สิงหาคม 2007

เสียง ความทรงจำกับอำนาจ


โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2550

ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตผู้มีมุมมองและทำการศึกษาเรื่องเสียงและโสตนิเวศ (Acoustic ecology) ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์และความหมายในโลกของเสียงที่เรียกว่า Soundscape ที่ท่านได้ร่วมศึกษากับคุณเคอิโกะ โทริโกเอะ ผู้เป็นภรรยา

ความที่มีพื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้ท่านต้องไปเกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบของเสียงที่มีต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกคนหนึ่ง แต่ประสบการณ์การวิจัยที่โอกินาวา ได้ทำให้การศึกษาเรื่องเสียงของศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ขยายขอบเขตจากเรื่องคุณสมบัติและผลกระทบทางกายภาพของเสียงไปสู่มิติทางสังคมวัฒนธรรมและความเป็นมนุษย์

การที่ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ต้องไปเกี่ยวข้องกับโอกินาวาก็เพราะมีฐานบินของกองทัพอากาศอเมริกามาตั้งอยู่ที่นั่น และเสียงของเครื่องบินรบที่ขึ้นลงอย่างไม่เกรงอกเกรงใจชาวบ้านที่เคยอยู่อาศัยอย่างสงบสุขมาก่อน ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของชุมชนที่ต้องทนทุกข์อยู่กับเสียงเครื่องบินรบที่พุ่งทะยานแผดเสียงสนั่นหวั่นไหวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

การไปศึกษาผลกระทบของเสียงเครื่องบิน ทำให้ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ได้เรียนรู้ว่า เสียงของเครื่องบินนั้นไม่ได้มีแต่ “ความดัง” เท่านั้นที่คุกคามสุขภาพ แต่ยังมี “ความหมาย” ที่ทำร้ายและทำลายความผาสุกของชาวบ้านได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ความหมายที่ว่านี้ ก่อกำเนิดขึ้นจากประวัติศาสตร์การต่อสู้และการกดขี่ข่มเหงของมหาอำนาจที่กระทำต่อคนท้องถิ่นโอกินาวามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เป็นประวัติศาสตร์ที่จดจารึกเป็นความทรงจำของสังคมในหลายรูปแบบ

ในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา โอกินาวาถูกมหาอำนาจสับเปลี่ยนกันเข้าครอบครอง จากการเป็นประเทศราชของอาณาจักรจีน มาถูกครอบครองโดยญี่ปุ่น และถูกยกให้อยู่ใต้อำนาจของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และกลับคืนสู่การปกครองของญี่ปุ่นอีกครั้งเมื่อสัญญาการอยู่ใต้อำนาจของสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลง ตลอดประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมา โอกินาวาได้สะสมความเจ็บปวดและความขมขื่นจนกลายเป็นความทรงจำที่แฝงฝังอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

มรดกทางวัฒนธรรมของโอกินาวาจึงเต็มไปด้วยร่องรอยและเรื่องราวที่ตอกย้ำความทรงจำของการถูกกดขี่

ช่วงที่ญี่ปุ่นแผ่อำนาจเข้ายึดครองโอกินาวานั้น ผู้ปกครองชาวญี่ปุ่นใช้อำนาจบังคับไม่ให้ชาวโอกินาวามีอาวุธไว้ในครอบครอง และห้ามไม่ให้มีการฝึกซ้อมอาวุธหรือศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เพื่อไม่ให้ชาวโอกินาวาสามารถกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจของตน ชาวโอกินาวาจึงต้องแอบฝึกซ้อมฝีมือการต่อสู้ด้วยการประยุกต์ท่าเต้นรำและการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมเพื่ออำพรางการฝึกฝนด้านการทหาร

การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของโอกินาวาจึงเต็มไปด้วยท่วงทำนองของการต่อสู้ เช่น การเต้นรำที่มีการใช้กลอง การจัดรูปขบวนสวนสนาม และการใช้ไม้พลองประกอบการแสดงด้วยท่วงท่าที่เข้มแข็ง

เป็นศิลปะที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของการกดขี่และการต่อต้านอำนาจ

นักท่องเที่ยวที่ไปโอกินาวามักนิยมซื้อเครื่องแก้วที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ที่นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังดูแปลกตาอีกด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำ แจกัน หรือภาชนะแก้วอื่นๆ ก็มักทำเป็นแก้วหลากหลายสีสันผสมกัน โดยเฉพาะสีขาวใสและสีเขียวกับสีแดง คล้ายสีขวดเบียร์ที่เราใช้ในปัจจุบัน เครื่องแก้วเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของโอกินาวาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองมานี่เอง

เพราะในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สองนั้น กองกำลังฝ่ายพันธมิตรได้โจมตีโอกินาวาอย่างหนัก ญี่ปุ่นซึ่งกำลังเพลี่ยงพล้ำเลือกที่จะใช้โอกินาวาเป็นแนวต้าน โดยระดมกำลังคนในท้องถิ่นทั้งคนหนุ่มสาวและเด็กๆ ไปเป็นทหาร เพื่อตรึงกำลังฝ่ายพันธมิตรไว้ไม่ให้รุกต่อไปยังเมืองหลวงได้ ชาวโอกินาวาจำนวนมากต้องล้มตายไป บ้านเมืองถูกเผาไหม้พินาศเป็นเถ้าถ่านและถูกระเบิดทำลายอย่างย่อยยับ

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ผู้คนต่างดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด อาศัยข้าวของจากเศษซากปรักหักพังของบ้านเรือนเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต

เศษแก้ว ขวด และกระจกแตกจากบ้านเรือนที่ถูกระเบิดทำลาย ถูกกวาดรวมกันเพื่อนำมาหลอมเป็นภาชนะขึ้นใช้ใหม่ จากเศษแก้วเศษกระจกหลากสีผสมกันเผาหลอมใหม่ กลายเป็นแก้วเนื้อสีผสมที่มีทั้งสีเขียวและสีแดงจากขวดเหล้า ขวดเบียร์หรือขวดซี่อิ้ว กับสีขาวใสของกระจกที่แตกตามบ้านเรือนปะปนกันอยู่ในเนื้อเครื่องแก้ว ดูเป็นเอกลักษณ์หลากสีและสวยงามไปอีกแบบ

เป็นศิลปะที่บอกเล่าประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของสงคราม

ศิลปะแห่งโอกินาวาไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือเครื่องแก้ว จึงเป็นความงามที่แยกไม่ออกจากความบอบช้ำและการกระทำย่ำยีของมหาอำนาจ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลญี่ปุ่นยกโอกินาวาให้อเมริกาจัดตั้งเป็นฐานทัพ ทหารสหรัฐจำนวนมากเข้ามาอยู่อาศัยในฐานะเจ้าของประเทศ ในขณะที่ชาวโอกินาวากลายเป็นประชากรระดับสอง เงินใช้เงินดอลล่าร์ ภาษาใช้ภาษาอังกฤษ วิทยุโทรทัศน์เป็นรายการสำหรับสังคมอเมริกัน ทหารใช้อำนาจบาตรใหญ่กับคนท้องถิ่น เพราะเมื่อมีเหตุวิวาท ก็จะถูกนำขึ้นศาลทหารของตนเองที่พิจารณาคดีด้วยภาษาอังกฤษและตัดสินด้วยกฎหมายอเมริกัน

ซ่องและสถานเริงรมย์เปิดให้ทหารอเมริกันมาเที่ยวและเสพสังวาสกับลูกหลานชาวโอกินาวา หลายแห่งตั้งชื่อเชิญชวนให้ทหารอเมริกันมาล่าและพร่าพรหมจรรย์ของสาวท้องถิ่น

เด็กสาวลูกหลานชาวบ้านถูกทหารอเมริกันข่มขืน ในขณะที่เครื่องบินรบกรีดเสียงกัมปนาทบาดหู เป็นประสบการณ์เลวร้ายของเสียงซ้ำซากในชีวิตประจำวัน

ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ศึกษาผลกระทบของเสียงที่ทำให้เด็กทารกเกิดมามีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าปกติ เด็กนักเรียนมีความจำเสื่อม ผู้ใหญ่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพจิต และการดำเนินชีวิตประจำวัน

แต่เสียงของเครื่องบินรบที่พุ่งทะยานขึ้นตลอดวันตลอดคืน มีมากกว่าผลกระทบทางกายภาพเหล่านี้

ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ได้ทำการวิจัยและได้ต่อสู้ร่วมกับชาวโอกินาวาในการเรียกร้องค่าชดเชยและการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมากว่าสามสิบปีแล้ว และได้บทเรียนสำคัญที่ว่า ผลกระทบของเสียงนั้นไม่ใช่มีแค่ระดับ “ความดัง” หรือเดซิเบลเท่านั้น เพราะมันเป็นเสียงที่แยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์และความทรงจำของการกระทำย่ำยีต่อคนท้องถิ่น มันจึงมี “ความหมาย” และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ข่มเหงที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้มากยิ่งกว่าความดังที่น่ารำคาญเสียอีก

และการใส่ใจกับความหมายที่แยกไม่ออกจากความทรงจำและประวัติศาสตร์นี้เอง ที่จะช่วยให้เราเข้าใจความทุกข์และเห็นถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ถูกละเมิดและถูกกระทำย่ำยีจากประสบการณ์เสียงในชีวิตประจำวันได้

มิติใหม่ในการดูแลสุขภาพ:
เติมหัวใจในการเยียวยา ให้คุณค่าและถนอมรักษาความเป็นมนุษย์

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2550

ผู้เขียนในฐานะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โชคดีมีโอกาสไปศึกษาดูงานและเข้าร่วมประชุมเรื่องมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพ (Conference on New Dimensions in Healthcare) ที่ Academy For A Better World (วิชชาลัยเพื่อโลกที่ดีกว่า) ประเทศอินเดีย ได้ประสบการณ์ที่มีคุณค่า แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ (๑๒-๑๖ กค. ๒๕๕๐) แต่ก็น่าจะนำมาเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

การไปครั้งนี้ ผู้เขียนเตรียมตัวเตรียมใจให้ว่างพร้อมที่จะรับและเรียนรู้เต็มที่ ไม่เคยฝึกสมาธิอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนมาก่อน ก็ได้มีโอกาสและตั้งใจฝึกและเรียนรู้การทำสมาธิแบบราชาโยคะ กินมังสวิรัติแบบอินเดียทั้ง ๕ วัน ทำให้สงบ สว่าง สุขใจ และเบาดัวไปเยอะ

อยากจะเขียนเล่าประสบการณ์และผลการสะท้อนความคิดทั้งหมดของผู้เขียน แต่เนื้อที่ของบทความมีน้อย จึงจะขอสรุปภาพรวมของโปรแกรมการประชุมสัมมนา วิธีการหลักที่เขาใช้ แล้วโยงเข้าสู่ประเด็นหลักของหัวข้อการประชุมสัมมนา คือมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพ

โปรแกรมการสัมมนามี ๕ วัน เริ่มตั้งแต่ ตี ๔ จนถึง ๔ ทุ่ม สาระสำคัญมีอยู่ ๓ ส่วนใหญ่ ส่วนแรกเป็นเรื่องสมาธิแบบราชาโยคะ มีการทำสมาธิด้วยตัวเองและฝึกการทำสมาธิแบบมีผู้ชี้นำ (Guided Meditation) มีการบรรยายสาระเกี่ยวกับสมาธิแบบราชาโยคะ ๕ ครั้ง ครั้งละ ๑ ชั่วโมง ภายใต้หัวข้อ Meditation Session I-V ครอบคลุมเนื้อหา ๕ เรื่องได้แก่ Discovering Original Spiritual Identity, Awareness of Supreme Being, Method and Basis of Rajyoga, Understanding the Call of Time, และ Understanding the Tree of Religions

สาระในส่วนแรกนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นหัวใจของการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ อย่างมีสติและอย่างมีสันติสุข ในตอนเช้าของแต่ละวันจะเริ่มต้นด้วยการทำสมาธิ ทุกช่วงของแต่ละหัวข้อหรือกิจกรรมจะเริ่มต้นและปิดท้ายด้วยการสงบเงียบ (Silence) และกล่าวคำว่า OHM SHANTI (โอม ชานติ - ขอให้มีศานติสุข)

ส่วนที่สองเป็นเรื่องความรู้และทักษะที่สำคัญในการสร้างและพัฒนามิติใหม่ทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เนื้อหาครอบคลุมหลายเรื่องเช่น ทักษะในการเป็นผู้นำ มิติด้านคุณค่า (Values) และมิติด้านจิตวิญญาณ (Spirituality) ในการดูแลสุขภาพและการบำบัดรักษาผู้ป่วย

ส่วนที่สามเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงทางการแพทย์และพยาบาล เช่นเรื่อง Soul-Mind-Body Medicine และ Coronary Artery Disease: Present Scenario มีการนำเสนอเรื่องและตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ (Success Stories and Cases) ของการนำมิติใหม่ทางการดูแลสุขภาพไปใช้กับคนไข้ จุดเน้นคือการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ (Health) และการเยียวยา (Healing) เป็นอันดับแรก ควบคู่กันไปกับ การวินิจฉัยโรค (Disease) และการรักษา (Treatment) วิทยากรเป็นแพทย์และพยาบาลที่มีประสบการณ์การทำสมาธิแบบราชาโยคะ ๑๐-๒๐ ปีขึ้นไป

วันสุดท้ายทีมไทยขอไปดูงานที่โรงพยาบาล The Global Hospital and Research Center เป็นโรงพยาบาลที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้บรรยากาสที่สงบ เรียบง่ายในชนบท และได้รับสนับสนุนโดยสมาชิกของ บราห์มา กุมารี (Brahma Kumaris) ตั้งแต่ปี คศ. ๑๙๙๑ โรงพยาบาลนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้บริการด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Healthcare) ที่มีคุณภาพสูงแก่คนในชุมชนและบริเวณโดยรอบ เป็นโรงพยาบาลต้นแบบที่นำเอาแนวคิดและคำสอนของ บราห์มา กุมารี ไปใช้ในการดูแลสุขภาพอย่างได้ผลดี น่าจะมีคนในวงการสาธารณสุขของไทยไปศึกษาดูงานที่นี่อย่างจริงจังบ้าง เพี่อจะได้นำเอาแนวคิดที่เป็นมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย ที่น่าสนใจมากก็คือ โรงพยาบาลแห่งนี้ให้คำปรึกษาแก่คนไข้นอกโดยไม่คิดค่าบริการ ให้การรักษาคนไข้นอกฟรีประมาณ ๗๕% ของคนไข้ทั้งหมด มีการส่งทีมแพทย์และพยาบาลออกไปให้บริการฟรีถึงที่บ้านของคนในชุมชนต่างๆ ทุกๆ สองสัปดาห์ หากพบผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็จะมีการจัดรถไปรับ และมีเตียงที่กันสำรองให้คนไข้ในชุมชน ๓๐ เตียง จากทั้งหมด ๑๒๐ เตียงตลอดเวลา ผู้ป่วยที่ยากไร้ได้รับบริการฟรีทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอกหรือใน

โปรแกรมที่ Academy For A Better World จัด และการให้บริการการดูแลสุขภาพที่โรงพยาบาล มีแนวคิด และจุดเน้นร่วมอย่างน้อยที่สุดในเรื่องต่อไปนี้คือ

การคิดทางบวก (Positive Thinking) ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ดี (Positive Lifestyle) จิตอาสาและอาสาสมัคร มีการหยุดคิดทบทวนในสิ่งที่ทำไปเป็นระยะๆ ที่เขาเรียกว่า การควบคุมจราจร (Traffic Control) ทางความคิด การให้คุณค่าในความเป็นมนุษย์ และที่สำคัญคือการทำสมาธิแบบราชาโยคะที่เน้นว่าแต่ละคนคือดวงวิญญาณ (Soul) ที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับดวงวิญญาณสูงสุด (Supreme Soul)

ก่อนกลับได้มีโอกาสแวะซื้อหนังสือและของที่ระลึก ผู้เขียนสังเกตเห็นข้อความดีๆ ที่ติดไว้รอบบริเวณผนังห้องของร้านมากมาย ที่ประทับใจมากที่สุดคือข้อความนี้ Keep Peace in Mind, Love in Heart, Happiness in Relationship เมื่อผู้เขียนนำมาเล่าให้ที่ประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ฟัง และขอความกรุณาท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ช่วยถอดความเป็นภาษาไทยให้ อาจารย์ก็ถอดความเป็นบทกลอนที่แสนจะไพเราะในทันที สมกับที่เป็นราชบัณฑิต

แฝงฝังสันติในดวงจิต
ความรักจงสถิตในใจฉัน
ความสุขในความสัมพันธ์
เป็นศรัทธาคงมั่นแห่งวิญญาณ


การเข้าร่วมประชุมสัมมนา และการดูงานที่โรงพยาบาลผนวกกับการได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหาร และวิทยากรของบราห์มา กุมารี ผู้เขียนขอสรุปเอาเองว่า มิติใหม่ของการดูแลสุขภาพนั้น หัวใจสำคัญคือ

เติมหัวใจในการเยียวยา ให้คุณค่าและถนอมรักษาความเป็นมนุษย์
PUTTING HEART INTO HEALING, COMPASSIONATELY CREATING HUMANISED HEALTHCARE

ทะเลแห่งความคิด

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2550

ในการประชุมครั้งหนึ่ง เรื่องการศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์ เล่าให้ฟังว่า มีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท (Neuro Science) ไปถามองค์ทะไลลามะว่า “ทำไมคนคนหนึ่งถึงฆ่าตัวตาย” องค์ทะไลลามะซึ่งมักจะอธิบายคำถามต่างๆ ด้วยธรรมะอย่างรวดเร็ว แต่กับคำถามนี้ท่านเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า “I don’t know (เราไม่รู้)” ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นก็เกิดอาการโกรธ คิดว่าท่านแกล้ง จึงถามว่า “ทำไมท่านไม่รู้” องค์ทะไลลามะก็บอกว่า “ความคิดมนุษย์นั้นมากมายกว่าพันล้านความคิด เราไม่สามารถรู้ความคิดทั้งหมดนั้นได้ และเราก็ไม่รู้ว่าความคิดไหนถึงทำให้คนคนหนึ่งฆ่าตัวตาย” ผู้เชี่ยวชาญแย้งกลับว่า “แต่มีงานวิจัยระบุว่า ความคิดและอารมณ์ต่างๆ เกิดจากปฏิกิริยาเคมีในสมอง รวมทั้งความคิดฆ่าตัวตายก็น่าจะเป็นผลจากปฏิกิริยาเคมี” องค์ทะไลลามะจึงถามกลับว่า “ในทางกลับกัน ความคิดและอารมณ์ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในสมองได้ไหม” ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นตอบไม่ได้ ว่าแล้วก็เก็บกระเป๋า ตามไปเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้กับองค์ทะไลลามะ

จากเรื่องเล่าข้างต้น กระทบใจของผู้เขียนในตอนนั้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากการที่ผู้เขียนมีพื้นฐานการคิดจากวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งผ่านการฝึกให้คิดเป็นระบบวงจร (Feedback Loop) เมื่อได้ยินคำถามขององค์ทะไลลามะดังนั้น ก็รู้สึกทันทีว่า อันที่จริง เรายังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับธรรมชาติของอารมณ์และความคิด และเราก็ไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่า เป็นสารเคมี หรือ พลังงาน หรือ อื่นใด เรายังไม่ทราบเลยจริงๆ และทุกวันนี้เราก็เพียง สมมติ ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เท่านั้น

แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือ ความคิด เป็นตัวเจ้าปัญหา และปัญหาต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นบนโลก ก็เกิดจากความคิดมนุษย์นั่นเอง ผู้เขียนประทับใจอีเมล์ที่ส่งมาจาก ดร. สิวินีย์ สวัสดิ์อารี นักควอนตัมฟิสิกส์ที่นำวาจาของไอน์สไตน์มาเขียนตอนท้ายของจดหมายว่า “The world we have made as a result of the level of thinking we have done this far creates problems that we cannot solve at the same level at which we created them. (โลกที่เราสร้างขึ้น อันเป็นผลมาจากระดับการคิดของเรามาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้นั้น ได้สร้างปัญหา ซึ่งเราไม่สามารถแก้มันได้ด้วยการคิดระดับเดียวกับที่เราสร้างปัญหานั้นๆ)” ปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากการคิดที่รุนแรง ย่อมไม่สามารถแก้ด้วยการคิดที่รุนแรง ใช่หรือไม่ และแน่นอนระดับการคิดที่เหนือกว่าก็คือ ไม่คิดแบบรุนแรง และเหนือไปกว่านั้นอีกระดับก็คือ รูปแบบของการคิดแบบใดๆ ย่อมจะหยุดได้เมื่อเราหยุดคิด หยุดปรุงแต่ง ซึ่งจะว่าไปก็ดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริง อาจจะเป็นเรื่องยากที่สุดสำหรับมนุษย์เลยก็ว่าได้

แล้วทำอย่างไรจึงจะหยุดคิดได้ โดยเฉพาะความคิดที่สร้างปัญหา? ด้วยคำถามนี้เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดการศึกษาธรรมชาติความคิดของมนุษย์อย่างใหญ่หลวงทั่วโลก เพราะเป็นความหวังของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ มีคนจากหลากหลายสาขาวิชาช่วยกันมอง ช่วยกันศึกษา ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ ศาสนาและปรัชญา ฯลฯ แต่สิ่งคู่ขนานที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ มนุษย์ยอมเหนื่อยและลงทุนอย่างมากกับการศึกษาเรื่องความคิดของตัวมนุษย์เอง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งชัดเจน

จนกระทั่งทุกวันนี้ มีวิชาต่างๆ ที่แนะนำให้มนุษย์แต่ละคนเรียนรู้เพื่อจัดการกับความคิดของตนเอง เช่น เทคนิคการจับประเด็น (Summarizing Technique) ความคิดที่เป็นองค์รวม (Holistic Thought) การคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) และอื่นๆ อีกมากมาย ฟังดูน่าเหนื่อยใจไม่น้อย เกิดเป็นมนุษย์ทำไมต้องเรียนอะไรเยอะแยะขนาดนี้ ถึงจะเอาชีวิตรอดจากปัญหาที่ตนเองก่อขึ้นได้ ซ้ำยังไม่พอ เมื่อผู้เรียนแต่ละคนสามารถคิดได้อย่างเป็นระบบแล้ว ก็ยังไม่พึงพอใจต่อคนรอบข้างที่คิดไม่เป็นระบบเหมือนตนเอง เกิดความอยากที่จะเปลี่ยนความคิดของคนอื่น เนื่องจากไม่สามารถอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่ได้คิดแบบเดียวกันกับเราได้อย่างมีความสุข ดังเช่นที่เห็นกันทุกวันนี้ เราจะมีความชอบใจ ไม่ชอบใจ กับเรื่องต่างๆ ข่าวต่างๆ เพราะเขาคิดเหมือนเราบ้าง ไม่เหมือนเราบ้าง บางคนใช้ความคิดไม่เป็นระบบ บางคนใช้อารมณ์ในการคิดและกระทำ ซึ่งในทันทีที่เรารับรู้รับทราบไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เราก็จะให้คุณค่าต่อเรื่องนั้นมากบ้าง น้อยบ้าง ในใจของเราทันทีโดยอัตโนมัติ และปัญหาก็เกิดขึ้นทันทีเช่นกัน เมื่อเราประเมินค่าว่าความคิดของคนอื่นมีปัญหา เราก็จะเกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนความคิดของคนอื่น และในทางกลับกัน คนอื่นก็อาจจะมองว่าความคิดของเราเป็นปัญหา เขาก็ย่อมที่จะต้องการเปลี่ยนความคิดของเรา ปัญหาก็จะยิ่งทวีคูณขึ้น เมื่อความคิดได้ผันแปรไปเป็นวาจาบ้าง การกระทำบ้าง ซึ่งเมื่อเรากล่าวออกไป หรือกระทำตามความคิดของเราที่หยิบฉวยได้ในขณะนั้น ก็จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของคนที่ไม่ได้คิดอย่างเดียวกับเราไม่มากก็น้อย และเขาก็อาจจะกระทำการกระทบกระเทือนเรากลับมาเช่นกัน แต่ถ้ามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของความแตกต่างหลากหลาย ไม่ยึดถือเป็นอารมณ์ก็แล้วไป แต่ในกรณีที่เราไม่สามารถเท่าทันปรากฏการณ์เช่นนี้ ก็อาจเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน จนกระทั่งเป็นการกระทำแบบต่างๆ ที่แสดงถึงความไม่พอใจต่อกัน เป็นต้น

แล้วมนุษย์แต่ละคนจะทำอย่างไร ในการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์ต่อความคิดที่ไม่ตรงกับเรา? ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์น่าจะศึกษาเรียนรู้ เพื่อจะได้ลดปัญหาบนโลกนี้ให้น้อยลงบ้าง ซึ่งมนุษย์แต่ละคนสามารถฝึกฝนได้ทันที ครูบาอาจารย์มักจะแนะนำว่า ก่อนที่จะตอบปัญหาต่างๆ ข้างต้นนั้น มนุษย์จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของความคิดเสียก่อน โดยเริ่มจากการวางพัก ความจำ ที่เป็นรายละเอียดของเรื่องราวที่เราชอบใจ หรือไม่ชอบใจไว้ก่อน จากนั้นจะพบว่าธรรมชาติของความคิดในมนุษย์แต่ละคนไม่แตกต่างกัน นั่นคือ ปริมาณความคิดมีจำนวนมากมายมหาศาล และรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ชั่วพริบตา เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นเรื่องนู้นเรื่องนี้ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนคลื่นในทะเล มากมายเหลือคณานับ ซึ่งคนแต่ละคนจะหยิบความคิดหนึ่งๆ ขึ้นมาเป็นวาจาหรือการกระทำนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะทางร่างกายบ้าง ทางจิตใจบ้าง และความคิดที่เกิดขึ้นในใจบางครั้งนั้น เจ้าของความคิดเอง ยังรู้สึกไม่พอใจกับความคิดที่ตนมีอยู่เลยด้วยซ้ำ อาจจะโทษตัวเอง โกรธตัวเอง

อันที่จริง ความคิดไม่ว่าจะมีเรื่องราวอะไร ล้วนเป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครสามารถสั่งการให้เกิดขึ้นได้ ผุดขึ้นมาจากไหนก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครอธิบายได้ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราก็สามารถให้อภัยความคิดของตนเองและผู้อื่น อย่างเข้าใจและเห็นใจ ย่อมจะเกิดความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เพียงเฝ้าดูธรรมชาติของความคิดที่เกิดขึ้นภายในตนเองอย่างเป็นปัจจุบัน ย่อมจะเห็นความเป็นธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อย่างรวดเร็ว ก็ไม่น่าจะไปทุกข์ตามเรื่องราวของมัน และตราบใดที่เรามีกำลังไม่ไล่ตามความคิด และสามารถกระโดดออกมาเป็นผู้ชมโรงละครความคิดภายในของตน ก็จะไม่หยิบฉวยเอาความคิดไหนเป็นที่ตั้งในการกระทำสิ่งต่างๆ ที่ไร้ประโยชน์ โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ได้แก่ การเอารัดเอาเปรียบ หรือการกระทำที่รุนแรง ทำร้ายตนเองและผู้อื่น เป็นต้น

ตราบนั้นก็จะไม่มีสิ่งใดที่กระทบกระเทือนจิตใจเราได้ ท่ามกลางทะเลความคิดที่เหมือนและไม่เหมือนกับเรา ผู้เขียนขอตบท้ายด้วยเพลงกล่อมเด็กของปู่ย่าตายาย ไว้ให้ผู้อ่านได้ชื่นใจ ท่านเหล่านั้นน่าจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ รวมทั้งธรรมชาติของชีวิต ความคิดและจิตใจได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว

“น้องเอยมะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง คงถึงสักวันหนึ่งเอย (คนเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย)”

ปฏิวัติด้วยความงาม

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2550

“หน้าที่ของศิลปะที่แท้จริงคือ การยกระดับสุนทรียภาพของมนุษย์ ส่งเสริมให้ชีวิตมีความพูนสุข และมีความเพลิดเพลิน เวลาที่ชมดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ ต้นเมเปิลในฤดูใบไม้ร่วง ชมทัศนียภาพแห่งทะเล ภูเขา คนที่มีจิตแห่งศิลป์แล้ว เมื่อได้ชมจะเกิดความเพลิดเพลินอย่างสุดพรรณนา”

โมกิจิ โอกาดะ (๕ ก.ย. ๒๔๙๑)



ท่านผู้อ่านเคยมีความรู้สึกว่าเรากลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม ไหมครับ? เหมือนกับเราเข้าใจอะไรบางอย่างที่เคยได้ยิน รู้เรื่อง หรือเข้าใจมาแล้ว แต่ได้กลับมาเข้าใจมันมากยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่ดูๆ ไปเราก็เหมือนจะไม่ได้เรียนอะไรใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้มีประสบการณ์เรียนรู้แบบเกลียวพลวัต (spiral dynamic) นี้อีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นประเด็นที่เป็นเรื่องหลักของกลุ่มจิตวิวัฒน์เลยก็ว่าได้

ว่ากันว่าในสมัย แอกเซียล เอจ (Axial Age) ราว ๒,๒๐๐-๒,๘๐๐ ปีที่แล้ว คุณค่าที่นำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโลก พามนุษย์ไปสู่ระดับจิต (Stage of Consciousness) ที่สูงขึ้น คือ เรื่องความดี ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของศาสนา ก่อเกิดเป็นชุดความเชื่อ ลัทธิ และศาสนาหลักๆ ของโลกจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ อิสลาม ลัทธิขงจื๊อ และอื่นๆ

เมื่อเข้ามาสู่ช่วง ๓๐๐-๔๐๐ ปีที่ผ่านมา โลกอยู่ในยุคของเหตุผลนิยม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์เราเข้าใจโลกและธรรมชาติจากมิติทางกายภาพยิ่งขึ้นอีกมาก ก่อให้เกิดความเจริญทางวัตถุ ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันทางกายภาพและทางโลกเสมือนดิจิตอลอย่างง่ายดาย ดังที่ โธมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ บอกไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ ใครว่าโลกแบน (The World Is Flat)

แต่ดูราวกับว่า ณ เวลานี้ โลกกำลังต้องการพลังขับเคลื่อนทางอารยธรรมและวิวัฒนาการอย่างใหม่ เพราะถึงแม้เส้นทางการพัฒนาการทางจิตวิญญาณผ่านความดีและความจริง อาจจะเหมาะกับกาละและเทศะในอดีต และอาจพาผู้คนข้ามทะเลทุกข์ไปได้บ้าง แต่ในวิถีการดำเนินชีวิตและโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันอาจไม่ได้เป็นคำตอบที่เพียงพออีกต่อไป บ่อยครั้งที่เราพบว่าองค์กรจัดตั้งและโครงสร้างอำนาจที่ยึดโยงกับคุณค่าเหล่านี้กลับเป็นปัญหามากกว่าเป็นคำตอบ

หรือว่าโลกต้องการองค์ประกอบสำคัญอื่น องค์ประกอบสุดท้าย ซึ่งจะทำให้การก่อประกอบโลกทางจิตวิญญาณที่สมบูรณ์เป็นจริงขึ้นมาได้ แล้วองค์ประกอบที่ว่านั้นคืออะไร?

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คำตอบบางส่วนอาจอยู่ในประเด็นที่เป็นสายใยความเชื่อมโยงบางๆ ซึ่งร้อยบทสนทนาของสมาชิกจิตวิวัฒน์ในหลายๆ ครั้ง (หรือทุกๆ ครั้ง?) เข้าด้วยกัน

หนึ่งในบรรดาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิบัติภาวนาคนแรกๆ ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้มีโอกาสร่วมฟังและเรียนรู้ด้วย คือ อาจารย์กรินทร์ กลิ่นขจร อาจารย์หนุ่มจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมาถ่ายทอดนำเสนอเรื่อง “วะบิ-ซะบิ” ว่าด้วยความงาม

ต่อเนื่องจากนั้นจนปัจจุบัน กลุ่มก็ยังได้รับเกียรติร่วมเรียนรู้เรื่องราวจากผู้รู้อีกหลายท่าน อาทิ
  • สุนทรียสนทนา โดย สถาบันขวัญเมือง ว่าด้วยความงดงามจากการสื่อสารและรับฟังการอย่างลึกซึ้ง
  • สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน โดย กลุ่มภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม พบกับความง่ายงามในการเจริญสติ
  • การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ โดย อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ความงามจากการเดินเท้าแสวงหาความหมายของชีวิต
  • ศิลปะแห่งจิตวิญญาณ โดย พระอำนาจ โอภาโส การถ่ายทอดธรรมะและธรรมชาติผ่านภาพวาด
  • ความเงียบกับความงาม โดย สมาคมหรี่เสียงกรุงเทพฯ ในความเงียบไม่ได้เป็นความว่างเปล่า แต่มีความงามเกิดขึ้น


ยิ่งทบทวนย้อนกลับไป ยิ่งเห็นว่าหัวเรื่องสนทนาหลายต่อหลายครั้ง มีประเด็นที่เรียงร้อยทุกครั้งนั้นไว้ คือ ความงาม

โดยความงามเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะร่วมกันหลายอย่าง เช่น เป็นความงามจากการได้เห็นสรรพสิ่งหรือสถานการณ์ตามสภาพจริง โดยปราศจากการปรุงแต่ง ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับแนวความคิดที่ท่านโมกิจิ โอกาดะ (๒๔๒๕-๒๔๙๘) ปรมาจารย์ผู้คิดค้นงานสำคัญ อาทิ การชำระล้างแบบโอกาดะ เกษตรธรรมชาติ อาหารธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมซึ่งมีพลังแห่งต้นกำเนิดของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ท่านโอกาดะได้เคยกล่าวไว้ว่า

“ความนึกคิดเชิงรวม...จะทำให้รับข้อมูลตามสภาพจริงของเรื่องนั้นไม่ได้ ถ้าพูดให้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ เสาเหล็กดังกล่าวเปรียบเสมือนแว่นที่มีสี โดยนัยนี้ การที่จะรับสภาพจริงของเรื่องต่างๆ ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ต้องตั้งมั่นอยู่ในตนเอง ไม่ให้ตกอยู่ในสภาพที่จะถูกเสาเหล็กอันเป็นความนึกคิดเชิงรวมมารบกวนแม้เพียงเล็กน้อย...สภาพดังกล่าวนั้น ไม่มีทั้งอดีตและอนาคต ไม่ใช่สิ เป็นตัวของตัวเราเองในปัจจุบันที่มีสติ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ในกรณีที่มองเรื่องต่างๆ ด้วยสติของเรา อันดับแรกจะต้องเป็นการมองตามสภาพจริงที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้น ด้วยเหตุผลนี้ ก่อนอื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์ การมองสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องนั้นไม่มีวิธีอื่นใดอีกแล้วนอกจากวิธีนี้” (๒๘ ก.ย. ๒๔๘๕)


อาจจะจริงว่า เราคงไม่สามารถออกจากพันธนาการของโครงสร้างบริโภคนิยมได้ ถ้าเราไม่สามารถชื่นชม และเข้าถึงความงามผ่านดอกไม้ธรรมดาเพียงไม่กี่ดอก

“ถ้าเป็นไปได้จะใช้ดอกไม้ให้น้อยที่สุด นี่เป็นแบบฉบับของข้าพเจ้า จริงๆ แล้ว ข้าพเจ้าจะใช้ดอกไม้น้อยมาก ปกติที่ใช้กัน ๑ ส่วน แต่ข้าพเจ้าจะแบ่งใช้ได้ ๓ ส่วน การที่ไม่ใช้ดอกไม้และกิ่งที่ไม่จำเป็นจะได้ผลดีมาก ดังนั้น จึงมีบางคนบอกว่าดอกไม้น้อยเกินไป แต่ก็ไม่เป็นไร การใช้ดอกไม้หลายชนิดผสมกันนั้น ไม่น่าสนใจ ควรที่จะจัดเหมือนกับวาดภาพด้วยดอกไม้” (๑๗ มี.ค. ๒๔๙๗)


อาจจะจริงว่า เราคงไม่สามารถออกจากพันธนาการของโครงสร้างทุนนิยมได้ ถ้าเราไม่สามารถชื่นชม และเข้าถึงความงามผ่านดอกไม้ราคาถูกๆ หาได้ตามฤดูกาลที่ปลูกได้เอง

“ดอกไม้จะแตกต่างกันไปตามฤดูกาลทั้ง ๔ ตามหลักการแล้วการจัดดอกไม้ที่มีมากในตอนนั้นดีที่สุด เป็นธรรมชาติ...ใช้ดอกไม้ในฤดูกาลนั้นดีที่สุด” (๑๖ มี.ค. ๒๔๙๖)


“การซื้อของนอกฤดูด้วยเงินราคาแพงนั้นเป็นเรื่องที่โง่เขลา” (๑๗ มี.ค. ๒๔๙๖)


และอาจจะจริงว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่การทำให้ผู้คนที่กำลังวิ่งอย่างบ้าคลั่งในระบบที่หมุนเร็วและเร่งขึ้นทุกวันนั้น ได้เห็นคุณค่าของการได้ลองหยุดและลองช้าลงบ้าง ว่าถ้าเขาหัดและเรียนรู้ที่จะลดความเร่งรีบลง เขาก็อาจจะเข้าถึงความงาม ซึ่งนำไปสู่ความจริงและความดีในที่สุด

“สุดยอดแห่งศิลปะนั้นไม่ใช่การแสดงออกตามธรรมชาติ แต่เป็นการแสดงความจริง ความดีและความงามทางบุคลิกภาพ...ศิลปะเป็นสิ่งที่พึงแสดงออกซึ่งสุดยอดแห่งความงาม ซึ่งก็มีทั้งสูงและต่ำ ศิลปะชั้นสูงสุดนั้นกอปรด้วยทั้งความจริงและความดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสูงส่งของวิญญาณมนุษย์” (๒๐ พ.ค. ๒๔๙๒)


ผู้เขียนและเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้การจัดดอกไม้ "อิเคบานาของโมกิจิ โอกาดะ" กับมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (www.MOAthai.com) ที่มีวัตถุประสงค์การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้ง พัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับพลังชีวิตของตนเองให้สูงขึ้นด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทำให้ได้พอเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กรินทร์ และผู้รู้อีกหลายท่านนำเสนอมากขึ้นบ้าง

อีกทั้งยังได้สัมผัสกับความจริงอย่างยิ่งอีกประการ คือ เส้นทางการปฏิวัติด้วยความงามนั้น ก็เหมือนกับการปฏิวัติทางจิตวิญญาณอื่นๆ คือ ต้องผ่านการเดินทาง ผ่านการมีประสบการณ์ตรงกับความงาม และยินยอมให้ความงามนั้น หรือความจริงอันเปลือยเปล่านั้น เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรา ณ จุดที่เป็นรากฐานที่สุดด้วยตัวเราเอง :-)

Back to Top