กรกฎาคม 2005

ความเป็นฮีโร่กับวิทยาศาสตร์ใหม่

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 30 กรกฎาคม 2548

ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านงานของวงจิตวิวัฒน์คงจะพอเริ่มเข้าใจบ้างแล้วเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันและวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างควอนตัมฟิสิกส์ ส่วนหนึ่งพวกเราตั้งสมมติฐานกันว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ไปติดกรอบกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่า เช่น การมุ่งควบคุมทุกอย่างด้วยอำนาจ การคาดถึงผลที่แน่นอนชัดเจน การแยกส่วนซอยย่อยเป็นกลไกแบบเครื่องจักร ตามที่ อ.หมอประสาน ต่างใจ ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน และท่านอื่นๆ อีกหลายท่านได้เขียนถึงไปบ้างแล้ว

การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ที่กรอบคิดและใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่เหมือนกับที่ อ.หมอประเวศ วะสี พูดถึงคำพูดของไอน์สไตน์เสมอๆ ว่า “No Problem can be solved from the same consciousness that created it” วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นเป็นตรงกันข้าม ที่พอจะเขียนเป็นหลักใหญ่ๆ ได้ก็คือ ปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย เข้าใจความไม่แน่นอนและมองเห็นความเชื่อมโยงของทุกสิ่ง

วิทยาศาสตร์เก่าไม่ได้ผิด เพียงแต่มีข้อจำกัดที่ไม่ได้มองให้เห็นภาพรวมทั้งหมดเหมือนตาบอดคลำช้างที่ได้ภาพเป็นส่วนๆ และมองไม่เห็นความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันของส่วนต่างๆ ที่มากไปกว่าความเป็นกลไกแบบเครื่องจักร

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจร่วมกันในเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยเวลาอีกสักช่วงหนึ่ง แต่ก็จะต้องเป็นไปตามกระบวนการทางวิวัฒนาการ เหมือนเวลาที่เรานั่งอยู่ริมทะเลแล้วมองดูขอบฟ้า เราทุกคนก็จะมองเห็นว่าขอบฟ้ามันโค้งเพราะเรารู้ว่าโลกกลม แต่ทำไมขอบฟ้าขอบเดียวกันนี้คนที่อยู่ในศตวรรษที่ 14-15 ถึงมองไม่เห็นว่ามันโค้งละ? แต่กลับเห็นขอบฟ้าขอบนี้เป็นเส้นตรง ก็เพราะว่าคนในสมัยนั้นคิดว่าโลกแบนนั่นเอง กว่าที่วิทยาศาสตร์ (แบบเก่า) จะพิสูจน์ตรงนี้ให้คนส่วนใหญ่เชื่อได้ก็ใช้เวลาร่วมร้อยปี ตอนนี้จะให้คนเข้าใจวิทยาศาสตร์แบบใหม่ก็คงไม่ง่ายนัก เพราะมนุษย์เราก็เพิ่งจะค้นพบวิทยาศาสตร์ใหม่นี้มาไม่นานเท่าไรนัก การฝังรากลงลึกในความคิดของความเป็นวิทยาศาสตร์เก่าอยู่ในความคิดของมนุษย์นานกว่าสามร้อยปีมาแล้ว

ผมคิดว่าจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องทำความเข้าใจตรงนี้ร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน และบทความในวันนี้ ผมอยากจะเขียนถึงความแตกต่างที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งระหว่างวิทยาศาสตร์เก่าและวิทยาศาสตร์ใหม่ที่เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ ก็คือ “ความเป็นฮีโร่”

วิทยาศาสตร์เก่านั้นจะเชื่อความเป็นฮีโร่ นิยมความเป็นฮีโร่ เพราะภายใต้กรอบคิดแบบนิวตันนั้น (F=ma) การออกแรงมากย่อมเกิดการเคลื่อนที่มาก ออกแรงน้อยย่อมเกิดการเคลื่อนที่น้อย ฮีโร่คือคนที่สามารถออกแรงได้มาก สังคมจึงต้องการฮีโร่เพื่อมาขับเคลื่อนสังคมให้เคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง ต้องการผู้นำที่เข้มแข็งอะไรประมาณนั้น แนวคิดเรื่องนี้ไม่ได้ผิด แต่เป็นความถูกต้องเฉพาะกับวัตถุและมีข้อแม้อีกหนึ่งข้อก็คือ วัตถุชิ้นนั้นจะต้องเป็นวัตถุที่มีความเร็วไม่มากไปกว่าความเร็วของแสงเท่านั้น ทั้งยังใช้ไม่ได้กับวัตถุเล็กๆ ในระดับอะตอมอีกด้วย

มีข้อสังเกตตรงนี้ว่า “คนและสังคมเป็นสิ่งมีชีวิต” การใช้แนวคิดแบบกลไกนี้กับคนและสังคมจึงอาจจะใช้ไม่ได้ (มั๊ง)

วิทยาศาสตร์ใหม่โดยเฉพาะทฤษฎีไร้ระเบียบนั้นบอกว่า ในระบบที่มีความไร้ระเบียบนั้นจะสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบได้โดยเกิดจากการเปลี่ยนของจุดเล็กๆ ในระบบ ผ่านวงจรขยาย (Amplify Loop) คล้ายๆ กับเครื่องขยายเสียง เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Butterfly Effect” หรือคำพูดที่ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า “ผีเสื้อขยับปีกที่ปักกิ่งแล้วทำให้เกิดพายุทอร์นาโดที่ฟลอริด้า” ตามแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่การเปลี่ยนแปลงของระบบจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ฮีโร่” แต่จะขึ้นอยู่กับจุดเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกันเป็นชุมชนแล้วขยายผลตามเหตุตามปัจจัยที่เหมาะสม

ยกตัวอย่างเช่นกำแพงเบอร์ลินที่พังทลายลงได้ มิใช่เพราะฮีโร่แบบปัจเจก หากแต่เป็นเพราะชุมชนเล็กๆ ในเยอรมันเกิดการรวมตัวกัน กฎหมายที่ให้สิทธิ์เท่าเทียมกันเรื่องผิวสีในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นมาได้ในช่วงทศวรรษ 60 ก็มิใช่เพราะฮีโร่ แต่เป็นเพราะผู้หญิงผิวดำบ้านนอกธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจไม่ยอมลุกขึ้นให้ที่นั่งกับคนขาวบนรถเมล์ในวันหนึ่ง แล้วเกิดการรวมตัวของคนผิวดำจำนวนมากมายที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและปรากฏการณ์อื่นๆ ในธรรมชาติล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความจริงในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

วิทยาศาสตร์ใหม่จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ฮีโร่” มากไปกว่าการเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม นอกจากนี้ ถ้าเราดูดีๆ การปรากฏตัวของ “ฮีโร่” กลับจะเป็นการรบกวนและอาจจะถึงขั้นทำลายกระบวนการที่ควรจะเป็นไปในระบบตามที่ควรจะเป็นไปด้วยซ้ำ เพราะ “ฮีโร่” มักจะใช้อำนาจ เมื่อใช้อำนาจก็ย่อมเกิดความไม่เท่าเทียม รบกวนระบบและยังจะทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นตามมามากมาย

ปีเตอร์ เซ็งเก (Peter Zenge) ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการบริหารงานธุรกิจหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือที่ชื่อ The Fifth Discipline ที่โด่งดังมากร่วมกับโจเซฟ จาวอร์สกี (Joseph Jaworski) ผู้เขียนหนังสือชื่อ Synchronicity และยังเป็นผู้ก่อตั้ง ALF (American Leadership Forum) ที่มีชื่อเสียงมากในสหรัฐอเมริกาและออตโต ชาร์มเมอร์ (Otto Scharmer) กับเบ็ตตี้ ซู ฟาวเวอร์ (Betty Sue Flowers) ทั้งสี่คนนี้ได้ร่วมกันเขียนหนังสือที่น่าสนใจมากๆ เล่มหนึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อกลางปี 2004 นี้เอง ชื่อ Presence ในหนังสือเล่มนี้เขียนว่า “ความเป็นผู้นำแบบฮีโร่” นั้นอาจจะมีความจำเป็นในอดีต ประมาณว่าแบบประเทศจีนเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน แต่อาจจะ “ไม่ใช่” สำหรับยุคสมัยปัจจุบันเสียแล้วและในหน้าที่ 191 ของหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า “ความเป็นผู้นำในโลกอนาคตอันใกล้นี้ควรจะเป็นเรื่องของกลุ่ม สถาบัน ชุมชนหรือเครือข่าย ไม่ใช่ความเป็นผู้นำแบบปัจเจกบุคคลเหมือนกับที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป

ในมุมมองแบบนี้การก่อเกิด “ความเป็นผู้นำ” จึงไม่ใช่อยู่ที่ “ตัวตน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนใดคนหนึ่ง หากแต่จะอยู่ที่ “พลังงานของกลุ่ม” เป็น “พลังงานที่ซ่อนเร้นอยู่” ที่พลังงานเหล่านี้สามารถ “ผุดบังเกิด” หรือ “โผล่ปรากฏ” ออกมาได้ก็ต่อเมื่อมี “กระบวนการ” ที่เหมาะสม ได้แก่ การอยู่กับปัจจุบัน การใคร่ครวญร่วมกัน การรับรู้และรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ความเท่าเทียมและการแขวนการตัดสิน

ด้วยความเข้าใจแบบนี้ ความเป็นผู้นำแบบวิทยาศาสตร์ใหม่จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “ฮีโร่” ในความหมายแบบเก่าที่เข้าใจกันมาตลอด ด้วยความเข้าใจใหม่แบบนี้เราก็จะมองเห็นได้ว่า “ความเป็นผู้นำ” ไม่จำเป็นจะต้องอาศัย “ฮีโร่” (ที่มีแรงมากเพื่อออกแรงมาก) อีกต่อไปหากแต่ต้องการ “ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน” แล้วไว้ใจให้ “สาระสำคัญของความเป็นผู้นำ” ผุดบังเกิดออกมาในเวลาที่เหมาะสม

ผมคิดว่าพวกเราได้มาถึงยุคที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ใหม่ให้เหมาะสมกันแล้ว มิเช่นนั้นเราก็คงจะมิอาจแก้ไขปัญหาใดๆ ได้เลย ถ้ายังคงมีกรอบคิดแบบเดิมและใช้อำนาจแบบฮีโร่ในสมัยก่อน

สงัดและสันโดษ



โดย เดวิด สปินเลน
วนิสา สุรพิพิธ แปล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2548

อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ยุคใหม่ โดยเฉพาะผู้คนในเมืองใหญ่หวาดผวามากที่สุด?

จะเป็นการก่อการร้าย น้ำท่วม แผ่นดินไหว ตกงาน หรือว่าอาชญากรรม? ตามความเห็นของผู้เขียน คำตอบก็คือ ความสงัดเงียบและความสันโดษ

พวกเราล้วนถูกรายล้อมด้วยเสียง และบ่อยครั้งเราก็ไม่รู้สึกตัวเสียด้วยซ้ำไป เสียงจากยวดยานพาหนะ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อโฆษณา ฯลฯ มีอยู่เกือบทุกหนทุกแห่ง ห้องอาหารโดยมากเปิดเพลงจากวิทยุคลอ และมักจะเปิดโทรทัศน์พร้อมกันถึง ๒-๓ เครื่อง สถานีโทรทัศน์ก็พากันถ่ายทอดเกมโชว์หรือละครน้ำเน่า สถานีรถไฟลอยฟ้าก็มีจอภาพดิจิตอลขนาดใหญ่ฉายสื่อโฆษณาเป็นหลัก ห้องผู้โดยสารนั่งรอที่สนามบินก็มีโทรทัศน์จอใหญ่หลายเครื่องเปิดทิ้งไว้ อันที่จริง แทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย หากเราอยากหาที่เงียบๆ สักแห่งเพื่ออ่านหนังสือหรือพูดคุยกับใครสักคน

เมื่อหลายเดือนก่อน ผู้เขียนไปหาหมอโรคหัวใจ โทรทัศน์ในห้องนั่งรอของผู้ป่วยนั้นเปิดเสียงดังมาก จนกระทั่งต้องออกมานั่งอยู่ตรงทางเดิน พอบ่นเรื่องนี้กับหมอ โดยบอกว่ามันทำให้เครียดแค่ไหน และก็ไม่ช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจเลย หมอบอกว่าคนไข้ชอบดูรายการเหล่านั้น (อย่างที่เราทราบโรงพยาบาลสมัยใหม่นั้นไม่ใช่สถานที่สำหรับการรักษาพยาบาล)

ร้านค้าย่อยในตลาดหรือร้านเล็กๆ ในซอยบ้านผู้เขียนมักจะมีโทรทัศน์เครื่องเล็กตั้งอยู่และมีคนนั่งดูวันละหลายๆ ชั่วโมง เมื่อรวมทั้งหมดนี้เข้ากับสิ่งเสพติดยอดฮิตล่าสุดในปัจจุบัน-โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ชิ้นนี้ตอกย้ำทำให้เรามั่นใจว่าจะไม่มีวันรู้สึกโดดเดี่ยว- ที่สุดแห่งความน่าสะพรึงกลัว และไม่ว่าจะมีใครใส่ใจกับเสียงเหล่านี้หรือไม่ก็ตาม คลื่นเสียงก็ยังคงเดินทางเข้าสู่ตัวเราและก่อให้เกิดความเครียด

หลายคนหลายครอบครัวรับประทานอาหารหน้าจอโทรทัศน์ เด็กใช้เวลานับพันชั่วโมงจ้องดูโทรทัศน์และถูกจู่โจมด้วยโฆษณาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ดังนี้ จึงเชื่อได้ว่าพวกเขาจะกลายเป็นผู้บริโภคที่ถูกมอมเมาได้ที่ ทันกับตอนที่เติบโตถึงวัยเข้าโรงเรียนพอดี

ทุกครั้งที่เข้าไปในห้างสรรพสินค้า รู้สึกเสมือนกับว่าได้เข้าไปในโรงพยาบาลบ้า มีเสียงและโฆษณาดังอยู่ทุกที่ ในซุปเปอร์มาร์เก็ตมีกระทั่งอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำงานเมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ และฉายโฆษณาผลิตภัณฑ์บนจอแถวนั้น ทุกหนแห่งที่คุณไปจะมีการข่มขืนโสตประสาท

หูของคุณถูกสอดแทรกด้วยเสียงโดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจ

ราว ๑๕ ปีก่อน ได้เข้าฟังการบรรยายโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน กล่าวถึงงานวิจัยและการทดลองชิ้นหนึ่ง โดยเขานำผู้บริหารสองสามคนเข้าไปไว้ในบ้านกลางป่าลึกช่วงสุดสัปดาห์ โดยไม่ยอมให้คนเหล่านั้นพกพาโทรศัพท์มือถือและโน้ตบุ๊กเข้าไปด้วย ในบ้านไม่มีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือเครื่องโทรสาร ผู้บริหารเหล่านั้นประสบกับความเครียดและบางคนไม่สามารถทนได้ นักจิตวิทยาท่านนั้นชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่แท้จริงก็คือ พวกเขาไม่อาจอยู่กับตัวเองตามลำพังได้

ในโลกยุคใหม่ทุกวันนี้ ผู้คนโดยมากไม่อาจอยู่กับตัวเองตามลำพังได้

ทำไมล่ะ?

ก็เพราะว่ามันอาจทำให้พวกเขามองเห็นว่าชีวิตของตนนั้นว่างเปล่าและไร้จุดหมายเพียงใด

มันอาจทำให้มองเห็นว่าชีวิตของตนคล้ายหุ่นยนต์ในขณะที่ติดแหง็กอยู่ท่ามกลางการจราจรในแต่ละวันเพื่อไปทำงานอันน่าเบื่อ

มันอาจเป็นชั่วขณะที่ได้เห็นว่าตนเองรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายเพียงใด และตระหนักว่าไม่ว่าจะได้รับประทานไปมากแค่ไหน จะดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ไปมากเพียงใด หรือซื้อของในห้างไปอีกกี่ชิ้น พวกเขาก็ยังคงรู้สึกว่างโหวงในวันพรุ่ง

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยได้ยินครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณท่านหนึ่งกล่าวดังนี้ ชีวิตคนเราจำต้องตอบ ๓ คำถามนี้ให้ได้ก่อนตาย

คำถามแรก-มาจากไหน? คำถามที่สอง-ทำไมถึงมีชีวิตอยู่? คำถามที่สาม-ตายแล้วไปไหน? หากไม่ได้ตอบสามคำถามนี้ก่อนตาย แล้วการเกิดมาเป็นมนุษย์จะมีความหมายอะไร?

เราจะหาคำตอบสำหรับทั้งสามคำถามนี้ได้จากที่ไหน? ก็ในที่ที่คนส่วนมากไม่ปรารถนาจะมอง เพราะมันช่างน่าหวั่นหวาดและลำบากยากเข็ญ-ในความสงัดเงียบและความสันโดษ-จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่ผู้คนโดยมากชื่นชอบมลพิษทางเสียง

จากมายาคติสู่มายากล:
จากภาพลวงตาของชีวิต สู่โรคจิตสำนึกบกพร่อง

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2548

ชื่อของบทความนี้มีลักษณะที่เป็นอุปมาอุปไมย ต้องการสื่อให้มีความหมายและจินตภาพที่กว้างและยืดหยุ่น ไม่มีเจตนาที่จะสื่อว่ามายากลเป็นสิ่งไม่ดี หรือนักมายากลเป็นคนเลว เพราะนักมายากลเขารู้ตัวว่าเขากำลังทำสิ่งต่างๆ ให้ดู “เสมือนจริง” เพื่อสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับผู้ชมการแสดง นักมายากลเป็นอาชีพหนึ่งของการแสดง ถ้าแสดงได้ดีก็จะได้รับการยอมรับจากผู้ชมว่าเป็นนักแสดงมืออาชีพ

แต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของรัฐในทุกระดับและทุกประเภท ไม่ใช่นักแสดง ประชาชนไม่ต้องการความประทับใจหรือความประหลาดใจจากการแสดงให้ดูเสมือนว่าจริง เฉกเช่นเดียวกับนักมายากล ประชาชนต้องการผู้บริหารที่เป็นคนดี มีคุณธรรมจริง

ประชาชนต้องการผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของรัฐทำงานเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม และของประเทศชาติที่แท้จริง

ประชาชนไม่ต้องการเห็นการแสดงที่ดูเสมือนว่าท่านเป็นคนดี มีคุณธรรม ทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ เพราะการแสดงเก่งไม่ใช่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้แสดงเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว บ่งบอกแต่เพียงว่าท่านแสดงเก่ง เป็นมืออาชีพทางการแสดงเท่านั้น

ความดี ความมีคุณธรรม การเป็นคนดี การเป็นคนมีคุณธรรม เป็นเรื่องภายในของคนๆ นั้น ที่วิวัฒน์มาจากการเรียนรู้ การได้รับการอบรมสั่งสอน ภายใต้บริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน และสำแดงออกมาเป็นพฤติกรรมภายนอกให้ผู้อื่นได้รับรู้

ถ้าพฤติกรรมภายนอกที่ปรากฏสอดคล้องกับพฤติกรรมภายใน คือการคิดถูกคิดชอบ ที่มาจากความคิดที่ถูกที่ชอบ ก็น่าจะสรุปได้มั่นใจพอควรว่า ดี “จริง” ไม่ใช่แค่ดูดี “เสมือนจริง”

ถ้าพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมา เกิดจากการคิดที่ไม่ถูกไม่ชอบ ที่มาจากความคิดที่ไม่ถูกไม่ชอบ แล้วเสแสร้งหรือมีเจตนาแสดงให้ดูเสมือนว่าท่านเป็นคนดี มีคุณธรรม มีความคิดและเจตนาที่ดีต่อผู้อื่นต่อประเทศชาติ

ท่านก็ไม่ใช่ผู้บริหาร หรือไม่ใช่พนักงานของรัฐในความหมายที่ควรเป็น ท่านเป็นแค่ผู้ประกอบอาชีพมายากล ที่แม้แต่นักมายากลมืออาชีพที่แท้จริงก็ไม่ยอมรับให้ร่วมสถาบัน


มาเป็นคนดี คนมีคุณธรรม ด้วยการคิดดี คิดถูก คิดชอบต่อสรรพสิ่ง ต่อประเทศชาติ ต่อชุมชน ต่อครอบครัว ต่อตนเอง และต่อมวลมนุษยชาติ ด้วยการสำแดงออกทางการกระทำอย่างมีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม

แล้วท่านจะเป็นคนดี คนเก่ง ที่อยู่ในใจของประชาชนตลอดไป เป็นรัฐบุรุษ เป็นรัฐสตรีของประเทศและของโลกที่จะถูกจารึกไว้

และที่สำคัญท่านจะเป็นเชื้อดี สิ่งแวดล้อมดี เป็นตัวแบบที่ดีให้แก่ลูกหลานและเยาวชนในรุ่นถัดๆ ไป

มาช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์ของความดีให้ทั่วแผ่นดิน

มาช่วยกันสร้างความชุ่มชื่น เย็นฉ่ำ และเติมปุ๋ยชีวธรรมชาติ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีเหล่านั้นได้เจริญเติบใหญ่ด้วยความมั่งคงอย่างยั่งยืน ... จะดีไหม ?

มาใช้สมองส่วนหน้าให้มากกว่าสมองส่วนใน สร้างจิตสำนึกใหม่ ที่วิวัฒน์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ... จะดีไหม ? (แม่ขอร้อง)

เมื่อไหร่มนุษย์จะ “ตื่นรู้” ด้วย “ปัญญา” ไม่ใช่แค่ “ตื่นเต้น” และ “ตื่นตัว” แล้ว “เต้นตาม” กับ “ความรู้” ที่อ้างว่า “ใหม่” และ “ทันสมัย” แล้วยึดเป็นสรณะ เป็นวิถีดำเนินชีวิต

เพราะ “ความรู้” จำนวนมากมาจากฐานคิดที่ไม่ถูกต้อง ความรู้จำนวนมากมาจากมายาคติ

ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่จะรู้เท่าทัน เราก็จะ “หลง” และ “ไหล” ไปตามกระแสของความรู้ใหม่ที่เสมือนจริง แล้วเราก็ “ไหล” และ “หลง” อย่าง “หลงใหล” กับ “สังคมฐานความรู้” (Knowledge Based Society) และ “เศรษฐกิจฐานความรู้” (Knowledge Based Economy) จนทำให้เราขาด “เสรีภาพทางความคิด” ขาด “อิสรภาพทางปัญญา” เพราะเราได้พัฒนากลไกที่เสมือนจริงขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ จากฐานคิดเศรษฐกิจสุดโต่ง มายาคติที่ครอบงำไปทั่วโลก

ตัวอย่างกลไกหรือมายากลที่ผู้ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในคุกความคิดเศรษฐกิจสุดโต่ง ที่เรียกใหม่ให้ดูดีว่า เศรษฐกิจฐานความรู้ พัฒนาขึ้นมาอย่างแนบเนียน อย่างซ่อนเร้นเจตนาที่ถูกชักพาด้วยอคติ อวิชชา และกลายเป็นมายาคติในสังคมฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้ ได้แก่


  • ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม
  • การค้าเสรีและข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่เน้น “การค้าเสรี” มากกว่า “ความยุติธรรม” เน้น “สินค้าและความสะดวก (ความได้เปรียบ) ทางการค้า” มากกว่า “คนและศักดิ์ศรีของคน” เน้น “คนรวย/คนมีทุน” มากกว่า “คนจน คนด้อยโอกาส” เน้น “ความได้เปรียบ/เสียเปรียบ” มากกว่า “ความเท่าเทียม/เสมอภาค” เน้น “การแข่งขัน” มากกว่า “การร่วมมือ” เน้น “ประโยชน์ของฉัน” มากกว่า “ประโยชน์ของเรา” ... (ผู้อ่านลองคิดดูว่า บนโต๊ะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ผู้แทนของแต่ละประเทศที่ร่วมเจรจา เขาคิดและเจรจาด้วยสมองซีกซ้าย หรือซีกขวามากกว่า เขาคิดและเจรจาด้วยสมองส่วนนอกหรือสมองส่วนในมากกว่า เขากำลังแสดงบทบาทสมมติ (Role Play) ตามบท (Script) ที่เขาได้รับให้เล่น (มายากล) หรือเขากำลังสะท้อนความเป็นเพื่อนร่วมโลกที่มีเจตนาที่ดีต่อกัน
  • ระบบมาตรฐานคุณภาพระบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาและใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาต่อรองทางการค้า เป็นเรื่องที่เน้นคุณภาพจริงๆ หรือเน้นการป้องกันความเสียเปรียบทางการแข่งขัน และในการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ เป็นการปฏิบัติด้วยจิตสำนึกคุณภาพ (Quality Mind) หรือแค่ทำตามระบบ


มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านลองช่วยกันคิดดูว่ายังมี “มายากล” อะไรอีกบ้าง ที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักบริหารที่ได้รับการยอมรับระดับโลกว่าเป็น “เซียน” เป็น “กูรู” เป็น “ปรมาจารย์” เขาสร้างขึ้นมาครอบงำระบบการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อระบบสังคมและวัฒนธรรมของคนทั่วโลก

ยังมีกลไก ระบบ หรือมายากลอะไรที่ผู้รู้เหล่านั้น ที่ผู้เขียนอยากจะเรียกว่า “จอมขมังเวทย์” เหล่านั้นเสกสรรขึ้นมา จนทำให้โลกของเราสับสน ปั่นป่วน และไร้ระเบียบอย่างผิดธรรมชาติ อย่างผิดทำนองคลองธรรม คุณธรรมจริยธรรมของคนในโลกเสื่อมถอยลง ทรัพยากรทางธรรมชาติถูกทำลายล้างเพิ่มมากขึ้น ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมรุนแรงมากขึ้น

ถ้าท่านคิดได้คิดออก ช่วยส่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบ้าง

เราปล่อยให้นักมายากลเขาเล่นมายากลเพื่อเลี้ยงชีพโดยสุจริตต่อไป

ส่วนนักวิชาการ นักคิด นักบริหารและผู้นำองค์กรต่างๆ และโดยเฉพาะของรัฐ ไม่ควรจะไปแสดงมายากลแข่งกับนักมายากล ด้วยการเป็นนักมายากล ที่เล่นแร่แปรธาตุ ที่มีเจตนาจะแปลและแปลงกฎหมาย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและ “พวกพ้อง”

พวกเรามาช่วยกันสร้างแร่แปรธาตุ เพื่อเพื่อนมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม จะอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จะดีกว่าไหม ? (พระแม่ธรณีขอร้อง)

มาช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์ของความดีให้ทั่วแผ่นดิน

มาช่วยกันสร้างความชุ่มชื่น เย็นฉ่ำ และเติมปุ๋ยชีวธรรมชาติ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีเหล่านั้นได้เจริญเติบใหญ่ด้วยความมั่งคงอย่างยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย

ไถ่ - นัท ฮันห์

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2548



เวลาผมเล่าเรื่องของชีวิต ผมจะเริ่มต้นบ่อยๆ ว่า ครั้งหนึ่งในปี ๒๕๑๘ ที่วัดผาลาด ทางขึ้นดอยสุเทพ เชียงใหม่ ผมได้มีโอกาสรับใช้พระเถระรูปหนึ่งอย่างใกล้ชิด ไม่แน่ใจนักว่าท่านรับใช้ผม หรือผมรับใช้ท่านกันแน่? ท่านผู้นั้นคือ ไถ่ นัท ฮันห์

คำว่า ไถ่ เป็นภาษาเวียดนาม เป็นคำเรียกครูของเราอย่างสนิมสนมใกล้ชิด

ประสบการณ์บางอย่างจะอยู่เหนือคำบรรยาย ประสบการณ์ที่ผมได้เจอะเจอท่านและอยู่กับท่านก็เช่นกัน มันเป็นความทรงจำที่สามารถดึงกลับมาเป็นภาพ เหมือนกับว่าได้กลับไปอยู่ในประสบการณ์นั้นอีกครั้ง และมันจะอยู่กับเราไปอีกตลอดชีวิต ชีวิตของท่านได้มาดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว และเป็นหน่อเชื้อที่เติบโตไปได้ตลอด หากเรารู้จัดรดน้ำพรวนดิน




ประสบการณ์ทางศาสนาหรือการแสวงหาทางจิตวิญญาณมีแบบจำลองอยู่ในการรับรู้ของเราอย่างไร?

เรามองโลกมนุษย์ว่า "ดีแล้วกลับมาเสื่อมทราม เสื่อมทรามแล้วก็กลับมาดี" วนเวียนไปมาอยู่กับที่เช่นนี้หรือไม่ หรือว่าวนเวียนอย่างบันไดเวียน คือว่ามันจะเวียนขึ้นไปที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า? ถึงจะแย่ลงอย่างไร โดยรวมก็จะขยับไปในทางที่ดีขึ้นตลอดเวลา

เราจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด เราวัดการเจริญทางธรรมได้หรือไม่? หรือแท้จริงไม่ต้องวัด เพียงให้แต่ละคนเฝ้าดูตัวเอง



เรามีพื้นได้เรียนรู้จากท่านพุทธทาสมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่มาแล้ว ในเรื่องของการนำธรรมอันลึกซึ้งเข้ามาในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ไม่เอาธรรมะไปใส่ไว้บนหิ้ง หากนำลงมาไว้ในชีวิตผู้คนที่ใช้ชีวิตวันต่อวัน พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ทำให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น และท่านนัท ฮันห์ ได้เชื่อมโยงมิติของการทำงานเพื่อความดีงามทางสังคมเข้ามาอีกด้วย นั่นเป็นอะไรที่ผมได้จากการพบท่านเป็นครั้งแรก



ถ้อยคำของท่านก็ล้วนมีแต่การให้อภัย นั่นเป็นประสบการณ์ที่ผมได้จากการแปลบทละคร ทางกลับคือการเดินทางต่อ ของท่าน ร่วมกับเพื่อนคือ สันติสุข โสภณสิริ

ภายหลังมา ท่านยังมีความเห็นว่ากระบวนการชาวพุทธในเวียดนามใต้ ซึ่งสามารถล้มรัฐบาลได้หลายรัฐบาลนั้น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ท่านอยากให้ชาวพุทธให้โอกาสแก่รัฐบาลฝ่ายขวาเวลานั้นมีพื้นที่และเวลาในการทำงานมากกว่านั้น

เมื่อพี่เฟิง หรือเวลานี้คือภิกษุณีจันคัม อกหักจากการทำงานเพื่อโบตพีเพิลหรือชาวเวียดนามที่อพยพออกมาจากเวียดนามใต้ทางเรือหาปลาเล็ก-ใหญ่ ท่านนัท ฮันห์ ได้พาพี่เฟิงเดินไปในท้องทุ่งของฝรั่งเศสตอนใต้ แหล่งผลิตไวน์ชั้นเลิศ ครั้งละสองสามชั่วโมง ท่านบอกพี่เฟิงว่า เราต้องดูแลความโกรธเกลียดในตัวเราให้เบาบาง จึงจะกลับไปทำงานช่วยผู้คนได้



เรื่อง store consciousness หรืออาลัยวิญญาณ (ที่พำนักแห่งวิญญาณ) นั้นเป็นประเด็นสำคัญเมื่อท่านถอดคัมภีร์โบราณออกมาใช้ให้เข้าได้กับยุคสมัย มันคล้ายคลึงซ้อนทับอยู่กับเรื่องจิตไร้สำนึก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเลยเสียทีเดียว

จิต (หรือสมอง - อันนี้พูดอย่างสมัยใหม่แล้วและเป็นการตีความของผมเอง) ได้สร้างเครื่องไม้เครื่องมือทางจิตขึ้นมาเป็นเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ทั้งบวกและลบ คล้ายๆ เครื่องมือทางซอฟแวร์ที่เอาไว้ใช้เขียนซอฟแวร์อีกทีหนึ่ง เหมือนวิธีวิทยาที่เอาไปใช้ในการหาความรู้อีกทีหนึ่ง หรือเหมือนกระบวนท่าในหมัดมวยที่เอาไปก่อประกอบพลิกแพลงกระบวนยุทธในการต่อสู้อีกทีหนึ่ง

มันเป็นสถาบันแห่งจิตต่างๆ ในแง่มุมที่เป็นการปฏิบัติ ที่ดำเนินไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดเป็นวิถีที่คุ้นเคย กลายเป็นนิสัยหรือวินัยขึ้นมา แบบข้ามรุ่นคนไปหลายชั่วคน สั่งสมอยู่ในจิตไร้สำนึกของมนุษยชาติ ในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน มันจะเป็นทั้งบวกและลบ แต่จะใช่เจตสิกในอภิธรรมของทางเถรวาทหรือไม่ เรื่องนี้ต้องไหว้วานผู้รู้ท่านอื่นๆ ช่วยไขความ

ท่านนำเสนอเป็นเรื่องของคนสวนคือตัวเรา หรือมโนสำนึก หรือ consciousness หรือจิตสำนึก ทำการเพาะปลูก รดน้ำ พรวนดิน พีชะต่างๆ หรือพืชต่างๆ ถ้าจะให้เข้าใจอย่างง่ายๆ หากเราไปรดน้ำ ใส่ปุ๋ย
พรวนดิน ต้นโกรธบ่อยๆ สวนของเราก็จะรกไปด้วยต้นโกรธ ตรงกันข้าม ถ้าเราดูแลรักษาต้นเมตตากรุณา ต้นสติต้นเหล่านี้ก็จะงอกงามหนาตาในสวนของเรา ต้นเมตตากรุณานี้ให้ความร่มรื่นแก่จิตใจของเราเองด้วย คำอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือ สู่ชีวิตอันอุดม ของท่าน ที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แปลมา ใครสนใจในรายละเอียดย่อมหาอ่านได้



ศาสนจักรหรือองค์กรจัดตั้งทางศาสนาเป็นประเด็นที่ผมเฝ้ามองชุมชนของท่านอยู่ด้วยความระมัดระวัง

ดร.จารุพรรณ บอกกล่าวกับผมว่า เธอไม่รู้สึกเรียกร้องว่าผมจะต้องแสดงความกระตือรือร้นที่จะไปติดตามเฝ้าแหนคณะของท่าน ทั้งเมื่อมีท่านมาและไม่มี เธอว่าผมมีเมล็ดพันธุ์ของท่านอยู่ภายในแล้ว
มันคงคลี่บานไปตามกาลของมัน จารุพรรณเองก็อยู่ในกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งธรรมชาติของกลุ่มนี้จะเน้นรูปแบบการจัดตั้งที่น้อยที่สุด เน้นความเป็นเครือข่ายมากกว่าความเป็นองค์กร ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปในแนวนอนแห่งความเท่าเทียมกันมากกว่าความสัมพันธ์ในแนวตั้งที่มีตำแหน่งแห่งที่และเรื่องของอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง

องค์กรของท่านนัท ฮันห์ เป็นองค์กรจัดตั้ง เป็นศาสนจักรที่มีการจัดตั้ง มีการลดหลั่นกันของฆราวาส บรรพชิต มีการลดหลั่นกันของวงนอกวงใน และทั้งหมดมีวิถีปฏิบัติเหมือนกันหมด ซึ่งกลั่นกรองมาจากท่าน

แม้จะให้ความเป็นกันเองและเท่าเทียมกันมากขึ้นอย่างไร แต่ก็ยังมีการลดหลั่น ยังมีความไม่เท่าเทียมซึ่งเป็นธรรมดาของการจัดองค์กรในยุคที่ผ่านมาและในยุคนี้ แต่พวกเราในเครือข่ายที่ทำร่วมกันอยู่ ให้ความสำคัญกับ “องค์กรจัดการตนเอง” และ “collective leadership” หรือผู้นำแบบสมุหภาพหรือรวมหมู่
ซึ่งมีความแตกต่างออกไป แม้กระนั้น เราก็ยังเชื่อในความลดหลั่นทางธรรม เพียงแต่เราไม่เอาความลดหลั่นนั้นมากำหนดโครงสร้างทางอำนาจ คนที่เข้าถึงธรรมเสียอีกที่จะอยู่ด้านล่างของโครงสร้าง และทำหน้าที่ เป็นผู้นำผู้รับใช้ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและคุยได้ยาวมาก

แต่ที่สุดแล้ว ท่านคือเพชรเม็ดเอก และองค์กรจัดตั้งของท่านก็คงจะสรรค์สร้างอะไรให้แก่โลกนี้อีกมากมาย

หมดเวลาฝัน - มาสร้างสังคมใหม่กันเถอะ

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2548

ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนที่ห่วงใยลูกหลานห่วงใยประเทศชาติ ที่ไล่ไปถึงห่วงใยต่ออนาคตของเผ่าพันธุ์ ย่อมต้องรู้ว่าสังคมมนุษย์กำลังตกอยู่ท่ามกลางอภิปัญหามหาวิกฤติรอบด้านโดยไม่จำเป็นต้องสาธยายอะไรเพิ่มเติมอีก พร้อมกันนั้น สิ่งแวดล้อมธรรมชาติหลากหลายก็ล้วนตกอยู่ในสภาพเลวร้ายอย่างสุดๆ ด้วยสาระพันมลภาวะที่มนุษย์เราสร้างขึ้นจากการพัฒนาสังคมด้วยเทคโนโลยีเพียงหนึ่งร้อยกว่าปี จริงๆ แล้วหลายๆ คนยังรู้ว่าความเลวร้ายต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญหน้า - ที่ยังจะหนักหนาสาหัสยิ่งๆ ไปกว่านี้อีกมากนักในเวลาไม่ช้าไม่นานนับจากวันนี้ - จะนำพาเราไปสู่สภาวะชะงักงันของวิวัฒนาการของมวลชีวิตของโลก (mass global spasm or extinction) อีกครั้งหนึ่งหลังจาก ๖๕ ล้านปีก่อนที่ความชะงักงันระดับโลกได้ทำลายไดโนเสาร์ไปทั้งเผ่าพันธุ์ เราหวังกันว่าประวัติศาสตร์จะไม่ทับซ้ำรอยเดิม มนุษยชาติคงไม่จบสิ้นไปทั้งเผ่าพันธุ์เช่นไดโนเสาร์ เราหวังว่ามนุษยชาติจะสามารถตื่นและเปลี่ยนแปลงได้ทัน ฉะนั้นเราจึงหวังยิ่งกว่านั้นว่าท่ามกลางมหันตวิกฤติโลกในครั้งนี้ เราจะสามารถผ่านไปได้อย่างรอดปลอดภัย - อย่างน้อยด้วยจำนวนประชาโลกจำนวนหนึ่ง - แต่ที่กล่าวมานั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำอะไรเลย เราต้องทำและคงต้องทำมากด้วย บทความนี้จะเป็นข้อเสนอแนะการปฏิบัติวิธีหนึ่งที่ผู้เขียนได้เริ่มกระทำไปบ้างแล้ว (ส่วนมากโดยหลักการ) ที่จะกล่าวถึงในช่วงหลังของบทความนี้

วลีแรกของชื่อที่ตั้งไว้ข้างบนนั้น สำหรับนักคิดที่คิดเป็น เชื่อว่าคงไม่ใครหลงทางแล้วเข้าใจไปเองอย่างผิดๆ จากการมองเห็นและแปลสิ่งที่ถูกเห็น - ที่ตั้งอยู่ข้างนอกนั่นไง - หรือเห็นมายาภาพลวงตาว่าเป็นความจริงแท้ ดังนั้น ณ วันนี้ มนุษย์เราส่วนนี้จึงหมดเวลาฝันไปแล้วจริงๆ ส่วนวลีที่สองของบทความนี้ เป็นเรื่องของสังคมใหม่ที่เราจะต้องร่วมกันสร้างมันขึ้นมา และโดยรีบด่วนด้วย ดังที่ ธอมัส เบอร์รี กล่าวไว้ว่า สังคมมนุษย์จะดำรงคงอยู่ในอนาคตได้หรือไม่ ขึ้นกับว่ามนุษย์เราสามารถอยู่ร่วมกัน เข้าใจกัน และสื่อสารกันได้อย่างลึกล้ำกับธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงได้หรือไม่ (Thomas Berry: The Dream of the Earth, 2003) แต่ผู้เขียนคิดว่า เราต้องไม่เพียงเอาแต่ "ฝัน" แค่นั้น แต่เราต้องร่วมใจกันมุ่งมั่นปฏิบัติให้มันเป็น "จริง" ให้ได้ ถ้าหากเราต้องการให้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์อยู่รอด มนุษยชาตินะครับ ไม่ใช่คนไทยหรือคนอเมริกัน หรือคนยิวคนปาเสลไตน์ อันเป็นธีมที่นำหน้าที่สุดธีมหนึ่งของผู้เขียนมาร่วม ๑๔ ปี

สังคมอนาคตของมนุษยชาตินั้นจะต้องเป็นสังคมแห่งความรักเมตตาการให้อภัยกัน อันจะยังความสงบที่พอเพียงพอดีและยั่งยืน (ในมาตรของความเป็นธรรมชาติ) นั้นคือสังคมแห่งความงามพร้อมของพลาโตที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะประกอบด้วยคุณสมบัติสามข้อและยุทธศาสตร์หรือระบบการบริหารอีกหกระบบหรือหกประการ

คุณสมบัติอันเป็นคุณค่าของสังคมด้วยนั้น จะประกอบด้วย หนึ่ง ความงามหรือสุนทรียทัศน์ (aesthetics or the beautiful) สอง ความเขียวชะอุ่มจากนิเวศทัศน์ (the green or egocentrism) และ สาม สังคมที่มีวิวัฒนาการของจิตวิญญาณหรือธรรมจิต (spirituality) ของประชาชนโดยรวม - อย่างน้อยก็ที่ระดับล่างสุด - ที่ระดับแห่งความยุติธรรม (justness) และที่กล่าวมานั้น หากอยู่เฉยๆ คงเกิดขึ้นมาเองไม่ได้ นอกจากทำให้มันโผล่ปรากฏขึ้น และเจริญเติบโตออกมาเองโดยคนส่วนใหญ่ทั่วโลก และนั่นต้องการทั้งการปลูกฝังจากภายนอก และการสะท้อนออกมาจากภายในแทบจะเท่าเทียมกัน

ในขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชุมชนสู่คุณค่าเป้าหมายความพอเพียงพอดีและยั่งยืนที่ว่านั้น อยู่ที่การจัดการชุมชนระดับเล็ก (self-sustainable community) ที่ประกอบด้วยหกระบบตามที่ได้กล่าวไปแล้วโดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้ทุกระบบมีความพร้อม และแต่ละชุมชนจะเริ่มด้วยระบบใดก่อน - ก็ได้ - ขึ้นกับความพร้อมและความถนัดของกลุ่มนำในชุมชนนั้นๆ แค่เป้าหมายสุดท้ายคือหกระบบหกประการที่ว่านั้น โดยที่ทุกระบบจะทำงานประสานกันโดยยึดถือกระบวนการธรรมชาติเป็นแนวทาง ประกอบด้วย หนึ่ง ระบบการศึกษาที่สอดคล้องแนบขนานกับขั้นตอนของการเจริญเติบโตของเด็ก (model imperative and block potentials) ตั้งแต่ก่อนเกิดกับระหว่างวัยอนุบาล (Joseph Pearce and Michael Mendoza; Magical Parent Magical Child) โดยเน้นการเล่นและจินตนาการกับการสร้างสรรค์โดยเฉพาะวิวัฒนาการของจิตวิญญาณด้วยการทำสมาธิหรือสวดมนต์ไปตามวิถีปฏิบัติของศาสนาและวัฒนธรรมนั้นๆ สอง จัดให้มีสถานปฏิบัติวิปัสสนาสมาธิ วัดหรือสำนักศาสนา ที่ประชาชนในชุมชนสามารถปฏิบัติร่วมกันเป็นชุมชน (contemplative community) สาม ระบบเกษตรกรรมจะต้องเป็นไปแบบธรรมชาติ (natural multiple farming or organic farming & herding) สี่ ระบบเศรษฐกิจจะเป็นไปในรูปของระบบสหกรณ์ครบวงจรที่สมาชิกของชุมชนทุกคนมีส่วนร่วม ห้า ระบบพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ และ หก ระบบการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่มีการผสมผสานการแพทย์สมัยใหม่ การแพทย์ทางเลือกและธรรมชาติบำบัดที่ครบถ้วน รวมทั้งการปลูกป่าสวนสมุนไพรและสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (hospice) และศูนย์ดนตรีสุนทรียกรรมการออกกำลังกายที่ไร้การแข่งขันเป็นแชมเปี้ยน

การสร้างสังคมแห่งความจริงขึ้นใหม่แทนสังคมมายาภาพลวงตาหรือความฝันที่เรานำมาสร้างสังคมของเราในอดีต - กระบวนทัศน์เก่า - ให้เถลเฉไฉออกไปนอกทางความเป็นธรรมชาตินานกว่า ๓๐๐ ปี สังคมใหม่ที่จะประกอบด้วยหลักสามประการที่ยกมานั้น - ที่ - จริงๆ แล้วเราไม่ได้สร้างทั้งสามคุณสมบัติและหกระบบเหล่านั้นขึ้นมาทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องของคุณสมบัติสามประการ อันเป็นเป้าหมายของสังคมใหม่ - ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความงามที่งามพร้อมหรือเป็นเรื่องของความเขียวชอุ่ม หรือธรรมจิตขึ้นมาใหม่ แน่นอนทั้งหมดนั้นเป็นผลผลิตของจิตทั้งแผง แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่เป็นการสร้างของจิตรู้ (conscious mind) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าเป็นผลิตผลของจิตไร้สำนึก (unconscious) ซึ่งหากเราคิดให้ดีๆ จะพบว่า ส่วนหนึ่งของความคิดที่เป็นจิตรู้นั้นเองก็มีส่วนของจิตไร้สำนึกก่อประกอบขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว นั่นคือแม้ว่าจิตรู้ของมนุษย์เราจะเกิดจากการแยกกันเป็นสอง (dualism split) โดยการบริหารที่สมอง แต่สิ่งที่ถูกนำมาบริหารก็คือสนามจิตไร้สำนึกที่ประอบด้วยแรงหรือสสาร (material forces) กับคุณภาพ (quality) อยู่ดี และนั่นคือเนื้อหาสาระของ
กระบวนการวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า สังคมแห่งความจริงใหม่จะประกอบด้วยลักษณะสมบัติสามประการคือ ความงามสุนทรียทัศน์ หนึ่ง ความเขียวชะอุ่ม หนึ่ง กับความยุตธรรมที่เป็นบันไดขั้นแรกของธรรมจิตอีกหนึ่ง - วิวัฒนาการของจิตวิญญาณ (spirituality) อันเป็นต้นตอของ "ความหมาย" ของการดำรงอยู่และต้นตอของความรู้แจ้งของจิต (ไร้สำนึก) ที่เข้ามาอยู่ในภาย (นามรูป) จิตไร้สำนึกหรือจิตเหนือสำนึก จิตหนึ่งหรือแสงแรกที่กระจ่างใสที่เป็น "ขาลง" (descent or efflux) ของพลาโต-โพลตินัส ในณะที่นิพพานหรือ หรือ absolute หรืออัตมัน คือ "ขาขึ้นหรือขากลับ" (ascent or reflux) ของพลาโตหรือโพลตินัส

สังคมแห่งความงามหรือสังคมอุดมด้วยศิลปะสุนทรียภาพ "ที่เนื้อใน" นั้น ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นไปได้ เราคงต้องพยายามลบหรือลืมนิยามของทฤษฎีว่าด้วยศิลปะสุนทรียภาพตามที่ใช้กันในวันนี้ทิ้งไปทั้งหมด หรือตั้งแยกไว้ต่างหาก เป็นต้นว่า ทฤษฎีที่บอกว่าศิลปะคือการทำเลียนความเป็นจริง (imitation) จริงๆ แล้วมีนักคิดมากมายที่แปลความคิดทั้งของพลาโตและศิษย์เอก - อริสโตเติล - ไว้เป็นเช่นนั้นที่ดูจะง่ายเกินไป ส่วนอีกสองสามทฤษฎีที่ยังทรงอิทธิพลและแพร่หลายอยู่ทุกวันนี้ เช่น ทฤษฎีที่บอกว่าศิลปะเป็นผลพวงหรือสัมพันธ์กับความคิดร่วมของคนในสังคมหรือเป็นวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในเวลานั้น รวมทั้งทฤษฎีที่เคยทรงอิทธิพลในอดีต - เมื่อกว่าศตวรรษมาแล้ว - ที่ชี้บ่งว่า ศิลปะสุนทรียภาพเป็นผลผลิตของสภาพจิตที่ผิดไปจากนอร์มของสังคมของผู้สร้างงานศิลปะนั้นๆ ขึ้นมา ซึ่งในความคิดของผู้เขียน ทฤษฎีทั้งหมด รวมทั้งทฤษฎีที่เราคิดว่า เป็นความคิดของพลาโต อริสโตเติล นั้น เป็นการแปลงานศิลปะบนโลกียวิสัย หรือบนความเป็นสองของคนภายนอก ซึ่งผู้เขียนคิดว่า เป็นคนละเรื่องกับข้อเท็จจริงของจินตนาการของจิตที่ผ่านพ้นความเป็นตัวตนของผู้สร้างตามที่ได้เขียนไปแล้วหลายครั้ง

ความเขียวชอุ่ม หรือสังคมแห่งนิเวศทัศน์นั้นเป็นแกนเนื้อในหรือความจำของเผ่าพันธุ์ที่มีมาตั้งแต่โลกเราเริ่มมีวิวัฒนาการของ "ธรรมชาติแห่งชีวิต" รากเหง้าของชีววิวัฒนาการของสรรพชีวิต กระทั่งเป็นรหัสทางพันธุกรรมมาตั้งแต่เริ่มต้น - "บิ๊กแบงทางชีวภาพ" - ร่วม ๕๐๐ ล้านปีก่อน นั่นเรากำลังพูดถึงวิวัฒนาการทางกายภาพ - ที่มีจิตแห่งความทรงจำนอกมิติหรือข้างมิติเป็นเนื้อใน - มาตั้งแต่เวลาที่ยังไม่มีการเริ่มต้นขององค์กรแห่งชีวิต ดังนั้นเองที่นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งยุคใหม่แทบทุกคน - เมื่อพูดถึงธรรมชาติ - ก็มักจะแยกความหมายของคำว่าธรรมชาติ เพื่อความเข้าใจออกเป็นสองระดับ คือธรรมชาติระดับหยาบ ( nature ที่รับรู้ด้วยอายตนะภายนอก) กับธรรมชาติระดับละเอียด ( nature ที่รับรู้ด้วยจิตภายในหรือพระเจ้า) แต่บางครั้งผู้เขียนจะแบ่งระดับละเอียดต่อเป็นสองระดับคือระดับละเอียดทางกายภาพ (quantum domain) กับระดับละเอียดอย่างยิ่งหรือระดับจิตวิญญาณที่ไล่สูงขึ้นไปถึงนิพพานหรือพระเจ้า ความเขียวชะอุ่มหรือนิเวศทัศน์ในที่นี้เป็นเรื่องของธรรมชาติระดับหยาบที่รับรู้ด้วยอายตนะภายนอกทั้งหมด กระนั้นในระยะหนึ่ง ความรู้สึกเช่นนั้นจะสะท้อนกลับไปสู่ความประณีตที่ลึกล้ำ สู่ธรรมชาติที่ละเอียดอย่างยิ่งได้

สำหรับคุณสมบัติที่สาม ความยุติธรรมที่ชี้บ่งความหมายของธรรมจิตระดับกายภาพของธรรมชาติแห่งความพอเพียงพอดีและยั่งยืน เป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำสู่วิวัฒนาการทางจิตอันเป็นเรื่องภายใน หรือธรรมจิตดังที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างบน ดังที่จวงจื๊อกล่าวไว้ว่า "เมื่อเต๋าจากไปแล้ว ยังคงมีคุณธรรมความหมายเหลืออยู่ในสังคมพอที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยความดีงาม และเมื่อคุณธรรมความหมายจากไป ก็ยังมีความยุติธรรมที่เอื้อให้สังคมพอที่จะดำรงต่อไปได้บ้าง แต่หากความยุติธรรมก็จากไปด้วย ที่เหลือก็มีแต่พิธีกรรมที่จะก่อความวุ่นวายให้กับสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด"

เมื่อหลายวันก่อน นักศึกษาด้านนิติศาสตร์ปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ทำงานเป็นคนขับรถในเวลาว่างได้ถามผู้เขียนในขณะที่นั่งรถไปด้วยกันว่า สังคมอนาคตจะชี้บ่งบทบาทของนิติศาสตร์อย่างไร? ผู้เขียนได้ตอบว่า นิติธรรมเป็นความพยายามของสังคมแห่งกามโลกียะที่ตั้งบนความเป็นสองต้องการชนะ นั่นคือพยายามทำให้มันเป็น "หนึ่ง" ที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งเดียวที่เราทำได้ ในความเห็นของผู้เขียนนั้น เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่หมดไปมาก รวมทั้งเทคโนโลยีที่ส่วนนำก่อแต่สิ่งโสโครกมลภาวะที่ร้ายแรงให้กับโลก ดังนั้นการพัฒนาที่มีระบบเศรษฐกิจเป็นหัวใจ ระบบและรูปแบบทางเศรษฐกิจและการเงินการธนาคารแบบที่เรารู้จักจะค่อยๆ หายไป นั่นคือคดีความทางแพ่งนิติกรรมต่างๆ จะลดลงไปมาก แต่จะมีคดีอาญาเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งความเป็นกลางที่ทรงความยุติธรรมของงานด้านตุลาการ ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาพการณ์ทางสังคมภายในของสังคมนั้นๆ ว่า สามารถรักษาความสงบต่อไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่และอย่างไร เพราะในสภาพที่ไร้อารยธรรมจากความต้องการของประชาชนที่ปรับตัวไม่ทัน รัฐบาลในหลายๆ ประเทศจะไม่มีความมั่นคงหรือไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะทำให้องค์กรต่างๆ สามารถดำเนินไปเช่นปรกติได้

และนั่นอาจชี้บ่งได้ว่า เราโดยรวมต้องการสังคมใหม่แห่งความงามพร้อมที่กล่าวมาทั้งหมดอย่างเร่งด่วนอย่างไร?

Back to Top