มิถุนายน 2011

การเรียนรู้เข้ามาที่ใจ



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2554

ผมมีโอกาสได้ไปนำเสนอเรื่องการอบรมพัฒนาบุคลากรที่เน้นความเป็นมนุษย์ (Soft Side) เพื่อให้ขยายขีดความสามารถในการทำงาน ณ งานประชุมแห่งหนึ่ง ที่ผ่านมาองค์กรทั้งหลายต่างอาศัยการพัฒนาทักษะเชิงเทคนิคต่างๆ (Hard side) เช่น การทำบัญชี การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เป็นต้น มาเป็นตัวขยายขีดความสามารถขององค์กร แต่เมื่อพัฒนามาถึงจุดหนึ่งก็พบกับข้อจำกัด องค์กรจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับด้านความเป็นมนุษย์ ว่าจะช่วยขยายขีดความสามารถขององค์กรได้อีกมาก ในงานประชุมดังกล่าว มีหัวหน้าฝ่ายบุคคลจากองค์กรต่างๆ มากหน้าหลายตา นั่งเรียงรายกัน เพื่อเตรียมรับฟังการนำเสนอ

ในหัวผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ สามารถเข้าใจเรื่องการเรียนรู้เข้ามาที่ใจ (Transformational learning) อันเป็นกุญแจสำคัญของการอบรมด้านซอฟต์ไซด์ (Soft Side) ที่ช่วยขยายขีดความสามารถขององค์กร ในเวลาอันสั้นเพียงแค่หนึ่งชั่วโมง ชั่วขณะหนึ่งความคิดก็ผุดขึ้นมาว่า ผมน่าจะชวนให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมผ่านการตอบคำถามสามข้อ

ข้อที่หนึ่ง ผมถามว่า “ใครบ้างที่เมื่อเช้าตื่นก่อนเจ็ดโมง ยกมือขึ้นครับ”

ปรากฏว่าประมาณร้อยละ ๘๐ ที่ยกมือขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผมขอบคุณพวกเขา แล้วถามคำถามข้อที่สองต่อไปว่า “ในห้องนี้มีใครบ้างที่ยังเป็นโสด”

คราวนี้คนตอบสนองช้าลง แล้วยกมือขึ้นประมาณครึ่งหนึ่งของคนทั้งห้อง

ผมขอบคุณอีกครั้ง แล้วถามต่อด้วยคำถามสุดท้ายว่า “มีใครบ้างในห้องนี้ ที่พร้อมจะแนะนำตัวเองให้กับคนที่เหลือฟังว่า เป็นใครมาจากไหน ยกมือขึ้นครับ”

การตอบสนองช้าลงอย่างเห็นได้ชัด มีเพียงประมาณร้อยละ ๓๐ เท่านั้นที่ยกมือขึ้น

ผมชวนผู้เข้าร่วมงานประชุมคุยว่า คำถามทั้งสามข้อต่างกันอย่างไร ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ตอบว่า คำถามข้อที่สาม ทำให้เขาคิดว่าถ้าเขายกมือขึ้นแล้ว จะมีอะไรให้เขาต้องทำต่อไป เขาอาจจะต้องรับผิดชอบด้วยการมีบทบาทและมีส่วนร่วมต่อการตอบคำถามของเขา ในขณะที่สองข้อก่อนหน้านี้ เขาไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการตอบคำถาม จึงทำให้เขาสบายใจที่จะตอบคำถามได้โดยไม่ต้องคิดมาก

ใจของคนเรามักเป็นเช่นนี้ เวลาที่จะต้องเอาตัวเองเข้าไปรับผิดชอบกับอะไรสักอย่าง มันจะเริ่มกังวลอัตโนมัติ อาจเสี่ยงต่อความผิดพลาดและไม่ได้รับการยอมรับจากที่ประชุม หลายคนจึงเลือกเล่นบทบาทที่ปลอดภัยไว้ก่อน ผมชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมสังเกตใจของตัวเองเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา แล้วใช้โอกาสนี้ในการพูดเข้าเรื่องการเรียนรู้สองแบบ คือ การเรียนรู้ข้อมูล (Informational learning) กับการเรียนรู้เข้ามาที่ใจ (Transformational learning)

การเรียนรู้ข้อมูล เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องเอาตัวเอาใจเข้าไปสัมพันธ์ด้วยสักเท่าไหร่ ผู้เรียนเข้ามารับการอบรมโดยมีวิทยากร (ที่แปลตามตัวอักษรว่า “ที่มาของความรู้”) มาบรรยายให้ฟัง อาจมีการทำแบบฝึกหัดเป็นเครื่องมือการเรียนรู้บ้าง แต่ก็กลับมาสู่การเรียนตาม “เนื้อหา” ที่วิทยากรได้เตรียมไว้แล้ว เช่น เรียนเรื่อง “ความสุขในการทำงาน” ก็บรรยายว่าความสุขในการทำงานเป็นอย่างไร เป็นต้น

ในขณะที่การเรียนรู้เข้ามาที่ใจ จะมีกระบวนการให้ผู้เรียนแต่ละคน กล้าก้าวออกจาก “พื้นที่ปลอดภัย” มาสู่ “พื้นที่เสี่ยง” ผมมักจะเปรียบเทียบเรื่องนี้กับภาพไข่ดาว ซึ่งมีพื้นที่สองส่วนคือ พื้นที่ไข่แดง กับไข่ขาว คนเรามักจะรักษาตัวรักษาใจให้อยู่ในพื้นที่ไข่แดง อันเป็นพื้นที่ปลอดภัย และไม่ค่อยเอาตัวออกมา “เกลือกกลั้ว” ในพื้นที่ไข่ขาว อันเป็นพื้นที่เสี่ยง ตัวอย่างเช่น คนที่มีลักษณะพูดน้อยไม่ค่อยกล้าแสดงออก เวลาเข้ามาในที่ประชุมคนหมู่มาก พื้นที่ปลอดภัยหรือพื้นที่ไข่แดงของคนกลุ่มนี้จึงเป็นการเงียบไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม การลุกขึ้นพูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ไข่ขาวของคนกลุ่มนี้

การแยกแยะการเรียนรู้สองแบบนี้ มีความสำคัญอย่างมากต่องานฝ่ายบุคคลที่จะจัดการอบรมด้าน ซอฟต์ไซด์ให้กับคนในองค์กร เพราะคนส่วนใหญ่จะตอบรับอย่างรวดเร็วต่อการเรียนรู้ข้อมูล คล้ายกับที่ผมตั้งคำถามสองข้อแรก แต่ยิ่งอบรมไปมากเท่าไหร่ เคพีไอ (KPI: ตัวชี้วัดผลการปฎิบัติงาน) ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้ พอฝ่ายบุคคลจะลองเปลี่ยนมาจัดอบรมแบบใหม่ที่ใช้แนวทางการเรียนรู้เข้ามาที่ใจ คนในองค์กรกลับเริ่มมีแรงต้าน เพราะเขาไม่อยากเอาตัวเข้ามาเสี่ยง คล้ายกับการยกมือตอบในคำถามข้อที่สามข้างต้น ฝ่ายบุคคลต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น ในการพยายามทำให้คนในองค์กร “ซื้อ” การเรียนรู้แบบนี้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจากการเรียนรู้เข้ามาที่ใจ คือการให้ผลที่ยั่งยืนกว่า เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรขึ้นสู่จุดสมดุลใหม่ ระหว่างทักษะความรู้ความสามารถด้านฮาร์ดไซด์ (Hard side) กับความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ด้านซอฟต์ไซด์อันเป็นผลจากการปรับตัวของคนในองค์กร

จุดแข็งของการเรียนรู้ข้อมูล คือสามารถวัดผลได้ง่ายและรวดเร็วว่าเรียนรู้อะไรไป แต่จุดอ่อนคือ การเรียนรู้ที่ “ใส่ข้อมูลเข้าไปในภาชนะขนาดเท่าเดิม” (in-form-ation) กล่าวคือ จิตใจของผู้เรียนก่อนเรียนเป็นอย่างไร หลังเรียนก็เป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงอยู่ในพื้นที่ไข่แดงเช่นเดิม ในขณะที่การเรียนรู้เข้ามาที่ใจ วัดผลได้ยากกว่าและใช้เวลามากกว่า เพราะการเรียนรู้มีได้หลากหลาย ผู้เรียน ๒๐ คน ก็มีบทเรียน ๒๐ แบบ แต่จุดแข็งอยู่ที่ “การขยายขนาดภาชนะของการเรียนรู้” (trans-form-ation) กล่าวคือ จิตใจของผู้เรียนหลังเรียนขยายใหญ่ขึ้น

จากตัวอย่างการเรียนรู้ข้อมูลในเรื่อง “ความสุข” ผู้เรียนมานั่งฟังบรรยายว่าจะมีความสุขในการทำงานได้อย่างไร ผลลัพธ์หลังเรียนเสร็จคือ “ภาชนะที่ใส่ความสุข” มีขนาดเท่าเดิม กลับกันหากเปลี่ยนมาเรียนรู้เข้ามาที่ใจ ผู้เรียนจะเข้าสู่กระบวนการเปิดใจ แบ่งปันความทุกข์ความสุขในใจให้กับเพื่อนร่วมงานฟัง ทะลายกำแพงแห่งการปกป้องตนเอง กล้ายอมรับและเปิดเผยจุดอ่อนและความเปราะบางให้แก่กันและกัน และสนับสนุนให้กำลังใจกันในการก้าวออกจากพื้นที่ไข่แดง มาสู่พื้นที่ไข่ขาว และเรียนรู้ที่จะอยู่ในพื้นที่ไข่ขาวอย่างมีสติ จนสามารถปรับตัวได้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เพิ่มความสุขขึ้นในแต่ละก้าวที่เดินไป ผลลัพธ์ในเบื้องปลายที่ได้คือ ภาชนะที่ใส่ความสุขขยายใหญ่ขึ้น

ผมพอจะสรุปแนวทางการเรียนรู้เข้ามาที่ใจ ได้เป็นขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

๑. สังเกตข้อเท็จจริง เริ่มต้นจากการสังเกตข้อเท็จจริงจากพฤติกรรมของตัวเอง ไม่ว่าจะมาจากการสังเกตด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นช่วยสะท้อนให้ก็ตาม ให้แยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความคิดเห็น หรือการตัดสินด่วนสรุป ยกตัวอย่างสมมติ “กรณีของพลอย” พลอยพบว่าตัวเองทำงานไม่มีความสุข เสียงจากเพื่อนร่วมงานที่สนิทกันสะท้อนว่า สาเหตุเกิดจากการที่พลอยไม่กล้าปฏิเสธคนเวลามาขอให้ช่วยงาน พลอยจึงนำเสียงสะท้อนของเพื่อนมาพิจารณาแยกแยะว่า พฤติกรรมใดที่แสดงว่าเธอไม่กล้าปฏิเสธคน เป็นต้น

๒. สะท้อนเข้ามาที่ใจ จากนั้นจึงใคร่ครวญข้อเท็จจริงนั้น จนยอมรับแก่ใจตนเอง จากตัวอย่างของพลอย เมื่อพลอยพิจารณาจนพบว่าพฤติกรรมการตอบรับว่า “ได้” ไว้ก่อน เป็นปัญหา พลอยเริ่มยอมรับว่า เป็นเพราะใจเธอเองที่ไม่กล้าบอกว่า “ไม่” ไม่ใช่ไปกล่าวโทษภาระหน้าที่ที่ถูกมอบหมายมา หรือไปโทษหัวหน้าว่าทำให้เธอต้องตอบว่า “ได้” เป็นต้น

๓. วินิจฉัยโจทย์ เมื่อตระหนักแล้วว่าตนเองจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงวินิจฉัยโจทย์ที่แท้จริง จากตัวอย่างข้างต้น มาวินิจฉัยว่าเหตุใดพลอยจึงต้องตอบรับว่า “ได้” ไว้ก่อนทุกครั้ง ในที่นี้อาศัยการเอ็กซเรย์จิต เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัย พบว่า ที่พลอยมีพฤติกรรมตอบ “ได้” ทุกครั้ง เพราะลึกๆ กลัวว่าเพื่อนร่วมงานจะผิดหวังในตัวเธอ ก็เลยมีความตั้งใจที่ซ่อนอยู่ว่า จะพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ให้คนอื่นผิดหวังในตัวเธอ จึงทำให้เธอมีข้อสรุปในใจ กลายเป็นความเชื่อใหญ่ว่า “ถ้าคนอื่นผิดหวังในตัวฉันแล้ว ฉันจะไม่มีใครคบ และกลายเป็นคนโดดเดี่ยวในที่สุด”

๔. ลงมือทำเพื่อพิชิตโจทย์ท้าทาย เมื่อวินิจฉัยโจทย์ที่แท้จริงแล้ว จึงลงมือทำเพื่อพิชิตโจทย์ท้าทาย จากตัวอย่างข้างต้น พลอยลงมือปรับพฤติกรรมการตอบ “ได้” อันเป็นพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำจนเคยชิน (พื้นที่ไข่แดง) มาเป็นการตอบว่า “ไม่” อันเป็นพฤติกรรมใหม่ (พื้นที่ไข่ขาว) เพื่อทำการทดสอบความเชื่อใหญ่ ว่าจริงเสมอไปหรือไม่ ที่หากพลอยปฏิเสธแล้ว เธอจะไม่มีใครคบ และกลายเป็นคนโดดเดี่ยว พลอยมักใช้ “เมล็ดพันธุ์ความสุข” ที่ว่า “แค่ฉันปฏิเสธเป็นบ้าง ฉันก็ยังคงเป็นคนน่าคบอยู่” คอยเป็นเสียงสนับสนุนให้กับตัวเองอยู่เสมอๆ ระหว่างการพิชิตโจทย์ท้าทายนี้

๕. เรียนรู้เพื่อปรับตัว เมื่อลงมือทำก็จะเกิดประสบการณ์ตรง เกิดบทเรียนขึ้นกับตัว ให้เราสะท้อนการเรียนรู้เป็นระยะ จนเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีแห่งพฤติกรรมใหม่ได้ สืบเนื่องจากตัวอย่าง เมื่อพลอยสามารถพูดคำว่า “ไม่” กับเพื่อนร่วมงานได้มากขึ้น เธออาจพบว่า การบอกว่า “ไม่” บางครั้งก็ชัดเจนตรงไปตรงมา ช่วยให้งานของเธอและทีมเดินไปได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ แต่บางครั้งก็เป็นคำที่รุนแรงเกินไป จนทำให้เพื่อนโกรธ เธอพบว่า บางครั้งการบอกปฏิเสธด้วยคำว่า “รอ” ก็เป็นคำพูดที่แสดงความต้องการที่แท้จริงของเธอได้ด้วยเช่นกัน เมื่อมาพิจารณาสะท้อนการเรียนรู้ทั้งหมด พลอยพบว่านิยามของคำว่า “การมีเพื่อน” เปลี่ยนไป ไม่ใช่ผูกติดอยู่กับแค่ “ความเกรงใจ” เท่านั้น แต่ขยายใหญ่ไปสู่ “การทำงานร่วมกันเป็นทีม” ณ จุดนี้เองจึงเห็นได้ว่า ภาชนะที่ใส่ความสุขของพลอยขยายใหญ่ขึ้น

ผมเชื่อว่า เราคงอยากเห็นคนในองค์กร เกิดการเรียนรู้เข้ามาที่ใจ อย่างที่พลอยเรียนรู้เกี่ยวกับ “ความสุขในการทำงาน” อันเป็นหนึ่งในการอบรมด้านซอฟต์ไซด์ที่กำลังเป็นสนใจอย่างแพร่หลายในตอนนี้

นักการเมืองจิตใหญ่ นักทำงานเพื่อส่วนรวม



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2554

หากวาดเส้นเวลาย้อนกลับไปจนถึงปีพ.ศ. ๒๔๗๕ เรามองเห็นพัฒนาการของการเมืองไทยอย่างไรบ้าง?

น่าสนใจมากที่เราจะพบว่า ใบหน้าของนักการเมืองแทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเลย คนที่อยู่ในการเมืองตั้งแต่สี่ห้าสิบปีที่แล้วก็ยังอยู่ในการเมืองเหมือนเดิม นักการเมืองหน้าใหม่แทบจะไม่มีเลย หรือถ้ามี หากไล่เรียงวงศาคณาญาติดู ก็จะพบว่าเป็นลูกหลานว่านเครือของคนหน้าเดิมนั่นเอง ฉะนั้นเอง จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ หากการเมืองในระบบประสบกับความคับแคบตีบตันมาโดยตลอด จนกระทั่งบรรลุสู่ความล้มเหลว และนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและการปะทะกันของประชาชนบนท้องถนน

ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือ การเมืองภาคประชาชนกลับมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีการเกิดขึ้นขององค์กรพัฒนาเอกชนมากมาย มีการรวมกลุ่มกันของภาคประชาชนเป็นเครือข่ายต่างๆ และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ที่พ้นไปจากความหมายเดิม จากที่เคยจบลงเพียงการไปออกเสียงเลือกตั้ง มอบอำนาจในการตัดสินใจให้กับรัฐบาลและหรือฝ่ายค้านไปตลอดสมัย ไปสู่การติดตามตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองตลอดจนการเฝ้าระวังการดำเนินการทางนโยบายของรัฐ – ไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อการเมืองในระบบล้มละลาย การเมืองนอกระบบกลับเฟื่องฟูอย่างที่ไม่เคยเป็น

แต่ - เราก็ไม่อาจทอดทิ้งการเมืองในระบบไปได้อย่างสิ้นเชิง กำหนดเลือกตั้งกำลังกวักมือเรียกเราอยู่ไหว-ไหว ดูเหมือนไม่มีทางอื่นใดที่จะต้องเลือกนักการเมืองจิตใหญ่เข้าไป

ฟังดูน่าขำ – แต่กระบวนการกลั่นกรองคุณภาพนักการเมืองแบบทางการยิ่งน่าขำกว่า

เป็นไปได้ล่ะหรือ ว่าการอายุ ๒๕ ปีถือว่าเริ่มมีจิตใหญ่?

เป็นไปได้ล่ะหรือ ว่าการมีวุฒิปริญญาตรีทำให้มีจิตใหญ่?

เป็นไปได้ล่ะหรือ ว่าคนถูกฟ้องล้มละลายเป็นคนจิตเล็ก?

แล้วถ้าเผื่อจะมีสถาบันมาตรวิทยาทางจิตมากำหนดคุณสมบัตินักการเมืองที่ดี น่าจะมีอะไรบ้าง?

หากเขาหรือเธอเคยได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันมาหลายปี เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ แต่หากผลงานไม่มี ความดีไม่ปรากฏ อยู่ได้ด้วยการต่อรองเกี้ยเซี้ยตำแหน่งทางการเมือง จิตนั้นใหญ่หรือเล็ก?

หากเขาหรือเธอเคยบริหารธุรกิจครอบครัวหมื่นล้านมาได้ และเชื่อว่าเขาหรือเธอก็จะบริหารประเทศได้ – ว่าแต่ว่า นั้นเป็นธุรกิจประเภทไหน? และคนถนัดหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองจะกลายร่างเป็นคนที่ทำงานใหญ่เพื่อบ้านเมืองได้ข้ามวัน จะมีขนาดจิตใหญ่เช่นเดียวกับคนที่ต้องทำให้สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์สูงสุดล่ะหรือ?

หากเขาหรือเธอพร่ำพูดแต่คุณธรรม ทำตัวเป็นไม้บรรทัด วัดความดีงามของคนอื่นว่าต่ำต้อยกว่าของตน ขนาดจิตเขาหรือเธอมีเท่าไหร่?

การแยกแยะประเภทของนักเลือกตั้งนี้ไม่ได้เป็นไปแค่เพื่อจัดวรรณะคนตามขนาดของจิต แต่ก็เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยคัดกรองนักการเมืองเข้าไปในสภาเพิ่มเติมจากเงื่อนไขเดิม-เดิม

คุณสมบัติพื้นฐานทางจิตใจไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่คือแก่นแท้ของเรื่องทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะ “การเมือง” ไม่ใช่อะไรอื่น หากเป็นเรื่องของเมือง เรื่องของสังคม เรื่องของประเทศ และเรื่องของส่วนรวม คนที่ไม่เคยทำอะไรอย่างแท้จริงเพื่อประโยชน์ส่วนรวมย่อมไม่เหมาะสมกับการเมือง คำว่าจิตใหญ่มิใช่ขนาดของหัวใจในเชิงกายภาพ แต่หมายถึงการมีจิตสาธารณะที่จะทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง คนที่ทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น เราเห็นกันได้ตั้งแต่เขาวัยเยาว์ ตั้งแต่วัยเด็กที่ไปโรงเรียน ไม่ใช่เด็กทุกคนห่วงใยเพื่อน ห่วงใยกิจกรรมโรงเรียน ในห้องเรียนหนึ่งห้อง เพื่อนย่อมรู้ได้ว่าใครจะเป็น “นักการเมืองที่ดีของห้องเรียน” ในโรงงานมีพนักงานเป็นพันคน พนักงานด้วยกันย่อมรู้ว่าใครเป็น “นักการเมืองที่ดีของโรงงาน” ซึ่งคนคนนั้นคงจะไม่ใช่แค่คนที่มีทักษะสื่อสารกับคนอื่น แค่เป็นคนที่รู้กฎระเบียบเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน และไม่ใช่แค่คนพาเพื่อนไปเลี้ยงเป็นคราว-คราว แต่ต้องหมายถึงคนที่มีจิตใจที่ใหญ่พอที่จะเสียสละและทำสิ่งหลายอย่าง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพนักงานโดยรวม แล้วสำหรับการเป็นสมาชิกประเทศไทยนี้เล่า พวกเราประชาชนไทยในวันนี้ พอจะดูออกไหมว่าใครคือ “นักการเมืองที่ดีของเรา”?

เพื่อนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลาย หากคำว่า “การเมือง” ทำให้รู้สึกว่าเราไม่เกี่ยว ทำให้เรารู้สึกรังเกียจกระอักกระอ่วน ทำให้เรารู้สึกเหนื่อย และตัดสินใจอะไรไม่ถูก แล้วเราจะเดินไปเข้าคูหาเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฏาคมนี้ได้อย่างไร หากมีโอกาส ผู้เขียนอยากขอเชิญชวนท่านใช้เวลาที่เหลือก่อนวันเลือกตั้ง เปลี่ยนคำว่า “การเมือง” ที่ได้ยิน ได้ฟัง ในรอบตัว เป็นคำว่า “การส่วนรวม” เปลี่ยนคำว่า “นักการเมือง” เป็นคำว่า “นักทำงานเพื่อส่วนรวม” เปลี่ยนสิ่งที่เรามองด้วยความสับสน เป็นการทำความเข้าใจเรื่องนี้กันใหม่อย่างถึงราก แน่นอน การเปลี่ยนถ้อยคำความหมายแบบใหม่ อาจทำให้เราเกิดความคิดและมุมมองใหม่ต่อเรื่องการเมืองได้ ซึ่งเราน่าจะต้องตั้งใจนั่งทบทวนการตัดสินใจของตนเองให้รอบคอบกันอีกครั้ง

ขอเป็นกำลังให้ทุกท่านในการค้นหาคำตอบสำคัญให้พบ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายสูงสุดเพื่อประโยชน์ของพวกเราทุกคนอย่างแท้จริง เพื่อให้อุดมคติแห่งเรื่องการเมืองได้กลับมา เพื่อให้พวกเราได้ “นักการเมืองจิตใหญ่” ที่เป็นคนทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงในสังคมไทยของเรา

เดินทางสู่กระบวนทัศน์ใหม่: รินน้ำใจให้กัน



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2554

ไม่ว่าเราจะเป็นหญิง เป็นชาย หรือเพศที่สามสี่ห้า

ไม่ว่าเราจะกาเบอร์ไหน เสื้อสีอะไร

ไม่ว่าเราจะชอบเรยาหรือไม่ก็ตาม

มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน

ข้างต้นเป็นคำโปรยในแผ่นประชาสัมพันธ์ของโครงการสร้างสรรค์สังคม “รินน้ำใจให้กัน” อ่านดูสี่บรรทัดข้างต้นแล้วเห็นชัดเจนถึงชุดความเชื่อของกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังไม่น้อย ว่ามีใจเปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ความคิดความเชื่ออย่างมาก มองข้ามเรื่องการเมืองแบบแบ่งสีแบ่งฝ่าย และเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีความดีงามเป็นพื้นฐาน

คนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้นี่แหละที่ชาวจิตวิวัฒน์พูดถึงอย่างสม่ำเสมอ โดยเชื่อว่าจะเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการกอบกู้อารยธรรมของมนุษยชาติ ที่กำลังเผชิญกับการท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ อาจจะครั้งสำคัญที่สุดตั้งแต่เราถือกำเนิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหรือสปีชีส์ใหม่ ที่เรียกว่า Homo sapiens เมื่อสองแสนปีมาแล้ว

วิกฤตที่อยู่เบื้องหน้าอาจจะนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ หรือวิวัฒนาการที่จำเป็นเพื่อให้เราสามารถอยู่รอดได้ คือ เปลี่ยนจากยุคของการให้คุณค่ากับวัตถุไปสู่ยุคของการให้คุณค่ากับเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ เป็นวิวัฒนาการของจิตไปสู่จิตวิญญาณ หรือตามที่ ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ เรียกว่าเป็น “ยุคแห่งจิตวิญญาณ” เป็นการเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่ทางสังคม

การเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่นี้ได้มีงานวิจัยและงานเขียนไว้จำนวนไม่น้อย อาทิ รายงาน Mankind at Turning Point และ The First Global Revolution โดยคลับแห่งโรม (Club of Rome) หนังสือ The Great Turning: From Empire to Earth Community โดย เดวิด กอร์เต็น (David Korten) รายงาน Shift Report และหนังสือ Global Shift: How a New Worldview Is Transforming Humanity โดยสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) รวมถึงงานเขียน ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี และ สู่มิติที่ห้า โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ

การเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นกระบวนการที่ต้องการผู้ช่วยจำนวนไม่น้อย อาจจะหลายร้อยล้านคนทีเดียว ทั้งสำหรับการทำหน้าที่ดูแลการจากไปของกระบวนทัศน์เก่าที่ไม่สามารถอธิบายหรือแก้ไขโจทย์ที่ซับซ้อนเช่นในปัจจุบัน และการเตรียมทำคลอดกระบวนทัศน์ใหม่

แล้วคนจำนวนมากมายเช่นนี้จะมีลักษณะร่วมกันอย่างไร

พอล เอช เรย์ (Paul H. Ray) นักสังคมวิทยา และ เชอร์รี่ รูธ แอนเดอร์สัน (Sherry Ruth Anderson) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ทำการสำรวจวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าชาวตะวันตกสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มประเพณีนิยม (Traditionals) กลุ่มทันสมัย (Moderns) และกลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม (Cultural Creatives) กลุ่มสุดท้ายนี้เป็นคนที่ไปพ้นจากกระบวนทัศน์มาตรฐานเดิม คือ พ้นจากความเชื่อสองขั้ว เช่น ประเพณีนิยม-ทันสมัย หรือ อนุรักษ์นิยม-หัวก้าวหน้า

ผลสำรวจเมื่อปีค.ศ.๑๙๙๙ พบว่าในสหรัฐอเมริกา มีประชากรกลุ่มประเพณีนิยม อยู่ประมาณ ร้อยละ ๒๔.๕ กลุ่มทันสมัยประมาณร้อยละ ๔๘ และกลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมประมาณร้อยละ ๒๖ หรือห้าสิบล้านคน (ในขณะที่ยุโรปมีประมาณ ๘๐-๙๐ ล้านคน) (The Cultural Creatives: How 50 Million People Are Changing the World) และจากผลสำรวจเมื่อปีค.ศ.๒๐๐๘ ประชากรกลุ่มนี้ในอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๓๔ หรือประมาณแปดสิบล้านคนแล้ว

กลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมคือ กลุ่มที่เรย์และแอนเดอร์สันให้ความสนใจอย่างยิ่ง กลุ่มนี้มักมีคุณลักษณะ เช่น รักธรรมชาติ ใส่ใจ ให้คุณค่ากับการอนุรักษ์ เป็นกังวลกับการทำลายธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตระหนัก ใส่ใจกับประเด็นในระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเพิ่มประชากรมากเกินไป และต้องการให้มีการแก้ไข เช่น ลดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยินดีที่จะจ่ายภาษีมากขึ้นหรือจ่ายมากขึ้นสำหรับสินค้าหากว่าเงินนั้นใช้ในการบำรุงสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญมากกับการพัฒนาและดูแลความสัมพันธ์ ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยให้ได้พัฒนาคุณสมบัติที่แต่ละคนมี มีจิตอาสาช่วยเหลือในประเด็นที่ดี

ในด้านการเมือง กลุ่มนี้ไม่พอใจกับการเมืองแบ่งแยก แบ่งสี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซ้ายขวา แต่ไม่ต้องการเป็นฝ่ายตรงกลางที่ไม่ชัดเจน ไม่มีจุดยืน

เป็นพวกที่ให้ความสนใจมากกับการพัฒนาด้านจิตวิทยาและจิตวิญญาณ เห็นว่าเรื่องจิตวิญญาณเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ต้องการความเสมอภาคในงาน ระหว่างหญิงชาย และการมีผู้นำที่เป็นสตรีในภาคธุรกิจและการเมือง ห่วงใยเรื่องความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ต้องการให้ภาคการเมืองและรัฐบาลลงทุนเพิ่มเติมในด้านการศึกษา โครงการชุมชน และเพื่อสนับสนุนอนาคตที่มีความยั่งยืนด้านนิเวศ เป็นห่วงวิธีการที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร รวมถึงการทำลายธรรมชาติและแสวงหาประโยชน์จากประเทศที่จนกว่า สามารถดูแลเรื่องการเงินและค่าใช้จ่ายได้ ไม่ชอบค่านิยมสังคมทันสมัยที่เน้นความสำเร็จ การหาเงิน และการจับจ่ายบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย แต่ชอบผู้คน สถานที่ที่แตกต่าง ชอบมีประสบการณ์และเรียนรู้จากวัฒนธรรมอื่น

พวกเขามักมองโลกอนาคตในแง่ดี และต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์วิถีดำเนินชีวิตที่ใหม่และดีขึ้น

คุณค่าหลักที่กลุ่มนี้ยึดถือ คือ การเสียสละเพื่อผู้อื่น การตื่นรู้และตระหนักในตนเอง การพัฒนาด้านจิตวิญญาณ และการร่วมลงมือปฏิบัติการในภาคสังคม

ชาวจิตวิวัฒน์เชื่อว่ากลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณสมบัติเหล่านี้คือคนที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่เป็นไปได้ และเป็นไปได้เร็วขึ้น

และเราอาจเห็นตัวอย่างจากหมู่เพื่อนที่ให้เกียรติมาเยี่ยมเยียนกลุ่มจิตวิวัฒน์ ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านกระบวนทัศน์ใหม่ในชีวิตจริงที่มีรูปธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ประมวล เพ็งจันทร์ เตือนใจ ดีเทศน์ โจน จันได รสนา โตสิตระกูล ภิกษุณีนิรามิสาจากหมู่บ้านพลัม พะตีจอนิและพฤ โอ่โดเชา ชาวปกาเกอะญอ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ประภาภัทร นิยม ยุค ศรีอาริยะ เดชา ศิริภัทร วัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด วรภัทร์ ภู่เจริญ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ นารี เจริญผลพิริยะ สุมาลี นิมมานิตย์ พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กรรณจริยา สุขรุ่ง กรินทร์ กลิ่นขจร กลุ่มหรี่เสียงกรุงเทพ มุทิตา พานิช สิวินีย์ สวัสดิ์อารี วนิสา สุรพิพิธ ชลลดา ทองทวี มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ศุภลักษณ์ ทัดศรี กัญญา ลิขนสุทธิ์ เป็นต้น

โครงการ “รินน้ำใจให้กัน” ในตอนต้นของบทความก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมในกระบวนทัศน์ใหม่ของ กัญญา ลิขนสุทธิ์ และเพื่อนๆ กลุ่ม “เพื่อนภาวนา” ซึ่งเป็นกลุ่มของหนุ่มสาวต่างศาสนา และไม่มีศาสนา (แต่สนใจด้านจิตวิญญาณ) ที่ชักชวนกันภาวนาทุกวัน (บ้างก็เรียกเจริญสติ นั่งสมาธิ สมถะวิปัสสนา เดินจงกรม) โดยเชื่อว่าการภาวนาเป็นรากฐานของการเกิดความมีสติ ระลึกรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยของการใช้ชีวิตและตัดสินใจอย่างมีปัญญา พวกเขาเชื่อว่าการภาวนาเป็นการแสดงออกอย่างสันติ สร้างสรรค์ ช่วยให้เรามีเวลาที่ช้าลง ตระหนักว่าเราจะนำพาตนและทุกๆ คน (ไม่เว้นแม้คนที่เราไม่เห็นด้วย) ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ด้วยความรัก ความเข้าใจได้อย่างไร หัวใจคือการเข้าไปสร้างและสัมผัสสันติภาพภายในใจตนเองก่อน เป็นสันติภาพภายในที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

โครงการนี้เชิญชวนให้ผู้คนในสังคมมาทอดสะพานความกรุณาด้วยการรินน้ำใจให้กัน ไม่ว่าจะเป็นการให้คนในครอบครัว ครูบาอาจารย์ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนที่เราเพิ่งรู้จัก คนแปลกหน้า คนที่เราไม่ชอบไม่เห็นด้วย คนที่เรามีอคติ และให้ตัวเองด้วย

เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ นี้ ขอให้เราแต่ละคนได้หาโอกาสรินน้ำใจกันอย่างน้อยคนละสามครั้ง ในแต่ละสัปดาห์โดยมีรูปธรรม คือ ให้สิ่งของ ให้คำขอบคุณหรือกำลังใจ ให้คำชื่นชม และให้อภัย ตามลำดับ และเมื่อรินน้ำใจเสร็จแล้ว ทางกลุ่มเชิญมาแบ่งปันเรื่องราวกันที่ facebook : เพื่อนภาวนา

หากเราได้กลับไปลองอ่านคำโปรยสี่บรรทัดก็จะเห็นว่าสอดคล้องกับคำอธิบายของกลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง

และภารกิจช่วยเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่ก็อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการ “รินน้ำใจให้กัน” เช่นนี้เอง

การเชื่อมโยงหลอมรวม ปฐมบทของกระบวนกร



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2554

เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เขียนคำถามมาถึงผมว่า

"อาจารย์วิศิษฐ์คะ อยากอ่านประสบการณ์การเชื่อมโยงกับผู้เข้าร่วมหรือนักเรียน ไม่ทราบว่าจะหาอ่านได้จากไหนบ้างคะ"

ผมตอบโดยแนะนำไปว่า พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) พูดไว้เยอะใน Courage to Teach และบาเช (Bache) เขียนไว้ในหนังสือ The Living Classroom และตบท้ายด้วยว่า เออ! หรือผมจะเขียนเองด้วยดีไหม? อันที่จริงผมได้เขียนไว้บ้างแล้วตามที่่ต่างๆ อย่างน้อยในหนังสือคู่มือกระบวนกร แต่ช่วงนี้รู้สึกว่าอย่างไรก็คงต้องเขียนใหม่ด้วย โดยไม่ต้องกลัวซ้ำ เพราะว่ามาบัดนี้คงเขียนได้ดีกว่าเดิม เนียนกว่าเดิม ลุ่มลึกกว่าเดิมกระมัง (มีบางคนบอกว่าผมเขียนได้อ่านง่ายกว่าเดิม?)

สิ่งที่ผมกำลังเขียนอยู่ในช่วงนี้ก็คือเรื่องของ “สนาม” เรื่องการชุบตัวในสนาม ที่่จริงก็ยังเขียนได้ไม่เสร็จสมบูรณ์ดี และคงหาโอกาสเขียนต่อ แต่คิดว่ามาตอบเรื่องนี้ก่อน คงเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนที่ทำงานกระบวนการอยู่

ว่าด้วยปรัชญาก่อน

ที่พูดถึงเรื่องสนาม ก็เพราะว่าการเชื่อมต่อหลอมรวม (bonding หรือ connect) กับผู้คนนั้น ต้องทำความเข้าใจใหม่ด้วย ว่าอะไรคือพื้นฐานแห่งการดำรงอยู่ของเรา? วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่าบอกเราว่า เราดำรงอยู่อย่างเอกเทศ แต่ละคนไม่ได้มีอะไรเชื่อมถึงกัน เราจะติดต่อสื่อสารกันก็โดยผ่านการพูดจา การเขียนอ่าน และอะไรอื่นๆ แต่ไม่ได้พูดเรื่องสนาม เรื่องพื้นฐานการดำรงอยู่อย่างอื่นที่แตกต่างออกไป บาเชพูดไว้ในหนังสือ The Living Classroom ของเขาว่า ด้านหนึ่งเราเป็นตัวตนที่ดำรงอยู่อย่างเอกเทศ อีกด้านหนึ่ง คือในระดับจิตไร้สำนึก เราเชื่อมโยงถึงกันหมด มันเป็นสนามที่เชื่อมร้อยพวกเราไว้ด้วยกัน เหมือนกับจะกล่าวว่า ที่จริงเราเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว เพียงแต่เราไปมีมายาการว่าเราดำรงอยู่อย่างแยกออกจากกันเท่านั้นเอง
สามแดนหรือความเป็นจริงสามระนาบของมินเดล

ผมอยากพูดถึง อาโนลด์ มินเดล กับโมเดลสามระนาบความเป็นจริงและสามแดนของเขา (ผมว่าบาเชก็พูดเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ใช้คนละภาษา) มินเดลพูดถึงโลกในชีวิตประจำวันที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า มันเป็นอย่างนี้ๆ นะ ซึ่งเราจะเรียกว่า “โลกสมมติของส่วนใหญ่” ดังเวลานี้ โลกสมมติของคนส่วนใหญ่เป็นโลกของปัจเจก ทุกคนแย่งกันเรียน แย่งกันทำงาน แย่งทรัพยากรที่มีอยู่น้อยลงทุกที ครอบครัวขยายที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบเดิมก็เรียวลงไป หมู่บ้านก็ล่มสลาย หามิติความเป็นชุมชนไม่ค่อยจะได้แล้ว

ลึกลงไปคือ “แดนฝัน” แดนฝันเป็นความเป็นจริงระดับจิตวิทยา เป็นโลกภายในของเรา ในแดนฝัน ความเป็นปัจเจก ความเป็นตัวตนของเราหากคลายลงได้ เราก็จะเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ได้มากขึ้น แต่หากเรามีปมทางจิตวิทยา และเราไม่ได้ตื่นรู้ในแดนฝัน เราก็จะฉายภาพปัญหาของเราออกไปนอกตัว ฉายไปทาบทับคนอื่น สิ่งอื่น คือเราจะเห็นปัญหาอยู่นอกตัวตลอดเวลา แต่เราจะไม่กลับเข้ามามองเห็นปัญหาของตัวเอง ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่าการฉายภาพ (projection) ออกไปนั้นเอง

ลึกลงไปอีกเป็น “แก่น” เป็นส่วนลึกสุดของตัวตนของเรา ซึ่งกว้างขวางและลุ่มลึกกว่าตัวเรา หากเป็นแก่นแกนของจักรวาล เป็นบรมธรรม เป็นจิตเดิมแท้หรือพระเจ้า เราไม่อาจเข้าไปในแดนนี้ได้โดยตรง (หรืออย่างน้อยปุถุชนอย่างเรายังเข้าไปไม่ได้) แต่ส่วนลึกของเราหรือจักรวาลนี้จะติดต่อเราผ่านสิ่งเย้ายวน หรือนิมิต หรือญาณทัศนะหรือเสียงแรกของเราเอง อีกช่องทางหนึ่งคือมันผ่านสาส์นมาทางผู้เฒ่า หรือมนุษย์ที่แท้ ที่ดำรงอยู่อย่างมีเลือดเนื้อ เหมือนมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่คนเหล่านี้สามารถติดต่อกับส่วนลึกของเขาได้ ติดต่อกับน้ำพุภายในของเขาได้ สาส์นของเขาก็คือสาส์นจากแก่นจากบรมธรรมนั้นเอง
ทำไมต้องพูดถึงสามแดนหรือโลกสามระนาบนี้ด้วย?

ที่ต้องพูดถึงก็เพราะว่า โลกในทุกวันนี้เราพากันจำกัดตัวเองอยู่ในโลกที่เป็นสมมติบัญญัติของเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น ซึ่งคับแคบและมีข้อจำกัดมาก และที่จริงก็กำลังก่อปัญหามากมายไม่รู้จักจบสิ้น มันเป็นโลกที่ถูกตีกรอบแคบ และไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริงอันเป็นกลางตามธรรมชาติได้ เป็นวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่า ที่เข้าถึงความเป็นจริงแค่หนึ่งในสามของท้ังหมดเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าได้

แต่เมื่อเราลงลึกลงไปยังแดนฝัน สะพานเชื่อมเข้าสู่โลกของจิตไร้สำนึก เราจะเห็นความเป็นไปได้ที่กว้างกว่า เห็นความเชื่อมโยงของผู้คน อย่างไม่แยกเขาแยกเรา เราจะเริ่มเห็นเขาในเรา และเห็นเราในเขา นอกจากนี้ ในแดนฝัน เรายังได้เปิดช่องทางติดต่อกับบรมธรรม จิตเดิมแท้ หรือส่วนลึกที่สุดของเราได้ด้วย ผ่านสิ่งเย้ายวน หรือนิมิต หรือญาณทัศนะ หรือเสียงแรก หรือเด็กน้อย หรือครูภายในของเราทั้งหลาย เรายังสามารถคลี่คลายปมทางจิตวิทยาของเรา อันเกิดจากทุกข์และบาดแผลทางใจในอดีต แทนที่จะส่งออก ฉายปัญหาออกไปยังผู้คนและปรากฏการณ์ เรากลับมาคลี่คลายและเยียวยาปมปัญหาภายในของตน เพื่อหลุดพ้นไปจากความคับแคบอันเกิดจากการหดตัวของเราเอง
ยกระดับขึ้นสู่ปาฏิหาริย์

ในหนังสือ The Living Classroom ของบาเช ได้พูดถึงการเรียนการสอนสองระนาบที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของเขา สำหรับคนที่เปิดใจรับรู้เรียนรู้เรื่องของสนาม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการพ้องพานอย่างที่หนังสือ The Secret บอกเล่า เขาจะรู้สึกว่าเกิดเรื่องดีๆ ขึ้นกับเขาตลอด อยากทำอะไรก็ได้ทำ อยากเรียนรู้เข้าใจอะไร มันก็เกิดขึ้นกับเขา เรื่องยากก็กลายเป็นง่าย สำหรับคนที่ต้องการเรียนเนื้อหาประเด็นความ ก็เรียนได้สนุกท้าทาย และพอใจบทเรียนที่บาเชนำเสนอ ดังนั้นจึงมีคนสองกลุ่มนี้อยู่ด้วยกันในชั้นเรียนเดียวกันนั้นเอง

ที่จริงในระนาบของคนทั่วไป ปกติ สามัญ อันยังไม่พร้อมจะเปิดออกไปสู่อีกโลกหนึ่ง ยังไม่พร้อมจะเข้าไปเล่นกับสนามพลัง สนามปัญญาร่วม พวกเขาก็ยัง (ในวิถีหนึ่งใด) ได้สัมผัสสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเหมือนกัน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามันคืออะไร และมันก็อาจจะก่อผลการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับชีวิตของพวกเขาได้เช่นกัน แม้จะน้อยกว่า ช้ากว่า แต่การทำงานของสนามก็อาจจะเป็นไปอย่างที่พวกเขาไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วย
ดูแลแรงต้านหรือเด็กนรก

ในหนังสือ Courage to Teach ของพาล์มเมอร์ มีอนุบทหนึ่งที่เขาพูดถึง students from hell หรือจะใช้ภาษาไทยตรงไปตรงมาก็คือ “เด็กนรก” เวลาทำงานกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เราก็อาจจะเจอกับ “ผู้ใหญ่นรก” ด้วยก็เป็นได้ ซึ่งบทเรียนก็จะยากขึ้นไปอีก สำหรับการที่เรายังต้องการเชื่อมโยงหลอมรวมกับผู้เข้าร่วมทั้งหมด ส่วนใหญ่คนที่มีปัญหา ไม่ต้องการเรียนรู้เหล่านี้มักจะถูกเกณฑ์มา และองค์กรมักจะส่งคนมีปัญหาให้มาเรียน แทนที่จะส่งคนที่พร้อมจะเรียนมา

แน่นอน คนที่ต้านการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ที่จริงพวกเขาไม่ได้ต้านกระบวนกร แต่เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันเกิดขึ้นในโลกภายในของเขาเอง (อันนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ผมจะเรียกร้องเวลาทำเวิร์คชอปให้เป็นอย่างน้อยสี่วัน มิฉะนั้นโอกาสจะขับเคลื่อนเยียวยาคนเหล่านี้จะยากมาก)
ทางออก

หนึ่ง หากเราทำงานภายในกับตัวกระบวนกรเองมากพอ เราจะรู้ว่า แรงต้านทั้งหมดไม่ได้ต้านเรา แต่มันเป็นพลังงานที่ถูกกักขัง นิ่งเน่า แช่แข็งในตัวของคนเหล่านั้นเอง มันเป็นความอ่อนแอ อ่อนปวกเปียกที่ไม่น่ากลัวอะไรเลย ลึกๆ ของคนเหล่านี้ต้องการโผเข้าหาเรา เข้ามารับการกอด และการโอบอุ้มดูแล

สอง หากเราหักหาญกับพวกเขาในโลกสมมติที่เป็นอยู่ เราจะไม่ได้อะไรเลย หากเปิดการทำงานเข้าไปในแดนฝัน กิจกรรมที่นำพาให้เล่นบ้าง กิจกรรมที่ไปทำงานกับจิตไร้สำนึกผ่านศิลปะวิถีบ้าง เช่นกิจกรรม active imagination1 ของมินเดล (อันนี้ต้องมาเรียนกันในเวิร์คชอป) พวกเขาก็จะสนุก ลดตัวลงมาเป็นเด็กน้อย พลังงานพวกเขาก็จะแปรเปลี่ยน กระแสต้านก็จะลดลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

สาม ลึกไปกว่านั้น หากเรารับมินเดลในส่วนที่ดีที่สุดเข้ามา อย่างที่จะเกิดขึ้นได้ในกระบวนการกลุ่มโดยหลักการของประชาธิปไตยแนวลึก สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการกลุ่มก็คือ เราปล่อยผีออกมาได้ เราขัดแย้งได้ เราเป็นคนเลวได้ เห็นแก่ตัวได้ โดยนั่นเป็นเพียงเสี้ยวส่วนของเรา และยังเป็นเพียงชั่วขณะของเรา มันไม่ได้เป็นเราทั้งหมดและตลอดเวลา ทุกคนออกมาเล่นเสี้ยวส่วนอันดำรงอยู่ชั่วขณะเหล่านี้ได้อย่างอิสระเสรี เราไม่ต้องดัดจริตเป็นคนดีตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในระดับกลุ่มและระดับปัจเจกมีการปลดปล่อยเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว เป็นการยกระดับขึ้นสู่ปาฏิหาริย์เหมือนกัน

สี่ บรมธรรมหรือจิตเดิมแท้จะสื่อสารกับกลุ่มได้อีกทางหนึ่ง คือผ่านผู้เฒ่าที่ดำรงตนเป็นมนุษย์ที่แท้ อันนี้ไม่ต้องถึงกับเป็นผู้วิเศษ และไม่ได้ว่าจะต้องแก่ชรา ความเป็นผู้เฒ่าอาจจะมาจากคนที่เด็กกว่าก็ได้ แต่เขาสื่อสารกับบรมธรรมได้ เข้าถึงจิตเดิมแท้ได้ หรือ ชั่วครั้งชั่วคราวก็ได้ และสื่อแสดงออกมาในกลุ่ม ความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นได้อีกในช่องทางนี้

ทั้งหมดนี้อาจจะช่วยตอบคำถามข้างต้นได้ไหม? มีประโยชน์ไหม?

Back to Top