ตุลาคม 2016

อย่าให้ความรักกลายเป็นความมุ่งร้าย



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2559

หลายปีมาแล้ว ผมเคยสอบถามกับอาจารย์ทางจิตวิญญาณของผมท่านหนึ่งว่า ความรักที่เรามีต่อ “ในหลวง” สามารถเรียกว่า “เมตตา” ได้หรือไม่? ท่านบอกว่าความเมตตาก็คือความปรารถนาดีที่เรามีต่อผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่โดยไม่เลือกตัวบุคคล ถ้ายังเลือกอยู่ว่าจะให้ใครและไม่ให้ใครอย่างนั้นจะเรียกว่าเมตตาไม่ได้

จากการศึกษา ผมพบว่าความเมตตาก็คือสภาวะของความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ในขณะนั้นจิตใจไม่มุ่งร้าย หมายถึงไม่ปรารถนาจะทำให้เขาได้รับความเจ็บปวดทั้งกายและใจ สภาพแบบนี้จึงเรียกว่า “เมตตา”

ขณะที่ผมนั่งเขียนข้อเขียนนี้ เป็นเวลาสิบวันพอดีที่พ่อหลวงของชาวไทยได้เสด็จสวรรคต บรรยากาศของความโทมนัสได้แผ่ปกคลุมจิตใจของคนไทยทั่วทั้งประเทศ แต่กลับมีปรากฏการณ์บางอย่างซึ่งผมเห็นว่าน่าเป็นห่วง นั่นก็คือการแปรเปลี่ยนของความรักไปเป็นความมุ่งร้ายต่อบุคคลบางกลุ่มซึ่งเราเข้าใจว่าเขาไม่ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี เช่น ไม่ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ อีกทั้งยังมีข่าวที่น่าตกใจว่ามีชายผู้หนึ่งขับรถออกจากบ้านพร้อมด้วยปืนพกสองกระบอก และบอกว่าจะใช้ปืนของเขายิงบุคคลที่ไม่แสดงออกถึงความรักในหลวงให้ถึงแก่ชีวิต...

ผมจึงเกิดข้อสงสัยว่า...

ทำไมความรักจึงแปรเปลี่ยนเป็นความมุ่งร้าย...

อ่านต่อ »

วิถีแห่งสัตบุรุษ



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2559

วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ประเทศไทยได้ประสบกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ผมอยากใช้โอกาสนี้เขียนเพื่อน้อมเกล้าไว้อาลัยถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสะท้อนถึงหัวใจที่กรุณาและยิ่งใหญ่ในตัวพระองค์ ไม่แปลกเลยที่พสกนิกรไทยหลายสิบล้านต่างโศกเศร้า เพราะพระองค์ท่านเป็นดั่งพ่อของคนไทยทั้งชาติ สิ่งที่ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดตลอด ๗๐ ปีของการครองราษฎร์ ไม่อาจจะบรรยายได้หมดสิ้น ที่อยากกล่าวถึงที่สุด นอกเหนือจากความเป็นพระมหากษัตริย์ หรือพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย คือ คุณสมบัติที่ยิ่งใหญ่ของในหลวง ที่เรียกว่า ความเป็นสัตบุรุษ (Eldership)

อาร์โนล มินเดล อาจารย์ของผมคนหนึ่งผู้พัฒนางานจิตวิทยากระบวนการ (Process Work) เพื่อการขับเคลื่อนโลกและสังคม ได้ใช้เวลากว่า ๔๐ ปี ในชีวิตเพื่อศึกษาและสร้างกระบวนการบ่มเพาะผู้นำที่เรียกว่า “สัตบุรุษ” เขาพบว่าคนที่เป็นสัตบุรุษนั้นหาได้ยากยิ่งในโลก และสัตบุรุษนั้นเองคือผู้ที่จะนำพามนุษยชาติไปสู่สันติภาพ การอยู่ร่วมและความสงบสุขอันแท้จริง


สัตบุรุษคือใคร

สัตบุรุษคือ ผู้ที่มองเห็นผู้คนในโลกและสังคมที่เขาอยู่เป็นดั่งลูกและครอบครัว คือผู้นำที่ไปพ้นผู้นำ กล่าวคือ ผู้นำส่วนใหญ่นั้น ทำงานเพื่อความสำเร็จและการยอมรับ แต่สัตบุรุษทำงานอย่างข้ามพ้นตัวตน เขาไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง ดั่งคำสอนของเต๋าที่กล่าวว่า “ฟ้าดินยืนยง เพราะมิได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง” หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น มหาตมะ คานธี แม่ชีเทเรซ่า ท่านดาไลลามะ ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของสัตบุรุษ ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง สับสน และผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ภารกิจของสัตบุรุษที่มีร่วมกันอันหนึ่งคือ การสร้าง “ความรู้สึกของการมีบ้าน” ให้แก่ทุกคน สัตบุรุษนั้นยิ่งใหญ่กว่าผู้นำ สัตบุรุษคือ ผู้ที่มีหัวใจของพระโพธิสัตว์ มีจิตของมหาบุรุษ ถ้าจะพูดให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผู้นำและสัตบุรุษ อาจเปรียบเทียบได้ว่า

อ่านต่อ »

บริษัทมหาชนสู่กระบวนการทางจิตตปัญญาเต็มรูปแบบ (๑)



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2559

ตอนนี้ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานกับบริษัทมหาชนแห่งหนึ่งที่พร้อมจะนำพาตัวเองไปสู่การบริหารจัดการองค์กรด้วยกระบวนการจิตตปัญญาอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเท่าที่ผมทำงานมา รวมทั้งที่ได้ยินได้ฟังจากเพื่อนๆ ในวงการฝึกอบรมแบบจิตตปัญญา ผมยังไม่เคยพบเจอบริษัทมหาชนเช่นนี้ จึงอาจนับว่าองค์กรแห่งนี้เป็นองค์กรแรกที่ต้องการจะเดินทางสายนี้อย่างเต็มรูปแบบ ผมเลยอยากทำบันทึกเรื่องราวของการพบเจอและทำงานร่วมกันนี้เอาไว้ ว่าผมวางโครงในการทำงานกับองค์กรแห่งนี้อย่างไรบ้าง

อาจจะเนื่องจากผมได้ทำงานกับองค์กรธุรกิจมานานและหลากหลายรูปแบบ ประสบการณ์ของผมจึงตกผลึกจนกระทั่งทฤษฎีองค์ความรู้ที่นำมาใช้ได้ถูกกลั่นสกัด จนได้ความเรียบง่ายระดับบริสุทธิ์ที่มีประสิทธิภาพและทรงพลัง ดังจะค่อยๆ เรียบเรียงออกมาให้เพื่อนร่วมทางได้อ่านและเรียนรู้ร่วมกัน


นักรบสู่แม่ทัพสู่มนุษย์ที่แท้

ผมขึ้นหัวเรื่องแค่คำสามคำก่อน คือ แม่ทัพ นักรบ และคุรุ

ในองค์กรธุรกิจ (หรือแม้แต่องค์กรรูปแบบใดๆ ก็ตาม เช่น รัฐและเอ็นจีโอ เป็นต้น) คนทำงานเก่งถูกโปรโมทหรือเลื่อนชั้นขึ้นมาเพื่อรับตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ความเก่งนั้นยังเป็นความเก่งเฉพาะตัว กล่าวคือ เขาหรือเธอคนนั้นเป็นเพียงนักรบที่เก่งกล้าคนหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถครองใจคน นำพาทัพ นำพาหน่วยงานในสังกัดไปสู่ความสำเร็จอย่างพร้อมเพรียงกันเป็นแผงได้ กล่าวคือ เขายังไม่ได้บรรลุถึงขีดขั้นความเป็นแม่ทัพ


แทรกเรื่องสี่ทิศแบบก้าวหน้า

ก่อนจะเอ่ยถึงสี่ทิศ1และจะได้นำมาใช้ในภาคประยุกต์อย่างพิสดารนี้ ผมอยากจะกล่าวถึงที่มาที่ไปและเอ่ยถึงกิตติคุณของบางท่านที่เกี่ยวข้องไว้ ณ ที่นี้

อ่านต่อ »

ฝันกลางวัน ฝันถึง “เสียงของหัวใจ” เสียงที่หายไป



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2559

ในสังคมที่เร่งรีบ และเรียกร้องประสิทธิภาพสูงสุด อาการ “ฝันกลางวัน” ดูเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเวลาและไร้สาระเกินจะใส่ใจ หากใครมีอาการเหม่อลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวด้วยแล้ว ยิ่งกลายเป็นคน “ไม่เอาไหน” หรือ “ไร้ค่า” ไปในสายตาของผู้คนที่จดจ่อ หมายมั่นปั่นมือให้ตนเองประสบความสำเร็จจนมั่งคั่งจึงมั่นคง

แต่อาการฝันกลางวันนั้น ใกล้ตัวคนสมัยใหม่มากกว่าที่คิด หากไม่ติดภาพว่าคนฝันกลางวันต้องทำตาลอย ราวไร้จุดหมายในชีวิต

ลองนึกภาพของการจราจรที่คนขับรถต่างๆ แย่งชิงพื้นที่กันเพื่อเคลื่อนไปข้างหน้า หากรถที่เรากำลังขับเข้าคิวอยู่รอไฟเขียวเพื่อเลี้ยวขวา แล้วจู่ๆ ก็มีรถอีกคันแซงขึ้นมาทางซ้ายแล้วปาดหน้าเบียดเข้ามาในเลนของเรา จนเราต้องเหยียบเบรกกะทันหัน เสียงผรุสวาทดังขึ้นในใจ มืออยากกระแทกแตรให้เสียงดังสนั่น เพื่อประท้วงไอ้คนขับรถไม่มีมารยาท ด้วยสติสัมปชัญญะอันครบบริบูรณ์จึงยั้งมือไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดจินตนาการขึ้นมา เห็นตนเองเปิดประตูลงจากรถ เดินตรงไปขวางไอ้รถคันดังกล่าว เปิดประตูแล้วกระชากคนขับลงมา ชกหน้าสักหมัด และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงฝันกลางวันกลางถนน แล้วเราก็ตื่นขึ้น มองรถที่ตัดหน้าเคลื่อนตัวผ่านเราไปอย่างสง่างาม

ลองตัดภาพมาที่ทำงาน ขณะที่ประชุมกันอย่างเคร่งเครียดเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสายการผลิต จนอาจจะทำให้ส่งมอบสินค้าไม่ทันกำหนด เจ้านายประธานในที่ประชุม แทนที่จะเร่งระดมความคิดหรือให้ทิศทางว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่เริ่มสาธยายคุณงามความดีของตนและผู้บริหารในยุคของตน แล้วบ่นต่อว่า คนสมัยนี้ช่างไม่เอาไหน สู้คนยุคก่อนไม่ได้ ยกเรื่องแล้วเรื่องเล่าขึ้นมาไม่จบไม่สิ้น จนเวลาจะสิ้นไป เราในฐานะฝ่ายผลิตต้องลงไปแก้ปัญหา ก็เกิดจินตนาการอันบรรเจิดโดยฝันไปว่า ตนลุกขึ้นมากลางห้อง เดินตรงไปที่ประธานแล้วจับคอเขา (หรือเธอ) ก็ตาม เขย่าๆ แล้วพูดใส่หน้าว่า “จะบ่นอีกนานไหม ผีเจาะปากให้พูดหรือไง” แล้วภาพฝันก็สะดุดลง เมื่อประธานหันมาชี้หน้าถามว่า “มีอะไรจะชี้แจงไหม” แล้วเราก็กระแอมกระไอ ก่อนที่จะตอบคำถามตะกุกตะกัก

อ่านต่อ »

Back to Top