มีนาคม 2013

การเมืองแห่งความเป็นความตาย



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 มีนาคม 2556

ข้าพเจ้านึกถึงใบหน้ากึ่งบึ้งกึ่งยิ้มของผู้คนที่ตำบลหนองแหน ฉะเชิงเทรา ในวันนั้นได้ดี – ภาพของหมูที่คลอดลูกตายครอกแล้วครอกเล่าของเจ้าของฟาร์มหมูนั้นน่าสลดใจมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงก็รู้สึกสับสน เธอเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนยา ทดสอบปัจจัยที่เกี่ยวข้องทีละอย่าง จนกระทั่งตั้งข้อสงสัยต่อน้ำที่ใช้

รถค่อยๆ เคลื่อนตัวไปสู่พื้นที่สูงของแถบนั้น หลุมดินลูกรังขนาดใหญ่จำนวนมากปรากฏแก่ตา ผู้คนแถบนี้มีอาชีพขุดดินไปถมที่ และทำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน บ่อดินขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นน่าจะใช้เป็นที่กักเก็บน้ำได้ แต่เมื่อลงไปดูน้ำในบ่อ สิ่งที่น่าสนใจเห็นจะเป็นสีของน้ำ น้ำแต่ละบ่อมีสีต่างกัน บางแห่งน้ำเป็นสีเขียวและมีเมือกลอยบนผิวหน้า บางแห่งน้ำเป็นสีเหลืองและมีคราบคล้ายน้ำมัน

สีของน้ำมาจากไหน? – มีบ่อขยะบริเวณนั้นหลายแห่ง รถจากจังหวัดอื่นขนขยะมาทิ้งในบ่อดินเหล่านี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอหลายปี และมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของพื้นที่ อย่างไรก็ดี ไม่มีการเปิดเผยว่าขยะประเภทไหนที่นำมาทิ้งในบ่อดินเหล่านี้ และพบว่าไม่มีการปูพื้นก่อนเทขยะ

ไม่น่าแปลกใจ หากขยะเหล่านี้เป็นกากพิษอุตสาหกรรม ดินและน้ำย่อมปนเปื้อนสารเคมีเหล่านี้ เข้าไปสู่พืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ที่เรากิน เข้าไปในร่างกายของเรา และเป็นเหตุแห่งความเจ็บป่วยได้



ทำไมเกษตรกรที่ประกอบสัมมาชีพอย่างขยันขันแข็งและดำรงชีวิตอย่างสมถะ ต้องประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรลดลง หมูในฟาร์มป่วยแท้งลูกตาย?

เราอาจจะมีสมมุติฐานได้ว่า ก็บ่อขยะนั่นไง ไม่ใช่เชื้อโรคที่ไหนหรอก แล้วขยะนั้นมาจากไหนเล่า?

หากนึกเปรียบเทียบดู ถ้าเพื่อนบ้านกวาดขยะหน้าบ้านตัวเองมาไว้หน้าบ้านเรา หรือเอาขยะมาทิ้งใส่ถังขยะบ้านเรา คงมีความขัดเคืองและเกิดเหตุทะเลาะกันเป็นแน่แท้ มีอย่างที่ไหน ขยะตัวเอง เอามาทิ้งบ้านคนอื่น - ผู้คนที่หนองแหนก็คงคิดและรู้สึกเหมือนกัน

แต่ถ้าจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ล่ะ – เอ... ค่าผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากเดิม ค่าหมูที่ตายไป แล้วขนาดหมูยังตาย อีกหน่อยก็คงถึงตาคนกระมัง แล้วยังค่าความเสียหายของระบบนิเวศอีกล่ะ การล้างพิษออกจากดินและน้ำที่ปนเปื้อนให้เหมือนเดิม ค่าใช้จ่ายควรจะเป็นเท่าไหร่?

อ้อ... ทำไมเราต้องเป็นผู้เสียสละด้วยล่ะ เมืองในฐานะพื้นที่หัวใจทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือ?

เออ... ก็รู้อยู่ว่าขยะเยอะ และต้องหาทางกำจัดทำลาย – ว่าแต่ว่า ไม่เคยสังเกตบ้างหรือ ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวบนโลกนี้ที่ผลิตขยะ? เราจะไม่หาวิธีคิดในการสร้างหรือผลิตข้าวของที่ขยะน้อยลงเลยหรือ?

อ้าว... ถ้าเราไม่อยากให้ใครมาทิ้งขยะที่บ้านของเรา เราจะมีสิทธิปฏิเสธไหม?

คำถามสุดท้ายนั้น ผู้คนที่คลิตี้ มาบตาพุด เหมืองทองเมืองเลย เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี พื้นที่ท่าเรือ เชฟรอน ฯลฯ ก็คงคิดและรู้สึกเหมือนกัน

ไม่มีใครปฏิเสธว่าการพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น อุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในกระบวนการตัดสินที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและเธอเหล่านี้ เหตุใดจึงไม่มีพื้นที่ให้เข้าไปร่วมรับรู้รับทราบข้อมูลและตัดสินใจร่วมกันล่ะ? ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์ที่คนเล็กคนน้อยเหล่านี้ปราศจากเสียงและตัวตนในการแสดงความต้องการของตนเอง และมีอำนาจในการตัดสินใจในประเด็นเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตของตน จะเกิดขึ้นเกือบทั่วทุกแห่งในประเทศ ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นแบบแผนที่เกิดขึ้นซ้ำ-ซ้ำ เหมือนร่องรอยของทางน้ำไหล ซึ่งตามหลักของการคิดกระบวนระบบ (System Thinking) ยืนยันว่ามีโครงสร้างบางอย่างที่กำหนดให้เกิดแบบแผนดังกล่าวนี้ หากสามารถค้นหาและระบุสาเหตุเชิงโครงสร้างได้ ก็จะสามารถสร้างเหตุปัจจัยที่ทำให้แบบแผนของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป



โครงสร้างสำคัญที่ทำให้เกิดแบบแผนของการที่คนเล็กน้อยปราศจากสิทธิปราศจากเสียง และ/หรือปราศจากอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง - ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่อยากจะทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์แต่เป็นไปไม่ได้ในพื้นที่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม/เหมืองแร่/บ่อขยะ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่อยากจะทำงานวันละแปดชั่วโมงเพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อน และมีเวลาสำหรับการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเอง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ในโรงงานที่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำก็ต่อเมื่อคิดรวมกับค่าล่วงเวลาอีกสี่ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการทางร่างกายที่อยากจะเรียนหนังสือแต่ห้องเรียนที่อยู่บนตึกชั้นสามของโรงเรียน ทำให้ไม่อาจตะกายขึ้นไปเรียนร่วมกับเพื่อนคนอื่นได้ทุกวัน – ก็คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอำนาจการตัดสินใจ ซึ่งเกิดจากฐานคิดที่มองข้ามหรือไม่เห็นความสำคัญของคนเล็กคนน้อยเหล่านี้นั่นเอง

หนทางของการลดความเหลื่อมล้ำ ก็คือการมองเห็นและยอมรับตัวตนของผู้คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม แรงงานในระบบ/นอกระบบ/ข้ามชาติ คนพิการ ผู้หญิงทำงาน คนไร้บ้าน ฯลฯ – เพราะเมื่อมองเห็นก็จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมเพื่อการตัดสินใจอย่างถูกต้องสมเหตุสมผล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการให้แต้มต่อกับคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ ในฐานะที่มีทุนทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าคนกลุ่มอื่น และทำให้ผู้คนที่แทบไม่ปรากฏอัตลักษณ์ตัวตนเหล่านี้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วยคนเล็กคนน้อยในประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม อาหาร แรงงาน คนพิการ เด็กและเยาวชน ฯลฯ แท้จริงก็เป็นการเมืองภาคประชาชนเช่นกัน แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ถูกกีดกันให้อยู่แต่เพียงชายขอบและไม่ถูกนับว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนด้วยซ้ำ ทั้งที่การสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องแนบแน่นกับปากท้อง วิถีชีวิต และความเป็นความตายของผู้คนมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่ต้องถกเถียงโดยแนวคิดทฤษฎีหรือตำราแต่อย่างใด – การเมืองแห่งความเป็นความ ตายเช่นนี้จะต้องไม่ถูกกีดกันให้อยู่แต่เพียงชายขอบของการเคลื่อนไหวและการต่อรองอีกต่อไป

การเดินทางไกลของทางลัด



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มีนาคม 2556

ในระยะหลังหรือในการจัดงานกระบวนการรุ่นใหม่ๆ ผมจะให้ความสำคัญกับ “ทางลัด” เป็นพิเศษ หากจะถามว่า ด้วยเหตุใดหรือจึงให้ความสำคัญกับทางลัด คงตอบได้หลายประเด็นเลยทีเดียว ประการแรก การเรียนรู้ในแนวทางนี้ แม้ดูเหมือนจะเป็นการเรียนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ช่วงที่เกิดการเรียนรู้จริงๆ มันเป็นไปอย่างฉับพลัน มันจะเข้าใจเข้าถึงแบบทันทีทันใด แต่มันจะมาถึงการเรียนรู้แบบฉับพลันไม่ได้ หากไม่มีการบ่มเพาะมาก่อน คือ “บ่มเพาะ” กับ “ฉับพลัน” มันมาอยู่ด้วยกัน มันเป็นคู่กัน หากไม่บ่มเพาะ ก็จะไม่มีการเรียนรู้แบบระเบิดออกมา แบบเข้าถึงอย่างฉับพลันเกิดขึ้น คือคำสองคำนี้มีความหมายแย้งกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกัน กระบวนการเรียนรู้อย่างนี้จึงจะเกิดขึ้นได้

ถ้าพูดเปรียบเทียบกับเรื่องของสมอง เราทุกคนมีฮาร์ดแวร์หรือโครงสร้างหลักๆ พื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน หากพูดโดยย่นย่อ ก็อาจจะพูดแบบประสานผสมวิทยาการข้ามแขนงได้ว่า มนุษย์เรามีฮาร์ดแวร์อย่างที่จะตรัสรู้ได้เลย ปลดตัวเองให้มีอิสระ ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้เลย แต่มันยังไม่ใช่ฮาร์ดแวร์อย่างที่ตรัสรู้มาแล้ว มันเป็นเพียงฮาร์ดแวร์อย่างที่มีศักยภาพจะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้เท่านั้น แล้วอะไรเป็นอุปสรรค อะไรเป็นตัวเอื้อล่ะ เพื่อที่เราจะเดินไปในเส้นทางแห่งการปลดปล่อยนั้น

พื้นฐานคือความเป็นปกติ

เราอาจเริ่มบ่มเพาะให้เกิดความเป็นปกติ ด้วยความเข้าใจทางสมองที่มีโหมดปกติกับโหมดปกป้องนั้น สมองได้มีโครงสร้างที่จะรับรู้ภัยอันตรายเอาไว้อยู๋แล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อมิกดาลาในสมองชั้นกลางซึ่งไวมาก และตั้งค่าไว้ที่ความระแวงระวังตลอดเวลา เราจึงตื่นตัวตลอดเวลาที่มองเห็นว่าอะไรเป็นภัย อีกนัยหนึ่ง เราจะระแวงระวังคนอื่นตลอดเวลาด้วย แม้เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม แม้จะไม่มีภัยอันตรายมากมายขนาดนั้นแล้วก็ตาม

เชื่อมโยงการปฏิบัติธรรมกับความรู้เรื่องสมอง

นอกจากนี้ ความรู้เรื่องสมองเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ จะมีสองวงจร คือ ซิมพาเธติค (sympathetic) กับ พาราซิมพาเธติค (parasympathetic) โดยวงจรซิมพาเธติคจะเป็นตัวเร่ง ตัวคันเร่ง ที่จะไปเร่งเร้าให้ร่างกายตื่นตัว พร้อมต่อการเผชิญภัยอันตรายต่างๆ ส่วนพาราซิมพาเธติคจะเป็นตัวคลายออก ทำให้ระบบต่างๆ ช้าลง เหมือนเบรก หรือการผ่อนคันเร่ง ที่จริงวงจรทั้งสองต้องทำงานผสานกันอย่างพอดี แต่แล้ว ความที่แนวโน้มของจิตจะมุ่งไปในทางหวาดระแวง มันก็จะออกแนวคิดลบอย่างน้อยๆ ไปจนถึงคิดลบอย่างใหญ่หลวง เมื่อแนวโน้มของสมองจะคิดไปทางลบอยู่แล้ว พร้อมจะเห็นเรื่องลบๆ ก่อประกอบเรื่องลบๆ ขึ้นมาอยู่แล้ว ก็ไม่ยากที่จะทึกทักให้เรื่องอะไรต่ออะไรกลายเป็นเรื่องลบใหญ่ๆ ขึ้นมา

ที่จริงพาราซิมพาเธติคนี้เป็นระบบประสาทที่ดีมาก กระบวนการปฏิบัติธรรมทั้งหมดล้วนเป็นการเพิ่มพาราซิมพาเธติคทั้งนั้น เพียงรู้ตัว ดำรงอยู่กับปัจจุบัน การหายใจด้วยกระบังลมก็ใช่ การหายใจออกยาวๆ ก็ใช่ การหาวก็ใช่ การคลายลิ้นก็ใช่ การกำหนดรู้อยู่กับกายทุกอย่างก็ใช่ การปฏิบัติธรรมทั้งหมดจึงเป็นการบ่มเพาะให้เราสามารถกลับมาดำรงอยู่ในความเป็นปกติ นับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก

ความสนิทชิดเชื้อ

โครงสร้างทางชีวะและระบบประสาทของมนุษย์นั้นสร้างมาให้มนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกัน ดังจะเห็นได้จากวิวัฒนาการของสัตว์ ที่ยิ่งวิวัฒน์สูงขึ้น ก็ยิ่งดำรงอยู่ร่วมกันมากขึ้น เรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น เกื้อกูลกันในครอบครัว ชุมชน และสังคม บางทีผมฟันธงได้เลยว่าพื้นฐานในความเป็นมนุษย์คือการดำรงอยู่ร่วมกัน หรืออยู่อย่างเป็นสมุหภาพ หรือที่เรียกว่าชุมชน คือเมื่อมนุษย์ดำรงอยู่อย่างเป็นปัจเจก หลายครั้งที่คิดอะไรไม่ออก หากได้ตั้งวงสนทนา เราก็คิดเรื่องนั้นๆ ได้ ยิ่งได้มาศึกษาจิตวิทยาสายคาร์ล จุง ยิ่งได้ค้นพบความเป็นไปของการดำรงอยู่ร่วมกันมากขึ้น แน่นอนปัจเจกภาพย่อมมีอยู่ แต่เหนือกว่านั้นก็ยังมีสมุหภาพใช่หรือไม่?

ตัวขับเคลื่อน

ตัวขับเคลื่อนหรือเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ให้เกิดสภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด (Optimum Learning State) ผมเห็นอยู่สองชนิด ซึ่งหากติดตั้งได้แล้ว เครื่องก็จะเดินไปได้เอง

เครื่องหนึ่งคือ ความเป็นองค์กรจัดการตัวเอง อันนี้เป็นไปในระดับปัจเจก แต่เงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเช่นนี้ได้ ยังต้องอาศัยเครื่องยนต์ตัวที่สอง

เครื่องที่สองก็คือ การเชื่อมต่อ การต่อท่อกับอีกคนหนึ่งอย่างสนิทชิดเชื้อ อย่างรับรู้ในกันและกันแบบสมองซีกขวาต่อสมองซีกขวา คือแบบใจถึงใจ ที่เซลล์กระจกในสมองจะสะท้อนกันและกัน เหมือนเข้าถึงลึกๆ ภายในของกันและกัน ต้องมีการฟังอย่างจูนรับความเป็นไปทั้งหมด (attuned listening) ไม่เพียงฟังเฉพาะถ้อยคำเท่านั้น การสื่อสารก็สื่อจากสมองซีกขวา อันเป็นภาษาของอารมณ์ความรู้สึก ภาษาที่เข้าถึงได้ด้วยตัวตนทั้งหมดของเรา

เมื่อเครื่องทั้งสองนี้ทำงานเต็มพิกัดของมันแล้ว ชีวิตเราก็สบายขึ้น เครื่องทั้งสองก็จะขับเคลื่อนไปเอง อันนี้เรียกว่าทางลัดหรือเปล่า?

ความทรงจำแฝงเร้น

ความทรงจำแฝงเร้นนี้เองที่ทำให้เครื่องจักรตัวที่สองไม่ทำงาน

ทำไม? ความทรงจำแฝงเร้น (implicit memory) นี้ มาจากบาดแผลหรือปมในอดีต อันเกิดจากแบบแผนความสนิทชิดเชื้อ (attachment) ทั้งแบบแผนความสัมพันธ์แบบมั่นคง หรือที่ให้ความมั่นคงทางจิตใจได้ (secure attachment) กับแบบแผนความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง (insecure attachment) ซึ่งมีอยู่สามแบบแผน แบบแรกคือ แบบหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ หรือตัดความสัมพันธ์ (avoidance attachment) กล่าวคือคนใกล้ชิดที่น่าจะสนิทสนมกัน แม้จะรัก แต่ก็ไม่ได้ต่อติดสมองซีกขวากับซีกขวา หรือไม่ได้เปิดรับอารมณ์ความรู้สึก เพื่อจะปฏิสัมพันธ์อย่างตอบสนองต่อความรู้สึกในทุกขณะได้อย่างเป็นปัจจุบัน แบบที่สองคือ ความสัมพันธ์แบบต่อท่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง (anxious attachment) เวลาที่ไม่ได้ก็คือช่วงเวลาที่คนใกล้ชิดนั้นกำลังตกไปอยู่ในโหมดปกป้อง ที่ไม่สามารถจะจูนการรับรู้อย่างพร้อมตอบสนองได้ สุดท้ายเป็นแบบแผนที่เลวร้ายที่สุด เกิดจากคนดูแลที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และทำร้ายเด็ก (disorganized attachment หรือ chaotic attachment) จะทำให้เด็กอยู่ในความกลัว แต่ก็ไม่อาจไม่พึ่งพาผู้ใหญ่คนนั้นๆ ได้

สำหรับวัฒนธรรมและความเป็นไปของผู้คนในยุคสมัยนี้ คงมีน้อยมากที่จะได้รับแบบแผนความสัมพันธ์อย่างมั่นคง เพราะฉะนั้น เครื่องจักรตัวที่สองจะเดินไปได้ ก็ต้องเยียวยาความเจ็บปวดที่เกิดจากแบบแผนความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงเหล่านี้

ความทรงจำแฝงเร้นเมื่อมันเข้ามา มันไม่ได้มีป้ายบอกเวลากำกับว่าเกิดที่ไหนเมื่อไร แต่เมื่อมีอะไรมากระตุ้น มันก็โผล่หัวออกมาอาละวาด อย่างเป็นปัจจุบัน และมันมาจากจิตไร้สำนึก ทำให้กลายเป็นว่าเราจะรู้สึกเลวร้ายต่อโลกไปทั้งหมด ต่อผู้คนไปทั้งหมด เรามองโลกบิดเบี้ยวไปทั้งหมด ที่เกิดจากความรู้สึกแย่ๆ ที่ไม่มีราก ไม่มีที่มา (เพราะเราไม่อาจรับรู้) แต่มาแปะกับทุกๆ เรื่องราวที่เข้ามาในชีวิตของเรา

การเยียวยาความทรงจำแฝงเร้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เครื่องยนต์เครื่องที่สองทำงานได้ และหากเครื่องที่สองยังทำงานไม่ได้ เครื่องที่หนึ่งก็ไม่อาจทำงานได้เช่นกัน

ถ้า...เป้าหมายชีวิตคือความสุขที่พอเพียง



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มีนาคม 2556

ปัญหาของคนส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ถูกครอบงำด้วยระบบคิดและวิถีปฏิบัติของ “เศรษฐกิจเสรีทุนนิยม” คือการมุ่งแสวงหาความเกินพอดี

นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งที่เปิดเผยและแอบแฝง ภายใต้วาทกรรมอำพรางที่ฟังแล้วดูดี มีเหตุผล เช่น การแข่งขันเสรี (ที่ผู้ได้เปรียบ สร้างกฏ กติกา รักษาความได้เปรียบอย่างเป็นระบบ) มาตรฐานสากล (ที่ประเทศได้เปรียบกำหนดให้ประเทศต่างๆ ต้องยอมรับและทำตาม ซึ่งเป็นที่มาของวลี “ฟรีแต่ไม่แฟร์”) คุณภาพชีวิตและความปลอดภัย (ของประเทศที่เจริญกว่าใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันประเทศที่ด้อยกว่า) ...

ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกในทุกระบอบสังคม เกิดจากการดิ้นรนอย่างขาดสติ เพื่อความเกินพอดี มากเข้าไว้ ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เฟื่องฟู มุ่งสู่ความเป็นที่หนึ่ง พึ่งพิงและติดกับดักเงินตรา แสวงหาและรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง ทั้งสิ้น

ลองมาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่ครอบงำไปทั่วโลก

การเมือง มุ่งเน้นการเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามหรือคู่แข่ง เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ฝ่ายค้านจะได้ไม่มีพลังมากพอที่จะตรวจสอบและถ่วงดุล นักการเมืองจำนวนหนึ่งไหลไปรวมกันตามผลประโยชน์ อำนาจ และเงินตรา แบบเกินความพอเพียงทั้งสิ้น แล้วใช้วาทกรรมอำพรางให้เคลิ้มตามว่า “รวมเพื่อชาติ” “เพื่อให้ประเทศเดินไปได้ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย”

การเลือกตั้ง (ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย+ทุนนิยม) มีการ (ลงทุน) ใช้เงินมหาศาล มีการโจมตีและพยายามทำลายคู่แข่งในทุกรูปแบบ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอ้างความเป็นผู้นำเรื่องประชาธิปไตย ใช้เงินจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งคล้ายกันในทุกประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย และโดยเฉพาะที่เมืองไทย นักการเมืองและพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งลงทุนเพื่อหวังจะได้มาซึ่งอำนาจ แล้วเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ ใช้เงินภาษีของประชาชน และทรัพย์สมบัติของชาติ ในลักษณะที่บิดเบือน ยึกยัก และทึกทักเสมือนหนึ่งว่าเป็นเงินและทรัพย์สมบัติของรัฐบาลหรือของตนเอง

ทำให้การเมืองกลายเป็นธุรกิจการเมือง ลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนสูงสุด มีการใช้อำนาจในการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม มีการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย และบ่อยครั้งมีการโกงกินทั้งซึ่งหน้าและลับหลัง

หากการเมืองเป็นเช่นที่เป็นอยู่ และถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เราน่าจะต้องหาระบบอื่นที่ดีกว่าปัจจุบัน ที่สามารถคัดกรองหรือสะกัดกั้นไม่ให้คนไม่ดีเข้ามามีอำนาจ ในขณะเดียวกัน ต้องเป็นระบบที่สามารถคัดกรองและสนับสนุนให้คนดีเข้ามาทำหน้าที่

ด้านเศรษฐกิจ ก็มุ่งเน้นการแข่งขัน เพื่อหวังผลกำไรสูงสุด ทุ่มเทโฆษณา ประชาสัมพันธ์สรรพคุณของสินค้าเกินจริง มากกว่าคุณภาพที่แท้จริงของตัวสินค้า เช่นเครื่องดื่มบำรุงกำลัง อาหารเสริมชนิดต่างๆ สินค้าแบรนด์เนมทั้งหลาย ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ การขาดจิตสำนึกสาธารณะ หวังลดต้นทุนของตนเองเพื่อผลกำไร ด้วยการปล่อยหรือนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกสู่ลำคลอง แม่น้ำ และที่สาธารณะอย่างไม่มีความรับผิดชอบ

การศึกษาและสื่อ แทนที่จะช่วยเตือนสติ ให้สติ กับประชาชน ก็กลับไปตอบสนอง “ทุนนิยม” อย่างขาดสติ ยัดเยียดข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดและวิถีปฏิบัติของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมแบบไม่ฉุกคิด จึงมุ่งเน้นแต่การแข่งขัน (เอาชนะผู้อื่น) ยกเว้นการเอาชนะกิเลสตัณหาของตนเอง

ทั้งหมดเป็นผลของความคิดความเชื่อของคนในกระแส (ทุน) โลกาภิวัตน์ ที่กำลังวิ่งไปสู่โลกาวิบัติ

หากยังคิดและทำตามกระแส เราก็จะประสบกับปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น จนถึงจุดวิกฤตในที่สุด

ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ปัญหาหนึ่งใด ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีคิด (จิตสำนึก) ระดับเดียวกับที่สร้างปัญหานั้นขึ้นมา...เราจำเป็นต้องมีวิถีคิดแบบใหม่อย่างแท้จริงหากมนุษย์ปรารถนาที่จะอยู่รอด”

และที่สำคัญเราจะต้องมีสติ ไม่สับสนปนเประหว่างการแก้ปัญหาที่คำนึงถึงผลระยะสั้นกับผลกระทบระยะยาว ระหว่างผลประโยซน์เฉพาะคนเฉพาะกลุ่มกับผลประโยชน์สาธารณะ ระหว่างการแก้ไขปัญหาหรือความล้มเหลวในอดีตกับการสร้างความสุขความสำเร็จในอนาคต

ถึงเวลาที่เราต้องมาช่วยกันคิดเพื่อสร้างระบบการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา โดยการนำปรัชญาพอเพียงของในหลวงมาเป็นพื้นฐานการพัฒนาอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง แล้วเผยแพร่ไปทั่วโลก

สิ่งที่ยากที่สุด ท้าทายมากที่สุด คือการเปลี่ยนความคิดความเชื่อของคน ด้วยการทำให้คนเรียนรู้เท่าทันทั้งแนวคิดและวิถีปฏิบัติของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ตลอดจนเรียนรู้ปรัชญาพอเพียง เพื่อให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียง

ระบบการศึกษาเป็นระบบแรกที่จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูป ไม่ใช่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แต่เพื่อให้รู้เท่าทันตนเอง ผู้อื่น สังคมไทย สังคมโลก และสรรพสิ่ง

การให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างและพัฒนาคน โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชน จึงต้องเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ

หากเราสามารถเปลี่ยน (Transform) ฐานความคิดความเชื่อของคนผ่านระบบการศึกษาในทุกรูปแบบ ประเภท และระดับการศึกษา จากการถูกครอบด้วยแนวคิดและแนวปฏิบัติของทุนนิยม ไปสู่แนวคิดและแนวปฏิบัติของความพอเพียงได้ คนเหล่านี้ก็จะมีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์คนและสังคมให้มีความสุขบนฐานของปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชาวไทย

เพื่อนำไปสู่...เป้าหมายของชีวิตคือ ความสุขที่พอเพียง

ปัญญาญาณจากแค้บหมู



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 มีนาคม 2556

ผมมีภารกิจที่ต้องซื้อของฝากจากเชียงใหม่กลับบ้าน เลยได้มีโอกาสแวะไปที่กาดต้นพยอม เป็นตลาดเล็กขายอาหารพื้นเมืองของทางเหนือจำพวก ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แค้บหมู ฯลฯ แต่ภารกิจที่ดูหมูๆ กลับไม่หมู เพราะร้านขายแค้บหมู น้ำพริกหนุ่ม มีเป็นสิบๆ ร้าน มีให้เลือกละลานตาไปหมด แต่ละร้านก็ดูเก่าแก่ไม่แพ้กัน บางร้านมีรีวิวจากหนังสือแนะนำสถานที่กินของญี่ปุ่น บางร้านก็มีป้ายรางวัลติดอยู่ แต่อย่างไรก็ดี สภาพทั่วไปของร้านก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เมื่อเขาลองให้ชิมดูก็พบว่ารสชาติก็ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ปัญหาจึงมาตกอยู่กับผมว่าจะตัดสินใจซื้อร้านไหน พูดง่ายๆ ก็ขึ้นอยู่กับผมเองนั่นแล

ผมจึงอาศัยสามัญสำนึกและเหตุผลง่ายๆ ว่า ถ้าร้านไหนดูมีลูกค้ามุงอยู่เยอะๆ ก็น่าจะเป็นเจ้าอร่อย และหลีกเลี่ยงร้านที่ไม่มีใครซื้อเลย แต่ใครจะไปรู้ล่ะครับ ลูกค้าที่กำลังมุงๆ อยู่ก็อาจจะไม่รู้อะไรมากกว่าผม และเหตุผลที่เขาเลือกร้านนั้นก็อาจจะเป็นเพราะเดินดุ่มเข้าไปมั่วๆ ก็ได้ และก็มีลูกค้ารายที่สองซึ่งใช้ตรรกะแบบที่ผมกำลังคิดอยู่ เดินเข้าไปสมทบ หรือที่เรียกว่าไทยมุง ซึ่งเป็นผลให้ความหนาแน่นของคนที่ยืนหน้าร้านเพิ่มขึ้น จนดึงดูดลูกค้ารายต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่รสชาติของแค้บหมูเจ้านั้นอาจจะไม่ได้อร่อยกว่าเจ้าอื่นๆ เลยเสียด้วยซ้ำ คุณอาจจะคิดว่าบางคนเขามาซื้อเพราะมีคนบอกต่อ แต่อาการบอกต่อนี่แหละครับ มันเกิดจากอาการไทยมุงก่อน เพราะถ้าไม่มุง ไม่ซื้อ โอกาสบอกต่อมันจะมีได้อย่างไร ดังนั้น แม้แต่การบอกต่อ หรือ Word of Mouth ก็อาจจะเชื่อถือไม่ได้เสียด้วยซ้ำ แต่เราก็เชื่อ เชื่อเพราะเป็นญาติ เป็นมิตรของเรา ซึ่งใครจะไปรู้ ตัวเขาเองอาจจะไม่ได้เคยชิมเจ้าอร่อยกว่าซึ่งอยู่แผงติดกันเลยก็ได้ ก็เชื่อกันต่อๆ มา และอ้างอิงกันต่อๆ มา เวลาผ่านไป ร้านแค้บหมูเจ้านั้นก็จะกลายเป็นร้านดัง ต้องทำแค้บหมูมากขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าที่มามากขึ้น ส่วนร้านข้างๆ ก็จะกลายเป็นร้านเล็กๆ อาจจะดูซอมซ่อ ไม่มีเงินมาตกแต่งร้าน และสินค้าในร้านก็พลอยดูไม่สดใหม่เท่ากับร้านข้างๆ เครดิตหรืออำนาจต่อรองในการซื้อหมูที่มีคุณภาพก็ลดลง ผู้ขายหมูที่ดีมีคุณภาพก็จะเต็มใจขายหมูให้กับร้านดังเพราะเครดิตดีกว่า ส่งผลให้แค้บหมูร้านดังยิ่งอร่อยขึ้นเรื่อยๆ และร้านอื่นๆ ก็อร่อยน้อยลงเรื่อยๆ

พวกท่านอาจจะสงสัยว่า ไอ้การทดลองทางความคิด (Thought Experiment) เรื่องแค้บหมูที่ผมร่ายมานี้ มันไปเกี่ยวอะไรกับเรื่องของจิตวิวัฒน์ เกี่ยวแน่นอนสิครับ เพราะอาทิตย์ก่อนได้คุยเรื่องการรับรองคุณภาพในสถาบันการศึกษากับเพื่อนอาจารย์ของผมคนหนึ่ง เพื่อนผมกล่าวว่า ถ้าหากเธอไม่ต้องเสียเวลากับการประเมินคุณภาพ เธอคงจะมีเวลาเหลือในการสร้างสรรค์งานในด้านการเรียนการสอนมากกว่านี้ ดอกเตอร์สาวเพื่อนของผมไม่ใช่คนแรกและคนเดียวที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ผมได้ยินเรื่องทำนองนี้ออกบ่อย และตราบใดที่เรายังไม่มี “มหาวิชชาลัย” ที่อาจารย์​ประเวศ วะสี วาดฝันเอาไว้ มหาวิทยาลัยของเราก็จะยังคงมุ่งเข็มไปเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับโลก ซึ่งหมายถึงมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่มีอิมแพ็คแฟคเตอร์สูง ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการสร้างมนุษย์ที่มีจิตใหญ่ มนุษย์ผู้ตื่นรู้ด้วยปัญญา อย่างที่อาจารย์หมอประเวศของผมใฝ่ฝัน (และผมก็ไม่หวังว่าก่อนตายผมจะได้เห็น)

ทีนี้ การอ้างอิงทางวิชาการนั่นเป็นอย่างไร ผมต้องอธิบายให้กับผู้อ่านที่ไม่มีพื้นความรู้ฟังสักนิด การอ้างอิงทางวิชาการนั้นหมายถึง ถ้าใครจะทำงานทางวิชาการ จู่ๆ จะทำขึ้นมาลอยๆ เลยไม่ได้ ต้องมีการอ้างอิงไปถึงผลงานทางวิชาการที่มีผู้ทำมาก่อนหน้าเราแล้ว และถ้าจะให้ดีจะต้องอ้างอิงงานของผู้ที่น่าเชื่อถือ พูดง่ายๆ ก็ต้องอ้างจากผลงานที่เป็นที่รู้จัก ที่ชาวบ้านเขาอ้างกันนั่นแล ไม่ใช่ไปอ้างของนาย ก. นาย ข. หรือชาวบ้าน ตาสี ตาสา ที่ไหนซึ่งวงการเขาไม่ยอมรับ เมื่ออ้างอิงแล้วก็ต้องส่งผลงานทางวิชาการไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ ซึ่งยิ่งเป็นวารสารที่ได้รับความเชื่อถือสูง หรือเรียกว่ามีอิมแพ็คแฟคเตอร์สูง ก็ยิ่งดี ถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลกยิ่งมาก ก็จะได้คะแนนสูง ซึ่งส่งผลไปถึงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า Ranking และตัวเลขคะแนนอันดับนี่เอง คือตัวเลขที่อธิการบดีทุกคนรอลุ้นทุกๆ ปี เพราะมันอาจจะผูกอยู่กับโบนัสที่ตนเองจะได้รับตอนปลายปี หรือ ความมั่นคงของขาเก้าอี้ตัวเอง เฮ้อ...เหนื่อย

เรื่องน่าแปลกอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงที่การอ้างอิงทางวิชาการที่ดูสูงส่ง บางทีมันก็ไม่ต่างอะไรกับการเลือกร้านเพื่อซื้อแค้บหมูหรอกครับ คือเกิดเพราะการเดาสุ่มแท้ๆ ไม่ได้มีอะไรวิเศษวิโส นักวิชาการบางคนที่ถูกอ้างอิงมากๆ ในตอนเริ่มแรกก็ไม่ได้มีความเก่งกาจเหนือกว่าคนอื่นๆ คล้ายกับการที่ร้านแค้บหมูชื่อดัง อาจจะไม่ได้มีรสชาติดีกว่าร้านอื่นๆ สักเท่าใด ดังนั้น ที่ขายดีกว่าจึงเป็นเรื่องที่บางคนเรียกว่า “โชค” ล้วนๆ

ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า แมธธิว เอฟเฟ็ค ซึ่งมาจากนักสังคมศาสตร์ชื่อ โรเบิร์ต เค เมอร์ตัน ที่ทำการศึกษาการอ้างอิงทางวิชาการของนักวิชาการ และพบว่านักวิชาการส่วนใหญ่อ้างอิงข้อความทางวิชาการโดยไม่ได้อ่านเอกสารจริงเลย แต่อ่านเอกสารฉบับหนึ่งและหยิบเอาแหล่งอ้างอิงของงานนั้นมาอ้างอิงในงานของตัวต่อไป คนที่สาม สี่ ห้า ก็ทำอย่างเดียวกัน จนเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง จะมีชื่อของนักวิชาการเพียงสองสามคนที่โดดเด่นขึ้นมา และปรากฏอยู่ในงานของทุกๆ คนต่อจากนั้น ซึ่งเขาพบว่าทั้งหมดเป็นเพียงแค่การเลือกมาแบบสุ่มๆ หรือเป็นเพียง “โชค” ของผู้ที่ถูกเลือกเท่านั้น อย่างที่บอกว่า เมื่อเริ่มต้น นักวิชาการเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงนักวิชาการธรรมดา แต่เมื่อถูกอ้างอิงมากเข้า ก็กลายเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงขึ้นมา และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงก็จะมีความก้าวหน้าในอาชีพของตนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีผู้อยากให้ทุนสนับสนุน มีตำแหน่งรองรับ ในขณะที่นักวิชาการที่ไม่ถูกอ้างอิงก็ต้องล้มหายตายจากไปจากวงการ หรือไปประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เป็นที่ปรึกษาในบริษัทเอกชน เป็นต้น


วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่าไม่มีคำอธิบายในเรื่องนี้นอกจากจะยกให้เป็นเรื่องของ “โชค” หรือการสุ่มโดยสัมบูรณ์​ แต่ถ้ามองในแง่จิตวิญญาณบางคนอาจจะคิดไปถึง “พระเจ้า” “พรหมลิขิต” หรือ “พลังจักรวาล” ส่วนในทางพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นเรื่องของ “กรรมและวิบากกรรม”

แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร เราควรจะละวางจากความเห็นที่ว่า อะไรต่อมิอะไรมันสามารถถูกทำให้อยู่ในความควบคุมและจัดการของเราได้เสียที ในหนังสือ The Black Swan ของ นาสซิม นิโคลัส ทาเลบ เตือนเราให้ระวังถึงการพยากรณ์ทุกรูปแบบ และเลิกความเห็นที่ว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เหตุการณ์หงษ์ดำ หรือ The Black Swan จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้และไม่มีการบอกล่วงหน้า และผลของมันจะรุนแรงอย่างยากที่ใครจะสามารถเตรียมการรับมือได้ เหตุการณ์อย่างสึนามิที่ภาคใต้ของไทย เป็นเครื่องยืนยันว่า เราต้องสลัดจากความคิดที่ว่าเราคุ้นเคยกับโลกใบนี้ โลกที่เราเกิดมาอยู่อาศัยและตายไปเพียงไม่กี่สิบปีเท่านั้น


การแสวงหาการรับรองจากความรู้ภายนอกนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดอีกต่อไป เพราะโลกนี้มีความซับซ้อนเกินกว่าเราจะคาดเดา และทำความเข้าใจได้ทั้งหมด และบรรดากูรูต่างๆ ก็เชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป (เพราะไม่มีใครสามารถศึกษาเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง) แล้วเรายังเหลือทางเลือกใด?


ผมมองว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของประวัติศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ด้านใน องค์ความรู้ด้านจิตวิวัฒน์กำลังเบ่งบานในสังคมไทย การเรียนรู้เรื่องตนเองโดยครูบาอาจารย์ที่ชี้ทางให้เราสามารถเป็น “สัปบุรุษ” ผู้รับรองตัวเองได้ ย่อมเปรียบเสมือนเรามีปลายวงเวียนที่ปักลงอย่างแน่วแน่ เมื่อนั้นเราก็ไม่ต้องแสวงหาการรับรองจากผู้อื่น อิสรภาพที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ ผมมองเห็นประโยชน์ขององค์ความรู้ที่ทำให้เราสัมผัสความจริงที่เกิดขึ้นกับใจของเราได้ การเรียนรู้เรื่องปรัชญาความคิดที่แหลมคมพิสดารโดยไม่นำพาไปสู่ความรู้จักตัวเอง เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ องค์ความรู้ทางจิตวิทยาและสังคมวิทยาที่อ้างอิงอยู่เพียงการทดลองทางสถิติ ในกลุ่มตัวอย่างจำนวนจำกัด ก็ยังมีประโยชน์น้อย นาสซิมบอกว่ามนุษย์เราชอบเรียนรู้ข้อมูล (facts) แต่ไม่เรียนรู้กระบวนการ (rules) ดังนั้น การเรียนรู้จึงไม่ได้วัดกันที่ตัวความรู้ว่าเรารู้อะไร แต่เราต้องเข้าไปให้ถึงความรู้นั้น สำหรับผมถือคติที่อาจารย์​ประสาท ประเทศรัตน์ กระบวนกรแห่งสภาสันติภาพโลก เคยกล่าวไว้

“ความรู้ใดก็ตามที่นำไปใช้กับตัวเองไม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นความรู้”

ความรู้ตนจึงไม่ใช่รู้เพื่อนำมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา แล้วเอาไปเล่าให้ใครฟังเป็นคุ้งเป็นแคว แต่เป็นความรู้ถึงกระบวนการทำงานของจิตใจ และเข้าใจในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองในขณะนี้และเดี๋ยวนี้ ความรู้ด้านในที่เน้นวิเคราะห์จิตใจผู้อื่นจึงใช้ไม่ได้ และเป็นการเล่นปาหี่ทางจิตวิญญาณ นอกจากนี้ ผมยังเชื่ออีกว่าความรู้ชนิดนี้ซื้อหาด้วยเงินไม่ได้ จะได้มามีเพียงวิธีเดียวคือการเอากาย ใจ และความพากเพียรเข้าแลกเท่านั้น บางคนแย้งว่าถ้ารับรองตัวเองได้ แล้วใครจะรู้ ใครจะเชื่อถือ ผมก็จะตอบเขาว่า “ถ้าเรามีความจริงใจกับตัวเอง เราจะรู้ว่าเรามีคุณธรรมแค่ไหน รู้อยู่กับตัว ตำหนิตัวเองได้ รับการตำหนิจากผู้ที่เป็นบัณฑิตได้ และไม่ต้องการให้ใครมาเชื่อถือ”

Back to Top