กันยายน 2016

จิตสำนึกของการอยู่ร่วม: กระบวนการเชื่อมความสัมพันธ์ของแรงงานข้ามชาติและคนในสังคมไทย



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2559

ปรากฏการณ์ที่แรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาทำงานในไทย เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจและได้รับการศึกษามากขึ้น ล่าสุดปลายเดือนสิงหาคม 2559 มีการเปิดเผยผลสำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าแรงงานข้ามชาติกำลังก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ โดยเป็นเจ้าของร้านกิจการทั้งในห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด ตลาดสด และตลาดชุมชน 1

บทบาททางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติ ถ้ามองด้วยกรอบของรัฐชาติ อาจนำไปสู่ความวิตกกังวล แต่ถ้าพิจารณาจากโครงสร้างกำลังแรงงาน จะพบว่าสังคมไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ อารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน คาดการณ์ว่า “ถึงอย่างไรยังจำเป็นต้องใช้แรงงานเหล่านี้ ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร แปรรูปสัตว์น้ำอยู่ เพราะความสามารถของเทคโนโลยีอนาคตยังยากต่องานเฉพาะประเภทนี้ เช่น เครื่องจักรคงไม่สามารถแกะกุ้งได้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นผลเสียอะไร เพราะคนกลุ่มนี้เข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาด รวมถึงนำเงินมาจับจ่ายซื้อของ ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดการหมุนเวียนดีขึ้น และทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีการติดต่อซื้อสินค้ากันมากขึ้นด้วย” 2

เมื่อแรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ร่วมกับคนในสังคมไทย ความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันจะเป็นอย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้ ผู้เขียนอยากชวนให้คิดถึงประเด็นคำถามเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจแรงงานข้ามชาติในอีกแง่มุมหนึ่ง

อ่านต่อ »

ประเทศไทย 5.0



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กันยายน 2559

ช่วงแรกที่ผมได้ยินคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” ผมก็สงสัยใคร่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะฟังดูทันสมัยเข้ากับยุคดิจิตอล เก๋ และแปลกดี ยิ่งได้ยินว่า ไทยแลนด์ 4.0 จะขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงก็ยิ่งสนใจเพิ่มมากขึ้น เพราะได้ยินมาหลายรัฐบาลว่าจะนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่ เพราะไปใช้ทุนนิยมมากกว่า

เมื่อสนใจก็ติดตามศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมว่าไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร และโดยเฉพาะการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จากการอ่านและการฟัง เบื้องต้นพอจะเข้าใจและสรุปคร่าวๆ สั้นๆ ได้ว่า ไทยแลนด์ 4.0 ก็คือ “โมเดลโครงสร้างเศรษฐกิจ” ของประเทศไทยภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า กล่าวคือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการปรับ/พัฒนาโมเดลโครงสร้างเศรษฐกิจมาสามครั้ง จากโมเดลประเทศไทย 1.0 (เน้นภาคเกษตรกรรม) เป็นโมเดลประเทศไทย 2.0 (เน้นภาคอุตสาหกรรมเบา) และในปัจจุบันเป็นโมเดลประเทศไทย 3.0 (เน้นภาคอุตสาหกรรมหนัก) ไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ที่จะปรับเปลี่ยน/ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมหรือ Value-Based Economy เพื่อที่จะได้ก้าวพ้นกับดักต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโมเดลประเทศไทย 3.0 ได้แก่ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา”

ยิ่งอ่านไป ศึกษาไป ก็ยิ่งมีคำถามเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของตรรกะ ความสมจริงของสถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ที่ไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นจริงในอนาคตอันใกล้ 3-5 ปีข้างหน้า

อ่านต่อ »

ข้อคิดจากการไปเกาหลี



โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 กันยายน 2559

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจาก NextGEN Korea กลุ่มคนหนุ่มสาวของเกาหลีซึ่งอยู่ในเครือข่ายชุมชนนิเวศโลก (Global Ecovillage Network) ให้ไปจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในโลกปัจจุบัน เป็นการเรียนรู้ชุดแรกของโครงการการศึกษาเพื่อออกแบบชุมชนนิเวศ (Ecovillage Design Education) ซึ่งมีทั้งหมด ๔ ชุด เขาใช้ชุดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ๖ วันเป็นชุดเปิดโครงการ

คนที่มาเรียนมีตั้งแต่นักศึกษาไปจนถึงคนทำงานวัยกลางคน ส่วนใหญ่เป็นคนวัยยี่สิบปลายๆ ถึงสามสิบต้นๆ เต็มไปด้วยกำลังวังชา จบมหาวิทยาลัยแล้วทำงานในกระแสหลักมาระยะหนึ่ง แต่ไม่เห็นว่าจะช่วยให้ชีวิตมีความหมายลึกซึ้งได้ หลายคนจึงออกเดินทาง โดยไปเยี่ยมชุมชนนิเวศ (Ecovillage) ต่างๆ ทั่วโลก แล้วกลับมาตั้งขบวนการในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

คนที่มารับผมจากสนามบินอายุเพียง ๒๔ ปี มีชื่อเล่นว่า แฮรี (Haeri) คล้ายชื่อผู้ชาย แต่เขียนคนละแบบ เธอเดินทางตะเวนชุมชนนิเวศในยุโรปมาแล้ว ๑ ปีก่อนเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอเป็นสมาชิกและทำงานให้กับพรรคเขียว (Green Party) ของเกาหลี ทำหน้าที่ให้การศึกษาและหาสมาชิกพรรค เราได้คุยกันระหว่างนั่งรถเมล์หลายชั่วโมงกว่าจะถึงที่จัดอบรม

เธอเป็นผู้เข้าเรียนคนหนึ่ง ผมถามว่าเธอมาเรียนทำไม เธอบอกว่าเธอต้องการเชื่อมโยงพรรคเขียวกับขบวนการจัดตั้งชุมชนระดับรากหญ้า พรรคเธอลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อคราวที่แล้วเป็นครั้งแรก แม้จะไม่ได้ที่นั่งในรัฐสภา แต่การทำงานของพรรคก็ยังเข้มแข็ง เธอบอกว่าพรรคหวังผลระยะยาว คือก้าวขึ้นมาเป็นพรรคหลักในสังคมเกาหลีสำหรับคนรุ่นต่อไป แทนที่พรรคเก่าสองพรรคใหญ่ในปัจจุบันที่หมดความหมายสำหรับสังคมเกาหลีในอนาคตเสียแล้ว เพราะได้แต่แย่งอำนาจกันไปมา และไม่มีอุดมการณ์เป็นเรื่องเป็นราว นอกจากปล่อยให้ทุนใหญ่ครอบงำการเมือง และดำเนินนโยบายเพื่อทุนใหญ่เป็นหลัก ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนถ่างออกตลอดเวลา และสิ่งแวะล้อมต่างๆ ยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ

อ่านต่อ »

โยคะแห่งภควัทคีตา



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กันยายน 2559

ภควัทคีตา เป็นหนึ่งในคัมภีร์ที่ชาวฮินดูรักที่สุด การสนทนาระหว่างอรชุนกับพระกฤษณะก่อนมหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรจะเริ่มขึ้นนั้น มีความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณที่เป็นดั่งกุญแจไขไปสู่การวิวัฒน์ของจิต เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแผนที่ให้แก่ผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณทั่วโลก

ภควัทคีตา เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งอาจจะเป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก อาจารย์เขมานันทะ (โกวิท เอนกชัย) อธิบายถึงนัยของมหากาพย์ไว้ในหนังสือ ลิงจอมโจก ว่า “เป็นการนำเรื่องจริงในประวัติศาสตร์มาห่อหุ้มใหม่พร้อมกับดัดแปลงตัวละครให้เป็นคุณค่าทางศีลธรรมหรือโลกุตรธรรม เหล่าวีรบุรุษในมหากาพย์ถูกปัดความเป็นคนออกไปสิ้น เหลือแต่ความเป็นทิพยลักษณะ (Divinity) สำหรับฮินดูธรรม และเป็นคุณธรรม หรือบารมีสำหรับพุทธธรรม”

ดังนั้น การจะอ่านเรื่องราวเหล่านี้ให้เข้าถึงสัญลักษณ์ลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ จึงต้องอาศัยความกระจ่างทางจิตวิญญาณ ผนวกกับความแตกฉานในภาษาที่มหากาพย์ใช้ซ่อนความหมายต่างๆ ไว้ อรรถาธิบายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้เริ่มต้น หนังสือ The Bhagavad Gita: God Talks with Arjuna ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในอรรถาธิบายภควัทคีตาชิ้นเอกของโลก เป็นเรื่องน่ายินดีที่ โยคะแห่งภควัทคีตา หนังสือฉบับย่อของ The Bhagavad Gita: God Talks with Arjuna ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยแล้วด้วยความงดงามยิ่ง

ท่านปรมหังสา โยคานันทะ (ค.ศ.๑๘๙๓-๑๙๕๒) เป็นบุคคลสำคัญที่นำโยคะ-ศาสตร์แห่งจิตวิญญาณอันเก่าแก่ของอินเดียไปเผยแพร่ในโลกตะวันตก โยคะตามวิถีดั้งเดิมที่ท่านสอนมิใช่แค่เพียงการฝึกกายหรืออาสนะเท่านั้น หากแต่เป็นหนทางการพัฒนาจิตไปสู่การหลุดพ้นจากพันธนาการของสังสารวัฏ เป็นหนทางสากลที่ผู้แสวงหาไม่ว่าศาสนาใดก็ฝึกได้ หนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิตตามวิถีแห่งโยคะของท่าน ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือคลาสสิกทางจิตวิญญาณเล่มหนึ่งของโลก มีการแปลไปแล้ว ๔๐ กว่าภาษา ตีพิมพ์ไปแล้วกว่า ๔ ล้านเล่ม ท่านนำเสนอโยคะศาสตร์ มรดกอันสืบทอดมาแต่โบราณให้คนยุคใหม่เข้าใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเข้าถึงได้

อ่านต่อ »

Back to Top