โดย
สมพล ชัยสิริโรจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2559
ในสังคมที่เร่งรีบ และเรียกร้องประสิทธิภาพสูงสุด อาการ “ฝันกลางวัน” ดูเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเวลาและไร้สาระเกินจะใส่ใจ หากใครมีอาการเหม่อลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวด้วยแล้ว ยิ่งกลายเป็นคน “ไม่เอาไหน” หรือ “ไร้ค่า” ไปในสายตาของผู้คนที่จดจ่อ หมายมั่นปั่นมือให้ตนเองประสบความสำเร็จจนมั่งคั่งจึงมั่นคง
แต่อาการฝันกลางวันนั้น ใกล้ตัวคนสมัยใหม่มากกว่าที่คิด หากไม่ติดภาพว่าคนฝันกลางวันต้องทำตาลอย ราวไร้จุดหมายในชีวิต
ลองนึกภาพของการจราจรที่คนขับรถต่างๆ แย่งชิงพื้นที่กันเพื่อเคลื่อนไปข้างหน้า หากรถที่เรากำลังขับเข้าคิวอยู่รอไฟเขียวเพื่อเลี้ยวขวา แล้วจู่ๆ ก็มีรถอีกคันแซงขึ้นมาทางซ้ายแล้วปาดหน้าเบียดเข้ามาในเลนของเรา จนเราต้องเหยียบเบรกกะทันหัน เสียงผรุสวาทดังขึ้นในใจ มืออยากกระแทกแตรให้เสียงดังสนั่น เพื่อประท้วงไอ้คนขับรถไม่มีมารยาท ด้วยสติสัมปชัญญะอันครบบริบูรณ์จึงยั้งมือไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดจินตนาการขึ้นมา เห็นตนเองเปิดประตูลงจากรถ เดินตรงไปขวางไอ้รถคันดังกล่าว เปิดประตูแล้วกระชากคนขับลงมา ชกหน้าสักหมัด และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงฝันกลางวันกลางถนน แล้วเราก็ตื่นขึ้น มองรถที่ตัดหน้าเคลื่อนตัวผ่านเราไปอย่างสง่างาม
ลองตัดภาพมาที่ทำงาน ขณะที่ประชุมกันอย่างเคร่งเครียดเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสายการผลิต จนอาจจะทำให้ส่งมอบสินค้าไม่ทันกำหนด เจ้านายประธานในที่ประชุม แทนที่จะเร่งระดมความคิดหรือให้ทิศทางว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่เริ่มสาธยายคุณงามความดีของตนและผู้บริหารในยุคของตน แล้วบ่นต่อว่า คนสมัยนี้ช่างไม่เอาไหน สู้คนยุคก่อนไม่ได้ ยกเรื่องแล้วเรื่องเล่าขึ้นมาไม่จบไม่สิ้น จนเวลาจะสิ้นไป เราในฐานะฝ่ายผลิตต้องลงไปแก้ปัญหา ก็เกิดจินตนาการอันบรรเจิดโดยฝันไปว่า ตนลุกขึ้นมากลางห้อง เดินตรงไปที่ประธานแล้วจับคอเขา (หรือเธอ) ก็ตาม เขย่าๆ แล้วพูดใส่หน้าว่า “จะบ่นอีกนานไหม ผีเจาะปากให้พูดหรือไง” แล้วภาพฝันก็สะดุดลง เมื่อประธานหันมาชี้หน้าถามว่า “มีอะไรจะชี้แจงไหม” แล้วเราก็กระแอมกระไอ ก่อนที่จะตอบคำถามตะกุกตะกัก
ภาพในจิตนาการที่เกิดขึ้นขณะที่เราตื่นรู้ตัวและทำกิจวัตรกลางวันแสกๆ ภาพที่ปรากฏในใจเพียงชั่วแวบ สะท้อนภาพในใจของเราซึ่งกำลังบ่งบอกความต้องการของเราลึกลงไป แม้นว่าเราจะบอกตัวเราเองว่า “ไม่มีอะไร ก็แค่คิดเล่นๆ ใครจะไปทำได้ลงคอ หรือ กล้าทำ” หรืออะไรก็ตาม ที่เสียงแห่งเหตุผลและเสียงของกติกาที่เราโดนหล่อหลอมมาให้เป็นคนสุภาพ อ่อนน้อม แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร หรือกับผู้หลักผู้ใหญ่เราต้องยกให้ เราเป็นเพียงผู้น้อย ซึ่งเสียงเหล่านี้ก็เป็นเสียงที่สมเหตุสมผล การปฏิบัติตามเสียงเหล่านี้ที่เป็นเสียงของตัวตนหลักๆ (Primary Selves) ก็ช่วยให้เราทำตัวเข้ากับความคาดหวังของสังคมคนรอบข้าง แต่เสียงหลักๆ เหล่านี้ก็กดทับ สลัดทิ้งเสียงของหัวใจของเราอย่างไม่ไยดี เสียงของหัวใจที่หายไปของตัวตนที่โดนทิ้ง (Disowned Selves) ที่ในสองกรณีข้างต้นที่ยกมา จินตนาการที่เกิดขึ้นเป็นเสียงร่ำร้องที่ต้องการปกป้องสิทธิของตนเอง รักษาพื้นที่ของตน ไม่ใช่เพียงพื้นที่หน้ากระจังรถที่โดนปาดหน้า หรือเสียงที่จะท้าทายคนมีอำนาจให้หยุดกระทำการคุกคาม
หากเราไม่หยั่งถึงเสียงที่ร่ำร้องของความต้องการลึกๆ ของตนแล้ว เราก็อย่าได้แปลกใจที่เรามักจะตกเป็นเหยื่อของคนอื่น รู้สึกว่าตนจำต้องทำตามความต้องการของคนอื่นอย่างที่ยากจะปฏิเสธ และยากมากที่จะเอ่ยปากบอกกล่าวความต้องการของตนเอง และหากจะพูดออกมาโดยไม่ได้ยินเสียงของหัวใจของตนเองว่า กำลังต้องการอะไร การแสดงออกก็มักจะเกินเลยจนไปปาดหน้ารถชาวบ้านไม่ต่างจากรถอีกคันที่ปาดหน้าเรา หรือหากจะกล้าพูดก็พูดรุนแรงพูดมากไม่แพ้ประธานคนนั้น จนกลายเป็นคนที่ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองอย่างไม่ตั้งใจ
อาการฝันกลางวันปรากฏในชีวิตประจำวันอย่างแนบเนียนกว่าที่เราจะคาดคิด เสียงร้องเพลงงึมงำอยู่ในลำคอขณะที่ขับรถ หรือแผดเสียงร้องในห้องน้ำขณะขัดสีฉวีวรรณ ท่วงทำนองเนื้อร้องที่เรียกหาความรักที่ไม่มีวันสมหวัง หรือรักที่หลุดลอยไปแล้ว ก็เป็นฝันกลางวันที่สะท้อนเสียงหัวใจส่วนลึกของเรา ที่กำลังโหยหาความสัมพันธ์อยู่อย่างล้ำลึก แม้นว่า เราจะให้เหตุผลว่าเพียงร้องเพลินๆ เท่านั้น
เด็กเล็กๆ ลูกหลานของคนข้างบ้านผ่านมา เราอยากจะเข้าไปเล่นกับเด็กด้วยจินตนาการว่า ตนเป็นเด็กเล็กเช่นกัน บอกความเป็นเด็กเล็กๆ ภายในที่เฝ้าหาโอกาสจะแสดงตัวได้ออกมาโลดแล่นในโลกของความเป็นจริงบ้าง หลังจากที่โดนฝังลืมไว้อยู่ลึกๆ ด้วยเราไม่กล้าแสดงตัวเป็นเด็ก เพราะจะไม่ได้รับความเชื่อถือจนไม่เป็นที่ไว้วางใจให้ทำงานใหญ่ที่ไม่ใช่ “งานเล่นขายของ” แล้วเราก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า งานยิ่งใหญ่เหล่านั้นช่างท้าทายอย่างน่าพิสมัย แต่กดดันตนเองจนทำไปก็หามีความสุขไม่ เพราะเสียงหัวใจซื่อๆ ของเด็กที่จะเล่นอย่างท้าทายได้หายไป
เมื่อจินตนาการของฝันกลางวันโดนมองข้ามว่า เป็นเพียงอาการเพ้อฝันหรือเหม่อลอย เสียงของหัวใจที่เรียกร้องให้เข้าถึงความต้องการลึกๆ ในใจก็เงียบใบ้ แล้วชีวิตก็ดำเนินไปตามเสียงหลักๆ ของสังคม และคนรอบข้างที่เรียกร้องให้มีชีวิตที่เติบใหญ่ มีความรับผิดชอบ มีความทะเยอทะยาน และต้องได้รับการนับหน้าถือตา จึงถือว่าประสบความสำเร็จ แล้วเสียงหัวใจที่หายไปก็โดนฝังลืม แต่กลับทรงอิทธิพลอย่างมีพลังเหนือความควบคุมใดใด
ยิ่งเสียงหัวใจของความรู้สึกหายไป กลายเป็นเพียงพวกคนอ่อนไหว การเสพเหล้ายาก็กลายเป็นกุญแจไขให้เสียงที่หายไปได้เล็ดลอดออกมา อย่างไม่รู้ตัว จึงควบคุมไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ก็เสพติดในที่สุด
เสียงของหัวใจที่ร่ำร้องทวงสิทธิของตน โดนบดบังด้วยความสุภาพ กาลเทศะและหน้าตาทางสังคม ก็เล็ดลอดออกมาในการเสพภาพยนตร์ที่เลือดสาด ละครที่ตบจูบตบจูบ หรือเล่นเกมที่เอาชนะด้วยการฆ่าฟัน
เสียงของหัวใจที่โหยหาความรักความเข้าใจจากใครต่อใคร ด้วยว่าตนไม่สามารถเข้าถึงเสียงหัวใจของตนเองได้ ก็กลายเป็นความสัมพันธ์ที่เรียกร้องจากคนอื่น และคาดหวังว่าคู่ของตน คนที่ตนคบ คนที่ตนรัก จะเป็นคู่รัก พ่อแม่ ลูกหลานก็ตามจะสามารถเติมเต็มให้แก่ความต้องการส่วนลึกของหัวใจได้ เมื่อไม่เป็นดังคาดและตนเองก็ทนตนเองไม่ได้ ผิดหวังจนบาดหมาง ก็ยิ่งถ่างความขัดแย้งต่างๆ ในความสัมพันธ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น
ครั้งต่อไปเมื่อฝันกลางวัน เมื่อเห็นตนเองโลดแล่นออกจากโลกความจริงไปเป็นดังตัวละครในจินตนาการ เป็นเวลาอันดีที่จะฉุกคิดแล้วหันมามองตนเอง กลับมายอมรับความรู้สึกลึกๆ โดยไม่ใส่ข้อแม้แลเห็นเป็นเรื่องเด็กๆ ไร้สาระ แล้วเราอาจจะพบตนเอง รู้จักตนเอง เห็นตนเองอย่างที่ไม่คาดคิด และการเห็นตนนี้ย่อมเปิดทางให้มิติใหม่ๆ ในชีวิตเกิดขึ้นอย่างที่เราไม่คาดฝันเลยทีเดียว
แสดงความคิดเห็น