ธันวาคม 2013

มวลมหาประชาคุย



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2556

ถ้าจู่ๆ แขนของเราเกิดไปสัมผัสถูกของร้อน เราจะชักแขนกลับ ปรากฏการณ์นี้เป็นปกติจนเราไม่ได้นึกถึง แต่การทำงานของมันอาศัยระบบที่ซับซ้อนมาก ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นเป็นจำนวน สมมุติว่าเราใช้เซลล์นิวรอน (เซลล์ประสาท) สิบตัวในการรับรู้ความร้อนที่มาถูกตัวเรา เราจะต้องอาศัยเซลล์จำนวนถึง “หนึ่งแสนตัว” ของระบบประสาทกลางซึ่งรวมถึงสมอง และประมวลกลับมาเป็นคำสั่งซึ่งอาศัยเซลล์เพียงหนึ่งตัวเท่านั้นในการสั่งให้กล้ามเนื้อเคลื่อนที่ยืดและหดจนทำให้แขนขยับออกจากความร้อน

คำถามคือ? ทำไมจึงต้องใช้เซลล์จำนวนเป็นแสนตัวเพื่อส่งต่อและประมวลผลสัญญาณที่มาจากเซลล์แค่สิบตัว? สำหรับผมมันดูเกินเลยความจำเป็นไปมาก เพราะถ้าดูจากสัตว์ชั้นต่ำเช่นไฮดรา ซึ่งมีเซลล์นิวรอนเพียงร้อยละ ๓ ของร่างกาย ก็เพียงพอแล้วที่จะเคลื่อนไหวดำรงชีวิตอยู่ได้

สำหรับผมคำตอบก็คือ “มันไม่จำเป็นเลย” ที่เราต้องการเซลล์จำนวนมากมายขนาดนั้น เพราะมันเกินความจำเป็นในการทำหน้าที่พื้นฐานของชีวิต เช่น กิน ขับถ่าย เคลื่อนไหว ดังนั้นการที่เรามีเซลล์ประสาทส่วนกลาง (ซึ่งรวมถึงสมอง) จำนวนมากมายเช่นนี้ ก็อาจจะพูดได้ว่ามันถูกใช้ไปเพื่อการทำงานด้านอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สัตว์ทั่วไปทำไม่ได้

ซึ่งก็คือความสามารถทางด้าน “พุทธิปัญญา” (Cognitive) ในระดับที่สูงที่สุดของห่วงโซ่อาหาร

ความสามารถดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้เพราะสิ่งมีชีวิตมีกระบวนการที่นักชีววิทยา ฟราสซิสโก วาเรลา (Francisco Varela) และฮุมเบอร์โต มาตูรานา (Humberto Maturana) เรียกว่า Structural Coupling หรือ ผมจะเรียกว่าความสามารถในการ “เต้นรำกับพระเจ้า” คล้ายกับ ซิซิฟัส ที่ถูกซีอุสสาปให้ต้องแบกก้อนหินขึ้นไปบนเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเมื่อเขาแบกขึ้นไปถึงที่นั่นมันก็จะตกลงมาที่ตีนเขาตามเดิม การเต้นรำกับพระเจ้าก็คือการที่สิ่งมีชีวิตไม่ย่อท้อที่จะปรับเปลี่ยนตนเองด้วยเจตจำนงอิสระถึงแม้จะต้องคำสาป ซึ่งก็คือขีดจำกัดที่ธรรมชาติให้มา จนทำให้ตัวเองสามารถอยู่รอดและข้ามผ่านอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่าที่ถาโถมเข้ามา โดยการสร้างสรรค์ตัวเองใหม่อยู่เสมอ (autopoiesis)

นักสังคมวิทยา นิกลาส ลูห์มานน์ (Niklas Luhmann) ก็ค้นพบว่าสังคมเองก็ปฏิสัมพันธ์ในทำนองเดียวกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเช่นกัน คือสามารถสร้างตัวเองใหม่ได้ แต่การสร้างตัวเองใหม่ของสังคมไม่ใช่ “ระบบชีวิต” เพราะมนุษย์สมัยปัจจุบันปฏิสัมพันธ์กันด้วยระบบคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ หรือที่ทางพุทธเรียกว่า “สมมุติ” นั่นเอง ความจริง “สมมุติ” จึงไม่ใช่ความจริงในแง่ของ “ปรมัตถ์” หรือความจริงที่แบ่งแยกไม่ได้ ยกตัวอย่างว่าเราอาจเปรียบเทียบว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้นเป็นความจริงสมมุติ รัฐธรรมนูญ “ไม่มีหัวใจ” แต่มนุษย์ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายสูงสุดนั้น “มีหัวใจ”

ภายใต้ระบบคุณค่าที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่น กฎหมายก็ดี หรือวัฒนธรรมก็ดี การสื่อสารระหว่างมนุษย์ไม่มีทางที่จะราบรื่นอย่างในระดับเซลล์ ปัญหาสำคัญก็คือ “พุทธิปัญญา” นี่เองที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว มีการทดลองในกระต่าย โดยนักวิทยาศาสตร์ตัดการเชื่อมต่อของระบบประสาทที่ไปสู่ขาหลังของกระต่าย โดยไม่ไปยุ่งกับระบบเส้นเลือดหรืออื่นๆ เลย แต่พอปล่อยทิ้งไว้พบว่าขาของกระต่ายลีบเล็กลง ทั้งๆ ที่มันได้รับสารอาหารต่างๆ เท่าเดิม และเมื่อต่อเชื่อมเส้นประสาทกลับมาก็พบว่าขาของกระต่ายสามารถกลับคืนมาแข็งแรงดังเดิม

การทดลองแสดงให้เห็นว่าร่างกายเราไม่สามารถขาดการสื่อสารระหว่างแต่ละส่วนได้ เพราะจะทำให้เกิดการแคระแกร็นของอวัยวะต่างๆ ทั้งๆ ที่ปัจจัยทางด้านอื่นๆ ยังอยู่ครบ ในระดับสังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากเราตัดความสามารถในการสื่อสารของมนุษย์ออกไป การสร้างตัวเองของสังคมก็จะไม่สมบูรณ์ สังคมที่มีการสร้างเงื่อนไขบางอย่างทำให้คนไม่สามารถหันหน้ามาพูดคุยกันได้ นั่นย่อมทำให้สังคมนั้นเกิดความพิกลพิการ ยิ่งเราเข้าใจการสร้างตัวเองของสิ่งมีชีวิตซึ่งดำรงอยู่บนโลกมาเป็นพันๆ ปีอย่างมนุษย์เรา เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์เราคงสิ้นสุดลงตั้งแต่เป็นวุ้นอยู่ที่ไหนสักแห่งในมหาสมุทรแห่งชีวิต ถ้าหากเซลล์กลุ่มหนึ่งปฏิเสธที่จะคุยกับเซลล์อีกกลุ่มหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่าพวกมันเป็นเซลล์คนละประเภทกัน!

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสช่วยออกแบบกระบวนการพูดคุยที่เรียกว่า “มวลมหาประชาคุย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และรายการ “เสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย” กระบวนการพูดคุยนี้ ได้ปรับแปลงมาจากกระบวนการที่เรียกว่า Open Space ซึ่งเป็นการพูดคุยที่ไม่มีการตั้งประเด็นหรือหัวข้อการสนทนาเอาไว้ล่วงหน้า ให้ผู้คนได้มีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นของตนในบรรยากาศที่บ้านเมืองของเรามีความตึงเครียดทางการเมือง การสนทนาใช้กฎที่เลียนแบบกฎธรรมชาติเพียงข้อเดียว ที่เรียกว่า “กฎสองขา” ซึ่งกำหนดว่าให้เราเดินไปหากลุ่มที่เราสนใจจะคุยด้วยตัวเอง และ “อย่านั่งอยู่เพราะเกรงใจ อย่าไปเพราะเห็นเป็นเพื่อน” มันเป็นการคัดสรรทางธรรมชาติ ให้เรื่องที่ทุกคนสนใจจะคุยมีผู้นั่งฟังอยู่ และถ้าเรื่องนั้นไม่น่าสนใจ หรือไม่มีผู้ใดจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ผู้คนก็จะใช้กฎสองขาเดินออกมาจากกลุ่มนั้น กลุ่มนั้นก็จะถูกยุบหายไปโดยปริยาย ด้วยวิธีนี้ เราจะไม่ถูก “บังคับ” ด้วยกฎเกณฑ์น่าเบื่อแบบที่ต้องทนนั่งฟังเพราะ “เป็นพิธี” แต่ด้วยวิธีนี้ทุกคนมีสิทธิจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง



นี่คือกระบวนทัศน์ใหม่ของการสร้างสังคมที่จะสามารถรองรับความสลับซับซ้อนของปัญหา ที่จะมาในรูปแบบใดก็ได้ เพราะเราเอา “กระบวนการ” เป็นที่ตั้ง ไม่เอา “นโยบาย” ซึ่งคือระบบคุณค่าที่ถูกผลิตขึ้นโดยคนไม่กี่คนมา “บังคับ” ให้สังคมต้องทำตาม ความรู้เรื่องระบบชีวิตบอกเราว่าอะไรก็ตามที่ไม่สอดคล้อง และไม่ปรับตัวอย่างทันการณ์ก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี และความสามารถในการปรับตัวและสร้างสรรค์ตัวเองใหม่จะมาจากไหนกันเล่า ถ้าไม่ใช่มาจากการที่เซลล์นับแสนล้านตัวในร่างกายของเราทำหน้าที่อย่างเดียวคือ “สื่อสาร” กัน



“กระบวนการพูดคุย” คือการสร้างวงจรป้อนกลับ (feedback loop) ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนสังคมเป็นไปได้ ความเข้มแข็งของสังคมจึงขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่มนุษย์เรา “เชื่อมต่อ” ปฏิสัมพันธ์และรับฟังกันและกัน เปิด “ช่องทางการสื่อสาร” เอาไว้ไปมาหาสู่กันทั้งในทางกายภาพ และทางโลกเสมือนจริง มองในแง่นี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นแล้วว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะปฏิรูปประเทศของเราโดยไม่มีการลุกฮือขึ้นมาสนทนากันในทุกระดับสังคมในระดับ “มวลมหาประชาคุย” และความพยายามของคนกลุ่มใดก็ตามที่บอกให้พวกเรากระทำตรงกันข้ามก็คือ “ฟังและทำตาม” คำสั่งของพวกเขา นั้นคือความพยายามที่จะทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ พลเมืองต่อพลเมือง ต้องขาดหายไป เช่นเดียวกับ “ขาของกระต่าย” ถ้าหากถูกตัดการสื่อสารแล้วก็จะมีสภาพแคระแกร็นและเสียหายในที่สุด

การยืนแบบ “กระต่ายขาเดียว” จะมีประโยชน์อะไร ถ้าขาข้างนั้นถูกทำให้ลีบแคระแกร็นไปเสียแล้ว ก็มีแต่จะพังพาบลงมาทั้งหมดเท่านั้น

เสวนากับศัตรู



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2556

หนังฝรั่งเศสชิงรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมปี ค.ศ. ๒๐๐๖ เรื่อง Joyeux Noël หรือ Merry Christmas น่าจะเป็นหนังที่คนไทยหามาดูกันในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่นี้

เผื่อจะบรรเทาความเกลียดชังและอยากฆ่าอีกฝ่ายลงได้บ้าง

หนังเล่าเรื่องคืนก่อนคริสตมาสปี ค.ศ. ๑๙๑๔ เหตุเกิดในสนามเพลาะสงครามโลกครั้งที่ ๑ ระหว่างกองทหารเยอรมันด้านหนึ่ง กับกองทหารสก็อตแลนด์และฝรั่งเศสอีกฟากหนึ่ง กำกับการแสดงโดย Christian Carion ได้นักแสดงสาวชาวเยอรมัน ไดแอน ครูเกอร์ รับบทนักร้องโอเปรา แอนนา ซอเรนเซน

หนังเริ่มเรื่องโดยเล่าถึงตัวละครหลายคน ก่อนที่จะจับภาพไปที่แอนนา นักร้องโอเปราสาวสวยชาวเยอรมัน เธอวิ่งเต้นและจัดการให้ตนเองพร้อมสามีได้ร้องเพลงต่อหน้ามกุฎราชกุมารวิลเฮล์มแห่งปรัสเซียในคืนก่อนคริสต์มาส ด้วยวิธีนี้กองทัพจึงต้องเรียกตัวสามีของเธอ นิโคลัส สปริงค์ นักร้องเสียงเทนเนอร์กลับจากแนวหน้า

นายพลเยอรมันถามแอนนาว่า เธอจะพยายามไปเพียงไรก็ได้สามีกลับมาหาแค่คืนเดียว แอนนาตอบว่าเวลาของพวกเธอเดินช้ากว่าของพวกนายพล

ในตอนแรกนิโคลัสไม่สามารถร้องได้จนจบเพลง อาจจะเป็นเพราะไม่มีกะจิตกะใจจะร้อง หมดกำลังใจ ขาดการฝึกซ้อม หรือสูบบุหรี่มากเกินไป แต่ด้วยความช่วยเหลือและให้กำลังใจจากแอนนาทำให้เขาสามารถร้องเพลงต่อจนจบได้



หลังการแสดงนิโคลัสและแอนนาเดินทางไปที่แนวหน้า

ในคืนก่อนคริสต์มาสอันหนาวเหน็บท่ามกลางทุ่งหิมะขาวโพลน และศพทหารนอนทอดกายทั่วๆ ไป ทหารของทั้งสามชาติได้แต่นั่งนิ่งๆ ในหลุมรอเวลาให้ผ่านไป

ทันใดนั้นก็ปรากฏเสียงเพลง Silent Night ขับร้องโดยนิโคลัสดังขึ้นอย่างไพเราะเป็นที่สุดจากสนามเพลาะฝ่ายเยอรมัน จากนั้นสักครู่หนึ่งจึงมีเสียงปี่สก็อตบรรเลงตามดังมาจากอีกฟากหนึ่ง สร้างความปีติให้แก่ทหารทั้งสามชาติและคนดูหนังเป็นที่ยิ่ง

นิโคลัสเปลี่ยนเป็นลุกขึ้นยืนร้อง ตอนนี้ศีรษะของเขาพ้นขอบพื้นดินตกเป็นเป้ายิงได้อย่างง่ายดายแล้ว ท่ามกลางความตกตะลึงของเพื่อนทหารและนายทหารยศร้อยโท จากนั้นนิโคลัสลุกขึ้นไปยืนบนพื้นและเดินออกไปในสนามรบร้องเพลงต่อไป เวลาเดียวกันนั้นทหารฝ่ายสก็อตแลนด์ก็ลุกขึ้นยืนเป่าปี่บนปากหลุมเช่นเดียวกัน

เมื่อเพลงที่สองจบลง ร้อยโทหัวหน้าหน่วยฝ่ายเยอรมันเดินออกไปกลางสนาม ร้อยโทหัวหน้าหน่วยฝ่ายสก็อตแลนด์เดินออกไปบ้าง สองคนยืนคุยกันครู่หนึ่ง ร้อยโทหัวหน้าหน่วยฝ่ายฝรั่งเศสอดรนทนไม่ได้ถือขวดไวน์เดินออกไป นายทหารสามชาติยืนคุยกันแล้วทำสัญญาหยุดยิงในคืนก่อนคริสต์มาส

พลทหารทั้งสามชาติลุกขึ้นจากหลุมออกมานั่งคุยกัน ดื่มไวน์หรือวิสกี้ เล่นไพ่ แลกเปลี่ยนช็อกโกแลต แลกกันดูรูปภาพของครอบครัว และฟังบาทหลวงเทศน์ จากนั้นจึงฟังการขับร้องโอเปราโดยแอนนาอีกครั้งหนึ่ง เสียงเพลงไพเราะแสนหวานก้องกังวานไกลของแอนนาถึงกับทำให้หลายคนรวมทั้งคนดูน้ำตาซึม

ถึงตอนเช้า ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกลับไปประจำหลุมของตน แต่แล้วกลับชงกาแฟออกมานั่งกินด้วยกัน ทหารทั้งสามชาติช่วยกันเก็บศพเพื่อนทหารไปฝังและทำพิธีให้เรียบร้อยในดินแดนฝั่งของตน จากนั้นจึงเล่นฟุตบอลด้วยกันอีก ปิดท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนจดหมายกันและกัน เพราะบางคนมีครอบครัวอยู่ในครอบครองของอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อถึงเวลายิงปืนใหญ่จากแนวหลังเพื่อถล่มสนามเพลาะฝ่ายตรงข้าม ทหารทั้งสามชาติแลกเปลี่ยนที่หลบภัยให้แก่กันและกัน

อารมณ์ของหนังพาคนดูมาได้ไกลที่สุดถึงตรงนี้ ด้วยบรรยากาศและเสียงเพลงคริสต์มาสทำให้ทหารของทั้งสามชาติสามารถถอดเครื่องแบบและลัทธิการเมืองการทหารของตนออกไป สามารถหยุดความเกลียดชังและการฆ่ากันอีกทั้งช่วยเหลือกันและกันตามหน้าที่ที่มนุษย์ทั่วไปพึงมี

จดหมายที่พวกเขาแลกเปลี่ยนกันตกถึงมือของกองทัพในที่สุด ทหารทั้งสามหน่วยถูกพิจารณาทำโทษหนักเบาแตกต่างกันไป เพราะได้กระทำการอันเรียกว่า fraternization คือเสวนากับศัตรู

หนังมิได้อ้างว่าสร้างจากเหตุการณ์จริง แต่หนังได้รับแรงบันดาลใจจากจดหมายจำนวนมากที่ทหารแนวหน้าเล่าถึงเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้จากหลายจุดในสนามรบ อันเป็นหลักฐานว่าท่ามกลางสงครามที่คนเรามีหน้าที่ต้องฆ่าฝ่ายตรงข้ามโดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเหตุผลมากนัก คนเราก็สามารถจะหยุดการกระทำนั้นได้เมื่อต้องการ

หากเปิดหน้าเฟซบุ๊กเวลานี้ คนไทยจะพบถ้อยคำเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามมากมาย หลายข้อความเป็นคำหยาบคายหรือดูถูกเหยียดหยามคนที่ไม่เหมือนเราอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะกระทำได้ ความเกลียดชังใครบางคนหรืออะไรบางอย่างถูกกระพือให้กว้างขวางและครอบคลุมไปหมดทุกมิติของความขัดแย้ง โดยมิอาจแยกแยะประเด็นต่างๆ ออกจากกันได้โดยง่ายอีก

เปรียบเสมือนทหารในสนามรบที่ยิงทุกอย่างที่เคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็นต้องแยกแยะ

คนบ้านนอกจำนวนมากเปรียบเสมือนทหารในสนามเพลาะ พวกเขาทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยไม่เคยตั้งคำถามอะไร ไม่เคยแม้แต่จะถามว่าตนเองควรได้หรือไม่ควรได้อะไรบ้าง เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มานานร้อยปีโดยมิเคยปริปากบ่น ครั้นโลกเปลี่ยนไปทำให้ความเปลี่ยนแปลงเดินทางมาถึง คล้ายๆ เสียงเพลงคริสต์มาสที่ดังมาถึงสนามรบในค่ำคืนอันหนาวเหน็บ พอลุกขึ้นจะฟังเสียงเพลงเพราะๆ บ้างและขอเพียงสิทธิเลือกตั้งของตนเอง เหตุใดจึงถูกดูหมิ่นเหยียดหยามมากมายนัก เหมือนดั่งทหารทุกคนในเรื่องที่ถูกพิจารณาโทษจากศาลทหารในตอนท้าย

หนังอาจจะหาดูยาก แต่หามาดูเถิดครับ น่าจะทำให้ใจเย็นลงกันได้บ้าง

คุยข้ามกำแพงของความแบ่งแยก



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

ช่วงนี้บรรยากาศทางการเมืองทำให้เกิดภาวะตื่นตัวขึ้นในสังคมไทยมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในขณะเดียวกัน คู่ขนานไปพร้อมกับโลก on-land นั่นคือสังคมออนไลน์ มีการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกทางการเมืองอย่างมากมายจากทุกสีทุกฝ่าย

ที่น่าเป็นห่วงคือการสื่อสารด้วยคำพูดที่ตีตรา ปรักปรำ ตัดสิน มากกว่าการสื่อสารเชิง “ข้อมูล” หรือ “ความเชื่อ” ของตัวเอง เช่น มีการด่ากันว่า “ไอ้เหี้ย” “ไอ้ควาย” “สมควรตาย” “นรกส่งมา” “พวกล้มเจ้า” ซึ่งคำกล่าวเหล่านี้ ล้วนมาจาก “ความคิดเห็นและความรู้สึก” ของผู้เรียกเอง แต่ก็สะท้อนถึงความเกลียดชังที่มากขึ้นในสังคม

จนหลายๆ คนเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็น เพราะไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในความขัดแย้ง และพยายามทำตัวเป็นกลาง ซึ่งก็อาจถูกกล่าวหาได้อีกว่า พวกเป็นกลางนี่แหละเป็นพวก “สีเหลืองแน่ๆ เลย” หรือไม่ก็เป็นพวก “ไทยเฉย” ที่หมายถึงการเพิกเฉยละเลย หรือพอบอกว่าไม่มีสี ก็ถูกกล่าวหาว่า “ไม่รักประเทศชาติ” หรือร้ายไปกว่านั้นคือ “ไม่รักในหลวง” หรือพวกที่พยายามพูดถึงการไม่ตัดสิน การมีไมตรีต่อกัน รักกัน ก็ถูกเหมาว่าเป็นพวก “โลกสวย” ที่ดูหน่อมแน้มไป เอาเป็นว่าหากไม่เห็นเป็นพวกเดียวกับตนก็พร้อมที่จะ “จัดพวก” หรือ “ติดป้าย” ให้เป็นพวกอื่นอย่างรวดเร็วทันใจ หรือไม่ก็ “unfriend” ในเฟซบุ๊กกันเลย

ที่น่าปวดหัวที่สุดตอนนี้ น่าจะเป็นการที่หลายๆ บ้านหรือหลายครอบครัวไม่สามารถพูดคุยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกันอย่างเปิดเผยได้ แต่ต้องเลือกที่จะพูดคุยเฉพาะกับผู้ที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน หรือสีเดียวกันเท่านั้น หรือถ้าสีไหนเป็นเสียงข้างน้อยก็ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ในความเงียบไป หลายแวดวงไม่ว่าจะเป็นวงเพื่อนฝูงหรือครอบครัวมีการ “ห้าม” คุยเรื่องการเมือง เพราะกลัวความขัดแย้งที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามผมสังเกตว่า ยิ่งไม่คุย ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ไปในทางหวาดระแวงกันและกันอยู่ในที

ภาวะแบ่งแยกอย่างนี้นับเป็นความถดถอยของการเมืองไทย ไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้จากกันและกัน และมีแต่จะสร้างช่องว่างให้ถ่างไกลออกไปยิ่งขึ้น หากว่าเราคือสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนพึงแสดงหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง และ “มีส่วนร่วม” ในการแสดงความคิดเห็นและกำหนดชะตากรรมของ ประเทศชาติบ้านเมืองร่วมกัน โดยให้คุณค่าและดูแลความต้องการของทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคและยุติธรรม

เวลามีคนถามผมว่าสีอะไร ผมบอกว่าผมไม่ชอบแสดงออกแบบสี เพราะทำให้จุดยืนของผมจำกัด เพราะผมอยากเห็นสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนให้เกียรติกันและกัน และมีส่วนร่วมกันอย่างเท่าเทียม ซื่อตรงและเปิดเผย และอยากเห็นรัฐบาลเป็นตัวแทนเสียงของประชาชนทุกหมู่เหล่าจริงๆ ที่ตรวจสอบได้ ดังนั้นผมไม่เห็นด้วยและไม่ชอบการทุจริตทุกรูปแบบ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือกว่าและนอกรัฐธรรมนูญ อีกอย่างผมไม่ยึดติดกับพรรคการเมืองใดๆ หรือผู้นำคนไหน ผิดถูกว่ากันไปตามเนื้อผ้าหรือข้อมูลที่เป็นจริงมากกว่าการปรักปรำแบบเหมารวม

ผมคิดว่าตอนนี้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมืองที่สำคัญ เพราะเป็นโอกาสที่สังคมจะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศชาติบ้านเมือง แต่ความท้าทายในปัจจุบันอยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างไร ผู้มีการศึกษาหรือผู้อยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า จะเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้อยู่ในชนชั้นที่มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่าได้อย่างไร ประชาชนผู้เป่านกหวีดที่ต้องการขับไล่ระบอบทักษิณจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประชาชนเสื้อแดงที่มีหลากหลายเฉดสีได้อย่างไร และในทำนองกลับกันชาวสีแดงจะเรียนรู้ความเกลียดชังที่มีต่อการทุจริตคอรัปชั่นของอีกฝ่ายได้อย่างไร

ผมเองก็พยายามเรียนรู้จากคนที่มีความคิดเห็นและความเชื่อต่างไปจากตัวเอง แม้จะมีความไม่แน่ใจ และความกลัวอยู่ลึกๆ ว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์หรือไม่ แต่เมื่อได้ทดลองพูดคุยกับคนรอบข้าง คนที่ทำงานด้วยหรือคนที่บ้าน แม้ว่าเฉดสีจะไม่ได้แตกต่างกันอย่างรุนแรง แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้และเห็นความเป็นไปได้ของการพูดคุยกันข้ามกำแพงของความแตกต่าง

ผมคิดว่าพื้นฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย หรือการปฏิบัติตามข้อตกลงของสังคมภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายจากกันและกันอย่างให้ความเคารพ ให้เกียรติและจริงใจ แสดงออกจุดยืนทางจริยธรรมและคุณค่าของตัวเองได้อย่างไม่ทิ่มแทง ไม่ลิดรอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ผมคิดว่าถ้าเราคุยในเรื่องที่สำคัญๆ เหล่านี้ไม่ได้แล้ว ก็อย่าหวังว่าคนที่มีอำนาจหน้าที่มากกว่าเราเขาจะทำกันเองได้ เพราะเท่าที่เห็น ในรัฐสภานั้นเต็มไปด้วยการประท้วงหรือใส่ร้ายกันและกันมากกว่าจะเป็นการร่วมกันคิดเพื่อหาทางออกให้กับประเทศอย่างสมัครสมานสามัคคี

ดังนั้นผมมีข้อเสนอในการพูดคุยแลกเปลี่ยนท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย คือ

๑. พร้อมที่จะรับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของกันและกัน รับผิดชอบอารมณ์ของตัวเองมากกว่าคุยเพื่อระบายความไม่พอใจให้อีกฝ่ายรับรู้

๒. เปิดใจเพื่อเรียนรู้จากกันและกันว่าอีกฝ่ายคิดเห็นอย่างไร ต้องการอะไร มีเรื่องราวหรือ ประสบการณ์ส่วนตัวอย่างไร ที่เป็นที่มาของความคิดเห็นทางการเมือง การแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่มีทั้งความเจ็บปวด ความผิดหวัง หรือสมหวัง ทำให้เราเข้าใจที่มาและความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้มากขึ้น แทนที่จะคุยเพื่อแสดงจุดยืนว่าเราเป็นฝ่ายถูกและอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิด

๓. คุยเพื่อเรียนรู้ว่า “ความจริง” มีหลากหลาย ผ่านการรับรู้ข้อมูลหรือประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และรับรู้ด้วยว่า “ความจริง” บางประการยังคงมีฐานะเป็น “ความเชื่อว่าจริง” ด้วย แทนที่จะคุยเพื่อยืนยันว่าใครจริงกว่าใคร

๔. พูดถึง “ข้อมูลที่เป็นจริง ที่มีหลักฐานตรวจสอบได้” มากกว่าเป็นเพียงความคิดเห็นที่ไม่มีมูลชัดเจน และหลีกเลี่ยงการ “กล่าวหา” หรือตีตราปรักปรำ เช่น คำว่าชั่ว เลว ที่อาจลบหลู่ ลดทอนศักดิ์ศรีของอีกฝ่าย

๕. อดทนฟังอย่างไม่พูดขัดหรือแทรกแซง แสดงถึงความเคารพที่มีต่อผู้พูด ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของการพูดคุยแลกเปลี่ยน

๖. แยกแยะการพูดคุยทีละเรื่องแทนที่จะเหมารวม เช่น แทนที่จะกล่าวหาอย่างลอยๆ ว่า “รัฐบาลห่วย” ก็พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น นโยบายการจำนำข้าวที่ขาดทุน เป็นต้น

๗. ยอมรับ ให้เกียรติ และปกป้องความคิดเห็นหรือจุดยืนของอีกฝ่าย แม้จะแตกต่างกับความคิดเห็นของเราอย่างสุดขั้ว และไม่พยายามเปลี่ยนแปลงโน้มน้าวความคิดเห็นของอีกฝ่ายให้เป็นเหมือนเรา

๘. เน้นไปที่เข้าใจโลกของกันและกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกัน และไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปว่า จะต้องมีทางออกที่เหมือนกัน

ผลลัพธ์ที่เราต้องการจากการพูดคุยคือความเข้าอกเข้าใจต่อกัน มีความสัมพันธ์ที่เปิดเผย ไว้วางใจได้ ยอมรับความเห็นต่างได้ และอาจค้นพบสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างให้คุณค่าและห่วงใยร่วมกัน เช่น ความเป็นธรรม การไม่เอารัดเอาเปรียบ ความเท่าเทียม และสันติสุขของชีวิต แม้ว่าจะยังไม่มีทางออกหรือข้อสรุปเชิงวิธีการที่ชัดเจนนัก แต่หากเกิดการยอมรับความแตกต่างโดยรักษาการพูดคุยให้ต่อเนื่อง ก็อาจก่อให้เกิดการเรียนรู้มากมายและนวัตกรรมใหม่ๆ ทางความคิดทางการเมืองและสังคมด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจจำเป็นต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ ไม่จำเพาะในรัฐสภาหรือเวทีที่เป็น ทางการต่างๆ แต่เกิดบนโต๊ะกินข้าว หรือลานบ้านที่เราต่างเปลี่ยนบทสนทนาที่แบ่งแยกเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่สร้างความเข้าอกเข้าใจ (แม้ไม่เห็นด้วย) ถ้าเราไม่สามารถพูดคุยกันในเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงกับพวกเราแล้ว เราจะสร้างหรือเรียกร้องให้เกิดสังคมประชาธิปไตยอย่างเป็นจริงได้อย่างไร

กล้าที่จะไม่สอน
Courage not to teach



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2556

ผมเป็นเด็กบ้านนอก เกิดที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ผมอยู่ในวงการศึกษามาตลอดชีวิต ทั้งในฐานะที่เป็นนักเรียน นักศึกษา นิสิต และในฐานะครูฝึกสอน อาจารย์มหาวิทยาลัย วิทยากร และวิทยากรกระบวนการ ผมเรียนครูมาตลอดหลังจบการศึกษาระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (สมัยนั้นเรียกสั้นๆ ว่าโรงเรียนชาย) เป็นนักเรียน มศ.๑ รุ่นแรก เข้าเรียนระดับประกาศนียบัตรการศึกษาตอนต้น (ป.กศ. ต้น) ที่โรงเรียนฝึกหัดครูอุตรดิตถ์ ๒ ปี ได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อระดับอนุปริญญาที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ๒ ปี (ป.กศ.สูง คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ) แล้วได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา (พิษณุโลก) เป็นรุ่นบุกเบิกอีกสองปี (ก.ศบ. คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ) ทั้งสามแห่งหล่อหลอมความเป็นครูให้กับผม ผมเรียนรู้และประทับใจในตัวอาจารย์ที่เป็นต้นแบบให้ผมหลายคน ผมโชคดีที่ได้เป็นศิษย์เก่าหลายที่ จึงได้มีโอกาสพบครูอาจารย์ในดวงใจหลายคน ทั้งสามแห่ง ผมมีโอกาสได้ฝึกสอนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้

ตอนออกฝึกสอนระดับประถมศึกษาที่อุตรดิตถ์ ผมตื่นเต้น ไม่กล้าที่จะสอน เพราะกลัวจะสอนไม่ได้ กลัวจะสอนไม่ดี จึงต้องเตรียมการสอนหนักมาก ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๗ ปี ยังเป็นเด็กอยู่มาก ผมสอนตามหลักสูตร ตามรายวิชาที่ได้รับมอบหมายจากครูพี่เลี้ยงให้สอน

ตอนออกฝึกสอนระดับมัธยมศึกษาที่เชียงใหม่ ผมยังคงรู้สึกกลัวที่จะสอน และไม่ค่อยกล้าที่จะสอนเท่าไหร่ ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๙ ปี คราวนี้ผมเลือกฝึกสอนวิชาภาษาอังกฤษ รู้สึกตื่นเต้น กลัวและเกร็งทุกครั้งที่มีอาจารย์นิเทศมานั่งดูอยู่หลังห้อง พยายามสอนตามรูปแบบ ขั้นตอน และเทคนิควิธีการสอนตามที่อาจารย์สอนเรามา...Listen carefully. Repeat after me. One more time, please. Good. Very good. Excellent.…

ตอนออกฝึกสอนที่วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ผมเริ่มรู้สึกท้าทาย ไม่ค่อยกลัวเพราะมีประสบการณ์มาแล้วสองครั้ง แต่ก็ยังไม่ค่อยกล้าสักเท่าไหร่ เพราะเกรงว่าจะสอนได้ไม่ดี ไม่ถูกต้องตามรูปแบบมาตรฐานการสอนตามเทคนิควิธีและทฤษฎีการสอนที่เรียนมา

ผมได้เกรด “A” จากการฝึกสอนทุกครั้ง ทำให้รู้สึกมั่นใจเพิ่มมากขึ้นว่า ผมเลือกเดินมาถูกทางแล้ว (ที่จริงไม่มีทางเลือก เพราะไม่รู้จะเรียนอะไรดี เพราะที่จังหวัดอุตรดิตถ์ตอนนั้นก็ไม่มีอะไรให้เลือกเรียนมากนัก)

เมื่อมีโอกาสได้เข้าเรียนปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาการศึกษา (รุ่นแรก) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่จบปริญญาโท (จิตวิทยาการศึกษา) ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปัจจุบัน) ได้เป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ และสอนเต็มที่หนึ่งปี สอบชิงทุนของจุฬาฯ ไปเรียนปริญญาเอกด้านปรัชญาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า (University of Minnesota) สหรัฐอเมริกา จบกลับมาสอนระดับปริญญาโท/ปริญญาเอกที่จุฬาฯ และรับเชิญไปสอนพิเศษอีกหลายที่ เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานของรัฐ เอกชน และองค์การระหว่างประเทศ ผมพัฒนาความ กล้าที่จะสอน เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่กลัวที่จะสอนอีกต่อไป

ยิ่งสอนยิ่งกล้าที่จะสอน ยิ่งสอนยิ่งสนุก เพราะเราในฐานะผู้สอน (ผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากร เจ้าพ่อการวิจัยอนาคต เจ้าอาศรมจิตตปัญญาศึกษา...) สามารถหลอกล่อให้ผู้เรียน (ผู้เข้ารับการอบรม ผู้ฟัง) ติดกับดักของเรา สามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาถูก-ผิดด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ ด้วยทฤษฎีทางวิชาการต่างๆ...

คำชื่นชม คำเยินยอที่ได้รับอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้ผมไม่กลัวการสอนอีกต่อไป มีแต่ความกล้าที่สอน

จากความกลัวสู่ความไม่กลัว จากความไม่กล้าสู่ความกล้า ผมกล้าที่จะสอน แม้กระทั่งบางเรื่องที่ผมไม่ค่อยถนัด เพราะเกรงใจผู้เชิญที่เขาเชื่อมั่นในตัวเราว่าเราสอนได้

ความไม่กลัวที่จะสอน (ในความหมายเดิมที่รู้และเข้าใจกันโดยทั่วไป) และความกล้าที่จะสอนของผมเริ่มสั่นคลอนและถึงจุดพลิกผัน เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกกลัวที่จะสอน ไม่กล้าที่จะสอน และพัฒนามาเป็น กล้าที่จะไม่สอน เมื่อผมมีโอกาสได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะในมิติของจิตวิญญาณ (สุขภาวะทางจิตวิญญาณ) และต่อมาได้รับเชิญจากคุณหมอประเวศ วะสี ให้เป็นสมาชิกและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ แล้วนำไปสู่การเป็นผู้ร่วมบุกเบิก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในประเทศไทย ทั้งในมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนในทุกประเภทและระดับการศึกษา หน่วยงานและองค์กรต่างๆ

บนเส้นทางสายใหม่ของการศึกษา สายที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “จิตตปัญญาศึกษา” หรือ คำในภาษาอังกฤษคือ “Contemplative Education” ผมได้เรียนรู้ว่า การสอนตามแนวคิดและแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่ทำกันอยู่ ให้ความสำคัญกับเทคนิค วิธีการสอนของผู้สอน (ครู อาจารย์ วิทยากร) มากกว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน (นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ฟัง ผู้เข้ารับการอบรม) ผู้สอนจึงมีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือผู้เรียน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนจึงโน้มเอียงเป็นแบบบนลงล่าง กดดันหรือกดทับการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใด เช่นการท่องจำ การคิดวิเคราะห์ การอภิปราย และการโต้แย้งทางวิชาการ รวมไปถึงการวิจัย

บนเส้นทางสายจิตตปัญญาศึกษา ผมเรียนรู้ว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ เลียนแบบไม่ได้ ไม่มีมาตรฐานให้เลียนแบบหรือเทียบเคียง ไม่มี best practice ให้ลอกเลียน ไม่ต้องเทียบเคียง (benchmark) กับใคร ที่ไหน และอย่างไร แต่ละคน (ผู้เรียนรู้) มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ผู้เรียนรู้จึงต้องเรียนรู้ ค้นพบ สร้างและพัฒนารูปแบบ และวิธีการเรียนรู้ที่เป็นของตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นได้ เรียนรู้กับ/และจากผู้อื่นได้ แต่เลียนแบบกันไม่ได้ ครู อาจารย์มีบทบาทเป็นกระบวนกรที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่การสอนแบบเดิม และในการทำหน้าที่กระบวนกรนั้น ครู อาจารย์ก็อยู่ในฐานะของผู้เรียนรู้ร่วมไปกับผู้เรียนรู้ด้วย เราจึงต้องกล้าที่จะไม่สอน แต่พร้อมที่จะเป็นผู้เรียมรู้ร่วมไปกับผู้เรียน

Courage to teach nothing but learning together.

Back to Top