มิถุนายน 2006

โลกเปลี่ยนเพราะพวกเรา:
เปลี่ยนโลก ... ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2549

ถาม: ท่านทราบไหมว่าปี...
๑) ๒๕๔๘ ๒) ๒๕๔๑
๓) ๒๕๔๕ ๔) ๒๕๔๖
๕) ๒๕๔๔ และ ๖) ๒๕๔๐
มีความสำคัญอย่างไร ตามลำดับ?
(มีเฉลยอยู่ในบทความครับ)

สัปดาห์นี้คอลัมน์จิตวิวัฒน์ได้เดินทางคู่กันกับหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ มาเป็นเวลาสองปีกับอีกสองเดือนพอดี แต่ละสัปดาห์สมาชิกจิตวิวัฒน์สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาบอกเล่าความสำคัญจำเป็นที่โลกจะต้องมี “จิตสำนึกใหม่” (New Consciousness)

เรื่องราวที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้ถ่ายทอดผ่านพื้นที่แห่งนี้ นอกเหนือจากฐานความรู้และมุมมองต่อโลกของแต่ละท่านแล้ว ยังมาจากข้อมูลสาระจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มทั้งในและนอกที่ประชุม ความรู้ทั้งหมดที่กลุ่มให้ความสนใจ เล่าสู่ข้อมูลข่าวสาร และร่วมเรียนรู้กันนั้น ได้แสดงให้เห็นชัดเจนอย่างสิ้นไร้ข้อสงสัยว่า โลกกำลัง “อยู่ใน” วิกฤต หาใช่กำลัง “เข้าสู่” วิกฤตดังที่บางคนเข้าใจไม่ ทั้งยังเป็นวิกฤตในรอบด้าน ไม่ว่าทางสิ่งแวดล้อม ทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่ศาสนา และอื่นๆ
ส่วนหนึ่งของข้อมูลสถิติและข้อเท็จจริงต่างๆ นั้น มีดังต่อไปนี้ครับ

  • ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ภายในเวลาไม่เกินห้าสิบปีนี้ ขั้วโลกเหนือจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมอีกต่อไป
  • ปริมาณของน้ำแข็งที่ละลายจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ อาจทำให้ระดับน้ำทะเลท่วมสูงขึ้นถึง ๖ เมตร
  • โลกมีทั้งฤดูแล้งและพายุฝนรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรีนา เป็นตัวอย่างที่ทุกท่านคงไม่ลืม ซึ่งแท้จริงแล้วปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีพายุมากถึง ๒๘ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒๑ ลูกในปี ๒๔๗๖) ในจำนวนนี้เป็นพายุเฮอริเคนถึง ๑๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๑๒ ลูก ในปี ๒๕๑๒) และเป็นพายุเฮอริเคนระดับห้า อันความรุนแรงสูงสุด ถึง ๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒ ลูกในปี ๒๕๐๓)

บางส่วนของข้อมูลนี้ถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์และกำลังเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ชื่อ An Inconvenient Truth (“ความจริงที่ทำใจลำบาก”) ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าถึงความน่าสะพรึงกลัวของปัญหาภาวะโลกร้อนที่บางคนไม่เคยทราบข้อมูลข้างต้นมาก่อน และจะต้องประหลาดใจยิ่งขึ้น หากพบว่าเรื่องเหล่านี้ได้ผ่านหูผ่านตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้วในสื่อต่างๆ ท่ามกลางกระแสข่าวสารสาระบันเทิงอันท่วมท้น บางทีการบอกเล่าด้วยเรื่องราว อาจเหมาะเจาะเหมาะสมกับวัฒนธรรมพูดจาเล่าเรื่องอย่างในสังคมไทย มากกว่าการอ่านเขียนก็เป็นได้

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ บทให้สัมภาษณ์ของ อัล กอร์ เขาเล่าถึงการเสียชีวิตของพี่สาวจากโรคมะเร็งปอด ด้วยความที่เธอเป็นนักสูบบุหรี่มาตลอดชีวิต ในขณะที่ครอบครัวก็มีอาชีพปลูกยาสูบ และไม่ได้คิดจะเลิกปลูก จนกระทั่งเธอตายจากไป กอร์บอกว่านี่คงเป็นลักษณะทั่วไปของมนุษย์กระมังที่ยากจะเลิกนิสัยเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ปลูกยาสูบ หรือแม้แต่การมีวิถีชีวิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างทุกวันนี้

เรื่องนี้ตรงกับที่อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ กล่าวในวงจิตวิวัฒน์เสมอๆ ว่า “มนุษย์นี้น่ะไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา บางทีเข้าไปนอนในโลงแล้วยังไม่รู้สึก ต้องได้ยินเสียงตอกตะปูฝาโลงปังๆ น่ะถึงจะคิดได้”

อย่างไรก็ดี จิตวิวัฒน์หาได้เป็นผู้นำข่าวร้าย (ซึ่งที่จริงก็เป็นแค่ “ความจริง” เพียงแต่เป็นความจริงที่ “ทำใจลำบาก”) แต่ถ่ายเดียว จิตวิวัฒน์ยังพยายามสื่อสารบอกเล่าให้เห็นด้วยว่า นี่คือโอกาสของการเรียนรู้ของตัวเราและของสังคม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็มีผู้หลุดพ้นจากการร่ำเรียนจาก “ความทุกข์” ที่อยู่เบื้องหน้ามานักต่อนัก

กลุ่มจิตวิวัฒน์เชื่อว่ามนุษย์จะใช้ความคิด ความรู้ชุดเดิมๆ มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากชุดความคิดเดียวกันเป็นทำนองลิงแก้แหอย่างปัจจุบันนี้ไม่ได้ ทว่าต้องมี “จิตสำนึกใหม่” อันเป็นจิตใหญ่ ดังที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้อธิบายไว้ในบทความจิตวิวัฒน์ชิ้นแรกในคอลัมน์นี้เมื่อสองปีก่อนว่าจิตสำนึกใหม่เป็น “ความรู้สึกนึกคิดที่มีปริมณฑลกว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด หรือความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ หลุดพ้นจากความบีบคั้นจากความคับแคบ เป็นอิสระ มีความสุข เกิดมิตรภาพอันไพศาล รักเพื่อนมนุษย์ และรักธรรมชาติทั้งหมด”

หลังจากที่กลุ่มจิตวิวัฒน์พบเจอกันเป็นประจำมาทุกเดือนไม่เว้น จวบจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ กลุ่มจึงได้มีการ “เหลียวหลัง แลหน้า” กัน และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า โลกต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าวิกฤตที่แท้นั้นเป็นวิกฤตภายในจิตใจของตน วิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นอาการของโรคที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น

ดังที่ท่านดาไลลามะองค์ปัจจุบันบอกว่า “โลกเป็นโรคขาดพร่องทางจิตวิญญาณ (spiritual deficiency)” ดังนั้นการพยายามไปหาทางออกด้วยวิธีการทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถนำพาโลกไปสู่ทางออกได้ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาการเมืองโดยการจัดการและวิทยาการอันเป็นบ่อเกิดปัญหาจึงเป็นการแก้ไขที่เปลือกนอก สิ่งที่ควรเร่งฟื้นฟูขึ้นคือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจคน

และด้วยเหตุที่วิกฤตเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดจากภายใน โดยคุณเดวิด สปิลเลน ได้สรุปโดยใช้คำของมหาตมะ คานธี ที่ว่า “เปลี่ยนโลก ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน” (Be the change you want to see in the world.)

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่เห็นวิกฤต เห็นปัญหา ควรลงมือแก้ไขอย่างเต็มที่ ทันที โดยเริ่มจากตนเองก่อน อีกทั้งยังต้องไม่ไปยึดติดกับความคาดหวังต่อผลอีกด้วย

การทำโดยไม่หวังผล ฟังดูเผินๆ อาจขัดกับแนวความคิดกระแสหลักที่เราคุ้นเคย โดยเฉพาะ “กรอบความคิด” การวัด-การประเมิน (ที่ “ตีกรอบ” ให้เราคิดแบบวนอยู่ในอ่างที่เดิม) ที่ทุกอย่างต้องตีค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ ต้องใช้เครื่องมือวัดได้ โดยหารู้ไม่ว่า ชุดความคิดนี้เองคือที่มาของปัญหาต่างๆ

แท้ที่จริงแล้ว มนุษยชาติมีชุดความรู้ที่แตกต่างจากชุดความรู้ทางเทคนิคปัจจุบันและสามารถพาพวกเราไปรอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา (ที่สอนให้เราไม่คาดหวังผล อย่างเช่นกรณีผู้ปฏิบัติธรรม หากยิ่งคาดหวังจะบรรลุ กลับยิ่งไม่ประสบผล) หรือวิทยาศาสตร์ใหม่ (ที่บอกว่าการวัดประเมินไปเสียทุกอย่างทุกครั้ง อาจไม่ได้ให้ผลที่เราอยากได้เสมอไป เช่น การทดลองเรื่องแมวของชโรดิงเจอร์) หรืออีกหลายชุดความรู้ เพียงแต่คนยังไม่ตระหนัก ไม่เชื่อ ถึงคุณค่า ความหมาย และการนำไปใช้ของมันเท่านั้น

สำหรับเฉลยคำถามข้างบนนี้ หกปีที่อยู่ในคำถามเป็นหกปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติตั้งแต่เคยบันทึกกันมา (นับตั้งแต่ปี ๒๔๓๓ หรือเมื่อกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบปีมาแล้ว) เป็นอย่างไรบ้างครับ เมื่อเห็นข้อมูลว่าหกปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกมาอยู่ในรอบไม่เกินแปดปีที่ผ่านมานี้ ในยุคสมัยของเรานี่เอง ... เกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างหรือเปล่า?

ครูและเพื่อนร่วมทาง




บ่ายวันศุกร์ของเดือนพฤษภาคมที่น่ารื่นรมย์วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณเดวิด สปิลเลน สมาชิกอีกท่านหนึ่งของกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งพำนักอยู่ในซอยเล็กๆ สงบเงียบแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ ถ้าตั้งต้นเดินจากวัดสวนดอกก็ใช้เวลาเพียงยี่สิบนาทีเท่านั้น ไปคราวนี้ก็มุ่งหมายที่จะไปขอวิชาจากคุณเดวิดโดยเฉพาะ ว่าด้วยเรื่องการสั่งสมต้นทุนทางจิตวิญญาณของคนร่วมสมัย

เมื่อไปถึง คุณเดวิดเพิ่งกลับจากการออกกำลังกาย ด้วยการเดินเท้าจากบ้านเชิงดอยสุเทพเข้าไปในตัวเมือง เลยไปถึงลานประตูท่าแพ เหงื่อท่วมตัว แต่ใบหน้าแจ่มใส

ช่วงเกษียณอายุใหม่ๆ คุณเดวิดเล่าว่า ได้พยายามฝึกสมาธิภาวนาอย่างหนัก นั่งสมาธิวันละสี่ห้าชั่วโมง นั่งเสียจนเพื่อนที่เหมือนครูทักด้วยคำถาม ว่าถ้าลองไม่นั่งสักวันหนึ่งจะเป็นอย่างไร? เลยฉุกใจคิดได้ว่า อุตส่าห์ฝึกภาวนาเพื่อจะลดละความยึดมั่นถือมั่น แต่ไปเสพติดการนั่งสมาธิเสียนี่ กลายเป็นว่าต้องนั่งทุกวัน เพราะเคยชินเสียแล้ว แถมฝึกได้เฉพาะเวลาอยู่แต่ในห้อง ฝึกที่ตลาดกลับทำไม่ได้ จากนั้นมาเลยเลิกนั่ง แต่มุ่งปฏิบัติภาวนาทุกวันทุกเวลา อย่างขณะเดินออกกำลังกาย ก็ทำสมาธิไปด้วย เดินเป็นชั่วโมงไม่เหนื่อยเลย คุณเดวิดยิ้มกว้างก่อนบอกว่า ตัวเบาเหมือนกับเหาะไปอย่างไรอย่างนั้น

เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความหมายของจิตวิวัฒน์ในทัศนะของคุณเดวิด ได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับสามปีที่ผ่านมา คุณเดวิดกล่าวว่า จิตวิวัฒน์ก็คือการเปลี่ยนแปลง เป็นความพยายามในการรวมกลุ่มกันที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ยอมตามไปกับกระแสโลก จิตวิวัฒน์เป็นเรื่องที่สื่อสารได้ยาก เอาแค่ว่า นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ เขาใช้เวลาในการรับข่าวสารจากสื่อวันละกี่ชั่วโมง ถึงจะเป็นเรื่องยาก ก็ไม่ได้แปลว่าต้องยอม ก็ต้องทวนกระแสต่อไป เพราะจุดหมายปลายทางของกระแสโลกนั้นเป็นทางที่ติดตาย

ส่วนแนวทางการดำเนินงานของจิตวิวัฒน์นั้นก็ควรที่จะตั้งอยู่บนทางสายกลาง โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน และพยายามช่วยเหลือผู้อื่น วิธีไหนก็ได้ อย่างไรก็ได้ โดยย้ำว่า “Be the change, you want to see.”

ในขณะที่สังคมโลกกำลังทำลายตัวเอง โครงสร้างสถาบันเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ อยู่ในสภาวะเลวร้าย ตัวอย่างที่นับถือได้ ถามได้ หากไม่พบ ไม่เห็น ไม่รู้จัก คนหนุ่มสาวร่วมสมัยก็คงปล่อยตัวไปตามกระแส ไปชื่นชมดารา นักร้อง เศรษฐี นักธุรกิจ คนมีชื่อเสียง แทนที่จะเป็นต้นแบบแห่งความดีงาม ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นเพราะคนร่วมสมัยไม่ทราบความหมาย และเป้าหมาย ที่แท้จริงแห่งชีวิตนั่นเอง

อย่างไรก็ดี คุณเดวิดก็เชื่อว่า แม้ทุนนิยมจะเป็นกระแสหลักของโลกร่วมสมัย แต่วิกฤตจะเข้ามาทำให้โลกเปลี่ยนเอง ซึ่งขณะนี้ก็มีสัญญาณเตือนมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่โลกร้อนขึ้นทุกปี พายุเฮอริเคนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และอีกยี่สิบปีน้ำมันก็จะหมดไปจากโลก

กัลยาณมิตรท่านหนึ่งของคุณเดวิด คือ โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ เดินสายบรรยายมานับสิบๆ ปี จนกระทั่งสิ้นหวัง เขาเลิกสอน แล้วก็ไปสร้างบ้านเองอยู่ในป่าสองสามปี เคยไปช่วยสอนวิธีทำคลอดให้กับคนยากคนจนในนิวยอร์ก แล้วก็มีกำลังใจกลับมาสอนใหม่ จนอายุกว่าแปดสิบแล้ว เพียร์ซเชื่อว่า เขาต้องรับผิดชอบต่อการสอน แต่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อคนอื่น เพราะครูย่อมช่วยสอนได้ แต่ทำให้ไม่ได้

เช่นเดียวกัน คนหนุ่มสาวร่วมสมัยก็ต้องสั่งสมต้นทุนภายในไว้ เพื่อไปให้พ้นโครงสร้างที่กัดกินตัวเอง และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับวิกฤต “เราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ แม้จะไม่รู้ว่าผลเป็นอย่างไร” คุณเดวิดกล่าว

เด็กอนุบาลทางจิตวิญญาณอย่างข้าพเจ้าก็เลยถามว่า ที่ทำนั้นหมายถึงอย่างไร? เป็นการภาวนารูปแบบไหน? วิถีใด?

คุณลุงเดวิดยิ้มขำ ก่อนตอบเจ้าหนูน้อยว่า เดี๋ยวนี้เขาไม่มีวิธีภาวนาแล้ว เพราะวิถีไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขณะเดินก็ฝึกจิตได้ แต่คนยุคใหม่ไม่ค่อยอยากจะฝึกกัน เพราะไม่อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากเจอตัวเอง อย่างพวกนักธุรกิจที่ไปประชุมอยู่ในป่า ไม่มีโทรศัพท์ใช้ ปรากฎว่าเครียด อึดอัด ไม่สบายใจ เพราะอยู่กับตัวเองไม่ได้

การฝึกนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ต้องทำอย่างจริงจัง เราจำเป็นต้องภาวนา พยายามหาเวลาในหนึ่งวันให้กับการภาวนา แต่ไม่ใช่การปลีกวิเวก เพราะวัฒนธรรมเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน เราต้องหาวิธีภาวนาให้ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ต้องทำไปโดยไม่คิดถึงผล เหมือนที่อาจารย์มิตสุโอะ ที่กาญจนบุรีกล่าวไว้ว่า “ขณะที่รู้ ไม่มีผู้รู้ ไม่มีตัวกู ของกู”

ลุงเดวิดเป็นชาวคริสต์ และฝึกภาวนามากว่า ๒๕ ปี บนวิถีคริสต์ หลังจากนั้นก็หล่อหลอมกับการฝึกวิถีพุทธอยู่ราว ๑๐ ปี การเรียนรู้ของลุงเริ่มจากการอ่านหนังสือ พบปะกับคุรุทางจิตวิญญาณ และการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง

การอ่านก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการด้วย ต้องไม่เชื่อง่าย การค้นหาคุรุก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณา บางคนก็ไม่ใช่ตัวจริง แม้จะมีอิทธิฤทธิ์ พลังจิต แต่ถ้าบ้าเงิน บ้าผู้หญิง และใช้ฤทธิ์ในทางที่ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นก็ไม่ใช่ของจริง การฝึกก็ต้องทำจริงจัง ไม่ใช่งานอดิเรก ถ้าฝึกแล้วก็จะเห็นอนิจจัง เห็นสัจธรรม

ครูคนแรกได้พบเมื่อสิบเอ็ดปีก่อน ไปเจอกันในงานสัมมนาซึ่งจัด ๓ วัน ๓ คืน พอเจอกันครั้งแรกก็นั่งคุยกันสองชั่วโมง พอเสร็จสิ้นงานสัมมนาก็ขับรถข้ามเมืองไปหาที่บ้าน และพบกันอย่างสม่ำเสมอ นั่งคุยกันครั้งละสิบชั่วโมง การพูดคุยแต่ละครั้ง มีคุณค่าเท่ากับการเข้าโรงเรียนหนึ่งภาคเรียนเลยทีเดียว

ครูคนที่สองชื่อเบอร์นาเดส โรเบิร์ตส์ เคยเป็นแม่ชีคาทอลิก อยู่ในวัดคริสต์ที่แคลิฟอร์เนียอยู่สิบกว่าปี ก่อนจะสึกออกมาแต่งงานและมีลูก คุณเดวิดนับถือมาก ถึงกับยกย่องว่าเธอตรัสรู้แล้วด้วยซ้ำ

คนถัดมาคือคุณวิทยา เป็นเพื่อนของเพื่อนภรรยา ก่อนจะกลายมาเป็นกัลยาณมิตรทางจิตวิญญาณ คุณวิทยาสนใจและทุ่มเทกับการฝึกสมาธิวิปัสสนาอย่างหนัก ซึ่งตรงกับจริตของคุณเดวิดมาก พบปะคบหากันมานับสิบปีแล้ว คุณวิทยาเคยเล่าว่าช่วงที่เดินทางไปอิสาน ๒ ครั้ง ๑๐ วัด ได้พบกับพระอรหันต์ถึงเจ็ดแปดท่าน นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากทีเดียว

คุรุคนสำคัญอีกท่านหนึ่งคือสัตเปรม เป็นชาวฝรั่งเศส ที่รอดชีวิตมาจากค่ายกักกันชาวยิวของนาซี ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ เขาอายุน้อยมากในขณะนั้น เมื่อออกมาได้ก็มีสุขภาพที่ไม่ใคร่ดีนัก จึงมุ่งค้นหาความหมายของชีวิตก่อนตาย เขาเดินทางไปอียิปต์เลยไปถึงอินเดีย ได้พบกับศรีอรพินโทในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ไม่ยอมอยู่ในอาศรม จนกระทั่งพบข่าวศรีอรพินโทเสียชีวิต จึงได้เดินทางไปอเมริกาใต้ ก่อนกลับไปอินเดียเพื่อช่วยคุณแม่ - เดอะ มาเธอร์ – ทำงานในอาศรม แม้จะไม่ชอบอยู่ในนั้นก็ตาม เขาพบกับคุณแม่สัปดาห์ละครั้ง และบันทึกเทปไว้ทุกครั้ง เมื่อคุณแม่เสียชีวิต เขาก็หอบเทปหนีชาวอาศรมไปพร้อมกับภรรยาชาวอินเดีย แล้วก็เรียบเรียงคำสอนของคุณแม่ออกมาพิมพ์ได้ชุดใหญ่ ๑๓ เล่ม สัตเปรมอาศัยอยู่ในเนปาล และไม่ติดต่อใครเลย ยกเว้นสำนักพิมพ์

คุณเดวิดได้อ่านหนังสือของสัตเปรมแล้วก็อยากติดต่อเป็นกำลัง จึงเขียนจดหมายไปหาผ่านสำนักพิมพ์ สัตเปรมก็ตอบกลับมาถึงสามครั้ง ทั้งยังแนะนำคุณเดวิดให้ไปที่อาศรม เมื่อคุณเดวิดเดินทางไปอินเดีย ก็ได้ไปพบกับพี่ชายพี่สาวของภรรยาสัตเปรม

นอกจากนี้ คุณเดวิดยังพยายามหาโอกาสไปพบหรือปฏิบัติภาวนากับคุรุท่านอื่นๆ อีกมาก เป็นต้นว่า ติช นัท ฮันห์ ทะไล ลามะ พระทิเบตในเนปาล และนักเขียนอีกหลายคนที่อเมริกา

คุณเดวิดถือว่าการได้พบกับคุรุทางจิตวิญญาณหลายท่านนับเป็นความโชคดีของชีวิต แต่ก็ต้องฝึกปฏิบัติเองให้ได้ คุรุเป็นเพียงผู้นำทาง และแนะนำให้ช่วยพิชิตอุปสรรคทางจิตวิญญาณได้ เพียงแต่เราต้องเป็นผู้ทำเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะหยุดตามหาคุรุแล้ว ในขณะที่กำลังฝึกปฏิบัติ การมีกัลยาณมิตร – เพื่อนที่กำลังเดินทางด้วยกัน - เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนที่ทำแบบนี้เป็นคนที่กำลังทวนกระแส การมีคนเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น

มีบางเวลาที่คุณเดวิดก็ท้อใจบ้าง “ผมบ้าหรือเปล่า?” – เป็นคำถามที่ครั้งหนึ่งเคยถามตัวเอง เพื่อนเก่าชาวอเมริกันหลายคนคิดว่าคุณเดวิดไม่เต็มบาท และมองว่าความรู้ทางศาสนาเป็นไสยศาสตร์ ตัวคุณเดวิดเองก็เกษียณก่อนกำหนด เพราะเบื่อชีวิตข้าราชการ และอยากมีเวลาปฏิบัติธรรมมากขึ้น ช่วงนั้นก็ไม่ค่อยสบาย ป่วยมาก รู้สึกเหมือนใกล้ตาย บวกด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ แม้ว่าพี่อำไพ – ภรรยา – และลูกชายจะไม่เห็นด้วยนัก แถมยังมองว่าแปลก แต่คุณเดวิดก็ได้ตัดสินใจแล้ว

กัลยาณมิตรของคุณเดวิด นอกเหนือจากกลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่พบปะกันเดือนละครั้งแล้ว ยังมีที่ติดต่อผ่านอินเทอร์เนตอีกห้าหกคน และปฏิบัติภาวนาร่วมกันเจ็ดคน หนึ่งในนั้นเป็นบาทหลวง

ปัจจุบัน ชาวตะวันตกเริ่มหันมาสนใจทางจิตวิญญาณกันมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะเข้าถึงที่สุดทางวัตถุนิยมแล้วก็เป็นได้ ขณะที่อยู่ต่างประเทศก็พบกันเดือนละครั้ง เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็ยิ่งมีเพื่อนปฏิบัติธรรมมากขึ้น
“หากเราทวนกระแส เราต้องการเพื่อนสนิทที่เข้าใจ และครูดีๆ แต่เราต้องอดทน” ครูเดวิดสอนลูกศิษย์ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน แล้วเล่าต่อพร้อมรอยยิ้มว่า ตอนนี้พี่อำไพเข้าใจแล้ว และอยากเกษียณอายุก่อนกำหนดเหมือนกัน

อาสาสมัครผู้ปฏิบัติกิจแห่งพระโพธิสัตว์













อ. ประภาภัทร นิยม เคยกล่าวถึงความประทับใจในฉือจี้ไว้นานแล้ว สมาชิกจิตวิวัฒน์หลายท่านก็เพิ่งเดินทางกลับจากการไปเยี่ยมชมมูลนิธิฉือจี้ที่ไต้หวัน เลยเป็นโอกาสอันดี ที่อ.ประภาภัทร และกลุ่มจิตวิวัฒน์ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องประสบการณ์จากฉือจี้ – องค์กรสาธารณประโยชน์ที่มีอาสาสมัครต้องลงชื่อต่อคิว รอรับเข้าทำงานจำนวนนับแสนคน

ฉือจี้ก่อตั้งมากว่า ๔๐ ปี เป็นองค์กรพุทธที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทำงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ประกอบด้วยงานหลัก ๔ ส่วน ได้แก่ การช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก การศึกษา การสื่อสารความดี และโรงเรียนแพทย์

ในปีค.ศ. ๑๙๙๑ ปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งฉือจี้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ซึ่งถือว่าเป็นโนเบลของเอเชีย องค์กรฉือจี้ได้รับการยอมรับและเชื่อถืออย่างสูงในประเทศ มีโครงสร้างอาสาสมัครที่น่าสนใจ การทำงานอาสาสมัครของฉือจี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อแบบมหายาน ว่าเป็นภารกิจแห่งพระโพธิสัตว์ การศึกษาก็เน้นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐาน ควบคู่ไปกับสุนทรียภาพแห่งการดำเนินชีวิต มีสถานีโทรทัศน์ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องของการทำความดีโดยเฉพาะ โรงเรียนแพทย์ฉือจี้ก็เปิดมิติใหม่ของการแพทย์ที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์

ผู้ก่อตั้งฉือจี้เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ปรมาจารย์เจิ้งเหยียนมีศรัทธาปศาทะในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ท่านสละความเป็นผู้ครองเรือนสู่เพศบรรพชิต เป็นพระภิกษุณีตั้งแต่อายุได้ยี่สิบปีเท่านั้น และดำเนินชีวิตอย่างสงบเรียบง่าย แสวงหาครูบาอาจารย์ ปลีกตัวไปบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่นาน ก่อนที่จะก่อตั้งมูลนิธิ

เรื่องราวของมูลนิธิก็เริ่มอย่างเรียบง่าย เมื่อวันหนึ่งท่านเดินทางไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่เจ็บป่วย เมื่อเห็นความทุกข์ยาก ท่านก็รวบรวมลูกศิษย์ลูกหา ให้ช่วยกันบริจาคเงินไปช่วยผู้ที่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน จากนั้นก็ขยายกลุ่มมากขึ้น

หลักการสำคัญของการดำเนินการเรื่องบริจาคก็คือ การสร้างความมีส่วนร่วม และทำให้เป็นเรื่องง่าย ท่านถือว่าไม่จำเป็นต้องบริจาคมากมาย วันละห้าสิบสตางค์ไต้หวันก็พอ ในหมู่บ้านจะมีกระบอกไม้ไผ่แขวนไว้ ให้คนมาหยอดวันละนิดละหน่อย ทำให้เห็นว่าคนเล็กคนน้อยก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้โดยไม่ยากลำบากนัก เป็นเรื่องที่ทำได้ทุกวัน และเป็นอุปายโกศลในการปลูกฝังความกรุณา

เรื่องความมีส่วนร่วมนี้มีความสำคัญยิ่งกว่ายอดเงินบริจาคเสียอีก ดังที่เคยมีเศรษฐีจะบริจาคเงินสร้างโรงเรียนแพทย์ให้ในคราวเดียว ท่านเจิ้งเหยียนกลับปฏิเสธ เพราะมุ่งให้คนร่วมบริจาคจำนวนมาก แม้จะเป็นคนละเล็กละน้อยก็ตาม ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่เยี่ยมยอด เพราะทำให้ผู้คนจำนวนมากหลายรู้สึกว่าเป็นเจ้าของโรงเรียนแพทย์ร่วมกัน และเป็นกำลังใจสนับสนุนในการทำความดีต่อเนื่องในระยะยาว

ต่อมาท่านมองว่า การปลูกฝังให้คนมีความเมตตากรุณา ไปช่วยเหลือผู้อื่น จำต้องทำตั้งแต่เล็ก จึงคิดถึงเรื่องการศึกษา ท่านก็ริเริ่มให้ทำโรงเรียนฝึกหัดครูก่อน และมีความพิถีพิถันทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกคน การสร้างสถานที่ อาคาร สิ่งแวดล้อมด้วยความงามอันประณีต เครื่องแบบสีสะอาดสะอ้านสบายตา การศึกษาแบบฉือจี้ก็เน้นสุนทรียภาพ เพราะเชื่อว่าการรู้จักความดีและความงามจะทำให้สามารถแยกแยะความดีความชั่วได้ ถือเป็นพื้นฐานของการสร้างคุณธรรมจริยธรรม บุคลากรฉือจี้จะมีอากัปกิริยาที่ละเมียดละไมมาก

กระบวนการสื่อสารก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแบบฉือจี้ ชุดภาษาที่ใช้มีลักษณะเฉพาะตัว งดงามและเรียบง่าย กล่อมเกลาโน้มนำให้ไปสู่การภาวนาอยู่ตลอดเวลา ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศจำต้องช่วงชิงพื้นที่สื่อในการสื่อสารเรื่องของความดี ฉือจี้จึงทำสถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายขึ้นมาเป็นของตัวเอง มีนิตยสารฉือจี้ พิมพ์หนังสือ ทำเว็บไซต์ เราสามารถดูท่านปรมาจารย์เทศน์แบบออนไลน์ได้ และมีการประชุมทางไกลร้อยโยงการทำงานของเครือข่ายต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารผ่านอวัจนภาษา ซึ่งสำคัญมาก เพราะผลแห่งการปฏิบัติภาวนาจะปรากฎอยู่ในเนื้อในตัวของผู้ปฏิบัติอย่างเด่นชัด กิริยาเดินเหินจะนุ่มนวล มีความนอบน้อมถ่อมตน และมีจิตอาสาพร้อมช่วยเหลือผู้อื่น สถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายเอง ก็จะทำการถ่ายทอดสดการทำความดีของอาสาสมัคร อยู่เกือบตลอดเวลาทีเดียว

ในเรื่องของการแพทย์นั้น มีทัศนะที่ตรงข้ามกับการแพทย์แบบตะวันตกอยู่หลายประเด็นพอควร ไม่ว่าจะเป็นการให้นักศึกษาแพทย์ไปเรียนรู้ทำความรู้จักกับผู้ที่บริจาคร่างกายก่อนตาย หรือทัศนะเรื่องการอุทิศตนแบบพระโพธิสัตว์ ทำให้มีการยกย่องแพทย์ว่าเป็น “ต้าอี้หวัง” พระไภสัชยคุรุ ราชาแห่งแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ และมองว่าผู้ป่วยทุกคนก็มีเมล็ดพันธุ์แห่งพระโพธิสัตว์เช่นเดียวกัน ทำให้ปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพเท่าเทียมกัน

การตีความทางศาสนาก็แนบสนิทกับการทำงานอย่างหลากหลาย เป็นต้นว่า อาสาสมัครที่มารวมตัวกันก็เปรียบได้กับพระโพธิสัตว์พันกร พระโพธิสัตว์อย่างกวนอิม ที่แปลว่า เห็นเสียง ก็คือต้องมีจักษุปัญญาเห็นความทุกข์ยากของผู้คน
บุคลาธิษฐานเรื่องพระโพธิสัตว์นั้นถือว่าเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ และแฝงกำกับอยู่ในทุกกิจกรรมของฉือจี้ เมื่ออาสาสมัครปฏิบัติกิจแห่งพระโพธิสัตว์ เขาหรือเธอจะต้องเล่าให้คนอื่นฟัง การลงมือปฏิบัติทำให้ทุกคนผ่านประสบการณ์จริง เกิดเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน มีแง่มุมให้เล่าหลากหลาย มีความชื่นชมเป็นผลสะท้อนกลับ การเล่าเรื่องนี้เป็นการปลูกฝังคุณธรรมในตัว เมื่อทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย่อมเกิดเป็นพลังสำคัญกว้างขวาง

หลังจากอ.ประภาภัทร และหมอโกมาตร ผลัดกันเล่าอย่างออกรส ก็ช่วยกันวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของฉือจี้ ในบริบทของวัฒนธรรมและการเมือง

หมอโกมาตรอรรถาธิบายว่า ศาสนาพุทธในไต้หวันถูกกดไว้มาก ไม่ว่าจะด้วยกฎหมาย และค่านิยมที่ชาวจีนไม่อยากให้ลูกชายออกบวช การขับเคลื่อนพุทธศาสนาจึงตกอยู่ในมือของพระภิกษุณี ปรากฏการณ์ฉือจี้มองอีกทางหนึ่ง ก็อาจเป็นการต่อรองทางการเมือง ของไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ธงของไต้หวันไม่อาจไปโบกสะบัดในดินแดนอื่นได้อย่างสะดวกใจด้วยนโยบายจีนเดียว แต่หากเป็นอัตลักษณ์ของฉือจี้ ไต้หวันก็พอจะมีที่ทางในเวทีนานาชาติได้ แม้จะในรูปแบบขององค์กรการกุศลก็ตาม อย่างไรก็ดี ท่าทีของฉือจี้ต่อการเมืองนั้นกลับเป็นท่าทีที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และอาจเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้องค์กรหยั่งรากลึกในสังคมได้ยาวนานถึงสี่สิบกว่าปี

ในส่วนของการวางตัวต่อปัญหาสังคมนั้น อ.ประภาภัทรเสริมว่า สื่อของฉือจี้ก็นำเสนอสถานการณ์โลกด้วย แต่ปราศจากท่าทีในการวิพากษ์ผู้อื่น หากเน้นการตั้งคำถามต่อตนเอง ว่าควรทำอะไรบ้าง

ช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยน หมอโกมาตรตั้งข้อสังเกตไว้ ๒ ประเด็น

หนึ่ง เรื่องอหังการ ในการทำงานยังเน้นย้ำอัตลักษณ์ของฉือจี้อยู่มาก

สอง เรื่องการจัดการปัญหาและวิธีการทำงานซึ่งใช้ศรัทธาเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ
จุดเด่นของฉือจี้เห็นจะเป็นเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในการทำงานของฉือจี้ได้รับการยอมรับอย่างสูง จึงได้รับการสนับสนุนค่อนข้างมาก

จุดด้อยเห็นจะเป็นเรื่องการไม่แตะต้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคม


ฉือจี้เป็นกัลยาณมิตรหนึ่งของจิตวิวัฒน์ ที่ได้ทุ่มเทสร้างทำด้วยความศรัทธาในรูปแบบของตัวเอง เราอาจเรียนรู้จากฉือจี้ได้ในบางอย่าง แต่มิติทางจิตวิญญาณก็ต้องมีพื้นที่ปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันสืบค้นขยายพื้นที่ความรู้ออกไปให้กว้างขวางอีก

สิ่งที่ข้าพเจ้าเรียนรู้จากเยอรมนี

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2549

ทีแรกยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนหัวข้ออะไร เพราะเรื่องที่อยู่ในหัวดูจะมากมายวกวน ตามประสาคนไม่ค่อยได้เขียนอะไรนาน การเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นตัวอักษรให้ได้ใจความไม่ใช่ของง่าย ทบทวนไปมา ก็คิดว่าน่าจะตรวจสอบความคิดตัวเองดูสักทีว่าการได้มาใช้ชีวิตนักศึกษาอยู่ในเยอรมนีนั้นได้เรียนรู้อะไรกับเขาบ้าง เรื่องที่ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองเรียนรู้นั้นอาจจะไม่เหมือนกับของผู้อื่น และก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าคนอื่นจะต้องมาเรียนรู้เรื่องเดียวกันกับข้าพเจ้า เพราะมนุษย์เรานั้นมีความสนใจที่แตกต่างหลากหลาย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถมองเยอรมันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง หรือเข้าใจอะไรอะไรที่เป็นเยอรมันได้อย่างชัดแจ้ง เพราะมุมที่ข้าพเจ้ายืน ก็เป็นข้อจำกัดในการมองอยู่แล้วโดยปริยาย แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่ามุมมองที่แตกต่างจัก
ช่วยให้เกิดการมองเห็นอย่างรอบด้านมากขึ้น

เมื่อลองจดหัวข้อเรื่องหลักออกมา ข้าพเจ้าเลือกมาเพียงสี่หัวข้อ ซึ่งน่าจะนำไปสู่การถกประเด็นแลกเปลี่ยนได้กว้างขวางขึ้นในภายหลัง และจะอรรถาธิบายในแต่ละหัวข้อตามลำดับ ดังนี้

๑. เมตตาคุณอันปราศจากขอบเขต

ถึงแม้ข้าพเจ้ามิได้เป็นนักศึกษากฎหมาย แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อแรกของเยอรมันนั้นจับใจข้าพเจ้ายิ่งนัก “Die Menschenwürde ist unantastbar. ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” หลักกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้ได้ให้ความคุ้มครองแก่มนุษย์ทุกผู้โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือเงื่อนไขอื่น

แน่ล่ะ! อาจจะมีผู้ค่อนขอดว่า ไม่เห็นแปลกเลย เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของเยอรมัน โดยเฉพาะความพยายามฆ่าล้างชาติพันธุ์ชาวยิว ได้ทำให้มีหลักกฎหมายข้อนี้ออกมา แต่นี่ยิ่งทำให้ชาวเยอรมันในสายตาของข้าพเจ้าเป็นบุคคลที่สมควรก้มศีรษะคารวะในข้อที่เป็นผู้ยอมรับประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดของตน และเรียนรู้ที่จะไม่กระทำผิดอีก

ประธานาธิบดีของเยอรมันอย่าง Johannes Rau ซึ่งถือว่าเป็นประมุขของประเทศ ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำทางสติปัญญาของสังคม เขาผู้นี้ได้แสดงให้เห็นว่าเราจำต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความรักชาติและคลั่งชาติ และแม้เขาจะเป็นคริสตศาสนิกชนของประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสตศาสนา เขายังแสดงความกล้าหาญออกมาปกป้องสิทธิของผู้ถือศาสนาอื่น หรือพรรคการเมืองเขียวของเยอรมัน ก็ยืนยันที่จะไม่นำกากนิวเคลียร์ไปทิ้งในประเทศอื่น นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่าในหมู่ชนชั้นนำของเยอรมันแม้เป็นนักการเมืองก็ยังเลือกที่จะยืนอยู่ข้างศีลและสัจจะมากกว่าคะแนนความนิยม

หลักบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้อนี้ บ้านเราได้รับไปเมื่อคราวปรับปรุงรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และเป็นวิวาทะร้อนในประวัติศาสตร์การเมืองว่า “ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์” นี้ มีความหมายว่าอย่างไร ราวกับว่าแม้เมื่อเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ชนชั้นนำบางกลุ่มยังไม่เคยเรียนรู้ที่จะนับถือมนุษย์อื่นว่าเขามีความเป็นมนุษย์เหมือนตน ฉะนั้นเขาจึงมิอาจเข้าใจศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้นอกเหนือจากเกียรติยศของตน

อย่างไรก็ตาม หลักศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์นี้ ในความเป็นจริงตรงกับหลักเมตตาภาวนาในสังคมไทยมาแต่เดิม ดังที่บทแผ่เมตตาแสดงไว้ว่า “สัตว์ทั้งหลาย อันเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น” เพราะการฝึกมองสิ่งมีชีวิตทั้งหลายว่าไม่ได้แตกต่างไปจากเรา มีความต้องการไม่ต่างไปจากเรา ไม่ต้องการจะเป็นทุกข์ และอยากจะเป็นสุขด้วยกันทั้งสิ้น จักทำให้ลดการแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างไม่เท่าเทียมกันก็จะลดน้อยลงไป นี้เป็นหลักการสร้างเมตตาตามหลักพุทธศาสนาเดิม ดังที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาส ปราชญ์ทางจิตวิญญาณของเรา ได้พยายามย้ำเตือนอยู่บ่อยครั้ง

๒. ความสมถะ

สมถะเป็นคู่ตรงข้ามกับฟุ้งเฟ้อและฟุ่มเฟือย แต่สมถะมิใช่ขี้เหนียว ชาวเยอรมันเป็นชนชาตินิสัยมัธยัสถ์ ผู้บริโภคชาวเยอรมันได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติรู้ในการใช้จ่ายเงิน และให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ายิ่งกว่ายี่ห้อ โดยที่บ่อยครั้งจากการตรวจสอบคุณภาพสินค้าพบว่ายี่ห้อเลื่องชื่อต่าง ๆ มิได้เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพสินค้าเลย ทั้งนี้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมันซึ่งมิใช่องค์กรของรัฐนั้นเข้มแข็งยิ่ง มีการทำเอกสารให้ความรู้และเปรียบเทียบสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ แจ้งให้ผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ผู้ซื้อจึงมีทางเลือกในการซื้อสินค้า เพราะมีข้อมูลเปรียบเทียบช่วยในการตัดสินใจเพียงพอ

รสนิยมในการแต่งกายของชาวเยอรมันนั้นถือว่าต่ำกว่าชนชาติเพื่อนบ้านด้วยกันเลยทีเดียว เพราะเป็นพวกไม่พิถีพิถันในการแต่งกาย และไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ดังจะเห็นว่าร้านอาหารและภัตตาคารมีปริมาณน้อย

ความสมถะของชาวเยอรมันนั้นอาจจะเป็นผลจากที่เขาเป็นผู้รู้ถึงคุณค่าเงินก็เป็นได้ นักศึกษาของชาวเยอรมันส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่รับทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ เพราะวัฒนธรรมทางนี้ถือว่าหากอายุครบสิบแปดปีก็ควรที่จะหัดหาสตางค์เลี้ยงตัวได้แล้ว แม้คนรุ่นเก่าที่ผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่สองก็ยังมีประสบการณ์การหาเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบาก ความสุขสบายโดยปราศจากการทำงานหนักจึงเป็นของน่าติเตียนยิ่ง

และถึงแม้จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ระดับแนวหน้าของโลก ใช่ว่าชาวเยอรมันทุกผู้จะขับรถราคาแพง เพราะทุกเมืองจะพยายามสร้างมาตรการบีบผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวให้หันมาใช้บริการขนส่งมวลชนเป็นหลัก

ถึงข้าพเจ้าจะสรรเสริญคุณสมบัติข้อนี้ของชาวเยอรมันมาก แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าชาวเยอรมันจะต้านกระแสทุนนิยมไปได้นานเพียงไหน เพราะดูเหมือนว่าเยอรมันทุกวันนี้จะพ่ายแพ้แก่วัฒนธรรมอเมริกันไปเสียแล้ว ดังจะเห็นได้จากร้อยละเก้าสิบของปริมาณภาพยนตร์ที่ฉายตามโรงภาพยนตร์นำเข้ามาจากฮอลลีวู้ดเป็นส่วนมาก แม้ภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ผู้จัดรายการก็ซื้อมาจากอเมริกาเสียมาก แม้รายการเกี่ยวกับการจับจ่ายซื้อข้าวของของดาราภาพยนตร์หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงก็ดูจะเป็นที่นิยมยิ่งนัก เด็กวัยรุ่นเยอรมันยุคใหม่ก็มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ใช้ติดตัวกันเกือบทุกคน ร้านอาหารจานด่วนอย่างแมคโดนัลด์หรือเบอร์เกอร์คิงก็กลายเป็นที่นัดพบของวัยรุ่น โดยที่กระแสบริโภคเขียวนั้นแผ่วลงไปอย่างที่ผู้บริโภคมองไม่เห็นโทษภัยของร้านเหล่านี้ ว่าก่อให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่าและเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไร ก่อให้เกิดการเบียดเบียนชีวิตและทรัพยากรในประเทศยากจนอย่างไรเสียแล้ว

๓. ระเบียบวินัยที่ยืดหยุ่น

หากเดินอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งของเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือเล็ก สิ่งที่เหมือนกันเห็นจะเป็นความสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย มารยาทในการขับขี่ยวดยานของชาวเยอรมันนั้นถือได้ว่าอยู่ในระดับเรียกว่าผู้ดีได้ น่าสนใจที่ว่าความเคารพในระเบียบวินัยของชาวเยอรมันกลับกลายเป็นเรื่องความเถรตรงอันน่าขบขันสำหรับชนชาติอื่น ไม่ว่าการจะหยุดยืนรอไฟเขียวสำหรับคนเดินถนนถึงแม้จะไม่มีรถยนต์วิ่งผ่านในขณะนั้นเลย และถึงกับมีป้ายร้องขอทำนองว่าหากมีเด็กอยู่ด้วยก็จงสำแดงตนเป็นผู้ใหญ่ที่ดี จึงพอจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า การปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยนั้นมิได้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายเป็นสำคัญ แต่อยู่ที่การสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบ ทำให้มิต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจับผิดหรือตรวจสอบการทำตามกฎหมาย ดังเช่น การประกาศแจ้งทางสื่อวิทยุว่าตำรวจจะตั้งด่านตรวจจับความเร็วหรือตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่บนถนนเส้นไหนบริเวณใด เพื่อที่จะทำให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังตน มิใช่เป็นการเลี่ยงการทำผิด ทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เบาแรงในการเล่นบทโปลิศจับขโมยโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

กฎหมายที่บังคับใช้ในเยอรมันมีจุกจิกมากมายยิ่งนัก การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นไปอย่างจริงจัง แต่มิได้อยู่ในข่ายเข้มงวดอย่างที่เรียกว่าถือเอาตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ หากมีการทำผิดระเบียบ หากเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงนัก เจ้าหน้าที่นิยมใช้วิธีว่ากล่าวตักเตือนมากกว่าจะลงโทษปรับไปแต่ทีแรก และในการติดต่อกับหน่วยงาน แม้เอกสารของผู้ติดต่อจะไม่ครบตามเงื่อนไข หากก็ผ่อนปรนให้นำมาแสดงภายหลังได้ หรือใช้วิธีการตรวจสอบกับอีกหน่วยงานหนึ่งผ่านโทรศัพท์เลยโดยตรง มิพักต้องรอให้ไปเดินเรื่องมาใหม่อีกรอบ นี่อาจจะเรียกว่าเขาให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณของตนในการทำงานมากกว่าว่ากันไปตามเอกสาร และหากผ่อนปรนกันไม่ได้อีกแล้วนั่นแหละเขาจึงจะยกเรื่องระเบียบหรือเอกสารมากล่าวอ้าง

๔. อหังการ

บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าดูข่าวโทรทัศน์รายงานผลการแข่งขันกีฬาที่มีชาวเยอรมันเข้าร่วม และมักจะประหลาดใจว่าหากนักกีฬาเยอรมันได้รับรางวัลแม้ไม่ใช่รางวัลชนะเลิศ ชื่อของผู้ชนะเลิศซึ่งเป็นนักกีฬาชาติอื่นมักจะถูกอ่านผ่านเร็ว ๆ เสียจนฟังแทบไม่ทัน และพออยู่ไปเริ่มจะทึ่งแทนคนเยอรมันเสียแล้วว่า เล่นกีฬาแข่งขันอะไรก็ชนะไปเสียทุกรางวัล เพราะไม่เคยได้ยินว่านักกีฬาชาติอื่นเขาชนะอะไรบ้าง (ฮ่า)

ครั้นดูข่าวสารคดีท่องเที่ยวในประเทศอื่น นอกเหนือจากข้อมูลประเภทคำเตือนที่ว่า ดินแดนเหล่านั้นล้วนเต็มไปด้วยคนหิวเงินและนักฉวยโอกาส สาธารณสุขและคุณภาพชีวิตผู้คนก็ต่ำต้อย หากไม่เท่าทันอคติของผู้ถ่ายทำสารคดีแล้ว อาจจะเชื่อได้ง่าย ๆ ว่ายุคพระศรีอาริย์คงมีอยู่เฉพาะดินแดนเยอรมันแห่งนี้เท่านั้น

อำนาจของสื่อที่มีอยู่มากมายในยุคเทคโนโลยีข่าวสารปัจจุบันได้หล่อหลอมให้คนเยอรมันรู้จักโลกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ปลูกฝังวิธีคิดให้เป็นไปในแนวเพ่งวิเคราะห์ผู้อื่นมากกว่าการตรวจสอบตัวเอง ดังเช่น เคยมีคนเยอรมันเดินเข้ามาถามข้าพเจ้าสองสามหนว่าผู้หญิงไทยมาทำอะไรอยู่ในเยอรมันตั้งมากมาย เมื่อเขาตั้งใจถามอย่างที่ตั้งใจจะให้ข้าพเจ้าได้อาย ข้าพเจ้าก็จงใจตอบอย่างที่ให้เขาได้อายเช่นกันว่า ตัวข้าพเจ้าเองนั้นเขาเชิญให้เป็นแขกมาเรียนหนังสือ ส่วนผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวเยอรมันนั้นเท่าที่ทราบทั้งหญิงและชายเยอรมันก็ทนกันและกันไม่ได้ ส่วนชายเยอรมันเห็นคุณค่าของผู้หญิงเอเชียจึงได้ไปขอแต่งงาน และหากจะถามว่าทำไมผู้หญิงเอเชียบางคนจึงได้ประกอบอาชีพขายบริการ ข้าพเจ้าก็สงสัยเช่นกันว่าทำไมชาวเยอรมันจึงเป็นประเทศที่ใช้จ่ายเงินกับการซื้อบริการทางเพศมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แล้วข้าพเจ้าก็เลยถามเขากลับเพิ่มเติมว่านอกจากเมืองพัทยาที่คนไทยเขาไม่นิยมไปเที่ยวแล้วเขาทราบหรือเปล่าว่าประเทศไทยมีเจ็ดสิบกว่าจังหวัด มีขนาดของประเทศใหญ่โตกว่าเยอรมันถึงสองเท่า เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก แล้วก็แถมท้ายด้วยคำถามว่าเขาเคยไปแบร์ลีนไหม ไปฮัมบวร์ก หรือมึนเช่นมาหรือยัง เพราะอ้ายเจ้าพวกที่ตั้งคำถามโง่เขลาเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกไม่เคยไปไหน ไม่เคยรู้จักโลกนอกเหนือจากเมืองที่ตัวเองอยู่ ดังจะทดลองถามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ว่า เขาไปไหนมาไหนน้อยมาก หลายคนแทบไม่เคยเดินทางออกจากเมืองที่ตนอาศัยอยู่เลย วิสัยการท่องเที่ยวในช่วงพักร้อนของชาวเยอรมันนั้นเกิดขึ้นในหมู่คนที่ทำงานรับเงินเดือนแล้วเป็นส่วนมาก

และแม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมสูง แต่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันมิเคยสำเหนียกของผลกระทบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเลย มิเคยตั้งคำถามการที่ได้ทำให้มายอร์คา หรือพัทยา กลายสภาพไปอย่างไร วิถีชีวิตคนท้องถิ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ชาวเยอรมันมิเคยตั้งคำถามกับตนเอง

แม้การมองว่าพัฒน์พงษ์เป็นถนนคนบาป แต่เยอรมันกลับภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับเรพเปอร์บาห์นในฮัมบวร์ก แถมขนานนามว่าเป็นประตูสู่โลก ยังร้านขายอุปกรณ์ทางเพศที่เปิดกันเกลื่อนกลางเมืองอีกเล่า บ้างก็อยู่ติดร้านอาหาร ร้านกาแฟ คนเยอรมันก็มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเลยทีเดียว

ใช่ว่าจะมีคนเยอรมันโอหังเช่นนี้อยู่ทั่วไป จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า คนที่มีการศึกษา รู้ความเป็นไปของโลกนั้น สามารถจับผิดและวิเคราะห์สังคมของตนได้อย่างแหลมคม อหังการที่คนเยอรมันมีก็คงเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างจากอหังการในสังคมไทยสักเท่าไหร่ ดังที่มีคนถามชายเยอรมันซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกษียณที่ไปแต่งงานอยู่กินกับหญิงไทยว่าในวัยขนาดนี้ทำไมถึงได้มาแต่งงานกับคนรุ่นลูก เขากล่าวตอบว่า ภรรยาชนชาติเดียวกับเขาเสียชีวิตไปนานแล้ว เขาก็เป็นคน รู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยว ต้องการครอบครัว ผู้หญิงในเยอรมันคงไม่มีใครแต่งงานกับเขาอีก ในเมื่อเขายินดีแต่งงานกับผู้หญิงไทย จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เลี้ยงดูภรรยาและลูกติดสมตามฐานะ เหตุใดจึงพยายามยัดเยียดข้อหาเฒ่าหัวงูให้กับเขา ฤาสังคมไทยจะยอมรับได้แต่การเป็นภริยาน้อยของสามีไทยเท่านั้น หรือที่มีชายไทยในสังคมไทยเป็นส่วนมากรู้สึกเสียหน้ากับการที่หญิงไทยแต่งงานกับฝรั่ง ถึงกับชี้หน้ากล่าวหากันเลยว่าเธอเหล่านั้นเห็นแก่ทรัพย์ มิได้มองเลยว่า ร้อยละเก้าสิบของหญิงไทยเหล่านั้น ล้วนถูกชายไทยทอดทิ้ง แถมยังรับภาระเลี้ยงดูครอบครัวและบุตรไปตามลำพัง จริง ๆ เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาซับซ้อน ใครเลยจะหาคำตอบสำเร็จรูปมาอธิบายได้ แต่ที่เป็นของแน่ก็คือ ยโสนั้นเป็นเรื่องโง่โดยแท้ทีเดียว

บทสรุป

สิ่งที่ข้าพเจ้าเรียนรู้จากเยอรมนีนั้นประกอบไปด้วย (๑) หลักเมตตาคุณอันหาที่ประมาณมิได้ (๒) ความสมถะ (๓) ระเบียบวินัยที่ยืดหยุ่น และ (๔) อหังการ

ทั้งนี้หลักเมตตาคุณนั้นจักช่วยให้เราไม่ลืมความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น แม้ผู้ที่คิดเห็นต่างจากเรา ความสมถะนั้นช่วยให้เราเบียดเบียนโลกด้วยการบริโภคเท่าที่จำเป็น ระเบียบวินัยที่ยืดหยุ่นช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยใช้หัวใจร่วมกับสมองมากขึ้น ส่วนอหังการนั้นช่วยให้เห็นอวิชชาและเน้นให้เห็นปัญญาอันเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนชัดเจนขึ้น

หวังใจว่าบทความนี้คงพอจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง และขออนุโมทนาที่กรุณาอ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้

ธรรมชาติบันดาลใจ

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2549

เมื่อไปท่องทะเล เที่ยวป่า หรือปีนเขา สิ่งที่เราปรารถนาจะเห็นคือ ความตื่นตาตื่นใจจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเวิ้งฟ้าอันไร้ขอบเขต ลูกไฟดวงใหญ่ที่กำลังพ้นจากผืนน้ำ หมู่ปะการังอันสวยสด ดอกไม้นานาพรรณริมธารใส ม่านน้ำที่ตกลงมาจากผาสูงดังสนั่น หรือทะเลหมอกยามอรุณรุ่ง เราหวังจะได้พบกับทิวทัศน์อันงดงาม แปลกตา และโอฬาร ซึ่งเร้าใจให้ตื่นตะลึงจนต้องอุทานออกมา และอดไม่ได้ที่จะคว้ากล้องมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

หลายคนแม้ไม่หวังจะได้สัมผัสกับความตระการตาของธรรมชาติ แต่ก็ไปท่องป่าเที่ยวทะเลเพื่อหาความสนุกสนานกับเพื่อนฝูงในบรรยากาศที่แปลกใหม่ ตั้งวงสนทนาฮาเฮ เล่นดนตรี หรือกินเหล้าโดยมีป่าหรือทะเลเป็นฉากหลัง บ้างก็หวังสนุกกับการดำว่ายและโต้คลื่น ขณะที่บางคนก็เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่ฟังเพลงเท่านั้น ไปไหนมาไหนจึงมีแต่เครื่องเล่นMP3 กรอกหูทั้งสองข้างอยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเที่ยวธรรมชาติด้วยอาการอย่างไร ผู้คนส่วนใหญ่ปรารถนาจะได้สัมผัสกับสิ่งแปลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ หรือเร้าจิตกระตุ้นใจให้ตื่นเต้น ชวนหลงใหล จะว่าไปก็ไม่ต่างจากการไปกินอาหารเมนูเด็ดตามภัตตาคารชื่อดัง เป็นแต่ว่าแทนที่จะไปรับรู้ด้วยลิ้น ก็ไปสัมผัสทางตา หู จมูก หรือกาย เป็นสำคัญ

ภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ รสชาติที่เอร็ดอร่อย เสียงเพลงที่เร้าจิตกระตุ้นใจ หรือกิจกรรมที่สนุกสนาน สิ่งเหล่านี้ให้ความรู้สึกที่น่าพึงพอใจชวนหลงใหลก็จริง แต่ก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน และถ้าเร้าจิตกระตุ้นใจมากเกินไป ก็ทำให้เหนื่อยทั้งกายและใจได้ (เสียงเพลงที่ดังสนั่นและหนังที่เต็มไปด้วยฉากบู๊ล้างผลาญ ย่อมส่งผลต่อกายและใจยิ่งกว่าเวลาชื่นชมทะเลหมอกสุดสายตา) ที่สำคัญก็คือรสชาติเหล่านี้ถ้าได้เสพหรือสัมผัสบ่อย ๆ ความรู้สึกเพลิดเพลินใจจะจางคลายลง จนกลายเป็นความปกติธรรมดาไป ชาวบ้านที่อยู่ริมทะเลจึงไม่ค่อยรู้สึกว่ายามอรุณรุ่งนั้นท้องทะเลงดงามเพียงใด

อย่างไรก็ตาม นอกจากความตื่นตาตื่นใจ หรือความสนุกสนานตื่นเต้นแล้ว ธรรมชาติยังสามารถบันดาลความรู้สึกอีกชนิดหนึ่งให้แก่เราได้ เป็นความรู้สึกที่ประณีตลุ่มลึกกว่าความรู้สึกชนิดแรก นั่นคือความสงบใจ ในขณะที่ความรู้สึกชนิดแรกนั้นเกิดจากการเร้าจิตกระตุ้นใจทางตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย ความสงบใจกลับเกิดจากบรรยากาศที่วิเวกสงบงัน และจากจิตที่เป็นสมาธิกับภาพหรือเสียงที่ปรากฏ

ธรรมชาติที่งดงามและยิ่งใหญ่นั้น สามารถบันดาลให้เกิดความรู้สึกตื่นตาตื่นใจก็จริง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็สามารถน้อมใจเราให้เกิดความสงบได้ ขอเพียงแต่เรามีจิตจดจ่ออยู่กับภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า หรือทำกายและจิตให้นิ่ง ไม่นานความตื่นตาตื่นใจก็จะค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นความสงบใจ หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่า ความสงบใจจะบังเกิดขึ้นมาแทนที่ความตื่นตาตื่นใจ

หากจะกล่าวให้เห็นเป็นภาพ ความสงบใจนั้นมาจากส่วนลึกของจิต ส่วนความตื่นตาตื่นใจนั้นเป็นอาการที่เกิดกับเปลือกนอกของจิต หรือจิตชั้นแรก ดังนั้นเมื่อมีสิ่งน่ายินดีมากระทบใจ ความตื่นตาตื่นใจ รวมถึงความสนุกสนาน และความลิงโลดใจ จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก คนส่วนใหญ่รู้จักแต่ความรู้สึกชนิดนี้เท่านั้น ส่วนความสงบใจกลับแทบไม่เคยสัมผัสเลยก็ว่าได้ เพราะจิตใจถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าจากภายนอกรวมทั้งวัตถุสิ่งเสพอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีเวลาที่จะได้อยู่นิ่ง ๆ

การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสกับความสงบจากภายใน แม้ว่าในเบื้องแรกปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นทิวทัศน์อันงดงามตระการตา คือความตื่นตาตื่นใจ หรือความพิศวงในสีสัน แต่หากให้เวลาแก่ตนเอง อานุภาพของธรรมชาติจะค่อย ๆ ซึมซับลงไปสัมผัสกับส่วนลึกของจิตใจ และบันดาลความสงบให้ผุดบังเกิดขึ้น เป็นความสงบที่นำความสุขอย่างประณีตลึกซึ้งมาให้แก่เรา ชนิดที่ความตื่นตาตื่นใจหรือความสนุกสนานกลายเป็นความรู้สึกอย่างหยาบไปทันที

แต่มีคนจำนวนไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันตระการตา กลับไม่สามารถสัมผัสกับความสงบใจ เพราะมัวติดข้องกับความตื่นตาตื่นใจ หรือพอใจเพียงแค่ความสนุกสนานเท่านั้น หลายคนไม่อดทนพอที่จะอยู่นิ่ง ๆ เอาแต่วิ่งหามุมถ่ายรูป พูดคุยหยอกล้อ หรือมัวฟังเพลง เมื่อกายไม่สงบ แถมยังหาเรื่องคิดจนฟุ้งซ่าน จึงได้แค่ความสนุก ทั้ง ๆ ที่ความงดงามของธรรมชาติเบื้องหน้าสามารถตรึงใจให้เราสงบนิ่งได้ไม่ยาก หากให้โอกาสธรรมชาติได้ทำงาน

อันที่จริง ไม่จำต้องอาศัยธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ตระการตา เพียงแค่ป่าเขาลำเนาไพรธรรมดา ท้องทุ่งยามเช้าและยามเย็น หรือท้องฟ้าที่พร่างพราวด้วยดวงดาว ก็สามารถน้อมใจให้เกิดความสงบได้ไม่ยาก ในยามนั้นเองความทะยานอยากจะฝ่อตัว ความโกรธจะบรรเทา ความหลงตนจะสิ้นพยศ ขณะที่ ความสันโดษ ความปรารถนาดี และความอ่อนน้อมถ่อมตน เข้ามาแทนที่ คุณธรรมหรือความใฝ่ดีที่แฝงเร้นอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ จะมีพลังและสามารถฝ่าเปลือกนอกของจิตออกมาให้เรารับรู้ได้

การมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ จึงเป็นการเติมพลังฝ่ายดีให้แก่ตนเอง ช่วยให้เรามีกำลังที่จะทำคุณงามความดี ชนิดที่ไม่ยอมแพ้ความเห็นแก่ตัวหรืออุปสรรคทั้งจากภายในและภายนอก

อย่างไรก็ตามนอกจากความสงบใจแล้ว ธรรมชาติยังสามารถให้ความสว่างแก่จิตใจของเราได้ด้วย เป็นความสว่างที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตและโลก เราสามารถเรียนรู้สัจธรรมจากธรรมชาติได้อย่างไม่มีขอบเขต ครูบาอาจารย์นับแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ล้วนเปิดใจเรียนรู้สัจธรรมจากธรรมชาติ พระอรหันต์บางท่านรู้แจ้งในมายาภาพของสังขารจนบรรลุธรรมเมื่อเห็นพยับแดด พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไขปริศนาว่าท่านรู้ธรรมได้อย่างไรในเมื่ออ่านตำรับตำราน้อยมาก ท่านว่า “สำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า” ส่วนท่านพุทธทาสภิกขุก็แนะให้คนที่มาเยือนสวนโมกข์ หัดฟัง “เสียงต้นไม้พูด ก้อนหินสอนธรรมะ”บ้าง

เพียงแค่ใบไม้ร่วง ดอกไม้โรย อาทิตย์อัสดง ก็สอนถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ในขณะที่ขุนเขาอันมโหฬาร และท้องฟ้าอันไร้ขอบเขต ก็เตือนเราให้ตระหนักว่ามนุษย์นั้นช่างเล็กกระจิดริด ไม่ต่างจากฝุ่นในจักรวาล หาได้ใหญ่โตคับโลกไม่ นอกจากสัจธรรมหรือความจริงของชีวิตแล้ว จริยธรรมหรือบทเรียนสำหรับการดำเนินชีวิต ก็มีให้เรียนรู้มากมายจากธรรมชาติ ในขณะที่มดและผึ้งสอนเราเกี่ยวกับความขยันและความเสียสละ นกซึ่งบินท่องเที่ยวอย่างเสรีโดยมีเพียงปีกสองข้างเท่านั้น ก็สอนเราเกี่ยวกับอิสรภาพที่ไม่ต้องอิงวัตถุ ส่วนต้นไม้ที่เปลี่ยนแดดให้เป็นร่มเงา เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นดอกไม้หอมและผลไม้หวาน กำลังสอนเราใช่หรือไม่ว่า ควรรู้จักเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุข และเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นความสำเร็จ

ภูเขา หมู่เมฆ ต้นน้ำ ลำธาร ทะเล และน้ำตก สามารถเปิดใจของเราให้สว่างไสวด้วยปัญญาได้เสมอ ขอเพียงแต่รู้จักมองหรือฟังให้เป็นด้วยใจที่สงบและว่างจากความคิดปรุงแต่ง ใจที่สว่างด้วยปัญญานี้แหละที่สามารถบรรลุถึงอิสรภาพจากความทุกข์ทั้งปวง เพราะพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น ความผันผวนปรวนแปรหรือความพลัดพรากสูญเสียจึงทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป

ความสว่างและอิสรภาพภายในเป็นศักยภาพที่เรามีอยู่ด้วยกันทุกคน จะเรียกว่าเป็นธรรมชาติส่วนลึกที่สุดของเราก็ว่าได้ หากแต่ถูกปิดกั้นเอาไว้จนไม่สามารถแสดงตัวออกมาได้ กระนั้นก็ตาม ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรานั้น สามารถที่จะเปิดใจเพื่อให้ธรรมชาติส่วนลึกที่สุดนี้ปรากฏแก่เราอย่างบริบูรณ์ได้ หากเราพร้อมที่จะเรียนรู้จากธรรมชาติภายนอก

ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรานั้น สามารถให้อะไรเราได้หลายอย่าง อย่าพอใจแต่เพียงความตื่นตาตื่นใจเท่านั้น หากควรเข้าให้ถึงความสงบใจ และความสว่างใจ โดยมีอิสรภาพภายในเป็นจุดหมายในที่สุด

จากสังคมฐานความรู้ (โลภ)
สู่สังคมฐานเมตตา (ธรรม)

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2549

ผู้เขียนเคยเสนอแนวคิด หวังให้ประชาคมโลกพิจารณาและหันหน้าเข้าหากันเพื่อทำข้อตกลงเมตตาเสรี (Free Compassion Agreement-FCA) มาแล้วครั้งหนึ่ง ในหนังสือ “คลื่นความคิด จากจิตวิวัฒน์” ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความของสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่กลั่นกรอง สะท้อนความคิดและความรู้สึก จากเหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้ของไทย เพราะผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากการเห็นพลังแห่งความเมตตาที่เป็นธรรมชาติฝ่ายสูงหรือเมล็ดพันธุ์แห่งความดีของมนุษย์หลั่งไหลมาจากคนไทยทั่วประเทศและจากคนทั่วโลก เป็นพลังแห่งเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่จริงๆ

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังวุ่นวายอยู่กับการผลักดันของประเทศมหาอำนาจ ให้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่คิดว่าตนเองน่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว ก็พยายามผลักดันจะให้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ อยู่ในขณะนี้

ถ้าเราจะเปรียบเทียบความวุ่นวายของกระบวนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีของคู่เจรจา ที่จ้องหรือหวังจะได้เปรียบคู่เจรจา กับความวุ่นวายของกระบวนการช่วยเหลือที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาของผู้คนจากทุกสารทิศที่ระดมไปช่วยผู้ประสบภัยสึนามิแล้ว จะเห็นภาพสองภาพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเจตนาของการกระทำ

ผู้เขียนจึงมีความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ความเมตตา โดยเฉพาะความเมตตาเสรีเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับโลกมากกว่าการค้าเสรี เพราะความเมตตาสื่อถึงความสัมพันธ์ที่โยงใยด้วยความเอื้ออาทร เกื้อหนุนจุนเจือระหว่างกัน ในขณะที่การค้าเสรีเน้นที่การแข่งขัน ผู้เขียนจึงได้เสนอแนวคิดดังกล่าวในบทความของผู้เขียน และขออนุญาตนำเสนอบางส่วนของบทความนั้นในบทความนี้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันคล้ายคลึงกับครั้งก่อนที่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการผลักดันเรื่องการทำข้อตกลงการค้าเสรี

“สึนามิทำให้คนจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องเจ็บปวด ระทมกับความทุกข์เศร้า ที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินและคนที่เป็นที่รักของเขา แต่สึนามิก็ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกจำนวนมากได้มองเห็นความจริงของธรรมชาติของสรรพสิ่ง

ความดีของความโหดร้ายของภัยธรรมชาติ คือการช่วยกระตุ้นจิตสำนึกแห่งความดีงาม ความเมตตา กรุณาของมนุษย์ให้มีพลัง ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

คลื่นความทุกข์ของผู้คนยิ่งใหญ่กว่าคลื่นสึนามิมากมายหลายเท่า เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นและหายไปในทันทีดั่งคลื่นสึนามิ แต่คลื่นความทุกข์ของคนจะคงอยู่และต่อเนื่องไปอีกนาน

คลื่นน้ำใจที่ไหลหลั่ง ยิ่งยิ่งใหญ่กว่าอีกหลายเท่า เพราะมันหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศทั่วโลก

จะทำอย่างไรคลื่นน้ำใจ คลื่นความดีงาม และจิตสาธารณะที่เกิดปรากฏในเหตุการณ์เลวร้ายนี้ จะดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อมนุษยชาติและสรรพสิ่งจะได้ดำรงอยู่อย่างมีศานติสุข

เมื่อไหร่ความเมตตาที่ยั่งยืน (Sustainable Compassion) จึงจะเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นวาระของโลก

แต่ละประเทศน่าจะมี FCA (Free Compassion Agreement) ระหว่างกัน จะดีกว่ามี FTA (Free Trade Agreement) หรือไม่

เพราะ FCAไม่มีเงื่อนไข (Unconditioned) แต่ FTA มีเงื่อนไข (Conditioned) เพราะกลัวเสียเปรียบแต่อยากได้เปรียบ

FTA ตั้งอยู่บนความโลภมากกว่าความลดละ เพราะต้องการได้ (Take) มากกว่าต้องการให้ (Give) แต่ FCAให้โดยไม่มีเงื่อนไข จึงไม่มีการเจรจาต่อรอง (Negotiation)”


เพียงชั่วระยะเวลาปีกว่านับจากภัยสึนามิเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ ภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ และน่าน ก็ประสบภัยพิบัติที่รุนแรงอีกครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก ผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ความสูญเสียทั้งชีวิต ที่อยู่อาศัย และทรัพย์สิ่งของมีมากมาย

ยิ่งเมื่อติดตามข่าวก็พบว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งของการสูญเสียครั้งนี้เกิดจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ผืนดินและป่าไม้ไม่สามารถรับน้ำได้ดีเท่าที่ควร ยิ่งทำให้คิดว่ามนุษย์เรามีส่วนสำคัญมากในการทำให้โลกขาดความสมดุลมากเกินไป เราทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั้งคิด เราเผาผลาญน้ำมัน ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ เราปล่อยของเสียอันเกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำ และเป็นพิษเป็นภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ ตามกระแสเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม มีการ ผลิต ใช้ และบริโภคเกินความพอเพียง

มนุษย์น่าจะลองทำข้อตกลงเมตตาเสรี (FCA) กับธรรมชาติดูบ้าง

มนุษย์จะได้เป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนเดียวกันกับธรรมชาติ จะเข้าใจ ยอมรับ และเคารพธรรมชาติ ปฏิบัติต่อธรรมชาติ และสรรพสิ่ง ในฐานะที่ทุกสิ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่จะทำอะไรก็อ้าง “ศักดิ์” และ “สิทธิ” ส่วนบุคคลโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์และสิทธิของผู้อื่นและสรรพสิ่ง

สังคมไทยปัจจุบัน เป็นสังคมที่ชอบอ้างกระแสโลกาภิวัตน์ อ้างความรู้ฐานเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม โดยไม่เฉลียวถึงฐานที่มาของความรู้เหล่านั้น แล้วพยายามที่จะวิ่งไล่ตามกระแส โดยผู้จุดกระแสและโน้มน้าวให้คล้อยตามได้แก่รัฐบาล นักธุรกิจกระแสหลัก นักธุรกิจการเมือง และนักวิชาการกระแสหลักบางกลุ่ม

สังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) ที่คนส่วนใหญ่พูดกันในปัจจุบัน เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) ได้ก้าวมาถึงจุดหักเหที่สำคัญ เมื่อเริ่มประจักษ์ชัดว่าอัตราเร่งของการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติที่ทวีเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงและร้ายแรงจนยากที่จะเยียวยา ชีวิตที่เร่งรีบ มุ่งเน้นการแข่งขันชิงดีชิงเด่น ทำให้เกิดความเครียด โมโหง่าย โกรธง่าย เบื่อง่าย หน่ายเร็ว

หากมนุษย์ยังไม่ตื่นรู้เท่าทัน ขาดสติและขาดปัญญาที่จะเข้าใจและปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมชาติ มนุษย์ก็จะเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

มนุษย์น่าจะลองพิจารณาอย่างจริงจัง หันมาทำข้อตกลงเมตตาเสรีกับธรรมชาติ คน สัตว์ ป่าไม้ แม่น้ำลำคลอง และสรรพสิ่ง เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน สัมพันธ์กัน โดยการยอมรับและเคารพในความไม่เหมือนของกันและกัน จะได้ไม่ต้องอ้างศักดิ์และสิทธิระหว่างกัน เพราะทุกคนและทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งสิ้น

น่าเสียดายที่มนุษย์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านการบริหารการจัดการ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์แนวเสรีทุนนิยม ความรู้ทางการตลาดและการโฆษณา เพื่อสนองความอยากและความโลภของตนเอง จนถึงขั้นสามารถจะทำลายล้างโลกและตัวเองได้

ความรู้ที่สร้าง (Created Knowledge) และความรู้ที่สั่งสม (Collective Knowledge) ของเศรษฐกิจฐานความรู้ เป็นความรู้ที่มีฐานและเป้าหมายคือความโลภ เอารัดเอาเปรียบ แข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง ความรู้ทั้งหมดจึงเป็นความรู้โลภ นำไปสู่สังคมฐานความรู้ (โลภ) ไม่ใช่ความรู้แท้เพราะมิได้ตั้งอยู่บนฐานปัญญา (Wisdom Based) ที่มองเห็น และเข้าใจธรรมชาติของธรรมชาติ

สังคมที่พึงประสงค์ สังคมที่ยั่งยืน ควรเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเมตตาธรรม มีการเมืองการปกครองในระบอบธรรมาธิปไตย มีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ บนฐานของปัญญาและคุณธรรมที่พ่อหลวงของปวงชาวไทยได้ทรงพระราชทานเป็นแนวทางไว้ให้ จึงจะเป็นสังคมฐานเมตตาธรรม

ลองกล้าที่จะก้าวข้ามสังคมฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมไป สู่สังคมฐานเมตตาธรรม ที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง จะดีไหม

Back to Top