ความสุขปีใหม่ ๒๕๕๑

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2550

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๑ คอลัมน์จิตวิวัฒน์ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบความสุขสวัสดีทั้งในปีนี้ และมากยิ่งๆ ขึ้นในปีต่อไป อะไรที่ไม่ดีในปีที่ผ่านมาก็ขอให้ผ่านไปพร้อมกับกาลเวลา อะไรที่ดีที่ยังไม่มีมาก็ขอให้สิ่งที่ดีๆ เหล่านั้นบังเกิดแก่ท่านในปีใหม่นี้ ถ้ามีอะไรที่ทำให้ขวัญเสียและเศร้าหมอง ก็ให้ขวัญ ศรี และมงคล กลับคืนมาสู่ท่านในปี ๒๕๕๑ โดยทั่วกัน

ความสุขไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง

ความสุขไม่มีขายจริงๆ ที่มีโฆษณาขายกันบ้างก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง มักเป็นมายาคติที่จะกลับกลายเป็นความทุกข์ไป แต่ความสุขสร้างได้ การสร้างสุขภาวะเป็นหน้าที่ของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม และโลก

ในคราวนี้จะนำเสนอวิธีบรรลุความสุขแบบง่ายๆ แต่มีความหมายมาก ๔ ประการ คือ

๑. นิพพานอยู่แค่ปลายจมูกตามสูตรอาจารย์พุทธทาส นิพพานคือสภาวะที่สงบเย็น เป็นสภาวะสุขอย่างยิ่ง มีการบรรยายถึงนิพพานแบบฝันเฟื่องว่าไกลสุดเอื้อม ต้องเกิดอีกเป็นแสนๆ ชาติจึงจะไปถึง ท่านอาจารย์พุทธทาสทำให้นิพพานเป็นเรื่องอยู่ใกล้นิดเดียว ใกล้จนท่านว่าอยู่ที่ปลายจมูกนั่นเอง ทุกคนเคยชิมลองกันมาแล้ว เรามีความเห็นแก่ตัวก็จริง แต่เราไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา บางครั้งเราก็ไม่ได้เห็นแก่ตัว ยามใดที่เราไม่เห็นแก่ตัว เราจะรู้สึกเป็นอิสระ เบาสบาย และเป็นสุขอย่างยิ่งนั่นแหละท่านว่าเป็นนิพพานชิมลองที่ทุกคนเคยประสบมาแล้วทั้งสิ้น ลองคิดทบทวนดูถึงเวลาที่ท่านรู้สึกจิตใจเป็นอิสระ เบาสบาย และเป็นสุขอย่างยิ่ง พยายามทำให้ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดบ่อยๆ และอยู่นานขึ้นๆ เมื่อท่านทำเสมอๆ ท่านก็จะชำนาญขึ้นเรื่อยๆ และความสุขอันเป็นทิพย์ก็จะเกิดกับท่านบ่อยขึ้นและอยู่นานมากขึ้นเรื่อยๆ

๒. การเข้าถึงความจริงสูงสุด เมื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดจะประสบอิสรภาพ เบาสบาย ประสบความงามอันล้ำลึก และความสุขอย่างประณีตเกินคำบรรยายหรือความสุขอันเป็นทิพย์ ความรู้ที่ยังบีบคั้นทำให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง ยังไม่ใช่ความจริงสูงสุด ความจริงสูงสุดต้องเป็นความงาม และความเป็นอิสระ

ในคติที่ถือว่าพระผู้เป็นเจ้าคือสิ่งสูงสุด การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าก็จะให้ความสุขอันลึกซึ้งดังกล่าว ในทางพระพุทธศาสนานิพพาน หรือ สุญญตา คือสิ่งสูงสุด เข้าถึงได้จากการหลุดพ้นจากความยึดมั่นในตัวตน ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเอกภพเป็นหนึ่งเดียวกัน ใครเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่งหรือเอกภพ จะคลายจากความยึดมั่นในตัวตนอันคับแคบ ไปเชื่อมกับความเป็นทั้งหมดซึ่งใหญ่สุดประมาณ ทำให้จิตหลุดพ้นจากความคับแคบในตัวตนไปเป็นอิสระ เสวยทิพยสุข อย่างที่มนุษย์อากาศ ชื่อ เอ็ดการ์ มิทเชล เมื่อยืนบนดวงจันทร์ แล้วมองเห็นโลกทั้งใบอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อกลับมายังโลกจิตเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มีความรักในเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด มีความสุขอย่างยิ่ง อย่างนี้เรียกว่าเกิดจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) จิตสำนึกใหม่เป็นจิตใหญ่หรือจิตวิวัฒน์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดใหม่ ที่สำนึกรู้ความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง มีความรักอย่างสากลอันไพศาล มีความสุขและต้องการช่วยให้คนอื่นมีความสุข เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและสัมผัสกับธรรมชาติตลอดเวลา เช่น อากาศที่เราหายใจ สายลม แสงแดด น้ำ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ถ้าเราฝึกให้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งจักรวาลหรือทั้งเอกภพ ทำให้เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ว่าเราคือจักรวาล จักรวาลคือเรา หายใจเข้านำจักรวาลเข้ามาสู่ตัวเรา หายใจออกก็ไปเชื่อมโยงกับจักรวาล การเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลจะให้ความรู้สึกเป็นอิสระ และสัมผัสทิพยสุขทำนองเดียวกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า

เนื่องจากความจริงสูงสุดกับความงามเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงหรือเป็นหนึ่งเดียวกัน ศิลปะหรือสุนทรียกรรมต่างๆ สามารถหรือควรต้องนำเราเข้าถึงสิ่งสูงสุดเสมอ

เรามีทางเลือกในการเข้าถึงสิ่งสูงสุด จะเป็นทางศาสนาก็ได้ ทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ หรือทางศิลปะก็ได้ หรือจะรวมกันทั้งศาสนา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ โลกจึงเติบโตไปด้วยทางเลือกในการเข้าถึงสิ่งสูงสุด ซึ่งจะเข้าถึงได้เฉพาะมนุษยสภาวะ หรือความเป็นมนุษย์เท่านั้น สัตว์และพืชไม่มีธรรมชาตินี้ ฉะนั้นในความเป็นมนุษย์ของเรา เราต้องสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุด และมีความสุขอันล้นเหลือได้

๓. ความสุขจากงานทุกชนิดด้วยปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ งานเป็นหน้าที่ของมนุษย์ และมนุษย์ทุกคนต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างทุกวัน ถ้าเราทำงานไปแล้วทุกข์ไปเราก็จะขาดทุนอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราทำงานทุกชนิดด้วยความสุขเราก็จะกำไรอย่างยิ่ง เราสามารถทำให้การทำงานทุกชนิดเป็นความสุขได้ โดยไม่ยากนัก ถ้าเราเข้าใจและฝึกไว้ทุกวันๆ

ความทุกข์เกิดจากการคิด

เช่น ล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม เราไม่ชอบ อยากให้พ้นไปจากสภาวะเช่นนั้น หรือโกรธคนที่ทำให้เราต้องล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม ที่จริง การล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม ไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ แต่ความรู้สึกไม่ชอบและความคิดปรุงแต่งจากความรู้สึกเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์

ถ้าเราล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม อย่างมีสติ คือรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับปัจจุบันของการเคลื่อนไหวและอิริยาบถของร่างกาย และสิ่งสัมผัส เช่น ชาม น้ำ ขยะ ส้วม การรู้ปัจจุบันจะทำให้ความคิดปรุงแต่งสงบไป จิตที่สงบจากความคิดปรุงแต่งมีความสุขอย่างยิ่ง ถ้าเราฝึกการเจริญสติไว้เรื่อยๆ และมีสติในการงานทุกอย่างที่ทำจะพบความสุขในงานนั้นๆ ทุกอย่างไป การทำงานจะไม่เป็นความทุกข์ทรมานอีกต่อไป แต่จะเป็นความสุขอย่างมหัศจรรย์

ที่มหาวิทยาลัยแมสสาชูเสต เมืองบอสตัน มีหมอคนหนึ่งเปิดสอนการเจริญสติแบบพุทธ (Buddhist Mindfulness Meditation) ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนเรียนถึง ๘๗,๐๐๐ คน เพราะผู้คนได้ค้นพบมากขึ้นทุกทีว่า การเจริญสติทำให้ชีวิตดีขึ้นหมดทุกด้าน ทั้งสติปัญญา การงาน ความสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ และความสุขอันประณีต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เขียนหนังสือชื่อ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ตื่น ท่านหมายถึงการมีสติตื่นรู้ พระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกการเจริญสติซึ่งทรงค้นพบว่าเป็น “ทางอันเอก” หรือเอกะมัคโค

ตามปรกติ มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้เพราะถูกมายาคติจากความรู้สึกและความคิดจองจำไว้ ต่อเมื่อมีสติจิตเป็นกลางจึงสัมผัสความจริงได้ ฉะนั้นแม้การเข้าถึงความจริงสูงสุดตามที่กล่าวถึงในข้อ ๒ ข้างต้น ก็มีสติเป็นเครื่องช่วยอย่างวิเศษ ผู้ที่เจริญสติและเกิดปาฏิหาริย์แห่งความสุขจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีแล้วไม่ได้พบการเจริญสติจะน่าเสียดายมาก” ขอเชิญชวนทุกท่านพบความมหัศจรรย์จากจากเจริญสติ

๔. ความสุขตามสูตร “ระพี - เสน่ห์ - ประเวศ” หรือ INN ท่านอาจารย์ระพี สาคริก สอนว่า คนเราควรจะทำอะไรก็ได้ที่ชอบ แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน การได้ทำอะไรที่ชอบจะทำให้มีความสุข ทำได้ทนและนาน นั่นคือวิริยะ วิริยะทำให้เกิดความสุข เมื่อเราชอบในสิ่งนั้นๆ พยายามทำให้ประณีต ความประณีตจะเป็นความงามหรือศิลปะมาพัฒนาจิตใจของเราให้สูงขึ้น งานทุกชนิดเมื่อทำด้วยความชอบ ความสุข และความประณีต จะเกิดความงาม ศิลปะจึงสามารถอยู่ในงานทุกชนิดได้ ท่านอาจารย์ระพี แถมท้ายว่า “จากจุดที่เราชอบ เมื่อค้นคว้าให้ลึกขึ้นๆ แล้วมันก็จะไปเจอกันเอง” หมายความว่า แม้เราเริ่มต้นที่จุดที่ต่างกัน เหมือนเริ่มที่ หู หาง ขา หรือลำตัวของช้าง เมื่อคลำไปๆ มันก็ไปเจอกันเองเพราะมันเป็นช้างตัวเดียวกัน ทำนองเดียวกับการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งที่กล่าวถึงในข้อ ๒ นั่นแหละครับ

ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก สอนว่า จิตสำนึกแห่งศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ การสำนึกถึงศักดิ์และสิทธิแห่งการเป็นมนุษย์เป็นสุขภาวะ มนุษย์ถูกมายาคติต่างๆ ครอบงำจนเสมือนติดอยู่ในคุกที่มองไม่เห็น (The Invisible Prison) ไร้อิสรภาพ ไร้ศักยภาพ ไร้ศักดิ์ศรี ไร้สิทธิ จมอยู่ในความบีบคั้นหรือความทุกข์ที่สลัดไม่ออกด้วยเทคนิค เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ต่อเมื่อใดเกิดสำนึกแห่งมนุษยสภาวะของเราเอง ว่าเรามีศักดิ์ศรี คุณค่า ศักยภาพ สิทธิ ตามธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ของเรา จะเกิดสุขสภาวะอย่างล้ำลึก และเปิดศักยภาพมหาศาลในฐานะมนุษย์ที่มีอิสรภาพ หลุดพ้นจากมายาคติด้วยประการต่างๆ

มนุษย์แต่ละคน (Individual) มีค่ามากเหลือเกิน เมื่อสำนึกถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตัวเอง แล้วทำอะไรดีๆ ตามที่ตนถนัดหรือชอบตามนัยที่ท่านอาจารย์ระพีกล่าว ก็จะมีความสุขและความสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

คนที่ชอบอะไรๆ เหมือนกันรวมตัวกันเป็นกลุ่ม (Nodes) อาจจะกลุ่มละ ๕-๖ คน หรือ ๗-๘ คน สุดแต่ความเหมาะสม พบกันบ่อย พูดคุยและทำในสิ่งที่ตนชอบร่วมกัน จะเป็นกีฬา ดนตรี ต้นไม้ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา ธรรมะ ชุมชน การเป็นอาสาสมัคร ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าการพูดคุยเป็นสุนทรียสนทนาที่เน้นการฟังอย่างลึกโดยไม่ด่วนตัดสิน การมีกลุ่มที่รวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันแบบนี้ บางทีเขาเรียกว่ามีความเป็นชุมชน กลุ่มแบบนี้มีใจนำความรู้ตาม ไม่ใช่ความรู้นำแล้วเกิดความยโสโอหังยกหูชูหาง ทำให้เกิดความแตกร้าว เมื่อความเป็นกลุ่มหรือความเป็นชุมชนที่มีใจนำความรู้ตามเกิดขึ้นอย่างแท้จริง สมาชิกของกลุ่มจะเกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน หากมีกลุ่มอันหลากหลายเต็มสังคม สังคมจะเต็มไปด้วยความสุข และความสร้างสรรค์อย่างมหาศาล

คนแต่ละคนและกลุ่มแต่ละกลุ่ม ควรเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย (Networks) กับคนอื่นและกลุ่มอื่นตามความสมัครใจ แต่ละคนแต่ละกลุ่มอาจเป็นสมาชิกของหลายกลุ่มและหลายเครือข่าย ทั้งหมดจะเชื่อมโยงกันเป็นโครงสร้าง INN หรือ บุคคล (Individual) กลุ่ม (Nodes) เครือข่าย (Networks) เป็นโครงสร้างแห่งความหลุดพ้น ที่ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเครือข่าย ต่างมีอิสรภาพ มีศักยภาพ ที่จะเรียนรู้ รัก และร่วมกันทำอะไรดีๆ ทำให้ทั้งสังคมเต็มไปด้วยความสุขและความสร้างสรรค์

สังคมที่ติดขัดบีบคั้นอยู่ทุกวันนี้ เพราะมีโครงสร้างเป็นแท่งอำนาจ ทั้งทางการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา ดังในรูป (ก) ในโครงสร้าง



แบบนี้มีความบีบคั้นมาก มีความรัก และการเรียนรู้น้อย ทำอะไรให้สำเร็จได้ยาก โครงสร้าง INN ตามรูป (ข) เป็นโครงสร้างที่ทุกคนทุกกลุ่มเป็นอิสระ ทำด้วยใจรัก มีการเรียนรู้สูง จึงเรียกว่าเป็นโครงสร้างแห่งความหลุดพ้น ที่ทุกคนสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอขออนุมัติจากใคร

โดยสรุป เรื่องความสุขที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ใน ๓ ระดับ คือ

  • การเปลี่ยนขั้นพื้นฐานระดับบุคคล (Personal Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานระดับองค์กร (Organizational Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานระดับสังคม (Social Transformation)


ลองพิจารณาดูลึกๆ เถิดครับ แล้วจะเข้าใจว่าตัวท่านเองมีศักยภาพที่จะสร้างความสุขแท้ที่ลึกซึ้ง
ยาวนาน พร้อมๆ ไปกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานขององค์กรและสังคมอันจะเป็นปัจจัยย้อนกลับให้เกิดสุขภาวสำหรับคนทั้งมวล (Happiness For All)

ขอให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นปีเริ่มต้นแห่งความสุขของท่านแต่ละคน และของคนทั้งมวล

Back to Top