สิงหาคม 2005

เจียระไนเพชรแห่งถ้อยคำ มหาสมุทรแห่งภาษา
การก่อประกอบโลกที่กำหนดความเป็นไป

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2548

แบบจำลองความเป็นจริงภายในไม่ใช่เพียงเป็นนามธรรมที่ดำรงอยู่เพื่อเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ แต่เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเป็นทางผ่านเพื่อเราจะให้ความหมาย ให้ความเป็นไปแก่โลก ในทางสุดๆ ของนิกายหนึ่งทางมหายานที่เรียกว่า “จิตมาตรา” คือโลกนี้ทั้งหมดดำรงอยู่ด้วยจิตเท่านั้น ด้วยเหตุที่มีจิต โลกนี้จึงดำรงอยู่ และจิตเป็นตัวกำหนดโลกตามที่เป็นไป จิตในที่นี้เพื่อย่อยแยะออกมาให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ให้เป็นที่เข้าใจของคนสมัยใหม่ ในภาษาของคนสมัยใหม่ เราก็อาจจะใช้คำว่า “แบบจำลองความเป็นจริงภายใน” หรือบางทีอาจจะเรียกสั้นๆ ว่า “โลกภายใน” โลกภายในนั้นกำหนดโลกภายนอก แบบจำลองความเป็นจริงภายในกำหนดความเป็นไปของโลกรอบๆ ตัวเรา เมื่อไม่มีแบบจำลองความเป็นจริงภายใน เมื่อไม่มีโลกภายใน โลกภายนอกก็ไม่ได้ดำรงอยู่ นี่เป็นที่มาของปรัชญาสำนักนิกายจิตมาตรา เป็นต้น

ทีนี้โลกภายใน แบบจำลองความเป็นจริงภายในนั้น ตามหลักการของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ดำรงอยู่ในทางรูปธรรม ดำรงอยู่ในโครงสร้าง กระบวนการและแบบแผนของสิ่งมีชีวิต โครงสร้างคือโครงสร้างโมเลกุล กระบวนการคือกระบวนการชีวเคมีอันสลับซับซ้อน แบบแผนคือแบบแผนแห่งกระบวนการเหล่านั้น เราจะเห็นว่า ฟริตจ๊อฟ คราปา เคยพูดว่าทัศนะหนึ่งของการเข้าใจชีวิตคือมองว่า กายและจิตเป็นหนึ่งเดียว แล้วแต่ว่าเราจะมองในด้านไหน ถ้าเรามองทางด้านกายเราก็เห็นกาย ถ้าเรามองทางด้านจิตเราก็เห็นจิต จิตไม่ได้ดำรงอยู่นอกเหนือไปจากกาย หากเป็นส่วนหนึ่งของกายนั่นเอง กายคือการเอ็มบอดิเมนท์ (Embodiment) นั่นคือจิตได้ก่อเป็นรูปร่างทางกายขึ้นมา หรือก็คือการให้รูปธรรมแก่จิต

อยากจะพูดว่า การเปลี่ยนแบบจำลองความเป็นจริงภายในหรือโลกภายใน มิใช่เพียงเป็นการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับกายของเรา หรือในระดับกายของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น หากยังเปลี่ยนแปลงโลกภายนอก วิถีของโลกภายนอก ซึ่งก็คือโลกภายนอกของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ด้วย และก็ย้อนกลับมาเปลี่ยนวิถีความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ด้วย นี่คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับระบบนิเวศ ที่ย้อนกลับไปกลับมา เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแยกไม่ออก

ในทฤษฎีซานติอาโกนั้น สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตได้ก่อกำเนิดโลกขึ้นมา มนุษย์ได้ก่อกำเนิดโลกของมนุษย์ หมาได้ก่อกำเนิดโลกของหมา แมวได้ก่อกำเนิดโลกของแมว ผีเสื้อได้ก่อกำเนิดโลกของผีเสื้อ ผึ้งได้ก่อกำเนิดโลกของผึ้ง บริงกิ้ง โฟร์ธ อะ เวิร์ลด์ (bringing forth a world) คือก่อกำเนิดโลกใบหนึ่งขึ้นมา แต่ไม่ใช่โลกใบนั้น ในทฤษฎีซานติอาโก ไม่มีโลกใบนั้น หรือ อ็อบเจ็คตีฟ เวิร์ลด์ (objective world) หากมีเพียงโลกแต่ละใบที่แตกต่างกัน หรือ ซับเจ็คตีฟ เวิร์ลด์ (subjective world) ซึ่งมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในสังคมมักจะเกิดอุปทาน มักจะเกิดภาพลวงตา และไปยึดขึ้นมาว่ามีโลกใบนั้นอยู่

แต่โลกแต่ละใบไม่ใช่โลกของปัจเจก การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในสายพันธุ์ต่างหากได้ก่อประกอบโลกขึ้นมา การก่อประกอบโลกมันเป็นสมุหะ หรือ คอลเล็คตีฟ (collective) มากกว่าที่จะเป็นเพียงปัจเจก จริงอยู่โลกของปัจเจกก็มีด้วย โดยเฉพาะในระดับของมนุษย์ แต่ขอให้ดูให้ดี ความเป็นสมุหะมันครอบงำเราไว้มากกว่าที่เราคิด เราจึงมักมีความคิดเป็นกลุ่มก้อนทางสังคม ตลอดจนเป็นกลุ่มก้อนของยุคสมัยด้วย

ทีนี้อยากจะมามองอีกด้านหนึ่งของการก่อประกอบโลกและโลกมันมีกี่ใบกันแน่ ใบนั้น ใบนี้ หรือใบหนึ่งๆ ที่อยู่แตกต่างกันออกไป อยากจะพูดถึง ทฤษฎีระบบ (system theory) หรือ การคิดอย่างกระบวนระบบ (system thinking) อยากจะพูดถึงวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ อยากจะพูดถึงธรรมชาติ หรือการเข้าถึงกฎธรรมชาติที่ท่านพุทธทาสพูดถึง

บางทีในแง่มุมนี้ ในแง่มุมของทฤษฎีระบบ ในแง่มุมของการมองกฎธรรมชาติของท่านพุทธทาสหรือของพุทธศาสนา อาจจะเป็นไปได้ว่ามีโลกใบนั้นดำรงอยู่ และเมื่อเราเข้าไปใกล้โลกใบนั้นเท่าไหร่ เราก็ใกล้สัจจะความเป็นจริงเท่านั้น อันนี้ที่กล่าวนี่จะดูเหมือนขัดแย้งกับทฤษฎีซานติอาโกหรือไม่ ก็ทิ้งไว้ให้ปราชญ์ผู้รู้และผู้คิดค้นทั้งหลายสดับคิดค้นกันต่อไป แต่อยากจะพูดต่อไปว่า เมื่อเราเกิดการเฝ้าดูอย่างเนิ่นนาน ไม่ว่าในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็ดี หรือจากการฝึกสมาธิฝึกจิตก็ดี เราต่างก็ได้นำพาตัวเองเข้าไปใกล้สิ่งหนึ่ง ที่เรียกว่าการเข้าไปใกล้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ หรือ ไท่ ชี ฉวน เมื่อเราปรับตัวเอง ปรับโลกภายใน ปรับแบบจำลองความเป็นจริงภายในของเรา เข้าไปใกล้ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เข้าไปใกล้ทฤษฎีระบบยิ่งขึ้นทุกที โลกของเราแม้จะเป็นเพียงใบหนึ่ง ไม่ใช่โลกใบนั้น แต่เราก็อาจจะได้เข้าไปใกล้โลกใบนั้นยิ่งขึ้นทุกที

อยากพูดถึงมิติหนึ่งของการสนทนากับทฤษฎีซานติอาโก ฟรานซิสโก เวเรลา และ ฮัมเบอโต มาตูรานา ได้พูดถึงภาษาไว้ว่า มันเชื่อมร้อยอยู่กับชุดของพฤติกรรมหรือกลุ่มก้อนของการกระทำอย่างใกล้ชิดหรืออย่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน พูดในอีกแง่หนึ่ง การมีคำพูดใหม่หรือภาษาใหม่ ก็คือการมีชุดของพฤติกรรมใหม่ แต่เดิมที่เราแยกการพูดกับการทำออกจากกันตามวิถีแห่งวิทยาศาสตร์เก่า เราอาจจะพูดว่า “ดีแต่พูด” หรือ “พูดแล้วไม่ทำ” แต่ที่จริงคำพูดและภาษามันเชื่อมร้อยเข้ากับการกระทำมากกว่าที่เราจะคาดคิดได้ เพราะเรามีชีวิตอยู่ในการพูดอย่างเป็นอัตโนมัติ การพูดก็คือก่อประกอบโลกของมนุษย์ เราอยู่ในทะเลการพูดคุยจนเรามองไม่เห็นน้ำทะเล แต่แล้วน้ำทะเลก็กลับมากำหนดความเป็นไปของชีวิตของเราทุกอย่างทุกประการ

ถ้ามีคำถามเกิดขึ้นมาว่า “เรามาเจียระไนเพชรกันไหม...” กับการที่คำพูดแต่ละคำจะผุดพรายจากหัวใจ และเปล่งเสียงออกมาทางปากของเรา อันนี้หมายความว่าอย่างไร? มันมีความหมายอย่างไรกับเรา?

การพูดคุยของเรามักเป็นไปอย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล ชีวิตของเราก็ดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล เวลาเราขับรถกลับบ้าน บางวันเราอยากจะไปซื้อของ เราต้องเลี้ยวซ้าย แต่พอถึงแยก เรามักจะเลี้ยวไปอีกทาง คือเลี้ยวกลับบ้าน เพราะชีวิตโดยปกติของเราจะเป็นไปอย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล เรามักไม่รู้ว่า คำพูดของเราผูกพันอยู่กับพฤติกรรมของเราทั้งหมด เมื่อเราหลับใหล ทั้งคำพูดและพฤติกรรมที่ผูกพันอยู่ก็จะเป็นอัตโนมัติที่หลับใหลด้วย ทั้งหมดนี้วนเวียนอยู่กับที่ เมื่อถึงทางเลี้ยวก็จะเลี้ยวตามเดิม เมื่อถึงบทนี้ก็จะพูดตามเดิม เป็นการย่ำเท้าอยู่กับที่ เป็นเกลียวพลวัตที่วนเวียนอยู่กับที่ แต่ไม่ได้เป็นบันไดเวียนที่เวียนขึ้น ไม่ได้เป็นชีวิตที่เวียนขึ้น เรียนรู้ พัฒนาและวิวัฒนา

การเจียระไนเป็นกิจกรรมแห่งการตื่นรู้ งานที่ทำก็ยังเป็นอัตโนมัติ แต่เป็นอัตโนมัติที่ตื่นรู้ งานที่ทำซ้ำๆ แต่ไม่ซ้ำซาก ส่วนเพชรคือสิ่งมีค่ายิ่ง เราหยิบจับด้วยความตื่นตัวตื่นรู้ การทำงานกับเพชรย่อมให้พลาดง่ายๆ ไม่ได้ คำพูดคำจาจึงระมัดระวัง การระมัดระวังได้เพิ่มความตื่นรู้ขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้เกลียวพลวัตก็หมุนเวียนขึ้น เป็นบันไดเวียนขึ้น มีการเรียนรู้ พัฒนาและวิวัฒนา เมื่อคนพูดคุยกันอย่างนี้ เราก็ได้สร้างสรรค์น้ำทะเลแห่งภาษาที่ผูกพันอยู่กับพฤติกรรมและการดำรงชีวิตทั้งมวล เมื่อระบบนิเวศแห่งภาษาหรือทะเลแห่งโลกภายในของเราดีขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรม ชีวิต แม้ความเป็นไปทางสังคมก็จะดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างถ้อยคำ หรือภาษา กับกระทำ ถ้อยคำกับการกระทำจึงเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

ตรงกันข้ามถ้าการพูดคุยเป็นไปอย่างอัตโนมัติที่หลับใหล เราจะคายกบหรืออึ่งอ่างออกมาเป็นตัวๆ การกระทำ พฤติกรรม ชีวิต และสังคมก็จะเป็นน้ำทะเลเน่าๆ ระบบนิเวศที่เน่าๆ แล้วเราจะอยู่ในบ้านเรือนเช่นนี้ได้อย่างไร?

คำพูดที่เปล่งออกมาอย่างเป็นการเจียระไนเพชร จึงเป็นการก่อประกอบโลกใหม่ที่งดงามอยู่ตลอดเวลา อย่างตื่นรู้ ที่มีการเรียนรู้ พัฒนาและวิวัฒนา เมื่อสองคนสามคน ตลอดจนสังคมพูดกันอย่างนี้ เราก็สร้างสังคมแห่งเกลียวพลวัตขึ้น คือเป็นบันไดเวียนให้ได้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสังคมวิวัฒน์อันเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ของกลุ่มจิตวิวัฒน์นั่นเอง

หนึ่งนาทีก่อนเที่ยงคืน

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2548

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแทบจะแยกไม่ออกจากการทำสงครามประหัตประหารกัน และนับวันดูจะรุนแรงมากขึ้น เพียงแค่ถอยหลังไป ๑๐๐ ปี คือระหว่างปีค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๘๙ อันเป็นปีที่สงครามเย็นยุติ คาดกันว่ามีคนตายไปเพราะสงครามถึง ๘๖ ล้านคน ถ้านับจำเพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (๑๙๔๕) มาจนถึงปี ๑๙๙๐ มีคนตายเพราะสงครามถึง ๒๒ ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่นับถึงคนที่ตายเพราะน้ำมือของรัฐบาลตนเองอีก ๔๘ ล้านคน (ดังที่เกิดในรัสเซียสมัยสตาลิน จีนสมัยเหมา และเขมรสมัยพอลพต)

แม้ขึ้นศตวรรษใหม่แล้ว สงครามก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะน้อยลง ปัจจุบันมีประมาณ ๑ ใน ๘ ของประเทศทั่วโลกที่พัวพันกับสงคราม โดยส่วนใหญ่เป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ร้อยละ ๙๐ ของเหยื่อสงครามในปัจจุบันเป็นพลเรือน ขณะที่ผู้บาดเจ็บล้มตายในสงครามเมื่อศตวรรษที่แล้วร้อยละ ๙๐ เป็นทหาร

ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นหลักฐานชี้ชัดว่ามนุษย์นั้นนิยมความรุนแรงและใฝ่สงคราม อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนหลังไปนับหมื่นๆ ปี กลับพบหลักฐานน้อยมากที่ยืนยันข้อสรุปดังกล่าว ในช่วงเวลา ๑๐,๐๐๐ ปีก่อนหน้านี้ขึ้นไป นักโบราณคดีแทบไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับสงครามหรือการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ในหนังสือเรื่อง Troubled Times: Violence and Warfare in the Past (๑๙๙๖) ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างละเอียด สิ่งที่ค้นพบก็คือ ความรุนแรงเกือบทั้งหมดของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในช่วง ๘,๐๐๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง ในบทปิดท้าย ไบรอัน เฟอร์กูสัน ได้สรุปว่า “ดูเหมือนว่าการฆ่ากันระหว่างบุคคลมีน้อยมาก และแทบจะไม่มีการฆ่าอย่างเป็นระบบเลยตลอดอดีตการใช้ชีวิตทั้งหมดของเรา”

ข้อสรุปดังกล่าวส่วนหนึ่งได้มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ยังไม่เคยพบอาวุธสำหรับทำสงครามชิ้นใดที่เก่าแก่ไปกว่ากริชและคทาอายุ ๘,๐๐๐ ปีที่เมืองคาทาลฮูยุคในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันป้อมปราการเก่าแก่ที่สุดที่พบก็คือกำแพงเจอริโค อายุ ๑๐,๐๐๐ ปี ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าอาจสร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมมากกว่าเพื่อป้องกันการรุกราน

จริงอยู่มนุษย์ยุคหินรู้จักทำอาวุธมานานแล้ว แต่อาวุธเหล่านั้นใช้ในการล่าสัตว์มากกว่าที่จะทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน ภาพวาดตามผนังถ้ำก่อนยุคประวัติศาสตร์อย่างมากก็เป็นเรื่องราวการล่าสัตว์ด้วยธนูและหอก แต่แทบไม่มีภาพเกี่ยวกับการต่อสู้กันด้วยอาวุธเลย ตรงกันข้ามกับภาพวาดบนกำแพงและรูปปั้นของชาวสุเมเรียนและอียิปต์เมื่อราว ๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว จะเต็มไปด้วยเรื่องราวของการต่อสู้และทำสงครามกัน

มนุษย์นั้นถือกำเนิดขึ้นมาในโลกไม่น้อยกว่า ๒ ล้านปีมาแล้ว แต่มีเพียง ๑๐,๐๐๐ ปีสุดท้ายเท่านั้นที่พบหลักฐานการทำสงครามหรือการสู้รบกันเป็นกลุ่มและอย่างเป็นระบบ และเมื่อศึกษาให้ละเอียด จะพบว่าการสู้รบกันอย่างนองเลือดจนล้มตายกันเป็นเบือนั้นกระจุกตัวอยู่ในช่วง ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าประวัติศาสตร์อันนองเลือดของมนุษย์นั้นกินเวลาเพียง ๐.๑% ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมด ถ้ายกเอา ๑๐,๐๐๐ ปีสุดท้ายออกไปแล้ว กล่าวได้ว่า ๙๙.๕ % ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นช่วงเวลาแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

น่าสังเกตว่ามนุษย์เมื่อ ๑๐,๐๐๐ ปีก่อนยังชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า วิถีชีวิตดังกล่าวมีส่วนไม่น้อยในการทำให้มนุษย์ห่างไกลจากสงคราม เนื่องจากต้องเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ ที่ดินจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะต้องแย่งชิงกัน ขณะเดียวกันประชากรยังมีจำนวนน้อย พื้นที่ว่างมีมาก ประชากรเฉลี่ย ๑ คนต่อพื้นที่ ๑ ตารางไมล์ โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันระหว่างบุคคลหรือระหว่างเผ่าจึงมีน้อย

เราพบว่าในหมู่ชนดั้งเดิมที่ยังชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่าแม้กระทั่งทุกวันนี้ การใช้ความรุนแรงมีน้อยมาก อัตราการฆาตกรรมในกลุ่มชาวคุงซึ่งยังชีพแบบดั้งเดิมในอาฟริกามีน้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของสังคมสมัยใหม่ เมื่อมีการทะเลาะกัน ชาวบุชเมนจะรีบขอให้คนอื่นมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เมื่อมีคนจากกลุ่มหนึ่งเข้ามาล่าสัตว์ในเขตของอีกกลุ่มโดยไม่ได้ขออนุญาต ฝ่ายที่เป็น “เจ้าของ” เขตแดนจะขอให้เพื่อนบ้านไปเป็นพยาน และเข้าไปพูดคุยกับผู้บุกรุก พร้อมกับตักเตือนไม่ให้ทำเช่นนั้นอีก เมื่อมีผู้นำภาพสงครามจากนิตยสาร ไทม์ ไปให้ชาวบุชเมนดู พวกเขากลับแสดงความพิศวง มีทั้งความไม่เชื่อและเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมต้องใช้วิธีที่โหดร้ายเช่นนั้น

จริงอยู่ชนเผ่าพื้นเมืองที่ดุร้ายก็มีอยู่ อาทิ เผ่ายาโนมามีในบราซิล หรือวาโอรานีในเอกวาดอร์ แต่กรณีชนเผ่าบุชเมนและอีกหลายชนเผ่าทั่วโลก รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีเมื่อหมื่นกว่าปีขึ้นไปได้ชี้ว่า มนุษย์นั้นไม่ได้มีสัญชาตญาณใฝ่ความรุนแรงไปเสียหมด หรือไม่ได้มีสัญชาตญาณเช่นนั้นอย่างเดียว มนุษย์ยังมีสัญชาตญาณใฝ่สันติอยู่ด้วย สัญชาตญาณดังกล่าวได้รับการหนุนเสริมจากการเรียนรู้ว่า เมื่อใช้ความรุนแรง ย่อมถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง เคยมีคนถามชนเผ่าเซไมในมาเลเซียว่า “ทำไมคุณไม่ไปตีคนอื่น” คำตอบที่ได้ก็คือ “แล้วถ้าเขาตีตอบล่ะ?” ใช่แต่เท่านั้น ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่อำนวย ย่อมทำให้ผู้คนตระหนักว่า การร่วมมือกันและการหันหน้าเข้าหากันเป็นวิธีการอยู่รอดที่ดีที่สุด

ที่น่าสนใจก็คือการร่วมมือและคืนดีกันนั้นเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่ในสัตว์นานาชนิดด้วย โลมานั้นหลังจากวิวาทกันไม่นาน คู่กรณีทั้ง ๒ ฝ่ายก็มักจะเอาตัวเข้ามาถูกันอย่างนุ่มนวลหรือไม่ก็ดุนตัวกัน หมาป่าไฮยีนาซึ่งได้ชื่อว่าดุร้ายและชอบวิวาท แต่ไม่ถึง ๕ นาทีหลังจากสู้กันมันก็จะกลับมาหยอกล้อกัน เลียตัวกัน หรือถูตัวให้กัน ยิ่งลิงด้วยแล้ว การทะเลาะกันมักจะลงเอยด้วยการคืนดีกันเสมอ ถ้าเป็นชิมแปนซี ตัวที่แพ้จะเป็นฝ่ายเข้าไปคืนดี แต่ถ้าเป็นโบโนโบ ตัวที่ชนะมักจะเข้าไปง้อก่อน

พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนมีเหตุผลรองรับ สัตว์เหล่านี้รู้ดีว่าหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของกลุ่มทั้งหมด หากมีสมาชิกหนีออกไปเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องมีราวกัน กลุ่มก็จะมีขนาดเล็กลง ทำให้หาอาหารได้น้อยลง และมีกำลังน้อยลงในการต่อสู้กับผู้รุกราน และถึงแม้จะไม่มีการหนีจากกลุ่ม แต่ถ้ายังมีความบาดหมางกันอยู่ ทั้งสองฝ่ายก็จะเกิดความกังวลและต้องคอยระแวดระวังเพราะกลัวจะถูกทำร้าย ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งมีผลต่อภูมิต้านทานในร่างกาย เคยมีการตรวจสอบร่างกายของสัตว์เหล่านี้ พบว่าการคืนดีนั้นช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้เครียดน้อยลง

นักสัตววิทยาพบว่ายิ่งสัตว์มีการพึ่งพากันมากเท่าไร การปล่อยให้ความบาดหมางยืดยาวออกไปย่อมก่อผลเสียต่อตัวเองมากเท่านั้น การศึกษาลิงบางชนิดพบว่าการคืนดีหลังการต่อสู้กันมักจะเกิดกับคู่ที่มักจะช่วยกันหาอาหารมากกว่ากับคู่อื่นๆ จะว่าไปแล้วนี้ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ชนเผ่าดั้งเดิมพยายามหันหน้าเข้าหากันเมื่อเกิดความขัดแย้ง พวกเขารู้ดีว่าทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกันถึงจะอยู่รอดได้ ถ้ามีความร้าวฉานเกิดขึ้น กลุ่มก็จะอ่อนแอและทุกคนก็อยู่ในความเสี่ยง

ระบบเศรษฐกิจการเมืองและเทคโนโลยีในสังคมสมัยใหม่ ทำให้ผู้คนสำคัญผิดว่าตนเองสามารถอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร เพียงมีเงินในกระเป๋าก็เอาตัวรอดได้ จะทำอะไรก็อาศัยเทคโนโลยีโดยไม่จำต้องงอนง้อใคร แต่นั่นเป็นภาพลวงตา เพราะถึงที่สุดแล้วความผาสุกของแต่ละคนไม่อาจแยกจากของส่วนรวมได้ ยิ่งโลกาภิวัตน์ทำให้คนทั้งโลกมาใกล้ชิดกันมากขึ้น ก็ยิ่งมีผลกระทบต่อกันมากขึ้น แต่ละคนอยู่ได้ด้วยตนเองก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ในระยะยาวแล้วย่อมไม่อาจแยกขาดจากส่วนรวมได้

สันติภาพและการคืนดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตระหนักว่าเราทุกคนล้วนพึ่งพาอาศัยกัน ความผาสุกของผู้อื่นคือความผาสุกของเราด้วย และที่จะลืมไม่ได้ก็คือการตระหนักว่า ความรุนแรงไม่ใช่สัญชาตญาณของมนุษย์เท่านั้น ความรักสันติก็เป็นสัญชาตญาณของเราด้วยเช่นกัน แม้ว่าความขัดแย้งจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันเราก็คือ “เผ่าพันธุ์นักไกล่เกลี่ยคืนดี” การเห็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างรอบด้านจะช่วยให้สัญชาตญาณใฝ่สันติของมนุษย์มีโอกาสที่จะเติบโตทัดเทียมหรือยิ่งกว่าสัญชาตญาณใฝ่ความรุนแรง และสามารถนำพามนุษยชาติสู่สันติภาพอันยั่งยืนได้

หากเราย่อวิวัฒนาการของมนุษยชาติที่ยาวนานกว่า ๒ ล้านปีให้เหลือเพียง ๒๔ ชั่วโมง มนุษย์เราได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความขัดแย้งมาตั้งแต่เช้ามืด ตลอดบ่าย เย็น และค่ำจนกระทั่งเกือบเที่ยงคืน ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรงจึงเกิดขึ้น โดยช่วงเวลาที่นองเลือดนั้นเกิดขึ้นเมื่อ ๑ นาทีก่อนเที่ยงคืนเท่านั้นเอง คำถามก็คือเราจะปล่อยให้ ๑ นาทีสุดท้ายนั้นพามนุษยชาติไปสู่จุดจบหรือเคลื่อนสู่วันใหม่ที่ดีกว่าเดิม ?

เพราะความเป็นสอง - เราจึงหนีอวิชชาไม่พ้น

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2548

เมื่อร่วม ๒,๐๐๐ ปีก่อน อัศวโกษะเขียนคัมภีร์ญานปัตฐาน คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาสันสกฤต โดยใช้เวลา ๑๒ ปีเต็มๆ ที่ต่อมาได้กลายเป็นส่วนสำคัญของมหายานพุทธศาสนา โดยมีส่วนหนึ่งเป็นที่มาของบทความนี้ว่า “สรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ล้วนมาจากหนึ่ง ที่เรียกว่า “ตถาตะ” อันละเอียดยิ่งเช่นเดียวกันทั้งหมด แต่ด้วยอวิชชาและอหังการของมนุษย์ทำให้รับรู้เป็นภาพเป็นต่างๆ นานา จริงๆ แล้วทั้งหมดนั้นไร้รูปไร้กาย เป็นจิตมนุษย์เองที่เห็นผิดจนคิดว่าเป็นรูปเป็นกาย...แต่ถ้าจิตเป็นอิสระจากความเห็นผิดนั้นๆ เมื่อจิตอยู่ในความสงบอันประณีตแห่งสมาธิ สรรพปรากฏการณ์ก็จะหายไปเอง แม้แต่ที่ว่างหรืออวกาศก็ไม่มีจริง...โดยธรรมชาติอันนิรันดร-ทั้งสอง-ไม่ใช่ทวิตา...” (Teitaro Suzuki: The Awakening of Faith, ๑๙๐๗)

เนื้อหาสาระของบทความนี้ อาจไม่มีสาระสำหรับคนทั่วไปที่มองโลกบนความเป็นสอง (ทวิตาหรือทวิภาพ) แต่จะมีสาระที่สำคัญสำหรับคนกระบวนทัศน์ใหม่ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่

เพราะว่า ด้วยข้อมูลใหม่ๆ ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยา ทุกวันนี้ เรามีคำตอบใหม่ที่พิสูจน์ได้เกือบทั้งหมดโดยคณิตศาสตร์ (String theory, Matrix or M-theory, Loop quantum gravity, Vacuum theory etc.) แม้ว่าการพิสูจน์ด้วยคณิตศาสตร์ได้ทั้งหมดกับสัทธรรมความจริงเป็นคนละเรื่องกัน แต่หากทั้งสองเกิดมาคล้องจองกันเข้าย่อมจะทำให้การรับรู้และการแปลประสบการณ์ของเราแตกต่างออกไป จำเป็นและสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ ที่เป็น “นักวิชาการเพื่อวิชาการบริสุทธิ์” ทุกคนจะต้องรู้และเอามาคิด เพื่อความเข้าใจในสมุทัยของทุกข์กับวิกฤติทั้งหลายของโลกได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ครับ เรากำลังมีปัญหาสารพัดในทุกๆ ระบบ - วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ การ ศึกษา กระทั่งการแพทย์และสุขภาพ - อันเป็นพื้นฐานอารยธรรมของเรามาตลอด แต่ไม่เคยมีช่วงสมัยใดที่ความเลวร้ายของวิกฤติจะมีความรุนแรงหนักหน่วงต่อการดำรงรอดของเผ่าพันธุ์เช่นที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ผู้อ่านที่ติดตามช่องข่าวบีบีซีเวิร์ลด์ในระยะสามสี่เดือนติดต่อกันเป็นประจำจะต้องรู้กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอดส์ที่ไม่ใช่เอชไอวีไข้หวัดนกที่จะมีคนติดเชื้อกว่า ๑,๒๐๐ ล้านคน (Nature, May ๒๐๐๕) กระทั่งอุกาบาตที่จะตกลงมาชนโลก ตามวัฏจักรการโคจรของระบบสุริยะไปรอบแกนกลางกาแล็กซี่ทางช้างเผือก ที่โคจรครบหนึ่งรอบในทุกๆ ๒๕๐ ล้านปี (BBCworld.com /science) รวมทั้งข้อมูลล่าสุดที่บอกว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงเกิน ๐.๔๕ เมตรเกิดจากโลกร้อนจากการเผาน้ำมันของมนุษย์เรา เช่นที่ประเทศบังคลาเทศ ทั้งหมดนั้นจะทำให้เรื่องสึนามิต้องชิดซ้ายตกท้องร่องไปไหนก็ไม่รู้

จะเห็นได้ว่าปัญหาทั้งหมดของมนุษย์ล้วนมาจากความอยากจะติดปีกด้วยเศรษฐกิจ และเสรีที่มีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทั้งสิ้น ล้วนมาจากหลักการแยกส่วนที่ตั้งบนความเป็นสอง (บนความเป็นสอง - บนความเป็นสอง - บนความเป็นสอง - ไม่มีสิ้นสุด) ราวกับว่าจักรวาลนี้โลกนี้คือเวทีให้ทุกชีวิตอภิวัฒน์จิตที่อยู่ภายในขึ้นมา เพื่อการเรียนรู้และพบกับความจริงแท้หลังรูปหลังกายหลังเกิดตาย กระทั่งหลังจักรวาลที่เห็น

การที่เราตามืดตามัวกับเศษเสี้ยวของวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าเทคโนโลยี เพราะว่ามันก่อความสุขสนุกสะดวกสบาย แถมติดปีกให้กับตัณหาอวิชชาแก่มนุษยชาติเพียงเผ่าพันธุ์เดียวจนเสียนิสัย จนลืมคิดว่าเทคโนโลยี“เผาซากน้ำมัน” เหล่านั้นมันให้แต่ด้านบวกที่ปลอดภัยจริงๆ หรือ? ในช่วงสองสามร้อยปีแรก เมื่อประชา กรโลกมีน้อย แต่ธรรมชาติยังมีเหลือเฟือ เราจึงไม่เห็น แต่ตอนหลัง โดยเฉพาะสองสามทศวรรษมานี้ เราถึงเริ่มรู้สึก ว่าทำไมอะไรที่เลวร้าย ไม่ว่าโลกร้อนพายุร้ายหรือโรคระบาดแปลกๆ จึงแห่กันมาหาบ่อยขึ้นและบ่อยขึ้น เราชักจะรู้ และรู้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่มันสายเกินไปเสียแล้ว เราแก้ไขอะไรไม่ได้เลย - ย้ำ- เราแก้ไขอะไรไม่ได้เลย (Ervin Laszlo, Peter Russell & Stanislav Grof: The Consciousness Revolution,๑๙๙๙) หากจะมีนักวิชาการคนไหนเห็นแย้งกับปราชญ์เหล่านี้ สามารถเข้าไปคุยโดยตรงในเว็บไซต์ชื่อเต็ม (ชื่อกับนามสกุลติดกันยกเว้นโกร๊ฟที่ใช้เฉพาะชื่อสกุลเป็นเว็บไซต์)

บทความนี้จะชี้ให้เห็นความสอดคล้องกันหว่างประเด็นสำคัญๆ ทางพุทธศาสตร์โดยเฉพาะมหายาน เช่นประเด็นของความเป็นสอง หรือทวิตา หรือมายา ที่แม้เมื่อวานนี้เรายังเรียกว่าพุทธปรัชญา (ถ้าไม่ถึงกับเรียกว่าความคิดจิตนิยมหรือความงมงาย) แต่วันนี้ฟิสิกส์กับจักรวาลวิทยาพูดเช่นเดียวกัน แถมพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และด้วยคณิตศาสตร์ที่ผู้เขียนเชื่อว่าสมบูรณ์เสียด้วย จึงเชื่อว่า เราทุกคนต้องยอมรับว่านั่นคือความจริงทางวิทยาศาสตร์อย่างแทบไม่มีข้อแม้

จักรวาลวิทยาคือองค์ความรู้แรกสุดของทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ประสบการณ์แก่เรา รวมทั้งที่มาของชีวิตและมนุษย์กับการดำรงอยู่ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำ ที่เราคิด ที่เราเรียนรู้และรับมาเป็นประสบการณ์ ล้วนแล้วเกิดขึ้นบนโลกนี้จักรวาลนี้ที่มีที่ว่างและเวลา (space-time) สี่มิติเป็นเวที ขณะเดียวกัน จักรวาลวิทยาคือปฐมภูมิขององค์ความรู้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติทุกสาขา ที่ให้อารยธรรมความเป็น “สมัยใหม่” แก่มนุษยชาติตลอดเวลากว่า ๓๐๐ ปี น่าเสียดายและน่าเสียใจที่ความรู้ความเข้าใจของเราในเรื่องนี้ได้เถลเฉไฉไถลออกไปนอกลู่นอกทาง ทำให้เราผลิตชุดความรู้ที่อธิบายความจริงของธรรมชาติผิดทางไปด้วย อารยธรรมที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาจึงมีอายุสั้นยิ่งนัก และกำลังเดินเข้าไปสู่ความล่มสลายเร็วขึ้น เรามีเวลาน้อยเพียงหนึ่งทศวรรษที่จะแก้ไของค์ความรู้อันเถลเฉไฉไปนอกทางนั้น ที่จะตื่นและเปลี่ยนแปลง โดยการช่วยกันตะโกนให้คนอื่นได้รู้และลอกคราบความรู้ที่ผิดๆ ออกไปเสีย เอาวิทยาศาสตร์กายภาพโดยเฉพาะเทคโนโลยีพร้อมกับระบบสังคมที่เฉไฉทั้งแผงทิ้งไปเสีย แล้วหันมาหาวิทยาศาสตร์ใหม่ที่มีจักรวาลวิทยาเป็นหัวหอก

น่าสนใจคือ จักรวาลวิทยาใหม่กลับมีความสอดคล้องกับจักรวาลวิทยาดีกดำบรรพ์กับตำนานปรัมปราที่อยู่คู่กันมากับความหมาย ตำนาน (myth) ที่บรรพบุรุษเราเคยเชื่อมั่นและพยายามแสวงหามานับพันๆ ปี ก่อนจะมีวิทยาศาสตร์

รากฐานของจักรวาลวิทยานั้น (แทบทั้งหมดเป็นการคาดการณ์ (speculation) ทางวิทยา ศาสตร์) ที่มีทฤษฎีหรือคณิตศาสตร์สนับสนุน ในที่นี้จะสรุปย่อชุดจักรวาลวิทยาใหม่ตามที่ผู้เขียนเข้าใจจากหนังสือที่ประหนึ่งเป็นตำราทางจักรวาลวิทยาสำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์สี่เล่ม เล่มแรกที่บีบีซีเวิร์ลด์เอามาออก อากาศเมื่อเร็วๆ นี้ของ มิชิโอะ กากุ (Michio Kaku: Parallel Worlds..; ๒๐๐๕) กับหนังสืออีกสองเล่มของ แมธธิว ริคาร์ด กับ ตริน ซวน ทวน (Matthieu Ricard,Trinh Xuan Thuan: The Quantum and the Lotus, ๒๐๐๑) และของเฮนรี สแตบบ์ (Henry Stapp: Mind, Matter & Quantum Mechanics, ๒๐๐๐) ทั้งสามเล่มพูดถีงจักรวาลที่เกี่ยวกับนิพพานและจิตวิญญาณ ส่วนอีกเล่มหนึ่งมาจากนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่โคลัมเบีย คือ ไบรอัน กรีน (Brian Greene: The Fabric of The Universe,๒๐๐๓)

มิชิโอะ กากุ เป็นนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ระดับนำของโลก ที่เคยเขย่ารากฐานของจักรวาลวิทยามาแล้วหลายครั้ง ตอนแรกนักฟิสิกส์ด้วยกันรับไม่ได้ กระทั่งไม่ถึงสองทศวรรษมานี้เองจึงได้รับการยอมรับอย่างแทบเป็นเอกฉันท์ นั่นคือการคาดการณ์ทางจักรวาลวิทยาบางประการที่มีข้อพิสูจน์บนสมการคณิตศาสตร์ว่าด้วยทฤษฎีไยมหัศจรรย์ และทฤษฎีแมทริกซ์ (String theory / M-theory) และควอนตัม เมคานิกส์ รวมทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ คือการพิสูจน์ได้ว่า จักรวาลมีมิติหลากหลาย สสารดำรงอยู่ด้วยพลังงานที่ให้ความถี่ของการสั่นสะเทือน (vibration) ในแต่ละมิติสั่นหยาบหรือละเอียดแตกต่างกัน และแตกต่างจากจักรวาลที่สั่นสะเทือนอย่างหยาบที่มีสี่มิติของเรา เท่าที่พิสูจน์ได้พบว่าอย่างน้อยจักรวาลมี ๑๑ มิติ มิชิโอะบอกว่ามิติที่ ๑๑ เป็นสภาวะนิพพาน (nirvarna) ที่มีความถี่ละเอียดอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับโลกสี่มิติของเรา

มิชิโอะ กากุ พิสูจน์ได้ว่าจักรวาลมีมากมาย (multiverses) อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยแต่ละจักรวาลจะมีลักษณะเหมือนฟองของเหลว- ที่ยุบๆ พองๆ - หรือให้ฟองขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา มิชิโอะบอกว่าจักรวาลถัดไปอาจอยู่ห่างเพียงหนึ่งมิลลิเมตรจากผิว (brane) จักรวาลของเรา แต่รับรู้ไม่ได้เพราะมันอยู่เหนือมิติ (สี่มิติ) ของเรา มิชิโอะยังบอกว่า ทุกวันนี้ นักฟิสิกส์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า การเกิดใหม่ของจักรวาลนั้น มีความเป็นไปได้หลายทาง ทางแรก จักรวาล (สี่มิติเช่นจักรวาลของเรา) จะเกิดใหม่หลังจากหนึ่งล้านล้านปีนับจากวันนี้ โดยสิ้นสุดลงด้วยความเย็นเยือก (big freeze) ไร้พลังงาน ขณะเดียวกันพลังงานมืด (dark energy) ที่ได้จากการยุบตัวเองลงมาของสสารมืด (dark matter) จะรวมเป็นหลุมดำที่ต่อเนื่องกับหลุมขาว - เพื่อจะให้บิกแบ็งใหม่ - เรื่อยไป หรืออีกเส้นทางหนึ่ง หลุมดำที่อยู่ใจกลางของทุกๆ กาแล็คซี่จะรวมเข้าด้วยกันทำให้จักรวาลหดตัวลงมา (big crunch) เป็นหลุมขาว

ชิปอฟ (G. Shpov) นักฟิสิกส์แนวหน้าของรัสเซีย ผู้ค้นพบทฤษฎีความว่างเปล่า (theory of physical vacuum) แคนดิเดทรางวัลโนเบลปีนี้คิดว่า มิติแห่งนิพพานอยู่หลังมิติที่ ๙ เป็นต้นไป เมื่อความสั่นสะเทือนของพลังงานมีความละเอียดอย่างยิ่ง อนึ่ง จักรวาลทั้งหลายรวมจักรวาลของเรา ต่าง “ยุบๆ พองๆ” ดับแล้วเกิด เกิดแล้วดับจากความว่างเปล่าไม่มีวันจบสิ้น

ทั้งหมดนั้นอาจเข้าใจยากสำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ ส่วนนักวิทยาศาสตร์ใหญ่ที่คิดว่าเก่งแล้วก็มักไม่ยอมอ่าน ทำให้ผู้นำสังคมเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่เชื่อแค่ความเห็นของนักวิทยา ศาสตร์ใหญ่ที่ตรงกับสามัญสำนึก “ความเป็นสอง” ของตน ทำให้อะไรๆ ต้องชะลอไว้ก่อน เราถึงได้มีสึนามิ มีน้ำท่วมสลับภัยแล้ง และจะมีวิกฤติโลกในรูปอื่นอีกต่างๆ นานา

อ่านหนังสือของ มิชิโอะ กากุ แล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงยานบิน (UFO) ที่จอห์น แม็ค จิตแพทย์จากฮาร์วาร์ดที่เพิ่งตายไปบอกว่า ยานบินไม่ใช่มาจากต่างดาว แต่มาจากต่างมิติที่สามารถควบคุมหรือใช้จิตนำทาง จึงอาจปรากฏให้คนในโลกสี่มิติเห็นได้ (John Mack, Abduction, ๑๙๙๕) และอดคิดถึงชั้นต่างๆ ของนรกสวรรค์ - ที่อาจอยู่ในมิติต่างกันหรือชี้นำด้วยสนามพลังงานที่มีการสั่นสะเทือน (vibration) หยาบหรือละเอียดแตกต่างกัน - ไม่ได้ ดังข้อสรุปว่าสวรรค์กับเทวดา คือผู้มาเยือนจากนอกโลกที่เอาชนะข้อแม้มิติได้ (Erich Von Daniken: Chariots of the Gods, ๑๙๗๐)

ศาสนาพุทธเองพูดถึงจักรวาลที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีการตั้งต้นจึงไม่มีการดับสูญไปได้ (อนามัตโก ยามัง สังสาโร บัพโคติ นะ ปัญญายาติ) จักรวาลที่เราอยู่นี้ มีสามลักษณะคือ หนึ่ง มหาโลกธาตุที่ประกอบด้วยกลุ่มโลกธาตุจำนวนมาก เทียบได้กับจักรวาลทั้งหมดที่มีกลุ่มกาแล็คซี่จำนวนมาก สอง มัชฌิมโลกธาตุที่ประกอบด้วยโลกจำนวนมาก เทียบได้กับกาแล็คซี่ทางช้างเผือกที่มีดาวหรือดวงอาทิตย์มากมาย และสาม จุลโลกธาตุ หมายถึงระบบสุริยะและโลกมนุษย์กับดาวเคราะห์อื่นๆ มหายานบอกว่า จักรวาลที่เราเห็นและให้โลกที่เราอยู่ ไม่ใช่ความจริงแท้ แต่เป็นความจริงสัมพัทธ์เท่านั้น แยกจากจิตไม่ได้ ทั้งสองอยู่คู่กันและเสริมเติมกันด้วยพลังงานหรือแรงแห่งการกระทำหรือแรงกรรม

แม็ธธิว ริคาร์ด ที่อ้างข้างบนนั้น คือเจ้าอาวาสวัดใหญ่แห่งหนึ่งในอินเดีย ก่อนบวชเป็นพระ คือนักชีววิทยาระดับผู้บริหารของสถาบันปาสเจอร์ (Pasteur Institute) ที่กรุงปารีส สรุปว่า

“....จักรวาลของเราเกิดจากการรวมตัวกันของธรรมธาตุ (ไม่ใช่สสาร แต่หมายถึง “ศักยภาพ” ของการเป็นสสาร) โผล่ปรากฏออกมาจากอวกาศ (space) ที่ “ว่างเปล่า” (สุญตาหรือ void) เท่าๆ กับที่เป็นความ “เต็ม” ในตอนแรกที่ปรากฏเป็นรังสีห้าสีที่ต่อมาจะค่อยๆ กลายเป็นสสารหรือธาตุทั้งห้า (ธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม กับอากาศธาตุ ที่ต่อมาประกอบเป็นชีวิต หรือบางทีแยกต่อเป็นอากาศธาตุและวิญญาณธาตุของเถรวาท) ในพุทธศาสนานั้นจักรวาลไม่ใช่มีเพียงหนึ่งหรืออยู่ตามลำพัง แต่ไม่มีที่สิ้นสุด ต่างพึ่งพาหรือเป็นเหตุปัจจัย เป็นวัฏจักร (cyclical หมุนวนเวียนแต่ไม่ทับซ้ำรอยเดิม) วัฏจักรของจักรวาลหนึ่งๆ จบลงด้วยไฟบัลลัยกัลป์ ๗ ครั้ง แล้วทุกสิ่งทั้งหมดถูกดูดหายไปในความว่างเปล่าที่เชื่อมต่อระหว่างจักรวาลเก่ากับจักรวาลใหม่”

ดุลยภาพของการเรียนรู้

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2548

เมื่อเดือนกรกฎาคม สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้สนทนากันท่ามกลางสวนสวยและอากาศฤดูฝนที่ฉ่ำชื่น ผู้จุดประเด็นการสนทนาในวันนั้นคือ ครูวิศิษฐ์ วังวิญญู สาระที่นำเสนอคือการเขียนโลกใบใหม่ของการเรียนรู้

วิศิษฐ์ พูดและใช้ภาษาเขียนที่อลังการมาก เกือบทุกข้อความ เขาใช้คำธรรมดา ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้ง สมาชิกกลุ่มต้องตั้งใจแน่วแน่ ฟัง อ่าน อย่างพินิจเจาะลึก กลั่นกรองเพื่อเข้าถึงสาระที่เขาสื่อออกมา ผู้ที่สนใจอาจสืบค้นจากแหล่งข้อมูลของกิจกรรมจิตวิวัฒน์ที่ให้ไว้ท้ายบทความนี้

ประเด็นที่ขอหยิบยกมาพิจารณาซ้ำ คือสาระเชิงปรัชญาที่เป็นฐานของการเรียนรู้ วิศิษฐ์ วังวิญญู เน้นว่า การเรียนรู้ที่แท้นั้นเกิดจากสภาวะของจิตที่โปร่งสบาย ผ่อนคลาย แล้วคิดวิเคราะห์เข้าภายในตน ขณะเดียวกันก็ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงกับผู้อื่น การยึดติดกับเนื้อหาสาระที่ตายตัวนั้น แม้จะรู้มากก็มีประโยชน์น้อยกว่าการรู้สาระที่เปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงกับชีวิตเรา

ความสำคัญของการเรียนรู้อยู่ที่จุดหมายและกระบวนการ ประสบการณ์จากการเรียนรู้จะทับซ้อนสะสม มีทั้งความรู้ที่ข้ามพ้นไปสู่สิ่งใหม่ หลอมรวมกับประสบการณ์เดิมเป็นการ “ก้าวพ้นแต่ปนอยู่” (transcend and include) นั่นคือ กระบวนการเรียนรู้นั้นมีโครงสร้างแบบเกลียวพลวัต (spiral dynamics) มีธาตุรู้ที่สามารถเชื่อมโยงจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก จนเกิดปัญญาและความรู้ใหม่

ถ้าการฟังและการตกผลึกทางความคิดของผู้เขียนมีความถูกต้องตามที่ วิศิษฐ์ วังวิญญู นำเสนอ การเรียนรู้ดังกล่าวก็เป็นการเชื่อมโยงโลกภายนอกตัวเรากับโลกภายในเข้าด้วยกัน โดยเน้นการเพ่งลึกลงสู่จิตและยกระดับของจิตให้เกิดความตื่นรู้และอิสรภาพทางปัญญา

กระบวนการเรียนรู้ที่ฝึกเชื่อมโยงจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกเช่นนี้ นำไปสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณอย่างไม่มีข้อสงสัย อีกทั้งยังโยงใยไปถึงสุขภาวะองค์รวมของชีวิต แม้กระนั้นแนวคิดนี้ก็เหมือนเรือน้อยลอยกลางกระแสธารการศึกษาที่ไหลเชี่ยวและมีแก่งหินระเกะระกะอยู่ตลอดทาง

ปัจจุบัน การเรียนการสอนยังคงเน้นวิธีกระตุ้นให้เร่งรีบ แข่งขันอย่างเคร่งเครียด บันไดแห่งความสำเร็จทางการศึกษายังสูงชัน มองเห็นนักเรียนพยายามปีนป่ายอย่างสุดแรง

แม้จะมีการปฏิรูปการศึกษามานานแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและกิจกรรมการเรียนรู้กันขนานใหญ่ที่ปรากฏผลอยู่บ้าง แต่ที่ยังเปลี่ยนไม่ได้ คือ การเน้นเนื้อหาทั้งที่เป็น text และ content ซึ่งผู้เรียนต้องยึดถืออย่างแน่วแน่ กอบโกย เกรงกลัว และจะละเมิด “บท” ที่กำหนดไว้มิได้

ความรู้ได้ถูกแบ่งแยกไว้เป็นอาณาจักรของศาสตร์แต่ละสาขา พรมแดนที่มองไม่เห็น ได้ตีกรอบไว้ว่าเป็นส่วนของวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ฯลฯ เป็นขอบเขตที่โอบล้อมกักขังความคิดและชีวิตของแต่ละคนไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ในทางขวางนั้นเล่า การเรียนรู้ยังตัดแบ่งเป็นวัยและช่วงชั้น ตำราวิชาครูบางเล่มยังบอกว่า เด็กไม่สามารถรู้และคิดได้อย่างผู้ใหญ่ เนื้อหาสาระที่เรียนจึงต้องลำดับความยาก-ง่าย จำนวนน้อย-มาก เรียนก่อน-หลัง จากหลักการเช่นนี้ เด็กเล็กจึงยังไม่ควรเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายาวนาน (เพราะเด็กยังย้อนอดีตไม่เป็น?) ทั้งๆ ที่นักเรียนอนุบาลสามารถอ่านสมุดภาพโลกดึกดำบรรพ์และรู้จักไดโนเสาร์พันธุ์ต่าง ๆ ดีกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ

กระบวนการเรียนรู้ที่แข็งขึงตึงตัวจึงเกิดการเรียนรู้ที่ผิวเผิน ความรู้จากภายนอกก็รู้ไม่แจ้งชัด จึงก้าวไม่ถึงความรู้ฝังลึกที่ผู้เรียนสามารถคิด พินิจ กลั่นกรอง สะสม แล้วนำมาใช้ประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมได้จริง

มองอีกแง่มุมหนึ่ง การเรียนรู้ที่รวบรวมความรู้ภายนอกตัวเราและนอกสังคมของเรา เป็นการหลงทางเช่นนั้นหรือ ผู้เขียนเชื่อว่า เนื้อหาความรู้ หลักและวิธีการของศาสตร์ต่าง ๆ ยังมีความจำเป็นที่สร้างฐานการพัฒนาความคิดและความสามารถของบุคคล ตำราเนื้อหาสาระที่ วิศิษฐ์ วังวิญญู ใช้คำแทนว่า “บท” นั้นเป็นต้นทุนที่ต้องสืบค้นและเพิ่มค่าด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ จนรู้แจ้งชัดเจน ดังที่วิศิษฐ์ ใช้ประเมินว่า “ตีบทแตก”

การแสวงหาความรู้ยังแยกเป็น ๒ กระบวนการ คือ เรียนเพื่อความรู้รอบ (general knowledge) กับการเรียนมุ่งรู้ดิ่งเดี่ยว (technical knowledge)

ความรู้รอบเกิดจากการเชื่อมโยงและหลอมรวมสาระของศาสตร์ต่าง ๆ อย่างกลมกลืนได้สัดส่วนสมดุลกัน นำไปใช้ประโยชน์ได้

ความรู้ดิ่งเดี่ยวมุ่งไปสู่การฝึกหัดฝึกฝนจนเชี่ยวชาญในหลักทฤษฎีและเทคนิคเฉพาะที่จำเป็นต่อวิชาชีพ

หรืออีกนัยหนึ่ง ความรู้ดิ่งเดี่ยวอาจมุ่งวิเคราะห์ตนเองอย่างลึกซึ้ง จากรูปกายภายนอกลงสู่การทำงานของจิตภายในตน จนเห็นแจ้งในระบบความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตที่ละเอียดซับซ้อน เข้าใจความจริงของชีวิตและอิ่มเอมในอารมณ์ สภาวะเช่นนี้เป็นจุดหมายการเรียนรู้ของปัจเจกบุคคล

มนุษย์ต้องเรียนให้รู้รอบและรู้ดิ่งเดี่ยวในด้านใดด้านหนึ่งตามสัดส่วนที่เหมาะกับแต่ละชีวิต

ต้องเรียนรู้ภายในตน จิตสำนึกของตน และฝึกหัดขัดเกลาตนเองอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สังคม เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเกิดผลกระทบต่อทุกคนในโลกกว้าง

ตามนัยแห่งพุทธธรรม การพัฒนามนุษย์จึงเน้นความสมดุลทั้งวิถีทางโลกและวิถีทางธรรม กระบวนการเรียนรู้มีลักษณะก้าวเวียน (spiral) และยืดหยุ่นตามเหตุปัจจัยของชีวิต

กระบวนการเรียนรู้ที่สมดุลจึงเกิดผลที่งอกงามสูงขึ้น และพร้อมกันนั้นก็หยั่งรากลึกลงสู่ภายใน เปรียบดังต้นไม้ใหญ่ที่สูงตระหง่านเพียงใด ก็ย่อมหยั่งรากลึกลงเพื่อยืนต้นอยู่ได้อย่างมั่นคง

ดุลยภาพของการเรียนรู้ จึงนำสู่ความเจริญไพบูลย์ดังนี้

Back to Top