มีนาคม 2011

มนุษยชาติผู้เสียสละ?



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มีนาคม 2554

ฝนตกเมื่อย่ำรุ่ง พายุโหมโถมกระหน่ำเสียจนต้นไม้ใหญ่น้อยลู่เอน ใบตกพับลู่ศิโรราบต่อแรงลม ฟ้าแลบแปลบไปทั่วเมือง ราวกับค้นหาว่ามีผู้กล้าทายท้าออกจากบ้านอันอบอุ่นในยามนี้ไหม

ยามรักษาความปลอดภัยหนุ่มเดินออกมาจากป้อมเข้ามายืนมองดนตรีฝนภายในตัวตึก สองมือยกขึ้นอุดหูราวกับทนทานเสียงฟ้าร้องอันต่อเนื่องนั้นมิได้

แสงไฟหน้ารถมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านหน้าประตู คนขับใส่เสื้อกันฝนคลุมหัวและตัวมิด โน้มตัวไปเบื้องหน้าขณะขับฝ่าออกไปถนนใหญ่ในโมงยามที่ห่าฝนกำลังเทตัวลงมา

กลิ่นดินลอยขึ้นมาทักทายจมูก อากาศรอบตัวยังอุ่นอ้าว ต่อเมื่อละอองฝนมากระทบตัวและกลายเป็นความชื้นตกค้างที่เสื้อผ้าจึงค่อยรู้สึกถึงความเย็นของน้ำ

ไฟดับเป็นครั้งที่สอง และทำท่าจะไม่มีแสงสว่างนานกว่าคราวแรก เสียงฟ้าคำรามราวกำกับตอบย้ำความเข้าใจว่าใช่แล้ว

รอบตัวมืดมิด มีเพียงความคิดที่ตื่นอยู่ - อยู่ในละอองฟุ้งกระจายของสายฝน หมอบนิ่งรอตะปบคว้าหนูหลงทาง

- ๑ –


สึนามิอีกแล้ว หลายคนอุทานในใจ ภาพคลื่นน้ำสีขาวค่อยไหลคืบคลานเข้าสู่แผ่นดิน ผลัก-ไถ-ท่วมทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นราบที่สร้างจากน้ำมือมนุษย์ไปอย่างไม่แยแส – มือของแม่ธรรมชาติดูมีพลังน่าครั่นคร้ามยิ่งนัก

ระเบิดที่โรงงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นหลังแผ่นดินไหว เป็นอุทานที่สะท้านสะเทือนยิ่งกว่าอุทานแรก เทคโนโลยีแสนสะอาดแทบจะระเหิดระเหยกลายเป็นพิษร้ายในอากาศว่างเปล่าไปในพริบตา ราวกับว่าสัตว์เลี้ยงแสนเชื่องกลายร่างเป็นสัตว์ป่าดุร้ายที่ไม่รู้จักชื่อ และราวกับว่าเรือไทแทนิก – อวตารเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งศตวรรษปัจจุบัน – แล่นไปชนภูเขาน้ำแข็งและจ่อมจมลงต่อหน้าต่อตา

เหตุการณ์ที่เกิดสั่นคลอนความมั่นอกมั่นใจที่ว่า - เทคโนโลยีของมนุษย์ ผลผลิตแห่งสติปัญญาอันเลิศ จักควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในมือได้ – อย่างรุนแรง เยอรมนีถึงกับประกาศนโยบายทบทวนระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศทั้งหมด

- ๒ –


นิตยสารชปีเกลของเยอรมันให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า แม้เยอรมนีจะมีนโยบายลดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในประเทศ เพราะประชาชนในประเทศไม่ค่อยยอมรับพลังงานนิวเคลียร์สักเท่าไหร่ แต่นิวเคลียร์ก็เป็นธุรกิจส่งออกสำคัญยิ่งของประเทศนี้

ปัจจุบันทั่วโลกมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างราว ๑๗๐ แห่ง ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์ ๕๖๐ เตา บริษัทเยอรมันคาดการณ์ว่าจะได้รับส่วนแบ่งตลาดราว ๖๒๘ พันล้านยูโร (๒๘ ล้านล้านบาท) โดยมีผู้สนับสนุนคนสำคัญคือรัฐบาลเยอรมันที่สนับสนุนการลงทุนของบริษัทเยอรมันในต่างประเทศแบบมีหลักประกันการขาดทุน รวมทั้งธนาคารยักษ์ใหญ่ในเยอรมันก็เป็นผู้ปล่อยกู้เงินก้อนใหญ่ในธุรกิจที่มีผลกำไรมหาศาลนี้

ยกตัวอย่างเช่น โรงงานนิวเคลียร์บนแหลม Olkiluoto ในฟินแลนด์ ซึ่งถือว่ามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่ถูกสร้างขึ้นหลังจากเหตุเชอร์โนบิล ครึ่งหนึ่งของบริษัทที่เกี่ยวข้องราว ๑,๖๐๐ แห่ง เป็นบริษัทสัญชาติเยอรมัน

- ๓ -


ถ้าไม่ถามถึงกากพิษ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานสะอาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานจากฟอสซิล ที่ว่าสะอาดนั้นหมายถึงสะอาดต่อโลก เพราะปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศน้อย ไม่นำไปสู่ปัญหาโลกร้อน

สำหรับคนบางคน ดังเช่น เจมส์ เลิฟล็อก นักวิทยาศาสตร์เจ้าของทฤษฎีกายา – โลกมีชีวิต – เขาเป็นผู้สนับสนุนอันเข้มแข็งในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่คงด้วยเหตุและผลที่แตกต่างกันกับบริษัทผู้ผลิตนิวเคลียร์ เพราะเขายืนยันว่า แม้สารกัมมันตภาพรังสีจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่กลับไม่เป็นอันตรายต่อโลกเลย ฉะนั้นเอง เพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ มนุษยชาติก็ต้องเสียสละบ้าง (ฮ่า)

อย่างไรก็ดี เจมส์ เลิฟล็อก อาจจะยังไม่เคยเห็นงานวิจัยของเซอร์ไมเคิล มาร์ม็อต นักวิชาการชาติเดียวกับเขา ซึ่งในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ ได้ตีพิมพ์หนังสือ Closing the Gap in A Generation รายงานผลวิจัย ๔ ปีว่าด้วยความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพที่น่าสนใจว่า ในประเทศเดียวกัน ผู้คนยิ่งจน ยิ่งป่วย และยิ่งอยู่ในประเทศยากจน ประชากรยิ่งอายุสั้นกว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว คณะทำงานวิจัยยืนยันว่า ทั้งหมดทั้งนั้น เกิดจากโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำและอยุติธรรม

ทายสิว่า – มนุษยชาติส่วนที่ต้องเสียสละ น่าจะอยู่ในประเทศแบบไหน?

- ๔ -


นิวเคลียร์ไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐกับชาวบ้าน หรือประชาสังคมกับผู้มีอำนาจ กระทั่งไม่ใช่แค่เรื่องถกเถียงแต่เพียงสะอาดไม่สะอาด ปลอดภัยไม่ปลอดภัย หากยังเป็นเรื่องของข่ายใยธุรกิจข้ามชาติอันซับซ้อน มีทุนมหาศาลหนุนหลัง และหลายครั้งก็เป็นเรื่องของการให้คุณค่าบางอย่างเหนือบางอย่าง – ถามว่า แล้วอะไรถูกอะไรผิด? อะไรคือทางเลือก? และเป็นทางรอดของใคร?

จิตวิวัฒน์ไม่ได้สนใจผลลัพธ์ หากสนใจกระบวนการทางปัญญา นั่นคือ โดยเหตุที่เราไม่ใช่กระต่าย เราจำต้องตื่นตัวมากกว่าตื่นตูม ไม่เชื่อตามกันไปอย่างง่าย-ง่าย ไม่ผลักภาระหน้าที่แห่งการแสวงหาความรู้ ความจริง และการตัดสินใจไว้ที่คนอื่น ไม่ว่าเราจะตัดสินใจเลือกหรือทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ประโยชน์ท่าน และบางครั้งก็รวมถึงประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าอีกด้วย

อาจารย์ประสาน ต่างใจ ท่านยืนยันเสมอว่า ต่อให้มนุษยชาติจะเลือกหนทางแห่งความพินาศดับของเผ่าพันธุ์ตัวเอง แต่จิตวิญญาณก็จะยังคงดำรงอยู่ และจิตวิญญาณนั้นก็ยังมีหน้าที่จะต้องวิวัฒนาการต่อไป แม้ว่าจะไม่มีรูปกายแห่งมนุษย์แล้ว

จักรวาลวิทยาใหม่ ทุกสิ่งคือดนตรีที่มาจากการสั่นทั้งนั้น



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 มีนาคม 2554

จักรวาลวิทยาใหม่ วิชาที่มีมาไม่ถึงสิบปี แต่มีความสำคัญยิ่งจากการสั่นหรือการสั่นสะเทือนของเชือก – สตริงที่เล็กละเอียดที่สุด จนผู้เขียนคิดว่าอาจจะเป็นจิตจักรวาล ที่ทางพุทธเราเรียกว่าความจริงทางโลกที่พิสูจน์ได้เต็มร้อยโดยคณิตศาสตร์ของทฤษฎีซุปเปอร์สตริง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ ทั้งๆ ที่มีความสำคัญที่สุดที่มนุษย์ทุกคนจะต้องรู้ โดยเฉพาะนักชาตินิยมและทหาร ซึ่งรู้จักรากเหง้าหรือกำพืดของมนุษย์เราแค่ครึ่งๆ กลางๆ ทำให้มนุษยชาติเกิดความแตกแยกกันเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ สำคัญกว่าศาสนา วัฒนธรรม และภาษาซึ่งตามมาทีหลัง โลกจะได้สงบเมื่อมนุษยชาติเลิกแบ่งแยกจากกัน และยุติการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่หาประโยชน์อันใดไม่ได้

นั่นคือเรื่องที่นักจิตวิทยาและนักคิดนักเขียนในปัจจุบันบอกเรา และผู้เขียนได้พูดได้เขียนมาตลอดว่ามนุษยชาติที่มีเผ่าพันธุ์เดียวเท่านั้นได้มีวิวัฒนาการทางจิตตามสเปคตรัมของจิต (spectrum of consciousness) ตั้งแต่การตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานเมื่อราวๆ ๑๒,๐๐๐ ปีก่อนเรื่อยมา กระทั่งเรามีอารยธรรม “สมัยใหม่” หรือยุคแห่งเหตุผล มนุษยชาติไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการทางด้านจิตเลย ดังที่โพลตินัสกล่าวไว้เมื่อร่วมสองพันปีมาแล้วว่า “มนุษย์ยืนอยู่ระหว่างสัตว์ร้ายกับเทวดา” ยังคงเห็นแก่ตัว “ตัวกูของกู” กับ ความดีงามที่น่าใจหาย (self) มิไยว่าเราจะยกยอปอปั้นหรือกฎหมายจะลงโทษอย่างไร “คนย่อมเป็นคนอยู่วันยังค่ำ” เว้นเสียแต่เราจะมีวิวัฒนาการทางจิตไปตามสเปคตรัมที่สูงขึ้น เข้าสู่สภาวะจิตวิญญาณมากขึ้น คือจะต้องมีวิวัฒนาการเกิดขึ้นมาก่อน บางทีอาจจะภายในสองสามปีข้างหน้า หากเราสังเกตดูประชาโลกที่หันไปหาวัด เข้าโบสถ์ และทำสมาธิมากกว่าแต่ก่อนมาก อาจจะเพราะเรารู้ตัวว่าได้ทำกรรมต่อโลกไว้มากด้วยอวิชชาก็เป็นได้

นั่นคือรากเหง้าของมนุษยชาติที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคำถามแรกสุดว่า “เราคือใคร? และมาจากไหน?” นั่นคือจักรวาลวิทยาใหม่ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือมีจำนวนจักรวาลไม่สิ้นสุด เฉพาะจักรวาลของเราเพียงแห่งเดียวมีเพียงร้อยละ ๔ เท่านั้นที่มองเห็น ส่วนอีกร้อยละ ๙๖ มองไม่เห็น ประกอบด้วยพลังงานมืด (dark energy) ร้อยละ ๗๓ อันเป็นพลังงานที่ให้การพองตัว (inflation) ที่นับวันยิ่งรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ และอีกร้อยละ ๒๓ เป็นสสารมืด (dark matter) ที่ให้แรงโน้มถ่วง ที่ป้องกันไม่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างหลุดลอยหายไป นอกจากนี้จักรวาลยังประกอบไปด้วยกาแลคซี่มากมายถึงสิบยกกำลังสิบเอ็ด และแต่ละกาแลคซี่ประกอบด้วยดาวจำนวนสิบยกกำลังสิบเอ็ดหรือหนึ่งร้อยพันล้านดวง เท่ากับจำนวนเซลล์สมองของมนุษย์พอดี

ฉะนั้นในความเห็นของผู้เขียน มนุษย์คือจักรวาล จึงไม่มีคำว่าโลกแตก มีแต่ดับๆ เกิดๆ และมนุษย์จะต้องอยู่คู่ไปกับจักรวาล (คุณภาพของมนุษย์สำคัญที่สุดและสำคัญกว่าปริมาณมากนัก) จนกระทั่งเข้าถึงนิพพานเท่านั้นที่เป็นจุดมุ่งหมายสุดท้ายของจักรวาล

ผู้เขียนคาดหวังว่าเราและเด็กทุกๆ คนในโลกสามารถจะเรียนกับรู้ว่ามนุษย์ทุกคนมาจากแหล่งเดียวกันและมีเผ่าพันธุ์หนึ่งเดียวเท่านั้น จักรวาลนี้คือประเทศชาติหนึ่งเดียวของมนุษย์ มนุษย์เราจะต้องเรียนและรู้รากเหง้าหรือกำพืดของตัวเอง ไม่ใช่รู้เพียงครึ่งๆ กลางๆ เช่นเมื่อก่อน เรียนกับรู้จักรวาลวิทยาใหม่ซึ่งเหมือนดนตรีหรือออร์เคสตราของจิตไร้สำนึกของจักรวาลที่เหมือนกับเชือกหรือสตริงที่เล็กละเอียดอย่างที่สุด (ขนาดเล็กว่าสิบยกกำลังลบยี่สิบสี่) นั่นคือ จิต (ไร้สำนึก) ที่พุทธศาสนาบอกว่ามีมาตั้งแต่ก่อนจักรวาลกำเนิดเสียอีก และแยกออกจากพลังงานไมได้

พุทธศาสนาโดย ดเวน เอลยิ่น (Duane Elgin) นักจิตวิทยาซึ่งปฏิบัติสมาธิแนวพุทธศาสนามานาน บอกในหนังสือ The Living Universe ว่าจักรวาลวิทยาใหม่ที่ได้มาจากทฤษฎีซุปเปอร์สตริง มีความละม้ายคล้ายคลึงกับพุทธศาสนาตรงที่มีจักรวาลหลากหลายไม่สิ้นสุด เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อยๆ และ บี. อลัน วอลเลซ (B. Alan Wallace) นักปรัชญาชาวพุทธได้กล่าวไว้ในหนังสือ Hidden Dimension ว่าจิต (ไร้สำนึก) นั้น - ซึ่ง คาร์ล ซี. จุง เรียกว่าจิตร่วมจักรวาล (universal unconscious continuum) เพราะนักจักรวาลวิทยาในสมัยนั้นยังเชื่อว่าจักรวาลมีหนึ่งเดียว – จะโผล่ปรากฏออกมาจากสุญตา (เป็นอทวิภาวะหรือวิมุตติ) เกิดๆ ดับๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ใครเล่าจะเชื่อในพุทธศาสนา หรือเชื่อจักรวาลวิทยาในตอนนั้นหรือแม้แต่ในตอนนี้!!

ผู้เขียนยังเชื่อต่อไปว่า ศาสนาใหญ่ๆ แทบจะทุกศาสนามีกล่าวไว้เหมือนๆ กันว่าคลื่นแห่งการสั่นสะเทือน ไม่ว่าเป็นแสง หรือเป็นเสียง หรือเป็นเสียงดนตรี หรือเป็น “ศัพท์” ที่คุรุนานักในศาสนาซิกห์ หรือเป็นคำพูด (the Word of God) ที่จอห์นหรือธอมัส (นาร์ก แฮมมาร์ดี) หรือที่นบี มูหะหมัด ได้ยิน ทั้งหมดนี้ได้อธิบายถึงสัจธรรมความจริงแท้ หรือพระเจ้าของศาสนานั้นๆ ผู้เขียนคิดว่าจะมีหรือไม่มีพระเจ้าก็ไม่ได้แตกต่างกัน หากว่าในศาสนานั้นๆ พระเจ้าหมายถึงความจริงแท้ที่มีเพียง “หนึ่ง” เท่านั้น

อย่าลืมว่าสิ่งที่อยู่ข้างหลังแสงอันกระจ่างใส อยู่ข้างหลังศัพท์หรือคำพูด หรือเชือกสตริงแห่งโน้ตเพลง หรือดนตรีออร์เคสตรา คือความสั่นไหวหรือสั่นสะเทือน (vibration) คือคลื่น (frequency) ฉะนี้แล้ว การสั่นสะเทือนก็คือความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน หรือการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการอันเป็นความจริงทางโลก ทางสังคม ความจริงที่มองเห็น หรือรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส และจิตใจ (วิญญาณขันธ์) ความจริงของจิตสำนึกหรือจิตรู้ที่เป็นผลผลิตของจักรวาลน้อยๆ (microcosmos) หรือมนุษย์ หรือสมองของมนุษย์ - จักรวาลภายใน - อันเป็นตัวรู้ของจิตรู้ที่บริหารโดยสมองไปตามสเปคตรัมของจิต ที่สุดท้ายคือวิมุตตินิพพานที่คงที่ถาวรและไม่ตายไม่เปลี่ยนแปลงทางจิตอีกตลอดกาล (อสังขตธรรม) นั่นเป็นสภาวธรรมที่ตรงกันข้ามกับจักรวาลภายนอก (macrocosmos)

นั่นคือจักรวาลวิทยาใหม่ที่เราต้องเรียนเพื่อจะรู้ว่า เราคือใคร?

พุทธศาสนาบอกว่าจักรวาลที่มองเห็น (ไม่ได้บอกว่ามีเพียงร้อยละ ๔) คือความจริงทางโลก – แยกจากความจริงทางธรรมหรือความจริงแท้ - ที่วิทยาศาสตร์บอกกับเราว่าประกอบด้วยวัตถุที่แข็งกระด้าง ซึ่งเราเชื่ออย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าตรงกับประสบการณ์และการรับรู้ของเรา แต่ทว่านั่นไม่จริงเลย ถ้าเราลงลึกไปจนถึงระดับควอนตัมเมคคานิกส์ เราจะพิสูจน์โดยสิ้นข้อสงสัยว่าความแข็งกระด้างจะละลายหายไปจนเกือบทั้งหมด นั่นแสดงว่าการรับรู้ของเรา ประสบการณ์ของเรา ตัวรู้หรือสมองของเราจะคำนึงถึงการดำรงรอดของเราในโลกหรือในจักรวาลสามมิติ (บวกหนึ่ง) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ทั้งหมดที่เล่าไปนั้น แปลก! ที่ทุกๆ ศาสนาเท่าที่ได้อ่านมา ไม่จำเพาะแต่พุทธศาสนา และนักวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่มากหลายต่างล้วนบอกว่าแสงหรือเสียง แสงที่พุทธศาสนากล่าวว่า จักรวาลที่มองเห็น แม้จะไม่มีแสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์แต่ไม่เคยมืด และเสียงคือดนตรีออร์เคสตรานั้น อีกนัยหนึ่งคือการสั่นไหวของคลื่นความถี่ หรือเสียงก้องสะท้อน

นั่นคือธรรมชาติทั้งสองระดับ หรือธรรมะของพุทธศาสนา หรือพระเจ้านั่นเอง จึงอาจเป็นไปได้ที่ทุกๆ ศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนา คือวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่หรือควอนตัมเมคคานิกส์ ที่นักฟิสิกส์ใหม่แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน อมิต โกสวามี บอกเราในการประชุมใหญ่ที่เบิรก์เลย์เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.๑๙๙๖ ว่า “ทั้งสองเหมือนกันยังกับแกะมาจากพิมพ์เดียวกัน” (in complete agreement)

ธรรมะของพระพุทธองค์นั้น ไม่ว่าจะเป็นความจริงทางโลกหรือความจริงทางธรรม ล้วนต้องอาศัย “การเห็นกับความเข้าใจ” เพราะลึกล้ำและเป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาเองโดยธรรมชาติ คือปฏิบัติได้จริงๆ

แหวกม่านมายาของการพัฒนาจิต



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มีนาคม 2554

หลังการอบรม ผู้เข้าร่วมกระบวนการเข้ามาสอบถามด้วยความสนใจ

"อาจารย์ วันนี้เป็นวันมาฆบูชา ทำไมอาจารย์ไม่กล่าวโยงเรื่องที่เราทำอยู่นี้ให้เข้ากับวันสำคัญทางศาสนา"

เด็กหนุ่มอายุยี่สิบปลายสามสิบต้น ในดวงตาของเขาฉายโชนด้วยพลังของความใคร่รู้ เขาถามเพราะเห็นว่าสิ่งที่เราทำกันในห้องอาจจะเทียบได้กับการเจริญสติ

ผมตอบเขาว่าผมไม่ทราบ เพราะช่วงนั้นผมไม่ได้เป็นคนนำกระบวนการ แต่ในใจทราบอยู่ กลุ่มผู้เข้ารับการอบรมบางจำพวก เมื่อกล่าวถึงธรรม หรืออ้างคำบาลี พวกเขาจะหนีห่าง เพราะไม่เคยศึกษาจึงพาลเหมาเอาว่าเป็นเรื่องยาก หรือดูแคลนว่าเป็นเรื่องบุร่ำบุราณ ไม่ทันยุคทันสมัย คนอีกบางจำพวก ตรงกันข้าม นิยมผู้อ้างคำศัพท์แสงเหล่านี้ อาจเป็นเพราะได้เคยศึกษามาบ้าง หรือมีใจชอบด้านวิชาการ กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเถรตรงกับพยัญชนะ และถลำไปยึดจับความหมายของคำตามที่ตนเคยได้ยินได้ฟังมา หรือเคยทำความเข้าใจด้วยอนุมาน แล้วคิดไปเองว่าตนเข้าใจ ผมเคยตู่เอาอย่างนั้น จนครูบาอาจารย์ต้องทัก...

"เรื่องนี้มันเข้าใจไม่ได้นะ ศรชัย แค่ได้ยินได้ฟังก็ไม่เสียชาติเกิด"

ชะรอย ‘มานะ’ ของตนไม่ปรานี ทุกครั้งที่ได้ฟังเช่นนั้น ก็ฮึกเหิมว่าตนต้องเข้าใจให้ได้ แต่เพราะเข้าใจผ่านตัวอักษรนั้นไม่ได้ ตัวเองจึงยังไปไม่ถึงไหนเสียที คงอย่างที่อาจารย์บอก ในใจจึงตรึกว่า "ก็ไม่เสียชาติเกิดแล้วนะเรา จะเอาอะไรอีกกันเล่า"

เหตุนี้ผู้ศึกษาเรื่องจิตอย่างผม จึงต้องยึดอัปปมาทธรรมเพื่อเตือนให้กริ่งเกรงใจ ต้องรู้ว่าเมื่อใดควรกล่าว เมื่อใดควรเฉย...

แต่เฉยอยู่ไม่ได้ เมื่อได้พบผู้อ้างอิงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างหละหลวม เฉกเช่น ชาวต่างชาติบางกลุ่มเมื่อจะเข้ามาเผยแพร่ลัทธิของตัว ก็อ้างอิงคำของพระพุทธเจ้าราวกับจะเป็นสะพานทอดให้ตนได้สำเร็จอามิสกิจโดยสะดวกดายขึ้น ผมก็ทักท้วงและแย้งอย่างสุดความสามารถว่า

"ผมไม่ขัดว่าท่านจะมาเผยแพร่หลักการพัฒนาจิตใจ

โดยอิงทฤษฎีของชาวตะวันตกอย่างไรก็จงทำไปเถิด

แต่ทำไมท่านจะต้องยกรูปพุทธปฏิมา ขึ้นมาลวงให้ผู้คนเข้าใจผิดว่า นี่เป็นมรรคาแห่งพุทธด้วยเล่า และการที่ท่านยกเรียกพุทธศาสนาว่าเป็นปรัชญา

นั่นมิใช่ข้อพิสูจน์ต่อความไม่ศรัทธาต่อองค์สัมมาสัมพุทธะดอกหรือ?"

อย่างที่กล่าวแล้ว ไม่ว่าผมจะเพียรทักท้วงอย่างไร มันเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ของคนที่ไม่มีเครดิต ไม่มีใบประกาศนียบัตร ผมซักถามเรื่องความเชื่อ ถ้าหากท่านยกรูปอันเป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวพุทธ มาแปะไว้เพื่อนำมาชักชวนให้ผู้คนเข้ามาอบรมในแนวทางของท่าน อย่างน้อยท่านต้องตอบผมได้ว่าท่านเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่? หาไม่แล้วท่านก็จะทำตัวเป็นชาวต่างชาติที่นำเศียรของพระพุทธรูปมาประดับไว้ในห้องนั่งเล่น ยังไงยังงั้น ได้ผลคือผมถูกตัดสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊ค และไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากท่านผู้นั้นอีกเลย

หรือนั่นเป็นเพราะผมไปแหวกม่านของท่านเข้าให้แล้ว?

ผมกลับมาสนใจในความเป็นไปของเฟซบุ๊คที่ซึ่งกระแสความเป็นไปของจิตร่วม (แบบจำกัดวงเพื่อน) นั้นโรมรันพันตูกันอย่างน่าพิศวง ผมพบว่าผู้ที่ได้รับการเชิดชูในเฟซบุ๊ค คือผู้ที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์หรือสถาบันกษัตริย์ หลังๆ ผมได้ยินมายาคติเรื่องการพัฒนาจิตว่า

"ให้เรากลับไปเป็นเด็กน้อยอีกครั้ง เพราะพลังชีวิตของเราอยู่ที่นั่น"

ซึ่งแปลเป็นภาษาแหวกม่านได้ว่า "ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่ ที่คิดได้เอง คุณจะไม่เชื่อในอุดมคติใหม่ที่ผมกำลังจะให้แก่คุณ"

หรือ "ศาสนาที่เรามีอยู่คือตัวบ่อนทำลายอิสรภาพของเรา การนั่งหลับตาภาวนาคือผู้คนที่เอาเปรียบสังคม"

ซึ่งแหวกม่านแล้วแปลได้ว่า "จงก้มหน้าก้มตาทำงานที่เราทำอยู่ต่อไป เพราะถึงมันจะทำลายโลก ไร้แก่นสาร และเอาเปรียบคนอื่นบ้าง ก็ดีกว่าพวกที่อยู่เฉยๆ ทำตัวลอยนวลไม่สร้างประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจ แถมยังชอบทำให้เรารู้สึกผิดอยู่เรื่อย"

หรือ "การภาวนาไม่ใช่ขี้ขลาด เคร่งขรึมหรือหลบหนี เราต้องกล้าเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่กลัวที่จะโอบกอด ร้องไห้ได้ หัวเราะได้"

ซึ่งเมื่อแหวกม่าน (รูด) แล้วแปลได้ว่า "คนรุ่นใหม่อย่างเราจะไปนั่งหลังขดหลังแข็งทำสมาธิทำไม อยากกินเหล้าก็กิน อยากเต้นก็ลุกขึ้นเต้น อยากมีเพศสัมพันธ์ก็ลองมันเลย ก็ทุกอย่างคือการภาวนา"

ผมเกิดไม่ทันวู้ดสต๊อก แต่ทำไมเราจะต้องไปไขว่คว้ามัน ฮิปปี้ผ่านไปแล้วไม่ใช่หรือ จงทำดอกไม้ในใจให้เบ่งบาน ผมนึกว่าไม่มีใครเชื่ออะไรแบบนี้แล้ว แต่มันกลับถูกนำมารีแพคเกจในรูปลักษณ์ใหม่ คุณไม่ต้องเชื่อในศาสนา คุณไม่ต้องเชื่อในศาสดา คุณไม่ต้องเชื่อในคำสอนที่โบราณล้าหลัง ขอให้เชื่อในเด็กน้อยในตัวคุณ จงเชื่อในเสียงภายในตน และศูนย์กลางของคุณที่จะนำคุณไปหาทางสว่าง

บางพวกก็ไปอีกโต่งหนึ่ง พวกเขาเหมาเอาว่าความเชื่อทุกอย่างนั้นถูกประกอบสร้างขึ้น จึงอ้างว่าควรเลิกเชื่ออย่างมืดบอด เขามักจะพูดว่าไม่มีสัจธรรมใดๆ มีแต่ลมลวงจากพวกบ้าศรัทธาที่คิดไม่เป็น โดยลืมไปว่าการประกาศเช่นนี้ก็เป็นการประกาศความเชื่ออีกอย่างหนึ่ง คือเชื่อในการไม่เชื่ออะไรเลย แล้วท่านเหล่านั้นพอใจในความเห็นเช่นนี้ของตนได้อย่างไรกัน เป็นเรื่องที่สุดวิสัยที่ผมจะเข้าใจ...
น้องชายคนเดียวกันกับทีแรก หลังจากเก้กังอยู่พักหนึ่ง ผมซักเขาบ้าง ด้วยงุนงงสงสัยในแรงจูงใจของคนหนุ่มที่น่าจะอภิรมย์อยู่กับกามคุณ เฮฮากับพรรคพวกเพื่อนฝูงในผับบาร์

“น้องชาย ถามจริงๆ คุณนั่งสมาธิ ปฏิบัติอยู่นี่เพื่ออะไร”

“ผมอยากจะเห็นนรก-สวรรค์ ผมเอาซีดีมาเปิดฟังแล้วทำตาม ด้วยหวังว่าจะได้มีมโนมยิทธิ”

อ้าว..เริ่มต้นเป็นลำไม้ไผ่ ทำไมเหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา?

จิตตปัญญา ส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษา



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มีนาคม 2554

"ขอบฟ้ากว้าง" เป็นโครงการที่นำการศึกษากระบวนทัศน์ใหม่เข้าไปในระบบการศึกษา ของรัฐ มีคนถามว่าทำอย่างไร? หัวข้อข้างล่างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะตอบคำถามข้อนี้

สอนอย่างไร?

สอนด้วย being ของครู

เมื่อผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนปีติศึกษาที่เชียงราย ปีแรกของการก่อตั้ง เราจะเห็นเด็กๆ ถ่ายบุคลิกภาพของครูมา ซึ่งตอนนั้นเป็นครูฝรั่ง เด็กๆ ก็จะเชิดหน้าชูคอ เดินตัวตรง มองหน้าผู้ใหญ่ตรงๆ และพูดจาชัดถ้อยชัดคำ ครับ เด็กๆ จะถอดแบบของครูมาเลยเป๊ะๆ มันเป็นการก๊อปปี้เฉพาะภายนอกหรือเปล่า หรือเด็กจะได้ก๊อปปี้อะไรมากกว่านั้น

จิตตปัญญาคือการเรียนรู้ในวิถีแห่งการดำรงอยู่ หรือ being

การเรียนรู้ที่เร็วและตรงที่สุดของจิตตปัญญา คือการได้อยู่กับครู ครูทางจิตวิญญาณ ที่มี being ที่ใสกระจ่าง being ที่หลุดจากอาการปกป้อง หลุดจากอาการที่เป็นปฏิกิริยาต่อโลก สามารถรักโลกและเป็นอิสระ ประสบการณ์ตรงของผมก็คือ การที่ผมได้มีโอกาสอยู่กับท่านติช นัท ฮันห์เป็นเวลา ๒ สัปดาห์ที่กุฏิหลังน้อยริมน้ำตก วัดผาลาด เชิงดอยสุเทพ เหมือนกับเราได้ไปดำรงอยู่ในฌานชั้นต้นอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นมาสัก ๓ เดือน เป็นการเข้าไปสัมผัสสภาวะจิตอันปลอดโปร่งอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นครั้งแรกในชีวิต และอารมณ์นั้นก็เป็นเครื่องนำทาง เป็นเข็มทิศนำทางในชีวิตของเราตลอดมา

คำไทยอีกคำหนึ่งที่จะอธิบายคำว่า being คือ "เป็นให้ดู อยู่ให้เห็น"

จิตเดิมแท้และสิ่งที่มารบกวนหรือเป็นอุปสรรค

จิตเดิมแท้มีความใสกระจ่าง ประภัสสร สวยงาม ทรงพลัง คล่องแคล่วในการงาน ยืดหยุ่น สร้างสรรค์ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะความรู้ในสมองของเราเท่านั้น แต่เป็นสนามที่ทอดผ่านไปทั้งจักรวาล จิตเดิมแท้จึงเป็นจิตจักรวาลด้วย ปัญญาของปราชญ์ต่างๆ จึงเป็นปัญญาของเราด้วย

จิตเดิมแท้อยู่ลึกเข้าไปข้างในที่สุด แต่ก็เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับจิตนอกที่สุด คือจิตสำนึกประจำวันธรรมดา ที่ อาร์โนลด์ มินเดล เรียกว่า CR หรือ Consensus Reality หรือโลกประจำวันแห่งจิตสำนึก โลกที่เราสมมติขึ้นมา ส่วนลึกลงไปคือโลกในจิตไร้สำนึก คือ NCR หรือ Non-Consensus Reality

จิตนอกมีอะไรหลายอย่างที่จะไปครอบคลุมเคลือบแฝงทำให้บดบังจิตใน ทำให้จิตในหม่นหมอง ไม่เป็นสามารถสำแดงตัวตนออกมาได้ สิ่งที่มาเคลือบแฝง จะเกิดในวัยเด็ก วัยที่เรายังไม่เข้มแข็ง ไม่มีพลังเพียงพอจะปกป้องตัวเอง จะยืนยันตัวเอง เราต้องอาศัยคนอื่น การถูกทำร้ายทางจิต (บางทีอาจจะทางกายด้วย) ทำให้เกิดบาดแผล ทำให้เกิดปม ทำให้เกิดเปลือกนอก ไปห่อหุ้มความใสกระจ่างแห่งจิตใน จิตเดิมแท้ ทำให้จิตนั้นไม่สามารถสำแดงตัวออกมาได้ การจะให้กลับคืนมาเป็นปกติ เราจะต้องเยียวยา การเยียวยากับการคลี่ออกต้องไปด้วยกัน การคลี่ออกช่วยให้เกิดการเยียวยา และการเยียวยาก็ช่วยให้เกิดการคลี่ออก เสริมกันและกันอย่างนี้เอง

ทุกวันนี้ คนก็ป่วย สังคมก็ป่วย

การป่วยทางจิตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะปัจเจกบุคคล แต่มันโยงใยกันป่วยทั้งสังคม สังคมมนุษย์โลกกำลังป่วยอยู่ มันเป็นสมุหะพีชะ หรือเป็นพืชพันธุ์แห่งความป่วยไข้ในระดับสังคมมนุษย์ เฉพาะฉะนั้นบางทีเราไปทึกทักเอาว่า อาการที่เราเป็นกันอยู่นับว่าเป็นปกติ แต่มันไม่ปกติ มันป่วยอยู่ พอไปคิดว่าปกติ มันก็พากันเป็นไปอย่างนั้น เป็นไปอย่างที่ป่วยๆ กันอยู่ โดยไม่คิดจะรักษาเยียวยา จิตเดิมแท้ จิตประภัสสรจึงสำแดงออกมาไม่ได้

มันมาให้เหตุผลว่า ทำไมคนมาเรียนรู้เพื่อจะคลี่จิตเดิมแท้ออกมา หากไม่มีการเยียวยาอย่างพอเพียง มันไม่ยั่งยืน มันจะกลับสภาพไปป่วยทางจิตได้อีก

สูตรยั่งยืนของพาล์มเมอร์

ประสบการณ์ห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง

(ขอบฟ้ากว้างเป็นโครงการนำการศึกษากระบวนทัศน์ การศึกษาสำหรับอนาคตเข้าไปใช้ในโรงเรียนของเทศบาลนครขอนแก่นสองแห่งด้วยกัน)

พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ บอกว่า เขาต้องใช้เวลาให้ครูไปหลีกเร้นใคร่ครวญแบบของเขา ๓ วัน แปดครั้งในรอบ ๒ ปี เขาจึงคิดว่า ต้องแบบนี้ทำนองนี้จึงจะ "มีโอกาส" ได้เข้าถึงความยั่งยืน

เพราะฉะนั้น พูดให้ชัด ความยั่งยืนของโครงการนี้ จะต้องไปอยู่ที่ตัวครู ครูจะได้รับการเอื้อเฟื้อบรรยากาศ กระบวนการแวดล้อมให้ครูได้คลี่ออกและเยียวยาตัวเองอย่างไร ให้ได้เข้าไปสัมผัส ได้ดำรงอยู่กับจิตเดิมแท้อย่างเด่นชัด ทำความรู้สึกให้ชัด และกลับไปได้อีกครั้งแล้วครั้งเล่า ฝึกฝนที่จะดำรงอยู่กับจิตเดิมแท้อย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ สภาวะ ในทุกๆ โอกาส จนเป็นสายต่อเนื่องไม่ขาดตอน ความยั่งยืนจึงจะค่อยๆ ปรากฏ และดำรงอยู่ได้

การเรียนรู้โดยการก๊อปปี้นั้นไม่ใช่เป็นการก็อปปี้ตัวตนในขอบเขตจำกัด แต่เป็นการก็อปปี้พลังงานบริสุทธิ์ เป็นการก๊อปปี้ไปพ้นตัวตน เข้าถึงจิตเดิมแท้ที่ดำรงอยู่ภายในด้วย และเมื่อครูได้ ครูก็จะส่งผ่านปัญญาปฏิบัติ และองค์ความรู้เช่นนี้ไปในการก๊อปปี้นั้นเอง

ดังจะเห็นได้ว่า ในการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ ครูชั้นประถมจะอยู่กับเด็กต่อเนื่องไป ๖ ปี ตามเด็กขึ้นไปในแต่ละชั้นเรียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การ "เป็นให้ดู อยู่ให้เห็น" นั้นสำคัญมาก

ความยั่งยืนของขอบฟ้ากว้าง คือความยั่งยืนของครู หากครูยั่งยืน ห้องเรียนก็อยู่ได้ ครูจะยั่งยืนได้ ต้องเข้าถึงจิตตปัญญาศึกษาที่แท้ ซึ่งได้แก่การพัฒนาภายในต่อเนื่องตลอดเวลา การเยียวยาต้องทำต่อเนื่อง ต้องปลอกหัวหอมลงไปหลายชั้น จึงจะคล่องอกได้อย่างแท้จริง

และอีกประการหนึ่ง ครูที่มาพัฒนาในแนวทางนี้ ครูจะได้มากกว่าการสอนเด็ก เพราะการคลี่ออกเยียวยาจะไปครอบคลุมชีวิตในทุกๆ ทาง ทุกๆ ด้าน ชีวิตโดยรวมก็จะมีความสุขและมีพลังให้กับการเรียนการสอนในห้องเรียนมากขึ้นอีกด้วย

การบริหารจัดการก็เช่นกัน ผู้บริหารก็มีผู้บริหารแบบจิตตปัญญาด้วย จึงจะบริหารอย่างสร้างสรรค์ บริหารอย่างไปพ้นอัตตาตัวตนอันคับแคบ ไปสู่การบริหารด้วยจิตเดิมแท้

โจทย์ที่แท้ คือทำอย่างไรให้ครูยั่งยืนอยู่ในจิตตปัญญา คือการเข้าสู่กระแสแบบไม่ไหลเวียนกลับ เสพติดรสชาติของการหลุดพ้นจนไม่อาจมีชีวิตไปเป็นอย่างอื่นได้อีก

คลี่ออก เยียวยา

วลีนี้ผมได้มาจากคำของ ติช นัท ฮันห์ คือ “Reveal and Heal: คลี่ออกและเยียวยา” ก็แปลอย่างตรงไปตรงมานั้นเอง ระยะหลัง ผมมาทำงานกับการเยียวยามากขึ้น ประชา หุตานุวัตร เพื่อนรักคนหนึ่งที่เกื้อกูลกันตลอดมา ให้กำลังใจกันตลอดมา ได้สนับสนุนผมเรื่อยมาในทางนี้ ประชาบอกว่า ผมเป็นผู้เยียวยาโดยกำเนิด คือมีติดตัวมา เป็นผู้เยียวยาอย่างเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของผม แม้ในวัยหนุ่มสาว เพื่อนๆ ที่ทุกข์ร้อน เมื่อได้มาอยู่กับผม ความทุกข์ ความสับสน ความรู้สึกไร้ค่าด้อยค่าก็จะจางคลายไปได้ อย่างไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มันก็เป็นไปเช่นนั้น

ผมก็อาศัยการสนับสนุนของเพื่อนๆ เช่นนี้ โดยมีประชาเป็นตัวอย่างหนึ่ง กลับมาทำงานเยียวยาอีก โดยเฉพาะเมื่อได้มาศึกษางานของ อาร์โนลด์ มินเดล ผมว่ามินเดลได้ปลดปล่อยงานด้านจิตวิทยา โดยเอามาเชื่อมโยงกับงานพ่อมดหมอผีจากทั่วโลก เขาเข้าไปศึกษาโดยเข้าไปเป็นศิษย์ของพ่อมดหมอผีจากทวีปต่างๆ อย่างน่าสนใจมาก และเอามาเชื่อมโยงกับควอมตัมฟิสิกส์ เขียนหนังสือชื่อ Quantum Mind ที่ เมธาวี เลิศรัตนา ภรรยาของผมกำลังย่อยเป็นตอนๆ ลงในเว็บบอร์ดของวงน้ำชา ที่ www.wongnamcha.com

เอมี มินเดล ภรรยาของเขา ก็เขียนหนังสือชื่อ Alternative to Therapy ผมว่าชื่อหนังสือใหญ่โตมากๆ เลย และผมว่าเป็นหนังสือดีมากที่สุดเล่มหนึ่งในโลกเท่าที่เคยได้อ่านมา ที่ว่าชื่อใหญ่ก็เพราะนำเสนอทางเลือกในการเยียวยาผู้คนที่ป่วยทางจิต น่าสนใจมากๆ เราอาจจะทราบว่า ในเมืองไทย จิตแพทย์ไม่ค่อยทำการบำบัด อย่าว่าแต่จะไปหาทางเลือกของการบำบัดเลย เสียดายที่เราขังตัวเองอยู่ในจิตวิทยากระบวนทัศน์เก่า แม้ที่ก้าวหน้าที่สุดก็ยังเก่ามาก เราไม่เปิดตัวออกไปศึกษาอะไรที่กว้างออกไป เราไม่กล้าแสวงหาปัญญาปฏิบัติของไทยเราเองด้วยซ้ำ ที่สำคัญเราไม่เคยเชื่อมโยงกับพ่อมดหมอผีในบ้านของเรา งานด้านนี้ที่เห็นก้าวหน้าอยู่บ้าง ก็คืองานของหมอโกมาตร ที่ไปศึกษาการรำผีฟ้า แถวๆ อีสานใต้กระมัง

Back to Top