มีนาคม 2009

สองด้านของความเป็นมนุษย์



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มีนาคม 2552

คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดในปีนี้ที่ได้รับทั้งคำชมและคำประณามมากเท่ากับ The Reader ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัลรวมทั้งตุ๊กตาทองสำหรับดารานำฝ่ายหญิง แต่ในเวลาเดียวกันก็มีนักวิชาการและนักเขียนมีชื่อหลายคนพากันโจมตีภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับตัวละครฝ่ายหญิงคือ ฮันน่า ชมิตซ์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ดูแลค่ายกักกันชาวยิวที่เมืองเอาชวิตซ์อันลือชื่อ

หนึ่งในบรรดาข้อกล่าวหาที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ สร้างภาพของฮันน่าให้ดูดี ทำให้ผู้ชมรู้สึกเห็นใจกับชะตากรรมของเธอในตอนท้าย ทั้ง ๆ ที่เธอไม่เพียงมีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง หากยังมีส่วนทำให้นักโทษถึง ๓๐๐ คนถูกไฟคลอกตายในโบสถ์ซึ่งใช้เป็นที่คุมขังชั่วคราว โดยเธอไม่ยอมช่วยเหลือคนเหล่านั้นแม้แต่จะเปิดประตูโบสถ์ให้

ผู้ชมมารู้ภูมิหลังดังกล่าวของเธอเมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปได้ครึ่งเรื่องแล้ว เมื่อเธอต้องขึ้นศาลหลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปแล้วเกือบ ๒๐ ปี แต่ก่อนหน้านั้นผู้ชมรู้แต่ว่าเธอเป็นพนักงานเก็บเงินในรถราง ที่บังเอิญมารู้จักกับเด็กหนุ่มวัย ๑๕ แล้วภายหลังมีสัมพันธ์ฉันชู้สาวทั้ง ๆ ที่เธอมีอายุมากกว่าถึง ๒๑ ปี

ภาพของฮันน่าตั้งแต่ต้นเรื่องคือผู้หญิงที่มีน้ำใจ ช่วยเหลือเด็กแปลกหน้าที่ป่วยประหนึ่งพี่สาว (หรือแม่) ไม่มีวี่แววของคนใจร้ายหรือใจหิน แม้ว่าเธอจะมีความโกรธเกรี้ยวก้าวร้าวอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะความทุกข์บางอย่างที่เธอเก็บงำไว้ในใจ

การเสนอภาพของเธอไม่ต่างจากผู้หญิงทั่วไป ที่น่าเห็นใจ ทั้ง ๆ ที่เคยร่วมประกอบอาชญากรรมอันเลวร้ายในอดีต ทำให้หลายคนรับไม่ได้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ (รวมทั้งนวนิยายชื่อเดียวกันซึ่งโด่งดังมากว่าสิบปีแล้ว) ดูเหมือนว่าในสายตาของคนเหล่านั้น ฮันน่าควรมีภาพของ “ผู้ร้าย” ที่น่ารังเกียจตั้งแต่แรกเลย

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พฤติกรรมของเธอเมื่อครั้งเป็นผู้คุมนักโทษชาวยิวนั้นเป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นจะต้องเป็นยักษ์มารสถานเดียว คนเหล่านี้ก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี แต่ความจริงอย่างนี้ยากที่ผู้คนจะยอมรับกันได้

เมื่อใครสักคนทำสิ่งชั่วร้าย เรามักอดไม่ได้ที่จะวาดภาพคนนั้นว่าเป็นคนเลว หาความดีไม่ได้ หนักกว่านั้นคือไร้ความเป็นมนุษย์ ในทัศนะของคนเป็นอันมาก ความเป็นมนุษย์นั้นจำกัดไว้เฉพาะกับคนที่มีแต่ความดี แต่คนเช่นนั้นเราจะหาได้จากที่ไหนในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะไม่มีใครที่ดีล้วน ๆ ถึงจะเป็นคนดีก็มีด้านที่ไม่ดีอยู่ เพราะมนุษย์นั้นมีความอ่อนแอ ที่ทำให้พ่ายแพ้ต่อกิเลสอยู่เนือง ๆ กิเลสเหล่านี้เองที่ทำให้คนดีสามารถทำสิ่งไม่ดีอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึง

กิเลสนั้นไม่ได้หมายถึงการโหยหาปรารถนาสิ่งเย้ายวน เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจ หรือเพศรส เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความยึดติดในอุดมการณ์ ความเชื่อ หรือมาตรฐานความถูกต้องในแบบของตน จนหลงคิดไปว่า “กู” คือความถูกต้อง ใครที่คิดหรือทำไม่เหมือนกู ก็แสดงว่าเป็นคนไม่ดี และเมื่อเป็นคนไม่ดีแล้วก็สมควรกำจัดออกไป มี “คนดี” ไม่น้อยที่ถูกครอบงำด้วยความคิดแบบนี้ ผลก็คือกลายเป็นคนลุแก่อำนาจ หนักกว่านั้นก็เป็นเผด็จการและทรราชไป

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า เหมา เจ๋อ ตุง, พอลพต หรือ บิน ลาเดน จัดอยู่ในกลุ่มนี้

ความจริงอย่างหนึ่งที่เรายอมรับได้ยากก็คือ คนที่สามารถออกคำสั่งให้สังหารคนเป็นแสนหรือเป็นล้านได้นั้น ไม่จำต้องเป็นคนใจคอวิปริตผิดมนุษย์ก็ได้ คนที่ “ปกติ” ก็สามารถทำได้ เมื่อ อดอล์ฟ ไอค์มานน์ ผู้รับผิดชอบแผนการสังหารชาวยิวถึง ๖ ล้านคน ได้รับการตรวจสภาพจิตหลังจากถูกจับได้ ผลการวินิจฉัยยืนยันว่าเขาเป็นคน “ปกติ” เหมือนคนทั่วไป ถึงแม้จะพูดไม่ได้ว่าเขาเป็นคนดีก็ตาม

ในทำนองเดียวกันคงเกินเลยไปที่จะบอกว่าผู้บัญชาการค่ายกักกันชาวยิวเป็นคนดี แต่อย่างน้อยก็พูดได้ว่าคนเหล่านี้มีความเป็นมนุษย์และมีด้านดีหลายด้านไม่ต่างจากเรา รูดอล์ฟ เฮิสส์ ผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาชวิตส์ ได้ชื่อว่าเป็นคนรักครอบครัว ใจดีกับลูก ๆ และมีน้ำใจกับมิตรสหาย ส่วน ฟรานซ์ สตังเงล ผู้บัญชาการค่ายกักกันเทรบลิงกาก็เป็นคนสุภาพ พูดเสียงเบา ๆ ทั้งสองคนหาใช่คนโหดเหี้ยมไม่ เช่นเดียวกับ ไอค์มานน์ เฮิสส์ เคยเขียนในบันทึกส่วนตัวว่าเขาไม่รู้สึกเกลียดชังชาวยิวเป็นส่วนตัว แต่อะไรเล่าที่ทำให้ทั้งคู่บัญชาการสังหารชาวยิวนับหมื่นนับแสนได้อย่างไม่รู้สึกสะทกสะท้าน (เฮิสส์เคยกล่าวว่า “ถึงแม้ว่ากำลังทำภารกิจกำจัดชาวยิวอยู่ ผมก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ”) คำตอบก็คือ เพราะเขาเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง คนเหล่านี้ไม่เคยตั้งคำถามกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ใจจดจ่ออยู่กับการทำงานให้ดีที่สุด

เมื่อใจจดจ่อเต็มที่อยู่กับงานการ อย่างอื่นก็ไม่อยู่ในความสนใจ รวมทั้งความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ที่เป็นชาวยิว อย่างเดียวที่เฮิสส์และสตังเงลสนใจก็คือ ทำอย่างไรจะกำจัดชาวยิวให้ได้มากที่สุดตามเวลาที่กำหนด ใจของเขาจะจดจ่ออยู่กับรายละเอียดเชิงเทคนิค เช่น ตารางเวลารถไฟที่ขนนักโทษมายังค่าย ขนาดและความจุของรถไฟ ชนิดของเตาและวิธีการรมแก๊สพิษ ฯลฯ ใจที่หมกมุ่นอยู่กับข้อมูลเหล่านี้ โดยมุ่งที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ย่อมไม่เหลือที่ว่างให้แก่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจนักโทษ ยิ่งเขาเก็บตัวอยู่แต่ในสำนักงาน ทำแต่งานบริหาร โดยไม่เคยไปรับรู้หรือเป็นประจักษ์พยานในการสังหารนักโทษเลย เสียงร่ำร้องของคนเหล่านั้นจึงแทบไม่มีโอกาสเข้ามาอยู่ในมโนสำนึกของเขาเลย นักโทษเหล่านี้จึงเป็นแค่ตัวเลข หรือมีสถานะไม่ต่างจากวัตถุดิบในโรงงาน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าด้วยวิธีการแบบนี้จะทำให้สตังเงลได้ชื่อว่า “ผู้บัญชาการที่ดีที่สุดในโปแลนด์”

ใจที่มุ่งแต่ “งาน” จนมองไม่เห็น “คน” สามารถทำให้คนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ กลายเป็นคนที่ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะหากเขาอยู่ในอาณัติที่เราต้องจัดการให้ได้ นี้คือเหตุผลเดียวกับที่ฮันน่า ไม่ยอมเปิดประตูโบสถ์เพื่อให้นักโทษหนีไฟออกมา เธออธิบายต่อศาลอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอมีหน้าที่ต้องควบคุมคนเหล่านั้นให้ไปถึงที่หมาย หากเปิดประตูโบสถ์ นักโทษเหล่านั้นก็จะต้องหนีกระจัดพลัดพรายไปหมด

ฮันน่าไม่มีท่าทีรู้สึกผิดกับการกระทำเช่นนั้น เพราะเธอคิดว่าเธอพยายามทำหน้าที่ของเธอให้ดีที่สุด (แต่กลับอับอายที่ตนเองเป็นคนไม่รู้หนังสือ จนยอมรับโทษหนักเพื่อปกปิดความจริงข้อนี้) ท่าทีอย่างนี้ย่อมทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะตัดสินว่าเธอเป็นคนใจหินโหดเหี้ยม ดังนั้นจึงรับไม่ได้ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะแสดงด้านดีของเธอออกมาให้ผู้ชมเห็นอกเห็นใจ แต่จะว่าไปแล้วนี้คือการเสนอภาพความเป็นจริงของปุถุชนคนหนึ่ง ซึ่งแม้จะทำความเลวร้ายด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ก็ไม่ได้เลวไปเสียหมด หากยังมีส่วนดีอีกมากมาย ใช่หรือไม่ว่านี้แหละคือความเป็นมนุษย์ที่มีในเราทุกคน

ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมองอะไรเป็นขาว-ดำอย่างชัดเจน ใครที่เป็นคนดีก็ขาวหมด ส่วนคนชั่วก็ดำหมด แต่แท้จริงแล้วขาวกับดำ ดีกับชั่ว ก็ปะปนอยู่ในตัวคนเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นความไม่ดีของใครบางคน แล้วเหมารวมว่าเขาเลวไปหมด เมื่อนั้นก็เป็นการง่ายที่เราจะเห็นเขาเป็นยักษ์มารหรือผีห่าซาตานที่สมควรขจัดออกไปจากโลกนี้ แต่รู้หรือไม่ว่า เพียงแค่คิดเช่นนั้นเราก็กำลังจะกลายเป็นยักษ์มารไปแล้ว

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ทุกวันนี้เราไม่ได้เหมาว่าใครบางคนเป็นคนเลวเพียงเพราะเห็นความไม่ดีบางด้านของเขาเท่านั้น หากยังมีแนวโน้มที่จะมองว่าคนที่คิดต่างจากเราก็เป็นคนเลวไปด้วย ซึ่งหมายความต่อไปว่าคนเหล่านั้นสมควรถูกขจัดให้สิ้นซาก ใช่หรือไม่ว่านี้คือความคิดที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง

เสื้อเหลืองและเสื้อแดง แม้จะคิดต่างกันในทางการเมือง ก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เป็นเพราะความยึดติดในความถูกต้องของตนอย่างเหนียวแน่น (ไม่ว่าทางศีลธรรมหรือทางการเมือง) จึงง่ายที่จะมองเห็นคนที่คิดหรือทำต่างจากตนเป็นคนเลวร้าย ชนิดที่หาความดีหรือความเป็นมนุษย์ไม่ได้เลย ดังนั้นจึงพร้อมที่จะใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อขจัดคนเหล่านั้นออกไปจากวงสนทนา จากเวทีการเมือง จากเมืองไทย หรือจากโลกนี้ไปเลย

อย่ายอมให้สีของเสื้อมาบดบังความเป็นมนุษย์ของเขา ถึงแม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายก็มีหลายอย่างที่เหมือนกัน เช่น ความเป็นคนไทย อยากให้บ้านเมืองมีสันติสุข รักสุขเกลียดทุกข์ มีพ่อแม่และคนรักที่ห่วงใย ฯลฯ จะว่าไปแล้ว สิ่งที่ทั้ง ๒ ฝ่ายมีเหมือนกันนั้น มากกว่าสิ่งที่ต่างกันด้วยซ้ำ การเห็นแต่ความต่าง จนมองข้ามความเหมือน ทำให้เกิดการแบ่งเราแบ่งเขาอย่างชัดเจน และคิดแต่จะเอาชนะซึ่งกันและกัน

ใจที่หมกมุ่นอยู่กับงานการ อาจทำให้มองไม่เห็นคนได้ ฉันใด ใจที่จดจ่ออยู่กับชัยชนะทางการเมือง ก็ทำให้มองเห็นคนเป็นเบี้ยได้ฉันนั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราถอดเสื้อสีและหัวโขน หันหน้ามาสนทนากันในฐานะบุคคล เราจะเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้ง่ายขึ้น อันที่จริงแม้จะไม่ถอดหัวโขน เพียงแค่มีโอกาสมารู้จักกันตัวต่อตัว แทนที่จะเห็นหรือตอบโต้ผ่านสื่อ ก็สามารถลดอคติ และเห็นด้านดีของกันและกันได้มากขึ้น ยิ่งมีเวลาส่วนตัวอยู่ด้วยกัน หรือทำงานร่วมกัน ก็อาจกลายเป็นเพื่อนกันได้

เมื่อนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกับคนทำสัมปทานป่าไม้ในโอเรกอนและแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมาช้านาน มาร่วมกันปลูกต้นไม้ ปกป้องลำธาร ความเป็นมิตรก็เกิดขึ้น และสามารถพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้มากขึ้น ในปี ๒๕๓๔ ได้มีการนำเอาผู้นำคนผิวดำจากพรรคสภาแอฟริกันแห่งชาติ (ANC ซึ่งมี เนลสัน แมนเดลา เป็นผู้นำ) กับผู้นำพรรคเนชั่นแนลลิสต์ของคนขาวในแอฟริกาใต้ มาสนทนากันในกระท่อมชนบทช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แม้จะมีความระแวงและเกลียดชังกันมาก่อน แต่ในชั่วไม่กี่วันทั้งสองก็เริ่มมีความไว้วางใจและเคารพกันมากขึ้น สัมพันธภาพดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเจรจาระหว่างรัฐบาลคนผิวขาวกับพรรคของคนผิวดำ จนกระทั่งมีการโอนถ่ายอำนาจให้คนดำอย่างสันติในที่สุด

ประสบการณ์ของหลายคนที่มีส่วนร่วมในการสานเสวนาระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติเหมือนกัน และไม่ได้เป็นคนเลวร้ายป่าเถื่อนอย่างที่วาดภาพเอาไว้ กิจกรรมดังกล่าวน่าที่จะทำอย่างต่อเนื่องและขยายวงให้กว้างขึ้น แม้คนที่เข้าร่วมได้จะมีจำนวนไม่มากก็ตาม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถส่งผลได้ยาวไกล

เราคงไม่สามารถหวังว่าความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงจะหมดสิ้นไปในเร็ววัน เพราะความขัดแย้งของทั้ง ๒ ฝ่ายเชื่อมโยงกับความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะคลี่คลายได้ แต่อย่างน้อยทั้ง ๒ ฝ่ายก็ควรไม่ควรทำความขัดแย้งทางการเมืองให้กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างเทพกับมาร หรือระหว่างธรรมกับอธรรม อย่างน้อยก็ควรมองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน อย่าทำลายความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายจนมองเห็นเขาเป็นตัวเลวร้ายหรือผีห่าซาตาน ขณะเดียวกันควรใจกว้างเมื่อผู้อื่นเห็นความเป็นมนุษย์หรือความดีของเขาแม้เรายังมองไม่เห็นก็ตาม เพราะนั่นอาจเป็นปัญหาของเรา มิใช่ปัญหาของเขา

ลองมองให้กว้าง ก็จะพบว่าคนที่สวมเสื้อคนละสีกับเรานั้น มีหลายอย่างที่เหมือนเรา และมีเพียงบางอย่างเท่านั้นที่ต่างจากเรา ลองมองให้ไกลก็จะพบว่า ในอดีตเรากับเขาก็เคยเป็นเพื่อนกัน หรือเดินบนเส้นทางเดียวกันมาก่อน และในอนาคตก็อาจร่วมเส้นทางเดียวกันอีก ใช่แต่เท่านั้น ลองมองให้ลึกก็จะพบว่า เขาก็มีความดีด้วยเช่นกัน อาจจะไม่ยิ่งหย่อนกว่าเราเลย

จริงอยู่เขาอาจทำอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้องหรือเกินเลยไปบ้าง แต่ก็อย่าให้สิ่งนั้นปิดบังสายตาของเราจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ก่อนจะตัดสินเขา อย่างน้อยเราก็ควรถามตัวเองว่าแน่ใจแล้วหรือว่าเราเองก็ไม่ได้ทำเช่นเดียวกับเขา

อย่าลืมว่ายิ่งเราเห็นผู้อื่นมีความเป็นมนุษย์น้อยลงเพียงใด ความโกรธเกลียดที่ตามมาจะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราลดน้อยถอยลงเพียงนั้น

“สุข ดี เก่ง” สร้างได้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มีนาคม 2552

ปีที่ผ่านมา ผมโชคดีและมีความสุขมากที่ได้ร่วมทำงานกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหัวหน้าโครงการถึงสองโครงการ เพราะทั้งสองโครงการมีแนวคิดและแนวปฏิบัติที่มีความสุขเป็นฐาน และเป็นเป้าหมาย มุ่งหวังให้คนในระบบการศึกษามีความสุข สร้างระบบการศึกษาที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Educare Systems) ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสังคมมีคุณลักษณะ “สุข ดี เก่ง” เป็นคนและสังคมที่มีคุณภาพแท้ (Authentic) ไม่ใช่คุณภาพเทียม (Artificial) หรือเสมือนจริง (Virtual)

โครงการแรกเป็นการขับเคลื่อนเรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา” สู่สถาบันอุดมศึกษา โดยได้เชิญผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอบรมเชิงปฏิบัติการ ๕ ครั้งๆ ละ ๓ วัน ก่อให้เกิดชุมชนปฏิบัติ (Community of Practice) วิทยากรและกระบวนกรด้านจิตตปัญญาศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย อาจารย์จำนวนหนึ่งได้นำแนวคิด แนวปฏิบัติ และวิธีการที่ได้จากการอบรมไปใช้ในการเรียนการสอนและการทำงาน แล้วได้แจ้งให้ทราบด้วยความปีติที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีทั้งต่อตนเอง ลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ผมเองก็เป็นปลื้มและมีความสุขไปกับเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ

โครงการที่สองเป็นโครงการวิจัยประเมินผลคุณภาพคนไทย: การวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ของคนไทย โครงการวิจัยประเมินคุณภาพคนไทย แบ่งการดำเนินงานออกเป็นสามระยะ ระยะแรกเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ระยะที่สองเป็นการวิจัยเพื่อสร้างเครื่องมือวัด/ประเมิน “สุข ดี เก่ง” และระยะที่สามจะเป็นการประเมินสภาวะ “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยทั้งประเทศ และจำแนกตามตัวแปรอิสระต่างๆ เช่น อาชีพ อายุ ระดับการศึกษา...

การวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ซึ่งเป็นระยะแรกของโครงการได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว อยู่ระหว่างการปรับปรุงต้นฉบับรายงานการวิจัยหลังจากที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการศึกษา

การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นนวัตกรรมทั้งในแง่ของแนวคิด ระเบียบวิธีวิจัย และการพัฒนาตัวชี้วัด ลักษณะพิเศษของการวิจัยครั้งนี้มีหลายประการเช่น

  1. การใช้ความสุขเป็นฐานของการทำวิจัย (มีความสุขในการทำงาน)
  2. การไม่ยึดติดอยู่กับระเบียบวิธีวิจัย หรือกรอบทฤษฎีการพัฒนาตัวชี้วัดหนึ่งใด แต่พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และประสบการณ์ตรงระหว่างการทำวิจัยของทีมวิจัย (งานคือครู-เรียนรู้จากการทำงาน)
  3. ไม่มีคำนิยามปฏิบัติการ (Operational Definition) สำหรับ ความสุข ความดี ความเก่ง แต่ใช้วิธีการพูดคุยแบบไม่ชี้นำ (Nondirective/Informal Interview) กับผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ที่ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนว่าเป็นคนที่มีความสุข ความดี ความเก่ง และขอให้ท่านแนะนำผู้มีความสุข ความดี ความเก่ง ตามที่ท่านรู้จักให้ผู้วิจัยเพื่อจะได้คัดเลือกและขอไปพูดคุยด้วยต่อๆ ไป
  4. การพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ในลักษณะที่เป็นองค์รวม ไม่แยกเป็น “สุข” “ดี” “เก่ง” ออกจากกัน
  5. แหล่งข้อมูลที่นำมาประกอบการวิเคราะห์/สังเคราะห์ความหมายและตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” มาจากการวิจัยเอกสาร การวิจัยภาคสนาม การประเมินและตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรึกษาหารือระหว่างทีมวิจัย
  6. ผู้ให้ทุนทำวิจัยส่งคนในสำนักงานเข้ามาร่วมเรียนรู้และร่วมกระบวนการวิจัยกับทีมวิจัย
  7. ผู้ให้ทุนมีความ “ใจกว้าง” และ “กล้า” พอที่ให้ “ความไว้วางใจ” ผู้ทำวิจัยลองสร้างนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา

ผลการวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ครั้งนี้ ได้ตัวชี้วัด ๓ ชุด อันเนื่องมาจากวิธีการสังเคราะห์ที่แตกต่างกัน แต่ละชุดมีจำนวนตัวชี้วัดที่ไม่เท่ากัน

ชุดแรกได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยเอกสาร (๙๙ ตัวชี้วัด) ผ่านการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษาในโครงการแรกที่จัดโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เหลือ ๒๒ ตัวชี้วัด) กับข้อมูลที่ได้จากการวิจัยภาคสนาม (๗๓ ตัวชี้วัด) ผ่านการพิจารณาความซ้ำซ้อนของทีมวิจัย (เหลือ ๒๕ ตัวชี้วัด) ผลการสังเคราะห์ได้ตัวชี้วัดทั้งหมด ๑๑ ตัว นำตัวชี้วัด พร้อมคำนิยาม ๓ ระดับให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการวัดการประเมิน และการวิจัยทางการศึกษาพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ

ชุดที่สอง ได้จากข้อมูลภาคสนามเฉพาะที่ผู้ให้ข้อมูลหลักระบุว่า “สุข ดี เก่ง” เป็นลักษณะเดียวกัน รวมอยู่ในคนๆ เดียว เป็นตัวชี้วัด “รวม” ไม่แยกเป็นส่วนๆ มีตัวชี้วัดทั้งหมด ๒๕ ตัว ผ่านการพิจารณาทบทวนจากทีมวิจัยเหลือ ๒๓ ตัวชี้วัด

ชุดที่สาม ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยเอกสารที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ (๒๒ ตัวชี้วัด) กับตัวชี้วัด “ร่วม” (ตัวชี้วัดที่ปรากฏตรงกันในทุกมิติของตัวชี้วัด “สุข” “ดี” และ “เก่ง”) ที่ได้จากการวิจัยภาคสนาม (๑๖ ตัวชี้วัด) ผลการสังเคราะห์ได้ตัวชี้วัดร่วม ๖ ตัวชี้วัด

เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดชุดที่สอง (๒๓ ตัวชี้วัด) และตัวชี้วัดชุดที่สาม (๖ ตัวชี้วัด) พบว่าตัวชี้วัดทั้งหกตัวในชุดที่สามล้วนเป็นตัวชี้วัดที่ปรากฏในชุดที่สอง งานวิจัยนี้จึงนำเสนอผลการวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยในระยะแรกนี้เป็น ๖ ตัวชี้วัด ซึ่งได้แก่ มีความเพียร รักในการเรียนรู้ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ประนีประนอม มีอุดมการณ์ในชีวิต และ มีความพอเพียง

ตัวชี้วัดรวม “สุข ดี เก่ง” ในชุดที่สอง (๒๓ ตัวชี้วัด) ถือเป็นนวัตกรรมทางความคิด/กระบวนทัศน์ทางการวิจัยและการพัฒนาตัวชี้วัด หากมีการพัฒนาวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลให้รอบคอบ รัดกุมขึ้น จะน่าสนใจมากทั้งในแง่ของวิชาการ และการนำไปใช้

ตัวชี้วัดร่วม “สุข ดี เก่ง” ในชุดที่สาม (๖ ตัวชี้วัด) และเป็นผลการวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นนวัตกรรมทางระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัดที่น่าสนใจ ในแง่ที่เป็นการวิจัยฐานราก (Grounded Research) ที่มีวัฒนธรรมเป็นฐานร่วม ในกรณีนี้จะสังเกตได้จากตัวชี้วัดทั้ง ๖ ตัว มีความเป็นไทยอยู่พอควร เช่น ความพอเพียง ความเพียร และประนีประนอม

ที่น่าสนใจมากในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะการตีความ ความหมายของคำที่ผู้ให้ข้อมูลหลักใช้ และสถานการณ์/บริบทประกอบการอธิบาย หากตีความตามผู้ให้ข้อมูลหลักโดยตรง อาจจะมีความหมายแตกต่างหรือไม่ตรงกับที่นักวิชาการ (เฉพาะทาง) เข้าใจก็ได้ เมื่อนำผลการวิจัยมาให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาก็อาจจะตีความไม่ตรงกัน ในการเรียนการสอนด้านการวัดการประเมิน และการวิจัยเชิงคุณภาพ จึงควรต้องนำประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณาด้วย

ประเด็นเรื่องตัวชี้วัดรวม ตัวชี้วัดร่วม และการตีความดังกล่าว น่าจะนำไปทำเป็นวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกได้ โดยผมและทีมวิจัยยินดีเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ให้ครับ

การวิจัยและพัฒนาในระยะที่สอง หากได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หรือหากมีหน่วยงานอื่นที่จะร่วมสนับสนุน ทีมวิจัยก็พร้อมที่จะพัฒนานวัตกรรมการสร้างเครื่องมือ/แบบวัดและประเมิน “สุข ดี เก่ง” เพื่อนำไปประเมินสภาวะ “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยในระยะที่สามต่อไป

น่าสนใจไหมครับถ้าเราจะประกาศผลการประเมินสภาวะ “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยเป็นประจำทุกปี ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือทุกๆ ๕ ปีควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต พระนักปราชญ์ไทยจากหนังสือ เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร ได้ให้แง่คิดว่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจนั้นไม่สำคัญเท่าการสูญเสียคุณภาพของคน “เราจึงต้องกู้คนขึ้นมา แล้วคนนี่แหละจะมากู้เศรษฐกิจได้ แล้วจะเป็นเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง”

ผมมีความสุขมากที่ได้มีโอกาสทำโครงการที่มีความมุ่งมั่นและเจตนาที่ดีทั้งสองโครงการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงขอขอบคุณด้วยความจริงใจมา ณ ที่นี้

ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทั้งสองโครงการที่ช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จ ผมได้เรียนรู้จากท่านทั้งหลายมากมายเหลือเกิน

ผมเข้าใจอย่างชัดเจนแล้วว่า ที่ท่านพุทธทาสสอนว่า จงทำงานอย่างมีความสุข และ มีความสุขกับการทำงาน หมายถึงอะไร และผมเข้าใจชัดเจนแล้วว่าที่ท่านสอนว่า งานคือครู หมายถึงอะไร

คุณครูทั้งหลาย อาจารย์ที่เคารพ พ่อแม่ที่รัก นักการเมืองที่นับถือ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอด นักกฎหมายชั้นเยี่ยม ศิลปินชั้นแนวหน้า...มาช่วยกันเป็นตัวแบบที่ดี ช่วยกันสร้างและพัฒนาคนไทยให้มีคุณลักษณะ “สุข ดี เก่ง” ร่วมกันนะครับ เพราะ “สุข ดี เก่ง” สร้างได้ครับ

ก่อนจบขอฝากแง่คิดไว้นิดหนึ่งว่า “ชาติจะมั่นคง สงบสุข อย่างยั่งยืนได้ด้วยสติและปัญญา การศึกษาจึงต้องพัฒนาคนให้มีสติและปัญญา เพื่อเป็นปัญญาชน”

รอยย่ำโบราณ … บนเส้นทางสู่อนาคต



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มีนาคม 2552

งานแจมโลก (World Jam) ที่กำลังจะจัดขึ้นในปีหน้าเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่หมายมั่นชีวิตตัวเองกับการรับใช้สังคมจากมุมต่างๆ ของโลกได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มแรงบันดาลใจให้กันและกัน ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวเมารี ชื่อว่า คีรีทาปู อาลัน เป็นสตรีชาวนิวซีแลนด์ วัย ๒๕ ปี เธอสืบเชื้อสายของคนเมารีและชาวผิวขาว และอยู่ในขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่พยายามรื้อฟื้นรากของความเป็นเมารีหรือชนเผ่าดั้งเดิมของนิวซีแลนด์ให้กลับมาสู่วิถีชีวิต

เธอเล่าให้ฟังว่าหนทางชีวิตของเธอนั้นแปลก เพราะช่วงที่เป็นวัยรุ่น ความฝันของเธอคือการได้เป็นทหารเพื่อรับใช้ประเทศชาติ และปกป้องสังคมที่เธอรักจากภัยคุกคามภายนอก เหตุผลอีกอย่างที่มากไปกว่าอุดมคติที่ว่ามานี้ก็คือ เธอเป็นคนชอบใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงในฐานของร่างกาย เธอชอบวิ่งและออกกำลังกาย และจะมีอาชีพใดอีกเล่าที่พร้อมจะจ่ายเงินค่าออกกำลังกายให้เธอ นอกจากการเป็นทหาร แต่แล้วโชคชะตาของคีรีก็ไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย เพราะเธอกลับต้องประสบอุบัติเหตุเข่าหลุดจากการเล่นรักบี้ ความฝันที่จะเป็นทหารของเธอจึงต้องเก็บพับไปเสีย และแม้ว่าเธอจะไม่ยอมแพ้ พยายามสมัครให้ได้รับการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง แต่ก็ต้องพบอุบัติเหตุอีกอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ล้มเหลวทั้ง ๒ ครั้งอาจไม่ใช่เหตุบังเอิญในการตระเตรียมให้คีรีได้มาเดินทางบนเส้นทางที่เดินอยู่ในวันนี้ ในการที่เธอคอยปกป้องอธิปไตยทางจิตวิญญาณให้กับเผ่าพันธุ์ของตน เพราะก่อนหน้านั้นชีวิตวัยเด็กของเธอไม่ได้ราบเรียบ เพราะเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อแม่เลิกทางกัน เธอต้องเติบโตมากับป้าที่สอนเธอให้รู้จักรากเหง้าและจิตวิญญาณของผู้หญิงเมารีที่เคารพท้องทะเลที่ศักดิ์สิทธิ์และแผ่นดินที่มีชีวิต

จากการได้เรียนรู้กับยายและญาติพี่น้องของเธอเองมาโดยตลอด เมื่อเธอเติบโตและได้ศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา ทำให้เธอเริ่มตระหนักว่า แม้สังคมจะผ่านยุคสมัยของการเป็นเมืองขึ้นอาณานิคม (colonialism) มาแล้ว แต่ยังไม่พ้นการครอบงำในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการครอบงำทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน กระแสทุนนิยมที่มาพร้อมกับบริโภคนิยม การกีดกันทางสีผิวที่ดูแนบเนียนมากขึ้น และตัวเลขของชนชายขอบหรือชนเผ่าพื้นเมืองโดยเฉพาะในนิวซีแลนด์ที่ถูกกักขังในเรือนจำก็มีสัดส่วนมากที่สุดและยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวังวนของกระบวนการกีดกัน และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

เธอได้ตื่นขึ้นมาอุทิศชีวิตของตัวเองในการปลุกผู้คนให้ตื่นขึ้นมารับรู้และเรียกร้องสิทธิในการดำรงอย่างมนุษย์ที่เท่าเทียม และได้กลายเป็นนักรบปกป้องจิตวิญญาณของชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่คู่กับแผ่นดินมายาวนาน

ผมได้มีโอกาสพาคีรีและเพื่อนที่มาด้วยกันขึ้นไปเยี่ยมชุมชนหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย คืนนั้นบรรดาเยาวชน โดยเฉพาะผู้หญิง ได้มานั่งล้อมวงรอบแสงเทียนเพื่อรับฟังเรื่องราวของพี่สาวที่เป็นอาคันตุกะจากแดนไกล คีรีเริ่มต้นเล่าเรื่องของเธอด้วยการลุกขึ้นยืนแล้วร้องสวดเป็นภาษาเมารี สำเนียงดั้งเดิม โหยหวน เต็มไปด้วยความนอบน้อมและความรัก เพื่อสื่อสารกับจิตวิญญาณของสถานที่แห่งนั้น เจ้าป่า เจ้าเขา ขวัญทั้งหลายที่ดำรงอยู่ในโมงยามของรัตติกาล ทุกคนรวมทั้งผมถึงกับนั่งอึ้งกับการ “แสดงออก” ซึ่งจริงๆ แล้วต้องเรียกว่า “การเป็น” หรือ “การดำรงอยู่” ของคีรี สำหรับเธอแล้วจักรวาลทั้งมวลมีชีวิต และพิธีกรรมร่ำร้องกล่าวสาส์นนี้ช่วยทำให้การสนทนาของเราเข้าสู่การเชื่อมต่อกับโลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์และวิถีของบรรพชน ระหว่างพื้นภูมิสยามและตำนานเมารี

นับตั้งแต่เธอได้มาร่วมงานและเรียนรู้กับ World Jam ที่รวมพลคนสร้างสรรค์สังคมรุ่นใหม่ไว้ด้วยกัน วิธีคิดในการเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์สังคมของเธอก็เปลี่ยนจากการต่อสู้และปะทะด้วยความรุนแรงมาเป็นการต่อสู้ภายในตัวเธอเอง และตระหนักถึงเสรีภาพที่บุคคลจะค้นพบได้ในตัวเอง เธอพบคุณค่าของทำงานด้านในไปพร้อมๆ กับการทำงานด้านนอก การเดินทางด้านในที่ค้นพบการไปถึงได้ในแต่ละขณะ การยอมรับและเป็นหนึ่งเดียวกับโลกอย่างที่เป็นก่อนแล้วจึงหล่อเลี้ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนา การไม่พยายามเป็นผู้ “กระทำ” การเปลี่ยนแปลง (change agent) แต่เป็นผู้เชื่อมโยงและเกื้อหนุนเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ล้วนแต่มาจากประสบการณ์การทำงานกับคนรุ่นเก่าและใหม่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการมองเห็นความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนภายใต้ภูเขาน้ำแข็งแห่งปรากฏการณ์

เมื่อมาเชื่อมโยงกับกระแสการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีการกล่าวถึงกันมากขึ้นเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านใน ก็มีโจทย์ว่าทำอย่างไรจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) จะไม่ใช่เป็นเพียงกระบวนการเรียนรู้ด้านใน ที่สร้าง “ความสงบสุข” ให้กับผู้เรียน แต่ช่วยกระตุ้นแรงปรารถนาที่จะแบ่งปัน ช่วยเหลือ และรับใช้สังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การแบ่งแยกและความทุกข์ เพราะมิเช่นนั้น จิตตปัญญาศึกษาก็จะกลายพันธุ์ไปในทาง “นิวเอจ (New Age)” ที่หลุดลอยไปกับอิสรภาพ และการ “ค้นพบตัวเอง” อย่างไม่ผูกโยงกับทุกขสัจจ์ของยุคสมัย และโดยห่างไกลออกไปจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเองได้ด้วยอย่างน่าเสียดาย

ภาษา พิธีกรรม การแสดงออก หรือเครื่องแต่งกายที่เราสวมใส่ ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนหรือย้ำเตือนสิ่งที่เราเป็น รากเหง้าของเรา แม้ว่ากางเกงยีนส์อาจไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณชนเผ่าเสื่อมสลายลง แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหลงใหลไปกับอารมณ์ความเป็นอื่น เมื่อนั้นเราก็หลุดลอยออกไปจากสิ่งจริงแท้ที่เราเป็นอยู่

การเปลี่ยนทางจิตสู่ชีวิตที่ไม่ยุ่งยาก



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มีนาคม 2552

มนุษย์ในสมัยหินคงมีความยุ่งยากในการดำรงชีวิตหรือความทุกข์น้อยกว่าเราในปัจจุบันมาก นั่น - ผู้เขียนคิดว่า เพราะความเจริญก้าวหน้า - ซึ่งคิดว่าเป็นความเสื่อมมากกว่า - ความทันสมัย เทคโนโลยีหรือแฟชั่น ฯลฯ พูดง่ายๆ คือความเจริญนั่นเองที่ทำให้ชีวิตมนุษย์สมัยใหม่มีความยุ่งยากหรือความทุกข์

หากเราเชื่อตามที่นักวิทยาศาสตร์บางคนบอกเรา เช่น โรเจอร์ สเปอรี หรือ จอห์น เอคเคิลส์ (นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลทั้งคู่) ว่าเป็นจิตที่คุมกาย ทั้งจิตก็ไม่ใช่สมองและไม่ได้อยู่ในสมองแห่งเดียว ทุกวันนี้ แม้นักประสาทวิทยาศาสตร์เองอย่างน้อยหลายคนเชื่อว่า พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงของเราไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม (ใจหรือจิตใจ) ล้วนเป็นผลพวงการทำงานของจิตรู้หรือจิตสำนึกเป็นปฐม ซึ่งเป็นไปตามที่ศาสนาพุทธบอกเรามาเป็นพันๆ ปีแล้วว่า ชีวิตหรือสัตว์โลกนั้นประกอบด้วยรูปกับนามเท่านั้น โดยจะสอนว่า คำว่านามคือวิญญาณขันธ์ หรือตัวรู้ หรือจิตสำนึก หรือคือจิตที่ผ่านการบริหารโดยและที่สมองนั่นเอง สมองที่ทำให้จิตกลายเป็นนาม หรือการ ตื่น ของจิตเพื่อเป็นนามที่พร้อมจะรู้

ผู้เขียนเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าสมองไม่ใช่จิต - จิตเพียงเข้ามาอยู่ในสสารวัตถุหรือรูปกายของชีวิตทุกๆ ชีวิต แม้แต่ในสัตว์เซลล์เดียว - แต่สมองก็มีความจำเป็นที่สุดต่อวิวัฒนาการของจักรวาล โลก และชีวิต นั่นคือความสามารถในการบริหารจิตให้เป็นนามหรือตัวรู้ที่ ตื่น และพร้อมที่จะ รู้ ซึ่งมีแต่เฉพาะในมนุษย์เท่านั้นที่มีวิวัฒนาการของชีวิตได้สมบูรณ์ที่สุด คนไทยมักจะสับสนกันตรงเรื่องจิตซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดในโลก แถมเราทำให้มันยิ่งยากขึ้นไปอีก โดยเอาภาษาอังกฤษกับนิยามของนักจิตวิทยาฝรั่งมาใช้โดยไม่อ่านพุทธศาสตร์ในเรื่องของจิตเสียก่อน แล้วค่อยไปอ่านหรือเชื่อ ฟรอยด์ แอดเลอร์ หรือนักจิตวิทยาตะวันตก เพราะพุทธองค์เป็นนักจิตวิทยาที่เหนือกว่าใครเป็นไหนๆ (Carl C. Jung Commentary in Evan-Wentz’s Bardo Thodol; 1927) เรางงเพราะใช้ภาษาอังกฤษสุดแต่จะใช้คำไหน (mind, mental, soul, spirit consciousness, etc. หรือแม้แต่คำว่า unconsciousness as consciousness) ทั้งๆ ที่ฐานความรู้ในเรื่องของจิตที่ใช้ๆ กันยังสับสนพอแรงอยู่แล้ว เราจึงใช้กันแทบจะมั่วไปหมด จนกระทั่งผู้อ่านสับสนหรือผู้ใช้บางทีก็สับสนเสียเอง

สำหรับผู้เขียนนั้น คำว่าจิตที่ไม่มีสร้อยต่อท้าย คือจิตไร้สำนึกพื้นฐานของจักรวาล (cosmic consciousness ที่ คาร์ล จุง เรียก unconscious universal continuum) ซึ่งนักจิตวิทยาส่วนมากรวมทั้งผู้เขียนเชื่อว่า คือจิตไร้สำนึกที่เป็นจิต (unconsciousness as consciousness) นั่นคือ “เต๋า” ใน เต๋าเต็กเก็ง หรือวิญญาณในพุทธศาสนาในอีกความหมายหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับบทความ คือเรื่องกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคมอันเป็นพื้นฐานของวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ หรือรู้แจ้งของปัจเจกบุคคล ซึ่งเชื่อว่าการรู้แจ้งของปัจเจกนั้นจะนำไปสู่การ ตื่นรู้ ของสังคมโดยรวม (collective) ในภายหลัง ซึ่งทั้งสอง - ปัจเจกและโดยรวม - คือเป้าหมายและจุดหมายปลายทางของมนุษย์และสังคมที่สำคัญที่สุด ทำให้ผู้เขียนต้องมาเป็นคอลัมนิสต์และเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ – เพื่อที่อาจจะ ช่วยหรือเสริมเติม - ให้ผู้อ่านบางคนนำมาคิดหรือเป็นผลทางอ้อมให้ผู้นั้นๆ สามารถเปลี่ยนแปลงจนเกิดวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณได้

จริงๆ แล้ว เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลกที่ยิ่งใหญ่ หรือเรื่องของวิวัฒนาการทางจิตของมนุษยชาติหรือจักรวาลทัศน์นั้น เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนมาตั้งแต่เริ่มเขียนใหม่ๆ และมาตอกย้ำด้วยหนังสือที่ชื่อ บุพนิมิตกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเขียนลงในสื่อต่างๆ มาเมื่อสิบปีก่อนแล้ว โดยผู้เขียนได้ย้ำว่าหากทุกคนไม่เปลี่ยนจิตและพฤติกรรมของตนได้ทันกับเวลา เผ่าพันธุ์ของเราอาจจะเสี่ยงต่อการสูญสิ้นเยี่ยงไดโนเสาร์ เพราะว่าผู้เขียนไม่เชื่อในเรื่องของความบังเอิญ ซึ่งไม่เคยมีและมีไม่ได้ ถ้าหากผู้ใดสังเกตให้ถ้วนถี่ถึงประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคมและชีววิวัฒนาการของสัตว์จนกระทั่งเป็นมนุษย์ และจงอย่าลืมว่า จิตของมนุษย์ปัจจุบันนั้นได้ผ่านจิตตาวิวัฒนาการ (เช่นเดียวกับชีววิวัฒนาการแต่ช้ากว่า) จนแตกต่างกันกับจิตของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ หรือมนุษย์เดินตัวตรง (Homo erectus) อย่างมาก

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ดูจะเป็นประดุจประหนึ่งว่ามนุษย์เรามาอยู่ที่นี่เพราะจักรวาลต้องการเช่นนั้น (cosmologic anthropic principle) ดังที่นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่จำนวนไม่น้อยเลยเชื่อ รวมทั้งผู้เขียนเพราะว่าผู้เขียนคิดเป็นอย่างอื่นไม่ออกจริงๆ

ถ้าเป็นเช่นนั้น นายบารัก โอบามา - หนุ่มผิวสีที่ชูนโยบายการเปลี่ยนแปลง (change) ที่ผู้เขียนเชื่อว่า เขาอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมของประเทศและการเปลี่ยนแปลงทางจิตและพฤติกรรมของประชาชนอเมริกัน - ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเหนือคู่ต่อสู้อย่างถล่มทลาย - ซึ่งต้องคอยดูกันต่อไปว่า โอบามาจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศรวมโลกได้ทันกับเวลาหรือไม่และอย่างไร อย่างลืมว่า ไม่ว่าจะมีผู้รักหรือรังเกียจสหรัฐอเมริกาสักเท่าไร ก็มิได้ทำให้การเป็นผู้นำโลกของสหรัฐต้องเปลี่ยนสถานภาพไป เพราะว่าสหรัฐคือผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองแต่เพียงประเทศเดียวโดยประเทศแทบไม่บอบช้ำเลย และที่ยิ่งไปกว่านั้น เป็นสหรัฐประเทศเดียวจริงๆ ที่ริเริ่มทำร้ายและทำลายระบบนิเวศโลกกับทรัพยากรธรรมชาติด้วยความเจริญก้าวหน้า (ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นความเสื่อมสลายหายนะของโลก) ด้วยเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกานุวัตรที่พ้องจองกับกิเลสตัณหาของมนุษย์

ถ้าหากเรามองจากวิวัฒนาการของจักรวาล ของโลก และของมนุษย์กับสังคม เราคงไม่สามารถที่จะมองข้ามหรือขจัดข้อสันนิษฐานของนักฟิสิกส์แห่งยุคใหม่ (cosmological anthropic principle) ออกไปได้ทั้งหมด คือเป็นไปได้ที่จักรวาลซึ่งมาจากหนึ่ง (singularity) อาจสามารถรับรู้ความผันผวน หรือความฉิบหายที่เกิดขึ้นกับดาวนพเคราะห์โลกของเราที่อยู่ในจักรวาลเดียวกัน ความล่มสลายหายนะที่เกิดจากเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจเสรีอันมีอเมริกาเป็นผู้ริเริ่ม และตามด้วยกระแสโลกานุวัตรในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยนั้น ได้ส่งผลให้กระบวนการวิวัฒนาการกระทบกระเทือนไปทั่วจักรวาลจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นผลของเศรษฐกิจหรือระบบสังคมการเมืองซึ่งกำลังเป็นปัญหาและวิกฤตของทุกประเทศในโลก โดยไร้ทางแก้ไขใดๆ ทางรูปร่างกายภาพหรือวัตถุ (physical) ให้กลับไปเหมือนเดิมได้ทั้งสิ้น - ความเถลไถลเฉไฉผิดไปจากธรรมชาติอันเป็นความยุ่งยากทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นด้วยตัวเราเอง จึงตัวเราเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้แก้ไข

หนังสือขายดีมากๆ ของ ดเวน เอลยิ่น – นักจิตวิทยาที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันมีนักจิตวิทยาที่หันมานับถือจำนวนมากขึ้นรองจากนักฟิสิกส์ยุคใหม่ - ชื่อ การดำรงชีวิตที่เรียบง่ายโดยสมัครใจ (Duain Elgin: Voluntary Simplicity, 1993) ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันสร้างวัฒนธรรมในการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “ขบวนการมีชีวิตที่เรียบง่าย” ขึ้นมาขบวนการหนึ่ง อันมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

๑. ให้หาเพื่อนหรือหาเด็กๆ ในการใช้เวลาและพลังงานของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองมีพฤติกรรมที่เรียบง่ายด้วยตัวเองและร่วมกัน เช่น การเดิม การเล่นดนตรี เข้าค่าย หรือกินอาหารง่ายๆ ร่วมกัน

๒. ในการทำอะไรในชีวิตประจำวันของตนเอง ทั้งทางกาย อารมณ์ จิตใจ และจิตวิญญาณ ให้ทำด้วยความสงบและรู้ตัว

๓. คิดถึงและอ่อนไหวต่อธรรมชาติของโลกเสมอๆ

๔. รู้สึกเห็นใจและเต็มใจช่วยเหลือชาวโลกผู้ยากไร้หรือลำบาก

๕. ขจัดและเปลี่ยนแปลงนิสัยในการหาและการมีอุปกรณ์ที่เป็นแฟชั่นและทันสมัยส่วนตัวลงไปให้มากที่สุด คงไว้เฉพาะที่จำเป็นทนทานและซ่อมง่าย

๖. หลีกเลี่ยงอาหารฟุ่มเฟือยและไร้คุณค่า กินอาหาร “สุขภาพ” ที่เรียบง่ายและหาง่ายตามธรรมชาติ เช่น ผักและผลไม้

๗. ลดและบริจาคเสื้อผ้า หนังสือ และของใช้ส่วนตัวให้เป็นนิสัย

๘. หมุนเวียน ซ่อมแซม นำมาใช้ของเก่าที่ยังใช้ได้

๙. ใช้สิ่งแวดล้อมแต่น้อยอย่างมีคุณค่า โดยคำนึงถึงการฟื้นตัวของมันเสมอ

๑๐. เดินทางไปไหนๆ ใช้การขนส่งสาธารณะ จักรยานหรือเดินเอา

และผู้เขียนขอเพิ่มอีกสองอัน คือ

๑. ลดการดูทีวีและคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ประโยชน์ลงให้มากที่สุด

๒. คบแต่บัณฑิต ไปวัดหรือสุเหร่าหรือโบสถ์ และรู้จักปฏิเสธเสียบ้าง

คิดว่า หากเราสามารถทำได้ทั้ง ๑๒ ข้อ เราอาจเรียกว่าเป็นคนที่ดำรงชีวิตอยู่กับความเรียบง่ายได้ หรือท่านผู้อ่านท่านใดคิดออกต่อจากที่เขียนมาทั้งหมดก็ยิ่งดี ปัญหาอยู่ที่ “ความสมัครใจ” เพราะความเรียบง่ายหรือพฤติกรรมทั้งหลายแหละของมนุษย์เรา ทั้งหมดเป็นเรื่องของจิต (รู้) ที่ควบคุมกาย วาจา และจิตใจ อย่าลืมว่า นักวิทยาศาสตร์ทางจิตส่วนหนึ่ง รวมทั้งในความหมายของผู้เขียนที่เขียนมาตลอดมา จะมองจิตใจ - ที่รวมการรับรู้ ความรู้สึก อารมณ์ ความคิดจินตนาการ และความจำอันเป็นจิตรู้หรือจิตสำนึกซึ่งเป็นจิตที่ผ่านการบริหารที่สมองไปเรียบร้อยแล้ว - สำหรับผู้เขียนที่เขียนมาตลอดนั้น คำว่าจิตที่ไม่มีสร้อยต่อท้าย จะเป็นจิตไร้สำนึก (unconsciousness as consciousness) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น นั่นคือจิตที่อยู่ในทุกที่ว่างของจักรวาลที่เข้ามาอยู่ในสมองและบริหารพร้อมทั้งวิวัฒนาการที่และโดยสมอง

Back to Top