โดย
วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2558
บุคลาธิษฐานดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับธรรมาธิษฐาน แต่ในความเห็นของผม แท้จริงแล้วเสริมสร้างกัน แม้ว่าผมจะเลือกเดินทางสายบุคลาธิษฐานมาตลอด แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งการศึกษาแบบธรรมาธิษฐานแต่อย่างใด
บุคลาธิษฐานในเมืองไทยสำหรับผมเริ่มต้นด้วยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชีวิตของผมที่มาคบหากับอาจารย์ในช่วงแรกๆ ก็ติดตามอ่านงานเขียนของอาจารย์ในทุกๆ นิตยสารที่อาจารย์เป็นบรรณาธิการ และอ่านหนังสือทุกเล่มที่อาจารย์เขียน ตอนนี้ แม้ไม่ได้ติดตามอาจารย์แบบนั้นแล้ว แต่การอ่านในยุคนั้นก็ได้หล่อหลอมเป็นแกนหลักบางอย่างในการคิด อ่าน และเขียนจวบจนทุกวันนี้ ในช่วงเวลาที่เคยใกล้ชิดกับอาจารย์ ผมก็ได้ห้อมล้อมอาจารย์ คอยชงน้ำชาให้อาจารย์และแขกเหรื่อ ในโอกาสเหล่านั้น ผมก็ได้เรียนรู้จริยาวัตร ปัญญาปฏิบัติ และลูกเล่นลูกชนในการคบหาผู้คนจากอาจารย์มากมาย
ผมได้เห็นหลายๆ ด้านของอาจารย์ เช่น ความเมตตากรุณา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องขันติธรรมนั้น อาจารย์มีขอบเขตการยอมรับความแตกต่างที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก ซึ่งผมไม่ค่อยได้เห็นในผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ในสังคมไทย เมื่ออาจารย์มีอายุมากขึ้น อาจารย์ก็ยังเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะด้านพรหมวิหาร คือการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของอาจารย์ อาจเรียกได้ว่าไม่ต้องมีเหตุผล เพราะเมตตากรุณาไม่ได้มาจากเหตุผล แต่จะมาจากหัวใจมากกว่า
แน่นอนว่า อาจารย์ก็มีจุดอ่อน ดังจะสังเกตได้ว่า ผู้ใหญ่รุ่นเก่าจะไม่ค่อยมีโอกาสทำงานกับปมของตัวเอง แต่อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่ทำงานกับอัตตาตัวตนของตัวเองมาไม่น้อย แม้จะไม่ได้สะสางปมไปได้ทั้งหมดและยังติดกับปมบางอย่างอยู่บ้าง แต่ในหลายๆ ด้านของอาจารย์ก็อ่อนโยนขึ้นมาก
การศึกษาผ่านบุคลาธิษฐานนี้เองที่ผมจะได้เปรียบคนรุ่นหลังๆ ผมว่าคนรุ่นหลังจะมุ่งศึกษาสิ่งที่เป็นศาสตร์ หรือ science หรือตื้นเขินกว่า science คือศึกษาแต่ how to เท่านั้น มากกว่าที่จะศึกษาศิลปะหรือปัญญาปฏิบัติ โดยศิลปะและปัญญาปฏิบัตินั้นจะศึกษาได้มากและได้ดีที่สุดก็ผ่านตัวบุคคลที่มีชีวิต และถ้าจะให้ดี ก็ต้องศึกษาผ่านตัวบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ที่เขาหรือเธอเป็นผู้นำของยุคสมัย สามารถผ่านพ้นข้อจำกัดของอัตตาตัวตนได้มากกว่าคนอื่นๆ
ปัญญาปฏิบัติ การหลอมรวมโลกภายในกับการเยียวยาปม
ปัญญาปฏิบัติต้องมีทุนเดิมอยู่ก่อน จึงสามารถอ่านหนังสือแบบเอาถอดปัญญาปฏิบัติออกมาได้ การเรียนผ่านบุคลาธิษฐานก็คือการคลุกเคล้าอยู่กับประสบการณ์ตรงและปัญญาปฏิบัติผ่านตัวบุคคล ซึ่งเป็นฐานสำคัญที่เราจะสามารถอ่านหนังสือได้อย่างลุ่มลึก โดยสามารถเจาะไปที่ปัญญาปฏิบัติหรือศิลปะอันแฝงฝังอยู่ในตัวหนังสือ
อีกคำหนึ่งที่สำคัญในเรื่องนี้ก็คือ สภาวะที่สองคนหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง (Intersubjectivity) คือเหมือนเป็นคนเดียวกันไปเลย ซึ่งตอนนี้ ได้รับการพิสูจน์ทางประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) แล้วว่า เมื่อสองคนหลอมรวมกัน การมีจิตตื่นรู้ของคนหนึ่งย่อมไปเหนี่ยวนำจิตของอีกคนหนึ่งให้ตื่นรู้ตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถถ่ายทอดทัศนคติ ความคิดอ่าน บุคลิกภาพและอุปนิสัยได้ในทางตรง ซึ่งเป็นทางลัดแห่งการเรียนรู้อันแยบยล
บุคลาธิษฐานของผมอีกหนึ่งท่านคือ ไถ่ นัท ฮันห์ เมื่อผมได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่าน ตอนนั้น ผมได้รับประสบการณ์การหลอมรวมเป็นหนึ่ง (intersubjective experiences) ร่วมกัน และผมก็ได้รับการเหนี่ยวนำจากท่านให้เกิดจิตตื่นรู้ เหมือนการได้รับตราแห่งธรรมโดยตรงเลย นับว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าสูงสุดอย่างหนึ่งในการเติบโตงอกงามของชีวิตมาตราบเท่าทุกวันนี้
จากตัวคนมาสู่ตัวหนังสือ
ต่อจากการศึกษาผ่านตัวคนโดยตรง ก็มาศึกษาตัวคนผ่านภาษาหนังสือ แต่เป็นการศึกษาความคิดและการงานของผู้ประพันธ์ เพราะคนเหล่านี้อยู่ต่างประเทศ และผมได้ตัดสินใจตีเส้นให้ตัวเองว่าจะไม่เดินทางต่างประเทศมากมายในชาตินี้ เลยต้องศึกษาผ่านหนังสือแทน เอาเรื่องที่สนใจเป็นตัวตั้ง แต่พอชอบใครก็จะอ่านหนังสือหลายๆ เล่มของเขา เหมือนอยากรู้จักคนคนนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อ่านเหมือนดำรงอยู่ร่วม กินนอนกับเขาหรือเธอผู้นั้นไปเลย ซึมซับบรรยากาศกลิ่นอายระหว่างบรรทัดด้วย
จากการศึกษาผ่านบุคลาธิษฐานกับคนที่สัมผัสได้ในเมืองไทย เช่น อาจารย์สุลักษณ์ ติช นัท ฮันห์ และนิโคลัส เบนเนต เป็นต้นนั้น ทำให้เห็นมิติที่ซับซ้อนของความเป็นคนของท่านเหล่านี้ เวลาไปอ่านหนังสือ ก็จะอ่านระหว่างบรรทัดไปด้วย เก็บกลิ่นอายบางอย่างไปด้วยระหว่างทาง และบรรดาคนที่มีของทั้งหลายนั้น เวลาเขียนหนังสือ เราจะสามารถสัมผัสตัวตนของพวกเขาได้ด้วย มันอยู่ในตัวหนังสือที่พวกเขาเขียนขึ้นมานั้นเอง
ตัวอย่างแก่นสาระบางประการของบุคคลที่ผมชื่นชอบตัวผ่านภาษาหนังสือ
อาร์โนลด์ มินเดล เขียนจดหมายถึงยุงในวันเกิดครบร้อยยี่สิบห้าปีว่า หนึ่ง จิตไร้สำนึกไม่น่ากลัว สอง การทำงานกับความฝันนั้น เราไม่ต้องรอฝัน หากเราสามารถอ่านฝันได้เลยจากร่างกายของเรา ซึ่งมินเดลเรียกว่า กายฝัน (dreambody) ถ้อยคำของมินเดลที่ผมชอบมีมากมาย แต่ที่ชอบมากๆ คือ “จักรวาลชอบความขัดแย้ง” มันทำให้สายตาของเราที่มองความขัดแย้งเปลี่ยนไปเลย
เบอร์ทรันด์ รัสเซลกล่าวว่า โลกียทรัพย์เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป แต่อริยทรัพย์ยิ่งใช้ยิ่งมีมากขึ้น เช่นความรัก เป็นต้น ยิ่งเรารักผู้อื่นเราก็ยิ่งรักได้มากขึ้น และจะเหนี่ยวนำให้คนอื่นรักกันได้มากขึ้น ทำให้ชุมชน สังคม ประเทศ มวลมนุษยชาติยิ่งมีความรักต่อกันและกันมากขึ้น
ชอบท่านพุทธทาสที่เห็นเรื่องการก่อตั้งสวนโมกข์เป็นเรื่องเล่นทั้งหมด ช่วงก่อตั้งช่วงหนึ่ง ประชา หุตานุวัตร (ขณะนั้นยังเป็นภิกษุอยู่) สัมภาษณ์ท่านในหนังสือ “เล่าไว้ในวัยสนธยา” เหมือนประชาพยายามถามหาความจริงจังแก่นสารบางอย่างของท่านในช่วงก่อสร้างสวนโมกข์ใหม่ แต่สัมภาษณ์เท่าไร ซักอย่างไรก็ตาม กลับพบว่าท่านทำงานแบบเล่นๆ ใช้เวลาช่วงหนึ่งในการเที่ยวเล่นนั้นเอง ข้อค้นพบอีกประการหนึ่งของผมจากการได้อ่านหนังสือของท่านก็คือ ท่านจะทำงานและวางแผนงานผ่านญาณทัศนะ โดยท่านจะมีสมุดเล่มน้อยจดเรื่องราวดีๆ ที่ปิ๊งแว้บเอาไว้ และส่วนหนึ่งท่านก็เอามาเทศน์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ด้วยเหตุนี้ ก็ไม่ต้องครุ่นคิดอะไรให้ปวดหัวเลยแม้สักเรื่องเดียว เหมือนไก่ที่อยู่บนตักของท่าน ที่ไม่เคยต้องกินยาแก้ปวดหัว
ประชากล่าวไว้ว่า “ทุกครั้งที่เราให้เด็กๆ ตัดสินใจด้วยตัวเอง การได้ตัดสินเช่นนั้น ก็คือการศึกษาที่แท้จริง”
อาจารย์สุลักษณ์เคยยกเรื่องราวของครูฝรั่งท่านหนึ่งที่สอนเรื่องเปลโต้ และเป็นคนรู้เรื่องเปลโต้ดีที่สุดคนหนึ่งในประเทศอังกฤษ ครูท่านนี้จะไม่ตีพิมพ์สิ่งที่เขียนมาเพื่อเตรียมการสอน และทุกปลายปีการศึกษา จะเผางานเตรียมการสอนทิ้ง และเขียนขึ้นใหม่สำหรับการสอนปีต่อไป ผมก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน คือผมสอนเรื่อง "มนุษย์เรียนรู้ได้อย่างไร" เพียงเรื่องเดียว และตอนนี้กำลังค้นคว้าว่า "มนุษย์เรียนรู้ที่จะเยียวยาตนเองได้อย่างไร" ผมสนใจที่จะปลดล็อคให้มนุษย์สามารถเรียนรู้เองได้ โดยไม่ต้องถูกสกัดกั้นด้วยสถาบันทางวิชาชีพใดๆ ผมว่า "เราต้องเอาการศึกษากลับคืนมาให้มวลมนุษยชาติทั้งปวง
แสดงความคิดเห็น