สิงหาคม 2014

รับรองตัวเองได้ ก็ไม่ต้องให้ใครมารับรอง



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2557

“เหงาแล้วทำไม ไม่เห็นจะต้องเหงา”

พี่นิด สาวใหญ่นักบริหารพูดขึ้นในวงสนทนา ดูจากการพูดจาโผงผางของแกแล้ว เป็นคนที่คุยด้วยไม่ใช่ง่าย ถ้าพูดผิดหู รับรองเธอสวนกลับแน่นอน

“ถ้าเหงาขึ้นมาก็ไม่เห็นเป็นไร ก็เปิดเหล้านั่งกินคนเดียวที่บ้าน กินแล้วก็พูดกับตัวเอง เอ้า จริงนะ ไม่เห็นเป็นไร พี่ชอบพูดกับตัวเอง ตั้งคำถามเองแล้วก็ตอบ กินไปจนพูดไม่รู้เรื่องนั่นแหละถึงจะปิดสวิชท์ตัวเอง นอน!”

ระหว่างที่พี่นิดเล่า ผมอดนึกถึงตัวเองไม่ได้ ผมก็เคยดื่มเหล้าเมาอยู่คนเดียวที่บ้าน เพราะผิดหวังเรื่องความรัก ดื่มเกือบทุกวัน ผสมเหล้าดื่มเองไม่ต้องพึ่งบาร์เทนเดอร์ วอดกา เตกิล่า จิน แกรนมาเนียร์ คาลัวร์ ฯลฯ ให้เมา ๆ กึ่ม ๆ หน่อยแล้วก็ผล็อยหลับไป ทำอย่างนี้ติดต่อกันหลายเดือน จนมีอยู่วันหนึ่ง ผมได้อ่านหนังสือเรื่องอะไรจำไม่ได้ เหมือนพ่อกำลังสอนลูกชาย

อ่านต่อ »

ปฏิรูปการศึกษาไทย ๒: ปฏิรูป “ผู้เรียนรู้” และ “การเรียนรู้”



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2557

“ผู้เรียนรู้” ในที่นี้เป็นระดับบุคคลและหมายถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะ ผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครอง ซึ่งต่อไปนี้ จะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เรียนรู้และผู้ร่วมเรียนรู้ด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครองในความหมายและรูปแบบเดิมที่เคยทำกันอยู่

ในทางการศึกษา ผู้เรียนรู้ประกอบไปด้วยอย่างน้อยสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวตนที่รับรู้จับต้องได้ เป็นมิติภายนอก กับ “การเรียนรู้” โดยเฉพาะสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “การเรียนรู้ที่แท้จริง” ซึ่งเป็นมิติภายใน

ในทางจิตตปัญญาศึกษา “การเรียนรู้ที่แท้จริง” มีความหมายที่แตกต่างไปจาก “การเรียนรู้” ที่เราเข้าใจกันโดยทั่วๆ ไปในการศึกษากระแสหลัก ที่มีเป้าหมายเฉพาะหน้าเพื่อการสอบ การเรียนการสอนอยู่ในลักษณะเร่งรีบ รวบรัด ตัวใครตัวมัน มากกว่าการใคร่ครวญ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงมักเป็นไปในลักษณะของการขาดสติ โอกาสจะเกิดปัญญาจึงริบหรี่ ทั้งในระดับบุคคล และการเกิดปัญญาร่วม (Collective Wisdom) ในกลุ่มของผู้เรียนรู้

การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันมีการเรียนเยอะมาก ทั้งการเรียนในห้องเรียนตามปกติและการเรียนพิเศษ แต่มีการเรียนรู้เกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ทราบ การสอนและการสอบก็มีเยอะมาก แต่ก็ไม่ทราบว่าผู้สอนและผู้สอบเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งเน้นความสำคัญและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิต สังคม และสรรพสิ่ง การเรียนการสอนจึงอยู่ในลักษณะของการเรียน การรู้ แต่ไม่ใช้ “การรู้เท่าทัน” การสอบส่วนใหญ่ก็เน้นไปที่ความรู้ ความจำ ดีขึ้นมาหน่อยก็คือความเข้าใจ แต่ก็เป็นความเข้าใจแบบแคบๆ แยกส่วนเฉพาะเนื้อหาสาระของวิชา สะท้อนให้เห็นจากการเรียนการสอนที่มีลักษณะที่เป็นทางการ แห้งแล้ง จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา ขาดความสุขและความสนุกในการเรียนรู้

การวัดผลด้วยการสอบที่ทำกันอยู่ เป็นการวัดผลการเรียนของผู้เรียน มากกว่าการเรียนรู้ และไม่ใช่การวัดผลการสอน เพราะผลการเรียนถูกวัดและตัดสินด้วยผู้สอน ซึ่งเป็นผู้ออกข้อสอบ ผู้เรียนสอบตกไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้สอน ผู้สอนมีหน้าที่ถ่ายทอดเนื้อหาสาระ/ทักษะตามรายวิชาตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ ผู้สอนไม่ใช่ผู้เรียนรู้และ/หรือผู้ร่วมเรียนรู้ ความรับผิดชอบต่อผลการสอบอยู่ที่ผู้เรียน จึงมีโอกาสที่จะไม่เกิดการเรียนรู้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน มีแต่การเรียนกับการสอนและการสอบ อาจจะมีการปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหาสาระเพื่อให้ทันสมัยเป็นระยะๆ ตามมาด้วยระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติที่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อทำให้ดูเป็นระบบ มีมาตรฐานและการปฏิบัติทำนองเดียวกับการผลิตและการควบคุมคุณภาพที่ทำกันในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความคิดความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในเรื่องการศึกษา ยกตัวอย่างเช่นการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ภาคบังคับ) เราไม่ได้มองผู้เรียนเป็นเสมือนวัตถุดิบของระบบการผลิตที่สามารถคัดสรรหรือตัดทิ้งได้ เพราะเป็นเรื่องสิทธิ แต่ละคนที่เข้ามาล้วนแตกต่าง จะใช้กระบวนการและวิธีการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนในโรงงานไม่ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถรับประกันคุณภาพ/ผลผลิตเช่นเดียวกับการผลิตสินค้าได้ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของการเสริมสร้างและพัฒนาคุณค่าและคุณภาพของคน ไม่ใช่เรื่องของการควบคุมคุณภาพ จึงไม่ควรหมกมุ่นติดกับดักการควบคุมและการประกันคุณภาพที่เลียนแบบมาจากระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

ผู้เขียนขอเสนอว่า การปฏิรูปการศึกษา ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดความเชื่อที่เป็นมิติภายในก่อน ส่วนแนวทางและวิธีปฏิบัติจะค่อยๆ พัฒนาตามมา ในเบื้องต้น ควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปจาก “การเรียน การสอน การสอบ” ไปสู่ “การเรียนรู้ การร่วมเรียนรู้ และการพัฒนาสติปัญญาร่วมกัน”

ในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ครู อาจารย์สมควรจะเป็นเป้าหมายหลักในการปฏิรูปตามที่ผู้เขียนเสนอไว้ในบทความแรก (มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๘ มิ.ย. ๒๕๕๗) ด้วยการเปลี่ยนความคิดความเชื่อ และบทบาทจากการเป็นผู้สอน/ผู้ถ่ายทอด มาเป็นผู้เรียนรู้และผู้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้เรียน ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เรียนรู้และผู้ร่วมเรียนรู้ไปกับคนอื่นๆ นำไปสู่การพัฒนาตนเองและผู้ร่วมเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสถานศึกษา ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ให้ดี มีคุณภาพและคุณธรรม

การเรียนรู้ที่แท้จริง หรือที่ผู้เขียนใช้ภาษาธรรมดาว่า การ “ปิ๊งแว้บ” เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ ไม่มีใครสอนใครได้ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้เรียนรู้ ที่นักจิตวิทยาการเรียนรู้เรียกว่า Direct Experiential Learning

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้าการเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ แล้วครู อาจารย์จะมีบทบาทอย่างไร คำตอบเบื้องต้นก็คือ ปฏิรูปความคิดความเชื่อของครูเองก่อน ไม่ต้องรอสภาปฏิรูป หรือคณะปฏิรูปการศึกษาจากภาครัฐ ไม่ต้องรองบประมาณเพิ่ม ไม่ต้องรอคำสั่งจากกระทรวง จากผู้บริหาร ไม่ต้องรอคู่มือ... (ซึ่งเป็นมิติภายนอกที่กดทับจิตใจ จิตสำนึก และจิตวิญญาณความเป็นครูของเราไว้)

เริ่มที่ตัวเอง ให้เวลากับตัวเอง ใคร่ครวญ ทบทวน ประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะประสบการณ์ทางการศึกษาที่ผ่านมา ที่เป็นอยู่ และแนวโน้มที่กำลังจะเป็นไป ในระหว่างทางของการใคร่ครวญทบทวนด้วยใจอย่างลึกซึ้ง อาจจะเกิดการ “ปิ๊งแว้บ” หรือการเรียนรู้ที่แท้จริงบางอย่างก็ได้ แล้วถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งเป็นมิติภายใน (ความคิดความเชื่อ) ก็จะส่งผลต่อการคิด การพูด และการกระทำของตนเอง นำไปสู่การปฏิรูประบบ โครงสร้าง ซึ่งเป็นมิติภายนอก รวมถึงรูปแบบ กระบวนการ วิธีการทางการศึกษาที่หลากหลาย เหมาะเจาะเหมาะสมกับบุคคล และพื้นที่ชุมชนที่แตกต่าง แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งสังคม ไม่ใช่แบบเดียวหรือมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศหรือทั้งโลก

นี่น่าจะเป็นวิถีทางการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บนการยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างกันอย่างแท้จริง แต่ถ้ายิ่งมีความพยายามจะทำหรือบังคับให้ทำให้เหมือนหรือมีมาตรฐานเดียวกัน (ตามที่ผู้มีอำนาจเหนือกำหนด) ก็อาจจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง การแข่งขันกัน ดังแนวคิดและแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่ครอบคลุมและครอบงำวิธีคิดและวิธีปฏิบัติขององค์กรและคนในองค์กรทางธุรกิจ ภาคเอกชน และภาครัฐ

ผู้เขียนโชคดีที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” ที่เชียงใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ ๔ สิงหาคม ที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของโรงเรียนที่ดี ที่งดงาม เปี่ยมไปด้วย “สุนทรียภาพทางการศึกษา” ที่มีลักษณะเฉพาะเหมาะกับชุมชนในพื้นที่ ไม่มี และไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานของรัฐ หรือของสากลเข้าไปประเมิน จัดระดับ หรือเทียบเคียงกับใครหรือที่ไหนทั้งสิ้น ผู้เขียนประทับใจมากกับแนวคิดและแนวปฏิบัติของผู้ริเริ่มและผู้ขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะพ่อครูมาลา คำจันทร์ และคุณชัชวาล ทองดีเลิศ โรงเรียนแห่งนี้เริ่มและทำด้วย “ใจ” กระบวนการเรียนรู้เริ่มจากและเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง “ใจ” ของผู้เรียน (ลูกศิษย์) กับ “ใจ” ของพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญาในพื้นที่ (ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น) เป็นกระบวนการที่ทั้งสองท่านเรียกว่ากระบวนการ “ต่อใจ” ที่เริ่มจากข้างในคือ “ใจ” เพื่อสืบสาน “จิตวิญญาณ” วิถีที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง

ในการเยี่ยมเยือนนี้ ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ที่เต็มใจ ให้ใจ และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะ “คาย” ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่าอย่างแยบยล เพื่อสืบสานภูมิปัญญาล้านนาให้ยั่งยืน ด้วยหลักคิดที่ว่า “อมไว้ก็หาย คายออกมาก็อยู่” ความรู้และภูมิปัญญา ไม่ใช่ให้อยู่แต่ในหนังสือ ในซีดี... แต่อยู่ในชีวิต และอยู่อย่างมีสติ ดังคำกล่าวที่ว่า “บ่หลงของเก่า บ่เมาของใหม่” ที่อาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ ถอดและขยายความเป็นภาษากลางว่า “เข้าใจรากเหง้า เท่าทันโลกาภิวัฒน์”

ขอขอบคุณและชื่นชมด้วยความจริงใจ ขอให้โครงการ “หน่อคำ ลำแก้ว” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ของการเป็นทองคำแท้ที่เป็น “ทองดีเลิศ” ได้รับความสำเร็จโชติช่วง “ชัชวาล” ทั้งในฐานะที่เป็น Best Practice ของตัวเองที่ไม่ต้องไปเทียบเคียงกับใคร และทั้งในฐานะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับที่อื่นที่ต้องการสร้าง Best Practice ให้กับตัวเอง

กรรมที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2557

ทุกวันนี้มีความเชื่อที่แพร่หลายในหมู่คนจำนวนไม่น้อยว่า ความเจ็บป่วยนั้นเป็นผลจากกรรมไม่ดีในอดีต ใครก็ตามที่ล้มป่วยแสดงว่าเขากำลังรับกรรม แพทย์และพยาบาลจึงไม่ควรเยียวยารักษาผู้ป่วยมากนัก เพื่อให้เขาใช้กรรมให้หมดในชาตินี้

น่าเป็นห่วงก็ตรงที่แพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อยเชื่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง บางคนเชื่อถึงขั้นว่าหากช่วยเหลือคนไข้ที่ป่วยหนักให้รอดพ้นจากความตาย หรือช่วยดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายไม่ให้ทุกข์ทรมาน เจ้ากรรมนายเวรของคนนั้นจะไม่พอใจ และอาจมาแก้แค้นเอากับแพทย์และพยาบาล ทำให้เกิดความเดือดร้อนตามมา หลายคนจึงรู้สึกลังเลที่จะช่วยผู้ป่วยเหล่านั้น ที่เมินเฉยหรือทำไปอย่างแกนๆ ก็คงมีไม่น้อย

น่าสังเกตว่าคนที่มีความเชื่อดังกล่าวมักเป็นผู้ที่สนใจธรรมะ ชอบเข้าวัดทำบุญรักษาศีล หรือเป็นนักปฏิบัติธรรม คงเพราะเข้าใจว่าความเชื่อเช่นนี้เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ทั้งๆ ที่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

อ่านต่อ »

รากฐานไดอะล็อค



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2557

ในปัจจุบัน ไดอะล็อคหรือที่เรียกกันว่าสุนทรียสนทนาบ้าง สานเสวนาบ้าง เริ่มมีคนนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างแพร่หลาย ผู้เขียนจึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะที่ใช้ไดอะล็อคเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมานานกว่าสิบปี และพบว่ายังมีแง่มุมใหม่ๆ ให้เรียนรู้มาโดยตลอด
...

อ่านต่อ »

Back to Top