กุมภาพันธ์ 2016

ภาวนาหาอะไร?



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559

ในบรรดาคำที่ใช้แพร่หลายใน 'วงการ' จิตวิวัฒน์ จิตตปัญญา ผมไม่ชอบคำว่า "นักภาวนา" หรือ "นักปฏิบัติ" เลย และผมจะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจอย่างบอกไม่ถูกถ้าหากใครใช้คำว่าภาวนา เป็นคำกริยา เช่น "เราไปภาวนาที่นั่นมา"​ หรือ "เราไปปฏิบัติมา ที่นี่ดีนะ" อาจจะเป็นเพราะผมมักจะพบเจอบุคคลที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักภาวนา แต่กลับมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่เนื่องจากผมยังไม่พร้อมที่จะสร้างคำใหม่มาประดับบรรณโลก ในวันนี้ผมจึงต้องขออนุญาตใช้ไปก่อน

การพบปะบุคคลเหล่านั้น ทำให้ผมมองว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีตัวบ่งชี้ความเป็น "นักภาวนา" มันควรจะต้องมีหลักหมุดอะไรบางอย่างที่บอกถึงลำดับขั้นของพัฒนาการทางจิต อย่างน้อยก็เพื่อให้ตนเอง และผู้ที่รักจะเดินบนเส้นทางนี้ สามารถสังเกตและเปรียบเทียบได้ว่าตนเองเดินทางมาถึงจุดใดแล้ว

ผมต้องยอมรับกับผู้อ่านว่าความพยายามในการ "ปักหมุด" ของผมนั้น เป็นความทะเยอทะยานเกินตัว เป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และไม่อาจจะยืนยันด้วยหลักการวิชาการใดๆ เพราะอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวและการสนทนากับผู้รู้ และถ้าหากผิดพลาดคลาดเคลื่อนแต่ประการใด ย่อมเป็นความด้อยปัญญาของผมเอง

เกณฑ์ในการที่ผมใช้แยกแยะก็คือ ความสามารถในการเห็นสภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตโดยไม่ถูกสภาวะเหล่านั้นครอบงำ คือ "เห็นมัน"​ แต่ไม่ได้ "เป็นมัน" นั่นเอง ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ต้องอาศัยการฝึกเรื่อง "ความรู้สึกตัว" จนจิตใจเกิดความละเอียดประณีตขึ้น สามารถเห็นรายละเอียดซึ่งเมื่อก่อนมองไม่เห็น

ผมจะข้ามเรื่องวิธีการฝึกไป โดยสามารถหาจากบทความเก่าๆ ของผม แต่ผมจะพูดถึงผลที่เกิดขึ้นจากการฝึก "ความรู้สึกตัว" ในชีวิตประจำวันเลย

อ่านต่อ »

จิตวิญญาณใหม่ของขบวนการทำงานเรื่องผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศในสังคมไทย



โดย จารุปภา วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสเป็นผู้นำกระบวนการพูดคุยเพื่อถอดบทเรียนการทำงานของโครงการต่างๆ ในแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ของสมาคมเพศวิถีศึกษา ซึ่งรับทุนดำเนินการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทำให้ได้เป็นประจักษ์พยานถึงการก่อรูปใหม่ของขบวนการทางสังคมประเด็นผู้หญิง ซึ่งมีคุณภาพบางอย่างต่างไปจากเดิม

ขบวนคนทำงานเกือบ ๕๐ ชีวิตในเวทีถอดบทเรียน มีทั้งเอ็นจีโอและเจ้าของปัญหาจากพื้นที่ที่มีความไม่เป็นธรรมทางเพศและทางสังคมซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น คือเครือข่ายกลุ่มผู้หญิงม้ง ผู้หญิงมุสลิมจากปัตตานี คนทอผ้าไหมจากสุรินทร์ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ขอนแก่น มีคนทำงานเรื่องท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ทั้งที่เป็นชาวบ้านในชุมชนจากอำนาจเจริญ และเจ้าหน้าที่ในระบบสุขภาพของรัฐจากสงขลา มีชาว ขสมก. ที่ผู้บริหารองค์กรกับชาวสหภาพแรงงานจับมือกันเพื่อเปลี่ยนองค์กรขนาด ๑๓,๐๐๐ คนให้ปลอดการคุกคามทางเพศ มีกลุ่มตำรวจหญิงที่กำลังสร้างระบบการทำงานสอบสวนที่ละเอียดอ่อนต่อผู้หญิงและเด็ก และมีกลุ่มนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยที่กำลังสร้างหลักสูตรและกระบวนกรเพื่อให้หน่วยงานในระบบสุขภาพของรัฐเข้าใจเรื่องสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

ผู้เขียนสัมผัสถึงพลังงานของความร่าเริง มีชีวิตชีวา ยอมรับและเคารพความต่างของกันและกันของคนกลุ่มนี้ หลายคนบอกว่าความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนได้กลับบ้านทุกครั้งที่มาเจอกัน

อ่านต่อ »

การเรียนรู้ที่ไม่ใช่เพื่อเรียนรู้



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559

ในช่วงสัปดาห์แรกหลังปีใหม่ ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางไปเยือนอีสานร่วมกับเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) ช่วงระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อร่วมเรียนรู้กับกัลยาณมิตรท่านอื่นอีกเกือบสามสิบคนในฐานะนักเรียน คศน. รุ่น ๕

ในมิติการเดินทางในโลกกายภาพ การเดินทางไปอีสานถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของข้าพเจ้า เพราะแทบไม่เคยไปเที่ยวหรือมีเหตุให้ไปอีสานเลย ภาพอีสานในหัวตั้งแต่วัยเด็กก็คือร้อนและแล้ง ผิวดินแตกระแหง ก่อนเดินทางจึงต้องเปิดแผนที่และนั่งอ่านข้อมูลของจังหวัดต่างๆ รวมทั้งสถานที่ที่จะไปในคืนก่อนเดินทาง และข้อค้นพบแรกของตนเองก็คือ มีความรู้เรื่องอีสานและประเทศไทยอยู่ในระดับแค่หางอึ่งเท่านั้น

เนื้อหาการเรียนรู้ในครั้งนี้แบ่งเป็นมิติประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง สอดคล้องตามชื่อหัวข้อกระบวนการเรียนรู้ “การเดินทางสู่ผืนแผ่นดินอีสาน เรียนรู้วัฒนธรรม ตามรอยประวัติศาสตร์ ถอดรหัสการเมืองอีสาน”

การรู้จักกับอีสานในมิติประวัติศาสตร์ผ่านชั่วโมงอีสานศึกษาบนรถกับการเยี่ยมชมโบราณสถานและสถานที่สำคัญต่างๆ ทำให้ความเข้าใจเรื่องอีสานจากเดิมที่เป็นเสมือนภาพแบน-แบนสองมิติในหัวเริ่มถูกสลักสกัดให้เป็นประติมากรรมสามมิติ เมื่อบวกมิติที่สี่ คือเวลาทางประวัติศาสตร์เข้าไปด้วย ก็ยิ่งทำให้เห็นความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของแผ่นดินอีสานมากขึ้น

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพชรบูรณ์ กับปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทหินเมืองต่ำ บุรีรัมย์ ทำให้เห็นอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรโบราณต่อภูมิภาคแถบนี้ชัดเจน นารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี ก็ทำให้เราตื่นใจกับการเชื่อมต่อของภูมิภาคนี้กับโลกภายนอก เห็นการค้าระหว่างประเทศยุคก่อนโลกาภิวัตน์ที่ก้าวหน้าไปถึงการรับจ้างเป็นขุนนางและทหารรักษาพระองค์ และเห็นประวัติศาสตร์ของพระราชาที่เต็มไปด้วยการเมืองแห่งความไม่ไว้วางใจ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่วัดพระธาตุศรีสองรัก พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน บ้านเจ้าแม่เทียม เลย วัดทุ่งศรีเมืองและวัดสุปัฎน์ อุบลราชธานี ก็ทำให้เห็นร่องรอยการต่อสู้คัดง้างทางอำนาจระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการจัดการวัฒนธรรมของรัฐผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะความเชื่อหรือศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจของชุมชน

อ่านต่อ »

เราทุกคนคือลูกเทพ



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559

คืนวันหนึ่ง ฉันได้ดูรายการโทรทัศน์ที่เชิญคนหลากหลายมาแสดงทัศนะเรื่องตุ๊กตาลูกเทพ มีทั้งคนที่เห็นด้วย เพราะได้รับประโยชน์จากการเลี้ยงลูกเทพ และไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งงมงาย จนไปถึงจิตแพทย์ที่ต้องตอบคำถามว่าคนคุยกับตุ๊กตานั้น “บ้าหรือเปล่า” แน่นอนว่าทัศนะในเรื่องนี้มีหลากหลาย แต่ในวงสนทนาดูจะเข้าใจประเด็นหนึ่งร่วมกันว่า ปรากฏการณ์ลูกเทพนั้นเกิดขึ้นเพราะคนขาดที่พึ่งทางใจ จึงหาสิ่งยึดเหนี่ยวด้วยการเลี้ยงลูกเทพ

แทนที่เราจะไปตัดสินว่าคนที่เชื่อเรื่องนี้ “งมงาย” หรือ “บ้าไปแล้ว” เราสามารถทำความเข้าใจได้ว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์เราต่างก็ต้องการความมั่นคงทางจิตใจกันทั้งนั้น เพียงแต่วิธีการที่แต่ละคนใช้นั้นแตกต่างกันไป ในความคิดของฉันแล้ว คนที่เลี้ยงลูกเทพ น่าจะมีความปรารถนาลึกๆ ที่จะแสวงหาความมั่นคงในจิตใจด้วยการเชื่อมต่อกับเทพ พูดคุยกับเทพได้อย่างใกล้ชิดสนิทสนม จับต้องเทพอย่างเป็นตัวเป็นตนได้จริงๆ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือให้ชีวิตดีขึ้น ความปรารถนาเช่นนี้เป็นสิ่งที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาจิตใจได้

ช่วงเดียวกับที่กระแสลูกเทพมาแรง ฉันได้ฟังธรรมะจากท่านรินเชน พุนซก พระลามะทิเบตที่เดินทางมาสอนธรรมะในเมืองไทยอยู่ในขณะนี้ ท่านลามะรินเชน เล่าตัวอย่างของคนคนหนึ่ง ที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าจะเชื่อมต่อกับเทพ จนในที่สุดได้พบเทพจริงๆ ได้พูดคุย สัมผัส และได้รับความช่วยเหลือให้พัฒนาจิตใจอย่างไม่มีประมาณ จนท่านสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้เช่นกัน คนคนนี้คือ ท่านอสังคะ พระอาจารย์องค์สำคัญในสายมหายาน

ท่านอสังคะเป็นพระที่มีศรัทธาในพระอริยเมตไตรยเป็นอย่างยิ่ง ท่านตั้งใจจะฝึกฝนจิตตนให้บรรลุถึงพระอริยเมตไตรย จึงไปปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำนานถึง ๓ ปี แต่ว่าเมื่อครบ ๓ ปีแล้ว ท่านไม่รู้สึกว่าได้รับอะไรจากการฝึกเลย จึงล้มเลิกการฝึกแล้วออกจากถ้ำ

ท่านเดินทางมาจนเจอชายชราผู้หนึ่งกำลังฝนแท่งเหล็กแท่งใหญ่ด้วยผ้า ด้วยความสงสัย ท่านอสังคะจึงถามชายชราว่ากำลังทำอะไรหรือ ชายชราตอบว่ากำลังฝนแท่งเหล็กนี้ให้เป็นเข็ม คำตอบนี้ทำให้ท่านอสังคะคิดได้ว่า ชายชรานี้มีความเพียรมากจริงๆ เราควรมีความเพียรในการฝึกปฏิบัติให้มากกว่านี้ ว่าแล้วท่านก็กลับเข้าถ้ำ ฝึกปฏิบัติต่อไปอีก ๓ ปี

อ่านต่อ »

Back to Top