ต้องเปลี่ยนผ่านฐานความคิด ชีวิตจึงวิวัฒน์



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2554

ครั้งหนึ่งเมื่อมีคนถามองค์ดาไลลามะว่า อะไรเป็นเรื่องที่ท่านรู้สึกแปลกใจมากที่สุด เกี่ยวกับมนุษยชาติ ท่านตอบว่า

“มนุษย์เรานึ้ ยอมสูญเสียสุขภาพเพื่อทำให้ได้เงินมา แล้วต้องยอมสูญเสียเงินตรา เพื่อฟื้นฟูรักษาสุขภาพ แล้วก็เฝ้าเป็นกังวลกับอนาคต จนไม่มีความรื่นรมย์กับปัจจุบัน ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือ เขาไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งอยู่กับอนาคต เขาดำเนินชีวิตเสมือนหนึ่งว่าเขาจะไม่มีวันตาย และแล้วเขาก็ตายอย่างไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง“

มนุษย์เรามักจะปล่อยให้การดำเนินชีวิตไหลไปตามกระแสอย่างไม่ยั้งหยุดคิด ไม่เคยให้เวลากับตนเองที่จะใคร่ครวญทบทวนความเชื่อ คำพูด การกระทำ และความคิด จึงดำเนินชีวิตเสมือนถูกล่ามโซ่ตรวนตามกระแส โดยเฉพาะกระแสเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ทุ่มถมความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเกินพอดี เสพติดกับโลกเสมือนจริงภายนอก เบียดบังพื้นที่และเวลาของการพัฒนาการมีสติ และปัญญา (โลกภายใน) เพื่อที่จะรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกระแส (โลกภายนอก)

สัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ผนวกกับการเตือนสติของผู้รู้ที่ว่ามนุษย์เป็นตัวการสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดการผันแปรของดินฟ้าอากาศ กระตุ้นให้มนุษย์ตระหนักรู้เป็นระยะๆ เช่นกัน แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป มนุษย์ก็กลับไปดำเนินชีวิตภายใต้กรอบความคิดความเชื่อเดิมๆ ที่ถูกครอบอยู่

น้ำท่วมที หนาวจัดที พายุถล่มที ก็จะมีผู้บริจาคช่วยเหลือเป็นคราวๆ ไป

ผู้ไม่มีอันจะกินก็ก้มหน้าก้มตา ดิ้นรนกระเสือกกระสนเข้าตัวเมืองเพื่อหางานทำ ผู้มีอันจะกิน เศรษฐี มหาเศรษฐี และอภิมหาเศรษฐี ยังคงดำรงชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย นั่งรถหรู คันใหญ่ ราคาแพงเกินความจำเป็น

บริษัทยักษ์ใหญ่ ยังคงดำเนินธุรกิจแบบยักษ์ คือกิน (ทรัพยากรธรรมชาติ) เยอะ ถ่ายของเสีย (สร้างมลภาวะ) เยอะ

ประเทศที่พัฒนาแล้ว (ตามความหมายเดิม-Developed Countries) จึงเป็นประเทศที่สร้างมลภาวะมากที่สุด แต่มีจิตสำนึกที่ยังด้อยการพัฒนา (Less Developed Consciousness)

เราคงต้องให้ความหมายใหม่กับคำว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเพิ่มเกณท์ใหม่คือ ประชากรโดยรวมมีจิตสำนึกที่พัฒนาแล้ว (Developed Consciousness) ผนวกเข้าไปกับเกณท์เดิม เพราะไม่เช่นนั้น ยิ่งมีประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มมากขึ้น โลกก็จะยิ่งเผชิญกับหายนะเร็วขึ้น

เพราะประเทศที่เจริญแล้ว (มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตว์และเทคโนโลยี) มีความเชื่อและมีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะธรรมชาติด้วยความรู้และความก้าวหน้าทาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น ในขณะที่ประเทศที่มีการพัฒนาทางจิตสำนึก/จิตวิญญาณ เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างมีสติ และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างมีปัญญา

ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่เปลี่ยนฐานความคิดหรือมีจิตสำนึกใหม่ มนุษย์ก็จะยังคงดำเนินชีวิตเสมือนหนึ่งว่าเขาจะไม่มีวันตาย และตายอย่างไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง ดังที่องค์ดาไลลามะกล่าวไว้

มนุษย์จะต้องเปลี่ยนฐานความคิด ด้วยการเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความเป็น “ตัวกู ของกู” สู่ การเป็นส่วนรวมที่ใหม่และใหญ่กว่า สู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด

มนุษย์จะต้องตระหนักรู้และรู้เท่าทันระบบคิดของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่หล่อเลี้ยงความเป็น “ตัวกู ของกู” ขยายอาณาจักร “ตัวกู ของกู” ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้กรอบความคิดแบบนี้ การแข่งขันเพื่อให้ได้ชัยชนะ อยู่เหนือผู้อื่น จืงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการอยู่ร่วมกัน การช่วงชิงโอกาสจืงสำคัญกว่าการให้และการแบ่งปันโอกาส

ถ้าทุกคนคิดและทำในทำนองเดียวกันทั้งหมด อะไรจะเกิดขึ้นบนโลกที่จำกัดใบนี้

ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements-FTA) ที่ยัดเยียดให้เกิดบนโลกใบเล็ก ที่แต่ละประเทศไม่มีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงไม่น่าจะเหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์

ข้อตกลงความเมตตาเสรี (Free Compassion Agreements-FCA) ทำไมไม่สนับสนุนให้เกิดมีบนโลกใบนี้ เพราะมันถูกกาละเทศะ ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมในทุกๆ ด้านของแต่ละประเทศ

เรามีหลักของการบริหารจัดการที่ดี เรามีมาตรฐานต่างๆ มากมาย แต่ทำไมไม่มีหลักของความเอื้ออาทร หลักของการแบ่งปัน มาตรฐานของความเมตตากรุณา...ที่ช่วยให้เราก้าวพ้นความคับแคบของ “ตัวกู ของกู”

ในการประชุมสภาศาสนาโลกเมื่อปีคศ. ๑๙๙๓ ตัวแทนของกลุ่มศาสนาและกลุ่มความเชื่อต่างๆ กว่าสองร้อยคน ได้ร่วมลงนามในปฏิญญาแห่งศรัทธาร่วม มีใจความสำคัญว่า

“เราขอเสนอมายังผู้อยู่อาศัยทั้งหมดบนโลกใบนี้ ได้โปรดพิจารณาว่า แต่ละท่านไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ถ้าจิตสำนืกของแต่ละท่านยังไม่เปลี่ยน เราจืงขอเรียกร้องให้ทุกท่านร่วมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งในระดับจิตสำนืกส่วนบุคคลและจิตสำนึกสะสมร่วม เพื่อการตื่นรู้ของพลังทางจิตวิญญาณ ผ่านการสะท้อนคิด การทำสมาธิ การสวดภาวนา หรือการคิดเชิงบวก เพื่อให้เกิดการพลิกผันของหัวใจ ร่วมมือกัน เราสามารถเคลื่อนภูเขาได้ หากปราศจากความเต็มใจที่จะเสี่ยง และความพร้อมที่จะเสียสละ เราจะไม่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานได้...”

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ก็เคยกล่าวไว้ว่า “อำนาจทางวิทยาศาสตร์ของเราได้ก้าวล้ำอำนาจทางจิตวิญญาณของเราไปมาก เรามีจรวดนำวิถี และมีคนหลงวิถี ความหวังของเราที่จะอยู่อย่างสร้างสรรค์ ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราที่จะนำความต้องการทางจิตวิญญาณให้กลับมาเป็นคุณลักษณะสำคัญส่วนบุคคล และความยุติธรรมทางสังคม หากปราศจากการปลุกเร้าให้เกิดการตื่นรู้ทางด้านคุณธรรมและจิตวิญญาณแล้ว เราจะเป็นผู้ทำลายพวกเราเองด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่สร้างขึ้นไปในทางที่ผิดๆ”

ไอนสไตน์ ก็เคยให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า

“โลกที่เราสร้างขึ้นจากระดับความคิดของเรา ก่อให้เกิดปัญหาที่เราไม่สามารถจะแก้ไขได้ด้วยระดับความคิด (หรือจิตสำนึก) เดิมที่เราสร้างมันขึ้นมา...เราจำเป็นจะต้องมีการคิดที่ใหม่มากพอ หากมนุษย์ต้องการที่จะอยู่รอด”

ลองใคร่ครวญทบทวนอย่างลึกซึ้งดูว่า เราอยากจะสร้างและอาศัยอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ช่วงชิงกันอย่างเสรี หรือโลกที่เปี่ยมไปด้วยการแบ่งปัน สรรสร้างความรัก ความเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ให้แก่กัน

One Comment

บุญพิทักษ์ กล่าวว่า...

บอกตรงๆ ว่าบล๊อคนี้ดีค่ะ บังเอิญSearch เจอ แต่ได้อ่านแล้ว ทำให้เย็นขึ้น สงบลง และได้แง่คิดเยอะค่ะ ขอบคุณที่มีมีจิตสาธารณะน่ะค่ะ
เป็นกำลังใจให้ค่ะ

Back to Top