาสตร์ใหม่อธิบายว่า โลกที่แท้จริงคือ โยงใยแห่งความสัมพันธ์ ที่ทุกชีวิตล้วนเชื่อมโยง ถักทอ เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

สิงโตที่ล่ากวาง ก็ล่าแค่เพียงพอต่อความอยู่รอด เราไม่เคยเห็นสิงโตล่าอาหารเพราะความละโมบโลภมาก เก็บสะสมเอาไว้เป็นทรัพย์สมบัติของตน ไม่ต้องตื่นขึ้นมาล่าสัตว์ตั้งแต่ไก่โห่ยันพระอาทิตย์ตกดิน แต่ล่าเพียงแค่พอกิน แล้วก็นอนพักผ่อน

ในธรรมชาติมีระบบที่สร้างความสมดุล ไม่มีสิ่งใดเป็น "ของเสีย" (waste) สิ่งขับถ่ายของสิ่งมีชีวิตหนึ่งเป็นอาหารหรือปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตอื่น แม้แต่ความตายก็เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนหมุนเวียน ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ไปตามเหตุตามปัจจัย

ในขณะที่วิทยาศาสตร์เก่าเชื่อว่า คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่อสู้แก่งแย่งชิงดีกัน แต่วิทยาศาสตร์ใหม่อธิบายว่า แม้มนุษย์จะมีกิเลสอยู่ แต่ทุกคนนั้นมีเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิ เมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ มนุษย์มีศักยภาพในการก้าวข้ามขอบเขตของการคิดถึงแต่ตัวเอง และหันกลับมาให้ความสำคัญต่อความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของทุกองคาพยพของสังคม

หากภาคธุรกิจซึ่งมีพลังมาก ได้เห็นและเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ตนเองมีศักยภาพในการทำความดีได้มากเช่นนี้แล้ว โลกจะมีความงดงามขึ้นอีกมาก

หากเราทำเรื่องจิตวิวัฒน์ในภาคธุรกิจให้เป็นจริง เจ้าของกิจการก็จะมีสุขภาพดี เพราะไม่ต้องทำงานเกินกว่าที่ควร มีเวลาออกกำลังกาย มีเวลาให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูง

เมื่อคิดเผื่อแผ่ไปถึงพนักงานของบริษัท ก็จะมีระบบและบรรยากาศการทำงานที่ดี สวัสดิการที่เหมาะสม

หากคิดได้กว้างไกลมากขึ้น ไปถึงลูกค้าของบริษัท เราก็จะได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง และหากนักธุรกิจมีจิตที่ใหญ่ เราก็จะมีภาคธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตและบริการที่เป็นมิตรต่อทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม

กระบวนการเรียนรู้แบบเครือข่ายเอสวีเอ็น เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ผ่านชุมชนปฏิบัติการ (community of practice) ที่มากมายและหลากหลายรูปแบบ เช่น วิทยาลัยอาศรมศิลป์ ที่เน้นการเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะ กลุ่มวงล้อ เครือข่ายครู ชาวบ้าน นักวิชาการ โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กลุ่มจิตวิวัฒน์เชียงราย กลุ่มทันตบุคลากรเชียงราย กลุ่มเครือข่ายผู้ทำงานสังคมของมูลนิธิอโชก้า รวมไปถึงเครือข่ายเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ต เช่น กลุ่มการเรียนรู้ระหว่างเจ้าของโรงแรม แพทย์ นักการศึกษา นักพัฒนาสังคมในประเทศไทย-ฝรั่งเศสอีกด้วย

ชุมชนปฏิบัติการจิตวิวัฒน์ต่างๆ เช่นนี้ ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นมากๆ และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีพลัง

เพราะอนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่การมีจิตใหญ่หรือจิตใจสูง เป็นการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ เพื่อให้สังคมมีสุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งโลก

วิกฤต - วิวัฒนาการของจิต - สไปรัลไดนามิกส์

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2547

อลิซาเบท ซาทัวริส (Elisabet Sahtoris) บอกว่า “วิกฤตคือคาตาลิสต์ ความเครียดจากการดำรงชีวิตนั้นเองที่ทำให้เราเปลี่ยน” ทุกวันนี้ เราอยู่ท่ามกลางความเครียดจากวิกฤตในแทบทุกด้าน ที่ล้วนเป็นผลจากการกระทำของเราเอง โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือและตัวเร่ง ที่ทำร้ายและทำลายระบบนิเวศธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน ทำให้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่เรามีที่เรารับเป็นมรดกตกทอดมาไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป นักปราชญ์ นักคิด และนักวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ระดับนำทุกคนล้วนกล่าวตรงกันว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม ทางด้านจิต หรือ “จิตวิวัฒน์” สู่สังคมใหม่ จิตวิญญาณใหม่ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่และเจ็บปวดที่สุดของมนุษยชาติ ในเวลาอีกไม่ช้านี้

แต่ถึงแม้ว่าสหัสวรรษใหม่จะผ่านพ้นไปสามปีกว่าแล้ว เราส่วนใหญ่ราวๆ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ดูเหมือนจะยังไม่รู้ตัวจึงไม่เปลี่ยนตาม หรือเพราะเชื่อว่าองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์กายภาพ ที่เชิดชูวัตถุและแสดงออกเป็นความก้าวหน้าของสังคมด้วยเทคโนโลยี คือความจริงที่ถูกต้องแล้ว ดังนั้น จึงยังคงมีโลกทัศน์และชีวทัศน์แบบเก่า “ขอให้เหมือนเดิม” อยู่ (Paul H. Ray and Sherry Anderson: The Cultural Creatives, 2000; Duane Elgin and Colleen Ledrew: Global Consciousness Change, 1997; Michael Lerner: The Age of Extinction..., 1999) โดยไม่กังวลหรือไม่รู้ตัวว่า ความก้าวหน้านั้น จะหวนกลับมาทำลายลูกหลานหรือมรดกตกทอดทางเผ่าพันธุ์ที่เรารักและห่วงใยที่สุดอย่างไร?

ที่ว่าไม่กังวลหรือไม่รู้ตัว เพราะว่าความสุขสนุกสนานกับความเจริญก้าวหน้าได้บดบังตาเรา หรือทำให้มองเห็นว่าจิตมนุษย์เป็นอยู่เพียงแค่นั้น คือหยุดอยู่กับที่ แต่หากเรามองจากธรรมชาติของจักรวาล จะพบว่าธรรมชาตินั้นไหลเลื่อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกันตลอดเวลาเป็นวัฏจักร สถานภาพของมนุษย์และสังคมมนุษย์ในขณะนี้เป็นเพียงช่วงหนึ่งของวัฏจักรที่ว่าเท่านั้น ยังจะต้องเปลี่ยนแปลงต่อไป เช่นเดียวกับจิตและจิตวิญญาณที่จะต้องวิวัฒนาการต่อไปเช่นกัน (Ken Wilber: Up From Eden; 1976)

ในบทสัมภาษณ์ ดอน เบ็ค (ผู้ร่วมกับ แคลร์ เกรฟส์ (Clare W. Graves) สร้างทฤษฎีสไปรัลไดนามิกส์ หรือ “จิตวิวัฒน์”, Don Beck and Spiral Dynamics; in: What is Enlightenment?; 2002) อธิบายว่า วิวัฒนาการของจิต คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปัญญา พฤติกรรม บุคลิกภาพของมนุษย์ (จิตปัจเจก) และรูปแบบ ความเชื่อ หรือค่านิยมของสังคม (จิตร่วมหรือวัฒนธรรม) รูปแบบของความเชื่อหรือค่านิยมนี้ เรียกว่า มีมส์ (Rechard Dawsons' memes นำมาใช้โดย Aaron Lynch: Thought Contagion, 1996) ซึ่ง ดอน เบ็ค นำมาอธิบายวิวัฒนาการของจิตโดยสัมพันธ์กับสี ๘ สี ๘ ระดับ (แบ่งออกเป็นสองชั้น ชั้นล่างมี ๖ สี ๖ ระดับ และชั้นบนจะมี ๒ สี ๒ ระดับ) แต่ละสี จะบ่งบอกถึงโลกทัศน์ ปัญญา อุปนิสัย และพฤติกรรมของแต่ละคนที่มีต่อสังคมโดยรวมในชั่วขณะนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับหรือสี

ประชากรโลกโดยส่วนใหญ่หรือกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ จะมีระดับจิตหรือสีกระจายอยู่ระหว่างระดับสาม (สีแดง) ถึงระดับหก (สีเขียว) ระดับใดจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคนในสังคม (หรือชาติพันธุ์) ย่อยนั้นๆ ว่า มีวิวัฒนาการของจิตในระดับใดหรือสีอะไร (ที่จะชี้บ่งระดับของจิตร่วมทางสังคมหรือวัฒนธรรมของสังคมย่อยนั้นๆ อีกทีหนึ่ง)

มีเพียงไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลกเท่านั้นที่มีวิวัฒนาการของจิตกระจายอยู่ในอีก ๔ ระดับของทั้งสองชั้นที่เหลือ ยกตัวอย่าง จะมีคนที่อยู่ในระดับต่ำสุด สีดิน หรือสีน้ำตาลอ่อนแห้งๆ (Beige) คือระดับจิตดำบรรพ์ของคนถ้ำ น้อยมาก ไม่ถึง ๐.๐๕ เปอร์เซ็นต์ ของประชาการทั้งหมด และที่มีน้อยกว่านั้นอีกได้แก่ระดับ ๘ หรือระดับจิตสูงสุด สีเขียวครามใส (Turquoise) อันเป็นระดับจิตของผู้มีปรีชาญาณเฉกเช่นศาสดา อรหันต์ ที่จิตได้วิวัฒนาการผ่านพ้นตัวตน สู่ความว่างอย่างแท้จริง ระดับทั้งหมดมีดังนี้

ชั้น I มี ๖ ระดับ หรือ ๖ สี

ระดับที่ ๑ ระดับล่างสุด สีดินหรือสีน้ำตาลอ่อนแห้งๆ
(Beige) เริ่มมีตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ประมาณ ๑ แสนปีมาแล้ว, ลักษณะนำ ทำอะไรก็ได้เพื่อให้อยู่รอด
พฤติกรรม-นิสัย

  • ใช้สัญชาตญาณและความเคยชินนำ ชีวิตเป็นปัจจุบันขณะ
  • อัตตายังไม่มีหรือไม่ตื่น หรืออาจมีบ้างเฉพาะหน้าช่วงสั้นๆ
  • อาหาร น้ำ ความอบอุ่น ปลอดภัยและสืบพันธุ์ คือพฤติกรรม
  • ชีวิตขึ้นกับที่อยู่อาศัยในเวลานั้น เช่นสัตว์ทั้งหลาย


ระดับที่ ๒ สีม่วง (Purple) ๕ หมื่นปี, ลักษณะนำ ถ้าเจ้าพ่อ ผี มีความสุข เผ่าพันธุ์ก็สุข ปลอดภัย
พฤติกรรม-นิสัย
  • เชื่อในบัญชาของเจ้าพ่อเจ้าแม่ผีป่า บูชาสัญลักษณ์เร้นลับ
  • ปฏิบัติตามหัวหน้า ผู้เฒ่า บรรพบุรุษ และวินัยกลุ่ม
  • ปัจเจกสยบยอมต่อกลุ่ม
  • รักษาไว้ซึ่งสถานที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหตุการณ์ ความทรงจำ
  • เคร่งครัดศรัทธาต่อจารีตประเพณี การตาย การเกิด ฤดูกาล


ระดับที่ ๓ สีแดง (Red) ๑ หมื่นปีก่อน, ลักษณะนำ เป็นตัวของตัวเอง ไม่สนใจ อยากทำก็ทำ
พฤติกรรม-นิสัย
  • โลกคือป่าดงดิบ มีแต่เสือสิงห์กระทิงแรด
  • หนีการบังคับหรือแม้แต่หน้าที่ หากไม่ชอบก็ไม่ทำ
  • ข้าใหญ่ ข้าเท่ จึงเสนอหน้าและเรียกร้องต่อการรับรู้
  • เห็นแต่ความต้องการของตน ด้านได้อายอด
  • ก้าวร้าว ข้าต้องมาก่อนในทุกรูปแบบ โกงคือเก่ง คือฉลาด


ระดับที่ ๔ สีน้ำเงิน (Blue) ๕ พันปี, ลักษณะนำ ชีวิตมีทิศทางความหมายที่ฟ้าลิขิตไว้แล้ว
พฤติกรรม-นิสัย
  • เสียสละเพราะศรัทธาโดยไร้ข้อแม้ต่อศีลธรรม
  • ศีลและข้อปฏิบัติคือวิถีชีวิตที่กำหนดเด็ดขาดโดยเบื้องบน
  • ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในวันนี้ ต้องได้ดี (สวรรค์) ในวันหน้า
  • ความอยากเป็นความผิด ต้องปลง ต้องสำนึก
  • วัฒนธรรมและระเบียบวินัยเท่านั้น ที่สร้างคุณธรรมความดีงาม


ระดับที่ ๕ สีส้ม (Orange) ๓๐๐ ปีก่อน, ลักษณะนำ แข่งขันเพื่อชนะ แต่อยู่ภายใต้กฎ เคารพข้อบังคับ
พฤติกรรม-นิสัย
  • ความเจริญก้าวหน้าคือเนื้อในของแต่ละคนที่มีมาโดยกำเนิด
  • ความเจริญก้าวหน้าขึ้นกับการเรียนรู้ความลับของธรรมชาติ
  • การหาประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อชีวิตที่ดีกว่าคือความถูกต้อง
  • เสี่ยง มองโลกในแง่ดี สู่ความสำเร็จ ข้าจะกำหนดตัวข้าเอง
  • สังคมก้าวบนเหตุผล การแข่งขัน ยุทธศาสตร์ และเทคโนโลยี


ระดับที่ ๖ สีเขียวใบไม้ (Green) เริ่มที่ ๑๕๐ ปีก่อน, ลักษณะนำ สุขสงบอยู่ที่ภายใน ห่วงใยผู้อื่น
พฤติกรรม-นิสัย
  • จิตวิญญาณต้องถูกปลดปล่อยจากตัณหา จากการแยกแบ่ง
  • ห่วงใย อ่อนไหว คุณธรรม อยู่เหนือชาติ วัฒนธรรม และเหตุผล
  • ให้โอกาส แบ่งสรรธรรมชาติที่จำเป็นให้มนุษย์โลกเท่าๆ กัน
  • ตัดสินใจโดยฟังผู้อื่น ฝึกฝนปรับจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง


ชั้นที่ II มี ๒ ระดับ ๒ สี

ระดับที่ ๗ สีเหลือง
(Yellow) เริ่มมีเมื่อ ๕๐ ปีก่อน, ลักษณะนำ ชีวิตคือความรับผิดชอบ องค์รวม
พฤติกรรม-นิสัย
  • รู้ธรรมชาติ รู้ระบบ รู้ชีวิต รู้สังคม
  • วิกฤตและการเปลี่ยนแปลง คือบรรทัดฐานของจักรวาล
  • ยืดหยุ่น เชื่อมโยงพึ่งพากัน ไหลเลื่อนวนเวียนเป็นวัฏจักร


ระดับที่ ๘ สีเขียวครามกระจ่างใส (Turquoise) เริ่มมีมาเมื่อ ๓๐ ปีก่อนแต่ยังคงน้อยมาก
พฤติกรรม-นิสัย
  • องค์รวมแห่งกาย จิต จิตวิญญาณ
  • ความโยงใยเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ และสิ่งสูงสุด
  • พลังงาน (จิต) และข้อมูล (ปัญญาญาณ) ซึมแทรกทั่วทั้งโลก

Back to Top