2015

สถานะ อภิสิทธิ์ และอำนาจที่แฝงเร้น (๒)



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2558

ต่อจากความเดิมตอนที่แล้ว (ตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘) อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ Rank สื่อสารผ่านร่างกายและท่าทีที่เราปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอยู่ทุกขณะโดยที่เราอาจไม่ค่อยสังเกตเห็น อย่างไรก็ดี เราสามารถฝึกที่จะรู้เท่าทันต่อสัญญาณของสถานะและอำนาจที่ปรากฏในตัวเองและผู้อื่นได้ในชีวิตประจำวันได้


การสังเกตสัญญาณของคนที่มี Rank หรือสถานะสูงกว่า

(สามารถสังเกตได้ทั้งในที่ประชุม องค์กร ทีมงาน ครอบครัว สังคม หรือแม้กระทั่งในความสัมพันธ์)
  1. เป็นคนกำหนดเวลา สถานที่ และระยะเวลาในการพูดคุยหรือนัดหมาย
  2. มักพูดก่อน เป็นผู้นำการสนทนา แสดงออกและพูดตอนไหนก็ได้อย่างอิสระ และมีแนวโน้มพูดมากกว่าคนอื่น
  3. เวลามีปัญหามักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา ลูกน้องหรือคนอื่นต้องเปลี่ยน
  4. อยากเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับหรือขอความช่วยเหลือ ชอบให้คำแนะนำหรือเทศน์สอนมากกว่าการรับฟังความรู้สึกของอีกฝ่ายจริงๆ
  5. เป็นผู้กำหนดสไตล์การสื่อสารและคาดหวังให้คนอื่นเป็นเหมือนตน
  6. สามารถสบตาผู้อื่นได้อย่างไม่ประหม่า
  7. มักใช้เหตุผลและเป้าหมายเป็นหลัก มีแนวโน้มที่จะละเลยความรู้สึกของผู้อื่น
  8. ในที่ประชุม มักจะนั่งเอนหลัง ดูมั่นใจผ่อนคลายสบายๆ แม้อยู่ในสถานการณ์ที่กลุ่มมีปัญหาหรือความขัดแย้ง
  9. สามารถที่จะแซวหยอกล้อคนอื่นหรือปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นเรื่องตลกได้โดยไม่ต้องคิดมาก

อ่านต่อ »

สถานะ อภิสิทธิ์ และอำนาจที่แฝงเร้น



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2558

ในงาน Facilitator จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจกับพลวัตและสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังความแตกต่างขัดแย้งในสังคม องค์กร หรือแม้กระทั่งกับความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้คนรอบข้างในชีวิตอย่างมีนัยยะสำคัญ

สิ่งนี้มักถูกแฝงเร้น ยากที่จะสังเกต หากแต่มีอิทธิพลปรากฏอยู่ในทุกๆ การพูดคุยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อาร์โนลด์ มินเดล (Arnold Mindell) นักจิตวิทยาผู้พัฒนางาน Process Work หรือจิตวิทยางานกระบวนการ เรียกสิ่งนี้ว่า “Rank” อันหมายถึงสถานะเชิงอำนาจของบุคคลหนึ่งๆ ซึ่งเป็นตัวกำหนดการสื่อสารและความสัมพันธ์ที่เขามีกับโลกและผู้คนรอบตัว

ที่สำคัญ Rank มาพร้อมกับอภิสิทธิ์ (Privilege) ซึ่งคือผลประโยชน์และความได้เปรียบที่เราได้รับจากการมี Rank นั้น เช่น อภิสิทธิ์ที่ได้เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มีความได้เปรียบเชิงโครงสร้างสังคม มีโอกาสเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง มีชีวิตที่สะดวกสบาย ไม่ต้องปากกัดตีนถีบด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันอภิสิทธิ์นี้ อีกแง่หนึ่ง ก็มีจุดมืดบอดอาจทำให้เรากลายเป็นพวกสุขนิยม ใช้ชีวิตเสพสุขไปวันๆ ไม่รับรู้ความทุกข์ยากของคนที่มีโอกาสด้อยกว่า หรือเสียเปรียบทางสังคม เช่น คนยากไร้ กลุ่มคนรากหญ้า หรือกลุ่มชายขอบของสังคม เป็นต้น

ในชีวิตประจำวัน เราสื่อสาร Rank ของเราและประเมิน Rank ของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะจากการแต่งตัว นาฬิกา กระเป๋า ภาษาที่เราใช้ รถที่เราขับ หลายคนเวลาที่ต้องเข้างานสังคม มักนิยมถามถึงชาติตระกูลหรือการศึกษาว่าเรียนจบอะไร ปริญญาตรี โท เอก ในหรือนอกประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ ที่น่าสนใจกว่านั้น Rank บางอย่างก็เป็นสิ่งที่มิใช่ได้รับจากภายนอก หากแต่สามารถบ่มเพาะให้เติบโตได้จากภายใน

อ่านต่อ »

อัตนิมิต



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2558

มีเรื่องเล่าของนักเดินเรือในทศวรรษที่สิบเก้า ว่าได้พบเจอหมีขั้วโลกบางตัวเวลาออกล่าแมวน้ำ มันจะลื่นไถลไปบนน้ำแข็งโดยนอนคว่ำหน้า และเมื่อใกล้จะถึงเป้าหมาย มันจะพรางตัวโดยการยกขาหน้าของมันมาปิดจมูกเอาไว้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตะปบเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

ในย่อหน้าที่แล้ว เชื่อว่าทุกคนที่อ่านต้องนึกเห็นภาพหมีขาวตัวเบ้อเริ่มกำลังนอนเอาท้องแปะบนพื้นน้ำแข็ง แล้วยกขาหน้ามาแปะจมูกตัวเองเอาไว้อย่างทุลักทุเล ซึ่งเป็นภาพที่น่าขบขัน หรือไม่ก็น่าเอ็นดู และถึงแม้ไม่ได้มีการพูดถึงสีสัน ภาพในจินตนาการของผู้อ่านก็จะต้องเป็นหิมะขาวโพลน หมีสีขาวขนปุย และที่แน่ๆ จมูกของมันต้องเป็นสีดำ

ความรู้ทางประชานศาสตร์ หรือ วิทยาการเรียนรู้ (Cognitive Sciences) บอกเราว่า การสร้างจินตภาพเหล่านี้จำเป็นต่อความเข้าใจเวลาที่เราอ่านหรือฟังเรื่องราวอะไรก็ตาม ผมขอเรียกกระบวนการนี้ว่าอัตนิมิต (Embodied Simulation)

การค้นพบเรื่องอัตนิมิตทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเรื่องกระบวนการ “ทำความเข้าใจ” ของมนุษย์ผ่านภาษา เพราะได้ค้นพบว่ามนุษย์เราใช้มุมมองจากร่างกายของตนเองเป็นแหล่งอ้างอิงในการสร้างโลกแห่งความเข้าใจภายใน เช่นประโยคที่ว่า ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด ถ้าหากไม่มองเป็นสำนวน แต่ให้นึกถึงช้างตายจริงๆ เราก็คงนึกถึงภาพช้างทั้งตัวนอนอยู่ และมีใบบัวใบหนึ่งวางอยู่บนตัวมัน (และแน่นอนว่าปิดไม่มิด) พวกเราส่วนใหญ่คงต้องเห็นภาพแบบนี้ คงไม่มีใครนึกเป็นภาพในระยะใกล้จนเห็นขนตาช้าง หรือเป็นภาพระยะไกลจนเห็นช้างตัวเท่ามด (ไม่ใช่สำนวน) เพราะเราต่างใช้ประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ซึ่งในอัตนิมิตของเรา ภาพที่สบายต่อการจินตนาการก็คือภาพของช้างในระยะเหมาะสมที่เราจะเห็นด้วยตา พูดง่ายๆ เราไม่ได้มองโลกผ่านสายตาของพระเจ้า คือมองเห็นหมดทุกมุมของช้าง หรือสายตาของไส้เดือน (ถ้ามันมีตา) คือมองจากด้านใต้ผืนโลกขึ้นมา เราเลือกมุมที่จะมอง และมุมนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์ และนักประชานศาสตร์ค้นพบว่ามันเกี่ยวโยงกับภาษาที่เราใช้อย่างแยกไม่ออก

อ่านต่อ »

COPAR: งานวิชาการที่ทำไปพร้อมกับการจัดตั้งชุมชน



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558

ช่วงเวลาหนึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์ทำงานในโครงการที่นำความรู้ทางมานุษยวิทยามาสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนนำความรู้ไปขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงงานที่ทำมีความแตกต่างจากชุดประสบการณ์เดิม ที่ถูกฝึกให้เป็นนักเรียนมานุษยวิทยาที่เข้าไปสังเกตศึกษาเรียนรู้ชุมชนและตีความตามประสบการณ์ของตนเอง การทำงานช่วงแรกความเข้าใจที่มีต่อ “กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน” จึงเป็นไปอย่างตื้นเขินจนกระทั่งผ่านไประยะหนึ่งจึงเรียนรู้ว่าเมื่อเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนการเรียนรู้ร่วมกัน สามารถเกิดขึ้นได้และมีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนโดยมาตระหนักในเวลาต่อมาว่า กระบวนการทำงานนี้ที่จริงแล้วก็คือการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมหรือ PAR (Participatory Action Research) ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดนักวิจัย“คนใน” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนตนเอง

อย่างไรก็ตามการทำงานที่ผ่านมาผู้เขียนขาด “จิ๊กซอว์” ที่จะต่อภาพการทำงานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะสื่อสารในระดับโครงสร้างส่งผลให้โครงการไม่ได้ดำเนินงานต่อ และกลายเป็นประเด็นที่ครุ่นคิดมาตลอดว่าทำอย่างไรงานที่ใช้ความรู้เพิ่มอำนาจคนในชุมชน ถึงจะมีความยั่งยืนได้จริงจนกระทั่งมีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดลและนายกสมาคมเพศวิถีศึกษาจึงพบว่า “จิ๊กซอว์” ที่หายไปคือกระบวนการวิจัยที่เรียกว่า “COPAR” อาจารย์สุชาดาอธิบายถึงกระบวนการวิจัยว่ามีหลายเฉดตั้งแต่ PR (Participatory Research) คือการอบรมให้ชุมชนเป็นผู้เก็บข้อมูล PAR (Participatory Action Research) คือกระบวนการฝึกคนในชุมชนให้ทำวิจัยเองและนำผลวิจัยนั้นมาแก้ปัญหาของชุมชนและ COPAR (Community Organizing Participatory Action Research) คือการใช้กระบวนการ PAR เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งชุมชนด้วยการปรับเปลี่ยนฐานคิดของคนในชุมชน

อ่านต่อ »

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน: ปัญญาปฏิบัติ ๒



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558

ประสบการณ์การนำแนวคิดและแนวปฏิบัติ “กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน” ไปใช้ใน “โครงการประเมินโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ในปีที่สองของผม มีความสนุก ท้าทาย และยากมากขึ้น เพราะความแปลกแยกลดลง ความสนิทสนมระหว่างทีมประเมินกับทีมพัฒนาเพิ่มขึ้น ทีมประเมินจึงต้องหาความสมดุลระหว่างการเป็นผู้ประเมินกับความเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ผมต้องคอยเตือนตนเอง บอกทีมประเมิน ทีมพัฒนา และทีมกรมชลฯ เป็นระยะๆ ว่า ถึงแม้เรามีเป้าหมายร่วมกัน แต่บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบเฉพาะของเราแตกต่างกันออกไป เปรียบเสมือน “กล้วยเครือเดียวกัน แต่คนละหวี”

ที่ยากและท้าทายมากกว่านั้นคือ เรายังไม่พบว่าทีมพัฒนาได้นำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปใช้กับวิทยากรกระบวนการชุมชน (FA ชุมชน) และประชาชนในพื้นที่ ทั้งในปีแรกและในช่วงแรกของปีที่สอง ทั้งที่ในทางปฏิบัติผมได้ทำกระบวนการจิตตปัญญากับทีมพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มโครงการ มีการพูดคุยประเด็นนี้ในการประชุมร่วมสามฝ่าย นำไปสู่การตกลงร่วมกันว่าให้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องจิตตปัญญาศึกษาอย่างเป็นทางการให้กับทีมทำงานทั้งสามฝ่ายโดยมีผมเป็นวิทยากรกระบวนการ และหวังว่าจะมีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปใช้กับ FA ชุมชน และ FA ชุมชนนำไปใช้กับประชาชนในพื้นที่

เป็นที่น่ายินดีว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่สอง ทีมพัฒนาได้เริ่มนำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเน้นความสำคัญของการฟังในกระบวนการปรึกษาหารือและการทำงานร่วมกัน และการสะท้อนการเรียนรู้ หรือ AAR (After Action Review) กับ FA ชุมชน แต่จากการสังเกตการทำงานของ FA ในพื้นที่ และจากข้อมูลทางเอกสารรายงานของทีมพัฒนา ทีมประเมินยังไม่พบหลักฐานว่า FA ชุมชนได้นำกระบวนการจิตตปัญญาไปใช้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นเรายังพบว่า การวางแผน และการออกแบบการประชุมเสริมความรู้และการประชุมถอดบทเรียนในปีที่สอง FA ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม จึงเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมในแนวดิ่ง ไม่ใช่แนวตั้งจากล่างขึ้นบน และไม่ใช่แนวระนาบ จึงมิใช่การทำงานแบบร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมประเมิน ร่วมรับผล และร่วมปรับปรุงพัฒนาอย่างครบวงจรและอย่างเป็นองค์รวม ดังนั้นในปีสุดท้ายของโครงการ จะต้องทุ่มเทในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น

อ่านต่อ »

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน: ปัญญาปฏิบัติ ๑



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558

เกือบสองปีของการมีประสบการณ์ตรงในการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินไปใช้ใน “โครงการประเมินโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินไปใช้ในการประเมินโครงการ

บอกได้อย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า การประเมินแนวใหม่นี้เหมาะมากกับการประเมินโครงการ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่มุ่งสร้างความสำเร็จ และความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

จากการ “ปิ๊งแว้บ” ทางความคิดในต้นปี ๒๕๕๑ สู่การปฏิบัติจริง ในปี ๒๕๕๖ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ” หรือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจริงด้วยตนเองหลายประการ จึงขอนำมาเสนอเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่สนใจ

ในฐานะที่ผมเป็นทีมประเมินที่ทำหน้าที่หลักในการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งในช่วงของการประชุมเชิงปฏิบัติการสามฝ่ายระหว่างเจ้าของโครงการ (กรมชลประทาน) ทีมพัฒนา และทีมประเมิน และโดยเฉพาะในช่วงปฏิบัติจริงในเกือบสองปีที่ผ่านมา โดยส่วนตัวผมมีความสุขและสนุกกับโครงการนี้มาก เพราะมีความเชื่อเบื้องต้นโดยบริสุทธิ์ใจว่า หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนของชุมชนบุกเบิกทั้งสี่ชุมชนในสี่จังหวัดนำร่อง (พิษณุโลก กาญจนบุรี ศรีสะเกษ และมหาสารคาม) และมีโอกาสที่จะเป็นต้นแบบพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพัฒนา ขยายฐานการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนให้กับชุมชนอื่นต่อไป

ในช่วงเริ่มต้นโครงการ สมาชิกส่วนใหญ่ในแต่ละฝ่ายทั้งสามฝ่าย ต่างสะท้อนในการประชุมร่วมกันและวงสุนทรียสนทนาว่า ตนเองยังไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าจิตตปัญญาคืออะไร ไม่คุ้นกับกัลยาณมิตรประเมิน จึงไม่แน่ใจว่ากัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมีหลักการ รูปแบบ วิธีการ และกระบวนการอย่างไร จึงเกิดการประสานงานให้มีการประชุมร่วมกันสามฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งที่กรมชลฯ และที่จุฬาฯ โดยมีผมเป็นวิทยากรพูดให้ฟัง เปิดโอกาสให้ซักถามเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นโดยยังไม่มีการทำกระบวนการ

อ่านต่อ »

คำสอนสุดท้ายของหลวงพ่อคูณ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558

ในรอบปีที่ผ่านมา การมรณภาพของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือ พระเทพวิทยาคม เป็นข่าวใหญ่ที่สุดข่าวหนึ่ง แม้จะมีพระมหาเถระและเกจิอาจารย์เป็นอันมากละสังขารไปในช่วงดังกล่าว ก็ไม่เป็นข่าวดังเท่ากับการสิ้นลมของหลวงพ่อคูณ และหากมีการพระราชทานเพลิงศพของท่านอย่างที่นิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไป ก็เชื่อได้ว่าจะเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติที่ผู้คนทั้งประเทศตั้งตารอคอยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่างานดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อคูณได้เขียนไว้ในพินัยกรรมของท่านอย่างชัดเจนว่า “ห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ” ยิ่งกว่านั้นท่านยังกำชับว่า งานศพของท่านั้น “ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ” ว่าจำเพาะพิธีกรรมทางศาสนา ท่านระบุว่า ให้มีการสวดอภิธรรมศพ เพียง ๗ วันเท่านั้น

ใช่แต่เท่านั้นท่านยังได้สั่งเสียอย่างชัดเจนว่า “ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน ๒๔ ชั่วโมง หลังจากมรณภาพลง” เพื่อเป็น “อาจารย์ใหญ่”ให้แก่นักศึกษาแพทย์ นี้เป็นการให้ครั้งสำคัญและครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อคูณ ในยามที่ยังมีชีวิตท่านให้ทุกอย่างที่ท่านมีหรือได้มา ไม่ว่า เงินทอง วัตถุมงคล และคำสอน ด้วยเมตตาจิตอันใหญ่หลวง สมกับโวหารที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวท่านว่า “กูให้มึง” เป็นการสอนด้วยการกระทำตลอดทั้งชีวิตว่า “ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้” สุดท้ายเมื่อท่านสิ้นลม แม้เอาอะไรไปไม่ได้เลยสักอย่าง แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ให้ได้ นั่นคือ ร่างกายของท่าน

อ่านต่อ »

ชีวิตที่ได้เปรียบ



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2558

(๑)

ในวันปฐมนิเทศผู้พิพากษาหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ผู้พิพากษาที่เป็นวิทยากรแจกกระดาษให้คนละแผ่น บนกระดาษมีตารางแนวนอนหัวข้อว่าด้วยความสมบูรณ์ของร่างกาย เพศ เชื้อชาติ ที่อยู่อาศัย การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา จุดยืนทางการเมือง ฯลฯ และให้เลือกช่องคะแนน ๑ – ๑๐ ในแนวตั้งว่า แต่ละคนอยู่ตรงไหน? - แน่นอนล่ะว่าผู้พิพากษาใหม่เอี่ยมทั้ง ๖๐ คน ได้คะแนนค่อนไปทางสูงถึงสูงมาก

เมื่อวิทยากรถามว่า มีใครที่ได้คะแนนในบางข้อต่ำกว่า ๕ บ้าง ก็มีคนยกมือหลายคน คนหนึ่งในนั้นบอกว่าเขารู้สึกว่าเกิดมาตัวเล็กกว่าคนอื่น เรียนหนังสือก็ตัวเล็กกว่าเพื่อน ทำงานก็ตัวเล็กกว่าใคร รู้สึกเป็นปมด้อยมาก อีกคนหนึ่งบอกว่าการเป็นคนจีน มีสัญชาติจีน ทำให้รู้สึกว่าด้อยกว่าเพื่อนผู้พิพากษาที่มีสัญชาติไทย และอีกคนก็บอกว่าการได้ไปเรียนหนังสือที่อเมริกาก็ทำให้เธอพบว่า การเป็นคนไทยนั้นเป็นเรื่องด้อยกว่าการเป็นคนอเมริกันหรือยุโรป

วิทยากรถามต่อว่า เทียบกับโจทก์จำเลยในคดีที่ผู้พิพากษาทุกคนจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ผู้พิพากษาน่าจะได้คะแนนรวมกันแล้วมากกว่าหรือน้อยกว่า? ในขณะที่ผู้พิพากษาหนุ่มสาวก้มหน้าครุ่นคิด วิทยากรก็เสริมว่า ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการในกระบวนการยุติธรรมโดยมากแล้วเป็นคนเล็กคนน้อย หากผู้พิพากษาที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ถือกระดาษคะแนนของตนติดตัวไปด้วย ก็จะตระหนักได้ว่าผู้คนเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีคะแนนค่อนไปทางต่ำถึงต่ำมาก ห่างไกลจากผู้พิพากษามากมาย คำพิพากษาของศาลที่นอกจากจะต้องมีความเป็นกลางตั้งอยู่บนอุเบกขาธรรมแล้ว ยังสามารถมีความกรุณาผ่านความตระหนักรู้และเข้าอกเข้าใจถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คนได้อีกด้วย อุเบกขาและความกรุณานี้จึงจะอำนวยความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

อ่านต่อ »

บุคลาธิษฐาน ปัญญาปฏิบัติ และการปลดปล่อยศักยภาพทางปัญญาของมนุษย์



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2558

บุคลาธิษฐานดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับธรรมาธิษฐาน แต่ในความเห็นของผม แท้จริงแล้วเสริมสร้างกัน แม้ว่าผมจะเลือกเดินทางสายบุคลาธิษฐานมาตลอด แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งการศึกษาแบบธรรมาธิษฐานแต่อย่างใด

บุคลาธิษฐานในเมืองไทยสำหรับผมเริ่มต้นด้วยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชีวิตของผมที่มาคบหากับอาจารย์ในช่วงแรกๆ ก็ติดตามอ่านงานเขียนของอาจารย์ในทุกๆ นิตยสารที่อาจารย์เป็นบรรณาธิการ และอ่านหนังสือทุกเล่มที่อาจารย์เขียน ตอนนี้ แม้ไม่ได้ติดตามอาจารย์แบบนั้นแล้ว แต่การอ่านในยุคนั้นก็ได้หล่อหลอมเป็นแกนหลักบางอย่างในการคิด อ่าน และเขียนจวบจนทุกวันนี้ ในช่วงเวลาที่เคยใกล้ชิดกับอาจารย์ ผมก็ได้ห้อมล้อมอาจารย์ คอยชงน้ำชาให้อาจารย์และแขกเหรื่อ ในโอกาสเหล่านั้น ผมก็ได้เรียนรู้จริยาวัตร ปัญญาปฏิบัติ และลูกเล่นลูกชนในการคบหาผู้คนจากอาจารย์มากมาย

ผมได้เห็นหลายๆ ด้านของอาจารย์ เช่น ความเมตตากรุณา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องขันติธรรมนั้น อาจารย์มีขอบเขตการยอมรับความแตกต่างที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก ซึ่งผมไม่ค่อยได้เห็นในผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ในสังคมไทย เมื่ออาจารย์มีอายุมากขึ้น อาจารย์ก็ยังเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะด้านพรหมวิหาร คือการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของอาจารย์ อาจเรียกได้ว่าไม่ต้องมีเหตุผล เพราะเมตตากรุณาไม่ได้มาจากเหตุผล แต่จะมาจากหัวใจมากกว่า

แน่นอนว่า อาจารย์ก็มีจุดอ่อน ดังจะสังเกตได้ว่า ผู้ใหญ่รุ่นเก่าจะไม่ค่อยมีโอกาสทำงานกับปมของตัวเอง แต่อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่ทำงานกับอัตตาตัวตนของตัวเองมาไม่น้อย แม้จะไม่ได้สะสางปมไปได้ทั้งหมดและยังติดกับปมบางอย่างอยู่บ้าง แต่ในหลายๆ ด้านของอาจารย์ก็อ่อนโยนขึ้นมาก

อ่านต่อ »

ยุโรปเก่า: อารยธรรมไร้สงคราม



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2558

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยสงคราม มากเสียจนมนุษย์เองอาจจะเชื่อว่าเราไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงการรบราฆ่าฟันได้ ไม่เพียงแต่สงคราม มนุษย์เรายังสร้างความรุนแรงรูปแบบอื่นอีกมากมาย ที่ประทับรอยแห่งความโหดร้าย ความทุกข์ ความโศกเศร้า ไว้บนหน้าประวัติศาสตร์

สงครามและความรุนแรงนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือ เราสามารถตอบคำถามนี้ได้ด้วยการย้อนกลับไปดูหลักฐานในอดีต ว่าที่ผ่านมานั้น มนุษย์เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยปราศจากร่องรอยของความรุนแรงหรือไม่

มาเรีย กิมบูตัส (Marija Gimbutas ๑๙๒๑-๑๙๙๔) นักโบราณคดีหญิงชาวลิธัวเนีย เป็นผู้หนึ่งที่พบหลักฐานว่า เคยมีอารยธรรมที่ปราศจากสงครามและความรุนแรง เธอทุ่มเทชีวิตเพื่อศึกษาแหล่งโบราณคดีในยุโรป โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก เริ่มต้นจากการศึกษายุคสำริด (Bronze Age) ซึ่งเป็นยุคของหมู่ชนที่เรียกว่าอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) และเป็นยุคแห่งอาวุธและสงคราม งานวิจัยของเธอได้รับการยอมรับในระดับโลก จนเธอได้รับเลือกให้มาเป็นนักวิชาการด้านโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา และย้ายไปที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแองเจลีส

จุดหักเหของเธอ เกิดขึ้นในปี ๑๙๖๗ เมื่อเธอได้เป็นผู้ดูแลการขุดค้นทางโบราณคดีในบอสเนีย ตลอดเวลาหลายปีที่นั่น เธอได้สัมผัสกับยุคหินใหม่ของยุโรปที่แตกต่างจากวัฒนธรรมแห่งสงครามและความรุนแรงของยุคสัมฤทธิ์ จนเธอต้องพยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในยุโรปก่อนที่พวกอินโด-ยูโรเปียนจะเข้ามา เธออุทิศเวลาที่เหลือของชีวิตเพื่อทำการศึกษาอารยธรรมอันแตกต่างนี้ และให้ชื่อมันว่า “ยุโรปเก่า” (Old Europe)

อ่านต่อ »

จากการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ สู่จิตวิวัฒน์ และจิตตปัญญาศึกษา: การแสวงหาความหมายของชีวิตและสรรพสิ่ง



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2558

ประสบการณ์การเดินทางไปในกาละ (Time) และเทศะ (Space) ทาง “สุขภาวะในมิติของจิตวิญญาณ” “จิตวิวัฒน์” และ “จิตตปัญญาศึกษา” ของผม เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต จากจุดเริ่มต้นที่ผมมิได้เป็นผู้ริเริ่มโดยตรง แต่ได้รับการติดต่อและทาบทามจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ช่วยทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาวะในมิติของจิตวิญญาณ” ในปี ๒๕๔๕ ผมตอบรับคำเชิญที่ท้าทายมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเพราะผมไม่เคยรู้ ไม่เคยศึกษาเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะ และเรื่องจิตวิญญาณมาก่อนเลย ในช่วงเวลาหกเดือนที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับสองเรื่องนี้และที่เกี่ยวข้องเยอะมาก มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้ และกับทีมวิจัยตลอดเวลา เกิดอาการ “ปิ๊งแว้บ” เป็นระยะๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental Transformation) ทางความคิดความเชื่อของผมที่เกี่ยวกับความเป็นตัวตนของตนเอง ชีวิตและสรรพสิ่ง

เพื่อขยายผลและขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เมื่องานวิจัยเสร็จเรียบร้อย ทาง สสส.ก็จัดให้มีการนำเสนองานวิจัยในที่ประชุมที่ประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้อง เครือข่าย สสส.และผู้สนใจทางด้านนี้เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ มีผู้เข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประมาณร้อยกว่าคน มีการบันทึกเทปการนำเสนองานวิจัยและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไว้ มีการถอดเทปและจัดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ในงาน “วันรวมพล คนสร้างสุข” ที่จัดขึ้นในโอกาสที่ สสส.ทำงานร่วมกับบุคคลและองค์กรหลากหลายในประเทศ ในการพัฒนาขบวนการสร้างเสริมสุขภาวะครบ ๒ ปี ที่คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมเพค เมืองทองธานี ในวันที่ ๑๐-๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖

อ่านต่อ »

พลังของการอนุญาต



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กันยายน 2558

เวลาที่คุณไปหาหมอฟันเพื่อกรอฟัน คุณทำอย่างไร? นอนลงเหยียดยาว อยู่ใต้แสงไฟสว่างจ้าที่ยื่นออกมาจากแขนกล โต๊ะทำฟันเหมือนกับหุ่นยนต์แอนดรอยด์ในนิยายวิทยาศาสตร์ คุณกำลังถูกนักวิทยาศาสตร์ชั่วร้ายที่แอบอยู่หลังหน้ากากและชุดอันปกปิด ยื่นอุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กเข้ามาในปากที่ถูกบังคับให้เปิดอ้าด้วยเครื่องมือกล ปากของคุณถูกอ้าไว้อย่างนั้นในท่าที่ไม่สบาย กรามของถูกจัดวางอยู่ในมุมที่ปกติแล้วจะใช้เมื่อเวลามองเห็นพลุไฟเจิดจ้าบนท้องฟ้ามืดสนิทในคืนวันเฉลิมฉลอง แต่อนิจจา ตาของคุณมันใช้การไม่ได้เสียแล้ว เพราะผ้าบ้าๆ ที่จู่ๆ ก็เอามาวางทับไว้บนหน้าตาของคุณ อย่างช้าๆ เครื่องมือเหล็กนั้นเล่ามันรุกล้ำเข้ามาอย่างไม่ประนีประนอมกับเนื้อเยื่ออันอ่อนนุ่มในปากของคุณ

คุณกำลังถูกล่วงล้ำ...

แต่แล้วคุณทำอย่างไร...ในวินาทีที่เครื่องมือจักรกลทำเสียงดังหวือ และมันกำลังจะกระทบกับฟันซี่ที่ปวดเสียวแม้กระทั่งการกลืนน้ำลายเพียงหยดเดียว...

บางคนสวดมนต์ หรือภาวนาพุทโธ บางคนใช้การนึกถึงสถานที่ผ่อนคลายเช่น การไปเที่ยวทะเล หรือภูเขา พยายามจะนำสิ่งที่นักการละครเรียกว่า Emotion Memory หรือความทรงจำของอารมณ์แห่งความสุขกลับคืนมา บางคนพยายามจะกลับมาที่ลมหายใจแต่พบว่ามันยากเกินไปที่จะสังเกตลมหายใจในท่าที่อ้าปากแบบนั้น น้ำลายของคุณกระเด็นซ่านออกจากปากและโปรยละอองลงบนผ้าผืนที่ใช้ปิดหน้า ปิดตาของคุณ

ทั้งหมดมันยากเกินไป...

เพราะความเจ็บปวดทำงานอย่างต่อเนื่อง จี๊ดตรงนั้นที จี๊ดตรงนี้ที เวลาก็ดูจะผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน คุณพยายามโยกย้ายความเจ็บไปอยู่ที่อื่นโดยจิกเล็บเข้ากับกำมือของคุณ แต่ก็มีเสียงจากมนุษย์ต่างดาวบอกเป็นระยะๆ

อ่านต่อ »

ผู้ก่อการร้ายจะกลับมา หากเรายังไม่เห็นเงาตัวเอง



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กันยายน 2558

เราไม่สามารถกำจัดผู้ก่อการร้ายให้หมดสิ้นไปจากโลกได้ เขาจะกลับมาใหม่ด้วยโฉมหน้าที่เปลี่ยนไป...

เหตุระเบิดหน้าศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เดือนที่ผ่านมา ผมได้ติดตามข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ด้วยความสนใจ เพราะจากนี้ไป เรื่องนี้คงจะเกี่ยวข้องกับชีวิตและความสงบสุขปลอดภัยของคนไทยอย่างเราไม่น้อย เท่าที่ได้ติดตามข่าวจากสื่อต่างๆ ดูแล้ว วิธีการแก้ไขปัญหาและการกอบกู้สถานการณ์ที่ผ่านมาของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ การพยายามค้นหาตัวผู้ก่อการร้ายและผู้บงการเบื้องหลัง ซึ่งดูแล้วเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก ต้องทุ่มเทเวลาและแรงกายแรงใจในการสืบค้นติดตาม และถึงแม้ตอนนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะหาตัวผู้บงการที่แท้จริงได้หรือไม่ เพราะเรื่องราวเริ่มจะสลับซับซ้อนเกี่ยวโยงกับผู้ก่อการร้ายสากลมากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่เราควรได้กลับมาทบทวน ตรวจสอบกัน ที่ยังไม่ต้องไปไกลถึงกลุ่มก่อการร้ายนอกประเทศ ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจจะมีบางแง่มุมของเรื่องราวนี้ที่เรามองข้ามไป หรือแม้กระทั่งไม่อยากพูดถึง

หลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเรียนอยู่ในหลักสูตรจิตวิทยา The Art of Conflict Facilitation หรือศิลปะในการคลี่คลายความขัดแย้ง กับ อาร์โนล มินเดล (Arnold Mindell) นักจิตวิทยาและกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับการคลี่คลายความขัดแย้งระดับโลกในหลายๆ ประเทศมากว่า ๓๐ ปี โดยใช้วิธีคิดและมุมมองของจิตวิทยากระบวนทัศน์ใหม่ที่เรียกว่า Process Work เพื่อที่จะมองและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวม เขาพบว่า เวลาที่หลายประเทศเกิดการก่อการร้าย วิธีการแก้ปัญหาหลัก มักจะมุ่งไปที่การพยายามค้นหากลุ่มผู้ก่อการร้าย จับตัว และกำจัดให้หมดสิ้น ซึ่งวิธีการนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่จำเป็นและควรทำอย่างเอาจริงเอาจังและเป็นมืออาชีพ แต่ในวิถีทางของการแก้ปัญหาระยะยาวเชิงป้องกัน (Preventive action) นั้น หลายประเทศได้ละเลย หลงลืมไป ซึ่งเป็นเหตุให้การก่อการร้ายจะมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

อ่านต่อ »

เอ็นจีโอ: ผู้ท้าทายและสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของสังคม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 กันยายน 2558

“เราคือใคร” เป็นคำถามที่มีนัยเชิงปรัชญาที่หลายครั้งมนุษย์ใช้ถามกับตัวเองเพื่อนำไปสู่การคิดใคร่ครวญ ทบทวนชีวิต ซึ่งคำถามนี้มักจะเกิดขึ้นในยามที่มนุษย์เผชิญกับสภาวะที่ไม่แน่นอนหรือกำลังเปลี่ยนผ่าน จึงย้อนไปตรวจสอบความทรงจำและประสบการณ์ชีวิตในอดีต เพื่อนำมากำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคต

จากคำถามที่ปัจเจกใช้ถามตัวเอง “เราคือใคร” ได้กลายเป็นประเด็นคำถามที่ใช้แลกเปลี่ยนกันในวงคุยของเอ็นจีโอและนักกิจกรรมสังคมตัวจริงเสียงจริงหลายรุ่นหลายวัย*ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมรับฟังการสนทนาในครั้งนี้

ความน่าสนใจของกระบวนการคุยคือการนำเส้นเวลา (Timeline) การทำงานขับเคลื่อนสังคมในรอบ 50 ปี มาให้คนในวงคุยใช้ทบทวน โดยจัดทำข้อมูลที่เป็น “หมุด” ทางประวัติศาสตร์ไว้ก่อนที่เส้นเวลา เช่น การเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2504เหตุการณ์ทางการเมือง เช่น 14 ตุลา 2516 ประกอบกับข้อมูลการขับเคลื่อนงานสังคมที่มีการรวบรวมมาส่วนหนึ่ง เช่น การตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2516และที่สำคัญ คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ร่วมสนทนาได้เพิ่มเติมเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำ และที่เกิดจากการสนทนาร่วมกันเข้าไปในเส้นเวลาด้วย

บทบาทของเส้นเวลา (Timeline) จึงไม่ได้เป็นแค่การรวบรวมเรื่องของคนทำงานภาคสังคมในรอบ 50 ปีเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำ และก่อประกอบชิ้นส่วนเรื่องราวนับร้อยนับพันที่อยู่กระจัดกระจายให้เป็นรูปร่างบางอย่าง ซึ่งผู้เขียนสังเกตว่า เป็นตัวตนที่ชัดเจนร่วมกันของพวกเขา นั่นคือการเป็น “ผู้ท้าทายและสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของสังคม”

อ่านต่อ »

“ใช้กรรม” หรือ “ทำดี”?



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กันยายน 2558

“เจี๊ยบ” มีอาชีพที่มั่นคงพอสมควร แต่วันหนึ่งเมื่อพบว่าแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เธอได้ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลแม่ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นน้องคนสุดท้อง แต่เพราะไม่มีพี่คนใดสามารถปลีกตัวมาดูแลแม่เต็มเวลาเนื่องจากมีครอบครัวกันแล้วทั้งนั้น ปีแรกๆ พี่ๆ ก็ให้เงินช่วยเหลือไม่ขาดมือ ทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจี๊ยบ แต่เมื่อผ่านไปหลายปี เงินช่วยเหลือจากพี่ๆ ก็เริ่มขาดๆ หายๆ ทั้งๆ ที่ฐานะยังดีอยู่ เธอต้องตามทวงครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะได้เงินมา บางครั้งก็ขอไม่ได้ เธอต้องควักเงินเองขณะที่เงินเก็บก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ

ระยะหลังความจำของแม่เลอะเลือนหนักขึ้น แถมช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ จำเป็นต้องมีคนงานมาช่วยเธอ เช่น อุ้มแม่ขึ้นหรือลงจากเตียง รวมทั้งทำงานบ้านแทนเธอ แต่พี่ๆ กลับไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจ้างคนงาน เธอจึงดูแลแม่คนเดียวต่อไปด้วยความยากลำบาก หลังจากดูแลต่อเนื่องนานนับสิบปีจนอายุเลย ๕๐ แล้ว กายก็เหนื่อยล้ามากขึ้น ส่วนใจก็คับข้องและขุ่นเคืองที่พี่ๆ ไม่เห็นใจเธอเลย แถมไม่สนใจแม่ด้วย จะมาหาแม่ก็ต่อเมื่อเป็นวันแม่ กราบแม่เสร็จ พูดคุยกับแม่สักพักก็ไป แล้วหายไปเป็นปี ทิ้งเธอให้อยู่คนเดียวกับแม่ บ่อยครั้งเวลานึกถึงพี่ๆ ที่สุขสบายขณะที่เธอลำบาก เธอก็อดท้อใจไม่ได้ว่าทำไมทำดีจึงต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ แล้วทำไมคนที่ไม่ไยดีแม่เลยจึงมีชีวิตที่สุขสบาย

วันหนึ่งเธอเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนซึ่งเป็นคนสนใจธรรมะ แทนที่เพื่อนจะเห็นใจเธอ กลับบอกว่า ที่เธอเหนื่อยยากทุกวันนี้เป็นเพราะเคยทำกรรมไม่ดีกับแม่ในชาติก่อน ชาตินี้จึงต้องมาใช้กรรม ส่วนพี่ๆ ของเธอนั้นทำกรรมดีในชาติที่แล้ว ชาตินี้จึงสุขสบาย

อ่านต่อ »

บทบาทของทรอม่า (ความปั่นป่วนคงค้าง) ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2558

มีผู้เข้าร่วมในหลักสูตรหนึ่งของผมคนหนึ่งเล่าว่า เธอไปเรียนมาหลายอาจารย์ในแนวทางคล้ายคลึงกันนี้ แต่เหมือนยังวิ่งวนอยู่ในเขาวงกต คือได้อะไรบางอย่าง แต่ไม่ยั่งยืน แล้วกลับมาตีบตันเหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไปสองสามสัปดาห์ แต่เมื่อได้มาเรียนกับผมในเรื่องเยียวยาปม ทำให้เห็นแสงสว่าง หาทางเดินต่อไปได้


ทำไมต้องทำงานกับทรอม่า

ทรอม่าหรือปมหรือบาดแผลต่างๆ คือความปั่นป่วนที่ค้างคามาจากอดีต และพร้อมจะถูกสะกิดให้มีชีวิตขึ้นมาในปัจจุบัน เหมือนมีผีร้ายสิงสู่อยู่ในตัว และคนก็ไม่มีอำนาจบังคับควบคุม เมื่อผีร้ายกลับเข้ามา คนก็ถูกครอบครองด้วยระบบอัตโนมัติที่หลับใหลอย่างไม่เป็นตัวของตัวเอง และจะกระทำการรุนแรงทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ทำให้การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ยั่งยืน ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่คืบหน้า ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคน ก่อปัญหาอย่างหนักหน่วงให้กับสถาบันครอบครัวและองค์กรทุกประเภท

ในที่สุดผมได้ค้นพบว่า หากจะทำค่ายการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลอย่างยั่งยืน เราจะต้องทำงานเยียวยาปมและบาดแผลจากอดีตเหล่านี้ ข่าวดีคือ ในเวลานี้ หากประมวลผลรวบรวมงานวิจัยเรื่องดังกล่าวเข้ามาเชื่อมประสานและก่อประกอบกันเข้าแล้ว เราจะพบว่าการเยียวยาปมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้อีกต่อไป แต่เราอาจเรียนรู้กระบวนการเยียวยาและนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางได้ทุกๆ ภาคสนาม ไม่ว่าในเรื่องของการศึกษา สุขภาวะ การพัฒนาสังคม การเมือง หรือองค์กรต่างๆ อันหลากหลาย

อ่านต่อ »

คนไร้บ้านในสังคมที่เป็นธรรม



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2558

ในปีค.ศ. ๒๐๑๓ แพ็ทริก แม็คคอนล็อก โปรแกรมเมอร์คนหนึ่งถือโอกาสออกกำลังกายด้วยการเดินไปทำงานที่อยู่ในเมืองแมนฮัตตันและพบกับ ลีโอ แกรนด์ คนไร้บ้านผิวสีอยู่ข้างถนน

หนุ่มน้อยแพ็ทริกในวัย ๒๓ ปี ต่อรองกับลีโอว่า ถ้าเขายอมไปเรียนการเขียนโปรแกรมที่ออฟฟิศของแพทริกวันละ ๑ ชั่วโมงทุกเช้าก่อนออฟฟิศเริ่มงาน โดยจะได้รับการสนับสนุนให้มีโน้ตบุ๊กขนาดเล็กพร้อมที่ชาร์จ ตลอดจนหนังสือสำหรับอ่านในช่วงที่นั่งเรียนเองอยู่ข้างถนน เขาจะได้รับเงิน ๑๐๐ ดอลลาร์

ลีโอ – คนไร้บ้าน – ยอมรับข้อเสนอ และใช้เวลา ๔ เดือนในการเรียนเขียนโปรแกรม จนกระทั่งเขียนแอพพลิเคชันสำหรับระบบแอนดรอยด์และไอโฟน และดาวน์โหลดขายได้เงินราว ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์

แต่ – ลีโอก็ยังเป็นคนไร้บ้าน - แม้จะเป็นคนไร้บ้านที่โด่งดัง มีสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์ ได้ออกรายการทีวี มีผู้คนรู้จักทั่วประเทศ เขายังนอนข้างถนนแม้ในฤดูอันหนาวเหน็บ ยังต้องขอเงินซื้อข้าวจากคนอื่น เพราะไม่สามารถนำเงินของตัวเองออกมาจากธนาคารได้ ด้วยเหตุที่ไม่มีบัญชีธนาคารของตัวเอง เงินที่ได้จากการขายแอพพลิเคชันจึงอยู่ในบัญชีของแพทริก ซึ่งพยายามต่อรองให้ลีโอเปิดบัญชีธนาคารของตนเองให้ได้ภายใน ๑ ปี ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้เลือกศูนย์พักพิงคนไร้บ้านสักแห่งและแพทริกจะโอนเงินทั้งหมดเพื่อบริจาค ลีโอทำได้มากที่สุดก็เพียงการเดินไปจนเกือบถึงธนาคารแล้วหันหลังกลับ

อ่านต่อ »

จิตตปัญญา “สายโจร”



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2558

ครั้งหนึ่งที่ผมนำหนังสือ เอนหลังฟัง ไปบริจาคที่ห้องสมุดของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และยังได้สนทนากับอาจารย์หลายท่านเรื่องการฟังและที่มาของหนังสือเล่มนี้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งสอบถามว่า “ถ้าเราไม่อยากฟังจะทำอย่างไร เพราะกับบางคนเราก็ไม่อยากฟังเขาพูด”

ผมได้แต่หวังว่าคนที่อาจารย์ไม่อยากฟังไม่ใช่ผม (ฮา) เอาเข้าจริง คำถามนี้สะกิดใจผม ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าจะฟังอย่างไรจึงจะได้ประสิทธิผล แต่อาจจะอยู่ที่เรา “ไม่อยากฟัง” ตั้งแต่ต้น

จากประสบการณ์ของตัวเองที่ฝึกฝนเรื่องการฟัง ผมเริ่มฝึกฝนมาจากวงสุนทรียสนทนาที่มีกฎเกณฑ์แน่นอน เช่น ต้องปล่อยให้คนในวงพูดไปอย่างน้อยสองคน จึงจะมีสิทธิ์พูดได้ หรือต้องไม่พูดแทรกระหว่างที่มีอีกคนพูด ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้เริ่มต้น แต่กลับไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

เพราะในชีวิตจริงเช่นชีวิตการทำงาน ไม่มีใครฟังใคร แรกๆ ที่ผมมาสนใจเรื่องการฟัง ผมพยายามจะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น แล้วรู้สึกเหนื่อย เพราะเรากลายเป็นผู้ควบคุมกฎ กลายเป็นคนที่รู้สึกขุ่นใจเมื่อหลายคนไม่ทำตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ผมเคยแม้กระทั่งเคาะระฆังกลางโต๊ะประชุม

อ่านต่อ »

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2558

ครูผู้สร้างหน่อชีวิตที่ดีงาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สับสนและวุ่นวาย แล้วหล่อเลี้ยงให้เจริญเติบโต และพัฒนาขึ้นภายในตัวตนของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า หล่อหลอมความเป็นคนดีมีคุณภาพให้กับสังคม ด้วยความทุ่มเท มุ่งมั่น และปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่าง ย่อมสมควรได้รับการเชิดชู ในฐานะที่เป็นครูดี ครูศรีของแผ่นดิน รางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรีคือประกาศนียบัตรเกียรติยศสูงยิ่งสำหรับครูดี ครูศรีของแผ่นดิน

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี หรือ Princess Maha Chakri Award1 เป็นรางวัลนานาชาติที่มอบให้แก่ครูผู้ทุ่มเทปฏิบัติงาน และมีผลงานดีเด่น อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในวงกว้างต่อการศึกษาและการพัฒนาคน จากประเทศไทยและประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน ๑๑ ประเทศ ประเทศละ ๑ คน เพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการศึกษา ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

อ่านต่อ »

บ้านยางแดง: ๓ ทศวรรษของขบวนการทางสังคมกินได้



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2558

“ถึงตัวอำเภอแล้วเลี้ยวซ้ายมาอีกประมาณ ๗ กิโล ทางสะดวกราดยางทั้งสาย” คุณนันทวรรณ หาญดี หรือพี่นันกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา อธิบายเส้นทางมาบ้านยางแดงกับผู้เขียนสองข้างทางจาก อ.สนามชัยเขต ไปบ้านยางแดงมีไร่มันสำปะหลัง สวนยูคาลิปตัสสวนยางพาราสลับเป็นระยะ

สำหรับผู้เขียน บ้านยางแดงเป็นตัวอย่างที่ดีของการสะสมพลังการเปลี่ยนแปลงของชุมชนฐานราก (Organization or Community Transformation) ที่โผล่ปรากฏขึ้นมาเป็นทางเลือกสำหรับสังคมไทยในยุคที่เต็มไปด้วยการถกเถียงถึงสิทธิในกำหนดอนาคตตนเองว่าควรเป็นของใคร

ที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาแม่บ้านยางแดงมีผู้หญิงหลายวัยกำลังนั่งคุยกันอยู่เนื่องจากวันที่ ๑๐ ของทุกเดือนเป็นวันประชุมกลุ่มออมทรัพย์ “เครื่องมือ” สำคัญในการทำงานชุมชนของบ้านยางแดงซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องมากกว่า ๓๐ ปี ผู้ที่บุกเบิกงานนี้คือคุณเกษม เพชรนที หรือพี่เกษม ซึ่งมีประสบการณ์จากการทำงานกับมูลนิธิบูรณะชนบท (บชท.) องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกในไทยที่ตั้งขึ้นในปี ๒๕๑๐

พี่นันเล่าว่า ทศวรรษ ๒๕๒๐ พี่เกษมมาที่บ้านยางแดง สมัยนั้น “ชาวบ้านไม่มีอาหารกินพอเพียง เด็กไปโรงเรียน ครึ่งหนึ่งไม่มีข้าวกลางวันกิน บางส่วนเอาข้าวไปแต่ไม่มีกับข้าว มีไม่ถึง ๕ ครอบครัวที่เด็กๆ จะมีข้าวและกับข้าวไปพร้อม อีกครึ่งหนึ่งมาโรงเรียนไม่มีอาหารกลางวัน เด็กไปเก็บฝักกระถินยักษ์ ลูกมะม่วงหิมพานต์สุกที่นิ่มๆ กิน แล้วกินน้ำ วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนก็ไม่พอ รองเท้าเสื้อผ้าเด็กก็ไม่พอ ทุกอย่างขาดแคลน ยารักษาโรคไม่พอ เขตนี้เป็นชุมชนตั้งใหม่ อนามัยไม่มี เส้นทางเป็นทางเกวียน ทางลากซุง ชาวบ้านต้องมาถากถางปลูกพืชไร่มันสำปะหลัง ๑๐๐%”

จากการที่ชุมชนร่วมกันสร้างโรงเรียนบ้านยางแดง พี่เกษมจึงนำประเด็นโรงเรียนขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนเป็นโจทย์ตั้งต้นชวนคนในชุมชนคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ชาวบ้านเลือกใช้ชุดประสบการณ์ที่มีคือปลูกมันสำปะหลังหาเงินมาซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน ผลคือขาดทุน แต่สิ่งสำคัญที่ได้คือกระบวนการเรียนรู้ เห็นถึงวงจรมันสำปะหลังที่พึ่งพาระบบตลาด ไม่สามารถควบคุมได้

ปี ๒๕๒๔ พี่เกษมชักชวนครูเก็บข้อมูลชุมชนทุกครัวเรือนทุกประเด็น เช่น เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ความรู้ชาวบ้าน นำข้อมูลมาสังเคราะห์ จัดกลุ่มปัญหา และคืนข้อมูลสู่ชุมชน เปิดเวทีชวนคนในชุมชนมาพูดคุยช่วยกันดูภาพรวม หาปัญหาร่วมของชุมชนจนได้ข้อสรุปว่า จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือ ให้มีอาหารกินพอเพียงในครอบครัวนำไปสู่การทำโครงการพัฒนาชนบทแควระบมสียัด ที่ตั้งชื่อตามแควสองสายที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง

โครงการพัฒนาชนบทแควระบมสียัดได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรแตร์ เด ซอมม์ (Terre des Hommes) และโครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท หรือ WCARRD (World Conference on Agrarian Reform for Rural Development) พี่เกษมประสานหน่วยงานรัฐมาสนับสนุนงานความรู้ เช่น ปศุสัตว์อำเภออบรมการเลี้ยงสัตว์ สถานีพัฒนาที่ดินแนะนำการปรับปรุงสภาพพื้นที่ รวมทั้งตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจาก “เถ้าแก่” และสร้างการพึ่งตนเองในระยะยาว

พี่นันเข้ามาบ้านยางแดงปี ๒๕๒๘ เป็นช่วงที่โครงการสรุปบทเรียน และเตรียมขยายพื้นที่ทำงาน บทเรียนหนึ่งที่พบคือ ผู้หญิงขาดการมีส่วนร่วม การทำงานพัฒนาชุมชนในระยะต่อมาจึงมีโจทย์หลักคือ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิง พี่นันเข้ามาอยู่ในชุมชนครบรอบปีเพื่อเรียนรู้วิถีชุมชน และตั้งข้อสังเกตว่าคนในชุมชนโดยเฉพาะผู้หญิงหาอยู่หากินกับป่าใกล้บ้าน เก็บพืชผัก เช่น หน่อไม้ หน่อข่าป่า ยอดหวาย ดอกกระเจียว มาทำอาหารในครัวเรือนและขายตามงานวัด ตลาดนัด พี่นันจึงชวนเด็กๆ เก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์จากไผ่ป่าที่บ้านของเด็กแต่ละคน ประมวลข้อมูลให้เห็นทรัพยากรธรรมชาติ และรายได้ในชุมชน ตามไปพูดคุยกับแม่ของเด็กๆ จนกระทั่งรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาแม่บ้านยางแดง เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๒๙ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงที่มาแลกเปลี่ยนพูดคุย และร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนเพื่อหาแนวทางแก้ไข

นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในทศวรรษ ๒๕๓๐ ส่งผลให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินจากนายทุน ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พื้นที่ป่าใกล้บ้านยางแดงถูกแพ้วถางพร้อมกับพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เข้ามาส่งเสริมในพื้นที่คือ ยูคาลิปตัส สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางรายได้ของชุมชน กลุ่มแม่บ้านยางแดงจึงมีการพูดคุยกันและได้ข้อสรุปว่า ต้องย้ายป่ามาไว้ในบ้านคือ เอาผักพื้นบ้านในป่า เช่น แต้ว เสม็ด กระเจียวหน่อข่าป่า หวาย ไม้ไผ่ มาปลูกเป็นป่าครอบครัว ซึ่งต่อมาขยายเป็นสวนผสมผสาน ประกอบกับบ้านยางแดงมีการทำนา หลังเก็บเกี่ยวจะมีฟางเหลือ พี่นันจึงหาความรู้และทดลองเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยด้วยตนเอง แล้วมาส่งเสริมคนในชุมชนเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง

กลุ่มออมทรัพย์ ป่าครอบครัว สวนผสมผสาน และการเพาะเห็ด จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรชุมชน แนวคิดนี้ขยายผลออกไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง และหลังจากปี ๒๕๓๒ ได้กลายเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงชุมชนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนจากหลายพื้นที่

งานเครือข่ายทำให้การทำงานของกลุ่มแม่บ้านยางแดงยกระดับไปสู่งานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ระหว่างปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ทางกลุ่มได้เข้าร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจน ขับเคลื่อนประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืนให้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ และเป็นชุมชนหนึ่งในโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย คนในชุมชนเป็นคนบริหารจัดการผ่านกลุ่มออมทรัพย์ ในปี ๒๕๔๔ มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต เพื่อทำงานทั้งระบบ ตั้งแต่ชุดความรู้ผลิต และจัดการผลผลิตสู่ตลาดในระดับท้องถิ่นและระดับสากล โดยมีระบบมาตรฐานรองรับ

ทศวรรษ ๒๕๕๐รัฐมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จึงทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายสมัชชาแปดริ้วยั่งยืนและเครือข่ายนักวิชาการ สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องผลกระทบของการสร้างโรงงานไฟฟ้าด้วยการทำ CHIA (Community Health Impact Assessment) คือประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยให้คนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตนเอง ชูประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญทั้งระดับประเทศและระดับโลก และนำข้อมูลชุดนี้นำเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งชะลอการก่อสร้าง โดยให้กลับไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง

ประสบการณ์การเคลื่อนไหวทำให้เกิดเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน มีการเสนอ “วาระเปลี่ยนตะวันออก” ที่ประกาศเจตนาว่า คนภาคตะวันออกต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตัวเอง และประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของวาระเปลี่ยนตะวันออก มีการริเริ่มโครงการ “๓๐๔ กินได้” ซึ่งเป็นการสร้างความหมายใหม่กับพื้นที่ที่ถนนหลวงหมายเลข ๓๐๔ ตัดผ่านว่า เป็นพื้นที่ผลิตอาหารใกล้เมืองที่สำคัญ

ประสบการณ์กว่า ๓๐ ปีของบ้านยางแดงจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของขบวนการทางสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้ความรู้มาพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน เริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาภายในชุมชน จนนำไปสู่การขับเคลื่อนงานนโยบายของสังคม ซึ่งเคล็ดลับสำคัญของการขับเคลื่อนขบวน คือทำให้ความรู้เป็น “ความรู้ที่กินได้” เห็นและเข้าใจได้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง

โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดของขบวนการทางสังคมตามแนวทางนี้ คือการเพิ่มอำนาจการมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตตนเองของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ที่เป็นฐานรากที่กว้างใหญ่ที่สุดของสังคมไทย เป็นขบวนการทางสังคมที่กินได้สำหรับคนทั้งหมด

ฆ่าตัวตาย นักศึกษา และการศึกษา



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2558

เดือนกรกฎาคมมีปรากฏการณ์น่าสนใจของข่าวมากมาย มองในแง่ดีนี่เป็นช่วงเวลาที่ข่าวมีสีสันมากที่สุดช่วงหนึ่ง สร้างความแตกแยกทางความคิดและอารมณ์มากที่สุดช่วงหนึ่ง สังคมที่ดีคือสังคมที่เห็นไม่ตรงกัน หากต่างฝ่ายอดกลั้นที่จะปะทะกันทางความคิดเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำร้ายกันอย่างรุนแรง อนาคตของบ้านเราก็ยังพอมีหวัง

ข่าวและการแถลงข่าวนักแสดงฆ่าตัวตายกลบข่าวนักศึกษา ๑๔ คนที่ถูกจับกุมเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยเสียมิดชิดหลายชั่วโมงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ

ความคิดฆ่าตัวตายมิใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องผิดปกติเสมอไป คนหลายคนสามารถคิดอยากตายได้เป็นบางครั้งโดยที่มิได้เจ็บป่วยด้วยโรคทางกายหรือโรคทางจิตอะไร เพราะความคิดฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องทางปรัชญาตั้งแต่ต้น เป็นคำถามอีกด้านของคำถามประเภทคนเราเกิดมาทำไม

คนทุกคนมีทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาคือธรรม บางครั้งทุกข์มากจนกระทั่งคิดฆ่าตัวตายก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน แม้ลงมือไปแล้วและไม่ตายก็เป็นเรื่องธรรมดาด้วย ที่ควรจะไม่ธรรมดาคือไม่ยอมลุกขึ้นมาสู้ชีวิตใหม่ต่างหาก

ที่ควรเป็นคือคนเราทุกข์ได้ เศร้าได้ คิดฆ่าตัวตายได้ และเผลอลงมือได้ด้วย ถ้ามีโอกาสแก้ตัวก็ต้องรู้จักพัก ค้นหาทางเลือกใหม่ของชีวิต แล้วลุกขึ้นใช้ชีวิตธรรมดาต่อไป

การแถลงข่าวและการประโคมข่าวต่างหากที่ไม่ธรรมดา

ความคิดฆ่าตัวตายมักเกิดขึ้นพร้อมกับความสับสน บางคนคิดลงมือปลิดชีวิตตนเองแท้จริง บางคนเพียงอยากตายแต่ไม่คิดจะลงมือด้วยตนเอง บางคนเพียงแค่อยากหายตัวไปแต่ไม่ได้อยากตาย บางคนอยากนอนหลับยาวๆ สัก ๗ วัน ๗ คืนแต่มิได้อยากหายตัวไป หลายครั้งที่เขากินยานอนหลับเกินขนาดไปโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองจะเอาอะไรกันแน่

ตื่นมาก็งงว่าทำอะไรลงไป ตอนตื่นมาจึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะชวนเขาทบทวนให้แน่ใจว่าอยากทำอะไรกันแน่

ความคิดฆ่าตัวตายมักมาเป็นลูกคลื่น พัดมาแล้วก็พัดไป ปัญหาจะเกิดก็เกิดตอนที่พัดมา ชั่วขณะที่ความคิดฆ่าตัวตายพุ่งขึ้นสูงหากมีปืนในบ้าน ใช้ปืนเป็นและรู้ที่เก็บ เช่นนี้ก็เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ได้ง่าย หากบ้านอยู่บนตึกสูงแล้วเปิดหน้าต่างได้ง่ายๆ เช่นนี้ก็ร่วงลงมาได้เร็ว

แต่ถ้าบ้านไม่มีปืน หน้าต่างปิดล็อคแน่นหนา ไม่สะสมยาและสารเคมีอันตรายมากจนเกินไปในตัวบ้าน เช่นนี้คลื่นความคิดฆ่าตัวตายจะผ่านไปสู่ระยะคลื่นลมสงบอีก ก็เป็นจังหวะที่เจ้าตัวได้ทบทวนตัวเองว่าจะใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไปหรือจะเปลี่ยนแปลง เป็นจังหวะที่ญาติพี่น้องจะได้พูดคุยด้วย หรือเป็นจังหวะที่ควรไปพบจิตแพทย์แล้วแต่กรณี

ความคิดฆ่าตัวตายมิใช่เรื่องใหญ่ การลงมือฆ่าตัวตายก็มิใช่เรื่องใหญ่ ความตื่นตระหนกเกินเหตุของทั้งสังคมจึงเป็นเรื่องใหญ่

นักศึกษา ๑๔ คนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นตัวอย่างของนักศึกษาที่การศึกษาไทยและมหาวิทยาลัยควรจะได้และควรจะยินดี โดยไม่ต้องใส่ใจว่าอะไรที่เขาเรียกร้องถูกหรือผิด

เราจะปฏิรูปการศึกษาไปทำไมถ้าเราไม่ยินยอมให้นักเรียนนักศึกษาแสดงออก คำว่าแสดงออกหมายถึงแสดงความคิดในหัวสมองออกมาให้คนอื่นรับทราบ ส่วนคนอื่นรับทราบแล้วจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แสดงออกมาได้เช่นกัน เช่นนี้การศึกษาจึงจะพัฒนาไปได้

หากคิดว่านักศึกษาแสดงออกไม่เหมาะสม ก็เป็นประเด็นที่ควรค่าแก่การถกเถียงกันต่อว่าไม่เหมาะสมตรงไหนและอะไรจึงเรียกว่าเหมาะสม ประเด็นนี้ไม่เหมือนกับไม่ให้แสดงออกเลย และไม่เหมือนกับที่บอกว่าให้รอไปก่อน โตขึ้นจะเข้าใจเอง

การศึกษาจะไปไหนไม่ได้เลยหากเราไม่ยินยอมในหลักการ ๒ ข้อแรกของการปฏิรูปการศึกษาคือ ๑.คิด ๒.พูด หากใช้ภาษาการศึกษาคือ critical thinking และ communication

เป็นเรื่องพูดอย่างทำอย่างหากเราจะพยายามปฏิรูปการศึกษาแล้วชื่นชมตนเองกันมากมายว่ากำลังปฏิรูปการศึกษา แต่ห้ามเด็กคิดและห้ามเด็กพูด ไม่มีข่าวอะไรจะน่าประหลาดมากไปกว่านี้อีกแล้ว

การคิดเชิงวิพากษ์หรือ critical thinking เป็นปฐมบทของการคิด มิใช่ผลลัพธ์ของการสอนหนังสือ มนุษย์เกิดมาก็คิดเป็นตั้งแต่ ๒ ขวบ คิดแล้วทำ ทำแล้วประเมินผล ประเมินผลแล้วทำซ้ำ ก่อนที่จะถอดบทเรียนเป็นความคิดรวบยอดเฉพาะตัว คือการคิดเชิงวิพากษ์ ถูกหรือผิดก็เรื่องหนึ่ง แต่มนุษย์นั้นคิดเป็น
เราทำลายวิธีคิดและการทำงานของสมองเด็กๆ ตามธรรมชาติด้วยการสอนหนังสือเรื่อยมา ตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึงปีสุดท้ายของอุดมศึกษา สอนให้เชื่อ และจงเชื่อฟัง นี่คือการทำลายทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบในนามของการศึกษาของชาติ เราทำเช่นนี้มาหนึ่งศตวรรษ ผลลัพธ์ที่ได้คืองานแถลงข่าวข้างต้น นั่นคือเต็มไปด้วยอวิชชา

มนุษย์นั้นคิดแล้วต้องพูดออกมา หากเด็กๆ พูดไม่เพราะ ไม่มีสัมมาคารวะ ก็เป็นหน้าที่ที่เราจะให้เขาฝึกทักษะการพูดที่สุภาพและมีคนฟัง แต่มิใช่ห้ามพูด

การแสดงออกมิใช่ทำได้ด้วยการพูด สามารถทำได้ด้วยการเขียน วาดรูป สร้างไฟล์นำเสนอ ทำอินโฟกราฟิก ทำข่าว จัดนิทรรศการ โต้วาที แสดงละคร ละครใบ้ และทำได้ทุกที่ทุกเวลา ส่วนจะมีคนฟังหรือไม่ฟัง เชื่อหรือไม่เชื่อก็ขึ้นกับฝีมือของคนที่กำลังแสดงออกซึ่งความคิดนั้นเอง คิดเก่งแต่พูดหรือแสดงออกไม่เอาไหนก็ช่วยไม่ได้ที่จะไม่มีคนคล้อยตาม แต่มิใช่ห้ามแสดงออก

งานแถลงข่าวฆ่าตัวตายสะท้อนถึงความล้มเหลวของการศึกษาแห่งชาติอย่างเป็นระบบ งานปฏิรูปการศึกษาที่ทำกันอยู่จะกลายเป็นเรื่องเหลวไหลและหลอกลวง หากไม่นำพาการแสดงออกของนักศึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม

บ้านเมืองเวลานี้มีแต่ข่าวตลกร้าย

ไดอะล็อคด้านมืด



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2558

ปีนี้เป็นปีดีแน่ๆ สำหรับชีวิตผม เป็นปีที่เพื่อนเก่าๆ กลับมาคืนดี ถึงวันนี้ก็นับได้สองราย ที่จริงจะว่าให้เป็นปริมาณก็หาไม่ หากเลขสองก็มากกว่าเลขหนึ่ง และสองก็อาจก่อประกอบเป็นแบบแผนเล็กๆ ได้ เช่นอาจจะกล่าวได้ว่า ปี ๒๕๕๘ เป็นปีแห่งการคืนดี ทำให้ผมอยากพูดถึงเรื่องไดอะล็อคด้านมืด (dark side) หรือถอดบทเรียนไดอะล็อคด้านมืดออกมาเป็นเรื่องเป็นราวสักหน่อย ที่จริงอาจจะเป็นเพียงการตั้งต้น และจะไม่สมบูรณ์หากคนที่นิยมไดอะล็อคด้านมืดไม่ได้มาถอดบทเรียนเองหรือมาร่วมกันถอดบทเรียนด้วยกัน


การตัดสิน

เรื่องหนึ่งที่ผมจะนำเสนอไดอะล็อคด้านมืดก็คือ การตัดสินผู้อื่น หรืออีกนัยหนึ่ง การพูดความจริง (อาจจะเป็นคำเรียบง่ายเกินไปในไดอะล็อคด้านมืด) แล้วลองเอามาเทียบเคียงกับคำว่า “การโยนตัวกวน” ของงานกระบวนการว่า จริงๆ แล้วคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ไดอะล็อคเป็นการพูดคุยที่มีวินัยเข้ามากำกับ จะสำเร็จเป็นผลดีต้องเป็นวินัยที่มาจากภายใน และจะยิ่งดียิ่งขึ้น ถ้าวินัยนั้นได้ซึมซับเข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของผู้พูดแล้ว และวินัยที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ความสามารถในการห้อยแขวนการตัดสิน พูดภาษาชาวบ้านคือการไม่ตัดสินเพื่อนๆ ในวง และไม่เพียงแต่ไม่ตัดสินโดยการกล่าวออกมา หากไม่ตัดสินแม้ในใจเลยทีเดียว เพราะหากเราตัดสินในใจแล้ว การฟังของเราจะไม่สมบูรณ์ หรือไม่ได้ฟังเอาเลย เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ แม้เป็นเพียงการพยายามไม่ตัดสินคนอื่นในใจของเรา ความเป็นไดอะล็อคก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

อ่านต่อ »

ความปรารถนาที่ไม่อาจจะเติมเต็ม



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2558

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมนิมนต์พระอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน ไปเปิดวงสนทนาจิตตปัญญาที่นครสวรรค์ นักธุรกิจหญิง สาวมั่นแห่งปากน้ำโพคนหนึ่ง บ่นลูกน้องให้พระอาจารย์ฟังว่า รู้สึกเบื่อหน่ายที่ลูกน้องและคนใกล้ชิดไม่ได้ดั่งใจ พระอาจารย์ตอบกลับไปว่า

“ใจของเราเองยังไม่ได้ดั่งใจเลย แล้วจะให้ใจใครมาได้ดั่งใจเรา”

ประโยคนี้ประโยคเดียว ทำให้เธออยู่อบรมต่อเป็นเวลาสามวัน จากเดิมที่แอบกระซิบว่าจะ “มาแวบเดียว”

อะไรคือความปรารถนาลึกๆ ของคนทุกคน? เป็นคำถามที่ผมเฝ้าถามตัวเอง จากการเรียนในสถาบันศึกษา ผมได้รู้จักกับมาสโลว์ที่พยายามแยกแยะความต้องการของมนุษย์ออกเป็นขั้นๆ แต่พอถึงวันนี้ ผมพบว่าโมเดลแบบนั้นไม่เพียงพอที่จะใช้มาอธิบายความซับซ้อนของมนุษย์ได้

จนผมมาเจอคำอธิบายของจิตวิเคราะห์สายลากอง (lacan)1 ที่ผมเห็นว่าเป็นคำอธิบายที่เข้าท่าอยู่ เพราะเขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะสามารถล่วงรู้ได้ว่าตัวเองปรารถนาอะไร ท่านผู้อ่านอาจจะเถียงในใจว่าไม่จริงหรอก ฉันรู้ดีว่าเดี๋ยวเที่ยงนี้ เย็นนี้ฉันอยากจะทานชาบูให้หนำใจ แต่ช้าก่อนครับ ในทางจิตวิเคราะห์เขาไม่เรียกการอยากทานชาบูว่าเป็นความปรารถนา เพราะมันเป็นเพียงความต้องการ และยังพูดต่อไปว่า เราสามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ เช่น อยากทานอาหารอร่อยก็ไปทาน อยากไปเที่ยวก็ไป แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ “ความปรารถนา”

การไม่อาจรู้ความปรารถนา ตรงกับคำของพระอาจารย์ที่บอกว่า “ใจของเราเองก็ยังไม่ได้ดั่งใจ”

อ่านต่อ »

แผนที่ชีวิต แผนที่สมอง



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2558

(๑)


เด็กเล็กๆ ยังไม่มีแผนที่ชีวิต เราผู้ใหญ่ต้องจูงมือเขาไป วางแผนที่ง่ายๆ ให้เขาเข้าถึงความดีและความชั่วอย่างง่ายๆ ดังปรากฏในนิทานอีสป คือมีกรอบให้เขาเดิน เด็กยังไม่ได้คิด ยังไม่ต้องให้อิสรภาพทางความคิด การไปให้อิสรภาพหรือไปยอมต่ออาการดึงดันของเขา ปล่อยให้การเอาชนะแบบสมองสัตว์เลื้อยคลานเกิดขึ้นเป็นปกติประจำวัน จะทำให้เขามองเห็นโลกอย่างบิดเบือนไปจากความดี กลายเป็นอสูรร้ายประจำบ้าน และสิ่งที่จะติดตัวเขาไป คือการเรียกร้องต้องการอย่างเอาแต่ใจตัวเอง ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

อีกด้านหนึ่ง เราควรปล่อยให้เขาสำรวจโลกทางกายภาพอย่างอิสระ ไม่ต้องเอามาตรฐานกรอบเกณฑ์เกินจำเป็นของผู้ใหญ่ไปจับ น่าสงสารเด็กบางคนเกลียดกลัวดินกลัวหญ้ามาจนถึงวันที่เป็นผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้เขาได้ดิ้นรนบ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น ให้รู้จักรอบ้าง ให้รู้จักทำสิ่งที่ยากลำบากบ้าง ให้เขาทุกข์บ้าง โดยมีเราอยู่เป็นเพื่อนคอยปลอบประโลมใจ จะทำให้เขาสามารถรับความยากลำบากและความทุกข์ได้ด้วยความมั่นคงภายในและด้วยทัศนคติที่เป็นบวก ซึ่งเรื่องนี้ ลูกคนรวยจะเสียเปรียบลูกคนธรรมดาที่จะมีโอกาสช่วยพ่อแม่บ้างตามความจำเป็น

อ่านต่อ »

ซำสวาทโมเดล: โรงเรียนขนาดเล็กที่ยิ่งใหญ่



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2558

จากโรงเรียนขนาดเล็กที่จะต้องยุบตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมีจำนวนนักเรียนน้อย ครูไม่ครบชั้น ครูไม่ตรงวิชาเอก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำ สู่การเป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัลหลากหลาย เช่น รางวัลสถานศึกษาพอเพียง รางวัลพลังคิดสะกิดโลก และรางวัลระดับศูนย์เครือข่ายสถานศึกษาเป็นต้น และที่สำคัญคือในปัจจุบัน นักเรียนอ่านออกเขียนได้ ๑๐๐ % (ป.๑-๓ อ่านออกเขียนได้ ป.๔-๕ อ่านคล่องเขียนคล่อง) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นทุกปี ผลการสอบเอ็นทีเป็นอันดับหนึ่งของเขตพื้นที่การศึกษา ผลการสอบโอเน็ตสูงขึ้น ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (LAS) สูงขึ้น ผ่านการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในระดับดี และนักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรม ๘ ประการของกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งหมดเป็นที่ภาคภูมิใจของคนในชุมชน ครู นักเรียน ผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เป็นตัวอย่างที่งดงามมากของการทำงานแบบมีส่วนร่วม ร่วมปรึกษา ร่วมหาทางออก ร่วมมือกันทำ ร่วมฝ่าฟันอุปสรรค ร่วมกันสร้างความสำเร็จ ร่วมกันปรับปรุงพัฒนา ร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ และเต็มเวลา และที่สำคัญด้วยความเต็มใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนจึงเป็นส่วนหนึ่งและส่วนเดียวกับชุมชนอย่างแท้จริง ครูเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของนักเรียน ครูสอนลูกอย่างไรก็สอนนักเรียนอย่างนั้น รักลูกศิษย์เหมือนรักลูกตัวเอง โรงเรียนคือบ้าน บ้านคือโรงเรียน ที่โรงเรียนมีครูสอน ที่บ้านมีพ่อแม่สอน

อ่านต่อ »

ความกรุณาของหมาไร้บ้าน และผู้อพยพลี้ภัยที่มีชื่อเสียงของโลก



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2558

(๑)


หลายปีก่อน ข้าพเจ้าพบลูกหมาวัยรุ่นตัวหนึ่ง เซซังมาจากไหนไม่รู้ได้ แต่ความเป็นลูกหมาที่ไร้ฝูง ท่าทีระแวงระวังไม่ไว้วางใจใครหรืออะไร ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า เจ้าลูกหมาตัวนี้พลัดหลงกับแม่ กระเซอะกระเซิงไปอย่างไม่รู้ทิศ ถูกไล่จากตรงโน้นตรงนี้ จนกระทั่งมาถึงละแวกอาคารที่พักของข้าพเจ้า ซึ่งมีหมาอยู่แล้วหลายตัว มีจ่าฝูงตัวผู้คอยกำหนดระเบียบ

เจ้าลูกหมาหน้าใหม่ไม่ได้เข้าอยู่ในฝูง จะด้วยเพราะฝูงเดิมไม่ยอมรับ หรือมันไม่รู้จักพิธีกรรมเข้าไปซูฮกเคารพนบน้อมก็ไม่รู้ได้ แต่ที่แน่-แน่ มันพบที่ซุกหัวนอนและอาหาร ไม่มีใครมาไล่ตะเพิด กลายสภาพจากหมาไร้บ้านเป็นหมามีหลักแหล่ง หน้าตามอมแมมดูมีสง่าราศีขึ้น แต่มันก็ไม่สนิทสนมกับใคร เดินวิ่งอยู่หลังตึก ใครจะให้อาหาร ต้องวางไว้และเดินออกไปไกล-ไกล มันถึงจะย่องเข้ามากิน

ด้วยความสงสัยว่า เจ้าหมาวัยรุ่นตัวนี้สันโดษโดยนิสัยสันดาน หรือว่าเป็นโรคระแวงเนื่องจากเป็นเหยื่อจากการกระทำรุนแรงในวัยเด็ก ข้าพเจ้าก็เลยทำการทดลอง ด้วยการซื้อลูกชิ้นบ้าง หมูปิ้งบ้าง เอามาให้เจ้าหมาตัวนี้ทุกเย็น วางไว้ แล้วก็นั่งห่างออกไปสักสิบกว่าเมตร ไม่เรียกมันเข้ามากิน ไม่เรียกให้มันเข้ามาหา ไม่มองหน้ามัน นั่งเล่นอยู่คนเดียวของข้าพเจ้าไปสักสิบหรือสิบห้านาทีแล้วก็ลุกไป

หมาทั่วไปเมื่อได้รับอาหารครั้งหนึ่งแล้ว พอเจอหน้าก็จะวิ่งมาประจบทักทาย แต่เจ้าหมาตัวนี้ไม่เคยทำเลย ในวันที่สี่และห้าก็โผล่หน้ามาหลังจากวางอาหารและข้าพเจ้าขยับออกไป พอวันที่หกข้าพเจ้าก็เริ่มคุยกับมัน ฉีกอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ วางไว้ให้มันเดินขยับมากินใกล้ตัวมากขึ้น และวันที่เจ็ดนั้นเอง ข้าพเจ้าก็ลูบหัวลูบตัวมันได้

อ่านต่อ »

ปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ด้วยคุณครู ไม่ใช่คนอื่น



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2558

ผู้เขียนได้พบคุณครูในชนบท ๔๕ โรงเรียนจากสามเขตการศึกษาแล้วทำให้มีกำลังใจ มีความหวัง และเชื่อมั่นในเรื่องที่เคยเชื่อเสมอมาว่า การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ก็ด้วยครูธรรมดาๆ ในโรงเรียนธรรมดาๆ ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

มีเรื่องบางเรื่องเท่านั้นที่ครูควรรู้ และเป็นเรื่องง่ายๆ

บางที เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการประชุมครู ให้ครูรู้วิธีการประชุมโดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เท่านี้ก็เพียงพอ

อธิบาย

การประชุมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร?

การประชุมครูไทยทั่วประเทศในภาคราชการคงไม่ต่างจากที่หลายกระทรวงกำลังเผชิญอยู่ กล่าวคือประชุมเรื่องงานอีเวนต์เสียมาก ไม่เกี่ยวอะไรกับงานในภารกิจที่ทำ

เพื่อความยุติธรรม ควรกล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เต็มไปด้วยการประชุมจัดอีเวนต์ ต้อนรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชี้แจงและเร่งรัดเอาผลงานและตัวชี้วัดที่ไม่เป็นจริง แต่ไม่ค่อยได้ประชุมกันเรื่องประโยชน์ของผู้ป่วยสักเท่าไรนัก

อ่านต่อ »

สนทนาข้ามพรมแดน: ความทรงจำร่วมและความหวังของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากฐานราก



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2558

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมวงสนทนาเล็กๆ ของกลุ่มเอ็นจีโอที่มีประสบการณ์เข้มข้นและยาวนานในการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มคนที่เปราะบางทางสังคม สิทธิชุมชน และสิทธิในการดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสมบัติร่วมกันของคนเล็กคนน้อยคนยากคนจนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

เราใช้เวลาสองวันหนึ่งคืนกับการพูดคุยข้ามพรมแดนชีวิตและงานของแต่ละคน แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว เชื่อมร้อยภาพความทรงจำร่วมของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากฐานรากของประเทศไทย และช่วยกันร้อยเรียงหมุดหมายสำคัญของสายธารขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานทางสังคมของคนหลายคนในวงสนทนา เช่น ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๒๘ ที่มีกรณีชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านการปลูกยูคาลิปตัสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคัดค้านการทำประมงอวนลากอวนรุนที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๓๔ มีกรณีคัดค้านโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) รวมทั้งเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของมหากาพย์การคัดค้านเขื่อนปากมูล หลังจากนั้นขบวนเริ่มมีการจัดการตนเองในลักษณะการเชื่อมโยงกลุ่มงานต่างๆ เข้าหากันเป็นเครือข่ายข้ามประเด็นและข้ามพื้นที่มากขึ้น เพื่อผนึกกำลังและกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวที่มุ่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย เช่น การรวมตัวของเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ในปี ๒๕๓๗ และสมัชชาคนจนในปี ๒๕๓๘ เป็นต้น

อ่านต่อ »

การศึกษาที่แท้



โดย ภัทร กิตติมานนท์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2558

ถ้าชีวิตของผมเป็นเหมือนหนังสือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คงเปรียบเหมือนการขึ้นบทใหม่ จากแต่เดิมที่เรียนรู้อยู่กับชุมชนมาได้ ๔ ปี ถึงตอนนี้ บริบททั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไป ช่วงต่อไป ผมต้องออกมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีการประคองใกล้ชิดจากลุง (วิศิษฐ์ วังวิญญู) และชุมชนอย่างที่เคยเป็นมา ในช่วงที่เกิดการปรับเปลี่ยนใหม่ๆ ต้องยอมรับว่า รู้สึกสั่นสะเทือนมาก มันเกิดขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งตัว แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงในชีวิตก็ล้วนเป็นอย่างนี้ไม่ใช่หรือ? ผมนึกถึงช่วงที่ตัวเองเดินทางออกจากกรุงเทพฯ จากชีวิตในระบบมาสู่การเรียนรู้วิถีใหม่ที่ชุมชนเชียงราย ในตอนนั้น หลังจากติดอยู่ในวังวนยาเสพติดมา ๓ ปี คืนหนึ่ง ในวันที่ชีวิตดิ่งลงถึงจุดต่ำสุด การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เริ่มจากแฟนที่เคยเล่นยาอยู่ด้วยกันตัดสินใจแยกทางไป แล้วจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง พ่อแม่ก็เดินทางมาหาพร้อมกับบอกว่า พวกเขารู้แล้วว่าผมติดยา ในเช้าวันนั้นเอง เราก็เดินทางออกจากกรุงเทพฯ มาสู่เชียงรายและชุมชนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

จากวันนั้นถึงวันนี้ กินเวลา ๔ ปีกว่าๆ เป็นช่วงเวลาที่ผมได้เรียนรู้อยู่ในโลกใบใหม่ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง หากจะนิยาม ๔ ปีในชุมชนเป็นบทหนึ่งในหนังสือ ผมจะให้ชื่อบทว่า “การศึกษาที่แท้” เพราะนี่คือการศึกษาที่ลงลึกถึงหัวใจ ไม่ใช่การเรียนเพื่อจดจำเนื้อหาดังที่เคยเป็นมา แต่ทุกๆ บทเรียนที่เกิดขึ้นคือความเข้าใจที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวตนของผมอย่างถึงราก ผมเลิกยาได้จากความสนิทสนมที่มีกับลุง ผมเริ่มเปิดตัวเองสู่โลกของการอ่านการเขียน จากคนที่เคยขยาดแขยงหนังสือเล่มหนาๆ ชื่อยากๆ มาวันนี้ ผมสามารถอ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้อย่างเมามัน อย่างที่ไม่กลัวว่าตัวเองจะไม่เข้าใจ และที่สำคัญ จากเด็กขี้อายที่ลึกๆ ยังรู้สึกสงสัยในคุณค่าของตัวเองอยู่ตลอด ตอนนี้ผมสามารถเป็นผู้นำพาการเรียนรู้ให้กับคนอื่นๆ ได้

อ่านต่อ »

วิกฤตสามวิ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2558

เคยสังเกตไหมว่าเวลาที่เด็กหกล้ม เขาจะหันไปมองคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ และในสามวินาทีนั้น ถ้าหากพ่อแม่ทำหน้าตกใจ เด็กจะร้องไห้โฮออกมาทันที แต่กลับกัน ถ้าทำเฉยๆ หรือยิ้มให้แล้วอาจจะพูดว่า "เป็นไงไหวไหมจ๊ะ" เด็กก็อาจจะลุกขึ้น ปัดฝุ่นแล้วบอกว่าไม่เป็นไรครับ/ค่ะ แล้ววิ่งเล่นต่อไป

ช่วงเวลาสามวินาทีนั้น กำหนดพฤติกรรมของเด็ก เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เด็กยังไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร หรือควรจะมีความรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้น พวกเขาจึงหันมาที่ผู้ใหญ่เพื่อมองหา "สัญญาณ" บางอย่างที่ตัวเองจะจับไปใช้สำหรับการแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น และเมื่อได้ทำแบบนั้นบ่อยเข้า ก็จะเกิดเป็นแบบแผนของนิสัยประจำตัวที่เอาไว้ใช้เมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆ เป็นเพราะเด็กพึ่งพา "ความรู้สึก" มากกว่าผู้ใหญ่ซึ่งมักจะใช้ "ความคิด" เป็นหลักในการเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ต่างๆ

ฟังๆ ดูเหมือนกับผมกำลังจะบอกว่าปฏิกิริยาของเด็กที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ นั้น เด็กเฝ้าดูจากสังคมเป็นเกณฑ์ แทนที่จะสามารถตัดสินได้ด้วยตัวเอง อันนี้เราต้องแยกว่าปฏิกิริยาที่พูดถึงสามารถแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกก็คือความรู้สึก และส่วนที่สองคือพฤติกรรม

อ่านต่อ »

เติมชีวิตจึงมีชีวา



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 เมษายน 2558

“เชสเมมโมเรียล” เป็นบ้านพักคนชราในรัฐนิวยอร์กที่ได้มาตรฐาน ตอนที่บิล โทมัสไปเป็นผู้อำนวยการใหม่ๆ เมื่อ ๑๖ ปีก่อน มีคนชราอยู่ประมาณ ๘๐ คน ทั้งหมดอยู่ในภาวะทุพพลภาพ ช่วยตัวเองแทบไม่ได้ ๔ ใน ๕ เป็นอัลไซเมอร์หรือมีความบกพร่องทางการรับรู้ เจ้าหน้าที่จึงต้องให้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด สวัสดิภาพและความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของที่นั่น

บิลเป็นหมอหนุ่มวัย ๓๐ ต้นๆ ที่คุ้นเคยกับโรคภัยไข้เจ็บของคนชราเป็นอย่างดี เพราะโรงพยาบาลเก่าของเขานั้นมีคนชราเข้ามารับการรักษาอยู่เป็นประจำ แต่ทันทีที่ย้ายไปทำงานที่นั่น เขารู้สึกได้ถึงความผิดปกติที่อยู่รอบตัว ผู้คนดูซึมเซา ห่อเหี่ยว ไร้ชีวิตชีวา ทีแรกเขาคิดว่าเป็นเพราะความผิดปกติในร่างกาย จึงสั่งตรวจสุขภาพคนชราทุกคนอย่างจริงจัง ทั้งสแกน ตรวจเลือด และเปลี่ยนยา แต่ผ่านไปหลายสัปดาห์เขาก็ยังไม่พบสาเหตุ

จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้ข้อสรุปว่า ตัวการที่ทำให้ผู้คนที่นั่นไร้ชีวิตชีวามี ๓ ประการ ได้แก่ ความเบื่อหน่าย ความอ้างว้าง และความรู้สึกสิ้นเรี่ยวสิ้นแรง วิธีเดียวที่จะจัดการกับสาเหตุดังกล่าวก็คือ การเติมชีวิตเข้าไปในบ้านพักคนชรา เขาจึงเสนอให้เอาพรรณไม้สีเขียวมาใส่ไว้ในทุกห้อง รื้อสนามหญ้าแล้วปลูกผักปลูกดอกไม้แทนที่ เท่านั้นยังไม่พอเขายังเสนอให้เอาสัตว์เข้าไปเลี้ยงในนั้น ไม่ใช่แค่หมาหรือแมวตัวเดียว แต่หลายตัว รวมทั้งนกนานาชนิดด้วย

อ่านต่อ »

ความเป็นพลเมืองไทย กับ ความเป็นพลเมืองโลก คุณธรรมไทย กับ คุณธรรมโลก



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 เมษายน 2558

ในเดือนเมษายนปีนี้ ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมเรื่องการประเมินความเป็นพลเมืองไทยสองครั้ง ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้เป็นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ และเป็นรองประธานคณะทำงานประเมินความเป็นพลเมืองไทยของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นประธาน

คณะกรรมการทั้งสองชุดได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง และแนวทางในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ

จากการพูดคุยและพิจารณาเอกสารที่ทีมงานนำมาแลกเปลี่ยนกัน ผมพบว่ายังมีความคลุมเครือและสับสนพอควรเกี่ยวกับคำ และความหมายของคำที่ใช้ในเรื่องนี้ ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองชุดจะต้องทำให้ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยก็ในนิยามปฏิบัติการสำหรับการทำงานครั้งนี้

อ่านต่อ »

การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 เมษายน 2558

“การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้และกระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ”
จาก อย่าเรียนหนังสือคนเดียว
กรุงเทพฯ : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๕๗, หน้า ๒๒



ประสบการณ์ที่หนึ่ง

มีนาคม ๒๕๕๘ ขับรถไปประชุมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เขตอำเภอเมืองของจังหวัดหนึ่ง ไปนั่งฟังเรื่องเล่าของเจ้าหน้าที่

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเล่าเรื่องความสำเร็จที่เขาสามารถประสานให้เทศบาลตำบลและผู้ใหญ่บ้านพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปช่วยกันนำผู้ป่วยโรคจิตที่ขังตัวเองในบ้านนาน ๒ ปีไปรักษาตัว เขาเล่าว่าแรกๆ ไม่มีใครเข้าใจว่าจะทำไปทำไม เพราะไม่รู้ว่าจะรักษาได้จริงหรือเปล่า ด้วยความเพียร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นจึงเดินเท้าไปอธิบาย ทำหนังสือขอรถยนต์ เจรจากับทุกคนที่เกี่ยวข้องให้นำผู้ป่วยออกมารักษาจนได้ ปัจจุบันผู้ป่วยดีขึ้นมากและกำลังหางานทำ

ประเด็นของเรื่องคือ ผมทำแบบที่เจ้าหน้าที่คนนี้ไม่ได้ คือประสานงานชุมชน เวลาผมไปนั่งฟังจึงฟังด้วยความชื่นชม ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคจิตตามที่ได้เรียนมา พอจะมีประโยชน์อยู่บ้างคือ ช่วยยืนยันว่าโรคจิตเป็นโรคที่รักษาได้ พบที่ไหนก็ขอให้มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย ขอให้รู้ว่าผู้ป่วยโรคจิตเป็นผู้ป่วยประเภทหนึ่ง มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาและรักษาได้ด้วย ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเผยแพร่ความรู้นี้ออกไปให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านเข้าใจ

มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่ชอบมากคือ คนไข้โรคจิตคนหนึ่งขโมยพระพุทธรูปจากวัดไปทิ้งน้ำ ชาวบ้านโกรธผู้ป่วยมากเพราะหลังจากนั้นทุกคนเป็นหวัดเรื้อรังกันหมด และเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ช่วยประสานการแก้ปัญหาอีกเช่นกัน

อ่านต่อ »

เอาผู้นำออกจากกล่อง



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มีนาคม 2558

ผู้นำที่ไม่สามารถออกจากกล่อง

แล้วเขาจะออกจากกล่องได้อย่างไร?

ทำอย่างไรผู้นำจึงจะสามารถออกจากกล่อง โดยสามารถทะลุกรอบคิดอันคับแคบออกไปได้

นี่คือประสบการณ์ของผมกับการทำงานกับผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรต่างรูปแบบมานับครั้งไม่ถ้วน ผมค้นพบว่าผู้นำจะติดอยู่ในกรอบของอะไรบ้างดังนี้

สิ่งที่ผู้นำทำได้ยากคือ

หนึ่ง การเปิดโอกาสให้คนอื่นตัดสินใจ ได้เป็นองค์กรจัดการตัวเอง ในระดับเจตจำนง (Willing) คือการปล่อยให้เกิดการเรียนรู้ โดยเปิดให้คนคนนั้นไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ให้เป็นองค์กรจัดการตัวเอง ในวิวัฒนาการขององค์กร เมื่อกลายเป็นวิวัฒนาการระดับสูงสุดเท่าที่เป็นได้ องค์กรจะเปิดให้คนทำงานได้มีโอกาสตัดสินใจในการทำงานของตัวเอง ในระบบการศึกษาคือการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้เอง

อ่านต่อ »

เสื้อนี้สีอะไร? : มุมมองจิตวิวัฒน์



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มีนาคม 2558

เร็วๆ นี้มีข่าวในโลกโซเชียลมีเดียที่ดูเหมือนเป็นเรื่องชวนหัวที่เอาไว้หยอกกันเล่นแล้วก็ผ่านไป แต่อันที่จริงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ต่อความเข้าใจทางด้านจิตวิวัฒน์อย่างน่าฉกฉวยเอามาสนทนาก่อนที่จะจืดจางไปในเวลาไม่นานเช่นเดียวกับเรื่องอื่นใดในโลกโซเชียลมีเดีย

เรื่องนั้นก็คือเรื่องของสีเสื้อปริศนา สำหรับรูปประกอบในคอลัมน์นี้อาจจะไม่เห็นเป็นสี แต่เชื่อว่าทุกคนสามารถพิมพ์ค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้โดยใช้คำค้นว่า “เสื้อนี้สีอะไร” ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าโดยแท้จริงแล้วเสื้อนี้สีอะไร แต่อยู่ที่ว่าคนในโลกนี้มองเห็นสีเสื้อที่อยู่ในภาพไม่เหมือนกัน โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกเห็นเสื้อนี้เป็นสีขาว-ทอง อีกกลุ่มหนึ่งเห็นเป็นสีน้ำเงิน-ดำ และเมื่อเรื่องนี้เริ่มเข้ามาเป็นกระแส ฝ่ายที่เห็นไม่เหมือนอีกฝ่ายต่างก็เกิดอาการสับสน บางคนสงสัยว่าอีกฝ่ายล้อตนเองเล่น หรือแกล้งปดว่าเห็นเป็นสีอื่น ต้องใช้เวลาอยู่นานทีเดียวจึงจะยอมรับตามข้อมูลที่ได้มาจากหลายแหล่งว่า คนในโลกนี้ล้วนมองเห็นภาพนี้เป็นสีต่างกัน แต่ในเมื่อมองกี่ครั้งก็ยังเห็นสีเหมือนเดิม ผมคนหนึ่งก็อดจะคิดไม่ได้ว่าคนที่มองเห็นไม่เหมือนเรานั้นมีความผิดปกติ ส่วนเรานั้นเป็น “คนปกติ” เพราะเป็นเรื่องปกติที่คนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองเอาไว้ก่อน

อ่านต่อ »

ประชาธิปไตยในวิถีไทย


โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มีนาคม 2558

ผมได้รับเชิญจากลูกศิษย์ให้ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเสวนาเรื่อง “ประชาธิปไตยในวิถีไทย” ในวันศุกร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘ ผมตอบรับเพราะความเป็นครูกับลูกศิษย์ และหัวข้อน่าสนใจดี แต่เมื่อกลับมานั่งพิจารณาว่าจะพูดอะไรให้ตรงกับหัวข้อ และจะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจไม่เหมือนกับคนอื่น จะเชื่อมโยงความเป็นพลเมืองไทยกับความเป็นพลเมืองโลกดีหรือไม่ เพราะสำหรับผม ความเป็นพลเมืองไทยมีมิติของวัฒนธรรมไทยที่เป็นวิถีไทยอยู่ แตกต่างจากความเป็นพลเมืองโลกที่ให้ความสำคัญกับสิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองตามวิถีตะวันตกภายใต้ระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตย

ที่สำคัญ ผมไม่อยากจะพูดเรื่องประชาธิปไตยในวิถีไทย ในลักษณะ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ” ที่เรามักได้ยินนักการเมืองหรือนักวิชาการพูดกันโดยทั่วไป เพราะมีความหมายไปในทางลบ มีลักษณะของการเสียดสีอยู่ในที

อ่านต่อ »

อานุภาพของการรู้เฉยๆ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

ในพระไตรปิฎกมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับมารที่มาก่อกวนผู้ประพฤติธรรม ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพระอรหันต์ ภิกษุ ภิกษุณี มารมาก่อกวนหลายรูปแบบ บางทีก็ปลอมตัวมาพูดจาชักจูงให้คลายความเพียร เช่น มาพูดกับภิกษุณีที่ทำความเพียรอยู่ว่าท่านยังสาวอยู่ ไปหาความสุขทางโลกก่อนเถอะ แก่แล้วก็ค่อยมาปฏิบัติธรรม เป็นการได้ประโยชน์จากโลกทั้งสอง คือโลกของฆราวาสและโลกของบรรพชิต ตอนสาวก็หาความสุขจากโลกฆราวาสด้วยการเสพกาม พอแก่แล้วค่อยมาหาความสุขจากโลกแห่งบรรพชิต ฟังดูก็มีเหตุผลดี น่าคล้อยตาม บางทีมารก็มาหลอกให้กลัว เช่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหว หรือปลอมตัวเป็นพญาช้างเป็นงูใหญ่ มาขู่ให้กลัวจะได้เลิกปฏิบัติ

แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งบำเพ็ญความเพียร ก็ยังมีมารมารังควาน เช่น ชวนให้พระองค์กลับไปบำเพ็ญทุกรกิริยา มีคราวหนึ่งมากล่าวกับพระองค์ว่า ท่านสั่งสมบุญกุศลมามากแล้ว จะทำความเพียรไปทำไม พระองค์ก็ตอบกลับไปว่า พระองค์ไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย แต่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น แต่ก็มีหลายกรณีที่เมื่อมารมาหลอกพระองค์ พระองค์ก็บอกให้มารรู้ว่าพระองค์รู้ทันแล้ว โดยกล่าวทักแค่ว่า “มารผู้มีบาป” เพียงเท่านี้มารก็ตกใจ อุทานว่า “พระพุทธเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา” เมื่อรู้ว่าหลอกไม่สำเร็จ มารก็ยอมแพ้ หายตัวไป จะเห็นได้ว่าพระองค์ไม่ได้ใช้ฤทธิ์เดชอะไรกับมาร เพียงแค่บอกให้รู้ว่าพระองค์รู้ทันมารแล้วเท่านั้น มารก็ยอมแพ้

คราวหนึ่งพระสมิทธิบำเพ็ญเพียรอยู่ มารก็มาหลอกให้กลัวด้วยการทำให้แผ่นดินไหว พระสมิทธิตกใจจนเลิกปฏิบัติ กลับไปยังเชตวัน แล้วทูลเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้า พระองค์ได้ฟังก็รู้ว่าเป็นอุบายของมาร จึงแนะนำพระสมิทธิว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็ให้พูดไปเลยว่า “มารผู้มีบาป เรารู้จักท่าน” พระสมิทธิก็เชื่อ กลับไปบำเพ็ญเพียรที่เดิม มารเห็นก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอีก คราวนี้พระสมิทธิก็บอกกับมารตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำ พอมารรู้ว่าพระสมิทธิรู้ทันแล้วก็เสียใจ อุทานว่า “พระสมิทธิรู้จักเราแล้ว” จากนั้นก็ล่าถอยกลับไป

จะเห็นได้ว่าเพียงแค่การรู้ทันก็มีอานุภาพมากพอที่จะทำให้มารล่าถอยกลับไปได้ ไม่ต้องใช้ฤทธิ์เดช ไม่ต้องต่อสู้หรือโรมรันพันตูกับมาร แค่บอกให้มารรู้ว่าเรารู้ทันเท่านี้ก็พอแล้ว มารในที่นี้ก็หมายถึงกิเลสที่ปรุงความคิดและอารมณ์ต่างๆ ทำให้เกิดความท้อ ความกลัว คลายความเพียร หรืออาจจะรวมถึงอารมณ์อกุศลต่างๆ ที่ทำให้เป็นทุกข์ เครื่องมือสำคัญที่จะเอามารับมือกับสิ่งเหล่านี้ก็คือ สติ ได้แก่การรู้เฉยๆ แค่รู้ว่ามันเกิดขึ้นที่ใจก็พอแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ไม่ว่ามันจะมาก่อกวนอย่างไรก็ตาม ขนาดพระโมคคัลลานะ มารก็เคยมาก่อกวนทำให้ปั่นป่วนที่ท้อง ทีแรกท่านไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ครั้นหยั่งจิตดูก็รู้ว่าเป็นฝีมือของมาร ท่านก็พูดกับมารอย่างเดียวกันว่า “มาร เรารู้จักท่าน ท่านอย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” พอมารรู้ว่าพระโมคคัลลานะรู้ทันก็เสียใจ หนีจากไป ความโกรธ ความโลภ ความหงุดหงิด ความรู้สึกผิดต่างๆ ก็เช่นกัน ทันทีที่เรารู้ว่ามันมา มันก็ล่าถอยไปไม่ต่างจากมาร

เวลามีความคิดและอารมณ์อกุศลเกิดขึ้น แค่รู้ทันเฉยๆ ก็พอแล้ว ไม่ต้องทำอะไร การดูก็ดี การเห็นก็ดี การรู้ทันก็ดี อันนี้เป็นงานของสติ คนส่วนใหญ่เวลาเกิดอารมณ์อกุศลขึ้นมามักจะอยู่เฉยไม่ได้ พยายามกดข่มมัน ยิ่งกดข่ม มันก็ยิ่งต้าน ยิ่งสู้ หรือไม่ก็หลบไประบายออกทางอื่น ผู้ชายคนหนึ่งพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมแปลกๆ คือเวลาเจอศาลพระภูมิทีไร มีความรู้สึกอยากไปทำลาย เขาไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ความโกรธเกลียดศาลพระภูมิเกิดขึ้นโดยไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร สุดท้ายก็ไปปรึกษาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็ให้เขาเล่าประวัติให้ฟัง

ตอนหนึ่งเขาเล่าว่าเขาเป็นคนที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับพ่อ ถูกพ่อดุด่าว่ากล่าวเป็นประจำ มีคราวหนึ่งพ่อด่าเขาอย่างรุนแรง ดูเหมือนจะลงไม้ลงมือด้วย เขาโกรธมากอยากจะตอบโต้ด้วยการต่อยพ่อแต่ก็ห้ามใจเอาไว้ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้สึกผิดมาก เพราะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ คนดีไม่ควรเกลียดพ่อหรืออยากทำร้ายพ่อ เขาจึงพยายามกดข่มความโกรธเกลียดพ่อเอาไว้ ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้กับพ่อ ปรากฏว่าความโกรธเกลียดพ่อไม่ได้หายไปไหน มันถูกกดอยู่ในจิตไร้สำนึก แล้วไประบายออกที่ศาลพระภูมิแทน เพราะศาลพระภูมิเป็นเหมือนตัวแทนของพ่อ คือเป็นที่เคารพและดูมีอำนาจ ในเมื่อโกรธเกลียดพ่อหรือทำร้ายพ่อไม่ได้ ก็ไปออกที่ศาลพระภูมิแทน

กรณีนี้แก้ได้ด้วยการที่เจ้าตัวยอมรับว่ามีความโกรธเกลียดพ่อ ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส และไม่ต้องกดข่มความรู้สึกดังกล่าว แค่ยอมรับและดูมันเฉยๆ แค่เห็นมันเฉยๆ เรียกว่าไม่ต้องสนใจมันเลยก็ได้ มันเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ก็จะพบว่าในที่สุดมันก็จะดับไปเอง ในทางตรงข้ามยิ่งไปกดข่มมัน มันก็ยิ่งรังควานหรือผลักดันให้เรามีอาการประหลาดวิปริตพิศดาร

สิ่งที่จิตแพทย์แนะนำก็คือให้มีสติ สติเหมือนตาใน ทำให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในใจแต่ไม่ทำอะไรกับมัน ไม่สนใจ แม้มันจะเป็นความคิดที่วิเศษ มีเสน่ห์ เราก็ไม่สนใจ ไม่เออออกับมัน แค่เห็นมันก็พอ ในทำนองเดียวกัน มันจะเป็นความคิดที่น่ารังเกียจแค่ไหน ก็แค่รู้เฉยๆ หลายคนพอเจริญสติมากๆ จะเจอความคิดและอารมณ์ที่น่าเกลียด เช่น ความโกรธ ความเห็นแก่ตัว ความพยาบาท พอมันเกิดขึ้นในใจก็รู้สึกผิด รู้สึกแย่ว่าทำไมฉันมีความคิดแบบนั้น ยอมรับมันไม่ได้ ก็พยายามกดข่มอารมณ์เหล่านั้นไว้ ที่จริงมันเป็นเรื่องธรรมดามากที่อารมณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรา เพราะเรายังเป็นปุถุชนอยู่ มองอีกแง่หนึ่งมันเป็นอุบายของกิเลสที่อยากจะล่อหลอกให้เราเข้าไปพันตูกับมัน ขืนเราทำเช่นนั้นเราก็หลงกลมัน เจอแบบนี้เราก็แค่รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปสนใจมันก็พอแล้ว

มีหลายคนมาปรึกษาอาตมาว่ากลุ้มใจมากเพราะมักจะมีคำพูดจ้วงจาบพระรัตนตรัยดังขึ้นในใจ บางทีก็จ้วงจาบพ่อแม่ ด่าท่านอย่างรุนแรงในใจ บางคนสวดมนต์ไปได้สักพักก็มีเสียงตำหนิด่าทอ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขารู้สึกแย่กับตัวเองมาก ว่าทำไมถึงมีความคิดที่ชั่วร้ายแบบนี้ พยายามกดข่มเท่าไรก็ไม่สำเร็จ อาตมาจึงแนะนำไปว่าไม่ต้องทำอะไรกับความคิดหรือเสียงเหล่านั้น แค่รู้ว่ามันมีอยู่ก็พอ ไม่ต้องไปสนใจมัน อย่าไปคิดกดข่ม อย่าไปทำอะไรกับมัน หากกดข่มมันมันก็ยิ่งได้ใจ รังควานหนักขึ้น

คนที่มีปัญหาแบบนี้มักคิดว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่คิดแบบนี้ จึงรู้สึกว่าตัวเองชั่วร้ายเหลือเกิน แต่ที่จริงมีคนคิดแบบนี้เยอะมาก เพียงแต่เขาไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง เพราะรู้สึกอับอาย พออาตมาเอาคำถามแบบนี้ขึ้นเฟ๊ซบุ๊ค หลายคนก็เขียนมาเล่าว่า ฉันก็เป็น หนูก็เป็น ผมก็เป็น มีเยอะทีเดียว แสดงว่าเหตุการณ์แบบนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษพิสดารของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทีเดียว โดยเฉพาะคนที่ติดดี ยิ่งอยากเป็นคนดี อยากทำตัวให้เรียบร้อย ความคิดแบบนี้ก็ยิ่งโผล่ออกมา จะว่ามันเป็นมารที่จะมาชวนให้หลงทางก็ได้ เป็นอุบายของมารที่ไม่อยากให้เราเจริญก้าวหน้าในทางธรรม หรืออาจจะเป็นเพราะความติดดีทำให้มีความรู้สึกลบต่อความคิดที่ไม่ดี พอมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นในใจก็พยายามกดข่มมัน ยอมรับไม่ได้ว่าฉันมีความคิดแบบนี้อยู่ ทั้งที่มันเป็นธรรมดา พอกดข่ม มันก็มีแรงต้าน อย่าลืมว่าแรงกดเท่ากับแรงสะท้อน

สิ่งที่ต้องทำในกรณีอย่างนี้ก็คือไม่ทำอะไรเลย ไม่ต้องทำอะไรกับความคิดเหล่านั้น ปล่อยมันไป ไม่โมโหโกรธามัน ไม่เกลียดมัน และไม่รู้สึกผิดกับตัวเองด้วย แค่รู้เฉยๆ มันก็จะค่อยๆ เลือนหายไป นี่เป็นพลานุภาพของการรู้เฉยๆ รู้โดยที่ไม่ต้องไปทำอะไร มันสามารถที่จะจัดการกับอารมณ์ หรือความคิดที่เป็นอกุศลได้

นี้เป็นการกระทำโดยไม่กระทำที่เรามักจะมองข้ามไป

ขี้อายอย่างมีพลัง



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558

มีครั้งหนึ่งผมต้องไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่แห่งหนึ่งจำนวนกว่า ๑๕๐ คน พูดตามตรงด้วยประสบการณ์หลายปีก่อน งานอบรมขนาดกว่าร้อยคนนี้ ถือว่าเป็นงานที่ผมไม่ถนัดเอาซะเลย เพราะปกติมักจะจัดแต่กลุ่มเล็กๆ ประมาณ ๓๐ คน รวมถึงมีความท้าทายด้วยว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมที่มากทั้งอายุและประสบการณ์ ทำให้ผมรู้สึกกังวลและประหม่าอยู่ไม่น้อย

ผมรู้สึกกับตัวเองบ่อยครั้งว่า ถึงจะทำอาชีพวิทยากรหรือกระบวนกร (Facilitator) จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้คนนับพันมานานหลายปี แต่ผมกลับรู้สึกลึกๆ ว่า ตัวเองยังมีความขี้อายอยู่ไม่น้อย เมื่อต้องยืนหน้าเวทีต่อหน้าผู้คนจำนวนมากๆ หลายครั้ง ผมตั้งคำถามและสงสัยว่าผมจะต้องทำอย่างไรกับด้านนี้ของตัวเอง

ส่วนใหญ่การพูดต่อหน้าชุมชน พูดบนเวที หรือแม้กระทั่งการนำเสนองานหน้าชั้นเรียน เรามักจะถูกสอนว่าต้องทำตัวให้มั่นใจ อย่าแสดงความตื่นเต้นหรือประหม่าออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ เรียกได้ว่า เราถูกสอนตั้งแต่เด็กให้ปฏิเสธความขี้อายของตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาจพูดได้ว่า ความขี้อายนั้นเป็นสัญชาตญาณและธรรมชาติที่งดงามอย่างหนึ่งของมนุษย์ เมื่อเราต้องเข้าไปในโลกที่ไม่คุ้นชิน และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก บางครั้งเราก็อาจมีบางด้านที่ไม่ต่างจากสัตว์ป่า เพียงเมื่อพบเจอผู้คน เขาก็อาจวิ่งหนีหายลับไป

อ่านต่อ »

สังคมที่ “แคร์” สังคมที่ “แฟร์”



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558

สังคมกระแสหลักมักให้คุณค่าต่อเหตุผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก ในการสนทนาอย่างเป็นทางการอารมณ์ความรู้สึกจะถูกผลักออกไปจากพื้นที่บนโต๊ะประชุม

การให้คุณค่าต่อเหตุผลเหนืออารมณ์ความรู้สึกนี้ปรากฏตัวอย่างชัดแจ้งในภาพยนตร์ร่วมสมัยอย่างเรื่อง ลูซี (Lucy) ซึ่งพยายามแสดงให้เห็นว่า เมื่อมนุษย์สามารถดึงศักยภาพทางสมองของตนเองมาใช้อย่างเต็มที่ มนุษย์จะกลายเป็นมนุษย์สมบูรณ์ซึ่งเหตุผลและปราศจากอารมณ์ความรู้สึกในที่สุด นี้แสดงให้เห็นว่า กระทั่งศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ก็คือความมีตรรกะเหตุผล และ - อารมณ์ความรู้สึกเป็นอุปสรรค

อย่างไรก็ดี เมื่ออันโตนิโอ ดามาสิโอ นักประสาทวิทยา ได้ศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บของสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก นั่นคือ ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ก็พบว่า แม้ผู้คนเหล่านี้จะมีความสามารถในการคิดคำนวณเชิงตรรกะเหตุผลได้ดี แต่มีการตัดสินใจที่แย่มาก-มาก ทั้งในชีวิตครอบครัวและการงาน ความแปลกแยกกับผู้คนในครอบครัวและที่ทำงานนี้ทำให้ชีวิตล่มสลาย

อ่านต่อ »

ติดยา เยียวยาได้จริงล่ะหรือ?



โดย ภัทร กิตติมานนท์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 มกราคม 2558

หลายครั้ง เวลาไปทำเวิร์คช็อป คนส่วนใหญ่เมื่อได้ฟังประสบการณ์การเลิกยาของผม จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ หลายคนชื่นชมว่าผมเก่ง ผมใจแข็งที่สามารถเลิกได้ บางคนบอกว่าเป็นเพราะผมมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ถ้อยคำที่ผมบอกว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เพราะผมเป็นคนพิเศษ ดูจะไม่เข้าหูพวกเขา สิ่งที่ผมตั้งใจจะบอกคือ ผมเลิกติดยาได้เพราะผมได้รับการดูแลที่ดี ผมพูดเสมอว่าที่ผมเป็นตัวเป็นตนทุกวันนี้ก็เพราะลุงใหญ่ (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) และลุงเองก็ไม่ใช่ผู้วิเศษที่ใช้คาถาเสกให้ผมเลิก แต่เป็นเพียงคนที่ชอบการเรียนรู้ ศึกษาลงลึกในเรื่องที่ตนสนใจ นั่นคือ “การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์” และนำมาปฏิบัติจริงทดลองจริงเท่านั้น

ตอนนั้น พอเลิกยาได้แล้ว ผมก็เรียนกับลุงต่อในเรื่องที่แกใช้เยียวยาผมนั่นแหละ เริ่มทำงานกับผู้คนจนเห็นว่าคนทั่วไปในสังคมก็ป่วยแทบไม่แตกต่างจากคนเสพติดเลย เพียงแต่การเสพติดคืออาการป่วยที่สังคมไม่ยอมรับ เวลาผ่านไปทำให้คิดว่า “เมื่อเราสามารถช่วยคน (ป่วย) ทั่วไปให้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เมื่อเราเองก็ได้รับการดูแลจนเปลี่ยนตัวเองได้ แล้วเราจะเอาเรื่องพวกนี้กลับไปช่วยผู้เสพติดและครอบครัวของพวกเขาบ้างไม่ได้หรือ?”

อ่านต่อ »

Mind Feed



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 มกราคม 2558

ในแต่ละวินาทีผู้คนทั่วโลกอัพสเตตัสในเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง ๕,๐๐๐ เรื่องราว (มิติของ ‘THEY’) แต่นั่นยังเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนครั้งที่นิวรอนในสมองยิงสัญญาณไฟฟ้าเข้าหากัน (อย่างน้อยหนึ่งร้อยล้านล้านครั้ง)

สัญญาณนิวรอนในสมองเป็นการมองในมิติ “IT” สำหรับ เคน วิลเบอร์ (Ken Wilber) ส่วนจิตสำนึก (Consciousness) ซึ่งคือมิติของ “I” แหล่งอ้างอิงทางพุทธศาสนาระบุเอาไว้ว่า ในเวลาอึดใจเดียว “จิต” เกิดดับไปแล้วถึงหนึ่งล้านล้านดวง

ในมิติของ “US” ซึ่งหมายถึง “พวกเรา” ในแต่ละวัน พวกเราต่างยิงถล่มกันด้วยความคิดจากจิตสำนึกของเราซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านภาษาลงสู่โครงสร้างทางดิจิตอล คือโซเชียลมีเดียอันทันสมัย และเข้าถึงได้ทุกที่ ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ความคิดของปัจเจกบุคคลจะถูกเข้าถึงและถูกถ่ายทอดให้แก่กันได้ง่ายดายเช่นนี้

อ่านต่อ »

นิเวศภาวนา พิธีกรรมสู่การเดินทางทางจิตวิญญาณ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มกราคม 2558

เมื่อวันที่ ๒๒-๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ สถาบันขวัญแผ่นดินได้จัดกิจกรรมเรียนรู้ “นิเวศภาวนา” (Eco-Quest) ณ ป่าผลัดใบบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยการภาวนาอดอาหาร ๓ วันเต็ม เพื่อให้ร่างกายได้เผชิญกับสภาวะอดอย่างเต็มที่และข้ามผ่านไปสู่ภาวะของการสร้างใหม่หรือการเกิดใหม่ อาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนเองทำแต่งานอบรมและพัฒนาคนในห้องแอร์ โรงแรม หรือรีสอร์ทต่างๆ แม้จะไกลจากความวุ่นวายของเมือง แต่ยังรู้สึกโหยหาความใกล้ชิดจากธรรมชาติที่มากกว่าพื้นที่จัดแต่งสีเขียวด้วยสายตา มุมมอง และน้ำมือของมนุษย์

ความปรารถนาที่ลึกซึ้งของตัวเขียนเองในการเดินทางสู่พื้นที่ป่า เป็นเหมือนกับการได้ไปภาวนาประจำปี แม้จะไม่ได้ไปในฐานะผู้ละวางภารกิจการงาน เพราะมีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกกับธรรมชาติ แต่รู้สึกได้ว่าป่ามีพลังการเยียวยาสูงอย่างน่าอัศจรรย์ เหมือนกับมีมนต์บางอย่างที่รอคอยให้เราค้นพบ ดังที่ บิล พล็อตคิน (Bill Plotkin) นักจิตวิทยาเชิงธรรมชาติ ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า “ความทุกข์ของลูกค้าของเขามักมีรากฐานมาจากชีวิตที่ขาดพร่องจากธรรมชาติ จากความลี้ลับ และการมีชีวิตในสังคมอย่างมีความหมาย อันเป็นความปรารถนาทางจิตวิญญาณขั้นพื้นฐาน แม้จิตบำบัดแบบดั้งเดิมที่ทำๆ กันมาในห้องหับ อาคารที่มั่นคงถาวร ก็ไม่สามารถตอบสนองความกระหายทางจิตวิญญาณที่ต้องการเดินทางไปยังพื้นที่ป่าที่ไม่มีอะไร “เชื่อง” กระแสน้ำที่กระโชกกระชากแรงตามจังหวะ ทางเดินอันเลาะเลี้ยววกวนในป่าใหญ่ และสัตว์ป่าที่อาจคึกคะนอง

อ่านต่อ »

ครูผู้เปลี่ยนชีวิตนักเรียน ด้วยการเปลี่ยนวิถีการสอน


โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 มกราคม 2558

ช่วงปีใหม่ ผมได้รับคำอวยพร บทกลอน คำคม เรื่องเล่าและเรื่องราวดีๆ มากมายจากเพื่อนๆ และลูกศิษย์ที่ส่งมาให้ มีอยู่ข้อความหนึ่งที่ผมอ่านแล้ว กระตุ้นให้ผมคิดโยงถึงเรื่องการศึกษาของไทยขึ้นมาทันที ข้อความนั้นคือ “อ่านหนังสือออก สำคัญ อ่านเหตุการณ์ออก สำคัญกว่า อ่านคนอื่นออก สำคัญยิ่ง อ่านตนเองออก สำคัญที่สุด”

ดูเหมือนการศึกษาของไทยจะเน้นเรื่องแรกเป็นหลัก เรื่องที่สองรองลงไป ส่วนเรื่องที่สามและสี่ไม่ได้เน้น เพราะการศึกษากระแสหลักของเราให้ความสำคัญกับการสอนหนังสือ/วิชา มากกว่าสอนคน/ชีวิตกับสังคมและสรรพสิ่ง

อ่านต่อ »

ฟังด้วยใจ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มกราคม 2558

“แก้ว” ป่วยด้วยโรคมะเร็ง อาการของเธอลุกลามจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย โรงพยาบาลที่เธอรักษาตัวได้ส่งจิตอาสาผู้หนึ่งชื่อ “แพรว”มาเยี่ยมเธอ มาเป็นเพื่อนรับฟัง มาวันแรกแพรวก็ตั้งหน้าตั้งตาคุยฝ่ายเดียว และเรื่องที่คุยส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของแพรวทั้งนั้น แก้วซึ่งเป็นคนไข้ก็ดีมาก เวลาแพรวมาเยี่ยมและพูดมากๆ แก้วก็ตั้งใจฟัง บางครั้งแพรวพูดจาวกวน แก้วก็ช่วยจับประเด็นให้เธอ การเยี่ยมเป็นเช่นนี้อยู่นานนับเดือน

วันหนึ่ง แพรวมาหาแก้ว สีหน้าดูดีมากเธอเล่าว่าเธอเคยมีปัญหาทางจิต และเคยไปพบจิตแพทย์ก่อนที่จะมาเป็นจิตอาสา แต่อาการของเธอไม่ดีขึ้นเลย หมอเอาแต่ให้ยา เธอไม่ชอบ ตอนหลังเธอจึงไม่ได้ไปหาหมอ พอมีการเปิดรับจิตอาสา เธอก็เลยสมัครมาทำงานนี้ ล่าสุดเธอได้ไปหาจิตแพทย์อีก หมอทักว่าเธอดูดีขึ้นเยอะ แล้วถามว่าเธอไปรักษาที่ไหนมา เธอก็บอกว่าเธอไม่ได้ไปรักษาที่ไหนเลย นอกจากมาเป็นจิตอาสาให้แก้ว เธอเชื่อว่าที่เธอมีอาการดีขึ้นก็เพราะแก้วช่วยรับฟังเรื่องราวของเธออยู่เสมอ จึงอยากขอบคุณแก้วมาก

อ่านต่อ »

Back to Top