ธันวาคม 2007

ความสุขปีใหม่ ๒๕๕๑

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2550

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๑ คอลัมน์จิตวิวัฒน์ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบความสุขสวัสดีทั้งในปีนี้ และมากยิ่งๆ ขึ้นในปีต่อไป อะไรที่ไม่ดีในปีที่ผ่านมาก็ขอให้ผ่านไปพร้อมกับกาลเวลา อะไรที่ดีที่ยังไม่มีมาก็ขอให้สิ่งที่ดีๆ เหล่านั้นบังเกิดแก่ท่านในปีใหม่นี้ ถ้ามีอะไรที่ทำให้ขวัญเสียและเศร้าหมอง ก็ให้ขวัญ ศรี และมงคล กลับคืนมาสู่ท่านในปี ๒๕๕๑ โดยทั่วกัน

ความสุขไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง

ความสุขไม่มีขายจริงๆ ที่มีโฆษณาขายกันบ้างก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง มักเป็นมายาคติที่จะกลับกลายเป็นความทุกข์ไป แต่ความสุขสร้างได้ การสร้างสุขภาวะเป็นหน้าที่ของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม และโลก

ในคราวนี้จะนำเสนอวิธีบรรลุความสุขแบบง่ายๆ แต่มีความหมายมาก ๔ ประการ คือ

๑. นิพพานอยู่แค่ปลายจมูกตามสูตรอาจารย์พุทธทาส นิพพานคือสภาวะที่สงบเย็น เป็นสภาวะสุขอย่างยิ่ง มีการบรรยายถึงนิพพานแบบฝันเฟื่องว่าไกลสุดเอื้อม ต้องเกิดอีกเป็นแสนๆ ชาติจึงจะไปถึง ท่านอาจารย์พุทธทาสทำให้นิพพานเป็นเรื่องอยู่ใกล้นิดเดียว ใกล้จนท่านว่าอยู่ที่ปลายจมูกนั่นเอง ทุกคนเคยชิมลองกันมาแล้ว เรามีความเห็นแก่ตัวก็จริง แต่เราไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา บางครั้งเราก็ไม่ได้เห็นแก่ตัว ยามใดที่เราไม่เห็นแก่ตัว เราจะรู้สึกเป็นอิสระ เบาสบาย และเป็นสุขอย่างยิ่งนั่นแหละท่านว่าเป็นนิพพานชิมลองที่ทุกคนเคยประสบมาแล้วทั้งสิ้น ลองคิดทบทวนดูถึงเวลาที่ท่านรู้สึกจิตใจเป็นอิสระ เบาสบาย และเป็นสุขอย่างยิ่ง พยายามทำให้ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดบ่อยๆ และอยู่นานขึ้นๆ เมื่อท่านทำเสมอๆ ท่านก็จะชำนาญขึ้นเรื่อยๆ และความสุขอันเป็นทิพย์ก็จะเกิดกับท่านบ่อยขึ้นและอยู่นานมากขึ้นเรื่อยๆ

๒. การเข้าถึงความจริงสูงสุด เมื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดจะประสบอิสรภาพ เบาสบาย ประสบความงามอันล้ำลึก และความสุขอย่างประณีตเกินคำบรรยายหรือความสุขอันเป็นทิพย์ ความรู้ที่ยังบีบคั้นทำให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง ยังไม่ใช่ความจริงสูงสุด ความจริงสูงสุดต้องเป็นความงาม และความเป็นอิสระ

ในคติที่ถือว่าพระผู้เป็นเจ้าคือสิ่งสูงสุด การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าก็จะให้ความสุขอันลึกซึ้งดังกล่าว ในทางพระพุทธศาสนานิพพาน หรือ สุญญตา คือสิ่งสูงสุด เข้าถึงได้จากการหลุดพ้นจากความยึดมั่นในตัวตน ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเอกภพเป็นหนึ่งเดียวกัน ใครเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่งหรือเอกภพ จะคลายจากความยึดมั่นในตัวตนอันคับแคบ ไปเชื่อมกับความเป็นทั้งหมดซึ่งใหญ่สุดประมาณ ทำให้จิตหลุดพ้นจากความคับแคบในตัวตนไปเป็นอิสระ เสวยทิพยสุข อย่างที่มนุษย์อากาศ ชื่อ เอ็ดการ์ มิทเชล เมื่อยืนบนดวงจันทร์ แล้วมองเห็นโลกทั้งใบอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อกลับมายังโลกจิตเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มีความรักในเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด มีความสุขอย่างยิ่ง อย่างนี้เรียกว่าเกิดจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) จิตสำนึกใหม่เป็นจิตใหญ่หรือจิตวิวัฒน์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดใหม่ ที่สำนึกรู้ความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง มีความรักอย่างสากลอันไพศาล มีความสุขและต้องการช่วยให้คนอื่นมีความสุข เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและสัมผัสกับธรรมชาติตลอดเวลา เช่น อากาศที่เราหายใจ สายลม แสงแดด น้ำ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ถ้าเราฝึกให้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งจักรวาลหรือทั้งเอกภพ ทำให้เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ว่าเราคือจักรวาล จักรวาลคือเรา หายใจเข้านำจักรวาลเข้ามาสู่ตัวเรา หายใจออกก็ไปเชื่อมโยงกับจักรวาล การเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลจะให้ความรู้สึกเป็นอิสระ และสัมผัสทิพยสุขทำนองเดียวกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า

เนื่องจากความจริงสูงสุดกับความงามเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงหรือเป็นหนึ่งเดียวกัน ศิลปะหรือสุนทรียกรรมต่างๆ สามารถหรือควรต้องนำเราเข้าถึงสิ่งสูงสุดเสมอ

เรามีทางเลือกในการเข้าถึงสิ่งสูงสุด จะเป็นทางศาสนาก็ได้ ทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ หรือทางศิลปะก็ได้ หรือจะรวมกันทั้งศาสนา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ โลกจึงเติบโตไปด้วยทางเลือกในการเข้าถึงสิ่งสูงสุด ซึ่งจะเข้าถึงได้เฉพาะมนุษยสภาวะ หรือความเป็นมนุษย์เท่านั้น สัตว์และพืชไม่มีธรรมชาตินี้ ฉะนั้นในความเป็นมนุษย์ของเรา เราต้องสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุด และมีความสุขอันล้นเหลือได้

๓. ความสุขจากงานทุกชนิดด้วยปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ งานเป็นหน้าที่ของมนุษย์ และมนุษย์ทุกคนต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างทุกวัน ถ้าเราทำงานไปแล้วทุกข์ไปเราก็จะขาดทุนอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราทำงานทุกชนิดด้วยความสุขเราก็จะกำไรอย่างยิ่ง เราสามารถทำให้การทำงานทุกชนิดเป็นความสุขได้ โดยไม่ยากนัก ถ้าเราเข้าใจและฝึกไว้ทุกวันๆ

ความทุกข์เกิดจากการคิด

เช่น ล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม เราไม่ชอบ อยากให้พ้นไปจากสภาวะเช่นนั้น หรือโกรธคนที่ทำให้เราต้องล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม ที่จริง การล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม ไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ แต่ความรู้สึกไม่ชอบและความคิดปรุงแต่งจากความรู้สึกเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์

ถ้าเราล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม อย่างมีสติ คือรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับปัจจุบันของการเคลื่อนไหวและอิริยาบถของร่างกาย และสิ่งสัมผัส เช่น ชาม น้ำ ขยะ ส้วม การรู้ปัจจุบันจะทำให้ความคิดปรุงแต่งสงบไป จิตที่สงบจากความคิดปรุงแต่งมีความสุขอย่างยิ่ง ถ้าเราฝึกการเจริญสติไว้เรื่อยๆ และมีสติในการงานทุกอย่างที่ทำจะพบความสุขในงานนั้นๆ ทุกอย่างไป การทำงานจะไม่เป็นความทุกข์ทรมานอีกต่อไป แต่จะเป็นความสุขอย่างมหัศจรรย์

ที่มหาวิทยาลัยแมสสาชูเสต เมืองบอสตัน มีหมอคนหนึ่งเปิดสอนการเจริญสติแบบพุทธ (Buddhist Mindfulness Meditation) ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนเรียนถึง ๘๗,๐๐๐ คน เพราะผู้คนได้ค้นพบมากขึ้นทุกทีว่า การเจริญสติทำให้ชีวิตดีขึ้นหมดทุกด้าน ทั้งสติปัญญา การงาน ความสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ และความสุขอันประณีต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เขียนหนังสือชื่อ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ตื่น ท่านหมายถึงการมีสติตื่นรู้ พระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกการเจริญสติซึ่งทรงค้นพบว่าเป็น “ทางอันเอก” หรือเอกะมัคโค

ตามปรกติ มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้เพราะถูกมายาคติจากความรู้สึกและความคิดจองจำไว้ ต่อเมื่อมีสติจิตเป็นกลางจึงสัมผัสความจริงได้ ฉะนั้นแม้การเข้าถึงความจริงสูงสุดตามที่กล่าวถึงในข้อ ๒ ข้างต้น ก็มีสติเป็นเครื่องช่วยอย่างวิเศษ ผู้ที่เจริญสติและเกิดปาฏิหาริย์แห่งความสุขจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีแล้วไม่ได้พบการเจริญสติจะน่าเสียดายมาก” ขอเชิญชวนทุกท่านพบความมหัศจรรย์จากจากเจริญสติ

๔. ความสุขตามสูตร “ระพี - เสน่ห์ - ประเวศ” หรือ INN ท่านอาจารย์ระพี สาคริก สอนว่า คนเราควรจะทำอะไรก็ได้ที่ชอบ แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน การได้ทำอะไรที่ชอบจะทำให้มีความสุข ทำได้ทนและนาน นั่นคือวิริยะ วิริยะทำให้เกิดความสุข เมื่อเราชอบในสิ่งนั้นๆ พยายามทำให้ประณีต ความประณีตจะเป็นความงามหรือศิลปะมาพัฒนาจิตใจของเราให้สูงขึ้น งานทุกชนิดเมื่อทำด้วยความชอบ ความสุข และความประณีต จะเกิดความงาม ศิลปะจึงสามารถอยู่ในงานทุกชนิดได้ ท่านอาจารย์ระพี แถมท้ายว่า “จากจุดที่เราชอบ เมื่อค้นคว้าให้ลึกขึ้นๆ แล้วมันก็จะไปเจอกันเอง” หมายความว่า แม้เราเริ่มต้นที่จุดที่ต่างกัน เหมือนเริ่มที่ หู หาง ขา หรือลำตัวของช้าง เมื่อคลำไปๆ มันก็ไปเจอกันเองเพราะมันเป็นช้างตัวเดียวกัน ทำนองเดียวกับการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งที่กล่าวถึงในข้อ ๒ นั่นแหละครับ

ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก สอนว่า จิตสำนึกแห่งศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ การสำนึกถึงศักดิ์และสิทธิแห่งการเป็นมนุษย์เป็นสุขภาวะ มนุษย์ถูกมายาคติต่างๆ ครอบงำจนเสมือนติดอยู่ในคุกที่มองไม่เห็น (The Invisible Prison) ไร้อิสรภาพ ไร้ศักยภาพ ไร้ศักดิ์ศรี ไร้สิทธิ จมอยู่ในความบีบคั้นหรือความทุกข์ที่สลัดไม่ออกด้วยเทคนิค เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ต่อเมื่อใดเกิดสำนึกแห่งมนุษยสภาวะของเราเอง ว่าเรามีศักดิ์ศรี คุณค่า ศักยภาพ สิทธิ ตามธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ของเรา จะเกิดสุขสภาวะอย่างล้ำลึก และเปิดศักยภาพมหาศาลในฐานะมนุษย์ที่มีอิสรภาพ หลุดพ้นจากมายาคติด้วยประการต่างๆ

มนุษย์แต่ละคน (Individual) มีค่ามากเหลือเกิน เมื่อสำนึกถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตัวเอง แล้วทำอะไรดีๆ ตามที่ตนถนัดหรือชอบตามนัยที่ท่านอาจารย์ระพีกล่าว ก็จะมีความสุขและความสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

คนที่ชอบอะไรๆ เหมือนกันรวมตัวกันเป็นกลุ่ม (Nodes) อาจจะกลุ่มละ ๕-๖ คน หรือ ๗-๘ คน สุดแต่ความเหมาะสม พบกันบ่อย พูดคุยและทำในสิ่งที่ตนชอบร่วมกัน จะเป็นกีฬา ดนตรี ต้นไม้ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา ธรรมะ ชุมชน การเป็นอาสาสมัคร ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าการพูดคุยเป็นสุนทรียสนทนาที่เน้นการฟังอย่างลึกโดยไม่ด่วนตัดสิน การมีกลุ่มที่รวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันแบบนี้ บางทีเขาเรียกว่ามีความเป็นชุมชน กลุ่มแบบนี้มีใจนำความรู้ตาม ไม่ใช่ความรู้นำแล้วเกิดความยโสโอหังยกหูชูหาง ทำให้เกิดความแตกร้าว เมื่อความเป็นกลุ่มหรือความเป็นชุมชนที่มีใจนำความรู้ตามเกิดขึ้นอย่างแท้จริง สมาชิกของกลุ่มจะเกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน หากมีกลุ่มอันหลากหลายเต็มสังคม สังคมจะเต็มไปด้วยความสุข และความสร้างสรรค์อย่างมหาศาล

คนแต่ละคนและกลุ่มแต่ละกลุ่ม ควรเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย (Networks) กับคนอื่นและกลุ่มอื่นตามความสมัครใจ แต่ละคนแต่ละกลุ่มอาจเป็นสมาชิกของหลายกลุ่มและหลายเครือข่าย ทั้งหมดจะเชื่อมโยงกันเป็นโครงสร้าง INN หรือ บุคคล (Individual) กลุ่ม (Nodes) เครือข่าย (Networks) เป็นโครงสร้างแห่งความหลุดพ้น ที่ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเครือข่าย ต่างมีอิสรภาพ มีศักยภาพ ที่จะเรียนรู้ รัก และร่วมกันทำอะไรดีๆ ทำให้ทั้งสังคมเต็มไปด้วยความสุขและความสร้างสรรค์

สังคมที่ติดขัดบีบคั้นอยู่ทุกวันนี้ เพราะมีโครงสร้างเป็นแท่งอำนาจ ทั้งทางการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา ดังในรูป (ก) ในโครงสร้าง



แบบนี้มีความบีบคั้นมาก มีความรัก และการเรียนรู้น้อย ทำอะไรให้สำเร็จได้ยาก โครงสร้าง INN ตามรูป (ข) เป็นโครงสร้างที่ทุกคนทุกกลุ่มเป็นอิสระ ทำด้วยใจรัก มีการเรียนรู้สูง จึงเรียกว่าเป็นโครงสร้างแห่งความหลุดพ้น ที่ทุกคนสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอขออนุมัติจากใคร

โดยสรุป เรื่องความสุขที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ใน ๓ ระดับ คือ

  • การเปลี่ยนขั้นพื้นฐานระดับบุคคล (Personal Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานระดับองค์กร (Organizational Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานระดับสังคม (Social Transformation)


ลองพิจารณาดูลึกๆ เถิดครับ แล้วจะเข้าใจว่าตัวท่านเองมีศักยภาพที่จะสร้างความสุขแท้ที่ลึกซึ้ง
ยาวนาน พร้อมๆ ไปกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานขององค์กรและสังคมอันจะเป็นปัจจัยย้อนกลับให้เกิดสุขภาวสำหรับคนทั้งมวล (Happiness For All)

ขอให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นปีเริ่มต้นแห่งความสุขของท่านแต่ละคน และของคนทั้งมวล

ซักซ้อมในจินตนาการ จิตวิวัฒน์กับสมองส่วนหน้า

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2550

ปัจจุบันนี้ งานวิจัยเรื่องสมองได้พัฒนาไปมาก เร็วๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง Evolve Your Brain: The Science of Changing Your Mind ของ โจ ดิสเปนซ่า (Joe Dispenza) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ที่อยู่ในทีมผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง What the Bleep do We Know!? ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ และในขณะนี้ พวกเราในเครือข่ายจิตวิวัฒน์กำลังแปลหนังสือชื่อเดียวกันนี้ ที่อธิบายเรื่องราวในภาพยนตร์อย่างละเอียดออกมา เพื่อเป็นเกียรติให้กับคนไทยผู้หนึ่งที่นำความรู้วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่เข้ามาในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นจริงเป็นจังที่สุดท่านหนึ่ง และยังเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ประเทศไทยด้วย คือ คุณหมอประสาน ต่างใจ หลายคนที่อยู่ในทีมแปลนี้ นับถือท่านเป็นพ่อทางจิตวิญญาณ และผมเองก็ถือว่าเป็นลูกเขยของท่าน เพราะคนใกล้ชิดของผมคือลูกสาวทางจิตวิญญาณคนหนึ่งของท่าน
เรื่องการซักซ้อมทางจินตนาการ (Mental Rehearsal) นี้ อยู่ในบทที่สิบเอ็ดและสิบสองของหนังสือ Evolve Your Brain เป็นเรื่องราวการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ถูกคลี่คลายความรู้ความเข้าใจมาตามลำดับ สมองส่วนหน้านี้เป็นวิวัฒนาการชั้นหลังสุดของสมองมนุษย์ แม้จะมีอยู่ในลิงด้วย แต่มีพัฒนาการสูงสุดในมนุษย์ ซึ่งมีดีเอ็นเอต่างจากลิงเพียงสองเปอร์เซนต์เท่านั้น
สมองส่วนหน้าจะเติบโตสมบูรณ์เมื่อเราอายุครบบวช คือ ๒๐ ปี โดยที่ตั้งของมันคือ ตาที่สาม ซึ่งเมื่อเปิดออก สติปัญญาของมนุษย์จึงจะสมบูรณ์ การคิดด้วยสมองส่วนหน้าจึงต่างจากการคิดด้วยสมองซีกซ้ายที่เรารู้จักกันดี และให้ความสำคัญมานาน นั่นคือการคิดในกระบวนการของเหตุผล หรือการคิดแบบเรขาคณิตของเพลโต้ อุดมคติของเพลโต้คงอยากจะให้โลกลงตัวดุจเดียวกับที่เทวดาทำเรขาคณิตกันเป็นงานอดิเรกบนสวรรค์ แต่ปัญญาปฏิบัติกำลังจะกลับมาพร้อมวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ และการค้นพบบทบาทที่ชัดเจนขึ้นของสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) แนวปรัชญาแบบอริสโตเติล และวิทยาศาสตร์ของเกอเธ่ จะกลับมาเด่นเป็นสง่าอีกครั้งหนึ่ง อย่างแน่นอน

สมองส่วนหน้าเติบโตหลังสุด ช้าสุด เพราะได้เชื่อมโยงสมองส่วนต่างๆ ชั้นต่างๆ (สมองมีสามชั้น คือ สมองสัตว์เลื้อยคลาน สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสมองมนุษย์หรือลิงชั้นสูง) เข้าด้วยกัน ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการ เหมือนวาทยกรผู้กำกับวงออเครสต้าอย่างไรอย่างนั้น

โจ ดิสเปนซ่า และ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ พูดไว้เหมือนกันว่า เวลาสมองส่วนหน้าทำงาน มันจะตัดขาดออกจาก การบัญชาการของสมองส่วนล่างๆ คือ อารมณ์ความรู้สึก และร่างกาย หรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน สมองส่วนล่างทั้งสองนี้ ออกจะเป็นทรราช เมื่อเราปล่อยตัวปล่อยใจไปกับชีวิต และไม่ได้กุมบังเหียนชีวิตด้วยสมองส่วนหน้า ความเป็นทรราชของสมองชั้นกลางและชั้นล่างหรือชั้นในสุดนั้น น่าสนใจมาก และคงจะต้องเขียนเป็นอีกหนึ่งบทความต่างหากออกไป โจ ดิสเปนซ่า ได้ถอดรหัสการเสพติดทั้งหลายของมนุษย์ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และในทางกลับกัน สมองส่วนหน้านี่เองจะเป็นตัวถอดสลักการเสพติดทั้งหลายในชีวิตมนุษย์ ให้หลุดออกมาจากการย้ำทำย้ำคิดได้ ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า ‘การซักซ้อมในจินตนาการ’

เดวิด เดวิดสัน แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาสมองกับเรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึก อีกทั้งยังทำงานใกล้ชิดกับสมเด็จองค์ทะไลลามะ ได้ค้นพบว่า สมองส่วนหน้ากับอมิกดาลา ทำงานอย่างเป็นปฏิภาคกัน แปลความว่า เมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน อมิกดาลาจะหยุดทำงาน และเมื่ออมิกดาลาทำงาน สมองส่วนหน้าก็จะหยุดทำงาน

อมิกดาลาคือการทำงานของอารมณ์ลบที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นอัตโนมัติ คือมันจะทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ เขียนไว้ว่า เวลาเราเข้าสู่ความตื่นตระหนก ความกลัว หรืออาการปกป้องตนเอง เราจะถูกล็อคโดยสมองส่วนล่างคือ ความกลัวของสมองชั้นต้น อารมณ์ลบของอมิกดาลา และความฉลาดอย่างขี้โกงของสมองซีกซ้ายแบบแคบๆ (คือไม่มองให้รอบด้าน แต่จะคิดเห็นเฉพาะประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น หรือ คือ I in Me ในทฤษฏีตัวยู ของ ออตโต ชาร์มเมอร์ – หนึ่งในคณะองค์กรแห่งการเรียนรู้ของ ปีเตอร์ เซงเก)

ในทางกลับกัน เมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน อมิกดาลาก็จะหยุดการทำงานในวงจรลบๆ ที่เป็นอัตโนมัติของตัวเอง

เพื่อเพิ่มเติมประโยชน์ในการปฏิบัติได้ให้แก่บทความนี้ที่จำกัดด้วยความสั้น เนื่องจากเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ (เดี๋ยวนี้เวลาเขียนหนังสือ ผมจะเขียนเป็นเล่มไปเลย หรือไม่ก็เขียนเป็นบทความยาวๆ ไม่ค่อยได้เขียนเป็นบทความสั้นๆ อีกแล้ว) ผมอยากพูดถึง สี่ขั้นตอนของการซักซ้อมทางจินตนาการเพื่อก่อประสบการณ์ใหม่ พฤติกรรมใหม่ หรือการสร้างโลกใบใหม่ให้กับตัวเอง สี่ขั้นตอนนี้คือ

หนึ่ง Unconsciously unskilled คือ บรรดาวงจรอัตโนมัติทั้งหลายที่เรามีอยู่ สังเกตให้ดี เราจะพบว่า เราทำงานด้วยความเป็นอัตโนมัติ ระหว่างความคิด อารมณ์ความรู้สึก และร่างกายของเรา ทั้งหมดจะทำ คิด รู้สึกไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ครึ่งหลับครึ่งตื่น เราไม่ได้ตื่นเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ ในการปฏิบัติธรรมจึงพยายามทำให้เราตื่นขึ้นมาก่อน ขั้นตอนนี้ ผมสรุปเป็นภาษาไทยว่า “ไม่รู้ตัวว่า ไม่รู้”

ขั้นตอนที่สอง Consciously unskilled ‘เราเริ่มรู้ตัวว่า เราไม่รู้’ คือเริ่มเห็นข้อจำกัดของตัวเอง เมื่อเราเปลี่ยนผ่านจากความหลับใหลไปสู่ความตื่นรู้ เราจะเริ่มตระหนักและมองเห็นข้อจำกัดของตัวเอง

ขั้นตอนที่สาม Consciously skilled เป็นขั้นตอนการฝึกฝน เป็นการซักซ้อมทางจินตนาการพร้อมๆ ไปกับการปฏิบัติจริงในสนามจริง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น การฝึกเล่นสกี การเล่นเปียโน หรือเปลี่ยนวงสวิงกอล์ฟ หรือฝึกการตื่นรู้เพื่อออกจากพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ก็ตาม จะต้องตื่นรู้ในทุกขณะจิต เพื่อตระหนักและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สร้างวงจรสมองอย่างใหม่ขึ้นมา เกอเธ่กล่าวว่า มันเป็นการสร้างอวัยวะแห่งการรับรู้ใหม่ขึ้นมาเพื่อจะเรียนรู้เรื่องใหม่ มิฉะนั้น เราไม่อาจจะเข้าใจเข้าถึงเรื่องใหม่ที่ว่านั้นได้

ขั้นตอนที่สี่ Unconsciously skilled เมื่อฝึกฝนตามขั้นตอนที่สามไปเรื่อยๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ และตื่นรู้ รู้ตัวตลอด จิตตื่นโพลง ทำซ้ำๆๆๆ จนกระทั่งมันค่อยๆ ประสาน ความคิด อารมณ์ และร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่างกายเริ่มจดจำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ จนกระทั่งเราทำสิ่งนั้นได้โดยไม่ต้องคิด อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนเกียร์รถแบบแมนนวลได้โดยที่เราไม่ต้องคิดเลย เป็นธรรมชาติ หรือเล่นสกีได้อย่างไม่ต้องคิดเลย มีจิตตื่นรู้อย่างไม่ต้องคิดเลย เหมือนกับที่ ไดเซตซ์ ไตตาโร สุซุกิ (Daisetz Teitaro Suzuki) ใช้คำว่า Unconsciously conscious หรือ Consciously unconscious ในขั้นตอนนี้ เราจะเริ่มปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา

แต่เขียนมาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าถ้าจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง อาจจะต้องเขียนลงอีกสักสามสี่ตอนกระมัง? แต่อย่างไรเสีย ของดีๆ ก็น่าจะให้ได้ชิมลองกันเสียก่อนจะดีกว่าไม่ได้สัมผัสเสียเลย

ประสาทเทววิทยา (Neurotheology)

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2550

เท่าที่สังเกต ผู้เขียนรู้สึกว่าสาธารณชนคนทั่วไปส่วนใหญ่ในบ้านเรา เพิ่งจะรู้และตระหนักในเรื่องของโลกร้อน “อย่างแท้จริง” เมื่อเพียงไม่นานมานี้เอง มิหนำซ้ำจากการสำรวจโพลล์เมื่อไม่กี่วันก่อนยังพบว่า คนไทยร่วมครึ่งหนึ่งเชื่อว่าสภาพโลกร้อนเกิดจากธรรมชาติของลมฟ้าอากาศที่เป็นไปเอง แม้ว่าอีกครึ่งหนึ่งจะเชื่อว่าเกิดจากฝีมือของมนุษย์กับการพัฒนา กระนั้นผลพวงของความคิดเห็นหรือความเชื่อของประชาชนในกลุ่มแรก ย่อมชี้บ่งความเป็นประชาธิปไตยที่เราส่วนใหญ่คิดว่าถูกต้องชอบธรรม และมองทุกสิ่งออกไปข้างนอก จึงเห็นธรรมชาติประหนึ่งมีความเสถียรและคงที่ตลอดเวลา พูดง่ายๆ คือประชาชนคนไทยดูเหมือนจะเชื่อประวัติศาสตร์กับประสบการณ์อันเป็นสามัญสำนึกของตัวเอง เท่าๆ กับเชื่อในวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคน (มากกว่า ๒,๕๐๐ คนจาก ๑๒๒ ประเทศ ของคณะทำงานติดตามสภาพอากาศไอพีซีซี (IPCC: Intergovernmental Panel on Climate Change) ขององค์การสหประชาชาติที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้เช่นนั้น

นั่นคือตัวอย่างหรือเหตุผลที่ชี้ว่า - ในความเห็นส่วนตัว - คนไทยอย่างน้อยราวๆ ครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ของโลกรู้ เราส่วนหนึ่งจึงยังไม่ตื่นและเปลี่ยนแปลง ซึ่งเมื่อเวลานั้น - เมื่อภัยธรรมชาตินานัปการ – มาถึง เราจึงอาจตื่นตระหนกหรือแม้แต่จะคิดปรับตัวเองไม่ทัน ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

หลายคนในกลุ่มจิตวิวัฒน์เชื่อว่าสังคมโลกจำต้องและกำลังเปลี่ยนแปลงเช่นในอดีตที่เคยเปลี่ยน - อย่างถอนรากถอนโคน - จากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม ตอนนี้เรากำลังจะเปลี่ยนอีก แต่ครั้งนี้กระบวนทัศน์ใหม่จะเป็นกระบวนทัศน์ทางจิต ดังที่นักวิทยาศาสตร์ทางจิตทุกคนพูดไว้เหมือนๆ กัน เพราะมีแต่การเปลี่ยนแปลงทางจิตเท่านั้นที่จะช่วยชาวโลกให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติได้ และขณะนี้โลกตะวันตกก็กำลังเคลื่อนไปในทางนั้นมากขึ้นทุกๆ วัน ดังเรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ซึ่งหลายๆ คนคงไม่อยากจะเชื่อ แต่จะเชื่อหรือไม่ ให้ไปถามกันเอาเอง เพราะทั้งหมดนี้ผู้เขียนได้มาจากรายงานของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางจิตในปีนี้เอง (The 2007 Report: Evidence of a World Transforming)

ปัจจุบันนี้ เรามีวิทยาศาสตร์สาขาใหม่ที่แยกออกมาจากงานวิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ศึกษาประสบการณ์จากการปฏิบัติธรรมปฏิบัติศาสนา ชื่อ “ประสาทเทววิทยา“ อันเป็นคำสมาสของคำว่า “ประสาทส่วนกลาง” โดยเฉพาะสมอง กับคำว่า “เทววิทยา หรือศาสนศาสตร์” ซึ่งแน่ใจว่าประเทศไทยยังไม่มี วิชาดังกล่าวใช้วิธีการของประสาทวิทยาศาสตร์ในการศึกษาวิจัยเรื่องราวใดๆ ที่เกี่ยวกับสภาวะจิตของผู้ทำสมาธิ และกำลังมีประสบการณ์ที่ผู้เขียนเรียกว่า “ความรู้เร้นลับ” (Mysticism) หรือที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า “นิพพานชิมลอง” หรือภังคะ หรือซาโตริในญี่ปุ่น ซึ่งสำหรับศาสนาที่มีพระเจ้า เช่น คริสต์ศาสนา จะเรียกว่า “ประสบการณ์พระเจ้า” (God experiences or GE) และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เช่น การศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสมอง (EEG) การศึกษาปริมาณการไหลเวียนของเลือดที่ไปสมอง โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านแควนตัมฟิสิกส์ จากการสร้างภาพเหมือน (Imaging) ของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะสมอง เช่น สเป็คต์ หรือ เพ็ตแสกน (SPECT or PET scan) ทำให้นักประสาทวิทยศาสตร์สามารถพิสูจน์เรื่องของสภาวะจิตซึ่งเป็นประสบการณ์ภายใน (Subjective) ซึ่งเกิดขึ้นที่สมองหรือกับสมอง ให้เป็นเรื่องภายนอก (Objective) ที่เราอาจรับรู้ได้ - อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง - พอที่จะทำให้เข้าใจเรื่องของจิตและจิตวิญญาณในเชิงวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น แม้ว่าจะยังห่างไกลจากการรับรู้ความจริงแท้ หรือรู้เรื่องจิตวิญญาณสูงสุด หรือพระจิตของพระเจ้าอีกมาก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์คงจะไม่มีทางหาจิตได้พบอย่างเป็นรูปธรรม สามารถมองเห็น ชี้วัด สัมผัสจิตหรือจิตวิญญาณได้ ไม่ว่าเมื่อใดและอย่างไร

ความจริงก็คือ ทั้งเรื่องของจิต (Consciousness) และจิตวิญญาณ (Spirituality) กับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษยชาติมาตั้งแต่เมื่อมีมนุษย์คนแรกเกิดขึ้นมาในโลกจนปัจจุบันรวมถึงในอนาคต ตราบเท่าที่โลกยังคงมีมนุษย์อยู่ ที่กล่าวมานั้นยิ่งเป็นความจริงมากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเรื่องของจิตวิญญาณและพระเจ้าที่เคยถูกปฏิเสธจากวิทยาศาสตร์มานานนับร้อยๆ ปี กลับได้รับการสนับสนุนโดย หลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างแทบไม่มีข้อสงสัย โดยเฉพาะฟิสิกส์ใหม่ และจักรวาลวิทยาใหม่ หรือจักรวาลแควนตัม ทำให้ความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ของจิตวิญญาณสูงสุด - ที่เรียกหาต่างกันไปในศาสนาต่างๆ - มีความเป็นไปได้มากขึ้น ทั้งที่ในช่วงเวลาหนึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความงมงาย

ประสบการณ์พระเจ้านั้น กระทรวงสาธารณสุขของอเมริกา (NIH) บอกว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก เพราะจากการสำรวจพบว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวนถึงหนึ่งในสามเคยมีประสบการณ์ที่ว่านั้น เอ็นไอเอชได้นิยามคำว่าประสบการณ์พระเจ้าไว้กว้างๆ ว่า ประหนึ่งเป็นสภาวะจิตที่เปลี่ยนไปจนทำให้ผู้มีประสบการณ์ดังกล่าวรู้สึกว่าตัวเองเกิดความปีติสุขขึ้นมาอย่างกะทันหัน เสมือนว่าได้สัมผัสกับพระเจ้า เทพ เทวดาในระหว่างการทำสมาธิ สวดมนต์ โยคะ หรือการร่ายรำของซูฟิสม์ รวมทั้งการออกกำลังด้วยการหายใจแรงๆ หรือใช้ยา ฯลฯ ที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงที่สมองของผู้ที่มีความรู้สึกหรือผู้มีประสบการณ์พระเจ้านั้น มีส่วนในการก่อให้เกิดความเครียดได้เหมือนกัน พูดง่ายๆ ก็คือ การมีสมองส่วนหน้าและส่วนขมับ (Enlarged frontal and temporal lobes) โตกว่าปกติดังที่พบในคนบางคน มีส่วนสำคัญต่อการเกิดขึ้นของทั้งสองกรณี คือ ให้ประสบการณ์พระเจ้าก็ได้ หรืออาจก่อความเครียดให้กับผู้ที่มีสมองเช่นนั้นได้เท่าๆ กัน

ในวารสารประสาทวิทยาศาสตร์ นายแพทย์แอนดรูว์ นิวเบิร์ก และสหาย จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ใช้การแสกน (SPECT scan) สร้างภาพเสมือนจริงของสมองเพื่อศึกษากลุ่มพุทธบริษัทชาวทิเบตในขณะทำสมาธิ และกลุ่มแม่ชีนิกายฟรานซิสกันระหว่างการสวดมนต์อย่างลึก (Andrew Newberg, et al: “Cerebral Blood Flow During Meditative Prayer”; Perceptual and Motor Skills, 97 Oct. 2003) ภาพแสกนได้แสดงให้ว่ามีการทำงานเพิ่มขึ้นของสมองที่บริเวณก่อนสมองส่วนหน้า (Pre-frontal lobe) ทั้งสองข้าง ซึ่งเข้ากันได้กับความตั้งใจทำจิตให้แน่วแน่ แต่ขณะเดียวกัน กลีบพาไรอีตัล (Parietal lobe) ที่อยู่ถัดขึ้นไปจากสมองส่วนหน้าจะลดทำงานลงกว่าปกติ กลีบพาไรอีตัลนั้น เชื่อกันว่าทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับที่ว่างและเวลา และการปรับที่อยู่ของเราเข้ากับที่ว่างและเวลา โดยกลีบพาไรอีตัลข้างซ้ายมีหน้าที่รับรู้ความรู้สึกของร่างกายว่า ตั้งต้นและจบลงที่ไหน การที่กลีบพาไรอีตัลข้างซ้ายลดการทำงานลงจะสอดคล้องกับความรู้สึกที่มีการกล่าวไว้ในพุทธศาสนา ถึงความไม่มีที่สิ้นสุดของรูปกายที่เชื่อมโยงอย่างแยกจากกันไม่ได้กับทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ส่วนพาไรอีตัลข้างขวามีหน้าที่บอกให้รู้ว่าเรากับที่ว่างสัมพันธ์กันอย่างไร และการที่พาไรอีตัลข้างขวาลดทำงานลงทำให้เรารับรู้ว่าที่ว่างอวกาศนั้นกว้างใหญ่ไพศาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของผู้ปฏิบัติสมาธิ - โดย ไมเคิล เพอร์ซิงเกอร์ (Michael Persinger) จิตแพทย์ชาวดัทช์ แห่งมหาวิทยาลัยลอเรนเชียล แคนาดา (Laurentian University) - จนถึงระดับสภาวะจิตมีความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล (Cosmic bliss) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับประสบการณ์พระเจ้าที่กล่าวมาแล้ว พบการเปลี่ยนแปลงคลื่นสมองแบบเดียวกับที่ได้จากโรคลมบ้าหมูชักเกิดขึ้นเฉพาะที่กลีบขมับของสมอง (Temporal lobe epilepsy) โดยผู้ที่กำลังมีประสบการณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลในขณะนั้น ไม่มีอาการชักหรือมีกล้ามเนื้อกระตุกเลย ซึ่งเมื่อเพอร์ซิงเกอร์ใช้แท่งแม่เหล็กที่มีโวลเตจต่ำแนบกับบริเวณขมับของผู้ที่อยู่ในสมาธิก็พบว่า ผู้นั้นมีประสบการณ์เร้นลับ (mystical experiences) โดยเฉพาะกับผู้ที่เคยทำสมาธิและเคยมีสภาวะจิตหรือประสบการณ์เช่นนั้นมาก่อน

ดีน แฮมเมอร์ (Dean Hammer) แห่งหน่วยวิจัยยีน สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พยายามค้นหายีนที่บริหาร หรือให้สภาวะจิตวิญญาณ หรือยีนพระเจ้า (Spirituality gene or God gene) เขาพบว่า วีเอ็มเอที-๒ (Vesicular monoamine transporter 2) - ที่มีหน้าที่ขนส่งเอ็นไซม์ซีโรโตนิน โดปามีน กับนอร์แอดรินาลีน คือ สารเคมีที่สำคัญตัวหนึ่งในจำนวนสามตัว (วีเอ็มเอที-๒ กับอีกสองตัวที่ทำหน้าที่ขนส่งเอ็นไซม์หรือฮอร์โมนของสมอง - จากจำนวนสารที่เรารู้แล้วกว่า ๑๐๐ ตัว) ซึ่งสามตัวที่ว่านี้คือ สารเคมีที่ทำหน้าที่ประหนึ่งยีนแห่งจิตวิญญาณ หรือยีนพระเจ้า ที่น่าสนใจคือ สารเคมีทั้งสามตัวดังกล่าว พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับจิตอารมณ์คล้ายๆ กับคนเสพยาบางชนิด เช่น โคเคน กัญชา รวมทั้งยาแอลเอสดี หรือให้อาการคล้ายโรคจิตบางชนิด หรือให้อาการคล้ายยาที่ใช้รักษาโรคจิต เพราะฉะนั้น คนที่ใช้ยาเสพติดหรือคนที่กำลังจะเปลี่ยนสภาวะจิตสู่ระดับจิตวิญญาณจึงสามารถเปลี่ยนแปลงระดับจิตให้สูงขึ้นไปก็ได้ ในขณะที่บางคนอาจเป็นโรคจิตจริงๆ ก็ได้

ทุกวันนี้ มีนักวิจัยทางด้านประสาทเทววิทยาหรือประสาทศาสนศาสตร์ที่ได้พยายามตรวจวัดสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์เร้นลับ หรือพฤติกรรมเหนือธรรมชาติ เช่น การถอดจิต หรือมีปฏิกิริยากับสิ่งเหนือธรรมชาติอื่นๆ เช่น กับผู้ที่ได้ตายไปแล้ว

ริค สตรัสแมน (Rick Strassman: Human psychopharmacology of N,N-dimethyltryptamine; Behavioral Brain Research, 73, Dec. 1995) ได้วิจัยหาค่าของสารเคมีไดเม็ททิลทริปตามีน (DMT) ที่เป็น สารชนิดเดียวกับที่มีอยู่ในพืชอายาฮูอัสก้า (Ayahuasca) ที่คนทรงชาวอินเดียนแดงแถบลุ่มน้ำอเมซอนใช้ก่อนมีความสามารถเหนือธรรมชาติหรือประสบการณ์เร้นลับ หมอสตรัสแมนพบว่า ในบางกรณี สารเคมีดีเอ็มทีจะถูกผลิตออกมาจากต่อมไพเนียล และมีความสัมพันธ์กับสภาวะเหนือธรรมชาติ หรือประสบการณ์ความรู้เร้นลับที่กล่าวมานั้น

การวิจัยประสาทเทววิทยาได้สร้างคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาหลายๆ คำถาม ยกตัวอย่าง สเป็คต์แสกน สามารถให้คำตอบที่แม่นยำสม่ำเสมอสอดคล้องกับหน้าที่และการทำงานของส่วนต่างๆ ของสมอง เหมือนกับว่าเวลานี้เรามีเครื่องมือชี้วัดหรือประเมินผลการทำงานของจิต และประสบการณ์ภายในของผู้ทำสมาธิอย่างล้ำลึกได้ อย่างไรก็ดี การพบคำตอบเช่นนั้นก็ยังอธิบายความจริงแท้ นิพพาน เต๋า หรือจิตวิญญาณสูงสุด หรือพระเจ้าได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เพราะเราไม่สามารถตอบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่สมองนั้น เป็นผลของการรับรู้ภายในของผู้ทำสมาธินั้นๆ หรือว่าสมองทำของมันเอง? พูดง่ายๆ คือ มีผู้ใดอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ที่ให้การรับรู้ที่ว่านั้นแก่เรา? หรือทั้งหมดเป็นผลของกระบวนการจัดองค์กรตนเองของสมอง? หรือว่าตอบคำถามที่ว่าจิตอยู่ที่ไหน? นอกสมองหรือในสมอง? จิตวิญญาณสูงสุดหรือพระเจ้ามีจริงหรือไม่? ดังนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่า เราและวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ประสบการณ์ภายในได้ทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรม อย่างดีที่เราสามารถตอบได้ก็ด้วยการใช้เมตาฟิสิกส์ไปต่อยอดบนฟิสิกส์ใหม่ (ที่รวมแควนตัมเมคานิกส์ และทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์) ใช้ปัญญาหรือปรัชญามาต่อยอดบนวิทยาศาสตร์ใหม่อีกที นั่นคือจริงๆ แล้ว ประสบการณ์ภายในที่ได้จากการปฏิบัติจิตปฏิบัติศาสนา กับประสบการณ์ภายนอกที่ได้มาจากสูตรหรือสมการคณิตศาสตร์กับได้จากห้องทดลองวิทยาศาสตร์ต่างก็ให้ความจริงหนึ่งเดียวกัน ความจริงที่ไม่ว่าแต่ละศาสนาจะเรียกว่าอะไร?//

ทุกวันนี้เช่นเดียวกัน องค์การอาหารและยาของอเมริกาที่เคยห้ามยานี้สารเคมีนั้นที่เกี่ยวข้องกับจิต (ที่ไร้หลักฐานข้อพิสูจน์ในด้านของกายวัตถุ) เป็นต้นว่า ยา หรือสารเคมี หรือสมุนไพร แม้เพื่อการวิจัย แต่ตอนนี้ ได้เปิดกว้างในการใช้สารต่างๆ เหล่านั้นเพื่อการศึกษาและวิจัยแล้ว ซึ่งในไม่ช้าไม่นาน ไทยเราย่อมจะต้องทำตามอเมริกาไปด้วย เพราะดูเหมือนกับว่า ถ้าอเมริกาทำหรือไม่ต่อต้านแล้ว เราจะต้องทำตามไปด้วยหรือถูกไปทั้งหมด อเมริกาในขณะนี้ ดูไปแล้วเหมือนกับยุโรปในต้นยุคฟื้นฟูความรู้และศิลปะ (The Age of Renaissance) ที่ในทางวิชาการกำลังเริ่ม “ตื่น” เริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะทางการยอมให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ สามารถศึกษาสารเคมีที่เอฟดีเอไม่เคยอนุญาตมาเป็นเวลานาน เช่น ไซโลไซบิน แอลเอสดี กัญชา โคเคน ฯลฯ//

ความหมายของความสุข

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2550

ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศภูฏาน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจทราบแล้วว่าประเทศภูฏานเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่อง “ความสุข” ประเทศนี้มีดัชนีชี้วัดความสุข (Gross National Happiness) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และเมื่อผู้เขียนได้พูดคุยกับคนภูฏาน ต่างก็พูดตรงกันว่าเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาคือ ความสุข และหากสังเกตการใช้ชีวิตของคนภูฏาน จะพบว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และด้วยสาเหตุนี้เอง อาจทำให้พวกเขาเข้าใจตนเองและเข้าถึงความต้องการของชีวิตได้อย่างตรงไปตรงมา

ดังนั้น เมื่อทุกคนในประเทศมีเป้าหมายร่วมกันคือ ความสุข ภารกิจหลักของประชาชนก็คือ การนิยามว่า ความสุข คืออะไร และทำอย่างไรจะทำให้ชีวิตมีความสุข ในฐานะที่คนภูฏานนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ดังนั้นคำสอนของศาสนาจึงเข้าไปสู่วิถีชีวิตของคนภูฏานในทุกรูปแบบ สังเกตจากการที่ทุกบ้าน ทุกอาคารสถาน จะมีสัญลักษณ์ที่เป็นคำสอนของศาสนาพุทธอยู่ทั่วไปหมด หันไปทางไหนก็จะพบกับสัญลักษณ์ทางศาสนาในมุมต่างๆ ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่า การนิยามความหมายของคำว่า ความสุขของคนภูฏาน ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับคำสอนทางศาสนานั่นเอง

ประเทศภูฏานได้รับการขนานนามว่าเป็นอารยธรรมสุดท้ายของโลก (ที่ยังไม่เป็นวัตถุนิยม) ท่ามกลางหุบเขา และธรรมชาติอันงดงาม ประเทศภูฏานสามารถอนุรักษ์สภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และดูเหมือนผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศนี้ แม้จะเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจด้านการโรงแรม ต่างก็มีจิตสำนึกที่จะธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมชาติแบบดั้งเดิม แทนที่จะบ่อนทำลายแบบ “ที่ดินฉันเรื่องของฉัน” โดยการสร้างสถาปัตยกรรมที่ไม่เข้าพวกกับใครโดยรอบเลย แต่การสร้างบ้านเรือนหรือสถานที่ต่างๆ ในประเทศภูฏานนั้น เป็นไปอย่างมีแบบแผน อย่างเข้าใจสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม และเข้าใจชุมชน โดยที่ชาวบ้านธรรมดา หรือชาวนานั้น สามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ ในแบบที่เป็นศิลปะดั้งเดิม ที่คนภูฏานภาคภูมิใจ บ้านเรือนมีรูปทรงสวยงาม ประดับประดาด้วยไม้ โดยเฉพาะประตูหน้าต่างทาสีสวยงาม มีรายละเอียดปลีกย่อยที่พิถีพิถัน นอกจากนั้นยังคงทนแข็งแรง บางหลังสร้างขึ้นมาจากดิน แต่สามารถอยู่ได้หลายร้อยปีเลยทีเดียว ผู้เขียนไม่ทราบว่า รัฐบาลภูฏานดูแลเรื่องนี้อย่างไร แต่ที่แน่นอนคือการสร้างบ้านไม่ได้เป็นเรื่องสิ้นเปลืองในชีวิตของคนภูฏานเลย และเมื่อทุกคนมีบ้าน ก็ย่อมมีความมั่นคงในชีวิต สามารถสร้างครอบครัวใหญ่ที่มีคนหลายรุ่นอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน คนภูฏานเป็นคนมีน้ำใจงาม ผู้เขียนมีโอกาสขอเยี่ยมชมบ้านของชาวนา พวกเขาให้การต้อนรับคนไทยเป็นอย่างดี พาไปเยี่ยมชมห้องต่างๆ อย่างเปิดเผย แม้ห้องต่างๆ จะมอมแมมตามการใช้งาน แต่ห้องพระได้รับการจัดไว้อย่างประณีต เพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในครอบครัว ผู้เขียนไม่แปลกใจว่าทำไม ประชาชนภูฏานจึงมีความสุข ถึงแม้รายได้ต่อหัวของประเทศจะต่ำ แต่ความมั่นคงในชีวิตประชาชนนั้นสูงมากเลยทีเดียว นั่นเอง ทำให้พวกเขามีความมั่นใจ เพราะเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิตว่าต้องการอะไร ไม่ต้องอับอายในความยากจนที่ถูกนิยามด้วยประเทศอื่น เพราะมนุษย์ทุกคนก็ต้องเดินสู่เส้นทางของการแสวงหาความสุขที่แท้จริงเช่นกัน

ดังนั้นคนภูฏานโดยทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้สึกอยากจะไปแข่งขันกับใคร เพราะชีวิตค่อนข้างพอเพียงแล้ว รุ่นลูกรุ่นหลานก็สามารถส่งเข้าโรงเรียนได้หมด เด็กชาย เด็กหญิงสามารถบวชเรียนเป็นสามเณร หรือสามเณรีได้ ฆราวาสกับพระมีชีวิตที่ใกล้ชิดกันมาก สถานที่ราชการและวัดก็อยู่ที่เดียวกัน เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมรัฐสภา โบสถ์พระก็อยู่ในรั้วเดียวกันนั่นเอง ทำให้รู้สึกว่าการทำงานกับความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ถูกแบ่งแยกออกจากกัน อย่างน้อยคนทำงานย่อมจะต้องมีจิตสำนึกในชีวิตประจำวันที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่มากก็น้อย

ผู้เขียนรู้สึกว่า มนุษย์ที่ล้วนแสวงหาสัจจธรรมในชีวิตนั้น ย่อมจะต้องมีความพยายามที่จะศึกษาเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น สภาพภายในจิตใจของผู้ที่อยู่บนเส้นทางของความเพียร อย่างเช่นชาวบ้านภูฏานนั้น จึงจะฉายออกมาทางกายภาพ ที่แทรกปรัชญา หรือสัญลักษณ์ทางศาสนาตามสถานที่ต่างๆ เพื่อการศึกษาเรียนรู้ ไว้เตือนสติเตือนใจ แม้ศาสนาพุทธจะเน้นเรื่อง ความว่าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ว่างเปล่าแบบไม่มีอะไรเลย หากแต่ว่างจากกิเลส ว่างจากตัวตน ดังนั้นไม่ใช่ว่าบ้านเรือนจะว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจ จะเห็นได้ว่าชาวบ้านภูฏานจึงมีความเป็นตัวตนน้อยมาก เด็กนักเรียนมาพูดคุย ร้องเพลง เต้นระบำให้ชาวต่างชาติอย่างพวกเราดูอย่างเป็นมิตร พระภูฏานนำขนมปังมามอบให้พวกเรารับประทานเล่นอย่างเป็นกันเอง เมื่อเห็นคณะคนไทยนั่งประชุมกันในวัดของท่าน ความมีน้ำใจยังคงมีอยู่ในชีวิตประจำวันของคนภูฏานอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้เขียนก็ยังเชื่อว่าในประเทศไทยนั้น คงหลงเหลือธรรมชาติความดีนี้อยู่บ้าง ถ้าไม่ถูกแทนที่ด้วยความหวาดระแวงที่เป็นโรคร้ายแทรกซึมมากับโลกของวัตถุนิยมเสียก่อน

การเยือนประเทศภูฏานครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนได้เห็นว่า ความสุขเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้ออีกต่อไป เพียงแต่จะยอมเปิดใจมองเห็นหรือไม่เท่านั้น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคม และโลก บางครั้งการมีชีวิตอยู่อาจจะต้องเหลือบมองเพื่อนบ้านของเราบ้างว่าอยู่กันอย่างไร และจะดูแลกันอย่างไร หลายครั้งที่ผู้เขียนอดนึกย้อนกลับมาประเทศไทยไม่ได้ว่า จะเป็นอย่างไรหนอ หากบ้านเมืองเราโดยทั่วไป จะมีสถาปัตยกรรมที่เข้าใจความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาจิตใจ เข้าใจสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม โดยไม่แปลกแยกออกจากธรรมชาติ และชาวบ้านธรรมดาก็สามารถมีบ้านในลักษณะนั้น ที่เป็นศิลปะแบบไทยๆ เป็นของตนเองได้ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับการมีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคม และประเทศ

คงเป็นการบ้านสำหรับผู้บริหารบ้านเมือง ว่าจะนำพาสังคมไทยให้พบกับความสุขอย่างไร ต้องถามว่าจะลุกขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านจิตใจให้กับเพื่อนร่วมโลกได้หรือยัง หรือจะวิ่งตามประเทศอื่นที่มีความทุกข์อย่างนี้ตลอดไป ซึ่งถ้าหากจะเริ่มวันนี้คงไม่สาย โดยก่อนอื่น คงจะต้องมาร่วมนิยามกันว่า ความสุขที่แท้จริง คืออะไร...

Back to Top