มิถุนายน 2013

ความพิการ 5 ประการขององค์กร



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2556

องค์กรเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน มีการรับรู้และการตอบสนองที่แตกต่างหลากหลาย ความท้าทายคือการขับเคลื่อนองค์กรไปอย่างสมัครสมานสามัคคีและมีเป้าหมายร่วมกัน โดยสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจำต้องอาศัยการสื่อสารภายในที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือร่วมใจ มิเช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการออกแบบหรือตัดสินใจจากคนเพียงไม่กี่คนที่เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือเป็นผู้มีอำนาจบริหารก็จะต้องประสบกับการต่อต้านหรือไม่ก็แรงเฉื่อย

สิ่งที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตคือมีสุขภาพที่ดี สำหรับองค์กรแล้วสุขภาพขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของส่วนย่อยต่างๆ ในองค์กรเอง หากสุขภาพไม่ดีองค์กรก็จะแสดงความพิการให้เห็นได้ชัด ในประสบการณ์ของผมเอง ความสัมพันธ์ที่มักเป็นปัญหาที่สำคัญคือ ๑) ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้วยกัน (Top Management) ซึ่งถือว่าสำคัญมาก เพราะช่องว่างที่เกิดขึ้นในระดับสูงแม้เพียงเล็กน้อย จะสร้างช่องว่างขนาดมหึมาในความสัมพันธ์ระหว่างระดับล่างด้วยกันเองได้มาก ๒) ความสัมพันธ์แนวดิ่ง (Departmental) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้องในหน่วยงานเดียวกัน ๓) ความสัมพันธ์แนวราบแบบข้ามสายงาน (Cross-functional) ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

ในหนังสือ Five Dysfunctions of a Teamwork และ The Advantage ของ แพทริค เลนซิโอนิ (Patrick Lencioni) ได้ระบุองค์ประกอบขององค์กรที่มีความพิการในการทำงานเป็นทีม ดังนี้

หนึ่ง ขาดความไว้วางใจต่อกัน (Absence of Trust) ซึ่งคำว่า ไว้วางใจในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความไว้วางใจที่มีให้กับอีกฝ่ายในการทำงาน แต่เป็นความไว้วางใจที่จะเปิดใจต่อกันเมื่อเกิดปัญหา และสามารถพูดถึงปัญหาได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะปัญหาของตัวเองที่เผชิญอยู่อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ซึ่งหมายถึงการยอมรับความเปราะบางและการลดอาการปกป้องตัวเองหรือการรักษาภาพลักษณ์ให้ดูดีลง

สอง กลัวความขัดแย้ง (Fear of Conflicts) ยิ่งเป็นองค์กรที่มีความเป็นไทย มีความเป็นพี่เป็นน้อง แล้ว ก็จะยิ่งพยายามรักษาความสามัคคี สันติภาพ และความปรองดองไว้ในชั้นนอก (Artificial Harmony) โดยไม่กล้าเผชิญหน้ากันอย่างเปิดเผยเพื่อถกเถียงในปัญหาของงานที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ หลายองค์กรเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์ เพราะเต็มไปด้วยการตัดสิน การพูดจากันลับหลัง และกล่าวโทษตำหนิต่อหน้าสาธารณะอย่างเปิดเผย ทำให้ผู้คนหากเลือกได้คงจะอยากไปกินข้าวร้องเพลงหรือเล่นกีฬาด้วยกัน มากกว่าจะเข้าห้องประชุมกัน

สาม ขาดคำมั่นสัญญา (Lack of Commitment) ที่จะลงมือกระทำการร่วมกัน ด้วยเหตุที่โดยส่วน ใหญ่ในการแสดงความคิดเห็น ข้อสรุปอาจไม่ได้เกิดจากการเห็นตรงกัน การมีข้อตกลงและคำมั่นสัญญาร่วมกันแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันและไม่ตรงกับข้อสรุปที่ได้ เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีม

สี่ หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบร่วมกัน (Avoidance of Accountability) ซึ่งก่อให้เกิดคุณภาพงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หลังจากที่มีข้อตกลงร่วมกันแล้ว ในการลงมือปฏิบัติ ผลที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้ตามเป้าหมายหรือคุณภาพที่ทีมงานตั้งไว้ ก็จำเป็นต้องบอกกล่าว สื่อสารกันและกัน เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารไม่ชอบที่จะทำนัก โดยเฉพาะการบอกกล่าวตักเตือนคนระดับเดียวกัน เพราะไม่ต้องการก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน

ห้า ขาดการเอาจริงเอาจังต่อผลลัพธ์ที่ต้องการ (Inattention to Results) เพราะการอยากได้ผลงาน อยากได้หน้า หรือการเติบโตก้าวหน้าส่วนตัว หรือแม้แต่การรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานตัวเองมากกว่าการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความพิการในทีมงานและองค์กร เมื่อพิการเรื่องหนึ่ง ก็ส่งผลให้เกิดความพิการอีกเรื่องหนึ่งสืบเนื่องกันไป โดยจะส่งผลให้เกิดความเบื่อหน่าย ความท้อและขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน เพราะองค์กรที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ระยะยาว และมีความสุขในการทำงานนั้น สิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่การมีทักษะและความรู้ในเรื่องที่ทำ แต่จำต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาจิตวิญญาณความเป็นทีม การอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย และนี่ถือเป็นหนทางของการพัฒนาขัดเกลาความเป็นมนุษย์ให้มีจิตใจกว้างใหญ่ เปิดรับการเรียนรู้จากกันและกันอย่างไปพ้นความรู้อันจำกัดและคับแคบของตัวเอง

มีคนกล่าวว่า หากทีมงานดี จะทำอะไรก็ได้ แต่หากทีมงานพิการแล้ว คิดจะทำอะไรก็ไม่ได้ ติดขัดไป เสียหมด เราอาจสามารถสร้างหรือนำเข้าความรู้ทางเทคนิคและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ได้ แต่สิ่งเดียวที่เรานำเข้าหรือซื้อไม่ได้ คือความเป็นทีมเวิร์ก ซึ่งจำต้องสร้างเองและอาศัยความเอาจริงเอาจัง ความอึดและความถี่ของการสื่อสารภายในที่สม่ำเสมอต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงการไปจัดสัมมนาหรือกิจกรรมสันทนาการนอกสถานที่เพียงชั่วข้ามคืน สิ่งที่ต้องลงทุนที่สุดไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นการลดละอัตตาของของผู้นำในระดับต่างๆ รวมทั้งการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้ในเชิงพฤติกรรมที่สามารถสร้างความเชื่อและความศรัทธา และวิถีของการอยู่ร่วมที่สอดคล้องกับระบบคุณค่า (Value) จนกลายเป็นวัฒนธรรมได้จริง เหมือนกับคำกล่าวที่ “ทำได้ดังกว่าพูดได้”

การแก้ไขปัญหาขององค์กรในการฟื้นฟูความไว้วางใจต่อกันนั้นทำได้ไม่ยาก และไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่สำคัญอยู่ที่ความตั้งใจและการเอาจริงเอาจังกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่า บ่อยครั้งที่ผู้บริหารรู้ว่า องค์กรควรจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน แต่สิ่งที่มักไม่รู้คือ “ทำไมผู้คนไม่อยากเปลี่ยนแปลง” ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ ความบาดเจ็บที่มักเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงก็มักจะถูกละเลย ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง ทำให้เกิดอาการกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกที่ค้างคาจิตใจผู้คนอย่างยาวนาน

การรักษาอาการพิกลพิการขององค์กรให้กลับมามีความสามารถได้อีกครั้ง จึงต้องเริ่มต้นจากการเปิด ใจรับฟังปัญหาของกันและกันอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ทั้งการอบรมเพื่อพูดทักษะความรู้ หรือการจัดกิจกรรม สร้างความสนุกสนานและอาศัยความสมัครสมานสามัคคีกลบเกลื่อนปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้อาจจะต้องอาศัยทักษะในการเผชิญความขัดแย้งด้วยความตื่นรู้ ทักษะในการสื่อสารที่แม่นยำและไม่รุนแรง ในการเชื่อมทุกฝ่ายเข้ามาเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันอย่างสันติด้วย ดังที่ อาร์โนล มินเดล นักจิตวิทยาเชิงกระบวนการ (Process-Oriented Psychology) กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพื่อ ให้เราได้รู้จักตัวเองและรู้จักกันและกันมากขึ้น”

ปล่อยวาง ไม่ใช่ วางเฉย



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2556

เช้าวันหนึ่ง นาย ก.อ่านคำสอน “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรยึดถือเป็นตัวเราของเรา” หน้าหิ้งพระ รู้สึกปล่อยวางและเบาสบาย ก่อนออกจากบ้าน นาย ก.หยิบขยะไปทิ้ง และสังเกตเห็นว่าซอยข้างบ้านเต็มไปด้วยขยะที่คนในชุมชนข้างซอยเอามากองทิ้งไว้ บ่ายวันนั้นฝนตก น้ำชะขยะส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ นาย ก.เห็นเหตุการณ์นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า รู้สึกทุกข์ใจ และรำคาญใจกับสภาพและกลิ่นขยะในขณะเดียวกัน แต่นาย ก.ก็ตระหนักว่า “ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อคุณไม่ปล่อยวางและยึดมั่นถือมั่น”

วิจักขณ์ พานิช เคยออกข้อสอบวิชาพุทธศาสนาข้อหนึ่งมีข้อความข้างต้น โดยถามนักศึกษาว่าเห็นด้วยกับความคิดและการกระทำของนาย ก.ว่า เป็นการตีความถูกต้อง “ตรงตามพระคัมภีร์” หรือไม่ ปรากฏว่านักศึกษากว่าร้อยละ ๘๐ เห็นด้วย

การที่นักศึกษาเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับพฤติกรรมของนาย ก. แสดงอย่างชัดเจนว่า ในทัศนะของนักศึกษาเหล่านี้ คำสอนของพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการ “ทำจิต” เท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีปัญหาอะไร สิ่งเดียวที่ทำได้คือ “ปล่อยวาง”

ความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำสอนในพุทธศาสนา ซึ่งแพร่หลายอยู่มากไม่เฉพาะนักศึกษากลุ่มนี้เท่านั้น แท้จริงแล้วพุทธศาสนาไม่ได้สอนแค่ “การทำจิต” เท่านั้น หากยังให้ความสำคัญแก่ “การทำกิจ” ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเตือนให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ในด้านหนึ่งก็ทรงสอนให้ปล่อยวาง ดังพุทธพจน์ที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ

“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทรงสอนให้หมั่นเพียรในการทำกิจ ดังตอนหนึ่งในปัจฉิมโอวาท

“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”

พุทธพจน์ทั้งสองไม่ได้ขัดกันแต่เน้น “จริยธรรม” คนละด้าน ซึ่งเราพึงปฏิบัติควบคู่กันไป เช่น เมื่อเรารู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย เอาอะไรไปไม่ได้แม้แต่น้อย ดังนั้นจึงต้องรู้จักปล่อยวาง หาไม่จะตายสงบได้ยาก แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรเร่งทำความดี หมั่นทำหน้าที่ให้แล้วเสร็จ ไม่เพิกเฉย หรือปล่อยให้ค้างคา เพราะเราอาจจะตายวันนี้วันพรุ่งก็ได้

การปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิต เพื่อไม่ให้ทุกข์ใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรทำอะไรมากกว่านั้นหากทำได้ เมื่อคนรักตายจากไป เราไม่สามารถทำให้เขาฟื้นขึ้นมาได้ สิ่งที่เราทำได้ในกรณีนี้ก็คือ การทำจิต หรือปล่อยวางเท่านั้น แต่หากเราล้มป่วย นอกจากการทำจิต คือ ไม่บ่นโวยวายหรือตีโพยตีพาย หากแต่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือพิจารณาว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราแล้ว เรายังควรทำกิจด้วย คือ เยียวยารักษาร่างกายให้หายป่วย หรือถึงแม้จะยังไม่ป่วย สุขภาพยังดีอยู่ ในด้านหนึ่งก็ควรเผื่อใจว่าอะไรก็ไม่เที่ยง จะได้ไม่ทุกข์ใจเมื่อต้องล้มป่วย แต่พร้อมกันนั้นก็ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใส่ใจในคุณภาพของอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้ล้มป่วยเร็วเกินไป

ใครที่ทำใจอย่างเดียว โดยไม่ทำกิจเลย ย่อมเรียกว่าเป็นอยู่อย่างไร้ปัญญา จริงอยู่กล่าวในทางปรมัตถ์แล้ว ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงสิ่งที่ “หยิบยืม” มาใช้ชั่วคราว แต่ตราบใดที่มันยังอยู่ในการดูแลของเรา เราก็มีหน้าที่ดูแลมันให้ดีที่สุด เช่นเดียวกับโทรศัพท์หรือรถยนต์ที่เราหยิบยืมมาจากเพื่อน แม้มันไม่ใช่ของเรา เราก็ต้องดูแลรักษาให้ดี ใครที่ปล่อยปละละเลย เอาแต่ใช้แต่ไม่ดูแล ด้วยเหตุผลว่า มันไม่ใช่ของเรา ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้ไร้ความรับผิดชอบ เอาแต่ได้ ไม่น่าคบหาเลย

ผู้คนมักเข้าใจว่า ปล่อยวางหมายถึงวางเฉย หรือปล่อยปละละเลย นี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากความสับสนระหว่าง “ทำจิต” กับ “ทำกิจ” ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิต มุ่งแก้ความทุกข์ทางใจ แต่คนเราไม่ได้มีแต่ความทุกข์ทางใจ เรายังมีความทุกข์ทางกาย ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งต้องอาศัยการทำกิจควบคู่กับการทำจิต เช่น ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วก็ต้องซ่อม ขณะเดียวกันก็ควรรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ตรงนี้แหละที่การทำจิตเข้ามามีบทบาท แต่ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วแล้วไม่ทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่ยังต้องใช้มันอยู่และอยู่ในวิสัยที่ซ่อมได้ อย่างนี้แหละเรียกว่า วางเฉย หรือปล่อยปละละเลย ไม่ใช่ปล่อยวาง

ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อชา สุภัทโท เดินผ่านกุฏิของพระรูปหนึ่ง ท่านสังเกตเห็นหลังคาแหว่งไปครึ่งหนึ่งเพราะถูกพายุฝนกระหน่ำ แต่พระรูปนั้นไม่ขวนขวายที่จะซ่อมหลังคาเลย ปล่อยให้ฝนรั่วอย่างนั้น ท่านจึงถามเหตุผลของพระรูปนั้น คำตอบที่ได้ก็คือ ผมกำลังฝึกการไม่ยึดมั่นถือมั่นครับ หลวงพ่อชาจึงตำหนิว่า นี่เป็นทำโดยไม่ใช้หัวสมอง แทบไม่ต่างจากการวางเฉยของควายเลย

ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิตเพราะเข้าใจความจริงของชีวิตว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ จัดว่าเป็นวิถีแห่งปัญญา ส่วนวางเฉยหรือปล่อยปละละเลยนั้นเป็นความบกพร่องในการทำกิจเพราะไม่เข้าใจว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ หรือเพราะสำคัญผิดว่าเป็นการทำจิต จึงไม่ใช่วิถีแห่งปัญญา

ดังนั้น เมื่อนาย ก. พบว่าซอยข้างบานเต็มไปด้วยขยะและส่งกลิ่นเหม็นจนรู้สึกรำคาญและทุกข์ใจนั้น การที่เขาทำใจปล่อยวาง (เช่น มีสติเห็นความรู้สึกรำคาญ และปล่อยวางมัน ไม่ยึดติดถือมั่นจนเกิดตัวกูผู้รำคาญขึ้นมา) ย่อมช่วยให้ความทุกข์ใจบรรเทาเบาบางลง แต่ทำเพียงเท่านี้ยังไม่พอ เขาควรตระหนักว่านี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เฉพาะของตนเท่านั้น แม้จะไม่ห่วงตนเองแต่ก็ควรมีสำนึกในหน้าที่ต่อส่วนรวม อันเป็นวิสัยของชาวพุทธ ดังนั้น เขาจึงควรทำกิจด้วย นั่นคือ พยายามลดขยะในซอย เช่น แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาเก็บขยะ หรือชักชวนผู้คนให้ทิ้งขยะเป็นที่ (อันที่จริง หากเขาทำใจปล่อยวางอย่างเดียว ก็ไม่ควรเอาขยะของตนเองไปทิ้ง ควรทนอยู่กับขยะที่สุมกองอยู่ในบ้านต่อไป ถ้าทนกลิ่นเหม็นของขยะในบ้านตนไม่ได้ แต่วางเฉยต่อขยะที่อยู่นอกบ้าน แสดงว่าไม่ได้ปล่อยวางจริง แต่เป็นการปล่อยปละละเลยปัญหาของส่วนรวมมากกว่า)

ทุกวันนี้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยสนใจแต่ทำจิต แต่ไม่ทำกิจ จึงเกิดปัญหามากมาย เช่น มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ก็ทำใจอย่างเดียว แต่ไม่คิดที่จะไปคุยหรือปรับความเข้าใจกัน ปัญหาจึงหมักหมมและลุกลาม จนทำใจไม่ไหว ในที่สุดก็ระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงทั้งวจีกรรมและมโนกรรม ไม่ใช่แต่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้นที่ลุกลาม ปัญหาส่วนรวมก็กำลังพอกพูนมากมาย ทั้งมลภาวะ อาชญากรรม ความไม่เป็นธรรม คอร์รัปชั่น การเอาเปรียบเบียดเบียน ทั้งนี้ก็เพราะผู้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าพุทธศาสนาสอนให้ทำจิตเท่านั้น หรือสับสนระหว่างการปล่อยวางกับการวางเฉย จึงเปิดช่องให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำจิตโดยคิดว่ากำลังทำตามคำสอนของพระพุทธองค์

ถ้าชาวพุทธในเมืองไทยรู้จักทำกิจควบคู่กับทำจิตอย่างถูกต้อง หรือตระหนักชัดว่าปล่อยวางไม่ได้หมายถึงวางเฉย คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น และสังคมจะสงบสุขมากกว่านี้อย่างแน่นอน

สิ่งที่เราต้องการ



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2556

บ่ายวันหยุดสุดสัปดาห์ คู่รักวัยทำงานคู่หนึ่งต้องการใช้เวลาที่หาได้ยากในการทำกิจกรรมร่วมกัน

ฝ่ายหนึ่งอยากชวนไปห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน เพื่อซื้อหนังสือ ดูหนังสักรอบ และต่อด้วยดินเนอร์สองต่อสอง

อีกฝ่ายอยากขับรถชวนออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์นอกเมือง เดินเล่นออกกำลังกายในสวน และซื้ออาหารสดกลับมาทำอาหารกันเองที่บ้าน

เถียงกันไปมาไม่ลงตัว สุดท้ายกลายเป็นทะเลาะกัน หน้าบึ้งตึงตัง ต่างคนต่างออกนอกบ้าน แยกกันไปทำอย่างที่แต่ละคนอยากจะทำ – ลืมไปเลยว่า แต่ละคนอยากใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน

พวกเราส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ การถกเถียงกันในหลายเรื่องก็เป็นเช่นนี้ การจับประเด็นในการสนทนาไม่ใช่เป็นเพียงการจับแต่เพียงถ้อยคำ แต่ต้องลงลึกไปให้ถึงความต้องการของแต่ละคน ซึ่ง – หลายครั้งพบว่า ไม่ได้แตกต่างกันเลย แต่เรากลับหลงประเด็น และติดกับอยู่กับความแตกต่างในเชิงรูปแบบที่สะท้อนความต้องการของแต่ละคนเท่านั้นเอง

ชาวบ้าน – ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ดังเช่น ชาวเขาคูหา จังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหิน ชาววังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ชาวเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือชาวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับผลกระทบหากมีการทำท่าเรือน้ำลึก – เมื่อรวมตัวกันประท้วง ก็มักจะถูกมองว่าเป็นพวกล้าหลังต่อต้านการพัฒนา เป็นพวกเห็นแก่ตัวถ่วงความเจริญของประเทศชาติส่วนรวม

ทั้งที่หากตั้งคำถามว่าพวกเขาและเธอต้องการอะไร? ก็จะพบว่าพวกเขาและเธอเพียงแต่ต้องการชีวิตที่ดี อากาศที่ดีสำหรับหายใจ น้ำที่ดีสำหรับกินดื่มใช้ สิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยสำหรับใช้ชีวิต/ทำมาหากิน/เลี้ยงลูกหลาน ซึ่ง – ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากความต้องการของพวกเรา ที่ต้องการสวนสาธารณะไว้เดินเล่นและออกกำลังกาย ทางเดินเท้าที่ดี ระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ฯลฯ

ความขัดแย้งทางการเมืองก็เช่นกัน ฝ่ายหนึ่งปฏิเสธรัฐประหาร ฝ่ายหนึ่งปฏิเสธคอร์รัปชั่น ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องประชาธิปไตย ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งในเชิงอุดมคติและอุดมการณ์เหล่านี้ไม่มีอะไรจะขัดแย้งกันได้เลย และทุกฝ่ายต่างก็ต้องการให้ประเทศ/สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

ดูเหมือนจะมีอุปสรรคสำคัญหลายประการที่ทำให้เราต่างก็เป็นผู้สร้างความขัดแย้งขึ้นมาระหว่างกัน แต่ปัจจัยสำคัญหนึ่งเห็นจะเป็นเรื่องของการรับฟังกันและกันอย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหัวใจได้เปิดออกแล้วเท่านั้น เพราะหัวใจที่เปิดออกจะทำให้อาณาบริเวณของสติปัญญาและความกรุณาแผ่กว้างขึ้น หัวใจที่ปิดจะมีแต่กังวานอื้ออึงของตนเองที่ตะโกนย้ำ-ย้ำซ้ำ-ซ้ำว่าอีกฝ่ายโง่/ต่ำช้า/เลวร้าย/ด้อยกว่า ทำให้ไม่อาจได้ยินหรือจับประเด็นความต้องการของอีกฝ่ายได้ การสนทนาเชิงสร้างสรรค์ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในภาวะหัวใจปิด การเรียนรู้และปัญญาญาณใหม่จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้

จะว่าไป การสืบค้นความต้องการเป็นทั้งเรื่องไม่ง่ายและไม่ยาก แต่เรามักจะละเลยและไม่คุ้นชินกับคำถามนี้ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของตนเองหรือคนอื่น และนี่ก็อาจจะเป็นอีกเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง/ไม่ลงตัว/ไม่เข้าใจ

วิธีการง่าย-ง่ายก็คือ การตั้งคำถามว่า “ทำไม?” ๕ ครั้ง นั่นคือ เมื่อได้คำตอบจากคำถามแรกก็ถามต่อไปอีกว่า ทำไม? หรือถ้าจะถามมากกว่านี้ถึง ๒๐ ครั้งก็ยังได้ – ไม่จำเป็นต้องเชื่อ เพราะต้องพิสูจน์ด้วยการทดลองกับตัวเองว่าวิธีนี้ได้ผลเป็นอย่างไร

ประโยคของท่านทะไลลามะที่ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมเกลียดทุกข์รักสุขด้วยกันทั้งนั้น” ดูเหมือนจะสรุปความต้องการพื้นฐานของเราไว้ได้ไม่มากก็น้อย แต่ปรากฏว่าความต้องการเทียมมาเกลื่อนกลบความต้องการพื้นฐานนี้ไปเสียหมด และทำให้เราแปลกแยกจากตัวเองและคนอื่นมากยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น

สภาพชีวิตปัจจุบันแวดล้อมไปด้วยการสร้างความต้องการเทียมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ แฟชั่นกระเป๋าและเสื้อผ้าล่าสุด ประกันชีวิต การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องมือแพทย์นำเข้าล่าสุด ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประกาศกแห่งการซื้อเพื่อความมีและความเป็น ผ่านแผ่นป้ายโฆษณาที่ติดอยู่ทั่วเมือง จึงน่าเห็นใจว่าเราถูกสะกดจิตให้หลงลืมการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของตนเองอยู่แทบตลอดเวลา

ความต้องการเทียมเหล่านี้ยังทำให้เราไม่เห็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงอันซับซ้อน ก็ในเมื่อเราพึงพอใจแต่เพียงการได้ครอบครองสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุด จะสนใจไปไยกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทอง/ตะกั่ว/แมงกานีส/ทังสเตน – ต้นทางของวัสดุพื้นฐานของเทคโนโลยีเหล่านี้ ในเมื่อเราพึงพอใจแต่เพียงการมีน้ำมันราคาถูก จะสนใจไปไยกับห้างสรรพสินค้าที่ใช้กระแสไฟฟ้าในปริมาณมากกว่าหลายจังหวัดรวมกัน ในเมื่อเราพึงพอใจกับการส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ จะสนใจไปไยกับคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบการศึกษาในประเทศ ฯลฯ

การแยกแยะความแตกต่างระหว่างความต้องการแท้และเทียมมีความสำคัญมาก และหากมองเห็นความต้องการร่วมกันของเราและคนอื่นได้ ก็ย่อมจะพ้นไปจากความขัดแย้งได้ – การสืบค้นและทำความเข้าใจต่อความต้องการที่แท้จริงของเราและผู้อื่นจึงเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการไปในตัว

เมื่ออายุหกสิบ (๒)



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2556

มีคนเคยกล่าวว่า งานเขียนนิยายที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายคืองานอัตชีวประวัติที่แอบแฝงมาในรูปแบบต่างๆ คนเราจะเขียนอะไรได้ดีที่สุดเล่า นอกจากจะเขียนเรื่องของตัวเอง

งานของชีวิต
ดังที่ผมเขียนไว้ตอนแรกว่า อันดับแรกของงานชีวิต ก็คือการฝึกกระบวนกร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการดูแลลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด พร้อมจะเรียนกับผมอย่างต่อเนื่องยาวนาน ที่ใช้คำว่า “ต่อเนื่องยาวนาน” ก็ด้วยเหตุที่ว่า การฝึกกระบวนกรก็คล้ายกับการปฏิบัติธรรม คือมันไม่ใช่การเรียนรู้ในชั้นของความคิด หรือในระดับพุทธิปัญญาเท่านั้น หากต้องบ่มเพาะลงสู่อารมณ์ความรู้สึก ปัญญาปฏิบัติหรือศิลปะ จนกระทั่งเป็นวิถี ดำเนินสู่ระดับความเป็นเซียนของวิถีกระบวนกร จึงต้องอาศัยการบ่มเพาะต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งกว่านั้น การจะเดินข้ามขอบออกจากข้อจำกัดเดิมๆ ของชีวิต ของปมและบาดแผลต่างๆ ได้ ต้องอาศัยกัลยาณมิตรที่เกิดจากกลุ่มก้อนผู้คนที่รวมตัวขึ้นเป็นอาศรมและมาร่วมเรียนรู้วิถีแห่งกระบวนกรร่วมกัน

ตอนเป็นเด็กหนุ่ม ผมเคยอยากเป็นครู แต่ตอนนั้นผู้ใหญ่ยังไม่ยอม บอกว่าเป็นครูเงินเดือนคงไม่พอใช้ ผมมาคิดดูก็ดีเหมือนกัน เพราะหากผมเรียนครูในระบบ ผมอาจจะเรียนไม่จบเช่นเดียวกับประชา หุตานุวัตร หรือหากเรียนจบ ผมก็คงต้องแสวงหาองค์ความรู้อย่างใหม่อยู่ดี ในที่สุดก็ไม่ได้เรียนครู แต่ก็มาค้นพบวิถีแห่งความเป็นครูแบบใหม่ที่เร้าใจกว่า นั่นคือการเข้าสู่วิถีแห่งการเป็นกระบวนกร

เรื่องเล่าที่ผมประทับใจ ที่ครูของผม สุลักษณ์ ศิวรักษ์เล่าไว้ก็คือ อาจารย์สอนปรัชญาที่ฉีกบทเรียนที่ตัวเองเขียนทิ้งทุกปี และเขียนใหม่ทุกปีเพื่อสอนนักศึกษาสิบกว่าคน ทุกวันนี้ ผมเองก็ยังศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ ของการเป็นกระบวนกร และรื้อสร้างองค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา นำสู่การปฏิบัติ เป็นปัญญาปฏิบัติ เป็นศิลปศาสตร์ จนกระทั่งองค์ความรู้นั้นๆ เข้ามาเป็นวิถี เป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ผมไม่หยุดที่องค์ความรู้หนึ่งใด แต่ค้นคว้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ เริ่มจากไดอะล็อคของโบห์ม แล้วก็นำแนวทางของมากาเร็ต วีตเลย์เข้ามาจากหนังสือ ผู้นำในวิทยาศาสตร์ใหม่ ของเธอ (โดยที่ก่อนหน้านั้น ก็ติดตามอ่านงานของฟริตจอป คราปามาตลอด โดยเฉพาะกับเรื่อง The Web of Life ก็เอาเรื่องราวในหนังสือมาเล่าในเวิร์คชอปที่จัดให้เครือข่ายของเสมสิกขาลัย การบอกเล่าหนังสือของคราปานี้นับเป็นครั้งแรกที่ผมทำงานฝึกอบรมที่เปิดให้สาธารณชน) ต่อมาก็มาศึกษาวอยซ์ไดอะล็อค หรือจิตวิทยาตัวตน ภายใต้คำแนะนำของสมพล ชัยสิริโรจน์ และก็มาศึกษางานจิตวิทยากระบวนการของมินเดล ล่าสุดก็มาศึกษางานจิตบำบัดของกลุ่มสหวิทยาการที่เรียกตัวเองว่า Interpersonal neurobiology นี่ก็ตอบสนองความฝันลึกๆ ว่า สายจิตบำบัดน่าจะมาบรรจบพบกับสายที่ศึกษาวิจัยเรื่องราวของสมองได้อย่างสมใจอยาก

ลาก่อนอาณาจักร
ผมได้เขียนเรื่องราวการบอกลาอาณาจักรไว้ว่า เบาสบายตัวที่หลุดออกจากความฝังใจเรื่องอาณาจักรเสียได้ ระดับใดระดับหนึ่ง (ใส่วลีนี้เอาไว้ เผื่อว่ายังวนเวียนกลับมาอาลัยอาวรณ์อีก) เมื่อก่อนเคยบอกว่า อยากสร้างอัศวินเจไดสักหนึ่งร้อยคน ก็ถูกเพื่อนตีความว่าพยายามก่อตั้งอาณาจักร อาจจะจริงก็ได้ เพราะชีวิตเมื่อสี่ห้าปีก่อน ผมยังไม่มีความสงบสันติเพียงพอเท่าวันนี้ พืชพันธุ์แห่งการสร้างอาณาจักร และความต้องการจะปกปักรักษาอาณาจักรยังเหนียวแน่นอยู่ในกมลสันดาน

แต่วันนี้ได้เลือกที่จะฝึกฝนอีกแนวทางหนึ่ง โดยค่อยๆ ละ ค่อยๆ ถอนออกมาจากอาณาจักรโดยลำดับ เช่น ผมได้เข้าไปกอบกู้องค์กรสาธารณะแห่งหนึ่ง ต้องเอาตัวเข้าไปแลก เข้าไปเสี่ยง แต่แล้วด้วยอะไรก็ตามที องค์กรนั้นค่อยๆ พลิกฟื้นขึ้นมาได้ การเข้าไปตอนนั้นอาจจะมีส่วนหนึ่งที่หวนหาอาณาจักรอยู่เหมือนกัน แต่ว่า เมื่อมันดูเข้ารูปเข้ารอยระดับหนึ่ง ก็ค่อยๆ ผ่องถ่ายให้กับคนทำงานและคนที่เป็นเจ้าของที่ หมายถึงคนท้องถิ่น ผนวกกับยอมให้เจ้าครองนครอีกท่านหนึ่งเข้ามาเป็นเจ้าของด้วย เดิมทีสัญชาตญาณแห่งการเป็นเจ้าครองนครเหมือนจะไม่ชอบแผนการถอนตัวออกจากการครอบครองอาณาจักรนี้ พยายามจะมองไปในทางลบกับผู้คนต่างๆ แต่แล้วก็เหมือนมีสาส์นจากเทพเทวามาบอกเราว่า ไม่มีอะไรเลวร้ายหรอก ปล่อยไปได้เลย พอปล่อยก็โล่ง และรู้สึกว่าก้าวย่างแห่งการออกจากการสร้างอาณาจักรก็แจ่มชัด แจ่มใสขึ้นมา

เหมือนกับที่อยากจะสร้างโรงเรียนกระบวนกรเช่นกัน แต่แรกก็อยากสร้างอะไรอย่างใหญ่โต จะเอาไปเชื่อมประสานกับองค์กรใหญ่ๆ ในนามผู้คนใหญ่ๆ ที่เขาสร้างบารมีมาแล้ว และจะเชิญเพื่อนๆ กระบวนกรมาทั้งหมด อา... ใหญ่ (ชื่อเล่นของผม) ต้องสร้างใหญ่ใช่ไหม? มาอีกแล้ว การสร้างอาณาจักรกับความคิดที่อยากถ่ายเทสิ่งดีๆ ให้กับศิษย์ไม่กี่คนที่อาจจะทำได้ในชีวิตนี้ แล้วในที่สุดก็เลือกเดินทางเล็กๆ สายน้อยกับการดูแลศิษย์ไม่กี่คนแทน

สามสี่ทศวรรษสุดท้ายของชีวิต
สาส์นจากคนอายุเจ็ดสิบขึ้นไปประมาณพันกว่าคน สรุปบทเรียนให้คนรุ่นหลังว่า ให้ใช้ร่างกายนี้ เหมือนกับจะอยู่ได้สักร้อยปี ตอนนี้ผมก็พยายามทำเช่นนั้นอยู่ แม้ว่าตอนหนุ่มๆ จะใช้แบบไม่ค่อยทะนุถนอมไปบ้างก็ตาม ก็อยากจะอยู่อีกสักสามทศวรรษเป็นอย่างน้อย

จากบทนำของหนังสือ แด่หนุ่มสาว ที่พจนา จันทรสันติเขียนถึงผมไว้ ความตอนหนึ่ง ผมได้ยกคำของจอห์น โฮลท์ มาว่า “หากเราเลือกที่จะทำสิ่งที่เราไม่ชอบต่างๆ ในที่สุด ชีวิตของเราก็จะจบลงด้วยการต้องฝืนทำสิ่งที่ไม่ชอบต่างๆ เต็มไปหมด แต่หากว่าเราเลือกทำสิ่งที่เรารักต่างๆ เราก็จะจบลงด้วยมีชีวิตที่ได้ทำสิ่งที่เรารักและชื่นชอบทั้งหลาย” ความข้อนี้ ก็น่าจะเป็นข้อสรุปชีวิตของผมได้กระมัง สิ่งวิเศษสุดในชีวิตของผมก็คือ การค้นพบวิถีกระบวนกรนี่แหละ หรือการเป็นกัลยาณมิตรของยุคสมัยใหม่นี้ คือการคลี่บานและเยียวยาผู้คนอย่างเป็นกลุ่มก้อน หรืออย่างเป็นสมุหะไปเลย

ทางกลับคือการเดินทางต่อ
ผมได้กลับมาภาวนาอีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังได้เขียนบันทึกไว้ในเช้าวันหนึ่งว่า

“ผมเองเวลาพูดคุย เอาตัวตนจริงจังเข้ามามากเกินไป บางทีจะเกร็งไหล่ พอเกร็งก็อาจจะเฝ้าระวังเพื่อที่จะไม่เกร็ง แต่ก็ยิ่งเกร็งมากขึ้นไหม? แต่พอนึกได้ดังนี้ ก็ถอยออกไปดำรงอยู่ใน “สัมผัสแห่งความว่าง” จดจำสัมผัสนี้ได้จากปี ๒๕๑๘ ที่วัดผาลาด ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับหลวงปู่นัท ฮันห์ ในเวลานั้น ความทรงจำไร้สำนึก ได้จดจำสัมผัสเวลาท่านนั่งตัวตรงอย่างผ่อนคลาย หลอมรวมสัมผัสนั้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ดำรงอยู่ในสัมผัสนั้น ปรากฏว่า หัวโปร่งโล่งดี อาการเกร็งหัวไหล่ก็ไม่เกิด นี่เป็นการค้นพบใหม่ที่สำคัญอีกก้าวหนึ่ง”

Back to Top