ผู้ถักทอ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2555

สนธยาเยือน ณ นครแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์​ เจ้าหัวเมืองหนุ่มผู้เป็นบุตรของเจ้าผู้ครองนคร ได้เดินทางกลับมาเยือนพ่อแม่ของตนหลังจากที่ไม่เคยได้พบหน้ากันมาถึงสิบห้าปี เจ้าชายถูกส่งไปครองนครอันแสนไกลจนได้อภิเษกสมรสมีบุตรมีธิดา จึงคิดจะกลับมาเยี่ยมบ้าน แต่ด้วยความที่พระองค์ตั้งพระทัยว่าจะแอบหยอกพระชนนีเล่น จึงปกปิดการเดินทางครั้งนี้ให้มีผู้ล่วงรู้ไม่กี่คน

พระองค์เมื่อเดินทางมาถึงนครแห่งนี้ ใจให้กระวนกระวายใคร่จะได้พบพระมารดา จึงเร่งรุดเดินทางไปเข้าเฝ้า โดยไม่สนใจคำทัดทานของมหาดเล็กทั้งหลาย ตลอดจนนางสนมนางในที่กราบทูลว่าพระนางกำลังทรงสรงน้ำอยู่ พระองค์เปิดประตูเข้าไป พระนางตกพระทัยรีบตวาดรับสั่งให้เจ้าชายออกไป

“เจ้าเป็นใคร ออกไปเดี๋ยวนี้” แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว เจ้าชายได้เห็นสิริโฉมพระมารดา ซึ่งแม้จะล่วงวันผ่านวัยแต่นางกลับสวยสะพรั่งไม่ต่างจากสาวแรกรุ่น เจ้าชายเห็นดังนั้นก็หลงรักด้วยแรงสเน่หา ด้วยเห็นว่ามารดางามกว่าชายาของตนซึ่งนับวันยิ่งหย่อนยานไปด้วยริ้วรอยแห่งวัย พระองค์ถึงกับตรัสออกมาอย่างลืมตัวว่า

“ข้าจะออกไปเดี๋ยวนี้ แต่ขอถามแม่นางผู้เลอโฉมด้วยปริศนาจะได้หรือไม่?”

“จะถามอะไร ก็รีบเอ่ยเถิด ถ้าใครมาเห็นเข้าจะไม่งาม”


เจ้าชายสบช่องจึงแกล้งถามว่า

“ประตูที่เราเคยออกมาแล้วจะเข้าไปอีกได้หรือไม่?”

พระราชินีไม่ได้เฉลียวใจว่านี่คือบุตรชายของตน และคงมิได้มีใจสงสัยต่อความหมายสองแง่สองนัยของคำถามของกุลบุตร จึงได้เอ่ยตอบไปว่า

“ประตูที่เข้าออกอยู่แล้วเป็นประจำ ทำไมถึงจะเข้าไปอีกไม่ได้”

สิ้นเสียงคำตอบของนาง เจ้าชายเกิดลำพองใจคิดว่าเดี๋ยวจะกลับมาปลุกปล้ำเอาแม่เป็นเมีย ไม่ทันเดินออกไปถึงก้าว ก็เกิดอาเพศให้แผ่นดินที่เคยเป็นพระราชวังและนครอันรุ่งเรืองทรุดจมหายไปในธรณี ส่วนน้ำป่าจำนวนมหาศาลก็ไหลท่วมจนกลายเป็นบึงขนาดใหญ่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างลงสู่บาดาล ส่วนชาวเมืองที่ยังเหลืออยู่บ้างก็รีบอพยพโยกย้ายหนีตายกันอลหม่าน ในทิศทางที่ชาวบ้านเดินทางอพยพไป ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า “เขาขาด” ส่วนบึงขนาดใหญ่เนื้อที่เป็นร้อยๆ ไร่ รู้จักกันในชื่อ “บึงหล่ม” แห่ง อ.พรหมพิราม จ.​พิษณุโลก


หญิงร่างท้วมวัยเป็นแม่คน เธอเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เล่าเรื่องนี้ให้ผมกับ อาจารย์ประสาท ประเทศรัตน์ฟังแววตาเป็นประกาย พวกผมสองคนเห็นพ้องกันว่าเรื่องนี้น่าสนใจและสามารถนำมาเป็นปัจจัยในการเรียนรู้ของเยาวชน ซึ่งจัดในหัวข้อ “พัฒนาทักษะชีวิตส่งเสริมสายใยรักในครอบครัว” ของโรงพยาบาลพรหมพิราม

ตำนานบึงหล่ม เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องเล่าพื้นบ้าน ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงสายใยของรุ่นสู่รุ่น เป็น “ทางเข้า” ให้เยาวชนต่อเชื่อมถึงรากทางวัฒนธรรมของเขา ถ้าผู้เฒ่าผู้แก่ไม่มีบทบาทในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้กับลูกหลาน สายใยแห่งครอบครัวก็จะถูกทำลาย เพราะเด็กจะมองปู่ย่าตายายว่าเป็นคนแก่ที่ไร้ประโยชน์ ตำนานบึงหล่มไม่ใช่เรื่องบัดสี ของตะวันตกก็มีบทประพันธ์ละครคลาสสิคเรื่อง โอดิปุส เร็กซ์ ของ โซโฟคลีส ที่บัณฑิตทั่วโลกต้องศึกษา ถ้ากล่าวกันอย่างกว้างๆ มันเป็นเรื่องความกระสันต์อยากของมนุษย์ที่จะพิชิตธรรมชาติที่สร้างเราขึ้นมา

ทุกวันนี้ความหลงผิดของมนุษย์อย่างพวกเราที่เอาโลกคือมาตุคามมาปู้ยี่ปู้ยำ ได้ส่งผลเป็น “ภัยธรรมชาติ” แบบพิลึกพิลั่นอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน ธรรมชาติสอนให้เราอยู่อย่างกลมกลืน แต่ความโลภในใจมนุษย์ต้องการจะครอบครองหน่วงเหนี่ยวไว้เป็นของตน ความกลมกลืนส่งผลเป็นความงาม และสุนทรียะของการถ้อยทีถ้อยอาศัย ทุกวันนี้แม้ในอำเภอห่างไกล ผมได้เข้าไปสำรวจพบว่าสิ่งเหล่านี้กำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว สายใยชุมชนซึ่งเชื่อมโยงด้วย บ.ว.ร. (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่ ท่านอาจารย์ประเวศ วะสีพูดถึง มาวันนี้อาจจะมีให้เห็นเป็นเพียงรูปสไลด์สวยๆ บนเวทีสัมมนาทางวิชาการระดับประเทศเท่านั้น

บ้านในที่นี้หมายถึงชุมชน โยงใยด้วยรากวัฒนธรรมซึ่งมองไม่เห็น ทุกวันนี้ในอำเภอรองๆ ลงไปของพรหมพิราม กำลังมีสภาพเป็นหมู่บ้านคนชรา เพราะผู้ใหญ่วัยทำงานทิ้งลูกหลานให้ปู่ย่าเลี้ยง เนื่องจากตัวเองต้องไปทำงานในเมือง ส่วนลูกหลานต้องตื่นแต่เช้าและนั่งรถตู้ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเข้าไปเรียนหนังสือในเมือง เมื่อเด็กนิยมเข้าไปเรียนในเมือง โรงเรียนท้องถิ่นจึงเริ่มเล็กลง บางชั้นเรียนมีเด็กเพียงสิบกว่าคนเท่านั้น แม้แต่ครูในโรงเรียนยังส่งลูกตัวเองเข้าไปเรียนในเมือง ไม่ยอมให้เรียนในโรงเรียนที่ตนสอน เยาวชนของเราถูกระบบโรงเรียนปล้นออกไปจากชุมชน ไปจากรากวัฒนธรรม เพราะนาฬิกาของโรงเรียนกลืนกินนาฬิกาของวัด วันพระที่เคยมีความสำคัญถักทอสายใยชุมชน เดี๋ยวนี้หมดความหมายเพราะต้องยอมหลบทางให้กับวันหยุดที่ระบบโรงเรียนกำหนด ระบบโรงเรียนถูกกำหนดด้วยระบบทุนข้ามชาติอีกต่อหนึ่ง เรากำลังจะล่มสลายอย่างเป็นระบบ และกลืนกินตัวเองด้วยระบบที่พวกเรากันเองกำหนดขึ้น

“ตั้งแต่ห้ามตีเด็ก ครูก็ไม่ต่างอะไรกับพนักงานรับจ้างสอน”
ครูคนหนึ่งเปรยให้ผมฟัง ผมนึกถึงครูบาอาจารย์สมัยก่อนที่สอน “วิชาครู” อย่าง นาฏศิลป์ไทย ด้วยไม้เรียวและน้ำตา มันมีหนทางเดียวจริงๆ จะไปสู่ความเป็นเลิศแบบนั้นได้ “แต่ก่อนผู้ปกครองฝากให้ดูแลลูกหลาน ถ้ามีเรื่องถูกครูตี พ่อแม่จะตีซ้ำ ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ถ้ามีเรื่องอะไรพ่อแม่จะตามมาด่าครูถึงในโรงเรียน”

แปลว่าสายใยชุมชนขาดสะบั้นไปเรียบร้อย



ผมถามว่าทำไมคนทำงานด้านสังคมในท้องถิ่นถึงไม่แสวงหาความร่วมมือจากภาคีอย่างวัดบ้าง

“โอ๊ย ไม่หรอก พระเป็นพวกขี้เกียจ”

หัวหน้าชุมชนคนหนึ่งพูดขึ้นสีหน้าจริงจัง ผมขมวดคิ้วย่น ไม่นึกว่าทัศนคติจะเป็นแบบนี้ พอไปคุยกับผู้ปกครองก็สะท้อนว่าที่ตนไม่อยากให้เยาวชนไปวัดก็เพราะ “ไม่ค่อยไว้ใจพระ เพราะเดี๋ยวนี้ข่าวไม่ดีออกสื่อเยอะ เรื่องชู้สาวบ้างอะไรบ้าง”

เมื่อไม่มีใครในชุมชนอยากทำงานประสานสายใย พวกผมจึงทดลองทำกันเอง เช้าวันต่อมาพวกผมพาเด็กๆ ไปเที่ยวที่ “บึงหล่ม” และให้ อสม.​หญิงบรรยายประวัติความเป็นมาของสถานที่ เด็กๆ ทำท่าสนใจเมื่อเห็นท่อนไม้โบราณขนาดใหญ่ซึ่งชาวบ้านเอาพวงมาลัยมากราบไหว้ ต่างฟังเรื่องราวของการขุดสมบัติในบึงหล่มด้วยความสนใจ อะไรจะดีไปกว่าให้ชุมชนเขาเรียนรู้กันเอง พวกผมทำตัวโปร่งใสเป็นแค่ผู้จัดกระบวนการเท่านั้น

ต่อมาก็ได้พาเยาวชนไปวัดแห่งหนึ่งใกล้สถานที่อบรม เด็กๆ เข้าไปกราบพระในโบสถ์​ สถานที่สงบร่มเย็นเหมาะแก่การเรียนรู้ แปลกใจว่าทำไมเด็กส่วนใหญ่ไม่เคยมา ผมเล่าเรื่องพุทธประวัติเวอร์ชั่นวัยโจ๋ พวกเขาฟังกันด้วยแววตาสนใจ ฟังจบผมให้เด็กถามอะไรก็ได้ที่เขาสนใจ มีเด็กคนหนึ่งถามว่า

“พวกเราเรียนไปทำไม?”

เจ้าอาวาสเข้ามาพอดี ท่านถูกบังคับแกมขอร้องจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้เล่าประวัติวัดให้ฟัง แต่ด้วยความที่มาจำวัดอยู่ไม่นาน หรืออาจจะไม่เคยมีใครมาขอให้พูด ท่านจึงยกหนังสือเล่มโตมาอ่านให้เด็กฟัง ผลก็คือเด็กๆ ทำตาปรือกันเป็นแถบ ผมเห็นท่าไม่ดีจึงกอบกู้สถานการณ์ด้วยการเอาคำถามของเด็กมาถามท่าน
ประกายตาของท่านสดใสทันทีเมื่อได้ยินคำถาม ท่านจึงเล่าเรื่องให้ฟังว่าเมื่อก่อนท่านเป็นคนไม่มีการศึกษา จึงไปทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง วันหนึ่งท่านเห็นตะปูยาวตัวหนึ่งมันหงิกงอ ด้วยความเสียดายจึงเอาค้อนทุบตะปูกับพื้นปูน หวังจะให้มันกลับมาตรงดังเดิม เมื่อเถ้าแก่มาเห็นเข้าจึงต่อว่าท่านเสียยกใหญ่

“โธ่ไอ้สมองหมา ปัญญาควาย! …เอ็ง ทุบตะปูกับพื้นปูนของอั๊ว แล้วถ้าพื้นมันแตกไปจะทำยังไง ตะปูตัวเดียวราคากี่ตังค์ แล้วพื้นปูนอั๊วต้องใช้ปูนกระสอบละกี่ตังค์ ต้องผสมอีก ต้องเทใหม่อีก มึงใช้ส้นตีนคิดหรือไง?”

เด็กที่กำลังจะกลายเป็นซอมบี้ ตอนนี้ตื่นขึ้นมาฟังเรื่องเล่าของเจ้าอาวาสอย่างสนใจ

“แปลกที่ เราไม่ได้โกรธเขานะตอนนั้น” ท่านพูดยิ้มๆ “มานึกดูก็เห็นจริงตามเขาว่า เรามารู้ทีหลังว่าเถ้าแก่คนนั้นก็ไม่ได้เรียนสูงอะไร จบแค่ ป.๖ แต่เป็นเพราะเขามีความรู้มีประสบการณ์จึงทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะฉะนั้นที่ถามว่าเราเรียนไปทำไม เรียนไปเถอะ เพราะเราไม่ได้เรียนเอาวุฒิหรือปริญญา แต่เราเรียนเพื่อที่เราจะได้มี ‘ความรู้’ แล้วเราจะได้เอาความรู้นั้นไปทำให้ชีวิตเรามีความสุขความเจริญ”

เด็กๆ ฟังแล้วพยักหน้าหงึกหงัก เข้าใจในสิ่งที่ท่านสื่อ

สายใยชุมชนกำลังถูกถักทอขึ้นใหม่อีกครั้ง

Back to Top