ตุลาคม 2012

ความรู้สึกแบบใหม่



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2555


งานวิจัยที่สำคัญมากชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า งานวิจัยไวท์ฮอลล์ เริ่มขึ้นที่อังกฤษในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ด้วยการเก็บข้อมูลจากข้าราชการเพศชาย ๑๘,๐๐๐ คน ต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันถึง ๑๐ ปี ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ก็คือ ยิ่งทำงานอยู่ในตำแหน่งต่ำลงไปเท่าไหร่ อายุก็จะยิ่งสั้นมากขึ้นเท่านั้น และมักจะตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเสียด้วย

๒๐ ปีถัดมา ข้อมูลจากข้าราชการ ๑๐,๓๐๘ คน เป็นชาย ๒ ใน ๓ ที่เหลือเป็นผู้หญิง ก็ถูกจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง และยืนยันข้อค้นพบเดียวกันกับงานวิจัยชิ้นแรก คือ ตำแหน่งงาน หรือสถานะทางสังคม สัมพันธ์เกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ดี และทำให้ผู้คนกลุ่มหนึ่งอายุสั้นต่างกับผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง

นับจากนั้น งานวิจัยทางสุขภาพส่วนหนึ่งจึงหันมาให้ความสนใจกับการสืบค้นเหตุปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อความมีอายุสั้น/ยาวของผู้คน หรือที่เรียกว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพมากขึ้น งานชิ้นสำคัญล่าสุดที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ “ถมช่องว่างทางสุขภาพในช่วงชีวิตเรา: บรรลุความเป็นธรรมทางสุขภาพ ด้วยปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” ซึ่งเป็นผลงานวิจัย ๔ ปีของนักวิจัยกลุ่มใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก โดยรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกมาวิเคราะห์ และมีข้อเสนอในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เพื่อยกระดับสุขภาพของผู้คนในสังคมโดยรวม

ที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากงานวิจัยเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อออกมานอกเขตแดนของประชาคมวิจัยมากขึ้นตามลำดับ เซอร์ ไมเคิล มาร์ม็อต นักวิจัยหัวเรือหลักทางด้านปัจจัยสังคมต่อสุขภาพ ปรากฎตัวในสารคดีโทรทัศน์อเมริกัน UNNATURAL CAUSES: Is Equality Making Us Sick? ทั้งยังใช้ข้อมูลจากงานวิจัยมานำเสนอ ในปีเดียวกันนั้นเอง เขาก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลอังกฤษให้เป็นที่ปรึกษา

ส่วนหนังสือที่ทำให้เกิดบทสนทนาสาธารณะมากที่สุดก็คือ THE SPIRIT LEVEL: Why Equality is Better for Everyone โดย ริชาร์ด วิลกินสัน หนึ่งในนักวิจัยทีมเดียวกับมาร์ม็อต (ปัจจุบันมีแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ ความ(ไม่)เท่าเทียม โดย สฤณี อาชวานันทกุล) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังคมที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำมาก จะมีปัญหาทางสุขภาพและสังคมมากตามไปด้วย ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา ท้องวัยรุ่น ยาเสพติด นักโทษล้นคุก ความรุนแรง ความไว้วางใจต่อกันของคนในสังคม ฯลฯ หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านต่างกล่าวถึง และทำให้ ส.ส.อังกฤษ ๗๕ คน ลงนามให้สัญญาก่อนเลือกตั้งทั่วไปว่า จะสนับสนุนทุกนโยบายที่นำไปสู่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจน

เมื่อย้อนกลับมามองสังคมไทย งานวิจัยทั้งของสภาพัฒน์และทีดีอาร์ไอก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาประเทศ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะทางรายได้และการศึกษา ไม่ได้ลดลงเลย จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัญหาหลายอย่างจึงปะทุคุกรุ่นอยู่เต็มไปหมด

หลายคนมองว่า การประสบความสำเร็จเป็นผลจากการทำงานหนัก และคนที่ทำงานหนักและประสบความสำเร็จควรได้รับผลตอบแทนสูง ไม่เห็นจะต้องไปสนใจใยดีอะไรกับคนจนรายได้น้อยอะไรนั่นเลย แต่สิ่งที่มองว่าเป็นความสำเร็จของนักการเงินหรือที่ปรึกษาทางการลงทุน ก็ยังเป็นเรื่องของโชคมากกว่าความเป็นมืออาชีพ ดังที่ ศ. แดเนียล คาเนแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เล่าและวิเคราะห์ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา Thinking, Fast and Slow และหลายครั้งก็เป็นเรื่องของความฉ้อฉลมากกว่าฝีมือ ดังนั้นเอง คนที่ได้รับเงินเดือนสูงและมีโบนัส จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่คนที่สมควรจะได้รับ แถมความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มคนเหล่านี้สร้างขึ้นมายังส่งผลกระทบด้านลบกับสังคมอีกด้วย ทั้งที่กลุ่มที่รวยที่สุดมีเพียงร้อยละ ๑ ของประชากรในโลกนี้เท่านั้น

วิธีคิดบางอย่างกำกับโครงสร้างที่ผิดปรกติเหล่านี้ อุดมคติที่ผิดเพี้ยนนำไปสู่มาตรการลดภาษีคนรวย กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการรวมตัวของคนทำงาน กลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกำกับการแข่งขันในตลาด ทั้งยังส่งเสริมให้บูชาเงินและหรือความร่ำรวยที่ไม่ได้มาจากการทำงาน มองสังคมและโลกเป็นการแข่งขันมากกว่าการอยู่ร่วมและแบ่งปันอย่างเกื้อกูล

ในสังคมที่คนรวยและคนชั้นกลางกินอาหารในห้างสรรพสินค้าและมอลล์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นตามชานเมือง และคนจนกินอาหารในซอยติดกันข้างๆ และเป็นเมนูที่แตกต่างกันอย่างฟ้ากับเหว ในสังคมที่ความแตกต่างดำรงอยู่และมีให้เห็นมากกว่าวันละ ๓ มื้อเช่นนี้ - เราจะไม่รู้สึกอะไรบ้างล่ะหรือ?

จังหวะชีวิตที่ตื่นเช้ามาก็ต้องออกไปทำงาน ฝ่าทะเลจราจรทั้งขาไปขากลับ ถึงบ้านก็ฟ้ามืด การเปิดโทรทัศน์ดูละครที่ “ไม่เครียด” เห็นอกเห็นใจตัวละครอย่างมุตตา สะใจไปกับมุนินทร์ (ตัวเอกในละครหลังข่าวภาคค่ำเรื่องหนึ่ง) จึงเป็นการกลับไปสู่ธรรมชาติของมนุษย์ที่โหยหาการใช้อารมณ์ความรู้สึก

ในภาวะที่ชีวิตไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เวลาทำงานก็ต้องแสดงความเป็นมืออาชีพที่ต้องเก็บงำอารมณ์ความรู้สึก ตัวชี้วัดมีแต่คำว่าประสิทธิภาพ มนุษย์ย่อมกลายเป็นเครื่องจักรกล เมื่อมองเห็นข้อมูลและตัวเลขว่าด้วยช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ทั้งในการถือครองตัวเลขในบัญชีธนาคาร ที่ดิน สุขภาพ และการศึกษา จึงยากที่จะรู้สึกรู้สากับความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์คนอื่นในสังคม

ก็ในเมื่อเรายังมีความต้องการที่จะมีอารมณ์ความรู้สึก ถึงขนาดว่าต้องเสพละครหลังข่าวทุกวันทั้งที่ปากก็บ่นว่าชีวิตไม่ค่อยมีเวลา แสดงว่าเรามีเวลาและศักยภาพเพียงพอที่จะรู้สึกรู้สากับความทุกข์ยากไม่เป็นธรรมของคนอื่นได้เช่นกัน

บางที นอกจากความรู้และงานวิจัยแล้ว วิธีคิดใหม่ และอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่ อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่ไม่อาจยอมรับความไม่ถูกต้อง ความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกนี้เองก็จะเป็นเสมือนการเปิดตาน้ำของความกรุณาให้หลั่งไหลหล่อเลี้ยงให้กับโลกภายในและภายนอกของเรา

จิตวิวัฒน์สู่การศึกษา



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2555

การศึกษาไทยเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องใช้กระบวนทัศน์ใหม่ทั้งหมดในการแก้ปัญหาและปฏิรูป สิ่งที่ทำกันอยู่มักเป็นวิธีใหม่ การเรียนแบบใหม่ การสอนแบบใหม่ และการสอบแบบใหม่ แต่ไปไม่พ้นกรอบความคิดชุดเดิม

การเรียน การสอน และการสอบ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น มีการเรียนด้วยแท็บเล็ต การสอนที่น่าตื่นตาตื่นใจ การสอบที่วัดผลแม่นยำ แต่ถ้าอยู่ภายใต้เป้าหมายของศตวรรษที่ ๑๙ หรือ ๒๐ นั่นคือผู้รู้มากคือผู้มีการศึกษา ก็ยังคงมีความเสี่ยงว่าเด็กไทยจะก้าวตามอาเซียนไม่ทัน มิพักจะพูดถึงโลกทั้งใบที่ไร้พรมแดน



หากการศึกษาไทยอยากได้จิตวิวัฒน์ใหม่ไปสู่เป้าหมายในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ซึ่งโลกแบนราบลงแล้วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เด็กของประเทศต่างๆ รวมทั้งเด็กจากชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกได้จากทุกสถานที่รวมทั้งทุกเวลา เราจะปล่อยให้เด็กไทยเรียนหนังสือในห้องเรียนด้วยการท่องจำตำรา และสอบวัดผลด้วยการท่องจำหรือใช้วิจารณญาณให้สอดคล้องกับเฉลยคำตอบที่ตายตัวได้อย่างไร

เราควรช่วยกันค้นหาหนทางให้เด็กไทย “อยากเข้า” และ “เข้าถึง” แหล่งเรียนรู้ต่างๆ โดยเสรีให้เต็มศักยภาพ

ที่สำคัญกว่าความรู้หรือรู้มาก จึงควรเปลี่ยนเป็นความใฝ่รู้และรู้วิธีที่จะเรียนรู้ รู้ว่าจะตนเองอยากรู้อะไรและจะไปหาความรู้ได้จากที่ไหน เมื่อได้มาแล้วรู้จักไม่เชื่อในทันทีและฝึกตั้งคำถาม จากนั้นจึงค้นหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง นี่จึงเป็นเป้าหมายใหม่ของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑

กระบวนทัศน์ใหม่คือวิธีหาคำตอบสำคัญกว่าตัวคำตอบเอง เด็กไทยควรเก่งในเรื่องกระบวนการหาคำตอบมากกว่าที่จะหลงเชื่อหรือติดกับกับคำตอบตายตัวใดๆ ของโจทย์ปัญหาใดๆ เพราะที่แท้แล้วปัญหาใดๆ ไม่เคยมีคำตอบเพียงหนึ่งเดียวอยู่ก่อนแล้ว

ความรู้มาพร้อมอบายมุขและเรื่องชั่วร้ายเสมอ

ดังนั้นนอกจากเด็กไทยควรเป็นคนอยากรู้ ใฝ่เรียนรู้ รู้วิธีหาความรู้และตั้งคำถามเป็นแล้ว ระหว่างที่ใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความรู้นั้นเอง เด็กไทยต้องเผชิญปัญหาเรื่องอบายมุข เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเห็นที่แตกต่างกับของตนตลอดชีวิต ที่สำคัญเท่าๆ กับ “ทักษะเรียนรู้” จึงเป็น “ทักษะชีวิต”



เด็กไทยจะใช้ชีวิตเผชิญกับอบายมุขและเรื่องยั่วยวนที่อยู่รอบตัวอีกทั้งมากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างไร จะดูแลการเงินของตัวเองอย่างไร จะเผชิญความผันผวนของธรรมชาติจากวิกฤตโลกร้อนได้อย่างไร และจะเคารพความเห็นต่างทางการเมืองหรือชาติพันธุ์ได้อย่างไร สี่ประเด็นนี้คือประเด็นด้าน health, economics, environment และ civil society เป็นเรื่องท้าทายชีวิตคนทุกคน ที่ซึ่งการใช้ชีวิตไม่ควรแยกออกไปจากการเรียนหนังสือ

การศึกษาต้องทำให้เด็กใฝ่เรียนรู้และรู้จักใช้ชีวิตไปพร้อมกัน

ครูยังคงเป็นคนสำคัญสำหรับกระบวนทัศน์ใหม่และจะสำคัญมากยิ่งขึ้น

แต่ครูจำเป็นต้องละทิ้งกระบวนทัศน์เดิมและวิธีการเดิม เลิกเป็นผู้สอน เลิกคิดว่าตนเองต้องเก่งกว่านักเรียน เปลี่ยนตนเองให้เป็นผู้อยากรู้และใฝ่เรียนรู้ไปพร้อมกันกับนักเรียน เป็นโค้ชและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเสรีและเต็มศักยภาพโดยไม่มีผิดถูก ชวนนักเรียนร่วมออกแบบการเรียนการสอนที่วิวัฒน์ไปสู่จิตสำนึกใหม่ นั่นคือการศึกษาที่แท้เริ่มด้วยการลองผิดลองถูกและสุนทรียสนทนา(Dialogue) โดยมีหลักสูตรเป็นเป้าหมาย

ครูด้วยกันเองควรจับกลุ่มกันเพื่อสนทนาเรื่องนักเรียนทุกวัน หลักสูตรต้องการให้นักเรียนรู้อะไร เราจะออกแบบการเรียนการสอนให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร ที่ออกแบบและทดลองทำไปแล้วนักเรียนได้รู้สิ่งที่ต้องรู้จริงหรือเปล่า และนักเรียนได้เพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตจริงหรือไม่ ครูยังสามารถทำอะไรให้ดีกว่าเดิมได้อีกหรือไม่และอย่างไร นี่คือการพูดคุยระหว่างเพื่อนครูในรูปแบบที่เรียกว่า After Action Review หรือ AAR

ครูที่ดีจะพูดคุยเรื่องลูกศิษย์ทุกวัน

การสอบจะมิใช่ทำไปเพื่อวัดผลได้ตก แต่ทำเพื่อประเมินและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของเด็กๆ ทักษะทั้งสามจะเดินคู่ขนานกันไปตลอดชีวิตการเรียนของเด็กนักเรียนหนึ่งคน อย่างน้อยก็จากอนุบาลจนกระทั่งจบชั้นมัธยมปลาย การสอบเพื่อวัดความรู้ในศตวรรษที่ ๒๐ วิวัฒน์ไปสู่การสอบเพื่อวัดทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑



ที่เขียนมาทั้งหมดสามารถทำได้จริงเพราะโรงเรียนทางเลือกหลายแห่งทำแล้ว ครูส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถทำได้ โดยเริ่มด้วยการจับคู่ช่วยกันเปลี่ยนวิธีสอนหนังสือ แล้วประเมินตนเองว่านักเรียนได้อะไรด้วยการพูดคุยแบบ AAR ทุกวัน เมื่อครูเริ่มจากจุดเล็กๆ จับกันเป็นคู่ๆ จะนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มครูเพื่อการศึกษาในศตวรรษใหม่ได้อย่างแน่นอน เพราะครูสองคนที่จับเป็นคู่นั่นเองจะเป็นสองคนแรกที่ได้สัมผัสความสุขจากการได้ทำอะไรบางอย่างให้เด็กได้เจริญเติบโตอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อเรียนเก่งสอบได้อย่างดาษดื่น และครูสองคนนั้นเองจะพบว่าสองคนไม่พอ มองรอบข้างและพบเพื่อนครูที่พร้อมจะร่วมทางไปสู่การศึกษาแบบใหม่



เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จะยังความสุขให้ทั้งแก่ครูและนักเรียน

โรคหมอทำ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2555

"ดูจากผลทดสอบแล้ว ถ้าหากคุณยังไม่ดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ คุณอาจจะอยู่ได้ไม่ถึงอายุสี่สิบ" นายแพทย์วินิจฉัยอาการเพื่อนของผม ปีนี้เขาอายุ ๓๖ ถ้าเป็นจริงอย่างที่หมอว่า เขาจะเหลือเวลามีชีวิตอยู่อีกเพียง ๔ ปี หมอยังบอกอีกว่าผลการทดสอบทางกายภาพของเขา "ต่ำกว่ามาตรฐาน" โดยเฉพาะเรื่องแรงบีบมือและแรงดึงขาซึ่งต่ำกว่าคนปกติ ส่วนปอดก็หายใจเอาออกซิเจนเข้าไปในร่างกายยได้ต่ำกว่าคนทั่วไป หมอแนะนำให้เขาไปออกกำลังกายและยกเวทเสียบ้าง กล้ามเนื้อจะได้มีความแข็งแรง เขายิ้มรับคำวินิจฉัยของหมออย่างไม่สะทกสะท้าน สิ่งที่หมอไม่รู้เลยก็คือ ชายหนุ่มรูปร่างท้วมคนนี้เป็นลูกศิษย์เอกคนหนึ่งของปรมาจารย์ไทเก๊กที่มีผู้รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย

ผมเพิ่งมาฝึกวิชาไทเก๊กอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงสองปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งที่เขามาเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนวิชาที่สำนัก ผมทดลองผลักมือกับเขาปรากฏว่าเขาผลักผมไปซ้ายทีขวาที ราวกับเป็นตุ๊กตาหมียัดนุ่น น้ำหนักหกสิบห้ากิโลของผมมันไร้ความหมายสำหรับเขา และยิ่งผมฝืนออกแรงต้านเขามากเท่าใด ผมก็ยิ่งกระเด็นไปไกลมาขึ้นเท่านั้น ดังนั้นที่บอกว่าเขาไม่แข็งแรงเห็นทีจะไม่ใช่ แล้วจะอธิบายอย่างไรเรื่องแรงบีบมือและแรงดึงขาที่ต่ำกว่าคนปกติ ต้องยอมรับว่าอุปกรณ์วัดนั้นไม่ผิด แต่สิ่งที่ผิดก็คือไปสรุปว่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบนั้นจะแปลผลมาเป็นความแข็งแรงของร่างกาย ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเขา แต่อยู่ที่เครื่องมือที่มีอยู่ไม่สามารถวัดความแข็งแรงของร่างกายเขาได้อย่างแท้จริง

เมื่อฝึกวิชามวยไทเก๊ก ผู้ฝึกจะถูกฝึกให้คลายกล้ามเนื้อที่เรียกว่า "ซง" การออกแรงใดๆ ก็ตามที่มาจากการเกร็งกล้ามเนื้อภายนอกจะถือเป็นเรื่องต้องห้าม ถ้าไม่ใช้แรงแล้วจะใช้อะไรขยับกล้ามเนื้อ ผู้อ่านอาจจะมีความสงสัย แต่วิชานี้มีคำตอบว่าต้องใช้ "จิต" ในการสั่งการให้เกิดความเคลื่อนไหว ผู้ฝึกใหม่ๆ จะไม่สามารถสัมผัสถึงความละเอียดอ่อนของการบูรณาการระหว่างกายกับจิต การเกร็งกล้ามเนื้อจึงยังมีอยู่ แต่สำหรับผู้ที่ฝึกไปจนถึงขั้นหนึ่งแล้วจะพบว่าการใช้แรงกล้ามเนื้อภายนอกที่คนทั่วไปใช้นั้นมันช่างเป็นเรื่องที่ "ไร้ความศิวิไลซ์" สิ้นดี ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงจะเหมือนกับการเปิดประตูโดยเอาเท้าถีบแทนที่จะบิดลูกบิดประตูแล้วเปิดเข้าไป อาจารย์ของผมเคยเปรยว่า

"พอฝึกมาถึงระดับหนึ่งแล้วเกิดความสงสัยว่า คนเรามันจะใช้แรงกันไปทำไม(วะ)"

เรื่องแบบนี้คนที่ยังไม่เคยได้สัมผัสก็จะมองว่ามันแปลก หรือมองเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่ความจริงเป็นเพราะรากฐานของการแพทย์แผนปัจจุบันของเราถูกวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่าครอบงำเอาไว้จนหมดสิ้น ซึ่งระบบเก่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แต่ให้ความสำคัญกับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด ซึ่งมองมนุษย์คล้ายกับเครื่องจักรกลที่จะต้องซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่บกพร่องหรือใช้การไม่ได้ แพทย์จึงรักษาด้วยการจ้อง "จับผิด" ผู้ป่วย ซึ่งในบางครั้งก็ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย อย่างในรายเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง

เขาเป็นนักบริหารหนุ่ม อายุย่างสี่สิบ มีภาระต้องดูกิจการของทางครอบครัว ครั้งหนึ่งเขารู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก จึงไปให้แพทย์ตรวจเช็ค แพทย์ก็สั่งทดสอบวัดค่าต่างๆ เมื่อได้ผลแล้วก็บอกกับเพื่อนผมว่าเขาเป็น "โรคหัวใจ" และอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานถ้าหากไม่รีบผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสห้าสิบห้าสิบ เพื่อนผมได้ยินดังนั้นก็เข่าอ่อน กลับบ้านไปนอนไม่หลับ ร้องไห้สั่งเสียภรรยาเสียดิบดี หมดแรงใจจะทำอะไร กินอะไรก็ไม่ลง เกิดฉุกใจขึ้นมาได้ก็เลยไปหาหมออีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนละคนกับคนแรก หมออีกท่านตรวจแล้วบอกว่าไม่เห็นเป็นไร ไล่กลับบ้านให้ไปเตะบอล สรุปคือเขาแข็งแรงดี แต่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกมีอาการอักเสบ เขานึกอยู่สักพักก็ถึงบางอ้อว่าเป็นเพราะตัวเองชอบก้มหยิบแฟ้มเอกสารหนักๆ ที่อยู่บนพื้นด้วยมือข้างเดียว จึงน่าจะเป็นสาเหตุทำให้เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก พอรู้อย่างนั้นแล้วเขาโล่งใจเดินกลับบ้านตัวลอย กินข้าวกินปลาได้เหมือนเดิม นอนหลับสนิทอย่างมีความสุข ผมเลยบอกเพื่อนว่า "เอ็ง เป็นโรคหมอทำ!"

คำวินิฉัยของแพทย์ในระบบสุขภาพของเรามันเหมือนกับคำประกาศิตจากพระเจ้า เพราะมันเป็นระบบนิเวศน์สมมุติที่เฟื่องฟูขึ้นโดยการผลิตซ้ำความเชื่อและกรอบคิดชุดหนึ่ง โดยอิงอาศัยบุคลากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญผนวกกับอำนาจของความรู้ซึ่งกดทับความเป็นคนธรรมดาสามัญอย่างเราให้รู้สึกว่ากระจอกงอกง่อยและช่วยเหลือตนเองไม่ได้

รุ่นพี่อีกคนหนึ่งของผมเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนวดจับเส้น วิชานี้ตกทอดมาจากแพทย์แผนไทยโบราณที่ใกล้จะหายสาบสูญ ทุกวันนี้เขารับรักษาคนไข้เฉพาะที่สนิทกันจริงๆ เท่านั้น

"ถ้าหากไม่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง จะมีใครเชื่อว่าวิชาแบบนี้มีจริง" เขาพูดพลางแกะเส้นให้ผมไปพลางโดยใช้ "นิ้ว" อย่างเดียวเท่านั้น แต่พลังที่ออกมาจากนิ้วเขาเหมือนกำลังใช้ศอก หรือแก่นไม้

"ในร่างกายของเรามีเส้นเอ็นอยู่เยอะแยะไปหมด แม้กระทั่งในเบ้าตาก็มี” แล้วเขาก็ลองแกะเส้นที่อยู่ในเบ้าตาด้านบนให้ผม มันปวดไม่ใช่เล่น แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันรู้สึกตาสว่างขึ้นมาทันที จากนั้นเขาลองไปแกะเส้นที่หัวให้ผม "ที่หัวเราก็มีเส้นหรือ" ผมถาม "มีสิ แต่เส้นตามตัวต้องหลุดออกมาในระดับหนึ่งก่อน จึงจะแกะเส้นที่หัวได้" เขาลงมีแกะเส้นที่หัวให้ผม ผมพบว่าอาการปวดตึ้บๆ ที่มีมานานจนคิดว่าเป็น "ปกติ" ของชีวิต ตอนนี้ได้อันตรธานหายไปหมด พบกับความโล่งเบาสบาย แม้แต่จะทำหน้าเครียดยังทำไม่ได้ พี่เขาก็รู้ว่าผมรู้สึกผ่อนคลาย อมยิ้ม เล็กน้อยแล้วบอกว่า

"ถ้าหากเส้นพวกนี้คลายตัวหมด อาการปวดหัว ไมเกรน อัมพฤกษ์อัมพาต เส้นโลหิตในสมองแตก ไอ้โรคบ้าบอคอแตก มันจะมาจากไหน ถ้าไปหาหมอเขาก็จ่ายยาให้กินอย่างเดียว เพราะหมอเขาไม่สนใจเรื่อง(ความรู้)พวกนี้"

พูดเรื่องยาขึ้นมา ทำให้ผมนึกถึงพี่สาวคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคที่หมอบอกว่าแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง เธอต้องทานยาสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิ ซึ่งส่งผลทำให้เธอบวมตามเนื้อตามตัว แต่ถ้าไม่ทาน เธอก็บอกว่าตาจะมองไม่เห็น โรงพยาบาลดังๆ ในกรุงเทพฯ เธอไปหามาหมด ผมถามว่าแล้วไม่ลองไปดูพวกแพทย์ทางเลือกดูบ้าง เธอก็แบ่งรับแบ่งสู้ ผมรู้ว่าเธอไม่เชื่อเรื่องแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงมันช่างยากจริงๆ สำหรับคนที่ถูกกระบวนทัศน์เก่าครอบงำ

กระบวนทัศน์เก่าทางชีววิทยาเชื่อว่าความเจ็บป่วยของคนเราถูกกำหนดมาในยีน หลังจากการค้นพบ DNA เรายิ่งปักใจเชื่อว่ารหัสพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของสิ่งมีชีวิต ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีของเราก้าวหน้าจนกระทั่งสามารถหาจีโนมของมนุษย์ได้ทั้งหมด เราจึงได้ค้นพบความจริงอันน่าสนเท่ห์ว่า ยีนของสัตว์เดรฉานอันน่าสกปรกอย่าง “หนู” นั้นมีจำนวนพอๆ กันกับยีนของมนุษย์ ส่วนหนอนตัวกลมที่ชื่อว่า Caenorhabditis ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีจำนวนยีนถึง ๒๔,๐๐๐ ยีน น้อยกว่ามนุษย์ประมาณ ๑,๕๐๐ ยีนเท่านั้น

รู้อย่างนี้แล้วเรายังจะคิดว่ามนุษย์ถูกกำหนดด้วยรหัสพันธุกรรมอะไรนั่นอีกหรือ? ถ้าเชื่ออย่างนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีระดับสติปัญญาใกล้เคียงกับพยาธิ!

ดร. บรูซ ลิปตัน บอกกับเราว่า การแพทย์สมัยใหม่ยังคงถูกขังอยู่ในกระบวนทัศน์ของนิวตันฟิสิกส์ ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์กายภาพจะล่วงหน้าไปทางควอนตัมฟิสิกส์มานานแล้ว วิทยาศาสตร์สายชีววิทยากลับหยุดอยู่ที่การมองโลกแบบนิวตัน จึงมองโลกของเซลล์เป็นวัตถุธาตุเพียงอย่างเดียว ไม่เห็นพลวัตของความเชื่อมโยง การแลกเปลี่ยน และการสื่อสารกันด้วย “พลังงาน” ปัจจุบันพบหลักฐานมากมายที่ระบุว่าเซลล์ไม่ใช่เพียงแลกเปลี่ยนสารเคมีระหว่างกัน แต่ยังสื่อสารกันด้วยพลังงานซึ่งนำสัญญาณชีวะได้รวดเร็วกว่ากันมาก

“พลังงาน” ฟังดูคุ้นๆ เพราะศาสตร์การแพทย์แผนตะวันออกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจับเส้น กดจุด ฝังเข็ม ชี่กง หรือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างไทเก๊ก หรือโยคะ ก็ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับพลังงานที่เรียกว่า “ชี่” หรือ “ปราณ” การแพทย์แผนโบราณนี้เข้าใจว่าเมื่อร่างกายของคนเราเจ็บป่วยนั้นก็แสดงว่ามีความไม่สมดุลเกิดขึ้นในร่างกายของเรา การแก้ไขจุดที่ขัดข้องจะทำให้ “พลังงาน” ไหลเวียนโดยสะดวก โรคภัยไข้เจ็บก็จะค่อยๆ ถูกรักษาไปเอง

แพทย์แผนตะวันออกยังให้ความสำคัญกับ “จิต” เพราะรู้มานานแล้วว่า จิตใจที่ป่วยย่อมนำมาสู่ความป่วยไข้ของร่างกาย มีกรณีจริงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ เมื่อแพทย์วินิจฉัยนายแซม ลอนดี ว่าเป็นมะเร็งชนิดที่วงการแพทย์ขณะนั้นเชื่อว่ารักษาไม่หาย อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเขาก็เสียชีวิต เมื่อชันสูตรศพแล้วน่าแปลกใจที่ไม่พบว่ามีเซลล์มะเร็งชนิดนั้นในตัวเขาเลย พบแต่เซลมะเร็งชนิดอื่นแต่ก็น้อยมากไม่เพียงพอที่จะฆ่าเขา แบบนี้คงสรุปได้ว่าแซมคงจะ “ขี้เกียจหายใจ” เพราะหมดกำลังใจจะมีชีวิตอยู่ต่อไป!

ลิปตันบอกว่า “ความคิด” นี่เองเป็นตัวร้ายที่ให้กระบวนการทางชีวเคมีของร่างกายชะงักงัน แต่ในทางกลับกันก็สามารถที่จะทำให้ร่างกายของเราเยียวยาตัวเองได้ ผมไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะเคยพบเจอหัวหน้าพยาบาลคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่ต่อมาภายหลังทุเลาลงจนแทบตรวจไม่พบ เธอไม่ได้ใช้ยาขนานไหน ใช้เพียงยารักษาใจ คือการกลับมาทำความรู้สึกตัว หรือการเจริญสติแบบพุทธศาสนา



ลำพังผมคงไม่อาจจะเปลี่ยนความเห็นของท่านได้ ทำได้แค่สะกิดให้ท่านย้อนกลับมาดูว่า มันเป็นไปได้หรือที่เราจะเหมารวมสุขภาพของมนุษย์โดยดูเพียงจากเส้นรอบเอว หรือแรงบีบมือ ฝากให้ท่านมาตรองดูว่าการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อมันไม่ใช่ทางออก มีผลการวิจัยทำที่สหรัฐอเมริกาในปี ๒๐๐๓ พบว่าอัตราการเสียชีวิตเพราะผลข้างเคียงของการใช้ยานั้นมาเป็นอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตจากการรักษาพยาบาล และถ้าหากวงการแพทย์ยังคงมองข้ามการักษาทางเลือก เช่น การฝังเข็ม การนวดจับเส้น การกดจุด ชีวจิต ฯลฯ ยังคงไม่ยอมรับการมีอยู่ของพลังงาน “ชี่” หรือ “ปราณ” และความสำคัญของ “จิต” ที่มีผลต่อเซลล์ในร่างกาย จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมก็หวังว่าผู้อ่านของผมคงจะสามารถพาตัวเองออกจากกรอบคิดอันคับแคบแบบนั้น ไปสู่อิสรภาพของชีวิตที่มีความสุขทั้งกายและใจ และระลึกอยู่เสมอว่าท่านยังมี “ทางเลือก”

ยาลดไข้สังคมไทย


โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2555

วันนี้วันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม เป็นสังเวชนียวารอีกวันหนึ่งของคนชาติไทย เพราะเมื่อ ๓๖ ปีก่อนในวันนี้ได้มีการเข่นฆ่านักศึกษาอย่างเหี้ยมโหดที่ท้องสนามหลวงกลางพระนคร การฆ่าได้ก่อให้เกิดบาดแผลในจิตใจของสังคมอย่างยากที่จะเยียวยา และส่งวิบากกรรมต่อๆ มา ความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้าวลึกทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นวิบากกรรมของการฆ่าเมื่อ ๖ ตุลาคม ความขัดแย้งทางการเมืองจะดำรงอยู่ต่อไป แต่ไม่ควรใช้การฆ่าเพื่อนมนุษย์หรือชักนำเพื่อนมนุษย์ไปสู่ความตาย เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะเป็นบาป และก่อความยุ่งยากตามมาอย่างสางไม่ออก เช่นทุกวันนี้

ควรยอมรับว่าความหลากหลายเป็นธรรมชาติธรรมดา ผู้คนมีรากฐานและมุมมองต่างกัน จะให้คิดเหมือนกันคงจะไม่ได้ ความแตกต่างไม่ควรเป็นเหตุให้ทำร้ายหรือเข่นฆ่ากัน คนที่คิดเชิงเผด็จการเท่านั้นที่อดทนต่อความแตกต่างไม่ได้ คนที่คิดเชิงประชาธิปไตยต้องมีปัญญาเห็นธรรม (ชาติ) ตามความเป็นจริง มีความอดทนอดกลั้น หรือขันติธรรม ในโอวาทปาฏิโกมข์ประโยคแรก พระพุทธองค์ตรัสว่า “ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา” หรือขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ขันติจะชนะทุกสิ่งทุกอย่าง

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ถ้ามีปรอทวัดความเกลียดชังกันในสังคม ปรอทคงจะพุ่งปรี๊ดเหมือนเป็นไข้สูง ความเกลียดพุ่งเป้าไปที่บุคคล องค์กร และสถาบันต่างๆ กัน และมีการใช้สื่อกระพือความเกลียดชังให้กว้างขวางออกไป ไข้แห่งความเกลียดชัง (hatred fever) จึงขึ้นสูง ไข้ชนิดนี้นำไปสู่ความรุนแรงและมิคสัญญีกลียุคได้

สังคมไทยจึงควรกินยาลดไข้

ยาลดไข้อย่างหนึ่งได้พูดไปแล้วคือขันติธรรม ยาที่เป็นข้าศึกต่อความโกรธความเกลียดคือความเมตตา ความโกรธกับความเมตตาจะอยู่ที่เดียวกันไม่ได้ ที่ใดมีความโกรธที่นั่นไม่มีความเมตตา ที่ใดมีความเมตตาที่นั่นไม่มีความโกรธ ในพระไตรปิฎกจึงมีเป็นอันมากที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้บุคคลแผ่เมตตาจิตออกไปทุกทิศทุกทาง ว่าเป็นหนทางที่ทำให้พบอิสรภาพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำไม่มีอิสระที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ในสังคมที่มีปัญหาซับซ้อนและยาก การไม่สามารถรู้ความจริงจะทำให้วิกฤตยิ่งขึ้นและในที่สุดเกิดมิคสัญญีกลียุค ก็ลองดูเอาเถิด สังคมที่เต็มไปด้วยความโกรธความเกลียดในปัจจุบัน แทบไม่มีพื้นที่ให้ความจริงเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย

ยาลดไข้ความโกรธความเกลียด ๒ ตัวแรกที่กล่าวไปคือขันติธรรม และเมตตาธรรม เปรียบเสมือนยารักษาตามอาการ ประดุจพาราเซตามอลที่มีฤทธิ์ลดไข้ แต่ไม่ได้รักษาสมุฏฐานของโรค ถ้าสมุฏฐานของโรคยังอยู่ ยารักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ อาจบรรเทาอาการได้ชั่วขณะ หรือไม่ได้เลย ขณะที่โรคอาจลุกลามมากขึ้น ยารักษาสมุฏฐานของโรคคือปัญญา

เบื้องต้น ปัญญาทำให้รู้เท่าทันว่าอะไรที่เกิดขึ้นก็เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นอย่างนั้น ที่เราโกรธเพราะเราอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น หรือให้เป็นอย่างอื่น แต่มันก็ไม่เป็นไปตามความอยากของเรา เพราะมีเหตุปัจจัยให้มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเองเพราะมีเหตุปัจจัยให้มันเป็นเช่นนั้น แล้วเราจะไปโกรธมันทำไมที่มันเป็นเช่นนั้น การรู้เท่าทันความเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัย เป็นปัญญาที่ทำให้เราหลุดจากความไม่รู้หรืออวิชชา อวิชชาเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์

แล้วเหตุปัจจัยอะไรเล่าที่นำมาซึ่งความขัดแย้ง ความโกรธ ความเกลียดอย่างรุนแรงในสังคมไทย เหตุปัจจัยนั้นคือ การรวมศูนย์อำนาจ ในระบบใดๆ ถ้ามีการรวมศูนย์อำนาจจะเกิดความเครียดในระบบ ทำให้แตกหักได้ง่าย แต่ถ้าอำนาจกระจายไปทั่วถึง ระบบก็มีความสมดุล มีความเป็นปรกติและยั่งยืน

ประเทศไทยปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจ ผู้ที่ใช้อำนาจรวมศูนย์ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือทหาร หรือนักธุรกิจการเมือง จะเผชิญกับความขัดแย้งสูง การแย่งชิงอำนาจที่รวมศูนย์จะรุนแรง ทั้งโดยใช้พละกำลังและการใช้เงิน ทำให้การเมืองมีคุณภาพต่ำ คอร์รัปชั่นสูง ทำรัฐประหารง่าย หลุมดำแห่งการรวมศูนย์อำนาจทำให้เกิดวัฏฏจักรแห่งความด้อยคุณภาพและความรุนแรง ฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่หาใช่ศัตรูกันไม่ แต่ต่างตกเป็นเหยื่อของระบบรวมศูนย์อำนาจด้วยกัน ที่ทำให้ต้องมาโกรธมาเกลียดมารบราฆ่าฟันกัน เหมือนไก่อยู่ในเข่งที่รอถูกนำไปเชือด แต่ยังจิกตีกันจนเลือดตกยางออก เข่งคือระบบอำนาจที่กักขังไก่ทั้งหลายไว้ ศัตรูร่วมของทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันคือระบบรวมศูนย์อำนาจ

จึงควรร่วมกันกระจายอำนาจไปสู่สังคมโดยทั่วถึง การกระจายอำนาจมีส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ส่วนนามธรรมเป็นส่วนลึก และเป็นฐานให้การกระทำที่เป็นรูปธรรม นั่นคือ หนึ่ง ต้องมีการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน ในสังคมไทยได้สร้างมายาคติไว้ให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนเล็กคนน้อยคนยากคนจนไร้ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ จะด้วยชาติกำเนิด หรือยศถาบรรดาศักดิ์ โภคทรัพย์ การศึกษา ก็ตาม เรื่องนี้ดูเหมือนยากแต่ไม่ยาก กุญแจอยู่ที่การเข้าใจความรู้ในตัวคน ความรู้มีสองชนิด คือความรู้ในตัวคน กับความรู้ในตำรา ในตัวคนทุกคนมีความรู้ที่ได้มา จากการทำงานและประสบการณ์ชีวิต เป็นความรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แม่จึงเป็นครูที่ดีที่สุดของลูก ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้รับการศึกษาตามระบบ ถ้าเราเคารพแต่ความรู้ในตำรา คนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีเกียรติ คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติ แต่ถ้าเคารพความรู้ในตัวคน คนทั้งหมดจะมีเกียรติ การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินในเวลาอันรวดเร็ว คือระบบการศึกษา แทนที่จะศึกษาแต่ความรู้ในตำรา ให้ไปเรียนรู้จากชาวบ้าน ชาวบ้านจะมีเกียรติขึ้นทันที และนักเรียนเมื่อเรียนจากใครเขาก็จะเคารพผู้นั้นว่าเป็นครู เรามีนักเรียน นิสิต นักศึกษา หลายล้านคน สามารถทำข้อมูลชาวบ้านจากทุกหมู่บ้านว่าแต่ละคนมีความรู้อะไรในตัวบ้าง ประเทศจะเปลี่ยนเพราะทำอย่างนี้ การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นฐานของความดีงามต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ความเป็นธรรม

สอง กระจายอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเองให้ได้มากที่สุดในรูปของชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง การจัดการตนเองได้หมายถึงความเข้มแข็ง หมายถึงสมรรถนะ หมายถึงการมีอิทธิปัญญา หรือปัญญาที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ความสำเร็จในการพัฒนาอย่างบูรณาการ คือพัฒนา ๘ เรื่องอย่างเชื่อมโยงกัน อันได้แก่ “เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – วัฒนธรรม – สิ่งแวดล้อม – สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย” ชุมชนท้องถิ่นที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการกลายเป็นสังคมศานติสุข บางแห่งมีศานติสุขประดุจสวรรค์บนดิน

ประชาธิปไตยชุมชนเป็นประชาธิปไตยอัตถประโยชน์ และประชาธิปไตยสมาฉันท์ เพราะอำนาจกระจายไปถึงประชาชนทุกคน ทำให้สามารถรวมตัวร่วมคิดร่วมทำได้เต็มพื้นที่และในทุกเรื่อง



เรื่องการจัดการตนเองกำลังมีเสน่ห์ที่ดึงดูดใจของผู้คนเข้ามาร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งระดับชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง เครื่องมือสำคัญของการจัดการตนเองคือ “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ของทุกฝ่าย การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏบัติทำให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญที่ทำให้เกิดความสุขและความสำเร็จ

ในกระบวนการจัดการตนเองนี้ พลัง ๕ ประการหรือเบญจพละเข้ามาผนึกกัน คือ พลังทางสังคมหรือพลังความสามัคคี พลังทางปัญญา พลังทางการจัดการ พลังความถูกต้อง และพลังแห่งสันติวิธี จึงมีพลังมากเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ปรกติสุข และยั่งยืน

อาการไข้ขึ้นสูงของสังคมไทยนั้นรักษาได้ ไม่ใช่รักษาไม่ได้ มีทั้งยารักษาตามอาการคือยาลดไข้ และยารักษาตามสมุฏฐาน คือ การกระจายอำนาจที่รวมศูนย์ไปให้ประชาชนปกครองตนเอง เมื่อประชาชนสามารถจัดการตนเองได้ในพื้นที่ คือชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ประเทศจะเกิดการร่วมกันอย่างสมดุล ปรกติสุข ยั่งยืน สันติ เป็นทางแห่งสันติอันประเสริฐที่ท่านเรียกว่า สันติวรบท

Back to Top