2009

เดินสู้ทุกข์ สุขสวนกระแส



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2552

เสียงกลองดังเป็นจังหวะขณะที่ผู้คนกว่า ๓๐๐ คนเดินฝ่าแดดร้อนเปรี้ยงไปบนถนนลาดยาง แถวหน้าเป็นพระภิกษุ ตามมาด้วยแม่ชี และฆราวาสซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก อายุลดหลั่นตั้งแต่ ๗๔ ปีไปจนถึง ๖ ขวบ จากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ต่างถือธงทิวและป้ายผ้าหลากสี บางข้อความเขียนว่า “แผ่นดินล้มป่วย แม่น้ำร้องไห้”

เมื่อถึงฤดูหนาวของทุกปี คณะธรรมยาตราจะเคลื่อนขบวนไปตามลุ่มน้ำลำปะทาว ซึ่งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ โดยแวะพักตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอด ๗ คืน ๘ วัน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงอันตรายที่กำลังเกิดกับป่าเขาลำห้วยและผืนดิน และช่วยกันแสวงหาทางเลือกใหม่เพื่อให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกันได้

ขบวนธรรมยาตราไม่ได้เดินเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติภายนอกเท่านั้น หากยังมุ่งฟื้นฟูธรรมชาติภายในใจของผู้เดินด้วย ดังนั้นในขณะที่รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ก็เชิญชวนให้ทุกคนเดินด้วยความสงบและอย่างมีสติ เพื่อดูใจของตัวเองไปด้วยขณะที่ถูกแดดแผดเผาหรือร่างกายเหนื่อยอ่อน

ธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาวทำต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๐แล้ว ครั้งนี้จึงจัดเป็นพิเศษด้วยการชูประเด็น “เดินทวนกระแส” คือแทนที่จะเดินล่องมาตามลำน้ำดังปีก่อนๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นเดินทวนกระแสน้ำ โดยเริ่มต้นจากตัวเมืองชัยภูมิและไปสุดที่ภูหลงซึ่งเป็นต้นน้ำลำปะทาว ระยะทางกว่า ๙๐ กิโลเมตร

เดินทวนกระแสน้ำหมายถึงการเดินจากที่ต่ำสู่ที่สูง จากพื้นราบสู่ภูเขา แน่นอนว่าย่อมเหนื่อยกว่าเดินตามน้ำ ธรรมดาของคนเราย่อมชอบความสบายอยู่แล้ว การเดินทวนน้ำจึงเป็นการทวนนิสัยหรือความเคยชินของคนเรา ใช่แต่เท่านั้น ยิ่งขึ้นสูง ยิ่งไกลจากเมือง ความสะดวกสบายก็ยิ่งน้อยลง ทางกันดาร อาหารไม่ถูกปาก ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย ไม่ถูกกับรสนิยมของกิเลสเอาเสียเลย การเดินทวนน้ำจึงเป็นการเดินทวนกิเลสไปด้วยในตัว

สำหรับคนที่นั่งรถเป็นชีวิตจิตใจ ธรรมยาตราถือว่าเป็นการเดินเข้าหาทุกข์โดยแท้ เพราะนอกจากทางจะไกล แดดจะร้อนแล้ว เส้นทางบางจุดยังวิบาก มิหนำซ้ำบางคนถอดหมวกไม่พอยังถอดรองเท้าเดินอีก ทำไมถึงต้องทำตัวให้ลำบากอย่างนั้น ตอบอย่างสั้นๆ ก็คือ ถ้าไม่เจอทุกข์ก็ไม่ถึงธรรม ถ้าอยากเห็นธรรมก็ต้องไม่กลัวทุกข์

ปกติเมื่อเราเจอทุกข์เรามักหาทางหนีทุกข์ หรือไม่ก็พยายามขจัดทุกข์นั้นให้หมดไป เช่น ถ้าร้อนก็หลบเข้าร่ม หาไม่ก็เปิดพัดลมหรือติดแอร์ ในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก ผู้คนหันมาแก้ทุกข์ด้วยสิ่งเหล่านี้กันอย่างพร่ำเพรื่อ จนขาดมันไม่ได้ กลายเป็นทาสของเทคโนโลยีและเสพติดความสะดวกสบาย ผลก็คือเกิดทัศนคติว่าวัตถุสิ่งเสพเท่านั้นที่จะให้ความสุขแก่เราได้ ดังนั้นจึงลุ่มหลงกับกระแสบริโภคนิยม เงินกลายมาเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิต เพราะถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีวัตถุสิ่งเสพ ไม่มีวัตถุสิ่งเสพก็ไม่มีความสุข

การหนีทุกข์หรือขจัดทุกข์ด้วยวัตถุสิ่งเสพจนเป็นนิสัย ทำให้เราละเลยที่จะแก้ทุกข์ที่ใจของเรา เราคิดแต่จะจัดการสิ่งภายนอก จนลืมที่จะจัดการกับใจของเรา ทั้งๆ ที่สุขหรือทุกข์นั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว อยู่ที่ใจของเราเอง ธรรมยาตราเป็นการพาคนเข้าหาทุกข์ก็เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีอยู่กับทุกข์ (กาย) ได้โดยไม่ทุกข์ (ใจ)

ธรรมชาติของคนเรานั้นต้องการหนีทุกข์ ดังนั้นเมื่อเจอความทุกข์กับตัว หากไม่สามารถพากายหนีทุกข์ได้ จิตก็จะค้นหาวิธีการอื่นเพื่อจะได้ไม่ทุกข์ไปกับกาย การพยายามสรรหาวิธีการนานาชนิดเพื่อจัดการกับความทุกข์ในใจ ในที่สุดจะช่วยให้เราได้พบธรรม จะเรียกว่าในทุกข์มีธรรมก็ได้ หลังจากที่เดินฝ่าเปลวแดดมาทั้งวัน หลายคนพบว่าการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการนับก้าวช่วยให้เป็นทุกข์น้อยลง ยิ่งมีสมาธิแน่วแน่ก็ยิ่งเพลินกับการเดิน “ปัน” เด็กชายวัย ๙ ขวบบอกว่า เหนื่อยน้อยลงเมื่อตาจับจ้องอยู่ที่เท้าของคนข้างหน้า บางคนจดจ่ออยู่กับเสียงกลองจนลืมเมื่อย ขณะที่บางคนท่อง “คาถา” ในใจขณะก้าวเดินว่า “ซ้ายทนได้ ขวาสบายมาก” ทำให้ใจฮึดสู้ขึ้นมาแม้เท้าจะพองก็ตาม

“กายเหนื่อย ใจไม่เหนื่อย” ไม่ใช่เป็นแค่คำปลุกใจ แต่สามารถปฏิบัติได้จริง แต่จะปฏิบัติได้จริงก็ต่อเมื่อมาเจอทุกข์กับตัว ถึงแม้กายจะเหนื่อย แดดจะร้อน แต่ถ้ามีสติเห็นความเหนื่อยกาย หรือเห็นใจที่บ่นโวยวาย ใจก็จะวางความเหนื่อยและความหงุดหงิดลงได้ทันที บ่อยครั้งกายยังไหว แต่ใจต่างหากที่ไม่ไหว เมื่อใดที่เห็นใจร้องงอแงว่า “ไม่ไหวๆๆ” ความงอแงจะหลบลี้หนีไป ใจจะกลับมาตั้งมั่นขึ้นใหม่ และเดินหน้าต่อไปได้ ใครที่บ่นว่า “เมื่อไหร่จะถึงๆๆ” ลองมีสติอยู่กับแต่ละก้าวๆ จะพบว่าใจสงบเย็นลงมาก ใจที่อยู่กับปัจจุบันจะทุกข์น้อยกว่าใจที่กังวลอยู่กับจุดหมายปลายทางข้างหน้า

ทุกข์อย่างหนึ่งที่แทบทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะคนที่ถอดรองเท้า นั่นคือความเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่อเดินทางลาดยางที่ร้อนระอุ หรือถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยกรวดแหลมคม ธรรมยาตราเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกการอยู่กับความเจ็บปวดโดยใจไม่ทุกข์ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ หลายคนใช้วิธีจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นเพื่อลืมความปวด แต่บางคนก็ใช้สติในการรับรู้หรือเห็นความปวด โดยใจไม่พลัดเข้าไปในความปวด หรือปรุงตัวกูเป็นเจ้าของความปวด กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เห็นความปวด ไม่ใช่ผู้ปวด” แต่ถ้ายังไม่ถนัดที่จะไปรับรู้ความปวด โดยไม่เผลอเป็นผู้ปวดเสียเอง ก็หันมาดูใจที่ดิ้นเร่าหรือถูกโทสะรุมเร้าเพราะความปวด ใจที่สงบลงได้ช่วยให้ความทุกข์บรรเทาลง

การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์โดยใจไม่ทุกข์ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะไม่ว่าเราจะร่ำรวย ฉลาดหลักแหลม มีอำนาจยิ่งใหญ่ หรือพรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยี แต่เราก็ไม่สามารถหนีทุกข์ไปได้ตลอด รวยแค่ไหนก็ต้องเจอการพลัดพรากสูญเสียคนรัก ฉลาดเพียงใดก็ต้องเจ็บป่วย ยิ่งใหญ่เพียงใดสักวันหนึ่งก็ต้องตาย ถ้าเราไม่ยอมเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับความทุกข์เลย ก็เห็นจะต้องเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

การเดินเข้าหาทุกข์คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์โดยไม่ทุกข์ จะทำได้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับการพยายามทำ แม้สมาธิหรือสติยังไม่เข้มแข็ง แต่ก็ได้ฝึกความอดทนและสร้างภูมิต้านทานความทุกข์ ใช่หรือไม่ว่าคนสมัยนี้มีภูมิต้านทานความทุกข์น้อยมาก แค่เจอความผิดหวังเล็กๆ น้อยๆ ก็ทุกข์ระทมจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ การมีภูมิต้านทานความทุกข์จะช่วยให้ทานทนกับอุปสรรคในชีวิตได้มากขึ้น แต่ภูมิต้านความทุกข์จะเกิดขึ้นกับใจได้อย่างไรถ้าไม่เจอความทุกข์บ่อยๆ เช่นเดียวกับภูมิต้านทานเชื้อโรคจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเจอเชื้อโรคอยู่เป็นนิจ

ตลอด ๗ คืน ๘ วันที่เจอทุกข์ตลอดทาง แทบทุกคนดูเหมือนจะมีภูมิต้านทานความทุกข์มากขึ้น ไม่มีใครที่เปลี่ยนใจถอนตัวก่อนกำหนด มีแต่เปลี่ยนใจเลื่อนวันกลับ เพื่อเดินให้นานขึ้น ยิ่งผ่านความยากลำบากมานานวัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น หรือเพราะความทุกข์ช่วยหลอมใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะหลายคนได้พบว่าตนเองมีสิ่งที่ไม่คิดว่ามี นั่นคือความอดทนและความพากเพียรพยายาม นักเรียนหลายคนยอมรับว่าถอดใจตั้งแต่เดินวันแรกและไม่คิดว่าจะเดินถึงวันสุดท้ายได้ แต่ในที่สุดก็ทำได้ บ่อยครั้งการค้นพบตัวเองต้องได้มาด้วยความยากลำบาก ใช่หรือไม่ นี้คือ unseen ที่สำคัญกว่า unseen หลายแห่งที่ขบวนธรรมยาตราผ่านพบระหว่างทาง (ทั้งที่ ททท. รู้จักและไม่รู้จัก)

ทั้งๆ ที่เดินเข้าหาทุกข์ แต่ความสุขของผู้คนในขบวนธรรมยาตรามีให้เห็นตลอดทาง และยิ่งมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงที่หมาย ทั้งๆ ที่ยิ่งห่างไกลจากเมือง ความสะดวกสบายยิ่งน้อยลง แต่ความสุขไม่ได้ลดลงเลย กลับเพิ่มขึ้น นั่นก็เพราะความสุขกับความสะดวกสบายนั้นมิใช่สิ่งเดียวกัน ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความยากลำบาก เพราะความสุขนั้นแท้จริงอยู่ที่ใจ

การเดินทวนกระแสน้ำคือการเดินสู้กับแรงโน้มถ่วง แม้จะเหนื่อยและยากลำบาก แต่ยิ่งเดิน ทัศนียภาพสองข้างทางก็ยิ่งงดงาม ต้นไม้ที่ขึ้นประปรายกลับหนาตามากขึ้น จากแท่งคอนกรีตสีหม่นกลายเป็นป่าใหญ่สีเขียวขจี ขณะเดียวกันน้ำที่ขุ่นคล้ำ ก็เริ่มใส และใสยิ่งขึ้นเมื่อเข้าใกล้ต้นน้ำ มลพิษในอากาศค่อยๆ หายไป มีอากาศบริสุทธิ์สดใสมาแทนที่ นี้คือรางวัลของความเหนื่อยยาก ฉันใดก็ฉันนั้น ยิ่งเดินทวนกระแสกิเลส ก็ยิ่งได้สัมผัสกับความงดงามของมิตรภาพรอบตัว ทั้งจากผู้ร่วมเดินและชาวบ้านสองข้างทาง ขณะเดียวกันใจก็ยิ่งแจ่มใส เบาสบาย ความสุขกลายเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย แค่ได้ดื่มน้ำเปล่าดับกระหาย หรือได้พักใต้ร่มไม้ มีลมเย็นพัดมาเบาๆ ก็สุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีอาหารหรูหราราคาแพงหรือสินค้ายี่ห้อดังมาปรนเปรอก็ได้

การเดินสู้ทุกข์ทำให้หลายคนตระหนักว่าเราสามารถเป็นสุขได้แม้จะทวนกระแสความสะดวกสบายหรือกระแสบริโภคนิยม แต่กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เราจะสุขได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อกล้าสวนกระแสกิเลสเท่านั้น เพราะตราบใดที่ยังตามกระแสกิเลสอยู่ ก็จะไม่รู้จักคำว่าพอเสียทีไม่ว่าจะได้มามากเท่าไรก็ตาม ยิ่งเห็นคนอื่นได้มาก ก็ยิ่งเป็นทุกข์ที่ได้น้อยกว่าเขา แม้ดิ้นรนจนรวยเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็ยังทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นไล่มาประชิด จนกว่าจะกล้าขัดขืนกิเลส และหันไปเติมเต็มชีวิตด้วยสิ่งอื่นที่มีคุณค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง

คนที่ทำตามบัญชาของกิเลส ย่อมนึกถึงแต่ตัวเอง แต่ยิ่งตักตวงความสุขใส่ตัวมากเท่าไร ก็กลับพบว่าในใจเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าไร้คุณค่า และทุกข์เพราะอัตตาตัวตนพองโตจนหวั่นไหวต่อทุกอย่างที่มากระทบหรือสะกิดแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ไม่ต่างจากลูกโป่งพองโตที่พร้อมจะแตกเมื่อถูกเศษฟางทิ่ม ต่อเมื่อขัดขืนบัญชาของกิเลส อยู่อย่างเรียบง่าย พร้อมแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น จึงจะเป็นคนที่สุขง่าย ทุกข์ยาก

ในทุกข์มีสุข ถ้ารู้จักทุกข์ก็พบสุขได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงไม่หวั่นเกรงว่าความสะดวกสบายจะลดลง แม้หุ้นจะตก ทองจะขึ้น ก็ยังสามารถมีความสุขสวนกระแสเศรษฐกิจได้ แม้เศรษฐกิจปีหน้ายังไม่ฟื้นตัว ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจตราบใดที่ยังกินอิ่มนอนอุ่น เพราะไม่ได้เอาความสุขไปผูกติดกับกระแสเศรษฐกิจที่เน้นเงินตราเป็นสรณะ ในทำนองเดียวกันแม้กระแสการเมืองยังร้อนแรง แต่คนที่รู้จักทวนกระแสกิเลสย่อมสามารถรักษาใจให้สงบเย็นได้ กระนั้นก็มิได้นิ่งดูดายหรือเฉยเมยด้วยความเห็นแก่ตัว หากพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลตามกำลัง โดยมิได้คิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือทำไปตามอำนาจของความโกรธเกลียดและกลัว

บ้านเมืองแม้ยังเต็มไปด้วยทุกข์ แต่เราก็ไม่ควรกลัวทุกข์ การพร้อมเผชิญทุกข์ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา จะช่วยให้เราเข้าถึงสุขได้แม้จะสวนกระแสนานาชนิดก็ตาม

จิตวิทยาการศึกษา – วิวัฒน์สู่เอสคิวจิตวิญญาณ



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2552

สำหรับความคิดส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดและเชื่อว่าสมองไม่ใช่จิต แต่จิตต้องพึ่งสมองในการบริหาร โดยจะบริหารจิตไร้สำนึกโดยรวมของจักรวาล ซึ่ง คาร์ล จุง เรียก (universe unconscious continuum) – ที่จวงจื๊อบอกว่าคือ เต๋าที่อยู่ทุกหนทุกแห่งและทะลุทะลวงทุกๆ สรรพสิ่งของจักรวาล - ให้เป็นจิตสำนึกของปัจเจกบุคล - นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเชื่อทั้ง เคน วิลเบอร์ ฌอง เก็บเซอร์ อับบราฮัม มาสลอฟ ฯลฯ รวมทั้งทุกศาสนาที่อุบัติขึ้นทางตะวันออก ที่บอกว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องมีวิวัฒนาการของจิตโดยธรรมชาติไป ตามลำดับของสเปกตรัม พระพุทธเจ้าบอกว่า มนุษย์ทุกๆ คนและสัตว์โลกทั้งหลายจะบรรลุธรรม (transcendence or spirituality) และเข้าถึงนิพพานกันทั้งนั้น

ผู้เขียนจึงสรุปตามนักฟิสิกส์ใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกทุกคนเท่าที่รู้ว่า สมองจำเป็นสำหรับจิต จิตไม่ใช่สมอง ไม่ใช่ผลผลิตของการทำงานที่ซับซ้อนของสมองดังที่นักประสาทวิทยาศาสตร์เชื่อ ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วมาก

บทความนี้ผู้เขียนได้มาจากหลายๆ ที่มา ซึ่งจะไม่อ้างอิงเพราะมากเหลือเกินจนอ้างไม่ไหม สรุปได้ว่าเอามาจากสามแหล่งมาใหญ่ๆ (นอกจากที่คิดเอาเอง) คือจากพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน ปรัชญาและจิตวิทยาจาก จอห์น เซิร์ล วิลเลียม เจมส์ และคาร์ล จุง กับนักฟิสิกส์ใหม่ทั้งสองทฤษฎี โดยเฉพาะแควนตัมแมคคานิกส์ คือผู้เขียนเชื่อดังได้กล่าวมาแล้วว่า

หนึ่ง จิตไม่ใช่สมอง แต่สมองเป็นตัวแทนหรือตัวแสดงของจิต สอง จิตรู้หรือจิตสำนึก (conscious mind) ที่อยู่ในปัจเจก มาจากจิตไร้สำนึกร่วมของสากลของจักรวาล สาม สมองมีหน้าที่บริหารหรือเปลี่ยนจิตไร้สำนึกร่วมที่เข้ามาอยู่ในสมองของแต่ละคนให้เป็นจิตสำนึกด้วยกลไกทางแควนตัม (wave collapse) ข้อสามนี้จะยกเว้น “จิตหนึ่ง” ซึ่งเป็นแก่นแกนของจิตไร้สำนึกอันกระจ่างใส ซึ่งอยู่ภายในสุดของจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาล (ที่เราเรียกเช่นนั้นเฉพาะขามาของวิวัฒนาการของจักรวาล จากหนึ่งสู่ความหลากหลายเท่านั้น ส่วนวิวัฒนาการขากลับจากความหลากหลายกลับไปหาหนึ่งนั้น เราจะเรียกว่านิพพานซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับจิตหนึ่ง) – ตรงกับภาษาอังกฤษ uni + verse หวนกลับไปหาหนึ่ง

นักศาสนานักปรัชญาส่วนใหญ่เชื่อว่า จิตสำนึกต้องหาแก่นแกนของจิตไร้สำนึกให้พบ หรือรวมกับแก่นแกนของจิตด้วยวิวัฒนาการขากลับ ตามวิวัฒนาการธรรมชาติของจิต ผ่านจิตวิญญาณ อันเป็นจิตเหนือสำนึก (superconsciousness) ไปเรื่อยๆ จนถึงนิพพาน ฉะนั้นสิ่งที่ชมรมจิตวิวัฒน์บอกว่า ชมรมมีขึ้นเพื่อสร้าง “จิตสำนึกใหม่” ให้แก่คนไทยและสังคมไทยนั้น ผู้เขียนคิดว่า “จิตสำนึกไม่” ในที่นี้คือจิตเหนือสำนึก (superconscious mind) หรือการเร่งให้เกิดวิวัฒนาการสู่จิตวิญญาณ

บทความวันนี้มีความประสงค์จะชี้บ่งถึงการปลูกฝังหรือเร่งเร้าให้มนุษย์เกิดมีวิวัฒนาการของจิตเหนือสำนึกเร็วขึ้นและมากขึ้น เพราะภัยธรรมชาตินานัปการซึ่งเราสร้างขึ้นมาด้วยมือของเราเองจากความไม่รู้และความอวดดี กำลังมา (อวิชชา และ anthropocentric) นั่นคือ เอสคิว (SQ) ซึ่งคนทั่วไปเรียกกัน (social quotient) ซึ่งสัมพันธ์กับเวลาและสถานที่ของสังคมในขณะนั้นๆ แต่ไม่สัมพันธ์กับวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ฉะนั้น ในที่นี้ เอสคิวจะหมายถึงจิตวิญญาณ (spiritual quotient) ซึ่งนักจิตวิทยาเด็กมักจะพูดรวมๆ กันไปกับสติปัญญาความฉลาดที่วัดได้ (IQ) ที่ ฟรานซิส แกลตัน นักจิตวิทยาอังกฤษคิดขึ้น และแพร่มาถึงบ้านเราเมื่อตอนที่ผู้เขียนยังเล็กๆ และบ้านเราก็รับทันที เพราะ ฟรานซิส แกลตัน เชื่อนักเชื่อหนาว่าสืบทอดในตระกูลได้โดยกรรมพันธุ์ อย่างน้อยก็เป็นลักษณะจำเพาะเป็นพิเศษประจำครอบครัว ที่ผู้เขียนบอกว่า บ้านเรารับในทันทีตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ – ทั้งๆ ที่มีข้อมูลใหม่ๆ ที่บอกว่า การวัดสติปัญญาความฉลาด หรือไอคิวนั้น เชื่อถือไม่ได้ เพราะว่าความเชื่อดังกล่าวเกิดไปตรงกับภูมิปัญญาชาวบ้านของเราที่บอกว่า “เสือย่อมไม่ทิ้งลาย” หรือ “เชื้อย่อมไม่ทิ้งแถว” อะไรพวกนี้ นั่นคือ ถ้าพ่อเป็นโจรก็ให้ระวังลูกที่อาจเป็นโจรตามพ่อก็เป็นได้ จริงๆ แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าภูมิปัญญาชาวบ้านน่าจะถูก ถ้าไม่เป็นพันธุกรรมก็เป็นลักษณะจำเพราะที่ว่า

ส่วนอารมณ์ความรู้สึก ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ความรู้สึกแยกออกจากอารมณ์ (EQ) ไม่ได้ ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ จึงแยกจากเวทนาไม่ได้ เพราะอารมณ์นั้นเป็นผลพวงของความรู้สึกทางกายภาพเป็นไปในทันทีทันใด คือห้ามไม่ให้มันเกิดไม่ได้ แต่ระงับได้ โดยจิตที่อยู่เหนือสำนึกที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติบางส่วนที่ซ่อนตัวอยู่ลึกล้ำที่ภายใน ซึ่งจะโผล่ปรากฏออกมาเมื่อชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตรายหรือกำลังจะตายทันทีถ้าหากช่วยไม่ทัน จิตเหนือสำนึก (spirituality หรือในที่นี้คือ SQ) คือจิตพ้นผ่านหรือก้าวล่วง – จิตสำนึกที่เรียกว่าจิตวิญญาณหรือธรรมจิตนี้ คือจิตบริสุทธิ์ที่งามพร้อม เป็นเป้าหมายสูงสุดของในทุกๆ ศาสนา ในศาสนาพุทธคือเส้นทางไปสู่นิพพาน ส่วนในศาสนาที่มีพระเจ้าคือการที่จิตอันบริสุทธิ์แต่ละดวงจะได้รวมกับจิตของพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียว

สามความฉลาดที่ว่า ทั้งไอคิว อีคิว และเอสคิว นั้น มีส่วนที่มนุษย์สามารถสร้างบางส่วน หรือเร่งเร้าให้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งนักจิตวิทยาที่ศรัทธาในพระเจ้าผู้สร้างโลกสร้างจักรวาลรวมทั้งสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงโดยเฉพาะมนุษย์ - เชื่อ มนุษยชาติได้ผ่านหรือพบกับไอคิวและอีคิวมาแล้ว แต่เรายังขาดเอสคิว - จิตวิญญาณที่โดยปกติแทบไม่มีเลย ที่มีอยู่บ้างก็ถูกซ่อนตัวเอาไว้อย่างล้ำลึก นั่นคือเนื้อหาสาระของบทความวันนี้

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายถึงการสร้างสรรค์ของมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดที่วัดได้ (นักจิตวิทยาการศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเชื่อ โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ว่าวัดไม่ได้) เราจะต้องรู้ความหมายของทั้งสามความฉลาดเสียก่อน (ไอคิว อีคิว และเอสคิว) จึงจะขออธิบายนิยามของสติปัญญาความฉลาด (intelligence) รู้และเข้าใจอารมณ์ที่แยกออกจากความรู้สึกยากมาก (emotion) และจิตวิญญาณ (spirituality) พอสังเขปตามที่ผู้เขียนเข้าใจ

ในความเห็นของผู้เขียน ไอคิว อีคิว และเอสคิวนั้น เราเอาเรียงกันอย่างผิดๆ ซึ่งหากเราเรียกตามการเจริญเติบโตวิวัฒนาการ ไม่ใช่สนใจหรือว่าพบอันไหนและวัดอันไหนก่อน ความฉลาดทางอารมณ์ต้องมาก่อนเพื่อนนานนักหนา เพราะเป็นเรื่องของการ “รู้รอด” ซึ่งสัมพันธ์กับสัญชาตญาณ จริงอยู่ ทั้งสามเป็นวิวัฒนาการของจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาลที่เข้ามาอยู่ในปัจเจกบุคคลเพื่อ “การรู้” (cognition) แต่อีคิวเป็นวิวัฒนาการที่หยาบซึ่งมาก่อนในสัตว์ที่ระบบลิมบิกวิวัฒนาการแล้วเท่านั้น เราต้องรู้ว่าจักรวาลมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ วิวัฒนาการ และวิวัฒนาการนั้นจะต้องดำเนินไปสู่ “การรู้” ที่สูงขึ้นกว่า ซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่า และลึกล้ำมากขึ้นกว่าตลอดเวลา ทั้งในทางกายภาพและทางจิตภาพ แต่กายภาพจะมีวิวัฒนาการก่อน และจิตภาพมาทีหลัง โดยมีวิวัฒนาการช้ากว่ากระทั่งในคนส่วนใหญ่มากๆ หรือแทบทุกคน ซึ่งพุทธศาสนาบอกว่าจะต้องมีการสะสมบารมีข้ามภพข้ามชาติมาตลอดเวลา นั่นเป็นวิวัฒนาการสุดท้ายของจักรวาลเมื่อมนุษย์ทุกคนสามารถจะ “รู้แจ้ง”

เคน วิลเบอร์ จะบอกว่า วิวัฒนาการทางจิตใจมนุษย์ ผ่านสเปกตรัมต่างๆ ที่เรียกว่า “เส้นทาง” (line) – จะเป็นการต่อยอดของเส้นที่เดิมมีเพียงเส้นทางเดียวก็ได้ หรือเป็นวิวัฒนาการที่เริ่มต้นจะมีหลายๆ เส้นทางก็ได้ ฉะนั้น เส้นทางจึงไม่มีความสำคัญเมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ของจิตรู้ที่สัมพันธ์กับรูปร่างทางกายภาพ

แต่ผู้เขียนเชื่อว่า หากพิจารณาจากลักษณะของความเป็นองค์รวมของวิวัฒนาการ องค์กรใหม่จะเป็นวิวัฒนาการขององค์เก่า บวกกับส่วนที่ได้มาใหม่เสมอ (transcend and include) ซึ่ง เคน วิลเบอร์ ได้พูดมาเองและผู้เขียนเชื่อเช่นนั้น กระบวนการวิวัฒนาการก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลาย จะต้องเรียนรู้หรือวิวัฒนาการมาตามลำดับ “รู้รอด” ต้องผ่านสัญชาตญาณก่อน และ “รู้เพื่อรู้” ต้องตามหลังรู้รอด ฉะนั้นสติปัญญาความฉลาด (intelligence) จึงต้องตามหลังการต่อสู้และหนีภัย และความฉลาดเหนือสติปัญญา (wisdom) ต้องผ่านความฉลาดธรรมดาๆ ก่อน เอสคิว หรือการรู้ของจิตวิญญาณ (spirituality) - อันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งแทงตลอดและวิมุตติ – จึงเหนือกว่าสติปัญญาความฉลาดธรรมดามากนัก

สรุปได้ว่า ทั้งศาสนาและปรัชญากับทั้งวิทยาศาสตร์ – ที่ต่างพยายามอธิบายความจริงแท้ของธรรมชาติ แต่อธิบายบนหลักการและวิธีการคนละอย่างแตกต่างกัน บอกเหมือนๆ กันว่า ความแท้จริงมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งศาสนปรัชญาบอกว่ามีจิตเป็นปฐม ส่วนวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นรูปกายวัตถุที่ตั้งอยู่ข้างนอก แล้วถึงอธิบายจักรวาลซึ่งเป็นตัวเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างไปตามนั้น และทั้งสองบอกว่าจักรวาลมีเป้าหมายอย่างเดียวจริงๆ คือวิวัฒนาการ

วิวัฒนาการไปทำไมหรือ?

ทั้งศาสนากับวิทยาศาสตร์บอกว่าวิวัฒนาการเพื่อให้ชีวิตกับมนุษย์ดำรงอยู่ได้ นั่นคือที่มาของความรู้ เห็นกับไม่เห็น ไม่เห็นนั้นพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์หรือรูปกายวัตถุไม่ได้ เพราะจิตไม่ใช่กาย วิทยาศาสตร์จึงปลดความรู้ออกจากศาสนา เหลือไว้แต่ความเชื่อความศรัทธา ซึ่งวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่ใช่ความจริง ส่วนศาสนาก็เถียงว่าวิทยาศาสตร์ไม่ยุติธรรม เพราะใช้แต่วิธีการทางรูปกายวัตถุอย่างเดียวในการพิสูจน์ แต่ไม่ใช้วิธีการทางจิตเลย เช่นการทำสมาธิที่มีในทุกๆ ศาสนา จากนั้นเมื่อเถียงกันไม่รู้จักจบเป็นต้นมา ทั้งสองก็แยกกันโดยเดินกันคนละทาง กระทั่งมีฟิสิกส์ใหม่ที่คล้ายๆ กับศาสนาโดยเฉพาะศาสนาที่อุบัติขึ้นทางตะวันออก ฟิสิกส์ใหม่ซึ่งให้ความจริงแท้ของธรรมชาติ (ทั้งสองระดับคือทั้งกายและจิต) ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์กายวัตถุเป็นไหนๆ

เอสคิวที่ผู้เขียนหมายถึงในที่นี้ คือการวัดความฉลาดทางวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ และความฉลาดนั้นก็ไม่ใช่สติปัญญา (intelligence) หากแต่เป็นปรีชาญาณ ญาณการหยั่งรู้ และภาวนามยปัญญา (intuition or wisdom) ซึ่งเป็นไปเพื่อวิวัฒนาการของเหตุผลที่ไม่มีเหตุผล คือเป็นอารมณ์ด้านบวก อารมณ์ทุกๆ อารมณ์จะไม่มีเหตุผลทั้งนั้น จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ อารมณ์กับเหตุผลเชื่อกันว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้ามีเหตุผลก็ต้องไม่มีอารมณ์ หรือถ้าหากกำลังมีอารมณ์อยู่ก็อย่าหวังว่าจะใช้เหตุผลช่วยได้ เพราะเราอยู่ในยุคที่มีเหตุผลเป็นใหญ่ - ที่ผิดความจริงทางแควนตัมอย่างชัดๆ – ดังนั้นเรื่องของอารมณ์โดยเฉพาะด้านลบจึงเป็นของต้องห้าม เป็นเรื่องที่ผิด แต่ผลของการวิจัยใหม่ๆ ชี้บ่งอย่างเป็นตรงกันข้าม ทั้งสองกลับเสริมเติมซึ่งกันและกันเพื่อวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ เช่น รัก เมตตา และให้อภัยด้วยใจจริง อารมณ์ช่วยให้เหตุผลเกิด และเหตุผลจะช่วยกำจัดอารมณ์ในคราวต่อๆ ไปให้มีน้อยลงๆ และค่อยๆ หมดไป (Antonio Damasio: Descartes’ Error, 1999) โลกในอนาคตอันใกล้นี้ การอยู่รอดของมนุษยชาติจะไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลและสติปัญญาความฉลาดอีกต่อไปแล้ว แต่จะขึ้นกับภาวนามยปัญญาซึ่งมีเป็นปกติธรรมชาติต่อเมื่อมนุษยชาติมีวิวัฒนาการทางจิตไปสู่ระดับจิตวิญญาณเส้นทางไปสู่นิพพานแล้ว

ด้านมืดของคิดเชิงบวก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2552

“พี่คะๆ คนเราคิดอะไรก็ได้อย่างนั้นใช่มั้ยคะ”

น้องนักศึกษาพยาบาลปี ๒ ถามผมระหว่างที่ทำกระบวนการอบรมแนวจิตตปัญญา ที่วิทยาลัยพยาบาลนครสวรรค์

“ที่ถามมาหมายความว่ายังไง ขยายความหน่อยสิ” ผมตอบด้วยการถามเธอกลับ

“ก็เห็นเค้าว่าถ้าเราคิดดี เราก็จะดึงดูดในสิ่งดีๆ เข้ามาหาตัวเรา ถ้าเราคิดไม่ดี เราก็จะมีแต่สิ่งไม่ดีเข้ามาหาเรา พี่ว่ามันจริงมั้ยคะ”



ผมสนใจเบื้องหลังที่มาของคำถามของเธอ หรือว่าเธอจะไปอ่านหนังสือจิตวิทยามหาชนแนวประมาณ เดอะ ซีเคร็ท หรือ กฎแห่งกระจก น่าสนใจว่าในระยะหลังมานี้ หนังสือที่มีความคิดในทำนองนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจให้กับความคิด ความเชื่อ และการดำเนินชีวิตของคนไทยอยู่ไม่น้อย การที่เราตื่นเต้นกับแนวความคิดเหล่านี้ มันส่องสะท้อนว่าสังคมของเรากำลังเป็น “โรคภูมิคุ้มกันจิตใจบกพร่อง” แนวความคิดอะไรก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ ถ้าฟังดูเข้าที เราก็พร้อมที่รับเข้ามาเป็นหลักชี้นำประจำใจ น่าสงสารคนไทยในยุคไร้รากกันเสียจริง

แนวความคิดที่เรารับมาเต็มๆ จากตะวันตกก็คือ “ความคิดเชิงบวก” สืบย้อนไป เราจะพบว่าชาวตะวันตกมิได้คิดว่าโลกนี้สวยงามมาแต่ไหนแต่ไร แต่มองว่ามนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกเพื่อชดใช้บาป ตัวอย่างเช่นศาสนาคริสต์นิกายคาลวินิส์ที่เชื่อเรื่องเทวลิขิต และปฐมบาป บอกว่าศาสนิกชนที่ดีจะต้องสำรวจตรวจสอบไม่ปล่อยใจให้เผลอไปกับความชั่ว และการปล่อยใจให้มีความสุขเพลิดเพลินนั่นคือบาป ความเชื่อศาสนาที่เข้มงวดอย่างนั้นทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเครียด และความรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา

ต่อมาเมื่อมนุษย์เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเชื่อดังกล่าวดูจะไม่เข้ากับลมหายใจแห่งยุคสมัย ที่ต้องการก้าวไปข้างหน้าและไม่ต้องการจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกผิดของตนอย่างที่แล้วมา ในช่วงนี้เกิดกระแสความคิดใหม่ๆ ที่ไปใส่ใจกับความรักจากพระเจ้า มากกว่าเรื่องบาปกำเนิด หรือแม้แต่กระแสความคิดที่ว่ามนุษย์เราสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยตัวเองไม่ต้องผ่านตัวแทนใดๆ อย่างของอีเมอร์สันก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ ต่อมาเมื่อนักจิตวิทยาหันมาสนใจศึกษาเรื่องความคิดเชิงบวกและศาสตร์แห่งความสุข การตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งโหมแรงกระพือทำให้กระแส “ความคิดเชิงบวก” เป็นมนตราแห่งยุคสมัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วกระแสคิดเชิงบวกเข้ามาสู่บ้านเราได้อย่างไร ลองสำรวจตรวจตราไปรอบตัว หลายสิบปีที่แล้วเราฮิตอ่านหนังสือแบบ เดล คาร์เนกี้ ซึ่งเต็มไปด้วยแนวคิดเชิงบวก หรือ พลิกชีวิตคิดเชิงบวก ของ นโปเลียน ฮิลล์ เดี๋ยวนี้เราอ่านหนังสือแบบ ใครเอาเนยแข็งของฉันไป? (Who moved my cheese?) หรือ อัจฉริยะสร้างสุข ของ หนูดี กระแสนี้คืบคลานเข้ามาในบ้านเรานานมาแล้วอย่างเงียบๆ ในทุกๆ เจนเนอเรชัน โดยที่เรามองไม่เห็น เรามารู้ตัวอีกทีก็เมื่อเราเองได้รับแนวความคิดนี้เข้ามาเป็นหลักย้ำประจำใจเสียแล้ว

แล้วความคิดเชิงบวกมันไม่ดีตรงไหน ในเมื่อใครๆ ก็แนะนำเราทั้งนั้น ตั้งแต่อดีตนายกทักษิณ ยันโอเพรา วินฟรีย์ สองสามปีมานี้เราบ้านเรายังแจกรางวัล “ผู้หญิงคิดบวกแห่งปี” อีกด้วย

ถ้าย้อนกลับไปดูวิกฤติการเงินเมื่อปี ๔๐ เราต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นคนไทยเราตกอยู่ใต้กระแสของการคิดบวกอย่างรุนแรง จนมองไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พวกเราเหมือนเดินอยู่บนปุยเมฆ หยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง ในช่วงนั้นหากใครมาทักว่าให้รอก่อนอย่ารีบร้อน จะได้รับคำตอบว่า “รอให้โง่สิ โอกาสทองอยู่ข้างหน้าเห็นๆ” วิกฤติอย่างปี ๔๐ เป็นละครน้ำเน่าที่กลับมาให้เราเห็นอยู่เรื่อย ตั้งแต่วิกฤติซับไพร์ม ของสหรัฐ ไปจนถึงเร็วๆ นี้ที่ฟองสบู่ดูไบแตกดังโพละ ผู้ที่ถูกตัดขาดจากความเป็นจริงมากที่สุดก็คือผู้บริหารที่ถูกบ่มเพาะด้วยกระแสความคิดเชิงบวก ในอเมริกา นักพูดเก่งๆ ถูกเชิญเข้าไปพูดในบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ที่ปรึกษาบริษัทที่ตอนนี้ผันตัวเองมาเรียกตัวเองอย่างเก๋ไก๋ว่าโค้ช ตามอย่างโค้ชทีมกีฬา มีหน้าที่ปรนเปรอ CEO หรือผู้บริหารด้วยอะไรก็ได้ที่จะทำให้เขาหรือเธอฮึกเหิม การวิเคราะห์ตัวเลข สถิติ ข้อมูล เริ่มกลายเป็นของล้าสมัย ใครจะไปดูตัวเลขกันเล่าในเมื่อสมัยนี้ต้องใช้ ญาณทัสนะ การปิ๊งแว้บ หรือการหยั่งรู้โดยฉับพลัน ซึ่งมีที่มาจากแนวความคิด “จิตเหนือวัตถุ”

ในปี ๒๐๐๖ ไมค์ เกลแบน ผู้จัดการแผนกอสังหาริมทรัพย์ของ เลย์แมน บราเธอร์ เข้าไปพูดคุยกับ CEO ริชาร์ด ฟุลด์ ว่า “เราต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของเราใหม่ เพราะมันกำลังย่ำแย่” ต่อมาไม่นานผู้จัดการผู้นี้ถูกไล่ออกในโทษฐานที่มีทัศนคติบกพร่อง อย่างที่เราทราบกัน สองปีให้หลังบริษัทเลย์แมน บราเธอร์ก็ล้มละลาย

ความคิดเชิงบวกนอกจากจะเป็นปัจจัยในการทำลายเศรษฐกิจโลกแล้ว มันยังเป็นตัวการทำให้ผู้ที่อยู่เหนือกว่ากดขี่ผู้ที่อยู่ด้อยกว่าได้อย่างสะดวกดาย เช่นหากเจ้านายมาเอาเปรียบเรา ก็คิดเชิงบวกว่าเขาต้องทำอย่างนั้นเพราะภาระหน้าที่ และหากเจ้าหน้าที่รัฐมาเอาเปรียบเราก็คิดเชิงบวกว่าใครๆ เขาก็โดนกัน ความคิดเชิงบวกยังบ่มเพาะความรุนแรงในครอบครัวได้ด้วย เช่นผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นโดยหวังว่าสักวันผู้ชายคนนี้จะกลับมาเห็นความดีของเธอ บางคนคิดเชิงบวกเพื่อปลอบใจตนเอง เช่นหากเราถูกใครบอกเลิกก็คิดเชิงบวกว่าชีวิตของเขาคงจะดีแล้วที่ไม่มีเรา หรือหากเราเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หายก็คิดเชิงบวกว่า ก็ดีเหมือนกันเราจะได้มีโอกาสได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิต ส่วนพ่อแม่ที่บังคับให้ลูกเรียนพิเศษจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ก็คิดเชิงบวกว่าต่อไปลูกจะเป็นคนเก่งดีมีความสามารถ...

...เร็วๆ นี้มีข่าวว่ามีเด็กผู้ชายวัยสิบขวบผูกคอตายในห้องน้ำ เพราะพ่อแม่บังคับให้เขาไปเรียนพิเศษ ในขณะที่ตัวเองต้องการออกไปเล่นกับเพื่อน...

ช่วงที่ผ่านมาคนทำงานทางด้านจิตวิวัฒน์สนใจเรื่องการทำงานของสมองที่สัมพันธ์กับจิต รวมทั้งยังขยายไปสู่ความสนใจด้านควอนตัม ฟิสิกส์ แต่จิตไม่ใช่วัตถุ และความคิดก็มิใช่สมอง ความรู้ทางควอนตัม ฟิสิกส์บอกเราว่าการทำงานของตัวรับส่งนิวรอนในข่ายใยประสาทในสมองนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกลศาสตร์ควอนตัม ส่วนการทำซ้ำในใจ (mental rehearsals) เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากว่าเป็นตัวอย่างของอานุภาพแห่งจิตที่มีเหนือวัตถุ การฝึกฝนจิตไปถึงระดับนั้นจะทำได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่ทราบ แต่เชื่อว่าหากเป็นไปได้ก็คงได้กับจิตที่ฝึกมาดีแล้วละเอียดแล้วเท่านั้น ระดับอย่างเราๆ ท่านๆ ที่วันๆ ก็ฟุ้งอยู่ในความคิดนู่นนี่นั่น อย่าได้ไปหวัง เร็วๆ นี้ก็มีเพื่อนไปอบรมคอร์สที่สอนให้สะกดจิตตัวเองและจะทำให้ได้ในสิ่งที่ปรารถนา เช่นถ้าอยากมีรถสักคนก็เอาภาพรถไปติดไว้ที่หน้ากระจกมองมันทุกวัน พิมพ์ภาพสี่สีมาดูก่อนเข้านอน นึกภาพตัวเราอยู่ในรถคันนั้น เอาภาพเข้าไปนอนกอดด้วยได้ยิ่งดี เราจะมีโอกาสได้ขับรถคันนั้นเร็วขึ้น????

คำพังเพยของไทยเรามีว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แต่พอฝรั่งมาปรับเปลี่ยนพยัญชนะเสียใหม่เป็น “คิดดีได้ดี คิดชั่วได้ชั่ว” มันฟังดูดีกว่าและง่ายด้วยเพราะแต่ก่อนเราต้องลงมือทำ เดี๋ยวนี้เพียงแค่คิดก็จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา...ถ้ามองว่าคิดดี จิตใจย่อมดี หากเป็นเช่นนั้นจริงทำไมเราจึงเห็นคนจำนวนไม่น้อยในสังคมของเราที่คิดดี พูดดี ทำดี แต่จิตใจยังเศร้าหมองอยู่

ความคิดแม้จะดีเลิศเพียงใดก็เป็นเพียงความคิด การรับรู้สภาวะภายในที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง คือการบ่มเพาะปัญญาให้เกิด เมื่อไม่มีทั้งความคิดบวกและลบ เราเห็นอะไรในใจ?


(บทความนี้ได้แรงบันดาลใจและข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก Bright-Sided ของ Barbara Ehrenreich)

9000600



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552

ในโลกไซเบอร์ อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกันด้วยอิเล็กตรอน มีฟังก์ชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ แชท เอ็ม บล็อก บอร์ด ดิ๊ก วิดีโอแชร์ริง และอื่นๆ ผู้คนกลายเป็นที่รู้จักโด่งดังกันในชั่วข้ามคืน

สาวใหญ่ หน้าตาธรรมดา ซูซาน บอยล์ (Susan Boyle) จากเมืองเล็กๆ ในสกอตแลนด์ กลายเป็นดาราดังจากการประกวดร้องเพลง คลิปในยูทูปของเธอมีคนดาวน์โหลดชมถึงร้อยกว่าล้านครั้งแล้ว เธอมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนักร้อง และเป็นดั่งตัวแทนของตัวแทนผู้คนทั่วไปที่ตามค้นหาความฝัน

นิก วูจิซิซ (Nick Vujicic) เกิดออกมามีอาการผิดปรกติแบบเตตร้าอมีเลีย คือไม่มีแขนและขาทั้งสี่ เคยคิดจะฆ่าตัวตายตั้งแต่อายุสิบขวบ แต่เขาก็พบว่าเขาเองไม่ใช่คนเดียวที่ประสบกับความทุกข์ยากลำบากในชีวิต เขาค้นพบว่าศรัทธาเป็นดั่งบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เขามีความสุขในการใช้ชีวิต มีพลังไม่เพียงแต่จะมีชีวิตต่อ แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกต่อผู้คนไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือครบสามสิบสองอีกเป็นจำนวนมาก คลิปการบรรยายอันน่าประทับใจของเขาถูกคนโหลดดูเป็นล้านครั้งเช่นกัน

แต่บางครั้งอินเทอร์เน็ตก็ทำให้บางคนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้องอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือเต็มใจของเขาคนนั้นหรือไม่ก็ตาม

ปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ ชายคนหนึ่งเขียนขอความช่วยเหลือจากชุมชนเว็บบอร์ดพันทิป ห้องมาบุญครอง (ที่พูดคุยเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม และผู้ให้บริการระบบ) โดยตั้งหัวข้อกระทู้ว่าเบอร์โทรศัพท์ของตนถูกขโมยซึ่งๆ หน้าจากผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่ง

เรื่องมีอยู่ว่าเบอร์ของเขาเป็นเบอร์สวย หมายเลข 08X9000600 (มูลค่าตลาดน่าจะเกินครึ่งแสน) อยู่สองหมายเลข เติมเงินใช้ได้ถึงปี ๒๕๕๓ แต่จู่ๆ ก็พบว่าเบอร์ของเขาไม่สามารถใช้งานได้ ศูนย์บริการแจ้งว่าเบอร์นี้ไม่มีในระบบ วันถัดมาไปติดต่อที่ศูนย์ใหญ่ก็พบว่าเบอร์ของตนถูกเปิดใช้บริการโดยคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว เจ้าของกระทู้บอกว่า “อยากได้เบอร์นี้คืนมากๆ เพราะมันมีความหมายกับผมมากๆ (ดูจากชื่อล็อกอินของผมก็ได้)”

เท่านั้นแหละครับ ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องยุคดิจิตอลก็เกิดขึ้นเหมือนไฟลามทุ่ง ผู้คนทั้งทวิต บล็อก เอ็ม แชท ฟอร์เวิร์ดเมล และอื่นๆ มีคนเขียนลงหนังสือพิมพ์ เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง กระทู้ถูกโหวตดันขึ้นให้เป็นกระทู้แนะนำของห้องอย่างรวดเร็ว บางช่วงกระทู้แนะนำของห้องเป็นกระทู้ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณี 9000600 เกือบทั้งหมด หากนับรวมความคิดเห็นต่างๆ ก็คงเป็นจำนวนหลายพัน

ชายผู้มีล็อกอินว่า “#เก้าพันหกร้อย#” กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่คนเชื่อ (จากข้อมูลเท่าที่ได้รับมา) ว่าเอาเปรียบผู้บริโภค

มีการตั้งกระทู้โหวตว่าควรทำอย่างไร ผลออกมาว่าเกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าควรฟ้องร้อง ในขณะกลุ่มที่คิดว่าควรรอจนได้เบอร์คืน หรือรับข้อเสนออื่น มีเพียงอย่างละสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

กลางเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เหตุการณ์มาถึงข้อสรุปที่ว่า ทางคุณ #เก้าพันหกร้อย# ยอมรับข้อเสนอจากบริษัท เนื่องจากหมายเลขเดิมคงไม่สามารถใช้ได้อีก เพราะมีคนโทรเข้ามาเยอะมาก จึงเลือกรับเบอร์ใหม่ ซึ่งแม้จะไม่สวยเท่าเดิม แต่ก็พอใจ “ต้องยอมรับว่า ผมไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องด้วยภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เวลา และอื่นๆ” และลงท้ายว่า “สุดท้ายนี้ ผมขออภัยเพื่อนๆ ในบอร์ด ทุกๆ คนครับ หากการตัดสินใจของผมอาจจะไม่ถูกใจของใครหลายๆ คน ผมยอมรับคำตำหนิของทุกความเห็นครับ ผมจึงขออนุญาตจบเรื่องนี้แต่เพียงเท่านี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ความคิดเห็น ทุกๆ กำลังใจ ทุกๆ คนที่ติดตาม และช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ผม ขอบคุณทุกๆ คนมากจริงๆ ครับ”

อนิจจา เหตุการณ์ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ แม้กองเชียร์ส่วนหนึ่งจะรู้สึกยินดีด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกว่าตนเองถูกหลอกใช้ให้เรียกร้องต่อรองกับบริษัทเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่า “เซ็งเป็ด” เกิดกระทู้วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์อีกมาก ด่าทอเจ้าของเบอร์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะความเชื่อว่าเรื่องนี้อาจเป็นกรณีตัวอย่างสร้างบรรทัดฐานแย่ๆ สำหรับการเรียกร้องให้กับผู้บริโภค เพราะแทนที่บริษัทจะทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่าถูกต้อง คือคืนเบอร์ให้กับเจ้าของ แต่กลับไปตกลงต่อรองยอมความกันเอง

ที่น่าตกใจ คือ ปรากฏการณ์ที่หลายคนบอกว่าหากในอนาคตเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่ยอมไปร่วมเรียกร้องอะไรอีกแล้ว อยู่แบบตัวใครตัวมันดีกว่า หรือถ้าจะทำจริงก็ต้องคิดหลายตลบก่อน

กรณีนี้น่าสนใจ เพราะคงไม่ได้เป็นกรณีสุดท้ายแน่นอน

มีสิ่งดีงามมากมายเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้

คุณ #เก้าพันหกร้อย# ได้รับน้ำใจจากผู้คนจำนวนมาก ช่วยผลักดันให้เกิดทางออกที่เขายอมรับได้

บริษัทมือถือได้รับบทเรียนว่าการขโมยเบอร์ของผู้ใช้กลับไปไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ผลประโยชน์อันใดที่ได้รับไม่คุ้มกับต้นทุนทางสังคมจำนวนมหาศาลที่เสียไปแน่นอน

กองเชียร์ทั้งหลายก็ได้เห็นถึงพลังของคนเล็กคนน้อยที่ช่วยกันเรียกร้องจนผู้เสียหายได้รับการตอบแทน

เราควรเรียนรู้และหาข้อสรุปที่สร้างสรรค์ของกรณีเช่นนี้ให้ดี อนาคตของเราและสังคมเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับจิต (consciousness) ของเรา จิตของเราเป็นอย่างไรขึ้นกับเราใส่เหตุอะไรเข้าไป

การเรียกร้องความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี หากว่าเราทำควบคู่ไปกับการสะท้อนใคร่ครวญภายใน จนเราเข้าใจผู้อื่น เข้าใจตนเอง ลดละอัตตาและเท่าทันความคาดหวังของตนเอง ย่อมเป็นการเรียกร้องที่ยิ่งงดงามมากขึ้น

“ไม่มีใครทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อย โดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจของคุณ” (Eleanor Roosevelt) มิใช่หรือ

ความรู้สึกแย่ๆ ของเราเป็นสัดส่วนโดยตรงกับช่องว่างระหว่างคาดหวังกับความจริง ความคาดหวังของเราที่อยากจะให้ใครบางคน บริษัทบางแห่ง หรือเหตุการณ์บางอย่าง ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ กับความเป็นจริงที่เราพบว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เราอาจเชียร์ให้คุณ #เก้าพันหกร้อย# เป็นตัวแทนหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ (เพราะเป็นการตัดสินใจของเรา) แต่เราคงไม่สามารถบังคับให้เขาเป็นหรือทำดังใจเราต้องการได้ (เพราะเป็นการตัดสินใจของเขา) ความทุกข์ในใจเราอาจเกิดจากใจยังไม่ยอมรับความแตกต่างในข้อนี้ใช่หรือไม่

การแบ่งปันและร่วมกันสร้างการเรียนรู้ให้สังคมเช่นนี้มีความสำคัญ หากเราอุปโลกน์ให้ใครเป็นผู้นำ (ไม่ว่าโดยความตั้งใจหรือยินยอมหรือไม่) แล้วเขากลับไม่ทำตามใจเรา เราก็ด่าทอเขา สาดเสีย เทเสีย อนาคตจะมีใครยอมเป็นผู้นำเล่า หากถูกรัฐหรือบริษัทเอารัดเอาเปรียบ เขาอาจจะก้มหน้ายอมรับแล้วเฉยๆ ไป เพียงเพราะเกรงว่าเขาไม่อาจทำตัวได้เทียบเท่ากับความคาดหวังของกองเชียร์

สังคมที่หล่อเลี้ยงดูแลกันสร้างได้ด้วยการที่เราทุกคนกลับมาเริ่มที่ตนเอง ไม่ยกภาระการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งจิตสำนึกและการกระทำไปให้ผู้อื่น ไม่ยอมให้ตนเองใช้การกระทำของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับใจของเรามาเป็นเหตุผลในการที่เราจะไม่ทำในสิ่งที่เราควรทำ

เราสามารถประสบผลสำเร็จอันน่าทึ่งมากมาย หากว่าเราทำโดยไม่คาดหวังผล


เมื่อกลางปีที่แล้ว คุณรสนา โตสิตระกูล มาเล่าเรื่องแบ่งปันประสบการณ์การเดินทางของเธอให้กลุ่มจิตวิวัฒน์ฟัง (บันทึกการประชุมจิตวิวัฒน์ทั้งหมดสามารถหาอ่านได้ที่ sph.thaissf.org) เธอเล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมสามสิบปีกับโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (“ต้องเน้นคำว่าเพื่อการพึ่งตนเองนะ” เธอว่า) รู้สึกพอจะมีความสำเร็จอยู่บ้าง แต่เมื่อระบบประกันสุขภาพเข้ามา ประชาชนกลับเลิกพึ่งตนเอง หันไปพึ่งหน่วยงานรัฐเหมือนเดิม ทำให้เธอท้อแท้มาก

ภายหลังเธอนึกถึงหนังสือ ตำนานของซิเซฟัส (The Myth of Sisyphus) ของ อัลแบร์ กามู (Albert Camus) ที่พูดถึงซิเซฟัส ตัวละครในตำนานเทพปกรณัมกรีก ผู้ถูกสาปให้ทำงานที่ดูเหมือนจะไม่มีความหมาย คือเข็นก้อนหินขึ้นไปยอดเขา เพียงเพื่อให้มันไหลกลับลงมาอีก “วันหนึ่ง ขณะซิเซฟัสเข็นหินขึ้นภูเขา เขาได้พบดอกไม้เล็กๆ ที่บานสะพรั่งอยู่ริมทางแล้วพลันก็มีความสุข มนุษย์อาจจะเป็นอย่างนั้น” หรืออย่างในหนังสือของกามูจบลงตรงที่ว่า การต่อสู้โดยตัวมันเองแล้วก็เพียงพอที่จะเติมเต็มหัวใจของมนุษย์

อีกเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยควรได้ร่วมรับรู้อย่างยิ่ง ก็คือกรณีการยับยั้งไม่ให้นำการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เข้าตลาดหุ้น หลายคนไม่เห็นด้วยกับเธอที่จะต่อสู้ เธอพูดเล่นๆ ว่า “เธอไม่เคยฟัง ภาษิตจีนเหรอว่า ‘ความพยายามอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า’ เรากำหนดไม่ได้หรอกว่าความสำเร็จจะมาได้อย่างไร แต่หน้าที่ของเราคือพยายามไปก่อน” หรือ “ประชาชนมีแต่กำไรกับเสมอตัวเท่านั้น ไม่มีอะไรขาดทุน”

ตอนศาลตัดสินยับยั้ง ผู้คนต่างตื่นเต้นยินดี นักข่าวมาสัมภาษณ์ว่าตอนที่ทำคาดหวังไหมว่าจะชนะ เธอว่าเปล่าเลย ไม่ได้คาดหวังว่าจะมันจะต้องชนะ

นักข่าวถามอีกว่า “ถ้าไม่คิดว่าจะชนะแล้วสู้ทำไม”

เธอตอบไปว่า “อ้าว ... มีแต่เรื่องที่ชนะเท่านั้นหรือที่คุณจะสู้?”

จริงสินะ หรือว่าชีวิตนี้มันดีตรงที่มันได้สู้ ได้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่ตรงที่มันต้องได้ผลชนะเท่านั้น

กำแพงในใจ



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2552

หากวันดีคืนดีมีทหารมาที่บ้านของคุณ แล้วบอกว่า ต่อไปนี้จะมีการกั้นรั้วเขตแดนที่บ้านหลังนี้ และเริ่มขึงรั้วลวดหนามเป็นแนวยาว

ช่วงแรกคุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร รั้วลวดหนามเตี้ย-เตี้ยนั่น วิ่งลอดกระโดดข้ามตอนค่ำมืดพ้นหูพ้นตาทหารยามไม่ยากเย็นเท่าไหร่

แต่เมื่อรั้วลวดหนามกลายเป็นกำแพงแบบก่ออิฐถือปูน ประตูหน้าต่างบ้านคุณก็ถูกปิดตายไปด้วย

ในช่วงที่กำแพงยังก่อไม่เสร็จ และคุณอาจจะเป็นคนประเภทตัดสินใจได้เร็ว คุณอาจจะกระโดดออกจากช่องหน้าต่าง หรือวิ่งผ่านประตูที่เหลือออกมาทัน

แต่ถ้าหากคุณไม่ได้อยู่บ้านในขณะนั้น หรืออยู่ไกลไปจากกำแพงที่กำลังสร้าง คุณจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร?

เป็นไปได้ว่า วันนั้นสามีออกไปทำงานที่สำนักงานแต่เช้า กำลังอยู่อีกฟากหนึ่งของกำแพง ในขณะที่ภรรยากำลังทำงานบ้านและเลี้ยงลูกอยู่อีกฝั่ง และจะพบหน้ากันในภายหลังได้ก็ต่อเมื่อขอวีซ่าข้ามแดน

เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณกับเพื่อนบ้านมีอาชีพคนละประเภท และเป็นประเภทที่กฎหมายห้ามสนทนาวิสาสะกัน คุณอาจจะไม่เคยโบกมือ ยิ้ม หรือพูดทักทายกับเพื่อนบ้านเลย เพราะไม่รู้ว่าใครจะรายงานความประพฤติของคุณต่อผู้มีอำนาจ

เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณเรียนหนังสือ แต่ไม่ได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีกระทั่งตำแหน่งประธานนักเรียน และถ้าหากพูดอะไรผิดหูผู้มีอำนาจ คนหนุ่มสาวอย่างคุณอาจจะไม่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่าจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และไม่อาจจะสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศได้เลย

เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณอยากได้รถสักคัน ที่แม้จะสร้างจากเหล็กที่บางเบาปานแผ่นกระดาษ แต่ก็เป็นรถยี่ห้อเดียวที่คุณจะซื้อได้ในประเทศนี้ คุณจะต้องไปเข้าคิวรอซื้อรถคันนี้ ซึ่งคิวอาจจะยาวสักสามปีเป็นอย่างน้อย

ชีวิตที่ขาดทางเลือกเช่นนี้ ย่อมทำให้คุณโหยหาอิสรภาพในชีวิตของกำแพงอีกฝั่ง และ – จะหาวิธีข้ามไปอีกฝั่งได้อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมีคำสั่งอนุญาตให้ทหารยิงคนที่พยายามข้ามกำแพง

คุณอาจจะต้องลงทุนลงแรงเป็นเดือนเป็นปีในการขุดอุโมงค์ลอดกำแพงอย่างลับ-ลับ ไม่ให้ใครเห็นกระทั่งเศษดินที่ขุดขึ้นมา หรือแอบขึ้นบอลลูนพร้อมคำนวณทิศทางลมให้ข้ามกำแพงและแนวกระสุนได้อย่างเหมาะเจาะ หรือคิดค้นสลิงที่ใช้ข้ามแนวกำแพงอย่างรวดเร็วก่อนที่ทหารจะไหวตัวไปหยิบปืนมาเล็งเป้าที่คุณได้ทัน ฯลฯ

ชีวิตข้างบนดูเหมือนนิยาย แต่ดูเหมือนชีวิตของผู้คน ๒๐๖ คนที่ตายไประหว่างพยายามหลบหนีข้าม “กำแพงเบอร์ลิน” จะเป็นพยานที่ดีให้กับการดำรงอยู่ของเรื่องราวดังกล่าวในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

กำแพงเบอร์ลินความยาว ๑,๓๘๗ กิโลเมตร เริ่มถูกทุบทำลายเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ผู้คนเดินทางข้ามแดน ญาติพี่น้องที่ไม่ได้พบหน้ากันมากว่า ๒๘ ปี มีโอกาสพบกันก็หนนี้
แต่ถึงแม้ว่ากำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายไปแล้ว กำแพงอีกหลายแห่งกลับกำลังถูกสร้างขึ้น

“กำแพงเหยียดเชื้อชาติ” ที่อิสราเอลสร้างขึ้นล้อมรอบเขตเวสต์แบงค์ของชาวปาเลสไตน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มีความสูง ๘ เมตร สูงกว่ากำแพงเบอร์ลินที่สูงเพียง ๓.๖ เมตร

“กำแพงเมืองจีนในเม็กซิโก” ที่ได้รับฉันทานุมัติจากรัฐสภาอเมริกันให้สร้างขึ้นด้วยเงินกว่า ๑.๒ พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เพื่อกั้นเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก
ปรกติแล้ว กำแพงถูกสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัย ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของผู้คนที่อยู่ภายใน แต่กำแพงเหล่านี้ กลับถูกสร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกผู้คน ด้วยความแตกต่างทางความคิดความเชื่อ ด้วยชาติพันธุ์ ด้วยความระแวง ด้วยความเกลียด ด้วยความหวาดกลัว

กำแพงหนึ่งกักขังผู้คนของตน

กำแพงหนึ่งกักขังผู้คนของชาติหนึ่ง

กำแพงหนึ่งกั้นความทุกข์ยากของเพื่อนบ้านออกไปพ้นจากความรับรู้ของตน

โลกจะเข้าสู่ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ แล้ว เรากำลังสำรวจดาวอังคาร ค้นพบน้ำบนดวงจันทร์ จำลองการเกิดของจักรวาลในเครื่องเร่งอนุภาค สื่อสารด้วยเทคโนโลยี 3G – แล้วเรายังสร้างกำแพงเหล่านี้บนโลกล่ะหรือ?

แท้จริงแล้ว กำแพงเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของกำแพงภายในใจของผู้คน ความหวาดกลัว ความไม่ไว้วางใจในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
กระทั่งเขตแดนระหว่างประเทศก็มักจะมีกำแพงที่มองไม่เห็นปรากฎอยู่เสมอ สถานทูตหรือด่านตรวจคนเข้าเมืองของบางประเทศทำตัวเป็นกำแพงเสียยิ่งกว่าสะพาน

อวิชชาและมิจฉาทิฏฐิในประวัติศาสตร์ที่ยกย่องวีรบุรุษสงคราม ย่อมนำไปสู่อคติทางวัฒนธรรม และก่อร่างสร้างกำแพงแห่งความยโสทะนงตน คลางแคลงในความเป็นมนุษย์ของประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน สิ้นสุดยุคสงครามเย็นที่กินเวลากว่า ๔๐ ปี เยอรมนีเดินหน้าเต็มตัวในการเป็นผู้นำในการรวมตัวกันของสหภาพยุโรป สานฝันเก่าแก่เมื่อสองร้อยปีก่อน ตั้งแต่ยุคของนักคิดเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่อย่าง อิมมานูเอล คานท์ (ค.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๘๐๔)

แนวคิดการรวมยุโรปซึ่งเป็นไปเพื่อยุติสงครามและความขัดแย้งได้รับความสนับสนุนอย่างดีจากฝรั่งเศสและเยอรมัน แม้จะเป็นคู่แค้นลึกซึ้งมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ และ ๒ แต่ชนชั้นนำของทั้งสองประเทศเห็นตรงกันว่า สันติภาพยุโรปนั้นยิ่งใหญ่มหาศาลกว่ามหิทธานุภาพของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของโลกาภิวัฒน์ ที่พลเมืองของประเทศหนึ่งย่อมกลายเป็นพลเมืองโลกด้วย สันติภาพและความเป็นอยู่ของประเทศหนึ่งย่อมส่งผลต่อทั้งโลกเช่นกัน

ยิ่งในภาวะที่เผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เฮอริเคนขนาดมหึมา การร่วมมือของมนุษยชาติเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ตนบนโลกนี้ยิ่งมีความจำเป็นเด่นชัดขึ้น ประเด็นเรื่องโลกร้อนอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์กลายเป็นประเด็นสำคัญและจำเป็นที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยในเวทีโลกบ่อยครั้งขึ้น ความเป็นประเทศหรือชาติแบบปัจเจกถูกแทนที่ด้วยความเป็นสมุหภาพของความเป็นมนุษย์
การพูดว่ารักโลกหรือรักธรรมชาตินั้นง่ายกว่ารักเพื่อนบ้าน การพูดว่ารักเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันก็ง่ายกว่ารักเพื่อนร่วมประเทศที่มีความเห็นแตกต่างจากตน หากเราไม่ยอมสำรวจตรวจตรากำแพงภายในใจ เราย่อมมองไม่เห็นว่านักการเมืองอีกพรรคหนึ่งไม่ได้โง่หรือคิดผิดไปทุกเรื่องเพียงเพราะเขาหรือเธอคิดหรือเชื่อแตกต่างไปจากเรา เราย่อมมองไม่เห็นว่าคนที่ใส่เสื้อต่างสีก็มีความรู้คิดและมีเหตุผลไม่แตกต่างไปจากเรา เราย่อมมองไม่เห็นท้องฟ้าแห่งสันติภาพและภราดรภาพอันกว้างใหญ่ที่จะปรากฎในรุ่นลูกรุ่นหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา - กำแพงภายในที่กั้นกลางวิวัฒนาการแห่งความเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูงจำเป็นต้องทลายลงมา

แอร์พอร์ตเมดิเทชั่นรูม



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 14 พฤศจิกายน 2552

ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิยังสร้างไม่เสร็จด้วยซ้ำ เพราะส่วนตัวผมเคยแอบหวังแอบฝันเอาไว้เล็กๆ ว่า สนามบินสุวรรณภูมิที่ใหญ่โตและทันสมัยอาจจะมี “เมดิเทชั่นรูม” เอาไว้ให้ผู้โดยสารได้ใช้หย่อนจิตผ่อนใจ

ก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันว่าทำไมไม่ได้เขียนเสียที อาจจะเป็นเพราะช่วงหลังๆ ผมเดินทางน้อยลงก็เลยมีโอกาสใช้สนามบินน้อยลงไปบ้างกระมัง ทำให้ลืมเลือนความรู้สึกเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสนามบินไปหรืออาจจะเป็นเพราะพยายามที่จะทดลองฝึกปรับสภาพจิตใจของผมให้เข้าได้กับสภาพความเป็นของสนามบิน

ผมพบว่ามีความจริงสามสี่ประการเกี่ยวกับการเดินทางโดยเครื่องบิน

ประการแรก การเดินทางโดยเครื่องบิน ผู้โดยสารส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาในสนามบินเป็นเวลาค่อนข้างนาน ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องเผื่อเวลาในการเดินทางมาก่อนเวลา และมักจะใช้เวลาในการรอคอยการขึ้นเครื่องมากกว่าเวลาที่อยู่บนเครื่องบินจริงๆ

ประการที่สอง บรรยากาศของสนามบินโดยทั่วไป เป็นบรรยากาศของความพลุกพล่าน วุ่นวาย เร่งรีบ

ผมเชื่อว่าท่านที่เคยไปใช้บริการสนามบินหลายๆ ท่านจะพบว่า ในสนามบินจะไม่มีมุมสงบเลย ยกเว้นเข้าไปนั่งในห้องน้ำแล้วปิดประตู ก็ยังไม่วายมีเสียงตามสายเล็ดลอดออกมาแทบจะตลอดเวลา สนามบินจึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สร้างความเครียดให้กับผู้เดินทางได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

สมัยก่อนที่ผมยังต้องใช้สนามบินดอนเมือง ผมต้องไปหาที่ยืนภาวนาที่ส่วนพักของทางเดินบันได เพราะหามุมสงบไม่ได้เลยที่ดอนเมือง แต่ก็ยอมรับสภาพครับ เพราะเป็นสนามบินที่สร้างมานานหลายสิบปีแล้ว พื้นที่ใช้สอยก็อาจจะมีไม่เพียงพอ

ประการที่สาม ตามความเข้าใจของผม สนามบินที่ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่เพียงแค่สนามบินที่ใหญ่โตมโหฬาร มีเทคโนโลยีทันสมัย และปลอดภัยเท่านั้น แต่น่าจะต้องมี “บรรยากาศของความสงบเย็น” ผ่อนคลาย เบาสบาย

ประการที่สี่ ทุกวันนี้โลกตะวันตกและงานวิจัยต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ยอมรับอย่างสิ้นเชิงไม่มีเงื่อนไขแล้วว่า “การภาวนา” แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ช่วยให้มนุษย์มีความสุข ลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

แน่นอนนะครับว่า การภาวนาเราสามารถทำได้ทุกแห่งทุกโอกาสทุกสถานการณ์ แต่หากสามารถมีบรรยากาศที่เอื้อ บริบทของพื้นที่และบริเวณที่เหมาะสม ก็จะยิ่งทำให้เกิดความสงบความปีติสุขได้ง่ายขึ้นมากกว่า

ไม่รู้ว่าผมฟันเฟื่องมากเกินไปหรือไม่

ผมนึกวาดภาพเห็นห้องโล่งๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิ มีเบาะรองนั่งเล็กๆ เรียงรายไว้บนพื้นพรมที่สะอาด

เป็นห้องภาวนาหรือห้องผ่อนคลายแบบสากลสำหรับทุกๆ ศาสนา (ห้องผ่อนคลายสำหรับการสูบบุหรี่ยังมีได้เลย)

มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้บรรยากาศภายในห้องนั้นเป็นบรรยากาศของความสงบ อาจจะป้องกันคนเข้าไปนอนหลับด้วยการกำหนดเวลาไม่เกินสามสิบนาที

กติกาสำคัญสำหรับห้องนี้คือ

“งดการสื่อสารภายนอกทุกชนิด” “การมีเวลาดำรงอยู่กับตัวเอง”

ห้ามพูดคุย งดการส่งเสียง

ไม่สบสายตากับใครเลย

งดเสียงโทรศัพท์มือถือ

ห้ามส่งเสียงกรน (อาจจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสงบ)

รายละเอียดอื่นๆ ก็น่าจะมีการระดมสมอง ช่วยกันคิดช่วยกันให้ความเห็น โดยรักษาแก่นหรือวัตถุประสงค์หลักของเรื่องนี้ คือ “ขอมีสถานที่สงบ” สักแห่งหนึ่งในสนามบินที่พลุกพล่านวุ่นวายให้ผู้โดยสารที่เดินทางได้มีเวลาของการ “ผ่อนคลาย” ลดความเครียดทางด้านจิตใจ

ผมไม่ได้คาดหวังว่าทุกๆ สนามบินในประเทศจะต้องมีเมดิเทชั่นรูมนะครับ บทความนี้จึงน่าจะชื่อ “สุวรรณภูมิแอร์พอร์ตเมดิเทชั่นรูม” เป็นการเฉพาะมากกว่า

ผมคิดใคร่ครวญถึงเรื่องนี้มาหลายปี ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะมีข้อเสียหายอะไรจากการมีห้องเมดิเทชั่นสำหรับผู้โดยสารทั่วไปในสนามบินเลย แต่ก็เป็นเพียงมุมมองในฐานะผู้ใช้บริการนะครับ คงจะต้องฟังความเห็นจากทางสนามบินด้วย

เพราะผมเชื่อว่า แอร์พอร์ทเมดิเทชั่นรูมจะสามารถทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีความสมบูรณ์และเพียบพร้อมมากขึ้น

พูดกันจริงๆ เลยนะครับว่า ผมไม่อยากเห็นฝรั่งเค้าทำก่อนแล้วเราค่อยไปทำตามกันทีหลัง

เขียนถึงตรงนี้ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ตัวผมเองยังมีประสบการณ์การเดินทางน้อย ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่รู้และไม่เคยถามใครเหมือนกันว่า สนามบินในต่างประเทศเขามี “เมดิเทชั่นรูม” ที่เป็นแบบสากลสำหรับทุกศาสนากันบ้างหรือยัง

ก็เลยลองเข้าไปค้นหาในกูเกิล ผมก็พบว่า ฝรั่งทำไปก่อนแล้วจริงๆ ด้วย มีหลายสนามบินในสหรัฐอเมริกา มี “เมดิเทชั่นรูม” สำหรับผู้โดยสารแล้ว เช่น สนามบินเจเอฟเค สนามบินอัลบานี สนามบินโคลัมบัส สนามบินมิเนโซตา ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าจะสายเกินไปหากว่าสนามบินสุวรรณภูมิที่ตอนนี้เปิดมาสามปีเต็มๆ แล้ว จะลองพิจารณาเห็นความสำคัญของเรื่องจิตเรื่องใจ และขยับขยายให้เกิด “แอร์พอร์ตเมดิเทชั่นรูม” ขึ้นมา

อย่างน้อยผมก็รู้สึกสบายใจที่ได้เขียนถึงเรื่องนี้ ถึงช้าไปบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้เขียน

ทำช้าไปบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำเลยนะครับ

กองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย
เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552

ในวาระแห่งการจากไปของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ครบ ๑๐๐ วัน มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยท่านประธานกิตติมศักดิ์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ดำริให้มีการจัดกิจกรรมที่ระลึกในวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และให้มีการจัดทั้งกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน นับเป็นการสมควรยิ่งนัก

ท่านอาจารย์กรุณา และอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย สองสดมภ์หลักทางภารตศึกษา ทำงานโดยปิดทองหลังพระ แต่เป็นหลังพระที่กว้างใหญ่ไพศาลในทางความกรุณาและปัญญา

โลกวิกฤตเพราะขาดความกรุณาและปัญญา

โลกสร้างความรู้มากมาย แต่ความรู้ก็ไม่ใช่ปัญญา ความรู้ไม่มีพลังพอที่จะเผชิญกับกิเลส จึงถูกอกุศลมูล คือโลภะ โทสะ โมหะ จับไปใช้งานเพื่อการแย่งชิง เอาเปรียบ เข่นฆ่า อย่างปราศจากความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ การขับเคลื่อนการพัฒนาในอกุศลมูลนำไปสู่วิกฤตอารยธรรมในปัจจุบัน อันเกิดจากการเสียดุลยภาพในทุกๆ มิติ ทั้งกาย ใจ สังคม สิ่งแวดล้อม การทำลายโดยมิจฉาพัฒนามิได้จำกัดอยู่เพียงในโลกมนุษย์ แต่ลงไปถึงนรกและขึ้นไปถึงสรวงสวรรค์ คือใต้ดินและชั้นบรรยากาศด้วย จนโลกทั้งใบรุ่มร้อน แม้กระทั่งสรรพชีวิตก็จะดำรงคงอยู่ต่อไปไม่ได้

โลกจะต้องหันกลับมาหาความกรุณาและปัญญา

ความกรุณาแบบปัญญา คือทวิลักษณ์ของสองสามีภรรยากุศลาสัย กุศลาสัยคือที่อยู่ของกุศล หรือกุศลภูมิ อันตรงกันข้ามกับอกุศลภูมิอันเป็นที่มาแห่งหายนะดังกล่าวข้างต้น ใครๆ ที่ได้รู้จักสองสามีภรรยา ทั้งในระยะใกล้หรือระยะไกล จะสัมผัสได้ถึงรังสีแห่งความกรุณาอันแผ่ซ่านทั่วไป ปัญญาต่างจากความรู้ตรงที่ความรู้นั้นรู้เป็นเรื่องๆ เช่น รู้วิชาหรือศาสตร์ต่างๆ แต่ปัญญานั้นหมายถึงรู้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงรู้ตัวเองด้วย เมื่อรู้ทั้งหมดและรู้ตัวเองด้วยก็จะทำให้จัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่นและสิ่งอื่นได้อย่างถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องคือจริยธรรม

ในปัญญาจึงมีจริยธรรมอยู่ด้วยเสมอ

ในความรู้ไม่แน่ว่ามีจริยธรรม ส่วนใหญ่ไม่มี


ฝรั่งนั้นมีความรู้ศาสตร์ต่างๆ มาก แต่ศาสตร์ที่ปราศจากปัญญากำกับก็จะกลายเป็นศาสตรา ที่ใช้ทิ่มแทง แย่งชิง เข่นฆ่ากัน การตามฝรั่งไปเสียทั้งหมดจะทำให้ขาดปัญญาได้

ตรงนี้แหละที่บทบาทของสามีภรรยากุศลาสัยเข้ามามีความหมายใหญ่

บทบาทของท่านทั้งสองคือการนำเสนอภูมิปัญญาภารตะผ่านวรรณกรรมใหญ่ๆ ๔ เรื่อง คือ (๑) อัตชีวประวัติของท่านมหาตมา คานธี (๒) พบถิ่นอินเดีย โดยท่านเยาวหราล เนห์รู (๓) คีตาญชลี โดยท่านรพินทรนาถ ฐากูร และ (๔) มหาภารตยุทธ

วรรณกรรมทั้ง ๔ สะท้อนภูมิปัญญาภารตะ อันเป็นหนึ่งในอารยธรรม ๓ แหล่งใหญ่ๆ ของโลกอันเกิดก่อนความเจริญของยุโรปเนิ่นนาน อันได้แก่ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห ในอารยธรรมโบราณเหล่านี้ย่อมมีภูมิปัญญาอันลุ่มลึกแห่งธรรมชาติ ความเป็นมนุษย์และการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ตื้นเขินเพียงเรื่องจีดีพีอันทำให้โลกร้าว

มนุษย์ต้องหันไปศึกษาภูมิปัญญาอันว่าด้วยธรรมชาติ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โลกจึงจะพ้นวิกฤต

อารยธรรมปัจจุบันมีแรงส่งมาได้เพียงเท่านี้ จึงกำลังตีบตันและมาถึงจุดเปลี่ยนของอารยธรรม หรือ Civilization Turning Point แล้ว

บทบาทของสองสามีภรรยากุศลาสัยอยู่ตรง Civilization Turning Point นี่แหละ

ลองไปอ่านวรรณกรรม ๔ เล่ม ที่ท่านทั้งสองช่วยกันแปลและเรียบเรียงด้วยภาษาที่งามจับใจดูเถิด ท่านจะรู้ได้ด้วยตนเองหรือสันทิฏฐิโก ว่าภูมิปัญญาภารตะอันลุ่มลึกมาปลดปล่อยท่านไปสู่ความเป็นไทได้อย่างมหัศจรรย์เพียงไร

ถ้าเราถูกครอบงำอยู่ด้วยอำนาจ มายาคติ และมิจฉาทิฏฐิ เราจะปราศจากความเป็นไท เมื่อปราศจากความเป็นไท ก็ไม่อาจมีความกรุณาและปัญญาได้

เด็กๆ และเยาวชนของเราต้องมีความเป็นไท จึงจะตั้งอยู่ในความดีได้ สังคมไทยไม่ควรจะอยู่ในโมหภูมิที่ปราศจากอุดมคติอีกต่อไป คนไทยควรจะสลัดออกจากความครอบงำของอำนาจ มายาคติ และมิจฉาทิฏฐิ ไปสู่ความเป็นไท เพื่อการผุดบังเกิดของความกรุณาและปัญญา

ขอให้ความตายของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย กัลยาณมิตรอาวุโสของผมจงเป็นเครื่องกระตุกจิตใจของคนไทยทั้งประเทศให้หันมาสนใจสร้างสังคมไทยที่มีอุดมคติ เรามีบุคคลอุดมคติอย่างเอกอุอันเป็นบุคคลร่วมสมัย ก่อนหน้านี้ก็มีเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สังคมไทยควรจะใช้บุคคลอุดมคติเป็นบุคลาธิษฐานเพื่อสร้างสังคมอุดมคติด้วยประการต่างๆ อันหลากหลาย

วิธีหนึ่งก็โดยอุปถัมภ์ค้ำจุนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน ให้กว้างขวางออกไป เพราะความเป็นไท ความกรุณา และความมีปัญญา ของเด็กและเยาวชน คืออนาคตของเราร่วมกัน

หมายเหตุ: ขอเชิญร่วมกิจกรรมรำลึก ครบรอบ ๑๐๐ วัน การจากไปของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ในวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๓๐-๒๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมชั้น ๕ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตรงข้ามกับสนามกีฬาแห่งชาติ สี่แยกปทุมวัน

การให้การศึกษาพลเมืองโลก
(Educating the World Citizens)



โดย อนุชาติ พวงสำลี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2552

เมื่อวันที่ ๘-๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมประชุมเรื่อง “การให้การศึกษาพลเมืองโลกสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ (Educating the World Citizens for the 21st Century)” ที่ DAR Constitution Hall ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จัดโดย Mind & Life Institute และมีองค์กรร่วมจัดเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงในสหรัฐอเมริการจำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สแตนฟอร์ด เพนซิลวาเนีย วิสเคาซิล-แมดิสัน จอร์จ วอชิงตัน มิชิแกน และสมาคมจิตวิทยาอเมริกา เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๒ พันคน

การจัดประชุมเป็นไปอย่างเรียบง่าย แบ่งเป็นการสนทนาในภาคเช้าและภาคบ่าย รวมเป็น ๔ ช่วง แต่ความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ นอกจากองค์ดาไล ลามะ ซึ่งเข้าร่วมประชุมและเป็นผู้ร่วมสนทนาตลอดการประชุมแล้ว ผู้เข้าร่วมสนทนาในแต่ละช่วง ยังประกอบด้วย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักบวช นักพัฒนา และครูอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานระดับโลก ซึ่งมีความร่วมมือกันในทางวิชาการมาเป็นระยะเวลายาวนาน

คำถามสำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือ ข้อท้าทายที่ว่าระบบการศึกษาหรือระบบการเรียนรู้ในปัจจุบันจะสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างไร? เราจะสามารถจัดการศึกษาหรือกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความเมตตากรุณา (Compassion) มีสมรรถนะ (Competent) มีจริยธรรม (Ethic) และเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม (Engaged Citizens) ในท่ามกลางพัฒนาการของโลกและสังคม ที่มีความสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงไร้พรมแดนกันได้อย่างไร?

ฐานคิดและความเชื่อของการประชุมนี้ เล็งเห็นว่าการสร้างพลเมืองแห่งอนาคตนั้น มิสามารถวัดได้ด้วยความรู้และทักษะ (Cognitive Skills and Knowledge) เพียงเท่านั้น แต่เราต้องสร้างเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งกาย ใจ และสมอง ให้เพียบพร้อมด้วย ทักษะเชิงอารมณ์ สังคม และความมีคุณธรรม ซึ่งโดยรวมๆ เรียกว่า กระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญศึกษา (Contemplative Practices)

การสนทนาในช่วงแรก เริ่มจากวิสัยทัศน์หรือมุมมองต่อการพัฒนาพลเมืองของโลก ซึ่งผู้เข้าร่วมสนทนาต่างเห็นพ้องกันว่า เยาวชนพลเมืองของโลกกำลังตกอยู่ในสภาวะที่เลวร้ายจากสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ปัญหาความรุนแรง สมคราม ความขัดแย้ง ระบบการแข่งขันที่เร่งเร้าความแตกแยกทั้งในด้านเชื้อชาติ สีผิว และฐานะทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาเอง พบว่าความรุนแรงต่อเยาวชนทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เพิ่มสูงขึ้นถึง ๓ เท่า เยาวชนในสหรัฐอเมริกากว่าร้อยละ ๖๐ กำลังตกอยู่ในสถานะล่อแหลมต่อความรุนแรง ปัญหาดังกล่าวจึงนับเป็นความน่าห่วงใยในอนาคตของสังคมโลกเป็นอย่างมาก

องค์ดาไล ลามะ แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวังและความรับผิดชอบต่อสังคม เราต้องสร้างระบบการศึกษาที่เติมเต็มด้วยความเมตตากรุณา (Education with Compassion) การศึกษาต้องสร้างให้คนมีความสุขด้านในอย่างแท้จริง (Truly Inner Happiness) ดังนั้น ในการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ ครู-อาจารย์ จึงมีบทบาทที่สำคัญมาก ครู-อาจารย์ต้องมี สติ (Mindfulness) มี ความเมตตากรุณา (Compassion) ในการพัฒนาปัญญา ในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ครูและนักเรียนต้องสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน โดยนัยนี้ การเตรียมความพร้อมของครู-อาจารย์ จึงนับเป็นหัวใจของการจัดการศึกษาเพื่ออนาคต

ในช่วงที่สอง ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง ความจดจ่อ (Attention) การควบคุมอารมณ์ (Emotion Regulation) และการเรียนรู้ (Learning) วิทยากรซึ่งเป็นจิตแพทย์ชี้ให้เห็นว่า ความมุ่งมั่นและการควบคุมอารมณ์มีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก หากเด็กมีภาวะอารมณ์ที่เป็นเชิงลบ มีอารมณ์โกรธที่มากเกินไป จะทำลายศักยภาพและความเมตตากรุณาในตน การสอนเยาวชนให้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์จึงมีความสำคัญมาก ซึ่งในเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการศึกษาถึงพัฒนาการของมนุษย์ ที่จะทำให้เข้าใจว่าพัฒนาการของร่างกายและสมองในช่วงใด ควรใส่การเรียนรู้ด้านจิตตปัญญาอย่างไรที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเยาวชน

นอกจากในเรื่องพัฒนาการของร่างกายและสมองของเด็กแล้ว นักการศึกษาอีกท่านยังชี้ให้เห็นว่า ความมั่นคง (Security) และความสัมพันธ์ในกระบวนการเรียนรู้ (Relationship in Learning) ก็นับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน หน้าที่ของครู คือการสร้างสำนึกของความรับผิดชอบ ความครุ่นคำนึง การเปิดใจ ความอดทน อุดมคติ เป้าหมายเชิงบวก และแรงจูงใจ เด็กจึงเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการการบ่มเพาะ รดน้ำพรวนดินอย่างดี ความรู้ว่าด้วยพัฒนาการของเด็ก (Child Development) จึงมีความสำคัญในการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ (มิใช่เพียงคำนึงถึงแต่เนื้อหาทางวิชาการ – ผู้เขียน) เช่นเดียวกับความร่วมมือและทำงานร่วมกับชุมชน มีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมากมายของการจัดการศึกษาในแนวใหม่นี้ เช่น การนำโยคะ ห้องเงียบ สมาธิภาวนา มุมส่วนตัว การฝึกสติ การฝึกความเมตตากรุณา เข้าไปสอดแทรกในกระบวนการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่างๆ เป็นต้น

ในช่วงที่สาม ลงลึกในส่วนของความเมตตากรุณา (Compassion) และความเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) วิทยากรในช่วงนี้อธิบายว่า แนวทางจิตตปัญญา (Contemplative Practices) มีความสำคัญต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของพลเมืองและสังคม กระบวนการศึกษาต้องสร้างความเอาใจเขามาใส่ใจเราให้เกิดขึ้นในหัวใจของคน ซึ่งจะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) ในเพื่อนมนุษย์ การทำงานในเรื่องนี้จำต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นระบบถึงปัจจัยแวดล้อมของแต่ละคน (Personal Environment) ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (Emotion Regulation) พันธุกรรม (Genetics) ตลอดจน อารมณ์ทางสังคม (Social Emotion)

นอกจากนี้ วิทยากรยังได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาครู-อาจารย์ อย่างมาก ปัจจุบัน ครู-อาจารย์ อยู่ในภาวะที่เครียดเกินไปที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เรียกร้องได้ ครู-อาจารย์ ไม่สามารถจัดการสมดุลต่างๆ ได้อย่างดี ครู-อาจารย์ ต้องได้รับการพัฒนาชีวิตด้านใน (Inner Life) ให้เข้มแข็งทั้ง กาย ใจ และจิตวิญญาณ การปฏิบัติภาวนาและการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Practices) จึงมีบทบาทที่สำคัญมากในการเตรียมความพร้อมและความเข้มแข็งของครู-อาจารย์ อย่างไรก็ตาม ท่านมาติเยอ ริการ์ นักบวชสายทิเบตชาวฝรั่งเศส ซึ่งร่วมอยู่ในวงสนทนาด้วย ก็ได้ตอกย้ำไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเราสนใจเรื่องความเมตตากรุณาและความรัก (Compassion and Love) ที่อยู่ในระดับชีววิทยาหรือร่างกายเท่านั้น คงจะไม่เพียงพอและยั่งยืน แต่เราต้องสนใจในการสร้างความเมตตากรุณาและความรักที่มาและเกิดขึ้นจากด้านในของมนุษย์อย่างแท้จริงด้วย

และในช่วงสุดท้าย เป็นบทบูรณาการและการมองทิศทางในอนาคต ศาสตราจารย์ลินดา คณบดีวิทยาลัยศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กล่าวว่า เราคงไม่สามรถทำเพียงแค่นำเรื่องปฏิบัติภาวนาหรือการนั่งสมาธิเข้าไปในระบบการศึกษาเฉยๆ เพราะระบบอาจจะยังไม่เอื้ออำนวย แต่เราต้องเน้นความสำคัญในเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราต้องสร้างเรื่องความสุขหรือสุขภาวะทั้งระบบโรงเรียน (Whole School Happiness) ซึ่งกินความรวมถึงความสุขส่วนบุคคล ความรับผิดชอบต่อสังคม กระบวนการเรียนรู้เติบโตและพัฒนาร่วมกัน และการทำงานเป็นทีมของครู-อาจารย์ในสถานศึกษานั้นๆ

ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องมีความหลากหลาย ระบบการเรียนรู้ใหม่ต้องเข้าใจพัฒนาการมนุษย์ มีทรัพยากรที่พอเพียง และต้องไม่ทอดทิ้งให้เยาวชนคนใดตกขบวน (No Child Left Behind) ซึ่งในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ทากาโอะ เฮนซ์ แพทย์ทางสมองแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ก็ยังย้ำว่า ประสบการณ์ในช่วงต้นของชีวิต (Early Life Experiences) นับว่ามีความสำคัญมากต่อพฤติกรรมของมนุษย์ และเราจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจกลไกการทำงานของสมองว่า ช่วงที่เป็นวิกฤต (Critical Period) นั้นมีความสำคัญมากสำหรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเมตตากรุณา

ศาสตราจารย์ริชาร์ด เดวิด แห่งมหาวิทยาลัยวิสเคาซิล-แมดิสัน ซึ่งทำงานวิจัยระยะยาวในเรื่องนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นที่น่ายินดีว่า สิ่งที่เหมือนกันระหว่าง Contemplative Science และ Basic Science คือต่างเห็นพ้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้ (Change is Possible) และยังเน้นย้ำถึงทิศทางการวิจัยที่มีความสำคัญในอนาคตว่า ๑) การศึกษาว่าด้วยความเมตตากรุณานั้น ไม่ควรจำกัดอยู่ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ควรศึกษาว่า ความเมตตากรุณามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรอบข้างหรือสังคมอย่างไร (Social Impacts) ๒) เราควรก้าวข้ามการทดสอบทางการศึกษาแบบปรนัย (Choice Test) เพราะไม่สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงได้เลย ดังนั้น เราควรเร่งศึกษาถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ๓) ความสุขคือเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์และสังคม ความสุขของมนุษย์จึงมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อสุขภาวะของสังคมโดยรวม ๔) นักวิทยาศาสตร์ต้องใส่ใจศึกษาเรื่อง ความจดจ่อ (Attention) เพราะความเข้าใจในเรื่องนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจในพฤติกรรมของเยาวชนและกระบวนการเรียนรู้ของเขา เด็กติดเกมส์ เพราะเกมส์สร้างให้เกิดความจดจ่อในเด็ก เราไม่ควรเพียงแค่ปฏิเสธเกมส์ แต่ความท้าทายคือทำอย่างไรให้เกมส์เป็นเกมส์ที่สร้างสรรค์และสร้างให้เกิดความรักความเมตตา อนึ่ง เราต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย วิธีการหนึ่งจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน และ ๕) สุดท้าย ทีมวิจัยแบบบูรณาการ (Transdisciplinary Team) และการเชื่อมโยงงานวิจัยพื้นฐานสู่ปฏิบัติการจริงในพื้นที่ (Translational Research to the Field) นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องนี้

ในตอนท้าย องค์ดาไล ลามะ ได้กลับมาสรุปเพื่อตอกย้ำอีกครั้งว่า การสร้างแรงจูงใจและความตระหนัก ต่อการสร้างการเรียนรู้เพื่อการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นมีความสำคัญมาก การสร้างทัศนะในเชิงบวก เราต้องสร้างสติทุกนาที เราต้องมีทั้ง วจีกรรม (Verbal Action) กายกรรม (Physical Action) และมโนกรรม (Mind Action)

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ อดสะท้อนย้อนนึกมาถึงกระบวนการเรียนรู้ของระบบการศึกษาของเราไม่ได้ว่า ณ ดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ เราดูเหมือนจะละเลยนำสิ่งที่ดีมีคุณค่ายิ่งในแผ่นดินมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์และเยาวชนคนรุ่นหลัง การจัดการศึกษาที่เดินรอยตามฝรั่งรังแต่จะสร้างสมปัญหาอย่างมากมายมหาศาล การศึกษาไทยเร่งสร้างให้เกิดการแข่งขันและเอาชนะ ในวันนี้การจัดการศึกษาในโลกตะวันตกกำลังเปลี่ยนไปเพื่อเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ของมวลมนุษยชาติ แต่การศึกษาของไทยและวงการวิชาการไทยกำลังติดกับอยู่กับการแข่งขันจนละเลยการพัฒนาความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง หากครู-อาจารย์ของเรายังอยู่ในภาวะเครียดและสับสน มุ่งถ่ายทอดความรู้จากเพียงตำราและเนื้อหาโดยไม่สนใจชีวิตของผู้เรียน แล้วเราจะสร้างเยาวชนในอนาคตที่มีความสุข มีความรักความเมตตา เป็นเยาวชนที่รู้จักการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างสันติสุขได้อย่างไร หากการปฏิรูปการศึกษารอบสองของเราไม่สามารถก้าวข้ามหลุมดำที่ยิ่งใหญ่นี้ไปได้ อนาคตของสังคมไทยคงอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

บ่มเพาะความดี



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2552

รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ และอาจารย์ทิชา ณ นคร หรือป้ามนผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กระทรวงยุติธรรม เคยให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกับกลุ่มจิตวิวัฒน์เมื่อนานแล้ว และเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคมที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เชิญอาจารย์ทั้งสองท่านและผมขึ้นเวทีการประชุมวิชาการประจำปี เพื่อร่วมเสวนาในหัวข้อ “บ่มเพาะความดี”

ก่อนหน้าการเสวนา ผศ.นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ และ ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บรรยายนำเรื่อง “ความดี” เป็นการบรรยายวิชาการที่น่าสนใจ เมื่อพบว่าอะไรที่เรียกว่าความดีนั้นมีวิวัฒนาการและสามารถแยกองค์ประกอบได้ด้วย เนื้อหาสำคัญคือ ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาจริยธรรมที่เคยเรียนๆ กันมานั้นกำลังถูกท้าทายจากบรรทัดฐานและบริบทของสังคมในปัจจุบัน

อาจารย์ประภาภัทรและอาจารย์ธนาเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน “จิตตปัญญาศึกษา” ส่วนอาจารย์ปราโมทย์และผมเคยร่วมงานกันในแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพมาก่อน ไตรภาคีจิตวิวัฒน์-จิตตปัญญาศึกษา-แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ทำงานร่วมกับ สสส. เพื่อขับเคลื่อนประเด็น Spirituality จากแง่มุมที่ต่างกัน

เดิมเราเคยเชื่อว่าจริยธรรมพัฒนามาตามอายุ เมื่อยังเล็กกลัวการถูกลงโทษ ชอบได้รางวัล แยกผิดถูกชัดเจน จากนั้นจึงพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันที่เราทำความดีเพราะเป็นความดี เป็นระดับอุดมการณ์หรืออุดมคติ แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายทศวรรษ ก็พบว่าอะไรที่เรียกว่าการทำความดีเพราะอุดมการณ์หรืออุดมคตินั้นหายากหรือไม่ก็ไม่มีจริง รวมทั้งมีทฤษฎีใหม่ๆ ที่ว่าด้วยการพัฒนาจริยธรรมเกิดขึ้น เช่น ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron Theory) ที่ใช้ชีววิทยามาอธิบายปรากฏการณ์ที่เรียกว่าต้นแบบ (role model) และการเอาใจเราไปใส่ใจเขา (empathy) เป็นต้น

อาจารย์ประภาภัทรเล่าเป็นคนแรกว่า โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นโรงเรียนทางเลือก จัดการเรียนการสอนโดยครูอย่าสอนมากแต่นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้มาก อาจารย์มีข้อสรุปว่า ความดียังต้องบ่มเพาะมาจากบ้านโดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบ เมื่อมาถึงโรงเรียนต้องมีครูเป็นต้นแบบ ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่อาจารย์ธนาและอาจารย์ปราโมทย์บรรยาย บุคคลสำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีจำนวนมากได้รับการบ่มเพาะจากมารดาจริงๆ

อาจารย์ทิชาเล่าเรื่องเด็กบ้านกาญจนาภิเษก เด็กจำนวนมากเคยกระทำผิดด้วยคดีทำลายชีวิตผู้อื่น แต่บ้านกาญจนากลับเป็นบ้านที่ไม่มีรั้ว จนถึงกับญาติของผู้เสียหายต้องร้องเรียนและตำหนิการดำเนินงานของบ้านกาญจนาอย่างโกรธแค้น อาจารย์ทิชาใช้คำตำหนิอย่างโกรธแค้นของญาติเหล่านี้มานำกระบวนการให้เด็กบ้านกาญจนาฯ ได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า empathy คือ “ถ้าเราเป็นเขา ซึ่งคนที่รักถูกฆ่า ควรรู้สึกอย่างไร”

อาจารย์ทิชาใช้เครื่องมือหลายอย่างในการนำกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ จนกระทั่งเด็กๆ รู้จักให้อภัย นั่นคือให้อภัยสังคมที่ทอดทิ้งพวกเขา รวมทั้งให้อภัยพ่อแม่ที่ไม่เคยใส่ใจไยดีพวกเขา วิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ของอาจารย์ทิชา ใช้ทั้งการอ่าน การเขียน การเล่าเรื่อง ไปจนถึงการใช้พละกำลัง โดยให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่มีเสรีภาพ เอื้อต่อการปลดปล่อย และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้ศักยภาพของสมองอย่างเต็มที่

ข้อพิสูจน์ว่าวิธีของอาจารย์ทิชาได้ผล คือเด็กๆ ไม่หนีทั้งที่ไม่มีรั้ว ซึ่งผมมีสมมติฐานว่าเพราะพวกเขามีความสุขที่นี่ มิได้หมายความว่ามีความสุขเพราะภูมิสถาปัตย์ของบ้านกาญจนาฯ สวยงาม แต่มีความสุขเพราะที่นี่กลับเป็นที่ที่มีเสรีภาพทางปัญญา

ตัวร่วมของโรงเรียนรุ่งอรุณและบ้านกาญจนาภิเษก คือเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพทางปัญญา

โดยส่วนตัว ผมมีประสบการณ์ได้ตรวจรักษาบุคคลซึ่งได้ชื่อว่า “ไม่ดี” ตามกฎหมายและบรรทัดฐานของสังคมจำนวนมาก นั่นคือเด็กที่ต้องคดียาเสพติด เด็กสถานพินิจฯ และผู้ต้องขังในเรือนจำกลาง หลังจากทำงานหลายปี ผมก็มีสมมติฐานเพิ่มเติมว่าเด็กๆ หรือบุคคลเหล่านี้มีลักษณะร่วมกัน ๓ ประการ

หนึ่งคือ เด็กๆ เหล่านี้ไม่รู้วิธีที่จะมีความสุขแบบช้าๆ รู้จักแต่การเสพสุขด้วยความเร็วสูง นั่นคือเล่นเกม มีเซ็กซ์ ใช้ยา และตีกัน รวมทั้งเสพสุขจากการดูคลิปตีกัน เด็กๆ เหล่านี้ไม่สามารถรอความสุขในอีกมิติหนึ่งที่เกิดจากการอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หรือฟังดนตรีดีๆ สักเพลง

เรื่องนี้อธิบายทางชีววิทยาได้ว่า เด็กๆ เหล่านี้รู้วิธีเหนี่ยวนำให้สมองของตนเองหลั่งโดปามีน (dopamine - สารเคมีจากต่อมไร้ท่อใต้สมอง มีผลทำให้จิตใจเบิกบานแจ่มใส มีความสุข) จำนวนมากในเวลาที่นับเป็นวินาที แล้วติดความสุขที่ได้นั้น

สองคือ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถทำนายผลลัพธ์ของการกระทำของตนเองได้ ทั้งผลลัพธ์ระยะสั้นหรือระยะยาว การขู่เป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้ผลกับเด็กๆ การอธิบายอนาคตอย่างละเอียดทุกขั้นตอนและช่วยพวกเขาวาดภาพอนาคตกลับได้ผลดีกว่า

เรื่องนี้อธิบายทางชีววิทยาได้ว่า เพราะสมองส่วนที่เรียกว่า พรีฟรอนทัล คอร์เทกซ์ (prefrontal cortex - มีความสำคัญในการเชื่อมโยงความนึกคิด และความจำ กับการตัดสินใจ) มิได้ถูกกระตุ้นหรือถูกฝึกให้ใช้งานมากพอ จึงทำนายอนาคตไม่ได้

สามคือ เด็กๆ เหล่านี้ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง ส่วนใหญ่มีประวัติถูกพ่อแม่ทิ้ง ไม่ทิ้งทางกายก็ทิ้งทางใจ เมื่อมาเรียนหนังสือก็เป็นพวกเด็กชั้นต่ำเพราะข้อหาเรียนหนังสือไม่เก่ง

กระบวนการหรือวิธีที่สถาบันทั้งสองแห่งใช้กับเด็กๆ ในความดูแล เป็นกระบวนการหรือวิธีการที่แก้ไขจุดอ่อนทั้งสามประการของเด็กๆ สมัยนี้ นั่นคือเปิดพื้นที่อิสระให้เด็กๆ ได้ใช้ศักยภาพสมองของตนเองอย่างเต็มที่ในการตอบโจทย์ที่อาจารย์กำหนดให้ โจทย์ที่ได้มิใช่โจทย์ข้อสอบ ถ้าเป็นโรงเรียนรุ่งอรุณคือโจทย์ชีวิตที่พบทุกวัน ถ้าเป็นบ้านกาญจนาฯ คือโจทย์ชีวิตที่เคยประสบในอดีต ขอเพียงเราสามารถปลดปล่อยสมองของเด็กๆ ได้ เด็กจะได้ทันทีสามประการ

ประการที่หนึ่งคือ ได้รับความสุขฉับพลัน อาจารย์ประเวศ วะสี ใช้คำว่า instant happiness เนื่องจากการได้คิด พูด และทำอย่างมีเสรีภาพ ไม่ถูกสกัดหรือถูกวิพากษ์ว่าผิดหรือโง่เง่าอย่างที่เคยได้รับในอดีต หรือที่ได้รับการจากการศึกษาในรูปแบบปกติ

ประการที่สองคือ เด็กได้เรียนรู้จิตใจของผู้อื่น เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้จักเอาใจเราไปใส่ใจเขา นั่นคือ empathy

ประการที่สามคือ เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง จากที่เคยมองตนเองว่าโง่และไม่เป็นที่ต้องการกลายเป็นมนุษย์คนใหม่ที่ไม่โง่ เป็นที่ต้องการ และสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย

พูดง่ายๆ ว่าเปิดพื้นที่ปฏิบัติการที่มีเสรีภาพทางปัญญาให้แก่เด็กๆ นี่คือวิธีพัฒนาคนสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หนึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือก หนึ่งเป็นสถานกักกัน แต่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นสากล

วิธีทำงานแบบโรงเรียนรุ่งอรุณและบ้านกาญจนาภิเษก เกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อสิ่งที่เรียกว่าความดี จริยธรรม และการศึกษา นั่นคือจิตวิวัฒน์สู่จิตสำนึกใหม่ หากเปลี่ยนได้แล้วที่เหลือก็ง่าย นั่นคือเพียงแค่ “เปิดพื้นที่” ให้แก่เด็กๆ และเยาวชน

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้จัดวงเสวนาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการ “บ่มเพาะความดี” เป็นเรื่องทำได้จริงและสังคมไทยไม่หมดหวัง

เหตุความแตกแยกของมนุษย์กับการเปลี่ยนผ่าน



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2552

หากเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี โดยเฉพาะในด้านของจิตวิทยาหรือของจิตแล้ว มนุษย์ – แม้ว่าจะมีร่างกายคล้ายๆ สัตว์โดยรูปร่าง – นั้น ไม่ใช่สัตว์อย่างแน่นอน เพราะมนุษย์มีจิตและวิวัฒนาการของจิตไปตามขั้นตอน (Spectrum of Consciousness) ดังที่เราเรียนรู้มาจากนักคิดนักปราชญ์หลายๆ คน เช่น โพลตินัส ศรีอรพินโท ฌอง เกบเซอร์ โดยเฉพาะ เคน วิลเบอร์ ฯลฯ ในเรื่องความรู้ทางจิตอย่างแทบเป็นเอกภาพ

มนุษย์สมัยแรกๆ จึงแยกตนเองออกจากแม่ (พ่อไม่เกี่ยว) และแยกออกจากธรรมชาติรอบตัวได้ยาก ค่อยๆ เรียนเป็นประสบการณ์ และจำ หรือสอน เรียนรู้กันมาเรื่อยๆ พร้อมๆ กับมีวิวัฒนาการทางกาย-จิตมาเรื่อยๆ เหมือนทารกที่ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น กายก่อน แล้วตามด้วยจิต จิตไร้สำนึกก่อน แล้วตามด้วยจิตใต้สำนึก หรือจิตรู้หรือจิตสำนึก ปัจเจกก่อน แล้วจึงถึงโดยรวม

การที่ผู้เขียนคิดว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์อย่างแน่นอนนั้น เป็นเพราะปู่ย่าตาทวด ไล่กลับไปถึงคนโบราณมองจิตไม่เห็น และการมองไม่เห็นนั้น คือ หนึ่ง ไม่มีจริง สอง อาจมี แต่ต้องมีอำนาจที่จะซ่อนตัวเองเป็นพิเศษ ได้แก่ พวกเทพเทวดา เจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหลาย หรือเป็นผีเป็นสางไปโน่น

ความแตกแยกกัน การรบราฆ่าฟันกัน หรือสงคราม คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อการเจริญเติบโตวิวัฒนาการเกิดความผิดปรกติ ของจิตที่เปลี่ยนไป ชะงักหรือถอยร่น (regress) ซึ่งความผิดปรกติของจิตที่ชักนำพฤติกรรมนั้น มักมีโอกาสมากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงกลับไปที่สัญชาตญาณ ซึ่งมีแต่การสืบพันธุ์ การกิน กับการอยู่ให้รอดปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดมีความรุนแรงของเวทนาและอารมณ์เป็นองค์ประกอบผลักดันที่สำคัญที่สุด สัตว์โลกรวมทั้งมนุษย์ จะจดจำเฉพาะเรื่องร้ายแรงหรือเจ็บปวดมากกว่าเรื่องดีๆ เพราะสัญชาตญาณเอาตัวรอดนี่แหละ

บทความดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเมืองบ้านเราตรงๆ แต่เป็นเรื่องของมนุษยชาติทั้งเผ่าพันธุ์ในปัจจุบัน ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ไม่มีทางที่ประชาโลกจะหันมาสมานฉันท์หรือสามัคคีกันได้ ยกเว้นสองประการ คือ หนึ่ง ประชาโลกเหลือน้อยกว่านี้มากๆ และอย่างกะทันหันทันที กับ สอง ประชาโลกที่เหลือ -ต้องเป็นส่วนที่ไม่น้อยนัก - จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตสู่จิตวิญญาณ (spirituality) สูงกว่านี้

บ้านเรานั้น นักการเมืองใหญ่มากๆ คนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จริงๆ ว่ารักชาติมากและเต็มไปด้วยความตั้งใจดีและบริสุทธิ์ ได้อาสามาประสานรอยร้าว ซึ่งจริงๆ แล้วคือความแตกแยกที่รุนแรงและยาวนานของประชาชนคนไทยชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้ในสมัยที่เมืองไทยยังมีคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่การแยกดินแดนของประชาชนใน ๔ จังหวัดภาคใต้สุดของเรา

โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า การประสานรอยร้าวความแตกแยกกันของคนไทยในครั้งนี้ คงไม่สำเร็จเพราะมูลเหตุปฐมไม่เหมือนกัน เพราะว่าความแตกแยกของประชาชนในโลกใบเดียวกันซึ่งกำลังเกิดขึ้น จะเกิดขึ้น และต้องเกิดในทุกๆ สถานที่ ทุกๆ ภูมิภาค ทุกๆ ทวีปของโลกในช่วงเวลาอันใกล้ - ไม่เกินสิบปี - ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ เศรษฐกิจ หรือเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรือวัฒนธรรม อันเป็นธรรมชาติง่ายๆ (ระดับล่างหรือตามที่ตาเห็น)

แต่ในความเห็นของผู้เขียนดังที่ได้เขียนมาตลอดว่า ธรรมชาติมีอยู่สองระดับ คือ ธรรมชาติระดับล่างหรือระดับสมอง ซึ่งเป็นระดับที่ตามองเห็นโดยไม่ต้องคิด เช่น ต้นไม้ ภูเขา ทะเล รวมถึงวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษเขียนด้วยเอ็นตัวเล็ก (nature) ส่วนธรรมชาติระดับบนที่ตามองไม่เห็น หรือรับรู้ทางชีววิทยากายภาพไม่ได้ แต่จะรับรู้ได้ด้วยจิตที่อยู่ภายในเท่านั้น คือ พระเจ้า เทพเทวดา เจ้าพ่อเจ้าแม่ (spirit) ไล่ตามกันมาตามลำดับ ภาษาอังกฤษเขียนด้วยเอ็นตัวใหญ่ (Nature)

ดังนั้น ในความเห็นของผู้เขียน มูลเหตุปฐมของความขัดแย้ง อันเป็นธรรมชาติระดับล่างที่เกิดขึ้นในทุกสถานที่ของโลกโดยไม่มีการยกเว้น เป็นเรื่องสัญชาตญาณของสัตว์เดรัจฉานที่มีอยู่ในคน เคน วิลเบอร์ เรียกว่าเป็นจิตพื้นฐานก่อนวิวัฒนาการด้วยซ้ำ (Ground Consciousness in Ken Wilber: Up From Eden, 1981) แต่มันยังไม่ได้คลี่ขยายหรือเบ่งบานถึงเขตสุด เพราะว่าช่วงเวลาของมันยังมาไม่ถึงและไม่มีวันจะมาถึง เหตุเพราะโลกและมนุษยชาติทั้งเผ่าพันธุ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ล้ำลึกแบบถอนรากถอนโคนไปก่อนแล้ว มนุษยโลกจะเหลือน้อยมากๆ ไปแล้ว และมีวิวัฒนาการทางจิตไปแล้วด้วย อย่างน้อยส่วนหนึ่ง

มูลเหตุความแตกแยกของคนทั้งโลกที่ผู้เขียนมองเห็น แต่ผู้อื่นอาจจะยุ่งมากจนไม่มีเวลาคิดจึงมองไม่เห็น คือ มนุษย์เรา – จากระดับจิตที่ยังมีวิวัฒนาการเพียงครึ่งทางอยู่ที่อัตตาตัวตนกับเหตุผล – ได้เอาอัตตาตัวตน (self) ทั้งหมดถอยร่น (regress) ไปผูกติดกับระบบต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมา และโครงสร้างธรรมชาติของสังคมหรือวัฒนธรรมที่ตาเห็น (ระดับล่าง) เพื่อการอยู่ให้รอด ในสภาพการณ์ที่เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจ จิตของเราที่คำนึงถึงความอยู่รอดเป็นอันดับแรก จึงดิ้นรนทุกวิถีทาง ใช้ทุกอย่างที่ผิดปรกติไปนั้นเพื่ออยู่รอดให้ได้ โดยระบบ คือระบบการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ส่วนโครงสร้างธรรมชาติ (ระดับล่าง) คือ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม

เราเอาอัตตาที่ถอยร่นไปยึดติด (identified) กับอีโก้ หรืออหังการของจิตที่ยังวิวัฒนาการไม่ถึงขั้น (ซึ่งผู้เขียนคิดและเขียนซ้ำๆ มาตลอดว่ามนุษยชาติ โดยธรรมชาติแล้วต้องมีวิวัฒนาการถึงขั้นจิตวิญญาณ ในระดับแรกๆ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีบ้างแล้ว คาดว่าจะมีถึงมวลอันวิกฤตเมื่อโลกธรรมชาติวิกฤตกว่านี้ – และเราในภาพรวม – เจ็บปวดมากกว่านี้ ราว ๔-๕ ปีข้างหน้า หรือปี ๒๐๑๓) ทั้งนี้และทั้งนั้น เพียงเพื่อแสดงว่า ธรรมชาติทั้งสองระดับนั้นสำคัญและจำเป็นที่สุด ส่วนความสามัคคีสมานฉันท์ที่เราผลิตสร้างสำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมรวมทั้งกฎหมายนั้น เมื่อมาถึงที่สุด เมื่อมาถึงปัจเจกบุคคลแล้ว การอยู่ได้รอดและปลอดภัย จะสำคัญและจำเป็นอย่างที่สุดโดยสัญชาตญาณ

แต่กาลเวลาไม่เคยถูกแช่แข็ง ทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่หยุดยั้ง รวมทั้งชีวิตของเราทุกคน ที่โดยรวมคือ วิวัฒนาการที่ไม่เคยเดินเป็นเส้นตรง เราอยู่ในช่วงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงสังคมกับระบบที่เราคิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของสังคมการเมืองหรือเศรษฐกิจอย่างลึกล้ำ รวมกับโครงสร้างอันเป็นการคัดเลือกของธรรมชาติ (ระดับล่าง) ที่หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมแยกส่วนอันเป็นความแปลกต่าง ซึ่งอาจจะกลายเป็นความแตกแยกได้หากเราไม่รู้และไม่เข้าใจตามที่ได้กล่าวมา

เราจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วทั่วทั้งโลก – โดยเฉพาะคนที่มีความเข้าใจอย่างล้ำลึกในแก่นแกนของพุทธศาสนาที่สอดคล้องต้องกันกับวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ หรือไปไกลยิ่งกว่านั้น ที่แทบจะไม่มีความเชื่อศรัทธาเท่าใดนัก มีแต่ตรรกะและเหตุผลโดยรวมที่พิสูจน์ได้ – นับต่อจากไปนี้ จะคิดและมีวิธีคิดแบบเก่าๆ เดิมๆ ตามนิสัยความเคยชินของเราไม่ได้อีกแล้ว ต้องมีความคิดและวิธีคิดใหม่บนหลักการใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม

แต่ทว่า ด้วยข้อจำกัดของเรา ด้วยความจำเจยาวนานของวิธีคิดของเราที่ไกลไปยิ่งกว่าสามัญสำนึก เราจึงคิดด้วยวิธีคิดใหม่บนหลักการใหม่ๆ ไม่ออกหรือไม่ได้ เพราะเหตุสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง วิธีการความรู้หรือการศึกษาของเราทั้งโลก ทำให้เราได้รับการศึกษากับข้อมูลความรู้ที่แยกส่วนหรือไม่สมบูรณ์ ผิดธรรมชาติขององค์รวม และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียวกันที่แยกออกจากกันไม่ได้ และ สอง การตีค่าตีราคาของสรรพสิ่งทั้งหลายแม้แต่จิตหรือจิตวิญญาณเองเป็นเงิน ได้สร้างคนให้เห็นแก่เงินเหนือสิ่งอื่นใด แม้ต้องทุจริตคอรัปชั่น และเพราะข้อมูลที่แยกส่วนไม่สมบูรณ์ กับการเห็นแก่เงินนั้นเอง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งแปลกต่างและความลำเอียง แล้วก่อให้เกิดความแตกแยกและสงครามขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อเราคิดแต่ “ตัวกูของกู” เอาตัวรอดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ

ผู้เขียนคิดว่า ช่วงเวลานี้ คือช่วงเวลาที่สำคัญต่อมนุษยชาติในภาพรวมยิ่งกว่าช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์เท่าที่ผู้เขียนเรียนรู้มา อาจจะกล่าวได้ว่า ศตวรรษนี้ – ในความเห็นส่วนตัว – เป็นช่วงเวลาปฏิวัติเปลี่ยนแปลง (transformation) ของตัวเองเป็นปัจเจก พร้อมกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวม นั่นคือเหตุผลที่ต้องมีชมรมจิตวิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อการก้าวย่างสู่กระบวนทัศน์ใหม่ที่มีจิตวิญญาณเป็นศูนย์กลาง หรืออีกนัยหนึ่ง คือช่วงเวลาที่จะตัดสินการอยู่รอด (เท่าที่เหลือ) และศักยภาพของความเป็นมนุษย์ “ผู้ประเสริฐ” เพื่อพิสูจน์ว่า ด้วยกระบวนการวิวัฒนาการของจักรวาล – ที่มีเพียงเป้าหมายเดียวเท่านั้น – มนุษยชาติและวิวัฒนาการทางจิตจะเป็นไปตามสเปคตรัมของจิตสู่จิตวิญญาณ (spirituality) และไล่สูงขึ้นไปจนถึงนิพพานอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของจักรวาลอย่างไร?

นั่นคือ มนุษยชาติกับจักรวาลจะต้องอยู่คู่กันเสมอ โดยอย่างหนึ่งอย่างใดจะขาดหายไปไม่ได้ ซึ่งตรงกับทางแควนตัมฟิสิกส์ข้อหนึ่งที่นักฟิสิกส์แห่งยุคใหม่ในปัจจุบันหลายคนเชื่อ (Anthropic Cosmological Principle) – ดังที่ เวสล่า ซิมมิก และโทเบียส โบดีน บรรณาธิการแห่งชิฟท์รายงานไว้ (The 2007 Shift Report: Evidence of a World Transforming) – โดยพูดว่า “กระบวนทัศน์ที่กำลังโผล่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ มีรากฐานมาจากวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) แห่งยุคใหม่ เท่าๆ กับได้รากฐานมาจากความรู้เร้นลับ (mysticism) ของศาสนาที่อุบัติขึ้นจากตะวันออก (เช่น พุทธศาสนาของเรา) ซึ่งทั้งฟิสิกส์ใหม่และความรู้เร้นลับต่างก็ให้ความจริงแท้หรือสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ หรือแม้แต่สาธารณชนทั่วไปหันมาสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน

เปิดหัวใจ เปิดพื้นที่



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2552

การมีโอกาสรับฟังเรื่องราวจากวิทยากรที่เชิญมาให้ความรู้กับวงจิตวิวัฒน์นั้นถือเป็นกุศลต่อการเสริมสร้างสติปัญญาให้ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งรับฟังเรื่องราวชีวิตของแต่ละท่านก็ยิ่งรู้สึกว่า การที่งานของหลายท่านก่อให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลต่อผู้คนในวงกว้าง และมีผลบวกในระยะยาวนั้น เกิดจากการที่ตัวตนของคนทำงานเล็กลง แต่หัวใจกลับเปิดกว้าง และเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนมากมายเข้ามามีส่วนร่วมกับความสำเร็จในการทำงานนั้น

อย่างไรก็ดี กว่าที่ฮีโร่ของเราทั้งหญิงชายเหล่านั้นจะพาตนเองเข้าไปสู่ภาวะการเปิดหัวใจ หรือเปิดพื้นที่ – นั้นดูเหมือนไม่ง่ายเลย

แม่ติ๋ว บ้านโฮมฮัก เมื่อพบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ในวัยที่อายุยังไม่ถึงห้าสิบปี และหอบสังขารหนีไปพักกายใจที่เสถียรธรรมสถาน เธอพบว่าตนเองกลัวตาย และที่กลัวยิ่งกว่าก็คือไม่มีคนดูแลเด็กที่บ้านโฮมฮักต่อ ซึ่งประกอบด้วยเด็กติดเชื้อเอชไอวี เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กถูกทำร้ายทุบตี ฯลฯ เมื่อรู้ว่าคนเก่งคนดีอย่างเธอก็ตายได้ หลังจากที่เยียวยาตนเองด้วยธรรมะและเมื่ออาการทางกายดีขึ้น เธอกลับไปที่บ้านโฮมฮัก และท่าทีในการทำงานก็เปลี่ยนไป

จากที่เคยคับแค้นใจว่า ทำไมเธอต้องทำงานอยู่คนเดียว ไม่มีใครเหลียวแลเด็กที่บ้านโฮมฮัก ถึงขนาดพาเด็กไปกินนอนประท้วงและอึฉี่ที่หน้าศาลากลางจังหวัด เธอสามารถยกมือไหว้ขอโทษผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ทั้งยังยินดีที่จะร่วมทำงานกับผู้คนหลากหลาย มองเห็นกุศลเจตนาของคนอื่นได้มากขึ้น แม้ว่าวิถีในการทำงานจะแตกต่างกันก็ตาม เธอยอมรับว่า สักวันเธอต้องตาย การที่คนอื่นได้มีโอกาสเข้ามาช่วยเหลือเด็กบ้านโฮมฮัก ไม่ว่าจะถูกใจเธอหรือไม่ ก็เป็นผลดีกับเด็กทั้งสิ้น

คุณพิมใจ อินทะมูลก็เช่นเดียวกัน หลังจากพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี แม้ว่าจะยอมรับสภาพได้ง่าย โดยเหตุที่เป็นคนร่างกายอ่อนแอ ป่วยกระเสาะกระแสะมาแต่เล็ก การที่พบว่าตนเองเป็นโรคร้ายและสังคมรังเกียจ กลับทำให้เธอเปลี่ยนแปลงชีวิตจากแม่บ้านธรรมดาไปสู่การรับใช้ผู้อื่น เธอทำนิคมผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มคนที่ไม่มีใครต้อนรับ รับทำงานฝีมือเพื่อหารายได้เลี้ยงชุมชน เยียวยาตนเองและชุมชนด้วยธรรมชาติบำบัด เพราะไม่มีปัญญาจ่ายค่าหมอค่ายา เธอทำให้เห็นว่า ๑๘ ปีของการเป็นผู้ติดเชื้อ ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยังมีความสุขความเบิกบาน และยังประโยชน์กับผู้อื่น

อย่างไรก็ดี เธอเคยสารภาพว่า การที่งานของเธอขยายตัวออกไปกว้างขวาง เธอก็เกิดกังวลขึ้นมาว่า ถ้าเธอตายแล้วจะเป็นอย่างไร? คำตอบที่ได้หลังจากนั้นก็คือ การทำงานในลักษณะที่มีความยั่งยืนขึ้น โครงการที่คิดและทำจะต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องมายึดติดกับบุคคลมาก เพราะฉะนั้นถ้าเธอจะตายไปไม่วันใดวันหนึ่ง งานก็น่าจะดำเนินต่อไปได้ หรือถ้าดำเนินต่อไปไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร

พวกเรา – คนหนุ่มสาวร่วมสมัย – มักจะคิดว่าตนเองทำงานเต็มที่แล้ว หากได้ทำในสิ่งที่ใช่ คือที่ชอบและเป็นประโยชน์ ก็พร้อมจะทุ่มเทพลังกายพลังใจลงไป แต่กลับปรากฏว่าการมุ่งผลสำเร็จของงานกลับทำให้ตัวตนใหญ่กว้าง ไม่แบ่งปันพื้นที่ให้คนอื่นได้เติบโต ตัวชี้วัดง่าย-ง่ายก็คือ หากคนเก่งคนดีทั้งหลายมองไปรอบกายแล้วมีแต่ผู้ร่วมงานไม่เก่ง คงต้องทบทวนกันอย่างจริงจัง ว่าทำไมทำงานมาตั้งนานตนเองถึงเก่งและดีอยู่คนเดียว? ที่สำคัญต้องตั้งคำถามว่างานนั้นเกิดประโยชน์ในวงกว้างจริงล่ะหรือ หากไม่มีคนทำงานด้านนี้เพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ปัญหาทุกวันนี้ก็ซับซ้อนมากขึ้นทุกที จะหวังพึ่งปัญญาเชิงเดี่ยว หรือฮีโร่เชิงเดี่ยวแบบโลกเก่า – นั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

อาจารย์ประเวศมักจะพูดเสมอว่า ให้หัดทำงานกันน้อย-น้อยแต่ได้ผลเยอะ นั่นคือ ถ้าหากงานนั้นมีคนทำอยู่แล้วก็คอยสนับสนุน อย่าไปแย่งคนอื่นทำ เราควรทำงานที่ยังไม่มีใครทำ บ้านเมืองจึงจะเคลื่อนตัวต่อไปข้างหน้าได้

ท่าทีเช่นนี้น่าประทับใจมาก สังคมไทยนอกเหนือจะต้องการอุเบกขา ความเมตตา ความกรุณาแล้ว ยังต้องการมุทิตาจิตอีกด้วย การที่มีคนทำเรื่องดีมีประโยชน์ หากยกย่องชื่นชมในวาระที่สมควร ถือเป็นเรื่องควรทำ และการมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ย่อมทำให้ไม่หวงความสำเร็จ งานดีมีประโยชน์ใครทำก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเรา

บางคนหรือบางองค์กรนั้นหวงความสำเร็จ เรื่องนั้นฉันก็ทำ เรื่องนี้ฉันก็ทำ เธออย่าทำเชียวนะ – กลัวคนอื่นจะประสบผลสำเร็จ – สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมก็รอจนเหงือกแห้ง กว่าคนดี-ดี หรือองค์กรดี-ดีนั้นจะทำงานเสร็จสักชิ้น เพราะไม่รู้จักการสร้างเครือข่าย ไม่เปิดพื้นที่ให้คนอื่นหรือองค์กรเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา และบางเรื่องตายแล้วเกิดใหม่อีกสักสองสามชาติก็อาจจะยังไม่สำเร็จ เป็นต้นว่า เรื่องการศึกษา เรื่องความเป็นธรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการสร้างสุขภาวะ ฯลฯ ดีไม่ดี คนทำงานก็อายุสั้นเกินควร ดูขงเบ้งเป็นตัวอย่างก็ได้ ตายตั้งแต่อายุเพียงห้าสิบสี่ ยังไม่ทันเกษียณอายุด้วยซ้ำไป

ในงานสานจิตรเสวนาที่ผ่านมา ก่อนเริ่มวงคุยจิตวิวัฒน์ มีเก้าอี้ว่างตั้งไว้ ๒ ตัว และมีผู้ “ฟัง” สองคน เดินขึ้นไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คุณศรชัย ฉัตรวิริยะชัย หนึ่งในสมาชิกจิตวิวัฒน์รุ่นเยาว์และข้าพเจ้าเห็นตรงกันว่า นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่ง เพราะเป็นเครื่องยืนยันว่า เมื่อมีการเปิดพื้นที่ สิ่งใหม่-ใหม่ก็เกิดขึ้นได้ และการเปิดพื้นที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อหัวใจได้เปิดออกแล้วอย่างจริง-จริง

จิตวิวัฒน์บนเวทีสานจิตรเสวนา



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2552

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จัดงาน “สานจิตรเสวนา: มหกรรมความรู้เพื่อการพัฒนาจิต ครั้งที่ ๒” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ กันยายน ๒๕๕๒ มีชั่วโมงเสวนาของขุมปัญญาด้านจิตวิญญาณของสังคมไทย ๔ รายการ ได้แก่ จิตวิญญาณในมุมมองสามศาสนา เสวนาพัฒนาจิตวิญญาณจากการทำงานในชีวิตประจำวัน เสวนาจิตตปัญญาศึกษา และเวทีจิตวิวัฒน์

หลังเวทีจิตวิวัฒน์ คุณนุกุล พลอยบุตร จากโรงพยาบาลเชียงม่วน บรรยายความรู้สึกที่ได้รับจากการนั่งฟัง เผยแพร่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เรื่อง “มหัศจรรย์ใจกับงานสานจิตรเสวนา” มีเนื้อหาน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อ

“ณัฐฬส วังวิญญู สมาชิกของกลุ่มจิตวิวัฒน์เล่าว่า จิตวิวัฒน์เป็นเหมือนเผ่าพันธุ์หนึ่ง นอกจากความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมพูดคุยทุกเดือนแล้ว ยังได้ความสัมพันธ์ ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ ทำให้มองเห็นความหวังในการแสวงหาความอยู่รอดของสังคม การค้นหาทางออกอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่การได้อยู่ร่วมกันอาจมีความหมายมากกว่า ประทับใจกับเรื่องราวของอาจารย์ประมวลที่เดินทางไกลด้วยเท้าจากเชียงใหม่ถึงสงขลา และการเดินทางในอินเดีย เรื่องเล่าจากอาจารย์ประมวลทำให้คิดถึงการทำงานใหญ่เพื่อแสวงหาคำตอบให้สังคม ในขณะเดียวกันก็อย่าละเลยการดูแลคนในครอบครัว”

“ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ เล่าว่า เป็นครูมาตลอดชีวิต ใช้ชีวิตอิงอยู่กับกรอบคิดและกฎเกณฑ์ของวิชาชีพครู ยึดเอาหลักการของวิชาครูมากำหนดตนเองนาน ๗๐ ปี จนกระทั่งมาพบกับจิตวิวัฒน์ แรกๆ เวลาเข้ากลุ่มแล้วได้ยินได้ฟังเรื่องราวอะไร จะดึงมาอิงกับทฤษฎีอยู่ตลอดเวลา กลับไปดูบันทึกเก่าๆ พบว่าเต็มไปด้วยทฤษฎี การเปลี่ยนแปลงของตนเองจะเป็นไปในลักษณะ transformation คือ ค่อยๆ เปลี่ยนความคิด ความรู้สึก วิธีฟัง คิด ไม่ด่วนตัดสิน เพราะอาจารย์ประสานสอนว่า อะไรที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ มันก็ยังมีอยู่

อาจารย์เล่าว่าได้เรียนรู้ตนเองมากกว่าเดิม กรงที่ขังตนเองไว้เริ่มหลุดไปทีละซี่ ยิ่งได้คุยกับคนหนุ่มสาว ยิ่งทำให้กรงขังหลุดมากขึ้นๆ มารู้อีกทีเมื่อรู้ว่าตนเองหลุดออกจากกรงขังแล้ว คนยึดทฤษฎีไม่มีความสุข ชีวิตต้องอยู่เหนือการยึดติด ทำให้เรามีเสรีภาพ เมื่อมีเสรีภาพทำให้อาจารย์สามารถเขียนนวนิยายได้ จากที่แต่เดิมเขียนได้เพียงสารคดี

อาจารย์พบจิตสำนึกใหม่ที่ทำให้มีกำลังใจที่จะทำงานกับคนที่คิดแบบเดิมๆ มีเมตตา นำไปสู่การปฏิวัติการศึกษาในตนเอง เพราะการศึกษาจะไปไม่รอดถ้าเรายึดวิธีสอนแบบเดิมๆ และการคิดใหม่ทำใหม่ทำอย่างไร”

“ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน เล่าว่าช่วงแรกของการทำงานกับ สสส. อาจารย์ทำการวิจัยด้านจิตวิญญาณ การเริ่มต้นด้วยความไม่รู้เป็นการเปิดมิติการเรียนรู้ที่ใหญ่มาก ทำงานโดยไม่มีอะไรมาครอบ เรียนรู้จากคนที่เราเชื่อว่าเขามีจิตวิญญาณอยู่ในตัว อาจารย์เปลี่ยนจากนักวิชาการที่อิงหลักวิชาการ ยึดติดกับทฤษฎี ไปเป็นคนธรรมดามากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น การเข้าไปในจิตวิวัฒน์บางช่วงทำให้รู้สึกว่าเราเป็นเด็กไม่รู้อะไรเลย ฟังผู้ใหญ่และเด็กๆ พูด รู้สึกว่า ทำไมเราไม่รู้ บางช่วงรู้สึกว่าเราเป็นผู้รับ บางช่วงเป็นผู้ให้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนธรรมดามากขึ้น”

“ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย เล่าว่า ๒ ปีของการเข้าร่วมวง เริ่มต้นจากถูกชักชวนให้อ่านหนังสือ ๓ เล่ม แล้วนำไปเล่าในวงจิตวิวัฒน์ วันที่ไปเล่ามีแต่อาจารย์ผู้ใหญ่ รู้สึกว่าท่านตั้งใจฟังเรามาก รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากกลุ่มจิตวิวัฒน์ เพราะในกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นหมอ ขณะที่ตนเองเรียนด้านวิศวะ แต่บอกตนเองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ค่อยๆ ซึมซับไป รู้สึกว่าเป็นกลุ่มที่น่ารัก อาจารย์ผู้ใหญ่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่รู้ เห็นอาจารย์หมอประสาน อาจารย์ประเวศพูดคุยกันเหมือนเป็นเด็กๆ และประทับใจกับหลายเรื่องเล่าของผู้ที่ทำประโยชน์ให้สังคม”

“จารุพรรณ กุลดิลก เล่าว่าเรื่องเล่าในวงมีพลัง อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู จะนำ Dialogue มาใช้มากในการสนทนา เวลานั่งฟังอยู่ในวงก็จะยิ้ม ฟังแล้วได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ ฟังแล้วเห็นจิตวิญญาณของคนเล่า”

“อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ สนใจจักรวาล ศาสนา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม มักคิดแต่เรื่องใหญ่ๆ มองแต่เรื่องใหญ่ๆ การเรียนรู้ในจิตวิวัฒน์เป็นการเรียนในกลุ่มเล็กๆ เรื่องของการเสียสละ เรื่องเล่ากระตุ้นเร้าให้ทำสิ่งที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน”

“นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เล่าเรื่องการเชิญคนที่ทำงานเพื่อสังคมมาเล่า เช่น คนทำงานกับมูลนิธิฉือจี้ ที่เดินบนเส้นทางของพระโพธิสัตว์ เรื่องเล่าของ พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ที่ได้ใช้ศิลปะในการดูแลคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็ง เรื่องเล่าในวงมักเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ตนเองทำ แต่จิตวิญญาณที่ทำอยู่ยิ่งใหญ่ไพศาล เคารพชีวิตด้านในตลอดเวลา อาจารย์มีโครงการเชิญชวนให้พวกเราเขียนเรื่องที่ได้เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจจากการได้เรียนรู้กับจิตวิวัฒน์ แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟังออกมา”

“นพ.สกล สิงหะ เดิมเป็นครูที่คิดว่ามีหน้าที่เพียงถ่ายทอดเนื้อหาซึ่งมีมาก แต่หลังๆ อาจารย์เปลี่ยนวิธีเรียนวิธีสอนนักศึกษาแพทย์ โดยให้พวกเขาเล่าว่ารู้สึกอย่างไร ไม่มีผิดถูก พบว่านักศึกษามีความสุขมากขึ้น การเป็นครูไม่ได้มีหน้าที่ในการสอนเนื้อหาอะไรมากมาย เพียงแต่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง อาจารย์ขยายความต่อว่า ถ้าเราพยายามขอบคุณทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่การฟังเรื่องราวต่างๆ การมีชีวิตโดยใช้วิธีขอบคุณ ขวนขวายที่จะขอบคุณทุกสิ่ง จะทำให้เรามองงานเปลี่ยนไป”

คุณนุกุลปิดท้ายว่า การได้รับฟังเวทีจิตวิวัฒน์เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เกิดความรู้สึกเป็นสุข อิ่มเอม และเกิดกำลังใจเกิดแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นอย่างบอกไม่ถูก การได้พบ ได้ฟัง ได้เห็นครูบาอาจารย์มาตั้งวงนั่งพูด นั่งคุยกัน เห็นความงามของการสนทนา รู้สึกถึงมิตรภาพที่คนต่างรุ่นมอบให้กันและกันด้วยความรัก ประทับใจกับหลากหลายเรื่องเล่าของการเปลี่ยนแปลงตนเองจากครูบาอาจารย์ จนตัวเองรู้สึกมหัศจรรย์ใจไปกับคุณภาพของการฟังเรื่องเล่าดีๆ

จิตวิวัฒน์มิใช่เรื่องลึกลับ แค่ชวนให้เรามาพูดคุย ฟังจากใจ ไม่ตัดสิน ไม่ด่วนสรุป เพียงเท่านี้ก็จะเกิดการพัฒนาจิตขึ้นได้

วิถีแห่งจิตวิวัฒน์



โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กันยายน 2552

เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ศกนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสานจิตรเสวนา ในการประชุมมหกรรมความรู้การพัฒนาจิต ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

น่าปลื้มใจที่มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก หลังจากที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้แสดงปาฐกถานำ ที่กระตุ้นความคิดให้รักการสืบค้น แสวงหาความจริงเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจและทางปัญญาแล้ว สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้สนทนากันในรูปแบบการอภิปรายที่ผู้ฟังมีส่วนร่วมอย่างมาก

ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ดำเนินการสนทนา ได้ให้ผู้เขียนตอบคำถามสั้นๆ ว่า การร่วมกิจกรรมจิตวิวัฒน์มาโดยตลอดนั้น ผู้เขียนได้รับประโยชน์อะไร และมีความประทับใจวิทยากรคนใดบ้าง

ข้อความต่อไปนี้คือคำตอบที่ได้เขียนเตรียมไว้ แต่มิได้นำขึ้นไปพูดบนเวที เพราะธรรมชาติการสนทนาของกลุ่มจิตวิวัฒน์นั้น เราฟังคนอื่นพูด เราพูดสิ่งที่เราคิด ไม่ใช่พูดสิ่งที่เราเขียน เราฟังด้วยใจและไตร่ตรอง และเราพูดจากใจ เราอาจจะบันทึกบางสิ่งไว้เฉพาะที่ประทับใจ และอยากแสดงปฏิกิริยาตอบสนอง ในการเสวนาแต่ละครั้ง ผู้เขียนจึงมีบันทึกของตนเองไว้คิดทบทวน สรุปได้ดังนี้

๑. วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ คือการลดอัตตาตัวตน ทำจิตให้ว่างปลอดโปร่ง สบาย พร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับการเสวนา ตั้งใจฟัง ฟังแล้วคิดพิจารณา คิดก่อนพูด พูดแล้วหัดคิดทบทวนสิ่งที่ได้พูดไป หลายปีที่ได้ฝึกการลดตัวตน ผู้เขียนค่อยๆ เรียนรู้ว่า การแบกเอาความถือตนว่ามีความรู้ เป็นนักวิชาการที่ผู้คนยกย่องนั้น ไม่ถูกต้อง การเป็นคนสามัญธรรมดา การอ่อนน้อมถ่อมตนในทุกสถานต่างหากที่ทำให้จิตและความคิดเปิดกว้าง และสามารถน้อมรับความคิดที่แตกต่างได้ดี

๒. วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ เป็นการฝึกจิตให้น้อมลงสู่การยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน ผู้เขียนนั้นอยู่ในวัยชราแล้ว ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ถูกฝึกให้อยู่ในกรอบและกฎเกณฑ์ และมักจะตีตราตนเองว่าเป็น “ผู้ใหญ่” หลายครั้งที่ทุกข์ใจว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ เหตุใดจึงเพ้อผัน ไม่มีเหตุผล ทำตัวเหลวไหล คิดอะไรประหลาดๆ ผู้เขียนโชคดีที่ได้มาฝึกตนในกลุ่มจิตวิวัฒน์ ได้พบคนหนุ่มสาวที่มีความคิดดีๆ มีความรู้ในสิ่งใหม่ๆ มากกว่าผู้เขียนจริงๆ ผู้เขียนเริ่มมีมุมมองใหม่ ลองค้นหาความฉลาดรู้และวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ผู้เขียนพบว่าสังคมไทยยังมีหวัง ซี่กรงที่กักขังความคิดเริ่มหลุดลงไป การยึดกรอบกฎเกณฑ์ตามความเคยชินเริ่มลดลง เปิดรับความคิดและความรู้ที่เป็นทางเลือกมากขึ้น เกิดความรักและความเมตตาต่อคนรุ่นใหม่ มีความสุขที่ได้ทำงานด้วยกัน

๓. ได้เห็นแบบอย่างที่ดีของการฝึกตน การเสวนาในกลุ่มจิตวิวัฒน์ มีการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตด้านต่างๆ มานำการสนทนา สมาชิกของกลุ่มได้เห็นแบบอย่างทางบุคลิกภาพ วิธีคิด ความรู้จริงจากการปฏิบัติจริง เหตุการณ์ที่ชักนำให้ต้องพัฒนาตัวเอง ฯลฯ ของวิทยากร เป็นบทเรียนที่ผู้เขียนได้เรียนรู้แต่ละครั้ง ตลอด ๗๑ ครั้งที่ผ่านมา เช่น วิศิษฐ์ วังวิญญู ที่พูดถึง “การเขียนโลกใบใหม่” ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ สนทนาเรื่อง “จังหวะหัวใจ จังหวะชีวิต จังหวะแผ่นดิน” กลุ่มภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม แนะนำ “สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน” ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ เล่าเรื่อง “การเดินทางสูความเป็นมนุษย์ที่แท้” ความรู้และประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับ แล้วนำมาฝึกฝนตนเองนั้น เป็นความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่หาไม่ได้จากตำราใดๆ

๔. วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ ช่วยสร้างแนวคิดใหม่ของการเรียนรู้ ผู้เขียนได้พบวิธีการเรียนรู้ใหม่ คือการผสมผสานการเรียนรู้ภายในตน กับการไขว่คว้าหาความรู้สำเร็จรูปจากภายนอก เป็นการเรียนรู้ชีวิตและจิตใจตนเอง ควบคู่ไปกับการรู้วิชาและศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ เรื่องจักรวาล และควอนตัมฟิสิกส์ เรื่องภาวนาเพื่อสัมผัสชีวิตด้านใน (ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต) เรื่องความเงียบ ศิลปะบำบัด มองรอบทิศมนุษยนิยม ผู้เขียนพบว่า กระบวนการเรียนรู้นั้น นอกจากมีวิธีการต่างๆ แบบที่เคยทำมาแล้ว ยังมีการเรียนรู้ด้วยใจที่เกิดจากการเล่าเรื่อง การฟังอย่างลึกซึ้ง กิจกรรมสุนทรียสนทนา การฝึกคิดเชิงบวก และการซักถามอย่างชื่นชมในบรรยากาศที่เป็นมิตร

๕. ในวิถีแห่งจิตวิวัฒน์ ผู้เขียนพบว่า ทุกครั้งที่ได้ฟังการเล่าเรื่องจากวิทยากร ผู้เขียนได้ฝึกเชื่อมโยงความรู้ที่ผุดขึ้นในใจ กับถ้อยคำที่วิทยากรกำลังพูด เมื่อเขาพูดจบ ผู้เขียนได้จดบันทึกความรู้ที่บังเกิดขึ้นไว้เตือนตนเองอยู่เสมอ ดังจะขอยกตัวอย่าง เมื่อได้ฟัง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เล่าเรื่อง “การต่อสู้ภายในเพื่อชัยชนะทางจิตวิญญาณ” ซึ่งเล่าว่า ประสบการณ์ที่เขาได้ผ่านพบ เขาฝึกตนที่จะไม่ผูกพัน เขาได้เข้าใจอำนาจของความว่าง และความว่างของอำนาจ ตัวตนดั้งเดิมกับตัวตนใหม่ของเสกสรรค์ ได้เปลี่ยนแปลง (transform) จากที่เคยมีอัตตาสูง เผชิญเหตุการณ์ด้วยความทุกข์ มาสู่ความว่าง จนตัวตนเล็กลง วางความยึดเหนี่ยว (attachment) จนไม่มีเสกสรรค์อีกต่อไป

เมื่อจบการสนทนา ผู้เขียนได้บันทึกทันที และอ่านให้ ดร.เสกสรรค์ ฟังดังนี้

¤ เสกสรรค์ในความทรงจำ

เหมือนน้ำคือคลื่นซัดหาย

บัดนี้เธอเตรียมตัวตาย

ยากง่ายดีชั่วตัวเอง

หยุดยั้งความเป็นวีรชน

ตัวตนแห่งความกล้าเก่ง

ข้ามพ้นความฝันหวั่นเกรง

ตามกรรมบทเพลงชีวิต

ยามลงหยั่งลึกตรึกล้ำ

ตอกย้ำตัวต้องครองสิทธิ์

แท้จริงหาใช่ความคิด

ยึดติดจับจองของเรา

ท้ายสุดคือความรู้แจ้ง

โต้แย้งสิ่งสอนก่อนเก่า

สู่ความปลอดโปร่งโล่งเบา

ว่างเปล่าจึงเต็มเข้มคม

เสกสรรค์ไม่ยึดเสกสรรค์

จึงมีชีวันสุขสม

ตัวตนที่เห็นเป็นปม

กลับสลายปานสายลมสู่เสรี
ประสบการณ์จากกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้เปลี่ยนแปลงผู้เขียนทีละน้อย จากความคิดติดกรอบของการศึกษาไปสู่ความคิดของการศึกษาทางเลือก และการสร้างแนวทางใหม่ของการเรียนรู้ภายในตนผสมผสานกับความรู้ที่มีอยู่รอบตัว

ผู้เขียนค้นพบว่า ความสุขที่แท้มีอยู่ในคนที่ไม่ยึดติดกับอำนาจและเงินตรา ความเป็นคนธรรมดาสามัญนั้นดีที่สุด การเรียนรู้เพื่อพัฒนากายและพัฒนาจิต เป็นการศึกษาที่ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เรียนด้วยตนเอง เรียนจากธรรมชาติ เรียนกับกัลยาณมิตร เรียนโดยการประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ

กลุ่มจิตวิวัฒน์เกิดขึ้นด้วยการก่อตัว มิใช่ด้วยการจัดตั้งและสั่งการ มีหลักแต่ไม่กำหนดกรอบ สมาชิกกลุ่มมารวมตัวกันอย่างสมัครใจ ท่ามกลางความเป็นมิตรและความปรารถนาดีต่อสังคม เป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้เกิดพลังเพิ่มพูนขึ้นในการสร้างสุขภาวะให้แก่ตนเองและแก่บ้านเมือง

ใครๆ ก็เรียนรู้เพื่อจิตวิวัฒน์ได้ ไม่มีการกำหนดสถานภาพ อายุ วุฒิ ใดๆ ขอแต่เพียงเป็นมนุษย์ที่ใฝ่ฝึกฝนตนเอง ไม่เล็งผลเลิศ ไม่หวังผลรวดเร็ว เพราะการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อีกทั้งไม่มีต้นแบบสำเร็จรูปตายตัว

บทความนี้ส่งท้ายด้วยคำบรรยายของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ในงานสานจิตรเสนาว่า

จิตวิวัฒน์ทำให้เกิดสุข

เป็นความสุขที่ราคาถูก – happiness at low cost

เมื่อราคาถูกจึงเป็นไปได้สำหรับทุกคน

ทลายกำแพง (ในใจ) ลง



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กันยายน 2552

ผู้เขียนอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหน้าแรก ฉบับวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ว่า “จนท.สังคมสงเคราะห์ ปลอบโยน ด.ญ.วันเพ็ญ แซ่เล้า อายุ ๑๒ ปี ที่ปล่อยโฮเป็นที่น่าเวทนา โดยมีน้องสาววัย ๒ ขวบ นั่งดูดนมดูอย่างไร้เดียงสา หลัง ๒ พี่น้องถูกพ่อแม่ทิ้งไว้ในบ้านเช่าใน อ.วังน้อย” ภาพเด็ก ๒ คน ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงภาพในอดีตครั้งผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกในประเทศเยอรมนี วันหนึ่งในขณะที่กำลังนั่งรับประทานอาหารกับเพื่อนรุ่นพี่อีก ๒ คน มีผู้หญิงไทยคนหนึ่งเดินโซซัดโซเซเมาสุรามาทรุดกายลงที่โต๊ะที่เรานั่ง ร่างของเธอผอมแห้ง หนังหุ้มกระดูก แต่งกายไม่เรียบร้อย ไม่ได้รูดซิปกางเกง พวกเรารู้ได้จากลักษณะภายนอกทันทีว่า เธอประกอบอาชีพขายบริการและกำลังป่วยเป็นโรคเอดส์ เสียงของเธอแหบแห้งและพร่ำพรรณนาวนไปวนมาเกี่ยวกับลูกของเธอ “เด็กลูกครึ่งมันน่ารักจริง ๆ คนโตมันอายุ ๑๒ ไอ้คนเล็ก ๕ ขวบ...เนี่ย...ก็ปล่อยให้มันอยู่กันเอง วันๆ มันก็กินสปาเก็ตตี้กับซอสมะเขือเทศเปล่าๆ...วันนี้ไอ้คนโตบอกไม่ให้ฉันมาทำงาน...มันร้องไห้ บอกว่า แม่จ๋า...อย่าไปทำงานเลยนะ พวกเราคิดถึงแม่ อยู่กับพวกเราเถอะนะ ไม่ต้องไปทำงานแล้วนะ” เธอพยายามลุกขึ้นยืน แต่ก็หมดเรี่ยวแรงล้มตัวลงมาทับผู้เขียน ทิ้งน้ำหนักตัวทั้งหมดลงมา เนื้อตัวเธอเปียกเหนอะหนะ ไม่รู้ว่าเหนอะหนะจากอะไร ผู้เขียนเห็นความกลัวข้างในตัวเองอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่สตรีผู้นี้พูดถึงลูกๆ ของเธอนั้น ยิ่งน่าเศร้าใจกว่า จนผู้เขียนอดร้องไห้ออกมาไม่ได้

เรื่องราวเหล่านี้ในเยอรมนีมีมากมายจนผู้เขียนแทบสำลัก และเกิดคำถามในใจมากมาย หน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กมีมากมาย แต่ก็ช่วยได้ไม่ทั่วถึง หากมองเรื่องนี้อย่างผิวเผิน อาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นพิษผลจากวัตถุนิยมบริโภคนิยมเพียงอย่างเดียว ที่ทำให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย แต่เมื่อศึกษาไปจริงๆ จะพบว่าหลายกรณีเหลือเกินที่คนเหล่านี้สมัครใจย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศไทยไปเอง แม้จะต้องไปเผชิญกับชีวิตสารพัดรูปแบบในต่างแดน แม้จะผิดกฎหมายเป็นที่ดูถูกดูแคลน เป็นที่รังเกียจของต่างชาติก็ยอม มากกว่าจะที่อยู่ในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมเดิมที่กดดันและปิดโอกาสในชีวิต

ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นฐานเช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงปรากฏการณ์การหนีของคนจากเยอรมนีตะวันออกเข้าสู่เยอรมนีตะวันตก โดยลักลอบผ่านกำแพงเบอร์ลิน เข้าสู่บริเวณของเบอร์ลินตะวันตก ซึ่งเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ที่มีกำแพงล้อมรอบไว้ท่ามกลางพื้นที่ของเยอรมนีตะวันออกทั้งหมด

ในปี ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ดินแดนทั้งหมดของเยอรมนีได้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เพื่อเป็นสินชดเชยสงครามให้ฝ่ายเสรีนิยม (อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ) และฝ่ายคอมมิวนิสต์ (รัสเซีย) เมืองเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจึงถูกแบ่งด้วย แต่ทว่า เมืองเบอร์ลินทั้งเมืองอยู่ในอาณาบริเวณของเยอรมนีตะวันออก ดังนั้นพื้นที่ที่ตกเป็นของอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ จึงเป็นเสมือนเกาะเล็ก ๆ อยู่ใจกลางเยอรมนีตะวันออก ในตอนแรกยังไม่มีกำแพงใด ๆ กั้นเขตระหว่างตะวันออกและตะวันตก แต่ผ่านไป เกิดเหตุการณ์ที่คนเริ่มย้ายสำมะโนครัวออกจากเยอรมนีตะวันออกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจุดหนึ่งที่คนย้ายถิ่นฐานมามากที่สุดคือเบอร์ลินตะวันตก จนกระทั่งรัฐบาลฝ่ายรัสเซียต้องประกาศมาตรการห้ามย้าย และทำการกั้นรั้วลวดหนามขึ้นทันทีทันใดในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ เพื่อไม่ให้คนเดินทางอีกต่อไป และในที่สุดได้เกิดสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิด คือมีการสร้างกำแพงขึ้นสูงประมาณ ๓ เมตร ความยาวประมาณ ๑๕๖ กิโลเมตร ล้อมรอบเบอร์ลินตะวันตกไว้ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบหนีเข้าเบอร์ลินตะวันตกได้โดยง่าย มีรถถังและทหารผลัดเปลี่ยนเวรยามอย่างเข้มงวดตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ยังมีคนหนีข้ามผ่านกำแพงเบอร์ลินอยู่อย่างต่อเนื่อง ยอมเสี่ยงตายสละชีวิต มากถึง ๕,๐๐๐ ครั้ง ตลอดระยะเวลา ๒๘ ปี เรียกว่า หนีกันวันเว้นวัน และมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนต่อคนทั้งโลกว่า เมื่อระบบ ๒ ระบบได้ประจันหน้ากันอยู่ที่กำแพงเบอร์ลิน ระบบหนึ่งเป็น “ระบบปิด” อีกระบบหนึ่งเป็น “ระบบเปิด” ผู้คนเลือกที่จะอยู่ภายใต้การปกครองแบบระบบเปิด ซึ่งให้ความสำคัญกับ “ความเป็นสมาชิก” ของคน และคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างจริงจัง สามารถมีส่วนร่วมในการปกครอง ไม่ใช่การกำหนดนโยบายมากจากคนกลุ่มเล็ก ๆ จากชนชั้นปกครองอย่างเช่นเผด็จการทหารในเยอรมนีตะวันออก และถึงแม้ฝ่ายปกครองจะประชาสัมพันธ์ถึงคุณธรรมจริยธรรมในระบบมากมายเพียงใด แต่ก็ยังตอบโจทย์ไม่ได้ว่า ทำไมต้องมีทหารถือปืน มีรถถังคอยกำกับ และเข่นฆ่าคนที่หนีออกจากระบอบที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

จนในที่สุด รัฐบาลรัสเซียต้องยอมรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเปิดกำแพงเบอร์ลินในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ประโยคที่โด่งดังมากไปทั่วโลก คือประโยคที่ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวต่อประธานาธิบดี มิคาเอล กอร์บาชอฟ ของรัสเซียว่า “Tear down this wall (จงทลายกำแพงนี้ลง)” นั่นหมายถึง จงทลายกำแพงในใจคุณลง และยอมเปิดรับหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมเสมอภาค เช่นเดียวกันกับคนทั้งโลก

ถึงแม้ในขณะนั้นเยอรมนีตะวันตกจะเป็นประเทศที่มีสภาพสังคม เศรษฐกิจที่แข็งแรง แต่ภายหลังกำแพงเปิด การฟื้นฟูเยอรมนีตะวันออกเป็นไปอย่างเชื่องช้า และใช้เวลาถึง ๒๐ ปี ในการบูรณะประเทศฟากที่เคยปกครองโดยทหาร อย่างไรก็ตาม ได้ทำให้ทั้งโลกได้เรียนรู้ร่วมไปด้วย ถึงสภาพความเป็นอยู่ของคน ๒ ฟาก ที่ห่างกันไม่ถึง ๑ กิโลเมตร ว่าสภาพบ้านเมืองมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บ้านเมืองที่ปกครองโดยการรัฐประหารหรืออำนาจในระบบปิด มีความบอบช้ำทรุดโทรมมาก คนยากจน มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้คือ ความรุนแรงของกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่คลั่งชาติ นีโอนาซี ที่คอยดักทำร้ายชาวต่างชาติ

แต่ถึงแม้เยอรมนีจะมีปัญหานีโอนาซี แต่คนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นโปแลนด์ ตุรกี ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งคนเอเชียที่พบเห็นได้มากมาย ก็ยังคงย้ายถิ่นฐานมาอยู่เยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ การมองแต่เพียงว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของบริโภคนิยม จึงอาจไม่ใช่เหตุผลที่ครอบคลุมหรือดีนักในการนำมาอธิบาย ทว่าการย้ายถิ่นฐานไปยอมตกระกำลำบากที่เยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับกำแพงเบอร์ลินหรือไม่? เป็นการขยายวงกว้างของตัวกำแพงที่มองไม่เห็นที่มีอยู่ทั่วโลกหรือไม่?

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเชื่อเรื่องวิวัฒนาการของคน เชื่อว่าคนทั้งหมดจะเรียนรู้และมีพัฒนาการ จนเกิดดุลยภาพและสันติภาพในการอยู่ร่วมระหว่างคนด้วยกัน ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม และระหว่างคนกับจักรวาลเป็นลำดับไป ผู้เขียนเชื่อว่าหากเรามองโลกอย่างมีที่มาที่ไป จะพบว่าคนได้ผ่านความทุกข์ยาก และบาดเจ็บล้มตายกรุยทางให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันมามาก มีความจริงที่ปรากฏชัด มีบทเรียนที่มนุษยชาติสูญเสียร่วมกันอย่างใหญ่หลวง และผ่านการตระหนักรู้ร่วมกันมากมาย ไม่ว่าจะมีกำแพงสูงและกว้างใหญ่ไพศาลเพียงใด ก็ไม่สามารถยับยั้งธรรมชาติของวิวัฒนาการมนุษย์ที่ทะลุทะลวงกำแพงเหล่านั้นได้ ทว่าผู้ที่กำแพงในใจเปิดได้ทันเวลาอย่างประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ และกลายเป็นวีรบุรุษในใจของคนเยอรมนีตลอดกาลนั้น จะเหลือบนโลกอยู่สักกี่คนหรือ? คำตอบของเรื่องนี้ อาจอยู่แต่ในสายลม...

Back to Top