กุมภาพันธ์ 2013

ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑
พัฒนาการทางอารมณ์และจริยธรรม



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556

ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการศึกษาในศตวรรษใหม่ ประกอบด้วยทักษะ ๓ ประการคือ การเรียนรู้ การใช้ชีวิต และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

ทักษะการเรียนรู้แบ่งเป็นทักษะย่อย ๔ ขั้นตอน คือ การคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสารความคิด การทำงานร่วมกัน และการสร้างนวัตกรรม ทักษะย่อยที่สามคือ การทำงานร่วมกัน (collaboration) เป็นส่วนที่สอดคล้องกับพัฒนาการบุคลิกภาพช่วงเด็กประถมตามแนวคิดของ อีริก เอช. อีริกสัน (Erik H. Erikson) ที่ว่า เด็กประถมมีพัฒนาการทางสังคมที่สำคัญคือ การแข่งขัน การประนีประนอม และการร่วมมือกัน พูดง่ายๆ ว่าทะเลาะกัน ดีกัน และเล่นด้วยกัน หากเป็นการทำงานกลุ่มส่งครูก็จะเป็น คิดต่างกัน หาจุดลงตัว และทำงานเป็นทีม

หากโรงเรียนไทยจัดการศึกษาแบบที่เรียกว่าเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Active Learning) ให้แก่เด็กประถม ๖ ปีและเด็กมัธยมอีก ๖ ปี เวลายาวนานต่อเนื่อง ๑๒ ปีที่เด็กไทยต้องฝึกใช้ทักษะการทำงานร่วมกันทุกๆ วันย่อมทำให้เด็กมีวุฒิภาวะทางอารมณ์โดยธรรมชาติ

นั่นคือ เด็กและเยาวชนไทย “จัดการ” อารมณ์ตนเองได้

คำว่าจัดการ มิได้แปลว่าควบคุมหรือไม่ให้มี คนเรารัก โลภ โกรธ หลงได้เป็นธรรมดา แต่จะจัดการอย่างไร นักเรียนไทยรักกันได้แต่ระวังโรคและการตั้งครรภ์ โลภได้แต่อย่าเข้าไปในเว็บการพนันออนไลน์ โกรธได้แต่อย่ายกพวกตีกันหรือนัดตบกันหลังโรงเรียน หลงได้แต่ไม่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนทุกสองเดือน ฯลฯ คงเห็นพ้องกันว่า เด็กและวัยรุ่นไทยปัจจุบันทำทั้งหมดที่ว่ามา คือยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์

วุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่ได้เกิดจากการสั่งสอน แต่เกิดจากการปะทะทางอารมณ์ซึ่งกันและกัน และเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมว่า ในสังคมใดๆ ณ บริบทและเวลาใดๆ เราควรจัดการอารมณ์อย่างไร

การศึกษาที่มุ่งเน้นการมอบความรู้ หลักสูตร การสอบ ความเป็นเลิศ จะกำหนดให้นักเรียนไทยมีพฤติกรรมตัวใครตัวมัน ทุกคนมีภารกิจเรียนให้เก่ง แต่ขาดโอกาสปะทะสังสรรค์กับเพื่อนในทางสร้างสรรค์

ส่วนทักษะการใช้ชีวิตแบ่งเป็นทักษะย่อย ๔ ขั้นตอนคือ รู้จุดมุ่งหมายของชีวิต รู้จักค้นหาทางเลือกและตัดสินใจ รู้จักรับผิดชอบผลลัพธ์ของการเลือกหรือการกระทำของตนเอง และรู้จักยืดหยุ่น ทักษะย่อยที่สามคือ รู้จักรับผิดชอบผลลัพธ์ของการเลือกหรือการกระทำของตนเอง เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาจริยธรรม (ethics)

จริยธรรมมิใช่ศีลธรรม (moral) จริยธรรมเป็นทักษะซึ่งต้องการการฝึกอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เกิดจากการเทศนาสั่งสอน เราต้องโยนเด็กของเราลงสู่สถานการณ์ที่เขาได้เรียนรู้และฝึกทักษะที่จะมีจริยธรรม

คนทุกอาชีพต้องมีจริยธรรม อาชีพที่มีอำนาจเหนือผู้อื่นยิ่งต้องมีจริยธรรมกำกับมิให้ใช้อำนาจนั้นไปในทางที่เป็นผลเสียต่อส่วนรวม ดังนั้น นักการเมือง หมอ ครู ผู้พิพากษา ตำรวจ จึงเป็นวิชาชีพที่ต้องมีจริยธรรมแข็งแกร่ง เพราะบุคคลเหล่านี้กำความรู้และถืออำนาจไว้ในมือสูง แต่แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งก็มิใช่ข้อยกเว้น การเสียบลูกชิ้นต้องเสียบให้ตรงเป็นแนวศูนย์กลางโดยสม่ำเสมอ มิเช่นนั้นเวลาปิ้งก็จะสุกไม่เท่ากัน ทำให้คนกินเดือดร้อนได้ ส่วนที่ไม่สุกก็ทำให้ท้องเสียหรือมีพยาธิ ส่วนที่สุกเกินจนไหม้เกรียมก็ก่อสารพิษและอาจจะก่อมะเร็ง เป็นต้น

แต่เพราะชีวิตเลือกได้และมีความยืดหยุ่น (resiliency) ดังนั้น เด็กประถมและมัธยมควรมีเวลา ๑๒ ปีในการเรียนรู้ด้วยแบบ แอคทีฟ เลิร์นนิ่ง เพื่อที่จะได้รับรู้ผลลัพธ์ของการกระทำของตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในทีม และตัดสินใจเอาเองว่า ตนเองจะใช้ชีวิตที่มีระดับจริยธรรมมากน้อยเพียงไร ให้รู้ว่าการใช้ชีวิตอย่างไรล้วนมีราคาต้องจ่ายทั้งสิ้น

คุณหมอที่ไม่รับของกำนัลจากบริษัทยาเลยแม้กระทั่งปากกาสักด้ามหรือกระดาษทิชชูสักกล่อง มีราคาของชีวิตที่ต้องจ่าย คุณหมอที่รับทุนบริษัทยาไปต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ ก็มีราคาของชีวิตที่ต้องจ่าย คุณหมอสองท่านนี้มีฐานะต่างกัน ความสุขความทุกข์ต่างกัน

คุณครูที่ไม่คำนึงถึงนักเรียนที่เรียนอ่อน เอาแต่สนใจนักเรียนที่เรียนเก่ง กับคุณครูที่สนใจนักเรียนทั่วทั้งห้องเสมอหน้ากัน ทั้งสองท่านเลือกชีวิตของตนเอง และมีราคาของชีวิตที่ต้องจ่ายเช่นกัน รายได้ต่างกัน ความสุขความทุกข์ในใจนั้นต่างกัน

เรื่องเช่นนี้ยากต่อการตัดสินผิดถูก แต่ง่ายต่อการฝึกทักษะ หากเด็กนักเรียนได้รับโอกาสฝึก

พัฒนาการทางอารมณ์และทางจริยธรรมเป็นนามธรรม มาห์เลอร์ (Mahler) และ โคห์ลเบอร์ก (Kohlberg) อาจจะเขียนทฤษฎีพัฒนาการสองเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนและลึกซึ้ง แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติในประเทศไทยได้ หากขาดการลงมือทำ

การปฏิวัติการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลงมือปฏิบัติ

พลังใจ


โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นักวิจัยชาวออสเตรเลียสองคน คือ ไมเคิล โอเท็น และ เค็น เช็ง ได้ชักชวนอาสาสมัครประมาณ ๒๔ คน อายุระหว่าง ๑๘-๕๐ ปี เข้าโครงการออกกำลังกายเป็นเวลาสองเดือน กิจกรรมมีทั้งยกน้ำหนักและเต้นแอโรคบิค ส่วนใหญ่ไม่เคยออกกำลังกายแบบนี้มาก่อน เพราะชอบนั่งๆ นอนๆ มากกว่า จึงต้องเคี่ยวเข็นตนเองอย่างมากทุกครั้งที่เข้าโรงยิม

เมื่อสองเดือนผ่านไป ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาชีวิตของทั้ง ๒๔ คนเพื่อดูว่าการออกกำลังกายส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของเขาบ้าง สิ่งที่เขาพบก็คือ ไม่เพียงทรวดทรงของเขาจะดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ และกินอาหารขยะน้อยลง ใช้เวลากับการทำการบ้านมากขึ้น ดูโทรทัศน์น้อยลง รวมทั้งซึมเศร้าน้อยลงด้วย

ต่อมา ทั้งสองได้ทำการทดลองอีกครั้ง คราวนี้ให้คน ๒๙ คนมาเข้าโครงการบริหารเงินเป็นเวลาสี่เดือน โดยให้ทุกคนตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินเป็นจำนวนเท่าใด และขอให้งดสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น กินอาหารในภัตตาคารหรือดูหนัง รวมทั้งทำบัญชีการใช้จ่ายอย่างละเอียด

แน่นอนว่าสถานะการเงินของทุกคนดีขึ้น แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ นอกจากพวกเขาจะดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ กินอาหารขยะ และสูบบุหรี่น้อยลงแล้ว (บางคนสูบน้อยลงถึง ๑๕ มวน) ยังทำงานหรือมีผลการเรียนดีขึ้น

ทั้งสองคนยังไม่พอใจเพียงเท่านั้น การทดลองต่อมาเขาให้นักศึกษา ๔๕ คนเข้าโครงการปรับปรุงการศึกษา ซึ่งเน้นการสร้างนิสัยใหม่เกี่ยวกับการเรียน ปรากฏว่าผลการเรียนของทุกคนดีขึ้นตามคาด แต่พฤติกรรมด้านอื่นๆ ก็ดีขึ้นด้วย เช่น สูบหรี่และดื่มเหล้าน้อยลง ดูโทรทัศน์น้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น และกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น

พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว แม้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าจะเป็นผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมออกกำลังกายเป็นประจำเสมอไปก็หาไม่ เพราะการทดลองสองครั้งหลังไม่ได้เกี่ยวกับการออกกำลังกายเลย ถ้าเช่นนั้น อะไรเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

โอเท็นและเช็งสรุปว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นผลจาก “พลังใจ” (will power) ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการทดลองทั้งสามประเภทนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการฝึกให้อาสาสมัครเคี่ยวกรำตนเอง ต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ ต้องอดทนอดกลั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ผลก็คือมีพลังในการควบคุมตนเองมากขึ้น พลังดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่หยุดอยู่เฉพาะกิจกรรมที่ถูกกำหนดให้ทำ แต่ขยายไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่ไม่มีใครบังคับ เช่น การกินอาหาร การดูโทรทัศน์ การทำงาน ฯลฯ



การทดลองดังกล่าวให้ผลสอดคล้องกับการทดลองที่หลายคนได้ทำก่อนหน้านั้น เช่น เมื่อมีการชักชวนให้ผู้คนออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้ไม่ทุกวัน แต่ทำแค่อาทิตย์ละครั้ง พฤติกรรมด้านอื่นๆ ของเขาก็เปลี่ยนไป เช่น สูบบุหรี่น้อยลง กินอาหารที่ถูกอนามัยมากขึ้น ใช้เครดิตการ์ดน้อยลง มีความอดทนกับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น รวมทั้งมีความเครียดน้อยลงด้วย

การทดลองเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า พลังใจหรือความสามารถในการควบคุม (และเคี่ยวเข็น) ตนเองนั้น มีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตของเรา มันไม่เพียงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในบางเรื่องที่กำลังฝึกฝนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของเราอีกด้วย ไม่ว่าการบริโภค การทำงาน หรือความสัมพันธ์

มองในทางกลับกัน การที่ผู้คนมีพฤติกรรมที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นนั้น สาเหตุสำคัญก็คือการขาดพลังใจหรือความสามารถในการควบคุมตนเองนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าการทำเช่นนั้นไม่ดี หลายคนก็รู้ว่า บุหรี่ สุรา และอาหารขยะนั้น เป็นโทษต่อร่างกาย แต่ที่ยังเลิกไม่ได้ก็เพราะขาดพลังที่จะต่อต้านมัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งเหล่านี้มีพลังในการยั่วยวนเช่นเดียวกับอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง เช่น การเที่ยวห้าง การพนัน เกมออนไลน์ หรือแม้แต่เฟซบุ๊ก

ในสหรัฐอเมริกา มีคนจำนวนมากที่หยุดช็อปปิ้งไม่ได้ มีเครดิตการ์ดกี่ใบก็รูดหมดจนมีหนี้สินมากมาย รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ก็ห้ามใจไม่ได้เสียที มีบางคนหาทางแก้ด้วยการเอาบัตรเครดิตใส่ไว้ในแก้ว แล้วเอาแก้วนั้นไปใส่ช่องแช่แข็ง เมื่อใดก็ตามที่อยากจับจ่าย ก็ต้องรอให้น้ำแข็งในแก้วละลายก่อนจึงจะเอาบัตรเครดิตไปใช้ได้ ถึงตอนนั้น ความอยากก็จะลดลงไป และสติกลับคืนมา ทำให้เปลี่ยนใจไม่ไปช็อปปิ้ง


นี้เป็นทางออกของหลายคนที่รู้ว่าพลังใจนั้นมีไม่พอที่จะต้านความอยาก จึงต้องอาศัย “ตัวช่วย”จากภายนอก เช่น ถ้าจะเลิกเหล้าหรือการพนัน ก็ต้องผลักไสตัวเองไปอยู่วัดหรือที่ไกลๆ จะได้ไม่สามารถทำตามความอยากได้ แต่ตราบใดที่พลังใจไม่เข้มแข็ง เมื่อใดที่สบโอกาส ก็มักพ่ายแพ้แก่กิเลส และอดโมโหตัวเองไม่ได้ที่พ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้ก็ว่าได้ คือ รู้ว่าอะไรดี แต่ห้ามใจไม่ได้ สมกับวลีที่ว่า “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้” ทั้งนี้เป็นเพราะการถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจมาตั้งแต่เล็ก ครั้นโตขึ้นก็ปล่อยตัวปล่อยใจง่ายเกินไป ประกอบกับทุกวันนี้มีสิ่งยั่วยวนมากมาย ที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจสูงมาก ยากที่จะต่อต้านได้ แม้มันจะให้ความสุขที่รวดเร็วทันใจ แต่ส่งผลเสียตามมาในระยะยาว

ทุกวันนี้มีคุณค่าใหม่ๆ ที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นตัวของตัวเอง ความรักอิสระ แต่คุณค่าเก่าๆ สมัยปู่ย่าตายาย เช่น การรู้จักควบคุมตนเอง ก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากขาดสิ่งนี้ไปแล้ว ก็ยากที่จะนำพาชีวิตไปในทางที่เจริญงอกงามได้

เมื่อ ๔๐ ปีก่อน วอลเตอร์ มิสเชล แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ทำการทดลองที่มีชื่อเสียงมาก โดยนำเด็กอายุ ๔-๖ ขวบเข้าไปในห้องซึ่งมีขนมมากมาย ผู้ทดลองบอกแก่เด็กว่า ขนมเหล่านี้เด็กทุกคนสามารถกินได้หนึ่งชิ้นทันที แต่หากรอ ๑๕ นาทีก็สามารถกินได้สองชิ้น ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่รอไม่ไหว ขอกินก่อน มีเพียงหนึ่งในสามที่รอได้ถึง ๑๕ นาทีเพื่อจะได้กินสองชิ้น

มีเด็กร่วมการทดลองนี้ร่วม ๖๐๐ คน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นวัยรุ่น เขาได้พบว่าเด็กที่รู้จักอดทนรอคอยนั้น โดยเฉลี่ยมีผลการเรียนที่ดีถึงดีมาก รวมทั้งทำคะแนนสอบเข้า (SAT score) ได้สูงกว่าเด็กที่เหลือถึง ๒๑๐ คะแนน อีกทั้งยังมีเพื่อนเยอะ และเสพยาน้อยกว่า

เสรีภาพนั้นไม่ใช่การตามใจ จะว่าไปแล้วการตามใจหรือการปล่อยใจไปตามอารมณ์ กลับทำให้ตนเองสูญเสียเสรีภาพ ยากที่จะดำเนินชีวิตไปตามที่ปรารถนาได้ เพราะตกอยู่ในอำนาจของสิ่งยั่วยวนมากมาย ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นโทษ แต่ก็ปฏิเสธมันไม่ได้ เพราะไม่มีเรี่ยวแรงต่อต้านขัดขืน ดังนั้นหากปรารถนาเสรีภาพ นอกจากความรักอิสระแล้ว ยังต้องมีพลังใจเพื่อสามารถผลักดันชีวิตไปยังจุดหมายที่ต้องการ แม้อุปสรรคจะมีมากมายเพียงใดก็ตาม

การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑
เสริมพัฒนาการเด็กอย่างไร



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556

การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มุ่งเน้นการฝึกทักษะให้แก่นักเรียนมากกว่าการมอบความรู้

ทักษะสำคัญมีสามประการคือ ทักษะเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ นักเรียนที่มีความสามารถในศตวรรษใหม่ คือนักเรียนที่มีทักษะสามประการนี้ดี ส่วนเรื่องความรู้ ใครอยากรู้อะไรหรือจำเป็นต้องรู้อะไร ให้ไปหาเอาข้างหน้า

ลำพังทักษะการเรียนรู้และทักษะการใช้ชีวิต สามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ในโรงเรียน

การศึกษาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แยกการเรียนหนังสือและการใช้ชีวิตออกจากกัน บ้างเรียนเก่งแต่ใช้ชีวิตไม่เป็น ส่วนใหญ่เรียนก็ไม่เก่ง ใช้ชีวิตก็ไม่เป็น เราจึงได้เยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเต็มบ้านเต็มเมืองมิหนำซ้ำ ผลสัมฤทธิ์การศึกษาก็ต่ำเกือบสุดเกือบทุกสำนัก

การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มุ่งเน้นการเรียนรู้ ไม่ใช่การเรียนหนังสือ สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน

การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการทำงานเป็นทีม (collaboration) การทำงานเป็นทีมก็เป็นทักษะ ลองขึ้นชื่อว่าทักษะก็ต้องฝึก มิใช่ปล่อยไปตามยถากรรม

โรงเรียนที่ดี ครูที่ดี โดยเฉพาะสำหรับชั้นเด็กเล็ก การออกแบบกิจกรรมหรือบทเรียนให้เด็กเล็กได้ทำงานเป็นทีมในทุกๆ วันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการปฏิวัติการศึกษา

การทำงานเป็นทีม มิใช่การแบ่งกลุ่มทำรายงานส่งครูหรือการแบ่งกลุ่มไปทัศนศึกษา

การทำงานเป็นทีม หมายถึงการแบ่งกลุ่มเรียนรู้ด้วยการกระทำ คำสำคัญคือการกระทำหรือการทำงาน (action) กลุ่มที่ดีจะถูกออกแบบให้เด็กทุกคนซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มได้เรียนรู้ผ่านการกระทำหรือการทำงาน (learning by action หรือ active learning)

บ้างเรียกว่าการเรียนรู้ผ่านปัญหา (Problem-based Learning) หรือการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project-based Learning) มักเรียกย่อๆ กันว่า PBL

จะเรียกว่าอย่างไรก็ตาม สาระคือเด็กต้องได้เรียนรู้จากการทำงาน หากเด็กมิได้เรียนรู้ ได้แต่ความรู้ เช่น แบ่งกลุ่มไปทำรายงานมาส่งครู เช่นนี้ไม่มีประโยชน์ หรือแบ่งกลุ่มไปทัศนศึกษาแล้วเขียนรายงานมาส่งครู เช่นนี้ได้ประโยชน์น้อย คำสำคัญที่อย่าหลงลืมคือการเรียนรู้ผ่านการทำงาน

ในการแบ่งกลุ่มทำงานใดๆ เด็กทุกคนต้องได้ลงไม้ลงมือกระทำหรือทำงาน ไม่เปิดโอกาสให้เด็กบางคนอยู่เฉยๆ ถ้าทำได้และควรทำอย่างยิ่งคือ ให้มีเด็กทุกประเภทเป็นสมาชิกของกลุ่ม คือเด็กเรียนเก่ง เด็กเรียนไม่เก่ง เด็กฉลาด เด็กที่ดูคล้ายจะช้า (ซึ่งมิได้แปลว่าโง่) เด็กที่ดูคล้ายจะซน (ซึ่งมิได้แปลว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น) เด็กแอลดี เด็กพิการ เด็กชาติพันธุ์ และศาสนาต่างๆ ฯลฯ

เรามีเด็กหลากหลายประเภทเช่นนี้ในกลุ่มก็จริง แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เราได้เด็กหลากหลายนิสัยเข้ามาอยู่ในกลุ่มโดยไม่รู้ตัวด้วย เด็กขยัน เด็กขี้เกียจ เด็กมีวินัย เด็กไม่มีวินัย เด็กรวย เด็กจน ลูกเจ้าสัว ลูกกรรมกร เด็กเร็ว เด็กช้า เด็กขี้ประจบ เด็กฉอเลาะ เด็กมารยาสาไถย เด็กหญิงผู้ใจบุญ เด็กชายผู้ใจร้าย เด็กอู้งาน เด็กเอาหน้า เด็กละโมบ เด็กเผื่อแผ่ เด็กเกเร ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่ากลุ่มของเด็กคือตัวแทนของสังคมที่พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ในวันหน้า

การเรียนรู้ที่ดีจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการใช้ชีวิตที่ดี

กลุ่มที่ดีนอกจากให้เด็กได้เรียนรู้จากการกระทำแล้ว ยังต้องมีกระบวนการพูดคุยเพื่อประเมินการเรียนรู้หลังการทำงานดังที่เรียกว่า After Action Review (AAR) ซึ่งเป็นทักษะที่ครูสมัยใหม่ต้องทำเป็น เมื่อแบ่งกลุ่มเด็กไปเรียนรู้โครงการอะไรบางอย่างด้วยการลงมือทำงานแล้ว เด็กจะต้องกลับมาพูดคุยกันเพื่อประเมินการเรียนรู้โดยมีครูนำกระบวนการ ครูทำหน้าที่เป็นทั้งครูฝึก (coach) และผู้นำกระบวนการ (facilitator) ครูมิใช่ผู้สอนหรือผู้มอบความรู้อีกต่อไป ความรู้อยู่ข้างนอกนั้นให้นักเรียนไปหาเอาเองเมื่อจำเป็น แต่วันนี้นักเรียนควรได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ก่อน

การเรียนรู้เป็นทีมเสริมพัฒนาการเด็กอย่างไร

การเรียนรู้เป็นทีมด้วยกันระหว่างเด็กหลากหลายประเภทที่มีนิสัยต่างๆ กัน จำเป็นต้องอาศัยทักษะการทำงานเป็นทีมดังกล่าวแล้ว การทำงานเป็นทีมสอดคล้องกับพัฒนาการบุคลิกภาพของอีริกสัน (Erikson) ขั้นตอนที่ห้า ที่เรียกว่า อินดัสทรี (Industry) คือ เด็กพัฒนาบุคลิกภาพด้วยการปฏิสังสรรค์กับคนอื่นในสังคม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างร้อนแรงและเป็นครั้งแรกของมนุษย์ทุกคนเมื่อก้าวออกจากบ้านเข้าสู่ระบบการศึกษา

ในขั้นตอนการทำงานเป็นทีมนี้ เด็กทุกคนต้องฝึกทักษะสามประการโดยธรรมชาติ นั่นคือ การแข่งขัน การประนีประนอม และการร่วมมือกันทำงาน ตามลำดับ เราอาจจะเข้าใจง่ายขึ้นหากพูดว่า เด็กเล็กต้องฝึกทักษะการทะเลาะเบาะแว้ง คืนดี และเล่นด้วยกันต่อ เด็กโตต้องฝึกทักษะการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง การลงรอยกัน และร่วมมือกันทำงานต่อไป

ทักษะการทำงานเป็นทีมที่ดี เกิดจาการออกแบบโครงงานที่ดี การออกแบบโครงงานที่ดีจะต้องช่วยให้เด็กทุกคนในกลุ่มได้ลงมือทำและทำสำเร็จมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล แต่ทุกคนได้ทำและทำสำเร็จ แล้วจึงมาพูดคุยกันหลังกลุ่มเพื่อประเมินการเรียนรู้ว่า ใครได้เรียนรู้อะไรและอย่างไร

เวลาเด็กหนึ่งคนทำอะไรได้ พัฒนาการบุคลิกภาพของอิริคสันเรียกว่า ออโตโนมี (autonomy) เกิดความภาคภูมิใจว่าเราทำได้ เวลาเด็กหนึ่งคนริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เรียกว่า อินนิชิเอชัน (initiation) เกิดความภาคภูมิใจว่าเรามีความสามารถ ทั้งสองประการนี้เกิดในทีมโดยธรรมชาติ และนำไปสู่การสร้างตัวตนของเด็กคือ เซลฟ์ (self)

เด็กที่มีตัวตนจะรู้จักรักตนเอง ไม่ใช้พฤติกรรมเสี่ยง เด็กที่ไม่มีตัวตนให้รักจึงไม่ตั้งใจเรียน ไร้วินัย เข้าหาอบายมุข ควบคุมพฤติกรรมทางเพศไม่ได้ และใช้ชีวิตล่องลอยไม่มีอนาคต

จากความสามารถออโตโนมี และ อินนิชิเอชัน และการทำงานเป็นทีม คือ อินดัสทรี ดังกล่าวแล้ว นักเรียนคนหนึ่งจึงจะพัฒนาตนเองไปเป็นวัยรุ่นที่มีวุฒิภาวะพร้อมๆ กับทักษะการเรียนรู้ที่ดี

ทั้งหมดนี้คือกลไกการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑

Back to Top