มิถุนายน 2009

เมื่อเล็กๆ น้อยๆ คือความยิ่งใหญ่ และผู้ให้คือผู้รับ



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2552

ชื่อบทความฟังดูเหมือนจะขัดแย้งกันในความหมาย เพราะถ้าคิดแบบง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ ก็คือ เล็กๆ น้อยๆ จะยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ผู้ให้ก็คือผู้ให้ จะเป็นผู้รับได้อย่างไร จริงไหม

แต่ถ้าลองสงบนิ่งอยู่กับตัวเอง ให้เวลาในการใคร่ครวญ ทบทวนอย่างลึกซึ้ง เราก็สามารถที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งทางภาษาได้

การให้ความหมายใหม่กับสิ่งที่คุ้นชิน การก้าวข้ามออกจากคำจำกัดความเดิมที่คับแคบและดูเหมือนจะชัดเจนตามภาษาพูดและภาษาเขียน เป็นสิ่งที่มนุษย์พึงจะเรียนรู้ด้วยความกล้าหาญ อย่างมีสติใช่หรือไม่ เพื่อที่เราจะได้ไม่ติดกับความคุ้นชินของเราเองแบบถอนตัวไม่ออก

การสร้างและการขยายความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใดในมุมมองของความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น จะช่วยเปิดโลกทัศน์ที่จำกัดและคับแคบของเราให้รอบด้าน กว้างไกล และลุ่มลึกมากขึ้น ใช่หรือไม่

ถ้าเชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การแสวงหาเพื่อเรียนรู้และเข้าใจความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่นและสรรพสิ่ง ก็น่าจะเป็นทิศทางที่สมเหตุสมผลมากกว่าการแยกสิ่งนั้นออกมาแล้วให้ความหมายจำกัดเฉพาะตัว ยกเว้นมีจุดหมายเฉพาะ ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะหนึ่งใด ซึ่งผู้ให้คำจำกัดความนั้นก็ต้องมีสติรู้เท่าทันความเฉพาะเหล่านั้น

มนุษย์ควรเป็นผู้เรียนรู้และสร้างความหมายให้กับชีวิตและสรรพสิ่ง หรือเป็นผู้จำกัดความหมาย... หรือยอมให้ถูกจำกัดความหมาย

ลองใคร่ครวญทบทวนดู

บทความนี้ได้แรงบันดาลใจจากการที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวันเป็นเวลา ๕ วัน ร่วมกับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๐-๒๔ พ.ค. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา และประสบการณ์การขับเคลื่อนโครงการอบรมเพิ่มขีดความสามารถของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในการพัฒนาการบริหารจัดการกระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาของมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่าย ๒๕ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่โรงงานรีไซเคิลของฉือจี้ เราได้เห็นอาสาสมัครทำงานอย่างมีความสุข เพราะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ แม้ดูเหมือนจะเป็นงานเล็กๆ และดูเหมือนจะไม่คุ้มกับเวลาและแรงงานที่ลงไปเลย ผลผลิตต่ำ ประสิทธิภาพต่ำ ตามความหมายของเศรษฐศาสตร์และการบริหารจัดการยุคใหม่ภายใต้กระบวนทัศน์เศรษฐกิจเสรีทุนนิยม

เราเห็นอาสาสมัครผู้หญิงสวมแว่นตาใช้กรรไกรค่อยๆ ตัดกระดาษเพื่อแยกส่วนที่ไม่มีหมึกพิมพ์ (ตัวอักษรหรือรูปภาพ) ออกมา เราเห็นอาสมัครผู้ชายถอดชิ้นส่วนของพัดลมที่มีคนนำมาบริจาคทีละชิ้น เพื่อแยกพลาสติก เหล็ก สายไฟ... ชิ้นส่วนไหนซ่อมได้ก็จะนำไปซ่อม ชิ้นส่วนไหนยังใช้ได้ก็จะนำไปประกอบใหม่เพื่อนำไปมอบให้ผู้ยากไร้ที่มีความต้องการ

เราเห็นแต่ละคนช่วยกันทำงานเสมือนงานเป็นครู จึงตั้งใจเรียนรู้และทุ่มเทกับการทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยความเต็มใจ เราเห็นแต่ละคนช่วยกันทำงานเสมือนงานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางจิตใจสำหรับผู้ปฏิบัติ

วิธีคิดและวิถีปฏิบัติของฉือจี้เป็นการสร้างคุณค่า และคุณค่าเพิ่มให้ผู้ปฏิบัติ เป็นการสร้างมูลค่า และมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ เป็นการสร้างคุณค่าและคุณค่าเพิ่มให้กับผู้รับ สิ่งแวดล้อม และสรรพสิ่ง

จึงไม่แปลกที่เราได้สัมผัสความอิ่มเอิบใจในการทำงานของอาสาสมัครเหล่านั้น

ระหว่างที่ดูก็จะมีอาสาสมัครฉือจี้บรรยายแบบลงรายละเอียด ไม่รีบร้อน เสียงใสๆ หน้าตายิ้มแย้มบ่งบอกความยินดีที่มีคนมาเยี่ยมชม ในคำบรรยายตลอดเวลาจะให้มุมมองที่หลุดไปจากความคุ้นชินของคนโดยทั่วไป เช่น การนำกระดาษมารีไซเคิล ช่วยลดการทำลายต้นไม้ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน นำขยะกระดาษที่ไร้ราคามาผลิตและแปรรูปใหม่ จำหน่ายได้ราคาและมีคุณค่าเพิ่มทางจิตใจของผู้ทำและผู้ซื้อ เพราะเงินที่ได้นำไปช่วยผู้ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ทำได้ทำความดีงาม (ได้บุญ) ผู้ซื้อก็ได้ประโยชน์เชิงใช้สอย และที่สำคัญได้บุญด้วย

การตัดกระดาษสีขาวออกจากส่วนที่มีหมึกพิมพ์ ช่วยลดการใช้นํ้าและการใช้สารเคมีในการฟอกขาว ลดสารเคมีปนเปื้อนลงไปในดิน ในแม่นํ้า ลำคลอง และทะเล ทำให้สภาพแวดล้อมมีความปลอดภัยสำหรับคน สัตว์ และสรรพสิ่ง... การทำงานเล็กๆ ที่พวกเราเห็นช่างมีความหมายและคุณค่าที่ยิ่งใหญ่เหลือเกินสำหรับพวกเขา

จึงไม่แปลกที่พวกเขาดูมีความสุขและตั้งใจทำงานเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้น โดยที่พวกเขาไม่ได้ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินแม้แต่น้อย แถมต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางมาทำงาน ค่าชุดทำงาน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว... เพื่อจะได้มาทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่มีผลต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก ต่อสภาพแวดล้อมและชนรุ่นหลัง ช่างเป็นมุมมองที่ยิ่งใหญ่และกว้างไกลเหลือเกิน

สิ่งตอบแทนที่ได้คือคุณค่าทางจิตใจ มีความสุขใจที่ได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือโลกและสรรพสิ่ง คุณค่าของตนเองอยู่ที่การได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

การนำสิ่งของไปมอบให้ผู้ประสบภัยและผู้ยากไร้ ผู้มอบจะแสดงความเคารพและขอบคุณผู้รับด้วยความนอบน้อมถ่อมตน คำอธิบายที่น่ารักคือ ถ้าไม่มีเขา เราก็ไม่ได้ทำสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ (เพราะมีเขา เราจึงได้ทำบุญ) ช่างเป็นวิธีคิดที่อ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน และให้คุณค่าต่อผู้รับมอบเหลือเกิน
ผู้ให้คือผู้รับ ผู้รับคือผู้ให้... ช่างเป็นการให้ความหมายใหม่ที่ลุ่มลึกที่หลุดออกไปจากความหมายเดิมของผู้ให้ และผู้รับที่เราคุ้นชิน นั่นคือ ผู้ให้คือผู้ให้ (ผู้มีบุญคุณ) ผู้รับคือผู้รับ (ผู้เป็นหนี้บุญคุณ)

ขอบคุณมูลนิธิฉือจี้ที่ให้ความหมายและมุมมองต่อชีวิต ต่อโลก ในความหมายที่ใหม่และกว้างไกลกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์เล็กๆ ส่วนหนึ่งจากการขับเคลื่อนจิตตปัญญาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กับกิจกรรมเล็กๆ ที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมออกไปหามุมสงบของตัวเองในสวนโดยไม่พูดคุยกับใคร แต่ให้สังเกตความเป็นไปและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏต่อหน้าประมาณ ๒๐นาที โดยไม่รีบร้อนที่จะสรุปหรือตัดสินจากประสบการณ์เดิม แล้วกลับมาเล่าสิ่งที่ตนเองสังเกตให้กลุ่มฟัง ในตอนท้ายมีการสรุปสะท้อนบทเรียน และต่อไปนี้คือข้อสรุปสั้นๆ ที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์เล็กๆ เพียง ๒๐ นาทีของผู้เข้าร่วมอบรมบางคน เป็นข้อความสั้นๆ เล็กๆ แต่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้ง

“ผมสังเกตเห็นลมหายใจของสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัว” “ในความเรียบง่าย เห็นความงดงามของธรรมชาติ” “กิ่งไม้เล็กๆ ที่ร่วงหล่น ก็อาจกลายไปเป็นรังนก” “การพึ่งพาซึ่งกันและกันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” และที่ชอบมากคือ “ใบไม้แห้งให้ความเจริญงอกงามกับชีวิต ใบไม้แห้งมิใช่ใบไม้แห้ง และเราก็มิใช่เราอีกต่อไป”

ไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมเล็กๆ นี้จะมีความหมายที่ยิ่งใหญ่สำหรับหลายๆ คนที่เข้าร่วมอบรม มันเป็น ๒๐ นาทีของชีวิตใหม่ เป็น ๒๐ นาทีของความหมายใหม่ของสิ่งเก่า

กิ่งไม้เล็กๆ ที่ร่วงหล่นก็กลายไปเป็นรังนกที่พยุงและโอบอุ้มชีวิตใหม่ ใบไม้แห้งก็กลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ เป็นที่หลบแดดหลบฝนให้กับอีกหลายชีวิตเล็กๆ... ใบไม้แห้งมิใช่ใบไม้แห้งอีกต่อไป...

เล็กๆ น้อยๆ คือความยิ่งใหญ่... ผู้ให้คือผู้รับ...

การศึกษาของเราสอนให้ก้าวร้าวเห็นแก่ตัว



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2552

ถ้าหากเราถามครู นักเรียน หรือนักการศึกษาที่เป็นนักจิตวิทยาและนักศาสนปรัชญาว่า เราทั้งโลกต้องการให้ระบบการศึกษาของลูกหลานเรามีเป้าหมายอย่างไร? ระหว่างสติปัญญาความฉลาดที่เราใช้การสอบแข่งขันเช่นในปัจจุบัน? หรือว่าจะเอาทักษะพรสวรรค์ที่เด็กทุกคนย่อมจะมีศักยภาพแตกต่างกันไป? หรือว่าเราต้องการให้สังคมได้คนดีมีคุณธรรมในวันหน้า? ผู้เขียนคิดว่าถึงเถียงกันให้ตายไปข้างหนึ่งก็ยังสรุปไม่ได้ เพราะถูกทั้งหมด ระบบการศึกษาของเราในปัจจุบันถึงวนเวียนอยู่กับการปฏิรูปและปฏิรูปแล้วแต่ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลหรือว่าครูคนไหนเป็นใหญ่ในระบบการเรียนรู้ของเรา

จริงๆ แล้วน่าจะเอาทั้งสามมาเป็นหลักเท่าๆ กัน การเรียนรู้จากภายนอก (สองอย่างแรก) กับภายใน (อย่างหลัง) ย่อมจะดีที่สุด ประเด็นคือ เราจะหามาตรฐานระดับชาติหรือระดับโลกอย่างไร? หรือพูดง่ายๆ เราจะชี้วัดทั้งสามหลักว่าเท่าๆ กันด้วยวิธีไหน? บทความนี้เป็นการสะท้อนความคิดของผู้เขียนต่อรูปแบบสังคมที่เอาธรรมชาติ (ทั้งกายและจิต) กับความไม่เที่ยงหรืออนิจตาของมนุษย์และสังคมมนุษย์เป็นฐาน

ได้พูดได้เขียนมาหลายหนแล้วว่า ระบบการศึกษาของบ้านเรา - ที่ลอกเลียนมาจากประเทศตะวันตกทั้งแผง ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นของรัฐหรือเป็นอิสระแต่ในนาม รวมโรงเรียนและวิทยาลัยเอกชนแทบจะทั้งหมด – ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการกาย - วัตถุนิยมและแยกส่วน หรือกระบวนทัศน์เก่าที่ล้าสมัยของโลกตะวันตก ซึ่งอาจเหมาะสมกับช่วงเวลาเมื่อ ๑๕๐ – ๒๐๐ ปีก่อน ที่มองเห็นว่า “คุณค่า (หรือราคา) และความหมายของทุกสิ่งทุกอย่างนั้นอยู่ที่ว่า “มนุษย์” สามารถเอามาใช้ได้หรือเป็นประโยชน์หรือไม่เท่านั้น”

กระบวนทัศน์เก่าจึงหมดสมัยอีกทั้งผิดธรรมชาติมาแต่แรก จึงไม่สามารถจะแก้ไขหรือปฏิรูปอย่างหนึ่งอย่างใดได้ นอกจากการปฏิวัติถอนทิ้งทั้งรากทั้งโคน แล้วเปลี่ยนทั้งหมดสู่กระบวนทัศน์ใหม่ สู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสำหรับปัจเจกชนและสังคมโดยรวมใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่ไม่ใช่การสมยอมประนีประนอมกันดังกล่าว (transformation, not accommodation) แต่ไม่มีผู้ใดในวงการศึกษาบ้านเรา จะฟังแล้วเอาไปคิด

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนหรือใครครองเมือง – ซึ่งบ้านเราเปลี่ยนกันบ่อยเหลือเกิน – จึงได้มีแต่การปฏิรูปซ้ำแล้วซ้ำอีกจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะทั้งหมดนั้น มีครูอาจารย์ นักการศึกษาที่ไปเรียนมาจากเมืองนอก หรือประเทศตะวันตกมากมาย บางคนได้ถูกนักการเมืองเรียกมาปรึกษาในช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล หากแต่ละคนจะรู้จักอยู่แค่กับการปฏิรูปการศึกษา เพราะคิดว่ารูปแบบและเนื้อหาของการศึกษาที่เป็นอยู่ – เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยม - เป็นระบบที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ที่ต้องเห็นแก่ตัว “กูก่อน” จึงเปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าประเทศตะวันตกที่เป็นเจ้าตำรับเอง ล้วนรู้จักแค่นั้น

ฉะนั้น แม้จะรู้ว่าระบบการศึกษาของตนมีปัญหาที่ต้องแก้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะพื้นฐานที่ระบบการศึกษาของตนและโลกตั้งอยู่ ล้วนแล้วแต่ตั้งบนหลักการกาย - วัตถุนิยมและแยกส่วน ซึ่งผิดธรรมชาติแห่งองค์รวม ซ้อนองค์รวม ซ้อนๆ องค์รวม ที่มีใยเยื่อประสานกันให้เป็นหนึ่งเดียว – ในรายละเอียด เราต้องไปพ้นหลักการกาย – วัตถุนิยมและแยกส่วน ถึงจะเห็นว่า ระบบการศึกษาของโลก รวมทั้งที่บ้านเรา ในปัจจุบัน ผิดธรรมชาติอย่างแรงถึง ๔ ประการ คือ

หนึ่ง มีศูนย์กลางที่มนุษย์ (anthropocentric) สอง ขาดความพอเพียง พอดี และยั่งยืน (unsustainable) สาม วัตถุประสงค์อยู่ที่เงิน ไม่ใช่เพื่อความรู้แท้จริง (money-based education) ซึ่งเงินหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมุ่งสร้างแต่ความเห็นแก่ตัว และผิดธรรมชาติยิ่งกว่าระบบการศึกษาเสียอีก สี่ ส่งเสริมอุ้มชูความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ผิดทาง – โดยครูหรือโรงเรียนจะเน้นแต่วิวัฒนาการทางชีววิทยาหรือทางกายภาพเพียงอย่างเดียว เด็กจึงยังคงความเป็นสัตว์ แยกพรรคแยกพวกและก้าวร้าว

จึงคิดว่าเป้าหมายของการศึกษา ส่วนหนึ่งคือสนับสนุนความรุนแรง และเห็นแก่ตัวหรือการเอาตัวรอดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีพื้นฐานตั้งอยู่บนวิวัฒนาการทางชีววิทยาหรือทางกายภาพกับจิตรู้เท่านั้น

ความคิดของมนุษย์ที่เห็นว่ามนุษย์ “ใหญ่” เหนือสรรพสิ่งใดๆ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตหลากหลายนับล้านๆ สปีชีส์ ได้รับการตอกย้ำให้ก้าวร้าว ชอบความรุนแรง และแยกพวกแยกกลุ่มแยกส่วน ด้วยการสาธิตยุทโธปกรณ์ทางทหารมาตั้งแต่เยาว์วัย เราอาจจะคิดว่าโลกเป็นเสมือนยานอวกาศ โดยมีมนุษย์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวท่ามกลางเทคโนโลยีท่อไอและหลอดยางต่างๆ ดังที่ เอ็ดวาร์ด โอ วิลสัน เขียนกระแนะกระแหนคนที่ไม่เห็นความหมาย ไม่เข้าใจความสำคัญของระบบนิเวศและชีวิตอื่นๆ เผ่าพันธุ์อื่นๆ จึงสำคัญตนว่ายิ่งใหญ่กว่าฟ้าหรือหัวเราะเยาะเย้ยเหวยๆ ฟ้าเสียอีก นั่นคือ เทพ-กษัตริย์ (god-king) นั่นคือจักรพรรดิ นั่นคือซีซาร์ คือ ปโตเลมี คอนซีต (Ptolemaic conceit and anthropocentric) หรือความยิ่งใหญ่ของเด็กวัยรุ่นในระยะต้นๆ (idea of grandeur) ซึ่งตรงกันกับวิวัฒนาการของมนุษย์ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ของปัจจุบัน ที่แทบจะยืนอยู่กับที่ ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ตามที่นักจิตวิทยาแทบทุกคนเชื่อเช่นนั้น

ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า วิวัฒนาการของจิตไม่ได้มีมูลเหตุจากกามารมณ์ในเด็กทั้งหมดและก่อเป็นปมด้อยปมเด่นในวันหลัง ดังที่ ซิกมัน ฟรอยด์ เชื่อ แม้แต่ปมอีดีปัส (Oedipus complex) ที่ฆ่าพ่อแล้วเอาแม่มาทำเมียเพราะไม่รู้ ก็ไม่ใช่ปมด้อยปมเด่นใดดังที่ฟรอยด์คิด แต่เป็นวิวัฒนาการทางจิตจากระดับมีธิค (mythic) ไปสู่ระดับตัวตนกับเหตุผล (self-rational) - อ่านได้จากหนังสือของ เคน วิลเบอร์ เล่มแรกๆ

ในทางระบบนิเวศ การศึกษาทั่วทั้งโลกในปัจจุบันนั้น มีแต่การปฏิรูปและปฏิรูป ปะโน่นปะนี่โดยฐานรากของระบบยังเป็นเช่นเดิม การเอาเด็กที่อยู่กับป่าฝนและภูเขามาให้เห็นป่าโกงกางและทะเลหรือในทางกลับกัน ไม่ได้ช่วยให้เด็กเข้าใจระบบนิเวศหรือธรรมชาติมากนัก หากเราไม่ได้คิดถึงความสัมพันธ์และพึ่งพากันของทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นคือการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่ได้คิดถึงความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “อย่างเป็นระบบ” ทั้งๆ ที่เป็นระบบที่ทุกๆ สรรพสิ่ง “ทั้งหมด” เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างที่แยกจากกันไม่ได้เสียด้วย

ผู้เขียนเชื่อว่า ธรรมะในศาสนาที่อุบัติขึ้นจากอินเดีย รวมทั้งพุทธศาสนานั้นมีความหมายส่วนหนึ่งอยู่ที่ธรรมชาติที่เราสัมผัสและรับรู้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยมีเรื่องของระบบนิเวศ (ecology) เป็นหัวใจซึ่งรวมมนุษย์และสังคมของมนุษย์เป็นส่วนเสี้ยวของข่ายใยแห่งชีวิต เป็นองค์รวมที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกัน กระบวนการเรียนรู้ที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐานและมีระบบนิเวศของโลกเป็นหัวใจนี้ ย่อมจะชักนำให้การศึกษาของเด็กไทยและทั่วทั้งโลกเปลี่ยนแปลง ทั้งมนุษย์โดยปัจเจกชนกับสังคมโดยรวมไปสู่สิ่งใหม่ วิถีใหม่ ที่ลึกล้ำ พอเพียง พอดี และยั่งยืน

ระบบการศึกษาของเรา มีเป้าหมายที่เงินหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะเหมาะสมกับสมัยที่ ธอมัส ฮอบส์ ไอแซค นิวตัน จอห์น ล็อค จอห์น สจ๊วต มิลล์ ฯลฯ ซึ่งมีทรัพย์สินส่วนตัวเป็นใหญ่ ทรัพย์สินที่เป็น “ของโลก” กลับกายเป็น “ของกู” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ระบบการศึกษาของโลกจึงกลายเป็นระบบที่รับใช้ทุนนิยมหรือทรัพย์สินความมั่งคั่ง เป็นไปเพื่อหางานทำหรือเงิน ส่วนความรู้เป็นแต่ผลพลอยได้เพื่อหลอกให้เด็กแข่งขันกัน เพื่อสอบผ่านให้ได้หรือเป็นผู้ชนะ การแข่งขันกันดังกล่าวจะเป็นประหนึ่ง “สุกเอาเผากิน” ที่ทำให้เด็กรู้เฉพาะเวลาใกล้สอบ โดยความรู้ที่เรียนมาตั้งหลายปี ส่วนใหญ่มากๆ ไม่ได้เป็นความรู้ที่เด็กต้องรู้เพื่อมีวิถีชีวิตอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไปชั่วชีวิต

เรื่องของอารมณ์ด้านลบ เช่น ความก้าวร้าว อิจฉาริษยา ความขัดแย้งแตกแยกจนเป็นความรุนแรง หรือสงครามที่ไม่ได้แตกต่างกันโดยหลักการ ล้วนเป็นเรื่องที่เราทุกๆ คนได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นกันทุกวัน อย่างน้อยจากโทรทัศน์ซึ่งมีส่วนที่ไม่เหมาะสมกับเด็กในวัยเจริญเติบโตมากกว่าส่วนที่เหมาะสมยิ่งนัก แม้แต่กับผู้ใหญ่เองในระดับจิตที่มนุษย์ส่วนใหญ่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยโดยเฉพาะกับเด็กๆ ในวัยต่ำกว่า ๑๑ ขวบ

ทุกวันนี้มีการวิจัยมากมาย โดยเฉพาะการปฏิบัติสมาธิในเด็กกับความฉลาดทางอารมณ์ (EI or emotional intelligence) หลังจาก แดเนียล โกลด์แมน นักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด ได้เขียนหนังสือเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ขึ้นมาในปี ๑๙๙๕ ที่ขายดีมากๆ ถึง ๓ ล้านกว่าเล่มในช่วงสั้นๆ แดเนียล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ครูและโรงเรียนสามารถสอนให้เด็ก – หากว่าเป็นหลักสูตรสำคัญในทุกวิชาการศึกษาของประเทศ – มีความฉลาดทางอารมณ์ได้และได้ดีเสียด้วย ซึ่งเมื่อเด็กได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเผชิญหน้ากับภยันตรายต่างๆ เช่น ความรุนแรง กระทั่งวิกฤตต่างๆ ได้ คือสามารถมีสติได้ในทุกเวลา สามารถจะควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลา มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และมีมนุษย์สัมพันธ์กับใครต่อใครในสังคมได้ดี”

พูดง่ายๆ โกลด์แมนบอกว่า การศึกษาความฉลาดทางอารมณ์มีแต่จะผลิตสร้างคนดีที่มีคุณธรรม รวมทั้งยังรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งระบบในปัจจุบันไม่ได้เน้น ฉะนั้น มนุษย์จึงแสวงหาแต่เงินและอำนาจตามสันดานของ “ตัวกูของกู” หน้าที่นั้นมีสองอย่าง คือหน้าที่ต่อส่วนรวมที่ตนได้รับการมอบหมายมา (legal duty) ซึ่งมักมีเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทน เช่น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นต้น กับหน้าที่ทางคุณธรรมหรือจิตใจ (moral duty) ที่ไม่มีอะไรตอบแทน แต่มักเต็มใจทำยิ่งกว่า เช่น หน้าที่ต่อพ่อแม่ซึ่งตามด้วยความรับผิดชอบเสมอ ทุกวันนี้อย่างแรกยังพอหาได้ แต่อย่างหลังหาผู้รู้หน้าที่พร้อมกับความรับผิดชอบจริงๆ ได้ยากมาก

พุทธศาสนาบอกให้เรารู้ว่า คนเราที่เกิดมาในโลกด้วยหน้าที่ หมายถึงจิตใจ และคุณธรรม จริยธรรมที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติ ซึ่งจะต้องมีความรับผิดชอบเป็นสร้อยห้อยท้ายเอาไว้เสมอ หน้าที่ทางจิตใจนั้น จะเป็นเรื่องของการกระทำหรือกรรมที่ทำในอดีต ซึ่งเราจะต้องรับผิดหรือรับชอบอย่างไม่มีทางหลบหรือหลีกหนีได้พ้น เพียงแต่ที่ภพภูมิไหนและเมื่อไหร่เท่านั้น เพราะว่าจิตนั้นไม่ได้ตาย หรือหายสาบสูญไปพร้อมๆ กับรูปกายที่เราเพียงยืมมาจากโลก ซึ่งต้องคืนกลับไปเมื่อไม่ใช้ทำอะไรอีก ตราบใดที่เรายังไม่ได้หลุดพ้นและยังคงอยู่ในวัฏสงสาร หรือโลกที่มีสามมิติ (บวกหนึ่ง) แห่งนี้

สู่การเจริญสติถ้วนหน้า
(Mindfulness for All)



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2552

เรื่องที่หนีไม่พ้นคือ มนุษย์จะเจริญสติกันมากขึ้น ๆ จนในที่สุดเจริญสติกันถ้วนหน้า นั่นคือเจริญสติกันทั้งประเทศ และเจริญสติกันทั้งโลก เพราะเหตุอย่างน้อย ๓ ประการด้วยกันคือ

หนึ่ง มนุษย์สุดทางไป ไม่มีทางออกอย่างอื่น อารยธรรมปัจจุบันได้นำมนุษย์มาสุดทางที่จะไปต่อในทางเดิมได้อีกแล้ว เพราะกำลังเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นทุก ๆ ทางอย่างไม่มีทางออก ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม วิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตการเมือง และวิกฤตในตัวมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเครียด ความขัดแย้ง ความรู้สึกหมดหวัง ทั้งนี้เพราะเป็นอารยธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยอกุศลมูลทั้งสามคือ โลภะ โทสะ โมหะ ที่จะไม่วิกฤตนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ จะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจ – การเมือง – การศึกษา ที่เชื่อมโยงกันนั้นตรงกับ โลภะ – โทสะ – โมหะ อย่างพอดี ระบบเศรษฐกิจที่เอาเงินขนาดใหญ่เป็นตัวตั้งนั้นเป็นมหาโลภจริต ส่วนการเมืองเรื่องอำนาจนำไปสู่ความรุนแรงนั้นก็คือโทสะ ยิ่งการเมืองผูกอยู่กับเงินจำนวนใหญ่เท่าใด ความรุนแรงก็ยิ่งมากขึ้น ระบบการศึกษาที่ไม่ก่อให้เกิดปัญญา เพียงมีความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ศาสตร์ก็กลายเป็นศาตราใช้ทิ่มแทงกัน ระบบการศึกษาที่ไม่สร้างปัญญาก็ยิ่งไปเพิ่มความรุนแรงของโลภะและโทสะ โมหะ หรือความไม่รู้ หรือความหลงไป เป็นปัจจัยทำให้เกิดโลภะและโทสะ มนุษย์จึงตกอยู่ในความครอบงำของระบบเศรษฐกิจ – การเมือง – การศึกษา อันเป็นตัวแทนของอกุศลมูลทั้งสาม จึงเข้าไปสู่วิกฤตการณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่าไปคิดว่าโอบามาซึ่งชูประเด็น CHANGE จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก เพราะอารยธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยมได้สร้างโครงสร้างไว้ในสมองของผู้คน และโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว ไอน์สไตน์จึงกล่าวว่า “เราจะต้องมีวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้” แต่มนุษย์ก็เปลี่ยนวิถีคิดไม่ได้ เพราะสมองได้เกิดโครงสร้างที่ทำให้คิดอย่างเดิม ๆ ซ้ำรอยเดิมอยู่อย่างนั้น นอกจากเจริญสติ สติทำให้จิตเป็นกลาง เกิดปัญญา และวิถีคิดใหม่ได้ จึงกล่าวว่าเป็นเรื่องหนีไม่พ้นที่มนุษย์จะหันมาเจริญสติ เพราะสุดทางที่จะไปตามทางเดิมแล้ว

สอง มีแรงจูงใจสูงสุดที่จะทำให้เจริญสติ แรงจูงใจที่สูงที่สุดคือความสุข ถ้าทำอะไรแล้วมีความสุข มนุษย์ก็อยากจะทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ การเจริญสติจะทำให้พบความสุขที่ไม่เคยเจอมาก่อน เป็นความสุขอันประณีตลึกล้ำ มีความเบาสบาย เป็นอิสระ หลุดพ้นจากความบีบคั้นทั้งปวง ทำให้สมองดี เรียนอะไรก็ง่าย สุขภาพดี ไม่ค่อยเจ็บป่วยหรือถ้าเจ็บป่วยก็หายง่าย ภูมิคุ้มกันเพิ่ม อายุยืน ความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ดี เป็นปัจจัยให้อยู่ร่วมกันด้วยความสุข และอาจนิรทุกข์โดยสิ้นเชิงก็ได้ การเจริญสตินำมาซึ่งความสุขราคาถูก (Happiness at low cost) จึงเป็นไปได้สำหรับทุกคน และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม

พระพุทธองค์ตรัสเรียกการเจริญสติว่า “ทางอันเอก” (เอกะ มัคโค) พระพุทธองค์ทรงค้นพบทางอันเอกนี้มากว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว ฝรั่งเพิ่งจะมารู้จักเรื่องการเจริญสติเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง และพากันติดใจยกใหญ่ เพราะเมื่อเจริญสติแล้วอะไร ๆ ก็ดีขึ้นหมดดังกล่าวข้างต้น หนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกขณะนี้คือตระกูลนี้ ในประเทศไทยก็มีการเจริญสติกันมากกว่าแต่ก่อนมาก เป็นแนวโน้มใหญ่ชัดเจนว่าต่อไปมนุษย์จะพากันเจริญสติถ้วนหน้า

สาม สมองของมนุษย์ ธรรมชาติสร้างมาให้เหมาะแก่การเจริญสติ (The Mindful Brain) เมื่อเจริญสติแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง ทั้งเชิงโครงสร้างและในการทำหน้าที่ เมื่อเจริญสติ ส่วนต่าง ๆ ของสมองและร่างกายบูรณาการกันเข้ามา และเกิดดุลยภาพ ทำให้เกิดสุขภาวะและความสงบระงับ มีการหลั่งสารสุข (เอนดอร์ฟินส์ - Endorphins) ออกมามากขึ้น ทำให้เกิดความสุขแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย มีผลต่อสมองส่วนฮัยโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งส่งผลต่อต่อมเอ็นโดครีน (Endocrine) และภูมิคุ้มกันเหล่านี้เป็นต้น

เพราะเหตุอย่างน้อย ๓ ประการดังกล่าวมานี้ จึงกล่าวว่า สิ่งที่หนีไม่พ้นคือมนุษย์จะเจริญสติกันถ้วนหน้า ฉะนั้นจึงควรมาช่วยกันดูว่าควรจะทำอะไรกันบ้าง จึงจะเกิดการเจริญสติกันทั้งประเทศ ซึ่งขอเสนอดังต่อไปนี้

(๑) แต่ละคน แต่ละครอบครัวที่รู้พากันขวนขวายศึกษาและปฏิบัติในการเจริญสติ บางคนอาจทำได้เอง บางคนอาจต้องการครูบาอาจารย์

(๒) บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่เจริญสติเป็นแล้วและได้รับผลดีจากการเจริญสติ พยายามแนะนำและช่วยเหลือคนอื่นให้เจริญสติเป็น

(๓) สื่อมวลชน นำเรื่องการเจริญสติและผลการเจริญสติมาเผยแพร่ เชิญอาจารย์ที่สอนเก่งมาสอนทางวิทยุและโทรทัศน์เป็นประจำ

(๔) องค์กรต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนส่งเสริมและสนับสนุนให้คนในองค์กรฝึกเจริญสติ องค์กรจะได้ผลงานสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย

(๕) วัดเจริญสติ ประเทศไทยมีวัดอยู่ประมาณ ๓ หมื่นแห่ง ชุมชนควรจะร่วมกับวัด ทำวัดให้ร่มรื่น สะอาด สงบ และมีอาจารย์สอนการเจริญสติ

(๖) ทุกชุมชนและท้องถิ่น พยายามให้ในพื้นที่ของตนมีผู้รู้ในการเจริญสติ คอยแนะนำฝึกสอนให้คนในชุมชนและท้องถิ่นเจริญสติกันมาก ๆ

(๗) โรงพยาบาลทุกแห่ง ควรมี “คลินิกเจริญสติ” มีแพทย์พยาบาลที่เจริญสติเป็นคอยแนะนำอบรมคนไข้และญาติให้เจริญสติเป็น โรงพยาบาลต้องแสวงหาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคอยู่แล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้มักราคาแพง การเจริญสติก็เป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ที่ได้ผลมากแต่ราคาถูก สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ควรสนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกแห่งนำเทคโนโลยีการเจริญสติมาใช้ เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพลดลง ในขณะที่คุณภาพชีวิตทั้งของผู้รับและผู้ให้บริการสูงขึ้น

(๘) ระบบการศึกษาทั้งหมด ควรนำการเจริญสติเข้ามาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ควรสร้างครูอาจารย์ที่เจริญสติเป็นให้มากที่สุด ขณะนี้บางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีหลักสูตร “จิตตปัญญาศึกษา” (Contemplative Education) ซึ่งมีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายน่าสนใจ แต่หัวใจของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาก็คือการดูจิตของตัวเองจนเกิดปัญญา ซึ่งก็คือการเจริญสตินั่นเอง มหาวิทยาลัยที่ทดลองหลักสูตร “จิตตปัญญาศึกษา” จนเกิดความชำนาญแล้วในระดับหนึ่ง ควรจะคิดถึงการขยายผลสู่การเจริญสติถ้วนหน้า ตามนัยที่กล่าวมาทั้ง ๘ ข้อ หรือจะมีวิธีอื่นในนอกเหนือไปจากนั้นอีกได้ก็ยิ่งดี

(๙) คณะรัฐมนตรีเจริญสติ เรื่องนี้ผู้คนอาจจะหัวเราะขบขันเห็นว่าเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นไปได้ก็จะเกิดความดีงามตามมาอีกมาก กิจกรรม (๑) – (๘) ที่กล่าวข้างต้น จะผลักดันให้ ครม.เจริญสติ ครม.เจริญสติจะผลักดันให้เกิด (๑) – (๘)

เรื่องการเจริญสติแล้วเกิดผลดีเป็นอเนกประการนั้นไม่มีปัญหาอะไร เพราะพิสูจน์กันมามากต่อมากด้วยการปฏิบัติ และด้วยการวิจัย คำถามมีว่าทำอย่างไรสิ่งที่เรารู้ว่าดีจะเกิดกับคนทั้งประเทศ นี่เป็นคำถามเชิงนโยบาย ประเทศไทยควรมีนโยบายเจริญสติถ้วนหน้า (Mindfulness For All = MFA) และคนทั้งมวลร่วมกันขับเคลื่อนการเจริญสติ (All For Mindfulness = AFM)

วิกฤตการณ์ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตอารยธรรม ขออย่าได้ท้อถอยหรือหมดหวัง ทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันความรุนแรง เพื่อให้เวลาประเทศไทยปรับตัวไปสู่วิถีการพัฒนาใหม่ อันเป็นวิถีแห่งบูรณาการและดุลยภาพ การเจริญสติจะช่วยให้เข้าถึงวิถีแห่งบูรณาการและดุลยภาพ อันจะยังให้เกิดศานติสุขอย่างแท้จริง

แม่ติ๋ว การพัฒนาจิต และสังคมเยียวยา



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2552

ถึงวันนี้หลายคนคงรู้จักแม่ติ๋วแล้ว แม่ติ๋วคือผู้ก่อตั้งและดูแลบ้านโฮมฮัก จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นต้นแบบของโฆษณาของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ปัจจุบันบ้านโฮมฮักยังมีภาระดูแลเด็กติดเชื้อจำนวนมาก ตัวแม่ติ๋วเองก็เป็นที่ทราบกันว่าไม่สบายด้วยโรคมะเร็ง

วันที่แม่ติ๋วมาเล่าเรื่องราวให้ฟังในการประชุมจิตวิวัฒน์นั้น ไม่บอกไม่รู้ว่าแม่ติ๋วเป็นมะเร็ง

แม่ติ๋วเล่าว่าเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เริ่มทำงานด้านสาธารณสุขที่ดอยสูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นเดินเท้าสี่สิบห้าวันมาที่จังหวัดเชียงราย ทำค่ายมวยอยู่พักหนึ่ง แล้วเข้ากรุงเทพมหานครทำงานกับเด็กในสลัม ต่อมาไปสร้างบ้านพักพิงสำหรับเด็กติดยา ได้ดูแลรักษาเด็กติดยาหลายคนให้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้โดยไม่ต้องพึ่งเมธาโดน (ยาบรรเทาอาการปวด ที่ใช้ในการเยียวยาผู้ติดยาเสพติด) เลย หลังจากพบปัญหาการทำงานกับฝ่ายบ้านเมืองเพราะเรื่องยาเสพติดจึงหันมาดูแลเด็กติดเชื้อและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง และนั่นเป็นที่มาของบ้านโฮมฮักซึ่งมีอายุยี่สิบสองปีในวันนี้แล้ว

ช่วงที่แม่ติ๋วเดินทางเพื่อค้นหาตนเองนั้น ท่านใช้ชีวิตเรียบง่ายไปจนถึงลำบาก บางครั้งกินไส้เดือนเป็นอาหารแต่ก็มิได้ถึงกับกินโดยไม่มีความรู้ ท่านพอรู้เกี่ยวกับเรื่องพื้นบ้านและการใช้ชีวิตกับธรรมชาติจากคุณยายตามสมควร การทำงานกับเรื่องยากๆ เช่น ชาวเขา เด็กสลัม เด็กติดยา เหล่านี้พาเอาปัญหาสารพัดโหมกระหน่ำใส่แม่ติ๋วไม่หยุดยั้ง ท่านก็ต่อสู้ของท่านเรื่อยมา ไม่มีทฤษฎี ไม่มีสูตร ไม่มีวิชาการ หลายเรื่องที่เล่าให้ฟังนั้นหนักไปทางต้องทำเพราะไม่มีทางถอย และลองผิดลองถูกเพราะไม่มีทางเลือกเสียมาก ท่านออกตัวบ่อยครั้งว่าท่านเป็นคนธรรมดา

จนมาถึงสองเรื่องสุดท้าย คือเรื่องท่านเป็นมะเร็งและเรื่องการอยู่ร่วมกับเด็กติดเชื้อที่บ้านโฮมฮัก ซึ่งมีเรื่องเล่ามากมายบันทึกให้ศึกษาได้ไม่รู้จบ

เรื่องแรกเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของแม่ติ๋วเอง ณ วันนี้ท่านปฏิเสธการรักษามะเร็งด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ในขณะเดียวกันท่านก็ไม่ได้รักษาแพทย์ทางเลือกอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีหลายครั้งที่ท่านไร้เรี่ยวแรงถึงนอนซมหรือเดินไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่เด็กติดเชื้อบ้านโฮมฮักไม่สบาย เจ็บหนัก ได้รับอันตราย หรือต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นการด่วน แม่ติ๋วก็จะลุกเดินได้อีกครั้งทุกทีไป แล้วอาการเจ็บหนักของตนเองก็ทุเลาชั่วคราว มีบางครั้งท่านท้อจนถึงที่สุดต้องหลีกหนีจากบ้านโฮมฮักไปเก็บตัวบ้าง แต่เมื่อตระหนักว่าชีวิตของตนควรทำอะไร เมื่อเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่ากายป่วยได้แต่ใจไม่จำเป็นต้องป่วยด้วย ท่านก็กลับมาบ้านโฮมฮักและไม่ไปไหนอีกเลย

จะเห็นว่าเราเป็นผู้ควบคุมชีวิต ไม่ใช่มะเร็ง

แม่ติ๋วเล่าเรื่องการอบสมุนไพรหลายตอน พอประมวลความได้ว่า ท่านเริ่มอบสมุนไพรเพราะไม่รู้จะทำอะไร ในครั้งแรกท่านนอนในที่นอนขนาดใหญ่อะไรบางอย่างคล้ายโลงแล้วเอาสมุนไพรนานาชนิดมาสุมไฟโดยไม่มีส่วนผสมที่ชัดเจน ความร้อนทำให้ท่านต้องลุกหนี นั่นแปลว่าท่านยังมีแรงอีกมาก มั่นใจได้ว่าไม่ตายง่าย หลังจากนั้นแม่ติ๋วและเด็กๆ บ้านโฮมฮักก็ดูเหมือนจะเข้ามาช่วยกันอบสมุนไพรให้ท่านเป็นที่สนุกสนานแบบทดลองประดิษฐ์ท่อสร้างกระโจมกันเอง สมุนไพรไม่ต้องหาซื้อและไม่คิดจะลำบากลำบนไปไกลๆ เพื่อหามา แต่หาเอาเท่าที่หาได้หรือปลูกไว้ใช้เองใกล้ๆ บ้าน หลังอบเสร็จก็มักจะมีเด็กๆ บ้านโฮมฮักมาต่อคิวขออบต่อเสมอๆ กลายเป็นกิจกรรมที่สร้างความสุขถ้วนหน้าสำหรับสมาชิกบ้านโฮมฮัก

จะเห็นว่าองค์ประกอบของสมุนไพรไม่มีความหมาย ที่มีความหมายมากกว่ากลับเป็นกระบวนการทั้งหมด นั่นคือได้สมุนไพรมาด้วยความสบายใจ กรรมวิธีการอบกลายเป็นศูนย์รวมความสุขและความรักของเด็กๆ ที่มีต่อแม่ติ๋ว รวมทั้งความสุขเล็กๆ น้อยๆ หลังจากอบเสร็จแล้ว จึงว่าที่สำคัญกว่าวิธีการมักเป็นเรื่องบริบท ถ้าเราแยกแม่ติ๋วออกไปอบสมุนไพรที่อื่น เท่ากับเราต้องแยกแม่ติ๋วออกจากบริบทด้วย ถ้าเราให้ผู้เชี่ยวชาญการอบสมุนไพรเข้าไปสร้างห้องอบได้มาตรฐานพร้อมทั้งแนะนำส่วนประกอบของสมุนไพรให้แน่ชัด บริบทที่มีเด็กๆ มารายล้อมก็อาจจะหายไปด้วย เหล่านี้ทำให้เชื่อได้ว่าผลของการอบสมุนไพรอาจจะลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับที่แม่ติ๋วและเด็กๆ บ้านโฮมฮักทำกันเอง

เรื่องยาต้านมะเร็งแผนปัจจุบันก็เหมือนกัน เมื่อครั้งยาต้านมะเร็งเคลื่อนตัวเข้าหาแม่ติ๋ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือท่านได้รับฤทธิ์ข้างเคียงจากยาทำให้อ่อนเพลียต้องนอนหลับหรือพักกลางวันบ้าง ทำให้ต้องห่างจากเด็กๆ บ้านโฮมฮัก บางครั้งยาต้านมะเร็งก็ไม่ต้องซื้อหาเพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่กระบวนการได้ยานั้นยากเย็นแสนเข็ญ ไหนจะการเดินทาง ไหนจะการติดตามผล ไหนจะความไม่มั่นคงของการได้ยา เหล่านี้สร้างความลำบากและความหวั่นวิตกต่ออนาคตทั้งสิ้น ท่านจึงตัดสินใจอยู่กับปัจจุบันและอยู่กับเด็กๆ บ้านโฮมฮักที่ท่านรักอย่างดีที่สุดมากกว่า

คำถามสำหรับระบบสุขภาพจึงเป็นว่า เราจะใช้ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ยาใหม่ๆ การรักษาใหม่ๆ กับชุมชนและชาวบ้านในชุมชนได้อย่างไร โดยไม่ไปรบกวนหรือทำลายความเป็นชุมชนที่มีอยู่ กรณีของแม่ติ๋วและบ้านโฮมฮักก็คือโดยไม่ไปรบกวนความรัก ความผูกพัน ความเอื้ออาทร และการมีกิจกรรมร่วมกันของทุกคน เพราะเหล่านี้คือบริบทที่ดีและเป็นไปได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แม่ติ๋วมีสุขภาวะที่ดีถึงวันนี้

นอกเหนือจากความจริงที่ว่า แม่ติ๋วพัฒนาจิตจากการทำงานยากและการตระหนักรู้ว่าชีวิตเป็นของเรา มิใช่ของมะเร็ง เราจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าเช่นไรเป็นเรื่องของเรา มิใช่เรื่องของระบบ

นอกจากเรื่องของแม่ติ๋วแล้ว ยังมีเรื่องของเด็กๆ บ้านโฮมฮักหลายคนที่รอดตายดั่งปาฏิหาริย์ทั้งที่ติดเชื้อรุนแรงหรือติดเชื้อฉวยโอกาส ระดับภูมิคุ้มกันต่ำอย่างมากเมื่อวัดจากระดับซีดีโฟร์ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของการติดเชื้อเอดส์ตัวหนึ่ง เด็กหลายคนควรจะตายนานแล้วแต่รอดชีวิตจนเติบโตเรียนหนังสือและยังช่วยเหลือกันรักกันไม่จืดจาง เมื่อไปโรงเรียนก็มีความรักตนเองถึงขนาดประกาศได้ว่า “กู เด็กบ้านโฮมฮัก”

บางครั้งแม่ติ๋วก็จะมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการดูแลเด็ก ตัวอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อคุณแม่ติดเชื้อรายหนึ่งใกล้ตาย ท่านให้ลูกซึ่งติดเชื้อเช่นกันจับมือแม่ไว้ และพูดให้เด็กเข้าใจว่าความสัมพันธ์กับแม่นั้นจะไม่มีวันขาดหายแม้ว่าแม่จะตายไปแล้วก็ตาม ที่แม่ติ๋วไม่ทราบคือนี่เป็นวิธีสถาปนาตัวตนของแม่ให้ฝังลงในจิตใจของผู้เป็นลูกตลอดกาล และเป็นต้นทุนที่จะทำให้เด็กบ้านโฮมฮักมีตัวตนสมบูรณ์และรักตนเองถึงขนาดประกาศได้ว่าตนเองอยู่บ้านโฮมฮัก

อย่างไรก็ตาม หลายต่อหลายอย่างที่แม่ติ๋วทำนั้นล้วนทำภายใต้บริบทของบ้านโฮมฮักที่ซึ่งอุดมไปด้วยความรัก ความไว้ใจ และความเคารพในชีวิตทั้งของตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความหมายก็คือวิธีที่แม่ติ๋วใช้นั้น หากใครบางคนคิดจะลอกแบบไปใช้ในพื้นที่อื่นก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่แม่ติ๋วทำเพราะบริบทนั้นต่างกัน เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ส่วนกลางหรือราชการมักไม่ยอมเข้าใจ จึงมักมีนโยบายหรือคำสั่งให้ทุกพื้นที่ทำอะไรเหมือนๆ กันหรือลอกแบบกัน โดยขาดความเคารพในบริบทของพื้นที่นั้นๆ

ศ.นพ.ประเวศ วะสี เรียกบริบทของบ้านโฮมฮักนี้ว่าเป็น healing community คือชุมชนที่มีความสามารถในการเยียวยากันเอง ซึ่งจิตวิวัฒน์เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความรัก ความเชื่อมั่นในมนุษย์ ความเคารพตนเอง ความเคารพผู้อื่น รวมทั้งความเคารพในศักยภาพของชุมชน เวลาส่วนกลางหรือราชการหรือความช่วยเหลือใดๆ จากภายนอกจะเข้าไปในชุมชนใดๆ จึงควรระมัดระวังที่จะไม่ไปรบกวนบริบทของชุมชน ไปทำลายความเชื่อมั่น หรือไปแยกสลาย healing community ที่มีอยู่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อนาคตของแม่ติ๋วและเด็กๆ บ้านโฮมฮักจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ สำหรับวันนี้ ทุกคนอยู่ในสุขภาวะที่ดีตามสมควร แม้ว่าคนหนึ่งจะเป็นมะเร็ง และที่เหลือจะติดเชื้อก็ตาม

Back to Top