มิถุนายน 2007

เสียงกับสุนทรียภาพของการได้ยิน

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2550

ผมรู้จัก ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตสึ กับคุณเคอิโกะ โทริโกเอะ สองสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นมากว่า ๕ ปีแล้ว ผมคิดว่าทั้งสองเป็นคู่สามี ภรรยาที่ศึกษาเรื่องเสียงและโสตนิเวศน์ (Acoustic Ecology) ในมิติที่ลุ่มลึก ละเอียดอ่อนและน่าสนใจที่สุดในโลก

ขอเริ่มที่สุภาพสตรีคือคุณเคอิโกะ โทริโกเอะ ก่อน

คุณเคอิโกะนั้นแต่เดิมเป็นนักสังคีตวิทยา สนใจศึกษาดนตรีในแง่ที่เป็นประสบการณ์ด้านเสียงและกิจกรรมเชิงสุนทรียภาพของมนุษย์ พื้นเพชนชั้นซามูไรของเธอ ทำให้เธอเคารพในระเบียบวินัยแต่ในขณะเดียวกันก็มีความละเมียดสุขุมและเข้าถึงความงดงามในความสงบเรียบง่ายของชีวิตประจำวัน

ผมคิดว่าคงเป็นเพราะเธอเห็นสุนทรียภาพกับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกันนี่เอง ที่ทำให้เธอเปลี่ยนความสนใจจากการศึกษาเรื่องดนตรีมาให้ความสนใจกับสุนทรียภาพของการได้ยินที่กว้างไกลกว่าเสียงดนตรี

โดยเธอเป็นคนแรกๆ ในญี่ปุ่นที่บุกเบิกการศึกษาโลกของเสียงที่เธอเรียกว่า “Soundscape“

เธอบอกว่าสุนทรียภาพของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเสียงนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในการฟังดนตรีเท่านั้น เสียงในชีวิตประจำวันก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สุนทรียภาพให้กับชีวิต และเอาเข้าจริง ๆ แล้ว เสียงในชีวิตประจำวันดูจะเป็นประสบการณ์ส่วนใหญ่ของผัสสะการได้ยินของมนุษย์

เธอทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษาวิจัย และส่งเสริมประสบการณ์ด้านเสียงที่ทำให้เราอ่อนโยนต่อชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านความละเอียดอ่อนต่อสิ่งที่เราได้ฟังและได้ยิน

สำหรับเธอแล้ว เสียงและการฟังช่วยสร้างความละเอียดอ่อนที่ชดเชยและแก้ไขอคติของสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเห็นมากกว่าผัสสะการรับรู้แบบอื่น ๆ ซึ่งต่างไปจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น

เธอพูดถึงหนังสือญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “เยินเงาสลัว”) ซึ่งกล่าวถึงความงามและสุนทรียภาพของญี่ปุ่นที่เงาและความสลัวของบ้านเรือนเป็นความละเมียด และช่วยเสริมความสงบสำรวมของการใช้ชีวิต ก่อนที่แสงสว่างจ้าและแข็งกระด้างของหลอดฟลูออเรสเซนต์ จะเข้ามาขับไล่ความละเอียดประณีตออกไปให้เหลือแต่ความแผดจ้าส่องสว่างให้ทุกซอกมุมในตัวบ้านเปลือยเปล่าหมดสิ้นซึ่งมนต์เสน่ห์และความน่าพิศวง

บ้านของคุณเคอิโกะอยู่ในโตเกียว เป็นบ้านที่ท้าทายอคติเชิงผัสสะที่ว่านี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่ว่าคุณ เคอิโกะจะไม่สนใจทัศนศิลป์ของบ้าน จะว่าไปแล้วผมคิดว่าบ้านของเธอเป็นบ้านญี่ปุ่นร่วมสมัยที่ผสมผสานความงามสลัวแบบดั้งเดิมของสถาปัตกรรมญี่ปุ่นกับความเป็นอยู่สมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

ตัวบ้านเป็นอาคาร 2 ชั้น แต่มีห้องใต้ดินและห้องใต้หลังคาที่ใช้เป็นห้องทำงานและห้องนอนสำหรับแขก ก่อสร้างด้วยไม้เก่าที่คุณเคริโกะรื้อจากบ้านหลังเดิมของคุณพ่อคุณแม่ส่วนหนึ่ง และใช้เวลารวบรวมสะสมจากโรงไม้เก่า ที่เหลือเป็นไม้เก่าของช่างก่อสร้างที่นำมาสมทบ เพราะอยากช่วยสร้างบ้านหลังนี้ให้สมบูรณ์

คุณเคอิโกะใช้เวลาสืบหาช่างไม้พื้นบ้านที่เหลืออยู่ไม่กี่คนในละแวกนั้นของโตเกียว จนในที่สุดได้ช่างไม้ชั้นครูที่เคยก่อสร้างวัดและศาลเจ้าในยุคก่อนหน้าที่เครื่องมือจะมาแทนที่ฝีมือของช่าง

เพราะบ้านที่จะสร้างนี้รื้อมาจากบ้านหลังเดิมของพ่อแม่ ช่างไม้อาวุโสถามคุณเคอิโกะว่าต้องการอนุรักษ์ส่วนไหนของบ้านเก่าเอาไว้เป็นความทรงจำหรือไม่ คุณเคอิโกะบอกว่า ที่อยากเก็บรักษาไว้เป็นความทรงจำที่สุดก็คือ เสียงและโสตประสบการณ์ (Acoustic experience) ของบ้านเก่า

อยากให้เมื่อนั่งหลับตาอยู่ในบ้านใหม่แล้ว ได้ยินเสียงต่าง ๆ ในตัวบ้านเหมือนกับนั่งอยู่ในบ้านหลังเดิม

บ้านหลังใหม่ที่สร้างขึ้นจึงมีเสียงประตูบานเลื่อน เสียงลั่นของดาลประตู เสียงบันได เสียงเอี๊ยดอ๊าดของพื้นบ้าน เสียงทำครัว และเสียงฝ่าเท้าเสียดสีผืนเสื่อตาตามิ เป็นเสียงเดียวกับที่เคอิโกะเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เล็ก

เป็นสุนทรียารมณ์จากเสียงแห่งความทรงจำในโลกอันงดงามของวัยเด็ก

นอกเหนือจากงานประจำในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโตเกียว คุณเคอิโกะทำงานด้านการออกแบบเสียงหรือ Acoustic design ที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมด้านเสียงที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตและสิ่งแวดล้อม ผลงานชิ้นสำคัญคือการออกแบบพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เมืองทาเคดะ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นบ้านของนักดนตรีคนสำคัญชื่อ เรนทาโร ซึ่งได้ประพันธ์ผลงานเพลงสำคัญที่กลายเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของดนตรีญี่ปุ่นหลายชิ้น

การออกแบบพิพิธภัณฑ์นี้ทำกันเป็นทีม คุณเคอิโกะรับผิดชอบการออกแบบที่ทำให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้รับประสบการณ์ของเสียงในชีวิตของคีตกวีเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ในการทำงานชิ้นนี้ คุณเคอิโกะต้องค้นคว้าเรื่องราวชีวิตของเรนทาโร ฟังเพลงทุกชิ้น และอ่านเนื้อร้องของทุกเพลงเพื่อสร้างโลกของเสียงขึ้นใหม่ที่บ้านหลังนี้

คลองน้ำเล็ก ๆ ในเขตรั้วบ้านถูกขุดลอกเพื่อให้ลำน้ำไหลผ่านเป็นเสียงน้ำไหลที่บันทึกประวัติเรนทาโรชิ้นหนึ่งกล่าวถึง ป่าไผ่เล็ก ๆ ถูกปลูกขึ้นใหม่เพราะในฤดูร้อนจะมีนกกระจาบจับกลุ่มส่งเสียงร้องเหมือนบทเพลงของเรนทาโรบทหนึ่ง คนที่เข้ามาเที่ยวพิพิธภัณฑ์จะต้องกอดรองเท้าของตนออกและใส่เกี๊ยะไม้ที่ทางพิพิธภัณฑ์เตรียมไว้ให้ เพราะเสียงเกี๊ยะไม้ที่กระทบพื้นเป็นจังหวะนี้เป็นเสียงเดียวกับที่เรนทาโรได้ยินเมื่อครั้งที่เขานั่งประพันธ์เพลงที่นี่

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงให้ประสบการณ์ทางโสตที่เชื้อเชิญให้เราเกิดจินตนาการ และเข้าไปสัมผัสกับแรงบันดาลใจที่ทำให้เรนทาโร เป็นคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ของชาวญี่ปุ่น

นอกจากงานออกแบบเสียงให้กับพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว คุณเคอิโกะ ยังทำงานชิ้นสำคัญคือ การรวบรวมเสียงที่ลืมเลือนไปจากสังคมญี่ปุ่น โดยคัดเลือกเสียงที่มีความหมายเชื่อมโยงชีวิตกับสังคม สิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ เป็นเสียงที่ผู้คนในสังคมลืมที่จะใส่ใจฟังและอาจไม่มีโอกาสได้ยินอีก

เช่นเสียงการฟื้นคืนของชีวิตและธรรมชาติหลังระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ บนเนินเขาในบริเวณวัดเล็กๆ มีต้นการบูรอายุหลายร้อยปีที่เคยให้ร่มเงากับชีวิตและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็ก ๆ เช่น กระรอก และนก ระเบิดปรมาณูที่สหรัฐทิ้งลงที่เมืองนางาซากิได้เผาทำลายชีวิตผู้คนและเมืองจนพินาศย่อยยับ ต้นการบูรอายุหลายร้อยปีถูกรังสีมรณะแผดเผาไหม้เกรียม กิ่งใบหลุดร่วงหมด ลำต้นด้านที่หันรับรังสีปรมาณูนั้นไหม้ดำเป็นตอตะโก

สามสิบปีต่อมา การบูรต้นนี้แตกยอดอ่อนสีเขียว ตอบสนองต่อการภาวนาของพระและความพยายามของชาวบ้านที่ดูแลประคับประคองต้นไม้นี้ให้งอกงามขึ้นใหม่ ปัจจุบันต้นการบูรแผ่กิ่งก้านงอกงามให้ร่มเงาและเป็นที่พักอาศัยของสรรพสัตว์ แม้จะคงร่องรอยการถูกเผาไหม้เป็นแถบดำไว้ที่ลำต้นด้านหนึ่ง แต่เสียงของใบการบูรที่ลู่ลม เสียงนกที่ร้องในยามเช้าและยามเย็น และเสียงของเด็ก ๆ ที่มาวิ่งเล่นหยอกล้อกันที่ใต้ต้นการบูรใหญ่ กลายเป็นเสียงแห่งการฟื้นคืนของชีวิตชุมชน เป็นเสียงของการเยียวยาและเสียงแห่งสันติภาพที่บรรเลงเตือนความทรงจำของชุมชนมิให้สิ้นหวัง


เตือนว่าแม้ชีวิตจะเผชิญกับความทุกข์ยากที่สุดแสนจะทนทานได้ แต่วันหนึ่งความหวังที่ยังไม่ดับหายไปจะงอกงามแผ่กิ่งก้านเป็นร่มเงาหล่อเลี้ยงชีวิตได้ใหม่

คุณเคอิโกะ เดินทางเก็บบันทึกเสียงแห่งนี้ ไม่ใช่เพื่ออนุรักษ์ไว้ในห้องสมุด แต่บันทึกให้เป็นสมบัติของชุมชนที่จะได้หันกลับมาเรียนรู้ความหมาย คุณค่าและสุนทรียภาพจากเสียงเล็กๆ ในชีวิตที่เรียบง่าย

เป็นเสียงอันละเมียดละไมที่ความอึกทึกของโลกสมัยใหม่ดังกลบจนเราเกือบจะลืมไปว่าเสียงนั้นมีความละเอียดประณีต มีความหมาย และมีคุณค่าทางจิตวิญญาณอยู่ด้วย

อัล กอร์ กับภารกิจในการสร้างจิตสำนึกใหม่
- หน้าที่ที่เหนือไปกว่าตำแหน่งประธานาธิบดี

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 30 มิถุนายน 2550

“What gets us into trouble is not what we don’t know. It is what we know for sure that just ain’t so.” Mark Twain


ถึงชั่วโมงนี้ผมคิดว่าคนไทยจำนวนมากน่าจะได้รับรู้เรื่องราวที่นำเสนอในแผ่นดีวีดีที่โด่งดังมากแผ่นหนึ่งที่ชื่อว่า “An inconvenient truth: A Global Warning” ดีวีดีแผ่นนี้นำเสนอโดย อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในสมัย บิล คลินตัน และอดีตผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่แพ้การเลือกตั้งให้กับ จอร์จ บุช ไปแบบเฉียดฉิวเพียงไม่กี่คะแนน

อัล กอร์ อ้างถึงคำพูดข้างต้นนี้ของ มาร์ค ทเวน ในดีวีดีแผ่นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่นำเสนอให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การที่มนุษย์ไม่สนใจจะรักษาสภาพแวดล้อมนั้นส่งผลให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ได้ก่อให้เกิดมหันตภัยต่างๆ ที่กำลังจะส่งผลกลับมาสู่มนุษย์เอง

ด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ การใช้พลังงานอย่างไม่บันยะบันยังของมนุษย์ทั้งโลกได้ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีปริมาณสูงขึ้นมากอย่างผิดปกติในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้

ปริมาณที่สูงขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นได้ก่อให้เกิด “ภาวะเรือนกระจก” ที่ทำให้โลกทั้งใบไม่สามารถระบายความร้อนที่แผ่รังสีมาจากดวงอาทิตย์ได้ดีมากพอ ความร้อนเหล่านี้กำลังทำให้ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย ซึ่งในดีวีดีชุดนี้ได้ถ่ายภาพให้เห็นสภาพของภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ ถ่ายเปรียบเทียบปัจจุบันกับเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน ทีละจุดๆ ทำให้เราเห็นความจริงที่ชัดเจนมากว่าโลกกำลังร้อนมากขึ้นจริงๆ

ถึงตรงนี้หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่ากะอีแค่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย แล้วมันจะเกี่ยวข้องอะไรกับตัวฉันเล่า เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเราที่กำลังต้องทำมาหากินไปวันๆ มันอยู่ตั้งไกลที่ขั้วโลกเหนือเชียวนะ

ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ไม่สามารถระบายกลับออกไปสู่ชั้นบรรยากาศได้เพราะ “ภาวะเรือนกระจก” จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ไม่ได้ทำให้ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายแต่เพียงอย่างเดียว มันยังส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทรอีกด้วย

ผลต่อการไหลเวียนของระบบอากาศและกระแสน้ำทำให้เกิด “ความรุนแรง” ของพายุต่างๆ ที่มีมากขึ้นกว่าเดิม เช่น พายุแคทริน่าที่พัดทำลายรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปีก่อนนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเกิดจากสาเหตุนี้ รวมไปถึงภัยทางธรรมชาติต่างๆ ที่เราคนไทยเองก็ต้องประสบอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนในประวัติศาสตร์ เช่น ภัยจากสึนามิ ภาวะน้ำท่วม และอื่นๆ

แบบนี้คงเริ่มใกล้ตัวแล้วกระมัง

ผมเขียนบทความชิ้นนี้คงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นหลักนะครับ บอกกันตรงๆ ว่าผมเบื่อที่จะพูดจะเขียนเรื่องแบบนี้แล้ว เพราะสิ่งที่พวกเราในกลุ่มจิตวิวัฒน์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอาจารย์หมอประสาน ต่างใจ ได้พูดเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ท่านพูดเรื่องนี้ก่อนเวลา พูดเหมือนที่ อัล กอร์ พูดไว้บันทึกไว้ในดีวีดีแผ่นนี้เด๊ะๆ เลย แต่ผู้คนกลับกล่าวหาว่าท่านเพี้ยน ท่านไม่เต็ม อย่างไรก็ตาม เขียนตรงนี้ไม่มีเจตนาที่จะบ่นหรือจะตำหนิอะไรใครเลยนะครับ

กลับมาเรื่องดีวีดีแผ่นนี้ดีกว่า ดีวีดีแผ่นนี้ทำให้ผมรู้สึกกระชุ่มกระชวยและมีพลัง

ดีวีดีแผ่นนี้ยังทำให้ผมได้เรียนรู้ ได้คำตอบอะไรหลายอย่าง (ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม)

ประเด็นของผมก็คือ ผมดีใจมากที่ขณะนี้ตอนนี้ อัล กอร์ ไม่ได้ถูกมองว่าเพี้ยน (หรืออาจจะ?) ผมพบว่าเรื่องราวที่เขานำเสนอในดีวีดีชุดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากสื่อกระแสหลักที่ได้เขียนข่าวเรื่องนี้ เผยแพร่ภาพจากดีวีดีชุดนี้ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างกว้างขวาง สำหรับผมแล้ว อัล กอร์ ทำให้คนหลายๆ คนหายเพี้ยน เพราะสิ่งที่ อัล กอร์ ศึกษารวบรวม และถ่ายทำหลักฐานต่างๆ ไว้ในดีวีดีแผ่นนี้ ได้ทำให้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยประการทั้งปวง

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี ๒๕๔๓ นั้น พวกเรา “ลุ้น” อัล กอร์ ให้เขาชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะเราเชื่อว่าเขามีนโยบายที่ดีกว่าในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีผลต่อการลงสัตยาบันเรื่องการลดการก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสิ่งแวดล้อม

เมื่อเขาไม่ได้รับเลือกตั้ง พวกเรารู้สึกหมดหวังกับเรื่องนี้ ความหดหู่ทำให้เรารู้สึกว่า หรือว่าโลกใบนี้ไม่ต้องการให้มีมนุษย์อีกต่อไปแล้ว ดีวีดีแผ่นนี้ทำให้ผม “เพิ่งอ๋อ” ว่าแท้ที่จริง “ยังมีความหวัง”

ผมเพิ่งเรียนรู้และได้รับรู้ว่า “ดีวีดีแผ่นนี้” คือคำตอบในข้อนี้ของผม เพราะสำหรับผมแล้ว อัล กอร์ ทำดีวีดีแผ่นนี้ออกมาได้แบบนี้ เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมมากกว่าการที่เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเสียอีก เขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการให้คนทั่วโลกได้รับรู้ถึงมหันตภัยที่กำลังเลวร้าย ผมได้เรียนรู้แล้วว่า แท้ที่จริงแล้ว โลกต้องการให้ อัล กอร์ ทำดีวีดีแผ่นนี้ออกมามากกว่าให้เขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และในที่สุดแล้วถ้าจะมองในแง่ของอำนาจ เขากำลังมีอำนาจเหนือกว่าประธานาธิบดีสหรัฐเสียอีก ได้ข่าวล่าสุดว่า จอร์จ บุช มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปในเรื่องภาวะโลกร้อนและสนธิสัญญาเกียวโต

ผมเองต่างหากที่ “ด่วนตัดสิน” เรื่องราวไปเองว่าเลวร้าย

และที่น่าสนใจมากที่สุดอีกประการหนึ่งของดีวีดีชุดนี้ก็คือ อัล กอร์ ได้เสนอภาพที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังจะปรากฏขึ้นกับมนุษยชาติอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมายจากผู้คน ไม่ได้ต้องการให้ผู้คนต้องหันมาช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมแบบอุดมคติ แบบไกลตัว แบบดัดจริตที่บางครั้งทำให้หลายคนอาจจะคลื่นไส้ เขาเพียงขอให้มนุษย์แต่ละคนตระหนักถึงเรื่องนี้และ “ทำสิ่งเล็กๆ” “ง่ายๆ” เท่านั้น

เขาเพียงขอประมาณว่าให้เราทุกคนลองนึกถึงภาพภูเขาน้ำแข็งที่กำลังละลาย ในขณะที่เรากำลังก้าวเท้าเหยียบขึ้นไปบนรถยนต์ของเรา
เขาเพียงขอประมาณว่าให้เราทุกคนนึกถึงภาพพายุแคทรีน่าที่พัดเอาเมืองนิวออร์ลีนส์ทั้งเมืองให้จมอยู่ใต้น้ำ ในขณะที่เรากำลังเปิดไฟสักดวงในบ้านหรือในที่ทำงานของเรา หรือเขาเพียงขอประมาณว่าให้เราชื่นชมขอบคุณกับต้นไม้สักต้นในบ้านของเรา

ประเด็นหลังนี้สำคัญมากที่สุดครับ ประเด็นนี้เป็นแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่เลย แบบที่เชื่อว่า การทำสิ่งเล็กๆ ก็สามารถช่วยโลกได้ ไม่ต้องพยายามไปคิดทำการใหญ่แบบอุดมคติแบบที่เราทำไม่ได้ แล้วก็เลยทำให้เราไม่ได้ทำอะไรกันเสียที

อาจารย์หมอประสานเคยบอกผมไว้ว่า “โลกมีไว้ให้เราเหยียบนะ ไม่ได้มีไว้ให้เราต้องแบก” และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เราควรจะเหยียบโลกใบนี้อย่างกรุณาและมีสติเสมอ

มหกรรมกระบวนกร

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2550

หากเปรียบเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค ลอนดอน โตเกียว หรือ เซี่ยงไฮ้ ว่ามีความเป็น “มหานคร” คือ เป็นนานาชาติ เป็นสากล มีตัวอย่าง ตัวเอก หรือตัวแทนจากวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ ไม่ว่าเรื่องเล่า ความเชื่อ ความฝัน แรงบันดาลใจที่มาพร้อมกับผู้คนที่อยู่อาศัย ขุดทอง หรือท่องเที่ยวอยู่ที่นั่น

จากมุมมองเดียวกัน ผมนึกเองขำๆ ว่างานใหญ่อย่าง “มหกรรมกระบวนกร” ที่สถาบันขวัญเมืองจัดมาเป็นครั้งที่ ๖ แล้วนั้น มีความเป็น “มหานคร” ไม่ต่างกัน เพราะมีคุณลักษณะของความเป็นนานาชาติ สากล แถมยังมีตัวแทนของหลายวัฒนธรรม ทั้งยังมีเรื่องเล่า วัฒนธรรม ความฝันและแรงบันดาลใจ อันหลากหลายอย่างยิ่งของคนที่มาร่วมงานเหมือนกัน

งานมหกรรมกระบวนกรที่กล่าวถึงนี้ เป็นการประชุมกระบวนกร (facilitator) จากทั่วทุกภาคในไทยและหลายครั้งก็มีมวลมิตรจากประเทศอื่นด้วย กระบวนกรในที่นี้คือผู้จัดกระบวนการเพื่อการพัฒนาชีวิตด้านใน การเรียนรู้เพื่อให้เกิดสำนึกใหม่ และการเปิดมุมมองใหม่ต่อโลกและชีวิต การมาประชุมร่วมกันนี้ได้รับการเอื้อเฟื้ออนุเคราะห์สถานที่ จัดกิจกรรมและกระบวนการโดยสถาบันขวัญเมืองในฐานะเจ้าภาพและเจ้าบ้าน

แรกเริ่มเดิมทีมหกรรมกระบวนกรนั้นเป็นเสมือนเวทีพบปะกันของผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรม หรือเคยได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในตัวกับเหล่ากระบวนกรของสถาบันขวัญเมืองมา ทั้งจากการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ หรือจากการร่วมสนทนาในเวทีสุนทรียสนทนาต่างวาระโอกาส

แต่มหกรรมกระบวนกรได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับในระยะเวลาอันสั้น สู่เวทีเรียนรู้ร่วม นำเครื่องมือ วิธีการและพิธีกรรม ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้ประสบพบเจอจากการทำงานและในชีวิตประจำวัน มาแลกเปลี่ยนสนทนาเล่าสู่กันฟัง ก่อให้เกิดการยกระดับความรู้ของทั้งกลุ่มแบบยกแผง มหกรรมกระบวนกรในครั้งหลังๆ จึงมีความไม่ธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ ใช่เป็นเพียงงานชุมนุมศิษย์เก่า หรือเป็นแค่พื้นที่การประชุมพบปะทั่วไปไม่

เหตุการณ์อันเป็นปรากฏการณ์แห่งวงการฝึกอบรมและพัฒนานี้พาให้ผมนึกถึงวรรณกรรมเลื่องชื่อเรื่องหนึ่งของกิมย้ง ภาพที่เกิดชัดในใจ คือ เวทีชุมนุมจอมยุทธจากทั่วพื้นพิภพ จากหลากหลายสำนักค่ายฝีมือ ไม่ว่าจะเป็น คงท้ง คุนลุ้น ง้อไบ๊ หรือแม้แต่หลวงจีนจากเส้าหลิน ต่างมารวมกัน ณ สถานที่เดียวกัน ณ สำนักบู๊ตึ๊ง เพื่ออวยพรวันเกิดครบรอบร้อยปีของปรมาจารย์เตียซำฮงเจ้าสำนักบู๊ตึ๊ง ขณะที่มหกรรมกระบวนกรนี้คลาคล่ำไปด้วยชาวยุทธกระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่

ยิ่งมหกรรมกระบวนกรคราวล่าสุดนี้ให้เผอิญตรงกันกับวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู บรรยากาศเลยกระเดียดเฉียดไปทางงานแซยิดเตียซำฮงเข้าไปใหญ่

ตัวละครในเรื่องของกิมย้งยังมีสีสันน่าสนใจในเชิงอุปมา ไม่ว่าจะเป็น มังกรเสื้อม่วง อินทรีคิ้วขาว ราชสีห์ขนทอง และค้างคาวปีกเขียว ส่วนมหกรรมกระบวนกรที่จังหวัดเชียงรายนี้เล่าก็กอปรไปด้วยกระบวนกรมากหลายแบบ เมื่อใช้แนวคิดคุณลักษณะคนตามแบบสัตว์ ๔ ทิศของชนพื้นเมืองอเมริกาเหนือหรือชาวอินเดียนแดงมามองผู้เข้าร่วมแต่ละคนแล้ว ผมจึงได้เห็นทั้ง หนูผู้ compromise กระทิงนัก action หมีจอม detail และอินทรีเจ้า project

แต่เอาเข้าจริงๆ แทนที่จะเป็นมหากาพย์ของกิมย้ง มีการประลองยุทธระหว่างสำนัก เสาะหาดาบฆ่ามังกรเพื่อขึ้นครองเป็นเจ้ายุทธภพ กลับกลายเป็นสงครามข้ามกาแลคซี่ เป็น Star Wars ของลุงจอร์จ ลูคัส กวัดแกว่งไลท์เซเบอร์ สว่างวูบๆ วาบๆ แทน

เพราะตลอดงานมีแต่อ้างอิงถึงพล็อตและตัวละครในภาพยนตร์ซีรีส์ทั้ง ๖ ตอน โดยเฉพาะภาคท้ายๆ ของงานมหกรรมมีหัวเรื่องหลัก “วิถีแห่งโยดา” ที่ว่ากระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หรือกระบวนกรในแนวทางจิตวิวัฒน์นั้น จะทำหน้าที่บ่มเพาะสร้างอัศวินเจไดรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้ที่เข้าใจ เข้าถึง และเป็นหนึ่งเดียวกับ “พลัง” ได้อย่างไร

เล่นเอาคนที่ยังไม่เคยดูต้องขอตัวช่วย ขอคำอธิบายเป็นระยะๆ ว่า โยดา อนาคิน ดาร์ธเวเดอร์ และลุค สกายวอล์กเกอร์ คือใคร ร้อนถึงคอหนังทั้งหลายต้องเปิดวงเล็กอธิบายคร่าวๆ ว่า ในโลกของสตาร์วอร์สนั้น เหล่าอัศวินเจไดคือผู้ที่ฝึกฝนตนเอง เพื่อจะเข้าถึง “พลัง” (The Force) ซึ่งเป็นสนามพลังอันไม่สิ้นสุดสร้างโดยสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในจักรวาฬ ที่เหล่าผู้ฝึกจิตมาดีแล้วสามารถนำมาใช้ได้

พลังนี้สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบของเทเลพาธี (อ่านใจ) ไซโคไคเนซิส (เคลื่อนย้ายวัตถุ)พยากรณ์อนาคต รวมถึงเพิ่มศักยภาพทางกายของผู้ใช้ได้อีกด้วย ดังที่ลุคใช้ในการยิงถล่มเดธสตาร์ในภาคแรกสุด

แต่สิ่งที่เหล่าเจไดต้องระวังอย่างยิ่ง คือ ไม่ให้ตนเองตกไปสู่ด้านมืดของพลัง (Dark side of the Force) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากเกิดความหลง บ้าอำนาจ ไม่นำความรู้ความสามารถนั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเกิดจากตนไม่สามารถจัดการกับความโกรธ ความเกลียด หรือความกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจได้

ช่างประจวบเหมาะบังเอิญเหลือเกินที่ผมได้คุยกับ ดร.ปีเตอร์ เฮิร์ทซ์ ถึงเรื่องพลังเบญจพุทธคุณทั้งห้า (The Five Wisdom Energies) ของพุทธสายวัชรยาน อันได้แก่ พลังวัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) ที่สัมพันธ์กับคุณลักษณะอันประเสริฐ ๕ ประการของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ ปัญญาเฉียบคม (แทนด้วยสีน้ำเงิน) เอื้อเฟื้ออันอุเบกขา (สีเหลือง) การรับรู้อันลุ่มลึกละเอียดอ่อน (สีแดง) ความมุ่งมั่นในการกระทำอันเด็ดขาด (สีเขียว) และความสุขุมเปิดกว้างรับการเติบโต (สีขาว) ตามลำดับ

อันที่จริงผมก็ได้สนใจและเคยศึกษาเรื่อง ปัญญาห้าสี นี้มาก่อนหน้าอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่เคยโยงมาเกี่ยวข้องกับสตาร์วอร์สแต่อย่างใด เมื่อครั้นได้ยินปีเตอร์ พูดออกเสียงพลังแห่งพระโพธิสัตว์อมิตาภะ (ปัทมะ) ว่า พัด-ม่า (Padma) แล้วทำให้ถึงบางอ้อทันทีว่า ท่าทางคุณลุงลูคัสคงมีเจตนาจงใจตั้งชื่อหญิงงามที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ดึงดูดให้ต้องตาต้องใจ น่าเข้าใกล้ (อันเป็นลักษณะของพลังปัทมะ) ว่า แพดเม่ (Padme) ขณะเดียวกัน เธอคือผู้เป็นต้นเหตุนำพามาซึ่งความโกรธ-เกลียด-กลัวการสูญเสียคนรักของอนาคิน ถึงขนาดที่ทำให้เขาตกไปอยู่ในด้านมืดของพลัง เห็นได้ชัดถึงการทำงานของสมองส่วนอมิดาลา (Amygdala) ที่ควบคุมอารมณ์ดังกล่าว จึงให้นามสกุลแก่ตัวละครนี้ว่า อมิดาลา (Amidala)

ท่านอาจารย์ประเวศเคยเรียกปรากฏการณ์ที่มนุษย์ขาดสติ ถูกชุดอารมณ์ลบเข้าครอบงำ สมองส่วนดังกล่าวทำงานหนัก ปิดกั้นการทำงานของสมองส่วนอื่น ทำเอาเห็นช้างตัวเท่าหมู ว่า “ตกบ่วงอมิกดาลา” พอโยงกับสตาร์วอร์สแล้วก็คงเรียกว่า “ตกบ่วงอมิดาลา” ได้เหมือนกัน

หลังจากที่อนาคินยินยอมพร้อมใจขายวิญญาณให้แก่ฝ่ายจักรวรรดิ กลายเป็นดาร์ธ เวเดอร์ จักรภพก็เดือดร้อนมากขึ้นไปอีกทุกหย่อมหญ้า ทำให้เหล่าอัศวินเจไดต้องฝึกฝนและเรียนรู้อย่างหนักเพื่อนำสมดุลกลับมาสู่พลัง (Bring balance to the Force) และสันติภาพมาสู่โลกและจักรวาฬ

อันเป็นโจทย์เดียวกันกับเหล่ากระบวนกรที่มาประชุมกันในงานมหกรรม

สิ่งที่น่าตื่นเต้น น่าทึ่ง และชวนติดตามของมหกรรมกระบวนกร ยิ่งกว่าสตาร์วอร์สทุกภาครวมกัน ก็คือ การได้เห็นอัศวินเจไดและโยดาโลดแล่นอยู่ในชีวิตจริง ลอง(จาก)ผิดลอง(จน)ถูก ฝึกฝนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบริบทที่หลากหลาย ทั้งภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน สถานบริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ไปถึงระดับครอบครัวและปัจเจกชนคนรักอิสระ

และที่สำคัญที่สุดคือ สตาร์วอร์สทำมา ๖ ภาคก็ยุติลง ส่วนงานมหกรรมกระบวนกรจัดมา ๖ ครั้งแล้ว มหากาพย์การเดินทางจากจิตตื่นรู้ สู่การยกระดับจิตร่วม (Collective Consciousness Stage) เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง ...

(เชิญร่วมสร้างสรรค์โลกใบใหม่ได้ที่ “วงน้ำชา” www.wongnamcha.com)

เป้าหมายสุดท้ายของมนุษย์

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2550

นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับเราสาธารณชนคนทั่วไปทั้งหลายในปัจจุบันซึ่งหลงมัวเมาไปกับวิทยาศาสตร์ (เก่าหรือกายภาพ) ที่นำโดยนิวตัน กาลิเลโอ ชาร์ลส์ ดาร์วิน และซิกมันด์ ฟรอยด์ โดยเชื่อว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์เก่าที่ว่านั้น (ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์) เป็นความจริงทั้งหมด อาทิเช่น เฮอเบิร์ต สเป็นเซอร์ (Herbert Spencer) ที่ประกาศว่าธรรมชาติของชีวิต “คือการอยู่รอดของผู้ที่แข็งแรงกว่า” แต่เพียงประการเดียว หรือ ออกัสเต คอมเต้ (Auguste Comte - ผู้นิยามวิชาสังคมวิทยายุคปัจจุบัน) ที่กล่าวว่า โลกและประวัติศาสตร์ของศาสนาได้จบลงไปแล้ว นับแต่มนุษยชาติได้ค้นพบวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ให้ความจริงสุด ท้าย กับให้อนาคตแก่มนุษยชาติ

ในความเห็นของผู้เขียน ความคิดเช่นนั้นชี้บ่งอีโก้หรืออัตตาอหังการ์ของเรา ให้มองมนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล (anthropocentric) ซึ่งมีส่วนเป็นอย่างยิ่งในการสร้างโลกทัศน์ชีวทัศน์ที่ผิด ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ว่ามานี้ - เชื่อแต่วิทยาศาสตร์โดยโยนทิ้งศาสนา - สร้างความพินาศหายนะให้กับสังคมโลกและระบบนิเวศธรรมชาติของโลก ก่อวิกฤติปัญหานานัปการดังที่เรากำลังประสบกันอยู่ในปัจจุบัน

แท้ที่จริงแล้วสำหรับผู้เขียน ศาสนาทุกๆ ศาสนา - ที่มาก่อนวิทยาศาสตร์นานนักหนา - ให้ความจริงแท้ที่สมบูรณ์อย่างยิ่งมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หากไล่กลับไปแล้ว อาจถึงช่วงเวลาที่โลกเราเริ่มมีประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ด้วยซ้ำ เพียงแต่ลัทธิความเชื่อและศาสนาต่างๆ เหล่านั้นมีมาก่อนที่มนุษย์จะมีวิวัฒนาการของตรรกะและเหตุผล ทำให้เรา - ส่วนใหญ่ มากๆ - อยู่กับความเชื่อศรัทธาเพียงอย่างเดียวประหนึ่งว่าเป็นคนตาบอด สุดท้ายเมื่อไม่มีเวลาคิดวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งและปฏิบัติศาสนาอย่างที่ควร จึงงมงายอยู่กับกระพี้เปลือกนอกของศาสนาและนับถือว่านั่นคือแก่นแท้ ทำให้ในเวลาต่อมา เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น พระหรือนักบวชอันเป็นตัวแทนของศาสนา – ที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเช่นมนุษย์ธรรมดาๆ ทั้งหลาย - ที่มีธรรมชาติของความเป็นตัวตนและเห็นแก่ตัวมากขึ้นไปตามวิวัฒนาการทางจิตสู่อัตตาอหังการ์ ผู้หาประโยชน์ใส่ตนบนความไม่รู้หรือไม่มีเวลา และบนความเชื่อศรัทธาของประชาชน ปัญหาอันเกิดจากวิกฤติศรัทธาจึงเริ่มเกิดขึ้นและมีมากขึ้น จนทำให้ประชาชนไม่สามารถแยกแยะแก่นแท้ของศาสนาออกจากตัวบุคคล โลกจึงก้าวสู่ยุคแห่งความมืดบอดทางปัญญา กระทั่งถึงเวลารุ่งอรุณฟ้าสางทางตรรกะและเหตุผลดังที่เรารู้เราเรียนกัน

ด้วยความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่า ศาสนาทุกๆ ศาสนาอาจมีรูปแบบและวิธีการที่เน้นเนื้อหาสาระคำสอนขององค์พระศาสดาผู้ประกาศศาสนานั้นๆ แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะมีคุณสมบัติหรือลักษณะที่ศาสนิกนั้นๆ คิดว่า ศาสนาของตนแตกต่างไปจากศาสนาอื่นๆ อย่างไร? ผู้เขียนกลับเชื่อว่า ทุกศาสนามีเเก่นที่ชี้บ่งสัทธรรมความจริงอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่เหมือนกันหรือเป็นเช่นเดียวกัน โดยไม่มีตรงไหนที่ใดผิดเพี้ยนออกไปจากกันหรือแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย และที่กล่าวมานั้น ไมใช่เป็นเพราะผู้เขียนเชื่อว่าทุกศาสนามีเป้าหมายเพื่อสอนให้คนเป็นคนดี อยู่ในศีลอยู่ในธรรม และมีวิถีชีวิตที่ประกอบด้วยคุณธรรมจริยธรรมความดีงาม - อันเป็นสากล – เท่านั้น แต่ผู้เขียนคิดว่า เป้าหมายสุดท้ายของทุกศาสนากับเป้าหมายสุดท้ายของการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ - เรามาอยู่ที่นี่ทำไม? - นั้นเป็นเป้าหมายอันเดียวกัน นั่นคือเพื่อตอบว่าสัทธรรมความจริงแท้หรือความจริงสูงสุดคืออะไร? ซึ่งในความคิดของผู้เขียน เป้าหมายของศาสนาหรือเป้าหมายของมนุษย์ชาตินั้นเป็นไปเพื่อให้ความรู้สูงสุด (gnosis) หรือการเรียนรู้ที่มาและที่ไปของสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ของโลกและจักรวาล รวมทั้งชีวิตและมนุษย์ว่าเป็นมาอย่างไร? สัทธรรมความจริงอันสูงสุด (The Absolute or The Ultimate) ที่มีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ว่าแต่ละศาสนานั้นๆ และเราจะเรียกสิ่งสูงสุดนี้ว่าอย่างไร? พระเจ้าในชื่อต่างๆ หรือเต๋า หรือนิพพาน หรืออะไร? สิ่งสูงสุดที่ทั้งเป็นหนึ่งและทั้งเป็นทั้งหมด (The One and The Many) ที่มาจากความว่าง (The Void) ด้วยกันทั้งสิ้น

จริงๆ แล้วนั่นคือองค์ความรู้สูงสุดที่มนุษยชาติแสวงหามาตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อมนุษย์คนแรกเกิดมีขึ้นมาในโลก - ผลิตผลของวิวัฒนาการธรรมชาติของจักรวาลผ่านห่วงโซ่ของสรรพสิ่งที่รวมชีวิตและมนุษย์ (the great chain of being) – แล้วมองไปรอบๆ ตัว ทั้งแหงนมองดูท้องฟ้าด้วยความพิศวงงงงวยประหม่ากลัว แท้ที่จริงแล้วที่มาของปรัชญาธรรมชาติและที่มาของวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมาล้วนแล้วแต่พัฒนาขึ้นมาด้วยการสะท้อนทางตรรกะ (logic or philosophic reflection) หรือมีขึ้นมาเพื่อหาคำตอบต่อความจริงอันสูงสุดที่ว่านั้นทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ามนุษย์เราใช้ตรรกะของการสะท้อนแตกต่างกันออกไป นั่นคือ สำหรับผู้เขียนแล้ว เป้าหมายสุดท้ายขององค์ความรู้ทั้งหลายแหล่ที่มนุษย์เรามีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าที่มีมาในอดีต หรือที่มีอยู่ในวันนี้ หรือจะมีในวันหน้าและวันไหนๆ ล้วนแล้วแต่มีที่มาเบื้องต้นที่เดียวกัน และมีเป้าหมายสุดท้ายอย่างเดียวกัน คือหาคำตอบสุดท้ายให้กับมนุษยชาติว่า สัทธรรมความจริงสูงสุดหรือธรรมชาติสูงสุดคือสิ่งใด? เป้าหมายสุดท้ายของมนุษย์ชาติคืออะไร? และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อตอบคำถามว่า - เรามาอยู่ที่นี่ทำไม? – ที่สุดท้ายแล้วเรามนุษย์ทุกผู้ทุกคนก็จะรับรู้ความจริงที่ว่านั้นด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ในอดีดตั้งแต่เริ่มต้นของประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ศาสดา อรหันต์ นะบี โยคี อรัญวาสีจำนวนมาก ต่างรับรู้หรือรู้คำตอบที่มีหนึ่งเดียวจากเส้นทางภายในมาตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อนทั้งนั้น ที่ต่อมาบ้างก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นศาสนา ในขณะที่นักปรัชญาจำนวนมากในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยกรีกไล่ขึ้นมา พยายามใช้ตรรกะและเหตุผลบนสติปัญญา (intelligence) จากสมอง การครุ่นคิด ที่บางครั้ง ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวของจิตใจ (หรือด้วยสมาธิ) อย่างไม่รู้สึกตัว เพื่อวิเคระห์และสังเคราะห์คำถามและคำตอบต่อความจริงสูงสุดที่ว่านั้นกันอย่างไม่หยุดยั้ง

ตั้งแต่วันนั้นตราบถึงวันนี้ การเดินทางด้วยเส้นทางภายในบางครั้ง รวมทั้งการเดินทางด้วยเส้นทางภายนอกจากสติปัญญาของสมองบนตรรกะและเหตุผลในบางครั้งที่ว่านั่นเอง ทำให้นักปรัชญาแต่ละคนกลายเป็นอัจฉริยะหรือไม่อัจฉริยะ มีชื่อเสียงหรือไม่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหามากหรือน้อยแตกต่างกันออกไป นักปรัชญาที่บางครั้งได้องค์ความรู้จากสมาธิ กับบ่อยครั้งกว่าที่ได้ความรู้จากเหตุผล หรือภายในกับภายนอกบวกกัน ได้ทำให้สัทธรรมความจริงอันสูงสุดที่มีเพียงหนึ่งเดียว มีความแตกต่างกันเป็นหลากหลาย จวบจนกระทั่ง ณ บัดนี้

นักคิดนักปรัชญาที่ก่อนหน้านั้นเป็นนักเทววิทยาผู้หนึ่ง ที่หลายๆ คนรวมทั้งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นผู้ที่อธิบายที่มากับเป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาติ หรือสัทธรรมความจริงอันสูงสุดได้อย่างกระจ่างชัด คือ จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) มหาปราชญ์คนหนึ่งที่ถามและตอบเช่นที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างบนตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ ๑๙ และต่อมา ศรีอรพินโธได้สาธยายไว้แทบจะเหมือนกัน แม้ในรายละเอียดของส่วนที่สำคัญ

จริงๆ แล้ว ผู้เขียนคิดว่าเฮเกลอาจได้ความคิดส่วนหนึ่งจากญาณทัสสนะ การครุ่นคิดอย่างใจจดใจจ่อหรือการทำใจให้อยู่กับสมาธิอย่างไม่รู้สึกตัว สิ่งที่เฮเกลได้มาจากญาณทัสสนะเช่นนั้น ในส่วนสำคัญถึงเหมือนกับที่ศรีอรพินโธ หรือผู้หนึ่งผู้ใด รวมทั้งอริยสงฆ์ที่เป็นพระป่าหรืออรัญวาสี เช่น หลวงปู่ดูลย์ (อตุโล) หรือหลวงปู่มั่น (ภูริทัตโต) ได้จากการปฏิบัติจิตปฏิบัติสมาธิเป็นเวลายาวนาน นั่นคือ สัทธรรมความจริงที่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นพุทธะ เป็นจิตเดิมแท้ที่มาจากความว่าง (หลวงปู่ดูลย์) - ขามาและขากลับ ที่พลาโต้เรียกว่า ขาลง (descent) และขาขึ้น (ascent) - ขามาคือจิตหนึ่ง (The One) ที่ให้ความหลากหลาย (The Many) แห่งสังสารวัฏ และขากลับคือ จากความหลากหลายกลับสู่ความเป็นหนึ่งแห่งพระนิพพาน เพียงแต่เฮเกลจะเรียกจิตหนึ่งว่า ความจริงสุดท้าย (The Absolute) ที่เป็นสิ่งเดียวกับพระเจ้าสูงสุด (spirit) สำหรับเฮเกลแล้ว องค์ความรู้สูงสุดหรือเป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาตินั้น ไม่ได้มีข้อจำกัด และมนุษย์เราทุกคนสามารถแสวงหาได้ด้วยตนเองหรือเป็นปรากฏการ์ที่ประสบด้วยตนเอง เพราะเฮเกลคิดว่าเป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาติ - โดยเหตุผล (ทางโลก) ส่วนหนึ่ง - ก็คือองค์ความรู้ความจริง เมื่อพระเจ้าสูงสุดที่ว่านั้น (ที่อยู่กับเราทุกคน) แสวงหาและค้นพบตัวเอง นั่นคือการเดินทางสู่จุดหมายปลายทางของมนุษย์ที่มีสามขั้นตอน คือจากความหลับไหลงมงายของจิตใต้สำนึก (sub-consciousness) สู่การตื่นของอัตตาตัวตน (self- consciousness) แล้วตื่นผ่านพ้นตัวตน (transcend) ต่อไปสู่จิตเหนือสำนึก (super-consciousness) ซึ่งสำหรับผู้เขียน นั้นคือระดับธรรมจิต (spirituality) อันเป็นเส้นทางสู่นิพพาน

และนั่นก็เป็นเนื้อหาสาระของการเดินทางสู่เป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาติที่แท้จริงของศรีอรพินโธที่กล่าวว่า จิตของมนุษย์ชาติเดินทางผ่านจาก “การรู้ตัวทางกายแบบผิวเผิน (superficial bodily awarenessหรือ sub-consciousness) สู่ระดับจิตรู้ตัวตนและอีโก้ (self-conscious) เมื่ออหังการ์เข้าใจว่าความผิวเผินของรูปกายคือความเป็นเอกภาพสุดท้าย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมนุษยชาติยังต้องเดินทางเพื่อผ่านพ้นอัตตาตัวตนนั้น สู่จิตเหนือสำนึก (super-consciousness) เป็นอกภาพกับจักรวาล

หรือเราอาจพูดได้ว่า วิวัฒนาการของจิตหรือประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทั้งหมด คือการตื่นและการเปลี่ยนแปลงของจิต ของสปิริต กลับสู่สปิริต สุดแล้วแต่ว่าแต่ละศาสนาจะแปลคำสปิริต (spirit) ว่าอย่างไร? การตื่นและเปลี่ยนแปลงทางจิต หรือวิวัฒนาการทางจิตที่มีสามขั้นตอนใหญ่ (หรือแปดขั้นตอนย่อยหรือระดับที่นักจิตวิทยาและนักคิดส่วนใหญ่ เช่น เค็น วิลเบอร์ อธิบาย) เราจึงต้องเดินทางเพื่อผ่านพ้นจิตแต่ละระดับเพื่อผ่านไปสู่จิตอีกระดับ

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นชี้บ่งอย่างชัดแจ้งว่า – สำหรับผู้เขียนแล้ว - เป้าหมายสุดท้ายของมนุษยชาติก็คือ การเดินทางเพื่อเรียนรู้สัทธรรมสูงสุด และนั่นก็เป็นสิ่งเดียวกับองค์ความรู้สูงสุดอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของแต่ละศาสนาและทุกๆ ศาสนามาตั้งแต่หลายพันปีก่อน และตราบใดที่มนุษย์เรายังไม่เรียนรู้หรือรับรู้ความจริงได้ทั้งหมด มนุษยชาติก็จะสิ้นสุดลงไปไม่ได้ มนุษย์เราจะต้องดำรงอยู่ต่อไปเพื่อเป้าหมายนั้น - ไม่ว่าตัวตนอหังการ์และอวิชชาจะคร่าชีวิตมนุษย์ไปสักเท่าไรก็ตาม - เพียงแต่ว่าเพราะจิตในระดับที่เรามีอยู่ในวันนี้ อัตตาตัวตนที่ทำให้เราส่วนใหญ่กลัวตาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ตราบใดที่เรายังว่ายเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อสปิริตยังไม่ค้นพบกับสปิริตและรวมกันเป็นเอกภาพ ไม่ว่าใครก็ไม่ตาย (ทางจิต) ไปจริงๆ สำหรับผู้เขียนที่เข้าใจพุทธศาสนาจากคำอธิบายของหลวงปู่ดูลย์ที่เชื่อว่าเป็นอรหันต์ จิตดั้งเดิมและพระนิพพานคือพุทธะ คือความว่าง (The Void) ซึ่งเป็นสาระของที่มาและที่ไปของสรรพสิ่งและสัตว์โลกทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ในทุกๆ ศาสนาด้วยเช่นเดียวกัน

แหวกว่ายในทะเล

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2550

สองปีก่อน เมื่อแรกเข้าประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีหนังสือหลายเล่มที่ต้องไปหาอ่านเพิ่มเติม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ และการภาวนาบนพื้นฐานศาสนธรรมต่างๆ แต่รายชื่อหนังสือจากการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ที่ผ่านมาก็ทำให้หนักใจมากพอดู ภูเขาหนังสือคงทับข้าพเจ้าตายเสียก่อนที่จะอ่านได้หมด

อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ในฐานะกัลยาณธรรมได้แสดงทัศนะและกระตุ้นเตือนข้าพเจ้าอยู่หลายครั้งว่า จิตวิวัฒน์มิใช่เพียงองค์ความรู้ในหนังสือ ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้สึกนึกคิด หากแต่เราต้องกระโดดเข้าไปแหวกว่ายในทะเลแห่งประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง

จะด้วยโชคหรือบังเอิญไม่รู้ได้ ไม่นานหลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับกระบวนการที่นำไปสู่การเชื่อมโยงประสบการณ์กับองค์ความรู้ที่พูดคุยกันในกลุ่มจิตวิวัฒน์ เมื่อคุณกรรณจริยา สุขรุ่ง ผู้ประสานงานโครงการสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นโครงการพี่น้องกับโครงการจิตวิวัฒน์ อยู่ภายใต้แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ซึ่ง ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ เป็นผู้รับผิดชอบขณะนั้น ได้เชื้อเชิญให้เข้าร่วมเวิร์คช็อปติดต่อกันราว ๖ เดือน

เวิร์คช็อปเหล่านี้ประกอบไปด้วย ๑. โยคะ โดย สถาบันโยคะวิชาการ ๒. สุนทรียสนทนา โดย สถาบันขวัญเมือง ๓. ผ่อนพักตระหนักรู้ โดย เสมสิกขาลัย ๔. สุนทรียศิลป์ โดย อาศรมศิลป์ ๕. บ้านดิน โดย เครือข่ายบ้านดิน และ ๖. เผชิญความตายอย่างสงบ โดย เครือข่ายพุทธิกา ซึ่งการออกแบบเรียงลำดับเวิร์คช็อปนั้น ได้คำนึงถึงลำดับขั้นพัฒนาการและความสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมอย่างเหมาะสมเป็นสำคัญ

กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในเวิร์คช็อปโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ตัวทั่วพร้อมผ่านฐานกาย เรื่องของปรากฏการณ์ผุดบังเกิดที่เกิดขึ้นในวงสุนทรียสนทนาภายหลังภาวะความปั่นป่วนสับสนอันมีแบบแผน เรื่องของการมองเห็นใจของตนด้วยกำลังของสติที่เป็นห้วงต่อเนื่องกันไป เรื่องของปัญญาฐานกายที่เชื่อมโยงกับฐานคิดและฐานใจ เรื่องของภาวะสมุหภาพ (Collective) ที่ผุดบังเกิดจากโยงใยความสัมพันธ์ของมิตรภาพระหว่างปัจเจกผ่านกระบวนการทำงานกลุ่ม และท้ายสุดเรื่องของความเข้าใจต่อชีวิตผ่านกระบวนการความตาย เหล่านี้ ได้นำพาให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการเข้าสู่ประสบการณ์ที่พ้นไปจากความรู้ในระดับหัวสมอง

เวิร์คช็อปเหล่านี้ได้จัดเตรียมไว้สำหรับกลุ่มสื่อมวลชน โดยมีวัตถุประสงค์ให้สื่อได้เข้ามาสัมผัสกับกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ด้วยตนเอง เพื่อที่จะสามารถเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาด้านใน และนำเอาความรู้ว่าด้วยการพัฒนาด้านในบนฐานแห่งความตระหนักรู้และเข้าใจนั้นไปใช้ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อไปในอนาคต

ข้าพเจ้าเองนั้นเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ในเวิร์คช็อปต่างๆ ก็ด้วยความประสงค์ที่จะสัมผัสกับองค์ความรู้ในฐานะประสบการณ์ดังที่มีแรงผลักดันมาแต่แรก เวิร์คช็อปเพียง ๖ ครั้ง ก็ทำให้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างความรู้ในหัวสมองกับสัมผัสอันเกิดจากประสบการณ์ตรง ที่เป็นเช่นเดียวกับประสบการณ์จากการภาวนา ต่างแต่ว่า กระบวนการในเวิร์คช็อปมีการออกแบบและประยุกต์ให้สมสมัย พ้นไปจากคำต่างด้าวอย่างบาลีและอังกฤษ

เมื่อผ่านพ้นกระบวนการดังกล่าว ผู้เข้าร่วมต่างมีการเปลี่ยนแปลงมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป บางคนลาออกจากงานไปทำงานอิสระในชุมชนของตน บางคนนำเนื้อหาอันนำไปสู่ความเข้าใจตนเองและโลกสอดแทรกเข้าไปในงานสื่อของตน บางคนเป็นแกนหลักในการปฏิรูปโครงสร้างสื่อสารมวลชน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสื่อในฐานะมนุษย์ บางคนพยายามนำกระบวนการที่ได้สัมผัสเข้าไปใช้ในองค์กรของตน ขึ้นกับว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้กับชีวิตของตนเองมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดี กระบวนการในเวิร์คช็อปเหล่านี้มิใช่บะหมี่สำเร็จรูป มิได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวของผู้ร่วมอย่างฉับพลันทันที หากต้องอาศัยการทำซ้ำ เพื่อให้เซลล์สมองที่เกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลง การทำซ้ำนี้ต้องอาศัยวินัย ซึ่งหมายถึงการฝึกให้เชื่อง

ข้าพเจ้าพบว่า แนวคิดของไถ่ นัท ฮันห์ เรื่องการใช้ชีวิตบนหนทางของการภาวนาโดยมีสังฆะเป็นตาน้ำหล่อเลี้ยงนี้ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนจากกลุ่มสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยสื่อมวลชนที่มาพบปะและรู้จักกันในเวิร์คช็อปที่กล่าวถึงข้างต้น

เวลาผ่านไปปีกว่าแล้ว พวกเขาและเธอยังพบปะกันค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยใช้กิจกรรมเป็นตัวเชื่อมร้อย เป็นต้นว่า เดินทางไปพบปะเรียนรู้กับปูชนียบุคคลสาขาต่างๆ จัดเวิร์คช็อปไปเรียนรู้ด้วยกัน วางแผน ประสานงาน และช่วยกันส่งข่าวเผยแพร่เรื่องดีๆ เนื้อหาดีๆ ออกไป ดังเช่น การสร้างความเข้าใจเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ การเชื้อเชิญสื่อมวลชนเกือบครึ่งร้อยไปร่วมกิจกรรมภาวนาในวาระการมาเยือนเมืองไทยของไถ่ นัท ฮันห์แทนการไปทำข่าวอย่างฉาบฉวย หรือในอนาคต ก็คือ การสร้างความเข้าใจเรื่อง GNH หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ

พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้หนหนึ่งว่า “ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมือเปื้อนตีนเปื้อน” การปฏิบัติธรรมจึงมิใช่เรื่องของการนั่งสวดมนต์ภาวนาอยู่ในห้องพระ หรือจิบชาสนทนาเรื่องสันติภาพอยู่ในห้องกระจกติดแอร์กลางสวนดอกไม้ หากต้องเข้าไปสู่ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ต้องเข้าไปสู่ทุกข์ของผู้คนรอบข้าง เรื่องจิตวิวัฒน์ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน

และหากจะมีวิธีสำเร็จรูปในการเข้าใจเรื่องจิตวิวัฒน์อยู่บ้าง ข้าพเจ้าเห็นว่า พวกเราควรใช้วิธีลงไปว่ายน้ำในทะเลโลกด้วยตนเอง แต่พึงสังวรณ์อย่าให้เป็นการช็อปปิงเวิร์คช็อป หรือเสพติดอัตตาของการสั่งสมประสบการณ์

วิธีเรียนรู้อย่างนี้ดูเหมือนจะมีมาแต่โบร่ำโบราณแล้ว สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนจึงไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใดเลย

Back to Top