พฤศจิกายน 2009

9000600



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552

ในโลกไซเบอร์ อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกันด้วยอิเล็กตรอน มีฟังก์ชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ แชท เอ็ม บล็อก บอร์ด ดิ๊ก วิดีโอแชร์ริง และอื่นๆ ผู้คนกลายเป็นที่รู้จักโด่งดังกันในชั่วข้ามคืน

สาวใหญ่ หน้าตาธรรมดา ซูซาน บอยล์ (Susan Boyle) จากเมืองเล็กๆ ในสกอตแลนด์ กลายเป็นดาราดังจากการประกวดร้องเพลง คลิปในยูทูปของเธอมีคนดาวน์โหลดชมถึงร้อยกว่าล้านครั้งแล้ว เธอมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนักร้อง และเป็นดั่งตัวแทนของตัวแทนผู้คนทั่วไปที่ตามค้นหาความฝัน

นิก วูจิซิซ (Nick Vujicic) เกิดออกมามีอาการผิดปรกติแบบเตตร้าอมีเลีย คือไม่มีแขนและขาทั้งสี่ เคยคิดจะฆ่าตัวตายตั้งแต่อายุสิบขวบ แต่เขาก็พบว่าเขาเองไม่ใช่คนเดียวที่ประสบกับความทุกข์ยากลำบากในชีวิต เขาค้นพบว่าศรัทธาเป็นดั่งบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เขามีความสุขในการใช้ชีวิต มีพลังไม่เพียงแต่จะมีชีวิตต่อ แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกต่อผู้คนไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือครบสามสิบสองอีกเป็นจำนวนมาก คลิปการบรรยายอันน่าประทับใจของเขาถูกคนโหลดดูเป็นล้านครั้งเช่นกัน

แต่บางครั้งอินเทอร์เน็ตก็ทำให้บางคนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้องอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือเต็มใจของเขาคนนั้นหรือไม่ก็ตาม

ปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ ชายคนหนึ่งเขียนขอความช่วยเหลือจากชุมชนเว็บบอร์ดพันทิป ห้องมาบุญครอง (ที่พูดคุยเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม และผู้ให้บริการระบบ) โดยตั้งหัวข้อกระทู้ว่าเบอร์โทรศัพท์ของตนถูกขโมยซึ่งๆ หน้าจากผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่ง

เรื่องมีอยู่ว่าเบอร์ของเขาเป็นเบอร์สวย หมายเลข 08X9000600 (มูลค่าตลาดน่าจะเกินครึ่งแสน) อยู่สองหมายเลข เติมเงินใช้ได้ถึงปี ๒๕๕๓ แต่จู่ๆ ก็พบว่าเบอร์ของเขาไม่สามารถใช้งานได้ ศูนย์บริการแจ้งว่าเบอร์นี้ไม่มีในระบบ วันถัดมาไปติดต่อที่ศูนย์ใหญ่ก็พบว่าเบอร์ของตนถูกเปิดใช้บริการโดยคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว เจ้าของกระทู้บอกว่า “อยากได้เบอร์นี้คืนมากๆ เพราะมันมีความหมายกับผมมากๆ (ดูจากชื่อล็อกอินของผมก็ได้)”

เท่านั้นแหละครับ ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องยุคดิจิตอลก็เกิดขึ้นเหมือนไฟลามทุ่ง ผู้คนทั้งทวิต บล็อก เอ็ม แชท ฟอร์เวิร์ดเมล และอื่นๆ มีคนเขียนลงหนังสือพิมพ์ เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง กระทู้ถูกโหวตดันขึ้นให้เป็นกระทู้แนะนำของห้องอย่างรวดเร็ว บางช่วงกระทู้แนะนำของห้องเป็นกระทู้ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณี 9000600 เกือบทั้งหมด หากนับรวมความคิดเห็นต่างๆ ก็คงเป็นจำนวนหลายพัน

ชายผู้มีล็อกอินว่า “#เก้าพันหกร้อย#” กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่คนเชื่อ (จากข้อมูลเท่าที่ได้รับมา) ว่าเอาเปรียบผู้บริโภค

มีการตั้งกระทู้โหวตว่าควรทำอย่างไร ผลออกมาว่าเกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าควรฟ้องร้อง ในขณะกลุ่มที่คิดว่าควรรอจนได้เบอร์คืน หรือรับข้อเสนออื่น มีเพียงอย่างละสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

กลางเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เหตุการณ์มาถึงข้อสรุปที่ว่า ทางคุณ #เก้าพันหกร้อย# ยอมรับข้อเสนอจากบริษัท เนื่องจากหมายเลขเดิมคงไม่สามารถใช้ได้อีก เพราะมีคนโทรเข้ามาเยอะมาก จึงเลือกรับเบอร์ใหม่ ซึ่งแม้จะไม่สวยเท่าเดิม แต่ก็พอใจ “ต้องยอมรับว่า ผมไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องด้วยภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เวลา และอื่นๆ” และลงท้ายว่า “สุดท้ายนี้ ผมขออภัยเพื่อนๆ ในบอร์ด ทุกๆ คนครับ หากการตัดสินใจของผมอาจจะไม่ถูกใจของใครหลายๆ คน ผมยอมรับคำตำหนิของทุกความเห็นครับ ผมจึงขออนุญาตจบเรื่องนี้แต่เพียงเท่านี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ความคิดเห็น ทุกๆ กำลังใจ ทุกๆ คนที่ติดตาม และช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ผม ขอบคุณทุกๆ คนมากจริงๆ ครับ”

อนิจจา เหตุการณ์ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ แม้กองเชียร์ส่วนหนึ่งจะรู้สึกยินดีด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกว่าตนเองถูกหลอกใช้ให้เรียกร้องต่อรองกับบริษัทเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่า “เซ็งเป็ด” เกิดกระทู้วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์อีกมาก ด่าทอเจ้าของเบอร์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะความเชื่อว่าเรื่องนี้อาจเป็นกรณีตัวอย่างสร้างบรรทัดฐานแย่ๆ สำหรับการเรียกร้องให้กับผู้บริโภค เพราะแทนที่บริษัทจะทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่าถูกต้อง คือคืนเบอร์ให้กับเจ้าของ แต่กลับไปตกลงต่อรองยอมความกันเอง

ที่น่าตกใจ คือ ปรากฏการณ์ที่หลายคนบอกว่าหากในอนาคตเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่ยอมไปร่วมเรียกร้องอะไรอีกแล้ว อยู่แบบตัวใครตัวมันดีกว่า หรือถ้าจะทำจริงก็ต้องคิดหลายตลบก่อน

กรณีนี้น่าสนใจ เพราะคงไม่ได้เป็นกรณีสุดท้ายแน่นอน

มีสิ่งดีงามมากมายเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้

คุณ #เก้าพันหกร้อย# ได้รับน้ำใจจากผู้คนจำนวนมาก ช่วยผลักดันให้เกิดทางออกที่เขายอมรับได้

บริษัทมือถือได้รับบทเรียนว่าการขโมยเบอร์ของผู้ใช้กลับไปไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ผลประโยชน์อันใดที่ได้รับไม่คุ้มกับต้นทุนทางสังคมจำนวนมหาศาลที่เสียไปแน่นอน

กองเชียร์ทั้งหลายก็ได้เห็นถึงพลังของคนเล็กคนน้อยที่ช่วยกันเรียกร้องจนผู้เสียหายได้รับการตอบแทน

เราควรเรียนรู้และหาข้อสรุปที่สร้างสรรค์ของกรณีเช่นนี้ให้ดี อนาคตของเราและสังคมเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับจิต (consciousness) ของเรา จิตของเราเป็นอย่างไรขึ้นกับเราใส่เหตุอะไรเข้าไป

การเรียกร้องความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี หากว่าเราทำควบคู่ไปกับการสะท้อนใคร่ครวญภายใน จนเราเข้าใจผู้อื่น เข้าใจตนเอง ลดละอัตตาและเท่าทันความคาดหวังของตนเอง ย่อมเป็นการเรียกร้องที่ยิ่งงดงามมากขึ้น

“ไม่มีใครทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อย โดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจของคุณ” (Eleanor Roosevelt) มิใช่หรือ

ความรู้สึกแย่ๆ ของเราเป็นสัดส่วนโดยตรงกับช่องว่างระหว่างคาดหวังกับความจริง ความคาดหวังของเราที่อยากจะให้ใครบางคน บริษัทบางแห่ง หรือเหตุการณ์บางอย่าง ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ กับความเป็นจริงที่เราพบว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เราอาจเชียร์ให้คุณ #เก้าพันหกร้อย# เป็นตัวแทนหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ (เพราะเป็นการตัดสินใจของเรา) แต่เราคงไม่สามารถบังคับให้เขาเป็นหรือทำดังใจเราต้องการได้ (เพราะเป็นการตัดสินใจของเขา) ความทุกข์ในใจเราอาจเกิดจากใจยังไม่ยอมรับความแตกต่างในข้อนี้ใช่หรือไม่

การแบ่งปันและร่วมกันสร้างการเรียนรู้ให้สังคมเช่นนี้มีความสำคัญ หากเราอุปโลกน์ให้ใครเป็นผู้นำ (ไม่ว่าโดยความตั้งใจหรือยินยอมหรือไม่) แล้วเขากลับไม่ทำตามใจเรา เราก็ด่าทอเขา สาดเสีย เทเสีย อนาคตจะมีใครยอมเป็นผู้นำเล่า หากถูกรัฐหรือบริษัทเอารัดเอาเปรียบ เขาอาจจะก้มหน้ายอมรับแล้วเฉยๆ ไป เพียงเพราะเกรงว่าเขาไม่อาจทำตัวได้เทียบเท่ากับความคาดหวังของกองเชียร์

สังคมที่หล่อเลี้ยงดูแลกันสร้างได้ด้วยการที่เราทุกคนกลับมาเริ่มที่ตนเอง ไม่ยกภาระการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งจิตสำนึกและการกระทำไปให้ผู้อื่น ไม่ยอมให้ตนเองใช้การกระทำของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับใจของเรามาเป็นเหตุผลในการที่เราจะไม่ทำในสิ่งที่เราควรทำ

เราสามารถประสบผลสำเร็จอันน่าทึ่งมากมาย หากว่าเราทำโดยไม่คาดหวังผล


เมื่อกลางปีที่แล้ว คุณรสนา โตสิตระกูล มาเล่าเรื่องแบ่งปันประสบการณ์การเดินทางของเธอให้กลุ่มจิตวิวัฒน์ฟัง (บันทึกการประชุมจิตวิวัฒน์ทั้งหมดสามารถหาอ่านได้ที่ sph.thaissf.org) เธอเล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมสามสิบปีกับโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (“ต้องเน้นคำว่าเพื่อการพึ่งตนเองนะ” เธอว่า) รู้สึกพอจะมีความสำเร็จอยู่บ้าง แต่เมื่อระบบประกันสุขภาพเข้ามา ประชาชนกลับเลิกพึ่งตนเอง หันไปพึ่งหน่วยงานรัฐเหมือนเดิม ทำให้เธอท้อแท้มาก

ภายหลังเธอนึกถึงหนังสือ ตำนานของซิเซฟัส (The Myth of Sisyphus) ของ อัลแบร์ กามู (Albert Camus) ที่พูดถึงซิเซฟัส ตัวละครในตำนานเทพปกรณัมกรีก ผู้ถูกสาปให้ทำงานที่ดูเหมือนจะไม่มีความหมาย คือเข็นก้อนหินขึ้นไปยอดเขา เพียงเพื่อให้มันไหลกลับลงมาอีก “วันหนึ่ง ขณะซิเซฟัสเข็นหินขึ้นภูเขา เขาได้พบดอกไม้เล็กๆ ที่บานสะพรั่งอยู่ริมทางแล้วพลันก็มีความสุข มนุษย์อาจจะเป็นอย่างนั้น” หรืออย่างในหนังสือของกามูจบลงตรงที่ว่า การต่อสู้โดยตัวมันเองแล้วก็เพียงพอที่จะเติมเต็มหัวใจของมนุษย์

อีกเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยควรได้ร่วมรับรู้อย่างยิ่ง ก็คือกรณีการยับยั้งไม่ให้นำการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เข้าตลาดหุ้น หลายคนไม่เห็นด้วยกับเธอที่จะต่อสู้ เธอพูดเล่นๆ ว่า “เธอไม่เคยฟัง ภาษิตจีนเหรอว่า ‘ความพยายามอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า’ เรากำหนดไม่ได้หรอกว่าความสำเร็จจะมาได้อย่างไร แต่หน้าที่ของเราคือพยายามไปก่อน” หรือ “ประชาชนมีแต่กำไรกับเสมอตัวเท่านั้น ไม่มีอะไรขาดทุน”

ตอนศาลตัดสินยับยั้ง ผู้คนต่างตื่นเต้นยินดี นักข่าวมาสัมภาษณ์ว่าตอนที่ทำคาดหวังไหมว่าจะชนะ เธอว่าเปล่าเลย ไม่ได้คาดหวังว่าจะมันจะต้องชนะ

นักข่าวถามอีกว่า “ถ้าไม่คิดว่าจะชนะแล้วสู้ทำไม”

เธอตอบไปว่า “อ้าว ... มีแต่เรื่องที่ชนะเท่านั้นหรือที่คุณจะสู้?”

จริงสินะ หรือว่าชีวิตนี้มันดีตรงที่มันได้สู้ ได้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่ตรงที่มันต้องได้ผลชนะเท่านั้น

กำแพงในใจ



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2552

หากวันดีคืนดีมีทหารมาที่บ้านของคุณ แล้วบอกว่า ต่อไปนี้จะมีการกั้นรั้วเขตแดนที่บ้านหลังนี้ และเริ่มขึงรั้วลวดหนามเป็นแนวยาว

ช่วงแรกคุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร รั้วลวดหนามเตี้ย-เตี้ยนั่น วิ่งลอดกระโดดข้ามตอนค่ำมืดพ้นหูพ้นตาทหารยามไม่ยากเย็นเท่าไหร่

แต่เมื่อรั้วลวดหนามกลายเป็นกำแพงแบบก่ออิฐถือปูน ประตูหน้าต่างบ้านคุณก็ถูกปิดตายไปด้วย

ในช่วงที่กำแพงยังก่อไม่เสร็จ และคุณอาจจะเป็นคนประเภทตัดสินใจได้เร็ว คุณอาจจะกระโดดออกจากช่องหน้าต่าง หรือวิ่งผ่านประตูที่เหลือออกมาทัน

แต่ถ้าหากคุณไม่ได้อยู่บ้านในขณะนั้น หรืออยู่ไกลไปจากกำแพงที่กำลังสร้าง คุณจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร?

เป็นไปได้ว่า วันนั้นสามีออกไปทำงานที่สำนักงานแต่เช้า กำลังอยู่อีกฟากหนึ่งของกำแพง ในขณะที่ภรรยากำลังทำงานบ้านและเลี้ยงลูกอยู่อีกฝั่ง และจะพบหน้ากันในภายหลังได้ก็ต่อเมื่อขอวีซ่าข้ามแดน

เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณกับเพื่อนบ้านมีอาชีพคนละประเภท และเป็นประเภทที่กฎหมายห้ามสนทนาวิสาสะกัน คุณอาจจะไม่เคยโบกมือ ยิ้ม หรือพูดทักทายกับเพื่อนบ้านเลย เพราะไม่รู้ว่าใครจะรายงานความประพฤติของคุณต่อผู้มีอำนาจ

เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณเรียนหนังสือ แต่ไม่ได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีกระทั่งตำแหน่งประธานนักเรียน และถ้าหากพูดอะไรผิดหูผู้มีอำนาจ คนหนุ่มสาวอย่างคุณอาจจะไม่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่าจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และไม่อาจจะสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศได้เลย

เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณอยากได้รถสักคัน ที่แม้จะสร้างจากเหล็กที่บางเบาปานแผ่นกระดาษ แต่ก็เป็นรถยี่ห้อเดียวที่คุณจะซื้อได้ในประเทศนี้ คุณจะต้องไปเข้าคิวรอซื้อรถคันนี้ ซึ่งคิวอาจจะยาวสักสามปีเป็นอย่างน้อย

ชีวิตที่ขาดทางเลือกเช่นนี้ ย่อมทำให้คุณโหยหาอิสรภาพในชีวิตของกำแพงอีกฝั่ง และ – จะหาวิธีข้ามไปอีกฝั่งได้อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมีคำสั่งอนุญาตให้ทหารยิงคนที่พยายามข้ามกำแพง

คุณอาจจะต้องลงทุนลงแรงเป็นเดือนเป็นปีในการขุดอุโมงค์ลอดกำแพงอย่างลับ-ลับ ไม่ให้ใครเห็นกระทั่งเศษดินที่ขุดขึ้นมา หรือแอบขึ้นบอลลูนพร้อมคำนวณทิศทางลมให้ข้ามกำแพงและแนวกระสุนได้อย่างเหมาะเจาะ หรือคิดค้นสลิงที่ใช้ข้ามแนวกำแพงอย่างรวดเร็วก่อนที่ทหารจะไหวตัวไปหยิบปืนมาเล็งเป้าที่คุณได้ทัน ฯลฯ

ชีวิตข้างบนดูเหมือนนิยาย แต่ดูเหมือนชีวิตของผู้คน ๒๐๖ คนที่ตายไประหว่างพยายามหลบหนีข้าม “กำแพงเบอร์ลิน” จะเป็นพยานที่ดีให้กับการดำรงอยู่ของเรื่องราวดังกล่าวในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

กำแพงเบอร์ลินความยาว ๑,๓๘๗ กิโลเมตร เริ่มถูกทุบทำลายเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ผู้คนเดินทางข้ามแดน ญาติพี่น้องที่ไม่ได้พบหน้ากันมากว่า ๒๘ ปี มีโอกาสพบกันก็หนนี้
แต่ถึงแม้ว่ากำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายไปแล้ว กำแพงอีกหลายแห่งกลับกำลังถูกสร้างขึ้น

“กำแพงเหยียดเชื้อชาติ” ที่อิสราเอลสร้างขึ้นล้อมรอบเขตเวสต์แบงค์ของชาวปาเลสไตน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มีความสูง ๘ เมตร สูงกว่ากำแพงเบอร์ลินที่สูงเพียง ๓.๖ เมตร

“กำแพงเมืองจีนในเม็กซิโก” ที่ได้รับฉันทานุมัติจากรัฐสภาอเมริกันให้สร้างขึ้นด้วยเงินกว่า ๑.๒ พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เพื่อกั้นเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก
ปรกติแล้ว กำแพงถูกสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัย ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของผู้คนที่อยู่ภายใน แต่กำแพงเหล่านี้ กลับถูกสร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกผู้คน ด้วยความแตกต่างทางความคิดความเชื่อ ด้วยชาติพันธุ์ ด้วยความระแวง ด้วยความเกลียด ด้วยความหวาดกลัว

กำแพงหนึ่งกักขังผู้คนของตน

กำแพงหนึ่งกักขังผู้คนของชาติหนึ่ง

กำแพงหนึ่งกั้นความทุกข์ยากของเพื่อนบ้านออกไปพ้นจากความรับรู้ของตน

โลกจะเข้าสู่ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ แล้ว เรากำลังสำรวจดาวอังคาร ค้นพบน้ำบนดวงจันทร์ จำลองการเกิดของจักรวาลในเครื่องเร่งอนุภาค สื่อสารด้วยเทคโนโลยี 3G – แล้วเรายังสร้างกำแพงเหล่านี้บนโลกล่ะหรือ?

แท้จริงแล้ว กำแพงเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของกำแพงภายในใจของผู้คน ความหวาดกลัว ความไม่ไว้วางใจในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
กระทั่งเขตแดนระหว่างประเทศก็มักจะมีกำแพงที่มองไม่เห็นปรากฎอยู่เสมอ สถานทูตหรือด่านตรวจคนเข้าเมืองของบางประเทศทำตัวเป็นกำแพงเสียยิ่งกว่าสะพาน

อวิชชาและมิจฉาทิฏฐิในประวัติศาสตร์ที่ยกย่องวีรบุรุษสงคราม ย่อมนำไปสู่อคติทางวัฒนธรรม และก่อร่างสร้างกำแพงแห่งความยโสทะนงตน คลางแคลงในความเป็นมนุษย์ของประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน สิ้นสุดยุคสงครามเย็นที่กินเวลากว่า ๔๐ ปี เยอรมนีเดินหน้าเต็มตัวในการเป็นผู้นำในการรวมตัวกันของสหภาพยุโรป สานฝันเก่าแก่เมื่อสองร้อยปีก่อน ตั้งแต่ยุคของนักคิดเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่อย่าง อิมมานูเอล คานท์ (ค.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๘๐๔)

แนวคิดการรวมยุโรปซึ่งเป็นไปเพื่อยุติสงครามและความขัดแย้งได้รับความสนับสนุนอย่างดีจากฝรั่งเศสและเยอรมัน แม้จะเป็นคู่แค้นลึกซึ้งมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ และ ๒ แต่ชนชั้นนำของทั้งสองประเทศเห็นตรงกันว่า สันติภาพยุโรปนั้นยิ่งใหญ่มหาศาลกว่ามหิทธานุภาพของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของโลกาภิวัฒน์ ที่พลเมืองของประเทศหนึ่งย่อมกลายเป็นพลเมืองโลกด้วย สันติภาพและความเป็นอยู่ของประเทศหนึ่งย่อมส่งผลต่อทั้งโลกเช่นกัน

ยิ่งในภาวะที่เผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เฮอริเคนขนาดมหึมา การร่วมมือของมนุษยชาติเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ตนบนโลกนี้ยิ่งมีความจำเป็นเด่นชัดขึ้น ประเด็นเรื่องโลกร้อนอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์กลายเป็นประเด็นสำคัญและจำเป็นที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยในเวทีโลกบ่อยครั้งขึ้น ความเป็นประเทศหรือชาติแบบปัจเจกถูกแทนที่ด้วยความเป็นสมุหภาพของความเป็นมนุษย์
การพูดว่ารักโลกหรือรักธรรมชาตินั้นง่ายกว่ารักเพื่อนบ้าน การพูดว่ารักเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันก็ง่ายกว่ารักเพื่อนร่วมประเทศที่มีความเห็นแตกต่างจากตน หากเราไม่ยอมสำรวจตรวจตรากำแพงภายในใจ เราย่อมมองไม่เห็นว่านักการเมืองอีกพรรคหนึ่งไม่ได้โง่หรือคิดผิดไปทุกเรื่องเพียงเพราะเขาหรือเธอคิดหรือเชื่อแตกต่างไปจากเรา เราย่อมมองไม่เห็นว่าคนที่ใส่เสื้อต่างสีก็มีความรู้คิดและมีเหตุผลไม่แตกต่างไปจากเรา เราย่อมมองไม่เห็นท้องฟ้าแห่งสันติภาพและภราดรภาพอันกว้างใหญ่ที่จะปรากฎในรุ่นลูกรุ่นหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา - กำแพงภายในที่กั้นกลางวิวัฒนาการแห่งความเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูงจำเป็นต้องทลายลงมา

แอร์พอร์ตเมดิเทชั่นรูม



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 14 พฤศจิกายน 2552

ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิยังสร้างไม่เสร็จด้วยซ้ำ เพราะส่วนตัวผมเคยแอบหวังแอบฝันเอาไว้เล็กๆ ว่า สนามบินสุวรรณภูมิที่ใหญ่โตและทันสมัยอาจจะมี “เมดิเทชั่นรูม” เอาไว้ให้ผู้โดยสารได้ใช้หย่อนจิตผ่อนใจ

ก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันว่าทำไมไม่ได้เขียนเสียที อาจจะเป็นเพราะช่วงหลังๆ ผมเดินทางน้อยลงก็เลยมีโอกาสใช้สนามบินน้อยลงไปบ้างกระมัง ทำให้ลืมเลือนความรู้สึกเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสนามบินไปหรืออาจจะเป็นเพราะพยายามที่จะทดลองฝึกปรับสภาพจิตใจของผมให้เข้าได้กับสภาพความเป็นของสนามบิน

ผมพบว่ามีความจริงสามสี่ประการเกี่ยวกับการเดินทางโดยเครื่องบิน

ประการแรก การเดินทางโดยเครื่องบิน ผู้โดยสารส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาในสนามบินเป็นเวลาค่อนข้างนาน ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องเผื่อเวลาในการเดินทางมาก่อนเวลา และมักจะใช้เวลาในการรอคอยการขึ้นเครื่องมากกว่าเวลาที่อยู่บนเครื่องบินจริงๆ

ประการที่สอง บรรยากาศของสนามบินโดยทั่วไป เป็นบรรยากาศของความพลุกพล่าน วุ่นวาย เร่งรีบ

ผมเชื่อว่าท่านที่เคยไปใช้บริการสนามบินหลายๆ ท่านจะพบว่า ในสนามบินจะไม่มีมุมสงบเลย ยกเว้นเข้าไปนั่งในห้องน้ำแล้วปิดประตู ก็ยังไม่วายมีเสียงตามสายเล็ดลอดออกมาแทบจะตลอดเวลา สนามบินจึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สร้างความเครียดให้กับผู้เดินทางได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

สมัยก่อนที่ผมยังต้องใช้สนามบินดอนเมือง ผมต้องไปหาที่ยืนภาวนาที่ส่วนพักของทางเดินบันได เพราะหามุมสงบไม่ได้เลยที่ดอนเมือง แต่ก็ยอมรับสภาพครับ เพราะเป็นสนามบินที่สร้างมานานหลายสิบปีแล้ว พื้นที่ใช้สอยก็อาจจะมีไม่เพียงพอ

ประการที่สาม ตามความเข้าใจของผม สนามบินที่ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่เพียงแค่สนามบินที่ใหญ่โตมโหฬาร มีเทคโนโลยีทันสมัย และปลอดภัยเท่านั้น แต่น่าจะต้องมี “บรรยากาศของความสงบเย็น” ผ่อนคลาย เบาสบาย

ประการที่สี่ ทุกวันนี้โลกตะวันตกและงานวิจัยต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ยอมรับอย่างสิ้นเชิงไม่มีเงื่อนไขแล้วว่า “การภาวนา” แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ช่วยให้มนุษย์มีความสุข ลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

แน่นอนนะครับว่า การภาวนาเราสามารถทำได้ทุกแห่งทุกโอกาสทุกสถานการณ์ แต่หากสามารถมีบรรยากาศที่เอื้อ บริบทของพื้นที่และบริเวณที่เหมาะสม ก็จะยิ่งทำให้เกิดความสงบความปีติสุขได้ง่ายขึ้นมากกว่า

ไม่รู้ว่าผมฟันเฟื่องมากเกินไปหรือไม่

ผมนึกวาดภาพเห็นห้องโล่งๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิ มีเบาะรองนั่งเล็กๆ เรียงรายไว้บนพื้นพรมที่สะอาด

เป็นห้องภาวนาหรือห้องผ่อนคลายแบบสากลสำหรับทุกๆ ศาสนา (ห้องผ่อนคลายสำหรับการสูบบุหรี่ยังมีได้เลย)

มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้บรรยากาศภายในห้องนั้นเป็นบรรยากาศของความสงบ อาจจะป้องกันคนเข้าไปนอนหลับด้วยการกำหนดเวลาไม่เกินสามสิบนาที

กติกาสำคัญสำหรับห้องนี้คือ

“งดการสื่อสารภายนอกทุกชนิด” “การมีเวลาดำรงอยู่กับตัวเอง”

ห้ามพูดคุย งดการส่งเสียง

ไม่สบสายตากับใครเลย

งดเสียงโทรศัพท์มือถือ

ห้ามส่งเสียงกรน (อาจจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสงบ)

รายละเอียดอื่นๆ ก็น่าจะมีการระดมสมอง ช่วยกันคิดช่วยกันให้ความเห็น โดยรักษาแก่นหรือวัตถุประสงค์หลักของเรื่องนี้ คือ “ขอมีสถานที่สงบ” สักแห่งหนึ่งในสนามบินที่พลุกพล่านวุ่นวายให้ผู้โดยสารที่เดินทางได้มีเวลาของการ “ผ่อนคลาย” ลดความเครียดทางด้านจิตใจ

ผมไม่ได้คาดหวังว่าทุกๆ สนามบินในประเทศจะต้องมีเมดิเทชั่นรูมนะครับ บทความนี้จึงน่าจะชื่อ “สุวรรณภูมิแอร์พอร์ตเมดิเทชั่นรูม” เป็นการเฉพาะมากกว่า

ผมคิดใคร่ครวญถึงเรื่องนี้มาหลายปี ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะมีข้อเสียหายอะไรจากการมีห้องเมดิเทชั่นสำหรับผู้โดยสารทั่วไปในสนามบินเลย แต่ก็เป็นเพียงมุมมองในฐานะผู้ใช้บริการนะครับ คงจะต้องฟังความเห็นจากทางสนามบินด้วย

เพราะผมเชื่อว่า แอร์พอร์ทเมดิเทชั่นรูมจะสามารถทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีความสมบูรณ์และเพียบพร้อมมากขึ้น

พูดกันจริงๆ เลยนะครับว่า ผมไม่อยากเห็นฝรั่งเค้าทำก่อนแล้วเราค่อยไปทำตามกันทีหลัง

เขียนถึงตรงนี้ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ตัวผมเองยังมีประสบการณ์การเดินทางน้อย ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่รู้และไม่เคยถามใครเหมือนกันว่า สนามบินในต่างประเทศเขามี “เมดิเทชั่นรูม” ที่เป็นแบบสากลสำหรับทุกศาสนากันบ้างหรือยัง

ก็เลยลองเข้าไปค้นหาในกูเกิล ผมก็พบว่า ฝรั่งทำไปก่อนแล้วจริงๆ ด้วย มีหลายสนามบินในสหรัฐอเมริกา มี “เมดิเทชั่นรูม” สำหรับผู้โดยสารแล้ว เช่น สนามบินเจเอฟเค สนามบินอัลบานี สนามบินโคลัมบัส สนามบินมิเนโซตา ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าจะสายเกินไปหากว่าสนามบินสุวรรณภูมิที่ตอนนี้เปิดมาสามปีเต็มๆ แล้ว จะลองพิจารณาเห็นความสำคัญของเรื่องจิตเรื่องใจ และขยับขยายให้เกิด “แอร์พอร์ตเมดิเทชั่นรูม” ขึ้นมา

อย่างน้อยผมก็รู้สึกสบายใจที่ได้เขียนถึงเรื่องนี้ ถึงช้าไปบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้เขียน

ทำช้าไปบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำเลยนะครับ

กองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย
เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552

ในวาระแห่งการจากไปของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ครบ ๑๐๐ วัน มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยท่านประธานกิตติมศักดิ์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ดำริให้มีการจัดกิจกรรมที่ระลึกในวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และให้มีการจัดทั้งกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน นับเป็นการสมควรยิ่งนัก

ท่านอาจารย์กรุณา และอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย สองสดมภ์หลักทางภารตศึกษา ทำงานโดยปิดทองหลังพระ แต่เป็นหลังพระที่กว้างใหญ่ไพศาลในทางความกรุณาและปัญญา

โลกวิกฤตเพราะขาดความกรุณาและปัญญา

โลกสร้างความรู้มากมาย แต่ความรู้ก็ไม่ใช่ปัญญา ความรู้ไม่มีพลังพอที่จะเผชิญกับกิเลส จึงถูกอกุศลมูล คือโลภะ โทสะ โมหะ จับไปใช้งานเพื่อการแย่งชิง เอาเปรียบ เข่นฆ่า อย่างปราศจากความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ การขับเคลื่อนการพัฒนาในอกุศลมูลนำไปสู่วิกฤตอารยธรรมในปัจจุบัน อันเกิดจากการเสียดุลยภาพในทุกๆ มิติ ทั้งกาย ใจ สังคม สิ่งแวดล้อม การทำลายโดยมิจฉาพัฒนามิได้จำกัดอยู่เพียงในโลกมนุษย์ แต่ลงไปถึงนรกและขึ้นไปถึงสรวงสวรรค์ คือใต้ดินและชั้นบรรยากาศด้วย จนโลกทั้งใบรุ่มร้อน แม้กระทั่งสรรพชีวิตก็จะดำรงคงอยู่ต่อไปไม่ได้

โลกจะต้องหันกลับมาหาความกรุณาและปัญญา

ความกรุณาแบบปัญญา คือทวิลักษณ์ของสองสามีภรรยากุศลาสัย กุศลาสัยคือที่อยู่ของกุศล หรือกุศลภูมิ อันตรงกันข้ามกับอกุศลภูมิอันเป็นที่มาแห่งหายนะดังกล่าวข้างต้น ใครๆ ที่ได้รู้จักสองสามีภรรยา ทั้งในระยะใกล้หรือระยะไกล จะสัมผัสได้ถึงรังสีแห่งความกรุณาอันแผ่ซ่านทั่วไป ปัญญาต่างจากความรู้ตรงที่ความรู้นั้นรู้เป็นเรื่องๆ เช่น รู้วิชาหรือศาสตร์ต่างๆ แต่ปัญญานั้นหมายถึงรู้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงรู้ตัวเองด้วย เมื่อรู้ทั้งหมดและรู้ตัวเองด้วยก็จะทำให้จัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่นและสิ่งอื่นได้อย่างถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องคือจริยธรรม

ในปัญญาจึงมีจริยธรรมอยู่ด้วยเสมอ

ในความรู้ไม่แน่ว่ามีจริยธรรม ส่วนใหญ่ไม่มี


ฝรั่งนั้นมีความรู้ศาสตร์ต่างๆ มาก แต่ศาสตร์ที่ปราศจากปัญญากำกับก็จะกลายเป็นศาสตรา ที่ใช้ทิ่มแทง แย่งชิง เข่นฆ่ากัน การตามฝรั่งไปเสียทั้งหมดจะทำให้ขาดปัญญาได้

ตรงนี้แหละที่บทบาทของสามีภรรยากุศลาสัยเข้ามามีความหมายใหญ่

บทบาทของท่านทั้งสองคือการนำเสนอภูมิปัญญาภารตะผ่านวรรณกรรมใหญ่ๆ ๔ เรื่อง คือ (๑) อัตชีวประวัติของท่านมหาตมา คานธี (๒) พบถิ่นอินเดีย โดยท่านเยาวหราล เนห์รู (๓) คีตาญชลี โดยท่านรพินทรนาถ ฐากูร และ (๔) มหาภารตยุทธ

วรรณกรรมทั้ง ๔ สะท้อนภูมิปัญญาภารตะ อันเป็นหนึ่งในอารยธรรม ๓ แหล่งใหญ่ๆ ของโลกอันเกิดก่อนความเจริญของยุโรปเนิ่นนาน อันได้แก่ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห ในอารยธรรมโบราณเหล่านี้ย่อมมีภูมิปัญญาอันลุ่มลึกแห่งธรรมชาติ ความเป็นมนุษย์และการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ตื้นเขินเพียงเรื่องจีดีพีอันทำให้โลกร้าว

มนุษย์ต้องหันไปศึกษาภูมิปัญญาอันว่าด้วยธรรมชาติ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โลกจึงจะพ้นวิกฤต

อารยธรรมปัจจุบันมีแรงส่งมาได้เพียงเท่านี้ จึงกำลังตีบตันและมาถึงจุดเปลี่ยนของอารยธรรม หรือ Civilization Turning Point แล้ว

บทบาทของสองสามีภรรยากุศลาสัยอยู่ตรง Civilization Turning Point นี่แหละ

ลองไปอ่านวรรณกรรม ๔ เล่ม ที่ท่านทั้งสองช่วยกันแปลและเรียบเรียงด้วยภาษาที่งามจับใจดูเถิด ท่านจะรู้ได้ด้วยตนเองหรือสันทิฏฐิโก ว่าภูมิปัญญาภารตะอันลุ่มลึกมาปลดปล่อยท่านไปสู่ความเป็นไทได้อย่างมหัศจรรย์เพียงไร

ถ้าเราถูกครอบงำอยู่ด้วยอำนาจ มายาคติ และมิจฉาทิฏฐิ เราจะปราศจากความเป็นไท เมื่อปราศจากความเป็นไท ก็ไม่อาจมีความกรุณาและปัญญาได้

เด็กๆ และเยาวชนของเราต้องมีความเป็นไท จึงจะตั้งอยู่ในความดีได้ สังคมไทยไม่ควรจะอยู่ในโมหภูมิที่ปราศจากอุดมคติอีกต่อไป คนไทยควรจะสลัดออกจากความครอบงำของอำนาจ มายาคติ และมิจฉาทิฏฐิ ไปสู่ความเป็นไท เพื่อการผุดบังเกิดของความกรุณาและปัญญา

ขอให้ความตายของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย กัลยาณมิตรอาวุโสของผมจงเป็นเครื่องกระตุกจิตใจของคนไทยทั้งประเทศให้หันมาสนใจสร้างสังคมไทยที่มีอุดมคติ เรามีบุคคลอุดมคติอย่างเอกอุอันเป็นบุคคลร่วมสมัย ก่อนหน้านี้ก็มีเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สังคมไทยควรจะใช้บุคคลอุดมคติเป็นบุคลาธิษฐานเพื่อสร้างสังคมอุดมคติด้วยประการต่างๆ อันหลากหลาย

วิธีหนึ่งก็โดยอุปถัมภ์ค้ำจุนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน ให้กว้างขวางออกไป เพราะความเป็นไท ความกรุณา และความมีปัญญา ของเด็กและเยาวชน คืออนาคตของเราร่วมกัน

หมายเหตุ: ขอเชิญร่วมกิจกรรมรำลึก ครบรอบ ๑๐๐ วัน การจากไปของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ในวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๓๐-๒๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมชั้น ๕ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตรงข้ามกับสนามกีฬาแห่งชาติ สี่แยกปทุมวัน

Back to Top