กันยายน 2008

ปลูกต้นรัก ต้องฟูมฟักด้วยน้ำใจ



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 กันยายน 2551

ทุกๆ ปี จะมีงานที่สำคัญงานหนึ่ง คือ งานเกษียณอายุข้าราชการ ที่ทางคณะต้นสังกัด ภาควิชา หรือหน่วยงานจะจัดให้เป็นเกียรติ เป็นที่ระลึก แก่ผู้ที่ได้อุทิศตน กำลังแรงกาย เวลา และเจตจำนง ความมุ่งมั่น อยู่กับหน่วยงานมาเป็นเวลานานจนอายุครบเกษียณ บางทีเราพบว่าคนๆ นี้ ใช้เวลากว่าครึ่งค่อน ชีวิตทำงานให้องค์กรมาตลอด เพียงแต่เราไม่ได้สังเกต เพราะความที่ท่านอยู่กับเรามาทุกเมื่อเชื่อวัน จน กลายเป็นส่วนหนึ่งของฉากประจำวันไป จนเมื่ออยู่มาวันหนึ่งที่ท่านหายไป หรือป้ายชื่อที่หน้าห้อง ถูกเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อเรากำลังต้องการจะปรึกษา จะใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญของท่าน เราถึงค่อย นึกถึงท่านใหม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับท่านเป็นเพียงแค่ความสัมพันธ์จาก ประโยชน์ หน้าที่การงานเท่านั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์อีกแบบ คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างคน”

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอาจารย์สองท่านอายุ ครบเกษียณเรียงปีกัน คือ อาจารย์ประเสริฐ วศินานุกร และอาจารย์มยุรี วศินานุกร คนหนึ่งเป็น อาจารย์แพทย์ศัลยกรรมทรวงอกหัวใจและหลอดเลือด อีกท่านหนึ่งนอกจากเป็นอาจารย์แพทย์วิสัญญีแล้ว ยังเป็นศรีภรรยาของอาจารย์ประเสริฐด้วย ท่านทั้งสองได้ทำงานให้คณะแพทย์ฯ มาเป็นเวลาหลายสิบปี มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากมายนับพัน และงานเกษียณอายุของท่านทั้งสอง พอจะเรียกได้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์” เลยทีเดียว จากการที่มีคนจำนวนมาก พร้อมใจกันทุ่มเท ทั้งจัดงาน และตั้งใจมาร่วมงาน มารดน้ำอวยพร มาขอร่วมเป็นสักขีพยานแสดงความเคารพต่อปูชนียาจารย์ทั้งสองท่านด้วยตนเองให้จงได้

ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ปรากฏการณ์ที่ว่านี้เป็นเพราะอะไร? คำถามที่ว่านี้ดูเหมือนจะ จำเพาะเจาะจง แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ถ้าเรามองย้อนกลับไปให้ดีๆ เราจะพบบุคคลแบบนี้ ที่สามารถเรียกหาความเคารพ ความนับถือจากก้นบึ้งหัวใจของมวลชนได้ อยู่ทั่วไปในทุกๆ องค์กร ในทุกๆ หน่วยงานก็ว่าได้

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Servant Leadership: A Journey into the Nature of Legitimate Power and Greatness เขียนโดย โรเบิร์ต กรีนลีฟ (Robert K. Greenleaf) ได้ให้มุมมอง ลักษณะของผู้นำในอีก มิติหนึ่งอย่างน่าสนใจ คือ คนส่วนใหญ่จะสามารถบอกได้ว่า เมื่อไรที่เขาค้นพบคนที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คนๆ นี้ไม่เคยทำเพื่อตัวเองเลย แต่เป็นคนที่อยู่เพื่อคนอื่น ทำเพื่อคนอื่น รับใช้คนอื่นอย่างจริงใจตลอดเวลา และเมื่อคนเราได้สัมผัส รับรู้คุณสมบัติที่ว่านี้ในบุคคลใดก็ตาม เราก็จะให้ความเคารพ นับถือ และอยาก ติดสอยห้อยตาม อย่างเต็มหัวใจ คนๆ นี้เรียกว่า “มีความเป็นผู้นำ จากการเป็นผู้รับใช้” และจะเป็นผู้นำ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สามารถเรียกหาความจงรักภักดี และการอุทิศตนจากลูกน้องได้มากที่สุด

ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับเรื่อง ความงาม ความดี และความจริง ในประเด็นที่ว่า อะไรก็ตาม ที่เราทำเพื่อ “ตัวฉัน” ผลจะออกมาได้อย่างมากสุดก็คือความงามเท่านั้น ส่วนความดีจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ อะไรก็ตามที่เราทำนั้น เป็น “การทำเพื่อเธอ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมารยาท จริยธรรม จรรยาบรรณ ทั้งหมดนี้มีพื้่นฐานมาจากการที่มนุษย์สามารถเสียสละความสะดวก ความสุขส่วนตัว ทำอะไรเพื่อ คนอื่นทั้งสิ้น

ผู้นำ หรือครู​ หรือใครก็ตาม ที่มีวัตรปฏิบัติดังกล่าวนี้ คือ ดำรงชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น รับใช้ คนอื่น จึงเป็นผู้นำที่เติบโตและนำคนอื่นจากมิติแห่งจิตวิญญาณ นั่นคือความดีสากลที่ใครๆ ก็สามารถรู้สึกได้ สามารถสัมผัสได้

ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยคนที่อยากเป็นผู้นำ เพราะอยากใช้อำนาจ อยากจะเนรมิต อยากจะ สั่งการนั้น ก็เป็นมิติอีกแบบหนึ่งของผู้นำ แต่ผู้นำที่เป็นผู้รับใช้นั้น จะทำให้ผู้ตามเติบโตได้ และเป็นมนุษย์ที่เต็มศักยภาพอันไร้ขีดจำกัด เพราะผู้นำแบบนี้ จะถ่อมตัวถึงที่สุด จะให้พื้นที่มากที่สุด แต่ก็จะเป็น คนแรกที่ออกไปเผชิญปัญหา แก้ปัญหา และรับผิดชอบ จนคนที่ก้าวตามเพิ่มสมรรถภาพ มีแรงบันดาลใจ และมีความคิดสร้างสรรค์ได้บรรเจิด ทุกๆ วันเป็นวาระของผู้ตาม ไม่ใช่ทุกคนทำเพื่อวาระของผู้นำ ฉะนั้นผู้ตามก็จะทุ่มเททำงาน เพื่อความงามของตนเอง และในขณะเดียวกัน ก็ซึมซับจริยาวัตร จากผู้นำที่เป็นผู้รับใช้อยู่ตลอดเวลา เจริญรอยตาม เพื่อที่จะได้หล่อเลี้ยงผู้ตาม ผู้รับใช้ รุ่นต่อๆ ไป สืบทอดความดีสากลนี้ไปเรื่อยๆ

ผู้ตามก็จะเกิดความรักใคร่ผูกพันกับผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ อันต้นรัก ต้นเคารพ ที่งอกงาม หยั่งราก ผลิใบงดงามได้ขนาดนี้ เกิดขึ้นได้อย่างเดียวด้วยการประคบประหงม รดด้วย “น้ำใจ” ที่ใสแท้บริสุทธิ์ ปราศจากเงื่อนไขใดๆ โดยคนสวนที่อยากจะเห็นต้นไม้เติบโต เพื่อต้นไม้เอง ไม่ใช่เพื่อสวนของตน มีความปีติอย่างจริงใจเมื่อได้เห็นการเติบโต เปลี่ยนแปลง ของต้นไม้ ของผู้ตาม ของลูกศิษย์ อันเป็น สิ่งเดียวที่คนสวน ที่ผู้นำ ที่ครูแบบนี้ต้องการ ทรัพย์สมบัติอันประเสริฐที่สุดที่ผู้นำแบบนี้มีอยู่ก็คือ “น้ำใจอันบริสุทธิ์กับรักอันปราศจากเงื่อนไข” นั้นเอง

และถ้าเราทำความเข้าใจที่มาที่ว่านี้ เมื่อเราไปงานเกษียณอายุของปูชนียบุคคลเหล่านี้ เราจะได้สามารถซาบซึ้งถึงผลงานทั้งชีวิตที่ท่านได้ทำ การไปงานก็จะไม่ใช่เพียงแค่งานรื่นเริงอีกงานหนึ่ง หากเป็นประจักษ์พยานต่อ Finale ของ Masterpiece ที่สืบทอดพรสวรรค์ของมนุษย์ที่แท้ออกมาในรูปแบบ ของความดีที่ไม่มีสิ้นสุดนั่นเอง

อเมริกาเปลี่ยน กระบวนทัศน์เปลี่ยน มนุษยชาติเปลี่ยน



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กันยายน 2551

หรือเป็นลิขิตของจักรวาล เช่นที่ผู้เขียนสงสัยว่าอาจจะเป็นไปได้ ซึ่งหากเป็นจริงตามนั้น ก็นับว่าอาจเป็นทั้งโชคดีและโชคร้าย เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่เป็นตัวแทนของความเป็นสองหรือทวิตา (dualism) คือ เป็นทั้งดีสุดๆ และชั่วร้ายสุดๆ หรือให้ทั้งความจริงสุดๆ กับภาพมายาสุดๆ ที่จักรวาลจัดสรรให้เป็นเช่นนั้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่และนักจิตวิทยาโดยเฉพาะ นักจิตวิทยาผ่านพ้นตัวตนหรือนักจิตวิทยาจิตวิญญาณ (transcendent or spiritual psychology) จำนวนมากต่างมองเห็นคล้ายๆ กันเป็นทำนองนั้น นั่นคือ จักรวาลหรือฟ้า ประหนึ่งได้ดลบันดาลให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำของโลกในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุด ขอย้ำว่าเป็นช่วงสำคัญที่สุดจริงๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเท่าที่เคยมีมา นั่นคือ เป็นช่วงที่โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน หรือมีการปฏิวัติที่จะทำให้กระบวนทัศน์ทางสังคมของโลกต้องเปลี่ยนไป ซึ่งที่สุดมนุษยชาติและสังคมของมนุษย์ก็จะต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

เพราะฉะนั้น ในความเห็นของผู้เขียน การที่พรรคเดโมแครตตัดสินส่งคนอเมริกันผิวดำ คือ นายบารัค โอบามา ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญที่สุดกับเผ่าพันธุ์และสังคมของมนุษย์ ชนิดที่เราไม่เคยเห็นไม่เคยมีมาก่อนอย่างที่ว่ามาข้างบนจริงๆ นโยบายหาเสียงของนายโอบามานั้น มีเพียงคำเดียวง่ายๆ คือ “เปลี่ยน” (change) ซึ่งอาจหมายความว่า นายโอบามาเพียงต้องการเปลี่ยนนโยบายของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน จอร์จ ดับเบิลยู บุช และพรรครีพับลิกัน ที่เห็นว่าความปลอดภัยในบ้านในประเทศเป็นใหญ่ จึงหันไปทำสงครามกับอัฟกานิสถานและอิรัก เปิดศึกนอกบ้านเพื่ออุ้มไข่ในหินอันเป็นนโยบายของอเมริกามาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ญี่ปุ่นโจมตีฮาวายในสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาธิปไตยตัวแทน และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมการตลาดเสรี ที่จะว่าไปแล้วเป็นการเปลี่ยนน้อยๆ หรือเป็นการปฏิรูปน้อยๆ ก็ได้

แต่คำๆ นี้ก็อาจตีความไปได้อีกทาง คือ อาจเป็นไปได้ว่า นายโอบามาต้องการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนหรือการปฏิวัติระบบและโครงสร้างของประเทศทั้งหมดเลยก็ได้ แต่เท่าที่ผู้เขียนมองเห็น ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สองมา ไม่ว่าพรรคใดได้เป็นผู้บริหารประเทศ นโยบายจะไม่ได้ต่างกันมากนัก โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศและการทหาร ฉะนั้น นโยบายของนายโอบามาหรือการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ การมองเห็นความสำคัญภายในบ้านมากขึ้นหรือการปฏิรูปน้อยๆ มากกว่า การปฏิรูปกับปฏิวัตินั้นต่างกันมากเหลือเกิน เหมือนเพชรแท้กับเพชรเทียม จึงน่าจะใช้คำใหม่กัน คิดว่าท่านผู้อ่านหลายคนอาจคิดเช่นเดียวกับผู้เขียนก็ได้ คือคิดว่า ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นสำคัญมากๆ ต่อระบบทุกๆ ระบบ โดยเฉพาะระบบการเมืองการทหารของโลกในปัจจุบัน อย่างน้อยนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นแล้วเป็นต้นมา เพราะโดยรูปธรรม อเมริกาคือผู้ชนะสงครามในครั้งนั้นแต่เพียงผู้เดียว โดยแทบจะไม่ได้รับความบอบช้ำเท่าไรเลย จริงๆ แล้ว ตลอดเวลาค่อนศตวรรษมานี้ สหรัฐอเมริกามั่งคั่งร่ำรวยที่สุดอยู่แล้ว จึงเป็นเสมือนผู้นำโลก – บางครั้งผ่านหน้าม้าหรือองค์การสหประชาชาติ - ในทางเศรษฐกิจ การเมืองการทหาร และทางสังคมแต่เพียงประเทศเดียว คนที่มีทั้งเงินทั้งอำนาจนั้น ทำอะไรก็ดูดีไปหมดหรือดูน่ารักไปหมด

ถ้าหากเรามองโลกมองจักรวาลในแบบของผู้เขียน ที่คิดว่าไม่มีคำว่าบังเอิญในโลก ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นผลของกลไกของวิวัฒนาการ (evolution) อันเป็นหลักการสำคัญเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้มีจักรวาลโผล่ปรากฏขึ้นมา - นักฟิสิกส์ทฤษฎีแนวหน้าของโลกบางคนเรียกประหนึ่งว่า เป็นแม่แบบพิมพ์เขียวของจักรวาล อาทิ เซอร์ เจม จีนส์ เซอร์ อาเธอร์ เอดดิงตัน เซอร์ เฟรด ฮอยล์ พอล เดวีส์ ฯลฯ - ไม่ว่าสิ่งนั้นคือพระเจ้า หรือมันเป็นเช่นนั้นของมันเอง ฉะนั้น ภาวะโลกร้อนและการล่มสลายของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอื่นๆ อันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ – กิเลสตัณหากับอวิชชา - ที่ไม่เป็นไปตามที่แม่แบบพิมพ์เขียวกำหนด จึงผิดธรรมชาติ เพราะฉะนั้น มหันตภัยธรรมชาติไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น สภาพของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง จึงเกิดจากสภาวะธรรมชาติซึ่งผิดไปเช่นนั้น นั่นคือกรรมร่วมที่มนุษย์เจตนาทำขึ้นจากวิวัฒนาการที่ผิดทาง

ในความเห็นของผู้เขียน มนุษย์จะต้องเป็นผู้รับกรรมร่วมนั้น มากหรือน้อยแล้วแต่เจตนา ดังนั้นก่อนที่มหันตภัยธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่จริงๆ จะปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด และมนุษยชาติโดยรวมจะต้องรับผลกรรมเช่นนั้น การก่อกรรมทำเข็ญต่อโลกธรรมชาติจึงไม่น่าจะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น ระบบสังคม การเมือง โดยเฉพาะเศรษฐกิจส่วนใหญ่คงจะดำเนินไปอย่างผิดธรรมชาติเหมือนเดิม แม้ว่าคนส่วนหนึ่งในอเมริกากับประเทศที่พัฒนามากๆ ทั้งหลายจะมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตไปบ้างแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงของคนทั้งโลกจะเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่กี่เดือน – ในที่นี้หมายถึงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกา – นั่นคือมันยังไม่ถึงเวลาของการสุกงอมต่อวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณ และการเปลี่ยน (transformation) ของมัน

ฉะนั้น สงครามตะวันออกกลางและการก่อการร้ายยังจะต้องมีต่อไปทั้งอาจขยายกว้างขึ้นไปอีก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหมากตัวสำคัญที่สุด ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างใดหรือเชียร์ใคร หากว่ามีแม่แบบพิมพ์เขียวของจักรวาลจริงๆ ตามความคิดของผู้เขียน และหากการเปลี่ยนแปลง (change) ของนายโอบามาไม่ได้เป็นไปอย่างถอนรากถอนโคนหรือเป็นการปฏิวัติอย่างสิ้นเชิง คือ เป็นเพียงการเปลี่ยนน้อยๆ หรือเป็นการปฏิรูปน้อยๆ อย่างว่า หรือเพียงเปลี่ยนจากข้างนอกมาเป็นข้างในประเทศ ขณะที่แทบทุกสิ่งทุกอย่างยังจะค่อนข้างเหมือนเดิม ก็ขอฟันธงได้เลยว่าพรรครีพับลิกันจะได้ชัยชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ นายจอห์น แมคเคน จะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ๒๐๐๙ นี้อย่างค่อนข้างแน่นอน

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า มันยังไม่ถึงเวลาที่สุกงอมจริงๆ ผู้เขียนจึงเชื่อว่า เวลาของการเปลี่ยนแปลงของประชากรในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมานานแล้ว ยังคงมีไม่ถึง “มวลอันวิกฤติ” (critical mass) แม้ว่าผู้เขียนจะไม่รู้ว่าจำนวนนั้นคือเท่าไร – แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่ภายในปีสองปีนี้ - จากการวิจัยมากหลายพบว่า ความเจ็บปวดทรมานเป็นเวลายาวนาน คือตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดีที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลง (2007 Shift Report) เพราะฉะนั้น ภัยธรรมชาติจากสภาวะโลกร้อน การก่อการร้าย หรือสงคราม หากว่าไม่ถี่กระชั้นหรือมากเกินไป ยกเว้นสงครามนิวเคลียร์ ก็คงยังไม่ถึงกับทำให้คนทั่วไป โดยเฉพาะนักธุรกิจและนักการเมืองทนไม่ได้หรือสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหรือจิตสำนึกได้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่จักรวาลเป็นผู้กำหนดแม่แบบพิมพ์เขียวหรือควบคุมโลกและมนุษยชาติ จักรวาลย่อมมองเห็นอนาคตของโลกและมนุษยชาติกับสังคมโดยรวมว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งอนาคตของสังคมมนุษย์ เท่าที่ผู้เขียนมองเห็นก็มีอยู่สองทางเท่านั้น คือ หนึ่ง เผ่าพันธุ์มนุษย์ยังคงมีอยู่ แต่จะเหลือน้อยเต็มทีและจะมีวิวัฒนาการต่อไป – ซึ่งวิวัฒนาการจะเป็นไปในทางของจิตสู่จิตวิญญาณ (spirituality or transcendence) - กับ สอง มนุษย์สูญพันธุ์ไปทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้ว หากว่าเราทั้งหลายเชื่อในเรื่องของแม่แบบพิมพ์เขียวของจักรวาลอย่างที่ผู้เขียนคิด เชื่อในทฤษฎีหลักการมนุษยจักรวาลวิทยา (cosmological anthropic principle) อันเป็นคณิตศาสตร์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ก็ต้องอยู่คู่กับจักรวาลตลอดไป - ไม่ว่าจะเป็นดาวนพเคราะห์ใดและระบบดวงอาทิตย์ในกาแลคซี่ไหน สามารถมีวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณได้ถ้วนทั่วทุกตัวคนหรือไม่ – โดยหลักการที่ว่านั้น จักรวาลกับโลกของเราจึงปราศจากมนุษย์ไปไม่ได้

แต่หากว่าจักรวาลและโลกของเราจำเป็นต้องมีมนุษย์เช่นว่านั้น อนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลจากวันนี้ มนุษย์เราและสังคมของเราจะเป็นอย่างไร? นั่นคือ เนื้อหาสาระของบทความนี้ คือ เมื่อโลกเปลี่ยน เมื่อกระบวนทัศน์เปลี่ยน มนุษย์และสังคมของมนุษย์ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจากรากฐานของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เป็นเรื่องวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ อันเป็นเป้าหมายของจักรวาล พฤติกรรมและการกระทำต่างๆ ของเราจะเป็นไปด้วยจิต “ใหม่” ทั้งสิ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับที่เราคิดและกระทำกันอยู่ในขณะนี้ ที่ล้วนแล้วแต่ “เหมือนเดิม” – ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ การต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย การต่อสู้กับความยากจนยากไร้ ภัยจากโลกร้อนและผลจากภาวะล่มสลายของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อาชญากรรม ยาเสพติดและอื่นๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีทำลายธรรมชาติของนักธุรกิจที่ไร้ความรับผิดชอบ ความแตกแยก และความรุนแรง ฯลฯ – คือเป็นความคิดและการกระทำของมนุษย์ที่มีกฎหมายของสังคมในกระบวนทัศน์เก่า อันได้มาจากความคิดของคนที่ยังไม่วิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณ เป็นพวกตาต่อตา หรือฟันต่อฟัน แล้วเราจะหาความพอเพียงพอดีและยั่งยืนได้อย่างไร?

เป้าหมายระดับแรกที่ผู้เขียนเอามาจากนักวิทยาศาสตร์สังคมว่าด้วยระบบ และนักจิตวิทยาผ่านพ้นตัวตนหรือนักจิตวิทยาจิตวิญญาณ (system theorist / transcendental psychologist or spiritual psychologist) รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่หลายคน สำหรับมนุษย์ – ที่จะเหลือราวๆ ร้อยละ ๒๐ เท่านั้น – และสังคมของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลจากวันนี้ คือ การล่มสลายหายไปของ “อารยธรรมสมัยใหม่” ที่อยู่กับเรามานานจนกระทั่งวันนี้ไปทั้งหมด (modern civilization) และทั้งหมดจริงๆ ที่จะเข้ามาแทนที่คือ อารยธรรมใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ที่สมดุล – พอเพียงพอดีและยั่งยืน ที่ไม่เหลือเค้าโครงของเก่าอย่างใดเลยให้เห็น - และสิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นในวันพรุ่งนี้จะเป็นความศิวิไลซ์ที่ภายใน

ในทางการเมืองสังคมวัฒนธรรมนั้น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประชาธิปไตยตัวแทนที่เราใช้อยู่ รวมทั้งสิทธิมนุษยชนจอมปลอมจะหมดไป พร้อมๆ กับที่ประเทศหรือนครและเมืองใหญ่ๆ จะหายไปหมดพร้อมๆ กับประชากรโลกที่หายไปเพราะขาดอาหารและน้ำ และผลพวงของภัยธรรมชาตินานัปการของสภาวะโลกร้อนจัดจริงๆ จนเกินขอบเขตของสัตว์โลกจะดำรงอยู่ได้ ยกเว้นในภูมิภาคที่อยู่ใกล้กับขั้วโลก เช่น อะลาสก้า กรีนแลนด์ ไซบีเรีย ปลายสุดของอเมริกาใต้และแถบเทือกเขาไหล่เขาที่สูงมากๆ ที่อากาศเย็นหน่อย การดำรงอยู่ของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงจะเป็นไปในรูปของหมู่บ้านหรือตำบลที่ประชาชนอยู่ร่วมกันภายใต้ประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม และมีวัฒนธรรมที่เน้นคุณค่าและความหมายของมวลสรรพสิ่งเป็นสำคัญ ทุกคนไม่ว่าใคร เพศวัยใด ต้องได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิกับโอกาสที่เท่าเทียมกันอันเป็นกระบวนการจากภายใน

ในด้านของเศรษฐกิจและธุรกรรมทั้งหมด จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความต้องการที่สมดุลพอเพียงพอดีและยั่งยืนเป็นสำคัญ เทคโนโลยีที่แลกเปลี่ยนกับความล่มสลายและเป็นศัตรูต่อสิ่งแวดล้อมเกินขอบเขตของการฟื้นตัวเองจะมีขึ้นไม่ได้ การเกษตรจะดำเนินไปบนฐานของความจำเป็นและความต้องการที่พอเพียงพอดี พลังงานจะเป็นรูปแบบของการใช้พลังงานทางเลือกที่ทดแทนได้เองทั้งหมด เช่น พลังแสงอาทิตย์ หรือพลังลม เป็นต้น ส่วนการติดต่อหรือการค้าขายกันก็จะเป็นเรื่องของอินเทอร์เน็ตแทบทั้งหมด

นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ จริงๆ แล้วโลกเริ่มเปลี่ยนแล้ว และกระบวนทัศน์ของมนุษย์กับสังคมของมนุษย์ก็เริ่มที่จะเปลี่ยนตาม โดยเฉพาะสำหรับในโลกตะวันตกเช่นที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา แม้ว่ายังไม่ถึง “มวลอันวิกฤต” เช่นที่ว่าไว้ข้างบน ส่วนประเทศที่พัฒนาใหม่ๆ หรือประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งที่บ้านเรา ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นเรื่องฝันหวาน ซึ่งเราที่อยู่รอดจากวิกฤตโลก – ที่กำลังเกิดอยู่และจะรุนแรงมากขึ้นจนถึงที่สุดภายในสี่ห้าปีนี้ – จะได้เห็น อย่าลืมว่า อนุสัยสันดาน “ตัวกูของกู” นั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้นนิรันดร ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง มีเกิดก็ต้องมีแก่และมีตาย มีรูปกายก็ต้องมีนามมีจิต มียุคกสิกรรมก็ต้องมียุคอุตสาหกรรม มีสมัยใหม่ก็ต้องมียุคหลังสมัยใหม่ ทำไมมนุษย์จึงมีกายกับจิต? ถ้าหากกายมีวิวัฒนาการได้ จิตก็ต้องมีได้ และหากจิตมีวิวัฒนาการผ่านพ้นตัวตนหรือก้าวพ้น “ตัวกูของกู” ได้ ที่กล่าวมาข้างบนทั้งหมดทำไมจึงจะเป็นไปไม่ได้?

จินตนาการใหญ่
ไทยเป็นมหาอำนาจทางความดี



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กันยายน 2551

โลกป่วยและวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอยู่ในจินตนาการเก่าๆ ที่มหาอำนาจวางไว้ โลกที่เป็นโลกอย่างปัจจุบันเริ่มต้นเมื่อประมาณ ๕๐๐ ปี ที่ชาวยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์และนำมาทำอาวุธ เช่น เรือรบ ปืนใหญ่ ปืนกล ทำให้ชาวยุโรปมีอำนาจยิงอย่างมหาศาลอย่างที่มนุษยชาติไม่เคยมีมาก่อน ไม่มีอารยธรรมใดๆ ที่สั่งสมกันมา ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ ปี จะสามารถต้านทานอำนาจยิงของชาวยุโรปได้ ชาวยุโรปได้ใช้อำนาจอันมหาศาลนี้ ไล่เข่นฆ่าข่มขู่ผู้คนเพื่อแย่งชิงทรัพยากรของเขาไปทุกทวีป ทั้งเอเซีย อาฟริกา อเมริกา ตลอดไปจนถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นำไปสร้างความมั่งคั่งให้ยุโรป ความมั่งคั่งอันมหาศาลของยุโรปที่ได้จากการแย่งชิงเขามาทำให้เกิดอารยธรรมใหม่ที่ครอบงำโลกอยู่ทุกวันนี้ คือ อารยธรรมบริโภคนิยมและเงินนิยม

เมื่อระบบเศรษฐกิจเป็นระบบบริโภคนิยม ศีลธรรมก็เกิดขึ้นได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเศรษฐกิจแบบนี้ต้องอาศัยการกระตุ้นการบริโภค มิฉะนั้นเศรษฐกิจจะตก จะไปหยุดบาร์ไนท์คลับอาบอบนวดไม่ได้ เดี๋ยวคนจะไม่มีงานทำ คนไทยดื่มสุรากันมากขึ้นจนเป็นอันดับ ๔ ของโลก (เป็นมหาอำนาจทางการดื่มเหล้า) ก็เพราะผู้ผลิตผู้ขายทำทุกอย่างให้คนดื่มมากๆ ตนจะได้รวยมากๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยม เงินนิยมนี้ พาไปสู่สภาวะที่ว่า ทำอะไรก็ได้ ขอให้ได้เงิน จะเอาเปรียบ จะค้ากำไรเกินควร ค้ายาเสพติด ค้าเด็ก ค้าผู้หญิง ทำลายสิ่งแวดล้ม คอร์รัปชั่น ทำได้ทั้งสิ้น ขอให้ได้เงิน นี่แหละคือการพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง แทนที่จะเอาความผาสุกของคนมวลเป็นตัวตั้ง

ในครั้งโบราณมีปรากฏการณ์ที่คนจนไปปล้นคนรวย กล่าวคือ กลุ่มคนที่แร้นแค้นในทะเลทราย เช่น พวกมงโกล หรือพวกอาหรับในทะเลทราย เป็นครั้งคราวที่จะมารวมตัวกันไปปล้นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจเหนือตน แต่ในปัจจุบันนี้กลับกันที่คนรวยไปปล้นคนจน ด้วยกลไกทางการเงิน เงินจำนวนมหาศาลเป็นล้านๆๆ วิ่งรอบโลกด้วยความเร็วของแสง อาศัยปริมาณที่มากกว่า ข้อมูลที่มากกว่า และความชำนาญที่มากกว่าไปดูดเงินคนอื่นมาเข้าตัว ใช้ไปในการกักตุนเก็งกำไร เช่น กักตุนน้ำมันทำให้น้ำมันราคาแพงกว่าความเป็นจริง ซึ่งเท่ากับปล้นคนทั้งโลก กองทุนเก็งกำไรนี้ทำหน้าที่คล้ายโจรสลัดทางการเงิน ดูว่าจะไปปล้นใครที่ไหนได้บ้าง โจรสลัดไม่ได้ทำการผลิต แต่คอยปล้นของที่คนอื่นผลิตฉันใด โจรสลัดทางการเงินก็ฉันนั้น ที่ตัวเองไม่ได้ทำการผลิตเลย แต่คอยปล้นของที่คนอื่นผลิต แต่เลวร้ายกว่าตรงที่โจรสลัดถือว่าผิดกฎหมาย แต่โจรสลัดทางการเงินไม่ผิดกฎหมาย แถมเมื่อกองทุนเก็งกำไรต้องเพลี่ยงพล้ำลง รัฐยังเข้าค้ำจุนอีก เพราะกลัวกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง ก็เหมือนรัฐสนับสนุนโจรสลัดทางการเงินให้ไปปล้นคนอื่นมาแบ่งกันกิน

การพัฒนาโดยเอาเงินเป็นตัวตั้งเป็นอย่างนี้

เมื่อเราเข้าไปสู่หรือถูกบังคับให้เข้าไปสู่เกมการเงินโลก เราก็วิกฤตแล้ววิกฤตอีก ไม่ว่าพ่อมดทางการเงินของเราจะว่าเขาวิเศษอย่างไร และบางทีพ่อมดทางการเงินเหล่านี้ก็เอาเข้าตัวอย่างมโหฬารท่ามกลางความทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่ ตราบใดที่เรายังพัฒนาโดยเอาเงินเป็นตัวตั้ง เราจะไม่หายวิกฤต ที่พูดนี้ไม่ใช่เงินไม่สำคัญหรือไม่ใช้เงิน แต่ไม่ใช่ตัวตั้ง

ตัวตั้งต้องเป็นความผาสุกของคนทั้งมวล

เพราะเอาเงินเป็นตัวตั้งกับการเอาความผาสุกของคนทั้งมวลเป็นตัวตั้งไม่เหมือนกัน ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้ง คนที่มีกำลังมากกว่าก็จะไปเปลี่ยนทุนต่างๆ เช่น ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งเคยเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งหมด มาเป็นตัวเงินของคนส่วนน้อย ทำให้คนส่วนน้อยรวยขึ้นอย่างสุดๆ เช่น มีเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน แสนๆ ล้าน เกิดการเสียสมดุลหมดทุกด้าน ทั้งทางสิ่งแวดล้อม ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเสียสมดุลนำไปสู่ความรุนแรง
การเอาความผาสุกของคนทั้งมวลเป็นตัวตั้ง ต้องคำนึงถึงคนทั้งหมดและความสมดุลทุกๆ ด้านอันเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งหมดอย่างถูกต้องเป็นธรรม
ในขณะที่การพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้งเน้นที่การแข่งขัน

การพัฒนาที่เอาความผาสุกของคนทั้งมวลเป็นตัวตั้งเน้นที่ความถูกต้องเป็นธรรม

สังคมที่ขาดความถูกต้องเป็นธรรมจะขัดแย้งวุ่นวายและวิกฤต เกิดความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้ ควรสังเกตว่าในพระปฐมบรมราชโองการของรัชการปัจจุบันมีความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แผ่นดินต้องมีธรรมครอง ประโยชน์สุขของคนทั้งมวลจึงจะเกิดขึ้นได้

จินตนาการเก่าๆ ที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง พาเรามาติดกับแล้ว สังคมไทยต้องการจินตนาการใหม่ที่จะนำไปสู่ความผาสุกของคนทั้งมวล
สังคมไทยมีทุนต่างๆ มากมาย ทั้งทุนทางทรัพยการธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางศาสนธรรม เกินพอที่จะสร้างความผาสุกของคนทั้งมวล ให้ทุกคนมีสัมมาชีพพอกินพอใช้ อนุรักษ์เพิ่มพูนทรัพยากรธรรมชาติ มีการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน มีความเป็นธรรมในสังคม มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยภราดรภาพ มีการเรียนรู้ที่ดีอันส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความผาสุกแห่งการอยู่ร่วมกัน ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ต่อเมื่อเราใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง

เครื่องมือสำหรับความผาสุกของคนไทยทั้งมวลไม่ใช่ทุนจากต่างชาติ

เครื่องมือเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามคือความดี

เราหายใจเข้าหายใจออกเป็นทุนจากต่างชาติ แล้วเราก็เข้าไปติดกับแห่งความหายนะ เราต้องเปลี่ยนจินตนาการใหม่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งความดี ความดีจะทำให้เราหายจนอย่างถ้วนหน้า มีสัมมาชีพ พอกินพอใช้ หลุดหนี้ มีเงินออมเพิ่มขึ้น มีความมั่นคงด้านอาหาร มีป่าไม้และแหล่งน้ำสมบูรณ์ มีสังคมที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์

เราเป็นคน เราต้องมีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เราต้องมีประเทศไทยที่มีหัวใจมนุษย์

เราไม่สามารถเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหรือทางกำลังอาวุธได้ ซึ่งเราไม่ควรอยากเป็น แต่เราเป็นมหาอำนาจทางความดีได้ ความดีนั้นนอกจากจะเยียวยาตัวเราเองให้หายป่วยแล้ว ยังช่วยเยียวยาโลก (Heal the World) ด้วย เพราะโลกก็ป่วยเหลือกำลังเพราะขาดความดี

ถ้าท่านมีลูกและอยากให้ลูกปลอดภัย ท่านจะฝากลูกไว้กับอะไร ถ้าฝากไว้กับเงิน ท่านจะแน่ใจได้ละหรือว่าลูกจะปลอดภัย ฝากลูกไว้กับความดีน่าจะปลอดภัยที่สุด เพราะความดีมีภูมิคุ้มกัน ในโลกซึ่งเต็มไปด้วยพ่อมดหมอผีทางการเงิน ธนาลัยไม่ปลอดภัยเลย

สังคมก็เช่นเดียวกัน จะปลอดภัยและมีภูมิคุ้มกันต่อเมือฝากไว้กับความดี ลูกหลานของเราจะปลอดภัยเมื่ออยู่ในสังคมแห่งความดี

เรามามีจินตนาการใหม่กันเถอะ ว่าไทยจะเป็นมหาอำนาจแห่งความดี การเจริญสติช่วยให้เข้าถึงความดีสูงสุดได้ โลกไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจากมนุษย์พากันเจริญสติหมดทั้งโลก ถ้าเจริญสติกันหมดทั้งโลก โลกจะเย็นลง

จินตนาการและจิตที่ยิ่งใหญ่พอ -- As the (Peaceful) Future Calls You



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กันยายน 2551

ลูกเจี๊ยบที่เจริญเติบโตในไข่ถึงระยะหนึ่งต้องเจาะเปลือกไข่ออกมาหากินด้วยตนเอง

หนอนในรังดักแด้ก็เช่นกัน ต้องออกจากรังหากต้องการเป็นผีเสื้อที่งดงาม

แต่ทางออกและทางเลือกในสถานการณ์ของการเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งต่างฝ่ายที่เผชิญหน้าบอกว่ามีให้แก่กันนั้น ดูเหมือนแทบไม่มีช่องให้ออก ไม่มีทางให้เลือก เพราะมันคับแคบอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ ความเชื่อเดิมๆ ต่างมองว่าฝ่ายตนถูกต้องเสียทั้งหมด ฝ่ายตรงข้ามผิดก็ผิดทั้งหมด ต่างตั้งเป้าว่าสิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ ฝ่ายตนชนะอย่างเด็ดขาด ในที่อีกฝ่ายแพ้อย่างหมดรูป

สังคมไทยตอนนี้จึงเสมือนลูกไก่ที่ดิ้นขลุกๆ ขลักๆ อยู่ในเปลือกอันคับแคบ เหมือนหนอนผีเสื้อที่จะมีศักยภาพในการโบยบินได้อย่างอิสระ แต่ทนบิดไปบิดมาอยู่ในรัง

หากพวกเราต้องการออกจากปัจจุบันอันอึดอัดคับแคบเช่นนี้ สิ่งที่เราพึงกระทำและเราทุกคนสามารถทำได้มีอยู่ ๒ อย่าง

๑) พวกเราแต่ละคนต้องสร้าง “จินตนาการที่ใหญ่พอ” พอที่จะทำให้ทุกคนเกิดฉันทะ สร้างแรงบันดาลใจ จินตนาการนี้ต้องงดงาม เป็นจินตนาการถึงความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกันที่เคารพในคนทุกคน ให้ทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เป็นไปได้ไหมว่าเราร่วมกันมีจินตนาการอันยิ่งใหญ่พอที่จะพาเราทะลุทะลวงออกมาจากทางตันทางการเมือง เป็นจินตนาการที่ทำให้หลายๆ คน (ยิ่งทุกคนยิ่งดี) ได้เป็นวีรบุรุษวีรสตรีของชาติ (National Heroes and Heroines) ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นคุณทักษิณ คุณพจมาน คุณสมัคร คุณเนวิน คุณสุริยะใส คุณจำลอง คุณสนธิ คุณสมศักดิ์ คุณสมเกียรติ ตำรวจ ทหาร พธม. นปช. คนเล็กคนน้อยทั้งหมด ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะใส่เสื้อสีอะไร ไม่ว่าเดินไปไหนมีแต่คนทักทาย มีแต่คนยิ้มให้ ยกมือไหว้ รับไหว้กันด้วยน้ำใสใจจริง คนในบ้านเลิกทะเลาะกัน เห็นไม่เหมือนกันแต่ก็รักกันเหมือนเดิมได้

อนาคตที่งดงาม มีสันติภาพ และมีพลังเช่นนี้เท่านั้นจึงจะสามารถดึง สามารถนำพา ผู้คนออกจากปัจจุบันเช่นที่เราเผชิญอยู่ได้

๒) พวกเราแต่ละคนต้องมี “จิตที่ใหญ่พอ” พอที่จะสร้างและรองรับจินตนาการร่วมของเรา อนาคตที่ยิ่งใหญ่จะสร้างขึ้นได้ก็ต้องการคนที่มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน ศาสนาสถาน ดังเช่น วัด มัสยิด โบสถ์ที่งดงามอลังการได้ก็เพราะมีศาสนิกชนผู้ทุ่มเททั้งกายและใจร่วมกันสร้าง

หากเราต้องการอนาคตที่ยิ่งใหญ่และงดงาม เราจะสร้างมันขึ้นมาด้วยจิตที่คับแคบและหดหู่ได้อย่างไร เพราะอนาคตเช่นนั้นต้องสร้างด้วยจิตที่ว่างๆ แจ่มใส อุดมด้วยสติและปัญญา ถ้าเรามีความโกรธอยู่ในใจแล้ว ปัญญาเราก็หาย ถ้าเรามีความเกลียดอยู่ในใจแล้ว ปัญญาเราก็ไม่มี หากเราขาดปัญญาเราก็ไม่สามารถพาตัวเราออกจากข้อจำกัดเดิมๆ ของเราได้

เช่น หากเรายึดติดกับความโกรธ ความจงเกลียดจงชังในใจเรา เราจะถูกกักขังจองจำอยู่ในอดีตอันจำกัดว่าเราจะไปยกย่องคนบางกลุ่มได้อย่างไร เมื่อเราไม่ก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเองออกมาเช่นนี้สันติภาพย่อมยากจะมีโอกาสเกิดขึ้นมาได้ ในเมื่อตอนนี้คนในบ้านแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายเช่นนี้ แล้วเหตุใดเราจะยกย่องเขาไม่ได้ล่ะว่าเขาเป็นวีรบุรุษเป็นวีรสตรี คนๆ หนึ่งสามารถเป็นได้สิ หากว่าเขาทำบางสิ่งบางอย่างที่น่าชื่นชม มีบุคคลหลายคนในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของบ้านเราต่างก็ได้รับการยกย่อง เพียงเพราะว่าในสถานการณ์คับขันของประเทศ เขาเลือกที่จะทำบางสิ่งหรืองดกระทำบางอย่างเท่านั้นเอง

แน่นอน การที่คนๆ หนึ่งเป็นวีรบุรุษวีรสตรี ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เรายกย่องเขาเพราะเราได้รับรู้และซาบซึ้งในความดีและความกล้าหาญที่จะเสียสละในบางเรื่องของเขา

ส่วนเรื่องที่เขาได้เคยทำผิดพลาดไป (เราทุกคนก็เคย ไม่มากก็น้อย) นั่นเป็นเรื่องที่เขาต้องได้แสดงความรับผิดชอบ และอาจไม่จำเป็นต้องเข่นฆ่า ไล่ต้อนกันให้จนมุม ให้อยู่ในประเทศกันไม่ได้ จริงหรือไม่

ทุนทางสังคมเรื่องความรัก ความเมตตา และการให้อภัยของไทยเรายังมีอยู่ไม่น้อย หากใครกล้าหาญยืดอกยอมรับในความผิดของตน เขาอาจกลับเป็นแรงบันดาลใจให้เราแสดงความกล้าหาญในการให้อภัยเขาก็ได้ โดยรากศัพท์แล้ว อภัย หมายถึง ความไม่มีภัย ความไม่ต้องกลัว การที่เราให้อภัยใครบางคนเป็นการปลดแอกตัวเองออกจากความกลัวและทำให้เขาเป็นผู้ไม่มีภัยต่อจิตใจของเรา ยิ่งถ้าหากเขาได้เป็นวีรบุรุษวีรสตรีผู้นำพาสันติภาพมาสู่ประเทศ เราย่อมให้อภัยเขาเหล่านั้นง่ายขึ้น

พลังของการให้อภัยไม่ใช่เรื่องที่เกินจริง แม้แต่ประเทศแอฟริกาใต้ที่บอบช้ำเพราะความรุนแรงจากนโยบายแบ่งแยกสีผิวมาอย่างยาวนานค่อนศตวรรษ บนซากศพของพี่น้องร่วมชาตินับหมื่นคนและซากปรักหักพังของบ้านเมืองนั้น เขาก็ยังสามารถตั้งคณะกรรมการเพื่อความจริงและการสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission) ที่ให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์เพื่อให้สังคมได้รับรู้ พร้อมกับให้ผู้กระทำการมาแสดงความรับผิดชอบและรับการให้อภัย ไม่ต้องรับโทษทางคดีความ

หากเรายังมีความโกรธความเกลียดอยู่ในใจ ถูกจองจำอยู่ในข้อจำกัด ย่อมทำให้เราไม่เกิดปัญญา ไม่อาจให้อภัยใคร แต่ถ้าหากเราสามารถข้ามทะลุกรอบความคิดเดิมๆ ความเชื่อเดิมๆ ของเราไปได้ เราอาจพบทางออกและทางเลือกอย่างเช่นการใช้ “การสื่อสารด้วยความกรุณา” (Compassionate/Non-violent Communication) ซึ่ง ดร.มาร์แชล บี. โรเซนเบิร์ก ได้บอกเล่าผ่านหนังสือชื่อ We Can Work It Out ( แก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติและมีพลัง) ว่าความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาที่กำลังจะหย่าร้าง และระหว่างชนเผ่าที่รบราฆ่าล้างกันนั้นสามารถแก้ไขและได้รับเยียวยาด้วยวิธีการนี้มาแล้ว (ผู้สนใจสามารถอ่านได้ที่ http://jitwiwat.blogspot.com ผู้เขียนได้อ่านและร่วมฝึกอบรมกับคุณไพลิน โชติสกุลรัตน์ ผู้แปล รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ยากอย่างที่เคยคิด และมีความหวังกับสถานการณ์ในปัจจุบันขึ้นอีกมาก)

กรณีอย่างแอฟริกาใต้ และอีกหลายกรณีเช่นนี้ จะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าผู้คนในสังคมนั้นๆ ไร้เสียแล้วซึ่งจินตนาการและจิตใจที่ยิ่งใหญ่พอ

หากเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วจิตนาการและจิตที่ใหญ่นี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ จะเป็นไปได้ไหมที่ชาวไทยทุกคนจะเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างพร้อมเพรียงเท่าๆ กัน?

คำตอบของคำถามนี้อาจเป็นผลงานวิจัยจำนวนมากซึ่งระบุว่าสมาธิและความตั้งใจ (Intention) ของมนุษย์เรานั้นสามารถสร้างผลในโลกกายภาพได้ เช่น ลดอัตราอาชญากรรม ลดอัตราการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร หรือเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีสมาธิและความตั้งใจในสิ่งเดียวกันเท่าๆ กัน แต่ขอแค่จำนวนที่เป็นสัดส่วนเพียงพอที่จะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนหนึ่งๆ สัดส่วนที่ว่านั้นคือ รากที่สองของหนึ่งเปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรในชุมชน สำหรับประเทศไทยแล้ว คนไทยจำนวน ๖๓ ล้านคนอาจยังไม่เริ่มพร้อมกันก็ได้ แต่เพียงแค่มีคนที่เริ่มก่อนในจำนวนสัดส่วนดังว่า นั่นคือแค่ไม่ถึงแปดร้อยคน ไม่ถึง “แปดร้อยคน” เท่านั้น

ประการสำคัญคือ จินตนาการที่ใหญ่พอและจิตที่ใหญ่พอนี้ ทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย หากเรามีความกล้า กล้าพอที่จะคิด กล้าพอที่จะหวัง กล้าพอที่จะศรัทธา

เราต้องกล้าที่จะศรัทธาว่ามนุษย์ทุกคนเรียนรู้ได้ เปลี่ยนแปลงได้ หลายครั้งเราได้ยินตัวอย่างองคุลีมาลซึ่งแม้อาจฟังดูเฝือ แต่ว่ามันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตนเองได้ หากเราไม่ให้โอกาสเขา ก็เท่ากับเราไม่ให้โอกาสตัวเราเองด้วย

เราต้องกล้าที่จะศรัทธาในความเป็นไปได้จากสภาวการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ (Thinking the Impossible) เหมือนอย่างคนที่เชื่อมั่นอย่างยิ่งยวดในการผ่าทางตันด้วยความรุนแรง เราต้องเชื่อมั่นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันว่า ในความที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลยนั้น มันมีความเป็นไปได้ของสันติภาพอยู่ เนลสัน เมนเดลา ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนแรกของแอฟริกาใต้กล่าวว่า “มันดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เลย จนกระทั่งมันได้เกิดขึ้นจริงๆ”

เราต้องกล้าที่จะศรัทธาว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงภายในตัวเราเอง (Self-transformation) การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เราทำได้เอง โดยไม่ต้องรอผู้มีอำนาจสั่ง ไม่ต้องรอผู้นำหรือแกนนำจากภายนอก เป็นการคืนอำนาจและอิสรภาพมาสู่ตัวเราอย่างแท้จริง

การเปลี่ยนแปลงตัวเองที่สำคัญที่สุด คือ การเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ไปพ้นมุมมองแบบทวิลักษณ์ ที่มองสิ่งต่างๆ ว่าเป็นขั้วตรงข้าม คือ ไม่ขาวก็ดำ ไม่ถูกก็ผิด ไม่ดีก็เลว การเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นในบ้านเราก็เป็นผลพวงของกระบวนทัศน์เช่นนี้ และเป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชุดความคิดความเชื่อที่เราใช้กันอยู่ที่แบบแยกส่วน เน้นวัตถุมากกว่าจิตใจ และสุดโต่งสองขั้ว นั้นไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตร่วมกันเสียแล้ว ดังที่ไอน์สไตน์บอกว่า “เราต้องการวิธีการคิดแบบใหม่ ที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง หากมนุษยชาติจะยังคงอยู่รอดอยู่ได้”

ลูกเจี๊ยบดิ้นขลุกขลักในเปลือกไข่และหนอนผีเสื้อในรังไหมจะว่าไปแล้วก็เป็นเหมือนที่ทฤษฎีไร้ระเบียบบอกไว้ว่า ในระบบพลวัตรที่อ่อนไหวต่อสภาวะเริ่มต้น หากระบบมีความสั่นไหว เกิดความไร้ระเบียบถึงระดับหนึ่งที่มากพอ ระบบจะปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเกิดระเบียบ (order) ใหม่ และระเบียบหรืออนาคตที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับสภาวะเริ่มต้น ณ ขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบเช่นใด

ฉันใดก็ฉันนั้น เราจึงต้องเร่งสร้างการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง ทั้งเรื่องจินตนาการและจิตที่ยิ่งใหญ่ เพื่อว่า ณ เมื่อจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นมาถึง เราจะได้มีคนจำนวนมากพอที่รู้วิธี มีจิตที่ว่าง แจ่มใส ยิ่งใหญ่ และมุ่งมั่น สามารถจะนำพาสังคมไปสู่อนาคตที่ยิ่งใหญ่ เหมือนลูกไก่ที่กะเทาะออกจากเปลือก และมีสันติภาพร่วมกันได้ เหมือนผีเสื้อที่โบยบินออกจากรังดักแด้

Back to Top