ตุลาคม 2004

ไว้ใจชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 30 ตุลาคม 2547

ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๙ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ ทางกลุ่มได้เชิญคุณณัฐฬส วังวิญญู มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเกี่ยวกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยนาโรปะและเรื่องของนิเวศวิทยาแนวลึก ซึ่งคุณณัฐฬสได้ร่ำเรียนมา

นาโรปะเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ปรัชญาแบบพุทธเป็นพื้นฐานในการเรียนการสอน เป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยพระชาวทิเบตท่านหนึ่งที่ชื่อ เชอเกียม ตรุงปะ ซึ่งเป็นผู้ที่เขียนหนังสือไว้หลายเล่มและมีแปลเป็นภาษาไทยอยู่บ้างพอสมควร เช่น ชัมบาลา: หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ, ลิงหลอกเจ้า: ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา (Cutting Through Spiritual Materialism)

แนวคิดหลักๆ ของนาโรปะคือ เน้นให้นักศึกษาเรียนรู้จากภายในตัวเอง ต้องรู้จักตัวเองก่อน
คุณณัฐฬสเล่าหลายเรื่องได้อย่างสนุกและน่าสนใจมากในช่วงเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง แล้วปล่อยให้มีการแลกเปลี่ยนในกลุ่ม

เรื่องที่สะดุดใจผมมากที่สุด เห็นจะไม่เกินเรื่องที่คุณณัฐฬสบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่นาโรปะสอนไว้ก็คือ “การเรียนรู้” ที่จะ “ไว้ใจชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข” เรื่องที่เป็นรูปธรรมเรื่องหนึ่งก็คือ นักศึกษาปีแรกที่ไปเรียนที่นั่น จะมีหลักสูตรหนึ่งที่จะต้องออกไปอยู่ในทะเลทรายตามลำพังประมาณสามวัน ให้อดอาหารแต่มีน้ำให้ดื่ม โดยที่มีมาตรการด้านความปลอดภัยระดับหนึ่งในเรื่องของระบบบัดดี้ที่อยู่ห่างกันพอสมควร แต่โดยหลักๆ คือเน้นให้อยู่ตามลำพังและใช้เวลาอยู่กับ “ธรรมชาติ” แล้ว “ฟังเสียงภายใน” ของแต่ละคนว่ากำลังต้องการอะไร หรือฝึกการเรียนรู้ที่จะไว้ใจกับธรรมชาติ ว่าจะสามารถทำให้ตัวเองมีชีวิตรอดอยู่ได้ในสภาวะแบบนั้น

ด้วยการฝึกการ “ฟังเสียงจากภายใน” ของตัวเราเอง ว่าต้องการจะทำอะไร เราจะค่อยๆ พบว่าเราสามารถที่จะไว้ใจเสียงที่ได้ยินเหล่านั้นได้ และให้ลองเชื่อ “ความคิดแรก”

น่าสนใจที่ “เสียงจากภายใน” ตัวเราเองที่ว่านี้ เป็นเรื่องราวเดียวกันกับเรื่องของ “ญาณทัศนะ” ซึ่งเป็นการฝึกการใช้สมองชั้นที่สี่ตามที่โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ (Joseph Chilton Pearce) ได้เขียนไว้อย่างละเอียดแล้วในหนังสือที่ชื่อ The Biology of Transcendence คือส่วนของ Prefrontal Lobe ซึ่งล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้เป็นส่วนที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำงานวิจัยและพบว่ามีอยู่จริงในมนุษย์ที่ฝึกฝนเป็นพิเศษเรื่อง “สมาธิ” ซึ่งแดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาผู้โด่งดังมากจากเรื่อง E.Q. เขียนไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่ชื่อ Destructive Emotions ซึ่งเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู นำมาย่อยอย่างละเอียดในวงจิตวิวัฒน์แห่งนี้ด้วยเช่นกัน (ท่านที่สนใจสามารถอีเมล์ไปขอรายละเอียดได้)

กระบวนการเรียนรู้แบบนี้เป็น “วิธีการสร้างคน” ที่เริ่มจาก “การสร้างความมั่นคงด้านในก่อน”

แต่ปัจจุบันพวกเรากลับมีระบบการศึกษาที่เน้นถึง “ความมั่นคงภายนอก” ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณไม่มีปริญญาใบโตๆ จากสถาบันดังๆ คุณก็จะรู้สึกไม่มั่นใจ ถ้ามหาวิทยาลัยของคุณไม่มีตึกใหญ่โตโอ่อ่ายิ่งใหญ่อลังการ คุณหรืออย่างน้อยผู้บริหารสถาบันของคุณก็จะรู้สึกไม่มั่นใจ โยงใยไปถึงความพยายามในการสร้าง “ความมั่นใจภายนอก” ในรูปแบบอื่นๆ เช่น มือถือรุ่นล่าสุด เสื้อผ้านำสมัย รถยนต์คันใหญ่ ฯลฯ

ผมคิดว่าเรื่องนี้ระบบการศึกษาต้องหันมามองอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่เพียงเฉพาะระบบมหาวิทยาลัยแต่เป็นการศึกษาทั้งระบบที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ปัจจุบันนี้เพียงแค่คนสองคนเริ่มจีบกัน ก็ต้องคิดไปถึงโรงเรียนอนุบาลของลูกแล้ว ว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียน “มีชื่อ” โรงเรียนไหน

อีกหน่อยสงสัยว่าต้องคิดข้ามช็อตไปขนาดว่า คลอดลูกคนนี้แล้วโรงเรียนอนุบาลของหลานจะเป็นโรงเรียนไหนด้วยกระมัง

ความมั่นใจและความมั่นคงด้านในของพวกเราหายไปไหนกันหมด

ผมคิดว่าตรงนี้ถ้าพวกเราช่วยกันเริ่มสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้กันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนและเกิดขึ้นกับตัวผมเลยในขณะที่ฟังคุณณัฐฬสพูดในวันนั้น ก็คือ “ความสุข” “ความรู้สึกมั่นคงลึกๆ” และเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยว่า “เราต้องฝึกและเรียนรู้ที่จะไว้ใจชีวิต” ของเรากันจริงๆ เสียที

และผมคิดว่าธรรมชาติมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า “ไม่มีคำว่าสายเกินไป” สำหรับการเรียนรู้ เช่น ตัวผมเพิ่งเข้าใจสิ่งที่คุณณัฐฬสพูดเมื่ออายุสี่สิบกว่าแล้ว แต่คุณณัฐฬสรู้เรื่องเหล่านี้ตั้งแต่อายุยี่สิบกว่า ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าสายเกินไป ผมกลับรู้สึกขอบคุณและดีใจที่ตัวเองได้เริ่มเห็น “มุมมอง” ตรงนี้ของชีวิต

ลองคิดดูนะครับว่า แค่เราไว้ใจชีวิตและใช้ “ญาณทัศนะ” ในการดำเนินชีวิตนั้น มันช่างเป็นชีวิตที่วิเศษมีความสนุกสนานและมีความเบาสบายเพียงไร

ไม่ต้องแบกภาระให้วุ่นวายใจ-ปล่อยให้เป็นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรหรือขี้เกียจทำ ตรงกันข้ามเลย กลับทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมหาศาล เพราะไม่ต้องเสียเวลาคิดเรื่องไร้สาระ

เป็นชีวิตที่เหมือนกับหนังสือเล่มดังของ เปาโล โคเอโย เรื่อง The Alchemist ที่บอกว่าเหมือนกับมีใครมาคุ้มครองให้เราเดินทางในทิศทางที่ควรจะเป็นไป

ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตเป็น “การเรียนรู้” ความไม่พอเหมาะหรือขัดสนบางประการ “ไม่ใช่ความผิดพลาด” หากแต่เป็นเสมือน “สัญญาณ” ที่บอกอะไรบางอย่างกับชีวิต เช่น ถ้าคุณเดินชนประตูก็ควรจะแปลความหมายว่า คุณควรจะระวังตัวให้มากกว่านี้ หรือถ้าคุณป่วย ก็เป็นสัญญาณที่แสดงว่าคุณไม่ได้ดูแลตัวเองเลยนะ หรืออะไรประมาณนี้

การศึกษาในปัจจุบันที่ไม่ได้เน้นวิธีการสร้างคน หากแต่จะทำให้คนเกิด “ความมั่นใจจากภายนอก” ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ใหญ่โต ชื่อสถาบันและใบประกาศที่บอกว่าสำเร็จการศึกษาตามที่ได้เกริ่นมานั้น ทำให้ใบปริญญาบัตรไม่ได้มีความหมายใดๆ เลย นอกจากเศษกระดาษแผ่นเดียว ที่แม้แต่ในปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้คุณมีงานทำได้ตามที่ต้องการด้วยซ้ำไป ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ “เจ้าเศษกระดาษ” แผ่นนั้นกลับทำให้ “อัตตา” ภายในของพวกเราแต่ละคนเติบโตไปผิดทิศทาง กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้าง “ความขัดแย้ง” ในสังคมให้รุนแรงขึ้นอีกด้วย

กลับมาเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านในที่น่าจะดีกว่ากันเถอะครับ

รักชาติแบบจิตวิวัฒน์

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2547

สำนึกในความเป็นชาติเมื่อเกิดขึ้นกับคนหมู่ใด ย่อมช่วยให้คนหมู่นั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ง่าย เพราะมองข้ามความแตกต่างที่มีอยู่ เมื่อรู้สึกว่าเป็นคนไทยขึ้นมา ความเป็นคนเชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ คนนครศรีธรรมราช ก็มิใช่ความแตกต่างที่สำคัญ ตรงกันข้ามหากไม่มีสำนึกในความเป็นคนไทย ภูมิลำเนาที่แตกต่างกันก็อาจเป็นเหตุให้วิวาทบาดหมางกันได้ ดังที่เคยก่อศึกสงครามกันหลายครั้งหลายคราสมัยที่ “ประเทศไทย” ยังไม่เกิดขึ้น

พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่า เมื่อมีประเทศไทยเกิดขึ้นแล้ว คนจังหวัดต่างๆ ก็เลิกทะเลาะกัน การวิวาทบาดหมางระหว่างคนต่างภูมิลำเนาก็ยังมีอยู่ เช่นเดียวกับการตีกันระหว่างสถาบัน แต่นั่นก็เพราะตอนนั้นสำนึกในความเป็นไทยเลือนราง ขณะที่สำนึกหรือ “อัตลักษณ์” ในด้านอื่นโดดเด่นขึ้นมาแทน เมื่อสำนึกในความเป็นอีสานโดดเด่น ก็ย่อมเห็นคนภาคอื่น เป็นคนละพวก และเมื่อสำนึกในความเป็นนักเรียนช่างกลปทุมวันเด่นชัดขึ้นมา ก็ง่ายที่จะเห็นนักเรียนสถาบันอื่นเป็นศัตรู แต่เมื่อไปอยู่ต่างประเทศด้วยกัน อาจจะกอดคอกันใหม่เพราะรู้สึกว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน หรือเมื่อต่างชาติดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศไทย ก็อาจร่วมกันเดินขบวนประท้วงสถานทูตของชาตินั้น เพราะสำนึกในความเป็นไทยถูกปลุกขึ้นมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำนึกในความเป็นชาติใช่ว่าจะทำให้คนในชาติกลมเกลียวกันเสมอไป บางครั้งสำนึกดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดการแตกแยกหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมากขึ้น เช่นเมื่อมีคนที่แสดงความเห็นต่างไปจากคนส่วนใหญ่ หรือเพียงแค่ไม่ถูกใจตัวเอง ก็จะประทับตราบุคคลผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นทันทีว่า “ไม่ใช่คนไทย” หรือตั้งคำถาม (อย่างที่นายกฯ ทักษิณชอบถาม) ว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า?” สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือการกล่าวหาว่า “ไม่รักชาติ”

เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่รักชาติหรือไม่หวังดีต่อชาติเสียแล้ว ก็ง่ายที่จะถูกตีตราว่าเป็น “คนชั่ว” ถึงตรงนี้ก็ต้องเตรียมตัวเป็นเหยื่อรองรับความรุนแรงได้ ดังที่ได้เกิดมาแล้วกับนักศึกษาประชาชนที่ประท้วงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นนั้นอีก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้ความเป็นไทยเพื่อเล่นงานคนไทยด้วยกันที่มีความเห็นแตกต่างจากคนอื่นก็ยังมีอยู่ เช่น เมื่อมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับวีรกรรมของท้าวสุรนารี หรือไม่เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือไม่เห็นด้วยกับการห้ามผู้หญิงเข้าไปในเขตชั้นในของพระเจดีย์ที่มีพระธาตุอยู่ข้างใต้ คนเหล่านั้นก็ถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทยไปในทันที ผลที่ตามมาคือถูกกลุ่มพลังมวลชนเผาพริกเผาเกลือและสาปแช่ง มิพักต้องพูดถึงถ้อยคำหยาบคายที่ปรากฏในเว็บบอร์ดต่างๆ

ความเป็นไทยนั้นควรทำให้คนไทยรักกัน มิใช่ทำให้เกลียดกัน แต่รักและเกลียดนั้นเป็น ๒ ด้านของเหรียญเดียวกัน รักกันเพราะเหมือนกันมากเท่าไร ก็ย่อมเกลียดกันเมื่อแตกต่างกันมากเท่านั้น ตรงนี้คือปัญหาของความเป็นไทยในปัจจุบัน นั่นคือเน้นเรื่องความเหมือนมากเกินไป ทุกวันนี้ความเป็นไทยหมายความว่าพูดภาษาและนับถือศาสนาเดียวกัน มีประวัติ ศาสตร์ร่วมกัน และอาจรวมไปถึงมีเชื้อชาติเดียวกันคือเชื้อชาติไทย เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยถามนักศึกษาในชั้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นคนไทยหรือไม่ ?” ปรากฏว่า ในจำนวน ๙๑ คนมีผู้ตอบว่า ตนไม่ได้เป็นคนไทย ๑๐ คน และตอบอย่างกำกวม ๒๔ คน ผู้ตอบเหล่านั้นอธิบายเหตุผลว่าเพราะตนนับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ก็อิสลาม เป็นลูกจีนหรือไม่ก็มีเชื้อแขก มิได้มีเชื้อไทยแท้ๆ

ความเป็นไทยที่เน้นความเหมือนเพียงไม่กี่อย่างได้สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้คนมาก เพราะไม่เพียงทำให้คนที่นับถือศาสนาอื่นหรือไม่มีเชื้อไทย รู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสองแล้ว ยังมีการพยายามบีบบังคับให้เขาละทิ้งภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมของตนเพื่อจะได้เหมือนกับคนส่วนใหญ่ นอกจากชาวเขาและคนกลุ่มน้อยอื่นๆ แล้ว ผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้คือผู้ที่ทุกข์ทรมานเพราะความเป็นไทยประเภทนี้ และนี้คือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความไม่สงบในภาคใต้ขณะนี้

ความเป็นไทยที่เน้นแต่ความเหมือน ทำให้เรายอมรับความแตกต่างได้ยาก ขันติธรรมจึงมีน้อย และเมตตาธรรมก็พลอยน้อยลงด้วย ลำพังการจดจ่อเน้นย้ำความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว ระยะหลังยังผู้คนยังทนได้ยากขึ้นกับความคิดที่แตกต่างหรือไม่ถูกใจ (ความเห็นที่ร้อนแรงในเว็บบอร์ดต่างๆ คือตัวอย่างที่ชัดเจน) นี้คือการที่น่าเป็นห่วงเพราะในยุคโลกาภิวัตน์ ผู้คนนับวันจะมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในด้านวิถีชีวิต อาชีพการงาน ความเป็นอยู่ ความคิดความเชื่อ ขณะเดียวกันคนต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม และต่างเชื้อชาติก็หลั่งไหลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมากขึ้น สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือ ขันติธรรมที่เพิ่มพูนขึ้น ยอมรับความแตกต่างได้มากขึ้น และมีเมตตาต่อกันให้มากขึ้น

ความเป็นไทยหรือความรักชาติที่คับแคบมีแต่จะทำให้เกิดความตึงเครียดและแตกแยกกันมากขึ้นในประเทศ ขณะเดียวกันก็ทำให้จิตใจของผู้คนถอยต่ำลง เพราะคอยแต่จะมองคนที่ต่างจากตนเป็นคนละพวก เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์และไร้น้ำใจต่อกัน

ความเป็นไทยที่พึงประสงค์น่าจะได้แก่ความเป็นไทยที่ยอมรับความแตกต่างได้มากขึ้น ไม่ว่าจะแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ แม้จะคิดไม่ตรงกันก็มีสิทธิเป็นคนไทยได้เช่นเดียวกับเรา หรือแม้จะมีประวัติศาสตร์ต่างกัน ไม่ได้มีบรรพบุรุษอพยพจากเทือกเขาอัลไต ก็เป็นคนไทยได้ (เอาเข้าจริงๆ น่าสงสัยว่ามีคนไทยกี่คนกันที่บรรพบุรุษมาจากเทือกอัลไต)

แน่ละเราต้องมีอะไรร่วมกันบ้าง ถึงจะเรียกว่าเป็นไทยเหมือนกัน ถ้าไม่ใช่ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม เชื้อชาติ หรือประวัติศาสตร์ แล้ว อะไรที่จะมีร่วมกัน คำตอบหนึ่งของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็คือ ความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะ “สร้างปัจจุบันร่วมกัน ปัจจุบันที่ทุกคนภาคภูมิใจ อยากปกปักรักษาไว้เพราะเป็นคุณทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม” ความเป็นไทยอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความเคารพ คุณค่าประชาธิปไตยได้รับการปกป้อง ผู้คนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและปกป้องชุมชนของตน เป็นต้น

ความเป็นไทยที่พึงประสงค์นั้นต้องรวมผู้คนมาเป็นหนึ่งเดียวกัน มิใช่ผลักไสออกไปหรือแบ่งซอยออกเป็นคนละพวก มนุษย์นั้นมีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยเอาความแตกต่างทั้งหลายเท่าที่จะนึกได้ มาเป็นเส้นแบ่งเพื่อกีดกันใครต่อใครออกไปจนเหลือแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ความเป็นไทยที่พึงประสงค์ต้องไม่ไปเสริมสัญชาตญาณถดถอยดังกล่าว แต่ควรช่วยให้ผู้คนเจริญก้าวหน้าในทางจิตใจมากขึ้น นั่นคือมองข้ามความแตกต่างทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะตระหนักถึงคุณสมบัติร่วมที่ทุกคนมีเหมือนกัน นั่นคือความเป็นมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือความเป็นไทยที่เคารพความเป็นมนุษย์ ถือว่าความเป็นมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์กว่าความเป็นไทย แม้เขาจะไม่ใช่ไทย เราก็ไม่มีสิทธิจะไปทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงกับเขา เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นมนุษย์ ความเป็นไทยแบบนี้จะทำให้ขันติธรรมและเมตตาธรรมเจริญขึ้นในจิตใจ

รักชาติแบบจิตวิวัฒน์คือรักมนุษยชาติด้วย มิใช่เห็นชาติสำคัญกว่าความเป็นมนุษย์ รักชาติแบบนี้แหละที่จะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ ภาคใต้เกิดสันติ และจิตใจสงบเย็น

ความท้าทายของวิวัฒนาการ

โดย เดวิด สปินเลน
วรนุช ชูเรืองสุข แปล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2547

ชาร์ล ดาร์วิน บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเราต้องการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ เราควรจะศึกษาพวกเอป (Ape) มากกว่าเอาเวลามานั่งอ่านงานเขียนของนักปรัชญาทั้งหลาย ในช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา นักสัตววิทยา เช่น เจน กูดอลล์ (Jane Goodall ) ได้ศึกษาพฤติกรรมของไพรเมตในเชิงลึก (ไพรเมต คือสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรวมถึง ลิง เอป และมนุษย์) การศึกษาเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมพื้นฐานบางอย่างของไพรเมตชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ๑. สัตว์กลุ่มนี้สนใจหาอาหารเพื่อประทังชีวิตแบบวันต่อวัน หรือสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ๒. ต้องการสืบเผ่าพันธุ์ของตัวเอง ๓. มีความห่วงใยเฉพาะกับตัวเอง ครอบครัวและกลุ่มของตัวเองเท่านั้น

มนุษย์เองก็มีคุณลักษณะดังกล่าวเช่นกัน แต่กระนั้น เรายังมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างประกอบด้วย เช่น มีความสามารถในการคิดทบทวน ไตร่ตรอง คือสามารถรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หรือรู้อะไรบ้าง นอกจากนี้ มนุษย์ยังสามารถพัฒนาจินตนาการเชิงสร้างสรรค์ และสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วย ดังนั้นพอจะกล่าวได้ว่า มนุษย์มีทั้งคุณลักษณะทางวิวัฒนาการแบบเก่า คือ ต้องการอาหารและความปลอดภัยในชีวิต ต้องการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตัวเอง และมีกรอบความห่วงใยแคบๆ เฉพาะภายในครอบครัว นอกจากนี้ มนุษย์เรายังสามารถมีศักยภาพในการตระหนักรู้ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และเริ่มขยายกรอบความห่วงใยที่กว้างกว่าเดิม ขยายกรอบความห่วงใยคืออะไรนะหรือครับ? ก็คือเริ่มสนใจและห่วงใยในเรื่องที่มากกว่าแค่การหาอาหาร หาข้าวของเครื่องใช้ไว้ใช้แค่ในช่วงสั้นๆ ใส่ใจดูแลแค่สมาชิกในครอบครัว พวกพ้อง หรือคนในประเทศของตัวเองเท่านั้นนะสิครับ

ตอนนี้เราลองมาดูกันคร่าวๆ ถึงปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และดูว่าผู้นำของแต่ละประเทศส่วนใหญ่ ตลอดจนประชาชนทั้งหลาย จะยังคงมีปฏิกิริยาต่อพฤติกรรมทางวิวัฒนาการแบบเก่ากันอย่างไร ทุกวันนี้ความกลัวในเรื่องที่ว่า เรา (ประเทศของเรา) จะไม่มีอาหารและทรัพยากรที่จำเป็น เช่น น้ำ น้ำมัน เพียงพอแก่การบริโภคแพร่ขยายไปทั่ว ฉะนั้นเราจึงพัฒนานโยบาย หรือแม้แต่ยุทธวิธีทางการทหาร เพื่อยึดหรือครอบครองทรัพยากรเหล่านั้นไว้ สิ่งนี้สร้างความตึงเครียด โกรธเคือง และคับแค้นใจให้กับประชาชน และนานาประเทศอย่างยิ่ง ทั้งยังก่อให้เกิดความไม่สมดุลด้านทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย กิจกรรมหลายอย่างของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่างกว้างขวางและรุนแรง การแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะ “น้ำ” ของประชากรโลกเริ่มส่อเค้าเข้มข้นขึ้นทุกขณะ อัตราการผลิตอาวุธทำลายล้างสูงเพิ่มขึ้น จำนวนประชากรในเมืองใหญ่ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน มีการเพิ่มขึ้นของบรรดาลัทธิจารีตนิยมทางศาสนา ซึ่งก็เป็นวิถีของวิวัฒนาการทางพฤติกรรมและความเชื่อแบบเก่านั่นแหละครับ คือเชื่อว่าพวกของข้าดีกว่าพวกของเจ้า ขณะเดียวกันก็มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน ที่สามารถแพร่กระจายไปทั้งโลกอย่างรวดเร็ว

ท่าทีของบรรดาผู้นำเกือบทุกประเทศที่มีต่อปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นไปในลักษณะวิวัฒนาการแบบเก่า คือใช้เทคโนโลยีและวิธีการบีบบังคับ เข้าจัดการจากบนสู่ล่าง (Top-Down) สร้างความอึดอัดโกรธแค้นไม่พอใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่ที่รู้สึกไร้อำนาจ จึงไม่น่าแปลกที่ทุกวันนี้เรามีทั้งขบวนการผู้ก่อการร้ายและระเบิดพลีชีพกระจายอยู่ทั่วไป

โปรดสังเกตนะครับว่าปัญหาเหล่านี้มีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเป็นปัญหาสากล เป็นปัญหาระดับโลก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณหรืออาณาเขตประเทศใดประเทศหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้กำลังจะชี้ให้เห็นว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับปัญหาทางวิวัฒนาการอยู่ ว่าจะสามารถฝ่าฟันกระบวนการคิด การกระทำและพฤติกรรมอันจำกัด ไปสู่การมองที่เห็นว่ามนุษยชาติล้วนเป็นพี่น้องกันได้หรือไม่ หากไม่เช่นนั้นก็อาจต้องล้มตายกันเป็นจำนวนมาก

ก็ทำไมเราไม่ทำเช่นนั้นละครับ ไม่เพียงแค่ลักษณะทางวิวัฒนาการที่เราได้รับสืบทอดมาดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เราพึงตระหนักไว้ นักจิตวิทยาได้จำแนกสภาวะของปฏิกิริยาที่คนหรือกลุ่มคนแสดงออกเมื่อเผชิญกับปัญหาวิกฤตเป็น ๔ ระยะ ดังนี้ ระยะที่ ๑ ระยะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความจริง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ติดเหล้าติดยาส่วนมากมักไม่ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาเวลาหมอบอกว่าตัวเองติดสิ่งเหล่านี้ พฤติกรรมแบบนี้มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไปไม่ใช่หรือครับ เกือบ ๓๐ ปีมาแล้วที่บรรดารัฐบาลและผู้นำทางด้านเศรษฐกิจต่างพร้อมใจกันไม่ยอมรับว่าทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาทางนิเวศและสิ่งแวดล้อม ระยะที่ ๒ ระยะแสดงอาการโกรธและชอบกล่าวโทษสิ่งรอบข้างว่าเป็นตัวสร้างปัญหา คือถ้าไม่ใช่เพราะ “มัน” ฉันหรือเราก็คงไม่เดือดร้อนยุ่งยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ กำจัดมันเสีย หรือถ้าจำเป็นก็ “ฆ่า” มันเสียเลย ระยะที่ ๓ ของการตอบสนอง คือการแสดงอาการท้อแท้ สิ้นหวัง เพราะคิดแต่ว่าปัญหาต่างๆ ช่างใหญ่เกินกำลัง รับมือไม่ไหว เอาชนะไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ระยะสุดท้ายคือ ยอมรับความเป็นจริง ว่าพวกเรากำลังเผชิญปัญหาซึ่งยากและซับซ้อนมาก มันทำให้ฉันโกรธและหดหู่ ฉันเห็นและยอมรับว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เอาล่ะ ถ้าเช่นนั้น เราควรจะทำอย่างไรกันดี

ตามความเห็นของผม วิวัฒนาการกำลังนำเราไปไกลพ้นจากตัวเอง จากการที่เราเป็นห่วงเฉพาะเรื่องแคบๆ เล็กๆ เห็นแก่ตัว เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาระดับโลก ซึ่งต้องการทางออกในระดับโลกด้วยเช่นกัน ผู้นำในหลายประเทศไม่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ แต่ธรรมชาติไม่ให้โอกาสเราเลือกมากนักหรอกครับ เราจะถูกผลักให้หันหน้ามาร่วมมือกัน หรือไม่ก็ตายไปด้วยกัน คุณสมบัติเฉพาะของมนุษย์กำลังถูกเรียกร้องให้นำออกมาใช้ นั่นคือ ต้องนำจินตนาการเชิงสร้างสรรค์มาใช้สร้างวิสัยทัศน์สำหรับโลกอนาคต อันเป็นจุดหมายหลักของชุมชนโลกนั่นเอง

อุปสรรคยากเย็นที่เราเผชิญอยู่คือโอกาส เนื่องจากเราไม่ได้ต่อสู้อยู่กับวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือศาสนา แต่เป็นวิกฤตทางวิวัฒนาการ วิวัฒนาการที่นับจากนี้ไปเป็นเรื่องของจิต หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ มันขึ้นอยู่กับคุณและผมแล้วละครับว่า จะก้าวข้ามการไม่ยอมรับความจริง ความโกรธ ความหดหู่ มายอมรับความจริงได้อย่างไร แล้วลงมือกระทำการต่างๆ ตามวิถีทางเล็กๆ ของตัวเองอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และพาตัวเองก้าวพ้นจากพฤติกรรมทางวิวัฒนาการแบบเก่าอันคับแคบให้ได้

เราคงไม่สามารถพูดได้อีกต่อไปว่า ถ้าคุณไม่อยู่ฝ่ายเรา คุณก็เป็นศัตรูกับเรา แต่เราจะต้องตระหนักและเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า เรากำลังเผชิญกับสิ่งนี้ด้วยกันทั้งหมด

สนทนา ศรัทธา และความรู้

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2547

เคยลองสังเกตบ้างไหมครับว่า เวลาเราพูดคุยกันเพื่อให้ได้ทั้งความรื่นรมย์และความรู้ใหม่ๆ อะไรคือเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคในการพูดคุย

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยเหล่านี้มักดำรงอยู่เวลาเราหันหน้ามาพูดกัน

ประการแรก ชุดภาษาที่เลือกใช้ บ่อยครั้งทำให้ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงความหมายร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีความรู้ก็ตาม เช่น หากพูดเรื่องป่าหรือระบบเกษตร ชาวบ้านจะมีความรู้เยอะ เพียงแต่ไม่ได้ใช้ภาษาวิชาการ ดังนั้น แม้จะพูดเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อใช้ภาษาไม่เหมือนกัน ก็จำต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเข้าใจ หรือความหมายร่วมในการสนทนาเสียก่อน

ประการที่สอง มิติเชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ในทัศนคติของบุคคลและกลุ่ม อำนาจที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความตั้งใจที่จะมีอำนาจ หรือเพื่อกดทับการแสดงออกทางความรู้ของกลุ่ม มิติเชิงอำนาจนั้นไม่มีตัวตนในทางวัตถุ แต่ดำรงอยู่เพราะได้รับการยอมรับ เช่น ในวงสนทนาที่มีเจ้านายกับลูกน้อง ครูใหญ่กับครูน้อย หรือคนทั่วไปกับผู้เชี่ยวชาญ

ประการที่สาม วิธีการถ่ายทอดความคิดออกไป โดยส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเป็นการนำเสนอด้วยความมั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นเช่นนั้นจริง เป็นสัจจะ ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือไม่อยากให้เปลี่ยน ทั้งที่โดยทั่วไป ความคิดจะตั้งอยู่บนกรอบคิดหรือสมมติฐานหนึ่งๆ เสมอ

ประการที่สี่ การถือว่าความคิดเห็นเป็นของตน มีเจ้าของ ปัญหาจึงอยู่ที่ความคิดเห็นนั้นถูกยึดว่า “เป็นของ” เป็นสมบัติที่ต้องได้รับการปกป้อง หวงแหน ราวกับชีวิตตัวเอง

แต่หากวงสนทนานั้นๆ รู้เท่าทันและพยายามเป็นอิสระจากเงื่อนไขเหล่านี้ ก็ย่อมมีโอกาสก่อประกอบความรู้หรือปัญญาใหม่ๆ ร่วมกัน บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อน ความไว้วางใจ ความปรารถนาดีและความศรัทธา

เมื่อก่อนผมก็ไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องศรัทธากับการแสวงหาความรู้เท่าไรนัก เพราะรู้สึกว่าศรัทธาเป็นผลมาจากความไม่รู้ เมื่อไม่รู้จึงต้องอาศัยแรงศรัทธาในการต่อกรกับความไม่รู้ ยิ่งในทางวิทยาศาสตร์แบบเดิม ศรัทธาเป็นอุปสรรคต่อความรู้เลยทีเดียว เพราะเป็นการเลือกเปิดให้กับความรู้บางชุด (ที่ศรัทธา) และปิดความรู้ชุดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด แต่ในทางศาสนานั้น ศรัทธาเป็นที่มาของประสบการณ์ตรงอันเป็นความรู้ของจิต จึงเป็นกิริยาที่ช่วยเปิดประตูเพื่อเข้าถึงความรู้ชุดหนึ่งซึ่งมีลักษณะกว้างใหญ่กว่าความรู้ที่อยู่ในรูปแบบของความคิดหรือคำพูด คือเป็นอวจนปัญญานั่นเอง

จากมุมมองของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ในฐานะผู้เรียนรู้ เราไม่สามารถปลอดพ้นไปจากทัศนะใดๆ ได้ แต่มักจะมีกรอบหรือสมมติฐานในการมองเรื่องต่างๆ ซึ่งมีส่วนในการกำหนดตัวความรู้ที่เกิดจากการตีความของเรา ไม่มีความรู้ที่ปราศจากการตีความ ลักษณะที่ว่า เห็นอย่างเป็นเช่นนั้นเอง หรือ อย่างเป็นตถตา นั้น คงต้องฝึกกันอย่างมากเพื่อให้เท่าทันสมมติฐานของตัวเอง

แล้วศรัทธามันมาเกี่ยวอะไรกับการสนทนาเพื่อหาความรู้ล่ะ ก็ในการสนทนาแบบสืบค้นร่วมกัน (collective inquiry) หรือที่ตอนนี้เรียกกันอย่างคุ้นหูว่าสุนทรียสนทนานั้น ความสามารถในการเดินทางหรือนำพาตัวเองเข้าสู่พรมแดนของความไม่รู้นั้น จำต้องอาศัยความอดทนและศรัทธาเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า การเดินทางนั้นจะสิ้นสุดลงที่ใด เนื่องจากเป้าหมายของการสนทนาในลักษณะนี้ไม่ต้องการให้ไปพบที่สิ้นสุดของขอบแดนแห่งความรู้ หากต้องการเดินออกจากพรมแดนของความรู้อันจำกัดที่มีมาแต่เดิมมากกว่า

ดังนั้น การดำรงอยู่ในความไม่รู้นั้น จึงเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของการเดินทาง การที่เรายังไม่สามารถหาข้อสรุปรวบยอดได้นั้นไม่เป็นไร หรือแม้จะไม่มีความจริงสูงสุดหรือสัจจะ แต่ก็กระทำการแบบเดินไปค้นหาไป ยิ่งค้นหาความหมายร่วมกับคนอื่นอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันก็ยิ่งไม่เปล่าเปลี่ยว หากแช่มชื่นและมีพลัง เหมือนกับการเดินเก็บก้อนกรวดของเด็กน้อย ดังกวีบทข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในจดหมายรักการแต่งงานของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ที่ได้กล่าวถึงศรัทธาไว้อย่างชัดเจนว่า

ยังมีอะไรอีกมากรอให้เราค้นหา
เหมือนเด็กน้อยเดินเก็บก้อนกรวด
ฉันมีความสุขเหลือเกิน
เพราะเธอคือต้นธารแห่งปีตินั้น
เพราะเธอส่องรัศมีสว่างใส

ประตูนี้เปิดคอยเธออยู่
เพียงเธอก้าวเท้าเข้ามา
เธอก็จะพบความสัตย์ซื่อที่จริงใจ

ศรัทธานั้นสำคัญยิ่ง
อะไรอื่นก็ช่างมัน
เพราะศรัทธาคือช่องทางสู่ทุกสิ่ง

มาสิที่รักของฉัน
เริ่มต้นด้วยกัน
เผชิญการค้นพบที่ยิ่งใหญ่
เธอจะไม่มีวันเปล่าเปลี่ยว
ถ้าเราจูงมือไปด้วยกัน


เมื่อเปิดใจให้กับความไม่รู้ ให้ความหมายใหม่กับความไม่รู้ของเรา ว่าเป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์ยินดี มากกว่าเป็นความขาดพร่องที่จำต้องเติมเต็ม หรือกลบเกลื่อนปิดช่องโหว่ด้วยกลัวเสียหน้า หากสร้างความไว้วางใจว่า เมื่อสืบค้นร่วมกันแล้วก็จะไม่เปล่าเปลี่ยวเดียวดายอยู่ในจองจำของความรู้เดิม เราก็จะพบกรวดก้อนสวย สีสันแปลกตาแปลกใจออกไปเรื่อยๆ

องค์รวมกับสุขภาวะบูรณาการ

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2547

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนได้รับหนังสือเชิญให้ไปเข้าร่วม “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ ๑” งานชุมนุมการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ โดยอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๑-๕ กันยายน หนังสือเชิญไม่ได้ระบุให้ผู้เขียนเป็นวิทยากรหรือมีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด เนื่องจากไม่ทราบเรื่องนี้มานานพอที่จะจัดเวลาให้เหมะสมได้ จึงไม่ได้ไปร่วมการชุมนุมตามคำเชิญ ซึ่งจนวันนี้ก็ยังไม่ได้ขอโทษท่านอธิบดีที่เป็นแพทย์รุ่นน้อง เป็นคนดีมีฝีมือและเรียกกันฉันญาติมานานร่วม ๓๐ ปี

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนี้จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๔๖ นี้เอง และวัตถุประสงค์อันหนึ่งคงจะต้องการแสดงว่าไทยไม่ล้าหลังฝรั่งโดยเฉพาะอเมริกา (สำหรับเรื่องอื่นๆ เช่นการแพทย์ทางเลือกหรือองค์รวมคืออะไร? ผู้ตั้งกรมนี้ขึ้นมาอาจคิดว่า ไม่เป็นไร เราคนไทยที่มักเรียนอะไรได้เร็ว อีกไม่นานก็คงจะสามารถเรียนได้ทั้งหมด) เพราะขณะนี้ ที่เมืองนอกนั้น ผู้ป่วยที่ไปหาแพทย์สมัยใหม่มีน้อยลงไปมาก (The Alternative Medicine Invades Medical Establishment, Clive Daniels, New Life, ๑๙๙๙) วันนี้อาจมีไม่ถึงหนึ่งในสามคน ในขณะที่สองในสามเขาหันไปหาแพทย์ทางเลือกแทน การสำรวจเมื่อสองปีก่อนพบว่า คนอเมริกันใช้เงินเพื่อสุขภาพและการรักษาโรคโดยวิธีอื่นๆ ของการแพทย์ทางเลือกไปถึงหนึ่งล้านล้านบาท (ไม่รวมอาหารเสริม) ส่วนที่บ้านเรานั้น ผู้เขียนบังเอิญได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นวิทยากรหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม โดยรูปแบบของการจัดตั้งเป็นกรมเป็นองค์กรขึ้นมานั้น หากพิจารณาจากชื่อตามที่ยกมาข้างบน ไม่ว่าโดยปรัชญาหรือนิยามที่ยอมรับกัน อาจรู้สึกว่าเหมือนกับมีความขัดแย้งกับคำว่าองค์รวมและสร้างความไม่เข้าใจกับผู้ที่สนใจอย่างจริงจังในเรื่องของการแพทย์องค์รวม หรือการแพทย์ผสมผสาน หรือการแพทย์ทางเลือกเป็นอย่างมาก เพราะจริงๆ แล้ว เท่าที่เข้าใจกัน ปรัชญาและหลักการของธรรมชาติของชีวิต (ในที่นี้คือมนุษย์) คือการไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงแบบเชื่อมโยงกันของทุกๆ ส่วน ทุกๆ ระบบ และทุกๆ มิติที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์ ในระดับแรกคือ กาย จิตใจ (ที่รวมอารมณ์ความรู้สึก) และจิตวิญญาณ และในระดับต่อมา ครอบครัว สังคมตลอดไปจนถึงสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในไบโอสเฟียร์ ประหนึ่งทั้งหมดคือหนึ่งเดียวกันโดยไล่ความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างกันไปตามลำดับ ผู้เขียนเชื่อว่า มีแต่ความเป็นองค์รวมดังที่กล่าวมานี้เท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าใจในคำว่า “สุขภาพ” และคำว่าการแพทย์องค์รวมหรือการแพทย์ทางเลือก (ชื่อที่ใช้กันบนความเคยชิน) ซึ่งรวมผู้บำบัดรักษา บุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วย และวิธีการอันหลากหลายได้อย่างชัดแจ้ง

ความเห็นที่เป็นส่วนตัวจากการได้คิดได้เขียนเรื่องของมนุษย์กับสังคม และโลกกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมานาน ผู้เขียนจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจทุกครั้งกับอะไรก็ตามที่เน้นความเป็นสอง (dualism) และแยกส่วน (reductionism) ซึ่งผิดกระบวนการธรรมชาติอย่างเป็นตรงกันข้าม ดังนั้นชื่อของกรมนี้หรือกรมกองไหนกระทรวงใดที่ชี้บ่งโลกทัศน์ของผู้ตั้งไปในทางนั้น (ส่วนมากเป็นนักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์สังคมที่กลายมาเป็นผู้นำหรือผู้ทรงอิทธิพลต่อกรมกองหนึ่งใดในขณะนั้นๆ) ผู้เขียนจึงเข้าใจดีต่อการที่เรายังจำเป็นต้องใช้คำเหล่านั้น การแพทย์ทางเลือกที่ต่างประเทศใช้กันในเบื้องแรกก็มีที่มาไปทางด้านนั้น และคิดว่าเรื่องนี้เรา ที่ไม่จำเพาะเจาะจงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่รวมสาธารณชนคนทั่วไปด้วย ต้องมาพูดกันและแลกเปลี่ยนความเห็นกันโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปหรือโต้แย้งกันจนหน้าตาแดงใส่กัน

ว่าจริงๆ แล้ว ทำไมต้องมีการแพทย์องค์รวมหรือการแพทย์ทางเลือก? การแพทย์ที่ใช้กันอยู่มันไม่ถูกไม่ดีตรงไหน หรือมีปัญหาอย่างไร? ตอบรวมๆ ทั้งสองคำถามได้ว่า หนึ่ง การแพทย์แผนปัจจุบันนั้นตั้งบนหลักการสำคัญของวิทยาศาสตร์เก่าเดิมสมัยนิวตัน กาลิเลโอ เมื่อปีมะโว้ และชีววิทยาของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เมื่อปีมะแว้ง ที่ทุกวันนี้ เราต่างรู้ดีว่าไม่สมบูรณ์ หรือกระทั่งผิด หรือไม่จริงเอามากๆ นั่นก็คือ วัตถุ (Materialism) เครื่องจักร (Machinism) และแยกส่วน (Reductionism) จึงเยือกเย็น แข็งกระด้าง ไร้ชีวิตชีวา และเครื่องจักรแห่งชีวิตที่ว่ามานั้นเป็นผลโดยตรงและโดยอ้อมของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) สอง สุขภาวะและการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเป็นสหปรากฏการณ์หรือสหมิติ (Multidimensional) และมิติขององค์ชีวิตนั้น ไม่ได้มีเพียงร่างกาย แต่ยังมีอารมณ์ความรู้สึก มีจิตใจ มีจิตวิญญาณ แถมยังมีสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทั่งปุ๋ยหรือสารเคมี (คนเราจะมีสุขภาวะดีพร้อมได้อย่างไร? หากอากาศก็ป่วย ดินและน้ำก็ป่วยจากการปนเปื้อนสารเคมี) หรือแม้แต่ระบบการเมืองสังคมและเศรษฐกิจที่ป่วย ก็มีส่วนในการกำหนดสุขภาพและสภาวะโรค (คุณจับเอาผู้ก่อการร้ายไปตรวจ จับเอาตัวฮิตเล่อร์ หรือประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีบางคนไปเจาะเลือด เอ็กซ์-เรย์ แล้วทำ MRI ผลออกมาดีหมดแจ๋วแหวว แต่สุขภาวะของประชาชนในที่นั้นๆ จะสมบูรณ์ได้อย่างไร?) เด็กวัยรุ่นที่วิ่งแทงคนบนรถเมล์ชี้บ่งโรคจิตแห่งสังคมได้อย่างชัดเจน หากพ่อก็ทุบตี แม่ก็ติดเหล้า ทะเลาะกันเป็นรายชั่วโมง แล้วจะให้เด็กวัยรุ่นเหล่านั้นมีสุขภาวะดีเลิศหรือสมประกอบได้อย่างไร? อย่าได้คิดว่าที่พูดมานั้นไม่เกี่ยวกับการแพทย์หรือสุขภาพของประชาชน

ทุกวันนี้ ที่เมืองนอกมีนักเรียนแพทย์ที่ต้องการเป็นแพทย์เฉพาะทางน้อยลงไปมาก (Noetic Model Of Medicine, Marilyn Schiltz, IONs ๑๙๙๘) ก็เพราะไม่ต้องการเป็นหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่รักษาหุ่นยนต์ (คำพูดของ เคน วิลเบอร์ ที่ขยายจากคำว่า biophysical) ดังที่เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์แพทย์มักย้ำแล้วย้ำอีกกับนักเรียนหรือแพทย์ฝึกหัดว่า “จงอย่ามีความใกล้ชิดจนรู้สึกผูกพันหรือสงสารผู้ป่วยมากนัก เพราะจะทำให้การรักษาโรคหรือการตัดสินใจและประสิทธิภาพของแพทย์ต้องหย่อนยานลง” นั่นจริงๆ เป็นความหวังดีอย่างแท้จริงและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์เก่า (วัตถุและแยกส่วน) แห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ภายในทศวรรษเศษๆ มานี้อาจารย์แพทย์ทุกคนที่อเมริการู้ดีว่า ที่เคยพูดเช่นนั้น มันผิดไปอย่างไร? เมื่อผลของการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์สายหลักสายตรงจำนวนมากเหลือเกินต่างล้วนชี้บางอย่างชัดแจ้งว่า อารมณ์กับความรู้สึกและความเมตตาของผู้รักษาและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งจิตใจและความรู้สึกของคนไข้ต่อแพทย์และการรักษา ให้ผลดีอย่างที่สุดกับผู้ป่วยและแพทย์ ที่เทียบกันกับหลักการรักษาแบบเดิมไม่ได้เลย ไม่ว่าโอกาสของการหายจากโรคได้ดีกว่าและเร็วกว่าแล้ว ยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงไปมาก (Integral Medicine: A Noetic Reader, Marilyn Schiltz and Tina Hyman, , to be published in ๒๐๐๕) นั่นอาจสรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า การรักษาแบบที่หมอไม่ได้ใส่ใจหรือไม่มีความเมตตากับคนไข้นั้น นอกจากทำให้การรักษาต้องใช้เวลามากกว่าแล้ว แพทย์เองอาจกลายจากการเป็นผู้รักษาไปเป็นผู้ที่ทำร้ายผู้ป่วยของตนเองก็ได้

ผู้เขียนคิดว่า การแพทย์ต้องมีเรื่องของจิตใจและจิตวิญญาณของผู้รักษาเป็นปฐม หรืออย่างน้อยก็ต้องมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิธีการซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิค กับประสบการณ์และศิลปะ การแพทย์ทางเลือกจึงเป็นรูปแบบและแนวทางที่เราต้องนำมาผสมผสานกับการแพทย์ “สมัยใหม่” โดยที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องทำหน้างอ กระนั้นก็ดี แพทย์ทางเลือกเอง ที่คิดว่าตนเข้าใจในธรรมชาติของความเป็นองค์รวมของจักรวาลได้หมดแล้ว ก็คงต้องสำรวจตัวเองบ่อยๆ ว่า ตนมีความเข้าใจในเรื่องของสุขภาวะในรูปแบบขององค์รวมอย่างไร

Back to Top