เมษายน 2010

เมื่อพอก็เป็นไท



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2553

คำร้อง คำบ่น คำต่อว่าที่หนาหูทุกวันนี้คือ นักเรียนไม่สนใจจะเรียน อยากได้แต่เกรด พนักงานไม่อยากเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น เราจำต้องหาอุบายหลอกล่อให้คนเหล่านี้ เรียนรู้และเปลี่ยนแปลง คำถามคือจะทำได้อย่างไร ผมคิดว่าคำตอบอยู่ในตัวคนที่ถามมากกว่าอะไรอื่นทั้งหมด

ตอนนี้องค์กรจำนวนมากพยายามฟื้นฟูบรรยากาศการทำงาน ความสัมพันธ์ และความสุขในองค์กร เพราะประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาเชิงเทคนิควิธีเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับปัญหาเชิงจิตใจและความสัมพันธ์ของคนในองค์กรมากกว่า

การเปลี่ยนแปลงองค์กรโดยการปรับโครงสร้างใหม่พบกับความล้มเหลวถึงร้อยละ ๖๐-๗๐ ไม่ใช่เพราะยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ไม่ได้เรื่อง แต่การดูแลมิติด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ขาดความเข้าใจในธรรมชาติที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ ทำให้ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่ออกแบบมาดีด้วยความชำนาญการ ต้องไร้แรงขับเคลื่อนของผู้คนที่เต็มใจจะทำจริงๆ

ผมรู้สึกว่าเราไม่ค่อยให้คุณค่ากับหัวใจของมนุษย์อย่างที่ปากเราว่ากัน ถึงที่สุดแล้วเราสนใจเรื่องความสำเร็จหรือเป้าหมายขององค์กรมากกว่าเป้าหมายชีวิตของผู้คนหรือเปล่า หากไม่ให้ใจ แล้วจะได้ใจได้อย่างไร ก่อนจะคาดหวังความร่วมไม้ร่วมมือจากผู้คน เราได้ให้ใจเราในการรับรู้สิ่งที่พวกเขาให้คุณค่า ให้ความสำคัญ กลัว รัก หรือปรารถนาอย่างแท้จริงหรือเปล่า

ในขณะที่เราคาดหวังให้เขาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อให้ปรับตัวเข้ากับเหตุปัจจัยใหม่ๆ ได้อย่างทันท่วงทีนั้น เราได้ใส่ใจกับความยากลำบากที่พวกเขาต้องประสบจริงๆ บ้างหรือไม่ เราอยากให้ผู้นำในระดับต่างๆ คิดใหม่ทำใหม่ แต่เรากลับอัดฉีดภาระงานให้พวกเขาหนักขึ้น ต้องการความรวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น จนไม่มีเวลาในการคิดใคร่ครวญ หรือได้แลกเปลี่ยนจากกันและกันจริงๆ นอกเหนือจากการประชุม “จัดการความรู้” ที่ไม่ค่อยจะได้อะไรมากไปกว่าการ “โชว์ความรู้ด้วยคำอธิบาย” ต่างๆ

ดังที่ มาร์กาเร็ต วีทลีย์ ได้เขียนไว้ในหนังสือเกี่ยวกับความเป็นผู้นำในกระบวนทัศน์ใหม่ว่า “ความรู้ตัว และการใคร่ครวญนั้น นับวันจะมีความสำคัญต่อการเป็นผู้นำยิ่งขึ้นเรื่อยๆ บางบริษัทถึงกับสร้างที่ทางใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดการสนทนา สร้างพื้นที่ในการคิด และใคร่ครวญ รวมทั้งโอกาสในการเขียน การสร้างนวัตกรรมเหล่านี้สวนทางกับนิสัยแบบต้องการคำตอบอย่างรวดเร็วและการตัดสินใจที่เร่งรีบจนแทบไม่มีเวลาหายใจ บ่อยครั้งที่นวัตกรรมดีๆ ล้มเหลวเพราะความต้องการผลตอบรับที่รวดเร็วเกินไป จนทำให้คนในองค์กรไม่มีเวลาบันทึกความคิดที่เกิดขึ้น หรือไม่มีเวลานั่งสนทนากันอย่างฉันท์มิตร

เราเผชิญหน้ากับความจริงที่ยากลำบากที่ว่า จนกว่าเราจะมีเวลาสำหรับการใคร่ครวญและมีพื้นที่ในการคิด เราจะไม่มีทางสร้างความรู้ หรือเข้าถึงความรู้ที่มีอยู่ได้ เราไม่ปฏิเสธความจำเป็นของการสร้างความรู้ หากแต่มันต้องอาศัยเวลาและความสัมพันธ์ในการเจริญเติบโต”

บางทีความอยากเปลี่ยนแปลงมันท่วมท้นมากเสียจนล้มทับการมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและมีชีวิตชีวาอย่างยิ่งในปัจจุบันไป หากเราไม่รีบร้อนที่จะเอามาตรฐานหรือเกณฑ์ของตัวเองไปชี้วัดเสียก่อน เราอาจเห็นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในผู้คนของเรา หรือที่เราเกี่ยวข้องด้วย การให้เกียรติและเห็นคุณค่าชีวิตของผู้คนในองค์กรหรือในระบบ มีความสำคัญต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาก

ในช่วงนี้มีข่าวคราวการปฏิรูปการศึกษาระลอกที่ ๒ ออกมาท่ามกลางกระแสการเมืองที่เข้มข้น ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย รู้สึกว่าเราจะเป็นห่วงกันมากว่าเด็กไทยจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานกันกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงว่า ชีวิตของเด็กเหล่านี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร พึ่งพาตัวเองและเห็นคุณค่าของตัวเองได้หรือไม่ แล้วครูบาอาจารย์ทั้งหลายล่ะ ต้องวิ่งไล่ตามนโยบายการปฏิรูปอีกมากมายเท่าไร

คุณครูจากจังหวัดอุบลราชธานีคนหนึ่ง เล่าให้ผมด้วยความภูมิใจว่า โรงเรียนของเขาอยู่ชายขอบ อยู่ในระดับล่างๆ เด็กเรียนอ่อนส่วนใหญ่จะมาเข้าเรียนที่นี่ แต่สิ่งที่เด็กที่นี่เก่ง คือการหาปูหาปลา การหากินจากธรรมชาติ บางทีครูก็ออกไปหาอาหารกับเด็ก สนุกมาก ความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม ผมฟังเรื่องราวนี้อย่างชื่นชม เพราะนอกจากตัวเองไม่มีทักษะการหากินเองจากธรรมชาติแล้ว ยังไม่ค่อยมีเวลากับเรื่องพื้นฐานแต่สำคัญ คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอีกด้วย แต่ไม่ทันไร คุณครูก็เล่าต่อว่า แต่พอนโยบายยกระดับมาตรฐานการศึกษาเข้ามา ตอนนี้ต้องติวเด็ก “หัวอ่อน” เหล่านี้ให้สอบผ่าน ก็เลยอยู่แต่ในห้องเรียน ทั้งครูทั้งนักเรียนไม่ได้ไปไหนกันเหมือนเคย

ผมฟังดูแล้วก็เศร้า แม้จะเข้าใจว่าทางกระทรวงการศึกษาคงมีหน้าที่ยกระดับ “มาตรฐาน” การศึกษาให้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเอาการทดสอบของประเทศเป็นเกณฑ์ แต่ก็น่าจะตั้งคำถามว่า เป้าหมายสูงสุดของเราคืออะไร เราต้องการให้เด็กเติบโตมาเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน และการยกระดับ “มาตรฐาน” นั้น มันคือการพัฒนา “คุณภาพ” การศึกษาที่มีหัวใจ คือคุณภาพของมนุษย์หรือไม่

การศึกษาแบบแพ้คัดออกหรือแข่งขันอย่างนี้ ใครทำแบบฝึกหัดได้มากกว่าก็ย่อมสอบได้มากกว่าเป็นธรรมดา เด็กที่มีเวลาทำแบบฝึกหัด คือเด็กที่ไม่ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากินหรือทำงานบ้าน พ่อแม่มีเงินก็ส่งไปเรียนกวดวิชา บางคนถึงกับเรียนตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึง ๔ ทุ่ม การแข่งขันแบบนี้เด็กชนบทจำนวนไม่มากนักหรอกที่จะผ่านเข้ารอบขึ้นไปเป็นหัวกะทิได้ ส่วนหางกะทิก็เตรียมน้อมรับกับความ “ด้อยกว่า” การสูญเสียความรู้สึก “เท่าเทียมและความภาคภูมิใจ” ในจุดแข็งของตัวเอง และยิ่งระบบเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่นี้ โอกาสที่เด็กชนบทจะแข่งขันหางานกับเด็กเมืองก็อาจน้อยลงไปด้วย

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว การศึกษาจะช่วยตระเตรียมให้คนไปพ้นการแพ้หรือชนะ จะเตรียมคนให้มีความภูมิใจกับถิ่นฐานและสัมมาอาชีวะของตัวเอง เห็นคุณค่าของแผ่นดินและธรรมชาติ เป็นผู้นำในการดำรงรักษาวิถีชีวิตที่พึ่งตัวเองอย่างเป็นไทแท้ๆ ได้อย่างไร แน่นอนว่าเราควรเลิกกะเกณฑ์ให้ใครต้องโตไปเป็นอะไร เด็กบ้านนอกสักคนอาจอยากเป็นหมอหรือนักเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ ในขณะที่เด็กอีกคนอาจอยากเอาดีทางการเกษตรตามรอยพ่อแม่ของตัวเอง แต่ถ้าใช้มาตรฐานทางการศึกษาที่วัดคนเพียงส่วนเดียวอย่างนี้ ก็คงชัดเจนว่าเด็กที่จะเอาดีด้านการเกษตร ถ้าเรียนวิชาคำนวณหรือภาษาอังกฤษไม่ดีขึ้นมา ก็จะถือว่าตกเกณฑ์ได้

เราจะพัฒนาการศึกษาไปสู่ความพอเพียงได้อย่างไร และการพัฒนายกระดับมาตรฐานการศึกษา จะไม่ทำลายหรือบั่นทอนระบบคุณค่า วิถีชีวิต และสัมมาอาชีวะที่มีรากฐานมั่นคงในชุมชนของเด็กนักเรียนได้อย่างไร นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวว่า ถ้าเราสร้างทางเลือกโดยให้คุณค่ากับการพัฒนาไปข้างหน้าแบบเข้าเมืองพอๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอยู่กับที่ เราอาจได้เห็นคนไทยยุคใหม่เท้าติดดิน และมีเสถียรภาพในชีวิต อย่างพอเพียง และมั่นคงยิ่งขึ้นก็เป็นได้ อย่างไรเสียแผ่นดินของเราคงก็คงจะน่าไว้ใจได้มากกว่าตลาดโลกที่กระเพื่อมไปมาทุกวันนี้

สามานย์หรือสามัญ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 เมษายน 2553

ปกติที่ผ่านมา คนใกล้ชิดของผมคือ เม (เมธาวี เลิศรัตนา) จะไม่เข้าร่วมในเวิร์คชอปต่างๆ ที่ผมจัดขึ้น แต่ช่วงหลังมา พวกเราปฏิบัติในสิ่งที่ได้เรียนรู้ทางทฤษฎีมากขึ้น และเธอมีความสุขขึ้นที่จะเข้าร่วมในเวิร์คชอปบ้าง ครั้งหนึ่งเธอเข้าร่วมได้โดยตลอด และได้ผ่านประสบการณ์ที่มีคุณค่าสองคราว

คราวแรก คือการมายืนหรือการมาเข้าทรงของตัวตนหนึ่ง ตัวตนนี้จะเห็นควอนตัมฟิสิกส์เป็นสุดยอดขององค์ความรู้ และเรื่องราวอื่นๆ ไม่ได้เรื่องทั้งหมด

คืนนั้นเป็นคืนที่สามของเวิร์คชอป ผมชวนผู้เข้าร่วมให้ทบทวนว่า แต่ละคนได้อะไรจากเวิร์คชอปบ้างหรือไม่ได้เลย บางครั้งอาจจะมีสุ้มเสียงของบางคน คล้ายกับกล่าวว่านั่งมากไป องค์ความรู้ก็เป็นฝรั่ง คล้ายกับจะบอกว่ามีแบบไทยๆ บ้างไหม? แต่ส่วนใหญ่ของวงจะสะท้อนออกมาด้านบวก มีน้อยคนที่อาจจะสะท้อนออกมาด้านลบเป็นบางเรื่อง ส่วนเมบอกว่า เรื่องลบๆ เหล่านี้ไปกระตุ้นตัวตนตัวนี้ของเธอเข้า แต่ที่สำคัญคือมันผิดแปลกไปกว่าคราวก่อนๆ คือเธอไม่ได้เข้าไปอยู่กับตัวตนนี้แบบเต็มร้อย อาจจะเพียงร้อยละ ๕๐-๖๐ กระมัง เธอบอกว่ามีอีกตัวหนึ่งที่ตามรู้อยู่ เห็นอยู่ ผลกระทบของตัวตนนี้จึงเพลาลงไปกว่าที่เคยมีมาเป็นมาในอดีต ซึ่งจะเข้ามาเป็นวันๆ และทำให้เธอป่วยอย่างมาก แต่คราวนี้ มันเพียงทำให้เธอปวดหัวเล็กน้อย และเธอยังนอนหลับในค่ำคืนนั้นได้

คราวที่สอง เช้าวันที่สี่ของมหกรรมกระบวนกรครั้งที่ ๑๕ ในการพูดคุยบอกเล่าวิถีชีวิตและการเรียนรู้ฝึกฝนตนเพื่อจะได้เป็นกระบวนกรที่เก่งกล้าสามารถ เมได้ฟังเรื่องราวโดยเฉพาะของ มนตรี ทองเพียร สองเรื่องที่โดนใจมากๆ เรื่องแรกคือ “น้ำ” ลูกสาวของมนตรีโพล่งออกไปกลางวงว่า พ่อยังฟังเธอไม่ดี ในขณะที่พ่อกำลังสอนเรื่องการฟังอยู่ แล้วอีกเรื่องหนึ่ง มนตรีบอกว่า เขาทำงานในระดับใหญ่ ระดับมหภาค คิดว่าทำเรื่องใหญ่แล้ว เรื่องเล็กๆ จึงละเลยไป ทำให้เมปิ๊งขึ้นมา เข้าใจขึ้นมาว่า ทำไมเราถึงต้องทนนั่งฟังเรื่องน้อยใจ เรื่องอิจฉา เรื่องกิน ขี้ ป.. นอน ที่ผมใช้คำว่า “สามานย์” ทำไมเธอต้องกลับมาฟังซ้ำฟังซาก เธอฟังพวกร้านห้องนั่งเล่น ฟังคนรอบๆ ตัว แล้วยังต้องมาฟังปัญหาเรื่องลูก เรื่องคนทำงาน เรื่องผัวเมีย ของผู้เข้าร่วมที่เพิ่งจะรู้จักกันอีกหรือ? จี๊ดทุกครั้ง เมื่อก่อนไม่เคยเห็นอะไรเลย แต่แล้วคราวนี้ เกิดปิ๊งกระบวนการขึ้นมา เกิดความเข้าใจว่า มันคงจะเกี่ยวกับควอนตัม เพราะควอนตัมคือการย่อยลงไปในระดับอนุภาคส่วนย่อยที่สุด แล้วแสดงพฤติกรรมหลากหลายมากๆ ทั้งซ้ำและไม่ซ้ำเต็มไปหมด สิ่งที่บรรดานักฟิสิกส์มักจะพูดกันคือ สามารถพูดได้ว่า “ไม่มีใครสามารถเข้าใจเรื่องควอมตัมได้จริง” เธอเองก็พูดว่า “เมไม่รู้เรื่องควอนตัมจริงๆ แต่เป็นการพูดตามนักฟิสิกส์ทฤษฎี เมไม่ได้พูดในมิติเดียวกับเขา เมพูดในมิติที่ตัวเองไม่รู้ เพื่อไม่ให้ใครเข้ามาแทรกแซงติติงในส่วนที่เมไม่รู้ คือพูดเพื่อปกป้องตัวเอง”

ในเช้าวันนั้น อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น และเป็นเงาสะท้อนซึ่งกันและกันด้วย คือ ยิ่ง (อิสรา วังวิญญู) คุยเรื่อง “สามทับแปด” คือโครงการที่พวกผมไปรับเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงเรียนเทศบาลนครขอนแก่นสองแห่ง ยิ่ง น้ำ แก่น และโต๋ ไปช่วยกันลองอยู่กับเด็กห้องบ๊วย ที่ปกติคือเด็กเกเร ยิ่งบอกว่า หากเราไปทำงานกับเด็กสามทับแปดแล้วผลที่ได้คือ พวกเขาเข้าห้องเรียนกันมากขึ้นเพียงเท่านั้น การทำงานของยิ่งกับคณะก็เป็นเพียงความสามานย์ เพราะมันต้องมีอะไรมากกว่านั้น

ผมเองบอกว่า หากไม่มีความสามานย์หรือสามัญ เราจะก่อเกิดสิ่งพิเศษได้อย่างไร ผมคิดถึงคำว่า transcend and include หรือ ข้ามพ้นแต่ปนอยู่ คือเรายังคงจะต้องคงความสามานย์เอาไว้ด้วย และสร้างสิ่งวิเศษเพิ่มเติมเข้ามาด้วย เวลามีวิวัฒนาการ เราไม่ได้ทิ้งของเก่าไป แล้วเอาแต่ของใหม่เข้ามา แต่ของเก่าก็ยังอยู่ เรารวบเอาของเก่าเข้ามาไว้ในของใหม่ ยกตัวอย่างเรื่องสมองสามชั้นเป็นต้น ที่สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้รวบเอาสมองสัตว์เลื้อยคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เข้ามาเป็นระบบปฏิบัติการ (operating system) ให้มันด้วยเป็นต้น เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำให้เด็กในห้องสามทับแปดมาเรียนกันอย่างครบครัน ก็เป็นพื้นฐานที่ดีที่จะทำให้เราทำอะไรได้มากขึ้น แต่หากเราทำเพียงเท่านั้น มันก็เป็นเพียงความสามานย์เท่านั้น แต่หากทำเพื่อเป็นรากฐานให้ได้ทำอะไรที่มีความหมายมากขึ้น ความสามานย์จึงกลายมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

ผมคุยสนุกๆ ว่า หากพ่อแม่เราไม่กิน ขี้ ป.. นอน แล้วเราจะก่อเกิดมาได้อย่างไร แล้วจะมีคนมาฝึกปฏิบัติธรรมอันล้ำเลิศ หรือมาทำงานเพื่อสังคมล่ะหรือ?

แต่ที่สำคัญคือ หากเราทำอะไรใหญ่ๆ โตๆ ก็อย่าลืมการเป็นเพื่อนร่วมเดินทางกับคนที่ใกล้ชิด มิฉะนั้นสามัญจะกลายเป็นสามานย์

พายเรือกลางสายฝน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 เมษายน 2553

บางครั้ง... เรื่องจริงก็ดูเหมือนนิทาน

บางครั้ง... นิทานก็เหมือนจะเป็นเรื่องจริง

ครั้งหนึ่ง... เหตุเกิดในประเทศแถวยุโรป ในเมืองที่มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน มีมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยเฉพาะทางที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น สาขาคอมพิวเตอร์

เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในหน่วยวิจัย ซึ่งประกอบด้วยศาสตราจารย์ นักศึกษาปริญญาเอกที่เป็นผู้ช่วยสอน นักศึกษาปริญญาโทที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ และนักศึกษาฝึกงาน ราวสิบกว่าคน เมื่อถึงวันหยุด ก็มีการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ ให้ไปพายเรือร่วมกัน

พวกนี้เป็นโปรแกรมเมอร์สมองไบรต์ งานของพวกเขาก็คือการนั่งอยู่กับคอมพิวเตอร์ และอยู่กับภาษาแปลก-แปลก คุยและสบถอยู่คนเดียวหน้าจอ ไม่ค่อยได้พูดจากับคนที่มีอาการคล้ายกันที่นั่งอยู่ข้าง-ข้าง ได้คุยกันบ้างในการประชุมสัปดาห์ละหน การจัดกิจกรรมนอกสถานที่ ช่วยทำให้พวกเขาได้มาเจอหน้ากัน คุยกันในเรื่องอื่นของชีวิต และได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพด้วย หน่วยวิจัยจะได้มีบุคลากรที่ฉลาด มีมนุษยสัมพันธ์ดี และร่างกายแข็งแรงไง

เมื่อไปถึงท่าเรือ ก็มีเรือรออยู่แล้ว เรือนี้เป็นเรือท้องถิ่น เรียกว่า เรือมังกร ลำตัวของเรือยาวคล้ายเรือยาว เพราะฉะนั้นจะนั่งกันได้หลายคน และช่วยกันพาย เหมือนเรือยาวนั่นแหละ

ต่างคนต่างหยิบเสื้อชูชีพขึ้นมาสวม โดยไม่ต้องให้ใครมาบอก ไม่มีใครทำเท่ห์บอกว่าตัวเองว่ายน้ำแข็ง หรือสละเสื้อชูชีพให้คนอื่นใส่ ก็ประเทศนี้ ชีวิตมีราคาแพง และจำนวนเสื้อก็เตรียมไว้พอดีคนนี่นะ

ใส่เสื้อชูชีพเสร็จ ทุกคนก็ก้าวลงเรือ แบ่งที่นั่งกัน นั่งประจำตำแหน่งหันหน้าไปทางเดียวกันพร้อมพรัก จับพาย รอว่าเมื่อไหร่จะออกเรือเสียที – น่าตื่นเต้น จะได้พายเรือ

สักประเดี๋ยว เจ้าของเรือก็เดินมาที่ท่า เขาปรบมือเรียกชาวคณะขึ้นมาบนบกก่อน อย่าเพิ่งรีบ มีอะไรบางอย่างที่ผมอยากถามพวกคุณ

ทุกคนขมีขมันขึ้นมาจากเรือ เอาล่ะ รีบถามมา จะได้ตอบ จะได้ไปกันเสียที สายแล้ว

เจ้าของเรือถามว่า มีใครเคยพายเรือมังกรแล้วบ้าง

ทุกคนส่ายหน้า

เอาล่ะ งั้นพวกคุณควรจะทราบว่า เมื่อกี๊ พวกคุณนั่งหันหน้าไปผิดทางนะครับ ทีนี้ ลงไปที่เรือได้

เหล่าโปรแกรมเมอร์ที่มั่นใจ กระฉับกระเฉง ว่าง่าย และยอมรับในความไม่รู้ของตน ก็ลงไปบนเรืออีกครั้ง – คราวนี้ นั่งหันหน้าไปทางเดียวกันเหมือนเดิม แต่ในทิศตรงข้ามกับคราวแรก แล้วก็เริ่มพาย

ชั่วโมงแรก อากาศเย็นสบาย สายน้ำราบเรียบ ทิวทัศน์สองข้างทางเขียวไปด้วยต้นไม้และเนินเขาที่ปลูกองุ่นทำไวน์ ทีมพายเรือหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส

ชั่วโมงที่สอง อากาศเย็นสบาย แม่น้ำไหลเร็วขึ้นนิดหน่อย ทิวทัศน์ก็ยังเหมือนเดิม ทีมพายเรือก็ยังพายไปคุยกันไป

ชั่วโมงที่สาม ทิวทัศน์ยังเหมือนเดิม เมฆบนฟ้าเริ่มก่อตัวหนาแน่น แล้วก็หยดเป็นเม็ดฝนลงมาเปาะแปะ และก็กลายเป็นเทลงมาแบบเม็ดเบ้อเริ่มเทิ่ม ทีมพายเรือมีแต่เสื้อชูชีพ ไม่มีเสื้อฝน ไม่เห็นใครบอกเลยนี่ ว่าฝนจะตกตอนพายเรือด้วย

อยู่-อยู่ เรือก็แล่นช้าลง – เอ เรือนี่ ไม่ใช่รถ ฝนตก ทำไมถึงแล่นช้าลง หันหลังไป ผู้คนสี่ห้าคนหยุดพายไปแล้ว

เฮ้ เลิกพายทำไม ช่วยกันพายสิ หัวเรือตะโกนถาม

ก็ฝนมันตกนี่ ท้ายเรือตะโกนตอบตามตรรกะ ไม่ได้ขี้เกียจนะ แต่ฝนมันตก ใครเขาพายเรือกลางฝนกัน

เงยหน้ามองบนฟ้า ไม่มีวี่แววว่าฝนจะหยุดภายในห้านาทีหรือสิบห้านาทีเลย เป็นฝนห่าใหญ่จริง-จริง

มองไปด้านหลัง มีแต่น้ำ ขับเลยท่าปล่อยเรือมากว่าชั่วโมงแล้ว จะพายกลับก็คงหลบฝนไม่ได้

มองไปด้านหน้า มีแต่น้ำ ท่าเรือข้างหน้าก็ต้องพายอีกสองชั่วโมง

มองด้านซ้ายด้านขวา มีแต่ต้นองุ่น กับทุ่งหญ้า ไม่มีที่ไหนจะให้ร่มเงาหลบฝนได้เลย

ฝนตกแล้วหยุดพายเรือก็เปียกฝนอยู่ดี เสียงหนึ่งตะโกนบอกแข่งกับสายฝน

พวกเรามีแต่ต้องพายไปให้ถึงจุดหมายเท่านั้นแหละ ทั้ง-ทั้งที่ฝนตก ตัวเปียก และหนาวสั่นอย่างนี้นี่แหละ อีกเสียงหนึ่งตะโกนเสริม

และแล้ว เหล่าโปรแกรมเมอร์ที่มั่นใจ กระฉับกระเฉง ว่าง่าย ยอมรับในความไม่รู้ของตน และเข้าใจอัลกอริทึมในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของชีวิตเบื้องหน้าขณะนั้น – ก็ช่วยกันพายเรือต่อไป

หลายครั้งในชีวิต... เมื่อนั่งบนเรือลำเดียวกัน หันหน้าไปทางเดียวกัน พวกเราก็อาจหันหน้าไปผิดทาง

หลายครั้งในชีวิต... ความผิดพลาดแก้ไขได้ และไม่มีอะไรต้องเสียหน้าด้วยในการทำสิ่งที่ถูกกว่า

หลายครั้งในชีวิต... อุปสรรคก็เข้ามาหาเหมือนฝนที่สาดซัดเข้ามาทุกทิศทาง ไม่มีเสื้อกันฝน ไม่มีที่หลบฝน มีแต่เสื้อชูชีพ พายที่อยู่ในมือ คนที่นั่งอยู่ในเรือลำเดียวกัน และท่าเรือข้างหน้าที่ต้องไปให้ถึง

หลายครั้งในชีวิต... เรือของพวกเราก็อาจจะแล่นช้าลงไปบ้าง หยุดไปบ้าง เพราะความเข้าใจและตรรกะไม่ตรงกัน เมื่อพูดจากัน สื่อสารกัน เห็นข้อจำกัดในขณะนั้นร่วมกัน ก็ย่อมจะช่วยกันหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการกลับไปสู่เป้าหมายเดิมตั้งแต่แรก – นั้นคือ การไปสู่ท่าเรือเบื้องหน้าให้ได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวไม่น่าอภิรมย์เพียงใด

บางครั้ง... เรื่องจริงก็ดูเหมือนนิทาน

บางครั้ง... นิทานก็เหมือนจะเป็นเรื่องจริง

การศึกษาเปี่ยมสุขของภูฏานกับวุฒิภาวะทางจริยธรรมของเด็กไทย



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 เมษายน 2553

เป็นข่าวกันไปพักหนึ่งกับข้อสอบโอเน็ต (O-NET) ของปี ๒๕๕๓ ที่ถามผู้สอบว่า

ข้อใดเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้ดีที่สุด
ก. หยุดเรียนไประยะหนึ่งเพื่อคลอดลูก
ข. ทำแท้งเพราะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้
ค. ลาออกจากโรงเรียนแล้วหางานทำเพื่อลูก
ง. แจ้งความเพื่อหาผู้รับผิดชอบ

คำถามในลักษณะนี้เป็นการประเมินคุณค่าทางจริยธรรมและคุณธรรม เป็นคำถามที่ไม่ได้มีข้อที่ “ถูก” เพียงคำตอบเดียว ไม่เหมือนกับคำถามที่มีคำตอบแน่นอนในวิชาคณิตศาสตร์ เช่น ๑+๑ = ๒ แต่สังคมไทยของเรากำลังจะกลายเป็นสังคมที่หมกมุ่นในการประกอบสร้างความเป็นเอกภาพเสียจนไม่อาจจะยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เราต้องการความชัดเจนแต่หยาบมากกว่าความคลุมเครือที่ประณีต คำตอบของคำถามซึ่งควรจะใช้รูปแบบอัตนัยจึงกลายเป็นแบบปรนัย ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมเรากลายเป็น “สังคมปรนัย” ไปเรียบร้อยแล้วคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

ผมเพิ่งเสร็จจากการแปลเอกสารที่ผมตั้งชื่อให้เป็นไทยว่า “ระบบการศึกษาเปี่ยมสุข” ซึ่งแปลจาก A Proposal for GNH Value Education ของ การ์มา อุระ ผู้อำนวยการศูนย์ภูฏานศึกษาในเมืองธิมพู เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญของภูฏานในการขับเคลื่อนเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ คุณการ์มา อุระ พบว่าหลังจากที่ GNH ได้ถูกบรรจุเข้าไว้เป็นวาระแห่งชาติภูฏาน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐยังมิได้เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรมและสอดประสานกันเท่าที่ควร เขาจึงหันมาให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาซึ่งสำหรับเขามันคือแกนกลางสำคัญในการพลิกเปลี่ยนประเทศอย่างยั่งยืน เขาเริ่มศึกษาวิจัยโดยการอ่านหนังสือตำราเรียนวิชาสังคมศึกษาของเด็กนักเรียนชั้น ๔ ถึง ๑๐ (ประถม ๔ ถึง มัธยม ๔ ของบ้านเรา) ไปจำนวนทั้งสิ้น ๒๗ เล่ม คิดเป็นจำนวนหน้าได้ประมาณ ๓,๘๐๐ หน้า เขาให้ความสำคัญกับตำราเรียนเนื่องจากไม่มีเวลาที่จะเดินทางไปศึกษาการเรียนการสอนจากในโรงเรียนจริงๆ และเขาก็เข้าใจด้วยว่าถึงแม้ว่าตำราเรียนจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน แต่สิ่งที่อยู่ในตำราก็มีส่วนกำหนดทิศทางของการเรียนการสอนอยู่ไม่น้อย

คุณการ์มา อุระ ค้นพบว่าตำราเรียนของภูฏานเกือบทั้งหมดมีลักษณะในการปลูกฝังจริยธรรมและคุณธรรมโดยอาศัยการ “สั่งสอน” และการใช้ “ศรัทธา” เสียเป็นส่วนใหญ่ เขายกตัวอย่างเรื่องเล่าที่ถูกนำมาเสนอในตำราเรียนมีเนื้อหาที่อุดมไปด้วยเรื่องปาฏิหาริย์ หรือเป็นนิยายปรัมปราซึ่งยากที่ผู้เรียนจะนำมาปรับใช้กับปัญหาทางจริยธรรมที่ต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนการสั่งสอนให้เชื่อฟังคำสั่งของผู้มีอำนาจ ก็ถูกเน้นย้ำราวกับว่าเป็นกฎเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องปฏิบัติตามโดยไม่อาจจะตั้งคำถามได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ การ์มา อุระ เห็นว่าการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในรูปแบบที่ทำมา เป็นการสอนให้เชื่อตามไปอย่างเซื่องๆ ไม่ได้ฝึกให้เด็กคิดเป็น ตั้งคำถามได้ หรือมีวิจารณญานนั่นเอง

สำหรับผม ความคิดแบบที่ใช้วิจารณญาณ (Critical Thinking) นั้น จับมือจูงไปกับความคิดแบบกระบวนระบบ (System Thinking) คุณการ์มา อุระ บอกว่าหนังสือเรียนสุขศึกษาสอนให้เด็กรู้จักดื่มน้ำที่สะอาด และหลีกเลี่ยงน้ำดื่มที่สกปรก แต่การให้ข้อมูลก็จบลงที่ตรงนั้น มิได้ขยายเชื่อมโยงไปว่าเพราะเหตุใดน้ำในแหล่งน้ำจึงเกิดการเน่าเสีย ไม่ได้ท้าทายเยาวชนให้คิดถึงการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัยต่างๆ ในเชิงโครงสร้างอันก่อให้เกิดมลภาวะในแม่น้ำลำคลอง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือนโยบายของรัฐในการควบคุมมลภาวะ ฯลฯ เมื่อไม่ได้ทำเช่นนั้น หน้าต่างของการเรียนรู้ที่กำลังแง้มเปิดออกก็ต้องถูกปิดลงอย่างน่าเสียดาย และเมื่อไม่ได้ฝึกกระบวนการคิดโดยแยบคาย การบ่มเพาะทางปัญญาก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อปัญญาไม่แก่รอบและหยั่งลง โอกาสที่เด็กและเยาวชนจะสั่งสมวุฒิภาวะทางปัญญาเพื่อรับมือกับปัญหาที่ล่อแหลมเชิงจริยธรรม (Moral Dilemmas) สมดังเจตนารมณ์ของผู้ออกข้อสอบโอเน็ตก็เป็นไปได้ยาก

ผมคาดว่าผู้สอบข้อสอบโอเน็ตต้องการที่จะวัดว่า เด็กและเยาวชนไทยมีวุฒิภาวะทางคุณธรรมและจริยธรรมมากน้อยเพียงใด แต่การวัดการประเมินเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องยากและท้าทาย หากเราต้องการให้เด็กของเรามีความเข้มแข็งทางจริยธรรม เราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เผชิญกับแบบฝึกหัดที่ท้าทายความคิดและความรู้สึกของเขาด้วย การ์มา อุระ ชี้ให้เห็นว่า ในแบบเรียน เรามักจะรีบให้ข้อสรุปหรือหยิบยื่นคำตอบอย่างผลีผลามจนเกินไป ไม่ทอดเวลาให้เด็กได้ใช้ความคิดในการใคร่ครวญพิจารณาด้วยตนเองเลย ลักษณะนี้ก็คงไม่ต่างจากการศึกษาของบ้านเรานัก เพราะเรามักจะคุ้นชินกับการลดทอนเรื่องราวที่มีความซับซ้อนเชิงจริยธรรมให้กลายเป็นเรื่องที่มีประเด็นคำตอบเพียงคำตอบเดียว ข้อสรุปที่มักจะขึ้นต้นว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า... ” นั้นเป็นการสอนสั่งที่เก่าแก่คร่ำคร่าที่น่าจะได้รับการทบทวน เพราะเด็กหลายคนได้อะไรมากกว่านั้นจากการเล่านิทาน เพราะเราไม่ได้ฟังนิทานเพื่อต้องการเพียงข้อสรุปท้ายเล่มเท่านั้น

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมได้เห็นความพยายามของหน่วยงานราชการที่พยายามทำงานเชิงคุณธรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การทำงานเชิงคุณธรรมบ่อยครั้งคือการยัดเยียดคุณธรรมลงสู่ตัวเด็กโดยมิได้ให้เขาเกิดความเข้าใจกระจ่างแท้ด้วยตนเอง กลายเป็นการศึกษาแบบยัดทะนาน (Banking Education) ซึ่งเมื่อเจอกับปัญหาที่ท้าทายในโลกสมัยใหม่ เจอกับความยั่วยวนของเรื่อง กิน กาม เกียรติ เด็กก็มีสิทธิที่จะโดนหมัดน๊อคตั้งแต่ยกแรก เรื่องจริยธรรมและคุณธรรมเป็นปัญหาปลายเปิด มีความซับซ้อนอย่างวิจิตร แต่โชคยังดีที่มนุษย์เราถูกออกแบบมาให้สามารถจัดการกับความซับซ้อนได้ด้วยตนเองโดยการสั่งสมปัญญา ซึ่งแท้จริงก็คือการฝึกอวัยวะทางจิตให้เกิดมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะรับความซับซ้อนของเรื่องราวภายนอกที่เข้ามากระทบได้ โดยไม่กระเทือน

จากคำถามเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยเรียนที่ยกมาตอนต้นบทความ เห็นได้ว่าระบบการศึกษาของเรายังไม่เก่งในการเปิดพื้นที่ให้กับความซับซ้อนเชิงจริยธรรม และลึกๆ แล้วเราขาดความอดทนที่จะทอดเวลารอคอยให้เด็กๆ และเยาวชนค่อยๆ งอกงามขึ้นตามวาระของเขา เราไม่อยากให้เด็กของเราชิงสุกก่อนห่าม แต่เรากลับชิงให้คำตอบสำเร็จรูปกับเด็กก่อนที่เขาจะได้ใช้เวลาคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง หรือที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเด็กบางคนคิดหาคำตอบมาได้ด้วยตัวเอง เรากลับไม่ยอมรับในคำตอบนั้น เราทรยศต่อความซื่อสัตย์ในความรู้สึกของเขาด้วยความ “จ้องจะเอา” แต่คำตอบที่ถูกของเรา

การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของเราให้รองรับความซับซ้อนเชิงจริยธรรม ทำได้โดยแก้ไขให้มีกระบวนการเรียนรู้ปลายเปิดแบบบูรณาการอยู่ในระบบการศึกษาของเรา เช่นการละคร ทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์งานละคร การชมละครและการวิจารณ์ละคร โดยเฉพาะการละครร่วมสมัยที่เปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กและเยาวชนทั้งในมิติของสุนทรียภาพและกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ หรือกิจกรรมการทำโครงงานค้นคว้าตามความสนใจของเขา ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การประกวดแข่งขันกันเพียงอย่างเดียว การทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตาม กระบวนการจะต้องมาก่อนเนื้อหา เพราะสารัตถะอันละเอียดซับซ้อนไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยกระบวนการที่หยาบ ถ้าหากเชื่อตามนี้ เราก็ควรจะวัดและประเมินความงอกงามของคนจากกระบวนการที่เขาใช้ในการเรียนรู้ การประเมินต้องกลายเป็นกระบวนการที่ละเอียดประณีต ที่ต้องอาศัยการเฝ้าสังเกตและทำงานกับเด็กอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องผ่านระยะเวลายาวนาน เรื่องนี้เมื่ออรรถาธิบายดูเป็นเรื่องยาก แต่แท้จริงมีอยู่ในภูมิของแผ่นดินเราอยู่แล้ว เช่นเรื่องการฝึกโขน ฝึกรำ เด็กผู้ชายต้องถูกให้ฝึกเต้นเสา ถีบเหลี่ยม เด็กผู้หญิงให้ฝึกรำแม่บทเล็ก ทั้งหมดนี้จะอยู่ในสายตาครูเสมอ อยากรู้ว่าเด็กเป็นอย่างไรถามเอาที่ครูก็ได้ แต่การประเมินสมัยใหม่ได้ยกเรื่องการประเมินให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานกลางซึ่งครอบลงอีกที ด้วยมาตรฐานสากลที่ถูกตั้งโปรแกรมมาจากกระแสโลกาภิวัตน์

ทุกอย่างอยู่ที่เราว่าจะตัดสินใจก้าวไปข้างหน้าอย่างไร หากจะเอา Best of Both Worlds คงเป็นไปไม่ได้ เพราะหลักปรัชญาของความพอเพียงกับการบริโภคที่ไร้ความยับยั้งชั่งใจคงไปด้วยกันไม่ได้ หากจะให้ย้อนกลับไปหาอดีตอันแสนสุขก็คงไม่ได้อีก หนทางเลือกอันสุดท้ายอาจจะเป็นการก้าวไปข้างหน้าสู่รากเหง้าของเราเอง (Forward to the Roots)

Back to Top