พฤศจิกายน 2007

กระตุ้นต่อมจิตสำนึกใหม่: ภาวะโลกร้อนกับชะตาคนไทย

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2550

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Change) มีผลกระทบโดยตรงต่อสรรพสิ่งในโลก และโดยเฉพาะมนุษย์

เพราะสรรพสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

เมื่ออุณหภูมิของโลกถั่วเฉลี่ยค่อยๆ ร้อนขึ้น มนุษย์ได้เห็นสัญญาณเตือนภัย (Harbingers) ที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ วิกฤติการณ์น้ำท่วมฉับพลัน โคลนถล่ม ไฟไหม้ป่า พายุบ้า...ที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดขึ้นเหล่านี้ มีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงขั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์เอง

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นภาวะที่มนุษย์และโดยเฉพาะคนไทยจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงหรือไม่

ลองมาพิจารณาสัญญาณเตือนภัยเหล่านี้ดู

มีการพูดถึงภาวะโลกร้อนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับโลกกันมากขึ้นโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จะมีผลทำให้เมืองหลายเมืองทั่วโลกจมหายไปในอนาคตที่ไม่ไกลเกินรอ

มีการค้นพบว่า การแข็งตัวของน้ำแข็งขั้วโลกช้าลง แต่ละลายเร็วขึ้น ส่อสัญญาณอันตรายต่อหมีและสัตว์ขั้วโลก

ความสูงของเทือกเขาหิมาลัยลดลงทุกปีเพราะหิมะที่ปกคลุมยอดภูเขาละลาย อุณหภูมิเฉลี่ยของบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ประเทศภูฐานและประเทศเนปาลสูงขึ้นประมาณ ๑ องศาเซลเซียส ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโลกร้อนว่าได้เข้าสู่ขั้นวิกฤติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เฉพาะที่ทวีปเอเชียมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุมาจากการร้อนขึ้น ของโลกปีละประมาณ ๑ แสน ๗ หมื่นคน ปัญหานี้จะทวีเพิ่มขึ้นและมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีดำเนินชีวิตโดยรวมหากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ

ภัยธรรมชาติ หากเกิดขึ้น ยิ่งรุนแรงหรือเกิดบ่อยเท่าไหร่ ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง ที่ต้องพึ่งธรรมชาติก็จะยิ่งลำบาก เพราะขาดรายได้ สูญเสียที่ทำกิน เป็นหนี้สิน กลายเป็นปัญหาของรัฐบาล กระทบกับระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยทั่วไป

เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

สำหรับประเทศไทย หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วมรุนแรงและนานขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกหลักของประเทศเช่นในภาคกลาง ประกอบกับมีความแห้งแล้งต่อเนื่องในบางพื้นที่เช่นในภาคอีสาน ประเทศไทยจะยังคงเป็นอู่ข้าวอู่อาหารหลักของโลกได้หรือไม่

สัญญาณเตือนภัยสำหรับประเทศไทยมีมากมายพอควรที่นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารวบรวมไว้

พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน บริเวณกรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา กำลังประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง บ่อกุ้งและบ้านถูกน้ำทะเลรุกเข้ามาในพื้นที่เหล่านี้ตั้งแต่ ๕๐๐ เมตร ถึง ๒ กิโลเมตร

บางพื้นที่พื้นดินชายฝั่งทะเลสูญหายไป เช่นที่ชายทะเลบางขุนเทียน พื้นดินจมหายไปปีละประมาณ ๑๒ เมตร จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ๕ จังหวัดตอนบน ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ตลอดระยะทาง ๑๐๖.๕ กิโลเมตร ถูกน้ำทะเลกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งไปแล้วกว่า ๑๓,๗๐๐ ไร่

เฉพาะที่ชายทะเลบางขุนเทียน ชุมชนคลองประมง กว่า ๑๐๐ หลังคาเรือน ซึ่งเคยอยู่ห่างจากชายทะเล ประมาณ ๒ กิโลเมตร ปัจจุบันต้องถอยร่นประตูระบายน้ำ เพื่อใช้เลี้ยงกุ้งมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งการย้ายประตูระบายน้ำแต่ละครั้งต้องลงทุนนับแสนบาท บางพื้นที่เคยมีแนวป่าชายเลนหนาแน่น มีต้นแสมหลายไร่ แต่ปัจจุบันถูกน้ำทะเลซัดกัดเซาะอย่างรุนแรง ขุดรากถอนโคนต้นแสมจนหมด น้ำทะเลรุกเข้ามาในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่แก้ปัญหาด้วยการลงทุนนำหินมาถมเป็นเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะ แต่น้ำทะเลก็ยังทะลักท่วมที่ดินเข้ามา ๒๐๐-๕๐๐ เมตร ทำให้ต้องมีหนี้สินมากขึ้น บางครอบครัวต้องย้ายบ้านหนีน้ำถึง ๓ ครั้ง

วัดหงส์ทอง ตำบลสองคลอง ซึ่งมีโบสถ์อยู่กลางน้ำ เดิมทีที่ดินของวัดในโฉนดระบุว่ามีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ แต่ปัจจุบันถูกน้ำทะเลกัดเซาะเหลืออยู่เพียง ๘ ไร่เท่านั้น

ที่ชลบุรี ก็พบว่า ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙ ระดับน้ำทะเลในจังหวัดชลบุรี เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่บริเวณศาลาชายทะเลรวมใจ ในเขต อ.เมือง จ.ชลบุรี ระดับน้ำทะเลสูงกว่าปกติเป็นอันมาก

ที่ภาคเหนือประสบกับปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดเป็นเวลานาน ส่งผลให้ดินบนภูเขาถล่มลงมาปิดเส้นทางคมนาคมหลายๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านหลายพันครัวเรือนไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับพื้นที่ภายนอกได้ บ้านเรือนหลายแห่งหายไปกับสายน้ำ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เด็กๆ หลายคนไม่ได้ไปโรงเรียนเนื่องด้วยเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ประชาชนตื่นตระหนกกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นระยะๆ

ในแง่ของสุขภาพอนามัย สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก็ทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น เช่นโรคระบบทางเดินหายใจ ไอ หอบ โรคภูมิแพ้ เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก อันเนื่องมาจากความแห้งแล้ง เกิดไฟป่า ทำให้มีควันไฟปกคลุมไปทั่ว บางพื้นที่ก็เกิดภาวะทุโภชนาการเพราะมีความแห้งแล้งยาวนาน เป็นโรคขาดอาหารและน้ำ ผู้คนต้องอพยพหนีความลำบากเข้ามาหางานทำในเมือง บางพื้นที่มีน้ำท่วมใหญ่ ก็มีปัญหา โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า ท้องเดินท้องเสีย และโรคที่มากับน้ำอื่นๆ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรร่วมมือศึกษา วิจัย เพื่อรวบรวมองค์ความรู้อย่างเป็นระบบครบถ้วนเท่าที่มี แล้วเผยแพร่ข้อมูลและผลกระทบที่เป็นไปได้ให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจ มีการคาดการณ์แนวโน้ม และภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของโลกและสังคมไทย ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน มิใช่เพื่อทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่เพื่อให้ตื่นตัว และตระหนักถึงอนาคตที่ตนเองมีส่วนร่วมสร้าง ร่วมทำลาย

มิใช่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพียงเพื่อการเตรียมตัวเผชิญ หรือหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เพื่อร่วมสร้างอนาคตร่วมกันอย่างมีสติ มีปัญญา และมีความรับผิดชอบต่อโลก ต่อประเทศ ต่อตนเองและสรรพสิ่ง

เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

การเริ่มต้นวันนี้ ถึงแม้ว่าค่อนข้างจะช้า ก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่มต้น เพราะไม่มีโอกาสจะได้เริ่ม ขอให้วันนี้เป็นวันเริ่มต้นของเวลาที่แต่ละคนมีเหลืออยู่ คิดและทำสิ่งดีๆ ให้กับโลก สังคมไทย ครอบครัว ตนเอง และสรรพสิ่ง เพื่อผ่อนคลายและพ้นภัยจากภาวะโลกร้อน เพื่อสร้างโลกที่สวยงาม สังคมดีมีสันติธรรม คนมีความสุข

ได้เห็นและชื่นชมความงามที่หลากหลายของธรรมชาติ มีอากาศที่บริสุทธิ์สำหรับหายใจ มีน้ำที่ใสสะอาด สำหรับดื่ม มีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สำหรับทุกชีวิตอย่างพอเพียง บนโลกใบเดียวกันนี้

ว่าด้วยเรื่อง 'หยุดการเรียนรู้'

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2550

วันหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสนั่งคุยกับ ณัฐฬส วังวิญญู หลานชาย เรื่อง Evolve Your Brain ซึ่งเขียนโดย โจ ดิสเปนซ่า (Joe Dispenza) บทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ดิสเปนซ่าได้แยกแยะการทำงานของสมองซีกซ้ายซีกขวาไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่าเด็กจะใช้สมองซีกขวา ซึ่งเป็นสมองที่แสวงหาสิ่งใหม่ การเรียนรู้ใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง แต่สมองซีกซ้ายซึ่งเป็นสมองของผู้ใหญ่ จะสรุป แล้วอยู่กับความรู้เก่า ความรู้เดิม

ก่อนอื่น เราต้องไม่ลืมว่าการรับรู้โลกของอายตนะ (senses) ต่าง ๆ ในสมองชั้นต้น การประมวลผลในสมองชั้นกลาง และส่งไปยังสมองซีกขวานั้น สมองซีกขวาจะเป็นความรู้แฝงเร้น (tacit หรือ implicit) เป็นศิลปะ เป็นปัญญาเชิงปฏิบัติ ซึ่งเมื่อถูกแปลความแล้วด้วยสมองซีกซ้าย จะเป็นความรู้เปิดเผย (explicit) เป็นตัวบทหรือเป็นทฤษฎีขึ้นมา

ที่สำคัญ ในหนังสือเล่มดังกล่าวของดิสเปนซ่า เขาได้เขียนถึงเรื่องการเริ่ม ‘หยุดการเรียนรู้’ ของผู้ใหญ่ ณ วัยประมาณยี่สิบตอนปลายและสามสิบตอนต้น กล่าวคือเมื่อคนเราเริ่มจะรู้สึกว่าตัวเองเห็นโลกมามาก มีประสบการณ์มาหลากหลายแล้ว และเริ่ม ‘ใช้ชีวิตด้วยความรู้สึก’

ดิสเปนซ่าได้เขียนไว้ในบทก่อนหน้าของหนังสือแล้วว่า ‘ความรู้สึกคือความทรงจำของประสบการณ์’ กล่าวคือมนุษย์จะจดจำประสบการณ์โดยผ่านความรู้สึก ความรู้สึกเป็นตัวจัดการ จัดแจง และจัดระเบียบประสบการณ์ ความจำ ตลอดจนความคิดที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่ผ่านมาในชีวิตหรือผ่านวัยมา เขาบอกว่า ‘ทุกความคิดจะมีความรู้สึกกำกับอยู่’ ตรงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงความหมายที่แท้จริงของหนึ่งในขันธ์ห้า นั่นคือ ‘สังขาร’ ว่าสังขารคือการปรุงแต่ง คือความคิดที่ปนอยู่ในความรู้สึก หรือความรู้สึกที่ปนอยู่ในความคิดแล้วอย่างแยกไม่ออกและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นอะไรกลาง ๆ ที่สมองใช้ในการจัดระเบียบ จัดหมวดหมู่เพื่อจะนำกลับมาใช้งานได้ และเฉดสีของอารมณ์ความรู้สึกนี้เองที่จะช่วยในการจัดระเบียบความทรงจำแห่งประสบการณ์ รวมทั้งความคิดและความจำได้หมายรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์

เมื่อเชื่อมโยงกับหนังสือว่าด้วยการทำงานของสมองอีกเล่มหนึ่งของ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ เรื่อง From Magical Child to Magical Teen ซึ่งพูดถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามีความสำคัญมากกว่า คือ สมองชั้นล่าง ๆ หรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน และสมองชั้นกลาง จะเรียนรู้ร่วมกับสมองชั้นนอกด้วย ‘วิถีของการทำซ้ำ’ จนกระทั่งชำนิชำนาญ แล้วจะจดจำสิ่งเหล่านั้นเอาไว้อย่างเป็นอัตโนมัติ เมื่อเราคุ้นเคยกับการทำอะไรแล้ว ต่อไป เราก็อาจทำสิ่งนั้นกิจกรรมนั้นได้อย่างเป็นอัตโนมัติ อย่างเป็นกลไก อย่างเป็นเครื่องจักร โดยต้องเข้าใจว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของมนุษย์ที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดในโลก และชุดอัตโนมัติเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้อย่างพร้อมนำกลับมาใช้ได้ตลอดเวลา ความรู้ที่ว่านี้เมื่อเพิ่มเติมด้วยการค้นคว้าของดิสเปนซ่าเข้าไป จะกล่าวได้ว่า ‘ทุกชุดอัตโนมัติเหล่านี้ล้วนมีอารมณ์ความรู้สึกกำกับอยู่ด้วย’

เช่น มีคนเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องการเดินทางว่า เวลาเราเดินทางไปไหน ไปหาใครหรือไปท่องเที่ยว ขาไปและขากลับจะเกิดความรู้สึกแตกต่างกัน โดยเฉพาะความรู้สึกในเรื่องของเวลา คือขาไปจะยาวนานกว่าขากลับ หากลองกลับมาที่ข้อคิดของเพียซซึ่งเป็นนักค้นคว้าประมวลความรู้ทางสมองอย่างเอกอุอีกครั้งหนึ่ง เขาเคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์จะทำซ้ำกับการเรียนรู้หนึ่งใด จนกระทั่งเป็นนายงานของเรื่องนั้น ๆ แล้วจึงจะผ่องถ่ายไปเก็บไว้ในแบบกลไกอัตโนมัติ คือ สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเป็นอัตโนมัติในเวลาต่อมา ดังเราจะสังเกตเห็นได้ว่า หลายกิจกรรมในชีวิตของเราล้วนดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ซึ่งผู้เขียนเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “อัตโนมัติที่หลับใหล” เพราะเราทำไปอย่างเป็นกลไก ทำไปอย่างเป็นเครื่องจักร ทำอย่างไม่ได้ตื่นรู้ แล้วเมื่อถามว่ามีอัตโนมัติอย่าง “ตื่นรู้” ได้ไหม ผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้ อย่างเช่นเวลาเรารำมวยจีน หรือเดินจงกรม หากเราตื่นรู้ มันจะเป็น “อัตโนมัติที่ตื่นรู้”

แต่ชีวิตส่วนใหญ่ของมนุษย์ดำเนินไปใน “อัตโนมัติที่หลับใหล” โดยเฉพาะคนอายุอานามเลยวัยสามสิบขึ้นไป ยิ่งสี่สิบห้าสิบยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเรามักจะคิดว่า ตัวเองรู้แล้ว รู้งานแล้ว รู้เรื่องราวในวิชาชีพตนเองดีแล้ว รู้ประสบการณ์ รู้ชีวิตแล้ว จึงปล่อยชีวิตโดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดให้เป็นไปอย่าง “อัตโนมัติที่หลับใหล”

กลับมาถึงตอนสำคัญของหนังสือ Evolve Your Brain ดิสเปนซ่าบอกว่า ในวัยยี่สิบตอนปลาย และสามสิบตอนต้น เราเริ่มเคลื่อนย้ายท่าทีของชีวิตจากการแสวงหา เรียนรู้ มาเป็นลงหลักปักฐาน เริ่มสร้างบ้านสร้างรถ เลี้ยงลูก ส่งลูกเรียนหนังสือ กล่าวคือชีวิตได้ปรับเข้าสู่การเอาชีวิตรอด หาความมั่นคงปลอดภัยให้กับครอบครัว เป็นการเคลื่อนย้ายออกมาจากวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ ไปสู่วิถีชีวิตแห่งการสร้างความมั่งคงปลอดภัยให้กับครอบครัว และเราอาจจะสรุปไปแล้วโดยไม่รู้ตัวว่า ประสบการณ์ทั้งหมดที่อาจจะมีได้ในโลกนี้ ’ฉันรู้แล้ว’ และตรงนี้เองที่มนุษย์ ’หยุดการเรียนรู้’

ดังนั้น ขอให้ทุกท่านแยกแยะให้ออกระหว่างการเรียนรู้ กับการดาว์นโหลด “ความรู้เดิม” ที่ผู้เขียนมักเรียกว่าเป็น “เทปม้วนเก่า” มาใช้ คือ เรามักจะใช้ความรู้เก่า วิธีเก่า ในการประมวลผลหรือวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และเรามักจะมองปัญหาต่าง ๆ จากมุมมองเดิม ๆ ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาหนึ่งใดได้ จากมุมมองที่เป็นตัวสร้างปัญหาขึ้นมา แม้การจะเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนมุมมองนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราจำต้องออกจาก “อัตโนมัติที่หลับใหล” ต้องออกจากการ “ดาว์นโหลด” เราจึงอาจจะมีมุมมองที่สด มีชีวิต และสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ และเมื่อนั้น การเรียนรู้จึงจะไม่หยุดอยู่กับที่อีกต่อไป

ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า ชีวิตของท่านนั้น นอกจากดาว์นโหลดความรู้เดิม วิธีคิดเดิม มุมมองเดิมไปวัน ๆ แล้ว ท่านได้มีโอกาสมองโลกจากมุมมองใหม่บ้างหรือไม่?

ทำแค่ใช่ ... ไม่ต้องมาก

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550

จดหมายข่าวอิเลคทรอนิกส์ของสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) เดือนตุลาคมนี้ มีการแนะนำให้สมาชิกไปดูคลิปวีดิทัศน์ของ แมรีแอนน์ วิลเลียมสัน นักอบรมชั้นนำคนหนึ่งของโลก เธอเขียนหนังสือขายดีติดอันดับหนึ่งของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์หลายเล่ม และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้มีการจัดตั้งกระทรวงสันติภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา

ในคลิปวิดีโอหนึ่งนาทีนั้น แมรีแอนน์เชิญชวนกึ่งท้าทายให้ผู้ดูร่วมเป็นหนึ่งในประชากรสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เธออ้างถึงงานวิจัยของนักสังคมศาสตร์ที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมโลกหลายครั้งเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มีผู้ที่เชื่อ ต้องการ และเปลี่ยนแปลงก่อนเพียงจำนวนหนึ่ง โดยยกตัวอย่างการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรีในอังกฤษ และการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศสหรัฐอเมริกาจากอังกฤษ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนไม่ต้องมีผู้ต่อสู้เรียกร้องถึงครึ่งหนึ่งของประชากร แต่มีจำนวนที่ “เพียงพอ” โดยเธอบอกว่าเพียงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ตัวเลขนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อเรื่อง มวลวิกฤต (Critical Mass) ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางสังคมศาสตร์พลวัตร อธิบายถึงการมีอยู่ของโมเมนตัมของระบบสังคมที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองและขยายเพิ่มได้ ขออนุญาตยกตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจ เช่น ในเมืองใหญ่ หากมีคนๆ หนึ่งหยุด แล้วแหงนมองดูท้องฟ้า คนอื่นๆ รอบข้างก็จะยังคงเดินไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากมีคนหยุดสักสามสี่คน อาจจะมีบางคนที่สงสัย หันกลับมาดูพวกที่ดูฟ้า แล้วอาจเดินต่อ แต่เมื่อมีคนจำนวนมากพอแหงนหน้าดูท้องฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มากนักในกรณีนี้ (ขึ้นกับหลายปัจจัย) เช่น ประมาณหกถึงเจ็ดคนเท่านั้น คนอื่นๆ ก็จะหยุดแล้วแหงนหน้ามองดูเหมือนกัน จำนวนนี้แหละครับ เรียกว่า มวลวิกฤต

เอาเป็นว่าคุณแมรีแอนน์ เธอท้าให้คนที่เปิดดูคลิปเปลี่ยนแปลงตนเองเสีย จะได้เพิ่มจำนวนผู้เปลี่ยนแปลงไปให้ถึงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ครับ เธอบอกว่าหากตัวเราเองยังไม่เปลี่ยนแปลงก่อน ก็อย่าไปอ้างเลยว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงได้

ผมอยากจะเพิ่มเติมว่า อันที่จริงแล้วเราไม่ต้องรอถึงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์หรอก (ซึ่งสำหรับประชากรโลก ณ วันนี้ สัดส่วน ๑๑ เปอร์เซ็นต์ของหกพันหกร้อยสามสิบกว่าล้านคน ก็ตกราวๆ เจ็ดร้อยสามสิบล้านคน) เพราะจิตของเราแต่ละคนที่เข้าถึงความจริง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

ในมนุษย์จำนวนหกพันหกร้อยสามสิบกว่าล้านชีวิตนี้ แต่ละคนก็ล้วนแต่มีจิตที่คิดสร้างโลกขึ้นมา มีประสบการณ์และสร้างการดำรงอยู่ของตัวตนเราในโลกทางกายภาพนี้ทั้งสิ้น

โลกนั้นดำรงอยู่ในจิตของเรา และเราแต่ละคนต่างเลือกว่าจะมีประสบการณ์ต่อมันอย่างไร สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำ ล้วนก่อประกอบขึ้นเป็นโลกทางกายภาพตามแบบที่เราอยากจะมีประสบการณ์

เราจึงอาศัยอยู่ในโลกแห่งมายาการ ความรู้สึกที่เรามีต่อวัตถุทุกชนิดล้วนเป็นความรู้สึกที่เรามีต่อความสัมพันธ์ของสนามหรือคลื่นพลังงาน เป็นความรู้สึกที่จิตเราแปลผลตีความขึ้นมา และด้วยเหตุที่เราล้วนมีประสบการณ์ต่อมายาการนี้ร่วมกัน เราก็มักคิดตีขลุมเหมาเอาว่าเรานั้นอยู่บนโลกใบเดียวกัน เราเลือกที่จะเชื่อว่าโลกมีอยู่นอกเหนือจากการสร้างของเรา แต่แท้จริงแล้ว โลกนั้นมันอยู่ในจิตของเราเอง

ความพยายามใดๆ ที่เรากระทำเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจเป็นความพยายามที่เปลืองแรง ไปจนถึงขั้นสูญเปล่า เพราะเป็นการไปแก้ไขปรับเปลี่ยนโลกทางกายภาพที่เราต่างสร้างขึ้นและให้ความหมายตีความแตกต่างกัน ในเมื่อโลกเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในใจของเราเองแล้ว การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ควรเริ่มต้นจากตัวเรา เริ่มขึ้นในใจตัวเอง

ตัวอย่างเช่น เรื่องสันติภาพ สันติภาพนั้นมิได้เข้าถึงได้ด้วยการพยายามสร้างให้สันติภาพเกิดขึ้นในโลก หากแต่สันติภาพที่แท้จริงนั้นเข้าถึงได้ผ่านการตระหนักรู้ว่าสันติภาพนั้นมีอยู่แล้ว อยู่ในโลกของคนทุกคน และเส้นทางการเข้าถึงนั้นมีการเดินทางเข้าสู่ด้านในตนเองเป็นบาทฐานสำคัญ

หากหญิงหรือชายใดได้มีสันติในเรือนใจแล้ว ทุกสิ่งที่เธอหรือเขาทำออกมาไม่ว่าด้วยกายหรือวาจาย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำย่อมถูกกระทำด้วยสันติวิธี (นั่นย่อมรวมถึงการพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกด้วย)

อีกทั้งสันติภาพนั้นมิได้เข้าถึงได้ด้วยการพยายามไปเปลี่ยนคนอื่น ความพยายามอันบริสุทธิ์ใจในการสร้างงาน สร้างกิจกรรม สร้างโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมสันติภาพเป็นความพยายามอันน่าชื่นชม หากแต่ต้องชวนผู้คิดและดำเนินการโครงการเหล่านั้นได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเข้าถึงสันติภาพภายในตนแล้วหรือยัง หรืออย่างน้อยได้ใช้งานเป็นโอกาสในการเดินทาง ฝึกฝน และเรียนรู้ในการเข้าถึงสันติภาพที่แท้จริงหรือไม่ เพราะหากโลกภายในไม่มีสันติภาพแล้ว กิจกรรมต่างๆ ก็เป็นเพียงความพยายามอันไปไม่ถึงดวงดาว เป็นกิจกรรมที่ได้แต่รูปแบบ ขาดหัวใจ สาระ หรือจิตวิญญาณของสันติภาพ

โจทย์ของคนทำงานเรื่องสันติภาพหรือสมานฉันท์ รวมทั้งงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงยกระดับสังคมไปสู่การมีจิตใหญ่ ดังเช่น จิตวิวัฒน์ จิตตปัญญาศึกษา พัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ตลอดจนสุขภาวะทางจิตวิญญาณ/ทางปัญญา จึงมีหลายชั้น หนึ่งคือต้องทำการบ้านกับตนเองก่อน หนึ่งคืองานและชีวิตของคนทำงานควรเป็นบทพิสูจน์ของการเดินทางเข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องที่ทำในทุกระดับ ในทุกมิติ และอีกหนึ่งที่สำคัญคือต้องพยายามสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่า เป้าหมายภายในนั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเป้าหมายภายนอก เราไม่สามารถทำงานเรื่องจิตวิวัฒน์โดยไม่ใช้กระบวนการจิตวิวัฒน์ได้

โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ให้ทุน ความตั้งใจที่อยากจะให้เรื่องดีงามแพร่ขยายกระจายไปทั่วแผ่นดินนั้นก็เป็นกุศลเจตนาที่ควรยกย่อง ทว่าจะต้องไม่กระทำอย่างผิวเผินเหมือนกับผลิตสินค้าให้ได้จำนวนมากที่สุดในราคาต่ำสุดและใช้เวลาสั้นที่สุด

ความท้าทายอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตเป็นเรื่องของความปรกติ เป็นเรื่องความสมดุลของการพัฒนาทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ ผสมผสานงาน ครอบครัว และสังคมอย่างพอดี และให้การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมในทุกขณะจิต

ต้องเข้าใจว่าความคาดหวังและคำถามที่ว่า “เปลี่ยนได้กี่คนแล้ว” เพื่อจะได้ถึง ๑๑% เสียทีนั้น ต้องเริ่มนับหนึ่งจากตนเองก่อนเสมอ

Back to Top