พฤศจิกายน 2011

ธรรมะจากอุทกภัย



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2554

สิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราในวันนี้ ไม่ว่าปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ถึงที่สุดแล้วมันกำลังบอกเราว่า เป็นเพราะเรากำลังขวางความจริง เริ่มที่เราขวางกระแสน้ำ เราไม่ได้ขวางอย่างเดียว แต่ว่าเราทำลายด้วย เราทำลายป่า เราถมคลอง เราทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับสายน้ำ ก็เลยเกิดภัยพิบัติขนาดนี้ แต่ภัยพิบัติขนาดนี้ไม่อาจกัดกร่อนจิตใจเราได้มาก ถ้าหากเรายอมรับความจริง ไม่เอาความต้องการของเรา หรือความยึดมั่นของเราไปขวางกระแสแห่งความจริง เราก็จะผ่านเหตุร้ายอันนี้ไปได้ ถึงแม้เราจะสูญเสียทรัพย์ แต่ใจเราไม่เสีย น้ำท่วมบ้านแต่ไม่ท่วมใจ

อย่างไรก็ตาม ทำใจอย่างเดียวไม่พอ ทำใจก็คือยอมรับว่าน้ำจะท่วมแล้ว พร้อมที่จะเผชิญกับมัน ทำใจอย่างนี้ได้ก็ดีแล้ว แต่อย่าลืมเตรียมตัวด้วย คือปล่อยวางแล้ว ก็อย่าลืมขนของขึ้นที่สูงด้วย

พุทธศาสนาไม่ได้บอกให้ทำใจเพียงอย่างเดียว ต้องทำกิจด้วย คือเตรียมป้องกันหรือหาหนทางลดทอนความเสียหาย ถึงเราจะไม่ยึดติดทรัพย์สมบัติ ปล่อยวางได้ แต่อะไรที่สามารถขนย้ายให้ปลอดภัยได้ก็ควรทำ เหมือนกับเวลาเราเจ็บเราป่วย เราทำใจยอมรับได้ว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ไม่เยียวยารักษา ทำจิตและทำกิจ ต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นตอนนี้สำหรับคนที่กำลังหาทางปกป้องทรัพย์สมบัติ ก็อย่าทำกิจอย่างเดียวควรทำใจเผื่อไว้ด้วยว่าอาจจะต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติ ส่วนผู้ที่ทำใจได้แล้ว ก็อย่าอยู่นิ่งเฉย ควรขนของขึ้นที่สูงได้แล้วตั้งแต่ตอนนี้ อย่าไปมองว่าเป็นความตื่นตูม เมื่อเราทำเต็มที่แล้วเราจะเสียใจไม่มาก เพราะว่าหนึ่ง ฉันทำเต็มที่แล้ว และสอง ทรัพย์สมบัติที่สูญเสียไปย่อมน้อยกว่าคนที่ประมาทหรือชะล่าใจ

เมื่ออุทกภัยเกิดขึ้น นอกจากการยอมรับความจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และรู้จักยกใจให้เหนือน้ำ แม้ว่าข้าวของจะอยู่ใต้น้ำไปแล้วก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ควรมองเหตุการณ์ครั้งนี้ในแง่บวกบ้าง มองในแง่บวกหมายถึงการรู้จักใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น มองว่ามันเป็นเครื่องสอนธรรมหรือสอนใจเรา สอนให้เราเห็นความไม่เที่ยง สอนใจให้เราตระหนักว่า ทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่มีอยู่นี้ไม่มีสักอย่างที่เป็นของเราเลย ความพลัดพรากจากมันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่ใช่วันนี้ก็ต้องเป็นวันหน้า โดยเฉพาะเมื่อถึงวันที่เราต้องตาย ควรใช้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้เราตระหนักถึงเรื่องอนาคตภัยอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่กลัว ไม่ใช่กังวลกับมัน แต่ให้เตรียมตัวอยู่เสมอ

การเตรียมตัวที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญคือเตรียมตัวตั้งแต่มันยังไม่เกิด หรือยังอยู่ไกล คนส่วนใหญ่มาเตรียมตัวก็เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วหรือเมื่อมันมาประชิดตัวแล้ว คนเรามักจะขยับทำอะไรก็ต่อเมื่อทุกข์มาประชิดตัว ถ้าไม่ทำเพราะความทุกข์บีบคั้น ก็ทำเพราะกลัวความทุกข์ แต่นั่นไม่ใช่วิธีของชาวพุทธ วิธีของชาวพุทธคือต้องรับมือกับมันตั้งแต่มันยังอยู่ไกล เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราเปรียบเหมือนม้า ๔ ประเภทที่ใช้เทียมรถ ม้าประเภทแรก เพียงแค่เห็นเงาสารถีชูปฏักขึ้น มันก็รู้ว่าจะเลี้ยวไปทางไหน ประเภทที่สองต้องโดนปฏักทิ่มหนังถึงจะรู้ ประเภทที่สามต้องโดนปฏักทิ่มไปถึงเนื้อถึงจะรู้ ประเภทที่สี่ต้องโดนปฏักทิ่มไปถึงกระดูกถึงจะรู้

คนสี่ประเภทนี้คืออะไร ประเภทแรกคือคนที่เมื่อได้ยินว่ามีคนตาย ก็เกิดความสังเวชหรือความตื่นตัว เข้าหาธรรม ประเภทที่สองต่อเมื่อเห็นคนตายก็ค่อยตื่นตัว เข้าหาธรรม ประเภทที่สาม เมื่อพบว่าคนรัก คนใกล้ชิดตาย จึงค่อยตื่นตัวเข้าหาธรรม ประเภทที่สี่ ต่อเมื่อตัวเองใกล้ตายถึงจะตื่นตัว พระพุทธเจ้าสรรเสริญคนประเภทแรก คือเพียงแค่รู้ว่ามีคนตายก็เข้าหาธรรมแล้ว ไม่ต้องรอให้ความตายเกิดขึ้นกับคนรักหรือเข้ามาประชิดตัว คือไม่ได้ทำเพราะกลัวความทุกข์หรือถูกความทุกข์บีบคั้น

อุทกภัยครั้งนี้นอกจากสอนใจเราเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย และเตือนใจให้เราไม่ประมาทแล้ว ยังสามารถฝึกใจให้เราเข้มแข็ง ฝึกใจให้เรามีสติ ฝึกใจให้เรารู้จักปล่อยวาง ทั้งหมดนี้ล้วนมีารถือนใจให้เราไม่ประมาทแล้ว ยังอนิจจัง ความไม่เที่ยง ประโยชน์เพราะเราจะต้องเจอภัยธรรมชาติอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นแต่ว่าเราตายก่อนเท่านั้น

พูดอีกอย่าง อุทกภัยครั้งนี้เปรียบเสมือนการบ้านที่ฝึกเรา ถ้าเราทำการบ้านข้อนี้ได้ เราก็มีโอกาสที่จะทำการบ้านข้อที่ยากขึ้นได้ แต่ถ้าเรายังไม่ผ่านการบ้านข้อนี้ ถ้าเราสอบตก แล้วเราจะหวังได้อย่างไรว่าเราจะสอบได้เมื่อมีเหตุการณ์ที่หนักกว่านี้ในอนาคต เหตุการณ์ที่หนักกว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นภัยพิบัติ อย่างเช่นน้ำท่วมแผ่นดินไหว อาจจะเป็นภัยพิบัติส่วนตัวก็ได้ เช่นเมื่อคุณพบว่าคุณป่วยหนัก เป็นโรคร้าย เป็นมะเร็ง หรือว่าคุณกำลังจะตายไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม นี่เป็นภัยพิบัติส่วนตัวที่ทุกคนต้องเจอ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเครื่องฝึกซ้อมเพื่อเราจะได้เข้มแข็ง แกร่งกล้า และมีปัญญาเพิ่มขึ้น ช่วยให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันที่จริงควรจะมองด้วยซ้ำว่า เหตุการณ์แบบนี้ช่วยเตือนให้เราหมั่นเจริญมรณสติอยู่เสมอ ถ้าเราเจริญมรณสติอยู่เสมอ โดยอาศัยเหตุการณ์นี้เป็นเครื่องกระตุ้นเร้า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเราจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ถึงสูญเสียรถ สูญเสียเงิน สูญเสียทรัพย์สิน แม้เป็นจำนวนมาก แต่มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับความตายที่ต้องเกิดขึ้นกับเรา เพราะถึงตอนนั้นเรามีเท่าไหร่ ก็ต้องสูญเสียจนหมด วันนี้เราอาจสูญเสียบ้านหรือถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ เราก็สามารถหาใหม่ได้ แต่ถ้าถึงวันที่เราต้องตาย เราจะต้องสูญสิ้นทุกอย่าง แม้แต่ลมหายใจก็ไม่เหลือ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ แม้เป็นความสูญเสียที่มากมาย จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อนึกถึงความตายที่ต้องเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงขอให้หมั่นพิจารณามรณสติไว้เสมอ จะช่วยให้เราปล่อยวางหรือทำใจได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น

สตีฟ จอบส์ เคยแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี ๒๕๔๘ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปาฐกถาที่ดีมาก ตอนนั้นเขาป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนแล้ว ตอนหนึ่งเขาพูดถึงความตายว่า ความตายเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่ช่วยให้คนเราตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ในชีวิตได้ เขาบอกว่า สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา เช่น ความคาดหวัง ความทะนงตน ความกลัวเสียหน้า กลัวความล้มเหลว ทั้งหมดนี้จะมลายหายไปเมื่อคุณระลึกถึงความตาย จะเหลืออยู่ก็แต่สิ่งที่มีความสำคัญจริง ๆ กับชีวิตของคุณ เขายังบอกอีกว่า การระลึกถึงความตายอยู่เสมอเป็นวิธีดีที่สุดที่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากกับดักของความคิดที่ว่า เรามีอะไรต้องสูญเสีย เพราะที่จริงเราไม่มีอะไรต้องสูญเสีย เนื่องจากเราทุกคนล้วนเปลือยเปล่า คือไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยจริง ๆ

เราเกิดมามือเปล่า เมื่อตายเราก็ไปมือเปล่า ทรัพย์สมบัติที่เราได้มาระหว่างนั้นต้องถือว่าเป็นกำไร ถ้าคุณสูญไปหมดเลยก็เท่าทุนเท่านั้นเอง แต่คนที่สูญเสียจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ อาตมาเชื่อว่า คุณไม่ได้เท่าทุน คุณยังมีอะไรอีกหลายอย่างอยู่กับตัว อย่างน้อยก็ยังมีบ้าน มีครอบครัว มีเพื่อนฝูง และที่สำคัญที่สุดคือมี ลมหายใจที่จะสร้างอนาคต สร้างความหวังขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะสูญเสียอะไรไปก็ตามลองนึกถึงวันสิ้นลม ว่าเมื่อถึงวันนั้นคุณต้องไปมือเปล่า เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง ดังนั้นสิ่งที่ยังเหลืออยู่ตอนนี้ควรถือว่าเป็นกำไร หากคิดได้เช่นสมบัติที่สูญเสียไปก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันที

ดังนั้นอย่าลืมเจริญมรณสติอยู่เสมอ มันจะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นความทุกข์หรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งวันนี้และวันหน้าได้ นี่เป็นวิธีหนึ่งในการเตรียมใจให้สอดคล้องกับกระแสธรรมชาติหรือกระแสสัจธรรม อันได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบแล้วพราก เจอแล้วจาก ยามใดที่เราวางใจขวางกระแสสัจธรรม ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากสูญเสีย เราจะถูกธรรมชาติทำร้าย ธรรมชาติลงโทษ เหมือนกับตอนนี้ที่ผู้คนกำลังถูกธรรมชาติลงโทษเพราะสร้างสิ่งกีดขวางกระแสน้ำอันไหลเชี่ยว ต่อเมื่อเปิดทางให้กระแสน้ำไหลผ่าน เปิดใจให้สอดคล้องกับกระแสธรรมชาติ เราจึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุขท่ามกลางความทุกข์ ถึงแม้ประสบทุกข์แต่เราสามารถยกจิตให้เหนือทุกข์ได้ ถ้าวางใจเป็น

บทความนี้ไม่พูดเรื่องน้ำ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554

ตอนสมัยเรียนวิศวะ ผมเคยได้ยินเรื่องกฎของเมอร์ฟี่

“สิ่งใดก็ตามที่ผิดพลาดได้ ย่อมจะผิดพลาดในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด”

เมื่อก่อนยังฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ในวันที่ผมต้องอพยพออกจากบ้านของตัวเองที่กรุงเทพฯ เพราะมหาอุทกภัยถล่มเมือง ผมจึงเริ่มเข้าใจว่าคุณเมอร์ฟี่ต้องการจะบอกอะไร

ความผิดพลาดได้เกิดขึ้นแล้ว

แต่มันเป็นความผิดพลาดของใครผมก็ยังมึนๆ ธรรมชาติจิตใจของคนเรามักจะไม่ชอบอยู่กับความมึนงงนานนัก มันต้องการตัดลงสู่ความชัดเจนเพื่อขจัดเสียซึ่งสภาวะอันไม่น่าชอบใจนี้ ปัญหาก็คือในระหว่างที่เรากำลังมึนตึ้บอยู่นั้น คนเรามักจะมุ่งตรงไปที่คำตอบซึ่งไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง แต่เรามักจะพุ่งเป้าไปหา “แพะรับบาป” เพื่อที่ว่าบุคคลหรือวัตถุสิ่งนั้นจะได้มารองรับความขุ่นเคืองใจของเรา ผลที่ได้คือความสะใจในการแสดงออก แต่เราไม่เฉลียวใจว่าจิตใจของเราในขณะนั้น กำลังทำงานในระดับขั้นที่ไม่ก่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวเองและโลกของเรา คือลำดับขั้นจิตบำเรอตน (I-in-me) หรือจิตจริยธรรม (I-in-Crowd) – อ่าน “บันไดจิตวิวัฒน์ ๕ ขั้น” ใน มติชน วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔

การตกไปอยู่ในความขุ่นมัวส่งผลเป็นความเครียดสะสม อาการก็คือหงุดหงิดโดยไม่ต้องมีสาเหตุ เห็นอะไรขวางหูขวางตา นอนหลับไม่สนิท จิตใจไม่แจ่มใส คิดอะไรไม่ออก ถ้าอยากแก้ไขก็ต้องเล็งไปที่เหตุ เมื่อต้นเหตุอยู่ที่ความคิด ก็ต้องพาตัวเอง “ออกจากความคิด” เสียก่อน เพราะการติดกับดักของความคิดทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นจริง การระลึกรู้อยู่ที่ความรู้สึกในร่างกายก็เป็นวิธีการหนึ่งในการออกจากความคิดที่วุ่นวาย

การออกจากความคิดไม่ใช่ห้ามไม่ให้คิด หรือหยุดคิด ความคิดที่วุ่นวายก็เหมือนสายน้ำที่ไหลไปอย่างควบคุมทิศทางไม่ได้ เราหยุดสายน้ำไม่ได้ฉันใด เราก็หยุดความคิดไม่ได้ฉันนั้น แต่ความลับอยู่ตรงที่เราสามารถ “กั้น” ความคิดของเราได้ชั่วขณะ โดยอาศัย “ทำนบ” ซึ่งหมายถึงความรู้สึกถึงอาการในกาย เมื่อความรู้สึกตัวชัด เราจะออกจากความคิดได้ชั่วขณะ

แต่เราทุกคนรู้ว่า “ทำนบ” สามารถกั้นน้ำได้เพียงชั่วคราว สักประเดี๋ยวความเผลอเรอของเราจะทำให้ความคิดไหลซึมเข้ามา เหมือนน้ำที่ไหลซึมตามรอยรั่วของกระสอบทรายอย่างช้าๆ และหากมีใครมาพังแนวกระสอบทรายของเรา น้ำย่อมไหลบ่าเข้ามาอย่างควบคุมไม่อยู่ ไม่ต่างกันกับเวลามีใครหรืออะไรมากระแทกอารมณ์อย่างรุนแรง การระลึกรู้ที่เรียกว่า “สติ”​ จะขาดหาย ความคิดสับสนและความไม่พอใจก็ไหลเข้าท่วมใจ

ถ้าเราสามารถออกจากความคิดได้บ่อยๆ เราจะพัฒนาพลังความสามารถอันหนึ่งขึ้นมานั่นก็คือความสามารถใช้ความคิดในโหมด “สร้างสรรค์”​ ซึ่ง โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ บอกว่าในโหมดนี้ความคิดของเราจะแผ่ออกในลักษณะองค์รวม เราจะมีปัญญามองเห็นความเชื่อมโยงของเหตุและปัจจัย ตรงข้ามกับโหมด “เอาตัวรอด” ซึ่งมักจะคิดอะไรสั้นๆ โดยใช้ความคุ้นชินเดิม มาตีตราแปะป้ายหาความผิด คนเราเพ่งโทษผู้อื่นเพราะความกลัว ความไม่มั่นใจในอนาคต และความต้องการจะทำให้สภาพปัจจุบันนั้นไม่แปรเปลี่ยนไปจากสิ่งที่เราควบคุมได้

หากเรามองโลกตามความเป็นจริงจะพบว่าไม่มีสิ่งใดไม่เปลี่ยน ระบบต่างๆ ในธรรมชาติและระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนแต่อิงอาศัยกันอย่างซับซ้อน และมันไหลเลื่อนเคลื่อนที่แปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา นักรบธรรมท่านหนึ่งเคยบอกกับผมว่า

“ความเจริญมันไม่มีหรอก มีแต่การเสื่อมไปข้างหน้า”

เมื่อเกิดแล้วก็เสื่อมถอยเลย ที่บอกว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันจึงควรจะพูดเสียใหม่ว่าเป็น “เกิดขึ้น แปรปรวน และดับไป” เพราะเอาเข้าจริงไม่มีอะไรดำรงคงค้างอยู่ในสภาวะหนึ่งได้เลย ปัญหาอยู่ตรงที่หากเรายังใช้ความคิดในระบบ “เอาตัวรอด” ที่มุ่งจับผิดและหาคนผิดมาลงโทษ เราจะมองไม่เห็นอนิจจลักษณะคือความเสื่อมที่เกิดขึ้นในระบบซึ่งอิงอาศัยกันอย่างซับซ้อน แต่การจะก้าวเข้าไปสู่การใช้ความคิดในระดับ “ปัญญาญาณ” คือความรอบรู้ นอกจากจะต้องพาตัวเองออกจากการ “ติดเชือก” ทางความคิดแล้ว จะต้องฝึกความรู้รอบเสียก่อน
การรู้รอบหมายถึงเราต้องไม่ลดทอนและมองความจริงอย่างแยกส่วนจนมองไม่เห็นเหตุและปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้พยายามนำความรู้เรื่อง “ความคิดเชิงระบบ” (Systems Thinking) โดยเฉพาะในแง่มุมที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร พุทธศาสนาก็มีคำสอนเรื่องการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัย เรื่องน่าแปลกก็คือหากใครศึกษาองค์ความรู้ทั้งสองไปจนถึงจุดหนึ่งจะพบว่าเรา “ขว้างงู (แมมบ้า) ไม่พ้นคอ” หมายถึงทุกปัญหาจะชี้กลับมาที่เหตุปัจจัยสำคัญก็คือ “ตัวเราเอง” เพราะเราไม่แยกการดำรงอยู่ของเราออกมาอย่างเป็นเอกเทศจากระบบโดยไม่อิงอาศัยอะไรเลยได้ แม้แต่ความคิดที่ว่าเราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของระบบก็ไม่ถูกต้อง

เราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบ แต่ระบบเป็นส่วนหนึ่งของเรา

สิ่งที่เราตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำจึงมีผลต่อสภาพปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้นจึงโทษใครไม่ได้ เพราะเมื่อสาวหาเหตุไปจนสุดแล้วเราอาจจะต้องกลับมาเขกหัวตัวเองในฐานะ “ผู้สมรู้ร่วมคิด” ในโรงมหรสพแห่งระบบชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น ณัฐชนนท์ ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์​ บริษัทโฆษณา เธอชอบนั่งจิบกาแฟริมแม่น้ำ และพักในคอนโดหรูติดแม่น้ำ แต่เพราะมีลูกค้าที่มีความต้องการอย่างเธอ นักลงทุนจึงรุมแย่งกันพัฒนาที่ดินริมแม่น้ำ การได้มาซึ่งที่ดินนั้นไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือหลักผังเมืองหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แล้วเราจะโทษบรรพชนของเราในอดีตได้หรือไม่ เพราะการที่ท่านเหล่านั้นนิยมตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถสร้างฟลัดเวย์ ขนาบแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่งในปัจจุบัน

สำหรับคุณสมชาย พนักงานแบงค์ผู้อยากจะมีบ้านเดี่ยวสักหลังเพื่อสร้างครอบครัว สามปีที่ผ่านมาเขาตัดสินใจดาวน์บ้านจัดสรรแถบชานเมือง ซึ่งเจ้าของโครงการถมที่ลุ่มให้สูงขึ้น ในที่ซึ่งควรจะเป็นแก้มลิงรับน้ำ สมชายกับภรรยาและลูกน้อย ควรถูกตำหนิหรือไม่ ที่อยากจะอยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวและสวนหย่อมเล็กๆ เอาไว้หย่อนใจ แทนการไปอุดอู้อยู่ในทาวน์เฮาส์เก่าคร่ำคร่าแถบใจกลางเมืองซึ่งราคาแพงกว่า และเมื่อโรงงานทำชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ทำให้ชีวิตของขวัญจิตซึ่งอพยพมาทำงานจากภาคอีสานสามารถลืมตาอ้าปากได้ ใครจะไปสนว่ามันตั้งอยู่ขวางทางน้ำล้นทุ่งที่จะออกสู่ทะเล

หรือถ้าหากเราจะโทษรัฐบาลที่เก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนในปริมาณมากเกินไป จนเมื่อดีเปรสชันมาทำให้ระบายน้ำไม่ได้ เราก็ควรจะถามความรู้สึกของลุงชม อาชีพทำนา ว่าเมื่อยามที่ประสบภัยแล้งในบางปีจนผลผลิตข้าวเสียหายจนสิ้นเนื้อประดาตัว คุณลุงอยากให้เก็บน้ำเอาไว้หรือปล่อยน้ำออกให้หมดเขื่อน

การเพ่งโทษนั้นง่าย แต่การมองเห็นการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัยของปัญหานั้นยากกว่า ศาสตราจารย์แดเนียล คาห์เนมาน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพูดเรื่อง “คิดสั้น-คิดยาว” ในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา Thinking, Fast and Slow บอกว่าถึงคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือระดับผู้เชี่ยวชาญ ต่างมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดได้ทั้งนั้นเพราะมีอคติที่เข้ามาบดบังการมองเห็นตามความเป็นจริง แต่เขาก็ยังบอกอีกด้วยว่า การคิดสั้นในแบบที่เรียกว่า “ญาณทัสสนะ” (Intuition) ก็อาจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่การคิดวิเคราะห์ในลักษณะที่เป็นแบบแผนทำไม่ได้

มาร์กาเร็ต วีตเลย์​ บอกว่าในยามวิกฤติผู้คนย่อมกระหายข้อมูลที่เที่ยงตรงฉับไว ปัญหาก็คือในยามนั้นเรามักจะอยู่ในสภาวะข้อมูลท่วม เพราะไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ข้อมูลไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดๆ แต่มันไหลไปพร้อมกับนัยยะของความรู้สึกและความเห็น หากข้อมูลถูกปิดกั้นด้วยความคิดแบบ “เอาตัวรอด” คุณภาพของข้อมูลที่ไหลไปก็จะกระปริดกระปรอยเหมือนน้ำประปายามอุทกภัย

บางทีการสนับสนุนให้เกิดการไหลของข้อมูลและทรัพยากร ผนวกกับความเชื่อมั่นในความสามารถของผู้คนตัวเล็กอาจจะเป็นหนทางในการจัดการยามคับขัน ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดเรื่องความมั่นคง ที่เน้นการรวมศูนย์และควบคุมข้อมูลแบบที่ทหารรุ่นเก่าใช้เมื่อยุคสงครามโลก ข้อมูลในยุคสังคมออนไลน์นี้ไม่มีใครสามารถควบคุมมันได้ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์อย่างดี

มาร์กาเร็ตเล่าว่าในเหตุการณ์กันยาฯ วิปโยค 9/11 ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของสหรัฐอเมริกาซึ่งสังกัดอยู่กับทบวงการบินสหรัฐ (FAA) ต้องนำเครื่องบินจำนวน ๔,๕๐๐ ลำและผู้โดยสารจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ คน ลงบนพื้นดินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงแค่ชั่วโมงแรก พวกเขาสามารถนำเครื่องบินจำนวนกว่าร้อยละ ๗๕ ร่อนลงบนพื้นได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางความหวาดกลัวในเรื่องการก่อวินาศกรรมในเครื่องบินแต่ละลำ มันเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน ภายหลังมีความพยายามจะทำการบันทึกเพื่อถอดบทเรียน แต่จำต้องยกเลิกไปด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีใครสามารถบรรยายขั้นตอนหรือวิธีการทำงานในช่วงนั้นออกมาเป็นมาตรฐานได้ อาจเป็นเพราะความสามารถในการจัดการครั้งนั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยการร่วมมือ ความชำนาญ ความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์ซึ่งรวมตัวเป็นเครือข่ายที่ไว้เนื้อเชื่อใจและให้เกียรติกัน

เมื่อเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ผ่านไป เราทุกคนต้องกลับมาถามตัวเองว่า เราอยากจะถอดบทเรียนของวิกฤติครั้งนี้ออกมาเป็นกระดาษเปื้อนหมึก ข่าวเศร้าเคล้าน้ำตา หรือจะลงทุนกับการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คน?

สังคมแห่งน้ำใจ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554

ผมติดตามข่าวคราวน้ำท่วมนับตั้งแต่กรุงเก่าถึงกรุงเทพฯ อย่างรู้สึกหนักอกหนักใจ ยิ่งได้ยินเรื่องราวของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามกีดกันน้ำออกจากพื้นที่ของตัวเองจนเดือดร้อนชุมชนอื่นๆ ก็ยิ่งรู้สึกเศร้าใจ เพราะแทนที่เราจะช่วยกัน เรากลับกีดกัดแบ่งแยกกันยิ่งขึ้น แต่ก็ดีใจที่ได้เห็นว่าชุมชนหรือสังคมในหลายพื้นที่ “เลือก” ที่จะร่วมไม้ร่วมมือกันในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้

การที่ต้องเผชิญกับวิกฤตที่คิดไม่ถึงหรือจินตนาการไม่ออกว่ามันจะเกิดขึ้นกับเราได้ ทำให้หลาย ครอบครัวและองค์กรเกิดความระส่ำระสายว่าจะจัดการป้องกันหรือหนีจากน้ำท่วมอย่างไร เกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง เกิดทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง เพราะความเครียด ความวิตกกังวล และความไม่รู้ ทำให้การสร้างความร่วมมือนั้นท้าทายไม่น้อยสำหรับวิกฤตการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสร่วมจัดงาน World Youth Leadership Jam ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ ทำงานทางสังคมจากสิบกว่าประเทศได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน เป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง และเหนือความคาดหมายสำหรับผม ในขณะที่คิดว่าน่าจะทำอะไรได้บ้างสำหรับสังคมไทย ผมก็ได้มีโอกาสพูดคุยและเปลี่ยนกับเพื่อนคนหนึ่งที่มาจากประเทศญี่ปุ่น เธอชื่อ ยูกะ ไซออนจิ ทำงานให้กับมูลนิธิสันติภาพโกอิ (www.goipeace.or.jp) เธอได้บอกเล่าเรื่องราวของการฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่นจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว และกัมมันตภาพรังสี ราวกับฟ้าบันดาลให้ผมได้เรียนรู้สิ่งที่จะมีค่ายิ่ง

เธอบอกว่า ช่างน่าเศร้าที่ผู้คนเริ่มมองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่เลวร้าย ต้องหาทางหลีกหนีและปฏิเสธ แต่กลับลืมว่าวิถีชีวิตอันทันสมัยและสะดวกสบายของพวกเขาที่เป็นมาจวบจนทุกวันนี้ ล้วนพึ่งพานิวเคลียร์อยู่ แต่พอเกิดภัยพิบัติกลับพลิกมุมมองไปในทางรังเกียจเดียดฉันท์และเกรงกลัว แม้ว่าตัวเธอเองไม่ได้สนับสนุนการใช้นิวเคลียร์ แต่ก็มองว่าเรามีแนวโน้มที่จะตำหนิให้ร้ายอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเราเกิดความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือแม้แต่เพียงไม่สะดวกสบายตัว แม้ว่าสิ่งนั้นๆ อาจเคยมีบุญคุณกับชีวิตของเรา เรามักไม่ค่อยตั้งคำถามว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกชีวิตที่นำไปสู่ความทุกข์ที่จะตามมาอย่างไรบ้าง

ผมเองไม่ได้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์มาแต่ไหนแต่ไร เพราะเชื่อว่าสังคมควรจะมีทางเลือกในวิถีชีวิตที่แตกต่าง มากกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงแม้ในระดับไม่สูงมากก็ตาม แต่พอมาได้ยินมุมมองของยูกะทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าเราจะปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ได้ ไม่ใช่จากมุมมองของการรังเกียจ แต่มาจากความรัก การยอมรับและความเข้าใจ เธอไม่เพียงชักชวนให้เราแผ่เมตตาไปยังผู้ที่ประสบภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวเท่านั้น เธอยังชวนให้เราเห็นใจโรงปฏิกรณ์ปรมาณูที่ได้ทำหน้าที่เกื้อกูลสังคมญี่ปุ่นให้ก้าวหน้าพัฒนามาตลอดด้วย

ยูกะเล่าว่าหลังจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิที่สร้างความสูญเสียให้กับประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีโครงการฟื้นฟูประเทศมากมายที่มุ่งไปสู่การสร้างจิตสำนึกใหม่ในการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ทั้งกับชุมชนต่างๆ และกับธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่ข้ามพ้นความกลัว และการแบ่งแยก โครงการเหล่านี้ทำให้เธอเห็นพลังและความหวังของผู้คนที่เกิดขึ้น เมื่อได้หันหน้าเข้าหากันและแสวงหาปัญญาร่วมกัน

ยูกะได้ร่วมกับโครงการญี่ปุ่นทนทานต้านภัยพิบัติ (www.resilientjapan.org) จัดกิจกรรมฟื้นฟูพลัง ชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในช่วงอายุ ๒๐-๔๐ ปี จากกลุ่มผู้ประสบภัยที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่แผ่นดินไหวและสึนามิ กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานในพื้นที่ภัยพิบัติ และกลุ่มที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหมดจำนวน ๖๐ คน มาใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา ๓ วันในสถานที่ที่ห่างจากความกังวลและความวุ่นวายของเมืองใหญ่ เพื่อจะได้รู้สึกปลอดภัยและหยุดพักจากความเร่งรีบโกลาหล อันเป็นโอกาสของการทบทวนตัวเอง และแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้สึกและเรื่องราวที่สำคัญต่างๆ ทั้งที่เป็นเรื่องร้ายและเรื่องดีที่ได้เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตครั้งนั้น เธอได้จัดกิจกรรมในรูปแบบนี้มาแล้ว ๓ ครั้งและจะจัดอีก ๒ ครั้งภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่จำนวนทั้งหมด ๓๐๐ คนได้มีโอกาสรับและให้บทเรียนสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิต รวมถึงได้เชื่อมโยงความเข้าใจประเทศในภาพรวม และสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง

นอกจากมิตรภาพอันงดงามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แล้ว บทเรียนที่สำคัญจากกิจกรรมนี้ทำให้พวกเขาค้นพบว่า ผู้คนมักจะสาละวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ และสิ่งที่ “ต้องทำ” ตลอดเวลา จนไม่มีโอกาสได้ทบทวนเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง ไม่มีโอกาสได้ถอยหลังออกมาเพื่อมองภาพรวม และแสวงหาความร่วมมืออย่างเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ออกไป ยูกะบอกว่าเธอได้ประจักษ์ถึงการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของผู้คนที่มาเข้าโครงการนี้อย่างชัดเจน และเห็นความหวังบนใบหน้าแววตาของผู้คนอีกครั้งในการที่จะเริ่มชีวิตใหม่ที่ไปพ้นความกลัวและความเร่งรีบบีบคั้น พวกเขาได้เรียนรู้ว่า มันง่ายเหลือเกินที่จะพลัดตกลงไปในแบบแผนความคิดและพฤติกรรมแบบเก่าๆ

พื้นที่ของการหันหน้าเข้าหากันเช่นนี้นับว่ามีค่ามาก เพราะได้ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึกภายในให้กับผู้คน เกิดการเยียวยาและฟื้นพลังชีวิต และสร้างโครงการร่วมกันดีๆ ให้เกิดขึ้นมากมายในหมู่ชนคนรุ่นใหม่ที่มีไฟในการสร้างสรรค์สังคมของตัวเอง เช่น โครงการค่ายเด็ก และเยาวชนที่ประสบภัยในเมืองฟูกูชิมา โดยจัดให้เด็กๆ ได้มาเล่นและผ่อนคลายนอกพื้นที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างพลังชีวิตผ่านดนตรีให้กับคนรุ่นใหม่ เร็วๆ นี้ก็จะมีกิจกรรมทบทวน แลกเปลี่ยนสำหรับเยาวชนในเมืองมิยากิที่ถูกกระหน่ำด้วยสึนามิ รวมทั้งจัดอบรมให้กับคนที่สนใจที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้จัดกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูและสร้างสรรค์เหล่านี้ต่อไป

ยูกะกล่าวว่าแม้ว่าสิ่งที่ได้จัดไปจะเป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายในใจผู้คนนั้นใหญ่หลวง ซึ่งจะเป็นขุมพลังชีวิตและสติปัญญาในการสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงในระดับกว้างออกไปในครอบครัวและชุมชนของตัวเอง

เมื่อย้อนกลับมามองดูประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความเสียหายอย่างไม่สามารถจัดการควบคุม ธรรมชาติได้ ผมเริ่มเห็นโอกาสในการตั้งคำถามและเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อทบทวนชีวิต และทิศทางสู่อนาคตว่า สังคมไทยต้องการจะหันเหไปในทิศทางใด เราอยากจะพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไปเรื่อยๆ แล้วเพิ่มระบบจัดการและเทคโนโลยีควบคุมน้ำให้เข้มแข็งขึ้น หรืออยากจะอยู่ร่วมกันอย่างพอเพียงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงย้อนรอยคืนสู่วิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่เป็นมิตรกับทั้งน้ำและเพื่อนบ้าน สร้างเครือข่ายความร่วมมือในสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไปพ้นสีผิว สีเสื้อ หรือสีพรรค หรือเราจะกลายเป็นสังคมที่ไม่ต้องการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ คอยแต่จะควบคุมจัดการสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรานักต่อไป

มหาอุทกภัยสร้างจิตสำนึกใหม่



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2554

คอลัมน์จิตวิวัฒน์มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หรือจิตใหญ่ ผู้เขียนหลายท่านได้พูดถึงวิกฤตใหญ่ของมนุษยชาติหรือวิกฤตของโลกทั้งใบ บางท่านได้พูดถึงคำพยากรณ์ว่า โลกาวินาศที่จะเกิดขึ้นในปีนั้นปีนี้ ตามสถิติ ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดมากขึ้นและถี่ขึ้น เช่น พายุรุนแรง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน ในขณะที่บางที่บางเวลาก็แห้งแล้งและมีไฟป่าลุกลาม ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร โรคระบาด การขัดแย้งแย่งชิง สงคราม และการเสียชีวิตของคนจำนวนมาก

มหาอุทกภัย ๒๕๕๔ ได้ก่อความเสียหายทุกๆ ทาง และความทุกข์ยากแสนสาหัสแก่คนไทยจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน มวลความทุกข์มหึมาของคนทั้งชาติจะมาสั่นคลอนโลกทรรศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกเก่าๆ ที่หมักหมมมานาน

ทุกคนได้ตระหนักว่า อำนาจของธรรมชาติยิ่งใหญ่ที่สุด เกินอำนาจอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อำนาจการเมือง อำนาจเงิน อำนาจความรู้ หรือแม้อำนาจของเทวดา อำนาจเหล่านี้ดูจิ๊บจ๊อยไปเมื่อเทียบกับอำนาจของธรรมชาติ และไม่สามารถเอาชนะกฎของธรรมชาติได้

เราจึงควรเรียนรู้ให้เข้าใจธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ และปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ

ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ไม่มีอะไรอยู่โดดๆ แบบแยกส่วน

ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องนำไปสู่ความสมดุล

ความสมดุลคือความลงตัว ความสงบ ความไม่รุนแรง

ถ้าธรรมชาติเสียสมดุล ก็จะพยายามปรับไปสู่สมดุล การปรับไปหาสมดุลใหม่เกิดเป็นความรุนแรงขึ้น เช่น พายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อุทกภัย สงคราม

การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ

แต่ที่ผ่านมา เราเอาอย่างอื่นเป็นเป้าหมาย เช่น กำไรสูงสุด อำนาจสูงสุดของตน ของพรรคของพวก ของประเทศ ของกลุ่มประเทศ หรือแม้แต่เอาความรู้และทฤษฎีต่างๆ เป็นตัวตั้ง ที่ไม่ใช่การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เมื่อไม่เอาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นตัวตั้ง โลกก็ขาดสมดุล โลกที่ขาดสมดุลจึงรุนแรงและไม่ยั่งยืน นี่เป็นกฎของธรรมชาติที่ตรงไปตรงมาและเที่ยงตรงที่สุด

การที่มนุษย์เอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้ง ไม่เอาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นตัวตั้งก็เพราะมีจิตเล็ก ไม่เห็นทั้งหมด เห็นแบบแยกส่วน และเอาตัวเองเป็นตัวตั้งอย่างคับแคบ

จิตสำนึกใหม่คือจิตใหญ่ ที่เห็นว่ามนุษย์และธรรมชาติทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงควรอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

ศาสนาต่างๆ ล้วนสอนให้ลดความเห็นแก่ตัว ถ้ามีความเห็นแก่ตัวน้อย ก็เห็นแก่ทั้งหมดได้มากขึ้น แต่ในช่วง ๓๐๐ ปีที่ผ่านมา เพราะการค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์อันทรงอำนาจ มนุษย์เกิดอหังการว่าตัวมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ได้ทำการต่างๆ ที่รบกวนสมดุลของธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติเสียสมดุล ก็เกิดภัยพิบัติรุนแรงเหนือการควบคุมของมนุษย์

๓๐๐ ปีเป็นเวลานานพอที่จะกำหนดโลกทัศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกของมนุษย์หมดทั้งโลกให้อยู่ในโมหภูมิ หรือภูมิที่หลงไป หรือจะเรียกว่าอยู่ในความโง่เขลาหรืออวิชชาก็ได้ โมหภูมินี่หนาแน่นมาก จนไม่มีมนุษย์หรือครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะเก่งเพียงใด ที่สามารถสอนให้มนุษย์ออกมาจากภพภูมิแห่งอวิชชาได้

ธรรมชาติเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ธรรมชาติจะเข้ามาสอนมนุษย์ในสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถสอนกันเองได้

มหาภัยพิบัติทางธรรมชาติกวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะวัตถุสิ่งของต่างๆ เท่านั้น แต่กวาดล้างโลกทัศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกเก่าๆ ออกไปด้วย

ท่ามกลางหายนภัยอันยิ่งใหญ่ สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ที่มีต่อกัน

คลื่นน้ำใจ ใหญ่กว่าคลื่นน้ำท่วม

การร่วมทุกข์ การพยายามช่วยเหลือ ไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้ผู้คนมีกำลังใจ และเห็นว่าทุกข์เท่าใดก็พอทนได้ถ้าคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน จะเห็นได้ว่าการสื่อสารสาธารณะในช่วงนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่าโลกทัศน์ วิธีคิด จิตสำนึก เปลี่ยนไปจากเดิม อย่างน้อยก็ในช่วงนี้ กล่าวคือ พื้นที่ของการสื่อสารเต็มไปด้วยเรื่องความทุกข์และเรื่องน้ำใจที่ผู้คนมีต่อกัน ถ้าใครยังสื่อสารเพื่อตัวเองหรือเพื่อการเมืองของตัวเอง จะได้รับความรังเกียจ คนทั้งหมดเห็นคุณค่าของการที่เราเป็นสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน

การที่คิดถึงคนทั้งหมด การที่คิดถึงการไม่ทอดทิ้งกัน คือจิตใหญ่

การเห็นแก่เงิน การเห็นแก่อำนาจของตัว การเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่คือจิตเล็ก

ที่แล้วมา การเห็นแก่เงิน การเห็นแก่ยศฐาบรรดาศักดิ์และอำนาจของตัว การเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดสังคมที่คนไทยทอดทิ้งกัน ขาดความเป็นธรรม การแย่งชิงและทำลายธรรมชาติแวดล้อม ความขัดแย้ง ความรุนแรงประเภทต่างๆ รวมทั้งความรุนแรงทางการเมืองที่เพื่อนคนไทยต้องเสียชีวิตลงอย่างเอน็จอนาถ และปริ่มๆ จะเข้าไปสู่มิคสัญญีกลียุค

คนไทยควรจะเห็นกันว่า การมีจิตเล็กนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงเพียงใด

อุดมการณ์ทางการเมือง การแบ่งข้างแบ่งขั้ว ไม่ว่าจะมีเหตุผลมารองรับอย่างวิเศษเพียงใด ก็ยังเป็นจิตเล็ก ถ้าเทียบกับอุดมการณ์ที่ใหญ่กว่านั้น

อุดมการณ์ที่ใหญ่ที่สุด คือการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม

อุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจต่างๆ ที่ผ่านมา ถ้าไม่ถือการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นตัวตั้งแล้วไซร้ ล้วนนำไปสู่การเสียสมดุล ความไม่ยั่งยืน และความรุนแรง

หายนภัยต่างๆ ในโลกที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดการทำลายเหลือคณานับ แต่ขณะเดียวกัน จะมาเขย่าและสั่นคลอนมนุษยชาติให้ออกจากจิตสำนึกเดิมซึ่งเป็นจิตเล็ก ไปสู่การมีจิตสำนึกใหม่หรือการมีจิตใหญ่ ที่เข้าถึงความเป็นทั้งหมด ว่าทั้งหมดคือหนึ่งเดียวกัน (The Same Oneness) การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ

ระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ต้องปรับตัวใหม่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

เรื่องที่คนไทยควรเรียนรู้มาตั้งนานแล้ว แต่ได้มาเรียนรู้ใหญ่ในคราวนี้ คือเรื่องประโยชน์ของความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ถ้าอยู่แบบตัวใครตัวมันก็จะเผชิญกับภัยพิบัติรุนแรงได้ยาก แต่ถ้ามีการรวมตัวกัน ช่วยเหลือพึ่งพิงกัน ทำให้เผชิญภัยพิบัติได้ดีกว่า และฟื้นตัวได้ดีกว่า ผู้รู้ได้พยายามบอกเตือนมานานแล้วว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” คือคำตอบ ชุมชนคือระบบชีวิตร่วมกันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม เพราะความสมดุล วิถีชุมชนจึงมีความยั่งยืนมานับหมื่นปี

วิถีชีวิตชุมชนมาพังทลายลงเพราะอำนาจของอวิชชา ที่มาในรูปของอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจความรู้ที่ไม่รู้ (เรื่องวิถีชีวิตที่สมดุล) จึงเกิดสภาพการทอดทิ้งกัน ทั้งระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม เกิดภัยพิบัติและหายนภัยมากขึ้นๆ ทุกๆ ทางอย่างที่ปรากฏ อวิชชาทำลายโลกได้เห็นปานนี้

การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลต้องเริ่มที่ชุมชน

ชุมชนมีขนาดเล็กพอที่จะเกิดความถูกต้องได้ง่าย เซลล์เป็นหน่วยพื้นฐานของระบบร่างกายที่มีความซับซ้อนมากฉันใด ชุมชนก็เปรียบประดุจหน่วยพื้นฐานของสังคมที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน

ระบบที่ใหญ่และซับซ้อนจะมีความถูกต้องได้ ต่อเมื่อเกิดมาจากหน่วยเล็กที่มีความถูกต้อง
ร่างกายมนุษย์ซึ่งซับซ้อนสุดประมาณจึงเกิดมาจากเซลล์เซลล์เดียวที่มีความถูกต้อง

ไม่มีใครที่ไหนสามารถเสกความซับซ้อนขึ้นมาทันทีทันใด โดยไม่มีหน่วยพื้นฐานที่ถูกต้อง

สังคมต้องประกอบด้วยชุมชน ซึ่งเป็นระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ถักทอกันขึ้นมาเป็นลำดับ ไม่มีใครสามารถเสกประเทศไทยให้เป็นสังคมศานติสุขได้จากข้างบน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐบาลทหาร รัฐบาลพ่อค้า ล้วนทำไม่ได้ทั้งสิ้น ภัยพิบัติรุนแรงจะบอกคนไทยว่า ไม่มีรัฐบาลพรรคใดๆ จะมีน้ำยาพอที่จะแก้ปัญหาได้ ไม่คุ้มที่คนไทยจะไปฆ่ากันตายเพราะพรรคใดๆ หรือคนใดคนหนึ่ง เราต้องการจิตใหญ่กว่านั้น

จิตที่เห็นมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อจิตบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกัน จะเป็นอิสระ หลุดพ้นจากความบีบคั้นของความคับแคบในตัวเอง มีความสุขท่วมท้น ประสบความงามอันล้นเหลือ มีความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด เป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและศานติ

นี้คือวัตถุประสงค์ของคอลัมน์ “จิตวิวัฒน์” ในหนังสือพิมพ์มติชนที่มีมาตั้งแต่ต้น หวังว่าภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงจากมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ จะไม่ได้มีแต่ด้านทำลายเท่านั้น แต่มีด้านที่สร้างสรรค์ด้วย ความสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดคือสร้างสรรค์จิตสำนึกใหม่ อันจะทำให้เพื่อนคนไทยทั้งมวลมีความสวัสดี

Back to Top