กรกฎาคม 2008

สังคมปรนัยกับการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่


โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2551

การศึกษาในระบบโรงเรียนกำเนิดขึ้นควบคู่กันกับระบบอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตก เพราะเมื่อแรกเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมก็มีคนงานจำนวนมากที่ต้องมาทำงานในโรงงาน การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแตกต่างจากงานในภาคเกษตรกรรมเพราะคนงานต้องทำงานเต็มเวลาและไม่สามารถเลี้ยงดูลูกหลานได้ จึงจำเป็นต้องมีระบบการเลี้ยงดูและให้การศึกษาสำหรับบุตรหลานของคนงานเหล่านั้น

การศึกษาในระบบโรงเรียนที่ว่าจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการเตรียมลูกหลานคนงานเหล่านี้ให้พร้อมที่จะไปทำงานเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตเท่านั้น ระบบการจัดการโรงเรียนจึงไม่ต่างไปจากระบบการจัดการอุตสาหกรรม

เด็กนักเรียนเป็นเสมือนวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรม ถูกคัดเลือกด้วยเกณฑ์มาตรฐานที่เหมือนๆ กัน แบ่งการเรียนเป็นชั้นๆ ตามอายุที่เท่าๆ กัน ผ่านการเรียนการสอนที่เหมือนๆ กัน เพื่อจบออกมามีคุณภาพมาตรฐานเหมือนๆ กัน การวัดผลเน้นไปที่ความแตกต่างในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ เช่น ทำข้อสอบได้คะแนนดีกว่าคนอื่น

แต่ข้อสอบที่ทุกคนทำก็เป็นข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตรวจวัดในสิ่งๆ เดียวกันมากกว่าที่จะตรวจหาศักยภาพหรือความสามารถเฉพาะตัว

และเพื่อให้การประเมินผลเชิงปริมาณเป็นไปได้อย่างเที่ยงตรงและรัดกุมยิ่งขึ้น ข้อสอบก็ต้องเป็นข้อสอบแบบปรนัยด้วย

ฐานความคิดที่สำคัญของข้อสอบปรนัยก็คือ ความจริงและสิ่งที่ถูกต้องนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คำตอบสุดท้ายนั้นมีคนรู้อยู่แล้ว นักเรียนหรือผู้สอบไม่มีส่วนในการกำหนดว่าอะไรถูก อะไรผิด และก็ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ด้วย และเพียงแค่จดจำให้ได้ว่าคำตอบที่ถูกต้องที่มีอยู่ในตัวเลือกนั้นคืออะไร

เลือกแล้วก็รอให้มีคนมาบอกว่า “ถูกต้องแล้วคร้าบ...”

ระบบการศึกษาจึงไม่ต่างจากระบบอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตขนาดใหญ่ หรือ mass production โดยมีผู้สร้างความรู้จำนวนน้อย แต่มีผู้เสพหรือบริโภคความรู้เป็นจำนวนมาก คนส่วนใหญ่ถูกฝึกให้รอคอยที่จะบริโภคความรู้สำเร็จรูปมากกว่าที่จะมีส่วนร่วมในการผลิตความรู้ และความรู้ที่เหมาะกับการบริโภคแบบ mass consumption จึงเป็นความรู้ฉาบฉวยที่ถูกทำให้ง่ายและบริโภคได้โดยไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไรมากนัก

ซึ่งก็คือความรู้แบบ how to สำเร็จรูปที่เราเห็นแพร่หลายอยู่กลาดเกลื่อนบนแผงหนังสือทั่วไปนั่นเอง

วิธีคิดในระบบอุตสาหกรรมความรู้นี้จึงสร้างวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก

เราอาจเรียกสังคมลักษณะนี้ว่าสังคมปรนัย คือเป็นสังคมที่ผู้คนใช้ชีวิตเหมือนทำข้อสอบปรนัย ตัดสินใจผ่านตัวเลือกสำเร็จรูปที่ถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า บัตรเครดิต รวมไปถึงการงานและการใช้เวลาว่าง อย่างเช่น การใช้เวลาว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ก็เป็นแบบปรนัย ไม่ต้องใช้จินตนาการหรือความคิดอะไรมาก แค่เลือกระหว่างนอนอยู่บ้านดูทีวี หรือจะออกไปเดินห้าง

การเรียนการสอนแบบปรนัยจึงเป็นรากฐานสำคัญของการผลิตซ้ำอุดมการณ์บริโภคนิยมในสังคมอุตสาหกรรม
เพราะการเรียนแบบปรนัยสอนให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกโดยไม่ต้องมีส่วนร่วมกำหนด คำตอบที่ถูกหรือผิดนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วโดยที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิด ตีความ หรือตัดสินอะไร เราเป็นเพียงคนเกาะรั้วดูอยู่นอกสนามแบบปรนัย (Objective) โดยไม่ได้ร่วมเล่นด้วย

ในสังคมปรนัย คนส่วนใหญ่จึงทำหน้าที่เป็นเพียงคนดู ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือการละเล่น งานต่างๆ มีผู้บริหารจำนวนน้อย คิดงานให้คนจำนวนมากทำไปวันๆ โดยคนส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก

แม้แต่ในการละเล่นหรือสันทนาการ เราก็ไม่ต้องคิดและไม่ต้องลงมือทำ เราไม่ได้สนุกกับการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส หรือกอล์ฟ เราแค่สนุกกับการดูการแข่งขันก็พอ ไม่ว่าจะดูที่สนามหรือในทีวีที่มีคนเล่นเพียงไม่กี่คน แต่มีคนดูเป็นหมื่นเป็นแสน กีฬามีไว้ดูมากกว่ามีไว้เล่น หรือเรื่องอาหาร เราก็ไม่ใช้เวลากับการปรุงอาหาร แต่เราจะมีความสุขกับการดูรายการอาหารในโทรทัศน์ เราไม่สนใจจัดบ้านของเรา (หรือเราอาจไม่มีบ้านอยู่) แต่เรามีความสุขกับการอ่านหนังสือบ้านและสวนมากกว่า เป็นต้น

สังคมปรนัยจึงเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่ทำหน้าที่ในการเสพมากกว่าการสร้าง

ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราสังเกตได้โดยทั่วไป ถ้าเราเปรียบเทียบรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นอย่างเช่น ทีวีแชมเปี้ยน ซึ่งบ้านเราก็นำมาทำเป็นรายการแฟนพันธุ์แท้ เราจะเห็นว่ารายการทั้งสองแตกต่างกันอย่างสำคัญประการหนึ่งคือ รายการทีวีแชมเปี้ยนนั้น การแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นการประชันฝีมือในการสร้างหรือการผลิต เช่น แข่งขันทำอาหาร ตกแต่งต่อเติมบ้าน หรือประดิษย์ประดอยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ

ส่วนรายการแฟนพันธุ์แท้นั้นส่วนมากเป็นการแข่งกันเพื่อดูว่าใครเสพหรือบริโภคเก่งกว่ากัน เช่น รู้เรื่องดาราคนนี้ทุกอย่าง จำพระเครื่องหรือจตุคามได้ทุกรุ่น ร้องเพลง (ของคนอื่น) ได้ทุกเพลง จำรถจักรยานยนต์ได้ทุกรุ่น ดูหนังทุกเรื่องของดาราบางคน เป็นต้น

รายการอย่างหลังนี้ ใครเสพมาก บริโภคมากเป็นผู้ชนะ และการตอบถูกก็ไม่ใช่ผลผลิตหรือผลงานการสร้างอะไรของคุณ แค่จำมาเท่านั้น

เหมือนกับการสอบปรนัยที่เราไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเป็นของเรา ไม่ต้องตีความ และอาจารย์ก็ไม่สนใจว่าสิ่งที่เรียนที่สอนนั้นมีคุณค่าหรือความหมายสำหรับนักเรียนแต่ละคนอย่างไร เพราะการสอบปรนัยไม่ได้ประเมินว่าคุณมีความคิดเห็นหรือสร้างคำอธิบายของคุณเองได้หรือไม่ สนใจแต่เพียงว่าคุณรู้หรือไม่ว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร

ส่วนการสอบแบบอัตนัยนั้นก็ดูเหมือนใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากระบบการเรียนการสอนแล้ว ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างก็เป็นการสอบอัตนัยแบบปรนัย คือเพียงแค่จำเนื้อหามาบอกหรือเขียนซ้ำโดยไม่ต้องสนใจว่าผู้ตอบมีความคิดเห็นเป็นของตนเองหรือไม่

เรียกว่าจำให้ได้แล้วเอามาเขียนซ้ำใหม่ (re-description) โดยไม่มีการครุ่นคิดตรึกตรองหรือกลั่นกรองเป็นความคิดอ่านหรือความเห็นของตนเอง

เหมือนกินอาหารแล้วสำรอกออกมาโดยไม่มีการย่อย

ข้อจำกัดของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ทำให้มีความพยายามที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ก้าวพ้นไปจากระบบอุตสาหกรรมความรู้ แนวคิดหนึ่งที่มีความสำคัญคือ แนวคิดเรื่องการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่หรือ Transformative Learning ที่ได้รับอิทธพลจากนักคิดและนักปฏิบัติอย่างเช่น เปาโล แฟร์ (Paulo Freire), แจ็ค เมอซิโรว์ (Jack Mezirow) และนักจิตวิทยาอย่าง คาร์ล จุง (C. G. Jung)

การเรียนรู้แบบปรนัยนั้นมีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ล่วงหน้าแล้ว จึงเน้นการจดจำสาระข้อมูล หรือ Information และสอนให้คิดตาม ทำตามในสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าถูกต้อง จึงเป็นการสร้างให้คนเชื่องเพื่อที่จะออกไปรับใช้ระบบมากกว่าที่จะไปเปลี่ยนแปลงระบบ หรือเรียกว่าเน้นที่ Conformation

การเรียนเพียงเพื่อให้จดจำหรือมีข้อมูล (Information) จำนวนมากและให้คิดตามๆ กัน ทำตามที่ถูกกำหนดให้ทำ (Conformation) จะไม่สามารถนำไปสู่การค้นพบตนเองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง หรือ Transformation ได้

การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของวิธีคิดและจิตสำนึก ที่ทำให้การใช้ชีวิตและการจัดความสัมพันธ์กับสังคมและโลกแวดล้อมไม่เป็นไปอย่างฉาบฉวย

การเกิดขึ้นของทัศนะต่อชีวิตและจิตสำนึกใหม่ที่เข้าใจความจริงของโลกภายนอกและโลกแห่งชีวิตด้านในอย่างลุ่มลึกนี้ เป็นผลจากการมีประสบการณ์ตรงของผู้เรียนที่ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความจริงของชีวิต (ไม่ใช่ยืนเกาะรั้วมองดูชีวิตอยู่ห่างๆ) ทั้งยังต้องมีการใคร่ครวญตรึกตรองอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตจนเกิดการประจักษ์แจ้งในใจตนเองถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต (ไม่ใช่จำมาจากสิ่งที่คนอื่นคิดไว้)

นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมกระบวนการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่จึงไม่สามารถทำให้เป็นแบบปรนัยได้

ร่วมกันจุดเทียนสว่างกลางสายฝน



โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2551

ในกระแสข่าวสารจากสื่อทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ช่างเต็มไปด้วยความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ความก้าวร้าวรุนแรง การทะเลาะวิวาทและการต่อสู้กันทางความคิดความเห็น แบ่งฝ่ายกันอย่างไม่มีใครยอมใคร แต่ละฝ่ายต่างก็อ้างว่าฝ่ายตนมีความรัก รักชาติ รักแผ่นดิน รักสันติ รักความเป็นธรรม รักประชาชน แต่กิริยาอาการและถ้อยคำที่บอกรักนั้นหยาบคาย ให้ร้ายและร้อนแรงด้วยโทสะ โกรธ เกลียด และอหังการ

ใจของผู้เขียนเจ็บอยู่ลึกๆ เหตุไฉนคนไทยจึงไม่รักกัน

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ผู้เขียนได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างสังคมสุขภาวะที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นเวที “เติมหัวใจให้สังคม” จัดโดยเจ้าภาพ ๙ องค์กร ซึ่งทำงานก่อสานพลังทางสังคมอย่างเข้มแข็ง เพื่อลดความทุกข์ สร้างเสริมความสุขในกลุ่มเล็กๆ กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ

วันนั้นผู้เขียนได้พบโอเอซิสที่ชุ่มชื่นร่มเย็นกลางทะเลทราย เวทีเสวนามิได้ใหญ่โตอะไรนัก แต่บรรยากาศอบอวลด้วยความรัก ความปรารถนาดีในกลุ่มคนดีๆ ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๐ ขวบ จนถึง ๗๘ ปี มีการนำเสนอกรณีดีงามถึง ๑๐ เรื่อง ซึ่งสร้างความประทับใจอย่างยิ่งแก่ผู้เข้าประชุม นับตั้งแต่ ครูแอน ครูอาสาสมัครสอนศิลปะในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ครูถั่น จุลนวล จากบ้านหนองเสาธง จังหวัดสงขลา ที่สร้างตำบลสมานฉันท์ และเสนอกระบวนการคัดกรองคนดีในชุมชนเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรีของหมู่บ้าน

ผู้เขียนรู้สึกทึ่งมาก เมื่อนายกพิชัยแห่งหมู่บ้านห้วยดง จังหวัดพิจิตร ทำกระบวนการประกันราคาดอกรัก เพื่อให้คนในตำบลมีรายได้จากดงดอกรักอย่างพอเพียง งานขององค์กรพัฒนาหมู่บ้านโดยเยาวชน (อมย.) ที่ชุมชนอ่าวลึกน้อย วิธีการสร้างคนดีแทนคุณแผ่นดินของบริษัทเอเชียพรีซิชั่น ที่ทำให้คนงานกว่า ๖๐๐ คนมีความสุขและเห็นว่า “โรงงานเป็นมากกว่าที่ทำมาหากิน”

ผู้เขียนได้ฟังคุณอ้อม เทพธิดาสีขาวที่ทำงานรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์มาตั้งแต่โรงพยาบาลเริ่มต้นโครงการ เป็นการทำงานหนัก สู้งานด้วยรักและอดทนอย่างยิ่งยวด ผจญกับสภาพของผู้ป่วยที่สังคมรังเกียจ และตนเองก็ถูกรังเกียจจากผู้คนรอบข้างเช่นกัน ไม่มีสิ่งใดมาทำให้เธอท้อถอย

เมืองไทยมีแพทย์และพยาบาลดีๆ แบบคุณอ้อมอยู่มากมาย

ผู้เขียนได้เห็นการเปิดโอกาสให้คนที่สนใจทำภาพยนตร์สั้น มาสร้างและแบ่งปันผลงานแลกเปลี่ยนกันในเรื่องแผนที่ความดี ซึ่งนิตยสารไบโอสโคปได้ทำกิจกรรมเป็นผลสำเร็จ กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ได้ฟังผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทำงานช่วยเหลือ แบ่งปันอย่างจริงใจในโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งระยะสุดท้าย

น้องปุ๋ย เยาวชนจากกาฬสินธุ์ เล่าถึงการเรียนรู้จากครอบครัวและงานอาสาสมัครในชุมชน กรณีสุดท้ายคือโครงการของโรงเรียนชลบุรีสุขบท ที่สร้างกระบวนการเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนให้หยุดการฆ่าหมาจรจัด ด้วยกิจกรรมรักสัตว์ รักสังคม โครงการนี้มิใช่เกิดผลดีต่อชีวิตหมาเท่านั้น แต่นักเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาได้พัฒนาคุณธรรมของตนเอง โรงเรียนและวัดกลายเป็นศูนย์กลางของความรักและความรู้ เกิดคุณค่าทั้งแก่ชีวิตหมาและชีวิตคน

ตลอดเวลา ๓ ชั่วโมงครึ่ง ที่ผู้ร่วมเสวนาได้ดูวีดิทัศน์ ฟังเรื่องราวดีๆ อย่างมีความสุข รับประทานของว่าง ดื่มกาแฟ และได้รับความรู้จากนิทรรศการตามมุมต่างๆ นั้น คุณนิรมล เมธีสุวกุล (คุณนก) ทำหน้าที่พิธีกรอย่างเชี่ยวชาญ เสียสละ อดทน อดรับประทานขนม ไม่ได้เข้าห้องน้ำ เธอดำเนินรายการตั้งแต่ต้นจนจบภาคเช้า ด้วยวิธีการที่เป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส ปราศจากกิริยาที่ปรุงแต่ง ทำให้ทุกคนมีความสุข ผู้เขียนจึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ คุณนกทำงานด้วยรักในงานที่ทำ

ประเทศไทยยังมีคนดีอยู่มากมาย มีกิจกรรมดีๆ อย่างหลากหลายเต็มแผ่นดิน

มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจทำงานหนักอยู่เงียบๆ ต่อสู้อุปสรรคอย่างอดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ดังที่ครูแอนบอกว่า เป็น “การจุดเทียนกลางสายฝน”

แน่นอน คนที่จุดเทียนกลางสายฝนต้องพากเพียรอดทนต่อการจุดไฟต่อไส้เทียนที่เปียกชื้น มือที่ป้องลมย่อมร้อนเมื่อถูกเปลวเทียนกระทบและร่างกายก็เปียกปอน แต่เมื่อมีความรักและความหวัง เทียนก็สว่างขึ้นได้ และฝนก็หายไปในที่สุด

ความฉ้อฉลและการแข่งขันช่วงชิงกันในบ้านเมืองของเราขณะนี้ เปรียบเหมือนลมฝนที่ซัดกระหน่ำลงมาทุกแห่งหน เมื่อน้ำท่วม ไฟดับ ต้นไม้โค่นล้มขวางทางระเกะระกะ การจราจรติดขัด รถประจำทางไม่วิ่ง ฯลฯ คนที่เอาตัวรอดต่างก็รีบหลบเข้าบ้าน ปิดประตู ในขณะที่คนยากไร้เอาตัวไม่รอด ต้องยืนเปียกฝนอยู่ตามที่จอดรถประจำทาง หวาดกลัว หิว และสิ้นหวัง ชาวไร่ชาวนาขายผลิตผลได้ราคาต่ำ ขาดทุน เป็นหนี้สิน ซื้อหวยเพื่อซื้อความหวังที่ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะมีลาภลอยมาถึงมือ

ผู้คนหลายกลุ่มทั่วประเทศห่วงใยและอาสาคลายทุกข์เพื่อนร่วมชาติด้วยวิธีการที่สร้างความร่วมมือ เสริมพลังกันและกัน เสริมความสุขและความหวังให้แก่เพื่อนร่วมทุกข์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนแรกของบทความนี้

อะไรดลใจให้คนอาสามุ่งทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น คำตอบคือ ความรัก

ความรักคืออะไร

ความรักเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เป็นความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ประณีต ละเอียดอ่อน มีผู้ให้และมีผู้รับ เป็นความรักซึ่งกันและกัน

ความรักเกิดขึ้นในจิตใจ สะสม เพิ่มพูน และถ่ายทอดได้

ความรักแตกต่างจากอารมณ์ใคร่ ซึ่งเป็นความดึงดูดและความคลั่งไคล้ทางร่างกาย

ความรักเกิดจากหัวใจสู่หัวใจ เป็นความงามที่จับใจ และเป็นคุณสมบัติแท้จริงของจิตวิญญาณ

ความรักเกิดขึ้นเงียบๆ ในความคิด จิตสำนึก เริ่มจากความเมตตา อยากแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างจริงใจที่จะลดความทุกข์ของผู้อื่น

ความรักช่วยกระตุ้นพลังแรงแข็งขันที่จะบากบั่นทำงานอาสาสมัครโดยไม่หวังผลตอบแทน

ในความรักจึงมีความเสียสละ มีความเบิกบานแจ่มใส มีความสุขที่เกิดจากจิตใจที่นิ่งและสงบ

ความรักนั้นยิ่งลดความเห็นแก่ตัว ยิ่งเพิ่มความรักผู้อื่น

ความรักจึงเป็นต้นธารของคำหลายคำ เช่น ความสามัคคี สมานฉันท์ การเห็นคุณค่า ความกรุณา การให้อภัย

ก่อนจบบทความนี้ ผู้เขียนขอยกข้อความจากปกหลังของหนังสือ “เพื่อรักและประจักษ์ปัญญาธรรมชาติ” ซึ่งศิษย์รักของผู้เขียน (ศึกษิต เทพศึกษา) ได้เรียบเรียงจากความคิดและประสบการณ์ของ
โดโรธี แม็คเคลน ไว้ว่า

“แก่นของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายคือความรัก
วัฒนธรรมย่อยทั้งหลาย คือความรักที่แสดงออกมาในลักษณะเฉพาะตน
เพื่อเพิ่มความงามให้แก่องค์รวมแห่งชีวิต
เหมือนดอกไม้หลากชนิดหลากสีสัน
ที่ต่างเพิ่มความงามให้แก่สวนดอกไม้ของโลก”


ในอุทยานแห่งสยาม จะมีพฤกษานานาพรรณที่แตกต่างกันทั้งสี กลิ่น และรูป จึงไม่แปลกที่คนในสังคมแต่ละกลุ่มจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ถ้าเรารู้จักคิดทางบวก ก็จะเห็นความงามของความแตกต่างกันเหล่านั้น

ขอแต่เพียงมีความรัก ไม่หลงตนเอง ถ้าเป็นพวกฉันทุกอย่างถูกหมด ถ้าไม่ใช่พวกฉันทุกอย่างเลวหมด

ขอแต่เพียงเรามาเติมใจให้กัน ช่วยเหลือแบ่งปันให้แก่เพื่อนร่วมทุกข์

เพื่อแต่ละคนจะมีความสุขอย่างยั่งยืน

การชนะความตาย คือรู้ว่าไม่ตายจริง



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2551

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้ไปพูดเรื่อง “วิธีเอาชนะความตาย (How to Win Death)” ให้กับนักศึกษาปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศูนย์วัดศรีสุดาราม ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนตั้งชื่อหัวข้อการพูดคุยดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นทางกายที่เอามาใช้ในความหมายที่คนทั่วไปในสังคมเข้าใจกัน เพราะไม่มีใครเอาชนะความตายได้ตราบใดที่เรายังอยู่ในวัฏสงสาร จริงๆ แล้ว พูดรวมๆ ในทางวัฒนธรรม สาเหตุที่เราทั่วๆ ไปไม่ชอบความตายนั้น เป็นเพราะเราต่างยินดีปรีดากับการเกิด จนบางคนต้องเฉลิมฉลองการเกิดหรือครบรอบวันเกิดเพื่อแสดงความดีใจกัน เพราะฉะนั้น การเอาชนะความตายในที่นี้ จึงมีความหมายหลักๆ อยู่ที่ความกลัวการพลัดพรากจากกัน หรือความไม่ชอบ (ทั้งของผู้ที่กำลังจะตายไป กับของญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลัง) อันเป็นเรื่องของความเป็นจิตรู้ตัวตน (self) ของเราเอง (จิตรู้ หรือจิตสำนึก ที่ได้มาจากจิตไร้สำนึกอันสากลที่บริหารผ่านสมองและโดยสมอง) ซึ่งจริงๆ แล้ว จิตสำนึกแม้ว่าจะเป็นจิต แต่มันไม่ใช่ตัวตน (อัตตา) ของเราสักหน่อย

การเอาชนะความตายในที่นี้จึงเป็นเรื่องการตายไปจากภพภูมินี้ โลกสามมิติ (บวกหนึ่ง) ใบนี้ อันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันของจิตกับสมอง (interaction of mind or consciousness กับ body) หรือเรียกว่าวิญญาณขันธ์ในทางพุทธศาสนา ซึ่งสำหรับผู้เขียน จิตสำนึกเป็นจิต (ไร้สำนึก) ที่ผ่านการบริหารที่สมองชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง (unconsciousness as consciousness)

ในศาสนาที่อุบัติขึ้นมาจากลัทธิพระเวท ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่ไม่ใช่อารยัน (pre-vedic culture – เผ่าพันธุ์จากอัฟริกาตะวันออกที่ได้อพยพโยกย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ และสร้างอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ (Indus civilization) ขึ้นมาตั้งแต่ราวๆ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) กับชนเผ่าอารยันซึ่งเป็นเผ่าเร่ร่อนจากเอเชียกลางและนับถือพระเจ้าหลายองค์ (pantheism) เข้าด้วยกันเป็นลัทธิพระเวท อันเป็นต้นตอของศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ที่มีอภิปรัชญาหลากหลายเกิดขึ้นนับจากนั้นมา รวมทั้งอภิปรัชญาความรู้ที่ต่อมากลายเป็นฐานหนึ่งของพุทธศาสนาด้วย ในตอนนั้นจึงมีทฤษฎีมากมายที่อธิบายเรื่องของโลก ของจักรวาล และเรื่องของความจริงแท้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิต เรื่องของกรรม เรื่องของมายา หรือเรื่องของอนิจจตา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอภิปรัชญาของอินเดียโบราณที่อธิบายไว้แตกต่างกันไป ฉะนั้น เรื่องของจิตไร้สำนึกอันสากล [ซึ่งมีลักษณะที่นักฟิสิกส์ใหม่หลายคนคิดว่าเป็นสนามแควนตัม หรือซุปเปอร์แควนตัม (Bohm)] จึงมีทฤษฎีทางอภิปรัชญาโบราณของอินเดียเขียนไว้แล้วตั้งแต่หลายร้อยปีหรือพันๆ ปีก่อนคริสตกาล เช่น ทฤษฎีโยคะ (Yoga) และทฤษฎีสางขยะ (Sankhya) เป็นต้น ทฤษฎีทั้งสองที่ได้มาจากเส้นทางภายใน รวมกับอีกหลายทฤษฎี มีการกล่าวถึงจิตว่า จิตนั้นสร้างขึ้นไม่ได้ ทำลายก็ไม่ได้ จึงไม่มีวันตายไปจากจักรวาลนี้หรือจากจักรวาลไหนๆ ได้

ทฤษฎีสางขยะนี้น่าสนใจ เพราะหลายอย่างคล้ายๆ กับพุทธศาสนาสมัยแรกๆ และคล้ายๆ กับจักรวาลวิทยาใหม่ ทั้งๆ ที่มีมาก่อนพุทธกาล และก่อนอุปนิษัทด้วยซ้ำอย่างน้อยนับร้อยๆ ปี ครูคนแรกของพระพุทธเจ้า (ก่อนตรัสรู้) คือ อาฬารดาบส เป็นผู้ที่เชื่อและรู้จักปรัชญาสางขยะนี้ดี ได้พูดถึงที่มาของสรรพสิ่ง สรรพปรากฏการณ์ รวมทั้งที่มาของชีวิตรวมทั้งมนุษย์ว่า ทั้งหมดมาจากจิตสากล – ‘ปุรุษะ (purusa)’ กับ ‘ประกฤติ หรือ ปกติ (prakrti)’ อันแรกเป็นจิตหรือจิตวิญญาณสากล (soul or atta) ส่วนอันหลังเป็นจิตที่จะวิวัฒน์มาเป็นสรรพสิ่งของจักรวาลหรือเป็นอนุภาค (ธรรมธาตุ) ซึ่ง ‘ปุรุษะ’ กับ ‘ประกฤติ’ นี้ เมื่อพบกันจะสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกปรากฏการณ์ของจักรวาลขึ้นมา รวมทั้งสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ผ่าน ‘คุณ (gunas)’ ทั้งสาม

ทฤษฎีสางขยะนี้เป็นเรื่องของความรู้ที่ได้มาจากการปฏิบัติโยคะสมาธิ หรือเป็นญาณทัศนะล้วนๆ จึงไม่พูดถึงพระเจ้าเลย หรือจริงๆ แล้วไม่มีพระเจ้าด้วยซ้ำ (atheist) โดยในความเข้าใจของผู้เขียน ปรัชญานี้มีแต่เพียงปุรุษะหรือจิต (ที่เป็น) สากลหนึ่ง กับประกฤติอีกหนึ่งที่ปะทะกัน ประกฤติที่รวมกาย (๑๕) และจิตสำนึก (conscious mind = ๑) กับธาตุที่เป็นส่วนละเอียดยิ่งของธาตุหยาบทั้ง ๕ – ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ – (๕) รวมกับจิตสากลที่อยู่ในใจมนุษย์ทุกๆ คนที่เรียกจิตพุทธะหรือจิตหนึ่ง (buddi/atman = ๑) และบารมี-อวิชชา-ความดีงาม-ความไม่รู้ที่เลวร้ายที่สะสมจนกลายเป็นบุคลิกลักษณะของคนผู้นั้นๆ (ahangar = ๑) ซึ่งเมื่อรวมกับตัวประกฤติเองอีกหนึ่ง (๑) ทั้งหมดรวมเป็น ๒๔ ไว้ด้วยกัน ประกอบเป็นนาม-รูปของชีวิตมนุษย์หนึ่งคน เพราะฉะนั้นเมื่อมนุษย์หนึ่งคนตายไปจากโลก จึงไม่ได้ตายทางจิตไปทั้งหมด หากตายแต่เพียงแค่กาย (๑๕) – รวมธาตุหยาบทั้ง ๕ ในนั้น – กับจิตรู้อีกหนึ่ง (๑) ส่วนจิตที่เหลือของมนุษย์ผู้นั้น (ยกเว้นปุรุษะและประกฤติใหญ่เดิมที่ไม่ได้มีวิวัฒนาการ (โดยทฤษฎี) ใดๆ เลย) ไม่ได้ตายจริง แต่เวียนว่ายตายเกิดต่อไป

น่าสนใจที่ธาตุละเอียดอย่างยิ่ง (subtle elements) ซึ่งเป็นที่มาของดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุที่หยาบๆ ทั้งหมด เกิดมาตรงกันกับคุณสมบัติย่อยๆ ของอนุภาค เช่น สี หรือ รส ฯลฯ (color or taste) ของฟิสิกส์ใหม่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรืออนุภาคที่ประกอบเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งที่หยาบและละเอียดเหล่านั้น จะเป็นความรู้ที่รู้กันมาตั้งแต่หลายพันปีก่อนแล้ว โดยได้มาด้วยการทำสมาธิตามที่ปรัชญาสางขยะบอก ผู้เขียนจึงได้บอกว่าทฤษฎีนี้มีส่วนที่เหมือนกับจักรวาลวิทยาใหม่และฟิสิกส์ใหม่อย่างไม่น่าเชื่อหลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ในขณะเดียวกัน พุทธศาสนายังสอนในเรื่องของกรรม และการเกิดใหม่ด้วยแรงกรรมที่คนผู้นั้น กระทำไว้ในอดีตรวมทั้งในชาติภพก่อน พุทธศาสนาสอนให้เชื่อในเรื่องการระลึกชาติ ซึ่งเป็นทั้งด้านของกายภาพกับด้านของจิตว่าเป็นไปได้ ดังที่องค์ดาไล ลามะกล่าวไว้ว่า “การระลึกชาติ...เป็นส่วนหนึ่งของที่มาของมนุษย์ เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสามารถของ ‘กระแสธารของจิต’ (วิญญาณโสตะ หรือสัมวัติกะวิญญาณ) ที่จะคงสภาพของความรู้ทั้งในด้านของกายภาพและจิตภาพเอาไว้ได้ ซึ่งมีสาเหตุสัมพันธ์กับหลักปฏิจจสมุปบาทและกฎธรรมชาติว่าด้วยเหตุที่ก่อผล” (คำนำของหนังสือ The Case for Reincarnation)

การตายของสัตว์โลกหรือมนุษย์นั้น อาจแยกได้เป็นสองประเภท คือ ตายไปเพราะหมดอายุขัย (proptosis) หรือป่วยตาย เกิดอุบัติเหตุ ในภาวะปกติ การตายของมนุษย์ส่วนใหญ่มากๆ จะเป็นการตายไปตามอายุขัยของปัจเจกแต่ละคน มีการตายร่วมกันเป็นหมู่น้อยหรือน้อยมาก แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ เช่น ระหว่างมีสงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว พายุร้าย สึนามิ หรือโลกร้อนจนแผ่นดินกลายเป็นทะเลทรายที่ไร้ทั้งน้ำและพืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือกระทั่งอุกกาบาตวิ่งมาชนโลกที่ล้วนอาจจะเป็นไปได้ทั้งนั้น ในภาวะเช่นนั้น การตายร่วมกันเป็นหมู่ หรือกระทั่งเป็นหมู่บ้าน หรือเมือง หรือทั้งโลกย่อมเป็นไปได้ ตามเหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างบนนั้น ทำให้การตายเพราะอายุขัยของแต่ละคนกลายเป็นเรื่องเล็กไป

ผู้เขียนเป็นแพทย์ แถมเป็นพยาธิแพทย์ [พยา-ธิ เป็นคนละคำกับ พะ-ยาด ที่หมายถึง หนอนพะ-ยาดต่างๆ โดยพยาธิวิทยามาจากคำว่า pathology ที่แปลว่า การศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของโรคทั้งหลายทั้งทางกาย (physical) และทางหน้าที่ (function)] จึงมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิทยาศาสตร์ของคนตายจากโรคนั้นๆ นอกจากนี้ ในช่วง ๗ – ๘ ปีมานี้ ผู้เขียนยังมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย รวมทั้งมะเร็งหรืออัมพาตอัมพฤกษ์จำนวนมากในสถานพยาบาลที่เป็นประหนึ่งฮอสปีซ [hospice - สถานพยาบาลที่ไม่ยื้อความตาย คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รักษาด้วยการประคับประคอง (palliative)] และให้การดูแลทางจิตและจิตวิญญาณกับศาสนา เพื่อให้บางคนที่พอจะพูดกันได้บ้างไม่กลัวตาย ให้รู้จักและเข้าใจชีวิตที่แยกจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้ ซึ่งการพูด วิธีพูด กับท่าทางของผู้พูดไม่ใช่ของง่ายเลย เพราะแพทย์และพยาบาลล้วนเรียนมาแต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ทางกาย จึงมักไม่เชื่อในเรื่องของจิตและจิตวิญญาณ แพทย์เองแม้จะเรียนจิตวิทยามาบ้างก็เป็นเรื่องของโรคจิต ที่สำคัญ ผู้พูดไม่ใช่พระ จึงต้องทำให้ผู้ป่วยไว้ใจและเชื่อว่าแพทย์เองก็ไม่กลัวตายด้วย และการที่ผู้เขียนพอมีประสบการณ์การดูแลเรื่องทางจิตใจให้กับคนแก่มากๆ หรือดูแลคนเป็นโรคที่เกิดจากความชรามานานพอสมควร เห็นคนแก่ คนป่วย และตายไปมาก (หลายคนตายไปต่อหน้าต่อตา) พอจะสรุปได้ดังนี้ (ซึ่งนักวัตถุนิยมมักไม่รู้)

๑. คนแก่มากๆ (เช่น ๘๕ ปีขึ้นไป) ไม่ว่ามีโรคหรือไม่มีโรคมักไม่กลัวตายเลย

๒. ผู้ป่วยแทบทุกคน โดยมากที่เป็นผู้หญิง พอใจมากกับการพูดแสดงความรักความห่วงใยของบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน โดยเฉพาะการกอดหรือสัมผัสทางกายอย่างเข้าใจและเต็มใจของแพทย์ บางครั้งการร้องด้วยความเจ็บปวดหรือความขมขื่นถึงกับหายไปเลย

๓. คนแก่จำนวนไม่น้อยมักจะหลงๆ ลืมๆ หรือเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือบางคนอยู่ในสภาพที่เรียกว่าโคม่า ซึ่งแพทย์ทั่วไปมักเชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้เรื่องแล้ว จะกลัวตายหรือไม่กลัวตาย หากคิดตามที่เรียนมา ย่อมไม่มีใครรู้ แต่ผู้เขียนเชื่อโดยหลักฐานวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางส่วนว่า ผู้ป่วยเหล่านั้นรู้ และช่วยให้เข้าใจชีวิตได้หากพยายามจริงๆ ด้วยการติดต่อทางจิต


๔. ผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง อายุยังไม่เกิน ๖๐ ปี หรือเป็นมะเร็ง มักกลัวตาย (ผู้เขียนสังเกตเอาเองโดยไม่ได้อ้างอิงการวิจัยว่า มีอัตราเร่งของการเป็นมะเร็งทวีสูงขึ้นมากในปัจจุบัน และผู้ป่วยมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน) ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเท่าที่เห็นจะทรมานอย่างที่สุด ทั้งๆ ที่กลัวตาย แต่จะกลัวเจ็บทรมานมากกว่า จึงต้องการตายเร็วๆ

๕. ผู้เขียนเชื่อว่า สำหรับบ้านเรา การดูแลผู้ป่วยที่แก่มากๆ หรือใกล้ตายไว้ที่บ้านอาจดีที่สุด ถ้าเมืองไทยยังไม่มีฮอสปีซซึ่งจะช่วยได้มากในประเด็นทางจิตวิญญาณและการไม่ยื้อผู้ป่วยจากความตาย แต่หากมีฮอสปีซจะดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่จะจากไปโดยไม่ห่วงหน้าห่วงหลัง เพราะการดูแลทางจิตวิญญาณของผู้ป่วยเป็นทั้งหน้าที่และจิตใจของฮอสปีซอยู่แล้ว


เรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แม้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและทุกคนรู้ดีว่าจะต้องเกิดกับตัวเองไม่วันใดวันหนึ่งโดยไม่มีทางหลีกหนี แต่กระนั้นวัฒนธรรมของเรา (โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก) ก็พยายามทำให้เราไม่นึกถึงมัน ซึ่งเป็นการสอนให้เราทำผิดธรรมชาติ เลยไปถึงเอาชนะธรรมชาติ หรือยื้อแย่งกับธรรมชาติ และเมื่อเอาชนะไม่ได้แน่ๆ ก็จงลืมมันเสีย

เพราะฉะนั้น แทนที่จะลืมนึกถึงความตายไปเลย ตรงกันข้าม โรงเรียนในทุกระดับควรสอนให้คิดถึงความตายให้มากและบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความเคยชินกับการนึกถึงความตายทุกๆ วันหรือบ่อยกว่านั้น จะยิ่งทำให้เราคุ้นเคยกับมันจนไม่กลัวหรือเลิกกลัวมัน เพราะรู้ว่าธรรมชาติต้องเป็นอย่างนั้น ชีวิต และสรรพสิ่งต้องเป็นอย่างนั้น หนีไม่พ้น ถ้าหากมีเกิดย่อมต้องมีตายอย่างแน่นอน เพราะสาเหตุของการตายที่แท้จริงคือการเกิดขึ้นมานั่นเอง ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเราต้องตายแน่ๆ แล้วเราจะไปกลัวสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ กันทำไม

กาลครั้งหนึ่งของความยุติธรรม



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2551

-๑-


กาลครั้งหนึ่ง ผู้คนได้รับการเชื้อเชิญเข้ามาในมหาสภา เพื่อร่างธรรมนูญในการจัดระเบียบโครงสร้างของสังคมร่วมกัน

ผู้คนเหล่านี้ มีทั้งหญิง ชาย เด็ก คนแก่ ศาสนิกชน นักกีฬา นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร ปราชญ์ชาวบ้าน

มหาสภาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ มีระเบียบอยู่ว่า หลังจากร่างธรรมนูญเสร็จสิ้น ผู้ที่ร่วมร่างธรรมนูญจะต้องถึงแก่อายุขัยพร้อมกัน และต้องไปเกิดใหม่ในสังคมที่อยู่ภายใต้ธรรมนูญที่ร่วมกันร่างขึ้นมา โดยไม่ทราบได้ว่า ตนเองจะไปเกิดเป็นใคร

เขาหรือเธอเหล่านั้นจะเกิดไปเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคนผิวขาว ผิวเหลือง ผิวสี ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดในครอบครัวร่ำรวยหรือยากจนก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู หรือไร้ศาสนา ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคนพิการ วิกลจริต หรือปรกติ ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคน สัตว์ หรือพืช ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นโฮโมหรือเฮเทโรเซ็กชวลก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นหมอ พยาบาล ผู้ป่วย ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคนไทย หรือพม่า ลาว เขมร ที่ลี้ภัยมาอยู่เมืองไทย ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน คนทำรัฐประหาร กลุ่มประท้วง ก็ไม่อาจรู้ได้

คำถามก็คือ – ธรรมนูญสังคมที่ผู้คนกลุ่มนี้จะร่วมกันร่างมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

-๒-


กาลครั้งหนึ่ง จอห์น รอลส์ (ค.ศ. ๑๙๒๑ – ๒๐๐๒) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และนักปรัชญาชาวอเมริกัน ได้เสนอแนวคิดที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในแวดวงปรัชญาการเมืองแบบเสรีแนวคิดหนึ่ง นั่นคือ “ความยุติธรรมในฐานะความเป็นธรรม” ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน ๒ ประการ
๑. ทุกคนย่อมได้รับสิทธิและเสรีภาพในกรอบที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ปกป้องคุณค่าแห่งความเป็นธรรมไว้
๒. ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข ๒ ประการ คือ หนึ่ง ขึ้นกับตำแหน่งหน้าที่การงาน ทั้งนี้ ทุกคนต้องมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงตำแหน่งหน้าที่การงานนั้น และสอง ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในสังคมนั้น

โดยนัยยะนี้ การละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนย่อมกระทำมิได้ และการกระจายรายได้ต้องเน้นประโยชน์ของคนยากคนจนหรือคนเล็กคนน้อยให้มากที่สุด

-๓-


กาลครั้งหนึ่ง นักปรัชญาสำนักต่างๆ พยายามนำเสนอนิยามความหมายของความยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมเชิงกระจาย หรือความยุติธรรมในฐานะความเป็นธรรม เน้นที่ผลลัพธ์โดยพิจารณาจากประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคม

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมเชิงกระบวนการ เน้นที่กระบวนการได้มาซึ่งกฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ใช้วิธีไกล่เกลี่ยระหว่างคู่กรณีเมื่อเกิดความขัดแย้ง

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมแบบแก้แค้นทดแทนผู้ถูกละเมิด ด้วยการยอมรับว่าการลงโทษผู้กระทำผิดนั้นชอบธรรมแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการจำกัดอิสรภาพหรือประหารชีวิตด้วยวิธีต่างๆ

ฯลฯ

-๔-


กาลครั้งหนึ่ง แอร์นส์ แฟร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวิส ผู้โดดเด่นจากงานวิจัยที่หลอมรวมองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ประสาทวิทยา และจิตวิทยาเข้าไว้ด้วยกัน เคยกล่าวว่า ความยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ

กาลครั้งหนึ่ง ซาราห์ บรอสนัน นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ได้ยืนยันงานของแอร์นส์ แฟร์ด้วยการทดลองฝึกลิงหน้าขาว ๒ กลุ่ม ซึ่งลิงกลุ่มหนึ่งจะได้รับรางวัลเมื่อทำแบบทดสอบได้ดี แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับรางวัลทุกครั้งแม้จะทำแบบทดสอบดีบ้างไม่ดีบ้างหรือไม่ได้ทำด้วยซ้ำ เมื่อลิงอีกกลุ่มมองเห็นความไม่ยุติธรรมดังกล่าวก็ปฏิเสธที่จะทำแบบทดสอบหลังจากนั้นทันที

กาลครั้งหนึ่ง ลิงยังรู้จักความยุติธรรม

-๕-


กาลครั้งหนึ่ง ในโลกที่มีลิงรู้จักความยุติธรรม และมีผู้ชำนาญการต่างๆ นิยามความยุติธรรม

ในปี ค.ศ. ๑๙๗๓ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ ๓๗ ของสหรัฐอเมริกา สั่งให้ไล่อัยการพิเศษ อาร์คิบาล ค็อกซ์ ที่กำลังสืบสวนคดีวอเทอร์เกต ซึ่งเกี่ยวพันกับการกระทำผิดของประธานาธิบดี หัวหน้าอัยการและรองหัวหน้าอัยการปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งอันไม่ชอบธรรมนั้น และประท้วงด้วยการลาออก อัยการอาวุโสที่เหลืออยู่และสยบยอมต่อประธานาธิบดีเป็นผู้ไล่ค็อกซ์ออก

หลังจากนั้นไม่ถึงปี ริชาร์ด นิกสัน ต้องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี ด้วยหลักฐานแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ๓๖ ครั้ง และถูกศาลสูงบังคับให้มอบเทปบันทึกเสียงในทำเนียบรัฐบาลออกมา เขาต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเพื่อหนีการดำเนินคดีในชั้นศาล และได้รับการจดจำในฐานะประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงเสื่อมเสียมากที่สุด แทนที่จะเป็นวีรบุรุษสันติภาพในฐานะผู้ยุติสงครามเย็นกับรัสเซีย เชื่อมสัมพันธไมตรีกับจีน และยุติสงครามเวียดนามอันยืดเยื้อยาวนาน

กาลครั้งหนึ่ง ประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องนี้ไว้ วิกิพีเดียก็เขียนไว้

-X-


กาลครั้งหนึ่ง

ไม่ว่าวงล้อของกาลเวลาจะหมุนไปอีกกี่กัปกัลป์

ไม่ว่าเราจะเกิดใหม่หรือไม่เกิดเป็นใครหรืออะไร

ไม่ว่าโลกยุคหน้าจะเป็นยุคอวกาศเหมือนสตาร์เทร็กหรือสตาร์วอรส์หรือไม่ หรือกลับคืนสู่ยุคหินที่ผู้คนไม่ใส่เสื้อผ้าหรือไม่

ไม่ว่าจะมีกี่สำนัก กี่นิยาม มีศาล อัยการ ตำรวจ ทนาย นักกฎหมาย บอกเราว่าความยุติธรรมเป็นอย่างไร - ทั้งที่แม้แต่ลิงก็ยังรู้

กาลครั้งหนึ่ง เรายังถามกันอยู่ว่า - ต้องใช้ความรู้ จิตและใจแบบไหนจึงจะสร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม?

Back to Top