มกราคม 2009

ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ขอหัวใจให้จิตตปัญญาศึกษา



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 มกราคม 2552

การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา โดยปรัชญา หลักการและแนวคิด ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หวังให้ผู้เรียนเป็นทั้งคนเก่ง คนดี และมีความสุข แต่จากผลการประเมินของ สมศ. และผลการทดสอบระดับชาติของ สทศ. ยืนยันตรงกันว่า การปฏิรูปการศึกษายังไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งเรียนสูงขึ้น ความสุขและความดีดูเหมือนจะค่อยๆ ลดลง ในขณะที่ความเก่ง ซึ่งหมายถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ไม่ดี จนมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

มีการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์จากหลายฝ่าย สรุปว่า ความล้มเหลวมาจากปัจจัยที่หลากหลาย บางคนโทษครูว่าไม่มีคุณภาพ บางคนโทษผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการว่ามัวแต่สนใจเรื่องการปรับโครงสร้างองค์การเพื่อรักษาหรือสร้างฐานอำนาจ บางคนก็โทษนักการเมืองที่มุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง และอื่นๆ อีกมากมาย ผู้เขียนจะไม่ร่วมวิเคราะห์สาเหตุแห่งความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่รับผล (ผู้เรียน ผู้ปกครอง สังคม...) ก็รับผลไปแล้ว และในความเป็นจริงเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ คงต้องตั้งสติแล้วใช้ปัญญาร่วม (Collective Wisdom) จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาช่วยกันหาวิธีที่จะสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น มากกว่าการพยายามหาสาเหตุของความล้มเหลว กล้าที่จะก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา ไปสู่การร่วมกันสร้างและพัฒนาเป้าหมายและวิธีบรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ที่เป็นไปได้ โดยเริ่มจากการยอมรับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างรู้เท่าทัน แล้วก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสติ มีความรักความเมตตาเป็นฐาน มีปัญญาญาณเป็นตัวนำในการขับเคลื่อน

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอว่า ในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ควรต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังถึงการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของการศึกษาใหม่ที่เรียกว่าจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) มาใช้ในทุกระดับและประเภทของการศึกษา และเพื่อเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการพิจารณา ผู้เขียนขอนำเสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติโดยสรุปของจิตตปัญญาศึกษาดังต่อไปนี้

จิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่เน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาความตระหนักรู้และการเรียนรู้มิติ/โลกด้านใน (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ทัศนะ/มุมมองต่อชีวิตและโลก) ของตนเอง ให้คุณค่าในเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ซึ่งหมายถึงการสังเกตอย่างมีสติต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของตนเองที่เกิดขึ้นจากการเผชิญกับผู้อื่นและโลกภายนอก ผ่านกระบวนการ/วิธีการและกิจกรรมที่หลากหลาย (การนิ่งสงบอยู่กับตนเอง/การเจริญสติ ภาวนา self and group reflection, dialogue, deep listening, journaling, กิจกรรมอาสาสมัคร/บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ศิลปะ ดนตรี โยคะ นิเวศน์ภาวนา...ไปจนถึงพิธีกรรมทางศาสนา) มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental) อย่างลึกซึ้ง (Profound) ทางความคิดและจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับตนเองและโลก ส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิตอย่างมีสติและปัญญา มีความรักความเมตตาต่อตนเองและสรรพสิ่งทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

จิตตปัญญาศึกษาเน้นประสบการณ์ตรงภายใน ให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้โลกภายในของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินแบบจิตตปัญญาศึกษาจะอยู่บนฐานของการเป็นกัลยาณมิตร หรือที่เรียกว่ากัลยาณมิตรเรียนรู้และกัลยาณมิตรประเมิน (Amicable Learning and Evaluation) ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน จิตตปัญญาศึกษาให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ภายใน (Tacit Knowledge) ของแต่ละคน ไม่วิพากษ์ วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ภายใต้บรรยากาศของการเคารพ ยอมรับระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นบรรยากาศแบบเปิด เอื้อให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะเปิดเผยและรู้จักตนเอง (Self Disclosure) และผู้อื่น

จิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ในระดับต่างๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภายในตน (Self/Personal Transformation) การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร (Organizational Transformation) และการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม (Social Transformation) โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ แต่ เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้ง

โดยนัยนี้ จิตตปัญญาศึกษา เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ ส่วนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเป็นเป้าหมาย แต่เป็นเป้าหมายที่ไม่คงที่ (Static) เพราะเป้าหมายนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง

อาจสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้



ในปัจจุบัน มีองค์กร หน่วยงานและสถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ เอกชนและ NGO ที่ตื่นตัวและให้ความสนใจเรื่องจิตตปัญญาศึกษา นำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาไปเผยแพร่ผ่านการอบรม การฝึกปฏิบัติ รวมไปถึงการเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษาในระดับประกาศนียบัตรและปริญญาบัตรหลายแห่งทั่วโลก

ในประเทศไทย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแรกที่เปิดหลักสูตรระดับปริญญามหาบัณฑิตในสาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง มีการทำวิจัยทางจิตตปัญญาศึกษาที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษา มีการวิจัยและพัฒนาหารูปแบบการเรียนการสอนด้วยการนำองค์ความรู้ที่รวบรวมได้ไปทดลองใช้ในห้องเรียนจริงที่มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การวิจัยพัฒนาชุนชน (พุทธมณฑล) แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) มีการอบรมพัฒนาด้านจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงให้กับบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยและเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการสนับสนุนอย่างจริงจังของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ถึงขั้นกำหนดให้เรื่องการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เป็นนโยบายหลักในวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objectives) ด้านความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน (Teaching and Learning Excellence) มีรองอธิการบดีสี่ท่านเข้ามาเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ภาควิชาศึกษาศาสตร์และเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดว่าจะเปิดสอนได้ในปีการศึกษา ๒๕๕๓

การอบรม การวิจัย การเปิดหลักสูตร และการสร้างและพัฒนาเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นความกล้าหาญทางวิชาการและจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษาที่สมควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดตั้งหน่วยงานภายในคณะครุศาสตร์ คือศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา และโดยการสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษาแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษาได้จัดอบรมด้านจิตตปัญญาศึกษาให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ๒ รุ่น รุ่นละ ๕ หลักสูตร หลักสูตรละ ๓ วันในปีการศึกษา ๒๕๕๑ และภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ทางศูนย์จะจัดอบรมให้คณาจารย์คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ๒๕ แห่งที่เข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๐๐ คน เพื่อเรียนรู้และนำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาไปพัฒนารายวิชา/หลักสูตร แล้วนำไปทดลองปฏิบัติจริงในชั้นเรียน

การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ หากมีหัวใจให้จิตตปัญญาศึกษา รัฐบาลจะไม่ได้เริ่มอย่างโดดเดี่ยว หากแต่มีหน่วยงาน องค์กร สถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาศรมศิลป์ และอีกบางแห่งได้ทดลองนำร่องไปส่วนหนึ่งก่อนแล้ว หากกระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ โดยเฉพาะรัฐบาล มีเจตนาดีและมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ผู้เขียนเชื่อว่าเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาพร้อมและยินดีที่ร่วมเดินทางปฏิรูปไปกับท่าน

คุณค่ากลาง



โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 มกราคม 2552

คุณค่ากลาง (Common values) เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเป็นชุมชนเรียนรู้ (Learning community) การที่สังคมไทยจะเป็นสังคมเรียนรู้ในระดับชาติหรือระดับโลกได้ ต้องพิจารณาเรื่องคุณค่ากลางให้ถ้วนถี่ว่า ณ วันนี้ เรามีคุณค่าอะไรร่วมกันอยู่บ้าง เหตุผลความจำเป็น รวมทั้งความรู้สึกร่วมที่แท้จริง

นักจิตวิทยาชุมชน แมคมิลแลน (McMillan) และ ชาวิส (Chavis) ได้นำเสนอไว้ในวารสารจิตวิทยาชุมชน (Community Psychology) ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ว่าการจะเป็นชุมชนเรียนรู้ จะมีองค์ประกอบ ๔ ประการคือ ๑. ความรู้สึกเป็นสมาชิก ๒. การมีอิทธิพลต่อกัน ๓. ปัจเจกแต่ละคนสามารถบรรลุความต้องการพื้นฐานได้ ๔. การมีส่วนร่วมในปรากฏการณ์และความรู้สึกร่วม

ถามว่าสังคมไทยจำต้องเป็นสังคมเรียนรู้หรือไม่ ผู้เขียนขอตอบว่า “จำเป็น” เพราะไม่เช่นนั้น เราจะผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะไม่เรียนรู้ว่าผิดพลาดเรื่องอะไร อย่างไร ไม่รู้ว่าผิดพลาดที่หลักการหรือ ผิดพลาดที่การปฏิบัติ ซึ่งโดยมากมักจะผิดพลาดที่การปฏิบัติ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ ไม่มีระบบรองรับในการตัดสินใจ ความผิดพลาดในการปฏิบัตินั้น สามารถเรียนรู้ได้ แก้ไขได้ แต่ที่ผ่านมา เมื่อเกิดความผิดพลาดใดๆ เรามักเหมารวมว่าผิดไปทั้งหมด รวมทั้งหลักการด้วย เลยคิดจะรื้อใหม่ทั้งระบบ ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น เพราะอาจจะกระทบต่อคุณค่ากลางอื่นๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมโดยรวม และแน่นอนที่สุด ย่อมกระทบไปทั้งโลกด้วย เนื่องจากยุคสมัยนี้ ข้อมูลและความสัมพันธ์ทั้งหลายได้ถูกเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายทั่วไปหมดแล้ว และหากไม่ตระหนักในเรื่องนี้ให้ดี สุดท้ายจะกลายเป็นความขัดแย้งและพัฒนาตัวไปสู่สงครามในที่สุด

ณ วันนี้ การพูดคุยกันเรื่ององค์ประกอบของการเป็นชุมชนเรียนรู้ เป็นเรื่องที่สนใจกันทั่วโลก ต้องถามว่า องค์ประกอบเหล่านี้มีความชัดเจนหรือยังในบ้านเมืองเรา จะเห็นได้ชัดว่า เมื่อคนในสังคมมีความรู้สึกร่วมและรู้สึกได้ถึงศักยภาพของตนที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม คนก็จะสนใจเป็นสมาชิกของสังคมและมีความต้องการที่จะเรียนรู้ร่วมกัน แต่ถ้าหากคนไม่รู้สึกถึงความเป็นสมาชิก ไม่ได้รับการดูแลกันในเรื่องความต้องการพื้นฐาน คนย่อมจะไม่อยากเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

หากจะถามว่า ประเทศไทยเราเป็นสังคมเรียนรู้ได้หรือไม่ ต้องถามก่อนว่า เราสามารถสร้างองค์ประกอบพื้นฐานทั้ง ๔ ประการให้คนแต่ละคนรู้สึกถึงความต้องการที่จะเป็นสมาชิกในสังคมเรียนรู้หรือไม่ จะเห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมา เมื่อคนไทยผิดหวังในผู้นำประเทศ ก็จะสนใจเรียนรู้เรื่องราวในประเทศของตนน้อยลง แต่หันไปสนใจประเทศอื่นแทน เช่น ไปสนใจ บารัค โอบามา ผู้นำของสหรัฐอเมริกา บางครั้งเราจะได้ยินถึงถ้อยคำยกย่องให้ บารัค โอบามา เป็นผู้นำของโลกด้วยซ้ำ โดยไม่ต้องตีเมืองกันให้เสียเวลาเสียทรัพยากร ก็เนื่องมาจากปรากฏการณ์ของความรู้สึกร่วมและความปรารถนาที่จะเป็นสมาชิกของสังคมเรียนรู้นั่นเอง ผู้คนเริ่มจะมองตนเองในฐานะประชากรของโลก แทนที่ความเป็นประชากรในประเทศ เพราะดูแล้วมีความหวังต่อชีวิตมากกว่าในแง่ของการตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน และความหวังที่แต่ละคนจะสามารถมีอิทธิพลต่อกัน

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ในฐานะเป็นคนผิวสี ที่ก่อนหน้านี้มักจะถูกมองว่าเป็นประชาชนชั้นสองหรือชั้นสามนั้น เขายืนยันที่จะมีป้ายหาเสียงที่ห้อมล้อมไปด้วยคนผิวสี คนเอเชีย และคนกลุ่มน้อย เป็นการท้าทายและพิสูจน์ใจของคนอเมริกันทั้งหมดว่า เชื่อมั่นในคุณค่าของ “ความเท่าเทียม” ของมนุษย์จริงหรือไม่ เขาอยากเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องที่มีพื้นฐานดี หรือได้รับการยอมรับมาตั้งแต่เกิด แต่สามารถพัฒนาตนเองได้ และเป็นไปได้สำหรับมนุษย์ทุกคนที่จะมีความหวังในชีวิต สามารถเคารพกันจริงๆ ในฐานะมนุษย์กับมนุษย์ นี่คือ คุณค่ากลาง ที่ทุกคนยอมรับ และไม่ใช่เป็นเพียงความสำเร็จของประธานาธิบดี บารัค โอบามา เท่านั้น แต่เป็นความสำเร็จของคนอเมริกันทั้งหมด ที่แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แต่เพียงหลักการในคำประกาศเท่านั้น โอบามาจึงเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากคนทั่วโลก

คุณค่ากลางอีกประการที่ขาดไม่ได้ คือ อิสรภาพและเสรีภาพทางความคิดและจิตวิญญาณ ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาจะเห็นชัดว่า ไม่ว่าหลักการจะดียิ่งประการใด หากในทางปฏิบัติเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของคน จะทำให้ล้มเหลว ดังที่เกิดปรากฏการณ์การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ที่แม้รัฐบาลเยอรมันตะวันออก ที่เป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ จะพร่ำบอกถึงคุณงามความดีของการเป็นประชากรที่ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน โดยแบ่งปันรายได้อย่างเท่าเทียม ทำงานวันละไม่มาก มีเวลาอ่านหนังสือดีๆ ที่รัฐบาลเลือกให้ และได้พบปะผู้คนในชุมชน ทำงานเพื่อแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้แก่กันและกัน แต่คนก็อพยพออกจากเบอร์ลินตะวันออกไปอยู่เบอร์ลินตะวันตกมากขึ้นทุกที ทั้งนักวิชาการ นักปราชญ์ หมอ ทนาย ฯลฯ จนกระทั่งรัฐบาลตัดสินใจสร้างกำแพงล้อมเบอร์ลินตะวันตกเป็นเกาะขนาดประมาณ ๑,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร อยู่ใจกลางเยอรมันตะวันออก มีทหารยามรักษาการณ์ไม่ให้คนเข้าไปในเบอร์ลินตะวันตกที่เป็นส่วนของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ซึ่งเป็นพื้นที่ของระบบเสรีนิยม

แต่ก็ยังไม่สามารถทัดทานการอพยพย้ายถิ่นฐานได้ กลับเกิดปรากฎการณ์ที่คนทั่วทุกสารทิศจากแผ่นดินเยอรมันตะวันออกอันกว้างใหญ่ พยายามที่จะเสียงตายหลบหนีอย่างผิดกฎหมายเข้าไปในเบอร์ลินตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ ในระยะเวลา ๒๘ ปี เกิดการหลบหนีถึง ๕,๐๐๐ ครั้ง ซึ่งเฉลี่ยต่อปีแล้ว คือหนีวันเว้นวัน เป็นปรากฏการณ์ที่โลกตกตะลึง และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไปว่า แท้จริงแล้ว คนต้องการอิสรภาพในการเลือก มากกว่าต้องการให้ผู้อื่นกำหนดให้ คนไม่ต้องการถูกบังคับ และชัดเจนว่าคนย่อมละเลิกกิเลสต่างๆ เมื่อเขาเห็นโทษทุกข์ด้วยตัวเองแล้วเท่านั้น

ปรากฏการณ์การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ทำให้เป็นที่มาของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้นำสหรัฐฯ ทุกสมัย รวมทั้งโอบามา ที่มักจะอ้างถึงกำแพงเบอร์ลิน ที่เปรียบเสมือน “กำแพงในใจของคน” เขากล่าวว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชนชาติใด ย่อมได้รับความเสมอภาคและการเคารพในฐานะมนุษย์ ย่อมได้รับเสรีภาพและอิสรภาพอย่างเท่าเทียมกัน โอบามาจะพูดบ่อยว่า “The wall must be tear down (กำแพง (ในใจ) ต้องถูกทลายลง)” ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประโยคคลาสสิก “Tear down this wall (จงทลายกำแพงนี้เสีย)” ของประธานาธิบดี โรนัล เรแกนด์ ที่ท้าทายจิตใจของ มิคาเอล กอร์บาชาฟ ผู้นำสหภาพโซเวียต จนกระทั่งกอร์บาชอฟสามารถทำลายกำแพงในใจตนเองได้ และกำแพงเบอร์ลินก็ถูกทำลายลงด้วย จนกอร์บาชอฟได้รับความนิยมว่าเป็นผู้นำที่โลกไม่มีวันลืม (บุญคุณ)

โอบามายังให้กำลังใจคนทั้งโลกด้วยประโยคว่า “Yes, we can (ใช่ เราทำได้)” เป็นประโยคที่มนุษย์ทุกคนบนโลกได้รับกำลังใจไปตามๆ กัน จนหลายคนบอกว่า วันนี้สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงแล้ว แม้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่เคยล้มการปกครองเลยก็ตาม แต่สามารถเรียนรู้และพัฒนาให้ความผิดพลาดลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ได้ จากการยืนหยัดที่จะเป็นสังคมเรียนรู้ร่วมกัน สร้างองค์ประกอบ ปัจจัยการเรียนรู้จนสำเร็จ ณ วันนี้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงแล้ว คุณค่ากลางจากจิตวิญญาณภายในของคนอเมริกันฉายออกมาในระดับกายภาพอย่างชัดเจนแล้ว ที่เหลือก็เป็นปัญหาและโทษทุกข์ทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เองก็ยอมรับแล้วเช่นกัน และจะแก้ไขต่อไป

ส่วนประเทศไทยก็ควรเรียนรู้และไม่จำเป็นต้องถอยหลังไปผิดพลาด ให้เหมือนกับลอกเขามาทุกประการก็น่าจะดี

กล้าสอน (๓) :
กระบวนการสอนที่แตกต่าง



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มกราคม 2552

หนึ่งในสามประเด็นเรื่อง “กล้าสอน” อันเป็นข้อสุดท้ายที่พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) พูดถึง คือ “เรื่องของวิธีการสอน” ในบทความเรื่อง “กล้าสอน (๑) และ (๒)” ผมได้พูดถึง หนึ่ง ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู สอง เรื่องขององค์ความรู้ ใน “กล้าสอน (๓)” ผมจะพูดถึงประเด็นวิธีการสอน ซึ่งผมคิดว่าพาล์มเมอร์กำลังพูดถึง “วิถี” มากกว่า “วิธี” และที่จริงเรื่องวิธีการสอนก็ไม่ได้แยกออกไปจาก “ตัวตนของครูและองค์ความรู้” เลย แต่การพูดถึงวิธีการสอนต่างหากออกมา โดยกลับไปเชื่อมโยงกับทั้งสองประเด็นก่อนหน้าบ้างนั้น จะมีมิติใหม่ที่ทำให้เราสามารถเห็นและเข้าใจกระบวนการสอนแบบนี้มากขึ้น

พาล์มเมอร์ให้ความสำคัญกับการโอบกอดคู่ตรงกันข้าม หรือธรรมชาติที่มีขั้วสองอย่างที่ขัดแย้งกัน หากแต่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า paradox ซึ่งคนที่สนใจพุทธศาสนานิกายเซนจะคุ้นเคยกับ “นัยยะขัดแย้ง” เช่นนี้ ยกตัวอย่างในวิธีการสอนโดยโอบอุ้มเวทีการเรียนรู้ พาล์มเมอร์ใช้คำว่า “open but charged” คือ ผู้นำพาการเรียนรู้จะสร้างพื้นที่เปิด แต่ในขณะเดียวกันก็ charged ด้วย อาจจะแปลว่า เปิดเหมือนไม่เปิด แต่ก็ยังเปิดอยู่ และสร้างแรงกดดัน คือ เพิ่มแรงเพิ่มความเข้มข้นเข้าไปในวงเปิดนั้น หรืออีกคำหนึ่งของพาล์มเมอร์ คือ “open but bound หรือ เปิดแต่ก็มีขอบเขต” นี่เป็นตัวอย่างของการนำแนวทางสองอย่างที่ฟังดูขัดแย้งกัน แต่นำมาวางคู่กัน อยู่ด้วยกัน

ปัญญาแห่งวิธีการสอนดังกล่าว เป็นปัญญาปฏิบัติ เป็นศิลปะ มิใช่เป็นสิ่งที่พอได้อ่านถ้อยคำอธิบายแล้ว แม้ไม่มีประสบการณ์มาเลย ก็ยังเอาไปทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้นเด็ดขาด หากแต่จะต้องนำไปปฏิบัติ และอาจจะต้องเคยเห็นพื้นที่เปิดที่เต็มไปด้วยพลังอัดแน่นอย่างเข้มข้นมาก่อนด้วย การเรียนรู้แบบที่พาล์มเมอร์อยากให้เกิดในห้องเรียนนั้น เขากล่าวว่าต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการตื่นรู้อย่างไม่ธรรมดาให้เกิดขึ้น เมื่อได้บรรยากาศเช่นนั้นแล้ว นั่นแหละจึงจะเกิดการเรียนรู้อย่างไม่ธรรมดา อันเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง ผมคิดถึงการตื่นตัวพิเศษด้วยจิตตื่นโพลง ด้วยจิตตื่นรู้ ที่ไม่เพียงผ่อนคลายและปลอดภัย แต่มากกว่านั้น จะทำอย่างนั้นได้ ไม่มีทางเลยที่ครูจะไม่นำพาตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันอย่างทุ่มเททั้งตัว ตัวตนของครูต้องเข้ามา ต้องเปิดและอัดพลังเข้มข้นเข้ามาด้วย

ใน เวิลด์คาเฟ่ หนังสือเล่มหนึ่งของทีมเวิลด์คาเฟ่ ที่นำเสนอกระบวนการเรียนรู้แบบไดอะล็อค อย่างหนึ่ง จวนนิต้า บราวน์ (Juanita Brown)ใช้คำว่า “ทำซุปให้ข้น” ในวงการที่ศึกษาเรื่องสมองจะใช้คำว่า “Optimum Learning State” หรือ “สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” ซึ่ง แอนนา ไวส์ (Anna Wise) ได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือของเธออัน เกี่ยวกับคลื่นสมอง กล่าวคือใน “สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” นี้ คลื่นสมองจะทำงานพร้อมกันเต็มพิกัด ทุกคลื่น หมายถึงสมองสามชั้นจะทำงานร่วมกันเต็มพิกัด ก่อให้เกิดจิตตื่นรู้ อันเป็นที่จิตสามารถมองเห็นโลกภายนอกภายในพร้อมกันอย่างแจ่มชัด ทรงพลัง และมีพลังขับเคลื่อนเตรียมพร้อมที่จะเขียนโลกใบใหม่ โดยเขียนโลกภายในใหม่ พร้อมกันการสังเกตที่โลกภายนอกนั้นจะค่อยๆ คลี่บานยักย้ายเปลี่ยนแปลงไปตามโลกภายในที่เขียนขึ้นใหม่ กล่าวคือ การศึกษาที่แท้จริง เป็นการศึกษาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวตน หรือในโลกภายในของผู้เรียน ซึ่งเมื่อโลกภายในเปลี่ยน โลกภายนอกก็จะแปรเปลี่ยนตามไปด้วยกัน

ถ้าเราเอา “ชุดความรู้แบบเก่า” เข้าไปจับ เราอาจจะพยายามถอดบทเรียนของครูชั้นเซียน ออกมาเป็นวิธีการสอน แล้วเอาไปให้ครูฝึกหัดลอกเลียนใช้กัน แต่แล้วมันจะออกมาไม่ได้ตามที่ครูชั้นเซียนเคยทำได้ เพราะนี่คือปัญญาปฏิบัติ หรือ ศิลปะ ซึ่งลอกเลียนจากภายนอกไม่ได้ ปัญญาปฏิบัติจะขึ้นต่อบริบทที่มีชีวิต ณ ขณะนั้นๆ ด้วย ความเข้าใจในกลุ่มคนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วม บรรยากาศสภาพ แวดล้อม ธรรมชาติแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ระบบนิเวศ ใจคนที่เข้าร่วม ภูมิหลัง ความเป็นมาของผู้เข้าร่วม การตื่นโพลง ความรับรู้อันแหลมคมเป็นพิเศษของครูชั้นเซียนคนนั้น ทั้งหมดทั้งสิ้น นี่คือความหมายที่แท้จริงของปัญญาปฏิบัติ วิธีการสอนไม่ตายตัว หากแต่ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง ตลอดเวลา

สเตฟานี เพจ มาร์แชล (Stephanie Pace Marshall) หนึ่งในนักการศึกษาคนแรกๆ ที่พยายามหันเหระบบการศึกษาให้กลับมาใช้อุปไมยอุปมาของระบบชีวิต ได้กล่าวถึงมิติวิธีการสอนในระดับชุมชน โดยได้พัฒนาแนวคิด การสร้างสรรค์ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างก่อเกิด” เอาไว้อย่างน่าฟังในหนังสือ The Power to Transform: Leadership that brings learning and schooling to life (2006) โดยเธอได้กล่าวว่า

“ชุมชนการเรียนรู้อย่างก่อเกิดย่อมจะ

๑. เชื้อเชิญ พัฒนา และหล่อเลี้ยงศักยภาพอันมีอยู่อย่างหลากหลายในตัวเด็ก ในการสร้างความหมาย บูรณาการ สำรวจ ค้นพบ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดปัญญา

๒. เชื่อมโยงเด็กกลับไปสู่โลกแห่งธรรมชาติ ชุมชน และครอบครัวของมนุษยชาติอีกครั้ง เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงกลับไปสู่เอกภาพ องค์รวม การอิงอาศัยกันและกัน ความหลากหลาย ความสดใหม่ ตลอดจนการสรรค์สร้างของระบบชีวิตอันปราศจากขอบเขตจำกัด

๓. ให้เด็กได้กลับไปหมั้นหมายกับความร่ำรวยของชีวิตด้านใน อันได้แก่ อารมณ์ความรู้สึก ญาณทัศนะ จินตนาการ ความรัก ประสบการณ์ และจิตวิญญาณ เพื่อนำไปเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้

๔. หล่อเลี้ยงศักยภาพในเด็กแต่ละคน เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพขึ้นมาในชีวิตของตัวเอง อย่างชาญฉลาด และ “ร่วม” ก่อร่างสร้างอนาคตแห่งมนุษยชาติ ด้วยการพัฒนาศักยะแห่งการเผยออก หรือความสามารถในการสืบค้นความหมายจากแบบแผนต่างๆ การคิดเชิงระบบ การมองการณ์ไกล และสามารถกระทำการด้วยฐานแห่งจริยธรรม”

แล้วสำหรับวิธีการสอน หรือกระบวนการเขียนโลกใบใหม่ระดับสังคม เธอได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ไม่มีช่วงเวลาไหนสำคัญเท่าช่วงเวลานี้อีกแล้ว ที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ และออกแบบระบบโรงเรียนใหม่ ให้เป็นที่ซึ่งจิตใจ หัวใจ และจิตวิญญาณของเด็ก ตลอดจนอนาคตของมนุษยชาติจะได้รับการหล่อเลี้ยงให้เจริญงอกงาม อนาคตของมนุษยชาติจะถูกกำหนดขึ้นด้วยจิตของเด็ก ตลอดจนคุณภาพแห่งการดำรงอยู่บนพื้นพิภพของพวกเขาเหล่านั้น นี่คือเวลาแห่งการปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้ายออกจากกระบวนทัศน์แบบลดทอน สั่งการ และการทำอะไรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันของระบบโรงเรียน นี่เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดแล้วที่เราจะสรรค์สร้างการเรียนรู้และระบบโรงเรียนอย่างก่อเกิด ซึ่งสนับสนุนเกื้อกูลชีวิต และเป็นเรื่องราวของเด็กเฉพาะแต่ละคนที่จะได้รับการปลุกเร้าให้เกิดจิตใจอันมีองค์รวม สุขภาวะ สั่นไหวด้วยคลื่นพลังอย่างกระตือรือร้น และกอปรไปด้วยปัญญา อันเป็นปัญญาที่จะหาหนทางอันเป็นธรรมชาติของตัวเอง ในการที่จะสร้างสรรค์อนาคตของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ฉะนั้น การเล่าเรื่องเสียใหม่เช่นนี้ จะกลายมาเป็นแผนที่นำทางอย่างใหม่ให้แก่เรา”

การระเบิดของความรู้แจ้ง



โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 มกราคม 2552

ฟิลิซีตี้ เป็นนักศึกษามานุษยวิทยาที่มาสนใจศึกษาเรื่องวัฒนธรรมเกี่ยวกับความตายที่เมืองไทย ผมมีโอกาสพบเธอหลายครั้งและได้เรียนรู้จากเธอทุกครั้ง แต่ครั้งหลังสุดนี้ เธอทำให้ผมได้ฟังเรื่องราวที่ผมคิดว่าดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม

วันนั้น เธอถามเรื่องหนังสือที่อ่านกันในกลุ่มจิตวิวัฒน์ว่า ผมชอบเล่มไหนมากที่สุด

ผมคิดถึงหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาทันที เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ The Doors of Perception เขียนโดย อัลดัส ฮักซ์ลี่ย์ (Aldous Huxley) นักคิด นักเขียนและนักปรัชญาคนสำคัญ ที่บรรยายประสบการณ์ทางจิตหลังจากที่เขาได้ทานยาชื่อ เมสคาลีน (Mescaline) ซึ่งเป็นสารประเภทเดียวกับที่สกัดได้จากต้นกระบองเพชรที่ชาวอินเดียแดงพื้นเมืองใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับการเข้าสู่ภวังค์เหนือจิตสำนึก

ฮักซ์ลี่ย์ต้องการศึกษาผลของสารนี้ต่อจิตรับรู้ของมนุษย์ จึงลงทุนทดลองทานยาและทำการสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เขาบรรยายอย่างละเอียดถึงความรู้สึกนึกคิด ผัสสะการรับรู้โลก ทั้งการเห็น การได้ยิน การเปลี่ยนแปลงของกาละอวกาศ ความอ่อนไหวทางสุนทรียภาพ และความงาม

ฮักซ์ลี่ย์เชื่อว่า สารเมสคาลีนได้ปลดปล่อยกลไกการควบคุมของสมอง ทำให้โลกแห่งการรับรู้ของเราเปิดกว้าง เป็นอิสระ และเข้าถึงความจริงและความงามที่ยิ่งใหญ่ไพศาลได้อย่างไร้ขอบเขต ทั้งความละเอียดอ่อนในการสังเกต ความลุ่มลึกทางปรัชญาและภาษาแห่งกวีที่สละสลวย ทำให้งานเขียนเล่มเล็กๆ นี้จับใจผมตลอดมา

เมื่อเล่าถึงตรงนี้ ทำให้ผมคิดได้ว่ามีหนังสือชื่อ Death and Philosophy ซึ่งมีบทความเรื่อง “ความตายของฉัน” หรือ My Death ที่เขียนโดย เทม ฮอร์วิตซ์ (Tem Horwitz) ซึ่งพรรณนาความตายที่เขาเผชิญเพราะอาการช็อคจากการแพ้อย่างรุนแรงที่เรียกว่า anaphylactic โดยที่มีสติสัมปชัญญะดีเยี่ยม

เขาบอกว่า เขารู้สึกได้ถึงความตายที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างทางที่นั่งในรถที่ภรรยาขับบึ่งพาเขาไปโรงพยาบาล เขาเฝ้าดูมันและไม่รู้สึกกลัวเพราะมันเป็นประสบการณ์ที่น่ามหัศจรรย์ เขารู้สึกได้ถึงการสลายไปของอุปาทานและความผูกพันยึดมั่นทั้งหลาย ความตายเป็นเช่นนี้เอง ไร้ขอบเขต ไร้กาลเวลา ไร้ซึ่งตัวตนและอัตตา และไม่มีตัวเราที่เฝ้าสังเกตโลก เพราะเรากับโลกไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้ ไม่เหลือเส้นแบ่งระหว่างเรากับสิ่งอื่น ไม่มีสิ่งที่เป็นเราหรือไม่ใช่เราอีกต่อไป

เขารู้สึกว่าสังขารนั้นหนักและน้ำหนักทั้งหมดกดถ่วงลงกลางลำตัวจนเขารู้สึกจมดิ่งลึกลง ลึกลง เขาฟื้นขึ้นอีกครั้งเพราะแพทย์ที่โรงพยาบาลช่วยชีวิตเขาไว้ทัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเขาฟื้นกลับมามีชีวิต ความรู้สึกนึกคิดของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหัศจรรย์ “เวลา” เดินทางช้าลงจนเขาสามารถมีสติรับรู้สรรพสิ่งอย่างแจ่มชัด ขอบเขตของตัวตนของเขาพร่าจางจนรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งอันเดียวกับสรรพสิ่งมากขึ้น มีอิสรภาพและโปร่งเบาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กำแพง โต๊ะเก้าอี้และผู้คนที่เคยเห็นเป็นของแข็ง เขากลับรู้สึกว่ามันมีรูพรุนและเต็มไปด้วยช่องว่างระหว่างอณู สรรพสิ่งดูไร้ตัวตน ไร้ขอบเขต และเขามีชีวิตด้วยความรู้สึกเข้าใจความเป็นจริงของโลกและสรรพสิ่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

พอผมเล่าถึงตอนนี้ ฟิลิซีตี้ก็แทรกขึ้นอย่างทนไม่ได้และถามผมว่า “คุณหมอรู้จักเว็บไซต์ชื่อ www.ted.com ไหม ในเว็บไซต์ที่ว่า เรื่องราวความเจ็บป่วยของผู้หญิงคนหนึ่ง คล้ายกับที่คุณหมอเล่านี้มากทีเดียว”

วันต่อมา เธอส่งลิ้งค์มาให้ผม ผมเข้าไปดูและพบว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ในชีวิต

Ted เป็นเว็บไซต์ที่มีรวบรวมวิดีโอที่มีสาระและความคิดดีๆ ไว้เผยแพร่ คำขวัญของเว็บไซต์แห่งนี้คือ Ideas Worth Spreading หรือความคิดที่มีค่าควรเผยแพร่

วิดีโอที่ฟิลิซีตี้แนะนำนี้ชื่อว่า A Stroke of Insight จะแปลว่า การระเบิดของความรู้แจ้งก็ได้ เป็นเรื่องเล่าของนักวิทยาศาสตร์หญิงคนหนึ่งชื่อ จิลล์ โบลเต เทย์เลอร์ (Jill Bolte Taylor) เธอศึกษาสมองของมนุษย์ วันหนึ่งเมื่อเธอตื่นขึ้นตอนเช้า เธอรู้สึกมึนศีรษะอย่างแรงแต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากจึงไปออกกำลังกายตามปกติ เธอนั่งโยกกรรเชียงบกอยู่สักพักก็รู้สึกว่าความรับรู้โลกและตัวตนของตัวเธอเริ่มแตกต่างไปจากเดิม

เธอไม่เข้าใจว่าทำไมเธอจึงมานั่งโยกกรรเชียงอยู่ มือไม้และร่างกายของเธอก็ดูแปลกๆ มันเหมือนกับเธอกำลังมองมาที่ตัวของเธอเองจากที่ไหนสักแห่ง

เมื่อออกกำลังกายสักพัก อาการก็ไม่ดีขึ้น เธอจึงลุกขึ้นจากเครื่องกรรเชียงบกและเริ่มรู้สึกว่าร่างกายของเธอไม่เหมือนเดิม เธอเดินไปเข้าห้องน้ำและเซจนต้องใช้มือยันผนังไว้ เมื่อเธอมองไปที่มือของเธอ มันเหมือนกับว่าอณูของมือเธอนั้นได้แผ่ซ่านแทรกซึมไปกับผนังห้องน้ำ เส้นแบ่งระหว่างตัวเธอและสรรพสิ่งพร่ามัวลง ทันใดนั้นทุกอย่างเงียบสนิทเหมือนปิดสวิทซ์และความรู้สึกนึกคิดของเธอก็ถูกตรึงไว้ด้วยสนามแห่งพลังอันวิจิตรที่ผสานโลกและตัวเธอเป็นหนึ่งเดียว เธอรับรู้ถึงความอิสระ เบาสบาย และไร้ขอบเขต

เธออยู่ในภวังค์สักพักก็กลับมารู้สึกตัวอีกครั้งและพบว่าแขนขาข้างขวาของเธออ่อนแรง

ความที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับระบบสมองทำให้เธอรู้ทันทีว่าเส้นเลือดในสมองของเธอแตกแน่ เพราะอาการปวดศีรษะที่เพิ่มขึ้นและแขนขาอ่อนแรงด้านขวาจะต้องเป็นผลมาจากเส้นเลือดแตกในสมองข้างซ้ายอย่างไม่ต้องสงสัย

สมองซีกซ้ายและซีกขวาของเรานั้นทำงานต่างกันแต่เสริมกัน สมองซีกขวาคุมร่างกายซีกซ้าย ส่วนสมองซีกซ้ายคุมร่างกายซีกขวา นอกจากนั้น สมองซีกซ้ายยังทำงานแบบวิเคราะห์แยกแยะ จัดระบบ จัดหมวดหมู่และลำดับก่อนหลัง ทั้งยังรับรู้โลกแบบที่มีตัวตนของเราเป็นศูนย์กลางอีกด้วย ส่วนสมองซีกขวารับรู้โลกแบบเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว รับรู้สรรพสิ่งแบบไม่แบ่งแยกความจริงเป็นท่อนๆ

จิลล์ เทย์เลอร์ ยืนอยู่ที่ห้องน้ำและรู้สึกว่าโลกที่ตนเองเคยรับรู้ไม่ได้เป็นอย่างที่เคยอีกแล้ว สรรพสิ่งเป็นประหนึ่งมณฑลแห่งพลังที่เชื่อมประสานกัน ไหลเวียน แปรเปลี่ยน ไร้ขอบเขต จักรวาลเป็นเสมือนพลังอันไพศาล สวยงามหมดจด เลื่อนไหลแต่สงบนิ่ง สันติและไร้ตัวตน

จังหวะนั้นเอง เหมือนมีสัญญาณสมองส่งมาเตือนว่า มีบางอย่างผิดปกติ ต้องรีบหาความช่วยเหลือ

เธอประคองร่างกายที่ซีกขวาอ่อนแรงไปที่โต๊ะทำงาน หยิบบัตรจดหมายเลขโทรศัพท์ขึ้นมา เธอมองเห็นตัวอักษรแต่กลับไม่รู้จักมันเลย เห็นรูปร่างอักขระต่างๆ กันแต่ไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร เธอค่อยๆ ใช้สติสัมปชัญญะที่เหลือเพ่งพินิจบัตรจดหมายเลขโทรศัพท์ทีละใบและใช้เวลาไป 45 นาทีเพื่อคัดเลือกบัตรโทรศัพท์เพียงไม่กี่สิบใบจนสำเร็จ

แต่เธอก็ต้องพบกับปัญหาอีกก็คือ เธออ่านตัวเลขบนบัตรโทรศัพท์ไม่ออกเสียแล้ว

เธอหาทางหมุนหมายเลขโดยการเอาแป้นโทรศัพท์มาวางข้างๆ บัตรจดหมายเลขโทรศัพท์ แล้วอาศัยการเปรียบเทียบรูปทรงของตัวเลขในบัตร กดปุ่มหมายเลขโทรศัพท์ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับหมายเลขในบัตรจดเบอร์โทรศัพท์

กว่าจะต่อโทรศัพท์ได้ก็ใช้เวลานาน เมื่อเพื่อนร่วมงานของเธอรับสาย เธอดีใจมาก แต่เสียงที่ดังมาตามสายนั้นกลับเป็นเสียงที่เธอฟังไม่ออกเลย ได้ยินแต่เสียงดังอยู่แต่ไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าเขาพูดอะไร เมื่อเธอเปล่งเสียงตอบกลับไป เสียงที่ออกมาก็ไม่เป็นภาษามนุษย์ แต่ในที่สุด เพื่อนของเธอก็จำเสียงเธอได้ และนำรถพยาบาลมาพาเธอไปโรงพยาบาล

เธอได้รับการผ่าตัดเอาก้อนเลือดขนาดเท่าลูกกอล์ฟออกจากสมองซีกซ้ายของเธอ และใช้เวลา 8 ปีในการพักฟื้น จนกลับมาเป็นปกติในปัจจุบัน

แม้ว่าเธอจะฟื้นและมีชีวิตเหมือนเดิม แต่วิธีมองโลกของเธอเปลี่ยนไป เธอบอกว่าเมื่อเธออยู่ในสภาวะเส้นเลือดแตกในสมอง โลกที่เธอรับรู้นั้นมันงดงามและเปี่ยมล้นด้วยสันติภาพ สรรพสิ่งเป็นเอกภาพและเป็นอเนกอนันต์ เป็นภาวะแห่งการหลุดพ้นที่เธอเรียกว่านิพพาน เธอรู้สึกว่าชีวิตเป็นเหมือนพลังที่ยิ่งใหญ่ไพศาลและมหัศจรรย์ จนเธอรู้สึกฉงนและไม่เชื่อว่าร่างกายอันน้อยนิดนี้จะสามารถรองรับชีวิตที่ยิ่งใหญ่ไพศาลไร้ขอบเขตนั้นอย่างไรได้

ประสบการณ์เส้นเลือดในสมองแตกนี้ทำให้เธอเห็นว่าสมองของเรามีศักยภาพที่จะเข้าถึงโลกแห่งการรับรู้อย่างใหม่ และถ้าเธอรับรู้โลกแห่งความหลุดพ้นนี้ได้ คนอื่นก็ต้องรับรู้มันได้เช่นกัน เธอจินตนาการไปถึงโลกที่งดงาม สันติและเต็มเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาต่อกัน และเธอก็ตระหนักว่าประสบการณ์ที่เธอพบนี้เป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่บอกถึงวิถีอันประเสริฐของการเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ในโลก

เส้นเลือดในสมองแตกระเบิดที่เรียกว่า Stroke ของ จิลล์ เทย์เลอร์ จึงเป็นการระเบิดของความรู้แจ้ง หรือ Stroke of Insight ที่เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีมองโลกของเธอ

จิลล์ เทย์เลอร์ ได้ใช้เวลาหลังฟื้นจากการเจ็บป่วยออกเดินทางบรรยายเรื่องความมหัศจรรย์ของสมองมนุษย์กับศักยภาพแห่งการเข้าถึงความดี ความงามและความจริง ด้วยความเชื่อมั่นว่ามนุษย์สามารถเลือกที่จะรับรู้โลกได้

เธอเชื่อจากประสบการณ์ชีวิตของเธอว่า สันติภาพ ความเป็นหนึ่งเดียวกันหรือแม้แต่นิพพาน จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น

ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกยืนอยู่บนการรับรู้โลกแห่งความเป็นจริงแบบไหน



ผู้ที่สนใจ สามารถชมวิดีโอการบรรยายของ จิลล์ เทย์เลอร์ได้ที่
http://www.ted.com/index.php/talks/jill_bolte_taylor_s_powerful_stroke_of_insight.html

เมื่อเอาใจนำ ทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นสุข



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มกราคม 2552

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๒ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่าน “จิตวิวัฒน์” ทุกคนและเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดประสบความสุขสวัสดี ความทุกข์ใดๆ ในปีที่ผ่านมา ก็ขอให้ผ่านไปพร้อมกับปีเก่า เคล็ดลับของความสุขนั้นไม่ยากเลย เหมือนเส้นผมบังภูเขา เราทำอะไรๆ โดยเอาความรู้นำบ้าง เอาเศรษฐกิจนำบ้าง เอาการเมืองนำบ้าง แล้วก็นำเราเข้าไปสู่ความเครียด ความขัดแย้ง และวิกฤต จริงอยู่ ความรู้ก็ดี เศรษฐกิจก็ดี การเมืองก็ดี มีความจำเป็นแต่ไม่ใช่ตัวนำ

ทำอะไรต้องเอาใจนำ

ถ้าเอาใจนำจะง่ายขึ้นเยอะและนำไปสู่การลงตัว

ใจเป็นเรื่องที่ทุกคนมี ความรู้อาจจะไม่มี เศรษฐกิจอาจจะไม่มี การเมืองอาจจะไม่มี จะทำอะไรให้ง่ายและสำเร็จต้องเริ่มจากเรื่องที่ทุกคนมีและมีส่วนร่วมได้

ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ

นี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราต้องตระหนักรู้ เพราะเป็นทุนของการพัฒนาที่สำคัญที่สุด จริงอยู่มนุษย์มีโลภะ โทสะ โมหะ และทำอะไรร้ายๆ ได้มากมาย แต่ลึกๆ ก็มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ เวลาเกิดภัยพิบัติเช่นสึนามิ คลื่นน้ำใจที่หลั่งไหลออกมาใหญ่กว่าคลื่นสึนามิอีก การที่น้ำใจหลั่งออกมาทันทีแปลว่ามันมีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีก็ไม่มีอะไรจะหลั่งออกมา น้ำใจจะแสดงออกด้วยอาการต่างๆ เช่น เห็นใจคนตกทุกข์ได้ยาก คนเสียเปรียบ คนถูกรังแก

ถ้าเอาความรู้นำ เอาเศรษฐกิจนำ เอาการเมืองนำ จะไปกระตุ้นอกุศลมูล และเกิดความใจร้ายตามมาได้อย่างสุดๆ จนกลบความดีแห่งความเป็นมนุษย์ไปเสียหมด เราตกอยู่ในความเข้าใจผิดหรือโมหภูมินี้และเครียดขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ดีๆ เพื่อจะออกจากโมหภูมิให้ได้

พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นสัตว์ร้ายในตัวมนุษย์ ๓ ตัว ที่เราต้องระวังระไว เพราะถ้ามันออกมาเพ่นพ่านในการคิด การพูด และการทำของเรา มันจะก่อความเดือดร้อนให้ตัวเราเองและสังคม สัตว์ร้าย ๓ ตัวนั้นชื่อ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เราอาจจะไม่ชอบภาษาบาลีเหล่านี้เพราะเราไปติดศัพท์ฝรั่งเสียจนเคย แต่คำบาลีเหล่านี้บอกอะไรที่ลึกซึ้งกว่าภูมิปัญญาตะวันตกมาก และไม่ยากที่จะเข้าใจถ้าเพียงแต่เราจะใส่ใจ

ตัณหา = ความอยากได้มากๆ ยิ่งมากยิ่งดี

มานะ = ต้องการใช้อำนาจเหนือผู้อื่น

ทิฏฐิ = การเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่

การใช้ความรู้ที่ขาดปัญญากำกับก็จะตกเป็นเหยื่อของกิเลส นำไปสู่อหังการและทิฏฐิราคะ นำไปสู่ความขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์และความรุนแรง เศรษฐกิจก็นำไปสู่โลภจริต การเอาเปรียบ การทำร้ายผู้อื่น สงคราม การเมืองถ้าขาดปัญญากำกับก็นำไปสู่การใช้อำนาจเหนือผู้อื่น ซึ่งตรงกับมานะซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ร้าย ๓ ตัวดังกล่าวข้างต้น

การใช้ความรู้นำ ใช้เศรษฐกิจนำ ใช้การเมืองนำ จึงเป็นเรื่องของการใช้สัตว์ร้าย ๓ ตัว หรืออกุศลมูลนำ จึงนำไปสู่ความยุ่งยากในชีวิตและสังคมอย่างที่เกิดขึ้น

การใช้ใจนำง่ายกว่าเยอะและนำไปสู่สิ่งดีๆ

ถ้าเพียงแต่คิดว่าเราทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ เราก็มีความสุขแล้ว

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีต่างๆ รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รณรงค์ขับเคลื่อนเรื่อง “เมืองไทยหัวใจมนุษย์” หรือ “เติมหัวใจให้สังคม” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขับเคลื่อนเรื่อง “มิตรภาพบำบัด” ศูนย์คุณธรรมขับเคลื่อนเรื่อง “การทำแผนที่ความดี” วงการสุขภาพขับเคลื่อนเรื่อง “ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์” หลายองค์กรขับเคลื่อนเรื่อง “อาสาสมัครเพื่อสังคม หรือ อาสาสมัครเพื่อเพื่อนมนุษย์” ในระดับชุมชนหลายแห่ง เช่นที่ตำบลปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการสำรวจว่ามีคนพิการกี่คนในตำบล ประเภทใดบ้าง และมีอาสาสมัครเป็นเพื่อนให้ความช่วยเหลือทุกประเภท ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องของการเอาใจนำทั้งสิ้น

ในการรณรงค์เรื่อง “เมืองไทยหัวใจมนุษย์” โดย สช. และภาคี ได้นำตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ที่ทำด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์มาเล่าสู่กันฟัง ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมมากขึ้นๆ และตัวอย่างมีมากมายทุกพื้นที่ ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังต่างเต็มตื้นไปด้วยความสุข และเห็นได้ชัดว่าความสุขติดต่อกันได้ คือการเห็นใครทำอะไรดีๆ แล้วพลอยมีความสุขไปด้วย

ในขณะที่โลกระบมไปด้วยความโกรธ ความเกลียด ความร้ายกาจ เพราะการขับเคลื่อนด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่เมื่อเอาใจนำหรือเอามิตรภาพนำ ก็เกิดการเยียวยาหรือการบำบัดขึ้น เมื่อมีมิตรภาพ โรคก็บรรเทาเบาบางลงหรือถึงกับหายแม้แต่จากมะเร็ง ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเราทุกคนในฐานะที่เป็นมนุษย์ มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่สัตว์ไม่มี แล้วมีมิตรภาพต่อกันและกัน จะเกิดการเยียวยามหาศาลเพียงใด โลกป่วยหนักด้วยโรคโลภะ โทสะ โมหะ จึงต้องการการเยียวยาขนาดหนัก การเยียวยาขนาดนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อตระหนักรู้ว่าทำอะไรๆ ต้องเอาใจนำ

สช. และภาคที่ขับเคลื่อนเรื่อง “เมืองไทยหัวใจมนุษย์” มาพักหนึ่งแล้ว เขามั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่ยาก เพราะเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในคนทุกคน และมีแรงจูงใจที่ใหญ่ที่สุด แรงจูงใจที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์คือความสุข คนที่มีใจเพื่อเพื่อนมนุษย์เกิดความสุขฉับพลันทันทีทุกคนไม่มียกเว้น ผู้ที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่อง “เมืองไทยหัวใจมนุษย์” จึงกล้าที่จะมีความฝันใหญ่ (Big Dream) ว่าเทียนเล่มน้อยในหัวใจของคนไทยแต่ละคน จะค่อยๆ จุดต่อๆ กันจนเกิดดวงใจที่เชื่อมโยงกันเต็มประเทศ เมื่อนั้นประเทศไทยจะเปลี่ยนไป ความสุขจะเปี่ยมล้นประเทศ ความรักความสมานฉันท์จะบริบูรณ์ ทำอะไรๆ ก็สำเร็จได้ง่าย ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม การศึกษา หรือสาธารณสุข ทุกเรื่องต้องการใจนำทั้งสิ้น

เรามีพื้นฐานเรื่องนี้อยู่ในวัฒนธรรมของเราอยู่แล้ว เป็นจุดแข็งของเรา เมื่อผมเด็กๆ อยู่เมืองกาญจน์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นจับฝรั่งมาเป็นเชลย ชาวบ้านก็สงสารฝรั่ง คอยให้กล้วยให้น้ำ ตอนสงครามสิ้นสุดลง ฝรั่งจับญี่ปุ่นเป็นเชลย ชาวบ้านก็ไปสงสารญี่ปุ่นอีก ไม่ยึดในอุดมการณ์แยกข้างแยกขั้ว แต่มีความสงสารเป็นเจ้าเรือน ผมได้รับฟังมาว่าบริษัทเครื่องบินต่างๆ แอบเอาเครื่องบินมาให้ช่างไทยซ่อม ผมคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่คนไทยจะซ่อมเก่งกว่าฝรั่ง ไปถามช่างซ่อมเครื่องบินที่รู้จักกัน เขาบอกว่าจริง เพราะช่างไทยมีน้ำใจ ระหว่างที่ซ่อมถ้าเจออะไรบกพร่องก็ทำแถมให้ด้วยถึงแม้ไม่อยู่ในสัญญา ฝรั่งถือสัญญาเป็นหลักไม่ได้ถือใจเป็นหลัก ในเรื่องการพยาบาล พยาบาลชาติไหนจะมีใจเท่าพยาบาลไทย จีนเหรอ ฝรั่งเหรอ แขกเหรอ พยาบาลไทยจึงขายดีมาก ในปัจจุบันและอนาคต การพยาบาลและการบริบาลสำหรับคนแก่ เด็ก คนป่วย คนพิการ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าบริบาลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์แล้ว จะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้มนุษย์อย่างเหลือหลาย ผมจึงประกาศแก่พยาบาลว่า “ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางการพยาบาล” ได้แน่นอน และให้คำขวัญว่า

  • พยาบาลไทยหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์
  • แพทย์ไทยหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์
  • อะไรๆ ไทยก็หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์


ในที่สุดประเทศไทยทั้งประเทศเป็นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ นี้คือการเปลี่ยนวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง เป็นการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่า “Change” ของโอบามา เพราะนั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระนาบของภพภูมิเดิมของ โลภะ โทสะ โมหะ คงจะไปไม่ได้ไกลหรือไปไม่ได้เลย

แท้ที่จริงคำว่า “ใจ” หรือการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ แม้เป็นคำง่ายๆ ที่เราคุ้นเคย แต่หมายถึง “ปัญญา” ในทางพุทธนั้นถือว่า ความเห็นแก่ตัวเกิดจากอวิชชาหรือความไม่รู้ซึ่งตรงข้ามกับปัญญา การไม่ยึดมั่นเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางได้มากเท่าไร ก็ถือว่ามีปัญญามากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นที่ว่าการทำอะไรๆ ต้องเอาใจนำนั้น แท้ที่จริงคือการเอาปัญญานำ มีพุทธพจน์ว่า “นัตถิ ปัญญา สมาอาภา” (แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี)

พุทธศาสนาก็เป็นรากฐานของสังคมไทย พุทธศาสนามีแนวคิดและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับความดีอย่างสุดๆ หาที่เปรียบได้ยาก เราทิ้งรากฐานของเราไปเห่อสิ่งที่ไม่ดีจริง ที่กำลังทำให้วิกฤตทั้งโลกแล้ว ควรหันกลับมาหาจุดแข็งในรากฐานของเรา “ใจ” เป็นจุดแข็งในรากฐานของเรา ซึ่งควรจะนำมาเป็นพลังในการพัฒนาประเทศของเราให้มีความยุติธรรม มีความสมานฉันท์ และมีความสุข

ขอให้คนไทยทำคนประสบความสุขสวัสดี ขอให้ร่วมสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก โดยเป็นประเทศที่เต็มไปหัวใจของความเป็นมนุษย์

Back to Top