พฤษภาคม 2006

กิจกรรมที่ชื่อว่า-ชีวิตในวัยเด็ก

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 20 พฤษภาคม 2549

กิจกรรมง่ายๆ กิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มจิตวิวัฒน์เชียงรายนำมาใช้เสมอๆ ในการทำเวิร์กชอปกับกลุ่มต่างๆ และได้ผลดีมากเสมอก็คือกิจกรรมที่ชื่อว่า “ชีวิตในวัยเด็ก”

กิจกรรมนี้เริ่มต้นด้วยการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่กันแบบสุ่มแล้วให้กำหนดกันเองว่าใครจะเป็นหมายเลขหนึ่งใครจะเป็นหมายเลขสอง เริ่มด้วยการกำหนดเวลาช่วงหนึ่งประมาณสามถึงห้านาทีให้หมายเลขหนึ่งเล่าเรื่องชีวิตในวัยเด็กของตัวเองให้หมายเลขสองฟัง ในระหว่างนั้นให้หมายเลขสองฟังอย่างลึกซึ้งโดยไม่มีการขัดจังหวะใดๆ จากนั้นเมื่อครบกำหนดเวลาหรือเล่าเรื่องจบก็จะใช้เวลาช่วงต่อไปให้หมายเลขสองซึ่งเป็นฝ่ายฟังก่อนนั้นลองสะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินมาจากหมายเลขหนึ่งว่าเล่าอะไรไปให้ฟังบ้าง

จากนั้นสลับหน้าที่กัน ให้หมายเลขสองเล่าเรื่องของตัวเองให้หมายเลขหนึ่งฟังบ้างภายในเวลาประมาณใกล้ๆ กันแล้วให้หมายเลขหนึ่งสะท้อนสิ่งที่ได้ยินในเวลาต่อมา

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ นี้เอง ภายใต้คำเชื้อเชิญของท่านรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์หมอลำดวน วงศ์สวัสดิ์ ผมและทีมเชียงรายได้มีโอกาสไปจัดกิจกรรมกลุ่มให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปี 3 จำนวนประมาณหนึ่งร้อยกว่าคน และมีเวลาให้กับกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ประมาณหนึ่งวันครึ่ง พวกเราตัดสินใจใช้กิจกรรม “ชีวิตในวัยเด็ก” นี้เป็นกิจกรรมแรกกับนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นในบ่ายของวันแรกนั้นหลังจากที่ให้นักศึกษาทั้งหมดล้มตัวลงนอนบนพื้นห้องโถงของอาคารเรียนรวมและผ่อนคลายด้วยการทำ Body Scan ภายใต้การนำของอาจารย์ฌานเดช พ่วงจีนครูไท้เก็กหนึ่งในทีมของพวกเรา

หลังจากนั้นเมื่อนักศึกษาได้ผลัดกันเล่าเรื่องของตัวเองให้กับเพื่อนฟังและสลับหน้าที่กันแล้ว เราก็จัดให้มีการรวมกลุ่มจากสองคนเป็นสี่คน โดยให้แต่ละคนเล่าเรื่องที่ตัวเองได้ยินมาให้กับกลุ่มฟัง โดยมีกติกาในกลุ่มว่าถ้าใครจะเป็นคนพูดให้ยกมือแล้วเล่าเรื่อง เพื่อนอีกสามคนจะฟังโดยไม่มีการขัดจังหวะและเมื่อพูดจบแล้วก็ให้พูดคำว่า “จบ” ทิ้งท้ายด้วย

จากนั้นเราก็รวมกลุ่มนักศึกษาจากสี่คนเป็นแปดคน แล้วแจกกระดาษโปสเตอร์แผ่นใหญ่และสีเทียนให้กับกลุ่มแปดคนนี้กลุ่มละหนึ่งชุด โดยให้แต่ละคนลองวาดรูปที่สะท้อนถึงชีวิตในวัยเด็กที่แต่ละคนประทับใจลงไปในกระดาษแผ่นเดียวกันด้วนสีสันต่างๆ ตามจินตนาการตามชอบใจ จากนั้นให้เล่าให้เพื่อนในกลุ่มแปดคนนี้ฟังถึงความหมายของรูปภาพที่วาดออกมานั้น ภายใต้กติกาเดิมคือให้ผู้ฟังเคารพผู้พูดด้วยการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง ผมไปสังเกตการณ์ดูมีนักศึกษาคนหนึ่งวาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ ด้วยดินสอสีเทียนสีเขียวแล้วระบายภายในสี่เหลี่ยมด้วยสีส้ม เขียนบรรยายด้วยตัวอักษรสีเขียวไว้อย่างน่ารักมากว่า “พื้นที่เล็กๆ ขอพื้นที่เล็กๆ ให้ยังเป็นเด็กอยู่ได้มั้ย…ให้ความสดใสคงอยู่กับเรา ไม่อยากให้ใครเขามาแย่งไป”

เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรที่ทุกคนได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองแล้ว เราให้แต่ละกลุ่มกำหนดผู้ที่จะเป็น “เจ้าบ้าน” ของกลุ่มจากนั้นให้อีกเจ็ดคนที่เหลือออกไปเดินสำรวจภาพในกระดาษโปสเตอร์ของกลุ่มอื่นๆ ตามชอบใจ ถ้าชอบรูปวาดหรือเจ้าบ้านคนไหนก็ให้ไปอยู่ในกลุ่มนั้น โดยให้กลุ่มใหม่มีจำนวนประมาณแปดคนเหมือนเดิม เมื่อพร้อมแล้วก็ให้เจ้าบ้านบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มเดิมจากภาพวาดที่ทุกคนได้วาดเอาไว้เกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กของแต่ละคนแล้วแลกเปลี่ยนกัน

กิจกรรมง่ายๆ เพียงแค่นี้กินเวลาไปประมาณสองชั่วโมงกว่า นักศึกษาส่วนใหญ่สะท้อนออกมาในวันต่อมาว่า ในทีแรกรู้สึกงงๆ กับกิจกรรมแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะให้ประโยชน์อะไรกับเขา บางคนสะท้อนว่าในตอนแรกดูว่าจะเป็นอะไรที่ “เสียเวลา” แต่ก็ “รู้สึกดี” และยิ่ง “รู้สึกดีมาก” ขึ้นไปอีกเมื่อทราบในภายหลังว่ากิจกรรมเด็กๆ แบบนี้ได้นำพาพวกเขาไปสู่การเรียนรู้มากมายในวันต่อมา

หลายคนสะท้อนออกมาว่ารู้สึกแปลกใจว่าทำไมตัวเองถึงไม่เคยมีโอกาสหรือไม่เคยมีเวลาที่จะได้คุยกับเพื่อนๆ ในชั้นปีในลักษณะแบบนี้มาก่อนเลยทั้งๆ ที่เรียนด้วยกันมาตั้งสองปีเต็มๆ แล้ว

กิจกรรมในช่วงค่ำ เราให้คงกลุ่มแปดคนที่เกาะกลุ่มกันในครั้งสุดท้ายก่อนเลิกกิจกรรมในช่วงบ่าย เราเริ่มด้วยการผ่อนคลายจากนั้นผมใช้เวลาช่วงสั้นบอกเล่าเรื่องราวความเป็นเด็กของผมบ้างโดยลองเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นแพทย์ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะแพทย์ที่จบใหม่ๆ มักจะต้องพยายามวางมาดให้ดูเป็นผู้ใหญ่และบางทีการพยายามทำตัวเป็นผู้ใหญ่มากเกินไปอาจจะทำให้เราหลงลืม “สิ่งที่ดีๆ ของความเป็นเด็ก” ที่มีประโยชน์ไปหลายเรื่องได้หรือไม่

จากนั้นตั้งโจทย์ให้กับนักศึกษาว่า “เราจะสามารถคงความเป็นเด็กของเราในชีวิตความเป็นแพทย์ได้หรือไม่ ถ้าได้-ได้อย่างไร?” แล้วให้กลุ่มแปดคนลองแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในหัวข้อนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการเรียนรู้ในช่วงบ่ายที่ต่อมาถึงในช่วงค่ำ

เราแจกกระดาษโปสเตอร์แผ่นใหม่และสีเทียน ให้นักศึกษาลองวาดรูปถึงเรื่องราวที่พูดคุยกันคือความเป็นเด็กกับความเป็นแพทย์และเมื่อเราขอให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มจำนวนสิบกว่ากลุ่มออกมานำเสนอเรื่องราวบนเวทีตามความสมัครใจ พวกเราก็ได้พบกับความมหัศจรรย์มากมาย

นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดบนเวทีในที่ประชุมว่า “ข้อดีอย่างหนึ่งของความเป็นเด็กคือความกล้า กล้าที่จะสร้างสรรค์ กล้าคิดนอกกรอบแต่ไม่ใช่นอกกรอบแบบที่ไม่เป็นระเบียบหรือไปทำร้ายผู้อื่นนะครับ” นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “เด็กๆ มีความจริงใจ มีอิสรภาพในการคิดในการทำสิ่งต่างๆ บางทีเราไม่ควรจะมาแบ่งแยกว่าความเป็นเด็กจะต้องสิ้นสุดเมื่อไร คือเราน่าที่จะคงความเป็นเด็กและนำสิ่งดีๆ ของความเป็นเด็กไปใช้ได้ตลอดไป

นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “เด็กๆ มีความเครียดน้อยกว่า เด็กพบกับความแปลกใหม่ในชีวิตเสมอ มีวิธีการมองโลกในแง่ดี เราอาจจะทดลองความเป็นเด็กด้วยตัวอย่างเช่นถ้าเราวิ่งออกกำลังกายก็ให้ลองวิ่งแบบไม่ทับเส้นทางเดิมๆ ดูบ้าง” นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “บางทีการเรียนในคณะแพทย์เราอาจจะต้องช่วยกันและเรียนรู้ร่วมกันมากกว่าแอบหนีไปอ่านหนังสือกันตามลำพัง

นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “การคบเพื่อนในตอนเด็กๆ เราสามารถคบหาได้ทุกคน แต่พอเป็นผู้ใหญ่แล้วชอบสร้างกำแพงกั้น เรื่องนี้บางที่เราน่าจะนำไปใช้ในชีวิตแพทย์นะคือเราไม่ควรที่จะปิดกำแพงกั้นระหว่างตัวเรากับคนไข้ เพราะบางทีเราอาจจะไม่สามารถรักษาคนไข้ได้สำเร็จด้วยโรคร้ายอะไรบางอย่าง แต่เราจะสามารถรักษาจิตใจของเขาได้เสมอ-ถ้าเราไม่สร้างกำแพงระหว่างแพทย์กับคนไข้

นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “เป็นผู้ใหญ่แล้วคิดมากเกินไป” นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “โลกนี้สวยงาม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการมองโลก เด็กๆ มองโลกสวยงามแต่ผู้ใหญ่ไม่ได้มองแบบนั้น” และอื่นๆ อีกมากมายที่ท่านอาจารย์หมอลำดวนได้เป็นประจักษ์พยานได้เห็นได้ยินการแสดงออกของนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ด้วยตัวเอง

ไม่น่าเชื่อว่าด้วยการจัดกิจกรรมง่ายๆ เช่นนี้เพียงแค่เปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงเรื่องราวของ “ชีวิตในวัยเด็ก” เท่านี้ได้ก่อให้เกิด “ความรู้ที่ผุดพรายขึ้นมาได้เอง” ของนักศึกษาแพทย์เหล่านี้โดยที่ “กระบวนกร” (ผู้จัดกระบวนการ) ไม่ได้พูดไม่ได้บรรยายองค์ความรู้ใดๆ ให้กับพวกเขาเลย

การเรียนรู้แบบนี้พอจะใช้เป็นตัวอย่างหนึ่งให้เห็นถึงลักษณะของ “การเรียนรู้จากด้านใน” หรือ “จิตตปัญญาศึกษา” ได้บ้างกระมัง?

ความดี ความงามในกระบวนการวิศวกรรม

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2549

กระบวนการ (Process) ระบบ (System) การจัดการ (Management) การวางแผน (Planning) การประยุกต์ (Application) การพัฒนาองค์กร (Organization Development) การทำให้ง่าย (Simplification) ฯลฯ ล้วนเป็นถ้อยคำที่คุ้นเคยสำหรับผู้ที่ทำงานทางด้านวิศวกรรม วิศวกรมักจะพอใจเมื่อได้จัดการทุกอย่างอย่างเป็นระบบ มีการประยุกต์และทำให้ง่ายขึ้น ดังที่ ลีโอนาโด ดาวินชี ปราชญ์ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม กล่าวไว้ว่า

“Knowing is not enough; we must apply. Being willing is not enough; we must do. Simplicity is the ultimate sophistication.”

(การที่เราจะมีความรู้อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่เราต้องประยุกต์ใช้ด้วย ความตั้งใจอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราต้องลงมือทำด้วย และการทำให้ทุกอย่างง่าย เป็นศาสตร์อันสุดยอด)


เรือบินของดาวินชี ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติลีโอนาโด ดาวินชี เมืองมิลาโน ประเทศอิตาลี


น่าสังเกตที่อุดมลักษณ์ทางวิศวกรรมหลายท่าน นอกจากจะมีผลงานอันเป็นประโยชน์แล้ว ผลงานของท่านยังแฝงไว้ด้วยความงดงาม และไม่เป็นที่น่าสงสัยสำหรับงานของลีโอนาโด ดาวินชี เครื่องจักรของดาวินชีนั้น มีทั้งประโยชน์และความงดงาม เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาชาวโลก เขาได้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือมากมายกว่า ๖,๐๐๐ ชิ้น เพื่อใช้ในงานศิลปะและงานทางวิศวกรรม เช่น เครื่องร่อน เครื่องบิน เครื่องมือในการก่อสร้าง เครื่องทุ่นแรง รอก ปั๊มน้ำ เครื่องกลั่นไอน้ำ มาตรวัดต่างๆ เป็นต้น ดาวินชีแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างไร้ขีดจำกัด เครื่องมือของเขามีความสมดุลย์และมีความเป็นศิลปะอยู่ในตัว เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่งต่อนักประดิษฐ์ในรุ่นต่อๆ มา และทำให้ดาวินชีเป็นบุคคลอมตะมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคถัดมา โทมัส เอดิสัน ผู้ที่ได้รับฉายา พ่อมดแสงสว่างแห่งเมนโลปาร์ค เป็นผู้ที่ประดิษฐ์หลอดไฟหลอดแรกของโลก เอดิสันบอกว่า มีวิธีถึง ๒,๐๐๐ วิธีในการสร้างหลอดไฟ แต่เขาเลือกเพียงวิธีเดียว และละทิ้งวิธีอื่นๆ เพราะวิธีอื่นๆ นั้นไม่เข้าท่า ส่วนวิธีที่เขาเลือกเป็นวิธีที่งดงามที่สุด และหลอดไฟของเอดิสันก็ได้ถูกนำไปใช้ทั่วไปทั้งเป็นสัญลักษณ์การ์ตูนหรือไอคอนต่างๆ อย่างคลาสสิก

ผลงานทางวิศวกรรมอีกชิ้นที่งดงาม และก้องโลกมาจนถึงปัจจุบัน คือ หอไอเฟิล สร้างโดย กุสตาฟ ไอเฟิล วิศวกรชาวฝรั่งเศส ถึงแม้หอไอเฟิลจะถูกสร้างขึ้นจากเหล็กหนักจำนวนมาก แต่ด้วยความพิถีพิถันและความใส่ใจในการก่อสร้าง ดังนั้นหอไอเฟิลจึงไม่เป็นเพียงหอส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์เท่านั้น แต่เป็นผลงานศิลปะสำหรับมหานครปารีสมากว่า ๑๐๐ ปี ทุกวันนี้หอไอเฟิลยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั่วโลก แห่แหนมาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย ดังนั้นงานทางวิศวกรรมที่ทรงคุณค่า จึงหล่อหลอมมาจากความงาม แม้จะถูกสร้างขึ้นมาจากเศษเหล็กก็ตาม เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) นักเขียนชาวอังกฤษผู้โด่งดัง สนับสนุนความคิดนี้ โดยกล่าวไว้ว่า

“There is nothing in machinery, there is nothing in embankments and railways and iron bridges and engineering devices to oblige them to be ugly. Ugliness is the measure of imperfection.”

(ไม่มีเครื่องจักกล ไม่มีเขื่อนและทางรถไฟ และสะพานเหล็ก และอุปกรณ์ทางวิศวกรรมที่ถูกบังคับให้น่าตาน่าเกลียด ความน่าเกลียดเป็นการวัดให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์)

และในยุคที่มนุษย์ไปถึงดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรอง วิศวกรอวกาศของนาซ่า เป็นผู้ที่เหยียบดวงจันทร์ เป็นคนแรกของโลก เป็นผู้ที่นำภาพโลกทั้งใบอันงดงามจากดวงจันทร์ มาฝากชาวโลก ทำให้เห็นธรรมชาติความเป็นหนึ่งเดียวของโลกและจักรวาลที่ไม่แยกออกจากกัน มนุษย์ไม่ได้แยกออกจากความเป็นจักรวาล และไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนอันใดที่ขั้นขวางระหว่างมนุษยชาติ เป็นการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับชาวโลกอย่างสำคัญ

ดร. เอ็ดการ์ มิทเชลล์ เป็นอีกคนที่ได้ไปยืนบนดวงจันทร์ และเห็นโลกทั้งใบ จากนั้นจิตสำนึกของเขาเปลี่ยนไป เขาเห็นว่าวิกฤตการณ์รุนแรงต่างๆ บนโลกสามารถแก้ไขได้ หากมนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ โดยการหยั่งรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากกลับมายังโลก เขาได้ตั้งสถาบันโนเอติกส์ ไซน์ (Noetics Science Institute) เป็นสถาบันที่ศึกษารวบรวมความรู้เพื่อช่วยให้คนเข้าใจถึงจิตสำนึกใหม่และวิวัฒนาการของจิต

ในยุคปัจจุบัน ยุคแห่งความรู้และข่าวสารข้อมูล งานทางวิศวกรรมส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับผลงานที่จับต้องไม่ได้ เช่น การจัดการความรู้ที่ไม่มีการบันทึกไว้ (Tacit Knowledge Management) ซึ่งเหล่านี้เป็นทุนอันมหาศาลที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ (Intangible Cost) และความรู้ในสมัยนี้ หากจะเป็นความรู้ที่งดงาม ย่อมเป็นความรู้ใดๆ ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับพืชไพร สรรพสัตว์ และธรรมชาติอย่างเป็นระบบ

การทำให้ง่ายขึ้น (Simplify) การคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) ทางวิศวกรรม อาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ในระดับจิตวิญญาณ ที่จะช่วยทำให้มนุษย์เห็นความเชื่อมโยง โดยไม่แบ่งแยกความเป็นมนุษย์ออกจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้และยอมรับด้วยจิตสำนึกแล้ว มนุษย์ก็จะสามารถเยียวยาธรรมชาติ และหาระบบจัดการปัญหา ซึ่งเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนโลกได้


การบรรยาย “Leadership and the New Science” ของ นพ. วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์


ในหนังสือเรื่อง Leadership and the New Science ของ มาร์กาเร็ต วีทลีย์ ได้นำความรู้ในวิทยาศาสตร์ใหม่ เช่น เรื่องของควอนตัม มาประยุกต์ใช้กับการจัดการองค์กร เป็นความรู้ที่สร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับคนทำงาน ส่งผลให้องค์กรนั้นประสบความสำเร็จและมีศักยภาพสูง จนกระทั่งเป็นตัวอย่างในการพัฒนาองค์กรอย่างแพร่หลายทั่วโลก

วีทลีย์กล่าวว่า ผู้นำในองค์กรตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ใหม่ จะเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมโยงรายละเอียดได้อย่างคมชัด ไว้เนื้อเชื่อใจและให้อิสรภาพคนในองค์กร เกื้อหนุนให้คนในองค์กรเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา หรือเรียกว่าเป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ และใช้ระบบสุนทรียสนทนา (Dialogue) อย่างสม่ำเสมอในการพูดคุยกับคนทำงาน

ทั้งนี้ความรู้ที่ทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่ ยังมีอีกมากมาย หากความรู้เหล่านี้มีการจัดการเชิงวิศวกรรมอย่างเป็นระบบและสามารถทำให้คนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค ย่อมจะเป็นความงดงามในวิทยาการของมนุษยชาติ

และถึงแม้อุดมลักษณ์ทางด้านวิศวกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะมีอยู่ไม่มากก็ตาม แต่หากงานของเขานั้นเปี่ยมไปด้วยความดีและความงามแล้ว ย่อมจะเป็นอมตะตลอดกาล ดังเช่น ลีโอนาโด ดาวินชี และ นีล อาร์มสตรอง นั่นเอง

ปัญญาญาณแห่งการให้อภัย

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2549

ริชาร์ด มัวร์ เด็กหนุ่มชาวไอริช ผู้สูญเสียดวงตาทั้งสองข้างไปเมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ เนื่องจากอุบัติเหตุลูกกระสุนยางจากทหารปราบจลาจลพุ่งเข้าใส่ ได้ยึดถือคำสอนของพ่อที่บอกว่า “อย่าได้ให้เมฆก้อนเดียว มาทำลายวันที่แจ่มใสไปได้” เป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งมูลนิธิ Children in Crossfire ช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาในเอเชีย อาฟริกา และละตินอเมริกา

หญิงสาวชาวอาฟริกาใต้ผู้หนึ่งถูกเรียกตัวไปสอบสวนที่โรงพัก เธอถูกบังคับให้ก้มตัวแนบหน้ากับโต๊ะ หน้าอกของเธอถูกลิ้นชักหนีบกระแทกซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังจากเล่าให้คณะกรรมการค้นหาความจริงและสมานฉันท์แห่งชาติฟังก็กล่าวว่า “เราต้องอโหสิกรรมเพื่อสมานบาดแผลร่วมกัน”

และเมื่ออาซิม กามิซา สูญเสียบุตรชาย นักศึกษาหนุ่มนิสัยดีอนาคตไกล ด้วยกระสุนปืนเพียงนัดเดียว จากมือของเด็กวัยรุ่นอายุไม่ถึงสิบห้าปี ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งความโศกเศร้า เขาไม่พบเชื้อไฟแห่งความโกรธแค้น หากพบว่า “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น เหยื่อก็ปรากฏอยู่ทั้งสองด้านของปืน” ทั้งยังได้เดินทางไปพบกับเพล็ส เฟลิกซ์ ปู่ของฆาตกร เพื่อแบ่งปันความรู้สึกสูญเสียร่วมกัน ทั้งสอง – หนึ่งมุสลิม หนึ่งคริสเตียน - ได้ก่อตั้งมูลนิธิ และตระเวนนำละครไปแสดงตามโรงเรียนต่างๆ ในเมืองซาน ดิเอโก เพื่อบอกว่า เด็กวัยรุ่นหนุ่มรุ่นสาวล้วนแล้วแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในตนเอง พวกเขาเหล่านั้นย่อมมีสติปัญญาในการเลือกหาวิถีทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้

ความสามารถในการให้อภัย ไม่โกรธเกลียดต่อผู้ที่ทำร้าย ทั้งยังประกอบด้วยพลังสร้างสรรค์ทางบวก ของผู้คนเหล่านี้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นได้เอง แม้ในหมู่ศาสนิกชนก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้มีให้เป็นได้โดยง่าย หากต้องผ่านการสั่งสมต้นทุนทางจิตวิญญาณมาระดับหนึ่ง

ท่านทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ซึ่งต้องลี้ภัยทางการเมืองจากจีนออกมานอกประเทศเป็นเวลาหลายศตวรรษ ก็ยืนยันว่า แม้ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นองค์อวตารของพระโพธิสัตว์มาหลายภพหลายชาติ แต่ท่านก็ต้องปลูกฝังความกรุณา และพยายามให้อภัยต่อชาวจีน ทั้งยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานับเนื่องติดต่อกันหลายเดือนหลายปีทีเดียว

ท่านชี้ให้เห็นว่า หากเราตกอยู่ในความโกรธเกลียดต่อผู้ที่ทำร้ายเรา ตัวเราเองนั้นแหละที่จะเป็นทุกข์ แต่หากเราให้อภัย เราก็จะพบกับความสุข และมีอิสรภาพ

และถ้าเราไม่รู้เท่าทันอำนาจของความโกรธเกลียด อัจฉริยภาพทางสมองของมนุษย์ก็จะถูกชักนำไปสู่หายนะได้ ดังเหตุการณ์ในวันที่ ๑๑ กันยา หรือสงครามระหว่างจ. บุช กับ บ. ลาเดน

หลักการที่นำไปสู่การให้อภัยตามวิถีพุทธทิเบตที่ท่านทะไล ลามะได้เล่าให้ วิคเตอร์ ชาน ผู้สื่อข่าวและนักเขียนชาวจีนฟัง ในหนังสือ Wisdom of Forgiveness นั้น ดูไม่ง่ายไม่ยาก สรุปรวมอยู่ที่คำสองคำ คือ ความกรุณา และปัญญา

ในการฝึกฝนเพื่อปลูกฝังความกรุณานั้น ท่านให้นึกถึงผู้อื่นหรือผู้ที่เราเรียกว่าศัตรู ว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา ปรารถนาที่จะมีความสุข และไม่อยากมีความทุกข์เช่นเดียวกับเรา

ที่น่าสนใจก็คือการภาวนาแบบให้และรับ หรือที่เรียกว่า ทองเลน นั้น ใช้วิธีเปลี่ยนแปรความเลวร้ายให้กลายเป็นความบริสุทธิ์ เมื่อหายใจเข้าก็รับเอาพิษร้ายแห่งความเกลียด ความกลัว ความโหดร้าย รุนแรง ของผู้ที่ทำร้ายเราเข้าไป เมื่อหายใจออก ก็ทดแทนความชั่วร้ายเหล่านั้นด้วยความดีงาม เช่น ความกรุณา การอโหสิกรรม

ส่วนการฝึกฝนปัญญาญาณนั้น ท่านเน้นการพิจารณาเรื่องความว่าง ความเป็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เมื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่าอนาคตของเราย่อมเกี่ยวพันกับผู้ที่ทำร้ายเรา การดูแลผู้อื่นก็คือการดูแลตนเอง

การทดลองหนึ่งของแอนดรู นิวเบิร์ก และยูจีน ดากิลี ที่ทำกับพระทิเบตรูปหนึ่ง พบว่า ในขณะที่เข้าสู่ภาวะสมาธิขั้นสูง สมองส่วน OAA (Orientation Association Area) ซึ่งเป็นส่วนที่ประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับทิศทาง ได้บล็อกข้อมูลไว้ ทำให้ไม่มีข้อมูลไหลผ่านบริเวณดังกล่าว และเกิดภาวะไร้ขอบเขตขึ้น ซึ่งพระทิเบตรูปนั้นก็อธิบายว่า เป็นความรู้สึกที่ไม่แบ่งแยกกับสิ่งต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่ง การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติภาวนานั้นย่อมทำให้เกิดโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากเดิมได้

บางครั้งความร้าวฉานเกลียดชังไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างบุคคลต่อบุคคล บางครั้งเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ระหว่างเชื้อชาติ ระหว่างผิวสี ระหว่างความเชื่อ ดังเช่น การฆ่าหมู่และถูกทำร้ายจำนวนนับล้านในอาฟริกาใต้ โจทย์หลักร่วมกันก็คือ ผู้คนที่เกลียดชังกันจำนวนมากเหล่านี้จะอยู่ร่วมกันในวันข้างหน้าได้อย่างไร?

สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ประธานคณะกรรมการค้นหาความจริงและสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าวว่า “ค่าใช้จ่ายของการอโหสิกรรมไม่ใช่เรื่องถูก การคืนดีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” ทั้งยังยืนยันว่า “เราจำต้องเปิดแผลมาดู ล้างทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และทายา เผื่อว่า – เผื่อว่าแผลจะหาย” ดังนี้ จึงเป็นที่มาของกระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้กับการยอมรับผิด อโหสิกรรม และการคืนดี

สังเกตได้ว่า ความรู้เกี่ยวกับการให้อภัยหรืออโหสิกรรมนั้นส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในศาสนธรรม เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาด้านในของมนุษย์ก็ว่าได้

ถ้าเช่นนั้น คนทั้งโลกควรปฏิบัติภาวนากันให้หมดจะดีไหม?

“ไร้สาระน่า” – ท่านทะไล ลามะ ตอบ

และทั้งที่คำถามไร้สาระ ท่านยังอุตส่าห์อธิบายต่อว่า “โลกน่าจะมองเรื่องด้านในให้มากกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องทางศาสนา หากเป็นการดึงเอาศักยภาพด้านในของเราออกมา”

เรื่องเล่าว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านตนเองด้านในเพื่อนำไปสู่การให้อภัยเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า คำตอบแห่งการสมานฉันท์คืนดีเพื่ออยู่ร่วมกันในอนาคตนั้นมีอยู่ ทั้งในอดีตและอนาคต

แม้ไม่อาจนิรมิตขึ้นมาได้โดยง่าย หากละทิ้งนิสัยมักง่ายในการซื้อของดีราคาถูกและหวังผลเร็ว อาศัยความเชื่อมั่น และเพียรพยายาม เพชรแห่งปัญญาญาณภายในตัวของมนุษย์ก็จักค่อยฉายแสงขับไล่ความมืดของอวิชชา และเมื่อความกรุณาและปัญญาบรรจบกันเข้า ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงความสุขแท้

Back to Top