การปรองดองและการนิรโทษกรรม กับความจริง ความดีและความงาม


โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 เมษายน 2555


การอ้างเหตุผลที่ขาดคุณธรรมคือความไร้สติและความไร้ปัญญา

การปรองดองและการนิรโทษกรรมที่ขาดความจริง ความดี และความงาม คือความบ้าคลั่ง

ผู้เขียนขึ้นต้นบทความด้วยสองข้อความนี้ ก็เพื่อเรียกความสนใจและกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญทบทวนข้อความทั้งสอง แล้วกลับมาพิจารณาดูว่า สิ่งที่นักการเมืองส่วนหนึ่งและพรรคพวก กำลังเล่นกันอยู่อย่างจริงจังคร่ำเคร่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียโดยรวมของประชาชนส่วนใหญ่และโอกาสของประเทศหรือไม่

เกมที่นักการเมืองส่วนหนึ่งกำลังเล่นกันอยู่นั้น เป็นเกมที่เรียกว่าผู้ชนะกินรวบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศมาก เพราะประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งถูกผนวกกินรวบไปด้วย นักการเมืองเหล่านี้ เขาเป็นพ่อค้าแม่ค้าการเมือง เขาลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงแบบค้ากำไรเกินควรกับสินค้าที่เรียกว่าประชาธิปไตย

ลองพิจารณาดูให้ดีๆ ว่าเกมที่พวกเขากำลังเล่นกันอยู่นี้ ผู้ชนะหรือผู้ได้ประโยชน์คือนักการเมืองและพรรคพวกจำนวนไม่กี่ร้อยกี่พันคนใช่หรือไม่ แต่ผู้แพ้และผู้เสียประโยชน์คือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศใช่หรือเปล่า

ผมเขียนบทความนี้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่รักและห่วงใยประเทศ เป็นผู้ที่ได้รับความสูญเสียทางด้านจิตใจและความรู้สึกกับวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้น แต่ไม่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ว่าสมัยไหน เอาเงินภาษีของประชาชนมาเยียวยาให้ เพราะมันคิดเป็นตัวเงินไม่ได้ และมันไม่ยุติธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เสียภาษีที่ไม่ได้ก่อความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น

ความสูญเสียทางจิตใจและความรู้สึกของผู้เขียนจะได้รับการเยียวยาก็ต่อเมื่อนักการเมืองและพรรคพวกบางคนมีจิตสำนึกทางการเมืองที่ใหญ่ขึ้น สามารถก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง สู่ประโยชน์สุขที่แท้จริงของประชาชนโดยรวม แล้วนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนและโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนของประเทศ

นักการเมืองที่ดีมีคุณธรรม ต้องเป็นผู้ที่มองกว้าง มองไกล มองเห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง มองเห็นความจริง ความดี และความงามเป็นองค์รวม ไม่แยกออกจากกัน และไม่แยกออกจากสิ่งอื่น เช่นไม่แยกออกจากกฏหมายปรองดอง และกฏหมายนิรโทษกรรม

ความจริง ความดี และความงาม เป็นสามสิ่งที่สัมพันธ์เชื่อมโยง ไม่สามารถ และจึงไม่สมควรที่จะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด

หรือพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในความจริงย่อมมีความดีและความงาม ในความดีย่อมมีความงามและความจริง และในความงามย่อมมีความจริงและความดี

ในทำนองเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม ความไม่จริงย่อมมีความไม่ดีและความไม่งามอยู่

ความปรองดองที่แท้จริง เกิดจากภายในของบุคคลที่มีจิตใจที่ดีงาม มีสติ และมีปัญญารู้เท่าทันปรากฏการณ์ (ความจริง) ที่เกิดขึ้น จึงอ่อนโยนและนุ่มนวลต่อผู้อื่นและสรรพสิ่ง ความปรองดองไม่ได้เกิดจากกฏหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับภายนอก ที่ออกมาลบล้างการกระทำ (ความจริง) ที่ไม่ดี ไม่งาม การปรองดองจึงไม่ควรเกิดจากการบังคับไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

การให้อภัย การมีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ดีที่งาม หากการกระทำดังกล่าวจะส่งผลในทางที่ดีที่งามต่อผู้ให้และต่อผู้รับ และต้องไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อครอบครัวและญาติของผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ พิการ หรือสูญเสียชีวิต และที่สำคัญไม่ส่งผลเสียหายต่อสังคมโดยรวมและประเทศชาติ ไม่สร้างตัวอย่างที่ไม่ดีไม่งามให้กับสังคม

ให้อภัย (ด้วยใจเมตตา) แต่ไม่นิรโทษกรรม (ด้วยกฏหมาย) กับนิรโทษกรรมแต่ไม่ให้อภัย จะเลือกแบบไหนจึงจะส่งผลที่พึงประสงค์ต่อส่วนรวมมากกว่า

การปรองดองเป็นสิ่งที่ดีงามหากเกิดจากจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์

ส่วนการนิรโทษกรรมนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ดีงาม หรือไม่ดีงามก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะนิรโทษกรรมให้ใคร มากน้อยแค่ไหน ในการกระทำใด ในบริบทใด เพื่อประโยชน์ของใคร และใครเป็นผู้ให้ ให้ด้วยวิธีการใด เพื่อจุดประสงค์ใด

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า การปรองดองและการนิรโทษกรรมที่พยายามจะทำกันนั้น เกิดจากจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์หรือไม่ ส่งผลกระทบทางลบ หรือละเมิดสิทธิต่อครอบครัวและญาติผู้สูญเสียหรือเปล่า ล่วงละเมิดสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมหรือไม่ ส่งผลเสียหายต่อสังคมโดยรวมและประเทศชาติหรือไม่ ลดทอนความจริง ความดี ความงามให้เหลือแค่ความถูกผิดทางกฏหมาย แล้วลบล้างความถูกผิดทางกฏหมายด้วยการออกกฏหมายปรองดองและนิรโทษกรรมหรือเปล่า

และคำถามสุดท้ายที่ต้องใคร่ครวญเป็นพิเศษก็คือ การปรองดองและการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะนำไปสู่ความสุขสงบภายในสังคมไทย หรือสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
นำคำตอบทั้งหมดมาพิจารณาในแง่คุณธรรมจริยธรรมอีกครั้งหนึ่งว่าควรทำหรือไม่ หากพิจารณาอย่างมีสติและปัญญาแล้วว่าควรทำ เพราะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ก็มาหาวิธีและกระบวนการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนโดยรวมและประเทศชาติ

สิ่งที่ผมเป็นห่วงค่อนข้างมากก็คือ การสร้างวาทกรรม สร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตน แล้วสร้างวาทกรรมให้ร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยการเลือกเหตุการณ์และตัดตอนเฉพาะที่ฝ่ายตนได้เปรียบ แล้วสรุปกลับไปภาพใหญ่ทั้งหมดตามที่ตนต้องการโดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้ทักษะทางการสื่อสาร ทำให้ข้ออ้างกลายเป็นเหตุผลและความชอบธรรมของฝ่ายตน เช่น

คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง (ครั้งนี้) คือคนที่ไม่รู้จักการให้อภัย และไม่มีเมตตาธรรม

การต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมือง สมควรได้รับการนิรโทษกรรม (โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบหาความจริง)

การนิรโทษกรรมครั้งนี้ ทำให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบหาความจริงว่าใครถูกใครผิด เพราะถ้ามีฝ่ายหนึ่งถูก ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งผิด)

ประเด็นที่น่าสนใจคือ

คนทำถูก ทำสิ่งที่ดีที่งาม จำเป็นต้องมีการนิรโทษกรรมให้หรือไม่

คนทำผิด ทำไม่ดี โดยมีเจตนา ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ควรได้รับการให้อภัย และนิรโทษกรรมหรือเปล่า

คนทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่มีเจตนา และยอมรับว่าผิด สมควรได้รับการให้อภัยและนิรโทษกรรมหรือไม่

คนทำผิด ทำไม่ดีไม่งาม โดยเจตนา แต่ไม่ยอมรับผิด ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ สมควรได้รับการให้อภัยและนิรโทษกรรมหรือเปล่า

ใครอยากตอบ ยกมือขึ้น ใครอยากปรองดอง นั่งให้เรียบร้อย ใครอยากให้มีนิรโทษกรรม กระโดดให้ตัวลอย

ใคร (นักการเมืองคนไหน) รู้ตัวว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม ยกมือขึ้น สองมือเลยนะครับ จะได้เห็นชัดๆ

Back to Top