พฤษภาคม 2004

ไม่มีใครที่ลำพองใจ แล้วไม่ประมาท

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2547

ชื่อบทความนี้เป็นประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ อ่านแล้วสับสน แปลเป็นข้อความธรรมดาได้ว่า คนที่เหลิงย่อมลืมตัว

ความลำพองใจ เป็นสภาวะของจิตที่ฮึกเหิมห้าวหาญ มีอัตตาตัวตนที่ยิ่งใหญ่ ความรู้สึกเช่นนี้สะสมเพิ่มพูนขึ้นทีละน้อย เริ่มต้นจากการทำงานหนัก เหนื่อยยาก ต้องบากบั่นต่อสู้ถีบตัวขึ้นมาจากความต่ำต้อย จนในที่สุด ความสำเร็จ ชื่อเสียง ชัยชนะ คำสรรเสริญเยิรยอ ทรัพย์สินเงินตราก็หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว เกิดการรับรู้ว่าตนเองนั้นใหญ่กว่า เหนือกว่า เก่งกว่า ดีกว่าใครๆ ในกลุ่มเดียวกัน

นักกีฬาที่เริ่มต้นด้วยความขยันหมั่นฝึกซ้อม น้อมรับคำสอนของผู้ฝึกด้วยความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดหมายคือชัยชนะ ครั้นเมื่อเขาสามารถไต่อันดับขึ้นไปสู่อันดับสูงสุด ชื่อเสียง เงินทอง ก็ถาโถมเข้ามาอย่างน่าพิศวง จิตเริ่มฟุ้งซ่าน ใช้เงินเป็นเบี้ย เที่ยวกินดื่มอย่างไม่หยุดยั้ง ในที่สุด ความประมาทได้นำพาเขาไปสู่ความพ่ายแพ้

นักพูดฝีปากเอก นักสร้างภาพยนตร์ที่ดังเพราะสร้างหนังได้ติดตลาด ดารานักร้องที่คนชื่นชมคลั่งไคล้อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง นักเรียนที่เรียนเก่ง และกำหนดตนเองว่าจะต้องเป็นที่หนึ่งตลอดเวลา ฯลฯ เขาเหล่านี้ หลงอยู่ในวังวนของความเด่นความดัง ขาดการกำหนดรู้ว่า ชื่อเสียงเงินทองเหล่านั้นย่อมมีวันหมดไป ความลำพองใจทำให้เขาพูดอะไรก็ได้ด้วยมั่นใจว่าทุกคนต้องฟังเขาพูด เขาทำอะไรอย่างไรก็ได้ ทุกคนต้องชื่นชมนิยมในสิ่งที่เขาทำ ท่าทางของเขาจึงฮึกเหิมอยู่เสมอ ไม่ชอบคำท้วงติงตักเตือน และทนไม่ได้ถ้าจะพบกับความพ่ายแพ้

หลักพุทธธรรมได้เตือนสติเราอยู่เสมอมิให้มีความประมาท หลักนั้น คือ โลกธรรม ๘ แสดงถึงความธรรมดาของโลกและของสัตว์โลก ว่าจะต้องเป็นไปเช่นนั้น

โลกธรรม ๘ ได้แก่

มีลาภ - เสื่อมลาภ
มียศ - เสื่อมยศ
มีสรรเสริญ - มีนินทา
มีสุข - มีทุกข์


สภาวะ (conditions) ดังกล่าวนี้เป็นของคู่กัน ด้านหนึ่งเป็นส่วนที่น่าปรารถนา อีกด้านหนึ่งเป็นส่วนที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าบุคคลใดเข้าใจสภาวะเช่นนี้ จิตก็จะประจักษ์ว่า ทุกสถานการณ์ย่อมมีความแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เมื่อประสบชัยชนะก็ไม่หลงระเริงจนลืมตัว เมื่อพ่ายแพ้ก็ไม่จมอยู่กับความทุกข์ทนหม่นไหม้ การมีสติกำหนดรู้ เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต จึงก่อเกิดปัญญาที่จะประคับประคองตนให้สง่างามอยู่ด้วยความไม่ประมาท

โลกธรรม ๘ เป็นหลักธรรมที่นำมนุษย์สู่จิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) ในแง่ของความหลุดพ้นจากสภาวะจิตที่บีบคั้น เมื่อพลาดหวัง ความหลุดพ้นจากสภาวะจิตที่หลงลำพองในอัตตาตัวตนเมื่อประสบความสำเร็จ คนที่หลงตนย่อมมีจิตเล็กคับแคบ คิดอะไรไปไม่พ้นตัวเอง แต่จิตสำนึกใหม่นั้นนำให้บุคคลคิดกว้าง คิดไกล สู่เพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลกัน เมื่อคนเรามีจิตใหญ่ หรือจิตสำนึกใหม่ ย่อมมองตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งในโลก เป็นคนหนึ่งในสังคมที่ต้องมีส่วนร่วมและมีส่วนให้พึ่งพาอาศัยกัน คนที่มีจิตสำนึกใหม่ แม้จะเห็นคุณค่าในตนเอง แต่ก็มีความอ่อนน้อมยอมรับความสำคัญและคุณค่าของผู้อื่นด้วย

พื้นฐานของจิตสำนึกใหม่ คือความรักและเมตตาธรรม ซึ่งนำไปสู่ความดีและความงามของชีวิต เมื่อใดก็ตามที่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เศรษฐกิจ วิถีดำเนินชีวิต และความคิดความเชื่อ ไม่ใช่ชนวนแห่งการแบ่งแยก ขัดแย้ง ดูหมิ่น สร้างปมเขื่อง และปมแค้นในหมู่คน เมื่อนั้น ความสงบสุขย่อมเกิดขึ้น คนเราจะรับฟังกันมากขึ้น เห็นใจเข้าใจกันมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะมีการกำหนดสติและใช้ปัญญามากขึ้นนั่นเอง สติได้ติดตามเตือนทุกครั้งที่คนเกิดความลำพองใจ เขาจึงควบคุมตนเองได้ ไม่ให้เหลิง ไม่ประมาท มีความตระหนักรู้ว่ามายาภาพทั้งหลายที่ฟูเฟื่องดุจฟองสบู่นั้นไม่แน่นอน สักวันหนึ่งก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา

มายาภาพแห่งความสำเร็จนั้น มีอำนาจรุนแรงมาก สามารถปลุกเร้าความเชื่อมั่น ความอิ่มเอิบใจ ความเคลิบเคลิ้มหลงใหล จนคิดว่านั่นเป็นความสุขเหลือเกิน การฝึกตนให้มีจิตสำนึกใหม่ ช่วยให้เราเข้าถึงความจริงที่แฝงฝังอยู่ในมายาภาพเหล่านั้น จิตใจจึงเป็นกลางไม่ฟุ้งซ่านเมื่อกำลังเฟื่อง และไม่หดหู่เมื่อกำลังฟุบ

เมื่อนนทุกมีนิ้วเพชร ชี้ตรงใครก็ตายหมด เกิดความลำพองใจ กำเริบเสิบสาน หลงอำนาจ ในที่สุดก็ประมาท ร่ายรำชี้อกตนเองตาย

เผด็จการที่เหลิงอำนาจ บังอาจชี้นิ้วฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจนล้มตายเป็นหมื่นเป็นแสน จิตของเขายิ่งเล็ก คิดแคบเข้าข้างตนเอง เขาจะไม่เข้าใจเลยว่า ความทุกข์และความผิดบาปได้ก่อตัวรุมเร้าเขาทีละน้อย จนในที่สุด เขาก็จะสิ้นอำนาจ และหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง

อีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนที่เหลิงเกิดความประมาท ก็คือกลุ่มคนที่แวดล้อม ซึ่งอาจเป็นกลุ่มแฟนคลับ ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อร่วมกินร่วมเที่ยว ซึ่งพร้อมจะสรรเสริญชื่นชมเพื่อฉกฉวยประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องของตน

ผู้เรืองอำนาจและไม่ประมาท ควรจำคำรำพันของพระนางมัทรีในวรรณคดีมหาเวสสันดรชาดก ตอนหนึ่งว่า "...ยามมีบุญ คนเขาก็วิ่งมาเป็นข้า พึ่งพระเดชเดชาให้ใช้สอย เฝ้าป้อยอสอพลอพลอยทุกเช้าค่ำ แต่เมื่อเพลี่ยงพล้ำ คนก็กระหน่ำซ้ำซ้อมซัก ดุจราชหงส์ปีกหักตกปลักหนอง กาแกก็จะแซ่ซ้องเข้าสาวไส้..."

เมื่อลำพองใจ ตัวตนก็ใหญ่คับฟ้า จิตกลับเล็กลง

เมื่ออ่อนน้อมยอมรับ ตัวตนก็น้อยนิด จิตกลับกว้างใหญ่

เสียงเตือนที่ดังที่สุด คือเสียงจากภายใน เตือนตนเอง

เตือนให้รู้ตัว ไม่ลืมตัว

จิตที่ฝึกแล้วจึงพ้นจากความวิบัติ ดังนี้

ต่อยอดด้วยมิติทางจิตใจ

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2547

พระชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนสมัยที่สงครามในเขมรเพิ่งยุติใหม่ๆ ท่านกับเพื่อนๆ รวบรวมเงินได้หลายล้านเยนเพื่อจะนำไปช่วยเหลือชาวเขมรที่ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากท่านต้องการให้เงินก้อนนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้คนที่ทุกข์ยากจริงๆ จึงเดินทางไปพบปะกับชาวเขมรตามที่ต่างๆ ด้วยตนเอง

มีคราวหนึ่งท่านได้ไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท โรงเรียนแห่งนี้ขัดสนไปเกือบทุกอย่าง มีเพียงอาคารหลังเก่าๆ และบรรยากาศที่ดูเศร้าสร้อย ท่านได้ถามครูใหญ่ว่าอยากให้ท่านช่วยเหลืออะไรบ้าง ปรากฏว่าคำตอบที่ได้นั้น ไม่ใช่โต๊ะ เก้าอี้ กระดาน และเครื่องเขียน แต่ได้แก่ “เมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ดอก”

พระญี่ปุ่นนึกไม่ถึงว่าจะได้คำตอบนี้ จึงถามถึงเหตุผล ครูใหญ่อธิบายว่า เด็กนักเรียนในโรงเรียนนี้ได้พบเห็นสงคราม การฆ่าฟันและการทำลายล้าง มาตั้งแต่เกิด เด็กเหล่านี้แทบจะไม่เห็นอะไรที่ดีๆ เลยในชีวิต จิตใจจึงหดหู่แห้งแล้ง ครูใหญ่เห็นว่าสิ่งสำคัญอย่างแรกที่เด็กๆ ต้องการก็คือ ความสดใสงดงามและความชื่นบาน ครูใหญ่เชื่อว่าดอกไม้ที่เบ่งบานไปทั่วโรงเรียนจะช่วยให้เด็กกลับมีความหวังและความเบิกบานขึ้นใหม่

พระญี่ปุ่นท่านนี้บอกว่าฟังแล้วก็รู้สึกละอายใจที่นึกถึงแต่วัตถุ ตัวเองเป็นพระแท้ๆ แต่ไม่ได้นึกถึงเรื่องของจิตใจเลย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อท่านกลับไปญี่ปุ่น ได้ส่งเงินไปให้โรงเรียนซื้อเมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ตามต้องการ ไม่นานโรงเรียนแห่งนั้นก็สะพรั่งด้วยดอกไม้ ทั้งดอกไม้บนพื้นดินและดอกไม้ในใจเด็ก

ใช่หรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่ก็คิดแบบพระญี่ปุ่นท่านนี้ (ในตอนแรก) ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จไปแล้วว่าหากเจอโรงเรียนเก่าๆ ที่ยากจน ก็ต้องนึกถึงโต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องเขียน (จะให้ทันสมัยหน่อยก็ต้องพ่วงคอมพิวเตอร์ไปด้วย) เป็นอันดับแรก ส่วนสิ่งที่จะบำรุงจิตใจนั้นเอาไว้ท้ายๆ หรือไม่ก็ลืมไปเลย

การเน้นวัตถุแต่มองข้ามจิตใจ มิเพียงสะท้อนให้เห็นจากค่านิยมของโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศที่แข่งกันทำป้ายชื่อโรงเรียนขนาดยักษ์และรั้วราคาแพงๆ ในขณะที่คุณธรรมและความรู้ของนักเรียนกลับตกต่ำอย่างน่าเป็นห่วงแล้ว เรายังพบทัศนคติอย่างนี้ไปทุกวงการแม้กระทั่งวงการศาสนา

มิติทางจิตใจนับวันจะกลายเป็นส่วนเกินของชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ในสังคมไปเสียแล้ว การทำมาหากินและการพัฒนาเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องของการหาเงินและเพิ่มรายได้ล้วนๆ จนเม็ดเงินกลายเป็นจุดหมายในตัวมันเอง วัฒนธรรมและประเพณีก็มิใช่อะไรอื่นหากคือสินค้าอีกอย่างหนึ่งที่สามารถดึงเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวได้เท่านั้น เวลารัฐบาลรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ผลเสียที่ยกมาย้ำเตือนให้ประชาชนตระหนักก็คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ราวกับว่าความทุกข์ยากและความเศร้าโศกจากการสูญเสียชีวิตหรือพิการนั้นไม่มีความสำคัญพอที่จะกล่าวถึง

ความจริงแล้วมิติทางจิตใจไม่จำเป็นต้องแยกขาดจากชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ในสังคมเลย กล่าวอีกนัยหนึ่งการให้ความสำคัญแก่จิตใจไม่ได้หมายความว่าต้องละทิ้งเรื่องวัตถุหรือเงินทอง เราสามารถทำอาชีพการงานเพื่อปากท้องควบคู่กับการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตนเอง หรืออาจไปถึงขั้นพัฒนาคุณภาพจิตใจพร้อมๆ ไปกับการทำงานได้ ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุย้ำว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม”

ในทำนองเดียวกันการพัฒนาเศรษฐกิจก็สามารถผนวกมิติทางด้านจิตใจเข้าไปได้ กล่าวคือแทนที่จะเน้นแต่เม็ดเงินอย่างเดียว ก็มุ่งนำโภคทรัพย์ที่ได้นั้นมาพัฒนาสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ช่วยให้ผู้คนเอื้อเฟื้อต่อกันรวมทั้งมีชีวิตที่สงบสุขมากขึ้น วัตถุนั้นมิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อจิตใจเสมอไป หากรู้จักใช้กลับก็มีประโยชน์ต่อจิตใจ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้แนะให้สาวกของพระองค์รู้จักใช้โภคทรัพย์เพื่อ “ฝึกอบรมตน ทำตนให้สงบ ทำตนให้ดับเย็นสนิท”

เราสามารถต่อเติมมิติทางจิตใจหรือจิตวิญญาณเข้าไปแม้กระทั่งในกิจกรรมพื้นๆ ของชีวิต เช่น การกิน การหายใจ และการเดิน เวลากิน เราไม่เพียงบำรุงร่างกายเท่านั้น หากยังสามารถบำรุงจิตใจได้ด้วยหากกินอย่างมีสติ หรือกินโดยตระหนักถึงบุญคุณของสรรพชีวิต เช่นเดียวกัน เวลาหายใจ เราสามารถนำความสงบมาเลี้ยงจิตใจได้ด้วยหากมีสติกับการหายใจ เมื่อก้าวเดิน เราไม่เพียงแต่พาตัวให้ถึงเป้าหมายเท่านั้น หากยังสามารถนำพาจิตใจให้บรรลุถึงความรู้ตัวทั่วพร้อมได้ด้วย

กายกับใจไม่จำเป็นต้องแยกจากกัน แต่มาเดี๋ยวนี้เรากำลังแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันมากขึ้น การกิน การหายใจกลายเป็นเรื่องกายล้วนๆ ในทำนองเดียวกันเพศสัมพันธ์ก็ถูกทอนให้เหลือเพียงแค่กิจกรรมทางกาย แม้แต่เพศศึกษาก็มุ่งไปทำนองนี้ คือเน้นแต่เรื่องชีววิทยาและกายวิภาค ทั้งๆ ที่อีกส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ ความรัก ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจกันในระหว่างคนสองคน เช่นเดียวกันกีฬาก็กลายเป็นเพียงแค่การออกกำลังกาย ทั้งๆ ที่สามารถใช้เป็นสื่อสร้างคุณธรรม คุณภาพจิตและความเข้าใจในชีวิตได้เป็นอย่างดี

การตัดมิติทางจิตใจออกไปจากกิจกรรมต่างๆ ของชีวิตและสังคมนั้น มีแต่จะทำให้มนุษย์แปลกแยกจากตนเองมากขึ้น เพราะจิตใจนั้นก็เป็นส่วนสำคัญของเราทุกคน ละทิ้งจิตใจก็เท่ากับละทิ้งอีกครึ่งหนึ่งของตัวเราเองให้ตกต่ำ ผลก็คือมันจะคอยก่อกวนและฉุดรั้งชีวิตของเราให้เสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ ชีวิตที่ละเลยมิติทางจิตใจคือชีวิตที่อมทุกข์ ในทำนองเดียวกันประเทศที่ละเลยมิติทางจิตวิญญาณย่อมหาความสงบสุขได้ยาก แม้จะมั่งคั่งเพียงใดก็ตาม

จะร่ำรวยแค่ไหน จะพัฒนาประเทศด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการนำมิติทางจิตใจมาต่อยอดทุกกิจกรรมของชีวิตและสังคม

ความรู้กับสภาวะแห่งการรู้

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2547

เดวิด โบห์ม เป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ชั้นนำของโลก เขาเป็นชาวอเมริกัน เกิดในปี ค.ศ. ๑๙๑๗ และเติบโตในรัฐเพนซิลเวเนีย แต่ในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๙๔ ชะตาชีวิตทำให้เขาต้องระหกระเหทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปอาศัยต่างแดน โบห์มต้องอพยพจากสหรัฐอเมริกาเพราะถูกคุกคามเสรีภาพ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกเรียกตัวไปสอบสวนโดยคณะกรรมการตรวจสอบกิจการที่ไม่เป็นอเมริกัน (Un-American Activities Committee) ในยุครัฐบาลขวาจัดของสหรัฐอเมริกา

แต่โบห์มก็ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ และอพยพหลบหนีไปอยู่ที่บราซิลระยะหนึ่ง จากนั้นจึงอพยพไปอิสราเอล และมาปักหลักค้นคว้าวิจัยอยู่ในอังกฤษจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ตลอดชีวิตการทำงานของโบห์ม เขาได้เสนอทฤษฎีสำคัญเกี่ยวกับควอนตั้มฟิสิกส์ไว้หลายประการ และเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ควอนตั้มฟิสิกส์อื่นๆ อีกหลายคน ที่มักพบกับปรากฏการณ์ไม่ธรรมดาและไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผลหรือสามัญสำนึกปกติ ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้โบห์มและนักวิทยาศาสตร์ ควอนตั้มฟิสิกส์อีกหลายคนหันมาสนใจศาสนาและปรัชญาตะวันออก

สำหรับโบห์ม ได้รับอิทธิพลจากกฤษณะมูรตินักปราชญ์ชาวอินเดีย และได้ให้ความสนใจสมาธิภาวนาอย่างมาก เขาเชื่อว่าเมื่อมนุษย์มีความรู้สมบูรณ์ขึ้น วิทยาศาสตร์กับศิลปะที่เคยเป็นคนละเรื่องกันอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันนั้น จะผสมกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวในที่สุด

เพราะความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์นั่นเอง ที่ทำให้ศาสตร์สาขาต่างๆ และศิลปะกลายเป็นคนละเรื่องแยกขาดออกจากกัน

สาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์หันมาสนใจศาสตร์ตะวันออกเกี่ยวกับสมาธิภาวนาและการฝึกจิตมากขึ้นนั้น เป็นเพราะการทดลองและข้อค้นพบหลายอย่างในควอนตั้มฟิสิกส์ ได้ทำให้ความคิดวิทยาศาสตร์แบบเดิมเป็นปัญหา เช่นพบว่าสิ่งที่ถูกสังเกตในการทดลองเดิม ที่เคยยึดถือกันว่ามีคุณลักษณะคงที่แน่นอน กลับมีคุณลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามการสังเกตรับรู้ของมนุษย์

หรือจากเดิมที่เคยคิดว่า สสารและพลังงานเป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและเป็นสองสถานะที่แยกขาดจากกัน วิทยาศาสตร์ใหม่กลับพบว่า สิ่งที่สังเกตตรวจวัดในการทดลองนั้นมีความไม่แน่นอนและไม่แบ่งแยกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเด็ดขาด ปรากฏการณ์เดียวกันนั้น บางขณะแสดงตัวเป็นอนุภาค แต่บางขณะกลับแสดงตัวเป็นคลื่น

เรียกว่า ประเดี๋ยวเป็นสสาร ประเดี๋ยวกลับกลายเป็นพลังงาน ขึ้นอยู่กับการสังเกตตรวจวัด และเครื่องรับรู้

จากวิทยาศาสตร์แบบเดิมที่ถือว่า ความรู้ที่ถูกต้องเที่ยงตรงต้องเกิดจากการแยกผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตออกจากกัน และความรู้ที่เป็นสากลจะต้องไม่ขึ้นกับจิตรับรู้ของมนุษย์นั้น วิทยาศาสตร์ใหม่กลับพบว่า ปรากฏการณ์ทุกอย่างล้วนสัมพัทธ์และสัมพันธ์กับการรับรู้อย่างแยกไม่ออก

จะเรียกว่า สรรพสิ่งเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับจิตรับรู้ก็ได้

เมื่อความแน่นอนกลายเป็นไม่แน่นอน เพราะไปขึ้นกับการรับรู้ ความเป็นเหตุเป็นผลที่แน่นอนตายตัวและไม่ขึ้นกับจิต จึงกลายเป็นเรื่องที่สับสนอย่างยิ่งจนคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้

แต่โบห์มต่างจากนักฟิสิกส์บางคนตรงที่เขาเชื่อว่า ภายใต้ความไม่แน่นอนและสับสนนั้น แท้จริงมีกฎเกณฑ์หรือความเป็นระเบียบที่แฝงเร้นอยู่ ซึ่งโบห์มเรียกว่า Implicate order

แต่การที่จะเข้าถึงความเป็นระเบียบที่แฝงเร้นอยู่นั้น จะต้องอาศัยภูมิจิตภูมิปัญญาที่แตกต่างออกไปจากจิตคิดแบบวิทยาศาสตร์เดิม คือต้องเป็นจิตที่ผ่านการฝึกฝนมาดี และเป็นอิสระจากกรอบความคิด ภาษา และระบบสัญลักษณ์ ที่ได้กลายเป็นพันธนาการจองจำวิธีคิดของวิทยาศาสตร์แบบเดิมไปเสียแล้ว

ในแง่นี้ โบห์มให้ความว่า คณิตศาสตร์ก็เป็นระบบสัญลักษณ์อย่างหนึ่งด้วย และวิทยาศาสตร์เก่าได้ติดยึดกับคำอธิบายที่เป็นตัวเลขและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มากเสียจนไม่สามารถรับรู้ความจริงแบบอื่นได้

เรียกว่า ต้องทำทุกอย่างให้เป็นตัวเลขจึงจะคุยกันแบบวิทยาศาสตร์ได้

โบห์มคิดว่า กรอบความคิด ภาษา และสัญญะ เหล่านั้นมีปัญหา และการที่จะก้าวพ้นจากอุปาทานการติดยึดกับสิ่งเหล่านี้ได้ นักวิทยาศาสตร์ต้องฝึกให้รู้เท่าทันวิธีคิดและจิตรับรู้ของตนเองด้วย

ในระยะหลังนี้ เราจึงเห็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหันมาสนใจศาสตร์ทางจิตและศาสนาตะวันออกต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะมีการจัดการสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกกับองค์ดาไล ลามะ แห่งธิเบตที่จัดขึ้นทุก ๒ ปี ติดต่อกันมากว่า ๒๐ ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๗ แล้วนั้น ได้ทำให้เห็นได้ว่าศาสนาและภูมิปํญญาตะวันออกสามารถให้คำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งได้อย่างน่าสนใจและลุ่มลึกยิ่งกว่าทัศนะแบบวัตถุนิยมกลไกของวิทยาศาสตร์เสียอีก

วิทยาศาสตร์กำลังอภิวัฒน์ตัวเองอย่างช้าๆ ด้วยการเรียนรู้จากภูมิปัญญาตะวันออก แม้เราจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวิทยาศาสตร์ใหม่จะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังเปลี่ยนไปก็คือ ทัศนะของวิทยาศาสตร์เดิมที่ถือว่า ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นความรู้สากล ไม่ขึ้นกับจิตรับรู้ของมนุษย์ หรือเรียกว่าความรู้กับสภาวะแห่งการรู้นั้นแยกขาดจากกันได้

ความรู้แบบวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่คนรู้คนหนึ่งเอามาอธิบายให้อีกคนหนึ่งรู้ได้ เพราะความรู้เป็นเรื่องภายนอกที่บอกเล่า เรียนรู้กันได้จากการคิด โดยไม่เกี่ยวกับพื้นภูมิของจิต

แต่ภูมิปัญญาตะวันออกบอกว่า ความรู้กับสภาวะแห่งการรู้ที่แท้จริงนั้น มิอาจแยกจากกัน

และความรู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับสภาวะแห่งการรู้นั้นคือปัญญา

โบห์มเชื่อว่า การที่นักฟิสิกส์ต้องพบกับปรากฏการณ์ที่สะท้อนความเป็นจริงแบบใหม่นี้ เป็นโอกาสดีที่จะเข้าถึงความรู้และสภาวะแห่งการรู้ใหม่ เพราะความจริงใหม่นี้จะท้าทายและรื้อเลาะอุปาทานที่เคยติดยึดอยู่ได้ หากเป็นเช่นนั้น วิทยาศาสตร์ใหม่อาจเป็นหนทางหนึ่งของการเข้าถึงปัญญาที่แท้จริงได้

เพราะการทำงานวิทยาศาสตร์เพื่อให้รู้เท่าทันความคิดและให้จิตเป็นอิสระจากอุปาทานนั้น
แท้จริงก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง

รักกันอย่างไร ... ให้เป็นจิตวิวัฒน์?

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2547

เวลาคุณได้ยินคำว่า "จิตวิวัฒน์" แล้วนึกถึงอะไร?

คุณนึกถึงอะไรที่ยากๆ หรือเป็นนามธรรมหรือเปล่า?

คุณคิดว่ามันคืออะไรที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับคุณใช่ไหม?

หากคุณเคยมีความรัก กำลังตกหลุมรัก หรือหวังว่าจะพบรัก คุณก็น่าจะได้รู้จัก "จิตวิวัฒน์" เพื่อที่จะได้เข้าใจความรักของคุณมากขึ้น!

ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง คุณเดวิด สปิลเลน ได้เล่าถึงการประชุมประจำปีของสถาบันโนเอติกไซนส์ (www.noetic.org) ที่ทำงานเรื่องการปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution) ว่ามีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางถึงความท้าทายทางสังคมและวัฒนธรรมที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ คือ "การที่เราต้องเป็นที่พักสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้กับกระบวนทัศน์เก่าและเป็นหมอตำแยสำหรับกระบวนทัศน์ใหม่" (To become a hospice to the old and a midwife to the new paradigm)

กระบวนทัศน์เก่า (ที่คุณหมอประสาน ต่างใจ เรียกในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กระบวนทัศน์ "สมัยใหม่" แต่ "เก่าเดิม")

เกิดพร้อมการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เมื่อสามร้อยกว่าปีที่แล้ว นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ แต่เป็นความคิดความเข้าใจโลกที่มีลักษณะของโลกแบบแยกส่วน เน้นวัตถุ และเชื่อในความสามารถทำนายผลล่วงหน้าได้

ทำให้มนุษย์มีจิตเล็ก เข้าใจโลกอย่างแคบๆ

ส่วนกระบวนทัศน์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมองโลกอย่างเป็นองค์รวม ทำให้มนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หรือจิตที่ใหญ่ ที่ไม่บีบคั้น ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเป็นอิสระ ความรัก และความสุข

สิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถทำได้ก็คือ สร้างความเข้าใจในธรรมชาติของคำอธิบายโลกแบบเก่า ที่ใช้การไม่ได้ ต้องถูกแทนด้วยกระบวนทัศน์ใหม่

เราไม่ควรไปซ้ำเติม แต่ควรให้ความรัก และช่วยให้กระบวนทัศน์เก่าจากไปด้วยความมีศักดิ์ศรี

ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามเรียนรู้ เตรียมพร้อม และช่วยเหลือให้กระบวนทัศน์ใหม่หรือจิตสำนึกใหม่เกิดขึ้น

เรื่องที่คุณเดวิดเล่าเกี่ยวกับการดูแลการเกิด-การตายของกระบวนทัศน์ ชวนให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเราเองต้องให้ความรักแก่กระบวนทัศน์เหมือนให้ความรักแก่คน ทั้งที่กำลังเกิดและกำลังจะตาย ผู้เขียนนึกถึงความรักรูปแบบต่างๆ ทั้งความรักที่เรามีให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ (ยิ่งเพิ่งจะผ่านวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุมาไม่นาน) รักที่เราให้มีกับแฟน (รวมทั้งแฟนคลับ) รวมรักที่มีให้แก่เด็กๆ และรักอื่นๆ อีกมากมายหลายเฉดสี

แล้ว "ความรักคืออะไร"

พอล เมย์คิช เพื่อนสนิทของผู้เขียนที่เป็นคริสเตียน นักคิด และหนอนหนังสือ เล่าให้ฟังว่า ชาวกรีกโบราณนั้นมีคำที่ใช้เรียกความรักถึงอย่างน้อยห้าคำ คือ storge, hybris, eros, philia และ agape

คำว่า storge (สตอร์เก้) เป็นคำเบาๆ ที่มีความหมายไปทาง "ชอบ" มากกว่ารัก

ส่วนคำว่า hybris (ไฮบริส) หมายถึงความรักตนเอง ที่เป็นฐานของความเย่อหยิ่ง

คำว่า eros (อีโรส) นั้นเป็นชื่อลูกของเทพอะโฟรไดท์ หรือวีนัส หรือที่คนมักรู้จักกันในชื่อ คิวปิดนั่นเอง คำคำนี้เป็นที่มาของคำว่าอีโรติกด้วย โดยทั่วไปหมายถึงความรักแบบโรแมนติก

อีกคำคือ philia (ฟิเลีย) เป็นความรักที่พบในมิตรภาพ ในหมู่เพื่อน ในครอบครัว รักพ่อรักแม่ หรือในมนุษยชาติ อย่างที่เมืองฟิลาเดลเฟียนั้น หมายถึงเมืองแห่งความรักของพี่น้องหรือภราดรภาพ

คำสุดท้ายคือ agape (อะกาเป้) ใช้ในความหมายถึงการได้รับ การให้ความเคารพ โดยมีนัยะถึงพระเจ้า ความรักแบบนี้ไม่ให้ความรู้สึกน่าทึ่ง อัศจรรย์ วูบวาบเหมือนรักแบบโรแมนติก หรือความรู้สึกอบอุ่นแบบฟิเลีย แต่กลับให้ความรู้สึกกลางๆ มีลักษณะไปทางจิตวิญญาณหรือจิตปัญญา ไม่มีสีสันไม่ปรุงแต่ง ไม่ติดยึด ไม่เรียกร้อง

ความรักแบบที่สี่และโดยเฉพาะแบบที่ห้านี้หรือเปล่าหนอ ที่ก่อให้เกิดความรักที่เป็นอิสระ ข้ามพ้นการแบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นความรักแบบจิตใหญ่ที่แท้จริง

เรื่องความรักในการดูแลระยะสุดท้ายและทำคลอดกระบวนทัศน์ บวกกับเรื่องความรักห้าแบบของกรีก ทำให้ได้คิด ได้สัมผัสความลึกซึ้งและงดงามของความรักในรูปแบบต่างๆ

และที่น่าทึ่งคือทั้งสองเรื่องไม่ได้มีความหมายโดดๆ หรือขัดแย้งกัน แต่สอดประสาน ซ้อนเหลื่อม เสริมพลัง เหมือนกับให้ภาพที่ซ้อนชัดขึ้นๆ

ดังที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู อธิบายว่า เหมือนกลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม เป็น spiral dynamic หรือแบบเกลียวสปริง เป็นการเรียนรู้ของสมอง ที่เป็นข่ายใย ไม่ใช่เชิงเส้น ทำให้เราเชื่อมโยงความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจต่างๆ ได้ดีขึ้น และในหลายบริบทมากขึ้น

ตัวอย่างเรื่องความรักนี้ยังทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสชัดเจนขึ้นถึงถ้อยคำที่ว่ากระบวนทัศน์ใหม่นั้นไม่ได้ละทิ้งหรือปฏิเสธกระบวนทัศน์เก่า หากแต่ก้าวพ้นและครอบคลุม (transcend and include) คือ อธิบายของเดิมได้หมด

แถมยังอธิบายสิ่งอื่นได้เพิ่มอีกด้วย ดังเช่น การที่ความรักแบบอะกาเป้และฟิเลีย เข้าใจและโอบอุ้มความรักแบบอื่นๆ ไว้ได้หมด

ภายในประเทศของเราก็มีตัวอย่างรูปธรรมของกลุ่มคนที่พยายามเรียนรู้และประยุกต์ใช้ความรักและความรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร

อาทิ กลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่ประกอบด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิวัฒน์ กระบวนทัศน์ใหม่ และการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ มีการพบปะกันทุกเดือนเพื่อศึกษาและเผยแพร่จิตสำนึกใหม่

กลุ่มเชียงราย-แพร่ เป็นเพื่อนๆ จากหลากหลายวิชาชีพ ที่ได้ลองเอาเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับจิตใหญ่มาทดลองปฏิบัติกับตนเองในด้านต่างๆ ทั้งระดับบุคคลและองค์กร

หรือ กลุ่มปัญญาวิวัฒน์ (A Circle of Friends) ที่เริ่มก่อตัวจากเยาวชนไทยที่มีประสบการณ์ต่างประเทศ มีมุมมองหลากหลายจากสาขาวิชาต่างๆ ที่มีความรัก ความปรารถนาดี อยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับประเทศและสังคมโลก

กลุ่มหลังนี้ตระหนักว่าปัญหาที่ท้าทายโลกยุคนี้แก้ด้วยจิตที่เล็กไม่ได้ จึงพยายามรวมตัวกันเรียนรู้ให้ข้ามพ้นความเป็นปัจเจก ความจำกัดของวิชาที่ตนเองเรียนมา และสร้างจิตใหญ่ร่วมกัน ล่าสุดกลุ่มนี้ก็ได้พยายามให้มีการใช้ "สุนทรียสนทนา" ในการเรียนรู้เข้าใจ และช่วยกันแก้ปัญหาในภาคใต้อีกด้วย

ตัวอย่างของกลุ่มที่มีความตั้งใจดี มีความรักเผื่อแผ่ถึงเพื่อนมนุษย์ พยายามเรียนรู้เพื่อขยายปริมณฑลของจิตให้กว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด มีจิตสำนึกใหม่ เช่นนี้ สังคมควรยกย่อง และส่งเสริมให้มีให้แพร่หลาย ทั้งกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ เชื่อมโยงกัน ดังที่อาจารย์ประเวศ วะสี ได้เสนอแนะไว้ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล-กลุ่ม-เครือข่าย (ปกค. หรือ INN:Individual-Node-Network)

เพราะจิตใหญ่นั้นนำมาซึ่งความรักและมิตรภาพอันไพศาล เป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ

คนยุค “สมัยใหม่” คิดว่าจิตคือสมอง

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2547

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจคำว่า เราคนยุค “สมัยใหม่” ที่ผู้เขียนใช้ ว่าหมายถึงเราคนส่วนใหญ่ที่มักไม่คิดว่า โดยกระบวนการวิวัฒนาการ ไม่มีอะไรใหม่ไปได้ตลอดกาล และในความจริงแล้ว “สมัยใหม่” ที่ว่าก็กำลังจะกลายเป็นกระบวนทัศน์เก่ายิ่งขึ้นทุกขณะ (คำว่ากระบวนทัศน์ในที่นี้ คือรูปแบบ (กรอบ แนวและวิธีคิด) ของความคิด (ปัจเจกและโดยรวม) ว่าด้วยโลก ชีวิตและสังคม.)

โดยกระบวนทัศน์เก่าที่อยู่กับเรามากว่า ๓๐๐ ปีกระทั่งทุกวันนี้ คือกระบวนทัศน์ที่ตั้งบนหลักสองประการ (โดยเฉพาะประการหลัง) คือหนึ่ง วัฒนธรรมหรือความรู้ที่ยอมรับร่วมกันเป็นความเชื่อ เป็นคุณค่า และความหมาย ที่เป็นฐานของความคิดต่อการดำรงอยู่ หรือวิถีชีวิตของเรา กับสอง ความรู้ที่ได้มาจากวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยเฉพาะชีววิทยา ‘เก่าเดิม’ ที่เราคิดว่า ‘ใหม่’ และถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว ทั้งสองประการคือรากฐานของระบบสังคมทุกๆ ระบบในปัจจุบัน ที่ผู้เขียนกำลังชี้บ่งว่า “ไม่สมบูรณ์” หรือ “ผิด” กระบวนการธรรมชาติ

นักประสาทวิทยาหรือนักวิทยาศาสตร์กายภาพแห่งความเป็น “สมัยใหม่” แต่ ‘เก่าเดิม’ นั้น ไม่รู้จักคำว่าจิตวิญญาณ หรือจิตทั้งแผงที่นักวิทยาศาสตร์ทางจิตยุคใหม่ใช้กัน (consciousness) การที่ผู้เขียนมักนำคำว่าจิตวิญญาณมาใช้ ก็เพื่อให้แยกจากคำว่าจิตเฉยๆ ซึ่งในสายตาของนักวิทยาศาสตร์กายภาพหรือคนยุค “สมัยใหม่” เป็นสิ่งเดียวกับจิตใจ (มนัส) หรือจิตรู้ (mind or conscious mind) หรือสมอง นั่นเอง

อิทธิพลของวิทยาศาสตร์กายภาพดังกล่าว ได้สรรค์สร้างสังคม “สมัยใหม่” กับคนยุค “สมัยใหม่” ให้คิดว่า จิตเป็นสิ่งที่โผล่ปรากฏขึ้นมาจากการทำงานที่ซับซ้อนของสสารวัตถุ ซึ่งในที่นี้คือสมอง (epiphenomenon or mind is emergent property of matter) อันเป็นองค์ความรู้ส่วนน้อยนิดในเรื่องของจิตทั้งหมดและจะยังคงน้อยนิดอยู่เรื่อยไป เพราะองค์ความรู้ที่ได้มาจากวิทยาศาสตร์ “สมัยใหม่” ล้วนเป็นเรื่องของ “จิตรู้หรือจิตใจที่สัมพันธ์กับสมอง” (conscious mind or brain-mind) ซึ่งเป็นประเด็นทางกายภาพด้านเดียวทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความรู้เรื่องจิตทางกายภาพ โดยสรีระและหน้าที่ของสมอง จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดและรู้กันในหมู่นักวิทยาศาสตร์เฉพาะทางเท่านั้น แต่ก็มีความสำคัญยิ่ง ควรที่สาธารณชนโดยเฉพาะผู้สนใจในเรื่องของจิตจะต้องรู้ไว้บ้างว่า การที่ชีวิตทุกชีวิต รวมถึงชีวิตที่ไม่ซับซ้อนเช่นไวรัสหรือแบกทีเรีย มีความแตกต่างกัน ก็เพราะเครื่องมือที่บริหารจิตหรือสมองมีขนาดและความละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันนั่นเอง แม้ว่าโดยหลักวิวัฒนาการ สัตว์ที่มีความซับซ้อนยิ่งกว่าพืชและแบกทีเรีย จะยังคงมีโครงสร้างระบบประสาทหรือสมองเก่าที่ได้วิวัฒนาการผ่านไปแล้วอยู่ ดังเช่น สมองของงูและตะกวด แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่าปลาบ้าง แต่สมองส่วนซึ่งทำหน้าที่ให้จิตพื้นฐานหรือสัญชาตญาณ จะประกอบด้วยสมองส่วนท้าย (hindbrain) ที่เรียกว่าอาร์-คอมเพล็กซ์ เหมือนสมองของปลาแทบทั้งหมด ในขณะที่นกและแมมมอล หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขั้นต่ำ จะมีสมองส่วนกลางหรือระบบลิมบิก (limbic) ที่ให้อารมณ์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปรุงแต่งสัญชาตญาณเพิ่มขึ้นมา ครอบอยู่โดยรอบ ด้านหน้าของอาร์-คอมเพล็กซ์ และโดยมีความโยงใยสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ส่วนสัตว์ชั้นสูง เช่นหมาแมวนั้น จะมีสมองส่วนหน้า (forebrain) ใหญ่กว่าหนูหรือกระต่าย สำหรับสมองส่วนหน้าในลิงหรือชิมแปนซีซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก โดยเชื่อมโยงกับสมองส่วนลิมบิกและสมองส่วนท้ายอย่างแนบแน่นนั้น จะมีหน้าที่ให้ปัญญาความคิดที่เชื่อมโยงปรุงแต่งอารมณ์และสัญชาตญาณ และสิ่งที่ทำให้มนุษย์ซึ่งมีสมองใหญ่และซับซ้อนที่สุดแตกต่างจากสัตว์ ก็เพราะมนุษย์มีสมองส่วนหน้า เรียกว่านิโอคอร์เท็กซ์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงอย่างสลับซับซ้อนกับสมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย ที่สัตว์ชนิดต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วมีอยู่เท่าๆ กับที่มนุษย์มี ดังนั้น ความแตกต่างอันซับซ้อนที่ทำให้มนุษย์อยู่เหนือชีวิตอื่นใด คือปัญญาและอัตตาตัวตนจากความจำที่ระลึกได้ (secondary repertory and Self) ต่างหาก ที่ทำหน้าที่ควบคุมและปรุงแต่งอารมณ์ที่ไปปรุงแต่งสัญชาตญาณต่ออีกทีหนึ่ง วิชาประสาทวิทยาที่พัฒนาเป็นองค์ความรู้มาตลอดศตวรรษกระทั่งถึงวันนี้ เรียนรู้และพิสูจน์สมอง-จิต หรือจิต แต่เพียงแค่นั้น คือเฉพาะสรีระวิทยาและหน้าที่พื้นฐานว่าด้วยการรับรู้ การสนองตอบทางระบบประสาทความรู้สึกและกล้ามเนื้อ รวมทั้งการควบคุมการทำงานของอวัยวะ ของเซลล์ และระบบต่างๆ ของร่างกาย

ผลงานวิจัยและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์กายภาพในรอบศตวรรษมานี้ ล้วนเป็นเรื่องรายละเอียดหรือการปรับเปลี่ยนแก้ไขประเด็นที่รู้บ้างแล้วเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เพียงห้าสิบปีก่อน เราคิดว่าสมองรับภาพผ่านตาเหมือนกับการผ่านเล็นส์กล้องถ่ายรูป แต่ปัจจุบันเรารู้ว่าสมองรับสัญญาณหรือข้อมูลในรูปของพลังงานที่ประกอบด้วยเสป็คตรัมของคลื่นแสง เล็นส์จะมีหน้าที่รวมประสานเสป็คตรัมของคลื่นเหล่านั้นให้เป็นเนื้อเดียวกันพร้อมๆ กับกำหนดจุดความเข้มหรือโฟกัส แล้วเรติน่าจะสร้างรูปแบบความพัวพันของคลื่นขึ้นมา จากนั้นสมองส่วนที่ทำหน้าที่แปล (visual cortex) ก็จะแปลและสร้างรูปแบบที่ว่านั้นให้เป็นภาพ

ข้อมูลก็เป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานหรือจิตที่บริหารโดยสมอง ข้อมูลจากภายนอกที่เข้ามาถึงสมองนั้น เรียกว่าการรับรู้ (perception) แต่ยังไม่ถือว่ารู้ เพราะการรู้ (cognition) คือสิ่งที่ตามมาหลังจากที่ข้อมูลได้รับการวิเคราะห์ เฉพาะข้อมูลที่สำคัญเราจะเก็บ (retention) ไว้เพื่อระลึกกลับคืน (re-cognition or recall) อันเป็นหน้าที่ของความจำ (memory) การทำงานของกระบวนการเหล่านี้ เมื่อค่อนศตวรรษมาแล้ว เราคิดว่าจะต้องมีร่องรอยของรูปแบบที่เรียกว่า “เอ็นแกรม” (engram) อันเป็นผลของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของกิ่งก้าน (dendrites) เซลล์ประสาท นักประสาทวิทยาจำนวนมาก รวมทั้ง คาร์ล ลัชคีย์ วิลเดอร์ เพ็นฟีลด์ ศัลยแพทย์ชาวแคนาดาที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่เซอร์ จอห์น เอ็คเคิลส์ ประสาทสรีระแพทย์รางวัลโนเบล ในช่วงแรกๆ ต่างก็พยายามค้นหาเอ็นเแกรมที่ว่านี้ แต่ถึงแม้จะตัดสมองสัตว์ทดลองออกไปทั้งหมด ไม่ว่าสมองซาลามานเดอร์หรือสมองหนู (หลังจากที่ฝึกให้พวกมันจำเวลาหรือสถานที่วางอาหารได้) ก็ปรากฏว่า แม้ความทรงจำของสัตว์ทดลองทุกตัวจะเชื่องช้าลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีอยู่เป็นอย่างดี วิลเดอร์ เพ็นฟิลด์ ถึงได้พูดกับจอร์จ วอลด์ นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลจากฮาร์วาร์ดไว้ก่อนตายว่า “อย่าไปหาจิตในสมองเลย มันไม่ได้อยู่ที่นั่นหรอก” ส่วนเซอร์ จอห์น เอ็คเคิลส์ ก็พูดว่าจิตอยู่ในสนามจิตนอกสมองเท่าๆ กับที่อยู่ในสมอง ซ้ำยังประกาศว่าตนเองได้ค้นพบตำแหน่งของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกาย ว่าอยู่ที่กลีบปรีฟร็อนตัล (prefrontal) ที่เรียกว่าเอสเอ็มเอ (SMA) แล้วอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่แล้ว ได้เกิดทฤษฎี “เครือข่ายเซลล์สมอง” ขึ้นมาหลายทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายการทำงานของจิตรู้ (neural networks theories) ทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันมาก คือทฤษฎีของเจอรัลด์ อีเดลแมน นักชีววิทยารางวัลโนเบลชาวอเมริกัน ที่บอกว่า กระบวนการที่ให้จิตรู้ (mental process) นั้นเป็นผลงานของกลุ่มเซลล์ประสาทที่อยู่ในทุกส่วนของสมอง ซึ่งแข่งขันกันเพื่อจะมีปฏิสัมพันธ์กับสัญญาณหรือคลื่นพลังงานที่มาจากภายนอก ทฤษฎีเหล่านี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า กลุ่มเซลล์ประสาทหรือเซลล์สมองที่มีเป็นจำนวนพันถึงล้านๆ ตัว จะจับกันเป็นเครือข่ายในสองรูปแบบ คือหนึ่ง เป็นไปเองตามโค้ดทางพันธุกรรม (primary repertory) กับสอง พัฒนาเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อนยิ่งขึ้น (secondary repertory) จากการกระตุ้นเตือนอย่างซ้ำซ้อนของข้อมูลจากภายนอกหรือความคิดจากภายใน ที่ร่วมกันให้รูปแบบการโผล่ปรากฏของจิตรู้และความทรงจำใหม่

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กายภาพของสมอง โดยหลักการก็มีเพียงแค่นั้น เพียงแต่ซับซ้อนและละเอียดขึ้น จนทำให้เรารู้ว่ากระบวนการที่จิตรู้ของเรา เป็นความคิด มโนทัศน์ (concept) กระทั่งข้อมูลที่เป็นนามธรรมต่างๆ ต้องอาศัยกระบวนการบริหารข้อมูลที่ซับซ้อน และข้อมูลบางส่วนเกิดจากสมองจัดหามาให้จากภายใน แต่กระทั่งวันนี้ กระบวนการทางประสาทสรีระวิทยาต่อการเกิดของจิต แม้ในส่วนที่เป็นจิตรู้ก็ยังเหมือนเดิม คือ “ไม่รู้” อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าวิทยาศาสตร์กายภาพของสมองไม่สำคัญ วิทยาศาสตร์อาจตอบความล้ำลึกลี้ลับในเรื่องของจิตหรือจิตวิญญาณไม่ได้เลย แต่วิทยาศาสตร์กายภาพก็ทำให้เราสามารถเข้าใจและควบคุมผลการบริหารของสมอง ที่เรียกว่าจิตใจและอารมณ์ได้

Back to Top