2011

สื่อสารคุณค่าแท้ในองค์กร


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2554

เมื่อผมและทีมงานจัดกระบวนการเรื่อง "เปลี่ยน" ให้กับองค์กรต่างๆ มาถึงจุดหนึ่ง เราพบว่า มีคนสามกลุ่มใหญ่ๆ เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลง คนกลุ่มที่หนึ่ง มีความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างมาก ลงมือทำ และสร้างพลังบวก จนทำให้คนอื่นๆ รู้สึกอยากเข้ามามีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงไปด้วย คนกลุ่มที่สอง รู้ว่าถ้าเปลี่ยนตัวเองได้ ชีวิตในองค์กรก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ก็ยังตัดสินใจและลงมือทำไม่ได้ และมีคนกลุ่มที่สาม เฝ้ารอว่า เมื่อไหร่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเสียที เขาไม่เห็นว่าผู้บริหารองค์กร นโยบาย หรือบรรยากาศในการทำงาน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เขาเห็นว่าตนเองตัวเล็กนิดเดียว จะมีพลังไปสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้

กระบวนการเปลี่ยนแปลงย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงอยู่เสมอ หากมองจากมุมอนุรักษ์นิยม (conservative) เราอาจรู้สึกว่า กระบวนการนี้เริ่มสร้างความวุ่นวาย สร้างการแบ่งแยกในองค์กร แต่เมื่อมองในมุมของการวิวัฒน์ (transformative) เราจะตระหนักถึงธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง พร้อมยอมรับและให้เกียรติต่อการเลือกของทุกคน ในมุมมองนี้ จะตั้งคำถามว่า เราสามารถส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนเรียนรู้ เติบโต และมีความสุขในระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในขณะเดียวกันกระบวนการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ ก็ยังทำงานต่อไปได้ไม่ขาดตอน สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

เมื่อองค์กรทำงานกับการเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดนี้ จะเริ่มขยับการตั้งคำถาม จากตัวบุคคลในองค์กร ไปสู่วัฒนธรรมองค์กร หากเรายังคงตั้งคำถามย่ำอยู่กับที่ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล อาจทำให้พลังของการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ถูกลดทอนลงไป การยกระดับการตั้งคำถามมาสู่การมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์กร จะช่วยส่งแรงต่อไปให้กับการเปลี่ยนแปลงได้

คำถามคือ วัฒนธรรมองค์กรอะไร ช่วยส่งเสริมให้คนในองค์กรมีชีวิตที่เติบโต พร้อมเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่เสมอ

จากการติดตามศึกษาองค์ความรู้ใหม่ๆ ผมพบกับแนวคิดหนึ่งที่น่าจะช่วยตอบคำถามข้างต้นได้ ในหนังสือเรื่อง "ห้าภาษาสื่อคุณค่าแท้ในที่ทำงาน" (The 5 Languages of Appreciation in the Workplace) ของ ดร.แกรี่ แชปแมน และดร.พอล ไวท์ ก่อนหน้านี้ผมและทีมงาน ได้ติดตามศึกษาเรื่อง "ห้าภาษารัก" (The 5 Love Languages) ของดร.แชปแมน มาแล้ว และนำมาใช้กับตนเองในเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและการเลี้ยงลูกได้เป็นอย่างดี เราสนทนากันบ่อยครั้ง เพื่อพยายามประยุกต์องค์ความรู้นี้มาใช้ในองค์กร แต่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนเมื่อดร.แชปแมน ได้ร่วมเขียนกับดร.ไวท์ นำเอาเรื่อง "ห้าภาษารัก" มาปรับใช้ในองค์กร แล้วเรียกใหม่เป็น "ห้าภาษาสื่อคุณค่าแท้" (The 5 Languages of Appreciation) ผมและทีมงานจึงได้มีโอกาสทดลองนำองค์ความรู้และการวิจัยที่ถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้ ไปใช้ในการอบรม เพื่อขยายการทำงานเรื่อง "เปลี่ยน" ให้ครอบคลุมมิติวัฒนธรรมองค์กรเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นพบว่าใช้ได้ผลดีทีเดียว

ประโยคหนึ่งที่ผมประทับใจในหนังสือเล่มนี้ "พวกเราทุกคนเติบโตได้ ในบรรยากาศของการเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน" ("All of us thrive in an atmosphere of appreciation") ข้อความนี้ดูเหมือนจะช่วยตอบคำถามข้างต้น เพราะวัฒนธรรมองค์กร เป็นสิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งสร้างขึ้นไม่ได้ แต่อาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกคนในองค์กร จึงจะช่วยกันสร้างได้ "จิต" ไม่เหมือนกับ "วัฒนธรรม" เป็นคนละมิติกัน เปรียบได้กับคำสรรพนามระหว่าง "ฉัน" (I) กับ "เรา" (We) ประโยคข้างต้นบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองมิตินี้ว่า การเปลี่ยนมิติ "I" อาศัยการสนับสนุนจากมิติ "We" เราอาจมีองค์ความรู้ในการพัฒนามิติ "I" แต่หากขาดองค์ความรู้มิติ "We" ที่ควบคู่กัน การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนก็เป็นไปได้ยาก

เมื่อองค์กรมี "We" ที่เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน องค์กรนั้นก็น่าอยู่ ดร.แชปแมน และดร.ไวท์ เสนอช่องทางการสื่อสารคุณค่าแท้ในองค์กร ไว้ห้าช่องทาง หรือเรียกว่า "ห้าภาษาสื่อคุณค่าแท้" เอาไว้ใช้สื่อให้อีกคนรับรู้ว่า ฉันเห็นคุณค่าในตัวเธอ เมื่อคนในองค์กรสื่อได้ถูกภาษา บรรยากาศของการเห็นคุณค่ากันและกันก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น และเมื่อได้สื่อคุณค่าแท้กันเป็นประจำ จากบรรยากาศก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมของการเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน

คนแต่ละคนจะมีภาษาที่ถนัดไม่เหมือนกัน ดร.แกรี่เรียกว่า "ภาษาหลัก" (primary language) เราลองมาสังเกตและทบทวนตนเองกันดูว่า เรามีความถนัดใช้ภาษาไหนในห้าภาษาสื่อคุณค่าแท้นี้

ภาษาที่ ๑ ภาษาคำชื่นชม (Words of Affirmation) เป็นภาษาที่ใช้คำพูดเป็นตัวสื่อข้อความด้านบวกให้กับอีกคนหนึ่ง คนที่ถนัดภาษานี้ มักจะเป็นคนที่สามารถพูดชมเชยคนอื่นได้ง่าย และมักจะต้องการให้คนอื่นชื่นชมตนเองด้วยคำพูดเช่นกัน คำชื่นชมที่สื่อคุณค่าแท้และได้ผล มักจะหยิบประเด็นในตัวบุคคลสามประเด็นต่อไปนี้ขึ้นมาชื่นชม ๑. ชื่นชมในผลงานที่สำเร็จ ๒. ชื่นชมในบุคลิกภาพด้านบวกของบุคคลนั้น เช่น การเป็นคนละเอียดรอบคอบ การเป็นคนมีน้ำใจ การเป็นคนร่าเริง เป็นต้น ๓. ชื่นชมแก่นคุณธรรมในตัวบุคคลนั้น กล่าวคือ คนๆ นั้นจะคิด พูด และทำ ด้วยคุณธรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง เช่น ความซื่อสัตย์ความอดทนอดกลั้น ความรักความเมตตา ความกล้าหาญ เป็นต้น เมื่อคนในองค์กรที่ถนัดภาษานี้ได้รับคำชื่นชมอย่างจริงใจในประเด็นทั้งสาม ไม่ว่าจะมาจากหัวหน้า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน เขาจะรู้สึกซาบชึ้ง และรับรู้ได้ว่าคนเห็นคุณค่าในตัวเขา

ภาษาที่ ๒ ภาษาเวลาคุณภาพ (Quality Time) เป็นภาษาที่ต่างไปจากภาษาคำชื่นชม ในขณะที่ภาษาคำชื่นชมจะสนใจว่า "คนอื่นพูดอะไร" ภาษาเวลาคุณภาพจะสนใจว่า "คนอื่นได้ยินอะไร" คนที่ถนัดภาษานี้ จะรับรู้ได้ทันทีว่าคนอื่นเห็นคุณค่า เมื่อคนอื่นมีเวลามาสนทนากันอย่างลึกซึ้ง ในเวลาสนทนากันจะใส่ใจความคิด ความรู้สึก และความต้องการ ของกันและกัน โดยไม่มีอะไรมาขัดมาแทรก เวลาคุณภาพไม่ต้องการเวลามาก เพราะคุณภาพอยู่ที่ความใส่ใจ และหัวใจสำคัญของภาษานี้ คือการได้อยู่ด้วยกัน หรือการได้ทำอะไรด้วยกัน หัวหน้าที่แวะมาถามไถ่ลูกน้องว่าทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ไปถึงไหนแล้ว ติดขัดอะไรตรงไหน หรือรู้สึกอย่างไรกับงานนี้ จะช่วยให้ลูกน้องที่มีภาษาเวลาคุณภาพเป็นภาษาหลัก รู้สึกซาบซึ้ง และรู้สึกมีพลังพร้อมสู้ต่อ แม้ว่างานจะยากหรือจะหนักก็ตาม บางทีการได้สนทนาอย่างเป็นกันเองในวงกาแฟ ก็ช่วยทำให้บรรยากาศของการเห็นคุณค่าซึ่งกันและกันในที่ทำงานเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ภาษาที่ ๓ ภาษาช่วยงาน/ให้บริการ (Acts of Service) คนที่ถนัดภาษานี้มักจะบอกว่า "การกระทำสื่อได้มากกว่าคำพูด" ในองค์กรจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รู้สึกได้รับกำลังใจจากคำชื่นชม หรือการมีเวลานั่งสนทนากัน แต่จะรู้สึกมีพลังเมื่อคนในองค์กรหยิบยื่นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระงานให้ในยามที่ต้องการ คนกลุ่มนี้มักจะมีมุมมองว่า "อย่าบอกว่าเป็นห่วง ทำให้ดู" การทำงานให้เสร็จลุล่วงตามเป้าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้ และเขาจะซาบซึ้งเมื่อมีคนมีร่วมมือร่วมใจกันทำงานให้ได้ ภาษาช่วยงานจะสื่อได้ดีเมื่อช่วยด้วยจิตอาสา และแม้ว่าบางทีเราอาจไม่สามารถช่วยงานนั้นได้ เพราะไม่เชี่ยวชาญหรือทำไม่เป็นก็ตาม การให้บริการอย่างเช่น ซื้อข้าวเที่ยงมาให้ทาน หรือจัดเอกสารให้แทน ก็เป็นการสื่อคุณค่าแท้ที่มีต่อคนกลุ่มนี้ได้ แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะชอบให้คนมาช่วยงาน แต่งานหลายอย่างก็ไม่จำเป็นต้องมีคนช่วยก็ได้ ดังนั้นการถามความต้องการก่อน ก็จะทำให้สามารถช่วยงานได้อย่างเหมาะสม

ภาษาที่ ๔ ภาษาของขวัญ (Tangible Gifts) มีคนในองค์กรอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกได้รับพลังในการทำงาน จากการได้รับของขวัญ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญที่จับต้องได้เป็นชิ้น เช่น เสื้อผ้า นาฬิกา แก้วน้ำ หรือจะเป็นของขวัญที่จะนำไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ตั๋วเข้าชมภาพยนตร์ ตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวต่างประเทศ บัตรสมาชิกเล่นฟิตเนส ก็ตาม คนที่มีภาษาของขวัญเป็นภาษาหลัก จะสนใจที่คุณค่าทางจิตใจที่ใส่อยู่ในของ มากกว่ามูลค่าราคา บางครั้ง การ์ดเขียนข้อความสักใบ หรือดอกไม้สักดอก ก็เป็นการสื่อคุณค่าแท้ที่มีต่อเขาได้ การให้เวลากับการใส่ความพยายามลงไปในของขวัญชิ้นนั้น จะสะท้อนให้ผู้รับรับรู้ได้ว่า ตัวเขามีค่ามากเพียงไร การให้ของขวัญเป็นรายบุคคลจะสื่อคุณค่าแท้ได้ตรงมากกว่าการให้ของเหมือนๆ กัน แม้ว่าฟังดูแล้วอาจยุ่งยากในการหาของ แต่เมื่อคนในองค์กรรู้ว่าใครที่มีภาษานี้ แล้วสื่อให้ถูกเฉพาะกับคนที่ใช้ภาษาของขวัญ ก็จะทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับการเห็นคุณค่าจากคนในองค์กร

ภาษาที่ ๕ ภาษากายสัมผัส (Physical Touch) ภาษานี้อาศัยการสัมผัสทางกายเป็นตัวสื่อคุณค่าแท้ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือด้วยความหนักแน่นเพื่อสื่อว่าทำงานได้ดีมาก ตบไหล่เบาๆ เพื่อสื่อว่ามีเพื่อนคอยห่วงใย ลูบศีรษะอย่างนุ่มนวลเพื่อสื่อว่ามีกำลังใจมอบให้เสมอ หรือการกอดอย่างอ่อนโยนเพื่อสื่อว่าคุณมีค่าสำหรับฉัน หากทำด้วยทีท่าที่เหมาะสม โดยไม่มีเรื่องทางเพศ มีสติ มีความใส่ใจ ก็จะช่วยให้กายสัมผัสสื่อคุณค่าแท้ต่อกันได้ในองค์กร อย่างไรก็ตามการสัมผัสตัวในที่ทำงานก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวัง การสัมผัสอย่างพอดีจะช่วยให้คนที่มีภาษานี้เป็นภาษาหลัก ได้รับการเห็นคุณค่าในองค์กร คนกลุ่มนี้เพียงแค่ได้รับสัมผัสอย่างใส่ใจ น้ำตาแห่งความซาบซึ้งก็ไหลได้แล้ว นอกจากนี้การสัมผัสที่เหมาะต่อวัฒนธรรมประเพณี อย่างเช่น พิธีรดน้ำดำหัว ก็เป็นโอกาสที่สื่อคุณค่าแท้ผ่านภาษากายสัมผัสได้เป็นอย่างดี

เมื่อคนในองค์กรต่างรู้กันว่า ใครถนัดภาษาใด ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศของการเห็นคุณค่าในองค์กรได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เริ่มจากเราสังเกตตัวเองให้ออกว่าใช้ภาษาใด แล้วสังเกตว่าคนอื่นๆ ใช้ภาษาอะไร งานวิจัยของดร.แชปแมนและดร.ไวท์ บอกว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๕ จะใช้ภาษาหลักเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ถ้าเราสังเกตว่า ถ้าเราหรือเพื่อนร่วมงานของเรา มักมีคำพูดดีๆ ชื่นชมคนอื่นบ่อยๆ ก็แสดงว่าช่องทางภาษาคำชื่นชมจะเป็นช่องทางหลักที่ใช้สื่อคุณค่าแท้ ถ้าเราหรือเพื่อนร่วมงานของเรา มักมีของติดไม้ติดมือมาฝากเป็นประจำ ก็มีแนวโน้มว่าจะใช้ภาษาของขวัญเป็นหลัก ถ้าเสร็จงานแล้วมีคนเป็นตัวตั้งตัวตีไปฉลองด้วยกัน ก็มีแนวโน้มว่า คนนั้นจะใช้ภาษาเวลาคุณภาพเป็นหลัก ถ้าใครมักคุยไป สัมผัสไป ก็มีแนวโน้มว่าเขามีภาษาหลักคือ ภาษากายสัมผัส และถ้าใครชอบช่วยเหลืองานเพื่อน (บนเงื่อนไขว่างานของตัวเองเสร็จแล้ว) ก็มีแนวโน้มว่า เขามีภาษาช่วยงาน/ให้บริการ เป็นภาษาหลัก

ในองค์กรที่คนเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน และมีการสื่อสารคุณค่าแท้ได้ถูกช่องทางอยู่เป็นประจำ จะสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้คนเติบโต พร้อมที่จะเผชิญการเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัว พร้อมที่จะคิดต่าง ทำต่าง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ สำหรับชีวิตในองค์กรแล้ว ไม่มีแรงจูงใจใดที่จะทรงพลังมากไปกว่าการเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ไม่ใช่รางวัล ไม่ใช่การขึ้นเงินเดือน แต่เป็นการสื่อสารตลอดเวลาว่า สมบัติอันล้ำค่าขององค์กรคือพวกเราทุกคน

พัฒนาจิตจากการทำงาน



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2554

คนทำงานสามารถพัฒนาจิตได้ทุกวันโดยไม่ต้องไปวัด

ประมาณเจ็ดปีแล้วที่มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ได้ทดลองรูปแบบการจัดประชุมเพื่อพัฒนาจิตคนทำงานโดยมีปรัชญาว่า “พัฒนาจิตจากการทำงาน”

หมายความว่าคนทำงานทุกคน ทุกสาขาอาชีพ สามารถยกระดับจิตใจของตนเองระหว่างทำงานได้ หากทำไม่ได้ก็มีกลวิธีที่จะช่วยให้ยกระดับจิตใจของตนเองในภายหลัง ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถนำไปทดลองทำได้ มิใช่เรื่องยากและไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร

ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องไปเข้าคอร์ส ฝ่ายบุคคลของทุกบริษัทหรือองค์กรลองทำได้

พัฒนาจิตจากการทำงานคือยกระดับจิตใจของตนเอง มิได้มุ่งหวังจะให้ยกถึงสวรรค์ชั้นไหน หรือละแล้วซึ่งรัก โลภ โกรธ หลง หรือบรรลุอะไร เพียงมุ่งหวังให้มีความสุขกับการทำงาน เห็นคุณค่าของงาน และตั้งใจทำงานเพื่องานเท่านั้นเอง

มีความสุขกับการทำงาน หมายความว่าตื่นเช้าก็อยากมาทำ ทำงานก็ไม่มองนาฬิการอเลิก พบอุปสรรคก็เห็นเป็นเรื่องสนุก

เห็นคุณค่าของงาน กินความตั้งแต่เห็นคุณค่าของตัวเอง ว่าตัวเราสำคัญต่องานและองค์กร เห็นคุณค่าของอาชีพหรือวิชาชีพที่กำลังทำ เห็นคุณค่าของการทำงานหนัก และมีอุดมการณ์ของงานและชีวิต

ตั้งใจทำงานเพื่องาน เงินเดือนและค่าตอบแทนแม้สำคัญ แต่คนทำงานที่ดีคือคนทำงานเพื่องาน เป็นขั้นตอนพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ

ฝ่ายบุคคลทุกองค์กรเฝ้าหาคอร์สพัฒนาบุคลากร แต่ส่วนใหญ่พัฒนาได้เพียงระยะสั้นๆ เมื่อกลับไปทำงานก็เบื่องานเหมือนเดิม เพราะเมื่อคนกลับเข้าสู่โครงสร้าง บรรยากาศ บริบท และวัฒนธรรมองค์กรเดิมๆ ก็จะทำงานแบบเดิมทุกครั้งไป เปรียบเหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หากเราติดตั้งโปรแกรมเวอร์ชั่นไหนแล้วก็ต้องทำงานภายใต้เวอร์ชั่นนั้นตลอดไป

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์มีประสบการณ์จัดประชุมเพื่อ “พัฒนาจิตจากการทำงาน” กับโรงพยาบาลของรัฐจำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยแห่ง และทำงานกับโรงเรียนรัฐบาลประมาณหนึ่งร้อยแห่งทั่วทุกภาค ทำงานกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ ทดลองทำกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในทัณฑสถานจังหวัดเชียงราย ทดลองทำกับผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่ ทำงานกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และเครือข่ายสุขภาพในท้องที่ ทำงานกับเครือข่ายการบริการสุขภาพปฐมภูมิเขตเมืองโคราช และเครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติดทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน

แพทย์ พยาบาล ครู เจ้าหน้าที่ทัณฑสถาน บุคลากรประจำ รพ.สต. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชนด้านยาเสพติด ผู้บริหารระดับกลางของเครือข่ายการทำงานใดๆ มีจำนวนมากที่เข้าใจปรัชญาพัฒนาจิตจากการทำงาน และสามารถจัดการประชุมด้วยตนเองต่อไปตามแต่โอกาสและงบประมาณจะมีให้

เคล็ดลับในการจัดประชุมเรื่องนี้ไม่ยาก จุดสำคัญคือสอนให้เจ้าหน้าที่รู้จัก “ฟังอย่างตั้งใจ” ที่เรียกว่า deep listening คนเราส่วนใหญ่ไม่ฟังกัน หากฟังก็ฟังเพียงเนื้อหา หากจัดประชุมยิ่งฟังกันเพียงผ่านหูหรือไม่ฟังเลย ดังนั้นเรื่องที่การประชุมเพื่อพัฒนาจิตจากการทำงานมุ่งเน้น คือสอนให้คนฟังกันอย่างตั้งใจ

ฟังอะไร

ฟังเพื่อนร่วมงานเล่าวิธีทำงานของเขา

ฟังอย่างตั้งใจ หมายถึงตั้งใจฟัง สังเกตสีหน้า วิธีพูด อากัปกิริยา นั่งมองนั่งฟังจนเข้าใจเรื่องที่เขาพูด เข้าใจเนื้อหาที่เขาบอก เข้าใจเจตนาของเขา เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังการกระทำของเขา พูดง่ายๆ ว่าเข้าใจจนเปรียบเสมือนสวมแว่นเดียวกันกับเขา มองโลกในแบบที่เขามอง ใส่รองเท้าของเขา ยืนในที่ที่เขายืน

เวลาเราฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ ไม่มากก็น้อยเสมือนหนึ่งเจริญสติไปในตัว

คนเล่าเล่าอะไร ให้เล่าวิธีทำงานของตนเองที่เรียกว่า story telling วิธีทำงานหมายถึง ทำงานอย่างไร (How) มิใช่ทำอะไร (What) เช่น เวลาขอให้คุณหมอเล่า คุณหมอมักเล่าว่าวันๆ ทำอะไร ตอนเช้าไปตรวจผู้ป่วยตามเตียง ตรวจไป ๓๐ คน แล้วมาออกตรวจผู้ป่วยนอกนานสามชั่วโมง ตรวจไป ๕๐ คน เป็นชาย ๒๗ คน เป็นหญิง ๒๓ คน ประมาณนี้เรียกว่าเล่าว่าไปทำอะไรมา แต่มิได้ลงรายละเอียดว่าทำอย่างไร เช่น เริ่มต้นทำงานกี่โมง ไปเยี่ยมผู้ป่วยแต่เช้าตรู่ ญาติผู้ป่วยพูดว่าอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไรที่ญาติและผู้ป่วยเห็นหน้าหมอมาทำงานแต่เช้า ไปออกตรวจผู้ป่วยนอก สวัสดีผู้ป่วยอย่างไร พบผู้ป่วยยากจน พิการ เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ คุณหมอพูดว่าอย่างไร ปลอบผู้ป่วยอย่างไร พูดไปแล้วปลอบไปแล้วผู้ป่วยมีสีหน้าอย่างไร แล้วตนเองรู้สึกอย่างไร ฯลฯ เช่นนี้เรียกว่าเล่าว่าทำงานอย่างไร

หากเป็นครู ครูไม่เล่าว่าสอนกี่ชั้น ชั้นละกี่คน เด็กได้กี่เปอร์เซ็นต์ตกกี่เปอร์เซ็นต์ ครูควรเล่าว่าได้พบเด็กยากจนชื่ออะไร พบเด็กเกเรชื่ออะไร แล้วครูเข้าหาเขาอย่างไร พูดว่าอย่างไรบ้าง เด็กดื้ออย่างไร ครูใช้วิธีไหนอีกในการเข้าหาจนสำเร็จ ชวนเด็กไปทำงานบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยให้เด็กพบคุณค่าของตนเอง เช่นนี้เรียกว่าเล่าว่าทำงานอย่างไร

หากเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ให้เล่าเรื่องดูแลผู้ต้องขังอย่างไรให้เขาพัฒนาตนเอง หากเป็นเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ให้เล่าว่าได้ชักชวนประชาชนในท้องถิ่นมาทำกิจกรรมอะไรเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ตอนไปชักชวนไปตอนไหน กี่โมง ไปพูดว่าอย่างไรจึงสำเร็จ กิจกรรมที่ว่าทำอย่างไร เป็นต้น เช่นนี้เรียกว่าเล่าว่าทำงานอย่างไร

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่าง คนทำงานทุกคนมีเรื่องเล่าอัศจรรย์มากมายรอจะเล่า

ข้อผิดพลาดคือเวลาพวกเราเข้าประชุมมักชอบพูดว่าไปทำอะไรมา หรือชอบนำเสนอผลงานเป็นจำนวนนับ หรือชอบระดมสมองซึ่งก็ไม่ค่อยกล้าจะพูดเท่าไรนัก หรือชอบแสดงความคิดเห็นส่วนตัวซึ่งไม่สามารถนำไปทำอะไรได้มากนัก หรือชอบเสนอแนะนำคนอื่นซึ่งคนอื่นก็ฟังไปเช่นนั้นเอง ไม่ทำตามที่เสนอแนะ หรือชอบพร่ำบ่นปัญหาที่ไม่มีทางออก แย่กว่านี้คือเชือดเฉือนกันในห้องประชุมให้หมดเวลาไป

การจัดประชุมเพื่อพัฒนาจิตจากการทำงาน จึงต้องการองค์ประกอบที่สำคัญสองประการ ประการหนึ่ง คือเตรียมและเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้เล่าวิธีทำงานของตนเอง ให้เขาได้อวดว่าเขาทำงานอย่างไรงานจึงสำเร็จ หากเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่บางระดับมาเล่าเรื่อง จะได้เรื่องราวแปลกใหม่มากมาย เช่น ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยมาเล่าว่าเขาพบอะไรบ้างยามค่ำคืน แล้วเขาทำอย่างไร เป็นต้น ประการที่สอง คือเตรียมผู้ฟังให้รู้จักฟังอย่างตั้งใจ ยอมรับเรื่องเล่าโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่โต้เถียงหรือเห็นแย้งหรือเสนอแนะอะไร เพียงฟังด้วยความตั้งใจและรู้สึกไปกับเรื่องเล่านั้น
หลังจากนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนได้สะท้อนความรู้สึกที่ได้รับจากการเล่าและการฟังเรียกว่า reflection การสะท้อนความรู้สึกจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของกลไกพัฒนาจิต

ด้วยการประชุมในรูปแบบนี้ มูลนิธิฯ พบว่าเจ้าหน้าที่ที่มาร่วมประชุมได้รับแรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำงานเดิมๆ ด้วยความรู้สึกใหม่ๆ

มีความสุขกับการทำงาน เห็นคุณค่าของงาน และตั้งใจทำงานเพื่องาน

ธรรมะจากอุทกภัย



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2554

สิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราในวันนี้ ไม่ว่าปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ถึงที่สุดแล้วมันกำลังบอกเราว่า เป็นเพราะเรากำลังขวางความจริง เริ่มที่เราขวางกระแสน้ำ เราไม่ได้ขวางอย่างเดียว แต่ว่าเราทำลายด้วย เราทำลายป่า เราถมคลอง เราทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับสายน้ำ ก็เลยเกิดภัยพิบัติขนาดนี้ แต่ภัยพิบัติขนาดนี้ไม่อาจกัดกร่อนจิตใจเราได้มาก ถ้าหากเรายอมรับความจริง ไม่เอาความต้องการของเรา หรือความยึดมั่นของเราไปขวางกระแสแห่งความจริง เราก็จะผ่านเหตุร้ายอันนี้ไปได้ ถึงแม้เราจะสูญเสียทรัพย์ แต่ใจเราไม่เสีย น้ำท่วมบ้านแต่ไม่ท่วมใจ

อย่างไรก็ตาม ทำใจอย่างเดียวไม่พอ ทำใจก็คือยอมรับว่าน้ำจะท่วมแล้ว พร้อมที่จะเผชิญกับมัน ทำใจอย่างนี้ได้ก็ดีแล้ว แต่อย่าลืมเตรียมตัวด้วย คือปล่อยวางแล้ว ก็อย่าลืมขนของขึ้นที่สูงด้วย

พุทธศาสนาไม่ได้บอกให้ทำใจเพียงอย่างเดียว ต้องทำกิจด้วย คือเตรียมป้องกันหรือหาหนทางลดทอนความเสียหาย ถึงเราจะไม่ยึดติดทรัพย์สมบัติ ปล่อยวางได้ แต่อะไรที่สามารถขนย้ายให้ปลอดภัยได้ก็ควรทำ เหมือนกับเวลาเราเจ็บเราป่วย เราทำใจยอมรับได้ว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ไม่เยียวยารักษา ทำจิตและทำกิจ ต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นตอนนี้สำหรับคนที่กำลังหาทางปกป้องทรัพย์สมบัติ ก็อย่าทำกิจอย่างเดียวควรทำใจเผื่อไว้ด้วยว่าอาจจะต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติ ส่วนผู้ที่ทำใจได้แล้ว ก็อย่าอยู่นิ่งเฉย ควรขนของขึ้นที่สูงได้แล้วตั้งแต่ตอนนี้ อย่าไปมองว่าเป็นความตื่นตูม เมื่อเราทำเต็มที่แล้วเราจะเสียใจไม่มาก เพราะว่าหนึ่ง ฉันทำเต็มที่แล้ว และสอง ทรัพย์สมบัติที่สูญเสียไปย่อมน้อยกว่าคนที่ประมาทหรือชะล่าใจ

เมื่ออุทกภัยเกิดขึ้น นอกจากการยอมรับความจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และรู้จักยกใจให้เหนือน้ำ แม้ว่าข้าวของจะอยู่ใต้น้ำไปแล้วก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ควรมองเหตุการณ์ครั้งนี้ในแง่บวกบ้าง มองในแง่บวกหมายถึงการรู้จักใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น มองว่ามันเป็นเครื่องสอนธรรมหรือสอนใจเรา สอนให้เราเห็นความไม่เที่ยง สอนใจให้เราตระหนักว่า ทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่มีอยู่นี้ไม่มีสักอย่างที่เป็นของเราเลย ความพลัดพรากจากมันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่ใช่วันนี้ก็ต้องเป็นวันหน้า โดยเฉพาะเมื่อถึงวันที่เราต้องตาย ควรใช้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้เราตระหนักถึงเรื่องอนาคตภัยอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่กลัว ไม่ใช่กังวลกับมัน แต่ให้เตรียมตัวอยู่เสมอ

การเตรียมตัวที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญคือเตรียมตัวตั้งแต่มันยังไม่เกิด หรือยังอยู่ไกล คนส่วนใหญ่มาเตรียมตัวก็เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วหรือเมื่อมันมาประชิดตัวแล้ว คนเรามักจะขยับทำอะไรก็ต่อเมื่อทุกข์มาประชิดตัว ถ้าไม่ทำเพราะความทุกข์บีบคั้น ก็ทำเพราะกลัวความทุกข์ แต่นั่นไม่ใช่วิธีของชาวพุทธ วิธีของชาวพุทธคือต้องรับมือกับมันตั้งแต่มันยังอยู่ไกล เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราเปรียบเหมือนม้า ๔ ประเภทที่ใช้เทียมรถ ม้าประเภทแรก เพียงแค่เห็นเงาสารถีชูปฏักขึ้น มันก็รู้ว่าจะเลี้ยวไปทางไหน ประเภทที่สองต้องโดนปฏักทิ่มหนังถึงจะรู้ ประเภทที่สามต้องโดนปฏักทิ่มไปถึงเนื้อถึงจะรู้ ประเภทที่สี่ต้องโดนปฏักทิ่มไปถึงกระดูกถึงจะรู้

คนสี่ประเภทนี้คืออะไร ประเภทแรกคือคนที่เมื่อได้ยินว่ามีคนตาย ก็เกิดความสังเวชหรือความตื่นตัว เข้าหาธรรม ประเภทที่สองต่อเมื่อเห็นคนตายก็ค่อยตื่นตัว เข้าหาธรรม ประเภทที่สาม เมื่อพบว่าคนรัก คนใกล้ชิดตาย จึงค่อยตื่นตัวเข้าหาธรรม ประเภทที่สี่ ต่อเมื่อตัวเองใกล้ตายถึงจะตื่นตัว พระพุทธเจ้าสรรเสริญคนประเภทแรก คือเพียงแค่รู้ว่ามีคนตายก็เข้าหาธรรมแล้ว ไม่ต้องรอให้ความตายเกิดขึ้นกับคนรักหรือเข้ามาประชิดตัว คือไม่ได้ทำเพราะกลัวความทุกข์หรือถูกความทุกข์บีบคั้น

อุทกภัยครั้งนี้นอกจากสอนใจเราเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย และเตือนใจให้เราไม่ประมาทแล้ว ยังสามารถฝึกใจให้เราเข้มแข็ง ฝึกใจให้เรามีสติ ฝึกใจให้เรารู้จักปล่อยวาง ทั้งหมดนี้ล้วนมีารถือนใจให้เราไม่ประมาทแล้ว ยังอนิจจัง ความไม่เที่ยง ประโยชน์เพราะเราจะต้องเจอภัยธรรมชาติอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นแต่ว่าเราตายก่อนเท่านั้น

พูดอีกอย่าง อุทกภัยครั้งนี้เปรียบเสมือนการบ้านที่ฝึกเรา ถ้าเราทำการบ้านข้อนี้ได้ เราก็มีโอกาสที่จะทำการบ้านข้อที่ยากขึ้นได้ แต่ถ้าเรายังไม่ผ่านการบ้านข้อนี้ ถ้าเราสอบตก แล้วเราจะหวังได้อย่างไรว่าเราจะสอบได้เมื่อมีเหตุการณ์ที่หนักกว่านี้ในอนาคต เหตุการณ์ที่หนักกว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นภัยพิบัติ อย่างเช่นน้ำท่วมแผ่นดินไหว อาจจะเป็นภัยพิบัติส่วนตัวก็ได้ เช่นเมื่อคุณพบว่าคุณป่วยหนัก เป็นโรคร้าย เป็นมะเร็ง หรือว่าคุณกำลังจะตายไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม นี่เป็นภัยพิบัติส่วนตัวที่ทุกคนต้องเจอ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเครื่องฝึกซ้อมเพื่อเราจะได้เข้มแข็ง แกร่งกล้า และมีปัญญาเพิ่มขึ้น ช่วยให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันที่จริงควรจะมองด้วยซ้ำว่า เหตุการณ์แบบนี้ช่วยเตือนให้เราหมั่นเจริญมรณสติอยู่เสมอ ถ้าเราเจริญมรณสติอยู่เสมอ โดยอาศัยเหตุการณ์นี้เป็นเครื่องกระตุ้นเร้า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเราจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ถึงสูญเสียรถ สูญเสียเงิน สูญเสียทรัพย์สิน แม้เป็นจำนวนมาก แต่มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับความตายที่ต้องเกิดขึ้นกับเรา เพราะถึงตอนนั้นเรามีเท่าไหร่ ก็ต้องสูญเสียจนหมด วันนี้เราอาจสูญเสียบ้านหรือถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ เราก็สามารถหาใหม่ได้ แต่ถ้าถึงวันที่เราต้องตาย เราจะต้องสูญสิ้นทุกอย่าง แม้แต่ลมหายใจก็ไม่เหลือ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ แม้เป็นความสูญเสียที่มากมาย จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อนึกถึงความตายที่ต้องเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงขอให้หมั่นพิจารณามรณสติไว้เสมอ จะช่วยให้เราปล่อยวางหรือทำใจได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น

สตีฟ จอบส์ เคยแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี ๒๕๔๘ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปาฐกถาที่ดีมาก ตอนนั้นเขาป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนแล้ว ตอนหนึ่งเขาพูดถึงความตายว่า ความตายเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่ช่วยให้คนเราตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ในชีวิตได้ เขาบอกว่า สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา เช่น ความคาดหวัง ความทะนงตน ความกลัวเสียหน้า กลัวความล้มเหลว ทั้งหมดนี้จะมลายหายไปเมื่อคุณระลึกถึงความตาย จะเหลืออยู่ก็แต่สิ่งที่มีความสำคัญจริง ๆ กับชีวิตของคุณ เขายังบอกอีกว่า การระลึกถึงความตายอยู่เสมอเป็นวิธีดีที่สุดที่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากกับดักของความคิดที่ว่า เรามีอะไรต้องสูญเสีย เพราะที่จริงเราไม่มีอะไรต้องสูญเสีย เนื่องจากเราทุกคนล้วนเปลือยเปล่า คือไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยจริง ๆ

เราเกิดมามือเปล่า เมื่อตายเราก็ไปมือเปล่า ทรัพย์สมบัติที่เราได้มาระหว่างนั้นต้องถือว่าเป็นกำไร ถ้าคุณสูญไปหมดเลยก็เท่าทุนเท่านั้นเอง แต่คนที่สูญเสียจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ อาตมาเชื่อว่า คุณไม่ได้เท่าทุน คุณยังมีอะไรอีกหลายอย่างอยู่กับตัว อย่างน้อยก็ยังมีบ้าน มีครอบครัว มีเพื่อนฝูง และที่สำคัญที่สุดคือมี ลมหายใจที่จะสร้างอนาคต สร้างความหวังขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะสูญเสียอะไรไปก็ตามลองนึกถึงวันสิ้นลม ว่าเมื่อถึงวันนั้นคุณต้องไปมือเปล่า เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง ดังนั้นสิ่งที่ยังเหลืออยู่ตอนนี้ควรถือว่าเป็นกำไร หากคิดได้เช่นสมบัติที่สูญเสียไปก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันที

ดังนั้นอย่าลืมเจริญมรณสติอยู่เสมอ มันจะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นความทุกข์หรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งวันนี้และวันหน้าได้ นี่เป็นวิธีหนึ่งในการเตรียมใจให้สอดคล้องกับกระแสธรรมชาติหรือกระแสสัจธรรม อันได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบแล้วพราก เจอแล้วจาก ยามใดที่เราวางใจขวางกระแสสัจธรรม ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากสูญเสีย เราจะถูกธรรมชาติทำร้าย ธรรมชาติลงโทษ เหมือนกับตอนนี้ที่ผู้คนกำลังถูกธรรมชาติลงโทษเพราะสร้างสิ่งกีดขวางกระแสน้ำอันไหลเชี่ยว ต่อเมื่อเปิดทางให้กระแสน้ำไหลผ่าน เปิดใจให้สอดคล้องกับกระแสธรรมชาติ เราจึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุขท่ามกลางความทุกข์ ถึงแม้ประสบทุกข์แต่เราสามารถยกจิตให้เหนือทุกข์ได้ ถ้าวางใจเป็น

บทความนี้ไม่พูดเรื่องน้ำ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554

ตอนสมัยเรียนวิศวะ ผมเคยได้ยินเรื่องกฎของเมอร์ฟี่

“สิ่งใดก็ตามที่ผิดพลาดได้ ย่อมจะผิดพลาดในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด”

เมื่อก่อนยังฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ในวันที่ผมต้องอพยพออกจากบ้านของตัวเองที่กรุงเทพฯ เพราะมหาอุทกภัยถล่มเมือง ผมจึงเริ่มเข้าใจว่าคุณเมอร์ฟี่ต้องการจะบอกอะไร

ความผิดพลาดได้เกิดขึ้นแล้ว

แต่มันเป็นความผิดพลาดของใครผมก็ยังมึนๆ ธรรมชาติจิตใจของคนเรามักจะไม่ชอบอยู่กับความมึนงงนานนัก มันต้องการตัดลงสู่ความชัดเจนเพื่อขจัดเสียซึ่งสภาวะอันไม่น่าชอบใจนี้ ปัญหาก็คือในระหว่างที่เรากำลังมึนตึ้บอยู่นั้น คนเรามักจะมุ่งตรงไปที่คำตอบซึ่งไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง แต่เรามักจะพุ่งเป้าไปหา “แพะรับบาป” เพื่อที่ว่าบุคคลหรือวัตถุสิ่งนั้นจะได้มารองรับความขุ่นเคืองใจของเรา ผลที่ได้คือความสะใจในการแสดงออก แต่เราไม่เฉลียวใจว่าจิตใจของเราในขณะนั้น กำลังทำงานในระดับขั้นที่ไม่ก่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวเองและโลกของเรา คือลำดับขั้นจิตบำเรอตน (I-in-me) หรือจิตจริยธรรม (I-in-Crowd) – อ่าน “บันไดจิตวิวัฒน์ ๕ ขั้น” ใน มติชน วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔

การตกไปอยู่ในความขุ่นมัวส่งผลเป็นความเครียดสะสม อาการก็คือหงุดหงิดโดยไม่ต้องมีสาเหตุ เห็นอะไรขวางหูขวางตา นอนหลับไม่สนิท จิตใจไม่แจ่มใส คิดอะไรไม่ออก ถ้าอยากแก้ไขก็ต้องเล็งไปที่เหตุ เมื่อต้นเหตุอยู่ที่ความคิด ก็ต้องพาตัวเอง “ออกจากความคิด” เสียก่อน เพราะการติดกับดักของความคิดทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นจริง การระลึกรู้อยู่ที่ความรู้สึกในร่างกายก็เป็นวิธีการหนึ่งในการออกจากความคิดที่วุ่นวาย

การออกจากความคิดไม่ใช่ห้ามไม่ให้คิด หรือหยุดคิด ความคิดที่วุ่นวายก็เหมือนสายน้ำที่ไหลไปอย่างควบคุมทิศทางไม่ได้ เราหยุดสายน้ำไม่ได้ฉันใด เราก็หยุดความคิดไม่ได้ฉันนั้น แต่ความลับอยู่ตรงที่เราสามารถ “กั้น” ความคิดของเราได้ชั่วขณะ โดยอาศัย “ทำนบ” ซึ่งหมายถึงความรู้สึกถึงอาการในกาย เมื่อความรู้สึกตัวชัด เราจะออกจากความคิดได้ชั่วขณะ

แต่เราทุกคนรู้ว่า “ทำนบ” สามารถกั้นน้ำได้เพียงชั่วคราว สักประเดี๋ยวความเผลอเรอของเราจะทำให้ความคิดไหลซึมเข้ามา เหมือนน้ำที่ไหลซึมตามรอยรั่วของกระสอบทรายอย่างช้าๆ และหากมีใครมาพังแนวกระสอบทรายของเรา น้ำย่อมไหลบ่าเข้ามาอย่างควบคุมไม่อยู่ ไม่ต่างกันกับเวลามีใครหรืออะไรมากระแทกอารมณ์อย่างรุนแรง การระลึกรู้ที่เรียกว่า “สติ”​ จะขาดหาย ความคิดสับสนและความไม่พอใจก็ไหลเข้าท่วมใจ

ถ้าเราสามารถออกจากความคิดได้บ่อยๆ เราจะพัฒนาพลังความสามารถอันหนึ่งขึ้นมานั่นก็คือความสามารถใช้ความคิดในโหมด “สร้างสรรค์”​ ซึ่ง โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ บอกว่าในโหมดนี้ความคิดของเราจะแผ่ออกในลักษณะองค์รวม เราจะมีปัญญามองเห็นความเชื่อมโยงของเหตุและปัจจัย ตรงข้ามกับโหมด “เอาตัวรอด” ซึ่งมักจะคิดอะไรสั้นๆ โดยใช้ความคุ้นชินเดิม มาตีตราแปะป้ายหาความผิด คนเราเพ่งโทษผู้อื่นเพราะความกลัว ความไม่มั่นใจในอนาคต และความต้องการจะทำให้สภาพปัจจุบันนั้นไม่แปรเปลี่ยนไปจากสิ่งที่เราควบคุมได้

หากเรามองโลกตามความเป็นจริงจะพบว่าไม่มีสิ่งใดไม่เปลี่ยน ระบบต่างๆ ในธรรมชาติและระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนแต่อิงอาศัยกันอย่างซับซ้อน และมันไหลเลื่อนเคลื่อนที่แปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา นักรบธรรมท่านหนึ่งเคยบอกกับผมว่า

“ความเจริญมันไม่มีหรอก มีแต่การเสื่อมไปข้างหน้า”

เมื่อเกิดแล้วก็เสื่อมถอยเลย ที่บอกว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันจึงควรจะพูดเสียใหม่ว่าเป็น “เกิดขึ้น แปรปรวน และดับไป” เพราะเอาเข้าจริงไม่มีอะไรดำรงคงค้างอยู่ในสภาวะหนึ่งได้เลย ปัญหาอยู่ตรงที่หากเรายังใช้ความคิดในระบบ “เอาตัวรอด” ที่มุ่งจับผิดและหาคนผิดมาลงโทษ เราจะมองไม่เห็นอนิจจลักษณะคือความเสื่อมที่เกิดขึ้นในระบบซึ่งอิงอาศัยกันอย่างซับซ้อน แต่การจะก้าวเข้าไปสู่การใช้ความคิดในระดับ “ปัญญาญาณ” คือความรอบรู้ นอกจากจะต้องพาตัวเองออกจากการ “ติดเชือก” ทางความคิดแล้ว จะต้องฝึกความรู้รอบเสียก่อน
การรู้รอบหมายถึงเราต้องไม่ลดทอนและมองความจริงอย่างแยกส่วนจนมองไม่เห็นเหตุและปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้พยายามนำความรู้เรื่อง “ความคิดเชิงระบบ” (Systems Thinking) โดยเฉพาะในแง่มุมที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร พุทธศาสนาก็มีคำสอนเรื่องการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัย เรื่องน่าแปลกก็คือหากใครศึกษาองค์ความรู้ทั้งสองไปจนถึงจุดหนึ่งจะพบว่าเรา “ขว้างงู (แมมบ้า) ไม่พ้นคอ” หมายถึงทุกปัญหาจะชี้กลับมาที่เหตุปัจจัยสำคัญก็คือ “ตัวเราเอง” เพราะเราไม่แยกการดำรงอยู่ของเราออกมาอย่างเป็นเอกเทศจากระบบโดยไม่อิงอาศัยอะไรเลยได้ แม้แต่ความคิดที่ว่าเราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของระบบก็ไม่ถูกต้อง

เราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบ แต่ระบบเป็นส่วนหนึ่งของเรา

สิ่งที่เราตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำจึงมีผลต่อสภาพปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้นจึงโทษใครไม่ได้ เพราะเมื่อสาวหาเหตุไปจนสุดแล้วเราอาจจะต้องกลับมาเขกหัวตัวเองในฐานะ “ผู้สมรู้ร่วมคิด” ในโรงมหรสพแห่งระบบชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น ณัฐชนนท์ ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์​ บริษัทโฆษณา เธอชอบนั่งจิบกาแฟริมแม่น้ำ และพักในคอนโดหรูติดแม่น้ำ แต่เพราะมีลูกค้าที่มีความต้องการอย่างเธอ นักลงทุนจึงรุมแย่งกันพัฒนาที่ดินริมแม่น้ำ การได้มาซึ่งที่ดินนั้นไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือหลักผังเมืองหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แล้วเราจะโทษบรรพชนของเราในอดีตได้หรือไม่ เพราะการที่ท่านเหล่านั้นนิยมตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถสร้างฟลัดเวย์ ขนาบแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่งในปัจจุบัน

สำหรับคุณสมชาย พนักงานแบงค์ผู้อยากจะมีบ้านเดี่ยวสักหลังเพื่อสร้างครอบครัว สามปีที่ผ่านมาเขาตัดสินใจดาวน์บ้านจัดสรรแถบชานเมือง ซึ่งเจ้าของโครงการถมที่ลุ่มให้สูงขึ้น ในที่ซึ่งควรจะเป็นแก้มลิงรับน้ำ สมชายกับภรรยาและลูกน้อย ควรถูกตำหนิหรือไม่ ที่อยากจะอยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวและสวนหย่อมเล็กๆ เอาไว้หย่อนใจ แทนการไปอุดอู้อยู่ในทาวน์เฮาส์เก่าคร่ำคร่าแถบใจกลางเมืองซึ่งราคาแพงกว่า และเมื่อโรงงานทำชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ทำให้ชีวิตของขวัญจิตซึ่งอพยพมาทำงานจากภาคอีสานสามารถลืมตาอ้าปากได้ ใครจะไปสนว่ามันตั้งอยู่ขวางทางน้ำล้นทุ่งที่จะออกสู่ทะเล

หรือถ้าหากเราจะโทษรัฐบาลที่เก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนในปริมาณมากเกินไป จนเมื่อดีเปรสชันมาทำให้ระบายน้ำไม่ได้ เราก็ควรจะถามความรู้สึกของลุงชม อาชีพทำนา ว่าเมื่อยามที่ประสบภัยแล้งในบางปีจนผลผลิตข้าวเสียหายจนสิ้นเนื้อประดาตัว คุณลุงอยากให้เก็บน้ำเอาไว้หรือปล่อยน้ำออกให้หมดเขื่อน

การเพ่งโทษนั้นง่าย แต่การมองเห็นการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัยของปัญหานั้นยากกว่า ศาสตราจารย์แดเนียล คาห์เนมาน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพูดเรื่อง “คิดสั้น-คิดยาว” ในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา Thinking, Fast and Slow บอกว่าถึงคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือระดับผู้เชี่ยวชาญ ต่างมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดได้ทั้งนั้นเพราะมีอคติที่เข้ามาบดบังการมองเห็นตามความเป็นจริง แต่เขาก็ยังบอกอีกด้วยว่า การคิดสั้นในแบบที่เรียกว่า “ญาณทัสสนะ” (Intuition) ก็อาจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่การคิดวิเคราะห์ในลักษณะที่เป็นแบบแผนทำไม่ได้

มาร์กาเร็ต วีตเลย์​ บอกว่าในยามวิกฤติผู้คนย่อมกระหายข้อมูลที่เที่ยงตรงฉับไว ปัญหาก็คือในยามนั้นเรามักจะอยู่ในสภาวะข้อมูลท่วม เพราะไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ข้อมูลไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดๆ แต่มันไหลไปพร้อมกับนัยยะของความรู้สึกและความเห็น หากข้อมูลถูกปิดกั้นด้วยความคิดแบบ “เอาตัวรอด” คุณภาพของข้อมูลที่ไหลไปก็จะกระปริดกระปรอยเหมือนน้ำประปายามอุทกภัย

บางทีการสนับสนุนให้เกิดการไหลของข้อมูลและทรัพยากร ผนวกกับความเชื่อมั่นในความสามารถของผู้คนตัวเล็กอาจจะเป็นหนทางในการจัดการยามคับขัน ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดเรื่องความมั่นคง ที่เน้นการรวมศูนย์และควบคุมข้อมูลแบบที่ทหารรุ่นเก่าใช้เมื่อยุคสงครามโลก ข้อมูลในยุคสังคมออนไลน์นี้ไม่มีใครสามารถควบคุมมันได้ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์อย่างดี

มาร์กาเร็ตเล่าว่าในเหตุการณ์กันยาฯ วิปโยค 9/11 ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของสหรัฐอเมริกาซึ่งสังกัดอยู่กับทบวงการบินสหรัฐ (FAA) ต้องนำเครื่องบินจำนวน ๔,๕๐๐ ลำและผู้โดยสารจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ คน ลงบนพื้นดินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงแค่ชั่วโมงแรก พวกเขาสามารถนำเครื่องบินจำนวนกว่าร้อยละ ๗๕ ร่อนลงบนพื้นได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางความหวาดกลัวในเรื่องการก่อวินาศกรรมในเครื่องบินแต่ละลำ มันเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน ภายหลังมีความพยายามจะทำการบันทึกเพื่อถอดบทเรียน แต่จำต้องยกเลิกไปด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีใครสามารถบรรยายขั้นตอนหรือวิธีการทำงานในช่วงนั้นออกมาเป็นมาตรฐานได้ อาจเป็นเพราะความสามารถในการจัดการครั้งนั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยการร่วมมือ ความชำนาญ ความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์ซึ่งรวมตัวเป็นเครือข่ายที่ไว้เนื้อเชื่อใจและให้เกียรติกัน

เมื่อเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ผ่านไป เราทุกคนต้องกลับมาถามตัวเองว่า เราอยากจะถอดบทเรียนของวิกฤติครั้งนี้ออกมาเป็นกระดาษเปื้อนหมึก ข่าวเศร้าเคล้าน้ำตา หรือจะลงทุนกับการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คน?

สังคมแห่งน้ำใจ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554

ผมติดตามข่าวคราวน้ำท่วมนับตั้งแต่กรุงเก่าถึงกรุงเทพฯ อย่างรู้สึกหนักอกหนักใจ ยิ่งได้ยินเรื่องราวของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามกีดกันน้ำออกจากพื้นที่ของตัวเองจนเดือดร้อนชุมชนอื่นๆ ก็ยิ่งรู้สึกเศร้าใจ เพราะแทนที่เราจะช่วยกัน เรากลับกีดกัดแบ่งแยกกันยิ่งขึ้น แต่ก็ดีใจที่ได้เห็นว่าชุมชนหรือสังคมในหลายพื้นที่ “เลือก” ที่จะร่วมไม้ร่วมมือกันในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้

การที่ต้องเผชิญกับวิกฤตที่คิดไม่ถึงหรือจินตนาการไม่ออกว่ามันจะเกิดขึ้นกับเราได้ ทำให้หลาย ครอบครัวและองค์กรเกิดความระส่ำระสายว่าจะจัดการป้องกันหรือหนีจากน้ำท่วมอย่างไร เกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง เกิดทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง เพราะความเครียด ความวิตกกังวล และความไม่รู้ ทำให้การสร้างความร่วมมือนั้นท้าทายไม่น้อยสำหรับวิกฤตการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสร่วมจัดงาน World Youth Leadership Jam ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ ทำงานทางสังคมจากสิบกว่าประเทศได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน เป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง และเหนือความคาดหมายสำหรับผม ในขณะที่คิดว่าน่าจะทำอะไรได้บ้างสำหรับสังคมไทย ผมก็ได้มีโอกาสพูดคุยและเปลี่ยนกับเพื่อนคนหนึ่งที่มาจากประเทศญี่ปุ่น เธอชื่อ ยูกะ ไซออนจิ ทำงานให้กับมูลนิธิสันติภาพโกอิ (www.goipeace.or.jp) เธอได้บอกเล่าเรื่องราวของการฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่นจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว และกัมมันตภาพรังสี ราวกับฟ้าบันดาลให้ผมได้เรียนรู้สิ่งที่จะมีค่ายิ่ง

เธอบอกว่า ช่างน่าเศร้าที่ผู้คนเริ่มมองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่เลวร้าย ต้องหาทางหลีกหนีและปฏิเสธ แต่กลับลืมว่าวิถีชีวิตอันทันสมัยและสะดวกสบายของพวกเขาที่เป็นมาจวบจนทุกวันนี้ ล้วนพึ่งพานิวเคลียร์อยู่ แต่พอเกิดภัยพิบัติกลับพลิกมุมมองไปในทางรังเกียจเดียดฉันท์และเกรงกลัว แม้ว่าตัวเธอเองไม่ได้สนับสนุนการใช้นิวเคลียร์ แต่ก็มองว่าเรามีแนวโน้มที่จะตำหนิให้ร้ายอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเราเกิดความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือแม้แต่เพียงไม่สะดวกสบายตัว แม้ว่าสิ่งนั้นๆ อาจเคยมีบุญคุณกับชีวิตของเรา เรามักไม่ค่อยตั้งคำถามว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกชีวิตที่นำไปสู่ความทุกข์ที่จะตามมาอย่างไรบ้าง

ผมเองไม่ได้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์มาแต่ไหนแต่ไร เพราะเชื่อว่าสังคมควรจะมีทางเลือกในวิถีชีวิตที่แตกต่าง มากกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงแม้ในระดับไม่สูงมากก็ตาม แต่พอมาได้ยินมุมมองของยูกะทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าเราจะปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ได้ ไม่ใช่จากมุมมองของการรังเกียจ แต่มาจากความรัก การยอมรับและความเข้าใจ เธอไม่เพียงชักชวนให้เราแผ่เมตตาไปยังผู้ที่ประสบภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวเท่านั้น เธอยังชวนให้เราเห็นใจโรงปฏิกรณ์ปรมาณูที่ได้ทำหน้าที่เกื้อกูลสังคมญี่ปุ่นให้ก้าวหน้าพัฒนามาตลอดด้วย

ยูกะเล่าว่าหลังจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิที่สร้างความสูญเสียให้กับประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีโครงการฟื้นฟูประเทศมากมายที่มุ่งไปสู่การสร้างจิตสำนึกใหม่ในการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ทั้งกับชุมชนต่างๆ และกับธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่ข้ามพ้นความกลัว และการแบ่งแยก โครงการเหล่านี้ทำให้เธอเห็นพลังและความหวังของผู้คนที่เกิดขึ้น เมื่อได้หันหน้าเข้าหากันและแสวงหาปัญญาร่วมกัน

ยูกะได้ร่วมกับโครงการญี่ปุ่นทนทานต้านภัยพิบัติ (www.resilientjapan.org) จัดกิจกรรมฟื้นฟูพลัง ชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในช่วงอายุ ๒๐-๔๐ ปี จากกลุ่มผู้ประสบภัยที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่แผ่นดินไหวและสึนามิ กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานในพื้นที่ภัยพิบัติ และกลุ่มที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหมดจำนวน ๖๐ คน มาใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา ๓ วันในสถานที่ที่ห่างจากความกังวลและความวุ่นวายของเมืองใหญ่ เพื่อจะได้รู้สึกปลอดภัยและหยุดพักจากความเร่งรีบโกลาหล อันเป็นโอกาสของการทบทวนตัวเอง และแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้สึกและเรื่องราวที่สำคัญต่างๆ ทั้งที่เป็นเรื่องร้ายและเรื่องดีที่ได้เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตครั้งนั้น เธอได้จัดกิจกรรมในรูปแบบนี้มาแล้ว ๓ ครั้งและจะจัดอีก ๒ ครั้งภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่จำนวนทั้งหมด ๓๐๐ คนได้มีโอกาสรับและให้บทเรียนสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิต รวมถึงได้เชื่อมโยงความเข้าใจประเทศในภาพรวม และสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง

นอกจากมิตรภาพอันงดงามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แล้ว บทเรียนที่สำคัญจากกิจกรรมนี้ทำให้พวกเขาค้นพบว่า ผู้คนมักจะสาละวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ และสิ่งที่ “ต้องทำ” ตลอดเวลา จนไม่มีโอกาสได้ทบทวนเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง ไม่มีโอกาสได้ถอยหลังออกมาเพื่อมองภาพรวม และแสวงหาความร่วมมืออย่างเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ออกไป ยูกะบอกว่าเธอได้ประจักษ์ถึงการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของผู้คนที่มาเข้าโครงการนี้อย่างชัดเจน และเห็นความหวังบนใบหน้าแววตาของผู้คนอีกครั้งในการที่จะเริ่มชีวิตใหม่ที่ไปพ้นความกลัวและความเร่งรีบบีบคั้น พวกเขาได้เรียนรู้ว่า มันง่ายเหลือเกินที่จะพลัดตกลงไปในแบบแผนความคิดและพฤติกรรมแบบเก่าๆ

พื้นที่ของการหันหน้าเข้าหากันเช่นนี้นับว่ามีค่ามาก เพราะได้ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึกภายในให้กับผู้คน เกิดการเยียวยาและฟื้นพลังชีวิต และสร้างโครงการร่วมกันดีๆ ให้เกิดขึ้นมากมายในหมู่ชนคนรุ่นใหม่ที่มีไฟในการสร้างสรรค์สังคมของตัวเอง เช่น โครงการค่ายเด็ก และเยาวชนที่ประสบภัยในเมืองฟูกูชิมา โดยจัดให้เด็กๆ ได้มาเล่นและผ่อนคลายนอกพื้นที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างพลังชีวิตผ่านดนตรีให้กับคนรุ่นใหม่ เร็วๆ นี้ก็จะมีกิจกรรมทบทวน แลกเปลี่ยนสำหรับเยาวชนในเมืองมิยากิที่ถูกกระหน่ำด้วยสึนามิ รวมทั้งจัดอบรมให้กับคนที่สนใจที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้จัดกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูและสร้างสรรค์เหล่านี้ต่อไป

ยูกะกล่าวว่าแม้ว่าสิ่งที่ได้จัดไปจะเป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายในใจผู้คนนั้นใหญ่หลวง ซึ่งจะเป็นขุมพลังชีวิตและสติปัญญาในการสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงในระดับกว้างออกไปในครอบครัวและชุมชนของตัวเอง

เมื่อย้อนกลับมามองดูประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความเสียหายอย่างไม่สามารถจัดการควบคุม ธรรมชาติได้ ผมเริ่มเห็นโอกาสในการตั้งคำถามและเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อทบทวนชีวิต และทิศทางสู่อนาคตว่า สังคมไทยต้องการจะหันเหไปในทิศทางใด เราอยากจะพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไปเรื่อยๆ แล้วเพิ่มระบบจัดการและเทคโนโลยีควบคุมน้ำให้เข้มแข็งขึ้น หรืออยากจะอยู่ร่วมกันอย่างพอเพียงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงย้อนรอยคืนสู่วิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่เป็นมิตรกับทั้งน้ำและเพื่อนบ้าน สร้างเครือข่ายความร่วมมือในสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไปพ้นสีผิว สีเสื้อ หรือสีพรรค หรือเราจะกลายเป็นสังคมที่ไม่ต้องการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ คอยแต่จะควบคุมจัดการสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรานักต่อไป

มหาอุทกภัยสร้างจิตสำนึกใหม่



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2554

คอลัมน์จิตวิวัฒน์มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หรือจิตใหญ่ ผู้เขียนหลายท่านได้พูดถึงวิกฤตใหญ่ของมนุษยชาติหรือวิกฤตของโลกทั้งใบ บางท่านได้พูดถึงคำพยากรณ์ว่า โลกาวินาศที่จะเกิดขึ้นในปีนั้นปีนี้ ตามสถิติ ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดมากขึ้นและถี่ขึ้น เช่น พายุรุนแรง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน ในขณะที่บางที่บางเวลาก็แห้งแล้งและมีไฟป่าลุกลาม ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร โรคระบาด การขัดแย้งแย่งชิง สงคราม และการเสียชีวิตของคนจำนวนมาก

มหาอุทกภัย ๒๕๕๔ ได้ก่อความเสียหายทุกๆ ทาง และความทุกข์ยากแสนสาหัสแก่คนไทยจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน มวลความทุกข์มหึมาของคนทั้งชาติจะมาสั่นคลอนโลกทรรศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกเก่าๆ ที่หมักหมมมานาน

ทุกคนได้ตระหนักว่า อำนาจของธรรมชาติยิ่งใหญ่ที่สุด เกินอำนาจอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อำนาจการเมือง อำนาจเงิน อำนาจความรู้ หรือแม้อำนาจของเทวดา อำนาจเหล่านี้ดูจิ๊บจ๊อยไปเมื่อเทียบกับอำนาจของธรรมชาติ และไม่สามารถเอาชนะกฎของธรรมชาติได้

เราจึงควรเรียนรู้ให้เข้าใจธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ และปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ

ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ไม่มีอะไรอยู่โดดๆ แบบแยกส่วน

ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องนำไปสู่ความสมดุล

ความสมดุลคือความลงตัว ความสงบ ความไม่รุนแรง

ถ้าธรรมชาติเสียสมดุล ก็จะพยายามปรับไปสู่สมดุล การปรับไปหาสมดุลใหม่เกิดเป็นความรุนแรงขึ้น เช่น พายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อุทกภัย สงคราม

การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ

แต่ที่ผ่านมา เราเอาอย่างอื่นเป็นเป้าหมาย เช่น กำไรสูงสุด อำนาจสูงสุดของตน ของพรรคของพวก ของประเทศ ของกลุ่มประเทศ หรือแม้แต่เอาความรู้และทฤษฎีต่างๆ เป็นตัวตั้ง ที่ไม่ใช่การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เมื่อไม่เอาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นตัวตั้ง โลกก็ขาดสมดุล โลกที่ขาดสมดุลจึงรุนแรงและไม่ยั่งยืน นี่เป็นกฎของธรรมชาติที่ตรงไปตรงมาและเที่ยงตรงที่สุด

การที่มนุษย์เอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้ง ไม่เอาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นตัวตั้งก็เพราะมีจิตเล็ก ไม่เห็นทั้งหมด เห็นแบบแยกส่วน และเอาตัวเองเป็นตัวตั้งอย่างคับแคบ

จิตสำนึกใหม่คือจิตใหญ่ ที่เห็นว่ามนุษย์และธรรมชาติทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงควรอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

ศาสนาต่างๆ ล้วนสอนให้ลดความเห็นแก่ตัว ถ้ามีความเห็นแก่ตัวน้อย ก็เห็นแก่ทั้งหมดได้มากขึ้น แต่ในช่วง ๓๐๐ ปีที่ผ่านมา เพราะการค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์อันทรงอำนาจ มนุษย์เกิดอหังการว่าตัวมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ได้ทำการต่างๆ ที่รบกวนสมดุลของธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติเสียสมดุล ก็เกิดภัยพิบัติรุนแรงเหนือการควบคุมของมนุษย์

๓๐๐ ปีเป็นเวลานานพอที่จะกำหนดโลกทัศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกของมนุษย์หมดทั้งโลกให้อยู่ในโมหภูมิ หรือภูมิที่หลงไป หรือจะเรียกว่าอยู่ในความโง่เขลาหรืออวิชชาก็ได้ โมหภูมินี่หนาแน่นมาก จนไม่มีมนุษย์หรือครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะเก่งเพียงใด ที่สามารถสอนให้มนุษย์ออกมาจากภพภูมิแห่งอวิชชาได้

ธรรมชาติเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ธรรมชาติจะเข้ามาสอนมนุษย์ในสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถสอนกันเองได้

มหาภัยพิบัติทางธรรมชาติกวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะวัตถุสิ่งของต่างๆ เท่านั้น แต่กวาดล้างโลกทัศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกเก่าๆ ออกไปด้วย

ท่ามกลางหายนภัยอันยิ่งใหญ่ สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ที่มีต่อกัน

คลื่นน้ำใจ ใหญ่กว่าคลื่นน้ำท่วม

การร่วมทุกข์ การพยายามช่วยเหลือ ไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้ผู้คนมีกำลังใจ และเห็นว่าทุกข์เท่าใดก็พอทนได้ถ้าคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน จะเห็นได้ว่าการสื่อสารสาธารณะในช่วงนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่าโลกทัศน์ วิธีคิด จิตสำนึก เปลี่ยนไปจากเดิม อย่างน้อยก็ในช่วงนี้ กล่าวคือ พื้นที่ของการสื่อสารเต็มไปด้วยเรื่องความทุกข์และเรื่องน้ำใจที่ผู้คนมีต่อกัน ถ้าใครยังสื่อสารเพื่อตัวเองหรือเพื่อการเมืองของตัวเอง จะได้รับความรังเกียจ คนทั้งหมดเห็นคุณค่าของการที่เราเป็นสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน

การที่คิดถึงคนทั้งหมด การที่คิดถึงการไม่ทอดทิ้งกัน คือจิตใหญ่

การเห็นแก่เงิน การเห็นแก่อำนาจของตัว การเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่คือจิตเล็ก

ที่แล้วมา การเห็นแก่เงิน การเห็นแก่ยศฐาบรรดาศักดิ์และอำนาจของตัว การเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดสังคมที่คนไทยทอดทิ้งกัน ขาดความเป็นธรรม การแย่งชิงและทำลายธรรมชาติแวดล้อม ความขัดแย้ง ความรุนแรงประเภทต่างๆ รวมทั้งความรุนแรงทางการเมืองที่เพื่อนคนไทยต้องเสียชีวิตลงอย่างเอน็จอนาถ และปริ่มๆ จะเข้าไปสู่มิคสัญญีกลียุค

คนไทยควรจะเห็นกันว่า การมีจิตเล็กนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงเพียงใด

อุดมการณ์ทางการเมือง การแบ่งข้างแบ่งขั้ว ไม่ว่าจะมีเหตุผลมารองรับอย่างวิเศษเพียงใด ก็ยังเป็นจิตเล็ก ถ้าเทียบกับอุดมการณ์ที่ใหญ่กว่านั้น

อุดมการณ์ที่ใหญ่ที่สุด คือการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม

อุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจต่างๆ ที่ผ่านมา ถ้าไม่ถือการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นตัวตั้งแล้วไซร้ ล้วนนำไปสู่การเสียสมดุล ความไม่ยั่งยืน และความรุนแรง

หายนภัยต่างๆ ในโลกที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดการทำลายเหลือคณานับ แต่ขณะเดียวกัน จะมาเขย่าและสั่นคลอนมนุษยชาติให้ออกจากจิตสำนึกเดิมซึ่งเป็นจิตเล็ก ไปสู่การมีจิตสำนึกใหม่หรือการมีจิตใหญ่ ที่เข้าถึงความเป็นทั้งหมด ว่าทั้งหมดคือหนึ่งเดียวกัน (The Same Oneness) การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ

ระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ต้องปรับตัวใหม่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

เรื่องที่คนไทยควรเรียนรู้มาตั้งนานแล้ว แต่ได้มาเรียนรู้ใหญ่ในคราวนี้ คือเรื่องประโยชน์ของความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ถ้าอยู่แบบตัวใครตัวมันก็จะเผชิญกับภัยพิบัติรุนแรงได้ยาก แต่ถ้ามีการรวมตัวกัน ช่วยเหลือพึ่งพิงกัน ทำให้เผชิญภัยพิบัติได้ดีกว่า และฟื้นตัวได้ดีกว่า ผู้รู้ได้พยายามบอกเตือนมานานแล้วว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” คือคำตอบ ชุมชนคือระบบชีวิตร่วมกันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม เพราะความสมดุล วิถีชุมชนจึงมีความยั่งยืนมานับหมื่นปี

วิถีชีวิตชุมชนมาพังทลายลงเพราะอำนาจของอวิชชา ที่มาในรูปของอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจความรู้ที่ไม่รู้ (เรื่องวิถีชีวิตที่สมดุล) จึงเกิดสภาพการทอดทิ้งกัน ทั้งระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม เกิดภัยพิบัติและหายนภัยมากขึ้นๆ ทุกๆ ทางอย่างที่ปรากฏ อวิชชาทำลายโลกได้เห็นปานนี้

การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลต้องเริ่มที่ชุมชน

ชุมชนมีขนาดเล็กพอที่จะเกิดความถูกต้องได้ง่าย เซลล์เป็นหน่วยพื้นฐานของระบบร่างกายที่มีความซับซ้อนมากฉันใด ชุมชนก็เปรียบประดุจหน่วยพื้นฐานของสังคมที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน

ระบบที่ใหญ่และซับซ้อนจะมีความถูกต้องได้ ต่อเมื่อเกิดมาจากหน่วยเล็กที่มีความถูกต้อง
ร่างกายมนุษย์ซึ่งซับซ้อนสุดประมาณจึงเกิดมาจากเซลล์เซลล์เดียวที่มีความถูกต้อง

ไม่มีใครที่ไหนสามารถเสกความซับซ้อนขึ้นมาทันทีทันใด โดยไม่มีหน่วยพื้นฐานที่ถูกต้อง

สังคมต้องประกอบด้วยชุมชน ซึ่งเป็นระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ถักทอกันขึ้นมาเป็นลำดับ ไม่มีใครสามารถเสกประเทศไทยให้เป็นสังคมศานติสุขได้จากข้างบน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐบาลทหาร รัฐบาลพ่อค้า ล้วนทำไม่ได้ทั้งสิ้น ภัยพิบัติรุนแรงจะบอกคนไทยว่า ไม่มีรัฐบาลพรรคใดๆ จะมีน้ำยาพอที่จะแก้ปัญหาได้ ไม่คุ้มที่คนไทยจะไปฆ่ากันตายเพราะพรรคใดๆ หรือคนใดคนหนึ่ง เราต้องการจิตใหญ่กว่านั้น

จิตที่เห็นมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อจิตบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกัน จะเป็นอิสระ หลุดพ้นจากความบีบคั้นของความคับแคบในตัวเอง มีความสุขท่วมท้น ประสบความงามอันล้นเหลือ มีความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด เป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและศานติ

นี้คือวัตถุประสงค์ของคอลัมน์ “จิตวิวัฒน์” ในหนังสือพิมพ์มติชนที่มีมาตั้งแต่ต้น หวังว่าภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงจากมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ จะไม่ได้มีแต่ด้านทำลายเท่านั้น แต่มีด้านที่สร้างสรรค์ด้วย ความสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดคือสร้างสรรค์จิตสำนึกใหม่ อันจะทำให้เพื่อนคนไทยทั้งมวลมีความสวัสดี

เราจะฝ่า พิบัติภัย ไปด้วยกัน



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2554

ขอแสดงความรัก ความห่วงใยอย่างยิ่ง และขอส่งกำลังใจให้ผู้ประสบอุทกภัยทุกคนด้วยความจริงใจ

ขอแสดงความเคารพและนับถืออย่างสูง ต่ออาสาสมัคร หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทุกคนที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คลี่คลายความทุกข์ยากให้กับประชาชน

ขอแผ่เมตตาและความปรารถนาดีอย่างยิ่งยวด ต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และผู้ที่อาศัยภาวะวิกฤตฉกฉวยแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องบนความทุกข์ยากของผู้อื่น ขอให้มีความกล้าที่จะลด ละ เลิก ความคิด คำพูด และการกระทำ ที่ไม่ดี ไม่งาม มีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม ก้าวข้ามความขัดแย้งส่วนตัวส่วนกลุ่ม ทุ่มเทความสามารถร่วมกันฝ่าวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ไปด้วยกัน ด้วยความรู้ ด้วยปัญญา อย่างมีสติ

วิกฤตมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ ที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศกำลังประสบ และยังต้องรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะผลกระทบทางจิตใจไปอีกนาน เป็นบทเรียนราคาแสนแพงที่ผู้รับผิดชอบต้องเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม จิตสำนึกที่คำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลัก กล้าตัดสินใจ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตน เพื่อแก้หรือบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่

นักการเมืองไม่ควรชิงไหวชิงพริบทางการเมือง หรือใช้อำนาจหน้าที่เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก

วิกฤตครั้งนี้หากมองในแง่ดี น่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า รุกล้ำลำคลอง แม่น้ำ และที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เกิดจิตสำนึกสาธารณะขึ้นมาบ้าง เมื่อเห็นความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนที่จมน้ำอยู่ค่อนประเทศ และหลายชีวิตสูญเสียไปกับภัยพิบัติครั้งนี้

นักการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติบางคนก็อาจจะได้คิด และน่าจะเลิกแข่งขันกันทำความชั่ว หันมารวมตัวกันสร้างสรรค์ความดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมไทยบ้างไม่มากก็น้อย

ประเทศไทยประสบและผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตทางสังคมและการเมือง แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป เราก็มักจะไม่สะท้อนการเรียนรู้หรือสรุปถอดบทเรียน และเตรียมการสำหรับอนาคตอย่างจริงจัง

บทเรียนที่เราไม่ค่อยจะเรียนรู้ ระหว่างและหลังการเกิดวิกฤตก็คือ การที่แต่ละฝ่ายใช้ความคิด ความเก่งและความฉลาด (การใช้ “หัว”) ในการหาหนทางและการกระทำเพื่อให้ได้ชัยชนะเหนือคู่แข่ง แบบไม่มีช่องว่างที่จะให้ “หัวใจ” แก่กันและกันในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ที่ต่างก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ต้องการการยอมรับ ต้องการการมีพื้นที่ในสังคม และที่สำคัญ ไม่มีสติและปัญญาพอที่จะ “ให้ใจ” แก่กันและกันในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน

เมื่อไม่ “เปิดใจ” ให้กัน เพราะ “ไม่เชื่อใจ” กัน จึง “ไม่ไว้ใจ” และ “ไม่ให้ใจ” กัน การร่วมมือกันด้วยความจริงใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจึงไม่เกิดขึ้น

นักการเมืองและพวกพ้องจำนวนมาก ไม่เคยเรียนรู้อย่างมีสติสัมปชัญญะว่า การใช้พลังความคิด และพลังมวลชนเพื่อนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของคู่แข่งทางการเมือง โดยลืมคิดว่าการทำให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ได้โดยไม่คำนึงถึงความควร ไม่ควรทางคุณธรรมจริยธรรม ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อประชาชนโดยรวม จะส่งผลเสียระยะยาวต่อประเทศชาติ และเกิดการแบ่งแยกแตกพวกไปทั่วแผ่นดิน

ความขัดแย้งทางสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่มาจากความคิด ความเชื่อ และการขัดกันทางผลประโยชน์ ไม่สามารถแก้ไขและ/หรือปรองดองได้ด้วยอำนาจ ด้วยกำลังคนหรือกำลังอาวุธที่เหนือกว่า รวมไปถึงการใช้เหตุผล/ตรรกะ (การใช้หัว) และโดยเฉพาะการใช้กฎหมายบังคับ เพราะทั้งหมดเป็นการคิดแบบแยกส่วน แบ่งแยก แพ้-ชนะ ตัดสินถูก-ผิด และเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รอเวลาและโอกาสที่จะปะทุขึ้นมาใหม่ ด้วยความรุนแรงที่กว้างและเข้มข้นกว่าเดิม วงจรอุบาทว์ก็กลับมาอีก

ควรเลิกคิด ทำ พูด ในลักษณะเดิม ที่อุปมาเหมือนไก่จิกตีกันในเข่ง เพียงเพื่อแย่งชิงเศษอาหารที่เจ้าของเขาให้เพื่อเพิ่มน้ำหนัก จะได้ดูดีมีราคาเพิ่ม เพราะสุดท้ายก็ถูกขายยกเข่ง ถูกนำไปฆ่าทั้งหมด

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตที่มีผลเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองแยกข้าง ผมจะนึกถึงบทกลอนที่ผมเคยเขียนไว้เสมอ วิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็เช่น ปรากฏการณ์หน้าจอโทรทัศน์ และข่าวสารที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจากเครือข่ายที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย สะท้อนระดับความคิด จิตอาสา จิตสำนึกสาธารณะ และคุณภาพทางจิตใจของบางคน บางกลุ่มได้เป็นอย่างดี

แต่ผมก็ยังเคารพและยอมรับในความแตกต่าง ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ผมยังเชื่อและมีความหวังกับคนไทยทุกคน ว่าสักวัน อีกไม่นานเกินรอ เราจะร่วมกันรังสรรค์ความสุข สงบ สันติให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สร้างความเป็นหนึ่งบนความหลากหลาย ไม่ว่าจะมีเหตุร้ายหรือวิกฤตใดเกิดขึ้น เราจะร่วมกันฝ่าพิบัติภัย ไปด้วยกัน

ลองอ่านบทกลอน “สูงสุดยอด คือเท่าเทียม เป็นหนึ่งเดียว” แล้วลองใคร่ครวญ ทบทวนอย่างลึกซึ้งดู

จะชิงแย่ง แข่งขัน กันทำไม เพราะอย่างไร ท้ายสุด ก็หยุดแข่ง
มุ่งจะเด่น หวังจะดัง ดันสุดแรง จบยังแย่ง ขึ้นแท่นเผา เฝ้าตะกอน
ธนูพุ่ง มุ่งสู่ฟ้า ใช่คาฟ้า ต่อให้สูง สุดสายตา ถ้าไม่หลอน
มันจะต้อง ตกลงมา อย่างแน่นอน กระแทกก่อน แล้วนอนนิ่ง ติดอิงดิน
พลุที่พุ่ง มุ่งสู่ฟ้า ใช่คาฟ้า ถึงสวยจ้า เจิดแสงสี ก็มีสิ้น
สว่างวับ ดับทันที ที่โผบิน โรยลงดิน คือขี้เถ้า ไฟเผามอด
สติมา ปัญญาเกิด ประเสริฐสุด ถ้าไม่หยุด แย่ง แข่ง ชิง ยิ่งไม่รอด
สรรพสิ่ง พึ่งพิงพัน กันตลอด สูงสุดยอด คือเท่าเทียม เป็นหนึ่งเดียว


หากได้สติแล้ว ผมขอเชิญชวนให้ทุกฝ่าย มารวมหัว ร่วมหัวใจ ให้เวลา ใช้สติปัญญา ร่วมกันฝ่าวิกฤตมหาอุทกภัยครั้งนี้ ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสุนทรียะ พบปะแบบเพื่อนร่วมคิด มิตรร่วมใจ มีการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง เข้าถึงความจริง ความดี ความงามด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ไม่รีบด่วนสรุปตัดสิน ไม่ดิ้นรนรีบทิ้งทางเลือกทุกทาง จุดประกายแสงสว่างทุกทางออก ช่วยกันบอกความสำเร็จที่มีโอกาส ความผิดพลาดที่อาจจะประสบ ค้นพบจุดแข็งจุดอ่อนที่เรามี แสวงหาวิถีและวิธีสู่อนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกัน เพื่อประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราทุกคน

คิดใหญ่กว่าภัยพิบัติ



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2554

ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง วันที่คนทั้งประเทศน่าจะรู้สึกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นมาถึงบ้านเราแล้ว ไม่เพียงแต่มาเคาะประตูหน้าบ้าน แต่ลุยเข้ามาในบ้าน ล้นทะลักเข้าไปในห้องครัว ห้องนอน เอ่อขึ้นไปยังชั้นสอง บ้างก็ไปจนมิดหลังคา

หลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ แต่กรุงเทพฯ ก็ดูเหมือนจะรอดหวุดหวิดมาเกือบทุกครั้งไป จนคนเมืองหลวงอาจจะวางใจ พูดปลอบใจตนเอง หรือปลอบใจกันและกันว่า "โอ๊ย กรุงเทพฯ น่ะสำคัญนะ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและทุกเรื่อง ถ้าท่วมจะเสียหายหนัก เขาไม่ปล่อยให้ท่วมง่ายๆ หรอก"

ซึ่งที่กล่าวมาก็ถูกต้องทั้งหมด ไม่มีส่วนใดผิด กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศที่รวมศูนย์แบบไทย ถ้าภัยพิบัติไม่ว่าจะทางธรรมชาติหรือทางไหนส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ย่อมเสียหายมาก และก็จริงอีกที่ "เขา" (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าหมายถึง ใคร รัฐบาล หรือองค์กรใด) ต้องพยายามป้องกันกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ ไม่ปล่อยให้น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง น้ำท่วมก็ท่วมนิดเดียว ชั่วครู่ชั่วยามโดยมากก็เป็นชั่วโมงเท่านั้น

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ สถานการณ์กรุงเทพฯ ยังไม่รุนแรงเท่าใดนัก เพราะเป็นช่วงที่น้ำทะเลยังไม่ขึ้นสูงสุด และมวลน้ำปริมาณมหาศาลจากตอนบนของประเทศก็ยังลงมาไม่ถึง แต่กระนั้นก็มีหลายเขตหลายชุมชนแล้วที่น้ำท่วม ส่วนเมื่อบทความนี้ตีพิมพ์ก็จะเป็นช่วงที่สถานการณ์คับขันและยากลำบากที่สุด

ผู้เขียนและชาวจิตวิวัฒน์ทุกคนขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันนี้ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดไหน

ได้แต่หวังว่าคงจะปลอดภัยทั้งสุขภาพ สุขภาพใจ และทรัพย์สิน ไม่เสียหายกันมากนัก

เพราะว่าเราคงจะต้องประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อีกเกือบทุกปีแน่นอน

โดยเฉพาะจากข้อมูลสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่แย่เอามากๆ แค่เรื่องอุณหภูมิอย่างเดียว สถิติ ๑๐ อันดับของปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุด ได้แก่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๑, ๒๕๔๔, ๒๕๔๕, ๒๕๔๖, ๒๕๔๗, ๒๕๔๘, ๒๕๔๙, ๒๕๕๐, ๒๕๕๒, ๒๕๕๓ ล้วนอยู่ในช่วง ๑๓ ปีที่ผ่านมา โดยปีที่โลกร้อนที่สุดตั้งแต่เคยถูกจดบันทึกคือ ปี ๒๕๕๓ นี้เอง

อุณหภูมิของโลกร้อนกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ ๒๐ มาต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓๔ แล้ว

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับนายอัล กอร์ ได้ออกรายงานประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลก ในปี ๒๕๕๐ ประมาณการว่าน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือนั้นจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ โดยอาจจะละลายหมดในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. ๒๐๕๐-๒๑๐๐ แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็วหลังจากรายงานออกมา นักวิทยาศาสตร์ประมาณการกันใหม่แล้วว่า ขั้วโลกเหนืออาจจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมเลยภายในไม่ถึงห้าปีข้างหน้านี้

ไม่เพียงแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้น พายุฝนฟ้าคะนองนั้นมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ตัวชี้วัดหนึ่งคือข้อมูลปริมาณน้ำฝนทั่วโลกพบว่าปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาเป็นปีที่ "เปียก" หรือมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดตั้งแต่เคยมีการจดบันทึกกันมา ปีที่แล้วกราฟแสดงปริมาณที่มากสุดโต่งอยู่แถวเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก อเมริกากลาง ออสเตรเลีย โดยไทยเรารอดมาได้ แต่กราฟของปีนี้ต้องมีเอเชียอาคเนย์และประเทศไทยแน่นอน

ฝนที่เคยตกปรกติ ปริมาณกำลังดีแถวอาณาจักรลาดั๊ก (Ladakh) ทางตอนเหนือสุดของอินเดีย ที่ทำให้เจริญเป็นอารยธรรมที่งดงาม ก็เกิดปรากฏการณ์คลาวเบิร์สท (Cloudburst) คือ ฝนตกหนักอย่างกะทันหันปานฟ้ารั่ว ลองจินตนาการว่าธรรมดาฝนนั้นตกลงมาเหมือนเทวดารดน้ำจากฝักบัวครับ แต่ที่เกิดขึ้นคือเทวดาเทน้ำจากขันหรือกะละมังครับ ผลคือน้ำท่วมอย่างหนักและรวดเร็ว โคลนถล่มสูงเป็นเมตร ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหาย ผู้คนล้มตาย เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการตั้งถิ่นฐานกันมา

ฟังดูก็เหมือนหลายๆ เมืองที่เราได้ยินข่าวทั่วไป ไม่น่าตื่นเต้นตกใจอะไรใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราทราบว่าเมืองที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือเมืองเละห์ Leh (บ้างอาจจะว่าเข้าใจตั้งชื่อเป็นลาง) ซึ่งอยู่สูง ๓,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล!

ไม่อยากจะนึกก็ต้องนึกถึงหนังเรื่อง 2012 ไม่น้อย

นี่ถ้าเมืองที่สูงถึง ๓.๕ กิโลเมตร ยังน้ำท่วมคนตายได้ขนาดนี้ กรุงเทพฯ ที่อยู่ที่ระดับ ๐ เมตร (และกลางเดือนตุลาคม น้ำทะเลจะขึ้นสูงสุดประมาณ ๒.๕ เมตร) คงไม่ต้องสงสัย

หรือตัวอย่าง เดือนมีนาคมปีนี้ที่เมืองไทย มีสามฤดู วันหนึ่งร้อนจัด อีกวันต้องได้ค้นเสื้อกันหนาวมาใส่ ในขณะที่ภาคใต้ก็เกิดพายุน้ำท่วมรุนแรง นี่ก็เกิดจากน้ำในมหาสมุทรอินเดียพื้นที่หนึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าปรกติเพียงเล็กน้อย ทำให้ลมที่พัดต้านมวลอากาศเย็นจากจีนไม่สามารถทานกำลังได้

ประเทศไทยที่ได้สภาพภูมิอากาศรับอิทธิพลของปรากฏการณ์ เอลนีโญ/ลานีญา-ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (El Niño/La niña-Southern Oscillation หรือ ENSO) ทำให้เรามีสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง โดยปรกติแล้วเกิดประมาณทุก ๕ ปี แต่ข้อมูลล่าสุดที่ได้จาก ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) วงจรนี้ไม่ปรกติแล้ว และคาดว่าจะเกิดเฉลี่ยทุก ๑๑ เดือน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการผันแปรผิดปรกติของปรากฏการณ์ ENSO นี้เท่ากับว่าสภาพภูมิอากาศโลกได้เลยจุดพลิกผัน (tipping point) แล้ว

อันที่จริงเราอาจจะไม่ต้องอาศัยข้อมูลมากมายเท่านี้ก็ได้ ตัวอย่างจาก ดร.วังการี มาไท นักชีววิทยาสตรีสาวชาวเคนยา ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี ๒๕๔๗ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกน่ะหรือ ฉันรู้แน่นอนว่ามันกำลังเกิดขึ้น ฉันแค่เดินออกไปนอกบ้าน ฉันก็รู้แล้ว"
ในปาฐกถารางวัลโนเบลของเธอที่กรุงออสโล เธอได้กล่าวว่า "เรากำลังจะเผชิญกันความท้าทายที่เรียกให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการคิด เพื่อที่มนุษยชาติจะหยุดทำร้ายระบบที่เอื้อให้เรามีชีวิต เราต้องช่วยเหลือเยียวยาโลก และในกระบวนเดียวกันนี้เอง ช่วยเยียวยาตัวเราเองด้วย ซึ่งก็คือการโอบอุ้มสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในความหลากหลาย ความงาม และความอัศจรรย์ใจ มันจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเห็นความจำเป็นที่เราจะต้องฟื้นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเดียวกับสรรพชีวิต"

ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันรุนแรงและส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลกเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ณ ขณะนี้ในประเทศไทยของเราก็ได้เกิดการเรียกร้องผลักดันให้การรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ เช่น จาก คุณปรเมศวร์ มินศิริ thaiflood.com และ ดร. สมิทธ ธรรมสโรช มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก็ให้สัมภาษณ์ข่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรวมตัวกันเป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนขณะนี้ให้ผ่านวิกฤตไปได้"

เรื่องวิกฤตนี้ กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พูดคุยและสื่อสารให้เห็นความสำคัญมาร่วมเกือบสิบปี และหากรวมที่สมาชิกของกลุ่มหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ อาจารย์ประสาน ต่างใจ และอาจารย์ประเวศ วะสี ได้เขียนเตือนไว้ก็สิบกว่าปีแล้ว ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับสิ่งที่ ดร.เจมส์ เลิฟล็อค ผู้คิดค้นทฤษฎีกายา (ที่ว่าโลกมีคุณสมบัติเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่สามารถมีสุขภาวะที่ดีหรือป่วยได้ อันเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ไว้เมื่อปี ๒๕๕๑ ว่าหายนะภัยของโลกนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่มุมมองของบุคคลเหล่านี้ต่อวิกฤตสภาพอากาศนั้นมีมากไปกว่าการป้องกันและกู้ภัยด้วยเทคโนโลยีและการจัดการ นั่นคือ โอกาสที่เราจะได้ตระหนักว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในวิกฤตนี้ เพราะหากต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมเรายังพอมี เราอาจเกิดสติและเห็นว่าทุกหายนภัย ทุกวิกฤต มาพร้อมกับโอกาสที่ดีได้เสมอ เป็นการเรียนรู้ที่หาได้ยากในสภาวะปรกติ

ภาวะพายุผิดฤดูกาล และน้ำท่วมน้ำหลากมากผิดวิสัย ไม่ได้เป็นเพียงโอกาสจะได้หาทางแก้ไขป้องกันด้วยการสร้างฝาย คันกั้นน้ำ หรือระบบอุโมงค์ระบายน้ำ แต่นี่ยังเป็นโอกาสอย่างมาก ที่สังคมไทยจะเรียนรู้ร่วมกันว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเพียงอาการ แท้จริงแล้วมีต้นเหตุ คือ วิกฤตทางด้านจิตวิญญาณ ดังเช่นที่ท่านทะไลลามะบอกว่า เรากำลังเป็นโรคพร่องทางจิตวิญญาณ (Spiritual deficiency syndrome)

ท่ามกลางภาวะของความเศร้าและทุกข์ทรมานกับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ หลายคนสิ้นหวังหมดกำลังใจในการใช้ชีวิต หลายพื้นที่ลงไม้ลงมือวิวาททำร้ายร่างกายกันเพราะเห็นว่าถูกเอาเปรียบที่ชุมชนของตนต้องเป็นฝ่ายรับน้ำแทน คนจำนวนไม่น้อยก็ก่นด่าเพ่งโทษอีกฝ่าย และจำนวนมากมายเร่งรุดไปซื้อกักตุนข้าวของสินค้าอุปโภคบริโภคจนขาดแคลน ไม่เพียงพอแม้แต่จะแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย ปรากฏการณ์เหล่านี้เองที่กำลังบอกเราว่าลำพังเพียงความรู้ทางเทคโนโลยีและการจัดการ ไม่สามารถดูแลปัญหาวิกฤตการณ์ในจิตใจชาวไทยได้

หลังจากที่การแก้ไขภัยพิบัติเร่งด่วนเฉพาะหน้าเริ่มคลี่คลายลง การผลักดันวาระแห่งชาติก็คงจะสูงยิ่ง การขับเคลื่อนประเทศไทยให้ออกจากวิกฤตนี้จำต้องมีวาระแห่งชาติที่มีพลังเพียงพอ ลำพังวาระเรื่องการรับมือภัยพิบัตินั้นสำคัญมาก แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงนั้นยิ่งใหญ่กว่าการหาหนทางอยู่รอด

หรืออาจใช้ชื่อ "วาระแห่งชาติว่าด้วยการรับมือภัยพิบัติ" นี้ก็ได้ แต่สาระภายใน สังคมไทยต้องการพื้นที่สำหรับความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติการ (platform) ที่ใหญ่กว่าเรื่องทางเทคนิคและเรื่องความอยู่รอด เป็นวาระที่ตระหนักรู้ว่าภัยพิบัตินั้นมีทั้งวิกฤตธรรมชาตินอกกาย และวิกฤตในใจที่บดบังให้เราไม่เห็นสายสัมพันธ์ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตบนโลกใบเดียวกัน

ภัยพิบัติอาจทำให้เราเห็นว่าต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวให้รอด แต่ความรู้จากทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน บอกว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดคือสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด (Survival of the fittest) ดังนั้น การที่เราจะอยู่รอด ไม่ใช่เพราะเหตุผลตื้นเขินว่าเราแข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด ไม่ใช่เพราะเรารวยหรือมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เราจึงต่อสู้เอาชนะได้ แต่รอดได้เป็นเพราะว่าเราเหมาะสมที่สุด

สิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เหลือรอดโดยลำพัง แต่คือสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ทั้งกับสปีชีส์เดียวกัน และกับสปีชีส์อื่นๆ ในโลกใบนี้

องค์ความรู้ทางจิตวิวัฒน์ที่ได้สั่งสมมาหลายปี ชี้ให้เห็นว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะอ่อนโยนต่อชีวิต อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เข้าถึงความสุขอันประณีต ชุดความรู้เรื่องการรู้จักตนเอง การรู้จักให้อภัย การรู้จักพอ รู้จักที่จะช้าลง ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการอยู่รอดและการอยู่ร่วมของเรา

นี่อาจจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชั่วชีวิตของเรา ที่เราจะละทิ้งอัตตาและความคับแคบของใจ โอกาสการก้าวข้ามความแบ่งแยกทางสี ทางความคิด ทางชาติพันธุ์ ไปสู่การปลูกเพาะความรักความเมตตาและเอื้ออารีต่อกัน สู่การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของทุกคนและทุกชีวิต

ดังเช่นที่ ดร.วังการี มาไท ได้กล่าวไว้ว่า "ในช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ มีเวลาที่มนุษยชาติถูกเรียกร้องให้ยกระดับจิตสำนึกใหม่ ไปสู่คุณธรรมที่สูงขึ้น เวลาที่พวกเราต้องขับไล่ความกลัวและมอบความหวังให้กันและกัน เวลานั้นก็คือตอนนี้"

ดังนี้ สิ่งที่เราควรชูเป็นวาระชาติ คือ วาระของการอยู่ร่วมกัน

จัดเต็มแล้ว...เปลี่ยน



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2554

โปรเชสกา และไดคลีเมนต์ (Prochaska & DiClemente) สองนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ศึกษาวิจัยขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของคนที่เลิกเหล้าได้เอง พบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น ๖ ขั้นตอนคือ
๑. ขั้นไม่เห็นปัญหา (Pre-contemplation)
๒. ขั้นใคร่ครวญ (Contemplation)
๓. ขั้นเตรียมตัว (Preparation)
๔. ขั้นลงมือทำ (Action)
๕. ขั้นลงมือทำอย่างต่อเนื่อง (Maintenance)
๖. ขั้นกลับไปติดซ้ำ (Relapse)

ผมพบว่าแนวคิดนี้เป็นประโยชน์มากในการจัดกระบวนการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงให้กับบุคคลและองค์กร เพราะช่วยให้ผมเข้าใจผู้เข้าร่วมการอบรมมากขึ้น และไม่คาดหวังให้เขาเปลี่ยนเกินกว่าขั้นตอนที่เขากำลังยืนอยู่ แม้ว่าแนวคิดนี้จะถูกพัฒนาขึ้นมาจากกลุ่มคนติดเหล้า แต่ก็สามารถนำมาอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของจิตได้เป็นอย่างดี เหตุผลที่คนไม่ยอมเปลี่ยน เพราะจิตเสพติดอยู่กับอะไรบางอย่าง จึงทำให้จิตติดขัดไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ผมลองเอาคำฮิตในยุคนี้ "จัดเต็ม" มาใช้เป็นตัวอย่างของการเสพติดสักหน่อย "หมิว" (นามสมมติ) เป็นคนที่ใครๆ ก็รู้จักว่า เธอจัดเต็มในเรื่องงานตลอด วันๆ เอาแต่ทำงาน ไม่ยอมคุยกับใคร และมักหงุดหงิดหรือด่าใส่เวลางานที่มอบหมายไม่เป็นไปอย่างที่เธอคิด
อยู่มาวันหนึ่งองค์กรที่เธอทำงานอยู่ได้จัดอบรมเรื่อง “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ขึ้น โดยมอบหมายว่า หมิวจะต้องเข้ารับการอบรมนี้ให้ได้
เราอาจเคยเห็นคนแบบนี้อยู่ในองค์กรกันมาบ้าง บางทีอาจเป็นคนใกล้ชิดในบ้าน หรือบางทีอาจเป็นตัวเราเองก็แล้วแต่ คำถามคือ ถ้าหมิวจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงจิตให้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ดังที่แสดงไว้ข้างต้น เธอจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

ขั้นที่หนึ่ง คือขั้นไม่เห็นปัญหา หมิวจัดเต็มในเรื่องของงาน จะพยายามทุกวิถีทางไม่ให้งานที่ชุ่ยๆ หลุดออกจากมือไป ทำงานจนดึกจนดื่น ไม่สนใจใคร บางครั้งก็ส่งงานช้ากว่ากำหนด หรืออาจกลายเป็นไม่มีงานส่งไปเลย คือยอมไม่มีผลงานดีกว่าปล่อยให้มีผลงานชุ่ยๆ ออกไป หมิวได้รับคำขอร้องแกมสั่งมาว่าให้มาเข้ารับการอบรมเรื่องการเปลี่ยนแปลง หมิวไม่อยากมาเลย อบรมอะไรก็ไม่รู้ ฝ่ายบุคคลมาเอาเวลาอันมีค่าของเธอไปอีกแล้ว พอหมิวได้มาเข้ารับการอบรม ได้พบกระบวนการเรียนรู้ต่างไปจากเดิม ได้ยินคล้ายๆ
ว่าเป็น จิตตปัญญา จิตวิวัฒน์ อะไรทำนองนี้ในการอบรม อาจารย์เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทุกคน รวมถึงหมิวฝึกการสังเกต รับฟัง และสะท้อนตัวเอง ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ออกไปเดินในสวนบ้าง ทำงานศิลปะบ้าง แล้วก็มาคุยสะท้อนกัน ขอคำแนะนำกันและกันบ้าง
หมิวค่อยๆ รู้ตัวว่าที่ผ่านมาตัวเองจัดเต็มเกินไป เริ่มเห็นว่าตัวเองทุกข์กับงานที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จเสียที ยิ่งทำไป งานยิ่งเพิ่ม นึกถึงโต๊ะทำงานของตัวเองเต็มไปด้วยกองงานอันรกรุงรัง เริ่มได้ยินเสียงของเพื่อนร่วมงานว่า "เมื่อไหร่งานจะเสร็จสักที" แต่คราวนี้ไม่ใช่เสียงบ่นกลับเป็นเสียงเตือนด้วยความหวังดีอยากให้เธอพักบ้าง เริ่มเห็นว่านิสัยจัดเต็มที่เป็นอยู่ อาจเป็นปัญหาทำให้ชีวิตยุ่งยากและเสียสมดุล ภาวะนี้แสดงว่าจิตของหมิวกำลังเคลื่อนสู่ขั้นที่สอง คือขั้นใคร่ครวญ การอบรมคราวนี้มีชื่อกิจกรรมแปลกๆ ว่า “X-Ray จิต”
เธอลองพาตัวเองผ่านกระบวนการ หมิวค่อยๆ รู้จัก "จิตจัดเต็ม" ของตัวเองว่าเชื่อมโยงกับความเปราะบางอะไรในตนเอง
และเข้าใจกระบวนการทำงานอัตโนมัติของ "จิตจัดเต็ม" ว่าทำงานอย่างไร ตอนไหน ที่ไหน กับใคร

ในตอนนี้เองจิตของหมิวก็จะเริ่มก้าวขึ้นสู่ขั้นที่สาม คือขั้นเตรียมตัว พอเป็นเรื่องของจิต ผมจึงอยากเรียกชื่อขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงนี้ใหม่ว่า "ขั้นเตรียมข้ามขอบ" “X-Ray จิต” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวินิจฉัยว่า จิตหมิวติดอะไรอยู่ถึงไม่ยอมเปลี่ยนสักที เธอพบว่า
ที่เธอจัดเต็มในเรื่องงานมาโดยตลอด เพราะลึกๆ กลัวว่า ถ้าคนอื่นเห็นว่าเธอทำงานชุ่ยๆ แล้ว เขาจะไม่ยอมรับในตัวเธอ
หมิวจึงไม่ยอมปล่อยงานชุ่ยๆ ออกไปเลย เวลา "จิตจัดเต็ม" เริ่มเข้ามาครอบงำ กระบวนการทำงานอัตโนมัติของ "จิตจัดเต็ม"
ก็จะทำให้เธอต้องทำงานให้เนี๊ยบ ดูดี สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครตำหนิได้ แต่ถ้างานยังไม่ถึงจุดนั้น ก็จะไม่ทำงานออกมาเลย
ยอมปล่อยให้ส่งงานล่าช้า หรือไม่ส่งมันเสียเลย ที่ผ่านมาหมิวมักจะเลือกอยู่ภายในขอบ คือทำงานจัดเต็ม
เพราะถึงอย่างไรผลงานก็จะเป็นที่ยอมรับเหมือนที่ผ่านมา

การข้ามขอบคือ การทำงานแต่พอดี ทำงานให้ง่ายขึ้นลดขั้นตอนอันซับซ้อนลง เปิดรับให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมในงานมากขึ้น
แต่การทำอย่างนี้จิตจะกลัวว่า งานจะออกมาชุ่ยๆ อีกจึงทำให้ข้ามขอบนี้ได้ยาก การพิจารณาว่าเธอต้อง "จ่าย" ต้นทุนอะไรออกไปบ้าง
เพื่อให้เธออยู่ภายในขอบนี้ อาจพอช่วยจัดหนักให้เธอเข้าใจความจริงบ้างว่า ตอนที่จัดเต็มเธอต้องใช้พลังชีวิตทั้งหมดไปเพื่อให้งานออกมาไม่ชุ่ยพอทำงานจนหมดแรงแล้ว ก็กลายเป็นปล่อยปละละเลยชีวิตส่วนตัวไปเลย เพราะไม่มีพลังชีวิตเหลือไปทำอะไรอย่างอื่นอีก

เธอยกตัวอย่างที่ผ่านมาว่า ทำงานมาหนักแล้ว ก็ไปกินมาม่าสองห่อใหญ่ ปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไปตามความหนักของงาน
แทนที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เธอใช้พลังไปจนหมดแล้วเพื่อไม่ให้งานออกมาชุ่ย
แต่ชีวิตที่เหลือของเธอชุ่ยสุดๆ พอพิจารณาต้นทุนที่เธอต้องจ่ายได้อย่างนี้ หมิวเริ่มพบว่า ที่เธอกลัวชุ่ย จริงแล้วเธอเองก็ใช้ชีวิตชุ่ยๆ มาโดยตลอด เธอมองเห็น "จิตจัดเต็ม" ตามความเป็นจริงมากขึ้นว่า "จิตจัดเต็ม" จะเลือกทำงานเฉพาะในบริบทของงาน เพื่อทำให้คนอื่นยอมรับ แต่ในบริบทชีวิตส่วนตัว ซึ่งไม่มีผลกระทบว่าใครจะยอมรับหรือไม่ "จิตจัดเต็ม" จึงกลายเป็น "จิตชุ่ย" ไปเลย เพราะพลังชีวิตทั้งหมดเอาไปทุ่มให้ "จิตจัดเต็ม" ใช้จนหมดแล้ว ในแง่นี้ "จิตชุ่ย" จึงเป็นอีกด้านหนึ่งของ "จิตจัดเต็ม" เมื่อยามหมดพลัง

เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลา ทำให้กระบวนการอบรมพาหมิวและผู้เข้าร่วมคนอื่นมาได้เพียงเท่านี้ ที่เหลือเป็นการวางแผนว่า กลับจากการอบรมไปแล้ว จะสามารถลงมือทำอะไรในลักษณะข้ามขอบได้บ้าง และทุกคนก็ได้การบ้านกลับไป

แต่คนที่จะทำการบ้านตามที่ตั้งไว้ อาศัยเวลาและความสุกงอมของขั้นเตรียมข้ามขอบ การมีกระบวนการโค้ชตามต่อ หรือมีทีมงานช่วยจัดบรรยากาศ ทำสัญลักษณ์ หรือจัดกิจกรรมภายในองค์กรต่อ จะช่วยไม่ให้ผู้เข้าร่วมถอยกลับไปสู่ขั้นใคร่ครวญ หรืออาจหนักข้อไปถึงขั้นไม่เห็นปัญหาได้อีก การจัดอบรมเรื่องผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่การอบรมครั้งเดียวแล้วจบ แต่มุ่งเน้นจังหวะและความต่อเนื่องที่เหมาะสมในการอบรม

สมมติว่า องค์กรนี้ไม่ได้จัดเพียงแค่ครั้งเดียวจบ แต่มีการอบรมอย่างต่อเนื่อง หมิวมีเหตุปัจจัยพร้อมทั้งภายนอกภายใน เกิดการสุกงอม จิตก็จะเคลื่อนสู่ขั้นที่สี่ คือขั้นลงมือทำ (เพื่อข้ามขอบ) หมิวเริ่มจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หันมาดูแลสุขภาพร่างกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ปฏิบัติธรรม และเริ่มเห็นว่างานที่ทำอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องจัดเต็มมากนัก เพราะอาจเกินกว่าสิ่งที่ผู้รับต้องการ จึงผ่อนการทำงานที่มากเกินให้ลงมาเหลือพอดีๆ เริ่มจัดสมดุลชีวิตใหม่อย่างเป็นรูปธรรม จากที่ใช้ชีวิตหย่อนเกินไปก็ใส่ใจดูแลมากขึ้น จากที่ทำงานตึงเกินไปก็ผ่อนลงมาบ้าง

โครงการอบรมเรื่องผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้เน้นย้ำให้ผู้เข้าร่วมวางจิตวางใจว่า การลงมือทำเพื่อข้ามขอบเป็นเพียงการทดลองเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น หมิวทดลองลงมือจัดสมดุลชีวิตใหม่ เธอพบว่า เอาเข้าจริง เธอก็จัดสมดุลชีวิตได้บ้างไม่ได้บ้าง (ข้ามขอบได้บ้างไม่ได้บ้าง) แต่แม้ทำไม่ได้ ก็นำเอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนให้เรียนรู้ ลงมือทำไปเรียนรู้ไป จิตก็จะเคลื่อนสู่ขั้นที่ห้า คือขั้นลงมือทำอย่างต่อเนื่อง บทเรียนใหญ่ในขั้นนี้ จะพบว่า เหตุผลที่ทำให้จัดสมดุลได้หรือไม่ไม่ได้อยู่ที่การจัดสรรเวลาหรือทรัพยากรภายนอกลงตัวหรือไม่ลงตัว แต่อยู่ที่การจัดสมดุลระหว่าง "จิตจัดเต็ม" กับ "จิตชุ่ย" ภายใน จากเดิมที่ "จิตจัดเต็ม" รับรู้ว่าการทำงานให้ง่าย และเสร็จก่อนเวลาเป็นความชุ่ย ก็จะเริ่มเห็นว่าความง่ายช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และในทางกลับกัน "จิตชุ่ย" ที่ปล่อยปละละเลยชีวิตส่วนตัว ก็จะเริ่มมีพื้นที่ให้กับความเอาใจใส่มากขึ้น ในเวลาทำงานก็เท่าทัน "จิตจัดเต็ม" สามารถดึงเอาพลังบวกของ "จิตชุ่ย" มาใช้ได้ และในเวลาส่วนตัวก็เท่าทัน "จิตชุ่ย" สามารถดึงเอาพลังบวกของ "จิตจัดเต็ม" มาใช้ได้ ด้วยความสามารถนี้พลังชีวิตของหมิวจึงหลั่งไหลไปมามากขึ้นระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน และพลังชีวิตที่ไม่ติดตันชนิดนี้เอง ที่จะกลายเป็นพลวัตปัจจัยขับเคลื่อนจิตหมิวต่อไป

เมื่อพลังชีวิตสั่งสมมากพอ จิตของหมิวก็เป็นกลางต่อ "จิตจัดเต็ม"กับ "จิตชุ่ย" สามารถบริหารชีวิตได้อย่างสมดุล ทำงานก็ได้ผลงาน ใช้ชีวิตส่วนตัวก็มีคุณค่า ขั้นตอนที่หก คือขั้นกลับไปติดซ้ำ แต่สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของจิต เป็นวงจรที่หมุนขึ้น แม้จะกลับมาที่เดิม แต่ก็ไม่ซ้ำรอยเดิม "จิตจัดเต็ม" กลายเป็น "จิตเต็มสมบูรณ์" หมิวบริหารชีวิตได้อย่างสมดุลออกมาจากภายใน เพราะเธอสามารถบริหารจิตได้สมดุลรู้ว่าจิตใดควรทำงาน จิตใดควรพัก เมื่อจิตได้พักก็จะมีแรงกลับมาทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ และเมื่อได้ทำงานแล้ว สมควรพักก็พัก งานที่ทำก็เรียบง่าย อยู่กับข้อเท็จจริงมากกว่าอยู่กับการพยายามตีความให้เข้ากับทฤษฎี ความเห็น หรือวิถีปฏิบัติของ "จิตจัดเต็ม" หรือ "จิตชุ่ย"

จิตของหมิวขยายใหญ่ขึ้น เต็มสมบูรณ์ในทุกแง่มุมของชีวิต พร้อมต่อการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร เพราะใครๆ ก็เห็นว่าหมิวเปลี่ยนตัวเองได้จริง และอยากเปลี่ยนได้ตาม

หวังสะอาด ไยสาดโคลน



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2554

เย็นวันหนึ่ง ทันทีที่พ่อรู้ว่าลูกชายวัยรุ่นมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนร่วมโรงเรียนจนต้องหามส่งโรงพยาบาล พ่อก็ตำหนิลูกว่าทำอย่างนั้นได้อย่างไร ลูกให้เหตุผลว่าตนถูกเจ้าหมอนั่นก่อกวนที่โรงเรียนเป็นประจำ เขาพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย แต่กลับทำให้นักเรียนเกเรนั้นได้ใจ จึงรังควาญเขาหนักขึ้น บ่ายวันนี้เจ้าหมอนั่นก็มาเยาะเย้ยถากถางเขาอีกต่อหน้าผู้คนนับสิบ คราวนี้เขาทนไม่ได้ จึงต่อยและเตะมันจนหมอบ

ลูกไม่รู้สึกผิดเลยกับการทำเช่นนั้น พ่อจึงถามลูกว่า หากพ่อแม่ของเด็กคนนั้นฟ้องตำรวจจะทำอย่างไร ลูกโต้กลับว่า “เจ้านั่นมันเลวมาก สมควรแล้วที่เจ็บตัว” พ่อพยายามชี้แจงด้วยเหตุผล ลูกก็ไม่ฟัง เถียงตลอด สุดท้ายพ่อก็พูดเสียงดังว่า “ครอบครัวของเราจะไม่แก้ปัญหาด้วยกำลัง” ลูกจึงพูดสวนขึ้นมาว่า “ถ้าเป็นครอบครัวของเรา ต้องยิงมันทิ้ง”

พ่อคิดไม่ถึงว่าลูกจะพูดเช่นนั้น จึงบันดาลโทสะ ตบหน้าลูกอย่างแรง กว่าพ่อจะรู้ตัวว่าทำอะไรลงไป ความเจ็บปวดก็เกิดขึ้นกับลูกทั้งกายและใจไปแล้ว

พ่อต้องการสอนลูกให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่พอลูกไม่เชื่อพ่อ พ่อกลับใช้ความรุนแรงกับลูก เป็นความรุนแรงที่เกิดจากความต้องการให้ลูกใช้สันติวิธี

น่าคิดว่า อะไรทำให้พ่อทำสิ่งตรงข้ามกับความเชื่อของตน คำตอบก็คือ นอกจากพ่อจะไม่พอใจที่ลูกคิดต่างจากพ่อแล้ว ยังโกรธที่ความคิดเห็นของตนถูกโต้แย้งและท้าทายซึ่ง ๆ หน้า

เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ความคิดความเชื่ออะไรก็ตาม แม้นดีวิเศษเพียงใด แต่หากเรายึดติดถือมั่นกับมันแล้ว ก็ย่อมเป็นทุกข์และทนไม่ได้ที่ความคิดนั้นถูกปฏิเสธ เพราะเหมือนกับว่าตัวตนนั้นถูกปฏิเสธหรือถูกกระทบไปด้วย จึงขุ่นเคืองใจ และหากไม่รู้ทันอารมณ์ดังกล่าว ปล่อยให้มันลุกลามเป็นความโกรธ ถึงจุดหนึ่งก็ลืมตัวและพร้อมที่จะระบายความโกรธ หรือทำสิ่งต่าง ๆ ออกไปโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งตรงข้ามกับความคิดความเชื่อนั้น

มิใช่แต่ความคิดความเชื่อในทางสันติวิธีเท่านั้น ที่หากยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว ก็ทำให้แสดงความรุนแรงออกไป แม้แต่ความคิดความเชื่อในทางศาสนา ก็สามารถเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะยึดติดถือมั่นในความเชื่อนั้นจนทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นคิดต่างจากตน ในประวัติศาสตร์มีตัวอย่างมากมายของสงครามและการประหัตประหารเพราะความแตกต่างทางด้านศาสนา ทั้ง ๆ ที่ศาสนาเหล่านั้นพร่ำสอนสันติภาพก็ตาม

แม้กระทั่งในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่มีศรัทธาแน่นแฟ้นในพุทธศาสนา บ่อยครั้งที่พบว่ามีการใช้ท่าทีที่ไม่เป็นพุทธ ในการตอบโต้รับมือกับบุคคลในศาสนาอื่นหรือผู้ที่ถูกมองว่ากำลังบั่นทอนคุกคามพุทธศาสนา ท่าทีดังกล่าวได้แก่การใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หรือถึงขั้นใส่ร้าย ปล่อยข่าวลือ หนักกว่านั้นก็คือสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับคนเหล่านั้น ท่าทีเหล่านั้นล้วนตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยพร้อมจะใช้ท่าทีดังกล่าวอย่างเต็มที่ด้วยเหตุผลว่าเพื่อปกป้องพุทธศาสนา การใช้ท่าทีไม่เป็นพุทธเพื่อธำรงพุทธศาสนากลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนชอบธรรมด้วยเหตุผลว่า พุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐและควรแก่การปกป้องด้วยวิธีใด ๆ ก็ได้แม้จะเป็นวิธีที่ผิดศีลผิดธรรมก็ตาม นี้ก็ไม่ต่างจากการใช้วิธีรุนแรงเพื่อปกป้องแนวทางสันติวิธี ซึ่งวิญญูชนย่อมรู้ดีว่าเป็นวิธีการที่กลับบั่นทอนสันติวิธีเสียเอง

การใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อปกป้องความคิดความเชื่อหรือจุดหมายที่ถือกันว่าดีงามนั้น ได้กลายเป็นกระแสหลักในสังคมไทยไปแล้วก็ว่าได้ ดังนั้นเราจึงเห็นการใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อปกป้องประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ก่อการ (และสนับสนุน) รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อหวังจะรักษาประชาธิปไตยให้พ้นจากน้ำมือของนักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อปิดปากคนที่ตนเชื่อว่ามีอุดมการณ์ที่สวนทางกับประชาธิปไตย ส่วนคนที่ไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ จำนวนไม่น้อยก็หันไปใช้วิธีการอื่นเพื่อกดดันและกีดขวางคนที่คิดต่างจากตน ไม่ให้แสดงความคิดความอ่านที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่น ใครที่สนับสนุนรัฐประหารหรืออยู่ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยในแบบของตน หรือแม้แต่คิดเห็นไม่เหมือนตนหรือพวกของตน ก็จะถูกรุมด่าทอดูหมิ่นเหยียดหยาม ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือถูกโห่ฮาด้วยอารมณ์เกลียดชัง แทนที่จะโต้เถียงกันด้วยเหตุผล อันเป็นวิถีทางประชาธิปไตย

จริงอยู่เรามีสิทธิที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเหล่านั้น แต่อย่าลืมว่าประชาธิปไตยหมายถึงการให้พื้นที่และโอกาสในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทั้งปวง รวมทั้งความเห็นที่ล้าหลังหรือไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยตราบใดที่มิได้ดูถูกเหยียดหยามใคร หากใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว แม้จะทำเพื่อประชาธิปไตยก็ตาม แต่ในที่สุดวิธีการดังกล่าวกลับบ่อนเซาะประชาธิปไตยเสียเอง

จะว่าไปแล้ว เชื่ออะไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับเชื่ออย่างไร แม้จะเชื่อสิ่งที่ดีมีเหตุผล แต่หากเชื่ออย่างยึดติดถือมั่นหรืองมงายหัวปักหัวปำ ก็อาจก่อผลเสียได้ เพราะการเชื่ออย่างนั้นมักทำให้ตนใจแคบ ทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นคิดต่างจากตน ยิ่งมีความมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเชื่อนั้นประเสริฐเลิศล้ำ ใครที่ไม่เชื่อเหมือนตน ก็มักจะถูกตราหน้าได้ง่าย ๆ ว่า เป็นคนโง่ หรือเป็นคนเลวไปเลย และเมื่อใดก็ตามที่ตัดสินเขาแล้ว ก็ง่ายที่เราจะทำอะไรกับเขาก็ได้ แม้จะใช้วิธีการเลว ๆ หรือชั่วร้ายกับเขา ก็ไม่รู้สึกผิด เหตุผลก็เพราะ “มันเลว จึงไม่สมควรที่จะทำดีกับมัน” เป็นเพราะเหตุนี้คนไทยไม่น้อยจึงเห็นด้วยกับการสังหารโหดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในนามของการพิทักษ์ชาติศาสน์กษัตริย์ เมื่อเช้าวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ รวมทั้งสนับสนุนการฆ่าตัดตอนพ่อค้ายาเสพติด และเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงกลางกรุงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว รวมทั้งกรณีอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น อาทิ กรณีประท้วงที่ตากใบปี ๒๕๔๗

ความดีนั้น หากยึดติดถือมั่นมาก ก็อาจทำให้เผลอทำเลวได้ โดยเฉพาะเมื่อทำในนามของความดี ยิ่งยึดติดถือมั่นว่าตนเป็นคนดีด้วยแล้ว ก็พร้อมจะทำอะไรกับคน (ที่ตนตัดสินว่า) เลวได้ ทั้งนี้เพราะมั่นใจว่าที่ทำไปนั้นเพื่อธำรงความถูกต้อง แต่บ่อยครั้งมันกลับเป็นการทำเพื่อยืนยันความถูกต้องของตนเองมากกว่า หรือเพื่อกำจัดคนที่คุกคามความเชื่อของตน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการทำเพื่อ “ตัวกู ของกู” แรงจูงใจดังกล่าวอาจถึงขั้นผลักดันให้จัดการกับคนที่คิดต่างจากตนด้วยซ้ำ คือไปไกลถึงขั้นเห็นว่าคนที่ไม่เชื่อความดีอย่างตนนั้นเป็นคนชั่ว ดังนั้นจึงสมควรที่จะใช้วิธีการใด ๆ กับเขาก็ได้ แม้จะทำในนามของความถูกต้อง แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นการทำเพื่อค้ำจุนปกป้องความยิ่งใหญ่มั่นคงแห่งตัวตน เพราะในส่วนลึกจะรู้สึกอยู่เสมอว่า “ตัวกู” หรือ “ความเชื่อของกู” นั้นถูกบีบคั้นคุกคาม ตราบใดที่คน “เลว” เหล่านั้นยังเห็นแย้งหรือคิดต่างจากตนไม่หยุดหย่อน

เป็นเพราะทำทุกอย่างเพื่อตัวกูของกูโดยสำคัญผิดว่าทำเพื่อความถูกต้อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ยิ่งทำมากเท่าไร ก็ยิ่งห่างไกลจากความถูกต้อง และสวนทางกับความดีหรือความคิดความเชื่อที่ตนเองเชิดชู ขณะเดียวกันก็ส่งผลร้ายกลับมาที่ตนเอง เพราะเมื่อใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องกับผู้อื่น ก็ย่อมถูกเขาตอบโต้กลับมาด้วยความโกรธเกลียด หากไม่รู้ทันตนเอง ก็จะถลำเข้าไปในวงจรแห่งการจองเวรแก้แค้น จนเดือดเนื้อร้อนใจและบอบช้ำทุกฝ่าย

จะเชื่ออะไรก็ตาม พึงระวังอย่าให้กลายเป็นความยึดติดถือมั่นมากเกินไป จริงอยู่ปุถุชนย่อมมีความยึดติดถือมั่นเป็นธรรมดา แต่อย่างน้อยก็ควรมีสติรู้เท่าทันว่าที่เรากำลังจะทำไปนั้น เป็นการทำเพื่อสนองความยิ่งใหญ่มั่นคงแห่งตัวกู หรือเพื่อความดีงามที่ตนเองเชิดชูยกย่อง และแม้แน่ใจว่าทำเพื่อความดีงาม ก็ควรระมัดระวังไม่เผลอทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความดีงามนั้น ๆ ซึ่งจะกลายเป็นการบั่นทอนสิ่งนั้นไปโดยไม่รู้ตัว พึงระลึกว่าตัวการที่จะผลักดันให้เราเผลอทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความดีงามนั้นก็คือ ความโกรธเกลียด(และกลัว) ที่มีคน “เลว” เป็นเป้าหมาย จนพร้อมจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นเพื่อตอบโต้หรือขจัดเขาออกไป ไม่ให้มาคุกคามความดีที่เราเชิดชู

นอกจากการมีสติรู้เท่าทันตนเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยป้องกันมิให้การกระทำของเรานั้นแทนที่จะส่งผลดี กลับส่งผลเสียต่อตนเองและความดีงามที่เราเชิดชู นั่นก็คือ การใช้วิธีการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความดีงามที่มุ่งหมาย แม้ในยามที่ต้องต่อสู้กับ “ศัตรู” หรือผู้ที่จ้องทำลายสิ่งดีงามที่เราเชิดชูด้วยวิธีการอันเลวร้ายก็ตาม เพราะหากเราใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อเอาชนะคนเหล่านั้นแล้ว ในที่สุดเราจะกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียเอง ถึงแม้จะกำจัดเขาได้สำเร็จก็ตาม มีคำกล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่เราต่อสู้กับอสูรร้าย พึงระวังว่าเราจะกลายเป็นอสูรร้ายเสียเอง” ใช่หรือไม่ว่า ตำรวจที่พร้อมจะใช้วิธีการใด ๆ กับโจร ไม่เว้นแม้กระทั่งวิธีการนอกกฎหมายหรือโหดร้ายป่าเถื่อน ในที่สุดกลับมีนิสัยหรือพฤติกรรมเยี่ยงโจรเสียเอง

ในระดับบุคคลฉันใด ในระดับประเทศก็ฉันนั้น หลังจากเหตุการณ์ ๑๑ กันยา สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเทกำลังและทรัพยากรอย่างมหาศาลเพื่อตอบโต้แก้แค้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เป็นเหตุให้คนเกือบ ๒,๘๐๐ คนต้องตายในวันนั้น ความเลวร้ายของกลุ่มดังกล่าวถูกยกเป็นเหตุผลรองรับความชอบธรรมที่สหรัฐจะใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อปราบคนกลุ่มนั้นให้สิ้นซาก ถึงกับยกทัพไปก่อสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก จนผู้บริสุทธิ์ล้มตายกว่าแสนคน มากกว่าที่ตายในเหตุการณ์ ๑๑ กันยาถึง ๕๐ เท่า ผู้คนบ้านแตกสาแหรกขาดเกือบสิบล้านคน แต่ผลร้ายไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายและชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในอีกมุมหนึ่งของโลกเท่านั้น หากยังเกิดกับชาวอเมริกันด้วยกัน ไม่จำเพาะแต่ทหารที่บาดเจ็บล้มตายหรือกลับมาในสภาพที่บอบช้ำทางจิตใจ (แม้ร่างกายจะครบถ้วน) เท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็เต็มไปด้วยความหวาดผวาและถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐบาลของตนเอง ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องวิถีชีวิตและคุณค่าที่คนอเมริกันเชิดชู อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่กลับอนุญาตให้มีการทรมานผู้ต้องหา ตัดสิทธิที่จะแก้ต่างในศาลพลเรือน ในขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ถูกดังฟังโทรศัพท์อย่างแพร่หลาย กลายเป็นว่ายิ่งต่อสู้กับพวกผู้ก่อการร้าย สหรัฐอเมริกากลับถอยห่างจากหลักการที่ตนเชิดชูไกลขึ้นทุกที และมีพฤติกรรมโน้มไปในทางเดียวกับกลุ่มก่อการร้ายที่ตนหมายกำจัดให้สิ้นซาก ยิ่งต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกากลับบั่นทอนคุณค่าดังกล่าวเสียเอง

หลังจากเหตุการณ์ ๑๑ กันยาผ่านไปสิบปี สหรัฐอเมริกากลับมีสถานะที่ตกต่ำลงในสายตาของชาวโลก ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นในทางประชาธิปไตยได้อีกต่อไป ทั้งนี้เพราะความต้องการเอาชนะศัตรูโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นวิธีการใด ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการจมปลักในสงครามที่ยากจะถอนตัวได้ และงบประมาณมหาศาลที่ทุ่มเทลงไปจนก่อผลร้ายต่อเศรษฐกิจอเมริกันอยู่ในขณะนี้

กรณีของสหรัฐอเมริกานั้นตรงข้ามกับกรณีของนอรเวย์ ซึ่งประสบความสูญเสียครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์จากเหตุก่อการร้ายเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่แทนที่รัฐบาลจะหันมาใช้วิธีการไล่ล่าปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาซึ่งเชื่อว่ากำลังเป็นภัยคุกคามต่อความสงบสุขของประเทศ นายกรัฐมนตรีนอรเวย์กลับประกาศว่า “เราจะรับมือกับการโจมตีครั้งนี้ด้วยประชาธิปไตยที่มากกว่าเดิม เปิดกว้างกว่าเดิม และมีมนุษยธรรมยิ่งกว่าเดิม” แม้ว่าการก่อการร้ายนี้มีรากเหง้ามาจากอุดมการณ์ขวาจัดที่กำลังแพร่หลายผ่านสิ่งพิมพ์และสื่ออินเตอร์เน็ตมากมาย แต่รัฐบาลกลับมองว่า “การกดห้ามความคิดเห็นนั้นเป็นเรื่องอันตราย เราต้องยอมรับว่ามีความคิดเห็นสุดโต่งอยู่ในหมู่ผู้คน ความคิดเห็นเหล่านี้เราไม่สามารถบังคับให้สงบเสียงจนตายหายไป หากแต่จะต้องมีการโต้เถียงจนตายหายไปต่างหาก”

ใช่หรือไม่ว่านี้คือวิธีที่พึงกระทำในการต่อสู้กับสิ่งเลวร้าย การยืนหยัดในความถูกต้อง มั่นคงในหลักการที่ดีงาม เป็นวิธีการเดียวที่จะเอาชนะสิ่งเลวร้ายและปกป้องสิ่งดีงามที่เราเชิดชู อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรย้ำก็คือ แม้เราจะมั่นใจว่าคุณค่าและหลักการที่เรายึดถือนั้นเป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่ควรมองคนที่ไม่ได้ยึดถือคุณค่าและหลักการเหล่านั้นว่าเป็นคนเลว พึงมองว่าเขาเพียงแต่คิดต่างจากเรา แม้ความคิดนั้นเราจะมองว่าเป็นอันตราย แต่ก็ไม่ควรใช้กำลังหรืออำนาจกับผู้ที่มีความคิดดังกล่าว หากควรต่อสู้กันด้วยเหตุผล และควรให้คนเหล่านี้มีพื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็นตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หากเราเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยคือคุณค่าสูงสุดที่พึงปกป้อง ก็ควรเคารพสิทธิของคนที่มีความคิดสวนทางกับระบอบดังกล่าว ในทำนองเดียวกันหากเราเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์คือคุณค่าสูงสุดที่พึงธำรงรักษา ก็ควรเคารพสิทธิของคนที่ไม่ได้ซาบซึ้งในคุณค่าดังกล่าว การปิดปากหรือข่มขู่คนที่คิดต่างจากเราไม่ว่าด้วยอำนาจ พละกำลัง หรือคำด่าทอหยามเหยียดไม่ว่าในนามของประชาธิปไตยหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม นอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังเป็นผลเสียต่อสิ่งที่เราต้องการปกป้องด้วย พึงระลึกว่า “ความคิดเห็นเหล่านี้เราไม่สามารถบังคับให้สงบเสียงจนตายหายไป หากแต่จะต้องมีการโต้เถียงจนตายหายไปต่างหาก”

จิตกับพลังแห่งการเยียวยา



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กันยายน 2554

เมื่อปี ค.ศ.๑๙๒๐ เด็กชายชาวจีนคนหนึ่งถือกำเนิดในซิงหนิง หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ถึงแม้ความเป็นอยู่จะแร้นแค้น แต่มารดาของเขาก็สู้อุตส่าห์ทำงานหนักเพื่อส่งเสียให้เล่าเรียนหนังสือวิชาศิลปศาสตร์ของจีน ซึ่งเขาก็เรียนจนจบอย่างรวดเร็วเกินวิสัยคนธรรมดา ต่อมาเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มเขาก็ได้เล่าเรียนวิชาของตะวันตกผ่านทุนเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยจงซาน ในเมืองกวางโจว เมื่อเรียนจบมาทำงานจนอายุ ๓๖ ปีจึงล้มป่วยเป็นโรคไต หมอได้ผ่าเอาไตของเขาออกข้างหนึ่ง ส่วนข้างที่เหลือก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ สุดท้ายบรรดานายแพทย์แผนตะวันตกผู้ที่ให้คำปรึกษากับเขาก็พากันยกธงขาว ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร เขาพยายามไปหาแพทย์จีนแผนโบราณแต่การรักษาก็ไร้ผลเช่นกัน ตอนนั้นน้ำหนักเขาลดลงจาก ๖๕ กิโลกรัม เหลือเพียง ๔๐ กิโลกรัม! หมอบอกว่าเขาว่าอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมาก็เพียงห้าเดือน แต่เขาคนนี้ไม่เพียงมีอายุยืนยาวไปมากกว่านั้น เขายังมีสุขภาพแข็งแรงเหนือคนทั่วไป ชายผู้นี้ทุกคนรู้จักเขาในนาม โหลว จี้ หง (Luo Ji-Hong) ปรมาจารย์ผู้ฝึกสอนวิชาไทจี๋ฉวน (ไท่เก็ก) จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก มีเรื่องเล่าว่าในระหว่างที่เขาถูกคุมขังในคุกในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ผู้คุมเอาพลั่วตีเข้าที่ตัวเขา ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำอันตรายเขาไม่ได้ พลั่วนั้นกลับกระเด็นหลุดจากมือผู้คุมไปไกล จนผู้คุมที่ตีเขาเกิดอาการกลัวและวิ่งหนีไป...

เมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้พบกับพี่สาวคนหนึ่งในเวิร์คชอปที่ผมได้นิมนต์พระอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน จังหวัดมุกดาหาร มาเป็นวิทยากรกระบวนการพัฒนาจิต พี่คนนี้สมมุติว่าชื่อพี่บุญรักษ์ เธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สาม ด้วยอาการเจ็บป่วยของเธอทำให้สามีทิ้งเธอไปอยู่กับผู้หญิงอื่น ส่วนลูกชายวัยรุ่นก็กลายเป็นเด็กมีปัญหา ผลการเล่าเรียนที่เคยดีกลับแย่ลง เริ่มแสดงอาการก้าวร้าว ทุกวันเธอต้องพึ่งมอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวดและเพื่อให้นอนหลับ เธอมีอาการนอนไม่หลับเพราะคิดมากกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คิดโทษตัวเองและคนอื่นให้วุ่นวาย หน้าที่การงานของเธอก็ถูกโยกย้ายไปในแบบที่ไม่ได้ดั่งใจ เมื่อได้พบพระอาจารย์ เธอก็เล่าเรื่องให้อาจารย์ฟัง อาจารย์จึงพูดว่า

“เป็นมะเร็งสิดี รักษาดียังไงมันก็ตาย!”

เธอรู้สึกอึ้งไปเล็กน้อย แล้วพระอาจารย์ก็หันไปพูดกับทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นว่า

“ส่วนพวกเราที่ไม่ป่วยเป็นอะไรก็ต้องตายแน่ทุกคน เพราะร่างกายมันเป็นรังของโรค”

คำพูดอาจารย์เหมือนทำให้เธอได้สติ! เย็นวันนั้นเมื่อเธอกลับมาบ้าน เธอเขียนบนกระจกเงาที่ใช้แต่งหน้าทุกวัน เป็นถ้อยคำเพื่อให้อภัยและไม่ถือโกรธสามีที่ทิ้งเธอไป หลังจากนั้นนอนหลับสนิทเป็นครั้งแรกในรอบปีโดยไม่ใช้ยามอร์ฟีน วันต่อมาเธอรีบโทร.มาบอกผม เพื่อขอเข้ารับการอบรมเรื่องการฝึกสติในชีวิตประจำวัน เธอแทบจะเป็นนักเรียนดีเด่น พระอาจารย์บอกอะไรก็ทำตามโดยไม่เกี่ยงงอน ไม่ลังเลสงสัย หลังจากนั้นพี่บุญรักษ์ก็ได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในชีวิตของเธอ

หลังจากสองสามเดือนผ่านไป พี่บุญรักษ์กลับไปตรวจ หมอบอกว่าเธอไปทำอะไรมา เพราะผลการตรวจบอกว่าเชื้อมะเร็งหายไป ทุกวันนี้เธอเหมือนได้ชีวิตใหม่ เธอเปลี่ยนแปลงจากข้างใน ไม่เป็นคนอมทุกข์ ไม่เจ้าคิดเจ้าแค้น หน้าที่การงานที่เหมือนจะมีอุปสรรคก็กลับดีขึ้น มีคนแอบเอาของขวัญมาวางไว้ที่โต๊ะทำงานของเธอ แต่ก่อนมีแต่คนหวาดกลัวเธอ เพราะในตำแหน่งหัวหน้างาน เธอเคร่งครัดกับงานเอกสาร และมักจะส่งเอกสารกลับไปแก้ใหม่ทั้งหมดถ้าส่งมาไม่ถูกใจ ลูกเริ่มกลับมาน่ารักเหมือนเดิม เห็นว่าไม่นานมานี้เธอกำลังพบรักใหม่

เรื่องราวของอาจารย์ โหลว จี้ หง กับพี่บุญรักษ์เหมือนกันตรงไหน มันไม่ใช่ปาฎิหาริย์ แต่เป็นผลของการฝึกปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนอบรมจิตใจ โหลว จี้ หง ฝึกวิชาไทจี๋ฉวน หรือรำมวยจีนแบบมวยภายใน ซึ่งให้ความสำคัญกับใช้จิตที่เบาละเอียดไปควบคุมการทำงานของร่างกาย พี่บุญรักษ์ใช้วิธีการทำความรู้สึกตัวด้วยการให้จิตมาประกอบอยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบทยืน เดิน นั่ง นอน หรือที่เรียกว่าสติปัฏฐานสี่ ทั้งสองอย่างนี้ได้ไปสร้างให้เกิดสมดุลย์ภายในร่างกายใหม่ ซึ่งไปมีผลลึกลงไปถึงระดับของการสร้างเซลล์ใหม่ เราเองเคยชินกับการคิดนึกว่าร่างกายเป็นเครื่องจักรที่ผลิตเซลล์หรือสารเคมีใหม่ออกมาเรื่อยๆ จนกว่าเราจะตาย แต่น้อยคนนักที่จะให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของเราในขณะกำลังสร้างเซลล์ใหม่ ในขณะที่ให้กำเนิดจุลชีวิตในร่างกาย ถ้าจิตใจเราย่ำแย่ เราจะผลิตเซลล์ที่มีคุณภาพ หรือสุขภาพดีได้อย่างไร แค่เพียงเราเครียดกับการงาน ร่างกายก็แสดงสัญญาณมาให้เรารู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างความรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ หรืออาการที่มากขึ้น เช่น โรคกระเพาะอาหาร ปวดศรีษะไมเกรน และถ้าปล่อยเอาไว้มากเข้าก็ไปถึงโรคมะเร็ง หรือเส้นเลือดแตกในสมอง โรคหัวใจเฉียบพลัน ฯลฯ

คนมักจะให้ความสำคัญกับสมองในฐานะศูนย์บัญชาการร่างกาย แต่ในศาสนาพุทธมองว่าสมองคือก้อนไขมันก้อนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีความสำคัญไปมากกว่าตับไต หรืออวัยวะภายในอื่นๆ ในร่างกาย พูดง่ายๆ มันคือรูปวัตถุเท่านั้น ส่วนวิชาไทจี๋ฉวนของจีนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสมอง แต่ให้ความสำคัญกับ “อี้” ซึ่งแปลง่ายๆ ก็คือ “จิต” ที่เราใช้สั่งร่างกายนั่นเอง องค์ความรู้ทางตะวันออกให้ความสำคัญกับจิตใจซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ วัดไม่ได้ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกรอบความรู้ของวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน แต่วิทยาศาสตร์แบบนั้นก็อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ในโลกหลายอย่างไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือเรื่องของพี่บุญรักษ์ และเรื่องของ โหลว จี้ หง ซึ่งหลังจากการฝึกรำมวยเพียงเดือนเดียว อาการเลือดออกในไตของเขาก็หายไป หกเดือนให้หลังเขากลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมหรืออาจจะยิ่งกว่าเดิม น้ำหนักของเขาเพิ่มขึ้น อาการของความเจ็บป่วยที่เคยมีมาก่อนหน้านั้นไม่มีหลงเหลือ เขาเอาร่างกายใหม่ที่ฟิตเปรียะกลับไปเย้ยหมอคนที่ห้ามไม่ให้เขาฝึกรำมวย ท่ามกลางความพิศวงงงงวยของนายแพทย์ผู้นั้น...เรื่องแบบนี้เราจะอธิบายว่าอย่างไร

เมื่อไม่อาจจะอธิบายเรื่องแบบนี้ด้วยความเข้าใจร่างกายแบบแยกส่วน โดยมีสมองเป็นผู้บัญชาการ นักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่พยายามมองหาคำอธิบายที่ไม่คับแคบ ดร. โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ส ได้พูดถึงสนามพลังชีวิตโฮโลกราฟฟิคที่มาจากการเต้นของหัวใจ ดร.​เม วาน โฮ นักชีวเคมีผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์​ เคยพูดถึงสนามพลังควอนตัมที่มองไม่เห็นซึ่งแทรกผ่านไปทั่วถึงทุกอวัยวะในร่างกาย พวกเขาล้วนเชื่อว่าการมองว่าสมองควบคุมร่างกายนั้นเป็นความคิดที่ล้าสมัย แต่ปัญญาในระดับที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นน่าจะมีส่วนในการควบคุมร่างกายซึ่งมีความสลับซับซ้อน ทั้งคู่เชื่อว่ามีสนามพลังที่ครอบคลุมดูแลพลังชีวิต และถ้าหากสนามพลังนี้อ่อนพร่องหรือผิดปกติไปก็ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บป่วยที่เห็นได้ทางร่างกาย แล้วอะไรหนอที่ทำให้สนามพลังนี้มันผิดปกติไป?

“ร่างกายป่วยได้ แต่อย่าให้ใจป่วย ความคิดที่ไม่ดี ความโกรธเกลียด มันเป็นอาหารให้กับมะเร็ง ถ้าเธอไม่ให้อาหารมันด้วยความคิดที่ทำให้จิตใจเสียหาย แล้วเซลล์มะเร็งมันจะไปเอาอาหารมาจากไหน”

คือสิ่งที่พระอาจารย์พูดกับพี่บุญรักษ์ในวันนั้น ผมยังจำได้ขึ้นใจ เอ๊ะ หรืออาจารย์จะรู้เรื่องสนามพลัง?

โชคดีของชีวิต



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 กันยายน 2554

ผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย จึงมีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน ได้เรียนรู้จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ได้เห็นพระจริยาวัตรที่งดงามของพ่อหลวงของปวงชาวไทย ที่ทรงเป็นครูต้นแบบ เป็นครูที่แท้จริงของพสกนิกรทั้งแผ่นดิน

ผมโชคดีมีโอกาสได้พบกับบุคคลมากมาย หลากหลายประเภท ได้ผ่านพบประสบการณ์ร้อนหนาว เศร้า สุข ที่แตกต่าง แต่ล้วนมีส่วนเสริมสร้างให้ผมเติบโต เปลี่ยนผ่านวิถีดำเนินชีวิต ได้เรียนรู้และกล้าที่จะก้าวข้ามการยึดติดกับตนเองและสรรพสิ่ง

โชคดีที่ได้เกิดมาในครอบครัวใหญ่ มีความรัก ความห่วงใยให้กันและกัน
“ถ้าพี่น้องคนหนึ่งคนใดย่ำแย่ อดอยาก พวกเราทุกคนเพียงถ่มน้ำลายให้เขากิน เขาก็จะมีชีวิตรอด” คำสอนของเตี่ย-แม่ยังคงก้องกังวานอยู่ในจิตสำนึกของผม เตี่ย-แม่จะคอยพร่ำสอนลูกๆ ให้รักใคร่ กลมเกลียว ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอด เรื่องความกตัญญูรู้คุณก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ลูกๆ ได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เล็ก โดยผ่านการเล่านิทาน การเล่าเรื่องจริงและการปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ เช่นการส่งเงินที่เก็บออมจากการทำงานหนักของท่านไปให้พ่อแม่ พี่น้องที่อาศัยอยู่ในเมืองจีน

ผมเป็นลูกคนที่ห้า จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๗ คน มีพี่ชาย ๑ คน พี่สาว ๓ คน น้องชาย ๑ คน น้องสาว ๑ คน
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานกับหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา (Peace Corps-ออกเสียงว่า พีซคอร์) เป็นครูสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยให้กับอาสาสมัครชาวอเมริกันที่มาทำงานในเมืองไทย และต่อมาได้เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการฝึกอบรมข้ามวัฒนธรรม แล้วยังโชคดีมีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมให้กับอาสาสมัครชาวอังกฤษ เป็นนักวิจัยให้กับ American Institute For Research (AIR) ทั้งหมดช่วยให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจการทำงานกับคนต่างวัฒนธรรม ได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เปิดและเปลี่ยนโลกทัศน์ที่คับแคบของผมให้กว้างขึ้น

ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านพบ ช่วยให้ผมสอบเข้าเรียนระดับปริญญาเอกด้านจิตวิทยาการศึกษาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นรุ่นแรก โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นรวมทั้งหมด ๗ คน (จบที่นี่ ๒ คน ลาออก ๒ คน ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ ๓ คนรวมตัวผม)

ยังจำบรรยากาศการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี สั้นๆ คือเข้มข้น จริงจัง รู้สึกบีบคั้นและเคร่งเครียดโดยเฉพาะช่วงที่จะสอบหลังเรียนรายวิชาจบแล้ว ที่ปัจจุบันเรียกว่าการสอบวัดคุณสมบัติ เพราะบรรยากาศถูกทำให้ดูศักดิ์สิทธิ์มาก แตกต่างกับที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้าที่ผมได้ทุนจุฬาฯ ไปเรียน ผลการสอบครั้งแรกคือ ตกหมดทุกคน มีอยู่หนึ่งวิชาที่มารู้ทีหลังว่าผมได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ตก เพราะได้แค่ ๒ คะแนนจาก ๑๐๐ อาจารย์บอกว่าที่ให้คะแนนเพราะผมเขียนว่าไม่รู้จริงๆ แต่จะไปศึกษาเพิ่มเติม คือกล้าที่จะบอกว่าไม่รู้ ส่วนคนอื่นได้ ๐ เพราะบางคนส่งกระดาษเปล่า บางคนเขียนตอบแต่ตอบผิดแบบไม่รู้ แต่ทุกคนก็สอบผ่านในครั้งที่สอง เพราะครั้งนี้ถ้าไม่ผ่านต้องออกจากโครงการ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของนิสิตที่ต้องผ่านกระบวนการเดียวกันเป็นอย่างดี เพราะตัวผมมีประสบการณ์ตรงสามครั้ง คือที่จุฬาฯ ๒ ครั้ง และที่อเมริกาหนึ่งครั้ง (ใครอยากได้รู้บรรยากาศแบบนี้ก็น่าจะลองมาสมัครเรียนปริญญาเอกที่คณะครุศาสตร์ดู แล้วจะรู้ว่าทุกข์-สุขมีจริง ลูกศิษย์บางคนถึงกับพูดว่า การมาเรียนที่นี่ ทำให้รู้ว่า นรก-สวรรค์นั้นมีจริง)
ผมโชคดีที่ได้เป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อเรียนรายวิชาจบ เหลือเพียงแค่ทำวิทยานิพนธ์ สอนได้ปีเดียวก็สอบชิงทุนของจุฬาฯ ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย มินเนโซต้า (University of Minnesota) ที่เดียวกับอาจารย์วิจิตร ศรีสะอ้าน อาจารย์ทองอินทร์ วงศ์โสธร อาจารย์สมหวัง พิธิยานุวัฒน์.เรียนจบกลับมาด้วยเกรด (ไม่ต้องเฉลี่ย) ๔.๐๐ คือได้ A ทุกวิชา และที่น่าภาคภูมิใจมากก็คือ ผมได้พัฒนาเทคนิคการวิจัยอนาคตขึ้นมาเรียกว่า EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ แล้วนำมาเผยแพร่ที่ประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ

ที่มินเนโซต้านี้เองที่ผมได้พบสตรีที่สดใส น่ารักและช่างพูด เธอจะพูดไป ยิ้มไป พูดไปหัวเราะไป เสียงใสตลอด เมื่อรู้ว่าผมเรียนมาทางด้านจิตวิทยาตอนปริญญาโทและปริญญาเอก เธอก็มาขอคำปรึกษา และขอความช่วยเหลือสม่ำเสมอเพราะเธอไปเรียนปริญญาตรีทางด้านจิตวิทยาเด็ก เธอคือ นส. เครือวัลย์ มโนชัย ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น พูลภัทรชีวิน ตามนามสกุลของสามีที่เป็นคุณพ่อของลูกชายที่หล่อเหลาสองคนคือ ภาณุวัฒน์ (เดฟ) และ ชยภัทร (ดีพ) พูลภัทรชีวิน ผมภูมิใจในตัวลูกชายทั้งสองคนที่ส่อแสดงความมีศักยภาพเป็นคนดี คนเก่ง มีความรับผิดชอบและมีความมุ่งมั่นตามวัย ไม่ทำให้พ่อแม่ห่วงใยจนเกินเหตุ แต่ก็มีบางครั้งที่มีความขัดแย้งและขัดใจกันในครอบครัว

ทั้งภรรยาและลูก คือท่อนแยกของบทเพลงแห่งชีวิตของผม

ทั้งภรรยาและลูกคือครูชีวิตที่ท้าทายของผม ผมยังคงต้องเรียนรู้จากพวกเขาไปตลอดชีวิต...หรือจนกว่าผมกล้าที่จะก้าวข้าม...
ผมโชคดีและภูมิใจมากที่มีโอกาสทำงานช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียน ตชด.(ตำรวจตระเวนชายแดน) โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนมัธยมบ้านนายาว จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากนั้นก็ขยายไปพัฒนาครู ตชด.ทั่วประเทศ ได้เรียนรู้จากครู นักเรียน คณะอาจารย์ที่ร่วมเป็นทีมงานและชาวบ้านในหลากหลายมิติ เป็นงานที่ท้าทาย เหนื่อย แต่เหนืออื่นใดมีความสุขใจที่ได้ทำ เป็นงานที่เปลี่ยนชีวิตและโลกทัศน์ของผมมากทีเดียว

ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเป็นสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่ประกอบไปด้วยปรมาจารย์หลายสาขา ผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้ทางวิชาการ และประสบการณ์ชีวิตที่ล้ำค่า ปัญญาที่ลุ่มลึก การพูดคุยแต่ละครั้ง ช่วยลดความอหังการ์ของผม ช่วยให้ผมเป็นผู้เรียนรู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น

ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ ริเริ่ม พัฒนา และทำงานขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับผู้บริหารโรงเรียนและครูทั่วประเทศภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง (SP2)

การเป็นสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์และการทำงานด้านจิตตปัญญาศึกษา เป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของชีวิตของผม ช่วยให้ผมละเอียดอ่อนและนุ่มนวลกับชีวิตและสรรพสิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะกับครอบครัว และลูกศิษย์

ผมโชคดีที่มีลูกศิษย์ที่ต่างก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ความต่างของพวกเขาและเธอคือครูอาจารย์ของผม ผมได้เรียนรู้วิธีสอนจากลูกศิษย์ ผมรับรู้และเรียนรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความคาดหวัง ความสิ้นหวัง ความสมหวัง ความเครียด ความทุกข์ และความสุขของลูกศิษย์ ทั้งหมดช่วยทำให้ผมรู้และเข้าใจความหลากหลายของชีวิตและสรรพสิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งหมดทำให้ผมมีสติและปัญญาเพิ่มมากขึ้น หวังว่าลูกศิษย์ทุกคนจะนำบทเรียนของผมไปเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนชีวิตของตัวเอง ทุกสิ่งที่พบ ทุกสิ่งที่เผชิญคือครูของเราทั้งสิ้น ช่วยให้เราเจริญเติบโตทางปัญญาได้ทั้งสิ้น ตั้งสติแล้วเรียนรู้จากคุณครูทั้งหลาย ไม่มีร้าย ไม่มีดี มีแต่ครูที่รอให้ผู้ใฝ่ศึกษามาเรียนรู้

ผมดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของลูกศิษย์เสมอ

ผมภูมิใจและสุขใจที่ได้ยื่นมือให้ลูกศิษย์จับ ก่อนที่เขาจะถูกกระแสความผิดหวังและความล้มเหลวพัดหายไป แล้วสามารถดึงเขากลับมาบนเส้นทางแห่งความสำเร็จได้

ผมรู้สึกเสียใจที่ลูกศิษย์บางคนต้องออกจากโปรแกรมไปด้วยเหตุที่แตกต่างกัน เสียดายที่ช่วยไม่ได้ เสียดายที่ไม่ได้ช่วย ได้แต่ยืนมองดูลูกศิษย์เดินจากไปด้วยความสะเทือนใจ เสียใจจนน้ำตาซึม เมื่อนึกถึงภาพของคนที่เคยมีความภูมิใจที่สอบเข้ามาเรียนได้ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปพร้อมกับความผิดหวัง

เขาและเธอ เดินเข้ามา มุ่งหวังแสวงหา คุณค่าของชีวิต

เขาและเธอ เดินจากไป ด้วยจิตใจไม่คิด จะกลับมา...

ผมโชคดีที่มีลูกศิษย์เป็นครู ช่วยให้ผมได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เตือนสติให้รู้ว่า แก่นแท้และคุณค่าของชีวิตก็คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต แก่นแท้และคุณค่าของการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็คือการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าต่อผู้อื่น ต่อสรรพสิ่ง อย่างต่อเนื่อง อย่างมีสติและปัญญา
และนี่คือคุณค่าที่แท้จริงของความเป็นครู คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต คุณค่าที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์

ชีวิตคือผลรวมของประสบการณ์ที่ผ่านพบ หากไม่ผูกติดหรือยึดไว้ ชีวิตก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ ไหลเลื่อนเคลื่อนไป เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ขอเพียงก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสติ แล้วจะเกิดปัญญา กล้าที่จะก้าวข้ามความคงที่ ความเป็นตัวกู ของกู
กล้าที่จะก้าวข้ามจากผู้สอน(ผู้ถ่ายทอด) สู่ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต

การมีลูกศิษย์ ลูก ภรรยา สิ่งมีชีวิตร่วมโลก และสรรพสิ่งในจักรวาล รวมทั้งตัวเอง เป็นเนื้อหา เป็นวิชา เป็นหลักสูตร เป็นสิ่งประเสริฐที่ชีวิตของคนๆ หนึ่งอย่างผม โชคดีได้มีโอกาสเรียนรู้ เพราะครูของผมคือทุกคนที่ผมพบรวมทั้งตัวผมเอง คือทุกสิ่งที่ผมเผชิญ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ได้หลอมรวมกลายมาเป็นผมในปัจจุบัน ที่เข้าใจว่า ชีวิตครู คือชีวิตคน ที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

ครูคือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มีลูกศิษย์เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ และเป็นครูที่ยิ่งใหญ่

ผมโชคดีที่ผมเป็นครูที่มีลูกศิษย์มากมายทั่วประเทศ

ผมโชคดีที่ผมเป็น “ศิษย์มีครู”

ผมโชคดีเหลือเกินที่มีครูเต็มแผ่นดิน เต็มท้องฟ้า เต็มมหานที

ขอบคุณครับคุณครู ที่มอบความโชคดีให้กับชีวิตเล็กๆ อย่างผม

ผู้นำคือผู้หล่อเลี้ยงสมดุลชีวิต



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 กันยายน 2554

แนวคิดในการสร้างผู้นำ การพัฒนาระบบ วิธีการและภาวะผู้นำคงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบ้านเราที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ องค์กร และสังคมทุกภาคส่วน แต่รูปแบบของผู้นำที่พบส่วนใหญ่จะมีลักษณะ “ควบคุม สั่งการ” เป็นลักษณะเด่น

เวลาตั้งคำถามว่า “เราชอบผู้นำแบบไหน” เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นตอบว่า ต้องการ “ผู้นำที่รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง” นอกนั้นก็อาจจะบอกว่า “คิดเก่ง ทำเก่ง เป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง มองการณ์ไกล มีคุณธรรม ใจกว้าง กล้าเสี่ยง”

โรงงานผลิตขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย มีพนักงานมากกว่าสองหมื่นคน ผู้นำในโรงงานบอกว่า “ปัญหาที่ลูกน้องมาระบาย ร้อยละ ๘๐ เป็นเรื่องส่วนตัว นอกนั้นเป็นปัญหาเรื่องงาน ปัญหาทางเทคนิคที่ต้องการแก้ไข” ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ว่า สิ่งที่กวนใจ หรือทำให้ผู้คนทุกข์ร้อนนั้นเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ที่บั่นทอนจิตใจ หรือกำลังใจในการทำงาน และพวกเขาจำต้องพึ่งพาผู้นำ หรือหัวหน้าในการเล่าและระบายความในใจเหล่านี้ ภาวะตึงเครียดทั้งในการทำงานและการดำรงชีวิตในยุคนี้ เรียกร้องให้ผู้นำทุกระดับต้อง “รับฟังเป็น” ไม่ใช่สักแต่สั่งงาน ตามงานแบบบี้เอาบี้เอาอย่างไม่รับฟังข้อจำกัดในการทำงานใดๆ เลย

รูปแบบการเป็นผู้นำแบบเดิมที่บริหารด้วย “ความกลัว” และการสร้างระยะห่าง จนถึงขั้น “เหินห่าง” เพราะเชื่อว่าหากใกล้ชิดเกินไป จะบริหารหรือ “สั่งการ” ไม่ได้ อาจดำเนินมาถึงจุดที่ไม่มีทางไปต่อได้อีกแล้ว เมื่อสังคมมีทางเลือกมากขึ้น ผู้คน “ทน” กับหัวหน้าที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและสั่งการแบบจะเอาแต่ให้ได้งานเท่านั้นน้อยลง รูปแบบหรือโมเดลผู้นำแบบสนใจแต่ “เป้าหมาย” และ “ผลลัพธ์” มากกว่า “คน” ที่กำลังสร้างผลลัพธ์เหล่านั้น อาจเรียกว่าเป็นแบบ “ผู้นำเดี่ยว” เพราะอิงกับอำนาจที่ได้มาจากการแต่งตั้ง

แนวคิดแบบผู้นำเดี่ยว อาศัยธรรมชาติของมนุษย์ที่มีทั้งความอยากและความกลัว ผ่านกระบวนการ สร้าง “แรงกดดัน” (Impulsive) ที่กระตุ้นโหมด “ความกลัว” เช่น กลัวถูกลงโทษ กลัวเสียหน้า กลัวไม่ได้รับการยอมรับ กลัวตกงาน กลัวไม่เติบโต เป็นต้น และพร้อมๆ กันก็สร้างระบบ “แรงจูงใจ” (Incentive) เช่น ระบบค่าตอบแทนแบบต่างๆ ตั้งแต่การให้เงินเดือน การให้เงินพิเศษ เช่น โบนัส หรือการให้รางวัลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งระบบการให้ทั้งคุณและโทษเหล่านี้มีอยู่แล้วในระบบการศึกษามาแต่ไหนแต่ไร และอาจสามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการได้ระดับหนึ่ง แต่หากละเลยแรงขับที่อยู่เหนือแรงขับทั้งสอง (ซึ่งอยู่บนฐานของสมองชั้นต้น นั่นคือตอบสนองความต้องการในการเอาตัวรอดและตอบสนองความอยาก) นั่นคือ แรงบันดาลใจ และการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าและความหมาย การเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ก็จะน่าเสียดายอย่างยิ่ง

ผู้นำที่สามารถสร้างและหล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจในการทำงานของผู้คนในองค์กรจะลดบทบาทของการ “ควบคุม สั่งการ” มาเป็น “หล่อเลี้ยง ดูแล” มากยิ่งขึ้น และจะช่วยให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชีวิตและองค์กรไปด้วยพลังของพวกเขาเองอย่างเต็มที่

ผมอยากลองแยกแยะผู้นำทั้งสองแบบ แม้ว่าในหลายกรณีอาจไม่ได้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน เพียงแค่เพื่อให้เห็นความแตกต่าง นั่นคือผู้นำเดี่ยวมุ่งเน้นเป้าหมายมากกว่าความสัมพันธ์ ใช้เหตุผลมากกว่าใส่ใจความรู้สึก ให้คุณค่ากับการ “ปฏิบัติตาม” มากกว่าส่งเสริม “การคิดเองและการคิดเป็นทำเป็น” ให้คะแนน “ความเชื่อฟัง” มากกว่า “การคิดต่างและการมีส่วนร่วม” สนใจที่จะ “ตรวจตรา” และ “พัฒนาระบบและสร้างระเบียบวินัยที่เข้มงวด” มากกว่าใช้เวลาในการสร้าง “ความไว้วางใจและบรรยากาศที่เป็นมิตรเป็นกันเอง” องค์กรที่มุ่งเน้นอย่างหลัง จะให้ความสำคัญต่อการสร้าง “ภาวะผู้นำร่วม” หรือ “จิตร่วม” ในการทำงานที่หล่อเลี้ยงการเติบโตของมนุษย์ คุณภาพและสมดุลชีวิต รวมถึงความสัมพันธ์ภายในองค์กรมากกว่าเพียงการเติบโตด้านวัตถุที่วัดผลเชิงปริมาณและมูลค่าเท่านั้น

การสร้างภาวะผู้นำร่วมนี้ ตัวผู้นำเองจะเป็นแกนหลักในการสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมที่ส่งเสริมความ ร่วมไม้ร่วมมืออย่างเกื้อกูลเพื่อทดแทนภาวะ “ปกป้อง”และ “การเอาตัวรอด” ไปวันๆ ของชีวิตองค์กร ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายนักที่ผู้นำเองจำต้องฝึกฝนขัดเกลาตัวเองอย่างมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง รับผิดชอบและดูแลอารมณ์ลบของตัวเองที่ส่งผลต่อคนอื่นๆ ในวงกว้าง เพราะยิ่งมีตำแหน่งที่สูง ผลกระทบก็ยิ่งมากตามไปด้วย

น่ายินดีที่ผมได้มีโอกาสพบปะกับผู้นำจำนวนไม่น้อยที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเองเพื่อประโยชน์ต่อผู้คนที่แวดล้อมพวกเขา และได้สังเกตเห็นว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการ “สร้างตัวเองใหม่” (Self-reconstructing) คือ

๑) มีหัวใจที่ห่วงใยผู้คน รวมทั้งผู้ใต้การบังคับบัญชาอย่างจริงใจ (Caring) ไม่ใช่ห่วงใยคนที่บ้านและผลตอบแทนที่จะได้รับมากกว่าห่วงใยคนทำงานที่แวดล้อมจริงๆ

๒) มีความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง (Commitment)

๓) ฝึกหัดขัดเกลาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ (Consistancy) เพราะมิเช่นนั้นแบบแผนพฤติกรรมเดิมๆ ที่ทำมาจนเป็นนิสัยและฝังรากอยู่ในวงจรสมองอัตโนมัติเดิมๆ จะแสดงตัวเป็นใหญ่ ผู้นำหลายคนที่ผ่านการ “เรียนแล้ว” และ “รู้แล้ว” แต่ทำไม่ได้จริงมีอยู่มากมาย เหมือนตกม้าตาย เพราะมีความเชื่อว่า “ความรู้” แบบคิดได้อธิบายถูกต้องเป็นสิ่งเดียวกับ “ความรู้”ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติจนเกิดผลลัพธ์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่อง

๔) มีชุมชนฝึกหัดและมีผู้ส่งเสริมการฝึกที่ดี (Community of Practice and Coaching) เนื่องจากทักษะการเป็นผู้นำร่วมต้องอาศัยชุมชนที่ส่งเสริมการฝึกฝน การสื่อสารและการอยู่ร่วมล้วนเป็นทักษะสำคัญที่จำต้องอาศัยเพื่อนร่วมฝึก และการเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้

๕) สร้างโอกาสในการ “หยุด” เพื่อทบทวนและใคร่ครวญกับตัวเองอยู่เสมอ (Contemplative) เพื่อรู้เท่าทันการกระทำของตัวเองและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เรียนรู้ที่จะ “เลือก” เส้นทางหรือพฤติกรรมใหม่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้คุณค่ามากขึ้น แทนที่จะเลือกทำตามอิทธิพลของวงจรปกป้องตัวเองแบบเดิมๆ

น่าเสียดายที่ทักษะเหล่านี้มักถูกเรียกว่า “Soft Skill” หรือ ทักษะเชิงจิตใจ โดยอาจละเลยรากฐานที่มาของทักษะเหล่านี้ ซึ่งจริงๆ แล้วดำรงอยู่ใน “วิถีทาง” ฝึกตนของการสร้างผู้นำที่มีคุณธรรม หรือจิตวิญญาณของนักรบนับตั้งแต่โบราณกาลมา เช่น การฝึกศิลปะป้องกันตัวแบบไอคิโด ซามูไร หรือแม้แต่มวยไทย ซึ่งจำต้องอาศัยการเคี่ยวกรำ และขัดเกลาตัวเองอยู่เสมอ ไม่ได้ง่ายหรือสบายๆ หรืออ่อนละมุนดังชื่อที่เรียก ที่สำคัญเป็นการเรียนผ่านการลงมือทำและใส่ใจกับการฝึกฝนทางกายไปพร้อมๆ กับการฝึกจิต

ตรุงปะ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ สร้างหลักสูตรพัฒนาจิตที่เรียกว่า “ชัมบาลา” (Shambhala Training) นั่นคือชุมชนของผู้ฝึกฝนตนเองอย่างกล้าเผชิญหน้ากับชีวิตและตัวเอง พร้อมๆ กับฝึกการรับรู้โลกอย่างละเอียดอ่อนและกรุณา ในไอคิโดหรือศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น เรียกพื้นที่ฝึกว่า “โดโจ” หมายถึง พื้นที่สำหรับการตื่นรู้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในตัวเองที่จำต้องอาศัยการฝึกฝนกับผู้อื่น เพราะโดยมากมนุษย์มีแนวโน้มที่จะหลงลืมที่จะมองเห็นตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็จะเห็นว่า การสร้างสังคมหรือองค์กรที่มีสมดุลชีวิตนั้นจำต้องอาศัยผู้นำที่มุ่งมั่นตั้งใจนำพานาวาชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่นไปในทิศทางที่จะเกื้อกูลกันและกัน และเจริญเติบโตทั้งทางคุณภาพและปริมาณ ทั้งความสำเร็จและความสัมพันธ์ภายในองค์กร โดยเริ่มต้นที่ภายในตัวเองนั่นเอง

Back to Top