พฤษภาคม 2013

อย่าเรียนหนังสือคนเดียว



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2556

ข้อเขียนต่อไปนี้แปล ย่อ สรุป และเขียนเพิ่มเติมเอาเองจากบทความเรื่อง Evolution of Creativity: The rise of innovative mind ของ ฮีทเธอร์ พริงเกิล (Heather Pringle) นักเขียนสารคดีวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาและบรรณาธิการร่วมของวารสารโบราณคดี ตีพิมพ์ใน Scientific American ฉบับเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๓

บทสรุปอย่างสั้นที่สุดของข้อเขียนชิ้นยาวนี้คือ “ไม่สำคัญว่าคุณฉลาดมากเท่าไร สำคัญว่าคุณเชื่อมโยงอย่างไร”

เมื่อไรกันที่มนุษย์รู้จักคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า มนุษย์พันธุ์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) เมื่อ ๔ หมื่นปีก่อน เป็นมนุษย์พวกแรกที่ได้สร้างบางสิ่งบางอย่างที่แปลกใหม่และแตกต่าง ได้แก่ สร้อยลูกปัดหลากสี ภาพเขียนสีบนฝาผนัง และเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำด้วยกระดูกหรือหิน

การอุบัติใหม่ของนวัตกรรมเหล่านี้ดูคล้ายจะบอกเป็นนัยว่า ได้เกิดการผ่าเหล่าในพันธุกรรมของมนุษย์แล้ว และการโผล่พรวดของหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้คล้ายจะบอกว่า มนุษย์พันธุ์โฮโมเซเปียนส์นี้ฉลาดขึ้นทันทีทันใด เสมือนหนึ่งการกำเนิดของเอกภพที่เรียกว่าบิ๊กแบง (Big Bang) ทั้งที่มนุษย์พันธุ์นี้ (ก็คือพวกเราทุกวันนี้) ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ ๒ แสนปีก่อน

การขุดค้นทางโบราณคดีด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ช่วยให้ค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ๆ ว่า มีอะไรที่เรียกว่านวัตกรรมก่อนเวลา ๒ แสนปีสุดท้ายนี้ ลิน แวดเลย์ จากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ได้เริ่มงานขุดค้นในถ้ำซิบูดู อาฟริกาใต้ตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ และตีพิมพ์การค้นพบ “ที่นอน” ที่ทำด้วยใบไม้ในนิตยสาร Science เมื่อเดือนธันวาคม ๒๐๑๑ ที่นอนนี้มีอายุ ๗๗,๐๐๐ ปี ทำขึ้นจากใบของต้น Cryptocarya woodii ซึ่งมีคุณสมบัติไล่ยุงและแมลง นอกจากนี้ ยังพบกับดักจับกวาง คันธนูและลูกศร รวมทั้งน้ำยาสำหรับใช้ในครัวเรือนที่อยู่อาศัยอีกบางอย่าง

การขุดค้นที่ทำกันอย่างกว้างขวางในอาฟริกาอีกสองจุด ค้นพบหลักฐานคล้ายๆ กันนี้ที่มีอายุ ๑ แสนปี และ ๑๖๔,๐๐๐ ปี สิ่งที่เราเคยเรียนกันมาว่า อารยธรรมมนุษย์เริ่มต้นเมื่อ ๓ หมื่นปีก่อนเริ่มไม่เป็นความจริงเสียแล้ว ที่อิตาลี ทีมขุดค้นจากมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ขุดพบกาวที่ใช้ประกบหินเข้ากับไม้เพื่อทำอาวุธอายุ ๒ แสนปีของมนุษย์พันธุ์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthals) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ ๓ แสนปีก่อน เก่ากว่านี้อีกคือหอกอายุ ๕ แสนปีของมนุษย์พันธุ์ไฮเดลเบอร์เจนซิส (Homo heidelbergensis) ในอาฟริกาใต้ และเครื่องมือที่ทำด้วยหินอายุ ๒ ล้าน ๖ แสนปีของมนุษย์พันธุ์ออสตราโลพิเทคัส การี (Australopithecus garhi) ที่เอธิโอเปีย

ใครเป็นคนคิดค้นเครื่องมือเหล่านี้คนแรก

แล้วเพราะอะไร ลิงชิมแปนซีซึ่งแยกสายวิวัฒนาการจากมนุษย์ปัจจุบันเมื่อ ๖ ล้านปีก่อน จึงยังคงใช้กิ่งไม้จิ้มรังมดเอามดขึ้นมากินเหมือนเดิมโดยไม่มีเครื่องมืออะไรใหม่ๆ เลย

จากงานวิจัยทางสมองยุคใหม่พบว่า ขนาดของโพรงในกะโหลกศีรษะ (ซึ่งเป็นที่อยู่ของเนื้อสมอง)ของลิงชิมแปนซีเท่ากับ ๔๕๐ ลูกบาศก์เซนติเมตรเท่ากับมนุษย์ตระกูลออสตราโลพิเทคินตัวเลขนี้เพิ่มเป็นสองเท่าคือ ๙๓๐ ลูกบาศก์เซนติเมตรในมนุษย์พันธุ์โฮโมอีเรคตัส (Homo erectus) เมื่อ ๑ ล้าน ๖ แสนปีก่อน แล้วเพิ่มเป็น ๑,๓๓๐ ลูกบาศก์เซนติเมตรในมนุษย์พันธุ์โฮโมเซเปียนส์ คือพวกเราตั้งแต่ ๑ แสนปีก่อน

แต่ก็อย่าลืมว่าเมื่อ ๑ แสนปีก่อน เราไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ เราตีกลองส่งสัญญาณกัน เกิดอะไรขึ้นในหนึ่งแสนปีที่ผ่านมา

สมองของมนุษย์มีเซลล์ประสาทจำนวน ๑ ล้านล้านเซลล์ มีเส้นประสาทยาวประมาณ ๑๖๕,๐๐๐ กิโลเมตร มีจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท (synapses) รวมทั้งสิ้น ๑๕๐ ล้านล้านตำแหน่ง หากดูเฉพาะสมองส่วนหน้าของส่วนหน้าที่เรียกว่า พรีฟรอนทัล คอร์เท็กซ์ (prefrontal cortex) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้วางแผน เชื่อมโยงข้อมูล แล้วตัดสินใจลงมือกระทำ สมองส่วนนี้ของมนุษย์ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ที่สุด ขนาดที่เพิ่มขึ้นมานี้เป็นที่อยู่ของข่ายใยประสาท (neuronal networks) จำนวนมหาศาลที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างทั่วถึง

วิทยาศาสตร์พบว่า จำนวนของเซลล์สมองยังมิใช่คำตอบของความฉลาด คำตอบอยู่ที่ข่ายใยประสาทที่เชื่อมต่อและเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง และกว้างขวางในโพรงสมองขนาดใหญ่นั้นมากกว่า

การเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงในสมอง เกิดขึ้นได้ด้วยการเชื่อมโยงอย่างทั่วถึงในชีวิต

เลวิส ดีน นักพฤติกรรมศาสตร์มนุษย์และวานรจากลอนดอนตีพิมพ์งานวิจัยในนิตยสาร Science ทีมวิจัยออกแบบกล่องปริศนาที่ต้องใช้การแก้ ๓ ขั้นตอน ให้กลุ่มทดลอง ๓ กลุ่มทำแข่งกัน กลุ่มหนึ่งคือลิงชิมแปนซีที่เท็กซัส กลุ่มสองคือลิงคาปูชีนที่ฝรั่งเศส และกลุ่มสามคือเด็กในศูนย์เด็กเล็กที่อังกฤษ

ชิมแปนซีและคาปูชีน ๕๕ ตัว มีลิงที่แก้ปริศนาสำเร็จเพียงตัวเดียวโดยใช้เวลา ๓๐ ชั่วโมง เด็กเล็ก ๑๕ จาก ๓๕ คนสามารถแก้ปริศนาสำเร็จในเวลา ๒ ชั่วโมงครึ่ง จากการสังเกตพบว่า เด็กเล็กคุยกัน เถียงกัน ช่วยเหลือกัน และให้กำลังใจกัน ขณะที่ลิงไม่มีพฤติกรรมเหล่านี้เลย

เพราะอะไรมนุษย์ในยุโรปเมื่อ ๔ หมื่นปีก่อน จึงพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในการล่าและดำรงชีวิตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับมนุษย์ในอาฟริกาเมื่อ ๙ หมื่นปีก่อน คำอธิบายคือ เพราะพื้นที่ที่เล็กกว่าทำให้มนุษย์มีโอกาสพบกันและรวมทีมกันออกล่ามากกว่า การกระทบไหล่กันอยู่เนืองนิตย์คือเหตุผลที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์วิวัฒน์และมีนวัตกรรมหลุดออกมาจากกล่องในที่สุด (out of the box)

เด็กไม่ได้พัฒนาหรือฉลาดขึ้นด้วยการเรียนหนังสือคนเดียว เด็กฉลาดและพัฒนาสมองของตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรมได้ด้วยการเรียนรู้เป็นกลุ่ม

พูดง่ายๆ ว่าด้วยการกระแทกไหล่กับเด็กคนอื่นๆ

ยึดหลักก่อนทิ้งหลัก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2556

เมื่อสองสามเดือนก่อน คุณคำผกา พิธีกร “คิดเล่นเห็นต่าง” ออกมา “ขอขมาต่อพระรัตนตรัย” และขอโทษต่อมหาเถรสมาคมและองค์กรพุทธทั่วประเทศ พร้อมทั้งประกาศว่าจะหยุดออกอากาศเป็นเวลาหนึ่งเดือน “เพื่อแสดงความรับผิดชอบ” ในสิ่งที่กล่าวออกอากาศไปในรายการเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม โดยมีเนื้อหาในทำนองว่า การจัดงานสวดมนต์ข้ามปีนั้นเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและเปรียบเสมือน “ยากล่อมประสาท” ประชาชน ทำให้ลืมนึกถึงปัญหาของตนเอง

คุณคำผกาได้ออกมาวิพากษ์ว่า “พิธีกรรม” เป็นเรื่องไร้สาระ แต่สำหรับผม แม้แต่การกรรมวาจาของพิธีกรที่ออกมา “ขอขมา”​ ออกอากาศนั่นก็หลีกไม่พ้นเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง

โจเซฟ แคมพ์เบลล์ ใน พลานุภาพแห่งปกรณัม กล่าวว่า “พิธีกรรมเป็นเครื่องมือที่ทำให้จิตมีความสอดคล้องกับกาย และทำให้วิถีชีวิตมีความสอดคล้องกับธรรมชาติ” และ พิธีกรรมนั้นมีไว้เพื่อ “เชื่อมโยงคนแต่ละคนเข้ากับโครงสร้างของชีวิตที่มีขนาดใหญ่กว่าร่างกายตนเอง” เหตุที่คนเรายังต้องการพิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโลกในยุคสมัยปัจจุบัน ก็เพราะเราเป็นคนในยุค “รากขาดลอย” รากในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงแค่รากทางวัฒนธรรม แต่ผมพูดถึงรากที่เชื่อมโยงระหว่าง “จิตและกาย” เข้าด้วยกัน

วิทยาศาสตร์แบบลดทอนได้ตัดแบ่งกายกับจิตให้แยกขาดจากกัน โดยมองว่าจิตไม่มี มีแต่สมอง และพยายามอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ผ่านแว่นดังกล่าวนี้ ดังนั้น คนสมัยใหม่จึงไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างจิตใจและร่างกาย โดยเห็นทุกอย่างเป็นเพียงปฏิกิริยาเคมี และพลังงานไฟฟ้า ชีวิตจึงห่างไกลจากธรรมชาติ และ “คลองธรรม” ซึ่งหมายถึงสัจจะ

ดังนั้น ยิ่งเรื่องของจิตใจถูกทำให้เป็นสิ่งแปลกแยกออกไปจากชีวิตประจำวันมากเท่าใด เราก็ยิ่งต้องการ “พิธีกรรม” มากขึ้นเท่านั้น เพื่อเชื่อมโยงภายนอกกับภายในให้กลมกลืนกัน พิธีกรรมในที่นี้ผมไม่ได้หมายความถึงพิธีกรรมที่พระหรือนักบวชประกอบให้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงพิธีกรรมอื่นๆ เช่นของชาวบ้านด้วย ซึ่งผมเคยได้ยินว่าสมัยก่อนในชนบท ถ้าเกิดเรื่องใดที่ทำให้เด็กเกิดอาการตกใจ อกสั่นขวัญผวา กินไม่ได้นอนไม่หลับ ชาวบ้านก็จะทำพิธีเรียก “ขวัญ”​ กลับคืนมา เมื่อทำพิธีแล้ว ส่วนใหญ่เด็กก็จะมีอาการดีขึ้นตามลำดับ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อขวัญไม่อยู่กับตัว ก็เหมือนคนไม่อยู่ดูแลบ้าน บ้านก็ย่อมชำรุดทรุดโทรมลง ซึ่งก็เป็นเรื่องจิตกับกายนั่นเอง แม้แต่ในการบำบัดรักษาแผนปัจจุบัน ถ้าหากแพทย์มุ่งแต่จะรักษาอาการไข้ แต่ไม่รักษาคนป่วยไข้ ก็เท่ากับละเลยมิติทางจิตใจ ซึ่งมีผลมากต่อการเยียวยาตนเองของคนไข้

สิ่งสำคัญที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจก็คือ เมื่อใจหรือจิตได้วิวัฒน์ไปจนกลมกลืนกับกายแล้ว พิธีกรรมก็ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะผลอันเป็นเจตจำนงของพิธีกรรมได้ถูกทำให้มีขึ้นในบุคคลนั้นๆ แล้ว การสวดมนต์และการรับศีลอย่างในศาสนาพุทธ มองในแง่หนึ่งอาจจะเป็นเพียงพิธีกรรม แต่นัยยะที่ซ่อนเร้นอยู่คือ การฝึกอบรมจิตให้บุคคลมีปัญญาจนเข้าถึงสภาวะที่จิตทำงานในลักษณะ “Autorun” หมายถึงเป็นไปเองโดยปกติ ไม่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์หรือพิธีกรรมภายนอกเข้ามาชักนำ เพราะคำว่าศีลในศาสนาพุทธมีนัยยะว่า “ปกติ” ไม่ใช่แปลว่าข้อห้ามอย่างที่เข้าใจกัน ดังนั้น การรับศีลจึงทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครให้ความปกติแก่กันได้ จึงรับได้เพียง “สิกขา” ที่เป็นแบบฝึกนำไปปฏิบัติด้วยตัวเอง

แม้แต่มวยจีนไทจี๋ฉวน ซึ่งขึ้นชื่อในแง่ของท่าทางการรำที่จะต้องให้แม่นตรงถูกต้องต่อแบบแผนที่ครูบาอาจารย์กำหนดและผ่องถ่ายกันมา ก็ยังมีการสั่งสอนกันต่อๆ มาว่า

“ยึดหลัก เดินตามหลัก และทิ้งหลัก”​

หมายถึงเมื่อเริ่มต้นต้องยึดหลักมวยเอาไว้ ห้ามเฉไฉออกนอกทาง มิฉะนั้นจะฝึกเท่าใดก็ไม่สำเร็จ ช่วงนี้จะใช้ความคิดสร้างสรรค์อะไรไม่ได้เลย ต้องทำตามอย่างเดียวเท่านั้น เหตุเพราะท่วงท่าที่ครูบาอาจารย์ให้ เป็นหลักให้ “จิต” ทำงานประกอบกับกาย การฝึกจึงไม่ได้ฝึกแต่ท่วงท่า แต่ท่ายังเป็นกุศโลบายที่เอาไว้ฝึกใจ เช่นเดียวกับการสวดมนต์ ส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าใจความหมายของภาษาบาลีที่ตนสวด ความหมายจึงยังไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะจุดมุ่งหมายในขั้นตอนนี้เป็นการฝึกใจ ให้เคยชินกับการเข้าสู่สภาวะของการ “ออกจากความคิด” และกลับมาที่ความเป็นไปในร่างกาย

เช่นเดียวกับครูบาอาจารย์ที่สอนภาวนา เมื่อถึงที่สุดท่านให้ทิ้งการ “บริกรรม” หมายถึงไม่ต้องท่อง ไม่ต้องสวดในใจ ครูบาอาจารย์มวยจีนก็บอกให้ “ทิ้งหลัก” ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า “ไม่มีหลัก”​ แต่เพราะการฝึกฝนนั้นถึงขั้นที่หลักนั้นเข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของผู้ฝึก คือสามารถทำได้ไม่ต้องใช้ความคิด หรือความพยายามซึ่งเรียกว่าเป็น “Unconscious competence” อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเรียนรู้สิ่งใหม่ตามโมเดลของกอร์ดอน เทรนนิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล

การที่คุณคำผกาออกมาขอโทษ ผมมองว่าเป็นการทำพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งการยกมือไหว้เพื่อขอโทษนั้นต้องมีการค้อมศีรษะลง กิริยาอาการและถ้อยคำที่ใช้ขอโทษ ก็แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่าทีเช่นนี้คือปรับ “ร่างกาย” และวาจา ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกให้สมานเข้ากับองค์ประกอบภายใน นั้นคือ “จิตใจ” ที่ควรต้องอ่อนน้อมไปตามกิริยาอาการที่แสดงออก แต่ถ้าองค์ประกอบภายในยังไม่สอดคล้องกับภายนอก หมายถึงผู้ที่เอ่ยปากขอโทษ ไม่ได้มีใจยอมรับ จุดมุ่งหมายของพิธีกรรมก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ผมไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจิตใจของเธอเป็นอย่างไร มีแต่ตัวเธอเท่านั้นที่จะทราบ

ถ้าหากเป็นคนที่ไม่เคยเอ่ยปากขอโทษใครเลย จู่ๆ ต้องมาทำเช่นนั้น ภายในก็ต้องรู้สึกแปลกแยกเป็นธรรมดา ถ้าหากใครไม่เคยสวดมนต์แล้วต้องนั่งลงทำวัตรเช้าหรือวัตรเย็น เมื่อได้ลองทำแรกๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายทรมานใจ แต่ถ้าทำบ่อยเข้า ก็จะทำได้เองหรือรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ อาจจะเป็นเพราะจิตใจของคนเราชอบวิ่งไปหาสิ่งที่น่าชอบใจ และหนีจากสิ่งที่ไม่น่าชอบใจ การฝึกฝนจิตใจนั้นต้องมีการ “ฝึกฝืน” ธรรมชาติเดิมของมัน แต่สิ่งที่ได้รับนั้น ผู้ที่เข้าถึงสภาวะนั้นแล้วจะสามารถบอกได้ว่ามันดีอย่างไร

แต่ผมก็ต้องพูดตรงนี้ไว้ว่า ไม่เห็นด้วยสำหรับคนที่ค่อนข้างไปทางนักจัดระเบียบสังคม หรือสุดโต่งด้วยศรัทธาจริต เพราะไปยึดพิธีกรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จนมองไม่เห็นถึงเจตนาหรือจุดมุ่งหมายเบื้องปลายของพิธีกรรม พวกเขาเหล่านี้เห็นว่ารูปแบบสำคัญกว่ากระบวนการเรียนรู้ จึงกลายเป็นพวกเผด็จการทางความเชื่อ และนำรูปแบบภายนอกมาบังคับให้ผู้อื่นต้องทำตามโดยไม่ยินยอมพร้อมใจ

ผมเคยได้ยินเสียงสวดมนต์ของเด็กนักเรียนโรงเรียนลองวิทยา จ.แพร่ ที่รุ่นพี่รุ่นน้องจัดอบรมค่ายพุทธศาสนากันเอง และเข้าร่วมกันด้วยความสมัครใจ ฟังแล้วรู้สึกอิ่มเอิบ เพราะทุกคนตั้งใจสวดมนต์กันมาก ต่างจากอีกโรงเรียนหนึ่งที่ครูไปเกณฑ์เด็กมาเข้าร่วมอบรม ฟังแล้วเหนื่อยใจ และเด็กก็ไม่ได้อะไร เปลืองงบประมาณอบรมอีกด้วย

พวกคุณคิดบ้างไหมว่า เมื่อตอนที่คุณคำผกาเป็นเด็กนักเรียน อาจจะเคยอยู่ในโรงเรียนที่เกณฑ์เด็กมาสวดมนต์ แล้วก็รู้สึกไม่ได้อะไร เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นว่าศาสนามันจะสำคัญตรงไหน เมื่อเธอเป็นผลิตผลของสังคมไทย เราจะโทษใครไม่ได้ ก็ต้องโทษตัวเราเองที่มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแบบนี้ ทางแก้น่ะหรือ ต้องถามตัวคุณเองว่า ทุกวันนี้คุณทำอะไรบ้างที่มีส่วนทำให้เยาวชนของชาติได้พัฒนาจิต?

เมื่ออายุหกสิบ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2556

วันแต่ละวันเมื่อเราตื่นขึ้นมา ณ กาลเวลาที่อายุหกสิบปีขึ้นไป มันแตกต่างอย่างไรกับช่วงกาลก่อนๆ มา?

ช่วงนี้ ผมมีโอกาสได้อยู่กับ “ยิ่ง” ลูกชายหลายๆ วันที่ “บ้านสวนริมคลองบางมด” หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีต้นไม้ขึ้นครึ้ม เป็นบ้านที่มาเช่าเมื่อลูกชายป่วย เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปหาหมอ หานักกายภาพ โรคภัยของยิ่งนับว่าหายดีระดับหนึ่งแล้ว เหลือแต่ต้องทำกายภาพเพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนขาข้างซ้ายให้กลับคืนมา แม้จะมีพัฒนาการไม่เร็วนัก แต่ยิ่งกับพวกเราที่ช่วยกันดูแลก็ดำรงอยู่อย่างมีความสุข ทำวันคืนให้สนุกสนานคึกครื้น โดยในช่วงหลัง เราได้เพิ่มคำว่า “ชุมชน” เข้าไปในการบำบัดเยียวยา เพราะเชื่อในพลังของชุมชนว่า เมื่อเราเชื่อมโยงหัวใจเข้าด้วยกัน เราจะมีพลังมหาศาลที่จะทำให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้

ปรับตัวเข้าบ้านใหม่

เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของชีวิตมนุษย์คือการปรับตัว ผมเคยอยู่บ้านแบบนี้ในช่วงที่ทำ ปาจารยสารฉบับหัวกะทิ อยู่แถวซอยโชคชัย ๔ ลาดพร้าว ซึ่งมีคนหนุ่มสาวหลายคนมาช่วยกัน เป็นชีวิตอุดมคติที่เปี่ยมไปด้วยการเรียนรู้อีกแห่งหนึ่ง เป็นความพยายามอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน อย่างงดงาม บ้านเช่าหลังใหม่นี้ คิดอยู่ในใจว่า มุมหนึ่งก็อยากกลับไปอยู่แบบเดิมด้วย ให้เป็นบ้านที่ใครไปใครมาได้ง่ายๆ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ขั้นแรก เราต้องมีพิธีกรรมที่จะทำให้บ้านนี้เป็นบ้านของเรา หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านของพวกเราเสียก่อน ด้วยการเดินออกกำลังกาย ช่วงแรกๆ ที่ผมมาพักบ้านหลังนี้ ก็เหมือนมาพักโรงแรม บ้านยังไม่มีชีวิต เราเพียงแต่หาทางให้อยู่ได้อย่างสะดวกสบายเท่านั้น ได้ปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ทางกายภาพบ้างเล็กๆ น้อยๆ อย่างไม่ฟุ่มเฟือย ให้พออยู่ได้ แต่เมื่อสถานการณ์อำนวยแล้ว ผู้คนลงตัวเป็นมิตรระดับหนึ่งแล้ว ก็เริ่มพิธีกรรมแห่งการทำบ้านให้เป็นบ้าน

แปลกนะ เมื่อเริ่มเดินรอบหมู่บ้านในครั้งแรก มันเหมือนฝืดๆ ไม่คล่อง เสียงหมาเห่ากรรโชก แม้ตัวเล็กๆ ก็ทำให้เราสะดุ้ง แต่การทำซ้ำ การเดินอีกวันหนึ่ง อีกครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่ง เราก็ค่อยๆ ทำให้ต้นไม้ใบหญ้า บ้านเรือนเป็นที่คุ้นเคยต่อสายตา และค่อยๆ ซึมซับมาเป็นที่ทางของเรา ความรักความชอบค่อยๆ ถูกปลูกสร้างขึ้นในใจ เราสามารถเดินอย่างจับจังหวะลมหายใจได้ ทุกๆ อณูของหมู่บ้านเริ่มผายมือออกรับเราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมและวิญญาณของสถานที่

อันดับแรกของชีวิต

อันดับแรกของชีวิต คือการเป็นครู ประมาณสองหรือสามปีมาแล้ว มีพระสงฆ์นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งโบกรถมาหาผมที่เชียงราย แจ้งความจำนงว่าต้องการจะมาเรียนโดยเป็นงานบุญกับพระสงฆ์ แต่หลังจากเรียนแล้วไม่นานก็เงียบหายไป ยังคิดถึงอยู่ เพราะพวกท่านน่ารักและตั้งใจเรียนกันมาก ต่อมาเมื่อปีที่แล้ว ก็มีบางองค์ในกลุ่มแรกได้นำกลุ่มคิลานธรรมมาเรียนกับผมอย่างต่อเนื่องถึงสามครั้ง และผมได้ให้สัญญากับท่านว่าจะถวายความรู้เป็นงานบุญเช่นนี้ไปตลอด ตราบที่ท่านยังต้องการเรียนเป็นกระบวนกรอยู่ พระสงฆ์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เรียนหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาชีวิตและความตาย ซึ่งเป็นชื่อสาขาวิชาที่เท่มาก ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนหนึ่งของการเรียนคือการไปเยี่ยมผู้ป่วย ท่านเลยก่อตั้งกลุ่มคิลานธรรมขึ้นมา และได้ไปทำงานอาสาให้สังคมอย่างกว้างขวาง รวมถึงการอบรมให้พยาบาลทั้งหมดในวชิรพยาบาลประมาณแปดร้อยคน นี่เป็นงานที่ผมภูมิใจมาก เหมือนได้ติดอาวุธให้กองทัพธรรมอย่างไรไม่รู้

ที่ดีใจมากยิ่งขึ้น คือพระสงฆ์หลายรูปมาจากวัดญาณเวศกวัน อันเป็นที่อยู่ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เจ้าคุณอาจารย์ที่ผมได้เคยร่ำเรียนมาจากท่าน และบางท่านมาจากสวนโมกข์ ไชยา ผมรู้สึกว่าได้สืบต่องานของท่านพุทธทาสและของเจ้าคุณอาจารย์อย่างไรไม่รู้ นำความปลาบปลื้มใจมาให้ตัวเองเป็นล้นพ้น

เรือนพักใน “ความว่าง” หลังจากไขว้สลับตัวตนแล้ว

ผมอยากผสมผสานสหวิทยาการ สหปัญญาปฏิบัติ สหศิลป์ เข้าด้วยกัน ในวอยซ์ไดอะล็อค ผมได้เรียน ได้ลองปฏิบัติ ทั้งกับตัวเองและน้อมนำผู้อื่นให้ได้สัมผัสกับตัวตนต่างๆ ทำให้ค้นพบว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นตัวตนบางตัวดั่งที่เคยเป็นมา เช่น ตัวควบคุมสั่งการ หรือตัวเจ้านายใหญ่ (The boss) ก็ได้ เราอาจย่อตัวเจ้านายใหญ่ให้เล็กลงมาหน่อย ให้เป็นเพียงตัวผู้จัดการหรือตัวจัดการงานธรรมดาๆ ไม่ต้องใหญ่โต ไม่ต้องสั่งการ แต่ทำเองบ้าง แล้วหากจะให้คนอื่นทำก็ดูความเหมาะสม ดูการเติบโต ดูวาระของเธอหรือเขาไปด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่วาระของตัวเอง

แต่ประโยชน์ของวอยซ์ไดอะล็อค หรือจิตวิทยาตัวตน หรือจิตวิทยาการรู้ทันตัวตน (ชื่อภาษาไทย สมพล ชัยสิริโรจน์เสนอให้ใช้) ไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น ผมยังพยายามไปให้ไกลขึ้น คือค่อยๆ วางตัวตนนักจัดการลงด้วย ไม่ต้องจัดการอะไรมากมาย ปล่อยให้เป็นภาระของผู้อื่นบ้าง โลกมันหมุนไปได้โดยปราศจากเราสักคนหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งได้ไหม? และให้เราได้นอนหลับสบาย

แล้วผมมาคิดดูต่อไปอีกว่า ฐานเดิมของผมตั้งแต่เด็กๆ ที่เป็นคนช่างคิด ใคร่ครวญ แสวงหาภูมิปัญญาที่ลึกซึ้ง ที่จะตอบคำถามยากๆ เช่น “เกิดมาทำไม” เป็นต้น มีรุ่นพี่ คือ มอนตาเนต เบ็นเนต เคยบอกตอนผมอายุยี่สิบต้นๆ ว่า ผมเป็นปราชญ์น้อย ผมชอบคำคำนี้มาก ในทางกรรมฐาน หรือฐานที่ตั้งแห่งความเพียร ในการบำเพ็ญเพื่อการรู้แจ้ง เราจะวางฐานของตัวเองไว้ที่ไหนดี ก็เกิดญาณทัศนะขึ้นมาว่า “ทำไมไม่วางไว้ที่ความว่างล่ะ” นึกถึงบทกลอน “เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง” ของท่านพุทธทาส ประมาณว่า “กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน” หรือเราจะวางฐานของตัวตนต่างๆ หลังจากที่วิ่งไปตามตัวตนต่างๆ แล้วจะกลับมาพักที่ไหน จะให้ที่ไหนเป็นฐาน ก็เลยคิดว่าให้กลับมาที่ “ความว่าง” กลับมาที่ตัวตนที่เรียกว่าปราชญ์น้อย ที่ดำรงอยู่ในศูนยตา ส่วนจะเข้าถึงศูนยตาได้ลึกซึ้งแค่ไหน สัมผัสได้จริงหรือเปล่า ก็ค่อยๆ ทำงานไป ค่อยๆ แกะ ค่อยๆ ถอดสลักไป คงจะเข้าถึงความว่างได้โดยลำดับ และอาศัย “ความว่าง” เป็นเรือนอยู่ เป็นฐานอันมั่นคง ไม่มีอะไรต้องกลัวเกรงอีกต่อไป พร้อมเสมอกับอะไรก็ตามที่เข้ามาในชีวิต

สงครามตามล่าฆ่า “แม่มด”



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2556

กระบวนการตามล่าฆ่าแม่มดในยุคประชาธิปไตย (ตามความหมายของฉัน) กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดเลือดพล่านบนลานการเมืองของประเทศไทย

มีคำถามที่สำคัญหลายคำถามที่อยากจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้หยุดคิด พิจารณาทบทวน ใคร่ครวญด้วยสติและปัญญา เช่น ใครคือแม่มดที่ต้องถูกตามล่า? แม่มดคืออำมาตย์ ไพร่ กลุ่มคนต่างสี รัฐธรรมนูญ ตุลาการ หรือใครหรืออะไรก็ได้ที่ไม่อยู่ฝ่ายเดียวกัน ใช่หรือเปล่า?

ประชาธิปไตย ตามความหมายของฉัน เปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายที่เห็นต่างจริงหรือไม่? ถ้าจริง ทำไมต้องไล่ล่า?

ประชาธิปไตย ตามความหมายของฉัน ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใช่หรือไม่? ถ้าใช่ ทำไมต้องนิรโทษ?

ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทุกฝ่ายทำผิดกฎหมาย สมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่?

เราควรถือโอกาสนี้ที่สังคมถูกกระทำให้แตกแยกและมีการเรียกร้องความปรองดอง นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดกฎหมายทุกคนทุกเรื่องดีหรือไม่?

ลองตอบคำถามทีละข้อ ช้าๆ ตามความเป็นจริง จะได้เห็นจุดยืนที่มีคติ/อคติของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น จะได้มีสติและรู้เท่าทันตนเองและผู้อื่นเพิ่มขึ้น

ความปรองดองและการให้อภัยที่เกิดจากการมีสติและปัญญาก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นภายในจิตใจ โดยไม่ต้องออกกฎหมายใดๆ มาลบล้างความผิด

ทั้งหมดที่เขียนมาตั้งแต่ชื่อบทความและคำถามต่างๆ ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังถูกทำให้ต้องแบ่งพรรคแบ่งพวก สุดโต่งไปคนละข้าง ประชาธิปไตย (ตามความหมายของฉัน) การปรองดอง และการนิรโทษกรรม เป็นเพียงข้ออ้าง และวาทกรรมทางการเมือง เป็นศาสตราวุธที่ใช้ในสงครามการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก มากกว่าเพื่อประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม ใช่หรือเปล่า?

เราได้ยินได้ฟังวาทกรรมทางการเมืองที่ฟังดูดี มีตรรกะ แต่มันก็มักจะอยู่ในลักษณะของการเลือกนำเสนอและตอกย้ำเป็นจุดๆ แบบแยกส่วน แล้วกระโดดเข้าสู่ข้อสรุปที่เกินจริงบ่อยๆ เพื่อจะชี้แนะว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นแม่มด เป็นความชั่วร้าย ต้องทำลายให้หมดไป แล้วจะมาเรียกหาความปรองดองกันไปทำไม

ความปรองดองที่แท้จริง ควรต้องเริ่มจากการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยอมรับและเคารพในความแตกต่างของกันและกันอย่างแท้จริง แล้วร่วมกันหาทางสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันบนความหลากหลาย (Unity through diversity) และนี่คือความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบัน ใช่หรือไม่?

และถ้าหากเราเชื่อจริงๆ ว่าสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

มาลองเลิกกระบวนการผลักไสให้ใครเป็นแม่มดจะดีกว่าไหม เพราะถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นคนเลว คนชั่วของสังคม ไม่มีใครอยากเป็นแม่มดที่ต้องถูกไล่ล่า และถ้ามีโอกาส เขาเหล่านั้นก็คงอยากจะเป็นคนดีของสังคม

มาลองท้าทายตนเองที่จะหาวิธีการเปลี่ยนแปลงแม่มดให้กลายมาเป็นคนปกติธรรมดา เป็นคนดีของสังคมจะดีกว่าไหม?

บทเรียนที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้เป็นแบบอย่างก็มีมากมาย ดังเช่นเรื่องขององคุลีมาล

ที่เสนอมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าให้มีการนิรโทษกรรมทางกฏหมายซึ่งเป็นมิติภายนอก แต่เป็นการให้อภัยทางความคิดและจิตใจที่เป็นมิติภายในของเราเอง

สำหรับผม ทุกคนล้วนแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นอำมาตย์หรือไพร่ เศรษฐีหรือยาจก คนสีเดียวกันหรือต่างสี ใครคิดดี พูดดี ทำดีก็ควรได้รับคำชื่นชมและยกย่อง ใครทำผิดก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย ตามจารีตประเพณี ไม่จำเป็นต้องผลักไสให้เขาไปเป็นแม่มด

สำหรับผม รัฐธรรมนูญไม่ใช่แม่มดที่ต้องถูกไล่ล่า ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ก็ไม่ควรถูกกระทำในฐานะที่เป็นแม่มด แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เก็บไว้บนหิ้งเพื่อกราบไหว้บูชา เพราะสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงและสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

เลิกทำสงครามตามล่าฆ่าแม่มด แล้วหันหน้ามาร่วมด้วยช่วยกันสร้างคนดีให้สังคม ดีไหมครับ?

ผลัดเปลี่ยนชีวิต



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖

วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นวันที่แปลกอีกวันหนึ่ง ตอนเช้า ขณะที่ผมและทีมงานกำลังจัดกระบวนการอยู่ จู่ๆ หลอดไฟ เครื่องเสียง และเครื่องปรับอากาศก็ดับลง เราเลยต้องจัดอบรมกันโดยไม่ใช้ไมค์ กระทั่ง ๑ ชั่วโมงถัดมา น้องร่วมทีมจึงเดินมาถามผมในช่วงพักว่า “พี่รู้หรือยัง อาจารย์เสียแล้ว” ผมเปิดดูไลน์ของชุมชนที่ร่วมงานกันอยู่ จึงได้เห็นข้อความที่โพสต์เข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ประหลาดเมื่อเช้าว่า “อาจารย์ฌานเดช ออกเดินทางแล้วนะครับ”

ผมไม่ได้ช็อค อึ้ง หรือเศร้าแม้แต่น้อย เช้านี้เป็นเพียงการทราบข่าวของเพื่อนที่ผมเพิ่งไปส่งถึงปากทางระหว่างความเป็นกับความตายเมื่อวันก่อน ผม ครอบครัว และเพื่อนร่วมทางบนเส้นทางแห่งการฝึกตนหลายคนได้บอกกล่าว อำลา และใช้เวลาดำรงอยู่ร่วมกับอาจารย์มากพอที่จะจับ สัมผัส และรับรู้กายเนื้อที่อ่อนโรยราทว่ายังคงมีพลังชีวิตและลมหายใจ ภรรยาของผมค่อยๆ เลื่อนผ้าม่านปิดเตียง เพื่อว่าเราจะได้ร่วมกันภาวนาส่งความรักและเมตตาจิตให้กับอาจารย์โดยไม่รบกวนผู้ป่วยเตียงอื่นๆ เราอยู่ร่วมกันอย่างเงียบสงัด ดำรงอยู่ตรงนั้นเพื่ออาจารย์ฌานเดชอยู่พักใหญ่ ปล่อยให้เวลาและโลกหมุนผ่านเราไป นับเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ายิ่ง

ผมตระหนักถึงโอกาสบอกกล่าวความในใจที่เรามีอยู่โดยไม่ต้องขัดเขินหรือตะขิดตะขวงใจ แน่นอน…มันเศร้ามาก ผมยืนอยู่ข้างเตียง น้ำตาเอ่อล้นด้วยหัวใจที่พยายามยอมรับการสูญเสียเพื่อนร่วมทางคนนี้ไป ความรู้สึกนั้นมีมากมายท่วมท้น แต่ผมกลับพูดอะไรไม่ออก ผมอยากให้อาจารย์ได้รับรู้สิ่งที่ผมอยากบอกก่อนที่จะจากไป อย่างน้อยๆ…หากได้บอกแล้วอาจารย์จะไม่ไป เกิดปาฏิหาริย์ให้ร่างกายฟื้นคืนสู่สภาวะปรกติได้ ก็คงถือเป็นสิ่งวิเศษสุดสำหรับพวกเราทุกคน

ผมพูดกับอาจารย์ในใจว่า “ผมมาหาแล้วนะครับ ได้ยินเสียงผมไหม ผมณัฐนะครับ เพื่อนเก่าของอาจารย์ไง ชีวิตนี้ไม่เสียหลายแล้วนะอาจารย์ คุ้มค่ามากเลย อาจารย์ได้ทำในสิ่งที่มีค่าให้กับครอบครัวและผู้คนมากมาย ให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะดูแลรักษาตัวเองและคนรอบข้างให้รักกัน อาจารย์คงเหนื่อยมามากแล้ว ได้เวลาพักบ้างแล้ว…นี่อาจใกล้ถึงเวลาที่อาจารย์ต้องละจากร่างกายที่เจ็บป่วยและทรมานนี้ไป…อาจารย์คงเจ็บมากใช่ไหม”

ถึงตอนนี้ น้ำตาผมก็กลับรื้นขึ้นมากลบนัยน์ตาอีกระลอก จนต้องหยิบผ้าอ้อมผืนใหญ่ของลูกสาวที่ติดไว้ในกระเป๋ากางเกงขึ้นมาเช็ดน้ำมูกน้ำตาตัวเองบ้าง แม้คุยในใจก็อดกลั้นน้ำตาไม่ให้ทะลักออกมาได้ยาก เพราะสิ่งที่ผมอยากบอกอาจารย์มากก็คือ

“ขอบคุณอาจารย์มากนะ สำหรับมิตรภาพที่เกื้อกูลงดงามระหว่างเรา ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจารย์ได้ช่วยในระหว่างที่เราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา อาจารย์พิเศษสำหรับผมจริงๆ…หากมีสิ่งใดที่เราได้กระทำผิดต่อกัน ผมอาจทำให้อาจารย์ทุกข์ร้อน ผมก็ขออโหสิกรรมด้วย ผมเองก็ขออโหสิให้อาจารย์ทั้งหมด ไม่มีอะไรติดค้างต่อกัน"

“ตอนนี้คงไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วงแล้ว หากถึงวาระที่อาจารย์ต้องการออกเดินทางต่อจริงๆ ทั้งน้องกาษ และป้าแอ๋วก็ดูแลตัวเองได้ดี และยังมีผู้คนมากมายคอยช่วยเหลือสนับสนุน ส่วนคุณแม่และน้องสาวของอาจารย์ต่างพากันมาแสดงความรักและกำลังใจให้กับอาจารย์กันถ้วนหน้า ทุกอย่างดีพร้อมแล้ว เมื่ออาจารย์พร้อมก็ขอให้เดินทางจากร่างนี้เป็นไปด้วยความตั้งมั่น ศรัทธา และกล้าหาญ พวกเราที่ยังอยู่ก็จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ตามแนวทางที่เราเชื่อและศรัทธาเช่นกัน ขอให้อาจารย์วางใจ”


อิสรภาพในการบอกลาผู้ใกล้ตายเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อน และถ้าเป็นแต่ก่อน ผมจะไม่ยอมให้ตัวเองทำแบบนี้เด็ดขาด เพราะคิดว่า “บอกลาอย่างนี้ก็เหมือนไปแช่งให้เขาตายเร็วขึ้น” ที่ถูกและควรคือการให้กำลังใจเขาฟื้นคืนกลับมาต่างหาก เวลาไปเยี่ยมคนป่วย ผมก็มักไปให้เขามีกำลังใจที่จะ “หาย” กลับคืนสู่สภาวะปรกติ แต่วันนั้น…มันแตกต่าง ผมตั้งใจไปส่งเพื่อนคนนี้สู่การเดินทางบทสำคัญครั้งสุดท้ายในชีวิตเขา ให้กำลังใจทั้งเขาและครอบครัวในยามเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้โดยไม่โดดเดี่ยวลำพัง

นี่อาจสืบเนื่องมาจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่า “ความตายหมายถึงสิ้นสุด” ทั้งๆ ที่ความเข้าใจและแนวคิดแบบเอเชียดั้งเดิมนั้น ถือว่าการตายคือ “การกลับบ้าน” โดยเฉพาะแนวคิดแบบธิเบตที่เชื่อว่า การตายคือหนึ่งในวัฏจักรการผลัดเปลี่ยนของชีวิต จากชีวิตในร่างเดิมไปถือกำเนิดในร่างใหม่ สานต่อภารกิจที่ยังเหลืออยู่ในเสร็จสิ้น ยิ่งคราวนี้ได้ทราบจากป้าแอ๋ว ภรรยาของอาจารย์ว่า อาจารย์บอกไว้ก่อนแล้วว่าหากไม่ไหวจริงๆ ก็ขอให้ได้เดินทางต่อด้วยดี เจตนาที่แน่วแน่ของอาจารย์นี้เองกระมัง ที่ช่วยทำให้ผมมองความตายจากมุมมองใหม่ ในฐานะที่เป็นการเดินทางต่อของชีวิตจริงๆ

เวลาได้มาทำพิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ร่วมกัน ทำให้ผมรู้สึกว่า พวกเราทุกคนเหมือนเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน อาจเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่โด่งดังหรือมีชื่อเสียงสำหรับคนทั่วไป ต่างก็ดำเนินชีวิตในแบบที่เราเชื่อว่าจะดีสำหรับตัวเองและสังคม เมื่อใครคนหนึ่งใกล้จะจากไป เราก็มาส่งเสียและอวยพร พรั่งพร้อมด้วยรอยยิ้มและน้ำตาซึ่งรำลึกถึงคุณค่าที่เขามีต่อเรา

ผมถือว่าอาจารย์ฌานเดช พ่วงจีน เป็นครูทางจิตวิญญาณที่สำคัญคนหนึ่งของยุคสมัย ที่ช่วยปลุกให้ผู้คนตื่นขึ้นมาตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย และเปิดรับบทเรียนของชีวิต หัวใจสำคัญที่อาจารย์ฌานเดชแบ่งปันมาตลอด คือการใส่ใจและให้คุณค่ากับปัญญากายที่เชื่อมโยงกับปัญญาอารมณ์ และปัญญาทางความคิด ที่อาจารย์เรียกว่า ไตรปัญญาสิกขา โดยปัญญาฐานกายนี้มักถูกละเลยและขาดการดูแลเอาใจใส่ พอๆ กับที่เรามักละเลยผืนดิน สายน้ำ ธรรมชาติแวดล้อม สุขภาพ วีถีชีวิตแห่งการอยู่ร่วมอย่างชุมชนและความเรียบง่ายไปอย่างน่าเศร้า หากเราปรารถนาชีวิตที่สมดุล เราก็พึงกลับมาดูแลปัญญาทั้ง ๓ ฐานให้พูนพร้อมมากยิ่งขึ้น

บทเรียนของการเผชิญหน้ากับความตายอย่างเห็นคุณค่าและยอมรับนี้ ช่วยทำให้ประสบการณ์ชีวิตของผมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น การได้มาส่งอาจารย์เพื่อเดินทางต่อ ช่วยให้ผมได้เห็นความงดงามในความเปราะบาง ความกล้าหาญในความกลัว และความสืบเนื่องในความสิ้นสุด

Back to Top