มีนาคม 2006

เดินภาวนาเพื่อธรรมาธิปไตย






ช่วงเย็นของวันพุธที่ ๒๙ มีนา มีการประชุมของกลุ่มเครือข่ายศาสนธรรมเพื่อธรรมาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วยข่ายงานที่ทำงานด้านจิตวิญญานและหรือการภาวนาทั้งหลาย รวมทั้งจิตวิวัฒน์

โจทย์ใหญ่ก็คือ จะปลูกฝังจิตสำนึก ว่าด้วยเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ให้กลับมาเป็นหลักของสังคมไทย ในภาวการณ์ปัจจุบันอย่างไร?

สสส. เตรียมจะเผยแพร่แนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต) จากหนังสือ "ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ (จุดบรรจบ: รัฐศาสตร์ กับ นิติศาสตร)์" ให้เป็นที่กว้างขวางออกไป

ท่านกล่าวถึง "วิกฤตร้อน" และ "วิกฤตลึก"

วิกฤติร้อนจำต้องใช้สติและอุเบกขาในการเผชิญหน้า เพราะของร้อนอย่างไรก็จะผ่านพ้นไป

วิกฤติลึกจำต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง วิกฤติลึกมีมายาวนานแล้ว จำต้องใส่ใจให้มาก

และชัยชนะทั้งหลายทั้งปวงก็สู้ชัยชนะแห่งธรรมและชัยชนะโดยธรรมไม่ได้


วันเสาร์ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เครือข่ายศาสนธรรมเพื่อธรรมาธิปไตย ขอเชิญชวนเพื่อนฝูงพี่น้อง ไปร่วมเดินภาวนาเพื่อธรรมาธิปไตย

เริ่มเดินจากหน้าวัดพระแก้วมรกต ผ่านศาลหลักเมือง ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วงเวลา ๑๕.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.

มาร่วมกันภาวนาให้กับบ้านเมืองท่ามกลางวิกฤตร้อน แผ่อำนาจความเย็นแห่งการภาวนาออกไปอย่างพร้อมเพรียงกัน




ประเมินผลจิตวิวัฒน์




ห้าโมงเย็น ทีมถั่วงอกนัดกับทีมประเมินผล อ. อ๊อด - อรสม สุทธิสาคร พี่สุ้ย - วรรณา จารุสมบูรณ์ และปัญญา ปัญญา วังใจโลก พบกันที่มูลนิธิโกมล คีมทอง ซ. บ้านช่างหล่อ

พูดคุยวันนี้น่าสนใจ พี่สุ้ยถาม เราตอบ พูดไปก็เห็นความคิดของตัวเองที่หลั่งไหลออกมา ใช้ได้มั่ง ใช้ไม่ได้มั่ง แต่ทำให้เรียบเรียงความคิดได้ดีขึ้น สงกะสัยต้องคุยบ่อยๆ (ฮ่า)


งานจิตวิวัฒน์ที่ผ่านมามีหลายส่วน ถ้าแยกดูตามยุทธศาสตร์ RCN – Research Communication Network เนื้องาน ๓ ส่วนมีดังนี้

๑. การประมวลความรู้ จากกลุ่มต่างๆ ที่โครงการจิตวิวัฒน์สนับสนุนดูแล เป็นต้นว่า กลุ่มจิตวิวัฒน์ กลุ่มเชียงใหม่สำนึก กลุ่มสุขวิหาร ยังทำได้ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ดีนัก โครงการร้อยเล่มสู่จิตสำนึกใหม่ก็ไม่มีความคืบหน้าเอาเสียเลย

๒. การสร้างเครือข่าย ค่อนข้างน่าพอใจ เวทีสานแสงอรุณเสวนา และงานเสวนาอื่น ช่วยให้ได้พบปะกับผู้คนหลากหลายมากขึ้น แต่ยังขายไอเดียเรื่องกระบวนการรวมกลุ่มพูดคุยในทำนองเดียวกับจิตวิวัฒน์ไม่ใคร่ได้

๓. การสื่อสาร มีปัญหามาก ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ใคร่เข้าใจกระบวนการจิตวิวัฒน์ดีนัก แถมยังสับสนระหว่างกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิ กับตัวโครงการจิตวิวัฒน์ ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการจัดการความรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่จิตสำนึก หรือกระบวนทัศน์ใหม่ ความรู้ที่รวบรวมได้ยังไม่สามารถหาช่องทางสื่อสารกับคนในวงกว้างได้


พี่สุ้ยเห็นเราบ่นมาก ก็เลยถามว่า เจอข้อขัดข้องมากแล้วทำอย่างไร?

เราตอบแบบไม่ลังเล เก๊าะปล่อยมันไป - วงสนทนาก็ฮาครืน

คิดก่อนอนาคต







หลังการภาวนาที่เรือนร้อยฉนำ เรามีนัดต่อที่ธรรมศาสตร์

พบพี่จู พี่อ้อย พี่นี สมาชิกอาวุโสของกลุ่มสังฆะ แอบมาภาวนาในห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ ตั้งแต่บ่าย

วงประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตเมืองไทยหลังยุคทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน

อ. ชัยวัฒน์ ถิรพันธ์ เคยนำเสนอในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง ว่าด้วยการคิดก่อนอนาคต Presensing – การคิดเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์เบื้องหน้าที่มีความเป็นไปได้หลายแบบ

ครั้งนี้ ก็ไม่ต่างกับอีกหลายครั้ง อ. ชัยวัฒน์ ทิ้งคำถามเหมือนเดิม แต่คราวนี้ว่าด้วยอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลของบ้านเมือง

วิกฤติก็เหมือนกับภาวะยุ่งเหยิง Chaos – ช่วงเปลี่ยนผ่านย่อมดูสับสน แต่ก็จะผ่านพ้นไปในที่สุด จำต้องเตรียมตัวไว้สำหรับระเบียบใหม่

ผู้คนหลายกลุ่มหลากความคิดเห็น นักวิชาการ ทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บริหารธุรกิจ และผู้คนจากวิชาชีพอื่น

กลุ่มภาวนาเสนอเรื่องการภาวนา ซึ่งเป็นกิจกรรมเย็นที่ช่วยดึงอุณหภูมิการเมืองให้ลงมาได้บ้าง และน่าจะช่วยแผ่ขยายความเย็นออกไปให้ถ้วนทั่ว

หลายท่านเสนอว่า การภาวนาน่าจะเสริมเรื่องปัญญาภาวนา อย่างน้อยก็ต้องจับประเด็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่กำลังเลื่อนไหลไว้ให้มั่น

สรุปยังไม่ได้ ก็คุยปัญหาบ้านเมืองกันแค่ห้าชั่วโมง จะรีบสรุปอะไร?

นัดคุยกันต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๙ เวลาบ่ายสาม

ผู้คนบางตาลง แต่ความคิดร่วมเริ่มตกผลึกชัดเจนขึ้น

ยุคหลังทักษิณควรเป็นไปเช่นไร?

เราอาจจะต้องจัดการกับปัญหาว่าด้วยคุณค่า จริยธรรม คุณธรรม และโครงสร้างของความรุนแรงที่กดทับอยู่

ทั้งหมดทั้งนั้นอาจจะเป็นไปได้ด้วยระบบการศึกษา การขยายพื้นที่การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน กลไกการตรวจสอบการทำงานแบบใหม่

เพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ ตลอดจนการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ฯลฯ ในบริบทของสังคมไทย

บางเรื่องมีกลุ่มรับผิดชอบทำงานอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีผู้ร้อยโยงให้เห็นภาพรวม

การมองหาพื้นที่ว่างก็มีความสำคัญ เพื่อเสริมเติมเต็มกระบวนการปฏิรูปนี้

แผนปฏิบัติการอาจจะเป็นการประมวลความรู้จากกลุ่ม จัดเวทีสาธารณะ เอกสารเผยแพร่ ตลอดจนการตั้งประเด็นคำถามต่อสังคมเพื่อช่วยกันหาคำตอบ ฯลฯ

คำตอบของคำถามอาจจะเป็นงานที่ใช้เวลาหลายชั่วอายุคน รู้สึกคุ้นเคยอย่างไรไม่รู้ได้

อยากได้เพื่อนช่วยคิดจัง ;-)


สุขวิหาร & สังฆะแห่งสติ









สุขวิหาร และสังฆะแ
ห่งสติภาวนาร่วมกันมาเดือนละครั้ง ทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือน สี่ห้าเดือนแล้ว การจัดการยังขลุกขลักอยู่บ้าง แต่คุณภาพของการพบปะในแต่ละครั้งไม่แตกต่างกันเลย

ครั้งล่าสุด วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มีนาคม เรือนร้อยฉนำ

เราตื่นสายเหมือนที่ใครๆก็ตื่นสายกันในเช้าวันอาทิตย์

วันนี้สมาชิกอาวุโสหลายท่านติดภารกิจช่วงเช้า กลุ่มจึงประกอบด้วยหนุ่มสาวห้าหกคน ก่อนจะทยอยมาจนครบโหลในตอนท้าย

น้องป๊อกนำภาวนา เริ่มด้วยการรายงานสภาพอากาศภายในของแต่ละคน ต่อด้วยการนั่งสมาธิราวสี่สิบห้านาที และเดินจงกรมผ่อนคลาย

ด้วยเหตุผลและไม่มีเหตุผลเราไม่มีปัญญาเตรียมอาหารไปร่วมด้วยได้เลยสักครั้ง แต่ก็มีอาหารกลางวันจากท่านอื่นเตรียมเผื่อไว้สำหรับมนุษย์หยั่งเราค่อนข้างเหลือเฟือ

สมัชชาคนจนก็ประชุมที่ห้องด้านบน ที่จริงมาประชุมได้สองวันแล้ว แต่วันที่สาม พวกเราจองห้องโถงด้านล่างไว้ล่วงหน้าหลายเดือน สมัชชาคนจนเลยต้องย้ายไปประชุมด้านบน ทำให้รู้สึกว่าต้องใช้สถานที่อย่างตั้งใจมากเป็นพิเศษ

ช่วงบ่าย หลังจากการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ กิจกรรมที่หลายคนโปรดปราน ก็เริ่มสุนทรียสนทนา โดยใช้การรีวิวหนังสือ กามนิต วาสิฏฐี และคู่มือทรราช ที่น้องป๊อกอ่านเตรียมมา

จากนั้นก็พูดคุยกันถึงเรื่องการตีความศีลห้าที่เข้ากับยุคสมัย โดยยกเอาแนวทางของติช นัท ฮันห์ มาพิจารณาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ภาวนาเสร็จสิ้นราวห้าโมงเย็น

เปลื้องใจให้เป็นไทจากความคิด

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 มีนาคม 2549

ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ การคิด เราคิดได้เก่งและซับซ้อนพิสดารอย่างไม่มีสัตว์ใดเทียบได้ เราสามารถใช้ความคิดเพื่อจัดการธรรมชาติ รวมทั้งสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากมาย กล่าวได้ว่าความคิดเป็นเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ในการดำรงชีวิตและสร้างโลก แต่ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งเราก็เผลอปล่อยให้ความคิดขึ้นมาเป็นนายเรา และสั่งให้เราทำตามบัญชาของมัน เวลาเกลียดใครก็ตาม เมื่อความคิดสั่งให้เราด่า เราก็ด่าตามคำสั่งของมัน เมื่อความคิดสั่งให้เราทำร้าย เราก็ทำร้ายตามคำสั่งของมัน คนจำนวนไม่น้อยตกเป็นทาสของความคิดจนนอนไม่หลับ แม้ใจอยากจะหลับ แต่ถ้าความคิดยังไม่ต้องการหลับ เราก็หลับไม่ได้ จนกว่ามันจะหยุดคิดหรือเหนื่อยไปเอง

ความคิดนั้นเกิดจากการปรุงแต่งของเราก็จริง แต่ทันทีที่มันเกิดขึ้น มันก็ดูเหมือนจะมีชีวิตของมันเอง มันพยายามที่จะดำรงคงอยู่ให้ได้นานที่สุด ด้วยการกระตุ้นให้เราหวนคิดถึงมันบ่อยๆ และนานเท่าที่จะนานได้ ยิ่งคิดถึงมัน มันก็ยิ่งเติบใหญ่และเข้มแข็ง เช่นเดียวกับกองไฟซึ่งโหมไหม้และแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ หากมีคนเติมเชื้อให้มันอยู่เสมอ ใช่แต่เท่านั้นมันยังต้องการ “แพร่พันธุ์” ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เวลาเรานึกคิดเรื่องอะไรได้ขึ้นมาก็ตาม เราจึงอยากเผยแพร่ความคิดนั้นให้คนอื่นได้รับรู้ เริ่มจากการบอกเล่าจากปากต่อปาก ส่งอีเมล เขียนบทความ ไปจนถึงเขียนหนังสือเป็นเล่ม เท่านั้นยังไม่พอ มันยังต้องการการปกป้องคุ้มครองจากเราด้วยเพื่อที่มันจะได้มีชีวิตยืนนานและแพร่พันธุ์ได้ไม่จบสิ้น ดังนั้นมันจึงสั่งให้เราโต้เถียงหักล้างเหตุผลของคนที่คิดต่างจากเรา ยิ่งไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรามากเท่าไร เรายิ่งต้องออกแรงทุ่มเถียงมากเท่านั้นเพื่อเอาชนะคะคานให้ได้ โดยอาจไม่คำนึงด้วยซ้ำว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อให้ความคิดของเราผงาดต่อไปได้ และยิ่งเป็นอมตะได้ก็ยิ่งดี

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะทำร้ายหรือรบราฆ่าฟันกันเพียงเพื่อปกป้องและเผยแพร่ความคิดของตน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับทีมฟุตบอลที่ตนโปรดปราน ไปจนถึงความคิดใหญ่ๆ ที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหรือศาสนา บ่อยครั้งผู้คนที่ทำร้ายกันก็มิใช่ใครอื่น หากเป็นพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมชาติ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมนุษยชาติไม่เคยขาดการรบพุ่งทำสงครามกันเพียงเพราะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน ความคิดนั้นมีอานุภาพและอำนาจเหนือมนุษย์อย่างไม่อาจประมาทได้เลย

อะไรทำให้ความคิดมีอานุภาพต่อมนุษย์ปานนั้น เหตุผลสำคัญประการหนึ่งได้แก่ความยึดติดถือมั่นจนลืมตัว ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า “อุปาทาน” นั่นเอง การที่คนเราจะเห็นด้วยหรือสนับสนุนความคิดใดนั้น เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งเสียหาย แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราเกิดยึดติดถือมั่นในความคิดนั้นๆ (ทิฏฐุปาทาน) จนทนไม่ได้กับความคิดที่เห็นต่าง จริงอยู่ตอนที่สมาทานความคิดนั้นใหม่ๆ เราอาจเห็นว่าเป็นความคิดที่ดีและถูกต้อง แต่ถ้าเผลอไปเมื่อไร ก็จะมีอัตตาหรือตัวตนเข้าไปผูกติดกับความคิดนั้น เกิดความยึดมั่นสำคัญหมายในความคิดนั้นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ถึงตรงนี้ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของความคิดนั้น (หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นคือกลายเป็นทาสของความคิดนั้น) จากเดิมที่สมาทานความคิดนั้นด้วยเหตุผลเพราะว่าเป็นความคิดที่ “ถูกต้อง” ก็เปลี่ยนมาเป็นเพราะว่าความคิดนั้นเป็น “ของกู” ทีนี้ก็จะไม่สนใจแล้วว่าความคิดของคนอื่นนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่จะสนใจแค่ว่าเป็นความคิดที่ “ถูกใจ” ตนเองหรือไม่ ถ้าไม่ถูกใจ แม้จะถูกต้องหรือมีเหตุผล ก็ไม่รับฟัง หรือยิ่งกว่านั้นคือเห็นเป็นศัตรูที่ต้องจัดการ เช่น กล่าวร้าย ประณาม ปิดปาก ไปจนถึงทำร้าย จากเดิมที่ใช้เหตุใช้ผล ก็กลายมาเป็นการใช้อารมณ์หรือความรู้สึก อัตตาเข้ามาแทนที่ปัญญา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือกลายเป็นการยึดติดถือมั่นด้วยกิเลส มุ่งที่การแพ้-ชนะเป็นสำคัญ ไม่สามารถมองเห็นอะไรที่เกินเลยไปกว่านั้นได้ ทั้งๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า

เมื่อยึดติดถือมั่นกับความคิดจนเห็นเรื่องแพ้-ชนะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว อันตรายก็เกิดขึ้นทันที เพราะมันสามารถผลักดันให้เราทำอะไรก็ได้เพียงเพื่อให้ “ความคิดของกู” เป็นผู้ชนะ ซึ่งแม้จะลงเอยว่า “ความคิดของกู” เป็นผู้ชนะ แต่ “กู” หรือผู้กระทำกลายเป็นผู้แพ้ก็ได้ หลายปีก่อนในสหรัฐอเมริกามีการชุมนุมประท้วงหน้าคลินิกทำแท้งแห่งหนึ่ง ผู้ประท้วงซึ่งเรียกตัวว่าเป็นผู้เชิดชูชีวิต (pro-life) เห็นว่าการทำแท้งนั้นเป็นการทำลายชีวิตซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานมา ในขณะที่ผู้ที่สนับสนุนการทำแท้งนั้นเห็นว่าเป็นสิทธิที่ผู้หญิงสามารถเลือกได้เพราะเป็นเจ้าของร่างกายของตนเอง ฝ่ายประท้วงพยายามปิดล้อมคลินิกเพื่อขัดขวางมิให้ผู้หญิงเข้าไปทำแท้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะกฎหมายในรัฐนั้นอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ผู้ประท้วงคนหนึ่งโกรธแค้นมาก ถึงกับบุกเข้าไปในคลินิกและชักปืนยิงหมอและพยาบาลในนั้นจนถึงแก่ความตาย แม้การกระทำดังกล่าวสามารถยุติการทำแท้งได้ (ชั่วระยะหนึ่ง) สมใจผู้ประท้วงก็จริง แต่ก็ทำให้ผู้ประท้วงกลายเป็นฆาตกรซึ่งต้องรับโทษหนัก

อะไรทำให้ “ผู้เชิดชูชีวิต” กลับกลายเป็น “ผู้ทำลายชีวิต” หากไม่ใช่เป็นเพราะความยึดติดถือมั่น เมื่อยึดติดถือมั่นในความคิดว่าชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันละเมิดมิได้ ก็ง่ายที่จะมองเห็นผู้สนับสนุนการทำแท้งเป็นคนเลวร้าย ดังนั้นจึงสมควรที่จะถูกฆ่า ผลก็คือผู้เชิดชูชีวิตกลับทำอย่างเดียวกับ (หรือร้ายแรงกว่า) คนที่ตนเองประณาม

เมื่อเรายึดติดถือมั่นกับอะไรก็ตาม มีโอกาสง่ายมากที่เราจะทำตรงข้ามกับสิ่งที่เรายึดมั่น ที่วัดป่าแห่งหนึ่งมีชาวบ้านนิยมมาเก็บเห็ด หนักเข้าแม้กระทั่งเห็ดที่ยังโตไม่ได้ที่ก็ถูกเก็บไปด้วย แม่ชีไม่พอใจมากเพราะนอกจากจะเสียของแล้ว ยังเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงคนอื่นที่มาทีหลัง แม่ชีพยายามขอร้องชาวบ้านว่าอย่าทำเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้ผล วันหนึ่งขณะที่แม่ชีกำลังหาเห็ดเพื่อไปทำอาหารถวายพระ เห็นเห็ดเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม แต่ยังโตไม่ได้ที่ ทีแรกก็เดินผ่านไป แต่พอนึกได้ว่าถ้าคนเห็นแก่ตัวมาเห็นเข้าก็จะต้องเก็บเอาไปแน่ แม่ชีต้องการขัดขวางคนพวกนี้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ในที่สุดก็นึกขึ้นมาได้ แม่ชีตรงเข้าไปถอนเห็ดเล็กๆ นั้นเสียเอง แล้ววางไว้ที่เดิม หมายจะสั่งสอนพวกนั้นว่า “ทีหลังอย่าทำๆ ”

แม่ชีต้องการเอาชนะชาวบ้านที่ชอบถอนเห็ดที่ยังเล็ก แต่แล้วในที่สุดก็กลับทำอย่างเดียวกับคนเหล่านั้น ทั้งๆ ที่สวนทางกับความคิดดั้งเดิมของตนเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

ความยึดติดถือมั่นทำให้เราลืมตัวได้ง่าย รวมทั้งลืมสิ่งอื่นๆ หมด เพียงเพื่อจะเอาชนะ นี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ที่สนับสนุนและต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในขณะนี้ ลูกทะเลาะกับพ่อแม่ สามีทะเลาะกับภรรยา เพื่อนทะเลาะกับเพื่อน เพียงเพื่อยืนยันและปกป้องความคิดของตน แต่ผลที่ตามมาคือสายสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน เราลืมไปว่าสักวันหนึ่งคุณทักษิณก็ต้องไป (จะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่) แต่เราทุกคนก็ยังจะต้องอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ร่วมสำนักงานเดียวกัน และร่วมประเทศเดียวกันไปอีกนาน จริงอยู่ทุกคนต้องมีจุดยืนทางความคิด แต่ไม่ควรให้ความคิดนั้นมาเป็นใหญ่จนกลายเป็นนายเรา และสั่งให้เราทำอะไรตามใจมันโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสายสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิด หรือกับความสงบสุขในบ้านเมือง

ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านใคร ก็ไม่ควรมองผู้ที่เห็นต่างเป็นศัตรู คนที่เห็นต่างจากเราถึงอย่างไรก็มิใช่คนเลว คนดีก็มีสิทธิเห็นต่างจากเราได้ เราลืมไปแล้วหรือว่าคนที่เห็นต่างจากเราในวันนี้ เมื่อวานนี้เขาก็เคยเห็นเหมือนกับเรา (เช่น ต่อต้าน รสช. รวมกำลังกู้ภัยสึนามิ) และวันพรุ่งนี้ก็อาจจะเห็นเหมือนกับเราอีก เมื่อมองให้ไกลและไม่ติดจมอยู่กับความขัดแย้งขณะนี้ จะพบว่าไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะทุ่มเถียงหรือทะเลาะวิวาทกันอย่างเอาเป็นเอาตายจนตัดญาติขาดมิตรกัน

อย่ายึดติดถือมั่นกับความคิดใดมากเกินไป ปล่อยวางความคิดนั้นๆ เสียบ้างด้วยการหันไปสนใจกับเรื่องอื่น แทนที่จะเอาแต่ครุ่นคิดว่าคุณทักษิณจะอยู่หรือไป ควรเอาใจไปอยู่กับงานการและกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งมีเวลาให้กับคนใกล้ชิดบ้าง ถึงเวลาพักผ่อนก็พักผ่อนอย่างเต็มที่ เอาคุณทักษิณออกไปจากใจบ้าง จิตใจจะได้หายอึดอัด โปร่งโล่ง ผ่อนคลาย ข่าวสารแม้จะควรติดตาม แต่อย่าเสียเวลากับมันจนไม่เป็นอันทำอย่างอื่น ถ้ารู้สึกเครียดขึ้นมา ลองทำใจให้สงบด้วยการน้อมจิตอยู่กับลมหายใจเข้าและออก พร้อมกับนับจาก ๑ ถึง ๑๐ ไปด้วยก็จะดี

ที่สำคัญก็คือพยายามมีสติรู้ทันความคิดอยู่เสมอ อย่าให้ “ตัวกูของกู” เข้ามาพัวพันจับจองความคิด จนคิดแต่จะเอาชนะอย่างเดียว เพราะในท้ายที่สุด “มาร” หรือกิเลสต่างหากที่ชนะ หาใช่เราไม่

สุนทรียสนทนา ภาคการเมือง





หกโมงเย็น วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๙ ประดาจิตจูเนียร์มาดื่มคาเฟอีนที่ ทรู ช็อป แอท ข้าวสาร


เริ่มด้วยการ
check-in เหมือนทุกครั้ง แล้วต่อด้วยสุนทรียสนทนา กติกาง่ายมาก ฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดสอดแทรก เว้นช่องว่างไว้สักสองคนก่อนพูดอีกรอบ ฯลฯ เราสรุปของเราอย่างนี้ ไม่ตรงก็ไปถามปู่เดวิด โบห์มเอาเอง (ฮ่า ฮ่า)


สุนทรียสนทนาคราวนี้มีหัวข้อ
การประยุกต์ใช้ความรู้ว่าด้วยจิตวิญญานกับการเมืองร่วมสมัย น่าสนใจไหม?


เมื่อมีหัวข้อ
dialogue ก็กึ่งๆ discussion


ไม่เห็นด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องโกรธกัน


บรรยากาศพูดคุยดีมาก ดีเสียจนได้ยินเสียงรำพึงรำพันว่า หากการแลกเปลี่ยนพูดคุยในบ้านเมือง หรือในทุกที่ เป็นไปด้วยความรักความกรุณา แม้มีความเห็นแตกต่าง ก็เป็นการแย้งด้วยความรัก เปิดโลกทัศน์ทางปัญญา


ทำอย่างไรให้ผู้คนเป็นกัลยาณมิตรกัน? พระสยามเทวาธิราชท่านฝากถามมาแน่ะ

ปัจจุบันแห่งจิตตปัญญาศึกษา






จะเขียน จะเขียน และจะเขียนมาหลายวันแล้ว

ทำตัวร่อนเร่มาหลายวัน สงสัยจิตเร่ร่อนจะมาเข้าสิง (ฮ่า)

กลุ่มจิตวิวัฒน์เพิ่งประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ มีนาคม ที่ผ่านมา

คราวนี้ย้ายที่ประชุมจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติไปที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ปรกติประชุมทุกวันจันทร์แรกของเดือน แต่ช่วงนี้เปลี่ยนเป็นจันทร์ที่สามของเดือน เหตุเพราะสมาชิกหลายท่านติดภารกิจ ต้องร่วมประชุมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)

ประกอบกับทางมหิดลกำลังพยายามผลักดันโครงการจิตตปัญญาศึกษา Contemplative Education ซึ่งมีหนุ่มสาววัยฉกรรจ์ - อ. ดร. จารุพรรณ กุลดิลก และ อ. ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ - สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

จิตตปัญญาศึกษา
: การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ
: การศึกษาเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน
และนิยามอื่นอันหลากหลาย

เป็นหัวข้อที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ให้ความสนใจมาโดยตลอด

อย่างน้อย ก็ด้วยความหวังว่า การศึกษา - ทั้งในและนอกระบบ - เป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะก่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่นำพามนุษย์ไปสู่จิตใหญ่


ความพยายามนี้จะนำพาเราไปสู่พื้นที่ผจญภัยแบบใหม่อย่างไร?

ปัจจุบันสะบัดหน้าใส่เราพรืดใหญ่

"ไปถามอนาคตโน่นไป๊" เธอสะบิ้งตอบ

ปฏิบัติบูชา

โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มีนาคม 2549

...เวลานี้คือชั่วโมงแห่งความมืดมนทางจิตวิญญาณ ท่ามกลางโรคภัยไข้เจ็บที่ไร้ยารักษา ความอดอยาก ทุกข์ยาก สงครามแห่งความโลภและความเกลียดชัง พัดโหมกระหน่ำ ถ่าโถมกระทบโลกแห่งพุทธธรรมให้สั่นคลอนอ่อนแรง สงฆ์หลายสำนักกำลังทะเลาะเบาะแว้ง ด้วยความยึดมั่นในทิฐิมานะและผลประโยชน์ สร้างความขมขื่นแห่งการแตกแยก แม้พุทธธรรมจะยังเต็มเปี่ยมด้วยธรรมรสแห่งปัญญาอันได้ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน ด้วยการฝึกฝนปฏิบัติจริงของเหล่าอริยธรรมาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบ แต่กระนั้นผู้คนกลับหลงมัวเมา ได้แต่ถกเถียงหลักพระธรรมในเพียงเปลือกนอกเชิงปรัชญา มนตราและพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์หมดแล้วซึ่งคุณค่าและความหมาย กลายเป็นเพียงเรื่องความเชื่องมงายไร้สติ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบกำลังสูญเสียธรรมบันดาลใจ หมดแรงเวลาไปกับกิจนิมนต์ตามบ้าน แสดงธรรมและพิธีกรรมเล็กน้อย เพียงหวังผลตอบแทนทางวัตถุ

ณ เวลานี้ จะมองไปทางใด ก็แทบจะไม่พบพุทธสาวกผู้ยังดำรงไว้ซึ่งวินัยสูงสุด อันกอปรด้วยไตรสิกขาครบองค์สาม; ศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นรากฐานของการฝึกฝนตนเอง เพื่อการเข้าสู่ความดี ความงาม และความจริงภายใน; เมื่อไร้ซึ่งผู้ปฏิบัติชอบบนเส้นทางแห่งอารยะนี้แล้ว พุทธธรรมก็ถูกใช้เพียงเพื่อเป้าหมายทางการเมืองและทางสังคม เป็นเพียงการสร้างภาพ ความน่าเชื่อถือ เพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือผลประโยชน์ส่วนตนเพียงเท่านั้น พลังกุศลทางธรรมที่แท้กำลังจางหาย ไร้ซึ่งการปฏิบัติบูชา จะหาผู้อุทิศกายถวายชีวิตเพื่อพุทธธรรมอย่างแต่ก่อนได้ยากยิ่ง จิตธรรมสั่นคลอน สะท้อนการสูญเสียศรัทธาในไตรรัตนะ...

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
(แปลจาก Sadhana of Mahamudra)



หากเราย้อนมองอดีต เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อจะได้ไม่ก้าวผิดซ้ำรอยเดิมอีก เราจะพบว่า ยามใดที่ธรรมาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบได้จากโลกนี้ไป พลังแห่งการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ของท่านที่ส่งผลต่อผู้คนและสังคมในวงกว้าง จะก่อให้เกิดพลวัตรที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในสังคมของคนรุ่นถัดไป พลวัตรอันนี้ได้ถูกชี้ให้เห็นโดยนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ชื่อ แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงจากศักยภาพการสร้างสรรค์ของปัจเจก สู่วัตรปฏิบัติที่ตายตัว”

สิ่งแรกที่เกิดขึ้น คือความพยายามที่จะให้คำนิยาม หาบทสรุป กับผลงานอันมหาศาล หรือความคิดสร้างสรรค์อันหลากหลายของธรรมาจารย์ผู้นั้น บนพื้นฐานของความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวการสูญเสีย ความไม่กล้าที่จะก้าวเผชิญบนเส้นทางแห่งการฝึกฝนตนเองโดยปราศจากอาจารย์ สิ่งที่ตามมาก็คือ องค์กรทางศาสนา หรือ สายปฏิบัติที่เต็มไปด้วยกฎกรอบ อันเป็นความพยายามที่จะสร้างตัวตายตัวแทนให้แก่ธรรมาจารย์ท่านนั้น

แต่กระนั้นก็ยังมีพลวัตรในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน มันคือปรากฏการณ์ที่ศักยภาพของธรรมาจารย์ได้ถูกหลอมรวมและก้าวข้ามโดยศิษย์ ผู้ได้รับแรงดลใจในการฝึกฝนปฏิบัติตนอย่างไม่ย่อท้อ ศักยภาพของปัจเจกจึงได้ถูกถ่ายทอด ส่งผ่านสู่ผู้คนรุ่นถัดไปอย่างไม่ถูกตัดขาด พลวัตรนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการอุทิศตนของผู้กล้า ผู้อยู่นอกกฎกรอบขององค์กรทางศาสนาใดๆ ผู้ซึ่งมองเห็นความทุกข์ในสังสารวัฏอย่างชัดแจ้ง นำไปสู่แรงบันดาลใจในการฝึกฝน อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างสุดความสามารถ

พุทธธรรมที่มีชีวิตนั้นจะต้องเป็นพุทธธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตและเหตุปัจจัยของผู้คนในสังคมปัจจุบันได้อยู่เสมอ การประยุกต์ที่ว่าหาใช่เป็นการเสกสรรปั้นแต่ง เพิ่มลูกเล่นทางภาษา หรือทำหน้าปกหนังสือธรรมะให้น่าอ่านมากขึ้น แต่มันหมายถึง การปฏิบัติบูชา นำปณิธานสูงสุดของธรรมาจารย์ท่านนั้นๆมาปฏิบัติอย่างถวายชีวิต จนสามารถนำไปสู่กระบวนการการเรียนรู้ หลอมรวมศักยภาพในตนเอง เข้าสู่สายธารธรรมแห่งการตื่นรู้ สู่ธรรมรสแห่งพุทธธรรมอันหอมหวน เชื้อชวนให้คนรอบข้างได้มาแบ่งปัน

เราทุกคนในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมเดินตามรอยของเหล่าอริยปัจเจก เฉกเช่น ท่านอาจารย์พุทธทาส จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงความหมายและคุณค่าของการปฏิบัติบูชาให้ลึกซึ้ง การปฏิบัติบูชาของศิษย์เป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความงอกงามทางธรรมอันหลากหลาย เป็นการสร้างสรรค์ใหม่ๆที่มีชีวิต เป็นหนทางแห่งการก้าวข้ามข้อจำกัดของเหตุปัจจัยในอดีต สู่การแตกหน่อธรรมอันเป็นสิ่งสร้างสรรค์อันน่าจะเกิดขึ้นได้ ด้วยพื้นฐานการฝึกฝนด้านในอย่างจริงจังของศิษย์ หน่อพระธรรมที่ว่านี้จะแตกต่างออกไปในสภาวะการรู้แจ้งของแต่ละบุคคล ซึ่งหาใช่เป็นเรื่องเสียหาย เพราะความหลากหลายของการตื่นรู้ในปัจเจกนี้เอง ที่จะทำให้พุทธธรรมสามารถสืบสานเป็นธารใจให้ผู้คนรุ่นหลังได้ดื่มกินอย่างไม่รู้หมดรู้สิ้น

แต่สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของท่านอาจารย์ในปีนี้ นอกเสียจากความพยายามที่จะศึกษา รวบรวมรักษา ตีความและเผยแพร่ คำสอนของท่านอาจารย์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง อีกด้านหนึ่งก็ดูจะหนีไม่พ้นแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดงานเฉลิมฉลอง นิทรรศการ งานปาหี่ใหญ่โต วิจิตรวิลิศมาหรา วูบวาบ ตระการตา แต่หาเนื้อแท้ แก่นสาระ มาเป็นอาหารทางจิตวิญญาณกันแทบไม่ได้ ทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องงานเฉลิมฉลอง ก็ได้ยินแต่กระบวนการยกย่องท่านอาจารย์ขึ้นเป็นปูชนียบุคคล แบกท่านไปวางไว้บนแท่น บนหิ้ง เพื่อจะได้กราบไหว้บูชากันได้อย่างถนัดถนี่ มืออ่อน เท้าอ่อน ปากก็แซ่ซ้องสรรเสริญ อย่างไร้ซึ่งจิตวิญญาณของการปฏิบัติบูชาเอาเสียเลย

เรากำลังถูกหลอกหลอนด้วยผีท่านอาจารย์พุทธทาส ผีในที่นี้ คือ ความทรงจำเดิมๆที่เรามีต่อท่าน เป็นความทรงจำที่เราไม่ยอมปล่อยวาง จนกลายเป็นการยึดติดในตัวบุคคล ไร้ซึ่งการนำหัวใจแห่งคำสอนมาปฏิบัติ หลอมรวม และก้าวข้ามประสบการณ์ในอดีต สู่การเรียนรู้เหตุปัจจัยในปัจจุบันขณะ สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ ความทรงจำที่เราพยายามสงวนรักษากันไว้นั้น หาใช่ “พุทธทาส” ที่แท้แต่อย่างใด ผู้คนพยายามจะรักษารอยเท้าของท่านราวกับว่ามันมีชีวิต ถึงเวลาที่เราจะต้องตระหนักได้แล้วว่า รอยเท้าที่เราบูชาหาใช่ฝ่าเท้าที่ท่านอาจารย์ใช้เดินแต่อย่างใด เรากำลังกราบไหว้รอยเท้า โดยหารู้ไม่ว่าเราเองกำลังย่ำอยู่กับที่ ไร้ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณใดๆ

เหมาะสมแล้วหรือที่จะปฏิบัติต่อท่านอาจารย์ราวกับท่านเป็นวัตถุ? ท่านอาจารย์ไม่ใช่ตึกอิฐแดงที่สวนโมกข์ ท่านอาจารย์ไม่ใช่เสาห้าต้น ท่านอาจารย์ไม่ใช่ลานหินโค้ง ท่านอาจารย์ไม่ใช่สระนาฬิเกร์ ท่านอาจารย์ไม่ใช่โรงมหรศพทางวิญญาณ ท่านอาจารย์ไม่ใช่หนังสือธรรมโฆษณ์ ไม่ใช่กาพย์กลอน รูปหล่อ รูปปั้น รูปวาดใดๆ

....แต่ท่านอาจารย์ คือ เส้นทางของผู้แสวงหาคุณค่าในตน “พุทธทาส” คือ การมอบกายถวายชีวิตแก่ไตรรัตนะ เพื่อประโยชน์สุขที่แท้แก่เพื่อนมนุษย์ “พุทธทาส” คือ การเสียสละชีวิตเพื่อการฝึกฝนภาวนา ลดทิฐิอัตตา เรียนรู้คุณค่าและศักยภาพที่แท้ของจิตที่ว่างจากมายาภาพตัวตน ท่านอาจารย์ คือ สายธารธรรม คือ ความงามที่สัมผัสได้ในชีวิตนี้ ด้วยการฝึกฝนด้านใน สู่จิตใจที่ขยายกว้าง นำมาซึ่งความพร้อมที่จะรับฟังเสียงแห่งความทุกข์ (ศีล) น้อมนำใคร่ครวญ ฝึกฝนสัมผัสความทุกข์นั้นด้วยหัวใจที่ตั้งมั่น (สมาธิ) จนสามารถมองเห็นธรรมชาติอันผันแปรไม่จริงแท้แห่งทุกข์ (ปัญญา) นำไปสู่แรงใจในการอุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้อื่น การทำให้ดูอยู่ให้เห็นของผู้ปฏิบัติจริงเป็นการแสดงธรรมในความว่าง ให้เห็นหนทางที่จะร่วมทุกข์กับเพื่อนมนุษย์โดยจิตไม่ต้องเป็นทุกข์ ท่านอาจารย์คือความตื่นรู้ภายในตน คือ คุณค่าและความงามแห่งการสร้างสรรค์ทางปัญญา ที่ผุดบังเกิดขึ้นจากความง่ายงามตามธรรมดาของจิตที่ถูกฝึกฝน

การสืบสานปณิธาน “พุทธทาส” จึงหาใช่การวัดรอยเท้าของท่านว่ากว้าง ยาวเท่าไร หนทางเดียวที่จะสืบสานปณิธานพุทธทาสให้คงอยู่ ก็คือ การให้ความสำคัญกับการปฏิบัติภาวนา ให้คุณค่ากับเส้นทางแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนจิตใจ จนได้เข้าไปสัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ สู่การดำรงจิตใจในพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ด้านใน หลอมรวมเป็น “พุทธทาสภายใน” ที่ไม่มีวันตาย

เพราะท่านอาจารย์พุทธทาสไม่เคยสอนให้เรายึดมั่นอยู่ในอดีต ไม่เคยสอนให้เรายึดติดในตัวบุคคล ท่านสร้างสรรค์หนทางหลากหลายให้ผู้คนได้หันกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ และปัจจุบันขณะนี่เอง คือสิ่งที่เราควรยึดติด ซึ่งก็คือ การไม่ติดกับรอยเท้าใดๆ

รอยเท้าเป็นเพียงเครื่องนำทางสู่กระบวนการเรียนรู้แห่งชีวิต เพื่อจะใช้สองเท้าที่เรามี ย่างก้าวบนเส้นทางของการปฏิบัติภาวนา วิปัสสนาคุณค่าภายในตน นี่คือสิ่งที่เราทุกคนน่าจะนำมาใคร่ครวญพิจารณา เพื่อการปฏิบัติบูชา สืบสานปณิธานพุทธทาสในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลที่ใกล้จะมาถึงนี้

หุบปากประกาศ หมายความว่า แสดงอยู่ที่เนื้อที่ตัว เป็นของจริงกว่าที่จะเปิดปากประกาศ ซึ่งส่วนมากก็เป็นแต่เรื่องพูด หรือ ดีแต่พูด...ที่เอามาพูดเป็นคำพูดได้นั้นไม่ใช่ธรรมะ...

พวกเรามีหลักอย่างนี้กันหรือเปล่า? คือว่าสิ่งที่แท้จริงเป็นสิ่งที่พูดด้วยปากไม่ได้ แต่ต้องแสดงด้วยการกระทำ หรือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเท่านั้น จนมันปรากฏอยู่ข้างใน...

ธรรมะแท้จริงพูดไม่ได้ด้วยปาก ธรรมะแท้คัดลอกไม่ได้ ถ่ายทอดด้วยปากไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเลอะเทอะ ส่วนธรรมะพูดได้ด้วยปาก ด้วยเสียงนั้น มีทางคัดลอกได้ แล้วก็เลอะเทอะ ยิ่งพูดมากก็ยิ่งผิดมาก ก็ยิ่งเลอะเทอะมาก

พุทธทาสภิกขุ (จาก “อบรมพระธรรมทูต”)

ระหว่างช่องว่าง




๑๕ มีนาคม แล้ว ผ่านมาได้เดือนครึ่งนับจากการเขียนบล็อกวันแรก

น่าสงสัยว่าเวลามีปีก หรือเราเชื่องช้ากว่าหอยทาก?

แลกเปลี่ยนกับสหายหลายท่าน สรุปความคิดได้ว่า เว็บบล็อกจิตวิวัฒน์น่าจะเป็นพื้นที่ ของภาพสะท้อนทางความคิดในการดำเนินงานของประดาถั่วงอกทั้งหลาย

เพื่อเป็นการตรวจสอบตัวเอง

และน้อมเชิญให้กัลยาณมิตรทั้งหลายเข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบนี้ด้วย

เพื่อก่อเกิดเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

และเพื่อสร้างพื้นที่แห่งมิตรภาพ


โปรดติดตามด้วยดวงจิตแห่งกรุณา

จิตตปัญญาศึกษา
(Contemplative Education)

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 มีนาคม 2549

ประมาณครึ่งปีก่อน มีบทความจิตวิวัฒน์ที่ชื่อว่า “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” เขียนโดยวิจักขณ์ พานิช นักเรียนไทยที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ ประเทศสหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เน้นการเรียนรู้คุณค่าของชีวิต เป็นมหาวิทยาลัยนอกกระแสหลักที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในขณะนี้) โดยวิจักขณ์ แปลมาจากคำว่า Contemplatio ซึ่งเป็นชื่อวิชาที่นักการศึกษาระดับแนวหน้าของโลกกำลังให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิชาที่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างได้ผล เนื่องจากปัญหาของมนุษย์ที่พบเห็นอยู่เสมอ คือบางครั้งคนเก่งอาจตัดสินใจทำอะไรลงไปโดยหลงลืมแง่มุมของจริยธรรม หรือคนมีจริยธรรมอาจขาดศิลปะในการทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม สิ่งเหล่านี้ได้รับการอธิบายจากผู้ทรงคุณวุฒิทั่วโลก ว่าเป็นผลมาจากการศึกษาอย่างแยกส่วน วิชาความรู้กับความจริงของชีวิตถูกสอนแยกกันโดยสิ้นเชิง เราจึงไม่รู้ว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แท้คืออะไร คุณภาพด้านนอกและด้านในของมนุษย์จึงไม่สอดคล้องกลมกลืนไปด้วยกัน

ดังนั้น ภายใต้ความคิดกระแสหลักทั้ง ๒ สายในปัจจุบัน คือปัจเจกเสรีนิยมและสังคมนิยมที่ต่อต้านการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งต่างพัฒนาไปคนละทิศอย่างสุดขั้ว จึงล้วนไม่สามารถทำให้มนุษย์พบกับอิสรภาพอย่างแท้จริงได้ และหากปราศจากการใคร่ครวญอย่างจริงจัง ย่อมจะปักใจเชื่อไปตามกระแสใดกระแสหนึ่งอย่างสุดโต่ง แต่ถ้าตั้งโจทย์ให้กับสังคมเสียใหม่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีทั้งความเก่งที่จะสามารถดำรงตนให้อยู่รอด และมีความดีที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น สามารถรังสรรค์ชุมชนของตนให้น่าอยู่ ยังจะเกิดการต่อสู้เพื่อกระแสใดกระแสหนึ่งอีกกระนั้นหรือ ดังนั้นหนทางที่ตรงและเร็วที่สุดในการทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขคือ การปฏิวัติการเรียนรู้ของมนุษย์ ทั้งหมด เพื่อบ่มเพาะให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ซึ่งในที่นี้หมายถึง เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ที่ตนศึกษาอย่างถ่องแท้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการพัฒนาคุณภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในระดับจิตวิญญาณหรือจิตสำนึกใหม่ ที่รู้จักรับผิดชอบต่อการดำรงอยู่ของสังคมและมีหัวใจที่จะดูแลโลกให้ร่มเย็นเป็นสุขสืบไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพอย่างที่ฝัน เนื่องจากศาสตร์แนวหน้าต่างๆ ล้วนมีความยากและซับซ้อน เพียงการถ่ายทอดแต่ละวิชาให้นักเรียนเข้าใจก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ดังนั้น การจะนำเรื่องแก่นปรัชญาในเชิงคุณธรรมจริยธรรมของแต่ละศาสตร์มาประยุกต์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่า และเป็นที่รู้กันว่า เรื่องใดยาก จะทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เกิดความท้อใจและเบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้ในที่สุด ดังนั้น เมื่อจบออกไป คนเหล่านั้นจะยังคงมีความสับสนในชีวิต วิชาการก็ไม่แม่นยำ แก่นแท้ก็ไปไม่ถึง เป็นอันตรายต่อการสร้างชาติอย่างยิ่ง เพราะถ้าบุคลากรในประเทศไม่สามารถนำวิชาความรู้มาแก้ไขความทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องจริงของชีวิตได้ มิหนำซ้ำยังเอาไปหาประโยชน์ใส่ตัว เบียดเบียนผู้อื่นและเกิดการบริโภคอย่างเกินพอดี ยิ่งจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม จนกลายเป็นสังคมแห่งความทุกข์ จนเมื่อถึงวันหนึ่งที่ความสุขด้านนอกตัวไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงของคนในสังคมได้แล้วนั่นแหละ จึงค่อยย้อนกลับมาสู่ประตูธรรม หันหน้าเข้าพึ่งพาความรู้ที่ช่วยเยียวยาจิตใจ เช่น หลักศาสนาของตน เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากบุคลากรของชาติมัวไปเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติโดยรวม กว่าจะเข้าใจชีวิตและหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ อาจใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต ซึ่งเราไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้นแล้ว เนื่องจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันกำลังรุมเร้าเข้ามา ทั้งภัยธรรมชาติและภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์เอง เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ทั้งหมดจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด และหันมาร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

มีความพยายามของกลุ่มคนหลายกลุ่มทั่วโลก ที่ร่วมกันพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ ให้สามารถเลือกใช้วิชาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ มาประสานเชื่อมโยงกันอย่างชาญฉลาด เพื่อแก้ไขในสิ่งที่มนุษย์เคยทำผิดพลาดไว้กับโลกและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์อย่างอ่อนน้อมอ่อนโยน วิชาเหล่านี้รวมเรียกว่า จิตตปัญญาศึกษา หรือการศึกษาที่เน้นการพัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นคุณภาพด้านในของมนุษย์ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยปราศจากอคติ ไม่แบ่งแยกหรือตัดสิน ถูก-ผิด ขาว-ดำ ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้จะทำให้เกิดความรักความเมตตา มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และเป็นการร่วมสร้าง สังคมพื้นฐานปัญญา (Wisdom-Based Society)

การเรียนรู้หลักๆ ของจิตตปัญญาศึกษาคือ ศาสตร์ต่างๆ บนโลกที่สามารถอธิบายความเป็นหนึ่งเดียว ของทุกสรรพสิ่ง และทำให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างง่ายๆ เช่น ความรู้เรื่องนิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecology) หรือจักรวาลวิทยา (Cosmology) เป็นต้น รวมทั้งการฝึกฝนในเรื่องของจิตใจ การฝึกสติ สมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรปฏิบัติควบคู่ไปกับวิชาในห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเปิดรับข้อมูลหรือความรู้อย่างเต็มที่ สุขภาพกายและใจจะดีขึ้น ผลการเรียนย่อมจะดีขึ้นด้วย เรียกว่าเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งมีงานวิจัยมากมายทั่วโลกที่อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างเป็นสากล และหนทางในการฝึกฝนจิตใจ ก็มีมากมายหลายวิธีตามความเหมาะสมกับคนแต่ละวัย มีทั้งความสนุกและได้สติ-สมาธิไปพร้อมๆ กัน เช่น การฝึกโยคะ การรำกระบอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น ศิลปะ ดนตรี กิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมไดอะล็อค (การสนทนาที่เน้นการฟังอย่างไม่ตัดสิน เกิดสติและปัญญาร่วมกันในวงสนทนา) เป็นต้น การรีทรีท (Retreat) หรือการปลีกวิเวก เพื่อไปรู้จักตนเอง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม เพราะในภาวะที่จิตสงบ ไม่คิดฟุ้งซ่าน อาจพบคำตอบต่อปัญหาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ตัวอย่างเช่น การคิดค้นระบบการร่อนลงจอดของยานอวกาศบนดาวอังคาร ของ ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ท่านกล่าวว่าในขณะที่เกิดปิ๊งความคิดขึ้นมานั้น จิตของท่านสงบว่าง ก่อให้เกิดปัญญานั่นเอง กิจกรรมรีทรีทนี้ กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก และหากเยาวชนของชาติมีโอกาสฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ย่อมจะเป็นเรื่องดีมิใช่น้อย

มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเช่น ฮาร์เวิร์ด โคลัมเบีย แมสซาชูเซ็ท ฯลฯ ได้นำเรื่องของจิตตปัญญาศึกษาบรรจุเข้าไปในหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ แล้ว รวมทั้งสถาบัน The Center for Contemplative Mind in Society ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของศาสตราจารย์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเรื่องเหล่านี้ไปใช้ประกอบในการเรียนการสอนและการอบรมทางวิชาการอย่างเป็นระบบ นักศึกษาสามารถฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้ การใคร่ครวญ อย่างสม่ำเสมอ จนสุดท้ายจะเข้าใจคุณค่าของวิชาชีพได้ด้วยตนเองจริงๆ เกิดความเข้มแข็งและความมั่นใจในการใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ได้เกิดภาคีการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษาขึ้นในประเทศไทยแล้วเช่นกัน โดยความร่วมมือของหลายองค์กร เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนสัตยาไส สถาบันขวัญเมือง เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โครงการจิตวิวัฒน์ (แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ เนื่องจากรากฐานทางวัฒนธรรมที่แท้ของสังคมไทยเป็นเรื่องเดียวกันนี้เอง ดังนั้นการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งการวิจัยจึงเป็นเรื่องไม่ยากนัก อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษาหลายคนมีความตระหนักแล้วว่า ถึงเวลาที่คนไทยควรจะกลับมาเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เพราะเรามีประเพณีและกิจกรรมมากมายที่งดงามและส่งเสริมต่อการพัฒนาจิตใจ หากสามารถนำมาประยุกต์เชื่อมโยงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน มีการอธิบายให้ชัดเจนโดยใช้ศาสตร์ใหม่ๆ ชุดคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก จะทำให้คนเป็นอันมากสามารถมองเห็นและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และย่อมจะเกิดผลต่อการพัฒนาความรู้ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และการทำร้ายทำลายกัน แต่เกิดเป็นทางออกที่แสดงถึงปัญญาร่วมของมนุษย์ในที่สุด

Back to Top