เมษายน 2012

การปรองดองและการนิรโทษกรรม กับความจริง ความดีและความงาม


โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 เมษายน 2555


การอ้างเหตุผลที่ขาดคุณธรรมคือความไร้สติและความไร้ปัญญา

การปรองดองและการนิรโทษกรรมที่ขาดความจริง ความดี และความงาม คือความบ้าคลั่ง

ผู้เขียนขึ้นต้นบทความด้วยสองข้อความนี้ ก็เพื่อเรียกความสนใจและกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญทบทวนข้อความทั้งสอง แล้วกลับมาพิจารณาดูว่า สิ่งที่นักการเมืองส่วนหนึ่งและพรรคพวก กำลังเล่นกันอยู่อย่างจริงจังคร่ำเคร่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียโดยรวมของประชาชนส่วนใหญ่และโอกาสของประเทศหรือไม่

เกมที่นักการเมืองส่วนหนึ่งกำลังเล่นกันอยู่นั้น เป็นเกมที่เรียกว่าผู้ชนะกินรวบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศมาก เพราะประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งถูกผนวกกินรวบไปด้วย นักการเมืองเหล่านี้ เขาเป็นพ่อค้าแม่ค้าการเมือง เขาลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงแบบค้ากำไรเกินควรกับสินค้าที่เรียกว่าประชาธิปไตย

ลองพิจารณาดูให้ดีๆ ว่าเกมที่พวกเขากำลังเล่นกันอยู่นี้ ผู้ชนะหรือผู้ได้ประโยชน์คือนักการเมืองและพรรคพวกจำนวนไม่กี่ร้อยกี่พันคนใช่หรือไม่ แต่ผู้แพ้และผู้เสียประโยชน์คือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศใช่หรือเปล่า

ผมเขียนบทความนี้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่รักและห่วงใยประเทศ เป็นผู้ที่ได้รับความสูญเสียทางด้านจิตใจและความรู้สึกกับวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้น แต่ไม่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ว่าสมัยไหน เอาเงินภาษีของประชาชนมาเยียวยาให้ เพราะมันคิดเป็นตัวเงินไม่ได้ และมันไม่ยุติธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เสียภาษีที่ไม่ได้ก่อความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น

ความสูญเสียทางจิตใจและความรู้สึกของผู้เขียนจะได้รับการเยียวยาก็ต่อเมื่อนักการเมืองและพรรคพวกบางคนมีจิตสำนึกทางการเมืองที่ใหญ่ขึ้น สามารถก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง สู่ประโยชน์สุขที่แท้จริงของประชาชนโดยรวม แล้วนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนและโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนของประเทศ

นักการเมืองที่ดีมีคุณธรรม ต้องเป็นผู้ที่มองกว้าง มองไกล มองเห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง มองเห็นความจริง ความดี และความงามเป็นองค์รวม ไม่แยกออกจากกัน และไม่แยกออกจากสิ่งอื่น เช่นไม่แยกออกจากกฏหมายปรองดอง และกฏหมายนิรโทษกรรม

ความจริง ความดี และความงาม เป็นสามสิ่งที่สัมพันธ์เชื่อมโยง ไม่สามารถ และจึงไม่สมควรที่จะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด

หรือพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในความจริงย่อมมีความดีและความงาม ในความดีย่อมมีความงามและความจริง และในความงามย่อมมีความจริงและความดี

ในทำนองเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม ความไม่จริงย่อมมีความไม่ดีและความไม่งามอยู่

ความปรองดองที่แท้จริง เกิดจากภายในของบุคคลที่มีจิตใจที่ดีงาม มีสติ และมีปัญญารู้เท่าทันปรากฏการณ์ (ความจริง) ที่เกิดขึ้น จึงอ่อนโยนและนุ่มนวลต่อผู้อื่นและสรรพสิ่ง ความปรองดองไม่ได้เกิดจากกฏหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับภายนอก ที่ออกมาลบล้างการกระทำ (ความจริง) ที่ไม่ดี ไม่งาม การปรองดองจึงไม่ควรเกิดจากการบังคับไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

การให้อภัย การมีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ดีที่งาม หากการกระทำดังกล่าวจะส่งผลในทางที่ดีที่งามต่อผู้ให้และต่อผู้รับ และต้องไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อครอบครัวและญาติของผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ พิการ หรือสูญเสียชีวิต และที่สำคัญไม่ส่งผลเสียหายต่อสังคมโดยรวมและประเทศชาติ ไม่สร้างตัวอย่างที่ไม่ดีไม่งามให้กับสังคม

ให้อภัย (ด้วยใจเมตตา) แต่ไม่นิรโทษกรรม (ด้วยกฏหมาย) กับนิรโทษกรรมแต่ไม่ให้อภัย จะเลือกแบบไหนจึงจะส่งผลที่พึงประสงค์ต่อส่วนรวมมากกว่า

การปรองดองเป็นสิ่งที่ดีงามหากเกิดจากจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์

ส่วนการนิรโทษกรรมนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ดีงาม หรือไม่ดีงามก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะนิรโทษกรรมให้ใคร มากน้อยแค่ไหน ในการกระทำใด ในบริบทใด เพื่อประโยชน์ของใคร และใครเป็นผู้ให้ ให้ด้วยวิธีการใด เพื่อจุดประสงค์ใด

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า การปรองดองและการนิรโทษกรรมที่พยายามจะทำกันนั้น เกิดจากจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์หรือไม่ ส่งผลกระทบทางลบ หรือละเมิดสิทธิต่อครอบครัวและญาติผู้สูญเสียหรือเปล่า ล่วงละเมิดสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมหรือไม่ ส่งผลเสียหายต่อสังคมโดยรวมและประเทศชาติหรือไม่ ลดทอนความจริง ความดี ความงามให้เหลือแค่ความถูกผิดทางกฏหมาย แล้วลบล้างความถูกผิดทางกฏหมายด้วยการออกกฏหมายปรองดองและนิรโทษกรรมหรือเปล่า

และคำถามสุดท้ายที่ต้องใคร่ครวญเป็นพิเศษก็คือ การปรองดองและการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะนำไปสู่ความสุขสงบภายในสังคมไทย หรือสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
นำคำตอบทั้งหมดมาพิจารณาในแง่คุณธรรมจริยธรรมอีกครั้งหนึ่งว่าควรทำหรือไม่ หากพิจารณาอย่างมีสติและปัญญาแล้วว่าควรทำ เพราะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ก็มาหาวิธีและกระบวนการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนโดยรวมและประเทศชาติ

สิ่งที่ผมเป็นห่วงค่อนข้างมากก็คือ การสร้างวาทกรรม สร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตน แล้วสร้างวาทกรรมให้ร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยการเลือกเหตุการณ์และตัดตอนเฉพาะที่ฝ่ายตนได้เปรียบ แล้วสรุปกลับไปภาพใหญ่ทั้งหมดตามที่ตนต้องการโดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้ทักษะทางการสื่อสาร ทำให้ข้ออ้างกลายเป็นเหตุผลและความชอบธรรมของฝ่ายตน เช่น

คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง (ครั้งนี้) คือคนที่ไม่รู้จักการให้อภัย และไม่มีเมตตาธรรม

การต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมือง สมควรได้รับการนิรโทษกรรม (โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบหาความจริง)

การนิรโทษกรรมครั้งนี้ ทำให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบหาความจริงว่าใครถูกใครผิด เพราะถ้ามีฝ่ายหนึ่งถูก ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งผิด)

ประเด็นที่น่าสนใจคือ

คนทำถูก ทำสิ่งที่ดีที่งาม จำเป็นต้องมีการนิรโทษกรรมให้หรือไม่

คนทำผิด ทำไม่ดี โดยมีเจตนา ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ควรได้รับการให้อภัย และนิรโทษกรรมหรือเปล่า

คนทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่มีเจตนา และยอมรับว่าผิด สมควรได้รับการให้อภัยและนิรโทษกรรมหรือไม่

คนทำผิด ทำไม่ดีไม่งาม โดยเจตนา แต่ไม่ยอมรับผิด ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ สมควรได้รับการให้อภัยและนิรโทษกรรมหรือเปล่า

ใครอยากตอบ ยกมือขึ้น ใครอยากปรองดอง นั่งให้เรียบร้อย ใครอยากให้มีนิรโทษกรรม กระโดดให้ตัวลอย

ใคร (นักการเมืองคนไหน) รู้ตัวว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม ยกมือขึ้น สองมือเลยนะครับ จะได้เห็นชัดๆ

เพื่อนครูมหิดล



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๕

“จริงๆ แล้วพวกหนูใจง่ายมากเลยค่ะ”

นักศึกษาสาวเอ่ยขึ้นกลางที่ประชุมเสวนาสัญจร “เพื่อนครูมหิดล: ความสุขและความหมายในชั้นเรียน” ที่ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๓๐ คน มีทั้งอาจารย์และนักศึกษา ต่างมาร่วมกันค้นหาวิธีนำความสุข ความหมาย ชีวิตชีวาในชั้นเรียนกลับคืนมา ทั้งหมดนั่งกับพื้นล้อมวงแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ จนกระทั่งมาถึงเรื่องการเข้าไปคอนเน็กต์ (connect หรือผูกพันเชื่อมโยง) กับนักศึกษา

อาจารย์บางคนพูดเป็นนัยว่า ไม่รู้ว่าทำไมต้องสนิทสนมกับนักศึกษา ตั้งใจสอนเนื้อหาก็น่าจะพอแล้ว ในขณะที่อีกหลายคนบอกว่าก็อยากจะสนิทสนมอยู่หรอก แต่ไม่รู้ต้องทำตัวอย่างไร บ้างก็ว่าเด็กๆ ไปเร็วเหลือเกิน จะพูดภาษาเขาบ้างก็พูดผิดพูดถูก โดนแซวจนไม่กล้าเข้าไปใกล้

นักศึกษาที่ร่วมประชุมอยู่ด้วยจึงเล่าให้ฟังว่าเรื่องที่อาจารย์จะมีคอนเน็กชั่นกับนักศึกษานั้น เด็กๆ เห็นเป็นอย่างไร

“พวกหนูน่ะ อยากจะคอนเน็กต์กับอาจารย์มากๆ อยู่แล้วค่ะ ขอแค่อาจารย์พยายามนิดเดียว หรือแค่ให้พวกหนูเห็นว่าอาจารย์ได้พยายามที่จะคอนเน็กต์กับพวกหนู หนูก็ไปอยู่ข้างอาจารย์แล้วค่ะ”

นักศึกษายังเล่าถึงตัวอย่างชั้นเรียนที่พวกเธอประทับใจ เธอเล่าว่าชั้นเรียนของอาจารย์ท่านนี้ นักศึกษารู้สึกคอนเน็กต์กับอาจารย์มาก พวกเธอรักและเกรงใจอาจารย์อย่างยิ่ง มาเรียนก็รีบมาให้ตรงเวลา เวลาทำงานก็พยายามทำอย่างเต็มที่ “เพราะว่าไม่อยากให้อาจารย์เสียใจ”

“แล้วอาจารย์เขาสอนยังไงล่ะ?”
อาจารย์ท่านหนึ่งถามด้วยความอยากรู้ คาดว่าคงเริ่มเห็นประโยชน์ อยากให้นักศึกษารัก เกรงใจ และตั้งใจทำงานส่งบ้าง

นักศึกษาเล่าว่า อาจารย์ผู้สอนพาทำกิจกรรมเช็คอิน (check in) ทุกครั้งก่อนเริ่มเรียน โดยเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่แต่ละคน ทั้งลูกศิษย์และอาจารย์ได้เช็คสภาวะ บอกความรู้สึก ความพร้อม (หรือไม่พร้อม) เป็นช่วงเวลาที่ได้บอก และวางเรื่องที่อยู่ในใจไว้ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตื่นเต้นดีใจหรือทุกข์กังวลใจ เพื่อให้พร้อมที่จะเรียนมากขึ้น และเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้สภาวะของกันและกัน หากใครหลับ ใครง่วง อาจารย์ก็พอจะรู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีใครบ้างที่อาจจะต้องตามไปดูแลกันหลังเลิกคลาส

“แล้วจะสอนทันเหรอคะ นี่ขนาดก้มหน้าก้มตาสอน เร่งขนาดนี้แล้วครูยังสอนไม่ค่อยจะทันเลย” อาจารย์อีกท่านแสดงความกังวล คงได้ลองคิดว่าหากเอาไปใช้ในชั้นเรียนตนเองจะเป็นอย่างไร

นักศึกษาเล่าว่าอาจารย์สั่งงานให้นักศึกษาไปอ่าน ไปเตรียมนอกชั้นเรียน ทั้งก่อนและหลังเรียน ซึ่งนักศึกษาก็ตั้งใจทำกันมาก “เพราะพวกหนูก็รู้สึกคอนเน็กต์กับวิชาแล้วค่ะ”

ห้องประชุมนิ่งกันไปพักหนึ่ง ราวกับเพิ่งเห็นความเชื่อมโยงที่สำคัญอะไรบางอย่าง

เป็นไปได้ว่าบรรดาอาจารย์ได้เริ่มเห็นความสำคัญของความเข้าใจ ของความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างผู้สอนและกับนักศึกษา หากผู้สอนมีคอนเน็กชั่นกับนักศึกษาแล้วก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะให้พวกเขาเกิดความอยากรู้อยากเรียน

อาจารย์หลายคนก็แบ่งปันเทคนิควิธีที่ตนเองใช้ในการเข้าไปรู้จักและเชื่อมโยงกับนักศึกษา อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์จับคู่กันสอน คนหนึ่งเดินสอนรอบห้อง อีกคนหนึ่งนั่งอยู่ด้านหน้าเครื่องฉายแผ่นทึบ คอยช่วยบันทึกประเด็นสำคัญ พวกเขาพยายามท่องชื่อเล่นคู่กับภาพถ่ายใบหน้าของนักศึกษา จนกระทั่งสามารถจดจำนักศึกษาร่วมสามร้อยคนได้เกือบหมด อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาใช้วิธีให้นักศึกษาเขียนคำถามท้ายคาบเรียน สอนแต่ละครั้งก็ได้กระดาษเกือบสามร้อยใบกลับไปอ่าน แม้จะใช้เวลามาก แต่อาจารย์ก็ว่าคุ้มเกินคุ้ม อีกทั้งเวลาอ่านก็เกิดความสุขด้วย

ที่ประชุมยังได้แบ่งปันกันอีกในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการจัดการในกรณีนักศึกษามาสาย นักศึกษาคุยกันในห้องเรียน นักศึกษาหลับ อาจารย์มีภาระงานสอนมาก มีเนื้อหาที่จะต้องสอนให้ครบเป็นจำนวนมาก

จากตอนเริ่มต้น อาจารย์ที่เข้าร่วมประชุมมักจะถามหาเทคนิควิธีการสอนว่าจะต้อง “ทำ” อะไรบ้าง ต้องพูด ต้องดุ หรือต้องแสดงกริยาท่าทางอย่างไร แต่เมื่อใช้เวลาพูดคุยกันลงลึก ต่างก็เริ่มตระหนักกันมากขึ้นว่าการจะทำให้เกิดความสุขและความหมายในชั้นเรียนนั้น คงจะต้องไม่ใช่แค่พิจารณาหรือตั้งคำถาม “อย่างไร” (คือ ต้องใช้แนวทาง เทคนิควิธีการสอนอย่างไร) ไม่ใช่แค่คำถาม “อะไร” (คือ ต้องสอนเรื่องอะไร วิชาอะไร) หรือแม้กระทั่งคำถาม “ทำไม” (คือ วัตถุประสงค์ในการสอน หรือเราจะสอนไปสู่จุดมุ่งหมายอะไร) แต่คำถามที่สำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ คำถามว่า “ใคร” หมายถึง ตัวตนของครู หรือครูใช้ตัวตนแบบไหนในการสอน

ตรงกับที่ พาร์คเกอร์ พาล์มเมอร์ นักการศึกษาผู้เป็นที่กล่าวถึงในแวดวงจิตวิวัฒน์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Courage to Teach

เขาเตือนให้ครูทั้งหลายได้ตระหนักว่า ตัวตนของเราผู้สอนก็มีอิทธิพลและเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อหาวิชา เทคนิควิธีการ หรือเป้าหมายของการเรียน ตัวตนของครูนี้เองที่จะสัมผัสเชื่อมโยงถึงตัวนักศึกษา นำพาเขาให้เข้าถึงวิชา และการเรียนที่มีความสุขและความหมาย

ในหนังสือเล่มดังกล่าว พาล์มเมอร์ยังได้พูดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนแบ่งปันในสถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้มี “การพูดคุยที่ดีเกี่ยวกับการสอนที่ดี”

และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่า “กลุ่มเพื่อนครูมหิดล” ทำได้ค่อนข้างดี

กลุ่มเพื่อนครูมหิดล เป็นความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆ สิบกว่าคนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับชีวิตการเรียนการสอน ชีวิตความเป็นครู จิตวิญญาณความเป็นครู ว่าความสุขและความหมายในชั้นเรียนส่วนใหญ่ทำไมดูเหมือนลดน้อยถอยลง ทำไมครูยิ่งสอนยิ่งโมโห ยิ่งสอนยิ่งผิดหวัง ยิ่งสอนยิ่งหมดแรง ซึ่งอันที่จริงคือเหนื่อยกันทั้งคนสอนและคนเรียน หมดแรงกันทั้งสองฝ่าย ทำอย่างไรการเรียนการสอนจึงจะเป็นการส่งเสริมการเติบโตด้านความรู้ อารมณ์ และจิตวิญญาณ ของทั้งผู้เรียนผู้สอน

พวกเขาได้พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ สองสัปดาห์ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษยชาติมีอยู่ จากการอ่านการทำวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงแบ่งปันตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน

นำไปสู่การจัดกิจกรรม “เยี่ยมชั้นเรียน” ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับชั้นเรียนระดับอุดมศึกษา นอกคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ เกิดการจัดการความรู้และทำให้เกิดคู่มือแนวทางการเยี่ยมชั้นเรียน ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีและเกิดการเรียนรู้ทั้งอาจารย์ผู้สอนและเพื่อนครูที่เข้าเยี่ยมชม แรกๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยก็เขินๆ เกร็งๆ ไม่ค่อยกล้าเปิดชั้นเรียนให้เพื่อนเยี่ยมชม แต่เมื่อได้ไปลองเยี่ยมเพื่อนที่เปิดแล้วก็เห็นว่าเกิดประโยชน์ จึงมีการทะยอยเปิดชั้นเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้ระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ

กิจกรรมเยี่ยมชั้นเรียนอาจเรียกว่าเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด เพราะอาจารย์ที่เข้าร่วมทั้งเจ้าของชั้นเรียนและเพื่อนผู้มาเยี่ยมต่างกลับไปเปลี่ยนแปลง พัฒนากระบวนการเรียนการสอนของตนเองทุกคน

เกิดการเปิดวิชาใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรม เช่น วิชา Transformative Learning ของคณะเทคนิคการแพทย์ ที่กลุ่มอาจารย์ร่วมกันเปิดเพื่อจะได้รู้จักลูกศิษย์ ได้สอนทักษะชีวิต พากันข้ามข้อจำกัดเดิมๆ แม้มีหน่วยกิตเดียว แต่ก็ใช้เวลาเรียนทั้งวันได้ แถมสอนโดยคณะอาจารย์จำนวนมากที่มาร่วมเรียนรู้กับนักศึกษา เรียนไปพัฒนาวิชาของตนเองไปด้วย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนและผู้สอนเชื่อมโยงและสัมพันธ์ถึงกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนสนับสนุนการเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ในกันและกัน สุดท้ายอาจารย์ต่างบอกว่าตนเองได้เรียนรู้จากนักศึกษามากมาย

ด้านนักศึกษาก็ได้เรียนรู้เครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่แค่อยู่รอดในสังคมมหาวิทยาลัยที่พวกเขาต้องปรับตัวอย่างหนัก ไม่ว่าจะเรื่องเรียน เรื่องการอยู่หอ รวมไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ของวัยหนุ่มสาว แต่พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมและอยู่อย่างมีความหมาย ได้ใช้ตนเองเป็นเครื่องมือเรียนรู้ และได้ลองใช้ความรู้ที่เรียนประยุกต์กับชีวิตจริงของตนเอง หลายปัญหาก็คลี่คลาย ความสัมพันธ์ของหลายคู่หลายคนก็ดีขึ้น เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าเป็นไปได้หลายประการ

การประชุมของกลุ่มเพื่อนครูฯ ก็ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิดชุมชนปฏิบัติและบนฐานของความจริง กลุ่มได้ร่วมกันปฏิบัติสิ่งที่กลุ่มเชื่อและนำเสนออย่างต่อเนื่องจริงจัง ไม่แบ่งงานและชีวิตอย่างแยกขาดออกจากกัน เป้าหมาย แนวทาง และกิจกรรมของกลุ่มก็มาจากการเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดทุกคน (ซึ่งต้องชื่นชมทางคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาที่เข้าใจและสนับสนุนได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องอิสระในการดำเนินงาน) การประชุมของกลุ่มเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนบอกว่าเป็นที่ประชุมไม่กี่แห่งที่มีความสุขทั้งก่อนมา ระหว่างประชุม และหลังประชุม ประชุมเสร็จทุกครั้งก็ได้รับพลัง ได้รับแรงบันดาลใจกลับไปทำงาน กลับไปใช้ชีวิตและดูแลคนรอบข้างต่อ เป็นที่ประชุมที่อยากจะมาร่วมอีก

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ว่า “เราจะนำความสุขและความหมายกลับมาสู่ชั้นเรียน” ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ความยิ่งใหญ่ที่มิใช่ในแง่ปริมาณ หรือความรวดเร็ว แต่ยิ่งใหญ่ที่ต่างคนต่างได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่ร่วมประคับประคองช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เริ่มจากการสัมผัสกับแรงบันดาลใจข้างใน สู่การเชื่อมโยง (connect) ชีวิตกับการสอน เชื่อมร้อยตนเองกับศิษย์ และสร้างชั้นเรียนที่เป็น “การศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ” ดังปรากฏใน ธรรมจักรแห่งจิตวิวัฒน์ ซึ่งอาจารย์ประเวศ ได้เขียนไว้ในหนังสือ การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ: สู่สุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศ ตั้งแต่ครั้งเริ่มก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ เมื่อแปดปีมาแล้ว

ศาสนาของผู้สิ้นศรัทธา



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 เมษายน 2555

“เราไม่ใช่คนที่จะเรียกได้ว่านับถือศาสนานะ”

เพื่อนคนหนึ่งของผมพูดด้วยใบหน้าเรียบเฉยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเขา ผมถามเขาว่าแล้วเขาเอาอะไรเป็นที่พึ่ง เขาตอบว่าไม่แน่ใจและถามกลับมาว่า อะไรคือ “ที่พึ่ง” ซึ่งคำตอบที่หลุดจากปากผมไปก็คือ “เครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ”

แน่นอนว่าเขาไม่มี และไม่เห็นความจำเป็นจะต้องมีพันธนาการอันรกรุงรัง ซึ่งเป็นผลมาจากมรดกทางวัฒนธรรมของการเป็นมนุษย์ที่เกิดและเติบโตขึ้นบนผืนแผ่นดินที่ถูกเรียกว่า “ประเทศไทย”

ณดนัย นักธุรกิจหนุ่มวัยสี่สิบเศษ เป็นเจนเอ็กซ์ จบการศึกษาจากเมืองนอก ชีวิตครอบครัวเริ่มนิ่ง ลูกเริ่มโตอยู่ในวัยกำลังซน ธุรกิจหรืองานประจำเริ่มลงตัว มีบ้านมีรถ เริ่มมีอิสระทางการเงินพอที่จะหอบครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศได้ปีละครั้งสองครั้ง เวลาที่เคยโปะให้กับการเลี้ยงลูกก็เริ่มน้อยลง พอมีเวลาไปออกรอบฟื้นฝีมือกอล์ฟได้บ้าง เรียกว่าปัจจัยทางโลกของเขามีพร้อมมูล เขาควรจะมีความสุข แต่เขากลับรู้สึกโหยหาอะไรบางอย่าง อาการอย่างนี้ผมอยากจะเรียกอย่างดัดจริตว่า ณดนัย ขาดพร่องเรื่อง “มิติทางจิตวิญญาณ”

เคน วิลเบอร์ พูดเรื่อง “เส้นแนว” ของการ​พัฒนาทางด้านจิตวิญญาณของคนเราว่าต้องมีให้สมดุลกัน ซึ่งคล้ายกับงานด้านพหุปัญญาของการ์ดเนอร์​ ขงจื่อเองก็เน้นการเรียนรู้หลายด้าน เรียกว่าเป็นบัณฑิตต้องไม่ใช่เก่งแต่ในตำรา ต้องรู้จักและช่ำชองในศิลปศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ทั้งหลาย แต่เพื่อนผมคนนี้ดูจะขาดมิติทาง “จิตวิวัฒน์” เพราะเมื่อสนทนากันครั้งใดก็จะมีคำถามในเชิงปรัญชา คุณค่า หรือจริยธรรมว่า “คนเราเกิดมาทำไม” “โลกหน้ามีจริงไหม” หรือไม่ก็ “โลกนี้ความดีไม่มีอยู่จริง ขึ้นอยู่กับมุมมองของใคร” แต่เมื่อสนทนากันไปมาก็เห็นว่า ที่เขาได้ข้อสรุปอย่างนั้น (หรือยังวนเวียนอยู่กับคำถามเหล่านั้น) ก็เป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตที่ค่อนข้างจะโหดร้าย และผิดหวังเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ความขุ่นข้องหมองใจนี่เองที่เป็นที่มาของคำถามที่คนทั่วไปผู้ซึ่งใช้ชีวิตแบบหลับใหลไม่เคยถามกัน

ชีวิตของคนอย่าง ณดนัย กำลังบอกอะไรกับพวกเราบางอย่างเกี่ยวกับพลวัตของสังคมไทยในแง่มุมทางจิตวิญญาณหรือไม่ ถ้าหากเหลียวไปมองอันดับหนังสือขายดีตามร้านหนังสือ เราคงจะเห็นภาพของความ “ขาดพร่อง” บางอย่าง ซึ่งส่งผลให้ชั้นแผ่นเทคโทนิคของความศรัทธาร่วม กำลังแตกออกและไหลเลื่อนไปอย่างไร้ทิศทาง

เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นนานแล้วในประเทศตะวันตก เร็วๆ นี้ มีหนังสือออกใหม่ของ Alain De Botton ชื่อว่า Religion for Atheists ซึ่งผมขอแปลเป็นไทยว่า ศาสนาสำหรับผู้สิ้นศรัทธา แล้วกัน อลัน กล่าวในเชิงตัดพ้อกึ่งเสียดสี ว่าทุกวันนี้สายใยของความเป็นชุมชนในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะเมืองใหญ่ ได้หายเหือดจนหมดสิ้น แม้กระทั่งการเริ่มสนทนากับคนแปลกหน้าในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ และผู้คนถูกจัดให้คบหาสมาคมกันอยู่ใน “ชนเผ่ายุคใหม่” ก็คือบริษัท สถาบัน องค์กร ที่ตนสังกัดอยู่ จนกลายเป็นเรื่องแปลกที่ใครสักคนจะคบเพื่อนใหม่เมื่ออายุพ้นวัยสามสิบไปแล้ว เขาสันนิษฐานว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนรุ่นใหม่ตัดเรื่องพิธีกรรมทางศาสนาออกไปจากชีวิต ไม่เข้าวัด ไม่ไปโบสถ์ โอกาสที่จะคบหาสมาคมกันอย่างลึกซึ้งในลักษณะ “ถือนิสัย” มีน้อย เราจึงคบเพื่อนวงแคบเข้าทุกที ในขณะเดียวกัน หัวข้อในการสนทนาก็ถูกจำกัดให้ลอยเท้งอยู่บนเรื่องสัพเพเหระ “ที่เราคิดว่าเพื่อนอยากฟัง” ต่อเมื่อการสนทนานั้นลงลึกลงสู่เรื่องความกังวลและความกลัวที่ฝังลึกภายใน เรากลับกระถดหนีด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่เราจะรู้สึกขาดพร่องในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์อยู่เกือบตลอดเวลา

หรือมนุษย์ยุคหลังสมัยใหม่จะ [ถูกสาป] ให้ทนทุกข์ทรมานอยู่กับความขาดพร่องของความสัมพันธ์ ดีกว่าจะยินยอมสูญเสียความสามารถที่จะดำรงอยู่ในความไม่หยั่งลงในความเชื่อความเห็นใด

คนยุคหลังสมัยใหม่ผู้ไม่เชื่อและมีความสงสัยเป็นอาวุธ มักจะหยามเหยียดผู้ที่เชื่อถือและศรัทธาในศาสนาว่าเป็นผู้ที่ถูกครอบงำ เป็นพวกไม่มีอิสระทางความคิด งมงาย เต่าล้านปี มีปัญหาชีวิต เข้าสังคมไม่ได้ ฯลฯ นักเขียนหญิงซึ่งมีชื่อเสีย[ง]เป็นที่รู้จักของสังคมไทยคนหนึ่ง ก็เกาะกระแสนี้ด้วยการหยิบสถาบันศาสนามาบริภาษด้วยผรุสวาจาและโจมตีพระสงฆ์ชื่อดังออกสื่อ และพยายามชี้ให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องน่าขันเพียงใดที่สังคมไทยในปัจจุบันยังคงเชื่อในเรื่องที่เธอเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล

ส่วนนักวิชาการไทยสายรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และปรัชญาศาสนาวัชรยานบางคน ไปไกลกว่านั้น เพราะกำลังร่วมกันสร้างวาทกรรมว่าพุทธธรรมสายเถรวาทในประเทศไทย ถูกครอบงำด้วยอำนาจรัฐมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จึงไม่อาจจะเป็นที่พึ่งพาอันบริสุทธิ์ให้กับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพราะสอนให้คนสยบยอมกับอำนาจ เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมของสังคม ส่วนการเข้าวัดทำบุญทำทานก็ถูกทำให้เป็นการตลาด วัดร่ำรวยในขณะที่ชาวบ้านจนลง ส่วน “พระไตรปิฎก” นั้นก็ถูก [ตีความ] เข้าข้างฝ่ายผู้มีอำนาจ แถมยังโบราณ และไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ บางท่านไปไกลถึงกับเสนอทางออกให้ยกเลิกสถาบันปกครองสงฆ์ให้หมดไปจากเมืองไทย*

ถ้อยคำของนักวิชาการ นักปรัชญา เหล่านี้ฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ถ้าถามว่าแล้วเขากำลังจะนำพาพวกเราไปสู่อะไร เป็นเรื่องที่แต่ละท่านต้องพิจารณาดูกันให้ดี

กลับมาดูท่าทีของ อลัน ซึ่งน่ารักกว่า เขาบอกว่าแทนที่เราจะไปมีท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์ หรือไปสร้างวาทกรรมอะไรมาต่อต้านศาสนาให้เมื่อยตุ้ม เราควรจะไปเรียนรู้กับสถาบันศาสนาว่าได้ยังประโยชน์อะไรให้กับสังคมบ้าง และทำได้อย่างไรต่างหาก ยกตัวอย่างความสำเร็จของศาสนาในการสร้างสังฆะหรือชุมชนนั้น ไม่มีองค์กรใดทำได้ดีเท่าองค์กรศาสนา (ลองดูตัวอย่างของพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน หรือหมู่บ้านพลัมที่ฝรั่งเศส) หรือไม่ว่าจะเป็นด้านความสัมพันธ์ของเพื่อนมนุษย์ ความเมตตา กรุณา ความโอบอ้อมอารี ศาสนาก็ทำได้ดี มันเป็นเรื่องหัวเราะไม่ออก เพราะในขณะที่สังคมตะวันตกเน้นเรื่องการไม่ก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ผลที่ติดตามมาก็คือคนของเขาต่างต้องอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว และอ้างว้าง โดยเฉพาะเมื่อสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่พึงมีร่วมกันของครอบครัวได้ถูกตัดรากถอนโคนออกไป ความเป็น “ครอบครัว” จึงพร่าเลือนไม่มีน้ำหนักเหมือนในอดีต (ลองชมภาพยนตร์เรื่อง Shame (2011) แล้วจะทราบว่าผมกำลังหมายถึงอะไร)

กลับมาที่ ณดนัย เพื่อนของผมคนนี้ เมื่อได้ฟังว่าเขาไม่เชื่ออะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุณความดีหรืออะไร เอะใจว่าเขามีลูกวัยกำลังน่ารักอยู่สองคน ผมจึงลองถามว่า

“แล้วพาลูกไปวัด หรือไหว้เจ้าตามประเพณีจีนอยู่ไหม”

เขาบอกว่าพาลูกเข้าวัดอยู่บ้าง ไหว้เจ้าก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีความหมายอะไร เป็นแค่พาไปให้รู้จักว่ามีแบบนี้อยู่ ผมนึกถึงเพื่อนญี่ปุ่นที่พูดจาทำนองนี้เหมือนกัน เพราะวัดกลายเป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพียงแค่นั้น ไม่มีอะไรที่เป็นคำสอนหรือพระธรรมที่จะต้องเล่าเรียนมาปฏิบัติ

เพราะไม่อยากเสียเวลาจึงยิงเข้าแสกหน้า

“แล้วจะส่งต่อคุณค่าอะไรให้กับลูก”

เขาอึ้งไปเล็กน้อย ก่อนจะตอบว่า “ก็ไม่เห็นต้องส่งต่ออะไร แค่เราอยู่ด้วยกัน”

“งั้นก็ส่งผ่านความรักล่ะสิ” ผมพยายามตีความให้

“ไม่อยากจะเรียกอย่างนั้น...เรียกว่าเป็นประสบการณ์ร่วมดีกว่า” เขาตอบ

ครานี้เป็นผมบ้างที่เป็นฝ่ายอึ้ง




* เสวนาซีรีย์ คลายปมจีวร ตอน "ไตรปิฎก+พุทธศาสนา ยารักษาอาการป่วยครอบจักรวาลสังคมไทย" วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

Back to Top