เมษายน 2005

สัมพันธภาพ: เรื่องสั้นทางความคิด

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2548

หลังจากออกไปเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าในสวนและให้อาหารปลา ฉันกลับเข้าไปนั่งในห้องอ่านหนังสือ หยิบหนังสือที่ตั้งใจจะอ่านที่วางไว้บนโต๊ะสามสี่เล่ม พลิกดูสารบัญของแต่ละเล่ม อ่านไปคิดไป รู้สึกว่าแต่ละเล่มน่าสนใจ และที่น่าทึ่งก็คือเนื้อหาสาระของแต่ละเล่ม ดูจะเชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดี ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเริ่มจากเล่มไหนก่อนเลยวางไว้ตามเดิม นั่งสงบอย่างไม่ตั้งใจว่าจะคิดอะไร มองออกไปทางหน้าต่าง มองทะลุกังหันน้ำไทยประดิษฐ์ เห็นใบไม้ปลิวไหวไปตามกระแสลม การเคลื่อนไหวและสีเขียวของใบไม้ ทำให้ฉันรู้สึกผ่อนคลาย สบายตา สบายใจ นกหลากชนิดบินฉวัดเฉวียนส่งเสียงร้องผ่านไปมา เสียงเรือหางยาวที่วิ่งผ่านลำคลองข้างๆ บ้าน ดังเป็นระยะๆ เปรียบเสมือนท่อนแยกของบทเพลง ที่ดูเหมือนจะแปลกแยกไปจากเสียงร้องและเสียงกระพือปีกของนก แปลกแยกไปจากเสียงของกิ่งไม้ใบหญ้าที่ถูกสายลมพัดก่อให้เกิดเสียงเพลงแห่งธรรมชาติ

แต่มันก็เข้ากันได้ และดำเนินต่อไป เพราะทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ต้นไม้ ใบไม้ สายลม เสียงนกร้อง เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาว ความคิด ความรู้สึกของฉัน ล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

บรรยากาศยามเช้าเช่นวันนี้ ทำให้ฉันนั่งมองสรรพสิ่ง ไม่มีจุดหมายปลายทาง ปล่อยว่าง วางสงบ…แล้วความคิด ความเข้าใจบางอย่างก็ผุดบังเกิด

เพราะไม่คิดจึงเกิดความคิด เพราะว่างจึงมี

ทุกครั้งที่ฉันทำตัวเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนเดียวกับธรรมชาติ ฉันรู้จักธรรมชาติและรู้จักตัวเองมากขึ้นทุกที

ได้ยินเสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวดังแผ่วๆ ลอยมาแต่ไกล เสียงค่อยๆ ดังขึ้นๆ เมื่อเข้าใกล้ และค่อยๆ แผ่วเบาหายไป ตามธรรมชาติของเสียงที่สัมพันธ์ผกผันกับระยะทาง กระทบกับความรู้สึกและความนึกคิดของฉัน เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกและความนึกคิดของฉัน...อีกแล้ว

“Daddy จะเอาขนมปังกับฮอตดอกไหมคะ?” เสียงภรรยาถามมาจากห้องครัว สำเนียงใส ส่อแสดงความกระตือรือร้นที่อยากจะทำอาหารเช้าให้สามี

ฉันหยุดคิดเกี่ยวกับเสียงเครื่องยนต์เรือหางยาว แล้วตอบไปว่า “เอาแต่ขนมปังก็พอ”

สักครู่ภรรยาก็เอาขนมปังปิ้งมาให้พร้อมกับขวดถั่วบดเนย (Peanut Butter) และมะละกออีกหนึ่งจาน

“Thank you” ฉันพูดเบาๆ หยิบขนมปังปิ้งมาทาถั่วบดเนย กินไป มองออกไปทางหน้าต่าง ปล่อยอารมณ์ไปเรื่อยๆ

ความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งเริ่มกลับเข้ามาอีก ขนมปัง มะละกอ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์ จึงมีพันธะผูกพันกันไปไม่สิ้นสุด ทำให้ฉันนึกถึงเรื่อง Transcend (ก้าวพ้น) และ Include (ผนวกรวม) ที่ Ken Wilber เขียนไว้ในหนังสือ A Theory of Everything แล้วเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่พระพุทธองค์ได้กล่าวไว้ “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์เชื่องโยงของสรรพสิ่ง ไม่มีสิ่งใดที่แยกตัวออกเป็นอิสระ ทุกสิ่งประกอบไปด้วย (และจึงสัมพันธ์กับ) สิ่งอื่นเสมอ

นี่ฉันกำลัง “ตรัสรู้” หรือแค่ “ตรัสว่ารู้” ชั่วครู่หนึ่งเท่านั้น ฉันคิดแล้วยิ้มให้กับตัวเอง ส่งผ่านรอยยิ้มไปให้กังหันน้ำไทยประดิษฐ์ ต้นไม้และนกในสวน…

สายลมอ่อนๆ พัดมา ใบมะพร้าว กิ่งไม้ ใบไม้หลากชนิดในสวนโยกไหว เสมือนตอบรับรอยยิ้มของฉัน ฉันปล่อยความคิดของฉันไปเรื่อยๆ สบายๆ อย่างมีความสุข

ภรรยาโผล่มาที่หน้าต่าง พร้อมด้วยเสียงที่สำเนียงขุ่นมัวในอารมณ์ นิดๆ “ทำไมไม่ออกไปทานในสวน หมกตัวอยู่ในห้องทำไมคะ” ความคิดของฉันเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งสะดุด

“น่าจะเอาอาหารออกมาทานข้างนอกกับภรรยา ทานไปคุยไปในสวน ให้เวลากับภรรยาบ้างซิคะ” คำพูดและเสียงที่บ่งบอกความต้องการของภรรยากระทบความรู้สึกของฉันทันที ฉันลุกจากเก้าอี้ เดินไปที่หน้าต่าง

“ทำไมต้องคิดให้เกิดทุกข์กับตัวเองแบบนั้น” ฉันพูดด้วยเสียงเรียบๆ

“สาธุ สาธุ” ภรรยาพูดเสียงประชดแล้วเดินจากไป

ฉันอึ้ง ยืนมองภรรยาเดินกลับเข้าไปในสวน ใจหนึ่งคิดอยากจะเดินตามออกไปในสวน เพื่อขอโทษที่ทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดตั้งแต่เช้า แต่อีกใจหนึ่งก็กำลังเพลิดเพลินกับความคิดที่ค่อนข้างจะปลอดโปร่ง กำลังเห็นแสงสว่างอยู่รำไร กำลังเข้าใจสิ่งที่เคยเรียน เคยอ่าน เคยคิด เคยได้ยินได้ฟังมา

ตอนแรกก็รู้สึกโกรธนิดๆ แถมคิดโทษภรรยาที่ทำให้ความคิดของเราสะดุด พอมีสติ ก็หายโกรธ และนึกขอบคุณภรรยาที่ทำให้เรากระจ่างชัดในความคิดเพิ่มขึ้น คำพูดและเสียงของภรรยาเปรียบเสมือนท่อนแยกของบทเพลง ที่ท่วงทำนองแตกต่างไปจากเดิม แต่ก็เป็นเพลงเดียวกัน ที่สำคัญคือท่อนแยกทำให้เพลงมีสีสัน น่าฟังเพิ่มขึ้น

ความแตกต่างและความหลากหลายก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ความหมายใหม่ ถ้าภรรยาเหมือนฉันหมดทุกอย่าง ภรรยาก็คงไม่มีความหมาย แต่เพราะภรรยาแตกต่างไปจากฉัน ฉันจึงมีความหมาย ภรรยาจึงมีความหมาย ครอบครัวฉันจึงมีความหมาย... ฉันมีความหมายจากความสัมพันธ์ระหว่างฉันและสรรพสิ่ง

การได้พบและแต่งงานกับภรรยาเปรียบเสมือนท่อนแยกของบทเพลง ภรรยาคือท่อนแยกของบทเพลงของชีวิต ที่ทำให้ท่วงทำนองชีวิตของฉันเปลี่ยนแปลง มีความหมายใหม่ ลูกคืออีกท่อนแยกของบทเพลงแห่งชีวิต ที่ผุดบังเกิดเป็นสิ่งใหม่ (Transcend) จากการผนวกรวม (Include) ระหว่างฉันและภรรยา ลูกคือองค์รวม (Holon) ที่มีฉันและภรรยาเป็นส่วนหนึ่งของเขา และลูกก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของฉัน

แต่ถึงที่สุดแล้ว ฉันคงไม่สามารถพูดได้ว่าชีวิตเป็นของฉัน เพราะฉันเป็นผลรวมของหลายสิ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งอื่น

การคิดว่าเราเป็นผลรวมและเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งอื่น ช่วยทำให้เราเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่ง ความเป็นตัวตนและความเห็นแก่ตัวก็จะค่อยๆ หมดไป ความสัมพันธ์และพันธะผูกพันระหว่างกันก็จะเพิ่มขึ้น

เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวดังมาอีกแล้ว สายลมพัดเข้ามาทางหน้าต่าง เสียงนกร้อง กิ่งไม้โยกไหว กังหันน้ำนอกหน้าต่างและสีเขียวของใบไม้ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกที่ดี สบายใจ กำลังคิดจะลุกขึ้นไปหาภรรยาเพื่อขอโทษ ภรรยาก็เดินเข้ามาในห้อง ก้มลงหอมแก้มฉันพร้อมกับเสียงพูดที่นุ่มนวลน่าฟัง
“ขอโทษนะคะ Daddy”

ฉันยิ้มและส่งสายตาเชื่อมสัมพันธภาพทันที กำลังจะกล่าวขอโทษภรรยาด้วยเช่นกัน ภรรยาก็พูดต่อ

“เดี๋ยวจะไปที่ออฟฟิศหน่อย ถ้าลูกตื่นหาอะไรให้ลูกกินด้วยนะคะ” ฉันพยักหน้ารับ และนึกพูดอยู่ในใจ

“สัมพันธภาพ”

ฉันยิ้มให้กับตัวเองขณะที่อ่านออกเสียงโดยตั้งใจแยกความหมายของแต่ละช่วงในใจอย่างสนุกว่า “สัม-พันธะ-ภาพ”

คุณธรรมในสายเลือด

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 เมษายน 2548

เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนมีการทดลองเพื่อศึกษาแบบแผนการเลือกคู่ของผู้คน ผู้วิจัยได้นำภาพถ่ายของชายและหญิงที่อยู่กินด้วยกันนานหลายปีมาสลับกันแล้วรวมไว้ในกองเดียวกัน จากนั้นให้อาสาสมัครเลือกเอาภาพของคนที่หน้าตาคล้ายกันมาจับคู่กัน ปรากฏว่าคู่ที่อาสาสมัครเลือกมานั้นมักเป็นคู่สามีภรรยากันจริงๆ การทดลองหลายครั้งได้ผลถูกต้องบ่อยครั้งเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญ

มีการทดลองคล้ายๆ กันอีก คราวนี้ให้อาสาสมัครทำการเจรจาต่อรองเรื่องเงิน ปรากฏว่าคู่เจรจาอีกฝ่ายมักจะได้รับความไว้วางใจมากกว่าหากว่าเขาหรือเธอมีหน้าตาคล้ายกับอาสาสมัคร การทดลองนี้ให้ผลสอดคล้องกับข้อสังเกตที่มีมานานแล้วว่า คนเราจะให้ความไว้วางใจมากกว่าแก่คนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับตน

การทดลองทั้งสองกรณีชี้ว่าหน้าตาที่คล้ายกันนั้นมีผลต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยั่งยืน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าหน้าตาและรูปร่างที่คล้ายกันนั้นกันนั้นบ่งชี้ถึงความใกล้ชิดกันทางด้านพันธุกรรม สัตว์ทุกชนิดมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งคือการพยายามถ่ายทอดและรักษาพันธุกรรม (หรือยีน) ของตนให้อยู่รอดและยั่งยืน แม่เสือยอมตายเพื่อรักษาชีวิตของลูกน้อยก็เพื่อให้ยีนของลูก (ซึ่งมียีนของแม่ครึ่งหนึ่ง) สามารถอยู่รอดและถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้ มดปลวกและผึ้งยอมตายเพื่อปกป้องรังและพวกพ้องของมัน ก็เพราะทุกตัวในรังล้วนมียีนเหมือนกัน (เพราะมาจากแม่หรือนางพญาตัวเดียวกัน) “ตัวตายแต่ยีนอยู่” คือภารกิจของทุกชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายถึงการรักษาตัวให้รอดเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการช่วยเหลือให้ตัวอื่นๆ ที่มียีนใกล้ชิดกับตนอยู่รอดด้วย ด้วยเหตุนี้สัตว์จึงมีความรู้สึกใกล้ชิดเป็นพิเศษกับตัวอื่นๆ ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กัน เพราะนั่นหมายถึงการมีพันธุกรรมเดียวกัน (หรือใกล้กัน)

สมมติฐานดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดสัตว์จึงมักจับคู่กับตัวที่มีลักษณะคล้ายกับมัน แต่ต้องไม่คล้ายกันมากเกินไป (เพราะนั่นอาจหมายถึงการสืบพันธุ์กับพี่น้องร่วมสายเลือดซึ่งเป็นผลเสียต่อพันธุกรรมของลูกหลาน) เคยมีการทดลองกับหนูและนกคุ่ม พบว่าตัวผู้มักจะจับคู่และผสมพันธุ์กับตัวเมียที่มีสีหรือกลิ่นคล้ายกับพี่น้องหรือแม่ของมัน หรือคล้ายกับตัวที่มันคุ้นเคยตั้งแต่ยังเล็ก ๆ

ทั้งหมดนี้อธิบายได้ไม่มากก็น้อยว่าทำไมเราถึงนิยมแต่งงานกับคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกัน และเหตุใดคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกันจึงคบหาหรืออยู่กินด้วยกันได้นานกว่า อย่างไรก็ตามคำอธิบายดังกล่าวมีนัยที่กว้างกว่านั้น เพราะหากคำอธิบายดังกล่าวเป็นความจริง นั่นก็หมาย ความว่า ความรู้สึกว่าเป็น “พวกเรา” นั้นมีรากเหง้าอยู่ในยีนของเราด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมหรือการบ่มเพาะทางสังคมเท่านั้น

ความรู้สึกว่าเป็น “พวกเรา” นั้นมักเกิดขึ้นเมื่อพูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน บริโภคสินค้ายี่ห้อเดียวกัน ชื่นชมนักร้องคนเดียวกัน สังกัดสถาบันเดียวกัน และอยู่ประเทศเดียวกัน แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็คือ การมีสีผิวและชาติพันธุ์เดียวกัน

สีผิวและชาติพันธุ์เดียวกันในสมัยก่อน (และแม้กระทั่งปัจจุบัน) ย่อมหมายถึงภาษา วัฒนธรรม และเผ่าเดียวกัน อย่างไรก็ตามลึกลงไปกว่านั้นมันยังหมายถึงการมียีนหรือพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน อย่างน้อยก็ใกล้กว่าคนต่างเผ่า ต่างสีผิวและต่างชาติพันธุ์

ยีนหรือพันธุกรรมในเซลของเรานั้นมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึกนึกคิดของเราชนิดที่ยากจะปฏิเสธได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะถูกกำหนดโดยยีนไปเสียทั้งหมด มีพฤติกรรมหลายอย่างของมนุษย์ที่อธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะอำนาจของยีน เช่น การมีกลุ่มนักบวชที่ครองชีวิตพรหมจรรย์ หรือการเห็นแก่ประเทศชาติ (ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์) ยิ่งกว่าชีวิตของตน จนเกิดคำพูดว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง”

มนุษย์เรานั้นมีความคิดที่สามารถพัฒนาเป็น “ปัญญา” และมีอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถพัฒนาเป็น “กรุณา” ได้ ปัญญาและกรุณานี้เองที่ทำให้มนุษย์สามารถเป็นอิสระจากอำนาจบงการของยีน อย่างน้อยก็ในแง่พฤติกรรม (แม้มันยังคุมได้ในแง่กายภาพอยู่) ด้วยเหตุนี้เองความสำคัญมั่นหมายว่า “พวกเรา” จึงสามารถข้ามพ้นเส้นแบ่งทางด้านสีผิว ชาติพันธุ์ ตลอดจนศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมได้ อิสรภาพดังกล่าวทำให้มนุษย์สามารถทำวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่พบเห็นได้แม้ในชีวิตประจำวัน

แม่ชีเทเรซ่าเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้ข่าวว่ามีชาวฮินดูครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกแปดคนไม่ได้กินอาหารมาหลายวันแล้ว ท่านจึงจัดอาหารเพียงพอสำหรับหนึ่งมื้อและเดินทางไปยังบ้านของพวกเขา ภาพที่ท่านเห็นคือเด็กผอมแห้ง ตาโปน น่าสะเทือนใจมาก เมื่อผู้เป็นแม่ได้ข้าวมา ก็แบ่งข้าวออกครึ่งหนึ่ง และเดินออกไปข้างนอก เมื่อเธอกลับมา แม่ชีเทเรซ่าถามว่า “เธอไปไหนมา ?” ผู้เป็นแม่ตอบว่า “ พวกเขา ก็หิวเหมือนกัน” เธอหมายถึงเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ถัดไป พวกเขามีลูกที่ต้องเลี้ยงดูจำนวนใกล้เคียงกัน และไม่ได้กินอะไรเลยมาหลายวัน ทั้งหมดเป็นครอบครัวมุสลิม แต่ความต่างศาสนาไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกว่าพวกเขาเป็น “คนอื่น” และแม้เธอจะลำบากมากแต่ก็ยังมีใจนึกถึงคนอื่นซึ่งลำบากเหมือนกัน

ยีนที่ทำให้สัตว์นึกถึงแต่พวกพ้องที่มีสายเลือดใกล้เคียงกันนั้นอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถบงการให้ผู้เป็นแม่คิดถึงแต่ลูกของตนเท่านั้น มองในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราเชื่อว่ายีนมีอิทธิพลจริงๆ เป็นไปได้ไหมว่ามียีนอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อเสียสละข้ามสายเลือด ข้ามพันธุกรรม ข้ามชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ข้ามชนิดพันธุ์ (species)

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ที่รัฐแมรี่แลนด์มีผู้พบเห็นห่านตัวหนึ่งติดอยู่กลางลำธารซึ่งกลายเป็นน้ำแข็ง ปีกทั้งสองข้างอ่อนแรงหุบอยู่ข้างตัว ส่วนเท้าทั้งสองจมหายไปในแผ่นน้ำแข็ง ขณะที่เธอกำลังตัดสินใจทำอะไรบางอย่างก็เหลือบเห็นฝูงหงส์บินผ่านมา สักพักก็แปรขบวนเป็นวงกลมและร่อนลงพื้นรอบๆ ตัวห่าน หงส์กับห่านนั้นปกติไม่ค่อยคบค้าสมาคมกัน บางครั้งก็เป็นปฏิปักษ์กันด้วยซ้ำ ขณะที่เธอกำลังวิตกว่าห่านกำลังจะถูกหงส์รุมจิกตี การณ์กลับกลายเป็นว่าหงส์ต่างพากันใช้จะงอยปากจิกแซะน้ำแข็งที่ยึดเท้าห่านอยู่ เหล่าหงส์ใช้เวลาอยู่นานจนน้ำแข็งบางพอที่ห่านจะยกเท้าขึ้นได้ พอเป็นอิสระแล้วห่านก็ขยับปีก แต่ก็ไม่สามารถบินได้ ทีนี้ก็มีหงส์สี่ตัวเข้ามาไซ้ปีกห่านทั้งด้านนอกและด้านในเพื่อเอาน้ำแข็งออก สักพักห่านก็ลองสยายและหุบปีกทีละนิด พอหงส์เห็นห่านสามารถกางได้สุดปีก ก็รวมกลุ่มกันใหม่แล้วบินต่อไปจนลับสายตา

ความเอื้ออาทรมิได้มีอยู่แต่ในมนุษย์เท่านั้น หากยังมีในหมู่สัตว์โดยไม่จำกัดเฉพาะเผ่าพันธุ์ของตัว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าคุณธรรมนั้นก็เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของสัตว์ด้วย (อย่างน้อยก็ในสัตว์ชั้นสูง) แม้ไม่มีการอบรมบ่มเพาะ ก็สามารถแสดงอานุภาพให้ประจักษ์ได้

มนุษย์เรามีความสามารถที่จะรักและเอื้อเฟื้อผู้อื่นแม้จะต่างสีผิว ศาสนา และเผ่าพันธุ์ ความสามารถนี้เกิดจากปัญญาและกรุณาไม่น้อยไปกว่าที่ฝังอยู่ในสัญชาตญาณของเรา บางทีเราอาจไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการเปิดโอกาสให้ศักยภาพดังกล่าวมีโอกาสแสดงออกเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ไปทำลายมันด้วยการเรียนรู้แบบผิดๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคม

คลื่นความคิด จากจิตวิวัฒน์

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 เมษายน 2548

หนังสือ “คลื่นความคิด จากจิตวิวัฒน์” เพิ่งจะมีการเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีพระคุณเจ้าพระไพศาล วิสาโล ศ.นพ. ประสาน ต่างใจ ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ ผศ.ดร. จุมพล พูลภัทรชีวิน และ ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ เป็นวิทยากร ทั้ง ๕ ท่านได้บอกเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ รวมทั้งแนะนำข้อเขียนต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือให้ฟังอย่างคร่าว ๆ ข้อเขียนบางชิ้นเกิดขึ้นทันทีหลังจากเกิดเหตุการณ์ ซึ่งออกมาในรูปของคำกลอนบ้าง บทความบ้าง รวมทั้งมีถ้อยคำร้อยเรียงจากสมาชิกและบทบันทึกการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ ของต้นเดือนมกราคมแนบอยู่ในตอนท้ายของเล่ม

ที่น่าติดตามคือ แม้ท่านผู้เขียนแต่ละท่านจะสะท้อนแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป โดยผ่านความรู้และประสบการณ์ของท่านที่สั่งสมมา อย่างไรก็ตามจะมีถ้อยคำบางคำที่คล้ายคลึงกัน เช่น เราได้เรียนรู้อะไรจากธรรมชาติ และหลายท่านคิดตรงกันคือ โลกและธรรมชาติกำลังเจ็บป่วย และกำลังจะทวีความทุกข์ความรุนแรงมากขึ้น ดังเช่น ที่คุณหมอวิธานเขียนไว้ว่า “ถ้าเปรียบแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิดั่ง อาการปวดท้องและท้องเสียอย่างรุนแรง ในขณะที่ไต้ฝุ่นทอร์นาโดเหมือนอาการไข้ อาจจะหมายถึงสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังป่วย เธอกำลังมีทุกข์และทรมานไม่น้อยไปกว่าพวกเราที่กำลังโศกเศร้าและมีความทุกข์กันอยู่ในตอนนี้” รวมทั้งคุณหมอประสาน ที่เขียนในหัวข้อ “ถึงเวลาที่เราสะท้อนความคิดได้แล้ว” ว่า “บางทีต้นเหตุแท้จริงอาจอยู่ที่วิธีคิดและการดำรงชีวิตของเราก็ได้ ดังนั้นในที่นี้และวันนี้มันคงถึงเวลาที่เราต้องทบทวนตัวเองมากกว่า ทบทวนเพื่อให้รู้ว่าวิถีการดำรงอยู่ของเรา กับความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับชีวิตอื่น และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ความสุขชั่วคราวของเราแลกมาด้วยความทุกข์ของสิ่งแวดล้อมของธรรมชาตินั้น คงไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำเขาได้ฝ่ายเดียว”

กว่าหนังสือเล่มนี้จะเรียบเรียงเสร็จ ใช้เวลาร่วม ๓ เดือน ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามกระแสของสังคมแต่อย่างใด เพียงแต่เหตุการณ์นี้ได้ย้ำเตือนสิ่งที่กลุ่มจิตวิวัฒน์กำลังประมวล สรุปและสังเคราะห์ร่วมกัน ด้วยแนวความคิดที่จะรวบรวมความรู้ ที่ทำให้มนุษย์สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้ เป็นความรู้ในด้านสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เพราะเมื่อจิตสุขสงบ คนก็จะมองอะไรได้ชัดเจนขึ้น สามารถเปลี่ยนแนวคิดและวิถีทางในการดำรงชีวิต มีกระบวนทัศน์ใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและสถานการณ์ในปัจจุบัน

แต่เนื่องจากวิถีชีวิตทุกวันนี้เร่งรีบรีบร้อน ดังนั้นการเข้าถึงความสงบ ที่จะนำไปสู่คำตอบของปัญหาทั้งหลาย จึงเป็นเรื่องยากยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาของคนหมู่มาก จำเป็นต้องใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) และการใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกัน

ผู้เขียนเชื่อว่าคำตอบมีอยู่แล้วในทุกหนทุกแห่ง และมีอยู่ในธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเรา หากแต่เราไม่นิ่งพอที่จะเห็นคำตอบเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงต้องมีหนทางอันแยบยล ผ่านความรู้อันหลากหลาย ที่จะช่วยให้เราเข้าถึงความเป็นจริงของสรรพสิ่ง สามารถรักเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติได้มากขึ้น

ความรู้หลายเรื่องมีความงามอยู่ไม่ใช่น้อย ทำให้เข้าถึงและเข้าใจธรรมชาติได้ง่ายขึ้น กระจ่างชัดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความรู้ในเรื่องวาบิ ซาบิ การจัดดอกไม้ด้วยการวางเพียงครั้งเดียวให้สวยงาม จัดดอกไม้แล้วดอกไม้ก็จัดเรา เป็นการฝึกฝนที่จะมองธรรมชาติอย่างที่เป็น หรือ ความรู้เรื่อง “สาส์นจากวารี (Messages from Water)” ที่มีการศึกษาผลึกอันวิจิตรของน้ำ ในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ ๆ ตัวเรานี่เอง หรือความรู้จากมหาวิทยาลัยนาโรปะ ที่มีการศึกษาเรื่องนิเวศน์วิทยาแนวลึก ทั้งวิทยาศาสตร์ จิตวิญญาณและการรับใช้สังคมแนวทางต่าง ๆ หรือความรู้จากหมู่บ้านพลัม ที่เสนอวิถีชีวิตอันเรียบง่าย อันจะทำให้เกิดความเบิกบานในสังคม โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการใช้สติในทุก ๆ ขณะ เป็นต้น

ความรู้ต่าง ๆ จากทั่วโลกได้ถูกรวบรวมขึ้น และประมวลผ่านการประชุมจิตวิวัฒน์ ทุกวันจันทร์ต้นเดือน ณ ห้องประชุมมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มได้ช่วยกันวิเคราะห์ สังเคราะห์มาระยะหนึ่งแล้ว และหลังจากเกิดเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ สมาชิกได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เรียนรู้ร่วมกันกว่า ๑ ปี มาเรียบเรียงและนำเสนอในแง่มุมต่าง ๆ

ดังนั้นหนังสือ “คลื่นความคิด จากจิตวิวัฒน์” จึงเปรียบเสมือนคู่มือที่ช่วยนำไปสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณได้โดยง่าย เพราะมีตัวอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เข้าถึงและเข้าใจว่าความรู้ของมนุษย์ยังไม่พอ จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนต่อไป เพื่อจะพบคำตอบ ที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรายชื่อหนังสือโดยตรงมายังโครงการจิตวิวัฒน์ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะเป็นประโยชน์กับสาธารณชนในวงกว้างต่อไป

คำเตือนย่อมไร้ค่า ถ้าไม่ฟัง

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2548

เมื่อเสียงนาฬิกาปลุกดังก้องขึ้น คนนอนตื่นสายที่ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ก็จะรีบกระแทกมือปิดด้วยความขัดเคือง รู้สึกไม่พอใจที่นาฬิกาปลุกส่งเสียงเตือนตามหน้าที่ของมันทั้งที่ตนเองเป็นคนตั้งเวลาไว้แท้ๆ

เขากำลังก้าวเท้าออกจากบ้าน เสียงจิ้งจกร้องทัก เขาหยุดชะงักนิดหนึ่ง เหลียวมองไปรอบๆ พบว่าหน้าต่างชั้นล่างบานหนึ่งเปิดอยู่ เขากลับเข้าไปปิดให้เรียบร้อยแล้วก็ออกจากบ้านไป

จิ้งจกไม่รู้หรอกและไม่ได้เตือนอะไรทั้งสิ้น มันร้องของมันเอง แต่คนได้ยินเสียง จิตสำนึกสั่งว่า หยุดตรวจดูรอบๆ เสียหน่อย แล้วก็พบว่าตนเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ล่อขโมย

ต้นเดือนมีนาคมปีนี้ ดอกคูนบานเหลืองอร่ามไปทั้งตำบล ธรรมชาติส่งสัญญาณว่าความร้อนแล้งกำลังมาเยือน สภาพลม น้ำ ดิน ฟ้า อากาศ เตือนมนุษย์อย่างเร่งเร้า ว่าให้เตรียมรับมือกับภัยแล้ง ความหายนะทางการเกษตร ความทุกข์ยากของชาวนาชาวสวน ธรรมชาติเตือนเงียบๆ มานานทีเดียว แต่มีน้อยคนรับรู้ จนในที่สุดธรรมชาติจึงสำแดงเดชให้น้ำแห้ง ดินแตกระแหง พืชไร่ล้มตายไฟป่ากำลังจะมา

สัญญาณเตือนจากธรรมชาติมีอำนาจมาก ถ้ามนุษย์เมินเฉยก็จะได้รับผลอย่างสาสม

หนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายมากฉบับหนึ่ง กำหนดบทบาทของตนว่าเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน รู้เห็นสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในบ้านเมืองก็จะส่งเสียงเห่าเตือนให้รู้ตัว เสียงเตือนจากสื่อนี้ชาวบ้านสนใจมาก แต่ก็มีบางคนที่มีอำนาจไม่อยากฟัง ไม่พอใจ จึงกลายเป็นคดีขึ้นศาลอยู่เนืองๆ

ผู้ที่มีอำนาจและมีความมั่นใจสูง มักไม่ชอบเสียงเตือน ไม่ว่าเสียงนั้นจะมีเหตุผลและเจตนาดีเพียงใด การยึดติดอัตตาว่าสถานะที่กำลังดำรงอยู่นี้มั่นคง ตนเองมีความรู้ความสามารถมีวิสัยทัศน์กว้างไกลอยู่แล้ว ทำให้รู้สึกขัดเคืองที่มีผู้วิจารณ์และเตือนภัย เขาจึงฟังเสียงเตือน เหมือนเสียงนกเสียงกา ต่อเมื่อความวิบัติเกิดขึ้นจึงจะรู้สำนึก

น่าเห็นใจผู้ที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจ ทุกเมื่อเชื่อวันเขาได้ยินแต่เสียงสรรเสริญเยินยอ คำเตือนจะสอดแทรกเข้าไปให้รับรู้ได้ยากมาก ถ้าเขาโชคดีได้ฟังเสียงเตือนอยู่บ้าง วิเคราะห์แล้วยอมรับ ยอมถอย ปรับปรุงตนเอง ก็นับว่าสังคมของเรายังไม่ถึงทางตันเสียทีเดียว

คำเตือนไม่ใช่คำติ แต่ประสงค์จะให้ผู้ถูกเตือนไม่ต้องถูกติ

เสียงเตือนจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าเตือนแล้วไม่มีใครฟัง

อุปสรรคของการฟัง คือ ทิฏฐิมานะ และความอหังการ ยึดมั่นในความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ความระแวงว่าผู้เตือนไม่ปรารถนาดี หรือมิฉะนั้น ก็มักมีเหตุผลว่า คำเตือนนั้นเป็นสิ่งที่ตนรู้อยู่แล้ว

อันที่จริงการฟังนั้นมีประโยชน์มาก เราสามารถกลั่นกรองได้ว่าคำเตือนเหล่านั้น อะไรตรงประเด็นที่ต้องการ อะไรเป็นเพียงเสียงว่ากล่าวที่สมควรจะฟังหูซ้ายทะลุหูขวา ป่วยการเก็บเอามาคิด

การเตือนที่ทรงพลังที่สุด คือ การเตือนตนเอง เสียงที่เกิดจากอนุสตินั้นดังก้องบอกความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เตือนและหักห้ามใจว่าอะไรควรเว้นและอะไรควรทำ

เราเรียกเสียงที่เตือนตนเองนี้ว่ามโนธรรมสำนึก

หรืออีกนัยหนึ่ง คือ หิริโอตตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อการทำชั่ว

บางครั้งเสียงเตือนจากมโนธรรมสำนึกก็ไม่ดังเพียงพอ เมื่อจิตฝ่ายต่ำมาคอยแก้ตัว ว่าทำผิดเล็กๆ ครั้งเดียวไม่เป็นไร

คนขี้เหล้าเมาหยำเปอย่างน่าสมเพชนั้นก็เริ่มมาจากดื่มเหล้าจอกเดียว

คนโกงเงินเป็นร้อยล้านก็เริ่มจากการรับเงินซองเดียวจากผู้รับเหมา ไม่มีใครจับได้ก็ลอยหน้าอยู่ลอยนวล

คนที่ฆ่าลูกฆ่าพ่อแม่ได้ ก็เพียงแต่เริ่มจากความก้าวร้าวเก็บกดแล้วเฆี่ยนตี

เมื่อไม่ฟังเสียงเตือน คนที่น่าสงสารก็ถลำลึกลงในความหลงผิด กลายเป็นความดื้อรั้น ทำลายตนเอง

ช่วงปลายเดือนมีนาคม ธรรมชาติเริ่มส่งสัญญาณเตือนรุนแรงขึ้น สังคมเริ่มสำนึกในอำนาจของธรรมชาติ เตรียมพร้อมระแวงภัยและฟังเสียงเตือนภัยอย่างยอมรับจริงจัง

แต่ก็มีผู้เสียประโยชน์ ออกมาส่งเสียงเกรี้ยวกราด ว่าการเตือนภัยธรรมชาติ ทำให้เสียบรรยากาศของการท่องเที่ยว

ลองใช้มโนธรรมสำนึก ชั่งตรองดูว่าระหว่างชีวิตกับเงินอะไรสำคัญกว่ากัน

เสียงเตือนดังก้องขึ้นที่รัฐสภาอยู่หลายวัน เป็นเรื่องวิเคราะห์วิจารณ์และเสนอแนะที่น่าฟังต่อปัญหาวิกฤติของบ้านเมือง นับเป็นมิติใหม่ของการอภิปราย ที่ผู้พูดมุ่งเน้นประเด็นสาระ โดยเว้นการปะทะคารม เสียดสี ประชดประชัน

น่ายินดีที่ผู้มีอำนาจของบ้านเมืองรับฟังเสียงดังกล่าว แม้จะมีการออกตัวและแก้ต่างอยู่บ้างก็พอประมาณ

การรับฟังเสียงเตือนแสดงว่าเป็นผู้ถ่อมตนว่ายังรู้น้อย รู้ไม่หมดอยากทำให้ดีขึ้น ต้องการแนวทางที่ดีกว่า

ยิ่งคิดว่าตนยังรู้น้อยเท่าใด ก็มีโอกาสรู้ได้มากขึ้นเท่านั้น

เพียงแต่ลงทุนฟังแล้วคิด ก็ได้กำไรแล้ว

การฟังผู้อื่น มีอานิสงส์อีอย่างหนึ่ง คือทำให้มีกัลยาณมิตร ทุกวันนี้ยากนักที่จะมีใครหวังดีมาเตือนคนอื่น เราจึงโชคดีนักหนาที่มีคนคอยเตือนมิให้หลงทางและหลงผิด

ยิ่งฟังคำเตือน ตัวตนของเราก็จะเล็กลงแต่จิตสำนึกสูงขึ้น เรามาชวนกันเป็นคนเล็กๆ แต่ใจใหญ่กันเถิด เพื่อจะได้มีพลังเข้มแข็งต่อการอาสาทำงาน

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เราจะสูญเสียความมั่นใจในตนเอง เมื่อฟังดี คิดดี และทำดีแล้ว ก็ทำไปอย่างมั่นใจและไม่ประมาท

ขอฝากคำเตือนไว้ท้ายบทความนี้

มีแต่คนล้มเหลวเท่านั้นที่รู้ทั้งหมด เก่งทุกเรื่อง มองปัญหาถูกทุกอย่าง ตามการรับรู้ของตนเอง

น้อมกายลง ยกจิตให้สูงขึ้น ท่านจะพบกัลยาณมิตรอยู่มากมาย

คนฉลาดย่อมไม่เสพติด คำสรรเสริญอันหาสาระมิได้

ความหวัง - กำลังใจ - การฟื้นฟู: งานอาสาสมัครเพื่อการปฏิวัติทางจิตสำนึก

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 เมษายน 2548

"ยิ่งเราให้ความสนใจผู้อื่น ยิ่งเราเป็นห่วงเป็นใยในผู้อื่น
ดูเหมือนกับว่ามันจะยิ่งนำมาซึ่งความเข้มแข็งภายในของเราเอง"

ทาไล ลามะ


ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์มีประเด็นเกิดขึ้นว่า ทั้งที่ความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ที่เจอกันอยู่ทุกวันนี้มีมากมายนัก แต่ผู้คนในสังคมกลับหมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาความสุขที่ฉาบฉวยให้กับตัวเอง ยังคงมุ่งหาความสุขด้วยการ "สร้างสุข" แทนที่จะเป็นการ "ขจัดทุกข์" ทำให้ละเลยความเป็นจริงของสังคมรอบข้างไป

ทำอย่างไรจึงจะทำให้สังคมได้รู้ถึงความทุกข์ของผู้อื่น แล้วทำให้เกิดคลื่นพลังน้ำใจเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ให้เปลี่ยนจากจิตเล็ก คิดถึงแต่ตนเอง ไปสู่จิตใหญ่ที่คิดที่ทำเพื่อผู้อื่น
ทางออกที่เป็นไปได้มาก คือ การสร้างโอกาสให้ผู้คนได้รับรู้ ได้ลองทำงานอาสาสมัครเพื่อผู้อื่น ปฏิบัติจริงด้วยตนเองจนได้รับผลเป็นความชุ่มเย็นในจิตใจ เกิดการปฏิวัติทางจิตสำนึก แล้วได้สื่อสารออกไปให้สังคมวงกว้างเห็นถึงประสบการณ์ยิ่งใหญ่ที่ตนได้รับ
----------------------------

สึนามิจะครบรอบหนึ่งร้อยวันในวันจันทร์นี้ เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีระดับโลก เพราะมนุษยชาติได้เห็นปรากฏการณ์การวิวัฒน์ทางจิตของคนเป็นล้านๆ คนพร้อมๆ กัน

เฉพาะในไทย ช่วงหลังจากเกิดเหตุ มีการระดมความช่วยเหลือต่างๆ เราได้เห็นอาสาสมัครที่เกิดขึ้นพร้อมคลื่นพลังน้ำใจเต็มแผ่นดิน มีอาสาสมัครจากทุกจังหวัดของประเทศอยู่ในหกจังหวัดภาคใต้เรือนแสน ไม่นับอาสาอีกเป็นล้านที่แม้ไม่สามารถเดินทางลงไปได้ก็พยายามทำทุกอย่างที่ช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโลหิต บริจาคสิ่งของ ส่ง SMS ให้กำลังใจ และบริจาคเงินผ่านรายการต่างๆ โทรศัพท์ให้กำลังใจ บางรายไปไม่ได้ถึงขนาดส่งลูก ส่งญาติพี่น้องลงไป

ในช่วงปิดเทอมหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีค่ายอาสาสมัครของน้องๆ เยาวชนจำนวนมากหลายสิบค่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าย U Volunteer (นักศึกษาสายสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนหลักของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.) ค่ายเยาวชนอาสาสมัคร We Volunteer (เยาวชนระดับมัธยมศึกษา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.) ค่ายอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาฟื้นฟูอันดามัน (นักศึกษาจากเครือข่ายเก้ามหาวิทยาลัย โดยใช้เงินที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับบริจาคช่วงเกิดเหตุการณ์) รวมกันกว่าห้าพันคน เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะประเทศของเราไม่เคยเห็นการเสียสละของคนรุ่นหนุ่มสาวผ่านงานกิจกรรมค่ายอาสาในระดับขนาดนี้มาหลายสิบปีแล้ว

หลังจากเสร็จงานในพื้นที่แล้ว หลายกลุ่มยังคงมีการรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อพยายามสร้างกิจกรรมดีๆให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนอาสาที่วัดย่านยาว หรือกลุ่มอาสาศูนย์อาสาสมัครสึนามิเขาหลัก เป็นต้น

อาสาสมัครสึนามิแต่ละคนมักจะมีเรื่องเล่าถึงประสบการณ์เสี้ยวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ที่ได้ไปพบเห็น เรียนรู้ ได้อุทิศตนเพื่อ "ขจัดทุกข์" ให้ผู้อื่น พร้อมกับการเรียนรู้เติบโตภายใน เพราะลักษณะพิเศษตามธรรมชาติของงานอาสาสมัครเอง กล่าวคือ คนทำงานอาสาจะได้ยกระดับจิตใจตนจากการทำงาน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ไม่ว่าจะมีพื้นฐานอย่างไร

อาสาสมัครเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานต่อศักยภาพของงานอาสาสมัครในการปฏิวัติทางจิตสำนึก (Consciousness revolution) จากจิตเล็ก ไปสู่จิตใหญ่ที่ไม่จำกัดคับแคบอยู่แต่ตนเอง

ท่ามกลางปัญหาสังคมที่ผู้หลักผู้ใหญ่กำลังปวดเศียรเวียนเกล้ากับปัญหาเยาวชน มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อบังคับควบคุม ที่มีฐานคิดอยู่บนกระบวนทัศน์เดิม เชื่อความรู้ที่ว่ามนุษย์มีจิตที่เห็นแก่ตัว มีกิเลส เด็กเยาวชนไม่สามารถจัดการตนเองได้ เราน่าจะได้มีการสร้างทางเลือกที่สร้างสรรค์ให้กับอนาคตของชาติ สร้างมาตรการส่งเสริมที่มีฐานคิดที่ว่าจิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้นเป็นจิตใจที่ดีงาม เด็กเยาวชนทุกคนและทุกระดับสามารถเป็นองค์กรจัดการตนเองได้เช่นกัน

โดยเฉพาะเรื่องความรักในวัยเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ไม่ควรมองแต่หาวิธีห้ามปราม แต่ควรสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้เห็นว่าความรักนั้นมิใช่มีแต่รักแบบหนุ่มสาว เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่ยังมีความรักความเมตตา รักที่ละวางอัตตารักสาธารณะ เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคมอีกด้วย
เด็กเยาวชนที่อยู่ในช่วงเติบโตที่เต็มไปด้วยพลังชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนต่างๆ อยากเรียนอยากรู้โลกกว้างภายนอก ควรส่งเสริมให้ได้รวมตัวกันเอง ทำกิจกรรมที่ท้าทายความคิดความสามารถในรูปแบบของงานอาสาสมัครเพื่อสังคม อาทิ โครงการตลาดประกอบฝัน ของกลุ่ม YIY ที่สนับสนุนเยาวชนได้คิดและทำโครงการเพื่อสังคม

ไม่เพียงแต่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางจิตสำนึกระดับบุคคลเท่านั้น เหตุการณ์สึนามิยังส่งผลถึงการเกิดจิตวิวัฒน์ระดับองค์กร กล่าวคือ การเห็นแก่สังคมส่วนรวมมากขึ้น หลายบริษัทมีนโยบายชัดเจนให้พนักงานสามารถทำงานอาสาสมัครโดยไม่นับเป็นวันลา เช่น ปตท. น้ำมันพืชไทย (น้ำมันพืชองุ่น) เอ็มเค ไทยพัฒน์ แพรนด้าจิวเวลรี่ เอสแอนด์พี บริษัทต่างประเทศ ก็เช่น เอเม็กซ์ จีอีแคปปิตอล เมิร์กซ์ ยูโนแคล รวมถึงหน่วยงานสาธารณประโยชน์ เช่น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เป็นต้น
----------------------------

บุคลากรและหน่วยงานด้านสื่อต่างมีบทบาทช่วยกันชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ที่มีอยู่ในสังคมรอบตัวเช่นกัน ไม่เพียงแต่จากเหตุสึนามิ (หมายเหตุ: งานฟื้นฟูต่างๆ หลากหลายรูปแบบยังต้องการอาสาสมัครอีกจำนวนมาก แบบที่เรียกว่ารับได้ไม่จำกัด อาสาสมัครในพื้นที่ปัจจุบันจำนวนมากเป็นชาวต่างชาติ) เชื่อมโยงให้ถึงพลังน้ำใจของสังคมไทย ให้เห็นโอกาสมากมายที่ทุกคนสามารถอาสาช่วยงานสังคมได้ เมื่ออาสาสมัครได้มีประสบการณ์ตรงจากงานแล้ว ควรได้นำเสนอให้เป็นที่รับรู้ของสังคมวงกว้าง

แทนที่เช้ามาเปิดหนังสือพิมพ์ จะมีแต่ข่าวอาชญากรรม ข่าวไสยศาสตร์ ในหน้าหนังสือพิมพ์ เราน่าจะมีพื้นที่ข่าวของอาสาสมัครทั่วแผ่นดิน

แทนที่ทีวีจะมีแต่เกมโชว์ในแผงรายการ มีโฆษณากระตุ้นการบริโภค เราน่าจะมีพื้นที่สำหรับรายการส่งเสริมการทำความดีของคนเล็กคนน้อยจากทุกจังหวัด

แทนที่จะมีหนังสือพิมพ์ที่มีแต่ข่าวร้าย เริ่มวันใหม่แบบเศร้าๆ เราน่าจะมีหนังสือพิมพ์ข่าวดีกันบ้าง จะได้เริ่มวันใหม่แบบสดชื่น
ตัวอย่างของข่าวดีนั้นมีอยู่จริงและทำได้ หากอยากเห็น ลองแวะไปดูเว็บไซต์ www.budpage.com ที่นั่นมีคอลัมน์ "ข่าวคนดีมีทุกวัน"

ในวาระโอกาสครบรอบร้อยวันสึนามิ ผมขออนุญาตนำเอาชื่องานที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิเขาหลัก มูลนิธิกระจกเงา และจังหวัดพังงาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ มาใช้เป็นชื่อบทความด้วยครับ

Back to Top