เมษายน 2013

ชีวิตที่ดีกว่าเดิม
ช่องว่างระหว่างมนุษย์ต้องน้อยลง



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 เมษายน 2556

ในโรงแรมใหญ่กลางเมือง ติดกับเขตท่องเที่ยวกลางคืนของบางกอก แขกกลุ่มหนึ่งจำนวนนับสิบคน แต่งกายด้วยชุดชนเผ่า บางคนไม่สวมรองเท้า เดินคลาคล่ำอยู่บริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน ผู้บริหารโรงแรมตกใจถึงขนาดโทรศัพท์หาฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดของโรงแรมเพื่อสอบถามว่าผู้คนเหล่านี้มาจากไหน เมื่อทราบว่าเป็นแขกของโรงแรมที่เดินทางมาร่วมงานเทศกาลความเป็นธรรมซึ่งจัดอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยบนถนนฝั่งตรงข้าม ก็สั่งการให้เชิญผู้คนเหล่านี้ไปนั่งรอกระบวนการเช็กอินในห้องอีกห้องหนึ่งเป็นการพิเศษ และอาจจะเรียกได้ว่าเก็บให้พ้นหูพ้นตานักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นการรักษาภาพลักษณ์ของโรงแรมระดับสี่ดาว ทั้งที่จะว่าไปแล้ว แขกของโรงแรมชุดนี้เพียงแต่แต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าของตน และจ่ายค่าที่พักให้กับโรงแรมเหมือนกับลูกค้าจีนและฝรั่งที่เดินเข้ามาในฐานะทัวริสต์

เมื่อรถจากัวร์สีดำจอดเทียบบริเวณหน้าประตูโรงแรมห้าดาวกลางเมือง พนักงานโรงแรมกุลีกุจอเข้ามาเปิดประตูด้านหลัง ผู้โดยสารที่สวมสูทดำเพียงแต่ก้าวเท้าออกจากรถแล้วเดินเข้าประตูโรงแรมไป คนขับรถยื่นธนบัตรสีแดงให้ใบหนึ่งแล้วพูดสั้น-สั้นว่าช่วยดูรถให้ด้วย เมื่อรับแล้วพนักงานโรงแรมก็ยกกรวยกั้นที่จอดรถด้านหน้าออกแล้วให้สัญญาณเข้าจอด เข้าใจว่าขากลับอาจจะได้รับอีกสักใบสองใบ

อดีตนักธุรกิจหญิงท่านหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อลาออกจากงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง วันหนึ่งไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร เธอรู้สึกอับอายมากที่ต้องเข้าคิวเหมือนลูกค้าธรรมดา-ธรรมดาคนอื่น เพราะปรกติเรื่องเหล่านี้จะมีลูกน้องจัดการให้ หรือเดินเข้าไปแล้วก็จะได้รับการต้อนรับในฐานะแขกพิเศษ
หากเราไปที่ห้างสรรพสินค้าจะพบว่า ที่จอดรถส่วนหนึ่งจะถูกกันไว้ให้ผู้ถือบัตรพิเศษยี่ห้อต่าง-ต่าง ซึ่งหากเปรียบเทียบจำนวนพื้นที่ที่ถูกกันไว้ดูเหมือนจะมากกว่าที่จอดรถสำหรับคนพิการหรือผู้หญิงเสียด้วยซ้ำ แล้วถ้าก้าวเท้าเข้าไปในห้าง พื้นที่บางส่วนก็จะถูกจัดสรรไว้ให้ผู้ถือบัตรสินค้าบางยี่ห้อให้เข้าไปนั่งพักหรือดื่มน้ำชากาแฟแบบไม่จ่ายเงิน สำหรับคนที่ต้องขับรถวนหาที่จอดรถและ/หรืออยากได้ที่นั่งพักเหนื่อยโดยไม่เสียสตางค์ ก็คงต้องคิดหรือรู้สึกที่อยากจะครอบครองบัตรเหล่านั้นบ้างไม่มากก็น้อย

ทุกแห่งทุกหนในเมืองไทยดูเหมือนจะมีการจัดแบ่งพื้นที่ที่แบ่งแยกความเป็นคนพิเศษ-ธรรมดาออกจากกันอย่างเด่นชัด และดูเป็นเรื่องปรกติธรรมดาเสียเหลือเกิน กระทั่งว่าในสำนักงานบางแห่ง หากเดินเข้าไปแล้ว สามารถดูออกได้ไม่ยากว่า ตรงไหนคือที่ของนาย ตรงไหนคือที่ของลูกน้อง และตำแหน่งใครใหญ่เล็กกว่าใคร ก็ด้วยขนาดของพื้นที่หรือขนาดของพาร์ติชันที่กั้นไว้ ส่วนกลุ่มคนที่มีฐานะตำแหน่งต่ำต้อยที่สุดในสำนักงาน อย่างเช่น ผู้หญิงที่เป็นพนักงานทำความสะอาด ผู้ชายที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย อาจจะไม่มีกระทั่งพื้นที่สำหรับนั่งกินข้าวหรือพักกลางวันด้วยซ้ำ และที่รุนแรงมากขึ้นเห็นจะเป็นว่า ห้องพักในคอนโดมิเนียมราคาแพงสำหรับเศรษฐี ลืมออกแบบห้องพักสำหรับคนรับใช้ และต้องใช้ห้องเก็บของที่ไม่มีหน้าต่างไม่มีทางระบายอากาศเป็นที่พักแทน

ความแตกต่างที่สะท้อนผ่านพื้นที่ทางกายภาพเหล่านี้ ยังสะท้อนไปถึงขนาดของเงินเดือนในกระเป๋าของแต่ละคนด้วย ดังผลการสำรวจของบริษัทเฮย์ กรุ๊ปในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ยืนยันว่า เงินเดือนผู้บริหารไทยอาจจะสูงกว่าเงินเดือนพนักงานระดับล่างถึง ๑๐ เท่า ในขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ มีความต่างอยู่เพียง ๓ เท่า เรียกได้ว่ามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนสูงเป็นอันดับ ๒ ของเอเชียเลยทีเดียว

แต่เมื่อมองไปที่สัดส่วนรายได้ของรัฐจากภาษี คนรวยที่มีรายได้มากกว่าครอบครองทรัพย์สินมากกว่ากลับเสียภาษีในสัดส่วนที่น้อยกว่าภาษีประเภทอื่นที่เก็บจากทุกคน (ร้อยละ ๔๒.๓ และร้อยละ ๕๑.๒ ตามลำดับ) แล้วก็เช่นเคย – อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่กลับหัวกลับหางกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างนอร์เวย์ สวีเดน สหราชอาณาจักร

โดยทั่วไปแล้ว สังคมศักดินาไทยเชื่อว่า ยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบก็ต้องยิ่งสูงขึ้น ผลตอบแทนก็ย่อมสูงขึ้นตาม ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกับความเชื่อแบบทุนนิยมเสรีที่เชื่อเรื่องการแข่งขันว่า ใครเก่งหรือเจ๋งกว่า คนนั้นก็รับผลตอบแทนมากกว่า แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้ยืนยันความเชื่อเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย เพราะกลายเป็นว่า ยิ่งตำแหน่งสูง เงินเดือนมาก แต่จ่ายภาษีให้หลวงน้อยลง คืนกลับมาสร้างสาธารณประโยชน์น้อยลง กระทั่งว่าที่ได้ตำแหน่งสูง เงินเดือนมาก ก็ไม่ใช่เพราะฝีมือ หากเป็นเรื่องของนามสกุล พวกพ้อง เครือข่าย และบ่อยครั้งก็อาศัยสติปัญญาและความสามารถของคนที่ตำแหน่งต่ำกว่าและเงินเดือนน้อยกว่าแทบทั้งนั้น กล่าวโดยย่อ สิทธิพิเศษของผู้คนเหล่านี้ได้รับมาด้วยราคาที่จัดว่าถูกเกินไปและด้วยค่าใช้จ่ายของคนอื่นด้วยซ้ำ

การสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้ ก็ต้องเริ่มจากการมองให้เห็น “วิธีคิด” ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องชอบธรรมนั่นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวนโยบายทั้งหลายที่เน้นเรื่องการเติบโต ซึ่งในที่สุดก็จะมุ่งไปที่ประโยชน์ของกลุ่มคนรวย และสร้างภาพลวงตาของการพัฒนาประเทศตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา นั่นคือ เงินในกระเป๋าคนรวยเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเฉลี่ยตัวเลขจีดีพีสูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนจะดีขึ้น เพราะช่องว่างความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่มาก ดังที่ค่าเฉลี่ยตัวเลขจีนี (Gini coefficient - วิธีวัดการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวย) ของเราอยู่ในอันดับต้นของโลกมาหลายสิบปีแล้ว

แนวนโยบายที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนโดยรวมดีขึ้น เป็นสุขร่วมกันมากขึ้น จะต้องเน้นไปที่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ต้องตั้งคำถามให้มากขึ้น สงสัยกันให้มากขึ้น ว่านโยบายแบบใดนำไปสู่ผลแบบใด และต้องปฏิเสธแนวทางที่สร้างระยะห่างหรือช่องว่างระหว่างมนุษย์กันให้มาก

ในสังคมประชาธิปไตยที่แท้นั้น ไม่ได้สนใจแต่เพียงเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ยังต้องคำนึงถึงภราดรภาพอีกด้วย ผู้คนต้องเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันมากขึ้น เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น แม้จะขัดแย้งในทางความคิด แต่ก็เป็นมิตรต่อกันมากขึ้นในความเป็นมนุษย์

ปฏิรูปการศึกษาด้วยกาเมร่า



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 เมษายน 2556

กาเมร่า (Gamera) เป็นหนังสัตว์ประหลาดของไดเอะโมชั่นพิคเจอร์ที่เข็นออกมาเพื่อเทียบฟอร์มกับก๊อดซิลล่าของโตโฮโดยเฉพาะ และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นับเป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคสัตว์ประหลาด (Kaiju Film) ของญี่ปุ่นอย่างเต็มภาคภูมิ

กาเมร่าออกฉายครั้งแรกปี ค.ศ. ๑๙๖๕ ตามหลังก๊อดซิลล่าตอนแรกคือ Gojira ปี ๑๙๕๔ ถึง ๑๑ ปี ในเวลาที่กามาร่าตอนที่หนึ่งออกฉายนั้น ก๊อดซิลล่าฉายเป็นตอนที่ ๖ แล้วคือ Invasion of Astro-Monster ซึ่งฉายในประเทศไทยโดยให้ชื่อว่า สัตว์ดึกดำบรรพ์ถล่มพิภพ

ผมดูก๊อดซิลล่าครั้งแรกในชีวิตก็เป็นตอนที่ ๕ เข้าไปแล้ว เรื่อง Ghidorah, the Three-Headed Monster ในชื่อภาษาไทยว่า สัตว์ล้านปีทลายโลก เป็นหนังเปิดตัวมังกรสามหัวคิงกิดอร่าที่จะเป็นคู่ปรับตลอดกาลของก๊อดซิลล่าในเวลาต่อมา ส่วนกาเมร่านั้นผมดูครั้งแรกคือตอนที่ ๓ เรื่อง Gamera vs Gyaos ในชื่อภาษาไทยว่า เต่าไฟกายสิทธิ์ ออกฉายเมื่อปี ๑๙๖๗

กาเมร่าคือเต่าไฟ มันยืนสองขาพ่นไฟได้ มันหดหัว เท้าทั้งสี่และหาง แล้วปล่อยเปลวไฟออกมารอบตัว จากนั้นหมุนควงสว่านขึ้นสู่ท้องฟ้าและอวกาศได้ เป็นเทพผู้พิทักษ์โลก คอยป้องกันศัตรูที่เป็นสัตว์ยักษ์จากทั่วสารทิศ ในตอนที่กาเมร่าปะทะค้างคาวยักษ์กียาออสซึ่งผมได้ดูครั้งเป็นเด็กประถมนั้น กียาออสปล่อยคลื่นเสียงซูเปอร์โซนิกสีเหลืองตัดอาคารบ้านเรือน เรือ เครื่องบิน รถไฟขาดเป็นสองท่อนน่าดูชม เวลามันหิวหรือโกรธจะเรืองแสงสีเขียว เลือดของมันเป็นสีม่วง ส่วนกาเมร่ามีเลือดเป็นสีเขียว

กียาออสจะปรากฏตัวเมื่อสิ่งแวดล้อมของโลกขาดสมดุล ตอนที่กาเมร่าปะทะกียาออสครั้งแรกในปี ๑๙๖๗ นั้น ไม่ได้บอกชัดเจนว่าสัตว์ยักษ์ทั้งสองตัวมาจากไหน กาเมร่าปะทะกียาออสอีกครั้งในฉบับสร้างใหม่ปี ๑๙๙๕ เรื่อง Gamera: Gardian of the Universe ซึ่งเป็นหนังที่ได้รับคำชมจากทั่วโลกล้นหลาม แม้นักวิจารณ์ระดับโลกก็ต้องยกสองนิ้วยอมรับว่า นี่คือหนังสัตว์ประหลาดที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

ในฉบับสร้างใหม่นี้เอง หนังบอกว่าสัตว์ยักษ์ทั้งสองเกิดจากพันธุวิศวกรรม กียาออสถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยขจัดมลพิษให้แก่โลก แต่หลุดออกจากการควบคุม มันจึงไม่เพียงขจัดมลพิษ แต่ยังทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้ารวมทั้งผู้ก่อมลพิษด้วย ซึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง

ตอนที่ก๊อดซิลล่าปรากฏตัวครั้งแรกในหนังเรื่อง Gojira ปี ๑๙๕๔ นั้น ก๊อดซิลล่าเกิดจากการทดลองระเบิดปรมาณู เวลานั้นญี่ปุ่นเพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่สองได้ไม่นาน ความคับข้องใจต่อระเบิดปรมาณูยังไม่หมดสิ้น มิหนำซ้ำสหรัฐอเมริกายังทดลองระเบิดไฮโดนเจนที่หมู่เกาะปะการังบิกินีจนเป็นเหตุให้ลูกเรือชาวประมงลำหนึ่งของญี่ปุ่นถูกรังสีถึงตายในเวลาต่อมา ๒๓ คน

ก๊อดซิลล่าจึงเป็นตัวแทนของระเบิดปรมาณู มันขึ้นฝั่งและเหยียบโตเกียวพินาศเป็นทะเลเพลิง

ก๊อดซิลล่ามีทั้งสิ้น ๒๘ ตอน ส่วนกาเมร่ามีทั้งสิ้น ๑๒ ตอน

กาเมร่าในยุคโชวะ (Showa) มีทั้งหมด ๘ เรื่อง ในยุคเฮเซ (Heisei) มีทั้งหมด ๓ เรื่องเป็น ไตรภาคเกี่ยวเนื่องกัน ส่วนกาเมร่าในสหัสวรรษใหม่เพิ่งจะมีเรื่องเดียวคือ Gamera the Brave ปี ๒๐๐๖

เวลาพูดถึงยุคโชวะของสัตว์ประหลาดมิได้แบ่งตามราชวงศ์ของจักรพรรดิญี่ปุ่น โดยเริ่มนับตั้งแต่ปี ๑๙๕๔ ที่ก๊อดซิลล่าตัวแรกปรากฏจนถึงปี ๑๙๘๐ อันเป็นตอนสุดท้ายของกาเมร่า ๘ เรื่องแรก ก่อนหน้าปี ๑๙๕๔ ไม่มีหนังสัตว์ยักษ์ในญี่ปุ่น หลังปี ๑๙๘๐ ไม่มีหนังสัตว์ยักษ์อยู่นาน ๔ ปี


ยุคโชวะของประเทศญี่ปุ่นหมายถึงช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นปกครองโดยสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตตั้งแต่ปี ๑๙๒๖ ถึงปี ๑๙๘๙ เป็นยุคสมัยที่ยาวนานที่สุด โดยมีหมุดหมายสำคัญคือการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองในปี ๑๙๔๕

ตั้งแต่ปี ๑๙๒๖-๑๙๔๕ ญี่ปุ่นอยู่ใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของกองทัพอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งเห็นเด่นชัดในปี ๑๙๓๗ เมื่อญี่ปุ่นยกทัพบุกประเทศจีน เป็นเวลาแห่งความรุ่งเรืองของจักรวรรดิญี่ปุ่นก่อนที่จะถูกทำลายลงด้วยระเบิดปรมาณูในปี ๑๙๔๕ หลังจากนั้น ญี่ปุ่นหมดสิ้นทุกอย่างและอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกานาน ๗ ปี จนถึงปี ๑๙๕๒ จึงมีการคืนอำนาจการปกครองและญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตยอันมีสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นศูนย์รวมจิตใจมาจนถึงปัจจุบัน

การเกิดขึ้นอย่างบ้าคลั่ง การทำลายญี่ปุ่นเมืองต่อเมืองด้วยสัตว์ยักษ์จำนวนมหาศาล ทั้งที่เกิดจากน้ำมือของก๊อดซิลล่าและกาเมร่า หรือเกิดจากฝ่าเท้าของสัตว์ยักษ์ฝ่ายร้ายตัวอื่นๆ มิใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นทั้งการระบายความคับข้องใจ การโยนกลอง การเปลี่ยนประเด็นที่ชวนให้ไม่สบายใจ และเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูจิตใจและสังคม หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ยุคเฮเซของสัตว์ยักษ์เริ่มต้นด้วย The Return of Godzilla ในปี ๑๙๘๔ หลังจากที่ก๊อดซิลล่าหายหน้าไปสิบปี แม้ว่าปี ๑๙๘๔ จะอยู่ในยุคโชวะจริงๆ ก็ตาม ทั้งนี้เพราะทั้งก๊อดซิลล่าและกาเมร่ากำลังกลับมาด้วยเรื่องราวใหม่หรือด้วยการปัดฝุ่นเรื่องเดิม ด้วยช่วงเวลาใหม่ และเทคโนโลยีการสร้างแบบใหม่ ที่สำคัญคือด้วยประเด็นของสหัสวรรษใหม่ นั่นคือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีชีวภาพ

เมื่อครั้งเป็นเด็กชั้นประถม ผมอยากเรียนวิชาก๊อดซิลล่าและกาเมร่ามาก แต่ไม่มีครูคนไหนยอมสอนเลย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ก๊อดซิลล่าและกาเมร่าได้บูรณาการวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ได้ผนวกวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมศึกษา ประชาสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ และความเป็นพลเมือง ครบครัน

ในหนังก๊อดซิลล่าและกาเมร่าหลายสิบตอน มีฉากเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อยื่นกระทู้ถามรัฐบาลถึงแนวทางปราบสัตว์ยักษ์เสมอ มีบ้างบางตอนถึงกับยื่นญัตติด่วนเพื่อผ่านพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปราบปรามสัตว์ยักษ์โดยเฉพาะ ในหนังก๊อดซิลล่าตอนหลังๆ ก๊อดซิลล่าต้องร่วมมือกับสัตว์ยักษ์หลายตัวเพื่อพิทักษ์โลก จะเห็นว่าก๊อดซิลล่าก็ต้องมีความเป็นพลเมือง เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความแตกต่าง

การปฏิรูปการศึกษาไม่ควรทำเพียงเรื่องเล็กน้อย เช่น การปรับหลักสูตร การพัฒนาครูให้สอนเก่ง หรือการออกข้อสอบแบบใหม่ การปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องถอนรากถอนโคนระบบเดิมให้หมดเพื่อเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ นั่นคือเด็กๆ เรียนอะไรก็ได้ จากที่ไหนก็ได้

ซึ่งเป็นจริงได้เมื่อครูเปลี่ยนบทบาทของตนเองอย่างสิ้นเชิง สามารถหยิบอะไรรอบตัวที่เด็กสนใจมาชวนเด็กเรียนรู้ และสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการได้เช่นกัน

หมายเหตุ: กาเมร่ายังไม่เคยปะทะก๊อดซิลล่าจริงๆ ในหนังเรื่องใดๆ

พี่มาก..และโรคแห่งยุคสมัย



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 เมษายน 2556

ไปดูมาหรือยัง ภาพยนตร์ไทยที่ร้อนแรงพอๆ กับอุณหภูมิเดือนเมษายน พี่มาก..พระโขนง

ถ้าคิดว่ามันเป็นแค่หนังตลกที่ขายดารา ขายแก๊ก ก็ถูกครับ แต่มันมีอะไร “มาก” กว่านั้น

หนังไทยเรื่องนี้ผู้สร้างได้นำเอามายาคติที่มีอยู่ในสังคมไทยมา “รื้อสร้าง” เสียใหม่ โดยเปลี่ยนมุมมองที่เราคุ้นชินไปสวมแว่นของตัวละครซึ่งแต่เดิมเคยรับบทเป็น “ตัวรอง” อย่างพี่มาก ผ่านมโนทัศน์ของคนยุค Gen Y ซึ่งมีลักษณะ “ยั่วล้อ” กับคุณค่าและขนบที่แต่เดิมถูกจัดว่าเป็นสิ่งต้องห้าม หรือของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยโบราณ​ ก็ถูกแทนด้วยภาษา “งุงิ” ความกล้าหาญในอุดมคติของบุรุษไทย ถูกแทนด้วยความแอ๊บแบ๊วสไตล์เกาหลี ความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลก็พยายามจะแทนด้วยคำอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่องการยืดแขนของแม่นาค แต่ถึงแม้จะอธิบายได้ วิเคราะห์ได้ ก็ไม่วายที่จะกลัวอยู่ดี เพราะนี่คือ “โรคแห่งยุคสมัยของเรา”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ มองในแง่ปัจเจก สะท้อนให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับสิ่งที่จุงเรียกว่า “ชาโดว์” ความลับดำมืดที่ถูกกักเก็บเอาไว้ในเบื้องลึกของจิต ส่วนในแง่สังคม ฟูโกต์บอกว่าเมื่อเราไม่เข้าใจอะไร เราก็มีแนวโน้มที่จะทำให้มัน “เป็นอื่น” แล้วใช้มาตรการต่างๆ เข้ามากระทำการโดยหวังว่าเราจะสามารถควบคุมมันได้ จัดการมันได้อย่างชอบธรรมและแนบเนียน เช่น จัดให้ต้องมีการแบ่งระหว่างคนปกติ กับคนบ้า, เด็กปกติ กับเด็กไฮเปอร์, คลั่งเจ้า กับไม่เอาเจ้า หรือแม้กระทั่ง “คน” กับ “ผี” แต่สังคมไทยนั้นแปลกประหลาด เพราะการจัดแบ่งนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อจะบอกว่าอะไรควรหลีกเลี่ยงเท่านั้น แต่ยังบอกด้วยว่าสิ่งใดควรจะให้ความเคารพ ควรเทิดทูนบูชา

ยกตัวอย่างเช่น เรายกให้พระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งๆ ที่รู้ว่าพระสงฆ์ (ถ้ายังไม่ใช่พระอริยะ) ก็เป็นเพียงแค่ “ลูกชาวบ้าน” ซึ่งถูกสมมุติขึ้นมาให้ทำหน้าที่เป็นพระเท่านั้น แต่ชาวบ้านก็พร้อมใจให้ความเคารพนับถือในฐานะ “พระ” ไม่ใช่ “ไอ้แดงลูกอีเมี้ยน” หรือ “ไอ้มาร์คผัวเก่านังนาค” อีกต่อไป คนไทยจึงเข้าใจเรื่องบทบาทที่เลื่อนไหลเป็นอย่างดี และโอบกอดสิ่งที่ดูเหมือนย้อนแย้งนั้นเอาไว้ด้วยความเข้าใจ

หรือเปล่า?

อย่าเพิ่งรีบเห็นด้วยไปกับข้อสรุปของผู้เขียนที่เป็นการมองอย่างหยาบ เพราะเราย่อมเห็นจากตัวอย่างจริงในสังคมของเรา ว่ามีคนจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะ “ลดทอน” ความรุ่มรวยของมนุษย์ให้เหลือเพียงป้ายแปะ โดยสับสนระหว่าง “ท่าที” ที่บุคคลแสดงออก กับ หัวจิตหัวใจของความเป็นคน กล่าวคือ มองไม่เห็นคนเป็นคน...

...เมื่อไม่เห็นว่าเป็นคน ก็ต้องเห็นว่าเป็น “ผี”

เรื่องของ “พี่มาก” กับ “น้องนาค” สะท้อนให้เห็นกระบวนการทำให้ใครที่มีความแตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม ต้องกลาย “เป็นอื่น” คือ เป็น “คนบ้า” เป็น “ผี” ซึ่งความรู้ทางสังคมศาสตร์พาเราไปต่อไม่ได้ คือวิเคราะห์ได้ สาธยายได้ แต่ไม่ได้บอกว่า “แล้วต้องทำไงต่อ?” จึงจะนำพาให้คนหมู่มาก “ข้ามผ่าน” ปมอุบาทว์ที่ช่วยกันผูกเอาไว้คนละไม้คนละมือโดยไม่รู้ตัว

เพราะความรู้ทางสังคมศาสตร์ถูกสร้างด้วย “ความคิด” และตรรกะ ต่อให้คิดไปไกลแค่ไหนก็เป็นปัญญาชั้นรองที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “จินตามยปัญญา” ผู้นำทางจิตวิญญาณทุกคนรู้ดีว่าจะต้องพ้นไปจาก ข้อจำกัดนี้ เพราะมันคือกรงขังอันแน่นหนาของพยัญชนะที่เราพาตัวเข้าไปด้วยจำยอม แต่พังภินท์ราวกับซากศพที่เขาขุดขึ้นมาเวลาล้างป่าช้าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัจธรรม

เมื่อสังคมศาสตร์มาถึงทางตันในการให้ทางออกจาก “ด้านมืด”ทางจิตวิญญาณของสังคม แล้วเราจะออกจากสภาพนี้ได้ยังไง?

เดการ์ตบอกว่า “ฉันคิด ฉันจึงมี (ตัวตน)” ซึ่งผมยอมรับอย่างหมดหัวใจ แต่มองในมุมกลับ ถ้าฉันสามารถออกจาก “กระบวนการของความคิด” ได้ ฉันก็ย่อมเป็นอิสระจากตัวตนปลอมๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความคิด และเข้าถึง “ความจริง” ที่มีอยู่จริง ซึ่งไร้ชื่อ พระพุทธเจ้าราวกับจะบอกใบ้เอาไว้แล้วถึงปัญญาขั้นที่สาม “ภาวนามยปัญญา” ซึ่งไม่อิงความคิดหรือจินตนาการ พระเซนตั้งคำถามที่คิดจนหัวแทบแตกก็ตอบไม่ได้ ปรมาจารย์ไทฉีฉวนพูดถึง “จิ้ง” คือพลังที่มองไม่เห็นราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่นั่นก็ยากเหลือแสนในทางปฏิบัติ เพราะการ “ภาวนา” ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการ “ภาวนึก” คือคิดเรื่อยเปื่อยไป โดยไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับจิต หรืออาจจะเห็นอาการบางอย่างแต่ก็คิดวิเคราะห์ต่อไป จนสับสนปนเปเคลิบเคลิ้ม และพอมองไม่เห็นผลอะไร เลยมีแต่ความอ่อนล้า ง่วงงุน เปลี่ยนไปเป็นการ “ภาวนอน” คือหลับดีกว่าสบายแฮ

เมื่อภาวนากลายเป็นภาวนอน คือภาวะหลับใหล เราจะไม่เห็น “ผี” ที่หลบซ่อนและเข้าประสมในจิต ตัวปัญญาซึ่งทำหน้าที่จับพิรุธ “ผี” ก็ไม่สามารถทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เราจึงต้องอาศัยปัญญาในระดับนึกคิดวิเคราะห์หาเหตุผลเข้ามากลบเกลื่อนอธิบาย ซึ่งมักจะไม่สำเร็จเพราะไม่ได้เข้าไปเห็นและเอาชนะสภาวะซึ่งเป็นตัวปัญหา แต่กลับกลายเป็นการทุ่มพลังทั้งหมดไปเพ่งโทษเอากับ​ “ผี” ซึ่งอยู่ภายนอกตัว ไม่ว่าจะเป็น ผีระบบ ผีสถาบัน ผีศาสนา ผีคอมมิวนิสต์ ผีทุนนิยม ผีอำมาตย์ ผีเอ็นจีโอ ผีสลิ่ม ฯลฯ

...แต่ไฉนลืมกลับมาจัดการกับ “ผี” ที่อยู่ในใจตัวเอง

เพราะถึงจะยังไม่มีความสามารถปลดเปลื้อง “ผี” ในตัวเรา ให้ไปที่ชอบๆ ได้ แต่อย่างน้อยก็ควรจะสามารถ “อยู่ร่วม” กับผีในใจตัวเองได้ ซึ่งคงไม่ถึงกับต้องไปร่วมเตียงกับผีอย่างกรณีของพี่มาก แต่ต้องรู้จัก “ผี”​ ของเราให้ดีพอที่จะไม่ให้มันลุกขึ้นมาอาละวาด ลุกลามจนเผาใจเจ้าของ เพราะใจไม่เหมือนกับห้างดัง เมื่อถูกเผาแล้วซ่อมแซมใหม่ได้ แต่จิตใจเมื่อเสียหายไปแล้ว กู้คืนได้ยากแท้.

Back to Top