ธันวาคม 2009

เดินสู้ทุกข์ สุขสวนกระแส



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2552

เสียงกลองดังเป็นจังหวะขณะที่ผู้คนกว่า ๓๐๐ คนเดินฝ่าแดดร้อนเปรี้ยงไปบนถนนลาดยาง แถวหน้าเป็นพระภิกษุ ตามมาด้วยแม่ชี และฆราวาสซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก อายุลดหลั่นตั้งแต่ ๗๔ ปีไปจนถึง ๖ ขวบ จากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ต่างถือธงทิวและป้ายผ้าหลากสี บางข้อความเขียนว่า “แผ่นดินล้มป่วย แม่น้ำร้องไห้”

เมื่อถึงฤดูหนาวของทุกปี คณะธรรมยาตราจะเคลื่อนขบวนไปตามลุ่มน้ำลำปะทาว ซึ่งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ โดยแวะพักตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอด ๗ คืน ๘ วัน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงอันตรายที่กำลังเกิดกับป่าเขาลำห้วยและผืนดิน และช่วยกันแสวงหาทางเลือกใหม่เพื่อให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกันได้

ขบวนธรรมยาตราไม่ได้เดินเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติภายนอกเท่านั้น หากยังมุ่งฟื้นฟูธรรมชาติภายในใจของผู้เดินด้วย ดังนั้นในขณะที่รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ก็เชิญชวนให้ทุกคนเดินด้วยความสงบและอย่างมีสติ เพื่อดูใจของตัวเองไปด้วยขณะที่ถูกแดดแผดเผาหรือร่างกายเหนื่อยอ่อน

ธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาวทำต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๐แล้ว ครั้งนี้จึงจัดเป็นพิเศษด้วยการชูประเด็น “เดินทวนกระแส” คือแทนที่จะเดินล่องมาตามลำน้ำดังปีก่อนๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นเดินทวนกระแสน้ำ โดยเริ่มต้นจากตัวเมืองชัยภูมิและไปสุดที่ภูหลงซึ่งเป็นต้นน้ำลำปะทาว ระยะทางกว่า ๙๐ กิโลเมตร

เดินทวนกระแสน้ำหมายถึงการเดินจากที่ต่ำสู่ที่สูง จากพื้นราบสู่ภูเขา แน่นอนว่าย่อมเหนื่อยกว่าเดินตามน้ำ ธรรมดาของคนเราย่อมชอบความสบายอยู่แล้ว การเดินทวนน้ำจึงเป็นการทวนนิสัยหรือความเคยชินของคนเรา ใช่แต่เท่านั้น ยิ่งขึ้นสูง ยิ่งไกลจากเมือง ความสะดวกสบายก็ยิ่งน้อยลง ทางกันดาร อาหารไม่ถูกปาก ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย ไม่ถูกกับรสนิยมของกิเลสเอาเสียเลย การเดินทวนน้ำจึงเป็นการเดินทวนกิเลสไปด้วยในตัว

สำหรับคนที่นั่งรถเป็นชีวิตจิตใจ ธรรมยาตราถือว่าเป็นการเดินเข้าหาทุกข์โดยแท้ เพราะนอกจากทางจะไกล แดดจะร้อนแล้ว เส้นทางบางจุดยังวิบาก มิหนำซ้ำบางคนถอดหมวกไม่พอยังถอดรองเท้าเดินอีก ทำไมถึงต้องทำตัวให้ลำบากอย่างนั้น ตอบอย่างสั้นๆ ก็คือ ถ้าไม่เจอทุกข์ก็ไม่ถึงธรรม ถ้าอยากเห็นธรรมก็ต้องไม่กลัวทุกข์

ปกติเมื่อเราเจอทุกข์เรามักหาทางหนีทุกข์ หรือไม่ก็พยายามขจัดทุกข์นั้นให้หมดไป เช่น ถ้าร้อนก็หลบเข้าร่ม หาไม่ก็เปิดพัดลมหรือติดแอร์ ในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก ผู้คนหันมาแก้ทุกข์ด้วยสิ่งเหล่านี้กันอย่างพร่ำเพรื่อ จนขาดมันไม่ได้ กลายเป็นทาสของเทคโนโลยีและเสพติดความสะดวกสบาย ผลก็คือเกิดทัศนคติว่าวัตถุสิ่งเสพเท่านั้นที่จะให้ความสุขแก่เราได้ ดังนั้นจึงลุ่มหลงกับกระแสบริโภคนิยม เงินกลายมาเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิต เพราะถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีวัตถุสิ่งเสพ ไม่มีวัตถุสิ่งเสพก็ไม่มีความสุข

การหนีทุกข์หรือขจัดทุกข์ด้วยวัตถุสิ่งเสพจนเป็นนิสัย ทำให้เราละเลยที่จะแก้ทุกข์ที่ใจของเรา เราคิดแต่จะจัดการสิ่งภายนอก จนลืมที่จะจัดการกับใจของเรา ทั้งๆ ที่สุขหรือทุกข์นั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว อยู่ที่ใจของเราเอง ธรรมยาตราเป็นการพาคนเข้าหาทุกข์ก็เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีอยู่กับทุกข์ (กาย) ได้โดยไม่ทุกข์ (ใจ)

ธรรมชาติของคนเรานั้นต้องการหนีทุกข์ ดังนั้นเมื่อเจอความทุกข์กับตัว หากไม่สามารถพากายหนีทุกข์ได้ จิตก็จะค้นหาวิธีการอื่นเพื่อจะได้ไม่ทุกข์ไปกับกาย การพยายามสรรหาวิธีการนานาชนิดเพื่อจัดการกับความทุกข์ในใจ ในที่สุดจะช่วยให้เราได้พบธรรม จะเรียกว่าในทุกข์มีธรรมก็ได้ หลังจากที่เดินฝ่าเปลวแดดมาทั้งวัน หลายคนพบว่าการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการนับก้าวช่วยให้เป็นทุกข์น้อยลง ยิ่งมีสมาธิแน่วแน่ก็ยิ่งเพลินกับการเดิน “ปัน” เด็กชายวัย ๙ ขวบบอกว่า เหนื่อยน้อยลงเมื่อตาจับจ้องอยู่ที่เท้าของคนข้างหน้า บางคนจดจ่ออยู่กับเสียงกลองจนลืมเมื่อย ขณะที่บางคนท่อง “คาถา” ในใจขณะก้าวเดินว่า “ซ้ายทนได้ ขวาสบายมาก” ทำให้ใจฮึดสู้ขึ้นมาแม้เท้าจะพองก็ตาม

“กายเหนื่อย ใจไม่เหนื่อย” ไม่ใช่เป็นแค่คำปลุกใจ แต่สามารถปฏิบัติได้จริง แต่จะปฏิบัติได้จริงก็ต่อเมื่อมาเจอทุกข์กับตัว ถึงแม้กายจะเหนื่อย แดดจะร้อน แต่ถ้ามีสติเห็นความเหนื่อยกาย หรือเห็นใจที่บ่นโวยวาย ใจก็จะวางความเหนื่อยและความหงุดหงิดลงได้ทันที บ่อยครั้งกายยังไหว แต่ใจต่างหากที่ไม่ไหว เมื่อใดที่เห็นใจร้องงอแงว่า “ไม่ไหวๆๆ” ความงอแงจะหลบลี้หนีไป ใจจะกลับมาตั้งมั่นขึ้นใหม่ และเดินหน้าต่อไปได้ ใครที่บ่นว่า “เมื่อไหร่จะถึงๆๆ” ลองมีสติอยู่กับแต่ละก้าวๆ จะพบว่าใจสงบเย็นลงมาก ใจที่อยู่กับปัจจุบันจะทุกข์น้อยกว่าใจที่กังวลอยู่กับจุดหมายปลายทางข้างหน้า

ทุกข์อย่างหนึ่งที่แทบทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะคนที่ถอดรองเท้า นั่นคือความเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่อเดินทางลาดยางที่ร้อนระอุ หรือถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยกรวดแหลมคม ธรรมยาตราเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกการอยู่กับความเจ็บปวดโดยใจไม่ทุกข์ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ หลายคนใช้วิธีจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นเพื่อลืมความปวด แต่บางคนก็ใช้สติในการรับรู้หรือเห็นความปวด โดยใจไม่พลัดเข้าไปในความปวด หรือปรุงตัวกูเป็นเจ้าของความปวด กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เห็นความปวด ไม่ใช่ผู้ปวด” แต่ถ้ายังไม่ถนัดที่จะไปรับรู้ความปวด โดยไม่เผลอเป็นผู้ปวดเสียเอง ก็หันมาดูใจที่ดิ้นเร่าหรือถูกโทสะรุมเร้าเพราะความปวด ใจที่สงบลงได้ช่วยให้ความทุกข์บรรเทาลง

การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์โดยใจไม่ทุกข์ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะไม่ว่าเราจะร่ำรวย ฉลาดหลักแหลม มีอำนาจยิ่งใหญ่ หรือพรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยี แต่เราก็ไม่สามารถหนีทุกข์ไปได้ตลอด รวยแค่ไหนก็ต้องเจอการพลัดพรากสูญเสียคนรัก ฉลาดเพียงใดก็ต้องเจ็บป่วย ยิ่งใหญ่เพียงใดสักวันหนึ่งก็ต้องตาย ถ้าเราไม่ยอมเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับความทุกข์เลย ก็เห็นจะต้องเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

การเดินเข้าหาทุกข์คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์โดยไม่ทุกข์ จะทำได้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับการพยายามทำ แม้สมาธิหรือสติยังไม่เข้มแข็ง แต่ก็ได้ฝึกความอดทนและสร้างภูมิต้านทานความทุกข์ ใช่หรือไม่ว่าคนสมัยนี้มีภูมิต้านทานความทุกข์น้อยมาก แค่เจอความผิดหวังเล็กๆ น้อยๆ ก็ทุกข์ระทมจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ การมีภูมิต้านทานความทุกข์จะช่วยให้ทานทนกับอุปสรรคในชีวิตได้มากขึ้น แต่ภูมิต้านความทุกข์จะเกิดขึ้นกับใจได้อย่างไรถ้าไม่เจอความทุกข์บ่อยๆ เช่นเดียวกับภูมิต้านทานเชื้อโรคจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเจอเชื้อโรคอยู่เป็นนิจ

ตลอด ๗ คืน ๘ วันที่เจอทุกข์ตลอดทาง แทบทุกคนดูเหมือนจะมีภูมิต้านทานความทุกข์มากขึ้น ไม่มีใครที่เปลี่ยนใจถอนตัวก่อนกำหนด มีแต่เปลี่ยนใจเลื่อนวันกลับ เพื่อเดินให้นานขึ้น ยิ่งผ่านความยากลำบากมานานวัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น หรือเพราะความทุกข์ช่วยหลอมใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะหลายคนได้พบว่าตนเองมีสิ่งที่ไม่คิดว่ามี นั่นคือความอดทนและความพากเพียรพยายาม นักเรียนหลายคนยอมรับว่าถอดใจตั้งแต่เดินวันแรกและไม่คิดว่าจะเดินถึงวันสุดท้ายได้ แต่ในที่สุดก็ทำได้ บ่อยครั้งการค้นพบตัวเองต้องได้มาด้วยความยากลำบาก ใช่หรือไม่ นี้คือ unseen ที่สำคัญกว่า unseen หลายแห่งที่ขบวนธรรมยาตราผ่านพบระหว่างทาง (ทั้งที่ ททท. รู้จักและไม่รู้จัก)

ทั้งๆ ที่เดินเข้าหาทุกข์ แต่ความสุขของผู้คนในขบวนธรรมยาตรามีให้เห็นตลอดทาง และยิ่งมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงที่หมาย ทั้งๆ ที่ยิ่งห่างไกลจากเมือง ความสะดวกสบายยิ่งน้อยลง แต่ความสุขไม่ได้ลดลงเลย กลับเพิ่มขึ้น นั่นก็เพราะความสุขกับความสะดวกสบายนั้นมิใช่สิ่งเดียวกัน ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความยากลำบาก เพราะความสุขนั้นแท้จริงอยู่ที่ใจ

การเดินทวนกระแสน้ำคือการเดินสู้กับแรงโน้มถ่วง แม้จะเหนื่อยและยากลำบาก แต่ยิ่งเดิน ทัศนียภาพสองข้างทางก็ยิ่งงดงาม ต้นไม้ที่ขึ้นประปรายกลับหนาตามากขึ้น จากแท่งคอนกรีตสีหม่นกลายเป็นป่าใหญ่สีเขียวขจี ขณะเดียวกันน้ำที่ขุ่นคล้ำ ก็เริ่มใส และใสยิ่งขึ้นเมื่อเข้าใกล้ต้นน้ำ มลพิษในอากาศค่อยๆ หายไป มีอากาศบริสุทธิ์สดใสมาแทนที่ นี้คือรางวัลของความเหนื่อยยาก ฉันใดก็ฉันนั้น ยิ่งเดินทวนกระแสกิเลส ก็ยิ่งได้สัมผัสกับความงดงามของมิตรภาพรอบตัว ทั้งจากผู้ร่วมเดินและชาวบ้านสองข้างทาง ขณะเดียวกันใจก็ยิ่งแจ่มใส เบาสบาย ความสุขกลายเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย แค่ได้ดื่มน้ำเปล่าดับกระหาย หรือได้พักใต้ร่มไม้ มีลมเย็นพัดมาเบาๆ ก็สุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีอาหารหรูหราราคาแพงหรือสินค้ายี่ห้อดังมาปรนเปรอก็ได้

การเดินสู้ทุกข์ทำให้หลายคนตระหนักว่าเราสามารถเป็นสุขได้แม้จะทวนกระแสความสะดวกสบายหรือกระแสบริโภคนิยม แต่กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เราจะสุขได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อกล้าสวนกระแสกิเลสเท่านั้น เพราะตราบใดที่ยังตามกระแสกิเลสอยู่ ก็จะไม่รู้จักคำว่าพอเสียทีไม่ว่าจะได้มามากเท่าไรก็ตาม ยิ่งเห็นคนอื่นได้มาก ก็ยิ่งเป็นทุกข์ที่ได้น้อยกว่าเขา แม้ดิ้นรนจนรวยเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็ยังทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นไล่มาประชิด จนกว่าจะกล้าขัดขืนกิเลส และหันไปเติมเต็มชีวิตด้วยสิ่งอื่นที่มีคุณค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง

คนที่ทำตามบัญชาของกิเลส ย่อมนึกถึงแต่ตัวเอง แต่ยิ่งตักตวงความสุขใส่ตัวมากเท่าไร ก็กลับพบว่าในใจเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าไร้คุณค่า และทุกข์เพราะอัตตาตัวตนพองโตจนหวั่นไหวต่อทุกอย่างที่มากระทบหรือสะกิดแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ไม่ต่างจากลูกโป่งพองโตที่พร้อมจะแตกเมื่อถูกเศษฟางทิ่ม ต่อเมื่อขัดขืนบัญชาของกิเลส อยู่อย่างเรียบง่าย พร้อมแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น จึงจะเป็นคนที่สุขง่าย ทุกข์ยาก

ในทุกข์มีสุข ถ้ารู้จักทุกข์ก็พบสุขได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงไม่หวั่นเกรงว่าความสะดวกสบายจะลดลง แม้หุ้นจะตก ทองจะขึ้น ก็ยังสามารถมีความสุขสวนกระแสเศรษฐกิจได้ แม้เศรษฐกิจปีหน้ายังไม่ฟื้นตัว ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจตราบใดที่ยังกินอิ่มนอนอุ่น เพราะไม่ได้เอาความสุขไปผูกติดกับกระแสเศรษฐกิจที่เน้นเงินตราเป็นสรณะ ในทำนองเดียวกันแม้กระแสการเมืองยังร้อนแรง แต่คนที่รู้จักทวนกระแสกิเลสย่อมสามารถรักษาใจให้สงบเย็นได้ กระนั้นก็มิได้นิ่งดูดายหรือเฉยเมยด้วยความเห็นแก่ตัว หากพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลตามกำลัง โดยมิได้คิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือทำไปตามอำนาจของความโกรธเกลียดและกลัว

บ้านเมืองแม้ยังเต็มไปด้วยทุกข์ แต่เราก็ไม่ควรกลัวทุกข์ การพร้อมเผชิญทุกข์ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา จะช่วยให้เราเข้าถึงสุขได้แม้จะสวนกระแสนานาชนิดก็ตาม

จิตวิทยาการศึกษา – วิวัฒน์สู่เอสคิวจิตวิญญาณ



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2552

สำหรับความคิดส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดและเชื่อว่าสมองไม่ใช่จิต แต่จิตต้องพึ่งสมองในการบริหาร โดยจะบริหารจิตไร้สำนึกโดยรวมของจักรวาล ซึ่ง คาร์ล จุง เรียก (universe unconscious continuum) – ที่จวงจื๊อบอกว่าคือ เต๋าที่อยู่ทุกหนทุกแห่งและทะลุทะลวงทุกๆ สรรพสิ่งของจักรวาล - ให้เป็นจิตสำนึกของปัจเจกบุคล - นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเชื่อทั้ง เคน วิลเบอร์ ฌอง เก็บเซอร์ อับบราฮัม มาสลอฟ ฯลฯ รวมทั้งทุกศาสนาที่อุบัติขึ้นทางตะวันออก ที่บอกว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องมีวิวัฒนาการของจิตโดยธรรมชาติไป ตามลำดับของสเปกตรัม พระพุทธเจ้าบอกว่า มนุษย์ทุกๆ คนและสัตว์โลกทั้งหลายจะบรรลุธรรม (transcendence or spirituality) และเข้าถึงนิพพานกันทั้งนั้น

ผู้เขียนจึงสรุปตามนักฟิสิกส์ใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกทุกคนเท่าที่รู้ว่า สมองจำเป็นสำหรับจิต จิตไม่ใช่สมอง ไม่ใช่ผลผลิตของการทำงานที่ซับซ้อนของสมองดังที่นักประสาทวิทยาศาสตร์เชื่อ ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วมาก

บทความนี้ผู้เขียนได้มาจากหลายๆ ที่มา ซึ่งจะไม่อ้างอิงเพราะมากเหลือเกินจนอ้างไม่ไหม สรุปได้ว่าเอามาจากสามแหล่งมาใหญ่ๆ (นอกจากที่คิดเอาเอง) คือจากพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน ปรัชญาและจิตวิทยาจาก จอห์น เซิร์ล วิลเลียม เจมส์ และคาร์ล จุง กับนักฟิสิกส์ใหม่ทั้งสองทฤษฎี โดยเฉพาะแควนตัมแมคคานิกส์ คือผู้เขียนเชื่อดังได้กล่าวมาแล้วว่า

หนึ่ง จิตไม่ใช่สมอง แต่สมองเป็นตัวแทนหรือตัวแสดงของจิต สอง จิตรู้หรือจิตสำนึก (conscious mind) ที่อยู่ในปัจเจก มาจากจิตไร้สำนึกร่วมของสากลของจักรวาล สาม สมองมีหน้าที่บริหารหรือเปลี่ยนจิตไร้สำนึกร่วมที่เข้ามาอยู่ในสมองของแต่ละคนให้เป็นจิตสำนึกด้วยกลไกทางแควนตัม (wave collapse) ข้อสามนี้จะยกเว้น “จิตหนึ่ง” ซึ่งเป็นแก่นแกนของจิตไร้สำนึกอันกระจ่างใส ซึ่งอยู่ภายในสุดของจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาล (ที่เราเรียกเช่นนั้นเฉพาะขามาของวิวัฒนาการของจักรวาล จากหนึ่งสู่ความหลากหลายเท่านั้น ส่วนวิวัฒนาการขากลับจากความหลากหลายกลับไปหาหนึ่งนั้น เราจะเรียกว่านิพพานซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับจิตหนึ่ง) – ตรงกับภาษาอังกฤษ uni + verse หวนกลับไปหาหนึ่ง

นักศาสนานักปรัชญาส่วนใหญ่เชื่อว่า จิตสำนึกต้องหาแก่นแกนของจิตไร้สำนึกให้พบ หรือรวมกับแก่นแกนของจิตด้วยวิวัฒนาการขากลับ ตามวิวัฒนาการธรรมชาติของจิต ผ่านจิตวิญญาณ อันเป็นจิตเหนือสำนึก (superconsciousness) ไปเรื่อยๆ จนถึงนิพพาน ฉะนั้นสิ่งที่ชมรมจิตวิวัฒน์บอกว่า ชมรมมีขึ้นเพื่อสร้าง “จิตสำนึกใหม่” ให้แก่คนไทยและสังคมไทยนั้น ผู้เขียนคิดว่า “จิตสำนึกไม่” ในที่นี้คือจิตเหนือสำนึก (superconscious mind) หรือการเร่งให้เกิดวิวัฒนาการสู่จิตวิญญาณ

บทความวันนี้มีความประสงค์จะชี้บ่งถึงการปลูกฝังหรือเร่งเร้าให้มนุษย์เกิดมีวิวัฒนาการของจิตเหนือสำนึกเร็วขึ้นและมากขึ้น เพราะภัยธรรมชาตินานัปการซึ่งเราสร้างขึ้นมาด้วยมือของเราเองจากความไม่รู้และความอวดดี กำลังมา (อวิชชา และ anthropocentric) นั่นคือ เอสคิว (SQ) ซึ่งคนทั่วไปเรียกกัน (social quotient) ซึ่งสัมพันธ์กับเวลาและสถานที่ของสังคมในขณะนั้นๆ แต่ไม่สัมพันธ์กับวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ฉะนั้น ในที่นี้ เอสคิวจะหมายถึงจิตวิญญาณ (spiritual quotient) ซึ่งนักจิตวิทยาเด็กมักจะพูดรวมๆ กันไปกับสติปัญญาความฉลาดที่วัดได้ (IQ) ที่ ฟรานซิส แกลตัน นักจิตวิทยาอังกฤษคิดขึ้น และแพร่มาถึงบ้านเราเมื่อตอนที่ผู้เขียนยังเล็กๆ และบ้านเราก็รับทันที เพราะ ฟรานซิส แกลตัน เชื่อนักเชื่อหนาว่าสืบทอดในตระกูลได้โดยกรรมพันธุ์ อย่างน้อยก็เป็นลักษณะจำเพาะเป็นพิเศษประจำครอบครัว ที่ผู้เขียนบอกว่า บ้านเรารับในทันทีตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ – ทั้งๆ ที่มีข้อมูลใหม่ๆ ที่บอกว่า การวัดสติปัญญาความฉลาด หรือไอคิวนั้น เชื่อถือไม่ได้ เพราะว่าความเชื่อดังกล่าวเกิดไปตรงกับภูมิปัญญาชาวบ้านของเราที่บอกว่า “เสือย่อมไม่ทิ้งลาย” หรือ “เชื้อย่อมไม่ทิ้งแถว” อะไรพวกนี้ นั่นคือ ถ้าพ่อเป็นโจรก็ให้ระวังลูกที่อาจเป็นโจรตามพ่อก็เป็นได้ จริงๆ แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าภูมิปัญญาชาวบ้านน่าจะถูก ถ้าไม่เป็นพันธุกรรมก็เป็นลักษณะจำเพราะที่ว่า

ส่วนอารมณ์ความรู้สึก ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ความรู้สึกแยกออกจากอารมณ์ (EQ) ไม่ได้ ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ จึงแยกจากเวทนาไม่ได้ เพราะอารมณ์นั้นเป็นผลพวงของความรู้สึกทางกายภาพเป็นไปในทันทีทันใด คือห้ามไม่ให้มันเกิดไม่ได้ แต่ระงับได้ โดยจิตที่อยู่เหนือสำนึกที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติบางส่วนที่ซ่อนตัวอยู่ลึกล้ำที่ภายใน ซึ่งจะโผล่ปรากฏออกมาเมื่อชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตรายหรือกำลังจะตายทันทีถ้าหากช่วยไม่ทัน จิตเหนือสำนึก (spirituality หรือในที่นี้คือ SQ) คือจิตพ้นผ่านหรือก้าวล่วง – จิตสำนึกที่เรียกว่าจิตวิญญาณหรือธรรมจิตนี้ คือจิตบริสุทธิ์ที่งามพร้อม เป็นเป้าหมายสูงสุดของในทุกๆ ศาสนา ในศาสนาพุทธคือเส้นทางไปสู่นิพพาน ส่วนในศาสนาที่มีพระเจ้าคือการที่จิตอันบริสุทธิ์แต่ละดวงจะได้รวมกับจิตของพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียว

สามความฉลาดที่ว่า ทั้งไอคิว อีคิว และเอสคิว นั้น มีส่วนที่มนุษย์สามารถสร้างบางส่วน หรือเร่งเร้าให้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งนักจิตวิทยาที่ศรัทธาในพระเจ้าผู้สร้างโลกสร้างจักรวาลรวมทั้งสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงโดยเฉพาะมนุษย์ - เชื่อ มนุษยชาติได้ผ่านหรือพบกับไอคิวและอีคิวมาแล้ว แต่เรายังขาดเอสคิว - จิตวิญญาณที่โดยปกติแทบไม่มีเลย ที่มีอยู่บ้างก็ถูกซ่อนตัวเอาไว้อย่างล้ำลึก นั่นคือเนื้อหาสาระของบทความวันนี้

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายถึงการสร้างสรรค์ของมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดที่วัดได้ (นักจิตวิทยาการศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเชื่อ โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ว่าวัดไม่ได้) เราจะต้องรู้ความหมายของทั้งสามความฉลาดเสียก่อน (ไอคิว อีคิว และเอสคิว) จึงจะขออธิบายนิยามของสติปัญญาความฉลาด (intelligence) รู้และเข้าใจอารมณ์ที่แยกออกจากความรู้สึกยากมาก (emotion) และจิตวิญญาณ (spirituality) พอสังเขปตามที่ผู้เขียนเข้าใจ

ในความเห็นของผู้เขียน ไอคิว อีคิว และเอสคิวนั้น เราเอาเรียงกันอย่างผิดๆ ซึ่งหากเราเรียกตามการเจริญเติบโตวิวัฒนาการ ไม่ใช่สนใจหรือว่าพบอันไหนและวัดอันไหนก่อน ความฉลาดทางอารมณ์ต้องมาก่อนเพื่อนนานนักหนา เพราะเป็นเรื่องของการ “รู้รอด” ซึ่งสัมพันธ์กับสัญชาตญาณ จริงอยู่ ทั้งสามเป็นวิวัฒนาการของจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาลที่เข้ามาอยู่ในปัจเจกบุคคลเพื่อ “การรู้” (cognition) แต่อีคิวเป็นวิวัฒนาการที่หยาบซึ่งมาก่อนในสัตว์ที่ระบบลิมบิกวิวัฒนาการแล้วเท่านั้น เราต้องรู้ว่าจักรวาลมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ วิวัฒนาการ และวิวัฒนาการนั้นจะต้องดำเนินไปสู่ “การรู้” ที่สูงขึ้นกว่า ซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่า และลึกล้ำมากขึ้นกว่าตลอดเวลา ทั้งในทางกายภาพและทางจิตภาพ แต่กายภาพจะมีวิวัฒนาการก่อน และจิตภาพมาทีหลัง โดยมีวิวัฒนาการช้ากว่ากระทั่งในคนส่วนใหญ่มากๆ หรือแทบทุกคน ซึ่งพุทธศาสนาบอกว่าจะต้องมีการสะสมบารมีข้ามภพข้ามชาติมาตลอดเวลา นั่นเป็นวิวัฒนาการสุดท้ายของจักรวาลเมื่อมนุษย์ทุกคนสามารถจะ “รู้แจ้ง”

เคน วิลเบอร์ จะบอกว่า วิวัฒนาการทางจิตใจมนุษย์ ผ่านสเปกตรัมต่างๆ ที่เรียกว่า “เส้นทาง” (line) – จะเป็นการต่อยอดของเส้นที่เดิมมีเพียงเส้นทางเดียวก็ได้ หรือเป็นวิวัฒนาการที่เริ่มต้นจะมีหลายๆ เส้นทางก็ได้ ฉะนั้น เส้นทางจึงไม่มีความสำคัญเมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ของจิตรู้ที่สัมพันธ์กับรูปร่างทางกายภาพ

แต่ผู้เขียนเชื่อว่า หากพิจารณาจากลักษณะของความเป็นองค์รวมของวิวัฒนาการ องค์กรใหม่จะเป็นวิวัฒนาการขององค์เก่า บวกกับส่วนที่ได้มาใหม่เสมอ (transcend and include) ซึ่ง เคน วิลเบอร์ ได้พูดมาเองและผู้เขียนเชื่อเช่นนั้น กระบวนการวิวัฒนาการก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลาย จะต้องเรียนรู้หรือวิวัฒนาการมาตามลำดับ “รู้รอด” ต้องผ่านสัญชาตญาณก่อน และ “รู้เพื่อรู้” ต้องตามหลังรู้รอด ฉะนั้นสติปัญญาความฉลาด (intelligence) จึงต้องตามหลังการต่อสู้และหนีภัย และความฉลาดเหนือสติปัญญา (wisdom) ต้องผ่านความฉลาดธรรมดาๆ ก่อน เอสคิว หรือการรู้ของจิตวิญญาณ (spirituality) - อันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งแทงตลอดและวิมุตติ – จึงเหนือกว่าสติปัญญาความฉลาดธรรมดามากนัก

สรุปได้ว่า ทั้งศาสนาและปรัชญากับทั้งวิทยาศาสตร์ – ที่ต่างพยายามอธิบายความจริงแท้ของธรรมชาติ แต่อธิบายบนหลักการและวิธีการคนละอย่างแตกต่างกัน บอกเหมือนๆ กันว่า ความแท้จริงมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งศาสนปรัชญาบอกว่ามีจิตเป็นปฐม ส่วนวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นรูปกายวัตถุที่ตั้งอยู่ข้างนอก แล้วถึงอธิบายจักรวาลซึ่งเป็นตัวเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างไปตามนั้น และทั้งสองบอกว่าจักรวาลมีเป้าหมายอย่างเดียวจริงๆ คือวิวัฒนาการ

วิวัฒนาการไปทำไมหรือ?

ทั้งศาสนากับวิทยาศาสตร์บอกว่าวิวัฒนาการเพื่อให้ชีวิตกับมนุษย์ดำรงอยู่ได้ นั่นคือที่มาของความรู้ เห็นกับไม่เห็น ไม่เห็นนั้นพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์หรือรูปกายวัตถุไม่ได้ เพราะจิตไม่ใช่กาย วิทยาศาสตร์จึงปลดความรู้ออกจากศาสนา เหลือไว้แต่ความเชื่อความศรัทธา ซึ่งวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่ใช่ความจริง ส่วนศาสนาก็เถียงว่าวิทยาศาสตร์ไม่ยุติธรรม เพราะใช้แต่วิธีการทางรูปกายวัตถุอย่างเดียวในการพิสูจน์ แต่ไม่ใช้วิธีการทางจิตเลย เช่นการทำสมาธิที่มีในทุกๆ ศาสนา จากนั้นเมื่อเถียงกันไม่รู้จักจบเป็นต้นมา ทั้งสองก็แยกกันโดยเดินกันคนละทาง กระทั่งมีฟิสิกส์ใหม่ที่คล้ายๆ กับศาสนาโดยเฉพาะศาสนาที่อุบัติขึ้นทางตะวันออก ฟิสิกส์ใหม่ซึ่งให้ความจริงแท้ของธรรมชาติ (ทั้งสองระดับคือทั้งกายและจิต) ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์กายวัตถุเป็นไหนๆ

เอสคิวที่ผู้เขียนหมายถึงในที่นี้ คือการวัดความฉลาดทางวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ และความฉลาดนั้นก็ไม่ใช่สติปัญญา (intelligence) หากแต่เป็นปรีชาญาณ ญาณการหยั่งรู้ และภาวนามยปัญญา (intuition or wisdom) ซึ่งเป็นไปเพื่อวิวัฒนาการของเหตุผลที่ไม่มีเหตุผล คือเป็นอารมณ์ด้านบวก อารมณ์ทุกๆ อารมณ์จะไม่มีเหตุผลทั้งนั้น จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ อารมณ์กับเหตุผลเชื่อกันว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้ามีเหตุผลก็ต้องไม่มีอารมณ์ หรือถ้าหากกำลังมีอารมณ์อยู่ก็อย่าหวังว่าจะใช้เหตุผลช่วยได้ เพราะเราอยู่ในยุคที่มีเหตุผลเป็นใหญ่ - ที่ผิดความจริงทางแควนตัมอย่างชัดๆ – ดังนั้นเรื่องของอารมณ์โดยเฉพาะด้านลบจึงเป็นของต้องห้าม เป็นเรื่องที่ผิด แต่ผลของการวิจัยใหม่ๆ ชี้บ่งอย่างเป็นตรงกันข้าม ทั้งสองกลับเสริมเติมซึ่งกันและกันเพื่อวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ เช่น รัก เมตตา และให้อภัยด้วยใจจริง อารมณ์ช่วยให้เหตุผลเกิด และเหตุผลจะช่วยกำจัดอารมณ์ในคราวต่อๆ ไปให้มีน้อยลงๆ และค่อยๆ หมดไป (Antonio Damasio: Descartes’ Error, 1999) โลกในอนาคตอันใกล้นี้ การอยู่รอดของมนุษยชาติจะไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลและสติปัญญาความฉลาดอีกต่อไปแล้ว แต่จะขึ้นกับภาวนามยปัญญาซึ่งมีเป็นปกติธรรมชาติต่อเมื่อมนุษยชาติมีวิวัฒนาการทางจิตไปสู่ระดับจิตวิญญาณเส้นทางไปสู่นิพพานแล้ว

ด้านมืดของคิดเชิงบวก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2552

“พี่คะๆ คนเราคิดอะไรก็ได้อย่างนั้นใช่มั้ยคะ”

น้องนักศึกษาพยาบาลปี ๒ ถามผมระหว่างที่ทำกระบวนการอบรมแนวจิตตปัญญา ที่วิทยาลัยพยาบาลนครสวรรค์

“ที่ถามมาหมายความว่ายังไง ขยายความหน่อยสิ” ผมตอบด้วยการถามเธอกลับ

“ก็เห็นเค้าว่าถ้าเราคิดดี เราก็จะดึงดูดในสิ่งดีๆ เข้ามาหาตัวเรา ถ้าเราคิดไม่ดี เราก็จะมีแต่สิ่งไม่ดีเข้ามาหาเรา พี่ว่ามันจริงมั้ยคะ”



ผมสนใจเบื้องหลังที่มาของคำถามของเธอ หรือว่าเธอจะไปอ่านหนังสือจิตวิทยามหาชนแนวประมาณ เดอะ ซีเคร็ท หรือ กฎแห่งกระจก น่าสนใจว่าในระยะหลังมานี้ หนังสือที่มีความคิดในทำนองนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจให้กับความคิด ความเชื่อ และการดำเนินชีวิตของคนไทยอยู่ไม่น้อย การที่เราตื่นเต้นกับแนวความคิดเหล่านี้ มันส่องสะท้อนว่าสังคมของเรากำลังเป็น “โรคภูมิคุ้มกันจิตใจบกพร่อง” แนวความคิดอะไรก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ ถ้าฟังดูเข้าที เราก็พร้อมที่รับเข้ามาเป็นหลักชี้นำประจำใจ น่าสงสารคนไทยในยุคไร้รากกันเสียจริง

แนวความคิดที่เรารับมาเต็มๆ จากตะวันตกก็คือ “ความคิดเชิงบวก” สืบย้อนไป เราจะพบว่าชาวตะวันตกมิได้คิดว่าโลกนี้สวยงามมาแต่ไหนแต่ไร แต่มองว่ามนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกเพื่อชดใช้บาป ตัวอย่างเช่นศาสนาคริสต์นิกายคาลวินิส์ที่เชื่อเรื่องเทวลิขิต และปฐมบาป บอกว่าศาสนิกชนที่ดีจะต้องสำรวจตรวจสอบไม่ปล่อยใจให้เผลอไปกับความชั่ว และการปล่อยใจให้มีความสุขเพลิดเพลินนั่นคือบาป ความเชื่อศาสนาที่เข้มงวดอย่างนั้นทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเครียด และความรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา

ต่อมาเมื่อมนุษย์เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเชื่อดังกล่าวดูจะไม่เข้ากับลมหายใจแห่งยุคสมัย ที่ต้องการก้าวไปข้างหน้าและไม่ต้องการจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกผิดของตนอย่างที่แล้วมา ในช่วงนี้เกิดกระแสความคิดใหม่ๆ ที่ไปใส่ใจกับความรักจากพระเจ้า มากกว่าเรื่องบาปกำเนิด หรือแม้แต่กระแสความคิดที่ว่ามนุษย์เราสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยตัวเองไม่ต้องผ่านตัวแทนใดๆ อย่างของอีเมอร์สันก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ ต่อมาเมื่อนักจิตวิทยาหันมาสนใจศึกษาเรื่องความคิดเชิงบวกและศาสตร์แห่งความสุข การตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งโหมแรงกระพือทำให้กระแส “ความคิดเชิงบวก” เป็นมนตราแห่งยุคสมัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วกระแสคิดเชิงบวกเข้ามาสู่บ้านเราได้อย่างไร ลองสำรวจตรวจตราไปรอบตัว หลายสิบปีที่แล้วเราฮิตอ่านหนังสือแบบ เดล คาร์เนกี้ ซึ่งเต็มไปด้วยแนวคิดเชิงบวก หรือ พลิกชีวิตคิดเชิงบวก ของ นโปเลียน ฮิลล์ เดี๋ยวนี้เราอ่านหนังสือแบบ ใครเอาเนยแข็งของฉันไป? (Who moved my cheese?) หรือ อัจฉริยะสร้างสุข ของ หนูดี กระแสนี้คืบคลานเข้ามาในบ้านเรานานมาแล้วอย่างเงียบๆ ในทุกๆ เจนเนอเรชัน โดยที่เรามองไม่เห็น เรามารู้ตัวอีกทีก็เมื่อเราเองได้รับแนวความคิดนี้เข้ามาเป็นหลักย้ำประจำใจเสียแล้ว

แล้วความคิดเชิงบวกมันไม่ดีตรงไหน ในเมื่อใครๆ ก็แนะนำเราทั้งนั้น ตั้งแต่อดีตนายกทักษิณ ยันโอเพรา วินฟรีย์ สองสามปีมานี้เราบ้านเรายังแจกรางวัล “ผู้หญิงคิดบวกแห่งปี” อีกด้วย

ถ้าย้อนกลับไปดูวิกฤติการเงินเมื่อปี ๔๐ เราต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นคนไทยเราตกอยู่ใต้กระแสของการคิดบวกอย่างรุนแรง จนมองไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พวกเราเหมือนเดินอยู่บนปุยเมฆ หยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง ในช่วงนั้นหากใครมาทักว่าให้รอก่อนอย่ารีบร้อน จะได้รับคำตอบว่า “รอให้โง่สิ โอกาสทองอยู่ข้างหน้าเห็นๆ” วิกฤติอย่างปี ๔๐ เป็นละครน้ำเน่าที่กลับมาให้เราเห็นอยู่เรื่อย ตั้งแต่วิกฤติซับไพร์ม ของสหรัฐ ไปจนถึงเร็วๆ นี้ที่ฟองสบู่ดูไบแตกดังโพละ ผู้ที่ถูกตัดขาดจากความเป็นจริงมากที่สุดก็คือผู้บริหารที่ถูกบ่มเพาะด้วยกระแสความคิดเชิงบวก ในอเมริกา นักพูดเก่งๆ ถูกเชิญเข้าไปพูดในบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ที่ปรึกษาบริษัทที่ตอนนี้ผันตัวเองมาเรียกตัวเองอย่างเก๋ไก๋ว่าโค้ช ตามอย่างโค้ชทีมกีฬา มีหน้าที่ปรนเปรอ CEO หรือผู้บริหารด้วยอะไรก็ได้ที่จะทำให้เขาหรือเธอฮึกเหิม การวิเคราะห์ตัวเลข สถิติ ข้อมูล เริ่มกลายเป็นของล้าสมัย ใครจะไปดูตัวเลขกันเล่าในเมื่อสมัยนี้ต้องใช้ ญาณทัสนะ การปิ๊งแว้บ หรือการหยั่งรู้โดยฉับพลัน ซึ่งมีที่มาจากแนวความคิด “จิตเหนือวัตถุ”

ในปี ๒๐๐๖ ไมค์ เกลแบน ผู้จัดการแผนกอสังหาริมทรัพย์ของ เลย์แมน บราเธอร์ เข้าไปพูดคุยกับ CEO ริชาร์ด ฟุลด์ ว่า “เราต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของเราใหม่ เพราะมันกำลังย่ำแย่” ต่อมาไม่นานผู้จัดการผู้นี้ถูกไล่ออกในโทษฐานที่มีทัศนคติบกพร่อง อย่างที่เราทราบกัน สองปีให้หลังบริษัทเลย์แมน บราเธอร์ก็ล้มละลาย

ความคิดเชิงบวกนอกจากจะเป็นปัจจัยในการทำลายเศรษฐกิจโลกแล้ว มันยังเป็นตัวการทำให้ผู้ที่อยู่เหนือกว่ากดขี่ผู้ที่อยู่ด้อยกว่าได้อย่างสะดวกดาย เช่นหากเจ้านายมาเอาเปรียบเรา ก็คิดเชิงบวกว่าเขาต้องทำอย่างนั้นเพราะภาระหน้าที่ และหากเจ้าหน้าที่รัฐมาเอาเปรียบเราก็คิดเชิงบวกว่าใครๆ เขาก็โดนกัน ความคิดเชิงบวกยังบ่มเพาะความรุนแรงในครอบครัวได้ด้วย เช่นผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นโดยหวังว่าสักวันผู้ชายคนนี้จะกลับมาเห็นความดีของเธอ บางคนคิดเชิงบวกเพื่อปลอบใจตนเอง เช่นหากเราถูกใครบอกเลิกก็คิดเชิงบวกว่าชีวิตของเขาคงจะดีแล้วที่ไม่มีเรา หรือหากเราเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หายก็คิดเชิงบวกว่า ก็ดีเหมือนกันเราจะได้มีโอกาสได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิต ส่วนพ่อแม่ที่บังคับให้ลูกเรียนพิเศษจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ก็คิดเชิงบวกว่าต่อไปลูกจะเป็นคนเก่งดีมีความสามารถ...

...เร็วๆ นี้มีข่าวว่ามีเด็กผู้ชายวัยสิบขวบผูกคอตายในห้องน้ำ เพราะพ่อแม่บังคับให้เขาไปเรียนพิเศษ ในขณะที่ตัวเองต้องการออกไปเล่นกับเพื่อน...

ช่วงที่ผ่านมาคนทำงานทางด้านจิตวิวัฒน์สนใจเรื่องการทำงานของสมองที่สัมพันธ์กับจิต รวมทั้งยังขยายไปสู่ความสนใจด้านควอนตัม ฟิสิกส์ แต่จิตไม่ใช่วัตถุ และความคิดก็มิใช่สมอง ความรู้ทางควอนตัม ฟิสิกส์บอกเราว่าการทำงานของตัวรับส่งนิวรอนในข่ายใยประสาทในสมองนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกลศาสตร์ควอนตัม ส่วนการทำซ้ำในใจ (mental rehearsals) เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากว่าเป็นตัวอย่างของอานุภาพแห่งจิตที่มีเหนือวัตถุ การฝึกฝนจิตไปถึงระดับนั้นจะทำได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่ทราบ แต่เชื่อว่าหากเป็นไปได้ก็คงได้กับจิตที่ฝึกมาดีแล้วละเอียดแล้วเท่านั้น ระดับอย่างเราๆ ท่านๆ ที่วันๆ ก็ฟุ้งอยู่ในความคิดนู่นนี่นั่น อย่าได้ไปหวัง เร็วๆ นี้ก็มีเพื่อนไปอบรมคอร์สที่สอนให้สะกดจิตตัวเองและจะทำให้ได้ในสิ่งที่ปรารถนา เช่นถ้าอยากมีรถสักคนก็เอาภาพรถไปติดไว้ที่หน้ากระจกมองมันทุกวัน พิมพ์ภาพสี่สีมาดูก่อนเข้านอน นึกภาพตัวเราอยู่ในรถคันนั้น เอาภาพเข้าไปนอนกอดด้วยได้ยิ่งดี เราจะมีโอกาสได้ขับรถคันนั้นเร็วขึ้น????

คำพังเพยของไทยเรามีว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แต่พอฝรั่งมาปรับเปลี่ยนพยัญชนะเสียใหม่เป็น “คิดดีได้ดี คิดชั่วได้ชั่ว” มันฟังดูดีกว่าและง่ายด้วยเพราะแต่ก่อนเราต้องลงมือทำ เดี๋ยวนี้เพียงแค่คิดก็จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา...ถ้ามองว่าคิดดี จิตใจย่อมดี หากเป็นเช่นนั้นจริงทำไมเราจึงเห็นคนจำนวนไม่น้อยในสังคมของเราที่คิดดี พูดดี ทำดี แต่จิตใจยังเศร้าหมองอยู่

ความคิดแม้จะดีเลิศเพียงใดก็เป็นเพียงความคิด การรับรู้สภาวะภายในที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง คือการบ่มเพาะปัญญาให้เกิด เมื่อไม่มีทั้งความคิดบวกและลบ เราเห็นอะไรในใจ?


(บทความนี้ได้แรงบันดาลใจและข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก Bright-Sided ของ Barbara Ehrenreich)

Back to Top