กรกฎาคม 2010

คุยข้ามพรมแดน กับ คนตัวเล็กที่เปลี่ยนแปลงโลก



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2553

หลังจากวิกฤติราชประสงค์ ต้องนับว่าสังคมไทยตื่นตัวและเรียนรู้มากขึ้น แม้หลายคนจะกลับคืน สู่วัฎจักรของการใช้ชีวิตและการทำงานหาเลี้ยงชีพตามปกติ แต่วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นดูจะรุนแรงมาก พอที่จะกระทบความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมากของประเทศที่จะมาทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะอย่างน้อย บทเรียนหนึ่งที่สำคัญคือ ไม่ว่าเราจะเลือกหรือไม่ เราไม่สามารถอยู่รอดได้ตาม ลำพังโดยไม่รับ ผลจากเหตุการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศที่เกิดขึ้น “ทุกเรื่องเป็น เรื่องของทุกคน” (ฟังดูอาจรู้สึกหนักอึ้ง) แต่ถ้ามองกลับกันก็จะเห็นว่า “ทุกคนมีอิทธิพล ต่อทุกเรื่อง” ไม่มากก็น้อย

ระยะนี้มีเวทีการเรียนรู้ของสังคมอยู่มากมาย ทั้งที่ผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ อินเทอร์เนต และเวทีสาธารณะต่างๆ เวทีหนึ่งที่น่าสนใจ คือเวทีความสุขมวลรวมประชาชาติ ที่ School of Well-Being จัดขึ้นเดือนละครั้ง โดยตอนเช้าจะมีการเชิญนักวิชาการในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ มนุษยวิทยา และรัฐศาสตร์ มาพูดถึงมุมมองของตัวเองเพื่อสะท้อนให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของการใช้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติมาเป็นเครื่องชี้วัดระดับการพัฒนาประเทศ เพราะจะเห็นได้ชัดว่า ประเทศที่จีดีพีสูงอย่างสหรัฐอเมริกา ประชาชนทุกคนไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือมีความสุขเหมือน กับประเทศที่ยากจนกว่าประเทศอื่นๆ เช่น มาดากัสกา

นี่เป็นเวทีสาธารณะที่เชื้อเชิญให้ประชาชนได้มาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทัศนคติเกี่ยวกับเครื่องมือวัดการพัฒนาประเทศผ่านผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ส่วนตอนบ่ายก็สนทนาแบบสภากาแฟ ที่มีความหลากหลายและให้ได้รู้จักกันมากขึ้น ทำให้ผมเห็นคุณค่าของการสร้างความสัมพันธ์ที่ผ่านการบอกเล่าชีวิต ที่ไม่ใช่เพียงแค่การแลกเปลี่ยน “ความคิดเห็น” เท่านั้น แต่เป็นการแบ่งปันสิ่งที่แต่ละคนให้คุณค่าแก่ชีวิต ความสัมพันธ์ที่ดีนำไป สู่การเรียนรู้ที่เปลี่ยนมุมมองและโลกทัศน์ได้ นี่เป็นส่วนสำคัญของการสร้างสังคมแห่งมิตรภาพ และการเรียนรู้

นอกจากนี้งานสภาสันติภาพโลก ที่จัดไปเมื่อช่วง ๙-๑๑ ก.ค. ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ณ รอยัลฮิลล์ รีสอร์ท จ.นครนายก โดย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และคุณสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นประธานจัดงานภายใต้มูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป ก็เป็นอีกเวทีหนึ่งที่สะท้อนถึงประสบการณ์ คล้ายๆ กัน โดยสภาสันติภาพโลกนี้เริ่มต้นขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การชักชวนพลเมืองโลกมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุและปัจจัยที่ส่งผลต่อสันติภาพและความรุนแรง เพื่อหาแนวทางการสร้างสรรค์สังคมแห่งสันติอย่างแท้จริง

งานนี้มีคนไทยที่สนใจมาร่วมกว่าร้อยคนจากส่วนต่างๆ ของประเทศ ผมเห็นว่าแรงบันดาลใจ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากการรับฟังคำปราศัยของผู้นำทางความคิดและปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ภิกษุณีธรรมนันทา หรือดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เพียงเท่านั้น แต่เกิดจากการได้พูดคุ ยแลกเปลี่อนอย่างใกล้ชิด ข้ามพ้นพรมแดนของผลประโยชน์ สถานภาพทางสังคม หรือจุดยืนทางการเมือง ในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจทั้งสิ้น เช่น ความยุติธรรมทางเพศ วิทยาศาสตร์และอภิปรัชญา สิทธิชนเผ่าและ ชาติพันธุ์ ศาสนากับการพัฒนา จริยธรรมสากล กฎหมายและรัฐศาสตร์ นโยบายทางทหาร สันติภาพใน สยาม และอื่นๆ

หลายคนที่รู้สึกว่าเป็นคนตัวเล็กๆ ที่พยายามทำสิ่งดีๆ ก็ได้รับกำลังใจในสิ่งที่ตัวเองทำ แม้จะดูน้อยนิด เช่น ชาวปกาเกอญอที่ทำงานอนุรักษณ์ ที่ ต.แม่ยาว จ.เชียงราย หรือแม้แต่ข้าราชการ ชั้นผู้น้อยที่ดูแลป่าใหญ่บริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ที่มีวิธีการทำงานกับประชาชนอย่างเข้าใจ โอบอ้อมอารี และช่วยลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรง คนอย่างคุณป้าชาวไทยดำ ที่มีสัญชาตญาณแห่ง ความเป็นแม่และศิลปิน เธอสำแดงพลังสีสันของชีวิตออกมาโอบอุ้มเผื่อแผ่ทุกคน หรือคนอย่างบังแวฮามะ จากบ้านตันหยงลูโละ ที่เสนอทางแก้ปัญหาใน ๓ จังหวัดภาคใต้จากมุมมองของมุสลิม คือให้ถอนปืน รถถัง อาวุธและทหาร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้จัดการปัญหาด้วยปัญญาชุมชนเอง ผู้เข้าร่วมบางคนทำงาน เพื่อดูแลและปกป้องแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในภาคใต้จากการกระทำอันไม่ควรโดยเจ้าหน้าที่รัฐ บางคนเดินทางตามตะเข็บชายแดนพื้นที่เสี่ยงภัย และให้ความช่วยเหลือเหยื่อ ความรุนแรงตามแนว เขตชายแดน บางท่านเป็นนักบวชที่นำเสนอธรรมะให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และดูแลกลุ่มเยาวชน แกะดำที่อยู่ในมุมมืดของสังคม และอีกมากมายที่ไม่อาจกล่าวถึงได้ทั้งหมดในบทความนี้

ประเด็นไม่ใช่อยู่ตรงแค่ว่าสังคมเรามีคนดีๆ ที่กำลังทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นเท่านั้น แต่อยู่ตรงที่เมื่อ ทุกคนได้เข้ามารับรู้ “โลก” ของกันและกันแล้ว ๑) ทำให้เกิดความเข้าใจในสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ๒) ทำให้เห็นแบบแผนหรือโครงสร้างสังคมที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง ๓) ตระหนักรู้ว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนโครงสร้างที่เอื้อต่อความขัดแย้งเหล่านี้ ไม่ว่าจะรู้ตัวไม่ก็ตาม ดังที่สตรีท่านหนึ่งกล่าวตอนปิดงานว่า ตนเองเพิ่งมารู้ว่าชีวิตที่สะดวกสบายของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ หมายถึงการสร้างเขื่อนที่หยิบยืมต้นทุนมาจากธรรมชาติและสังคมชนบท ส่วนคนที่มาจากชนบท ก็เริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองทำ ที่แม้จะดูเล็กน้อย แต่ส่งผลต่อภาพรวมทั้งหมดของสังคม ๔) เกิดมิตรภาพและแรงบันดาลใจในการกลับไปกระทำการด้วยมุมมองใหม่ ที่กว้างใหญ่และเห็นผล เชื่อมโยงมากขึ้น

ดังที่ปราชญ์จาก จ.แพร่ คุณประสาท ประเทศรัตน์ ได้กล่าวว่า “กลองดีไม่ดังเอง” หมายความ คุณค่าของตัวเองนั้น จะมาได้เมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเห็นคุณค่าของกันและกัน นี่คือพลังของ การสร้างประชาสังคม ผมคิดว่าประชาชนจะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทย หากทุกคนได้รับ คุณค่าอย่างแท้จริงและได้รับโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเชื่อมโยง เพื่อช่วยสร้างสังคมไทย ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกัลยาณมิตรที่เรียนรู้จากกันและกันอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน โดยมีความ กล้าหาญที่จะขยายขอบเขตความเชื่อและความเข้าใจของตัวเองออกไป

ผมเห็นว่าเวทีเหล่านี้เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยเปิดของสังคม (Civic University) ที่เอื้อต่อกา รเรียนรู้ และทำความเข้าใจระบบชีวิตและสังคมที่ซับซ้อน ที่ส่งผลกับชีวิตเราอยู่ โดยมีครูคือทุกๆ คน และเป็นอิสระจากการยึดกุมความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ หากเป็นพื้นที่การเรียนรู้ผ่านมิตรภาพ ที่เปิดรับและเห็นคุณค่าของทุกคน ทุกเสียง ทุกความคิด ความใกล้ชิดและความเป็นกันเอง ทำให้เราสามารถคุยข้ามพรมแดนของผลประโยชน์และภาพลักษณ์ โดยแต่ละคนสามารถก่อประกอบ “ความจริง” ของตัวเองใหม่ได้เรื่อยๆ แม้ว่าจะต้องทำลายกรอบความจริงเหล่านี้ด้วยความยากลำบากบ้าง โดยผู้คนสามารถตรวจสอบความจริงจากคนจริงๆ และเรียนรู้ผ่านข้อมูลจากคำบอกเล่าของบุคคลจริงๆ นี้มีลักษณะเด่นที่น่าสนใจและน่าจะเป็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่งในการขับเคลื่อนประชาสังคม (Information with human faces)

ในความคิดเห็นของผม ความสำเร็จอันหนึ่งของคือการที่คนตัวเล็กหลายคนรู้สึกมีพลัง มีแรงบันดาลใจจากการได้มาพบปะเพื่อนคนอื่นๆที่ทำงานเพื่อสร้างสรรค์สันติภาพเช่นกัน ซึ่งช่วยยืนยันในคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองทำ เพื่อที่จะกลับไปทำงานของตนต่อ นอกจากนี้ผู้คนยังได้ขยาย มุมมองของ ตัวเองให้กว้างขวางและซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น คนที่เคยทำแต่เรื่องความอยู่รอดของ วัฒนธรรมชนเผ่าก็เห็น จุดอ่อนของวิถีการพัฒนาแบบตะวันตกยิ่งขึ้น เป็นต้น แม้ว่าเราจะมองว่าโลกและ สังคมดูเป็นสิ่ง ที่ยิ่งใหญ่เกินกำลังใครคนใดคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงขยับเขยื้อนได้ แต่โลกที่อยู่ในตัวเรา แต่ละคน กลับเต็มไปด้วยศักยภาพของการเปลี่ยนแปลง ผมขอลงท้ายด้วยคำพูดของคุณประกอบ ช่วยศรีนวล เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่มาร่วมงานกับเราว่า “ผมเปลี่ยนโลกไม่ได้ แตผม่จะเปลี่ยนตัวเองเพื่อจะให้โลกเปลี่ยน และเพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นบนโลก”

พลังที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างชีวิต ระหว่างมุมมองที่แตกต่างในงาน สภาสันติภาพ โลกคงจะช่วยกระตุ้นความหวังที่ได้หดถอยหลังจากวิกฤติการเมืองที่ผ่านไป ให้ฟื้นกลับคืนมาได้บ้าง

เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไร



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2553

เป้าหมายแท้จริงของมนุษย์คือ เรียนรู้ความจริงที่แท้ของโลกและตัวเอง เดี๋ยวนี้เราคิดว่าเรารู้แล้วว่าเพื่ออะไร? คือเราสงสัยว่า แท้ที่จริงมนุษย์ต้องการเรียนรู้ความจริง เพราะเราปรารถนาจะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของจักรวาล ซึ่งมีเพียงเป้าหมายเดียวคือวิวัฒนาการ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบขึ้นมาเป็นจักรวาล ต้องมีวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น และเดี๋ยวนี้ นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาหลายต่อหลายคนเชื่อว่าวิวัฒนาการสำหรับมนุษย์นั้น เป็นวิวัฒนาการของกายและจิต วิวัฒนาการทางกายภาพนั้นมองเห็นได้ จึงเป็นการง่ายที่คนทั่วไปจะเชื่อหรือเข้าใจ แต่วิวัฒนาการของจิตนั้นมองไม่เห็นจึงเชื่อหรือเข้าใจยาก

สรุปง่ายๆ มนุษย์จะเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ เรียนรู้ความจริงไปเรื่อยๆ ประวัติศาสตร์กับวิวัฒนาการของวัฒนธรรมและอารยธรรมบอกเราเช่นนั้น วิวัฒนาการและเรียนรู้เพื่ออะไรหรือ? ก็เพื่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์น่ะสิ! วิวัฒนาการของกายนั้นเรารู้ว่าแทบจะจบสิ้นสมบูรณ์ เมื่อเราเรียนรู้การเรียงลำดับของพันธุกรรมหมดสิ้นแล้ว แต่วิวัฒนาการทางจิต (จิตสำนึกใหม่ที่บริหารที่สมองซึ่งจะมีใหม่…และมีใหม่...ไปเรื่อยๆ) นั้น ยังห่างไกลจากคำว่าเสร็จสิ้นสมบูรณ์นัก

กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเองของมนุษย์ในวันข้างหน้าจึง “จำเป็น” ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงอันเป็นการบริหารของสมองต่อจิตไร้สำนึก (ทั้งโดยรวมหรือจิตจักรวาล กับปัจเจกหรือบารมี) ให้เป็นจิตสำนึก ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ของสมอง เช่น ประสาทวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบันที่ศึกษาวิจัยการโยงใยระหว่างกันของเซลล์สมอง (wiring) ซึ่งไม่เคยเป็นเส้นตรงเลย แต่เป็นสามมิติทั่วทิศทั่วทาง และกระบวนการโยงใยของเซลล์สมอง (ที่จะใหม่ตลอดเวลา) ก็คือการสร้างจิตสำนึกใหม่ตลอดเวลานั่นเอง

แต่สังคมของมนุษย์ให้ความจริงทางโลกทางสังคมผิดๆ และผิดทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ฯลฯ ดังได้พูดมาแล้วหลายครั้งหลายหน เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย นอกจากตัวเอง ตามที่หลายๆ คนกำลังทำอยู่ คือหันไปเข้าวัด ทั้งๆ ที่บางคนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการปลี่ยนไปทำไม? หรือกระบวนทัศน์ใหม่คืออะไร? รู้แต่ว่าต้องเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตนและสังคม เพราะโลกกำลังจะพัง? และการเปลี่ยนแปลงทั้งสองนั้นจำต้องเปลี่ยนที่จิต

บทความต่างๆ ที่ผู้เขียนเอามาเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น เรื่องตะวันตกตะวันออก เรื่องสิทธิมนุษยชนกับความก้าวหน้า ฯลฯ หรือเรื่องดิน มนุษย์ ฟ้า ย่อมมีเหตุผล เพื่อท้าทายท่านผู้อ่านว่าเนื้อหาสาระของเรื่องที่เขียนนั้นมีเหตุผลหรือไม่? เห็นด้วยหรือไม่? และถ้าหากเห็นด้วยแล้ว เราควรทำอย่างไร? และสำหรับบทความนี้ หากเห็นด้วยแล้ว เราควรเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของตัวเองโดยด่วนหรือไม่? เป็นต้นว่า เราสมควรจะคิดว่าจิต – ตามที่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลหลายต่อหลายคน เช่น จอร์จ วอลด์ เซอร์อาร์เธอร์ เอ็ดติงตัน เซอร์เจมส์ จีนส์ – หรือเห็นว่าจิต (consciousness) มาก่อนและสำคัญกว่าวัตถุ (matter) หรือไม่? หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนานั้น สำคัญกว่าวิทยาศาสตร์ (กายภาพ) หรือไม่? และถ้าหากว่าเราได้คิดอย่างลึกซึ้งแล้วว่า ศาสนาทั้งมาก่อน (ไม่ใช่ด้วยเวลานะครับ) และสำคัญกว่าวัตถุแล้วไซร้ เราจะต้องคิดเช่นนั้น ทั้งโดยปัจเจกบุคคลและทั้งมนุษยชาติ เป็นสังคม ชุมชน ประเทศชาติโดยรวม

แต่เรา – โดยเฉพาะคนไทยส่วนใหญ่มากๆๆ ที่ปากอย่างใจอย่าง – ไม่ได้ทำเช่นนั้นเลย เราส่วนใหญ่มากๆๆ ดูเหมือนจะเชื่อพุทธศาสนากันแต่ปาก

ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาผู้รักษาตราประทับราชสำนักของพระเจ้าเจมส์ที่สาม แห่งราชวงศ์อังกฤษ เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งไม่จำเพาะในอังกฤษแต่ทั้งยุโรปเลย ฟรานซิส เบคอน คงจะเกลียดหรือกลัวธรรมชาติมาก เพราะเขียนหนังสือเชิงเรียกร้องให้มนุษย์ ซึ่งเขาคิดว่าไม่ใช่ธรรมชาติ – จะต้องเอาชนะธรรมชาติให้ได้ – และจากความมุ่งมั่นประกอบกับอิทธิพลของเขา ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าคงมีนักวิชาการและปัญญาชนจำนวนไม่น้อยพลอยเชื่อตามไปด้วย และความคิดของเขามีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างโลกทัศน์วัตถุนิยมแทนธรรมชาตินิยมให้กับนักวิชาการและปัญญาชนเมื่อกว่าสี่ร้อยปีมาแล้ว ที่ค่อยๆ แพร่เป็นวงกว้างขึ้นจนกระจายไปทั่วยุโรป อย่าลืมว่า ฟรานซิส เบคอน มีอายุแก่กว่า ไอแซค นิวตัน ไม่กี่ปี เรียกว่าเป็นคนรุ่นเดียวกันก็ได้ ฉะนั้น โลกทัศน์ของ ฟรานซิส เบคอน อาจพูดได้ว่า ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือเป็นวิทยาศาสตร์แยกส่วนที่พิสูจน์ได้ทั้งหมดในสมัยนั้น ด้วยกฎแห่งการเคลื่อนที่ของนิวตัน เพราะร่างกายสามารถแยกย่อยต่อไปให้เล็กละเอียด เช่น สสารวัตถุได้

ในสมัยนั้นก็เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมในสมัยนี้ รวมทั้งนักเทคโนโลยีส่วนใหญ่มากๆๆ ของประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาใหม่ๆ ที่มักเห็นว่าอะไรๆ เป็นวัตถุทั้งนั้น แม้ว่าเรามีฟิสิกส์ใหม่แล้ว มีแควนตัมแมคคานิกแล้ว มีซุปเปอร์สตริงธีออรีแล้ว เราก็ยังคิดว่าองค์ความรู้ใหม่เหล่านี้เป็นแค่สิ่งสวยๆ งามๆ หรือแปลกดี แต่ไม่มีประโยชน์โดยสิ้นเชิงสำหรับมนุษย์และสังคมกับโลกที่หยาบใหญ่ โดยมีน้อยคนเหลือเกินที่คิดว่านั่นคือกฎการทำงานของธรรมชาติที่แท้จริง คนเหล่านี้ ทั้งๆ ที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และปัญญาชน รวมทั้งสาธารณชนคนทั่วไปส่วนหนึ่ง ถึงได้เป็นวัตถุนิยมกันแทบจะหมดทั่วทั้งโลก รวมถึงไทยเราที่หลงใหลในเทคโนโลยีทั้งประเทศ...อนิจจัง...อนิจจา

เพราะฉะนั้น เราจึงไม่รู้ว่าองค์ความรู้เก่าหรือวิทยาศาสตร์กายภาพที่ใช้กันมาตั้งกว่า ๔๐๐ ปีนั้น ส่วนใหญ่ใช้อธิบายธรรมชาติที่ละเอียดสุดจริงๆ ไม่ได้เลย เราทำได้หรืออธิบายได้แต่เพียงหยาบๆ หรือระดับโลกหรือระดับวัตถุ เพื่อนำธรรมชาติของโลกมาใช้งาน เท่านั้น คือเราส่วนใหญ่จะรู้แต่เทคโนโลยี แต่เราจะต้องเรียนและรู้ธรรมชาติทั้งหมด ถึงระดับจักรวาลจริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดทั้งสิ้นเลย

สาเหตุที่ไม่ได้กระทำเช่นนั้นมีอยู่สามประการคือ หนึ่ง ผู้เขียนเชื่อว่า เราทั้งรักและกลัวธรรมชาติระดับบน หรือจิตจักรวาล หรือเทวดาพระเจ้าโดยไม่รู้ตัว รักและกลัวการให้รางวัลและการลงโทษ ซึ่งก็คือที่มาของกรรมนั่นเอง สอง เราเชื่อตา หู ของตัวเองว่าให้ความจริงที่แท้ โดยไม่แยแสสนใจว่าสัตว์อื่นใด จะเห็นหรือได้ยินเหมือนกับเราเปี๊ยบหรือไม่ สาม ด้วยอิทธิพลของ ฟรานซิส เบคอน และ ไอแซค นิวตัน หรือวิทยาศาสตร์ (เฉยๆ ในสมัยนั้น) ที่พิสูจน์ได้เบ็ดเสร็จว่าตรงกันเป๊ะกับข้อสองอันเป็นของมนุษย์เราแท้ๆ หากว่าเราไม่เชื่อตัวเราเอง (self and ego) แล้วจะให้เชื่อใครที่ไหน?

ทั้งสามข้อคือสาเหตุที่เราส่วนใหญ่มากๆๆ พากันยอมรับและกลายเป็นสามัญสำนึก และยิ่งเรามีเทคโนโลยีที่เอามาใช้ได้จริง ในระดับที่หยาบ-ในระดับโลกแห่งวัตถุ เราเลยยิ่งลืมเลือนความหยาบกระด้างของมันไปโดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่เรามีแควนตัมฟิสิกส์ใหม่ๆ แล้ว แต่เราส่วนใหญ่ยังคิดว่าแค่เป็นทฤษฎีที่แปลก เอามาใช้ไม่ได้ สำหรับมนุษย์แล้ว ธรรมชาติมีประโยชน์เพียงอย่างเดียว คือเป็นขี้ข้ารับใช้ที่ไม่มีคุณค่าและความหมายโดยสิ้นเชิง กว่ามนุษย์จะรู้ตัวว่าธรรมชาติระดับล่างที่เรามองเห็น กับธรรมชาติระดับบนที่มองไม่เห็น คือหนึ่งเดียวที่เราไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ เพราะว่าทั้งหมดคือจิตจักรวาล และคือธรรมะของพุทธศาสนาก็สายเกินไป ดังที่เราส่วนใหญ่ที่ยิ่งยากไร้หรืออยู่ในประเทศด้อยพัฒนายิ่งประสบอยู่ในทุกวันนี้

โดยเหตุผลและประสบการณ์เท่าที่ตาเห็น หูได้ยิน ที่มนุษย์ทุกคนมีมาตั้งแต่ต้น ปรัชญาธรรมชาติของกรีกจึงบอกมานาน ตั้งแต่ก่อนจะมีคริสต์ศาสนาเสียอีกว่า ความจริงมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น เป็นดั่งที่ตาเห็นหูได้ยินนั่นแหละ เดโมคริตัสบอกมากว่า ๒,๓๐๐ ปีแล้วว่า โลกมีแต่วัตถุเท่านั้น และสสารประกอบเป็นวัตถุที่เล็กละเอียดที่สุด หรืออะตอมจะไม่มีทางแยกต่อไปได้อีก ตรงกันข้ามกับปรัชญาของอินเดียโบราณรวมทั้งลัทธิพระเวทที่มีมาก่อนชาวกรีกนานนักหนา แม้ในทางพุทธศาสนาเองที่มาทีหลัง ยังบอกว่าอะตอมหรือปรมาณูนั้นยังแยกย่อยออกไปได้อีกเรียกว่า “จุลปรมาณู” แถมยังให้ประมาณการที่ไล่ต่อไปถึงสูญตาหรือความว่าง (void or absolute space) ที่ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย แต่เป็นความว่างที่เต็มไปด้วยความเต็ม ที่เต็มไปด้วยพลังงาน ซึ่งเป็นพลังงานจิต (ญานะปราณ) ที่แยกออกมาจากจิตจักรวาลไม่ได้ (ดู Universe unconscious continuum ของ คาร์ล จุง, Bardo Thodal ของ W. Evan-Wentz, Hidden Dimension ของ B. Alan Wallace, The 2007 Shift Report, Evidences of a World Transformation)

ฝรั่งตะวันตกอยู่ในห้วงของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยเฉพาะนักวิชาการ ปัญญาชน นักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักฟิสิกส์ และนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงแทบจะทุกคนกระมัง? จำนวนไม่น้อยได้หันมาทางตะวันออก ทำสมาธิ แสวงหา “คุณค่า” ใหม่ๆ ของชีวิต แสวงหาความรักเมตตาให้อภัย ใจกว้าง กับความโอบอ้อมอารี เกิดองค์กร สถาบันและศูนย์ต่างๆ เพื่อการเจริญงอกงามของประสบการณ์ภายในและการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในหน้าฝน เช่น ศูนย์บูรณาการปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลง ศูนย์การทำสมาธิชุมชน ศูนย์ฉันเองค้นพบฯลฯ ซึ่งศูนย์ต่างๆ เหล่านี้จะเน้นการเปลี่ยนแปลงที่จิตก่อนแล้วถึงจะมาที่พฤติกรรม

เรา - ในบ้านเราคงจะรอคอยการเปลี่ยนแปลงสังคมของเรา และการเปลี่ยนแปลงของตัวเองแต่ละคนไม่ไหว ทั้งๆ ที่หลายคนเหลือเกินที่หันหน้าเข้าหาวัด เข้าหาศาสนา เข้าสู่การปฏิบัติจิตและสมาธิ โดยไม่รู้เป้าหมายจริงๆ หรือพาให้ตัวเองรอดคนเดียว เป็นปัจเจกพุทธที่แม้จะประเสริฐแต่ยังขาดโดยรวมซึ่งคือเป้าหมายของจักรวาล เราจึงควรมุ่งแก้ไขอวิชชาก่อน หาปัญญา (ปัญญาวิมุตติ) ก่อนแล้วแก้ไขราคะ (เจโตวิมุตติ) ที่ง่ายกว่า

เหตุผลที่คนไม่เปลี่ยน



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2553

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาด้วยนโยบาย “เปลี่ยน” ผมอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งใหม่ในประเทศไทย ว่ามีใครสักคนที่ยกนโยบาย “เปลี่ยน” มาหาเสียง และอยากให้เขาและพรรคของเขาได้เริ่มเห็นว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้เขาไม่เปลี่ยน หรือเปลี่ยนอย่างไม่ยั่งยืน ก่อนจะเริ่มไปเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนเศรษฐกิจ เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนการเมือง หรือเปลี่ยนใจใคร

คำถามสำคัญที่ว่า เพราะอะไรคนถึงเปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนได้ยาก หรือเปลี่ยนอย่างไม่ยั่งยืน ตอบอย่างรวดเร็วก็คือ เพราะทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า "ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง" (Immunity to Change)

หากจะอธิบายให้เข้าใจมากขึ้นว่า ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงคืออะไร ก็จะขอขยายความว่าเป็นกระบวนการธรรมชาติของจิตมนุษย์ที่จะรักษาสมดุลให้กับตัวเอง โดยธรรมชาติ จิตจะสร้างภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เพื่อป้องกันตนเองจากความเจ็บปวด เมื่อจิตรู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบายแล้ว ก็จะคงอยู่กับที่ หรือติดยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ คนจึงเปลี่ยนแปลงได้ยาก และทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น กลัวอ้วน ทั้งที่รู้ว่ากินแล้วไม่ออกกำลังกายก็จะอ้วน แต่เราก็ยังทำอยู่ต่อเนื่อง หรือรู้ว่านัดกับใครแล้วต้องไปก่อนเวลา แต่เอาเข้าจริงก็ไปสายทุกที หรือตกปากรับคำใครแล้วอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำตามสัญญา หรือตั้งใจว่าจะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจ แต่สุดท้ายก็ไปทำอย่างอื่นที่นอกเหนือแผนที่ตั้งไว้ หรือมักจะทำอะไรแบบเดิม ไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะลึกๆ เชื่อว่าตนเองทำไม่ได้

สุดท้ายคนส่วนใหญ่มักจะเลือกกลับไปมีชีวิตแบบเดิม เพราะรู้สึกว่ามันก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปลำบากเปลี่ยนแปลงอะไร

แล้วทำไมต้องเปลี่ยนด้วยล่ะ?

คำตอบมีอยู่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องเปลี่ยน และไม่ใช่ทุกเรื่องในชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับว่า ใครพบว่าตนเองถึงจุดตันของชีวิตในเรื่องใด และอาจเอาตัวไม่รอดจากการมีพฤติกรรม นิสัย หรือความเชื่อในแบบเดิมๆ

ตัวอย่างเช่น เรื่องการมีชีวิตคู่ สามีภรรยาที่รักกันมานาน แต่สามีไม่เคยช่วยภรรยาทำงานบ้านเลย เพราะเข้าใจว่านี่เป็นหน้าที่ของภรรยา ต้องทำอยู่แล้ว ภรรยาก็บ่นทุกวัน จนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายและสิ้นหวังในการเปลี่ยนแปลงของสามี ในที่สุดก็พบกับทางตันของชีวิตคู่ และอาจต้องหย่าร้างกันไป

ด้วยเหตุผลที่ว่า ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า อยากให้อีกฝ่ายเป็นคนเปลี่ยน โดยไม่ได้กลับมามองที่ตัวเองว่า มีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง และคู่ส่วนใหญ่ก็มักจะหมดความรักและเลิกรากันด้วยเรื่องเล็กๆ แบบนี้

การเปลี่ยนแปลงอาจจะเริ่มต้นได้ ด้วยการกลับมาสังเกตในชีวิตประจำวันว่ามีเรื่องอะไรที่เรามองข้ามไปบ้าง แม้ว่าเรื่องนั้นจะเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อสังเกตและใคร่ครวญให้ดี ก็จะพบว่า เรื่องเล็กๆ เหล่านี้ อาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ๆ ในชีวิต ที่พาเราไปพบจุดจบของเรื่องนั้นๆ ได้

ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต คีแกน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ศึกษา ค้นคว้าวิจัยการเปลี่ยนแปลงมานานกว่า ๓๐ ปี พบว่า คนเปลี่ยนได้อย่างไม่ถาวร ส่วนหนึ่งเพราะคนมีภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง หากต้องการเปลี่ยนแปลง การค้นหาภูมิต้านทานดังกล่าวก็เป็นสิ่งจำเป็น และไม่ใช่เรื่องยากที่จะค้นหา นั่นเพราะภูมิต้านทานนี้มีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน

กระบวนการค้นหาภูมิต้านทานเริ่มจากการเข้าประตูให้ถูกต้อง อาศัยการสังเกตว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิต ถ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ชีวิตก็จะพบกับทางตัน เช่นพบว่า ฉันเป็นคนไม่ใส่ใจคนรอบข้าง ฉันมักพูดมากกว่าฟัง คำพูดของฉันมักจะทำร้ายจิตใจของผู้ฟัง เป็นต้น

เมื่อพบประตูที่ใช่แล้ว จึงเอกซ์เรย์จิต หรือทบทวนเข้าไปให้ถึงจิตถึงใจ ด้วยการนำข้อสังเกตข้างต้น มาแปลงให้เป็นความตั้งใจดีๆ ที่จะเปลี่ยนตนเอง เช่น ฉันตั้งใจว่าจะใส่ใจคนรอบข้างให้มากขึ้น เป็นต้น

ความตั้งใจดีๆ นี้ เปรียบเสมือนเราเหยียบคันเร่งรถยนต์ ต้องการขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า แต่พอเอาเข้าจริง คนส่วนใหญ่ก็มักจะกลับไปทำสิ่งตรงข้ามกับที่ตัวเองตั้งใจไว้ โดยมีความตั้งใจที่ซ่อนอยู่ สนับสนุนให้ทำในสิ่งตรงข้ามอยู่เสมอ เปรียบเสมือนเราเหยียบเบรครถยนต์เอาไว้ และเราก็ขับเคลื่อนชีวิตไปไหนไม่ได้

หากเราเหยียบทั้งคันเร่งและเบรกไปพร้อมๆ กัน ชีวิตของเราก็จะหยุดและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ด้วยการขับรถแบบนี้ นานๆ ไป เครื่องยนต์ก็จะพัง ชีวิตเราก็จะไปไม่รอด

ความตั้งใจดีๆ ก็ไปทางหนึ่ง ความตั้งใจที่ซ่อนอยู่ก็ไปอีกทางหนึ่ง ภาวะสองจิตสองใจอย่างนี้ มีสมมติฐานใหญ่ (Big Assumption) ที่กำลังทำหน้าที่ประคองทั้งสองด้านไว้อย่างสมดุล อาจกล่าวได้ว่า สมมติฐานใหญ่ คือความเชื่อหรือข้อสรุปที่เรามักมีให้ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวว่าจริง โลกของเราแต่ละคนถูกสร้างขึ้นภายใต้ความเชื่อดังกล่าว เปรียบเสมือนธรรมนูญชีวิตที่เรากำหนดใช้กับตัวเอง เพื่อบริหารจัดการชีวิตให้อยู่ในระเบียบตามความเชื่อที่เรายึดไว้

และนี่คือเหตุผลที่คนไม่เปลี่ยน

เราทุกคนมีสมมติฐานใหญ่ ทำงานอยู่ในจิตใจเสมอ และสมมติฐานใหญ่นี้ก็ปิดกั้นศักยภาพภายใน ทำให้เราเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ยั่งยืน ทั้งหมดนี้คือ ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาระหว่างการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวัย

หากเราพบกับภูมิต้านทานที่แท้จริงแล้ว และได้มีโอกาสทำงานกับภูมิต้านทานดังกล่าว เราจะพบกับการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ซึ่งศาสตราจารย์คีแกน ได้ทดลองทำมาแล้วกับผู้นำรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วโลก เช่น บริษัท Microsoft, McKinsey & Co, Disney Media Networks เป็นต้น นอกจากนั้น ท่านยังได้รับทุนจากมูลนิธิบิลเกต ให้ใช้กระบวนการนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้นำทางการศึกษาทั่วสหรัฐอเมริกา

การได้ค้นพบภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเรา ทำให้ได้เรียนรู้ว่า มีอะไรบางอย่างที่เรายังคงยึดติดในชีวิต และเริ่มเปิดทางให้เห็นว่า ยังมีความเป็นไปได้อีกหลากหลายที่จะเป็นอะไร และทำอะไรได้ มากกว่าชีวิตที่เป็นอยู่อย่างเดิม

หากคุณเชื่อว่า คุณเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้ชีวิตที่ดีขึ้น ผมก็อยากชวนให้ลองค้นหาว่า อะไรในตัวคุณที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลงอยู่ แล้วคุณอาจพบความลับของชีวิต ที่เก็บซ่อนศักยภาพเอาไว้ และนำมาใช้ได้ เพื่อจะมีพลังชีวิต หรือพลังใจที่มากขึ้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์แย่ๆแบบเดิมๆ อยู่กับคนเดิมๆ ด้วยจิตที่มีความสงบ อิสระ และเห็นคุณค่าภายในตนเองและผู้อื่น

เล่น



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2553


เช้าวันที่สามของเวิร์คชอปการจัดการความรู้ครั้งที่หก ผมตื่นมาแต่ตีสี่ มีคำว่า “เล่น” ผุดพรายขึ้นมาในใจ นึกถึงคำว่า “เล่น” ว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก แล้วมาใคร่ครวญต่อว่า หรือว่า แม้แต่ผู้ใหญ่คำว่า “เล่น” ก็ยังเป็นสิ่งที่ดีที่สุดด้วยเช่นกัน หรือเปล่า เหมือนเมื่อไรก็ตามที่เรายังเล่นได้อยู่ เราก็ยังคงสามารถรักษาความเป็น “เด็กน้อย” คือมนุษย์บริสุทธิ์ ที่ยังไม่ได้ถูกละเมิด ถูกรังแก ถูกทำให้กลัว ถูกทำให้เสียความเป็นเด็ก หรือความเป็นมนุษย์อันบริสุทธิ์นั้นไป

นึกถึงอุปสรรคสี่ประการกับการที่ไม่สามารถเข้าสู่แดนฝัน ในวิถีแห่งการเป็นพ่อมดแม่มด (shaman) ซึ่งยกมาจากถ้อยคำของดอนฮวน พ่อมดในเม็กซิโก ที่ คาร์ลอส คาสตาเนด้า ไปศึกษาร่ำเรียนด้วย ดอนฮวนกล่าวถึงอุปสรรคสี่ประการดังกล่าวคือ clear, fear, power and old age แปลเป็นไทยหมายถึง หนึ่ง การต้องการความชัดเจน สอง ความกลัว สาม อำนาจ สี่ ความชรา

พอเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เราก็ชราภาพ เข้าสู่ความรู้สึกนึกคิดแบบว่า “รู้แล้ว” ทุกอย่างต้องการความชัดเจนหมด เราไม่กล้าก้าวล่วงไปสู่ดินแดนที่ขมุกขมัว ดินแดนแห่งความไม่รู้ เราเริ่มสร้างฟาร์มหล่อเลี้ยงความกลัวและความวิตกกังวลทั้งหลาย ดังนั้น เราก็ต้องใช้อำนาจ และจะกักขังตัวเองไว้ใน “ความรู้” หรือโลกแคบๆ ของสิ่งที่เรารู้แล้ว เราไม่สามารถก้าวล่วงไปสู่มิติใหม่ๆ ที่ลึกกว่า เราไม่กล้ารับรู้สิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ที่เข้ามา เราจะรับอะไรเข้ามาก็ต่อเมื่ออธิบายด้วยความรู้เดิมได้ ด้วยกระบวนทัศน์เดิมได้ “อำนาจ” คือโล่กำบัง ที่เราจะไม่ได้ต้องเผชิญกับความเป็นจริง ที่ต้องการจะบอกเราว่า ความรู้ที่เรามีอยู่มันใช้ไม่ได้แล้ว มันตกยุค มันเป็นกระบวนทัศน์เก่า ที่จะตายไปกับยุคสมัยของเรา

ด้วยความชัดเจนแบบเดิมๆ เราจึงมองไม่เห็นสิ่งแปลกใหม่ ความสดใหม่ของชีวิตจึงจืดจางลง หรี่ดับลงไปในจิตสำนึกของเรา และแล้ว โลกทั้งใบก็แคบลง และมีแต่ความน่าเบื่อ งานกลายเป็นภารกิจอันหนักหนาสาหัส ที่ต้องแบกหาม และเหนื่อยหน่าย อะไรที่อยู่นอกเหนือกระบวนทัศน์ที่เรามี กรอบคิด มุมมอง มิติที่เราดำรงอยู่ ก็คือสิ่งที่ไม่มีอยู่ เป็นไปไม่ได้ บ้าบอคอแตก มันจึงกลับกลายเป็นการท้าทายของคนรุ่นใหม่ที่ไร้สาระ จำเราต้องใช้อำนาจทุกทางที่จะขวางมันเอาไว้ แล้วเราก็เครียดเคร่งและเริ่มป่วยด้วยอาการต่างๆ จากความชราภาพทางจิต กลายมาเป็นความชราภาพทางกาย แล้วเราก็ยิ่งใช้อำนาจมากขึ้น เพื่อจะรักษาความเป็นผู้นำเอาไว้ แม้ว่าสิ่งที่เราเป็นจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้วก็ตาม

ข้างต้นนี้เป็นการบรรยายให้เห็นภาพการทำงานของอุปสรรคสี่ประการ ที่อาจจะเข้ามาทำงานในตัวเรา เมื่อเราหลวมตัว ยอมไหลล่วงไปกับความแก่ชรา โดยที่ความแก่ชราไม่จำต้องมีมาเมื่อเราอายุมาก มันอาจจะมาได้แม้เรามีอายุเพียงยี่สิบสามสิบปีก็ตาม

มิเชล โปลันยี กล่าวว่า เราจดจำใบหน้าผู้คนเป็นจำนวนมากได้อย่างไร มหัศจรรย์มาก สมองทำอะไรได้หลายอย่าง อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง โดยที่เราไม่รู้เลยว่ามันทำได้อย่างไร และโดยที่เราก็ไม่ต้องมีความชัดเจนอะไรเลย

อาร์โนลด์ มินเดล บอกว่าหากเราไปตามวิถีแห่งธรรมชาติ เข้าไปในแดนฝัน และให้ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่อยู่ลึกลงไปในจิตนำพาเรา ให้มันเย้ายวน เชิญชวนเราไปในหนทางของมัน เมื่อเราหรี่ตาให้ภาพที่เห็นเลือนลางลง และให้เดินตามทิศทางอันสิ่งที่เชื้อเชิญเราจะนำพาเราไป

ครับ เรามีธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อยู่ในตัวเรา เราเปรียบเหมือนกระจกเงาแห่งจักรวาล จะกลัวอะไรกันเล่า หากเราดำเนินไปตามเสียงกระซิบแรกที่บอกเรา พาร์คเกอร์ เจ. พาลม์เมอร์ บอกว่า เสียงนี้คือครูภายใน เกอเธ่บอกว่า เราต้องเฝ้าดูอย่างเนิ่นนานซึ่งสิ่งที่เรากำลังศึกษา จนกระทั่ง มันก่อเกิดอวัยวะใหม่แห่งจิตขึ้นมาในตัวตนของเรา สิ่งที่เราศึกษานั้น จึงจะกลับกลายมาเป็นความรู้ได้ ผมเติมต่อตรงนี้ว่า หากเราตัดสินอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีความอดทนที่จะเฝ้ารอได้เลย ไม่มีความอดทนที่จะดำรงอยู่ร่วมกับความไม่รู้ ความขมุกขมัวได้เลย เราย่อมไม่อาจก้าวล่วงไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ได้

เด็กๆ กล้าเล่น กล้าเข้าไปพัวพันกับความไม่รู้ หรือหากเราที่มีอายุมากขึ้น แต่ยังหล่อเลี้ยงความเป็นเด็กไว้ได้ บางที เราอาจจะไม่แก่ชรา ไม่กลัว ไม่บ้าอำนาจ ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ และจึงไม่ต้องยึดเกาะกับความรู้ มุมมอง มิติเก่าๆ ไว้อย่างหนาแน่น เด็กคนนั้นในตัวเรา หรือเราในเด็กคนนั้น บางที เขาอาจจะมีความสดใหม่ สุขสดชื่น ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง กับโลก กล้าหาญผ่านเปลี่ยน (brave new world) โลกใบนี้ได้บ้าง

อาร์โนลด์ มินเดล แยกระดับการรับรู้โลกเป็นสามระดับตามความลุ่มลึกที่เราจะหยั่งเข้าไปในจิตไร้สำนึก ระดับแรกก็คือ consensus reality หรือ CR เป็นโลกความเป็นไปปกติธรรมดาประจำวัน อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือโลกสมมติ หากมองจากมุมมองของการจัดการความรู้ มันเป็น explicit knowledge หรือความรู้ที่สำแดงปรากฏออกมาได้ ระดับที่สอง ลึกลงไปกว่านั้น คือแดนฝัน หรือ non consensus reality or dreamland เป็นความรู้แฝงเร้นที่ยังไม่ปรากฏเป็นถ้อยคำ ไม่เป็นอะไรชัดๆ ที่อธิบายออกมาได้ ผมนึกถึง ศิลปะ ปัญญาปฏิบัติ อารมณ์ความรู้สึก เรื่องของหัวใจ ระดับที่สาม ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือ “ที่มา” หรือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ หรือวิถีแห่งเต๋า ถ้าหากเปรียบเปรยให้การรับรู้ระดับแรกเป็นดอกผล ระดับที่สองคือลำต้นและกิ่งก้าน ระดับที่สามก็คือราก

หากกล่าวให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โลกสมมติคือเสียงสังคม คือโลกที่ถูกจำกัดความอย่างแน่นอนตายตัว โลกที่เรากับเขาแยกออกจากกัน โลกที่ถือเป็นจริงเป็นจัง มีดีชั่ว มีถูกผิด เราจะแบกหามอย่างเอาเป็นเอาตาย โลกที่ไม่อาจพลิกแพลงผันแปรได้ เป็นดินแดนของจิตสำนึก เป็นคลื่นเบต้าในคลื่นสมอง ส่วนแดนฝัน หรือโลกก่อนสมมติ โลกที่ยังไม่มีการสรุปอะไรลงตัวลงไป ยังไม่ปรากฏเป็นถ้อยคำ ยังไม่มีคำอธิบาย โลกที่ลองผิดลองถูก โลกที่อะไรต่ออะไรยังผันแปรเปลี่ยนแปลงได้ เราเขาไม่ได้แยกออกจากกัน เราต่างดำรงอยู่ในกันและกัน เราอยู่ในเขา เขาอยู่ในเรา เป็นโลกที่ยังไม่มีการแบ่งแยกเหลืองออกจากแดง อำมาตย์ออกจากไพร่ ในโลกที่ทุกคนต่างเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน โลกที่ความเป็นไปได้หลากหลายดำรงอยู่ โลกแห่งความหวัง โลกของเด็กที่มีจินตนาการ ยืดหยุ่นผันแปร ขมุกขมัว จึงอาจกลับกลายและกลายร่างแปรเปลี่ยนได้อเนกอนันต์

ส่วนที่ลึกลงไประดับที่สาม เป็นราก เป็นที่มา เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งจิต ก่อนก่อเกิดเป็นอะไรต่ออะไร เป็นจิตเดิมแท้ เป็นแสงใสกระจ่าง หากเราเข้าไปในแดนฝันได้ โดยฝึกฝนตัวเองให้ช้าลง สามารถดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะได้อย่างผ่อนคลาย ลดความจริงจังในโลกสมมติลงไปบ้าง เราเริ่มเห็นความเป็นไปได้ เราจะสามารถสัมผัสได้กับธาราแห่งความไม่รู้ หรือเต๋า หรือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ หากเราเปิดใจ ไหลเลื่อนไป ตรงนั้น เราจะพบ “ครูภายใน” “เด็กน้อย” “จิตเดิมแท้” เราจะพบทาง พบวิถีแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ มันไม่มีทางตัน ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งมหัศจรรย์ ความสุขความเบาสบายจึงก่อเกิด

อาร์โนลด์ มินเดล เป็นผู้ก่อตั้งจิตบำบัดสำนัก process oriented psychology (จิตวิทยากระบวนการ) งานของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แต่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น งานของเขารวมถึง worldwork ที่พร้อมจะทำงานเยียวยาความป่วยไข้ทางสังคม ผมกำลังศึกษางานของเขาซึ่งกว้างขวางและลุ่มลึกมาก อย่างน้อยก็ในระดับทฤษฎี และคิดว่าจะได้เขียนเรื่องราวของเขาอีกมากขึ้นต่อๆ ไป

Back to Top