2013

มวลมหาประชาคุย



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2556

ถ้าจู่ๆ แขนของเราเกิดไปสัมผัสถูกของร้อน เราจะชักแขนกลับ ปรากฏการณ์นี้เป็นปกติจนเราไม่ได้นึกถึง แต่การทำงานของมันอาศัยระบบที่ซับซ้อนมาก ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นเป็นจำนวน สมมุติว่าเราใช้เซลล์นิวรอน (เซลล์ประสาท) สิบตัวในการรับรู้ความร้อนที่มาถูกตัวเรา เราจะต้องอาศัยเซลล์จำนวนถึง “หนึ่งแสนตัว” ของระบบประสาทกลางซึ่งรวมถึงสมอง และประมวลกลับมาเป็นคำสั่งซึ่งอาศัยเซลล์เพียงหนึ่งตัวเท่านั้นในการสั่งให้กล้ามเนื้อเคลื่อนที่ยืดและหดจนทำให้แขนขยับออกจากความร้อน

คำถามคือ? ทำไมจึงต้องใช้เซลล์จำนวนเป็นแสนตัวเพื่อส่งต่อและประมวลผลสัญญาณที่มาจากเซลล์แค่สิบตัว? สำหรับผมมันดูเกินเลยความจำเป็นไปมาก เพราะถ้าดูจากสัตว์ชั้นต่ำเช่นไฮดรา ซึ่งมีเซลล์นิวรอนเพียงร้อยละ ๓ ของร่างกาย ก็เพียงพอแล้วที่จะเคลื่อนไหวดำรงชีวิตอยู่ได้

สำหรับผมคำตอบก็คือ “มันไม่จำเป็นเลย” ที่เราต้องการเซลล์จำนวนมากมายขนาดนั้น เพราะมันเกินความจำเป็นในการทำหน้าที่พื้นฐานของชีวิต เช่น กิน ขับถ่าย เคลื่อนไหว ดังนั้นการที่เรามีเซลล์ประสาทส่วนกลาง (ซึ่งรวมถึงสมอง) จำนวนมากมายเช่นนี้ ก็อาจจะพูดได้ว่ามันถูกใช้ไปเพื่อการทำงานด้านอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สัตว์ทั่วไปทำไม่ได้

ซึ่งก็คือความสามารถทางด้าน “พุทธิปัญญา” (Cognitive) ในระดับที่สูงที่สุดของห่วงโซ่อาหาร

ความสามารถดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้เพราะสิ่งมีชีวิตมีกระบวนการที่นักชีววิทยา ฟราสซิสโก วาเรลา (Francisco Varela) และฮุมเบอร์โต มาตูรานา (Humberto Maturana) เรียกว่า Structural Coupling หรือ ผมจะเรียกว่าความสามารถในการ “เต้นรำกับพระเจ้า” คล้ายกับ ซิซิฟัส ที่ถูกซีอุสสาปให้ต้องแบกก้อนหินขึ้นไปบนเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเมื่อเขาแบกขึ้นไปถึงที่นั่นมันก็จะตกลงมาที่ตีนเขาตามเดิม การเต้นรำกับพระเจ้าก็คือการที่สิ่งมีชีวิตไม่ย่อท้อที่จะปรับเปลี่ยนตนเองด้วยเจตจำนงอิสระถึงแม้จะต้องคำสาป ซึ่งก็คือขีดจำกัดที่ธรรมชาติให้มา จนทำให้ตัวเองสามารถอยู่รอดและข้ามผ่านอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่าที่ถาโถมเข้ามา โดยการสร้างสรรค์ตัวเองใหม่อยู่เสมอ (autopoiesis)

นักสังคมวิทยา นิกลาส ลูห์มานน์ (Niklas Luhmann) ก็ค้นพบว่าสังคมเองก็ปฏิสัมพันธ์ในทำนองเดียวกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเช่นกัน คือสามารถสร้างตัวเองใหม่ได้ แต่การสร้างตัวเองใหม่ของสังคมไม่ใช่ “ระบบชีวิต” เพราะมนุษย์สมัยปัจจุบันปฏิสัมพันธ์กันด้วยระบบคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ หรือที่ทางพุทธเรียกว่า “สมมุติ” นั่นเอง ความจริง “สมมุติ” จึงไม่ใช่ความจริงในแง่ของ “ปรมัตถ์” หรือความจริงที่แบ่งแยกไม่ได้ ยกตัวอย่างว่าเราอาจเปรียบเทียบว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้นเป็นความจริงสมมุติ รัฐธรรมนูญ “ไม่มีหัวใจ” แต่มนุษย์ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายสูงสุดนั้น “มีหัวใจ”

ภายใต้ระบบคุณค่าที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่น กฎหมายก็ดี หรือวัฒนธรรมก็ดี การสื่อสารระหว่างมนุษย์ไม่มีทางที่จะราบรื่นอย่างในระดับเซลล์ ปัญหาสำคัญก็คือ “พุทธิปัญญา” นี่เองที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว มีการทดลองในกระต่าย โดยนักวิทยาศาสตร์ตัดการเชื่อมต่อของระบบประสาทที่ไปสู่ขาหลังของกระต่าย โดยไม่ไปยุ่งกับระบบเส้นเลือดหรืออื่นๆ เลย แต่พอปล่อยทิ้งไว้พบว่าขาของกระต่ายลีบเล็กลง ทั้งๆ ที่มันได้รับสารอาหารต่างๆ เท่าเดิม และเมื่อต่อเชื่อมเส้นประสาทกลับมาก็พบว่าขาของกระต่ายสามารถกลับคืนมาแข็งแรงดังเดิม

การทดลองแสดงให้เห็นว่าร่างกายเราไม่สามารถขาดการสื่อสารระหว่างแต่ละส่วนได้ เพราะจะทำให้เกิดการแคระแกร็นของอวัยวะต่างๆ ทั้งๆ ที่ปัจจัยทางด้านอื่นๆ ยังอยู่ครบ ในระดับสังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากเราตัดความสามารถในการสื่อสารของมนุษย์ออกไป การสร้างตัวเองของสังคมก็จะไม่สมบูรณ์ สังคมที่มีการสร้างเงื่อนไขบางอย่างทำให้คนไม่สามารถหันหน้ามาพูดคุยกันได้ นั่นย่อมทำให้สังคมนั้นเกิดความพิกลพิการ ยิ่งเราเข้าใจการสร้างตัวเองของสิ่งมีชีวิตซึ่งดำรงอยู่บนโลกมาเป็นพันๆ ปีอย่างมนุษย์เรา เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์เราคงสิ้นสุดลงตั้งแต่เป็นวุ้นอยู่ที่ไหนสักแห่งในมหาสมุทรแห่งชีวิต ถ้าหากเซลล์กลุ่มหนึ่งปฏิเสธที่จะคุยกับเซลล์อีกกลุ่มหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่าพวกมันเป็นเซลล์คนละประเภทกัน!

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสช่วยออกแบบกระบวนการพูดคุยที่เรียกว่า “มวลมหาประชาคุย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และรายการ “เสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย” กระบวนการพูดคุยนี้ ได้ปรับแปลงมาจากกระบวนการที่เรียกว่า Open Space ซึ่งเป็นการพูดคุยที่ไม่มีการตั้งประเด็นหรือหัวข้อการสนทนาเอาไว้ล่วงหน้า ให้ผู้คนได้มีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นของตนในบรรยากาศที่บ้านเมืองของเรามีความตึงเครียดทางการเมือง การสนทนาใช้กฎที่เลียนแบบกฎธรรมชาติเพียงข้อเดียว ที่เรียกว่า “กฎสองขา” ซึ่งกำหนดว่าให้เราเดินไปหากลุ่มที่เราสนใจจะคุยด้วยตัวเอง และ “อย่านั่งอยู่เพราะเกรงใจ อย่าไปเพราะเห็นเป็นเพื่อน” มันเป็นการคัดสรรทางธรรมชาติ ให้เรื่องที่ทุกคนสนใจจะคุยมีผู้นั่งฟังอยู่ และถ้าเรื่องนั้นไม่น่าสนใจ หรือไม่มีผู้ใดจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ผู้คนก็จะใช้กฎสองขาเดินออกมาจากกลุ่มนั้น กลุ่มนั้นก็จะถูกยุบหายไปโดยปริยาย ด้วยวิธีนี้ เราจะไม่ถูก “บังคับ” ด้วยกฎเกณฑ์น่าเบื่อแบบที่ต้องทนนั่งฟังเพราะ “เป็นพิธี” แต่ด้วยวิธีนี้ทุกคนมีสิทธิจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง



นี่คือกระบวนทัศน์ใหม่ของการสร้างสังคมที่จะสามารถรองรับความสลับซับซ้อนของปัญหา ที่จะมาในรูปแบบใดก็ได้ เพราะเราเอา “กระบวนการ” เป็นที่ตั้ง ไม่เอา “นโยบาย” ซึ่งคือระบบคุณค่าที่ถูกผลิตขึ้นโดยคนไม่กี่คนมา “บังคับ” ให้สังคมต้องทำตาม ความรู้เรื่องระบบชีวิตบอกเราว่าอะไรก็ตามที่ไม่สอดคล้อง และไม่ปรับตัวอย่างทันการณ์ก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี และความสามารถในการปรับตัวและสร้างสรรค์ตัวเองใหม่จะมาจากไหนกันเล่า ถ้าไม่ใช่มาจากการที่เซลล์นับแสนล้านตัวในร่างกายของเราทำหน้าที่อย่างเดียวคือ “สื่อสาร” กัน



“กระบวนการพูดคุย” คือการสร้างวงจรป้อนกลับ (feedback loop) ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนสังคมเป็นไปได้ ความเข้มแข็งของสังคมจึงขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่มนุษย์เรา “เชื่อมต่อ” ปฏิสัมพันธ์และรับฟังกันและกัน เปิด “ช่องทางการสื่อสาร” เอาไว้ไปมาหาสู่กันทั้งในทางกายภาพ และทางโลกเสมือนจริง มองในแง่นี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นแล้วว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะปฏิรูปประเทศของเราโดยไม่มีการลุกฮือขึ้นมาสนทนากันในทุกระดับสังคมในระดับ “มวลมหาประชาคุย” และความพยายามของคนกลุ่มใดก็ตามที่บอกให้พวกเรากระทำตรงกันข้ามก็คือ “ฟังและทำตาม” คำสั่งของพวกเขา นั้นคือความพยายามที่จะทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ พลเมืองต่อพลเมือง ต้องขาดหายไป เช่นเดียวกับ “ขาของกระต่าย” ถ้าหากถูกตัดการสื่อสารแล้วก็จะมีสภาพแคระแกร็นและเสียหายในที่สุด

การยืนแบบ “กระต่ายขาเดียว” จะมีประโยชน์อะไร ถ้าขาข้างนั้นถูกทำให้ลีบแคระแกร็นไปเสียแล้ว ก็มีแต่จะพังพาบลงมาทั้งหมดเท่านั้น

เสวนากับศัตรู



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2556

หนังฝรั่งเศสชิงรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมปี ค.ศ. ๒๐๐๖ เรื่อง Joyeux Noël หรือ Merry Christmas น่าจะเป็นหนังที่คนไทยหามาดูกันในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่นี้

เผื่อจะบรรเทาความเกลียดชังและอยากฆ่าอีกฝ่ายลงได้บ้าง

หนังเล่าเรื่องคืนก่อนคริสตมาสปี ค.ศ. ๑๙๑๔ เหตุเกิดในสนามเพลาะสงครามโลกครั้งที่ ๑ ระหว่างกองทหารเยอรมันด้านหนึ่ง กับกองทหารสก็อตแลนด์และฝรั่งเศสอีกฟากหนึ่ง กำกับการแสดงโดย Christian Carion ได้นักแสดงสาวชาวเยอรมัน ไดแอน ครูเกอร์ รับบทนักร้องโอเปรา แอนนา ซอเรนเซน

หนังเริ่มเรื่องโดยเล่าถึงตัวละครหลายคน ก่อนที่จะจับภาพไปที่แอนนา นักร้องโอเปราสาวสวยชาวเยอรมัน เธอวิ่งเต้นและจัดการให้ตนเองพร้อมสามีได้ร้องเพลงต่อหน้ามกุฎราชกุมารวิลเฮล์มแห่งปรัสเซียในคืนก่อนคริสต์มาส ด้วยวิธีนี้กองทัพจึงต้องเรียกตัวสามีของเธอ นิโคลัส สปริงค์ นักร้องเสียงเทนเนอร์กลับจากแนวหน้า

นายพลเยอรมันถามแอนนาว่า เธอจะพยายามไปเพียงไรก็ได้สามีกลับมาหาแค่คืนเดียว แอนนาตอบว่าเวลาของพวกเธอเดินช้ากว่าของพวกนายพล

ในตอนแรกนิโคลัสไม่สามารถร้องได้จนจบเพลง อาจจะเป็นเพราะไม่มีกะจิตกะใจจะร้อง หมดกำลังใจ ขาดการฝึกซ้อม หรือสูบบุหรี่มากเกินไป แต่ด้วยความช่วยเหลือและให้กำลังใจจากแอนนาทำให้เขาสามารถร้องเพลงต่อจนจบได้



หลังการแสดงนิโคลัสและแอนนาเดินทางไปที่แนวหน้า

ในคืนก่อนคริสต์มาสอันหนาวเหน็บท่ามกลางทุ่งหิมะขาวโพลน และศพทหารนอนทอดกายทั่วๆ ไป ทหารของทั้งสามชาติได้แต่นั่งนิ่งๆ ในหลุมรอเวลาให้ผ่านไป

ทันใดนั้นก็ปรากฏเสียงเพลง Silent Night ขับร้องโดยนิโคลัสดังขึ้นอย่างไพเราะเป็นที่สุดจากสนามเพลาะฝ่ายเยอรมัน จากนั้นสักครู่หนึ่งจึงมีเสียงปี่สก็อตบรรเลงตามดังมาจากอีกฟากหนึ่ง สร้างความปีติให้แก่ทหารทั้งสามชาติและคนดูหนังเป็นที่ยิ่ง

นิโคลัสเปลี่ยนเป็นลุกขึ้นยืนร้อง ตอนนี้ศีรษะของเขาพ้นขอบพื้นดินตกเป็นเป้ายิงได้อย่างง่ายดายแล้ว ท่ามกลางความตกตะลึงของเพื่อนทหารและนายทหารยศร้อยโท จากนั้นนิโคลัสลุกขึ้นไปยืนบนพื้นและเดินออกไปในสนามรบร้องเพลงต่อไป เวลาเดียวกันนั้นทหารฝ่ายสก็อตแลนด์ก็ลุกขึ้นยืนเป่าปี่บนปากหลุมเช่นเดียวกัน

เมื่อเพลงที่สองจบลง ร้อยโทหัวหน้าหน่วยฝ่ายเยอรมันเดินออกไปกลางสนาม ร้อยโทหัวหน้าหน่วยฝ่ายสก็อตแลนด์เดินออกไปบ้าง สองคนยืนคุยกันครู่หนึ่ง ร้อยโทหัวหน้าหน่วยฝ่ายฝรั่งเศสอดรนทนไม่ได้ถือขวดไวน์เดินออกไป นายทหารสามชาติยืนคุยกันแล้วทำสัญญาหยุดยิงในคืนก่อนคริสต์มาส

พลทหารทั้งสามชาติลุกขึ้นจากหลุมออกมานั่งคุยกัน ดื่มไวน์หรือวิสกี้ เล่นไพ่ แลกเปลี่ยนช็อกโกแลต แลกกันดูรูปภาพของครอบครัว และฟังบาทหลวงเทศน์ จากนั้นจึงฟังการขับร้องโอเปราโดยแอนนาอีกครั้งหนึ่ง เสียงเพลงไพเราะแสนหวานก้องกังวานไกลของแอนนาถึงกับทำให้หลายคนรวมทั้งคนดูน้ำตาซึม

ถึงตอนเช้า ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกลับไปประจำหลุมของตน แต่แล้วกลับชงกาแฟออกมานั่งกินด้วยกัน ทหารทั้งสามชาติช่วยกันเก็บศพเพื่อนทหารไปฝังและทำพิธีให้เรียบร้อยในดินแดนฝั่งของตน จากนั้นจึงเล่นฟุตบอลด้วยกันอีก ปิดท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนจดหมายกันและกัน เพราะบางคนมีครอบครัวอยู่ในครอบครองของอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อถึงเวลายิงปืนใหญ่จากแนวหลังเพื่อถล่มสนามเพลาะฝ่ายตรงข้าม ทหารทั้งสามชาติแลกเปลี่ยนที่หลบภัยให้แก่กันและกัน

อารมณ์ของหนังพาคนดูมาได้ไกลที่สุดถึงตรงนี้ ด้วยบรรยากาศและเสียงเพลงคริสต์มาสทำให้ทหารของทั้งสามชาติสามารถถอดเครื่องแบบและลัทธิการเมืองการทหารของตนออกไป สามารถหยุดความเกลียดชังและการฆ่ากันอีกทั้งช่วยเหลือกันและกันตามหน้าที่ที่มนุษย์ทั่วไปพึงมี

จดหมายที่พวกเขาแลกเปลี่ยนกันตกถึงมือของกองทัพในที่สุด ทหารทั้งสามหน่วยถูกพิจารณาทำโทษหนักเบาแตกต่างกันไป เพราะได้กระทำการอันเรียกว่า fraternization คือเสวนากับศัตรู

หนังมิได้อ้างว่าสร้างจากเหตุการณ์จริง แต่หนังได้รับแรงบันดาลใจจากจดหมายจำนวนมากที่ทหารแนวหน้าเล่าถึงเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้จากหลายจุดในสนามรบ อันเป็นหลักฐานว่าท่ามกลางสงครามที่คนเรามีหน้าที่ต้องฆ่าฝ่ายตรงข้ามโดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเหตุผลมากนัก คนเราก็สามารถจะหยุดการกระทำนั้นได้เมื่อต้องการ

หากเปิดหน้าเฟซบุ๊กเวลานี้ คนไทยจะพบถ้อยคำเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามมากมาย หลายข้อความเป็นคำหยาบคายหรือดูถูกเหยียดหยามคนที่ไม่เหมือนเราอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะกระทำได้ ความเกลียดชังใครบางคนหรืออะไรบางอย่างถูกกระพือให้กว้างขวางและครอบคลุมไปหมดทุกมิติของความขัดแย้ง โดยมิอาจแยกแยะประเด็นต่างๆ ออกจากกันได้โดยง่ายอีก

เปรียบเสมือนทหารในสนามรบที่ยิงทุกอย่างที่เคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็นต้องแยกแยะ

คนบ้านนอกจำนวนมากเปรียบเสมือนทหารในสนามเพลาะ พวกเขาทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยไม่เคยตั้งคำถามอะไร ไม่เคยแม้แต่จะถามว่าตนเองควรได้หรือไม่ควรได้อะไรบ้าง เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มานานร้อยปีโดยมิเคยปริปากบ่น ครั้นโลกเปลี่ยนไปทำให้ความเปลี่ยนแปลงเดินทางมาถึง คล้ายๆ เสียงเพลงคริสต์มาสที่ดังมาถึงสนามรบในค่ำคืนอันหนาวเหน็บ พอลุกขึ้นจะฟังเสียงเพลงเพราะๆ บ้างและขอเพียงสิทธิเลือกตั้งของตนเอง เหตุใดจึงถูกดูหมิ่นเหยียดหยามมากมายนัก เหมือนดั่งทหารทุกคนในเรื่องที่ถูกพิจารณาโทษจากศาลทหารในตอนท้าย

หนังอาจจะหาดูยาก แต่หามาดูเถิดครับ น่าจะทำให้ใจเย็นลงกันได้บ้าง

คุยข้ามกำแพงของความแบ่งแยก



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

ช่วงนี้บรรยากาศทางการเมืองทำให้เกิดภาวะตื่นตัวขึ้นในสังคมไทยมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในขณะเดียวกัน คู่ขนานไปพร้อมกับโลก on-land นั่นคือสังคมออนไลน์ มีการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกทางการเมืองอย่างมากมายจากทุกสีทุกฝ่าย

ที่น่าเป็นห่วงคือการสื่อสารด้วยคำพูดที่ตีตรา ปรักปรำ ตัดสิน มากกว่าการสื่อสารเชิง “ข้อมูล” หรือ “ความเชื่อ” ของตัวเอง เช่น มีการด่ากันว่า “ไอ้เหี้ย” “ไอ้ควาย” “สมควรตาย” “นรกส่งมา” “พวกล้มเจ้า” ซึ่งคำกล่าวเหล่านี้ ล้วนมาจาก “ความคิดเห็นและความรู้สึก” ของผู้เรียกเอง แต่ก็สะท้อนถึงความเกลียดชังที่มากขึ้นในสังคม

จนหลายๆ คนเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็น เพราะไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในความขัดแย้ง และพยายามทำตัวเป็นกลาง ซึ่งก็อาจถูกกล่าวหาได้อีกว่า พวกเป็นกลางนี่แหละเป็นพวก “สีเหลืองแน่ๆ เลย” หรือไม่ก็เป็นพวก “ไทยเฉย” ที่หมายถึงการเพิกเฉยละเลย หรือพอบอกว่าไม่มีสี ก็ถูกกล่าวหาว่า “ไม่รักประเทศชาติ” หรือร้ายไปกว่านั้นคือ “ไม่รักในหลวง” หรือพวกที่พยายามพูดถึงการไม่ตัดสิน การมีไมตรีต่อกัน รักกัน ก็ถูกเหมาว่าเป็นพวก “โลกสวย” ที่ดูหน่อมแน้มไป เอาเป็นว่าหากไม่เห็นเป็นพวกเดียวกับตนก็พร้อมที่จะ “จัดพวก” หรือ “ติดป้าย” ให้เป็นพวกอื่นอย่างรวดเร็วทันใจ หรือไม่ก็ “unfriend” ในเฟซบุ๊กกันเลย

ที่น่าปวดหัวที่สุดตอนนี้ น่าจะเป็นการที่หลายๆ บ้านหรือหลายครอบครัวไม่สามารถพูดคุยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกันอย่างเปิดเผยได้ แต่ต้องเลือกที่จะพูดคุยเฉพาะกับผู้ที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน หรือสีเดียวกันเท่านั้น หรือถ้าสีไหนเป็นเสียงข้างน้อยก็ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ในความเงียบไป หลายแวดวงไม่ว่าจะเป็นวงเพื่อนฝูงหรือครอบครัวมีการ “ห้าม” คุยเรื่องการเมือง เพราะกลัวความขัดแย้งที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามผมสังเกตว่า ยิ่งไม่คุย ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ไปในทางหวาดระแวงกันและกันอยู่ในที

ภาวะแบ่งแยกอย่างนี้นับเป็นความถดถอยของการเมืองไทย ไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้จากกันและกัน และมีแต่จะสร้างช่องว่างให้ถ่างไกลออกไปยิ่งขึ้น หากว่าเราคือสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนพึงแสดงหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง และ “มีส่วนร่วม” ในการแสดงความคิดเห็นและกำหนดชะตากรรมของ ประเทศชาติบ้านเมืองร่วมกัน โดยให้คุณค่าและดูแลความต้องการของทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคและยุติธรรม

เวลามีคนถามผมว่าสีอะไร ผมบอกว่าผมไม่ชอบแสดงออกแบบสี เพราะทำให้จุดยืนของผมจำกัด เพราะผมอยากเห็นสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนให้เกียรติกันและกัน และมีส่วนร่วมกันอย่างเท่าเทียม ซื่อตรงและเปิดเผย และอยากเห็นรัฐบาลเป็นตัวแทนเสียงของประชาชนทุกหมู่เหล่าจริงๆ ที่ตรวจสอบได้ ดังนั้นผมไม่เห็นด้วยและไม่ชอบการทุจริตทุกรูปแบบ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือกว่าและนอกรัฐธรรมนูญ อีกอย่างผมไม่ยึดติดกับพรรคการเมืองใดๆ หรือผู้นำคนไหน ผิดถูกว่ากันไปตามเนื้อผ้าหรือข้อมูลที่เป็นจริงมากกว่าการปรักปรำแบบเหมารวม

ผมคิดว่าตอนนี้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมืองที่สำคัญ เพราะเป็นโอกาสที่สังคมจะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศชาติบ้านเมือง แต่ความท้าทายในปัจจุบันอยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างไร ผู้มีการศึกษาหรือผู้อยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า จะเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้อยู่ในชนชั้นที่มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่าได้อย่างไร ประชาชนผู้เป่านกหวีดที่ต้องการขับไล่ระบอบทักษิณจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประชาชนเสื้อแดงที่มีหลากหลายเฉดสีได้อย่างไร และในทำนองกลับกันชาวสีแดงจะเรียนรู้ความเกลียดชังที่มีต่อการทุจริตคอรัปชั่นของอีกฝ่ายได้อย่างไร

ผมเองก็พยายามเรียนรู้จากคนที่มีความคิดเห็นและความเชื่อต่างไปจากตัวเอง แม้จะมีความไม่แน่ใจ และความกลัวอยู่ลึกๆ ว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์หรือไม่ แต่เมื่อได้ทดลองพูดคุยกับคนรอบข้าง คนที่ทำงานด้วยหรือคนที่บ้าน แม้ว่าเฉดสีจะไม่ได้แตกต่างกันอย่างรุนแรง แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้และเห็นความเป็นไปได้ของการพูดคุยกันข้ามกำแพงของความแตกต่าง

ผมคิดว่าพื้นฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย หรือการปฏิบัติตามข้อตกลงของสังคมภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายจากกันและกันอย่างให้ความเคารพ ให้เกียรติและจริงใจ แสดงออกจุดยืนทางจริยธรรมและคุณค่าของตัวเองได้อย่างไม่ทิ่มแทง ไม่ลิดรอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ผมคิดว่าถ้าเราคุยในเรื่องที่สำคัญๆ เหล่านี้ไม่ได้แล้ว ก็อย่าหวังว่าคนที่มีอำนาจหน้าที่มากกว่าเราเขาจะทำกันเองได้ เพราะเท่าที่เห็น ในรัฐสภานั้นเต็มไปด้วยการประท้วงหรือใส่ร้ายกันและกันมากกว่าจะเป็นการร่วมกันคิดเพื่อหาทางออกให้กับประเทศอย่างสมัครสมานสามัคคี

ดังนั้นผมมีข้อเสนอในการพูดคุยแลกเปลี่ยนท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย คือ

๑. พร้อมที่จะรับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของกันและกัน รับผิดชอบอารมณ์ของตัวเองมากกว่าคุยเพื่อระบายความไม่พอใจให้อีกฝ่ายรับรู้

๒. เปิดใจเพื่อเรียนรู้จากกันและกันว่าอีกฝ่ายคิดเห็นอย่างไร ต้องการอะไร มีเรื่องราวหรือ ประสบการณ์ส่วนตัวอย่างไร ที่เป็นที่มาของความคิดเห็นทางการเมือง การแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่มีทั้งความเจ็บปวด ความผิดหวัง หรือสมหวัง ทำให้เราเข้าใจที่มาและความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้มากขึ้น แทนที่จะคุยเพื่อแสดงจุดยืนว่าเราเป็นฝ่ายถูกและอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิด

๓. คุยเพื่อเรียนรู้ว่า “ความจริง” มีหลากหลาย ผ่านการรับรู้ข้อมูลหรือประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และรับรู้ด้วยว่า “ความจริง” บางประการยังคงมีฐานะเป็น “ความเชื่อว่าจริง” ด้วย แทนที่จะคุยเพื่อยืนยันว่าใครจริงกว่าใคร

๔. พูดถึง “ข้อมูลที่เป็นจริง ที่มีหลักฐานตรวจสอบได้” มากกว่าเป็นเพียงความคิดเห็นที่ไม่มีมูลชัดเจน และหลีกเลี่ยงการ “กล่าวหา” หรือตีตราปรักปรำ เช่น คำว่าชั่ว เลว ที่อาจลบหลู่ ลดทอนศักดิ์ศรีของอีกฝ่าย

๕. อดทนฟังอย่างไม่พูดขัดหรือแทรกแซง แสดงถึงความเคารพที่มีต่อผู้พูด ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของการพูดคุยแลกเปลี่ยน

๖. แยกแยะการพูดคุยทีละเรื่องแทนที่จะเหมารวม เช่น แทนที่จะกล่าวหาอย่างลอยๆ ว่า “รัฐบาลห่วย” ก็พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น นโยบายการจำนำข้าวที่ขาดทุน เป็นต้น

๗. ยอมรับ ให้เกียรติ และปกป้องความคิดเห็นหรือจุดยืนของอีกฝ่าย แม้จะแตกต่างกับความคิดเห็นของเราอย่างสุดขั้ว และไม่พยายามเปลี่ยนแปลงโน้มน้าวความคิดเห็นของอีกฝ่ายให้เป็นเหมือนเรา

๘. เน้นไปที่เข้าใจโลกของกันและกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกัน และไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปว่า จะต้องมีทางออกที่เหมือนกัน

ผลลัพธ์ที่เราต้องการจากการพูดคุยคือความเข้าอกเข้าใจต่อกัน มีความสัมพันธ์ที่เปิดเผย ไว้วางใจได้ ยอมรับความเห็นต่างได้ และอาจค้นพบสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างให้คุณค่าและห่วงใยร่วมกัน เช่น ความเป็นธรรม การไม่เอารัดเอาเปรียบ ความเท่าเทียม และสันติสุขของชีวิต แม้ว่าจะยังไม่มีทางออกหรือข้อสรุปเชิงวิธีการที่ชัดเจนนัก แต่หากเกิดการยอมรับความแตกต่างโดยรักษาการพูดคุยให้ต่อเนื่อง ก็อาจก่อให้เกิดการเรียนรู้มากมายและนวัตกรรมใหม่ๆ ทางความคิดทางการเมืองและสังคมด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจจำเป็นต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ ไม่จำเพาะในรัฐสภาหรือเวทีที่เป็น ทางการต่างๆ แต่เกิดบนโต๊ะกินข้าว หรือลานบ้านที่เราต่างเปลี่ยนบทสนทนาที่แบ่งแยกเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่สร้างความเข้าอกเข้าใจ (แม้ไม่เห็นด้วย) ถ้าเราไม่สามารถพูดคุยกันในเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงกับพวกเราแล้ว เราจะสร้างหรือเรียกร้องให้เกิดสังคมประชาธิปไตยอย่างเป็นจริงได้อย่างไร

กล้าที่จะไม่สอน
Courage not to teach



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2556

ผมเป็นเด็กบ้านนอก เกิดที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ผมอยู่ในวงการศึกษามาตลอดชีวิต ทั้งในฐานะที่เป็นนักเรียน นักศึกษา นิสิต และในฐานะครูฝึกสอน อาจารย์มหาวิทยาลัย วิทยากร และวิทยากรกระบวนการ ผมเรียนครูมาตลอดหลังจบการศึกษาระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (สมัยนั้นเรียกสั้นๆ ว่าโรงเรียนชาย) เป็นนักเรียน มศ.๑ รุ่นแรก เข้าเรียนระดับประกาศนียบัตรการศึกษาตอนต้น (ป.กศ. ต้น) ที่โรงเรียนฝึกหัดครูอุตรดิตถ์ ๒ ปี ได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อระดับอนุปริญญาที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ๒ ปี (ป.กศ.สูง คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ) แล้วได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา (พิษณุโลก) เป็นรุ่นบุกเบิกอีกสองปี (ก.ศบ. คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ) ทั้งสามแห่งหล่อหลอมความเป็นครูให้กับผม ผมเรียนรู้และประทับใจในตัวอาจารย์ที่เป็นต้นแบบให้ผมหลายคน ผมโชคดีที่ได้เป็นศิษย์เก่าหลายที่ จึงได้มีโอกาสพบครูอาจารย์ในดวงใจหลายคน ทั้งสามแห่ง ผมมีโอกาสได้ฝึกสอนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้

ตอนออกฝึกสอนระดับประถมศึกษาที่อุตรดิตถ์ ผมตื่นเต้น ไม่กล้าที่จะสอน เพราะกลัวจะสอนไม่ได้ กลัวจะสอนไม่ดี จึงต้องเตรียมการสอนหนักมาก ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๗ ปี ยังเป็นเด็กอยู่มาก ผมสอนตามหลักสูตร ตามรายวิชาที่ได้รับมอบหมายจากครูพี่เลี้ยงให้สอน

ตอนออกฝึกสอนระดับมัธยมศึกษาที่เชียงใหม่ ผมยังคงรู้สึกกลัวที่จะสอน และไม่ค่อยกล้าที่จะสอนเท่าไหร่ ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๙ ปี คราวนี้ผมเลือกฝึกสอนวิชาภาษาอังกฤษ รู้สึกตื่นเต้น กลัวและเกร็งทุกครั้งที่มีอาจารย์นิเทศมานั่งดูอยู่หลังห้อง พยายามสอนตามรูปแบบ ขั้นตอน และเทคนิควิธีการสอนตามที่อาจารย์สอนเรามา...Listen carefully. Repeat after me. One more time, please. Good. Very good. Excellent.…

ตอนออกฝึกสอนที่วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ผมเริ่มรู้สึกท้าทาย ไม่ค่อยกลัวเพราะมีประสบการณ์มาแล้วสองครั้ง แต่ก็ยังไม่ค่อยกล้าสักเท่าไหร่ เพราะเกรงว่าจะสอนได้ไม่ดี ไม่ถูกต้องตามรูปแบบมาตรฐานการสอนตามเทคนิควิธีและทฤษฎีการสอนที่เรียนมา

ผมได้เกรด “A” จากการฝึกสอนทุกครั้ง ทำให้รู้สึกมั่นใจเพิ่มมากขึ้นว่า ผมเลือกเดินมาถูกทางแล้ว (ที่จริงไม่มีทางเลือก เพราะไม่รู้จะเรียนอะไรดี เพราะที่จังหวัดอุตรดิตถ์ตอนนั้นก็ไม่มีอะไรให้เลือกเรียนมากนัก)

เมื่อมีโอกาสได้เข้าเรียนปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาการศึกษา (รุ่นแรก) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่จบปริญญาโท (จิตวิทยาการศึกษา) ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปัจจุบัน) ได้เป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ และสอนเต็มที่หนึ่งปี สอบชิงทุนของจุฬาฯ ไปเรียนปริญญาเอกด้านปรัชญาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า (University of Minnesota) สหรัฐอเมริกา จบกลับมาสอนระดับปริญญาโท/ปริญญาเอกที่จุฬาฯ และรับเชิญไปสอนพิเศษอีกหลายที่ เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานของรัฐ เอกชน และองค์การระหว่างประเทศ ผมพัฒนาความ กล้าที่จะสอน เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่กลัวที่จะสอนอีกต่อไป

ยิ่งสอนยิ่งกล้าที่จะสอน ยิ่งสอนยิ่งสนุก เพราะเราในฐานะผู้สอน (ผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากร เจ้าพ่อการวิจัยอนาคต เจ้าอาศรมจิตตปัญญาศึกษา...) สามารถหลอกล่อให้ผู้เรียน (ผู้เข้ารับการอบรม ผู้ฟัง) ติดกับดักของเรา สามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาถูก-ผิดด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ ด้วยทฤษฎีทางวิชาการต่างๆ...

คำชื่นชม คำเยินยอที่ได้รับอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้ผมไม่กลัวการสอนอีกต่อไป มีแต่ความกล้าที่สอน

จากความกลัวสู่ความไม่กลัว จากความไม่กล้าสู่ความกล้า ผมกล้าที่จะสอน แม้กระทั่งบางเรื่องที่ผมไม่ค่อยถนัด เพราะเกรงใจผู้เชิญที่เขาเชื่อมั่นในตัวเราว่าเราสอนได้

ความไม่กลัวที่จะสอน (ในความหมายเดิมที่รู้และเข้าใจกันโดยทั่วไป) และความกล้าที่จะสอนของผมเริ่มสั่นคลอนและถึงจุดพลิกผัน เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกกลัวที่จะสอน ไม่กล้าที่จะสอน และพัฒนามาเป็น กล้าที่จะไม่สอน เมื่อผมมีโอกาสได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะในมิติของจิตวิญญาณ (สุขภาวะทางจิตวิญญาณ) และต่อมาได้รับเชิญจากคุณหมอประเวศ วะสี ให้เป็นสมาชิกและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ แล้วนำไปสู่การเป็นผู้ร่วมบุกเบิก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในประเทศไทย ทั้งในมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนในทุกประเภทและระดับการศึกษา หน่วยงานและองค์กรต่างๆ

บนเส้นทางสายใหม่ของการศึกษา สายที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “จิตตปัญญาศึกษา” หรือ คำในภาษาอังกฤษคือ “Contemplative Education” ผมได้เรียนรู้ว่า การสอนตามแนวคิดและแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่ทำกันอยู่ ให้ความสำคัญกับเทคนิค วิธีการสอนของผู้สอน (ครู อาจารย์ วิทยากร) มากกว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน (นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ฟัง ผู้เข้ารับการอบรม) ผู้สอนจึงมีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือผู้เรียน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนจึงโน้มเอียงเป็นแบบบนลงล่าง กดดันหรือกดทับการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใด เช่นการท่องจำ การคิดวิเคราะห์ การอภิปราย และการโต้แย้งทางวิชาการ รวมไปถึงการวิจัย

บนเส้นทางสายจิตตปัญญาศึกษา ผมเรียนรู้ว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ เลียนแบบไม่ได้ ไม่มีมาตรฐานให้เลียนแบบหรือเทียบเคียง ไม่มี best practice ให้ลอกเลียน ไม่ต้องเทียบเคียง (benchmark) กับใคร ที่ไหน และอย่างไร แต่ละคน (ผู้เรียนรู้) มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ผู้เรียนรู้จึงต้องเรียนรู้ ค้นพบ สร้างและพัฒนารูปแบบ และวิธีการเรียนรู้ที่เป็นของตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นได้ เรียนรู้กับ/และจากผู้อื่นได้ แต่เลียนแบบกันไม่ได้ ครู อาจารย์มีบทบาทเป็นกระบวนกรที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่การสอนแบบเดิม และในการทำหน้าที่กระบวนกรนั้น ครู อาจารย์ก็อยู่ในฐานะของผู้เรียนรู้ร่วมไปกับผู้เรียนรู้ด้วย เราจึงต้องกล้าที่จะไม่สอน แต่พร้อมที่จะเป็นผู้เรียมรู้ร่วมไปกับผู้เรียน

Courage to teach nothing but learning together.

“เปลี่ยนแปลง” ไม่ใช่แค่ “พัฒนา”



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556

เด็กคนเดิมกลับมาอีกแล้ว คุณหมออาร์มิดา เฟอร์นันเดซแปลกใจ คราวก่อนก็มาด้วยอาการของโรคขาดอาหาร น้ำหนักต่ำกว่าปรกติ ทำไมแม่ของเด็กถึงไม่ดูแลลูกให้ดี? เธอนึกตำหนิผู้เป็นแม่ในใจ ก่อนจะสังเกตเห็นว่าแขนข้างหนึ่งของหญิงสาวเข้าเฝือกอ่อนไว้ ดูเหมือนว่ากระดูกจะหัก คุณหมอนึกเอะใจขึ้นมา เมื่อสอบถามจึงทราบว่าถูกสามีตบตีมา คุณหมอค่อยถึงบางอ้อ เข้าใจแล้วว่า สุขภาพเด็กนั้นขึ้นกับสุขภาพของแม่ – ผู้หญิงในชุมชน – โดยเฉพาะในสลัมธราวี ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมุมไบ เป็นสลัมที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของอินเดียและของโลก และเป็นฉากหลังสำคัญของภาพยนตร์เรื่องสลัมด๊อกมิลเลียนแนร์ที่คว้าออสการ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้น

หลังจากจ้างนักสังคมสงเคราะห์ ๒ คนมาประจำที่โรงพยาบาลเพื่อสำรวจข้อมูลว่าด้วยกรณีความรุนแรงในครอบครัวก็พบว่ามีสถิติค่อนข้างสูง ทางโรงพยาบาลจึงจัดทำบ้านพักฉุกเฉินให้กับผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้มาใช้บริการเลย โดยเหตุที่ผู้หญิงเองมองว่าเรื่องปากท้องของครอบครัวและการงานของสามีนั้นสำคัญกว่าเรื่องที่ตัวเองถูกตบตีเป็นไหน-ไหน พูดโดยสั้นก็คือ ผู้หญิงและชุมชนสลัมทั้งหมดมองว่าเรื่องผัวตบเมียนั้นเป็นเรื่องปรกติธรรมดา

ข่าวดีก็คือ ทีมแพทย์พบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสุขภาพแม่และเด็กในสลัมธาราวีแล้ว นั่นคือสาเหตุในระดับวิธีคิดและหรือจิตสำนึกที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมผัวตบเมีย ข่าวร้ายก็คือ การแก้ไขปัญหาในระดับวิธีคิดและหรือจิตสำนึกนั้นยากมาก คนทำงานต้องทุ่มเทมาก

คุณหมอเฟอร์นันเดซตอบรับงานที่ท้าทายนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เธอระดมทุนและก่อตั้งมูลนิธิเสน่หา (SNEHA – Society for Nutrition, Education and Health Action) โดยมีเป้าหมายที่สุขภาวะของผู้หญิงและเด็ก ซึ่งเป็นจุดคานงัดของสุขภาวะสังคมเมือง

การทำงานเริ่มจากส่งทีมนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปในชุมชนเพื่อสำรวจข้อมูลเชิงรุก แทนที่จะนั่งรอผู้หญิงที่เป็นเหยื่อถูกผัวตบวิ่งโร่ไปใช้บริการบ้านพักฉุกเฉิน และโดยเหตุที่เรื่องผัวซ้อมเมียเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและไม่มีผู้หญิงคนไหนเปิดปากพูดหรือเล่าให้ฟังโดยง่าย คนทำงานจึงต้องเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจให้กับคนในชุมชนด้วยการเข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเรื่องโภชนาการและสุขภาพ

ในขณะที่ผู้ชายไปทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงจะทำงานบ้านเลี้ยงลูกอยู่ในชุมชน เมื่อมีคนเข้าไปให้ความรู้เรื่องอาหารการกินที่ส่งผลต่อสุขภาพรวมทั้งเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ก็ชอบกันมาก เพราะส่วนใหญ่ก็มักจะไม่มีความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวและการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ ทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป

ในช่วงนั้นเอง นักปฏิบัติการทางสังคมที่เข้าไปในชุมชนก็ใช้วิธีการจัดกระบวนการให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เรื่องต่างๆ ร่วมกัน และยกระดับหัวข้อพูดคุยจากเรื่องสุขภาพ โภชนาการ อนามัยเจริญพันธุ์ ไปสู่เรื่องความรุนแรงในครอบครัว ทำให้กลุ่มผู้หญิงในชุมชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

จากนั้นก็มีการจัดกระบวนการกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชน รวมทั้งเรื่องผัวตบเมียด้วย โดยพวกผู้หญิงในสลัมธราวีจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาจับตาความรุนแรงในครอบครัว ดังเช่นกรณีหนึ่งที่ผัวทำร้ายเมีย อาสาสมัครผู้หญิงเหล่านี้ก็พาผู้หญิงที่ถูกทำร้ายไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความ เมื่อตำรวจไม่ยอมลงบันทึกแจ้งความเพราะมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว จิตอาสาผู้หญิงกลุ่มนี้ก็ล้อมโรงพักเพื่อกดดันให้มีการแจ้งความให้ได้ พอกลับมาบ้านสามีขู่ว่าจะกลับมาฆ่าด้วยการเผาบ้าน ก็มีการจัดเวรยามเฝ้าระวัง เมื่อสามียกพวกมาจะเผาบ้าน กลุ่มผู้หญิงจิตอาสาก็ช่วยกันจับตัวสามีไปส่งโรงพัก พูดง่ายๆ ก็คือ จิตอาสาผู้หญิงเหล่านี้ช่วยกันทำให้การใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับต่อไปได้อีก ทั้งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นอาชญากรรมเลยทีเดียว

ในช่วงแรก ผู้คนในชุมชนยังไม่ใคร่เข้าใจนัก กระทั่งผู้ชายที่เป็นสามีของจิตอาสาผู้หญิงเหล่านั้นก็มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เมื่อเวลาผ่านไปราวสิบปี สามีก็เริ่มเข้าใจ บางคนก็สมัครเข้ามาเป็นจิตอาสาร่วมด้วย และสถิติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็ลดลงไป เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพผู้หญิงและเด็กในชุมชนสลัมธราวี

ที่น่าสนใจก็คือ คนทำงานด้านสุขภาพผู้หญิงและเด็กอย่างคุณหมอเฟอร์นันเดซและทีมงานให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาจถือได้ว่าเป็นการใช้กระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงานด้านสุขภาพ นั่นคือ มองทะลุไปถึงรากเหง้าปัญหาสุขภาพในระดับปัจจัยเชิงวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดและจิตสำนึกของผู้คน และดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่ตรงนั้น

ในส่วนของแนวทางและวิธีการดำเนินงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว ครูใหญ่หลักสูตรพัฒนาศักยภาพนักปฏิบัติการทางสังคมเพื่อความเป็นธรรม ได้เคยอรรถาธิบายเกี่ยวกับการทำงานของมูลนิธิเสน่หาไว้ว่า คนทำงานของมูลนิธิส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางมีการศึกษา แต่การเข้าไปทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนสลัมธราวีนั้นไม่ได้เข้าไปในลักษณะสังคมสงเคราะห์ หากแต่เป็นการเข้าไปหนุนเสริมพลังอำนาจของผู้คนในชุมชนนั้น โดยเริ่มจากการออกแบบและจัดกระบวนการให้มีการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหา และมีปฏิบัติการร่วมกันที่นำไปสู่การสั่งสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อย นั่นคือ การทำให้ผู้คนตื่นรู้เข้าถึงอำนาจหรือศักยภาพภายในของตน มีความมั่นใจสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาขอความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ต่อไป เมื่อผู้คนที่มีความมั่นใจเหล่านี้รวมตัวกันได้ก็สามารถต่อรองกับอำนาจที่เหนือกว่าได้ ดังที่กลุ่มจิตอาสาผู้หญิงต่อรองกับตำรวจและผู้ชายที่แข็งแรงกว่าตัวเอง

นอกจากนี้แล้ว นักปฏิบัติการทางสังคมเหล่านี้ทราบดีว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืนจะต้องทำให้รูปแบบของงานที่สร้างขึ้นมาใหม่ ในที่นี้ก็คือ หน่วยให้บริการคำปรึกษาทางสุขภาพสำหรับชุมชน ซึ่งมีทักษะในการจัดกระบวนการหนุนเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มผู้หญิง กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบสุขภาพที่มีอยู่เดิม การดำเนินงานของมูลนิธิเสน่หาที่สลัมธราวีจึงเป็นไปเพื่อสร้างต้นแบบการทำงาน เมื่อประสบผลแล้วก็จะนำเสนอแนวคิดต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อขยายผลเชิงโครงสร้าง

การทำงานของคุณหมอเฟอร์นันเดซและมูลนิธิเสน่หาผ่านประเด็นความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม นั่นคือ ตีโจทย์ทะลุ มองเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และทำงานที่รากอันเป็นสาเหตุนั้น แม้จะยาก ในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและวิธีคิดของผู้คนและชุมชน ซึ่งคนทำงานตระหนักดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลา ความมุ่งมั่นแน่วแน่เพื่อทำงานตามวิสัยทัศน์และความเพียรไม่ย่อท้อของคนทำงาน ทำให้งานสร้างการ “เปลี่ยนแปลง” สังคมที่ฐานรากแตกต่างจากงานพัฒนาที่พึ่งพาตัวชี้วัดความสำเร็จของงาน “พัฒนา” เชิงโครงการซึ่งมุ่งเน้นผลงานที่จับต้องได้ในระยะสั้นอย่างสิ้นเชิง

อยู่กันคนละโลก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556

ช่วงนี้มีกระแสความไม่เข้าใจกันในสังคมมาก ต่างฝ่ายต่างก็ไม่เข้าใจว่าฝ่ายอื่นนั้นทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้อย่างไร ในบทบาทของสมาชิกจิตวิวัฒน์ผมก็คงจะทำได้ในแง่ของการนำเสนอมุมมองหนึ่ง ซึ่งอาจจะนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ในปัจจุบันได้บ้าง จะมีประโยชน์มากน้อยก็แล้วแต่ท่านจะเลือกรับ

ผมคงต้องพาท่านกลับไปในสิ่งที่เคยพูดถึงหลายครั้งแล้ว คือเรื่องลำดับขั้นของการวิวัฒน์จิต ซึ่งนำมาจากแนวความคิดเรื่อง Spiral Dynamics ซึ่ง แคลร์ เกรฟส์ (Clare Graves) ค้นคว้าวิจัยขึ้นในยุค ๑๙๗๐ และพัฒนาต่อโดยทีมของดอน เบ็ค (Don Beck) หลักการพื้นฐานของ “เกลียวพลวัติ” นี้บอกเอาไว้ง่ายๆ ว่า ในลำดับขั้นการวิวัฒน์จิตสำนึกของมนุษย์เรานั้น จะต้องผ่านลำดับชั้นต่างๆ ที่เรียกว่า “มีม” ซึ่งไม่ได้เป็นขั้นแบบตายตัว แต่ว่าจะสอดไขว้กันในลักษณะการแทรกสอดของคลื่น ซึ่งในแต่ละขั้นย่อมส่งผลต่อกันและกัน ถึงแม้จะข้ามผ่านระดับจิตหนึ่งไปแล้วแต่ก็มีอาการที่เรียกว่า “ข้ามพ้นแต่ปนอยู่” หมายถึงไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

ระดับดับจิตที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง เขาแบ่งออกเป็นสีครับ ในกลุ่มแรก หรือปฐมภูมิจะมีหกสีคือ “น้ำตาลอ่อน” “ม่วง” “แดง” “น้ำเงิน” “ส้ม” “เขียว” เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มพื้นฐาน และระดับทุติยภูมิคือ “เหลือง” และ “เขียวเทอร์คอยส์” เป็นกลุ่มจิตบูรณาการ (สำหรับเคน วิลเบอร์ เมื่อพัฒนางานนี้ร่วมกับเบ็ค ก็ได้นำเสนอกลุ่มที่สามหรือ ระดับตติยภูมิ ซึ่งเป็นระดับข้ามพ้นอัตตา แต่ผมจะไม่ขอพูดถึงในบทความนี้) อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย เป็นคนแรกๆ ที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดถึง โดยแปลลำดับขั้นเหล่านั้นเป็นภาษาไทย ผมขออนุญาตปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และยุคสมัย โดยผมขอเรียกจิตหกระดับแรกเป็น “สัญชาติญาณ”, “ไสยศาสตร์”, “เด็กแว๊น”, “ศรัทธาชน ”, “คนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” และ “หัวก้าวหน้า” ส่วนจิตทุติยภูมิเป็นพวกที่เริ่มจะมองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง แบ่งได้เป็นสองพวก คือ “จิตบูรณาการ” และ “จิตองค์รวม” ซึ่งมีความสุขุมกว่าจิตในกลุ่มแรก และมีน้อยคนที่สามารถวิวัฒน์จิตของตนให้มาถึงตรงนี้ได้

ปัญหาก็คือจิตหกระดับแรกนั้นไม่สามารถเข้าใจจิตของผู้ที่อยู่ในภูมิเดียวกันแต่ต่างระดับชั้นจากตนเองได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่พบว่าคนในสังคมเดียวกับเราทำไมจึงมีทั้งความคิดและพฤติกรรมที่แตกต่างจากเราราวกับอยู่คนละโลก เพราะอยู่กันคนละ ‘โลก’ จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น พวกหัวสมัยใหม่มักจะยึดเอาสิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นสรณะ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงยังมีคนบางจำพวก “งมงาย” กับเรื่องบั้งไฟพญานาค ทั้งๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแค่ปืนที่ยิงมาจากฝั่งลาว ส่วนคนรุ่นเก่าเมื่อเห็นคน “คนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” ไม่รู้ขนบธรรมเนียม ทำในสิ่งที่ “ผิดผี” หรือ “คะลำ” เช่นนั่งขวางประตู หรือใส่เสื้อใหม่เมื่อยังไม่ถึงเทศกาล ก็ขี้คร้านจะอธิบายถึงภูมิปัญญาโบราณให้ฟังถึงเหตุที่มาที่ไป เพราะพูดไปคนพวกนี้ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เลยไม่รู้ว่าใครโง่กันแน่

ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยหลายต่อหลายครั้งก็คือสงครามระหว่าง “ระดับจิต” ที่แตกต่างกัน เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่กลุ่มกระทิงแดงออกมาทำการร่วมกับลูกเสือชาวบ้าน ก็คือการร่วมมือกันระหว่างระดับจิต “เด็กแว๊น” และ “ศรัทธาชน” เพื่อกระทำรุนแรงกับนักศึกษา ซึ่งก็คือ “หัวสมัยใหม่” กับ “หัวก้าวหน้า” เด็กแว๊น นิยมการใช้กำลังในการแก้ปัญหา ส่วน “ศรัทธาชน” คือผู้ซึ่งมีความเชื่อและพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องอุดมการณ์ของตน โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ กลุ่มนักศึกษาซึ่งประกอบด้วยระดับจิตแบบ “ชนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” จะเชื่อมั่นในหลักเหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์ และ “หัวก้าวหน้า” คือพวกที่มองว่าโลกนี้ไม่มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว หรือเป็นพวกหลังสมัยใหม่ (post modern)

แล้วการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในปัจจุบัน มองในแง่ระดับจิตแล้วก็คือการต่อสู้ที่เริ่มจากคนทำงาน/คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่อดรนทนไม่ไหวต่อความอยุติธรรม ซึ่งผมเห็นว่าในตอนเริ่มต้นนั้นขบวนการนี้เกิดขึ้นจาก “ศรัทธาชน” ซึ่งมีความศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ และอิงกระแสความศรัทธาในสถาบันการศึกษาของตน ติดตามมาด้วย “ชนชั้นกลาง” หรือ “หัวสมัยใหม่” ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะเห็นว่าเรื่องนี้ผิดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนพวก “หัวก้าวหน้า” ก็ยังสงวนท่าที พยายามจะหาข้อมูลจากหลายฝ่าย ไม่พยายามจะชี้ผิดชี้ถูกในเรื่องที่เกิดขึ้น กลุ่มผู้ชุมนุมจึงมาจากหลายระดับจิต ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่บางคนในคณะแกนนำนั้นถูกล็อกเอาไว้ที่ระดับจิตแบบหนึ่ง ในขณะที่มวลชนหลายคนอยู่ในระดับจิตอีกแบบหนึ่ง เช่น แกนนำบางคนพยายาม “โหน” สถาบัน โดยหวังว่าจะได้คะแนนจากพวก “ศรัทธาชน” แต่ก็ทำให้พวกกลุ่ม “ชนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” และ “หัวก้าวหน้า” เกิดความรู้สึกรำคาญ หรือเมื่อการต่อสู้เรียกร้องถูกเบี่ยงเบนจุดประสงค์ไปเป็นการล้มล้างรัฐบาลในทุกรูปแบบ บรรดาพวกหัวสมัยใหม่ที่ชอบหลักการและเหตุผลก็รับไม่ได้ ครั้นพอแกนนำจะถอยหลังกลับไปใช้กลยุทธ์ที่เคยใช้ได้เมื่อช่วงการชุมนุมในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ คือการกระตุ้นระดับจิต “ไสยศาสตร์” เช่น การเผาพริกเผาเกลือ การสาปแช่ง การใช้โหราพยากรณ์ หรือโหนกระแสพระสยามเทวาธิราช ก็ไม่น่าจะใช้ได้กับการชุมนุมในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วยคนวัยทำงานซึ่งยึดในเรื่องการพิสูจน์ด้วยหลักเหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์

การปลุกม็อบชนม็อบ แบบการชุมนุมในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ก็ทำได้ยาก เพราะผมเชื่อว่าคนไทยที่อยู่ในระดับจิต “เด็กแว๊น” ก็วิวัฒน์ไปมาก เพราะเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง เห็นความสูญเสียที่เกิดจากการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ผมเชื่อว่าหลายกลุ่มเริ่มผันตัวเองไปสู่จิตระดับที่สูงขึ้น เช่นหันกลับมามีศรัทธากับกระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการสันติวิธี การไม่ยอมให้มีรัฐประหาร อีกทั้งไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือง่ายๆ เพราะเริ่มหันมาใช้เหตุใช้ผล ซึ่งเป็นอาการของจิตในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม

ที่พูดมานี้จัดว่าแบ่งโดยหยาบ เพราะต้องไม่ลืมว่าแม้แต่จะอยู่ในระดับจิตเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าจะเห็นตรงกันในทุกเรื่อง เช่น ศรัทธาชน ถ้าหากศรัทธากันไปคนละเรื่องก็คงจะคุยกันไม่รู้เรื่อง จะเป็นมิตรกันหาได้ไม่ ที่บอกว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ใช้ได้ผลในตอนที่ยังสงวนจุดต่าง แต่ถ้านำจุดต่างออกมาห้ำหั่นกันเมื่อใด จุดร่วมที่ว่าก็เปราะบางจนช่วยเหลืออะไรไม่ได้

ถ้าหากยังมีการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างระดับจิตทั้งหก ไม่เว้นแม้แต่ในระดับจิตเดียวกัน แล้วจะมีวิธีการใดบ้างเพื่อหลีกเลี่ยง หรือนำพาสังคมไปสู่ความสงบสุข ทางออกของเกลียวพลวัติก็คือ จะต้องยกระดับจิตให้ขึ้นไปถึงระดับทุติยภูมิให้ได้ คือ “จิตบูรณาการ” ซึ่งมี “สีเหลือง” และ “เขียวเทอร์คอยส์” จิตทั้งสองประเภทนี้ได้ข้ามพ้นจิตปฐมภูมิซึ่งยังยึดเอาตัวเองเป็นใหญ่ จิตทุติยภูมิถ่ายถอนความเป็นตัวกูของกูออกไปได้บ้างแล้ว จนเป็นจิต “ใหญ่” ที่มีเมตตากรุณาในระดับที่เห็นองค์รวม หรือบูรณาการเป็นสารัตถะและเป็นกิจอันสำคัญ จิตระดับนี้จึงมีความเข้าใจ เห็นใจจิตปฐมภูมิทุกระดับที่ผ่านมาอย่างลุ่มลึก ไม่ใช่แค่ยึดความดีและนำความดีของตนไปกดทับผู้อื่น

ในทุกศาสนามีคำสอนเรื่องการเจริญคุณธรรมด้านนี้ ทางพุทธมีเมตตาบารมี ทางคริสต์มีความรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ทางอิสลามมีธรรมนูญสอนให้มนุษย์อยู่กันอย่างมิตร ไม่ว่าจะเป็นศาสนิกชนหรือไม่ ถ้าหากสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ส่งเสริมความรักในเพื่อนมนุษย์ และเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งต่างๆ ไม่มองอย่างแยกส่วน นั่นก็แสดงว่าคุณกำลังก้าวไปสู่การวิวัฒน์จิตไปสู่ระดับทุติยภูมิ ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือทางรอดเพียงอย่างเดียวของมนุษยชาติ

เด็กได้อะไรจากปฏิรูปการศึกษา



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556

การปฏิรูปการศึกษาใดๆ ควรเตือนตนเองเสมอว่าทำไปเพื่อเด็กนักเรียน จึงต้องถามตนเองเสมอว่าเด็กๆ ได้อะไร

การปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงฯ ปฏิรูปครู ปฏิรูปสื่อการสอน ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการสอบวัดผล ปฏิรูปการตรวจคุณภาพโรงเรียน รวมทั้งการลดจำนวนเวลาเรียน เหล่านี้ทำไปเพื่อเด็กๆ ทั้งสิ้น จึงควรหาคำตอบให้ได้ว่าในท้ายที่สุดแล้วเด็กได้อะไร

แต่กว่าจะได้คำตอบว่าเด็กได้อะไรมักใช้เวลานาน หลายครั้งเราไม่ได้ประเมิน


มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ร่วมกับโรงเรียนจำนวนหนึ่งประกอบด้วยกลุ่มโรงเรียนทางเลือกและกลุ่มโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางแผนร่วมกันที่จะปฏิรูปการศึกษาโดยเริ่มด้วยการแสดงผลลัพธ์ว่าเด็กได้อะไรตั้งแต่ต้น ในทางปฏิบัติคือมาบอกเล่ากันตั้งแต่แรกว่าเด็กนักเรียนได้อะไร

ปัจจุบันนี้ โรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนในระบบจำนวนหนึ่งมีการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า “สอนน้อยได้มาก” หรือ “teach less learn more” อยู่ก่อนแล้ว นั่นคือลดชั่วโมงการสอนแบบดั้งเดิมและจัดการเรียนการสอนแบบที่เรียกว่า “การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน” หรือ “problem-based learning: PBL” แทน บ้างเรียกว่า “การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน” หรือ “project-based learning”


การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานควรประกอบด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้

๑.โจทย์ปัญหานั้นสัมพันธ์กับชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่

๒. มีการแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้ทำงานเป็นทีม

๓. สมาชิกของแต่ละกลุ่มมีความหลากหลายในทุกมิติ เช่น เชาวน์ปัญญา ผลการเรียน เศรษฐานะ ชาติพันธุ์ เป็นต้น

๔.ในกระบวนการหาคำตอบเปิดโอกาสให้นักเรียนต้อง “ลงมือทำ” ดังที่เรียกว่า “การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ” หรือ “active learning: AL” ดังนั้นการไปทัศนศึกษาหรือการเข้าห้องสมุดทำรายงานจึงยังมิใช่การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน

๕. มุ่งเน้นกระบวนหาคำตอบมากกว่าตัวคำตอบเอง ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าโลกที่ซับซ้อนนี้ไม่เคยมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว

๖. ไม่ละทิ้งวิชาพื้นฐาน ๓ วิชา คือ การอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสมองโดยตรง

๗. ควรบูรณาการเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย และภาษาอังกฤษเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อคงความเป็นเลิศทางวิชาการ

๘. ควรตอบสนองวิชาอนาคต ๔ วิชาซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ นั่นคือความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ ความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม และวิชาความเป็นพลเมือง กล่าวคือเราจัดการศึกษาก็เพื่อให้เด็กๆ มีสุขภาวะที่ดี มีเงินใช้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับความแตกต่าง

๙. ไม่มุ่งเน้นมอบความรู้ แต่มุ่งเน้นมอบทักษะ ๓ ประการคือ ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ และทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการใช้เครื่องมือไอทีอย่างชาญฉลาด

๑๐. จะต้องมีการประเมินผลหลังปิดโครงการเสมอ ดังที่เรียกว่า after action review (AAR) เพื่อตอบให้ได้ว่านักเรียนได้อะไรและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

๑๑. ครูที่มีประสบการณ์จัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานจะต้องมีกลุ่ม after action review เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีการศึกษา

๑๒. สุดท้าย สามารถพิสูจน์ได้ว่านักเรียนพัฒนาตนเองไปเป็นบุคคลที่มีทักษะชีวิตที่ดี มีความใฝ่รู้และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จากทุกสถานที่และเวลา

ในความเป็นจริง โรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนในระบบที่จัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานไม่สามารถสร้างโจทย์ปัญหาที่ดีที่สุดครบทั้ง ๑๒ องค์ประกอบสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปีด้วยตนเอง แต่ก็ดีกว่าการสอนอย่างแข็งกระด้างและมุ่งมอบความรู้จำนวนมากดังที่โรงเรียนส่วนใหญ่ทำกันอยู่ โรงเรียนเหล่านี้ควรมีเครือข่ายช่วยเหลือกันพัฒนาโจทย์ปัญหาที่ดีที่สุด

ดังนั้นมูลนิธิสดศรีฯ จึงเชิญชวนโรงเรียนในภาคีเครือข่ายมาแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิธีออกแบบการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานให้แก่นักเรียนตามที่เป็นจริง ให้ครูที่ได้ทำงานนี้จริงๆ ได้บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่นักเรียนของตนเป็นรายบุคคล นั่นคือ “เด็กได้อะไร”

จากการแลกเปลี่ยนตามด้วยการเรียนรู้ โรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนในระบบที่เข้าร่วมงานกับมูลนิธิฯ จะได้เรียนรู้การจัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานของกันและกันอย่างละเอียด เพื่อให้ได้แนวคิดในการปรับปรุงการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานที่มีอยู่ให้มีองค์ประกอบที่ดีที่สุด

โดยมีนักวิชาการศึกษาที่เข้าใจแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ทักษะ ๓ ประการของเด็ก ทำหน้าที่จดบันทึก ยืนยันงานที่ครูทำ ตีความ และวิเคราะห์การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานนั้นอย่างเป็นระบบ

การปฏิรูปการศึกษาที่มูลนิธิฯ และโรงเรียนเครือข่ายพยายามช่วยเหลือตนเองนี้ เริ่มดำเนินงานโดยไม่มีทุนสนับสนุน แต่มีความตั้งใจจะช่วยกันปฏิรูปการศึกษาประเทศไทยโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และลงมือทำตั้งแต่วันแรกภายใต้คำถามว่า “เด็กได้อะไร”

การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จะสำเร็จได้ โรงเรียนหรือคุณพ่อคุณแม่ควรเป็นฝ่ายลุกขึ้นเรียกร้อง และร่วมมือผลักดันให้โรงเรียนที่ยังจัดการสอนแบบเดิมเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้เสียใหม่

โรงเรียนทางเลือกหลายแห่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลผลิตคือนักเรียนที่ดี แต่ติดขัดที่ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายยังสูงเกินกว่าที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ของประเทศจะรับได้ ดังนั้นเราควรเรียกร้องและผลักดันให้โรงเรียนในระบบทั้งหมดเปลี่ยนตนเองเป็นโรงเรียนทางเลือกที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน

เป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมด้านการศึกษาโดยมีผลลัพธ์ที่ดี

เชื่อมโยง นพลักษณ์ ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) จิตวิทยา พุทธธรรม



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556

นพลักษณ์ มีความเย้ายวน เหมือนวิชาหมอดู แต่ไม่ถึงกับทำนายอนาคต ตรงที่ทำให้คนเราสามารถมีเงื่อนไขให้ได้พูดถึงตัวเอง และคนเราก็ชอบพูดถึงตัวเอง

จริงๆ แล้วนพลักษณ์เป็นการมาพบกันของศาสตร์โบราณกับจิตวิทยา เหมือนกับนักจิตวิทยารุ่นเก่าชั้นเซียน ที่เป็นทั้งปราชญ์และผู้ฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ได้นำเอาความพร่องของมนุษย์ในแบบต่างๆ หลอมรวมเป็นลักษณ์ทั้งเก้า ในปัญญาสามฐาน คือฐานกาย-สัญชาตญาณ ฐานใจ-อารมณ์ความรู้สึก และฐานหัว-ความคิด น่าจะเป็นทั้งการสังเกตธรรมชาติของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และศึกษาความพร่องทางจิตวิทยาของฐานต่างๆ อีกด้วย

มีการนำเสนอนพลักษณ์ในแนวทางที่ว่า ลักษณ์ต่างๆ แท้จริงคือกับดัก และการนำเสนอนพลักษณ์ที่แท้จริง คนสร้างมันขึ้นมา ต้องการให้เราหลุดออกจากกับดักทางจิตวิทยาของตัวเอง น่าสนใจที่ฐานทั้งสามคือ โลภ โกรธ หลงนั้นเอง โดยฐานคิดหลงและติดอยู่กับความกลัว ฐานใจติดอยู่กับความอยากหรือความโลภ และฐานกายมีปัญหากับเรื่องความโกรธ

จะเห็นว่า ในระดับโดยเฉลี่ยและป่วย (unhealthy) ของแต่ละลักษณ์นั้น คำทำนายบุคลิกภาพจะเที่ยงตรงมาก และทั้งหมดมีร่องรอยของความพร่องทางการเชื่อมโยงของสมองด้วย ความพร่องทางจิตวิทยาเหล่านี้ คือการที่สมองเติบโตหรือไม่เติบโตอย่างขาดสมดุล และได้เกิดความพร่องทางกายภาพที่ปรากฏอยู่ในเนื้อสมอง ในวงจรของสมองด้วย

แต่หากได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาในระดับแข็งแรง (healthy) คนคนนั้นจะกลับมาเป็นบุคลิกภาพแบบปะปนและข้ามลักษณ์ ซึ่งในระบบนพลักษณ์จะมีปีกและลูกศรอยู่ด้วย คือความเป็นลักษณ์ค่อยๆ เบลอ ค่อยๆ จางกลายเป็นการพัฒนาระดับจิตวิญญาณ ซึ่งเอาเข้าจริงคือการหลอมรวมปัญญาสามฐานเข้ามาเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน


ประโยชน์ชั้นต้นของนพลักษณ์

ประโยชน์ชั้นต้นของนพลักษณ์จะคล้ายประโยชน์ของผู้นำสี่ทิศ เหมือนกัน ในแง่ที่ว่ามันทำให้เราเห็นว่า คนแต่ละคนนั้นต่างกัน ไม่ใช่จะไปเปลี่ยนให้ทุกคนมาเหมือนตัวเอง

เมื่อเรียนนพลักษณ์จนเข้าใจรายละเอียดอันสุขุมมากขึ้น ก็อาจจะเห็นวิธีปฏิบัติกับคนอื่นๆ ที่มีลักษณ์แตกต่างไปจากเรา และไม่เหมาเอาว่า พวกเขาต้องรับรู้ ตอบสนองเหมือนกับเรา ความแตกต่างจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ และที่สำคัญเราจะตื่นรู้ที่จะรับรู้ถึงความแตกต่างเหล่านั้นมากขึ้น ไปถึงขั้นยอมรับความแตกต่างได้ และเลือกที่จะออกจาก "ความเป็นปฏิกิริยา" ไปสู่การตอบสนองด้วยสติปัญญาและความรัก

นี่เป็นอีกหนึ่งหนทางของการฝึกการตื่นรู้ในทางพุทธธรรมได้ไหม?


ตัวตนในวอยซ์ไดอะล็อค

วอยซ์ไดอะล็อค ไม่แบ่งเป็นลักษณ์ หรือเป็นแบบแผนของตัวตนต่างๆ แต่บอกว่าเราทั้งหมด คือแต่ละคน ประกอบด้วยบุคลิก หรือส่วน หรือเสี้ยวส่วนต่างๆ ที่ก่อประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา เช่นลูกจีนอาจจะมีตัวขยัน ส่วนลูกไทยจะมีตัวสบายๆ แล้วจะเห็นได้ว่าสองตัวนี้ ตัวขยันกับตัวสบายๆ เป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นหยินกับหยาง วอยซ์ไดอะล็อคเป็นทฤษฎีที่แสวงหาความสมดุล และแสวงหาความเป็นอิสระจากตัวตนหรือบุคลิกภาพต่างๆ ที่ครองเราอยู่เช่นเดียวกับที่กล่าวถึงไปแล้วในกรณีนพลักษณ์ ซึ่งในที่สุดแล้วเราต้องการพ้นไปจากการกักกันของลักษณ์

ในวอยซ์ไดอะล็อคจะบอกว่า เราจะเอียงข้างไปทางใดทางหนึ่งมาก และติดอยู่ตรงนั้นได้เหมือนกัน เช่น ติดกับตัวขยัน และหากขยันมากๆ มันไม่เพียงขยัน แต่มันบ้างานจนเครียด ผลักดันตัวเองจนป่วยไม่สบายก็มี เป็นต้น เช่นเดียวกัน พวกรักสบายก็อาจจะผ่อนคลายจนเกินพอดี ไม่ทำมาหากินเป็นเรื่องเป็นราว ก็อาจจะมีปัญหาความอยู่รอดได้


พัฒนาการของตัวตนต่างๆ ในวอยซ์ไดอะล็อค

ตัวตนต่างๆ ในวอยซ์ไดอะล็อคมีส่วนคล้ายลักษณ์ในเรื่องพัฒนาการ มีระดับแข็งแรง ป่วย และ โดยเฉลี่ย เหมือนๆ กันกระมัง ตัวตนหลัก (primary selves) ต่างๆ นั้นมีที่มา คือพวกเขามาปกป้องเด็กน้อยผู้เปราะบาง (นี้เป็นเรื่องใหญ่ในวอยซ์ไดอะล็อคอีกเรื่องหนึ่ง คงยังไม่ขยายความในบทความสั้นๆ นี้) หากตัวตนหลักต่างๆ มาด้วยอาการปกป้องมากน้อยแค่ไหน ก็จะอยู่แบบปกป้องหรือปกติ แข็งแรงหรือป่วย มากน้อยแค่นั้นเช่นกัน

หากป่วยมาก ปกป้องมาก เราก็จะยึดฉวย กอดรัดตัวตนนั้นๆ บุคลิกนั้นๆ ไว้หนาแน่นมาก อันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในนพลักษณ์นั้นเอง

วอยซ์ไดอะล็อคมีวิธีการพัฒนาเพื่อให้เกิด aware ego ซึ่งคำว่า ego ไม่ได้แปลว่าอัตตาตัวตนที่ใช้ในพุทธศาสนา แต่แปลว่า ผู้กระทำการ หรือ การกระทำการ มากกว่า ที่มาก่อเกิดความตื่นรู้ ความรู้เท่าทัน หรือจะเรียกว่าตัวรู้ก็ได้ วอยซ์ไดอะล็อคต้องการพัฒนาตัวรู้นี้ให้ รู้ ตื่นรู้ รู้เท่าทัน และสามารถ "แยก" (separate) ออกจากตัวตนหลัก แยกออกจากไม่ได้หมายความว่า ทิ้งไป เราไม่ทิ้งตัวตนหลัก แต่เมื่อเราเป็นอิสระจากตัวตนหลักได้เท่าไร ตัวตนหลักก็จะแข็งแรงได้มากเท่านั้น และเราเป็นผู้เลือกใช้ ไม่ได้เป็นทาสตัวตนหลักอีกต่อไป


จิตวิทยากระบวนการและพุทธธรรม

จิตวิทยากระบวนการ (process psychology) ของอาร์โนลด์ มินเดล ยิ่งให้อิสรภาพมากขึ้นไปอีก คือแทนที่จะกล่าวถึงส่วนต่างๆ ด้วยตัวตนต่างๆ กลับกล่าวถึงส่วนต่างๆ ในนามของกระบวนการ คือเห็น ส่วนต่างๆ เป็นพลวัตมากขึ้นไปอีก

ส่วนพุทธธรรมตั้งอยู่บนฐานของความไม่มีตัวตนตั้งแต่แรก แต่ไประบุ หรือใส่ชื่อให้กับองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นกระบวนการต่างๆ อันกำลังเป็นไปในจิตของเรา ที่ประชุมกันขึ้น เป็นครั้งๆ คราวๆ ไป เช่น ตัวโกรธ ตัวเมตตา ตัวสมาธิ ตัวสติ เป็นต้น อภิธรรมบ้านเราเรียกว่าเจตสิก ทางมหายานเรียกพีชะ ที่อาจจะแปลว่าเมล็ดพันธุ์ก็น่าจะได้

ในความเข้าใจแบบพุทธธรรม การเคลื่อนย้าย แปรเปลี่ยน และการประชุมพลกันขึ้น ของพีชะ หรือเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ ผมได้อาศัยหนังสือ Understanding Our Mind ของหลวงปู่นัทฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม หรือฉบับแปลของ ส. ศิวรักษ์ ที่ใช้ชื่อว่า สู่ชีวิตอันอุดม เป็นหลัก ช่วงหลังมานี้ ผมกลับเอามาเทียบเคียงกับแนวคิดเรื่องจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกในประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) อีก อย่างสนุกสนาน โดยเทียบให้อัตโนมัติที่หลับใหลอันเราไปหลงยึดเป็นตัวเป็นตนของเราว่าเป็น "มนัส" และการตื่นรู้เพื่อสร้างอัตโนมัติที่ตื่นรู้ ว่าเป็นอิสรภาพที่ "มโนวิญญาณ" หรือ จิตสำนึก จะทำงานได้อย่างไร้ขอบเขตเงื่อนไขจำกัดโดยตรงกับ "อาลัยวิญญาณ" หรือจิตไร้สำนึกร่วม (collective unconscious)

ซึ่งคงจะต้องเขียนถึงในโอกาสต่อไป


1 ศาสตร์แห่งการรู้จักตนเอง แบ่งอุปนิสัยของคนออกเป็น ๙ ลักษณ์ หรือนพลักษณ์ (http://www.enneagramthailand.org)

กล้าที่จะสอน (The Courage to Teach)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

ในที่สุด หนังสือ กล้าที่จะสอน ที่ พาร์คเกอร์ พาล์มเมอร์ เขียน ก็ได้รับการตีพิมพ์ในภาษาไทย (โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) และออกวางตลาดแล้ว หลังจากที่หลายคนรอคอยมาหลายปี หนังสือเล่มนี้ พาล์มเมอร์เขียนมาจากประสบการณ์ของความเป็นครูที่ยาวนานถึง ๓๐ ปี และใช้เวลาเขียนถึง ๑๐ ปี เรียกได้ว่าเป็นการเจียระไนประสบการณ์มาเป็นเรื่องเล่าและแนวคิดที่มีพลังอย่างยิ่ง

เมื่อผมได้เปิดอ่านเมื่อหลายปีก่อนถึงกับวางไม่ลงเลยทีเดียว เพราะเขียนได้อย่างเปิดเผยและลงลึกถึงแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และความเป็นครู รวมทั้งนำเสนอมุมองที่ลึกซึ้งในเรื่องการสอนที่สร้างความมนุษย์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือเล่มสำคัญในการนำเสนอทางออกให้กับการปฏิรูปการศึกษาของสังคมโลกอย่างเป็นรูปธรรม (ทำได้จริง) และรักษาจิตวิญญาณเดิมแท้ของการศึกษาไว้ได้อย่างสง่างาม

หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ การฟื้นฟูและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของครู ที่อาจตกหล่น เหือดหายไปในระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเพียงแต่เป้าหมายเชิงรูปธรรม ผลลัพธ์ที่วัดผลได้เท่านั้น และการเติบโตทางวิชาชีพ

พาล์มเมอร์พูดถึงหัวใจความเป็นมนุษย์ที่รู้จักและเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น รวมทั้งความใฝ่ฝันและ เป้าหมายของตัวเอง (identity) และมีความซื่อตรงต่อตัวเอง (integrity) โดยกล้าใช้ชีวิตตามความเชื่อ ความฝันและแรงบันดาลใจภายใน อย่างไม่กดข่มเพื่อสยบยอมกับระบบการศึกษาที่กำลังเป็นไปอย่างลุ่มหลงเมามันกับวัตถุภายนอกโดยละเลยคุณค่าของจิตใจ

นอกจากนั้น พาล์มเมอร์ก็ยังพูดถึงตัววิชาความรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่จำต้องได้รับการปรับปรุงฟื้นฟู โดยเอา “ชีวิต” หรือ “สิ่งที่เรียน” เป็นตัวตั้ง มากกว่า “ข้อมูล” เกี่ยวกับ “สิ่งที่เรียน” ที่เราเรียกว่า “ความรู้” เป็นตัวตั้ง ยิ่งอิทธิพลของแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ถือเอาเหตุผลและสิ่งที่วัดผล จับต้องได้ทางรูปธรรมเป็นตัวตั้งในระบบการศึกษา ก็ยิ่งทำให้ผู้เรียนมอง “สิ่งที่เรียน” ว่าเป็นเพียง “วัตถุ” หรือ “วิชา” มากกว่าการเข้าถึงแก่นสารของสิ่งที่ศึกษา จนถึงกับต้องตัดเอา “ความรู้สึก” ส่วนตัวออกไปจากกระบวนการเรียนรู้แทบทุกแขนงเลยทีเดียว เมื่อไม่รู้สึกก็ไร้ความสัมพันธ์ เมื่อไร้ความสัมพันธ์ ชีวิตก็แบ่งแยกและแห้งแล้ง

ในหัวข้อข้างต้น มีรายละเอียดที่ลึกซึ้งมาก แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจ หากเราต้องการฟื้นฟูหรือปฏิรูปการศึกษาให้กลับมามีพลัง มีส่วนร่วม มีชีวิตชีวา และส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนค้นพบศักยภาพภายในตัวเอง และรู้ตำแหน่งหน้าที่ รวมถึงคุณค่าที่ตัวเองมีต่อสังคมอย่างถ้วนหน้า อย่างไม่เลือกเฟ้นเฉพาะ “เด็กเก่ง” แบบ “แพ้คัดออก” แล้วสร้าง (แล้วทิ้ง) เด็กที่รู้สึกด้อยค่าที่กลายเป็นเหยื่อจำนวนมากของระบบการศึกษา

เรื่องที่สาม ที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้สองหัวข้อแรก คือการสร้างชุมชนและองค์กรที่ส่งเสริม หล่อเลี้ยง การเรียนรู้ของครูและนักเรียน ที่มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตร สร้างสรรค์และเป็นธรรม มากกว่าการบริหารจัดการแบบอำนาจนิยมที่ยึดเอาวาระของตัวเองเป็นหลักและไม่พยายามรับรู้ความต้องการของครู

อุปสรรคในเรื่องวัฒนธรรมและการบริหารจัดการขององค์กรแบบเก่านี้ พบได้หลากหลาย ไม่จำเพาะองค์กรทางการศึกษาเท่านั้น องค์กรประชาชน ภาครัฐและภาคธุรกิจอื่นๆ ก็มีลักษณะโครงสร้างอำนาจคล้ายๆ กัน และก่อให้เกิดผลกระทบคล้ายๆ กัน นั่นคือสร้างช่องว่างในความสัมพันธ์และปิดกั้นการสื่อสาร แบ่งพรรคแบ่งพวก ปกป้องอาณาเขตตัวเองภายใต้อิทธิพลของความกลัว จนส่งผลถึงแรงบันดาลใจในการสอนหรือการทำงานของสมาชิกในองค์กร

สิ่งที่ผมชอบมากเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือ นอกจากผู้เขียนจะเขียนจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ของครู และนักการศึกษาที่เขาได้พูดคุยสัมภาษณ์มาเป็นจำนวนมากในอเมริกาแล้ว เขายังเสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเขาเองก็ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ตัวเองและเพื่อนๆ ตั้งใจไว้แล้วอย่างได้ผลยิ่ง จนมีงานวิจัยแสดงถึงผลลัพธ์ดังกล่าวออกมา และมีเครือข่ายของศูนย์เพื่อการฟื้นฟูกำลังใจและความกล้า ที่มีชื่อว่า Center for Courage and Renew ที่ไม่เพียงจัดโปรแกรมฟื้นฟูกำลังใจให้กับครูเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปถึงผู้คนในวิชาชีวิตอื่นๆ ด้วย โดยมีการจัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๒ ปีต่อหนึ่งรุ่น (รุ่นละ ๓๐ คน) จนทำให้เกิดชุมชนกัลยาณมิตรที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ “ไม่แบ่งแยก” แต่สอดคล้องกับธรรมชาติภายในของตัวเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

จากข้อสังเกตของพาล์มเมอร์ แยกแยะลำดับของการแปรเปลี่ยนระบบการศึกษาไว้ ๔ ระยะ ได้แก่

ระยะที่ ๑ บุคลากรทางการศึกษาตระหนักรู้ถึงพลังและคุณค่าภายในตัวเอง และเลือกที่จะใช้ชีวิต อย่างสอดคล้องกับคุณค่าและแรงบันดาลใจนั้น

ระยะที่ ๒ สร้างชุมชนและเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มของผู้ที่เลือกจะใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติภายในของตัวเอง สนับสนุนและฝึกฝนทักษะในการสื่อสารเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

ระยะที่ ๓ เปิดตัวและสื่อสารต่อสาธารณะในวงกว้างออกไป เพื่อเชื้อเชิญให้เกิดการมีส่วนร่วมที่แพร่หลายมากขึ้น โดยไม่กล่าวโทษหรือทำลายใคร

ระยะที่ ๔ สร้างระบบทางเลือกที่เกื้อกูลและตอบแทนหน้าที่และวิชาชีพใหม่ที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา

หนังสือเล่มนี้ได้เสนอสิ่งที่อาจถูกละเลยในการปฏิรูปการศึกษา นั่นคือ หัวใจของครู ท่ามกลาง บรรยากาศของความวุ่นวาย ความเหนื่อยหน่ายและสิ้นหวังของการปฏิรูปการศึกษา การเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ อาจจะเกิดจากจุดเล็กๆ ในพื้นที่ของการดูแลจิตใจของครู ที่อาจไม่ใช่ “การอบรม” ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเรื่องเทคนิคการสอน การวัดผลประเมินผล หรือการใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ หรืออบรม “คุณธรรม” ที่มีมากมายก่ายเกลื่อนอยู่แล้ว แต่เป็นดูแลใส่ใจ ส่งเสริมการสำรวจและเรียนรู้โลกภายในชีวิตครู เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์การสอนที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

ความรักและเมตตา เป็นสิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2556

เมื่อวันที่ ๙ - ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา มีงานประชุมวิชาการที่เกี่ยวกับสุขภาวะของคนสองงาน งานแรกคือ อรุโณทัยแห่งหัวใจที่เยียวยา (Dawn of Palliative Care) จัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ งานที่สองคือ การประชุมนานาชาติ The 10th Asia-Pacific Hospice Conference (APHC 2013) จัดที่บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทรัลเวิลด์ มีผู้มาเข้าร่วมประชุมในงานแรกเกือบหกร้อยคน และในงานที่สองมีกว่าพันคน ทั้งสองงานนี้มีสาระทางวิชาการเหมือนกันคือ “การบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Palliative Care

ถึงแแม้จะเป็นงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้มาเข้าร่วมส่วนใหญ่กลับมิใช่แพทย์ หากแต่มีพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร ทันตแพทย์ บุคลากรสุขภาพสาขาอื่นๆ และมีประชาชนหลายสายอาชีพที่สนใจมาเข้าร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีแม้กระทั่งนักบวช พระ นักการศาสนา มาเข้าร่วมด้วย แสดงว่าเนื้อหาสาระของหัวข้อนี้ มิได้ถูกจำกัดวง หรือถูกรับรู้ว่าเป็นวิชาจำเพาะของแพทย์แต่อย่างใด กลับเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สนใจ ใครๆ ก็รู้สึกว่า “นี่เป็นเรื่องของฉัน ฉันก็มีอะไรที่ต้องทำกับเรื่องนี้”

ไม่ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะพัฒนาก้าวหน้าไปเพียงไร สัจจธรรมคือมนุษย์มิได้เป็นอมตะ ทุกคนต้องตาย ความตายอยู่รอบตัวเรา เกิดขึ้นทุกขณะจิต ทุกแห่งทุกหน เพียงแต่ว่าเราจะ “เลือก” ที่จะมองเห็น ได้ยิน และให้ความสนใจหรือไม่เท่านั้น ที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์กระทำ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นมองเห็นอะไร ได้ยินอะไร และให้ความหมายว่าอย่างไรทั้งสิ้น แต่ที่เราไม่ได้สนใจในบางเรื่องตลอดเวลา เพราะว่ามนุษย์สามารถเลือกได้ บางเรื่องทำให้เราสบายใจมีความสุข เราก็อยากจะอยู่กับเรื่องนั้นเป็นเวลานานๆ บางเรื่องทำให้เราจม และอยู่กับความทุกข์ เราอาจไม่อยากจะคิดถึง ไม่อยากจะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกนั้น เราก็หนีออกมาจากที่นั้นเสีย

ทว่าเมื่อเราจัดการประชุมขึ้น พลังประการหนึ่งของงานประชุมคือ “พลังมวลชน” จะมีผู้ที่สนใจมารวมกันอยู่ในที่แห่งเดียว มนุษย์นั้นหยิบยืมพลังชีวิตจากกันและกันได้เสมอ และเมื่อมีคนที่คิดเหมือนเรา สนใจในเรื่องคล้ายกับเรา จะพบว่าพลังของเราสามารถเพิ่มขึ้นได้ และในเรื่องบางเรื่อง พื้นที่บางแห่ง อารมณ์ความรู้สึกบางประการที่เราอาจจะไม่กล้าเข้าไปค้นหา เราจะพบว่าพลังที่เพิ่มขึ้นมาจากการอยู่รวมกันหลายๆ คน จะทำให้เราสามารถครุ่นคิดและใคร่ครวญในเรื่องเหล่านั้นขึ้นมาได้

เมื่อมนุษย์เลือกที่จะใช้เวลาทุ่มเทใคร่ครวญกับเรื่องราว จิตอันละเอียดอ่อนที่ทุกคนมี ค่อยๆ คลี่สยาย สัมผัสกับบางแง่มุมที่เราไม่เคยสนใจ ไม่เคยเห็นมาก่อน วลีสั้นๆ บางคำเมื่อเราใช้จินตนาการสานต่อ ภาพคนเบื้องหน้าเราก็เปลี่ยนแปลงไป

“ผมเป็นทหารเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีก่อน ได้รับบาดเจ็บจนต้องลาออก” คำพูดของคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายชาวอเมริกันคนหนึ่ง ที่ดูเผินๆ เหมือนกับเป็นเพียงวลีสั้นๆ แต่อาจารย์หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ชวนผู้เข้าร่วมประชุมจินตนาการถึงภาพอดีตทหารอเมริกันที่ปฏิบัติงานในสงครามเวียดนาม เกร็ดรายละเอียดของความโหดร้ายในสงครามที่พวกเราเคยได้รับรู้ จากข่าวสารบ้าง จากภาพยนตร์บ้าง ทำให้พวกเราเริ่มมองเห็นที่มาของความรู้สึก และการกระทำบางประการของผู้ป่วยทหารเก่ารายนี้ รวมไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเขาเมื่อวาระสุดท้ายกำลังใกล้เข้ามา

ในงานประชุมนานาชาติ APHC 2013 มีผู้มาเข้าร่วมจาก ๒๔ ประเทศทั่วโลก หลากหลายสาขาอาชีพ ไม่เพียงแต่การงานที่แตกต่างกัน แต่พื้นฐานชีวิต ฐานะ การศึกษา ศรัทธาและความเชื่อก็มีความหลากหลายที่สุด แต่เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมเข้ามารับฟังคำบรรยายของพระไพศาล วิสาโล เรื่องราวของวิถีพุทธในการเผชิญกับความทุกข์ที่สุดแห่งชีวิต ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถที่จะฟังอย่างตั้งใจ อย่างมีสมาธิ ความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา มิได้เป็นอุปสรรคต่อมนุษย์ในการที่จะสัมผัสกับเรื่องราวที่ทุกๆ สังคมพบเห็นกันเป็นประจำแต่อย่างใด นั้นคือ ความตาย และชีวิตที่ดำเนินมาถึงระยะท้าย

สิ่งที่เกิดขึ้นในงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ “ความรู้” เท่านั้นที่มีการแลกเปลี่ยน แต่ “ภูมิปัญญา” ที่แฝงเร้นในเรื่องราวมากมายที่ผู้เข้าร่วมนำพามาด้วย ทำให้เกิดการเติบโตหลายมิติในตัวบุคคล และบางคนก็ได้รับการเยียวยาจากเรื่องราวเหล่านี้ หลายคนกลับไปพร้อมกับประกายตาที่แจ่มใสขึ้น มุ่งมั่นมากขึ้น แม้ความยากลำบากที่รอคอยอยู่จะไม่น้อยลงไป แต่ทว่ามีการค้นพบว่า บนเส้นทางการดูแลเพื่อนมนุษย์นั้น เรามิเคยอยู่โดดเดี่ยวหรือทำอยู่เพียงลำพังเลย มีอะไรอีกมากที่เราจะได้เรียนรู้ มีเพื่อนอีกไม่น้อยที่เรายังจะได้พบเจอ และสัจจธรรมข้อหนึ่งที่ทุกคนได้รับทราบก็คือ คนทุกคนมีสิทธิที่ได้รับความรัก ความเมตตา ความเกื้อกูลจากกันและกัน ทั้งจากสมาชิกในครอบครัว จากเพื่อนบ้าน จากสังคมทุกสังคม เป็นหน้าที่ของคนทุกคนในสังคมที่จะต้องตระหนักรู้ว่า ความทุกข์ หรือสุขภาวะนั้น มิได้เป็นเรื่องของหน่วยงานใด หรือใครบางคน แต่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสะท้อนว่าจิตสำนึกของคนในสังคมนั้นๆ รับรู้ถึงหน้าที่ของตนเองแล้วหรือไม่ และเมื่อมนุษย์ตระหนักในหน้าที่ เมื่อนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือสิทธิพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ อันได้แก่การได้รับความรัก ความเมตตา ต่อดวงวิญญาณของเราทุกคน

ทำผิดเมื่อยึดติดความดี



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2556

ยุคนี้เป็นยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย หลากหลายแตกต่างทั้งในแง่วิถีชีวิต ทัศนคติ มุมมองและผลประโยชน์ เป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นไม่จำเพาะระหว่างคนที่มีฐานะหรือเศรษฐกิจต่างกันเท่านั้น แม้คนที่มีฐานะหรือเศรษฐกิจเหมือนกัน ก็ยังมีแง่รสนิยม การดำเนินชีวิต และมุมมองที่ต่างกัน คุณค่าบางอย่างที่เราเห็นว่าสำคัญอย่างแน่แท้ เป็นอื่นไปไม่ได้ แต่คนอื่นกลับไม่เห็นเช่นนั้น กลับชื่นชมยึดถือสิ่งที่เราเห็นว่าไร้คุณค่า ไม่น่ายึดถือเลย กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ เห็นเป็นเรื่องผิดเพี้ยนหรือวิปริตไป ถึงกับทับถมดูถูกกัน

ความหลากหลายแตกต่างดังกล่าว คือความจริงอย่างหนึ่งของโลกทุกวันนี้ที่เราควรเปิดใจยอมรับ เช่นเดียวกับที่ต้องยอมรับว่าความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพราก และความตาย เป็นความจริงของชีวิตที่เราหนีไม่พ้น หากเราปฏิเสธความจริงแห่งชีวิตดังกล่าว เราก็จะถูกความจริงนั้นตามล่าหลอกหลอนจนหาความสุขได้ยาก ฉันใดก็ฉันนั้น ความจริงของโลก ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องเปิดใจยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ไม่ใช่ปฏิเสธผลักไสต่อต้านมัน

อย่างไรก็ตาม การยอมรับความหลากหลายหรือความเห็นต่างของผู้อื่น จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเราวางใจอย่างถูกต้องต่อคุณค่าหรือความคิดที่เรายึดถือด้วย ถ้าหากเรายึดติดถือมั่นมากเกินไป เห็นว่าเป็นความจริงแท้ เราย่อมอดไม่ได้ที่จะดูถูกคนที่ไม่ได้ยึดถือหรือคิดเหมือนเรา ใช่แต่เท่านั้น เมื่อใดที่เราเห็นเขาไม่เคารพสิ่งที่ยึดถือเทิดทูน เราก็จะรู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบ หรือรู้สึกถูกละเมิดลบหลู่ จึงง่ายที่จะเกิดความรู้สึกโกรธเกลียดคนผู้นั้น ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้พูดร้ายหรือจ้วงจาบสิ่งที่เราเคารพเลย ดังที่ชาวพุทธหลายคนอาจจะเคยรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นเพื่อนชาวคริสต์หรือมุสลิมไม่กราบไหว้พระพุทธรูป ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้แสดงอาการดูหมิ่นเหยียดหยามเลย แต่แค่เขาไม่กราบไหว้นอบน้อมเหมือนเรา ก็ทำให้เราขุ่นเคืองใจหรือรู้สึกถูกละเมิดเสียแล้ว

อาการเช่นนั้นเกิดจากอะไร หากไม่ใช่เป็นเพราะเราเอาอัตตาไปผูกติดกับสิ่งเหล่านั้น หรือพูดอีกอย่างคือ ยึดติดถือมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นอัตตาหรือตัวตนของเรา เมื่อคนอื่นไม่แสดงอาการเคารพเชิดชูสิ่งนั้น เราจึงรู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบ จึงเกิดความทุกข์ ตามมาด้วยความไม่พอใจ ซึ่งหากไม่มีสติรู้ทัน ก็สามารถลุกลามเป็นความโกรธและเกลียด และอาจส่งผลให้มีการกล่าวร้ายหรือทำร้ายกัน

สิ่งที่ดี มีคุณค่า หากเรายึดติดถือมั่น ก็อาจส่งผลร้ายได้ ดังหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต จ.ระยอง ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้ มันก็ผิด” ตัวอย่างเช่น คนที่ทำความดีแล้วยึดติดในความดีนั้น ง่ายมากที่จะเกิดความหลงตนว่าดีกว่าคนอื่น เกิดอาการยกตนข่มท่านและชอบเอาความดีของตนไปตัดสินผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่เห็นคนอื่นไม่ดีเหมือนตนหรือไม่ดีเหมือนที่ตนคิด ก็จะไม่พอใจเขา เห็นเขาเป็นลบทันที คนดีที่ยึดติดความดีของตน จึงกลายเป็นคนที่น่าระอา ไม่น่าคบ หรือเบียดเบียนคนอื่นได้ง่าย

ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของการทำร้ายผู้อื่นในนามของคุณธรรมความดี ยิ่งมีการตีตราหรือแขวนป้ายใครว่าเป็นคนเลว ประพฤติผิดศีลธรรม ด้วยแล้ว ผู้คนก็รู้สึกว่ามีความชอบธรรมที่จะกำจัดเขา หรือใช้วิธีการใดๆ กับเขาก็ได้ แม้จะเป็นวิธีการที่ฉ้อฉล ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องความดี การยึดติดความดี จึงสามารถผลักให้ “คนดี” ทำชั่วได้ง่ายมากในนามของความดี ซึ่งแท้จริงก็คือการทำชั่วเพื่อสนองอัตตาของตนมากกว่า ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ ภิกษุชาวภูฏาน กล่าวเตือนใจได้ดีว่า “ศีลธรรมคืออาหารของอัตตา ทำให้เรากลายเป็นพวกเคร่งศาสนา และตัดสินผู้อื่นซึ่งมีศีลธรรมแตกต่างจากเรา การยึดมั่นในศีลธรรมในแบบฉบับของตนทำให้เราดูถูกผู้อื่น และพยายามจะยัดเยียดศีลธรรมของตนแก่เขาเหล่านั้น แม้มันจะหมายถึงการฉกฉวยเสรีภาพไปจากเขาก็ตาม”

ความดีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ไม่จำต้องเป็นความดีตามหลักศาสนาก็ได้ แม้แต่ความดีตามมาตรฐานของอุดมการณ์ทางโลก ไม่ว่า ชาตินิยม ประชาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์ หากยึดติดถือมั่นก็สามารถผลักดันหรือสนับสนุนให้เราทำสิ่งเลวร้ายได้ ช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน ผู้คนจำนวนไม่น้อยถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ เพียงเพราะเห็นต่างจากเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ ผลก็คือคนเหล่านี้กลายเป็นคนเลวของรัฐไปทันที ดังนั้น “คนดี” จึงสามารถทำอะไรกับเขาก็ได้ เช่น รุมซ้อมทุบตีเขาก็ได้ ภรรยาของประธานเหมา กล่าวสนับสนุนการกระทำดังกล่าวว่า “เมื่อคนดีทุบตีคนเลว นั่นเป็นสิ่งที่คนเลวสมควรได้รับ”

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่ตัดสินว่าใครเป็นคนเลว นั่นคือการออกใบอนุญาตให้คนดีมีสิทธิทำอย่างไรกับเขาก็ได้ คนเลวคนผิดจึงมีสิทธิเป็นศูนย์เมื่ออยู่ในมือของคนดี นี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงตระหนักเอาไว้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเมื่อจะตัดสินใครว่าเป็นคนเลว คนไม่ดี โดยใช้มาตรฐานทางศีลธรรมของตน เพราะนั่นอาจเปิดช่องให้กิเลสหรือทิฐิมานะครอบงำได้ง่าย กลายเป็นว่าแทนที่จะปกป้องความดี กลับส่งเสริมความชั่วแทน

การตัดสินว่าใครเป็นคนเลวนั้น มักจะเริ่มต้นจากการแบ่งเขาแบ่งเรา แล้วตีตราแขวนป้ายให้เขา เช่น ทีแรกก็เป็น “แดง” เป็น “เหลือง” จากนั้นก็มีสมญานามอื่นๆ ตามมาจนสุดท้าย กลายเป็น “ควายแดง” กับ “แมลงสาบ” หรือ “ทุนนิยมสามานย์” กับ “ศักดินาล้าหลัง” ตราหรือป้ายเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ถ้อยคำที่ใช้แสดงความดูถูกเหยียดหยามอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อทัศนคติของผู้เรียก ทำให้เห็นแต่ด้านที่เลวร้ายของเขา หรือหลงติดอยู่กับภาพที่ตนเองสร้างขึ้น จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ถึงตรงนั้นแล้วก็ไม่ยากที่จะทำอะไรกับเขาก็ได้ แม้จะใช้วิธีการที่เลวร้าย ก็ไม่รู้สึกผิด เพราะ “มันเลว จึงไม่สมควรที่จะทำดีกับมัน” หรือเพราะว่า “มันไม่ใช่มนุษย์แล้ว”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ ชื่อ” ท่านที่ศึกษาธรรมย่อมตระหนักดีว่า ชื่อที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆ นั้น แม้เป็นสิ่งสมมุติ แต่ก็สามารถลวงให้เราเชื่อว่ามีตัวตนตามชื่อนั้น หรือมีตัวตนชื่อนั้นจริงๆ ชื่อหรือสมมุติทำให้เรามองไม่เห็นธรรมชาติแท้จริงของสิ่งต่างๆ ที่ไร้ตัวตน ในทำนองเดียวกันเมื่อเราตีตราแขวนป้ายให้แก่คนใดหรือคนกลุ่มใดก็ตาม เราก็มีแนวโน้มที่จะถูกตราหรือป้ายนั้นครอบงำใจ คือเห็นเขาตามชื่อเรียกนั้น จนมองไม่เห็นว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน และสมควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์เช่นเดียวกับเรา

ความขัดแย้งจะไม่สิ้นสุดหากต่างฝ่ายต่างมองแบบแบ่งข้างแยกขั้ว ว่า “ฉันดี แกเลว” “ฉันถูก แกผิด” การมองเป็นขาวเป็นดำเช่นนี้ มีแต่จะทำให้เกิดการจองเวรไม่หยุดหย่อน แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายหันมาตระหนักว่า ความจริงไม่ได้แบ่งเป็นขาวและดำชัดเจนอย่างนั้น เราก็มีส่วนผิด และเขาก็มีส่วนถูก ความโกรธ เกลียด และกลัว ก็จะลดลง และหันหน้าเข้าหากันได้ง่ายขึ้น แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องคลายความยึดติดถือมั่นในความคิด ความเชื่อ หรือความดีของตน เพราะหากยังยึดติดถือมั่นอย่างเหนียวแน่น ก็จะยอมรับความเห็นต่างได้ยาก และจะรู้สึกขุ่นเคืองใจเพราะตัวตนถูกกระทบ เมื่อพานพบหรือรับรู้ว่ามีคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับความคิดความเชื่อของเราหรือสิ่งที่เรายกย่องเทิดทูน

เดินไปด้วยกัน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2556

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ มีการเดินเท้าเพื่อความเป็นธรรมร่วมกันของผู้คน ๑๐๐,๐๐๐ คนในอินเดีย เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียหลังประกาศเอกราช และอาจจะใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันก็ว่าได้


การเดินเท้าดังกล่าวตั้งต้นที่เมืองกวาลิเออร์และมีเป้าหมายที่นครนิวเดลี – เมืองหลวงและที่ตั้งของรัฐสภาอินเดีย – รวมระยะทาง ๓๕๐ กิโลเมตร ผู้คนที่มาร่วมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและดาลิต (จัณฑาล) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน

สาเหตุน่ะหรือ? - อินเดียประสบปัญหาความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรที่ดินอย่างหนัก ในช่วง ๖๕ ปีที่ผ่านมา ผู้คน ๑๔ ล้านคนต้องเปลี่ยนอาชีพจากชาวนา โดยมีคนราว ๒๑.๓ ล้านคนต้องย้ายที่อยู่เพราะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ สถิติในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๕๓ พบว่าชาวนา ๒๖๐,๐๐๐ คนฆ่าตัวตาย กล่าวโดยสรุป ผู้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัยและยังต้องรอการชดเชยจากรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสลัมอินเดียจึงมีมากมายและใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก

เป้าหมายของการเดินที่เรียกว่า ชนะเดช ๒๐๑๒ (Janadesh) – คำพิพากษาของปวงชน – ก็คือ การเรียกร้องให้มีกฎหมายปฏิรูปที่ดินระดับชาติ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กลุ่มคนยากจนที่ไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มประชากรชายขอบทั้งหลายเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพ

ผลก็คือ หลังจากเริ่มเดินได้ ๗ วัน ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลกับผู้นำภาคประชาชนบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ขบวนทั้งหมดจึงหยุดที่เมืองอัครา

ผู้คนที่ยากไร้ ๑๐๐,๐๐๐ คนออกมาเดินพร้อมกันได้อย่างไร? – กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของเอ็กตา ปาริฉัด (Ekta Parishad) แปลว่า สภาสมานฉันท์ ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ประกอบด้วยองค์กรชุมชนราว ๑๑,๐๐๐ แห่ง เป็นเครือข่ายครอบคลุมกว่า ๑๑ รัฐ ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยราชโคปาล (Rajagopal) นักปฏิบัติการทางสังคมที่สมาทานสันติวิธีตามแนวทางของคานธี

เอ็กตา ปาริฉัด มีเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมผ่านการเสริมพลังอำนาจการต่อรองของกลุ่มคนในสังคมและเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงตนเอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนยึดแนวทางสันติวิธีของคานธีที่ปฏิเสธความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนิ่งเฉยไม่ทำอะไร หากหมายถึงเมื่อเห็นความไม่เป็นธรรมทางสังคม ซึ่งก็คือความรุนแรงทางโครงสร้าง ก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของอินเดีย หากยังเพื่อประโยชน์ของโลกอีกด้วย

การเดินทางสู่ความฝันของเอ็กตา ปาริฉัด มุ่งเน้นการทำงานกับ “คน” โดยเฉพาะกลุ่มคนยากไร้ในชุมชน ทั้งกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกขับไล่ออกมาจากป่าหลังจากรัฐประกาศให้เป็นป่า สงวนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มดาลิตที่อยู่นอกระบบวรรณะของฮินดู และเป็นการทำงานที่เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก

ด้วยเหตุนี้เอง ก่อนการเดินเท้าร่วมกันของผู้คน ๑๐๐,๐๐๐ คน เพื่อเรียกร้องให้มีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน จึงมีการเดินเท้าร่วมกันของผู้คน ๒๕,๐๐๐ คนในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติ การเตรียมการก่อนเดินแต่ละครั้งประกอบด้วยการเดินเท้าย่อยๆ ในแต่ละรัฐ บุคลากรของเอ็กตา ปาริฉัด จะลงไปในแต่ละหมู่บ้านเพื่อจัดเตรียมความพร้อมของผู้คนและชุมชน ตั้งแต่สนับสนุนให้มีองค์กรระดับหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เก็บเงินวันละ ๑ รูปี หรือข้าว ๑ กำมือจากแต่ละครอบครัว และข้าววันละ ๕ กิโลกรัมจากแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเป็นเสบียงกรังระหว่างการเดินเท้า มีการเขียนคำขวัญของขบวนการไว้บนกำแพงบ้าน ติดธงสีเขียวพร้อมสัญลักษณ์ที่หน้าบ้าน มีการประชุมหมู่บ้านและจัดทำบันทึก ตลอดจนสวดมนต์ ร้องเพลงประจำขบวนการ และเปล่งคำขวัญอย่างสม่ำเสมอ นี้ยังไม่นับการพัฒนาศักยภาพผู้นำและภาวะการนำ ที่มีหลักสูตรและกระบวนการคัดเลือกคนโดยชุมชนอย่างชัดเจน – กระบวนการตระเตรียมเหล่านี้ใช้เวลาสองปีบ้าง ห้าปีบ้าง ไม่ใช้เงินเป็นหลักในการขับเคลื่อน แต่มุ่งที่การเสริมพลังอำนาจภายในของผู้คน เป็นการจัดตั้งมวลชนอย่างละเอียดประณีตมากทีเดียว

เอ็กตา ปาริฉัด ให้ความสำคัญต่อสันติวิธีตามแนวทางคานธีมาก และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้านตั้งแต่ระดับฐานล่าง การนำพาผู้คนเข้าสู่ปฏิบัติการเดินเท้าอย่างสันติวิธีในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ก็คือการฝึกฝนเตรียมความพร้อมของผู้คนนั่นเอง สำหรับชาวบ้านผู้ยากไร้และขาดทักษะในการอ่านเขียน การนำพาตัวเองเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการจริงจึงเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ในปฏิบัติการแต่ละครั้งจึงไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย

เมื่อสั่งสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อยจากปฏิบัติการจากระดับเล็กมาสู่ใหญ่ คนเล็กคนน้อยเหล่านี้ก็เกิดความมั่นใจ เกิดเป็นอำนาจภายในที่มีพลังในตัวของแต่ละบุคคล และเมื่อก่อตัวขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน/ขบวน ที่มีกระบวนการช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันและตัดสินใจร่วมกัน ก็นำไปสู่อำนาจร่วมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนกระทั่งสามารถต่อรองกับอำนาจที่เหนือกว่าอย่างเช่นอำนาจรัฐได้ – และทั้งหมดก็คือการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั่นเอง

ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุด เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก ต้องลงทุนลงแรงสูง และใช้เวลามาก การสร้างการเปลี่ยนแปลงกระแสหลักจึงมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง วัดผลสำเร็จที่การปรับแก้หรือออกกลไก/นโยบาย/มาตรการใหม่ ซึ่งหลายครั้งพบว่ากลไกไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง กฎหมายหรือนโยบายไม่ถูกนำไปบังคับใช้ หรือมีการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ จะว่าไปแล้วก็อาจจะเป็นเพราะได้ละเลยการสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกนั่นเอง นั่นคือ แม้ว่าจะเกิดแนวนโยบายใหม่และอาจกล่าวได้ว่า สังคมมีการพัฒนาขึ้นแต่ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะประสบผลหรือทรงพลังก็ต่อเมื่อผู้ที่ประสบความทุกข์หรือเจ้าของปัญหาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี ผู้ประสบความทุกข์โดยมากมักเป็นคนยากไร้ คนที่มีสถานะทางสังคมต่ำ ไร้ตัวตน ไร้เสียง ไร้พื้นที่แสดงตัว ซึ่งนอกจากจะเกิดจากโครงสร้างอยุติธรรมที่กดทับแล้ว ยังเกิดจากจิตสำนึกที่กดทับตัวเองด้วย การสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกจึงต้องมุ่งเน้นเจ้าของปัญหาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งนี้ ชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ หรือปัญญาชน ก็ต้องมีหน้าที่ในการเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกระบวนการที่นำไปสู่การฟื้นฟูพลังอำนาจภายในของกลุ่มคนชายขอบ และช่วยกันสร้างระบบที่เอื้อต่อการใช้อำนาจหรือการตัดสินใจร่วมกันให้มากที่สุด

หากถามว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ไหมในเมืองไทย? - ก็คงต้องชวนให้หันไปดูอินเดีย ประเทศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ยากไร้ แต่ก็มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เข้มแข็งอย่างเอ็กตา ปาริฉัด ประเทศที่เต็มไปด้วยความทุกข์ของผู้คนจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังมุ่งหวังถึงสังคมที่เป็นธรรมอย่างไม่ท้อถอย ประเทศที่ดูงมงายไปด้วยลัทธิความเชื่อทางศาสนามากมายแถมไม่มีศาสนาประจำชาติ กลับมีศรัทธาอย่างเข้มแข็งในเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ ประเทศอันเป็นแหล่งกำเนิดศาสดาและผู้นำทางศาสนาจำนวนมากนี้ มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการเดินไปด้วยกันของเพื่อนมนุษย์อันสามัญธรรมดานี้เอง

นักการเมือง จิตวิญญาณ และจิตสำนึกประชาธิปไตย



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2556

สามคำหลักที่รวมเป็นชื่อบทความนี้ เป็นสามคำหลักที่มีความหมายกว้างใหญ่ เปิดกว้าง ลุ่มลึก และสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างเป็นองค์รวม ไม่สมควรแยกออกจากกันและกันอย่างแยกส่วน เพราะเมื่อไรที่แยกออกจากกัน ความหมายที่กว้างใหญ่ก็จะคับแคบ ที่เปิดกว้างก็จะปิดทับ ที่ลุ่มลึกก็จะผิวเผิน ฉาบฉวย และเลือกข้าง (อคติ) นำไปสู่ความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย (คนละพรรค คนละพวก) ก่อให้เกิดการวางแผนและรวมพลเพื่อแย่งชิงอำนาจอย่างขาดจิตวิญญาณของความเป็นนักการเมืองที่ดี ผ่านพิธีกรรมเปลือกนอกตามระบอบและกระบวนการ (แอบอ้าง) ประชาธิปไตย ที่ขาดไร้ซึ่งจิตวิญญาณ

จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นนักการเมืองโต้เถียงกันในเรื่องความถูกผิดทางกฎหมาย ในความหมายที่แคบ แยกส่วน เพื่อยัดเยียดความผิดให้ฝ่ายตรงกันข้าม และอ้างเหตุผลเพื่อบ่งบอกว่าฝ่ายตนถูก ในลักษณะของการเยาะเย้ย ถากถาง ก้าวร้าวหรือท้าทาย อย่างขาดจิตวิญญาณและจิตสำนึกประชาธิปไตยที่พึงมี

นักการเมืองที่ดี ควรต้องมีจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์บ้านเมืองให้เป็นสังคมคุณภาพและคุณธรรม และหากเชื่อมั่นว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งอ้างกันว่าเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด นักการเมืองที่ดีก็ควรต้องมีจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริงถูกต้อง ไม่ใช่แค่อ้างเฉพาะผลของการเลือกตั้ง โดยไม่ให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้ามาสู่ถนนการเมืองของตนเองและพรรคพวก ว่าเข้ามาเพื่อช่วยกันสร้างชาติสร้างบ้านเมือง หรือเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อเป็นอาชีพของตนเองและครอบครัว ไม่คำนึงถึงกระบวนการ/วิธีการหาเสียงว่าเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ใช้อำนาจและอิทธิพลหรือเปล่า ปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือไม่

นักการเมืองที่ดีย่อมต้องมีจิตวิญญาณของการสร้างชาติสร้างบ้านเมือง ไม่ควรมีจิตวิญญาณของการกินเมืองที่คอยฉกฉวยและสร้างสรรค์โอกาสเอาผลประโยชน์ของชาติ ของสาธารณะ มาเป็นของตนเอง ครอบครัวและพรรคพวก นักการเมืองที่ดีต้องไม่คิดและทำในลักษณะที่ว่า เงินของรัฐคือเงินของรัฐบาล เงินของรัฐคือเงินของพรรค และเงินของรัฐคือเงินของตัวเอง จะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้

นักการเมืองที่ดีต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ มีความกล้าที่จะก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตนสู่ผลประโยชน์สาธารณะที่ยิ่งใหญ่กว่า

นักกินเมือง ย่อมมีจิตวิญญาณของการกินเมือง แอบอ้างประชาธิปไตยเพื่ออ้างความชอบธรรมต่อการคิดและการกระทำของตนเอง โดยขาดจิตวิญญาณ และจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริง

สังคมไทยในปัจจุบัน มิใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นที่ขาดจิตวิญญาณและจิตสำนึกในอาชีพและ/หรือวิชาชีพของตัวเอง เราได้เห็นคนที่อยู่ในวิชาชีพ และอาชีพต่างๆ มีพฤติกรรมที่ขัดกับที่เราคาดหวังไว้บ่อยๆ เช่นครู อาจารย์ ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจชั้นนำ ตำรวจ ทหาร แพทย์ แม้กระทั่งพระสงฆ์ แต่บทความนี้ให้ความสำคัญกับนักการเมืองเป็นกรณีพิเศษ เพราะความคิด คำพูด และการกระทำของนักการเมือง มีผลกระทบต่อสาธารณะชน และสาธารณะประโยชน์ในวงกว้าง และที่สำคัญ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นอาจารย์ อยากเห็นนักการเมืองคิด ทำ และพูดให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป อยากเห็นและให้กำลังใจนักการเมืองที่มีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม มีจิตวิญญาณ และจิตสำนึกประชาธิปไตย มีความกล้าที่จะก้าวข้ามอย่างน้อยในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคม...

นักการเมืองที่ดีต้องกล้าที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปรับกระบวนท่า และกล้าที่จะก้าวข้ามประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ สู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

กล้าที่จะก้าวข้ามการเลือกตั้งแบบที่เป็นอยู่ (ซื้อสิทธิ์-ขายเสียง โกง...) สู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

กล้าที่จะก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรค สู่ผลประโยชน์ของชาติ และประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม

กล้าที่จะใคร่ครวญ/ทบทวนความคิด ความเชื่อและการกระทำของตนเอง

กล้าที่จะก้าวข้ามความจริง ความดี ความงามแบบแยกส่วน สู่ความจริงความดีความงามแบบองค์รวม

กล้าที่จะก้าวข้ามการตั้งใจฟังเพื่อจับผิดหรือโต้แย้งสู่การฟังเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

กล้าที่จะหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยความจริงใจ มีสุนทรียสนทนาระหว่างกัน ไม่รีบด่วนสรุปตัดสิน ยอมรับและเคารพความแตกต่างระหว่างกันอย่างแท้จริง

ไม่ต้องถอยคนละก้าว แต่กล้าที่จะจูงมือเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพและคุณธรรม

เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งประเทศ นักการเมืองที่ดีจึงควรต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าที่จะก้าวข้ามการเอาแพ้เอาชนะ สู่การรู้แพ้รู้ชนะ กล้าที่จะก้าวข้ามการพยายามจะไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง สู่การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ช่วยกันมองไปข้างหน้า หาแนวโน้มที่เป็นไปได้ และพึงประสงค์สำหรับสังคมไทย แล้วร่วมมือกับทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นจริง

เดิน – ปฏิบัติการแห่งความหมาย



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 กันยายน 2556

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ วิโนพา ภาเว (Vinoba Bhave) เริ่มตั้งต้นการเดินเท้าเพื่อขอรับบริจาคที่ดินมาจัดสรรให้กับคนยากไร้และคนไร้ที่ดินในอินเดีย และถือเป็นจุดเริ่มแรกของขบวนการปฏิรูปที่ดินในอินเดีย

วิโนพา ภาเว เป็นปัญญาชน นักคิด และนักเขียน เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นครูแห่งประเทศอินเดีย ในยุคหลังได้รับเอกราช เป็นมือขวาและได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้สืบทอดทางจิตวิญญาณของมหาตมะ คานธี ทั้งในฐานะของนักสันติวิธีและนักสิทธิมนุษยชน

ในเวลานั้น วิโนพา ภาเว อายุ ๕๖ ปี เขาเดินเท้าไปขอรับบริจาคที่ดินจากคนรวยทั่วประเทศ เดินจากเหนือไปใต้ จากตะวันออกไปตะวันตก ในช่วงระยะเวลา ๒๐ ปีนั้น รวมระยะทางไม่ต่ำกว่า ๘๐,๐๐๐ กิโลเมตร ตอนเริ่มเดินก็มีผู้บริจาคให้ ๑๐๐ เอเคอร์ และในที่สุดก็เพิ่มเป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐ เอเคอร์ (๑๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร) เขาเดินไปทุกหนทุกแห่ง แม้ในพื้นที่ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ที่มีกลุ่มชาวบ้านในวรรณะจัณฑาลพร้อมอาวุธเป็นกำลังสำคัญ เขาก็ประสบความสำเร็จในการขอบริจาคที่ดินจากคนรวยมาให้เพื่อแลกกับการวางอาวุธและขอให้มีการทำการเกษตรร่วมกันแบบสหกรณ์บนผืนดินที่รับบริจาคนั้น

ทุกครั้งที่เขาเดินจะมีผู้ร่วมเดินด้วยจำนวนมาก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการภูทาน (แปลว่า การขอบริจาคที่ดิน) และขบวนการสรรโวทัย (แปลว่า การตื่นรู้ หรือความก้าวหน้า สำหรับผู้คนทั้งหมด) ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย เรื่องราวของวิโนพา ภาเว มีแปลเป็นภาษาไทยในเล่ม “ปฏิบัติการการุณย์รัก” ซึ่งแปลจาก Moved by Love: The Memoirs of Vinoba Bhave ที่เขียนโดยตัวเขาเอง

สาทิส กุมาร (Satish Kumar) อดีตนักบวชในศาสนาเชน ผู้หันมาสมาทานแนวทางของคานธี และยอมตนมาเป็นลูกศิษย์ของวิโนพา ภเว ก็เริ่มการเดินเท้าเพื่อสันติภาพในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยมุ่งเดินทางไปยังเมืองหลวงของประเทศผู้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ๔ ประเทศ นั่นคือ วอชิงตัน ลอนดอน ปารีส และมอสโคว์

เวลานั้น เขาอายุ ๒๖ ปี เห็นข่าวที่เบอร์ทรันด์ รัสเซล นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบล อายุ ๙๐ ปี ถูกคุมขังด้วยเหตุที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เลยรู้สึกว่าคนหนุ่มอย่างเขาควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง

การเดินทางกว่า ๘,๐๐๐ ไมล์ หรือราว ๑๒,๐๐๐ กิโลเมตร ของเขา จึงเริ่มขึ้น เขาเดินผ่านเข้าไปในปากีสถาน ประเทศที่กำลังขัดแย้งกับอินเดียอย่างหนัก ผ่านทะเลทราย เผชิญพายุหิมะ และถูกขังในคุกปารีส โดยตลอดทางนั้นเขายึดมั่นในคำสอนของครู – วิโนพา ภเว – อย่างเคร่งครัด นั่นคือ ไม่พกเงิน และเป็นมังสวิรัติ ทำให้เขาได้พบเจอผู้คนจำนวนมากที่ให้ที่พักและอาหาร และได้สนทนาสื่อสารในประเด็นสันติภาพ เรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำของเขาในเล่ม No Destination ที่แปลเป็นไทยในชื่อ นักเดินเท้าแปดพันไมล์ นั้นแหละ

พ.ศ. ๒๕๔๘ ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยอายุ ๕๑ ปี ลาออกจากราชการ เริ่มเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปสมุย ระยะทาง ๑,๒๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลา ๖๖ วัน ถือศีลสองข้อคือ ไม่พกเงินและไม่ขอใครเลย เดินโดยไม่ได้ประกาศ ไม่ได้ครองเพศบรรพชิต ไม่มีใครรู้จักเขา เมีย – ผู้อนุญาตให้เขาเดิน - รับทราบสัญญาณความมีชีวิตของเขาจากโปสการ์ดที่เขาเขียนส่งมาระหว่างนั้น เป็นการเดินเงียบ-เงียบแต่เกิดมิตรภาพมากมาย เขาไม่อดตาย และพิสูจน์ได้ว่าสังคมไทยมีความกรุณามากพอ การเดินทางของเขาเป็นการเดินทางภายใน ได้สัมผัสกับความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความเศร้าหมองที่ซ่อนตัวอยู่ โลกของเขาเปลี่ยน และเรื่องราวของเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลายคน

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เขากับเพื่อนจำนวนมากเดินเท้าจากศาลายาสู่ปัตตานี เป็นธรรมยาตราสู่พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงและเกิดเหตุรุนแรงต่อเนื่องยาวนานจนผู้คนรู้สึกหมดหวังกับสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ ปฏิบัติการสันติวิธีของเขาจึงเป็นการส่งข่าวสารแห่งความหวังและสันติภาพสู่สังคมไทยในช่วงระยะเวลา ๕๓ วัน ตลอดเส้นทาง ๑,๑๐๐ กิโลเมตรนั้น

พฤ โอ่โดเชา ปะกากะญอจากเชียงใหม่ ก็เริ่มเดินในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เช่นกัน เขาใช้เวลา ๕๐ วัน เดินเท้าจากป่าเชียงดาวสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับพี่น้องชุมชนรายทางเรื่องร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนซึ่งเสนอโดยภาคประชาชน และกำลังจะถูกปฏิเสธในสมัยประชุมสภานิติบัญญัติ

แม้ว่าเพื่อนร่วมเดินทั้งหมดจะตัดสินใจเดินอย่างรีบเร่งเข้าสู่เมืองหลวงให้ทันก่อนหมดสมัยประชุมสภา พฤก็ยังมุ่งมั่นตามเจตนารมณ์เดิมที่จะพูดคุยกับชาวบ้านตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะถือว่าเป็นสัญญาใจกับเจ้าป่าเจ้าเขา จึงเห็นว่าแม้กฎหมายจะสำคัญ แต่ธรรมะสำคัญกว่า และพวกเขาเองก็เดินทางไปเรียกร้องที่กรุงเทพฯ หลายครั้งแล้ว แต่การเดินเท้าด้วยความมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้คนนั้นเพิ่งทำเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้ แม้พฤจะเดินทางมาถึงที่หมายช้ากว่าคนอื่นในทางกายภาพ แต่สำหรับเขาเองนั้นการบรรลุจุดหมายของการเดินทางภายในนั้นสำคัญยิ่ง

ในปัจจุบัน พฤก็ยังเป็นปากเสียงสำคัญของผู้คนที่ยืนยันการใช้ชีวิตในวิถีแห่งความเคารพต่อธรรมชาติ ใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเขานั้น มักจะพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นที่จะดำรงชีวิตอยู่กับป่าในฐานะบ้านและกำเนิดแห่งชีวิต ไม่ว่าโลกจะหมุนไปสู่ความเจริญในทางวัตถุนิยมและบริโภคนิยมเพียงใด

๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการและเลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เริ่มเดินเท้าจากป่าแม่วงก์สู่กรุงเทพฯ เพื่อประท้วงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยไม่คำนึงถึงพื้นที่ป่าและระบบนิเวศอันเป็นหัวใจของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยแบกรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA (Environmental and Health Impact Assessment) มาด้วย ระหว่างทางนั้น เขาได้รับการต้อนรับจากผู้คนจำนวนมาก และหลายคนที่เขาไม่รู้จักก็มาร่วมเดินจนเป็นกลุ่มใหญ่ แม้สื่อกระแสหลักจะไม่นำเสนอเรื่องราวการเดินและเหตุผลในการประท้วงของเขา แต่ผู้คนในโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสรองให้ความสนใจต่อเรื่องราวของเขามาก จนอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงระยะเวลา ๑๒ วัน ระยะทาง ๓๘๘ กิโลเมตรนี้ ศศินและผองเพื่อนสร้างแรงกระเพื่อมต่อความตระหนักรับรู้ต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและจุดอ่อนในกระบวนการทำ EHIA ในสังคมไทยได้อย่างกว้างขวางมากทีเดียว

การเดินของผู้คนเหล่านี้ แม้จะต่างกรรมต่างวาระ ต่างสถานที่ต่างวัฒนธรรม แต่ก็เป็นปฏิบัติการที่เปี่ยมล้นด้วยความหมาย ในนัยยะของความพยายามเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มต้นจากตัวเราเอง บนวิถีที่ปราศจากความรุนแรง จึงเกิดเป็นพลังหรือบารมี ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคนอื่นด้วย

การเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงมิใช่การหวนกลับเข้าไปสู่ภายในของตนเองจนหลงลืมและมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสังคมก็ไม่ใช่การมุ่งผลสำเร็จภายนอกจนละทิ้งการเดินทางภายใน

ดังนี้เอง การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและมีพลังก็คือ ความสามารถที่จะเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมในระดับฐานรากได้อย่างลึกซึ้งนั่นเอง

การสวัสดีผู้ป่วย



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กันยายน 2556

ตอนที่เรียนจบแพทย์ใหม่ๆ ผมไม่เคยสวัสดีผู้ป่วยเลย พยายามนึกย้อนหลังก็ไม่แน่ใจว่าอาจารย์ไม่สอนหรือสอนแล้วเราไม่จำกันแน่ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ผมคนเดียวที่ไม่สวัสดีผู้ป่วย สังเกตว่าเพื่อนร่วมงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็ไม่มีใครสวัสดีผู้ป่วยเช่นกัน

คุณพ่อของผมป่วยด้วยเส้นเลือดสมองข้างซ้ายแตกเป็นก้อนเลือดขนาดใหญ่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ตอนที่ผมไปเยี่ยมคุณพ่อที่โรงพยาบาล มีแพทย์ประจำบ้านมาตรวจร่างกายท่าน คุณหมอไม่ได้มองหน้าผม ไม่ได้สวัสดีผู้ป่วย เข้ามาถึงก็ตรวจร่างกายตามระบบเงียบๆ เสร็จแล้วก็เดินจากไปไม่พูดจา ก่อนหน้าที่ผมจะไปเรียนจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ผมก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน

ตอนที่เป็นแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพียงสัปดาห์แรกของการเรียนและการทำงาน อาจารย์ก็สอนให้สวัสดีผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยเดินเข้ามาในห้อง ถ้าเป็นผู้ป่วยใหม่ ให้สวัสดีครับและแนะนำว่าผมชื่อหมออะไรให้เรียบร้อยก่อนจะสนทนาต่อไป ถ้าเป็นผู้ป่วยเก่า ให้สวัสดีครับทุกครั้ง ถ้าเราเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหาผู้ป่วยที่ข้างเตียง ห้องพัก หรือใต้ต้นไม้ ก็ต้องสวัสดีครับทุกครั้ง

คำสอนนั้นชัดเจน ผมทำตามเสมอมาจนถึงทุกวันนี้

การสวัสดีผู้ป่วยเป็นการให้เกียรติ ในกรณีผู้ป่วยจิตเวช เขาจะรับรู้ว่าเขากำลังพบแพทย์ที่พร้อมจะพูดคุยกับเขาหรืออย่างน้อยก็พบแพทย์ที่จะดูแลเขา “ในรูปแบบที่เขาไม่เคยได้รับมาก่อน” การสวัสดีผู้ป่วยจึงเป็นทั้งมารยาทที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาในอนาคต

นอกเหนือจากนี้ การสวัสดีผู้ป่วยยังเป็นการเตรียมตนเอง การรักษาโรคทางกายว่ายากแล้ว การรักษาโรคทางใจยากกว่ามาก การสวัสดีผู้ป่วยกลับเป็นประโยชน์แก่ตัวผมเอง คือเตือนให้ตัวเองระลึก เตรียมพร้อม และเตรียมรับมือปัญหาสารพันที่คาดไม่ถึงนับจากนี้ การสวัสดีทำให้ใจผมเองเป็นฝ่ายสงบ

ผมสวัสดีผู้ป่วยมาเรื่อยๆ จนเป็นมาตรฐาน มิใช่จนเป็นนิสัย การสวัสดีเป็นมาตรฐานการแพทย์ที่ดี เป็น good practice มิใช่ทำจนชินเป็นนิสัยไม่มีความหมายอะไรในคำพูดนั้น การสวัสดีทำให้ตัวผมเองที่ถูกเตือนให้ธำรงตัวอยู่ในสถานะแพทย์ คืออนุญาตให้สัมพันธ์กับผู้ป่วยได้ในเชิงรักษาเท่านั้น เรียกว่าสร้าง ความสัมพันธ์เชิงรักษา (therapeutic relation) แม้ว่าเราจะอยู่ในสถานะเหนือกว่าเพราะเป็นแพทย์ เราก็เท่าเทียมกับผู้ป่วยในสถานะความเป็นมนุษย์ด้วยกัน นั่นคือพบกันก็สวัสดี แต่เราก็จะไม่เลยเถิดจนก้าวล่วงไปเป็นความสัมพันธ์เชิงสังคม (social relation) ทำให้เกิดมาตรฐานอีกหลายข้อตามมา เช่น การใช้สรรพนามให้ถูกต้องเหมาะสมและเป็นทางการ ไม่ให้ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์หรืออนุญาตให้มีการพบกันนอกสถานที่รักษา ไม่รับของขวัญที่สื่อนัยยะไม่เหมาะสม เป็นต้น

การสวัสดีจึงเป็นเครื่องมือทางคลินิกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น

ผมสวัสดีผู้ป่วยเรื่อยมาจนถึงปีที่ได้ติดตามคณะดูงานของระบบสุขภาพไปที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ที่นั่นผมได้เรียนรู้มาว่า การให้ของคนอื่น เช่น การให้ของบริจาคผู้ประสบภัยใดๆ ผู้ให้ต้องก้มหัวลงให้ต่ำกว่าผู้รับ เมื่อกลับจากการดูงานครั้งนั้น ผมจึงเริ่มไหว้ผู้ป่วย

เมื่อตรวจผู้ป่วยเสร็จ เขียนใบสั่งยาเรียบร้อย เมื่อแน่ใจว่าการพบกันจบแล้ว ผมจะไหว้ผู้ป่วยอย่างดีอีกครั้งก่อนที่จะยื่นใบสั่งยาให้เขารับ ปัญหามีอยู่ว่าเวลาเรายื่นใบสั่งยาให้เขารับ เขาจะไหว้เราก่อนทุกที มือเราก็กำใบสั่งยาอยู่จะรับไหว้ไม่ถนัดและไม่งาม จึงไหว้ผู้ป่วยเสียก่อนง่ายกว่า

การไหว้ผู้ป่วยขาออกทำให้ตนเองใจสงบ ด้วยความที่ตนเองตรวจผู้ป่วยวันละเกือบร้อยหรือเกินร้อย การทำงานซ้ำๆ ติดๆ กันนานหกเจ็ดชั่วโมงทำให้เครียด เบื่อ เซ็ง และอยากตายเสมอๆ การไหว้ผู้ป่วยวันละร้อยครั้งช่วยใจตนเองได้มาก ใจสงบครั้งละสองวินาทีหลายๆ ครั้ง วันนั้นเราก็สงบได้เหมือนกัน

การไหว้จึงไม่ใช่พิธีกรรม เป็นเครื่องมือรักษาด้วยเช่นกัน เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการรักษาตนเองให้สามารถทำงานปริมาณมากๆ ได้ดีขึ้น ไม่เละเทะจนเกินไป

แน่นอนว่ายังคงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจเมื่อผมให้เวลาน้อย อีกจำนวนหนึ่งไม่พอใจเมื่อผมไม่ตามใจ และมีบางครั้งที่ผมรู้สึกไม่พอใจญาติผู้ป่วยที่ชอบกระทำรุนแรงต่อผู้ป่วยทางจิตเสมอๆ เหล่านี้ทำให้ใจผมขุ่นมัว ปรากฏว่าการไหว้ที่ดีช่วยดับไฟของเราเองได้

สองปีที่ผ่านมา ผมได้รับคำสั่งให้สอนนักศึกษาแพทย์ด้วยท่ามกลางภาระงานที่หนักอยู่แล้ว การสอนนักศึกษาแพทย์เป็นเรื่องดี แต่หลักสูตรการสอนที่เป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย การจ่ายค่าตอบแทนการสอนเป็นหลักพันหลักหมื่นเพิ่มให้เป็นพิเศษ (on top) จากเงินเดือนประจำเป็นปัญหาทางจริยธรรม มีเขียนในตำราว่าเป็น problematics สร้างปัญหาการบริการประชาชนทั่วไปอย่างรุนแรง เกิดปัญหาจริยธรรมองค์กร ในที่สุดผมตัดสินใจหยุดสอนไปเมื่อพบว่ามีแพทย์รุ่นน้องมาช่วยสอนมากพอแล้ว ระหว่างที่สอนนั้นมีเรื่องหนึ่งที่ผมพบเห็นเป็นประจำ คือนักศึกษาแพทย์ไม่สวัสดีผู้ป่วย ทำให้ตอบข้อสงสัยในย่อหน้าแรกได้ว่าทำไมตอนผมจบแพทย์ใหม่ๆ ผมก็ไม่สวัสดีผู้ป่วย เพราะที่แท้แล้วอาจารย์คงจะลืมสอน

วันนี้ผมสวัสดีและไหว้ผู้ป่วยไปประมาณแปดสิบคนในตอนเช้า สิ่งที่ได้คือใจตนเองสงบ ผู้ป่วยทุกรายก็ดูเหมือนจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ดีตามที่ควร

จึงว่างานหนักเพราะเราทำตัวเองให้หนัก งานเบาเพราะเราทำตัวเองให้เบา

K กับ M : สองโหมดของความรัก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กันยายน 2556

ผมห่างหายจากการทำอบรมไปพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเริ่มในสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว คือการนำเอากระบวนการละครมาใช้ในเชิงจิตตปัญญา การทำงานครั้งนี้ทำให้ผมได้ค้นพบในสิ่งที่เฝ้าเพียรหาคำตอบมานาน คือการบรรจบกันระหว่างภูมิปัญญาตะวันตกและตะวันออก ระหว่างวัตถุนิยมวิภาษวิธีกับจิตวิญญาณ และที่สำคัญระหว่างความรักแบบเมตตาของมหายานและรักแบบกรุณาของเถรวาท

กระบวนการละครของผมมีพื้นฐานมาจากกระบวนการแสวงหาความรู้ความจริงที่เรียกว่า วัตถุนิยมวิภาษวิธี ผสมกับการแสดงออกในลักษณะผู้ก่อการทางสังคม หมายถึงผู้เข้าร่วมกระบวนการจะถูกกระตุ้นให้คิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และลงมือทำตามความคิด (rehearsal for life) จุดประสงค์คือไม่ให้งอมืองอเท้ายอมรับและมองทุกอย่างว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ซึ่งมีแต่จะทำให้ผู้มีอำนาจแต่ไม่มีคุณธรรมเอาเปรียบเหยียบย่ำอยู่เรื่อยไป จุดที่ดูเหมือนว่ากระบวนการละครไปกับความคิดแนวพุทธไม่ได้คือ ละครสอนให้ลุกขึ้นมา “ทำอะไรสักอย่าง” (being actor) ไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องเวรกรรม แต่เอาเข้าจริงเป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ รวมทั้งผมด้วย เพราะพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เป็นคนงอมืองอเท้า แต่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการยอมรับสภาพ หรือแหย

ในงานของศาลเยาวชนฯ จังหวัดนครสวรรค์ ผมได้บอกให้ผู้จัดเชิญผู้ปกครองของเด็กที่กระทำความผิดเข้าร่วมด้วย เพราะถ้าหากเราอ้างอิงมโนทัศน์แบบกระบวนระบบ (System Thinking) ซึ่งอธิบายเรื่อง “ทั้งหมดในส่วนย่อยและส่วนย่อยในทั้งหมด” (Parts and Whole) เราย่อมเข้าใจว่าสิ่งที่เราเรียกว่าปัญหาของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ “ปัญหา” แต่เป็น “อาการ” ที่แสดงออกโดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งเชื่อมโยงถึงกันไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้นในขณะที่ผมกำลังนั่งพิมพ์งานอยู่ในห้องแอร์ การกระทำของผมก็ย่อมส่งผลถึงเด็กตัวดำๆ สักคนหนึ่งที่ไหนสักแห่งในชุมชนหนองปลิง นครสวรรค์ หรือเด็กคนอื่นๆ ทั่วโลกด้วย

แต่ก่อนนี้เรามักจะพูดว่าเด็กและเยาวชนที่ขาดความอบอุ่นส่งผลทำให้เกิดปัญหาสังคม และปัญหาสังคมเริ่มที่หน่วยย่อยที่สุดคือครอบครัว ทุกวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะปัญหาจะอยู่ตรงนั้นอีกมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เพราะเท่าที่สัมผัสหลายครอบครัวพ่อแม่น่ารักมาก รักลูก ตามใจลูก หรือไม่ก็เป็นเพราะตามลูกไม่ทัน เพราะแทบไม่รู้เลยว่าลูกไปติดยาบ้า ติดกัญชา ผมคิดว่าไม่ถูกต้องที่เราจะพูดถึงครอบครัวเดี่ยวๆ โดดๆ โดยไม่คำนึงถึงการปะทะสังสรรค์ของครอบครัวที่ตั้งอยู่ (situated) ในชุมชน การเหมารวมว่าจน โง่ เลยต้องเจ็บ จึงไม่ถูกต้อง

เด็กคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าที่ตนได้ลองยาบ้าก็เพราะเด็กบางคนเป็นลูกคนรวย มีเงินเหลือใช้จึงได้มาชักชวนตน บ้างก็บอกว่ามีเพื่อนร่วมห้องเป็นเอเย่นต์ค้ายา แถมยังบอกว่าแถวบ้านมีเอเย่นต์ค้ายา ซึ่ง “คนแถวนี้ ใครๆ เขาก็รู้กัน” เด็กอายุไม่ถึงสิบแปด จู่ ๆ เป็นเอเย่นต์ไม่ได้ ถ้าหากไม่มีผู้ใหญ่ชักนำ ตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนเป็นเอเย่นต์ไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเป็นผู้จัดหาและรองรับ โดยทำกันเป็นกระบวนการระดับชาติ ระดับโลก

ในยุคที่องค์กรทางศาสนาอ่อนแรง และระบบการศึกษาของไทยก็แย่กว่าเขมรและเวียดนาม จะเหลืออาวุธอะไรในคลังแสง (สว่าง) ที่จะไปต่อกรกับสารเสพติดที่เด็กบอกว่า “เม็ดแรกไม่เท่าไหร่ แต่อย่าให้มีเม็ดที่สอง หลังจากเม็ดที่สองไม่เคยเห็นว่าจะเหลือรอดสักราย”

กลับมาที่เรื่อง “ความรักสองโหมด” ที่ผมจั่วหัวเอาไว้ การทำงานครั้งนี้ผมได้เห็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างความรักโหมดแรกคือ M สำหรับ “เมตตา” และความรักโหมดที่สองคือ K สำหรับ “กรุณา” แบบแรกเปรียบเหมือนสายฝนชุ่มฉ่ำไม่มีประมาณ เช่นความรักของแม่ที่ให้กับลูกเสมอไม่ว่าลูกจะเลวร้ายแค่ไหน ส่วนกรุณาคือความรักในแบบพ่อ คือการกำหนดขอบเขต การตัดพฤติกรรมที่ส่อว่าจะพาลูกไปสู่ความเดือดร้อน ความรักทั้งสองแบบนี้จำเป็นจะต้องมีให้กับเด็กและเยาวชนของเรา ในจังหวะและสัดส่วนที่พอเหมาะ

ผมยังจำได้ว่าเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผมอยากได้รถมอเตอร์ไซค์มาขี่ เพื่อให้ “สาวเหลียว” แต่บอกแม่ไปว่าเอาไว้ขี่ “ซื้อกับข้าว” ปกติแม่ผมจะตามใจทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้แม่กลับปฏิเสธเสียงแข็ง มิวายที่ผมจะอ้อนวอนเท่าไรแม่ก็ไม่ให้ โดยให้เหตุผลว่า “รถยนต์น่ะเหล็กหุ้มเนื้อ มอเตอร์ไซค์เนื้อหุ้มเหล็ก” แรกๆ ผมก็โกรธแม่อยู่เหมือนกัน แต่ต่อมาพอเกิดความรู้สึกดีที่แม่ห้าม เวลาพูดถึงเรื่องมอเตอร์ไซค์ผมจะเอาไปเล่าอย่างภาคภูมิใจต่อหน้าเพื่อนว่า “เฮ้ย มอเตอร์ไซค์น่ะเหรอ ไม่เอาหรอก เพราะเรื่องนี้แม่อั๊วขอไว้”

การตามใจทุกเรื่องจึงไม่ใช่คำตอบของคำว่า “รัก” การบังคับห้ามปรามทุกเรื่องก็ไม่ใช่คำตอบอีกเช่นกัน การหาสมดุลระหว่างความรักสองโหมดนี้จึงเป็นศิลปะและทักษะที่ต้องฝึกฝน ปัญหาก็คือทุกวันนี้ “ทีมไทย” ที่เรียกว่าครอบครัวกำลังจะตกรอบ เพราะตีกันอยู่ข้างสนาม พ่อแม่แยกทางกันเดิน หรือไปทำมาหากินต่างจังหวัด เหลือแต่คุณลุงคุณป้าเลี้ยงหลาน พ่อแม่ทำงานหนักไม่มีเวลาให้ลูก การฝึกฝนทักษะของการให้ความรักสองแบบนี้จึงกระพร่องกระแพร่ง ขาดๆ เกินๆ ได้อย่างใดอย่างหนึ่งมาก แต่ไม่ได้อีกอย่างหนึ่งเลย หรือในเวลาที่ควรจะได้รับอีกอย่าง กลับให้อีกอย่างหนึ่ง ผลก็คืออาการป่วยของสังคมซึ่งแสดงออกมาไม่เพียงแค่ที่เด็กและเยาวชน แต่รวมถึงผู้ใหญ่ที่โตแต่ตัวแต่วุฒิภาวะไม่พัฒนาอีกด้วย

ไม่ว่าครอบครัวจะรวยหรือจนทุกคนล้วนแต่ต้องทำความเข้าใจเรื่อง “สองโหมดของความรัก” ให้ดี เพราะในเวลาที่ต้องใช้ M คือ “เมตตา” เราก็ไม่ควรใช้ K คือ “กรุณา” หมายถึงเวลาที่เด็กจะต้องได้เรียนรู้เรื่องความรักแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นเวลาแห่งการโอบอุ้ม บ่มเพาะ มีพื้นที่ให้กับความผิดพลาด ไม่ต้องทำอะไรเพื่อผลงาน เช่น คะแนนสอบ เกรดดีๆ ถ้วยรางวัล ชนะเลิศกีฬา ได้ถ่ายสปอตโฆษณา ฯลฯ เด็กจะได้เรียนรู้ว่าเพียงแค่กระบวนการที่เขาอยู่กับตนเอง เล่นสนุกไปเงียบๆ หรือวาดรูป ปั้นดินอะไรที่ไม่ต้องส่งประกวด ไม่ต้องเปรียบเทียบ แต่เกิดเป็นความชุ่มฉ่ำในใจ หล่อเลี้ยงจิตใจให้ชุ่มชื่น เพียงแค่นี้พ่อแม่ก็ควรจะดีใจและสนับสนุน ถ้าหากใช้ K เร็วเกินไป หรือไม่ถูกจังหวะ เด็กจะไม่ได้เผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งเป็นผลมาจากการ “ลองผิด” พ่อแม่บางคนมีคำตอบที่ดีที่สุดให้กับลูกจนเด็กไม่เคยได้เรียนรู้อะไรด้วยตนเอง เด็กเหล่านี้จะเติบโตมาโดยหาความสุขง่ายๆ ในใจของเขาไม่เจอ เพราะค้นไม่พบความหรรษา (joy) จากการได้ทำในสิ่งที่เขาชอบและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเขา

ในทางกลับกันถ้าเราใช้ M ในเวลาที่ควรจะใช้ K เด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้ ตัวอย่างมีให้เห็นมาก อย่างเช่น ลูกคนรวยขับรถสปอร์ตหรูชนตำรวจเสียชีวิต และไม่ยอมมามอบตัว รถสปอร์ต กับ รถมอเตอร์ไซค์ไม่ต่างกัน เพราะเด็กส่วนใหญ่หาซื้อเองไม่ได้ แล้วใครเป็นคนซื้อให้ ให้ไปด้วยความรักแบบไหน คือใช้แบบ M ในเวลาที่จะต้องใช้ K เด็กอายุ ๑๒ หาดูคลิปโป๊แล้วอยากจะลองทำกับหลานสาวข้างบ้านอายุ ๕ ขวบ แล้วใครซื้อโน้ตบุ๊ก ซื้อไอแพดให้ ใครต่ออินเทอร์เน็ตให้โดยไม่หาวิธีป้องกัน ของแบบนี้มันเปิดหาดูง่ายแค่กระดิกนิ้ว สำหรับผู้ที่ขาด M คือ เมตตา ต้องฝึกเมตตาภาวนา ฝึกฝนการ “ละความตระหนี่” เพราะคนตระหนี่ย่อมให้ไม่เป็น ให้แล้วชอบมีเงื่อนไข ให้ไม่ขาด ให้ไปแล้วรู้สึกเสียดาย การฝึกให้โดยไม่หวังผลจะทำให้จิตขยายใหญ่ขึ้น (สำนวนอาจารย์หมอประเวศ วะสี) เข้าใจว่าความรู้สึกของเขากับเราก็ไม่แตกต่างกัน เพราะมีหัวจิตหัวใจความเป็นมนุษย์เหมือนกัน

ส่วนผู้ที่ขาด K คือ กรุณา ต้องฝึกฐานกาย และ “ความรู้สึกตัว” ให้มาก เพราะถ้าไม่ฝึกออกจากความคิดด้วยการกลับมาที่ฐานกาย ความคิดจะลากจูงไปนัวเนียกับสถานการณ์ ไม่สามารถจะหลุดออกไปจากการเป็นผู้เล่น จากวงจรของความอยากจะได้ความรักตอบแทนได้ เพราะเรากลัวว่าเด็กไม่รักจึงทำให้เราไม่กล้าปฏิเสธ ไม่กล้าขัดใจลูก แต่ถ้าหากเข้าใจว่าแท้จริงแล้วความรักที่เราให้เด็กนั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็นความ “กรุณา” ซึ่งย่อมจะขัดใจเด็กหรือทำให้เขาไม่พอใจอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่เป็นการตัดวงจรแห่งภัยอันตรายที่จะก้าวเข้ามาหาเขาในอนาคต ก็ต้องมั่นคงกับการตัดสินใจของเรา การไม่เข้าไปโอบอุ้มเมื่อเด็กทำผิดพลาดก็เป็นวิถีแห่ง K หรือความกรุณาด้วยเช่นกัน บางครั้งการใช้ K นำมาซึ่งความอึดอัดคับข้องใจของคนที่เป็นพ่อแม่เอง (เพราะอยากเห็นเด็กมีความสุข) แต่ด้วยเข้าใจว่าสุขเฉพาะหน้านำมาซึ่งความหายนะในภายหลัง ก็ต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจระหว่างผู้ปกครองด้วยกัน จึงจะข้ามผ่านเหตุการณ์หนักหนาไปได้

ถ้าสามารถใช้ความรักสองโหมด คือ K กับ M ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะเกิดปรากฎการณ์สองแบบ คือ KM และ MK ขึ้นในชีวิตของเด็กและเยาวชน KM ที่ผมพูดถึงนี้คือ Knowledge of Maturity คือความรู้ที่จะทำให้มีวุฒิภาวะ มีภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกไปสู่สังคมที่ชั่วร้าย และมี MK คือ Master of Karma คือเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเองด้วยความมั่นคง ไม่หวั่นไหวตามกระแสง่ายๆ และไม่ปล่อยให้มายาคติหรือไวรัสทางสังคมมามีอิทธิพลเหนือเจตจำนงเสรีของตนเอง ผลก็คือเด็กของเราก็จะ “อยู่ได้” และ “อยู่เป็น” แค่นี้ก็เหลือกินแล้ว

Back to Top