กุมภาพันธ์ 2010

ช่วยกันดูแลความคิดของตัวเราเอง



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 27 กุมภาพันธ์ 2553

“ความคิด” ของมนุษย์เป็นพลังงานชนิดหนึ่งครับ

นักชีววิทยาชาวอังกฤษชื่อ รูเพิร์ต เชลเดรก ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า

“สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีสนามของพลังงานร่วมกันอยู่” ที่เขาเรียกว่า “Morphic Resonance Field”

“สนามพลังของความคิดที่ร่วมกัน” นี้ ก็เหมือนกับที่มนุษย์ใช้บรรยากาศร่วมกัน เมื่อโลกร้อนขึ้นทุกคนก็จะถูกกระทบเช่นเดียวกันหมด ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

เชลเดรกได้สังเกตพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากมาย และเขารายงานว่ามีปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายที่สนับสนุนสมมติฐานเรื่อง “สนามพลังร่วม” ที่ว่านี้ ตัวอย่างเช่น

เมื่อหลายร้อยปีก่อน ไร่นาในอังกฤษถูกวัวควายเดินย่ำจนเสียหาย ชาวนาก็เลยขุดร่องกั้นและวางแผ่นเหล็กเป็นช่องที่ใหญ่พอให้สัตว์เท้ากีบอย่างวัวควายเดินเข้าไปได้ แต่ไม่สามารถเดินผ่านได้ เพราะเมื่อฝูงวัวควายเดินเข้าไป กีบเท้าจะหลุดติดเข้าไปในช่องเหล็กที่ว่านี้ แผ่นเหล็กที่ว่านี้เรียกว่า “แคทเทิ้ลกริด” (Cattle Grid)

ปรากฏว่าในเวลาต่อมาวัวควายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าไม่เคยไปเที่ยวหรือไปดูงานในเกาะอังกฤษ เมื่อเห็นแผ่นแคทเทิ้ลกริดวางอยู่ วัวควายเหล่านี้จะเดินหนีไปเลย แถมคนอเมริกันยังหัวใส ไม่ต้องเสียเวลาทำแคทเทิ้ลกริดจริงๆ เพียงระบายสีบนพื้นให้เหมือนภาพของแคทเทิ้ลกริดเท่านั้น บรรดาวัวควายก็จะเดินเลี่ยงไปไม่ยอมเหยียบในพื้นที่ที่ระบายสีแบบนั้นอีกด้วย

ครั้งหนึ่งเมื่อนกชนิดหนึ่งในเมืองหนึ่งของอังกฤษ เรียนรู้ที่จะเจาะปากขวดนมวัวที่คนรีดนมวัวนำมาส่งและวางไว้หน้าบ้านในตอนเช้าได้ ก็ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ระบาดไปทั่วยุโรป ทั้งๆ ที่นกชนิดนี้เป็นนกเล็กๆ ที่ไม่สามารถบินไปไหนไกลๆ ได้

ในส่วนของมนุษย์ เราพบว่ามนุษย์ในแต่ละส่วนของโลกสามารถมีความคิดที่เหมือนๆ กันได้ ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยเลย เช่น มนุษย์ในแต่ละซีกโลกเริ่มรู้จักการเกษตรในเวลาไล่ๆ กัน ประดิษฐ์อักษรขึ้นมาใช้ในเวลาไล่ๆ กัน

หรือแม้แต่ “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ของ ชาร์ล ดาร์วิน ก็มีหลักฐานว่า ในปีเดียวกัน มีนักชีววิทยาชาวมาเลเซียก็พูดถึงทฤษฎีในทำนองที่คล้ายคลึงกันมาก แต่ ชาร์ล ดาร์วิน ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ค้นพบ เพียงเพราะเขารายงานเร็วกว่า แต่ประเด็นก็คือ “ทำไมมนุษย์ในแต่ละซีกโลกถึงคิดถึงเรื่องราวเดียวกันได้ในเวลาใกล้เคียงกัน?”

ถ้ามองตามสมมติฐานของ รูเพิร์ต เชลเดรก นี้ มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งก็น่าจะมี “สนามพลังร่วม” อยู่ด้วยกันกับมนุษย์ทั้งหกพันกว่าล้านคนบนโลกใบนี้

หมายความว่า ในขณะที่เรากำลังคิดอะไรอยู่ จะถูกบันทึกเข้าไปในสนามพลังร่วมของมนุษย์ และความคิดที่วิ่งอยู่ในหัวเราส่วนหนึ่งก็มาจากสนามพลังที่ว่านี้ด้วย

หรือหมายความว่า “ความคิดใดๆ” ของท่านผู้อ่านแต่ละท่านในขณะนี้ กำลังมี “ผลกระทบ” กับ “สนามพลังร่วมของมนุษย์” และ “กลับกันในทำนองเดียวกันด้วย”

เอ็กฮาร์ท โทลล์ (Ekhart Tolle) ผู้เขียนหนังสือขายดีที่ชื่อ The Power of Now และ The New Earth บอกไว้ว่า “พวกเราทุกคนควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความคิดที่อยู่ในหัวของเราว่า เราจะต้องไม่ยอมปล่อยให้ตัวเราทำให้โลกใบนี้ต้องปนเปื้อนไปด้วยความคิดด้านลบต่างๆ ของเราเอง”

คำสอนในพุทธศาสนา ท่านก็สอนให้เรา “คิดดีพูดดีทำดี” อยู่เสมอๆ ท่านติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนามก็พูดถึงเรื่องทำนองนี้เสมอว่า เราจะต้องรับผิดชอบต่อ “สิ่งที่เราคิด” พูดและทำ

คือคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า โอเค เรื่องการพูดการกระทำที่ไม่ดีนั้นส่งผลกระทบในเชิงลบได้ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจว่า “การคิด” คือเพียงแค่คิดจะมีผลกระทบมากมายขนาดนั้นได้จริงๆ เชียวหรือ?

ท่านผู้อ่านอาจจะลองนึกภาพเรื่องนี้เป็นแบบเดียวกันกับที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือรถยนต์ทำให้บรรยากาศส่วนรวมปนเปื้อนไปด้วยก๊าซพิษ ฉันใดฉันนั้นเลยครับ

“บ่อพลัง” หรือ “สนามพลังของความคิด” ที่เป็น “ของส่วนรวม” นั้น สามารถ “ส่งผลกระทบ” ถึงมนุษย์ทุกๆ คน ไม่เว้นเราๆ ท่านๆ เลยครับ

วิธีการที่ดีก็คือ เราจะต้องฝึก “การรับรู้” ของเราให้ “ฉับไว” อยู่เสมอ

เราต้อง “รู้ทันความคิด” ที่กำลังก่อเกิดก่อตัวอยู่ในหัวสมองของเรา

“ความคิดด้านลบ” จะเกิดได้ยากขึ้น ถ้าเรา “รู้ตัวรู้ทัน”

และหากว่าเรายังสามารถ “ดำรงการรู้ตัวรู้ทันให้ยาวขึ้นอีก” แม้จะมีความคิดด้านลบผลุบขึ้นมาบ้าง พลังงานของความคิดด้านลบที่มีการรู้ตัวเกาะติดอยู่นี้ จะไม่รุนแรงมากเท่าความคิดด้านลบที่พลุ่งพล่านฟุ้งซ่านแบบม้าพยศ

ผมรู้สึกเห็นด้วยกับ เอ็กฮาร์ท โทลล์ เป็นอย่างยิ่งว่า บางทีแล้วสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง “หน้าที่สำคัญพื้นฐาน” ของเขาก็คือ “การรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองกำลังคิดอยู่” นั่นเอง

“รับผิดชอบ” เหมือนกับที่เราจะไม่สร้างควันพิษให้กับชั้นบรรยากาศ “รับผิดชอบ” เหมือนกับที่เราจะพยายามรณรงค์ประหยัดพลังงานเพื่อลดภาวะโลกร้อน เหมือนกับที่เราจะดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราให้ดีให้สะอาด ไม่ทิ้งขยะให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน เหมือนกับที่เราจะดูแลคนใกล้ชิดของเราหรือดูแลร่างกายของเราเองให้สะอาดอยู่เสมอ

“ความคิด” ของมนุษย์นั้นเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง “ความคิดที่ไม่ดี-ด้านลบต่างๆ” ก็เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานที่ทำให้ “สนามพลังส่วนรวม” ปนเปื้อน

ถ้าเราอยากให้โลกใบนี้ดีขึ้นจริงๆ เราต้องเริ่มด้วยการ “รับผิดชอบ” ต่อ “สิ่งที่เรากำลังคิดอยู่ในหัวของเรา” นั่นเอง

คำอธิบายด้วยสมมติฐานเรื่อง “สนามพลังร่วม” ของ รูเพิร์ต เชลเดรก ในบทความนี้คงพอจะช่วยให้เกิดเข้าใจในเชิงวิทยาศาสตร์ได้บ้างกระมังครับ

3S วิวัฒน์จิต: สู่การตื่นรู้ท่ามกลางโลกอันซับซ้อน



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553

การตื่นรู้ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากมายนั้น จำต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องการวิวัฒน์จิตให้ใหญ่ขึ้น และด้วยเหตุที่จิตใจมีอาณาเขตกว้างขวาง กินพื้นที่หลายพรมแดน ผู้เขียนจึงขอแนะนำพรมแดนภายในจิตใจสามพรมแดนใหญ่ๆ ที่เรียกว่า “3S” ซึ่งการเรียนรู้พรมแดนทั้งสามที่มีอยู่แล้วในจิตใจเราแต่ละคน อาจช่วยวิวัฒน์จิตให้ตื่นรู้เท่าทันกับโลกอันซับซ้อนในยุคนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย

พรมแดนแรกคือ สภาวะจิต (State) หากเปรียบเทียบกับภูมิทัศน์ทางกายภาพ ก็เหมือนเป็นมหาสมุทร เป็นพรมแดนที่มีลักษณะไม่คงที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เปรียบดั่งคลื่นในมหาสมุทร บางขณะก็เงียบสงบ บางขณะก็บ้าคลั่ง ไม่มีความเป็นเส้นตรง อยู่เหนือความเข้าใจด้วยเหตุผล หรือตรรกะใดๆ แต่ปรากฎให้รับทราบได้เป็นความจริงชั่วคราว สภาวะจิตที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ สภาวะตื่น สภาวะหลับฝัน สภาวะหลับลึกไม่ฝัน สภาวะสมาธิ สภาวะเลื่อนไหล (flow) เป็นต้น สภาวะเหล่านี้มีจุดร่วมกันคือ “ความชั่วคราว” ที่สามารถรับรู้ได้ในปัจจุบันขณะ

พรมแดนที่สองคือ ระดับจิต (Stage) เปรียบดั่งผืนแผ่นดิน ที่มีทั้งที่ราบลุ่มไปจนถึงภูเขาสูงชัน ระดับจิตก็เปรียบได้กับระดับความสูงต่ำของผืนแผ่นดิน มนุษย์จะมีลักษณะการเพิ่มระดับจิตเป็นไปตามลำดับขั้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป ก้าวกระโดดไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะมี “ความถาวร” โดยสัมพัทธ์กับสภาวะจิต วงวิชาการจิตวิทยาตะวันตกค้นพบว่า มนุษย์มีโครงสร้างทางจิตที่พัฒนาซับซ้อนขึ้นนับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตาย ข้อค้นพบเหล่านี้ปรากฎในทฤษฎีโครงสร้างจิตของเพียเจต์ (Jean Piaget) โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) และคีแกน (Robert Kegan) เป็นต้น หากยกตัวอย่างในระบบของคีแกน มนุษย์มี ๕ ระดับจิต ที่มีพัฒนาการตามลำดับคือ ๑. ช่วงแรกเกิดคือ “จิตตามสิ่งเร้า” (Impulsive Mind) ๒. ช่วงวัยแรกรุ่นคือ “จิตตามใจตน” (Imperial Mind) ๓. ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นคือ “จิตตามสังคม” (Socialized Mind) ๔. ช่วงวัยกลางคนคือ “จิตประพันธ์ตน” (Self-authoring Mind) และ ๕. ช่วงสูงวัยคือ “จิตวิวัฒน์ตน” (Self-transforming Mind) ด้วยเหตุที่จิตมีโครงสร้าง การเปลี่ยนระดับจิตขึ้นลงจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก และอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง

พรมแดนที่สามคือ เงา (Shadow) เปรียบดั่งพรมแดนลี้ลับที่ยังไม่เคยมีใครเข้าไปสำรวจ เป็นพรมแดนที่ไม่ได้อยู่ภายในการรับรู้ของจิตสำนึก แต่ยังคงมีอยู่ในจิตไร้สำนึก เงามักจะโผล่หรือหลุดออกมาตอนเราเผลอไม่รู้ตัว ได้แก่ การหัวเราะกลบเกลื่อนความอับอายบางอย่างในใจ การโยนความผิดไปที่คนอื่น ทั้งที่จริงเราเองก็เป็นสิ่งนั้น การพลั้งปากพูดคำที่ไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น แม้ว่าดูเผินๆ เราอาจจะเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเราลองสืบค้นไป จะพบว่ามีอะไรทำงานอยู่ในจิตไร้สำนึกเวลาแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ หลายต่อหลายครั้งที่พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คนต้องจบชีวิตการแต่งงาน หันเข้าหายาเสพติด หรือไม่ก็ก่อความรุนแรงขึ้นในสังคม เบื้องหลังของเรื่องเล็กๆ ที่ถูกขยายให้กลายเป็นเรื่องใหญ่นั้น ผู้เขียนเชื่อว่ามีเงาเป็นมูลเหตุแทบทั้งสิ้น เงาเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันในวัฒนธรรม ครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่น จะว่าไปแล้ว ก็คล้ายกับเวรกรรม ที่ถ่ายทอดกันจากจิตสู่จิต ในขณะเดียวกันก็มีความเฉพาะตัวส่วนบุคคลอยู่ในที ด้วยเหตุนี้บุคคลจึงมีโอกาสเลือกว่าจะส่งต่อกรรมนี้ไปยังลูกหลานรุ่นต่อไปหรือไม่

พรมแดนทั้งสามมีอยู่แล้วภายในจิตใจของทุกคน อันที่จริงความสัมพันธ์ของมันมีลักษณะ “ไร้พรมแดน” เสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ แต่ละพรมแดนต่างมีอิทธิพลถึงกัน ถ่ายทอดข้อมูลข้ามไปมาอยู่เสมอๆ

ตัวอย่างเช่น ในเส้นทางการเติบโตทางจิต ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม ทั้งความคิด ความรู้สึก หรือศีลธรรม เรามักจะทิ้งอะไรบางอย่างไป เช่น ทิ้งความอ่อนแอ ทิ้งความขี้เล่น หรือทิ้งความสนุกสนาน เป็นต้น เคยได้ยินหรือไม่ว่า ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่เสียอะไรไป ชีวิตเราที่เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน เรายอมแลกอะไรบางอย่างไป เพื่อที่ว่าเราจะได้เติบโต แต่บางอย่างที่แลกไปนั้น อาจเป็นบางส่วนเสี้ยวของตัวตนที่เราเฉือนมันออกไป และนั่นก็จะกลายเป็น “เงา” ที่คอยตามหลอกหลอนมาในภายหลัง ว่ากันว่า ช่วงครึ่งแรกของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงของการเติบโตเพื่อเผชิญกับโลก จะเป็นช่วงแห่งการสะสมเงา ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของชีวิต จะเป็นช่วงแห่งการกลับมาของเงา แม้ว่าเราจะต้องการหรือไม่ก็ตาม การเติบโตในช่วงครึ่งหลังของชีวิตจึงเกี่ยวข้องอย่างมากกับการรู้จักและทำงานกับเงา

บางครั้งการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ ก็อาจแลกมาด้วยการสูญเสียตัวตนบางอย่างไปเช่นกัน และเงาที่เกิดขึ้นระหว่างทางการปฏิบัติจะย้อนกลับมาสร้างความยุ่งยากให้กับเราในภายหลัง เคยได้ยินหรือไม่ว่า นักปฏิบัติบางคนเมื่อปฏิบัติไปก็พบว่า ตนเองบรรลุธรรมขั้นนี้ๆ แล้ว ทั้งที่จริงเป็นเพียงวิปัสสนูกิเลสที่มาหลอกเอา หรือในทางคริสต์ศาสนามีช่วงเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณที่เรียกว่า “ค่ำคืนอันมืดมิด” (Dark Night) ถ้าในภาษาพุทธบ้านเราก็อาจเรียกว่าเป็นช่วง “พับเสื่อกลับบ้าน” ช่วงค่ำคืนเช่นนี้เองที่เงาอาจเข้ามาครอบงำ และทำให้นักปฏิบัติ “เพี้ยน” ไปได้ เริ่มเรี่ยไรเงินทอง มีเรื่องชู้สาว หรือเรื่องอำนาจบาตรใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง เงิน เซ็กส์ และอำนาจเป็นสิ่งที่เงามักเข้าไปจับ และเมื่อผูกเข้ากับเรื่องทางจิตวิญญาณแล้ว มันช่างเป็นเวรกรรมที่เรามักพบเห็นกันอยู่เนืองๆ ในสังคมไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะจิตกับระดับจิตก็มีประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อเราประสบกับสภาวะการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นภายในจิตใจ แล้วเราจำเป็นต้องสื่อสารบอกกล่าวให้กับสังคมรับรู้ถึงความหมายและความสำคัญของมัน เราจะสามารถให้ความหมายได้ตามระดับจิตที่เรากำลังเป็นอยู่เท่านั้น และหลายต่อหลายครั้งที่ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเดียวกัน กลับถูกตีความหมายไปต่างๆ นานา จนทำให้ “ตัวประสบการณ์” ขาดเอกภาพในการตีความ และดูเหมือนขาดความน่าเชื่อถือ ผู้เขียนลองตั้งคำถามท้าทายว่า จำเป็นหรือที่การตีความต้องมี “เอกภาพ” ในขณะเดียวกัน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ตัวประสบการณ์นั้นมีความจริงแท้และน่าเชื่อถือได้ สำหรับผู้เขียนแล้ว หากการปฏิบัติทางจิตวิญญาณดำเนินไปตามหลักที่ถูกต้องแล้ว ผลการปฏิบัติย่อมไม่แตกต่างกัน พบกับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่มีความจริงแท้เช่นเดียวกัน หากแต่การตีความเป็นอีกเรื่องที่อาศัยระดับจิตที่แตกต่างหลากหลายในการสร้างความหมายที่มากกว่าหนึ่งขึ้นไป

การตื่นรู้ในยุคนี้จึงมีความกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าการตื่นรู้ในยุคไหนๆ การเรียนรู้และเข้าใจพรมแดนทั้งสาม และความเข้าใจถึงลักษณะ “ไร้พรมแดน” จะช่วยให้เราตื่นรู้อย่าง “ก้าวข้ามและหลอมรวม” กล่าวคือ ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ และหลอมรวมเอาแก่นสำคัญทั้งหมดของการตื่นรู้ ที่มนุษย์แต่ละยุคสมัยได้ค้นพบกันมา เพื่อที่ว่าการตื่นรู้ในยุคนี้ จะสามารถรองรับและทานทนต่อความซับซ้อนทางสังคมที่มากขึ้นได้

ชีวิตของเรานั้นเป็นองค์รวมโดยตัวมันเอง การฝึก 3S เป็นการฝึกที่เข้าไปสัมผัสกับพรมแดนต่างๆ ทีละส่วน เพื่อให้เราได้รับข้อมูลจากแต่ละส่วน แล้วนำมาบูรณาการเข้าหากันเป็นองค์รวม โดยไม่ได้พยายามหักล้างกัน แต่อนุญาตให้ข้อมูลไหลข้ามพรมแดนกัน แลกเปลี่ยน และถักทอจนเป็นผืนเดียวกัน จนเกิด “ปิ๊งแว้บ” เป็นปัญญาบูรณาการ

ดังนั้นฐานที่รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดนนี้ได้ ก็คือการฝึกฝนตนเองอย่างรอบด้าน ทั้งการฝึกสภาวะ ฝึกระดับจิต และฝึกทำงานกับเงา (ฝึก 3S)

การฝึกสภาวะจิต การฝึกที่คนไทยรู้จักกันดีได้แก่ การฝึกสมถะและวิปัสสนา กล่าวอย่างย่อ สมถะคือการฝึกสภาวะสมาธิ จนจิตตั้งมั่น สงบนิ่ง และเป็นหนึ่งเดียว วิปัสสนาคือ การเห็นตามการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของสภาวะต่างๆ หลวงพ่อพุธ (ฐานิโย) เคยกล่าวไว้ว่า “สมถะเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด” ท่านกล่าวตรงไปยังลักษณะการเกิดขึ้นเองของสภาวะโดยไม่ได้บังคับ หรือคิดฟุ้งเอา การฝึกทั้งสองแนวทางอาศัยสติเป็นฐาน สติที่แท้เกิดขึ้นเอง บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่อาศัยว่าจำสภาวะได้ จึงมีสติ

การฝึกระดับจิต อาศัยการสืบค้นตนเองไปจนถึงสมมติฐานใหญ่ที่ยึดถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อหรือข้อสรุปที่เรามักมีให้ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว สมมติฐานใหญ่เปรียบเสมือนธรรมนูญชีวิตที่เรากำหนดใช้กับตัวเอง เป็นปกติอยู่เองที่เวลาสืบค้นจนเจอธรรมนูญชีวิตแล้ว เราจะสะท้านสะเทือน เพราะหลายต่อหลายครั้งเราเองอาจจะไม่อยากเชื่อเลยว่า เราได้ยึดถือสมมติฐานนี้มาโดยตลอด และหลายต่อหลายครั้งที่สมมติฐานเหล่านี้อาจจะไม่ตรงต่อความเป็นจริงที่ปรากฎอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ภายใต้สมมติฐานใหญ่ เรามักมีปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ ด่วนสรุปตัดสินอย่างรวดเร็วต่อเรื่องที่ปรากฎตรงหน้าว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้ประการหนึ่ง คือการสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการด่วนสรุป การทึกทักเอา ความผิดหวัง เป็นต้น เมื่อพบกับปฏิกิริยาบางอย่างนี้ในตัวเรา ลองสืบค้นต่อไปว่า เราเชื่ออะไร เรามองโลกอย่างไร อาจเขียนออกมาเป็นประโยคหรือวลีเช่น “โลกนี้มีแต่สีขาว ไม่มีที่อยู่ให้กับสีดำ” “ไม่ควรมีใครรังเกียจฉันแม้แต่คนเดียว” “ผู้ชนะคือผู้ที่อยู่รอดเสมอ” “เกิดมาทั้งทีก็ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า” “ฉันเท่านั้นที่รู้ทุกอย่าง คนอื่นไม่มีทางรู้ได้เท่าฉัน” เป็นต้น เมื่อสามารถสะท้อนสมมติฐานใหญ่เหล่านี้ออกมาได้ จากนั้นจึงเป็นการทดสอบสมมติฐานว่าจริงเท็จประการใด ซึ่งมีวิธีทดสอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่อนช่วยบอกว่าเขาสังเกตเห็นอะไรในตัวเรา การสังเกตพฤติกรรมซ้ำๆ ของตนเอง การสังเกตแบบแผนทางความคิดของตนเอง ตลอดจนการสังเกตท่าทีที่เรามีต่อผู้อื่น เป็นต้น จนสามารถทำให้สมมติฐานใหญ่นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่เข้ามาครอบงำเราได้อีกต่อไป

การฝึกทำงานกับเงา ด้วยการสังเกตในชีวิตประจำวันว่า เราหงุดหงิดรำคาญใจ หรือหลงใหลไปกับอะไรมากเป็นพิเศษ พูดในภาษาวัยรุ่นหน่อยก็ได้ว่า เรา “จี๊ด” “ปี๊ด” หรือ “ปลื้ม” ไปกับอะไร เราพึงตระหนักว่า มันอาจเกี่ยวข้องอะไรบางอย่างกับเงา วิธีที่ง่ายที่สุด (แต่อาจยอมรับยากที่สุด) คือ เราเกลียดอะไร สิ่งนั้นก็คือเงาของเรา สิ่งนั้นก็คือตัวตนที่เราไม่เอา ทิ้ง หรือเก็บกดมันเอาไว้ในจิตไร้สำนึก นอกจากสิ่งที่ “ปี๊ด” แล้ว เราอาจสังเกตจากการพลั้งปาก เผลอลงมือทำอะไรที่เราไม่คาดคิด เผลออ่านอะไรผิดๆ หรือเผลอได้ยินอะไรผิดๆ เป็นต้น สิ่งที่เผลอเหล่านี้เราอาจคิดว่า เป็นเรื่องเล่นๆ ตลกๆ แต่ลองพิจารณาดูให้ดี มันเกี่ยวข้องอะไรกับเงาที่เราเกลียดหรือไม่ การสังเกตเงายังมีอีกหลากหลายวิธี เช่น การสังเกตการกล่าวโทษผู้อื่นของตัวเรา การสังเกตความฝันซ้ำๆ หรือความฝันที่ทำให้เราหัวใจเต้นแรง การสังเกตท่าทีตีตลกกลบเกลื่อน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่ช่วยให้เรา “พบกับเงา” ที่อยู่ในมุมมืดของจิตใจ เมื่อพบแล้วก็มีโอกาสที่จะ “คืนรักให้กับเงา” ได้ด้วยกระบวนการทำงานกับเงา (ซึ่งต้องขออภัยที่ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด เพราะจะใช้เนื้อที่อีกมาก)

ข้อมูลที่ได้รับจากการฝึกทั้งสามพรมแดน จะทำให้มีโอกาสเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจโลกมากขึ้น เป็นหนทางแห่งการตื่นรู้ในยุคปัจจุบันที่ก้าวข้ามและหลอมรวมภูมิปัญญาในยุคต่างๆ ของมนุษย์ จิตที่รับข้อมูลอย่างรอบด้านนั้นเองจะเป็นผู้บูรณาการ จนเกิดปัญญาเห็นแจ้งในการดำรงอยู่กับโลก สามารถนำพาให้เราเผชิญกับความซับซ้อนของโลกได้อย่างเหมาะสม และสมบูรณ์ คือ สม อันแปลว่า พอดี และบูรณ อันแปลว่า เต็มรอบ ขอเพียงเราหมั่นฝึกฝนตนเองอย่างเต็มรอบพอดี อย่างน้อยก็ 3S ในช่วงชีวิตที่เรายังมีแรงฝึกกันได้ และจิตยังคงวิวัฒน์อยู่ การตื่นรู้เท่าทันโลกอันซับซ้อนก็จะบังเกิดขึ้นแก่ตัวท่านเอง

จุดดำดวงอาทิตย์เกี่ยวกับโลกไหม?



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553

คาร์ล จุง ที่นักจิตวิทยาหลายคนเรียกว่าบิดาของจิตวิทยา พูดว่า “คนเราไม่ชอบฟังเรื่องจริง” ล่วงปีใหม่ไปแล้ว แต่ผู้เขียนยังเขียนเรื่อง ๒๐๑๒-๑๓ ที่ทางศาสนา วิทยาศาสตร์ และผู้เขียนคิดว่าอาจจะเป็นไปได้จริง แต่ผู้อ่านและคนไทยคงไม่ชอบฟัง อ่าน หรือได้ยินซ้ำๆ ซากๆ เพราะเบื่อ เพราะรู้แล้ว ทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง คนไทยทั่วไปร้อยละ ๙๙ คงคิดว่าไม่เกิด หรือถึงเกิดขึ้นแต่คงไม่ทั้งหมด เหมือนเรื่อง Y2K เรื่อง 5-5-2000 เรื่องอุกาบาตชนโลก และเรื่องอื่นๆ ซึ่งทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ยกเว้นเรื่องภาวะโลกร้อนในปัจจุบันซึ่งคนไทยที่ตอบโพลล์ไม่เชื่อว่ามีมนุษย์เป็นเหตุ พูดง่ายๆ ว่ามนุษย์นั้นทำอะไรก็ไม่ผิด นอกจากทำผิดกฎสังคมหรือกฎหมาย เรื่องอยุธยา กรีซ โรมัน อียิปต์ เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยที่เราไม่ได้เห็นกับตา ฉะนั้นหาความสุขสนุกสนานกันดีกว่า แต่ครั้งนี้ – ในความคิดของผู้เขียน – คงไม่เป็นเช่นเดิมอีก เพราะว่าเราโลภ เราเห็นแก่ตัว และทำแต่เรื่องผิดๆ มากเกินไป

ผู้เขียนได้รับข้อมูลใหม่ๆ เรื่องการหายไปของจุดดำบนดวงอาทิตย์ การเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กโลก และความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ลดลง ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อมีการสลับกันของขั้วแม่เหล็กดวงอาทิตย์ ที่อาจทำให้เกิดการย้ายขั้วโลกเหนือตามทฤษฎีของ ชาร์ลส์ แฮปกูด ซึ่งไอน์สไตน์สนับสนุนและเขียนคำนำให้ (Charles Hapgood, Paths of Pole, 1971) กับเมื่อเร็วๆ นี้ยังเกิดช่องเปิดของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์กับโลก (Magnatic portal) และเหมือนกับโลกกำลังย่างเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง คือเกิดความหนาวเย็นมากกว่าและนานกว่าธรรมดา ทั้งที่ยุโรป อเมริกา และแคนาดาโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ลุกลามมาถึง รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ

ผู้เขียนได้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบสุริยะ ซึ่งจะโคจรมาตรงกับศูนย์กลางกาแล็คซี่ทางช้างเผือกของเรา ในคืนวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๐๑๒ และจะมีการเรียงตัวเป็นแถวหรือระนาบเดียวกันของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ (มิชิโอะ กากุ ดูใน NASA, Pole Shift) ผู้เขียนรอๆ ดูอยู่แต่ไม่เห็นมีใครที่เมืองไทยจะสนใจเอามาสื่อสารกัน หรืออาจจะมี แต่ผู้เขียนไม่รู้ไม่เห็นเอง เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นักการเมืองโดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งสหประชาชาติจะต้องใส่ใจอย่างยิ่ง เพราะว่า หนึ่ง ภาวะล่มสลายของโลกและการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกแบบถอนรากถอนโคนโดยการมีจิตใหม่หรือจิตวิญญาณของชาวโลก กับ สอง เรื่องการย้ายขั้วโลกที่เป็นเรื่องนอกตัว นอกประเทศ และนอกโลกชนิดที่เราไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นจะคิดว่าไม่เป็นไร “ทุกอย่างจะเหมือนเดิม” นั้น – ไม่เป็นการประมาทเกินไปหรอกหรือ? - มิชิโอะ กากุ ไม่ใช่ศาสตราจารย์ธรรมดาๆ แต่เป็นถึงนักฟิสิกส์ทฤษฎีของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยซิตี นิวยอร์ค อันมีชื่อเสียงยิ่ง กระทั่งหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลอย่างสูงมากๆ คือ นิวยอร์คไทม์ กับวอชิงตันโพสต์ ของสหรัฐอเมริกาได้เขียนชมหนังสือทั้ง ๒ เล่มของเขา ว่าเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของปีนั้นๆ – ต่างกรรมต่างวาระกัน

ผู้เขียนนั้น นานๆ ทีถึงได้ติดตามข้อมูลความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพหรือฟิสิกส์ของดวงอาทิตย์บ้าง พบว่าในระยะหลังๆ ดวงอาทิตย์มีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมนุษย์เรายังไม่รู้ไม่แน่ใจว่า การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างนั้น จะมีผลต่อโลก ต่อมนุษยชาติ ต่อระบบสุริยะ หรือแม้แต่จักรวาลอย่างไรบ้าง? แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรเสียหาย หากว่ารัฐบาลต่างๆ เช่น รัฐบาลไทยจะพูดคุยให้แน่ใจและเข้าใจถึง ความเป็นไปได้ ของการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ในครั้งนี้ โดยตั้งคณะกรรมการภัยธรรมชาติในด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ติดต่อสอบถาม มิชิโอะ กากุ (ที่ www.mkaku.org) เรื่องเฉพาะหน้าคือ การเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ในครั้งนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังย่ำแย่สุดๆ อยู่ กับการค่อยๆ เปลี่ยนแปลง – บางทีและบางส่วนของจิตสำนึกที่กำลังแพร่สะพัดไปทั่วทั้งโลก เช่น จิตตปัญญาศึกษาและการทำสมาธิกรรมฐานที่มีผู้ปฏิบัติมากขึ้นมาก - บทความนี้จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว

ความสัมพันธ์ที่กล่าวมานั้น อาจจะเกี่ยวกับภาวะล่มสลายทางด้านโลกกายภาพ (แต่โลกยังอยู่) กับวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณของมนุษยชาติ แม้จะมีคนต่อว่าผู้เขียนทำนองว่าชอบมองโลกในแง่ร้าย หายใจเป็นเรื่องความล่มสลายหายนะของมนุษยชาติไปเสียทั้งหมด เหมือนกับว่าผู้เขียนตั้งใจแต่จะให้ความฉิบหายเกิดกับมนุษย์และโลก ผู้เขียนเองยอมรับเช่นนั้น แต่ในส่วนที่น้อยนิด ผู้เขียนใคร่ขอร้องให้ผู้ที่ต่อว่านั้น คิดให้รอบคอบและถ้วนถี่ อย่าตื่นเต้นเสียขวัญเพราะเรื่องอาจไม่เกิดก็ได้

คิดในเชิงวิทยาศาสตร์ทั้งทางกาย ทางจิตเช่นจิตวิทยา กับศาสนาต่างๆ รวมทั้งลัทธิความเชื่อที่มีตั้งแต่โบราณ แม้ว่าผู้เขียนจะย้ำเขียนอย่างซ้ำๆ ซากๆ – อย่างมีทั้งเหตุผล หลักฐาน และเป็นวิทยาศาสตร์พร้อมมูลชนิดที่ใครปฏิเสธไม่ได้ – ว่าจักรวาลและโลกมีหน้าที่หลักเพียงอย่างเดียว คือวิวัฒนาการ ส่วนวิวัฒนาการไปทำไม? เพื่ออะไร? และแน่ใจได้อย่างไร? ขอตอบตามที่นักปราชญ์ทั้งหลายตอบเหมือนกันเป๊ะๆ ว่า วิวัฒนาการของโลก ของจักรวาล และของมนุษย์ไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ดิน (โลก) มนุษย์ ฟ้า (จักรวาลหรือสวรรค์) เพื่อให้มีชีวิตและมีมนุษย์ “ผู้ประเสริฐ” สามารถมีวิวัฒนาการทั้งทางกายหรือชีววิทยากับจิต หรือรูปกับนามให้สัมฤทธิตามเป้าหมาย ทั้งหมดนั้นไม่ใช่จิตนิยม ไกลตัว ไร้สาระ ซึ่งเราคนทั่วไปโดยตัวตนเป็นผู้คิด เราส่วนใหญ่ที่มักเป็นนักวัตถุนิยมจึงคิดกันง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องความบังเอิญ ท่านผู้อ่านช่วยกรุณาคิดให้รอบคอบด้วย เพราะไม่เพียงแต่นักปราชญ์ ศาสดา เซนต์ กับนะบีในทุกศาสนาต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันเช่นนั้น หากแต่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกรวมทั้งผู้ได้รับรางวัลโนเบลทุกๆ คน ไม่มียกเว้น – เท่าที่ผู้เขียนรู้ – ยืนยันเช่นเดียวกันด้วย เช่น เดวิด โบห์ม เซอร์ อาเธอร์ เอดดิงตัน จอร์จ วอลด์ เจมส์ ลัฟลอค ฯลฯ แม้แต่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในทางอ้อม ทั้งนี้ว่ากันตรงๆ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทางกาย-ชีววิทยาสนับสนุนด้วย

การเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์เริ่มที่การสลับขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ซึ่งเคยเกิดมีมาก่อน ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๐๐๐-๐๑ และครั้งต่อไปจะมีในปี ๒๐๑๒-๑๓ นั้น – ย่อมทำให้สนามแม่เหล็กโลกหรือแมกนีโตสเฟียร์ (บริเวณที่มีสนามแม่เหล็กโลกแผ่กระจายไปถึง) หายไปด้วย และสองปีมานี้อยู่ๆ สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ก็ลดลงไปพร้อมกับการค่อยๆ หายไปอย่างมากของจุดดำ (sun spots) จากเรือนพันเรือนหมื่นลงมาเหลือไม่ถึงร้อยจุดในขณะนี้ หรือมีเค้าว่าจะลดลงไปกว่านั้นอีก นั่น-ทำให้อนุภาคที่เกิดในใจกลางดวงอาทิตย์ตามปกติวิสัยออกมาไม่ได้ด้วย จะมีแต่อนุภาคผีๆ เช่น นิวตริโนส์ที่ทะลวงออกมาได้ ดังที่มีรายงานไว้มากเช่นที่ แอลเอชซีแล็บ เป็นต้น และการที่สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ลดความเข้มข้นลงไปนี้ จะทำให้แมกนีโตสเฟียร์ของโลกค่อยๆ หายไปด้วย (เพราะแมกนีโตสเฟียร์เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสนามแม่เหล็กทั้งสอง) และโดยเฉพาะการขาดแมกนีเซียมจนทำให้จุดดำที่ดวงอาทิตย์หายไปกว่าร้อยละ ๙๐ ทำให้แมกนีโตสเฟียร์ของโลกต้องหายไปแทบสิ้นเชิง จะทำให้การป้องกันโลกด้วยสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetism) หายไป เกิดภยันตรายจากรังสีแกมม่าของหลุมดำที่มาจากกาแล็คซีทางช้างเผือก

ไม่มีใครรู้ จริงๆ แล้วไม่มีใครเชื่อว่า ดวงอาทิตย์ของเราเคยมีช่องเปิด – ที่ปิด-เปิดโดยอัตโนมัติ ทุกๆ ๘ นาที มีขนาดใหญ่รูปทรงกระบอกแทบเท่าโลกของเรา - ทำให้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าระหว่างดวงอาทิตย์กับสนามแม่เหล็กติดต่อกันโดยตรงได้อย่างไม่มีมาก่อนนับตั้งแต่ติดตามดูดวงอาทิตย์มาหลายร้อยปี แต่ก่อนหน้านั้นเราไม่รู้ โดยเฉพาะในระหว่างการย้ายขั้วโลกเหนือ (ซึ่งเคยมีมาแล้วร่วม ๑๖ ครั้งในรอบหลายล้านปี) ครั้งสุดท้ายเมื่อ ๑๒,๐๐๐ ปีก่อนที่ขั้วโลกเหนืออยู่ที่อ่าวฮัดสัน – การย้ายของขั้วโลกเหนือ (ขั้วโลกใต้ไม่เคยย้ายที่เลยเท่าที่รู้ภายในเกือบ ๖๐๐ ล้านปี) ไม่เคยย้ายเกิน ๓๐ ดีกรีเลย (มีพูดไว้ในหนังสือของ ชาร์ลส์ แฮปกูด) การลดลงหรือหายไปหมดของสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetic) มีแผ่นดินไหว และภูเขาไฟใกล้ระเบิดเหมือนกับสภาพโลกในปัจจุบัน จุดดำของดวงอาทิตย์หายไปหมดหรือเหลือน้อยเต็มทีเหมือนสภาพดวงอาทิตย์ในปัจจุบัน ดินฟ้าอากาศและฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนสภาพโลกในปัจจุบัน กับอีกอย่างหนึ่งที่มีในปัจจุบันแต่เราไม่รู้ คือเมื่อมีการย้ายขั้วโลกเหนือครั้งที่แล้วๆ ดวงอาทิตย์จะมีช่องเปิด เช่นที่เรามีในช่วงนี้หรือไม่? ส่วนอีกสองอย่างที่มีข้อมูลในปัจจุบัน แต่โลกเราไม่มีหรือยังไม่มี คือ ยุคน้ำแข็งใหญ่หรือย่อย กับการย้ายที่ของขั้วโลกเหนือ แต่ทั้งสองอย่างนั้นทางวิทยาศาสตร์เรารู้ว่า มันเกิดช้าหรือเร็วหรือเมื่อไรก็ได้

ฤดูกาลที่โลกประสบกับความหนาวเย็นจัดประดุจยุคน้ำแข็งเล็กหรือใหญ่มาเยือนเช่นในอดีตเมื่อ ๓๐๐-๕๐๐ ล้านปีที่แล้ว เรียกกันว่า มูแอนเดอมินิมัม (Muander minimum) เมื่อจุดดำของดวงอาทิตย์หายไปแทบทั้งหมด (คือเหลือไม่ถึง ๕๐ จุดจากหมื่นๆ จุดที่เคยมี) และความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ลดลงอย่างมาก สถานภาพของจุดดำและความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ลดลงอย่างมาก เหมือนสภาพปัจจุบันของดวงอาทิตย์และโลก เพียงแต่โลกยังไม่มียุคน้ำแข็งเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าอย่างน้อย โลก และมนุษยชาติ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อย่าลืมว่ากราฟที่ศูนย์สังเกตดวงอาทิตย์ (NSO) บอกว่าจุดดำกับความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์จะเหลือน้อยกว่าครึ่งในปี ๒๐๑๒-๑๓ และดวงอาทิตย์จะหมุนรอบตัวเองช้าลงด้วย อย่างมากโลกจะมีการย้ายที่ของขั้วโลกเหนือพ่วงยุคน้ำแข็งจริงๆ พร้อมกับมนุษย์ – สัตว์โลกจะเหลือน้อยลงเพราะสวิตซ์ของสายพานกัลฟ์สตรีมหยุดลงด้วย

นั่นคือการวิเคราะห์จุดดำของดวงอาทิตย์ในปี ๒๐๑๒

โรคสมองกดทับใจ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553


ผมนั่งจับเข่าคุยกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง สายตาเมียงมองหาเคาน์เตอร์กาแฟ นัยว่าจะช่วยทำให้การพูดคุยของเราออกรสยิ่งขึ้น... แต่เหมือนรู้ว่าผมกำลังทำอะไร เธอโพล่งออกมา

"เรากำลังควบคุมคาเฟอีนอยู่ งดกาแฟ ชา มาสองอาทิตย์แล้ว"

ยังไม่ทันที่ผมจะปริปากอะไร เธอไขข้อข้องใจให้

"ไมเกรนน่ะ…คาเฟอีนมันจะไปกระตุ้นไมเกรน แต่ก่อนไม่รู้ แต่ตั้งแต่มาฝึกโยคะ เริ่มสังเกตเห็นกายตัวเองมากขึ้น เห็นเลยว่าถ้าจิบเข้าไปมันขึ้นมาจี๊ดที่หัวเลย"

สารบางอย่างกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกาย เฉกเช่นเดียวกับอารมณ์ที่มากระทบทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อจิตใจ แต่จิตใจกับร่างกายสัมพันธ์กันอยู่อย่างลึกซึ้ง ร่างกายจึงถูกเหนี่ยวนำให้เปลี่ยนแปลง อาการทางกายเช่นปวดหัว ปวดท้อง โรคเรื้อรังทั้งหลายที่หมอหาสาเหตุไม่ได้ บางทีอาจจะเป็นโรค “สมองกดทับใจ” คืออารมณ์เหนี่ยวนำให้เกิดอาการทางใจ และใจเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดแตกซ่านจนสะท้อนย้อนลงมาจิตใจให้ปั่นป่วนสับสน ส่งผลระยะยาวต่อร่างกาย

เมื่อรู้อย่างนี้เราก็น่าจะหลีกไปเสียจากอารมณ์ที่จรมากระทบ ฟังดูง่ายและเป็นน่าจะเป็นทางแห่งความสุข เพราะคนเราล้วนรักสุขเกลียดทุกข์กันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะหลายคนมีชีวิตอยู่โดยขาดดราม่าไม่ได้ หากชีวิตมันราบเรียบก็ต้องหาเรื่องให้โลดโผนเสียบ้าง อะไรที่มันจะดูราบรื่นก็ไปป่วนให้มันยุ่งเหยิงเสียบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้วงซุบซิบนินทาจึงไม่ว่างเว้นเรื่องราว ผมว่าหากอยากทราบว่าจิตร่วมของคนไทยวิวัฒน์ไปเท่าใดแล้ว ก็ให้เอาจำนวนผู้คนที่ยังหาความรื่นรมย์จากวงกอสซิบสนทนาไปลบออกจากจำนวนผู้ที่เริ่มหันมาสนใจเรื่องจิตตปัญญา เชื่อว่าคงอีกนานกว่าตัวเลขนี้จะเป็นบวก!!

ทำไมเราขาดดราม่าไม่ได้ เอ็กฮาร์ท โทลลี พูดถึง “เหง้ารันทด” (Pain-body) เป็นปมที่สั่งสมอารมณ์ลบของเราตั้งแต่ในอดีต มันรอวันจะปะทุเมื่อได้รับการกระตุ้นจากแหล่งใดก็ตาม เขายกตัวอย่างเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมคนหนึ่งซึ่งตามปกติเป็นคนใจเย็นและเป็นคนสบาย ๆ เปลี่ยนไปเป็นคนโกรธเกรี้ยวอย่างหยุดไม่อยู่เมื่อนายหน้าขายหุ้นโทรมาแจ้งข่าวร้าย โทลลีบอกว่าในครอบครัวที่ “เงิน” สร้างปัญหาและการทะเลาะเบาะแว้งในบ้านตลอดเวลา อารมณ์ลบเกี่ยวกับเงินจะถูกสั่งสมเข้ามาอยู่ในตัวเราและรอวันที่จะถูก “กระตุ้น” ให้ระเบิดออกมาตามแต่วาระโอกาสที่สุกงอม

เขายังพูดถึงเด็กผู้ชายที่ถูกแม่ทอดทิ้งตั้งแต่เล็กหรือถูกแม่เลี้ยงดูอย่างทิ้งขว้าง เขาจะสั่งสมความระทมทุกข์อย่างมหาศาล เพราะต้องการที่จะได้รับความรักอย่างมากแต่กลับถูกปฏิเสธ ความโกรธเกลียดจึงปูดโปนออกมานัวเนียกับความต้องการได้รับความรัก เมื่อเด็กคนนี้โตขึ้น เขาจะถือว่าผู้หญิงทุกคนคือสมรภูมิรบที่ต้องโรมรันเอาชนะ เขาจะชำนาญการเกี้ยวพาราสีมีเสน่ห์ดึงดูดใจเพศตรงข้าม เขาไม่รู้ว่า“เหง้ารันทด” กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มันโหยหา และเมื่อได้ตามปรารถนาแล้วก็หมดความสนใจและเปลี่ยนเป้าหมายต่อไป หรือมิฉะนั้นก็จะตีโพยตีพายอย่างโกรธเกรี้ยวเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เมื่อไม่จัดการกับเหง้าที่ฝังลึกและเงาที่แฝงเร้น เขาจึงรักใครไม่เป็นเอาเสียเลย

“เหง้ารันทด” ไม่ได้เป็นเพียงปมที่แฝงอยู่ในจิตอย่างไร้พิษสง โทลลีบอกว่ามันยังอาจจะส่งพลังงานออกไปยังคนรอบข้างให้สามารถสัมผัสได้ด้วย ผมเชื่อว่าทุกคนคงเคยเจอว่าบางคนเพียงเดินเข้ามาในประตูก็ทำให้บรรยากาศทั้งห้องเปลี่ยน บางคนอยู่ใกล้แล้วรู้สึกถึง “รังสีอำมหิต” แต่แท้จริงแล้วรังสีนั้นไม่ได้ออกมาจากเขาฝ่ายเดียว มันเกิดมาจากทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ คล้ายกับเมื่อเรานำกีตาร์สองตัวมาวางข้างกันแล้วดีดสายของกีตาร์ตัวหนึ่ง กีตาร์อีกตัวที่วางข้างกันซึ่งตั้งสายเอาไว้เหมือนกันจะเกิดคลื่นกำทอนส่งเสียงที่ความถี่นั้นออกมาด้วย ประเด็นอยู่ที่ต้องตั้งสายให้ตรงกัน หมายความว่าการส่งคลื่นจะไม่สมบูรณ์หากผู้รับไม่มีความสามารถในการรับ ดังนั้นครั้งหน้าเมื่อคุณรู้สึกว่าเดือดร้อนเพราะได้รับรังสีอำมหิตจากใคร ก็อย่าพึ่งไปโทษผู้ส่งเขาเสียฝ่ายเดียว ให้มองเสียใหม่ว่าตัวเราก็มี “เหง้ารันทด” เป็นภาครับสัญญานความถี่หรืออารมณ์นั้นอยู่ในตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

เรื่องการส่งคลื่นระหว่างสิ่งมีชีวิตฟังดูเป็นเรื่องเหลวไหลที่ไร้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ บอกว่าด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เราสามารถวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากหัวใจซึ่งส่งกำลังออกไปได้ไกลในรัศมีถึง ๑๕ ฟุต ซึ่งถ้าเราไม่ลืมว่าแสงอาทิตย์ก็คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง สนามพลังที่ออกจากหัวใจจึงมีความไวเท่ากับแสงเลยทีเดียว ดร.ฟริซ อัลเบิร์ต พอพ (Dr.Fritz Albert Popp) นักชีวฟิสิกส์อ้างว่าในร่างกายคนเรามีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นเป็นแสนครั้งต่อวินาที มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะควบคุมปฏิกิริยาเหล่านั้นด้วยกระบวนการทางเคมี แต่โดยอาศัยอนุภาคโฟตอนเพียงตัวเดียว เราจะสามารถให้ข้อมูลที่เซลล์ต้องการเพื่อจัดการกับกระบวนการทางเคมีจำนวนมหาศาลนั้นได้ทั้งหมด อนุภาคโฟตอนที่พูดถึงก็คือ ‘แสง’ ที่ประพฤติตัวเหมือนกับอนุภาคนั่นเอง

คลื่นความเร็วแสงที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลจากเซลล์หนึ่งไปสู่เซลล์อื่นมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับการส่งผ่านคลื่นระหว่างสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เพียซชี้ให้เห็นถึงความละม้ายคล้ายคลึงของสนามพลังรูปโดนัทที่ส่งออกมาจากสิ่งมีชีวิตกับสนามแม่เหล็กโลก หากเราขยายนัยออกไปจะเห็นว่าสนามพลังที่มีอยู่ในระดับตั้งแต่ระดับเซลล์ ระดับดวงดาว ระดับแกแลกซี่ ไปจนถึงระดับจักรวาล อาจจะมีลักษณะเหมือนกับโฮโลแกรมที่ไม่ว่าจะตัดเสี้ยวส่วนใดมาพิจารณาก็จะเห็นถึงส่วนทั้งหมด เป็น “จักรวาลในหนึ่งอะตอม” หรือเป็นดั่งวาทะของโวลแตร์ที่ว่า “พระเจ้านั้นเปรียบเหมือนวงกลมที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ทุกหนทุกแห่ง ส่วนเส้นรอบวงนั้นเล่าจะปรากฎ ณ ที่ใดก็หามิได้”

เพียซยังค้นพบผ่านกระบวนการฝึกสมาธิแบบฟรีซเฟรมของสถาบันฮาร์ทแมท (Institute of Heartmath) ว่าเมื่อปฏิบัติสมาธิถึงจุดหนึ่งจังหวะการเต้นของหัวใจกับคลื่นสมองจะเข้าสู่รูปคลื่นที่สอดคล้องกันเรียกว่า Entrainment เขาพบว่าการทำงานของสมองจะย้ายจากสมองส่วนหลังมาสู่สมองส่วนหน้า หรือพูดง่าย ๆ ว่าย้ายจากโหมดเอาตัวรอดไปสู่การใช้ปัญญาอันตื่นรู้ หมายความว่าคนนั้นจะไม่เป็นโรค “สมองกดทับใจ” หรือ “ใจกดทับสมอง” แต่ใจกับสมองไปด้วยกันด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว การฝึกปฏิบัติสมาธิที่ทำกันอยู่ในบ้านเราส่วนใหญ่น่าจะให้ผลเช่นเดียวกันโดยอาจไม่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าให้ยุ่งยาก เพราะถ้าปฏิบัติได้ถูกทางจะสังเกตเห็นได้ด้วยตนเองว่า อารมณ์ที่ผ่านเข้ามา “กระตุ้น” เรานั้นมีอิทธิพลต่อเราน้อยลง ส่วน “เหง้ารันทด” และ “เงาในซอกหลืบ” ของเราก็ไม่ชวนเราให้เล่นละครบทโศกดราม่าเคล้าน้ำตาบ่อยจนเกินไปนัก แม้บางครั้งเมื่อเขาส่งบททดสอบมาให้เล่น เราอาจจะตอบปฏิเสธไปเสียก็ยังทำได้ ไม่เหมือนก่อนที่ต้องเล่นไปตามนั้นอย่างไม่มีทางเลือก มิหนำซ้ำยังเล่นด้วยความสะใจอีกต่างหาก

Back to Top