โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2559
หลายปีมาแล้ว ผมเคยสอบถามกับอาจารย์ทางจิตวิญญาณของผมท่านหนึ่งว่า ความรักที่เรามีต่อ “ในหลวง” สามารถเรียกว่า “เมตตา” ได้หรือไม่? ท่านบอกว่าความเมตตาก็คือความปรารถนาดีที่เรามีต่อผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่โดยไม่เลือกตัวบุคคล ถ้ายังเลือกอยู่ว่าจะให้ใครและไม่ให้ใครอย่างนั้นจะเรียกว่าเมตตาไม่ได้
จากการศึกษา ผมพบว่าความเมตตาก็คือสภาวะของความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ในขณะนั้นจิตใจไม่มุ่งร้าย หมายถึงไม่ปรารถนาจะทำให้เขาได้รับความเจ็บปวดทั้งกายและใจ สภาพแบบนี้จึงเรียกว่า “เมตตา”
ขณะที่ผมนั่งเขียนข้อเขียนนี้ เป็นเวลาสิบวันพอดีที่พ่อหลวงของชาวไทยได้เสด็จสวรรคต บรรยากาศของความโทมนัสได้แผ่ปกคลุมจิตใจของคนไทยทั่วทั้งประเทศ แต่กลับมีปรากฏการณ์บางอย่างซึ่งผมเห็นว่าน่าเป็นห่วง นั่นก็คือการแปรเปลี่ยนของความรักไปเป็นความมุ่งร้ายต่อบุคคลบางกลุ่มซึ่งเราเข้าใจว่าเขาไม่ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี เช่น ไม่ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ อีกทั้งยังมีข่าวที่น่าตกใจว่ามีชายผู้หนึ่งขับรถออกจากบ้านพร้อมด้วยปืนพกสองกระบอก และบอกว่าจะใช้ปืนของเขายิงบุคคลที่ไม่แสดงออกถึงความรักในหลวงให้ถึงแก่ชีวิต...
ผมจึงเกิดข้อสงสัยว่า...
ทำไมความรักจึงแปรเปลี่ยนเป็นความมุ่งร้าย...
เอ็กฮาร์ต โทลลี (Ekhart Tolle) ผู้เขียน
The Power of Now กล่าวว่า “ความรักย่อมไม่เลือกผู้รับ เฉกเช่นเดียวกับแสงอาทิตย์ย่อมไม่เจาะจงสถานที่ฉายฉาน” เขาบอกว่าความรักที่เลือกตัวบุคคลไม่ใช่ความรักที่สูงส่ง แต่เป็นความรักที่เกิดมาเพื่อสนองความเขื่องโขของอัตตา (ego) ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวถึงข้าศึกใกล้ของความเมตตาว่า “เมตตาใกล้ราคะ” หมายถึงความรักแบบเห็นแก่ตัว กับความรักที่ไม่เลือกผู้รับ ทั้งสองอย่างนี้อยู่ใกล้กันแทบจะเป็นเหรียญสองด้าน
คำถามก็คือเราจะบ่มเพาะความรักชนิดที่ไปพ้นความรักแบบเห็นแก่ตัวได้อย่างไร?
ท่านอาจารย์ติช นัท ฮันห์ กล่าวว่าความรักที่เรียกว่าเมตตานั้นไม่ใช่แค่เรามีเจตนาที่จะรักเท่านั้น แต่ต้องเป็นความสามารถที่จะทำให้ผู้นั้นมีความสุขได้ด้วย และการบ่มเพาะความรักต้องอาศัยการฝึกฝน หมายถึงฝึกฝนที่จะ “เฝ้ามองอย่างเนิ่นนาน” เพื่อที่จะทำความเข้าใจในตัวผู้ที่เราจะรักอย่างลึกซึ้ง “เพราะถ้าเราไม่เข้าใจเขาก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรักเขา”
ความรักคือความเข้าใจ…
เราได้ยินประโยคนี้ซ้ำๆ จนเฝือ แต่ในช่วงเวลานี้ เราอาจจะต้องกลับมาทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้ง เป็นไปได้ไหมว่าที่เรายังมีความโกรธเกลียดและมุ่งร้ายต่อกัน รวมทั้งโกรธเกลียดคนที่มุ่งร้ายต่อคนที่เรารัก เป็นเพราะเราขาดความเข้าใจ ความเห็นใจในตัวเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง และเมื่อความรักชนิดคับแคบไม่อาจทนทานต่อการกระทบกระทั่งเสียแล้ว การมุ่งร้ายหมายขวัญก็ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ยกตัวอย่างลูกศิษย์ชาวต่างชาติของท่านคนหนึ่งซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคม ตัวเขาเป็นผู้ร่างจดหมายเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในประเด็นสังคมต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่เมื่อท่านขอให้เขาเขียนจดหมายฉบับหนึ่งเพื่อแสดงออกถึงความรักที่มีต่อพ่อของเขา เขากลับไม่สามารถเขียนจดหมายฉบับนั้นได้ ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม
พ่อของเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่เป็นเพราะเหตุการณ์บางอย่างแต่หนหลัง ทำให้ทุกๆ ครั้งที่เขาคิดถึงพ่อของเขา เขาจะเจ็บปวดรวดร้าวจนไม่อาจจะยกปากกาขึ้นมาเขียนจดหมายฉบับดังกล่าวได้ ท่านจึงบอกให้เขาลองทำการทดลองบางอย่าง โดยในสัปดาห์แรก ท่านบอกให้เขานั่งลงและนึกถึงตัวเขาเองเมื่อตอนอายุ ๕ ขวบ โดยให้ท่องไปด้วยว่า “เมื่อฉันหายใจเข้า—ฉันมองเห็นตัวเองเมื่อตอนอายุ ๕ ขวบ” ซึ่งเขาก็ได้ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อเข้าสัปดาห์ที่สอง ท่านบอกให้เปลี่ยนเด็ก ๕ ขวบคนนั้นเป็นพ่อของเขาเอง โดยท่องว่า “เมื่อฉันหายใจเข้า—ฉันมองเห็นพ่อของฉันตอนอายุ ๕ ขวบ เมื่อฉันหายใจออก ฉันกำลังยิ้มให้เด็กน้อยคนนั้น” เช่นเดียวกับสัปดาห์แรก ครั้งนี้เขาก็ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเขาวางรูปพ่อของเขาไว้บนโต๊ะ และภาวนาแบบที่ท่านอาจารย์แนะนำ เมื่อทำไปได้สักพัก จู่ๆ ในเย็นวันหนึ่งเขาก็สามารถนั่งลงและเขียนจดหมายถึงพ่อของเขาได้สำเร็จ
เกิดอะไรขึ้น? ท่านนัท ฮันห์อธิบายว่า เมื่อเขามองเห็นตัวเองเมื่อตอน ๕ ขวบ เขาได้เห็นเด็กน้อยคนหนึ่งซึ่งมีทั้งความหวาดกลัว ความต้องการความรัก และการดูแลเอาใจใส่ และเมื่อเขามองเห็นพ่อเขาเมื่อตอน ๕ ขวบ เขาได้พบว่าพ่อของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับเขาเลยแม้แต่น้อย นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาสัมผัสได้ถึงความ “เมตตา” ที่มีต่อพ่อของเขา มันอบอุ่นเหมือนแสงตะวันและไม่เลือกบุคคล ไม่คับแคบเพราะไม่ปรารถนาจะครอบครอง และในวันนั้นเองทำนบในใจของเขาพังทลายลง เขาเริ่มรู้จักความรักในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเขาไม่เคยรู้จักมาก่อน...
ความเข้าใจคือทางเข้าของความรัก…
จิตใจที่คิดเข้าข้างตัวเองคือจิตคับแคบและพยายามจะสร้างสภาวะของการแบ่งแยกนั่นห่างไกลเหลือเกินจากสภาวะของความรักที่แท้ เอ็กฮาร์ต โทลลี กล่าวว่า อัตตาของเรากระหายความดราม่า มันต้องการเสพละครน้ำเน่าต้นทุนต่ำ เพื่อนของผมคนหนึ่งพูดถึงวงจรอุบาทว์ที่ล่อลวงให้จิตใจตกลงไปเกลือกกลั้วจนวันๆ ไม่เป็นอันทำอะไร วิธีที่จะหลุดจากวงจรน้ำเน่าก็คือต้องกลับมาฝึกความรู้สึกตัว หรือที่ผมเรียกมันว่ารีเซต ซึ่งได้เคยกล่าวถึงไปมากแล้วในบทความเก่าๆ ...
...ตัดวงจรอุบาทว์นั้นเสียเถอะครับ ด้วยการกลับมารู้สึกตัว และสำคัญที่สุดก็คือรักให้เป็น...
แสดงความคิดเห็น